Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๕-๑ หน้า ๑ - ๔๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๕-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๕ มหาวรรค ภาค ๒



พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๕. จัมมขันธกะ

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ๑
ว่าด้วยบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสะ

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้โสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้า
[๒๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ครองราชสมบัติเป็นใหญ่
ปกครองหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน
ครั้งนั้น ในกรุงจัมปา มีบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสะ เป็นคนมีลักษณะละเอียด
อ่อนมีขนขึ้นที่ฝ่าเท้าทั้งสอง
ต่อมา พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ รับสั่งให้กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐
คนประชุมกัน ทรงส่งราชทูตไปพบนายโสณโกฬิวิสะด้วยพระราชกรณียกิจบางอย่าง
ด้วยรับสั่งว่า “เราต้องการให้เจ้าโสณะมาหา”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ครั้งนั้น มารดาบิดาของนายโสณโกฬิวิสะได้กล่าวกับนายโสณโกฬิวิสะดังนี้ว่า
“พ่อโสณะ พระราชามีพระประสงค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสองของเจ้า พ่อโสณะ
เจ้าไม่พึงเหยียดเท้าไปทางที่พระราชาประทับ จงนั่งขัดสมาธิตรงพระพักตร์ของ
พระราชา พระองค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสอง เมื่อเจ้านั่งลงแล้ว”
ต่อมา บริวารชนใช้วอนำนายโสณโกฬิวิสะไป ลำดับนั้น โสณโกฬิวิสะได้เข้า
เฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ณ ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งขัดสมาธิ
ตรงพระพักตร์ของพระราชา
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ได้ทอดพระเนตรเห็นขนที่ฝ่าเท้าทั้งสองของ
เขาแล้ว ทรงสั่งสอนกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน เกี่ยวกับประโยชน์ในปัจจุบัน๑
ทรงส่งกลับไปด้วยรับสั่งว่า “ท่านทั้งหลาย เราสั่งสอนพวกท่านเกี่ยวกับประโยชน์
ในปัจจุบันแล้ว พวกท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค
ของเราทั้งหลายพระองค์นั้น จะทรงสั่งสอนพวกท่านเกี่ยวกับประโยชน์ในภาย
ภาคหน้า”
เรื่องพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน พากันไปที่ภูเขาคิชฌกูฏ
สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นพระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนเหล่านั้น เข้าไปหาท่านพระสาคตะ ณ ที่พักแล้ว
ได้กล่าวกับท่านพระสาคตะดังนี้ว่า “ท่านขอรับ กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนี้
พากันเข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกเราได้เข้าเฝ้าพระผู้
มีพระภาคเถิด”
ท่านพระสาคตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงรออยู่ที่นี้สักครู่ จนกว่า
อาตมาจะกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ”

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึงประโยชน์ในโลกนี้ เช่น การทำไร่ไถนา การค้าขายที่สุจริตชอบธรรม
ตลอดถึงการเลี้ยงดูมารดาบิดาโดยถูกต้องชอบธรรม (วิ.อ. ๓/๒๔๒/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ลำดับนั้น ท่านพระสาคตะ เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนกำลังเพ่ง
มองอยู่เฉพาะหน้า ได้ดำลงใต้แผ่นหินไปผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนี้พากัน
เข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงทราบเวลา
อันควรในบัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “สาคตะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะใต้ร่มเงา
ที่มุมสุดวิหาร”
ท่านพระสาคตะรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วถือตั่ง ดำลงเบื้องพระพักตร์ของ
พระผู้มีพระภาค ผุดขึ้นที่แผ่นหินต่อหน้ากุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนที่กำลัง
เพ่งมองอยู่แล้วปูอาสนะใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบนพุทธ
อาสน์ที่จัดไว้ใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร
ลำดับนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร พากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะ
เท่านั้น ไม่สนใจพระผู้มีพระภาคเลย
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิต
ของกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น จึงรับสั่งกับท่านพระสาคตะว่า “สาคตะ
ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริมนุสสธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ จงกรมบ้าง
ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้าง หายตัวบ้าง ในอากาศ
กลางท้องฟ้า ลำดับนั้น ครั้นท่านพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริ-
มนุสสธรรมหลายอย่างในอากาศกลางท้องฟ้าแล้ว จึงกลับลงมาซบศีรษะแทบ
พระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา
ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เป็นสาวก”



{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น ต่างสรรเสริญว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ พระสาวกยังมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดา
จะต้องมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก(กว่านี้)แน่นอน” แล้วหันมาสนใจพระผู้มีพระภาค
เท่านั้น ไม่ยอมสนใจท่านพระสาคตะอีกเลย
ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของ
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น จึงตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)๒
เมื่อทรงทราบว่ากุลบุตรเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๓ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่กุลบุตร
ในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ
๒ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม ในที่นี้หมายถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกามสัญญา การออกจากกาม
วิตก การออกจากกามปริฬาหะ(ความเร่าร้อนเพราะกาม) การออกจากความขวนขวาย ได้แก่คุณในการ
บรรพชาและในฌานเป็นต้น (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๖-๒๓๗)
๓ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก
(วิ.อ. ๓/๒๙๒/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา (อภินว) ๒/๒๙๘/๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูป’
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เรื่องโสณโกฬิวิสะเศรษฐีบุตรบรรพชา
[๒๔๓] ครั้นนั้น โสณโกฬิวิสะได้มีความคิดดังนี้ว่า “ธรรมตามที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงนั้น เราเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้
บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ อย่ากระนั้นเลย
เราควรจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต”
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วจากไป ลำดับนั้น โสณโกฬิวิสะ
เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจากไปไม่นาน
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร
โสณโกฬิวิสกะผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระองค์เข้าใจว่า
‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่
ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
กาสายะ ออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณา
ให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด”
โสณโกฬิวิสะได้รับการบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนัก และเมื่อท่านอุปสมบท
ได้ไม่นาน พำนักอยู่ ณ ป่าสีตวัน ท่านปรารภความเพียรอย่างยิ่ง๑เดินจงกรมจน
เท้าทั้งสองแตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนเลือดดุจที่ฆ่าโค
ต่อมา ท่านพระโสณโกฬิวิสะหลีกเร้นอยู่ในสงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ใน
บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่
ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติใน
ตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย
เราควรสึกไปใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของท่าน
พระโสณโกฬิวิสะจึงทรงหายไปจากภูเขาคิชฌกูฏ มาปรากฏพระองค์ที่ป่าสีตวัน
เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อม
ด้วยภิกษุเป็นจำนวนมากเสด็จเที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ เสด็จไปทางที่เดินจงกรม
ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ทอดพระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนเลือด จึงรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใคร เปื้อนเลือดดุจที่ฆ่าโค”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ท่านพระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียรอย่างยิ่ง
เดินจงกรมจนเท้าทั้งสองแตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนเลือดดุจที่
ฆ่าโค พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความเพียร หมายถึงประกอบความเพียรในสัมมัปปธาน (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒) หมายถึง
ระดมความเพียรอย่างเต็มที่ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปที่อยู่ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่จัดไว้ แม้ท่านพระโสณโกฬิวิสะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
เรื่องทรงเปรียบเทียบความเพียรกับสายพิณ
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระโสณโกฬิวิสะผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า
“โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ในบรรดาพระสาวกของ
พระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่
หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่
เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรสึกไปใช้
สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ
อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสาย
พิณของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้การ
ได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภอย่างยิ่ง
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน๑ จงถือ
เอานิมิต๒ในความเสมอกันนั้น” ท่านพระโสณะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะ มาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
พระโสณะบรรลุอรหัตตผล
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” ท่านพระ
โสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
อุปนิสัยสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์
[๒๔๔] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไป

เชิงอรรถ :
๑ ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน หมายถึงปรับศรัทธาให้เสมอกับปัญญา และปรับปัญญาให้เสมอกับศรัทธา ปรับ
วิริยะให้เสมอกับสมาธิ และปรับสมาธิให้เสมอกับวิริยะ ส่วนสตินั้นยิ่งมีเท่าไรก็ยิ่งดีไม่มีคำว่าเกิน (วิ.อ. ๓/
๒๔๓/๑๖๔, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๔๓/๓๕๒-๓๕๓)
๒ ถือเอานิมิต ในที่นี้ หมายถึงให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (สารตฺถ.ฏีกา
๓/๒๔๓/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ไม่มี
อาสวกิเลส อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ไม่มีหน้าที่ต้องทำอีก บรรลุประโยชน์สูงสุดแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องผูกไว้ในภพ หลุด
พ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไปในฐานะ ๖๑ คือ

๑. น้อมไปในเนกขัมมะ ๒. น้อมไปในปวิเวก
๓. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน ๔. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
๕. น้อมไปในความสิ้นตัณหา ๖. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง

พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้
อาศัยคุณเพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็น
อย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็น
ว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
เนกขัมมะ เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ เพราะสิ้นโมหะ
เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้
ต้องการลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในปวิเวก’ แต่ข้อนี้ก็ไม่
พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน

เชิงอรรถ :
๑ น้อมไป หมายถึงบรรลุอย่างประจักษ์ชัด
ฐานะ ๖ หมายถึงพระอรหัตตผล พระอรหัตตผล ชื่อว่าการออกจากกาม (เนกขัมมะ) เพราะออกไป
จากกิเลสทุกอย่าง ชื่อว่าความสงัด (ปวิเวก) เพราะสงัดจากกิเลสเหล่านั้น ชื่อว่าความไม่เบียดเบียน
(อัพยาปัชชะ) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ขื่อว่าความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้นใน
ที่สุดแห่งความสิ้นอุปาทาน ชื่อว่าความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหา
ชื่อว่าความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะไม่มีความลุ่มหลง (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๔-๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ปวิเวก เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้น
โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้นโมหะ เพราะ
ปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า “ท่านรูปนี้
ถือสีลัพพตปรามาส๑โดยเป็นสาระแน่ จึงน้อมไปในความไม่เบียดเบียน’ แต่ข้อนี้ก็
ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อม
ไปในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไป
ในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อม
ไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้
น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อม

เชิงอรรถ :
๑ สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและพรต เป็นเพียงความยึดถึอ
ที่อิงอาศัยศีลและพรต (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางตา มาปรากฏทางตาของภิกษุผู้มีจิตหลุด
พ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย
จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และภิกษุนั้น
ก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางหู ...
ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางจมูก ...
ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางลิ้น ...
ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางกาย ...
ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น
ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และ
ภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
พระพุทธเจ้าข้า ภูเขาศิลาล้วน ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศตะวันออก ก็ทำภูเขานั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนไม่ได้
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศตะวันตก ...
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศเหนือ ...
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศใต้ ก็ทำภูเขานั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนไม่ได้
แม้ฉันใด
พระพุทธเจ้าข้า ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางตา มาปรากฏทางตา
ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิต


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนัก
แน่น และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางหู ...
ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางจมูก ...
ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางลิ้น ...
ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางกาย ...
ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น
ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และ
ภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความ(เกิด)ดับของจิตนั้น
นิคมคาถา
จิตของพระขีณาสพผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
น้อมไปในปวิเวก น้อมไปในความไม่เบียดเบียน
น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน น้อมไปในความสิ้นตัณหา
และน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง๑ ย่อมหลุดพ้นโดยชอบ
เพราะเห็นความเกิดแห่งอายตนะ๒
ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ
ย่อมไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ทั้งไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก
ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งมวล

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะ ๖ มีเนกขัมมะเป็นต้น หมายถึงพระอรหัตตผล (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๕)
ส่วนในเถรคาถาอรรถกถากล่าวอธิบายโดยประการอื่น (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๐-๖๔๑)
๒ ความเกิดและความดับแห่งอายตนะทั้งหลาย (วิ.อ. ๓/๒๔๓-๒๔๔/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๔/๓๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๘. ทิคุณาทิอุปาหนปฏิกเขปะ
ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวมิได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร เพราะท่านผู้คงที่
พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น๑

๑๔๘. ทิคุณาทิอุปาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามใช้รองเท้า ๒ ชั้นเป็นต้น
[๒๔๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
กุลบุตรทั้งหลายกล่าวพยากรณ์อรหัตตผลอย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวแต่เนื้อความและมิได้
น้อมตนเข้าไป๒ แต่โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้เห็นเป็นของสนุก กล่าวพยากรณ์
อรหัตตผล ภายหลัง จึงเดือดร้อน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระโสณะว่า “โสณะ เธอเป็นคน
สุขุมาลชาติ เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ละทิ้งเงินถึง ๘๐ เล่มเกวียนและ
กองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อเป็นอย่างนี้
ถ้าข้าพระองค์จะใช้รองเท้าชั้นเดียวก็จะมีคนกล่าวว่า พระโสณโกฬิวิสะละทิ้งเงินถึง
๘๐ เล่มเกวียนและกองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต
เวลานี้ท่านพระโสณะนั้นยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรง
อนุญาตภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะใช้สอย ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต
ภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๓๘-๕๓๙ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๔๐-๖๔๔/๔๕๐
๒ มิได้น้อมตนเข้าไปด้วยการแสดงให้ปรากฏว่า เราเป็นพระอรหันต์ (วิ.อ. ๓/๒๔๕/๑๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น
รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามใช้รองเท้าสีเขียวล้วนเป็นต้น
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๒๔๖] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ สวมรองเท้าสีเขียวล้วน ... สวมรองเท้า
สีเหลืองล้วน ... สวมรองเท้าสีแดงล้วน ... สวมรองเท้าสีบานเย็นล้วน ... สวมรองเท้า
สีดำล้วน ... สวมรองเท้าสีแสดล้วน ... สวมรองเท้าสีชมพูล้วน
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าสีเขียวล้วน
... ไม่พึงสวมรองเท้าสีเหลืองล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีแดงล้วน ... ไม่พึงสวม
รองเท้าสีบานเย็นล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีดำล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีแสดล้วน
... ไม่พึงสวมรองเท้าสีชมพูล้วน รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหูสีเขียวเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้ามีหูสีเขียว ... สวมรองเท้ามีหูสีเหลือง
... สวมรองเท้ามีหูสีแดง ... สวมรองเท้ามีหูสีบานเย็น ... สวมรองเท้ามีหูสีดำ ...
สวมรองเท้ามีหูสีแสด ... สวมรองเท้ามีหูสีชมพู

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผู้ครองเรือน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีเขียว
... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีเหลือง ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีแดง ... ไม่พึงสวมรองเท้า
มีหูสีบานเย็น ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีดำ ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีแสด ... ไม่พึง
สวมรองเท้ามีหูสีชมพู รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหุ้มส้นเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้น ... สวมรองเท้า
หุ้มแข้ง ... สวมรองเท้าปกหลังเท้า ... สวมรองเท้ายัดนุ่น ... สวมรองเท้ามีหูลาย
คล้ายขนปีกนกกระทา ... สวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ ... สวมรองเท้า
หูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ ... สวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมงป่อง ...
สวมรองเท้าที่เย็บด้วยขนนกยูง ... สวมรองเท้างดงามวิจิตร
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าติดแผ่นหนัง
หุ้มส้น ... ไม่พึงสวมรองเท้าหุ้มแข้ง ... ไม่พึงสวมรองเท้าปกหลังเท้า ... ไม่พึงสวม
รองเท้ายัดนุ่น ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูลายคล้ายขนปีกนกกระทา ... ไม่พึงสวม
รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ ... ไม่พึงสวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ
... ไม่พึงสวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมงป่อง ... ไม่พึงสวมรองเท้าที่เย็บ
ด้วยขนนกยูง ... ไม่พึงสวมรองเท้างดงามวิจิตร รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังราชสีห์ ... สวมรองเท้า
ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือเหลือง ... สวมรองเท้าขลิบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๐. โอมุกกคุณังคุณุปาหนานุชานนา
ด้วยหนังเสือดาว... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนาก ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนัง
แมว ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังค่าง ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนกเค้า
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนัง
ราชสีห์ ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วย
หนังเสือเหลือง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือดาว ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบ
ด้วยหนังนาก ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังแมว ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วย
หนังค่าง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนกเค้า รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
๑๕๐. โอมุกกคุณังคุณุปาหนานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตรองเท้าหลายชั้นที่ใช้แล้ว
เรื่องภิกษุเท้าแตก
[๒๔๗] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นปัจฉาสมณะ แต่
ภิกษุนั้นเดินเขยกตามพระองค์ไปเบื้องพระปฤษฎางค์
อุบาสกคนหนึ่งสวมรองเท้าหลายชั้น มองเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมา
แต่ไกล จึงถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเฝ้า ถวายอภิวาทแล้วเข้าไปหาภิกษุรูปนั้นไหว้แล้ว
ถามว่า “ทำไม พระคุณเจ้าเดินเขยกขอรับ”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “อุบาสก อาตมาเท้าแตก”
อุบาสกกล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ารับรองเท้า ขอรับ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
ภิกษุตอบว่า “ไม่ละ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามรองเท้าหลายชั้น”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ เธอรับรองเท้าคู่นั้นได้”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้นที่ใช้แล้ว ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้นที่ยังใหม่ รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามสวมรองเท้าในอาราม
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าในอาราม
[๒๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายทราบว่า “พระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรมอยู่”
จึงไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมบ้าง เมื่อพระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรม
เมื่อเหล่าภิกษุผู้เถระไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กลับสวมรอง
เท้าเดินจงกรม
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์ เมื่อพระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระ
ทั้งหลายไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมอยู่ กลับสวมรองเท้าเดินจงกรมเล่า” แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าเมื่อเราผู้ศาสดาไม่สวม
รองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม พวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเดินจงกรม จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราผู้ศาสดา
ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม
ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงสวมรองเท้าเดินจงกรมเล่า แท้จริงพวกคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว
ก็ยังมีความเคารพยำเกรงประพฤติสม่ำเสมอในอาจารย์ เพราะได้ศึกษาศิลปะอัน
เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต การที่พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ พึงมี
ความเคารพยำเกรงประพฤติสม่ำเสมอในอาจารย์ ในภิกษุรุ่นอาจารย์ ในอุปัชฌาย์
ในภิกษุรุ่นอุปัชฌาย์ ก็จะงดงามในธรรมวินัยนี้แน่ การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้น
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์ เมื่อภิกษุรุ่นอาจารย์ เมื่อ
อุปัชฌาย์ เมื่อภิกษุรุ่นอุปัชฌาย์ ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม ภิกษุไม่พึงสวมรอง
เท้าเดินจงกรม รูปใดสวมเดินจงกรม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง
ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าในอาราม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องภิกษุอาพาธเป็นหน่อที่เท้า
[๒๔๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นหน่อที่เท้า พวกภิกษุต้องพยุง
ภิกษุนั้นไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุกำลัง
พยุงภิกษุรูปนั้นไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น
แล้วได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้อาพาธเป็นอะไร”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ท่านรูปนี้อาพาธเป็นหน่อที่เท้า พวกข้าพระ
พุทธเจ้าต้องพยุงท่านไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีเท้าเจ็บ เท้าแตก
หรืออาพาธเป็นหน่อที่เท้าสวมรองเท้าได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ล้างเท้าขึ้นเตียงบ้าง ตั่งบ้าง จีวรและเสนาสนะจึง
เปรอะเปื้อน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวมรองเท้าในขณะ
ที่ตั้งใจว่า ประเดี๋ยวจะขึ้นเตียงหรือตั่ง”
สมัยนั้น เวลากลางคืน ภิกษุทั้งหลายเดินไปโรงอุโบสถบ้าง ที่ประชุมบ้าง
เหยียบตอไม้บ้าง หนามบ้างในที่มืด เท้าทั้งสองบาดเจ็บ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวมรองเท้า ใช้คบ
เพลิง ประทีป ไม้เท้าในอาราม”
๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามสวมเขียงเท้าไม้เป็นต้น
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมเขียงเท้าไม้
[๒๕๐] สมัยนั้น ในเวลาเช้ามืด พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ลุกขึ้นสวมเขียงเท้าไม้
เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ๑

๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
๓. มหามัตตกถา เรื่องมหาอมาตย์ ๔. เสนากถา เรื่องกองทัพ
๕. ภยกถา เรื่องภัย ๖. ยุทธกถา เรื่องการรบ
๗. อันนกถา เรื่องข้าว ๘. ปานกถา เรื่องน้ำดื่ม
๙. วัตถกถา เรื่องผ้า ๑๐. สยนกถา เรื่องที่นอน
๑๑. มาลากถา เรื่องพวงดอกไม้ ๑๒. คันธกถา เรื่องของหอม


เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๐๘/๕๙๙-๖๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ

๑๓. ญาติกถา เรื่องญาติ ๑๔. ยานกถา เรื่องยาน
๑๕. คามกถา เรื่องบ้าน ๑๖. นิคมกถา เรื่องนิคม
๑๗. นครกถา เรื่องเมือง ๑๘. ชนปทกถา เรื่องชนบท
๑๙. อิตถีกถา เรื่องสตรี ๒๐. ปุริสกถา เรื่องบุรุษ
๒๑. สูรกถา เรื่องคนกล้าหาญ ๒๒. วิสิขากถา เรื่องตรอก
๒๓. กุมภัฏฐานกถา เรื่องท่าน้ำ ๒๔. ปุพพเปตกถา เรื่องคนที่ล่วง
ลับไปแล้ว
๒๕. นานัตตกถา เรื่องเบ็ดเตล็ด ๒๖. โลกักขายิกะ เรื่องโลก
๒๗. สมุททักขายิกะ เรื่องทะเล ๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความ
เจริญและความเสื่อม

เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้าง
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน พวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงลุกขึ้นในเวลาเช้ามืด สวมเขียงเท้าไม้ เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง
มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
ฯลฯ
๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้างเล่า” แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ลุก
ขึ้นในเวลาเช้ามืด สวมเขียงเท้าไม้เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก
สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
ฯลฯ
๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้าง จริงหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาค ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าไม้ รูปใดสวม ต้องอาบัติ
ทุกกฏ”
เรื่องเขียงเท้าใบตาล
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จ
จาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสีแล้ว ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในกรุงพาราณสีนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเขียง
เท้าไม้” จึงให้ตัดต้นตาลอ่อน แล้วใช้ใบตาลมาทำเขียงเท้าสวม ต้นตาลอ่อนที่ถูก
ตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยวแห้ง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงให้ตัดต้นตาลอ่อน ใช้ใบตาลทำเขียงเท้าสวมเล่า ต้นตาลอ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้ง พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้
ตัดต้นตาลอ่อน นำใบตาลมาทำเขียงเท้าสวม ต้นตาลอ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยว
แห้งไป จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
จึงให้ตัดต้นตาลอ่อน ใช้ใบตาลมาทำเขียงเท้าสวมเล่า ต้นตาลอ่อน ที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้งไป ภิกษุทั้งหลาย เพราะคนทั้งหลายมีความสำคัญว่าต้นไม้มีชีวิต


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าใบตาล รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องเขียงเท้าสานด้วยใบไผ่
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเขียง
เท้าใบตาล” จึงให้ตัดไม้ไผ่อ่อน แล้วใช้ใบไผ่มาทำเขียงเท้าสวม ไม้ไผ่อ่อนที่ถูก
ตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยวแห้ง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงให้ตัดไม้ไผ่อ่อน ใช้ใบไผ่มาทำเขียงเท้าสวมเล่า ไม้ไผ่อ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้งไป พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าใบไผ่ รูปใด
สวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องเขียงเท้าสานด้วยหญ้าสามัญ
[๒๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสีตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปเมืองภัททิยะ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมือง
ภัททิยะแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ในเมือง
ภัททิยะนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองภัททิยะ ขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ
ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง
ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง
ใช้ให้ทำบ้าง ทอดทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุชาวเมืองภัททิยะ จึงขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า
(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทำเขียงเท้าหญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทำเขียงเท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทอดทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาเล่า”
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุชาวเมืองภัททิยะ
ขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้
ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าปล้อง
เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้า
แฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทอดทิ้งอุทเทส
ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ
เหล่านั้นจึงขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เอง
บ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้า
หญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียง
เท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทอด
ทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่าง
นี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้า(สามัญ) ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่าย ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้าปล้อง ... ไม่พึงสวม
เขียงเท้าใบเป้ง ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้าแฝก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าขนสัตว์ ... ไม่
พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยทองคำ ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยเงิน ... ไม่
พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี ...ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วไพฑูรย์ ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยสำริด ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยกระจก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าทำด้วยดีบุก ... ไม่พึง
สวมเขียงเท้าทำด้วยสังกะสี ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าทำด้วยทองแดง รูปใดสวม ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าชนิดที่ต้องสวมเดิน รูปใดสวม
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงเท้าที่ตรึงอยู่กับที่ ไม่ใช้สวมเดิน
๓ ชนิด คือ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ที่ถ่ายอุจจาระ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ที่ถ่าย
ปัสสาวะ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ชำระ”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์จับแม่โค
[๒๕๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองภัททิยะตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
สาวัตถีแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จับแม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่
หูบ้าง จับที่คอบ้าง จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง
กดลูกโคจนจมน้ำตายบ้าง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ
ศากยบุตรจึงจับแม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่หูบ้าง จับที่คอบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคจนจมน้ำ
ตายบ้าง เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จับ
แม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่หูบ้าง จับที่คอบ้าง จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่
หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคจนจมน้ำตายบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงจับแม่โคทั้งหลายที่เขา รูปใดจับ
ต้องอาบัติทุกกฏ... ไม่พึงจับที่หู ... ไม่พึงจับที่คอ ... ไม่พึงจับที่หาง ... ไม่พึง
ขึ้นขี่หลัง รูปใดขึ้นขี่หลัง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีจิตกำหนัด
ไม่พึงจับองค์กำเนิด(แม่โค) รูปใดจับ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุไม่พึงฆ่าลูกโค
รูปใดฆ่า พึงปรับอาบัติตามธรรม”
๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามยานพาหนะเป็นต้น
เรื่องพระฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะและภิกษุเป็นไข้
[๒๕๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะเทียมด้วยโคเพศเมีย
มีบุรุษเป็นสารถีบ้าง เทียมด้วยโคเพศผู้มีสตรีเป็นสารถีบ้าง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนชายหนุ่มหญิงสาว
โดยสารยานพาหนะไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคาและแม่น้ำมหี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงโดยสารยานพาหนะ รูปใด
โดยสาร ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล เพื่อจะเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเป็นไข้ในระหว่างทาง จึงแวะไปนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง คนทั้งหลาย
พบภิกษุรูปนั้นจึงถามว่า “พระคุณเจ้าจะไปไหน ขอรับ”
ภิกษุตอบว่า “โยมทั้งหลาย อาตมาจะไปกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค”
คนเหล่านั้นกล่าวว่า “นิมนต์มาเถิด พระคุณเจ้า เราจะไปด้วยกัน”
ภิกษุตอบว่า “อาตมาเป็นไข้ ไปไม่ได้”
คนทั้งหลายกล่าวว่า “นิมนต์มาขึ้นยานพาหนะเถิด พระคุณเจ้า”
ภิกษุตอบว่า “อย่าเลย พระผู้มีพระภาคทรงห้ามโดยสารยานพาหนะ” ยำเกรงอยู่
ไม่ยอมขึ้นยาน พอไปถึงกรุงสาวัตถีจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานพาหนะสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้”
เรื่องยานพาหนะเทียมด้วยโคเพศผู้และยานพาหนะที่ใช้มือลาก
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “ยานพาหนะที่ทรงอนุญาต
นั้นเทียมโคเพศเมียหรือโคเพศผู้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานพาหนะที่เทียมโค
เพศผู้๑ ยานพาหนะที่ใช้มือลาก”

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ลากยานพาหนะจะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ได้ (วิ.อ. ๓/๑๕๓/๑๖๘) ภิกษุขี่ยานพาหนะประเภทนี้ ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๔. อุจจาสยนมหาสยนาปฏิกเขปะ
เรื่องคานหาม
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไม่สบายอย่างหนัก เพราะยานพาหนะกระเทือน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวอ(และ)เปลหาม”
๑๕๔. อุจจาสยนมหาสยนาปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามที่นอนสูงใหญ่
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่
[๒๕๔] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่๑ คือ

๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย
๓. พรมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร
๕. เครื่องลาดขนแกะสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้
๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูป
สัตว์ร้าย เช่นราชสีห์และเสือ
๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว
๑๑. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ
๑๓. เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นาง ๑๔. เครื่องลาดบนหลังช้าง
ฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้
๑๕. เครื่องลาดบนหลังม้า ๑๖. เครื่องลาดในรถ
๑๗. เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือดาว ๑๘. เครื่องลาดหนังชะมด
๑๙. เครื่องลาดมีเพดาน ๒๐. เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง๒


เชิงอรรถ :
๑ ที่นอนสูงใหญ่ หมายถึงเตียงเกินประมาณและเครื่องลาดที่ไม่สมควร (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙)
๒ วิ.จู. ๗/๓๒๐/๙๒-๙๓, ที.สี. (แปล) ๙/๑๕/๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายเดินเที่ยวไปตามวิหารพบเห็น จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่นอนสูงใหญ่ คือ

๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย
๓. พรมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร
๕. เครื่องลาดขนแกะสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้
๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูป
สัตว์ร้าย เช่นราชสีห์และเสือ
๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว
๑๑. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ
๑๓. เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นาง ๑๔. เครื่องลาดบนหลังช้าง
ฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้
๑๕. เครื่องลาดบนหลังม้า ๑๖. เครื่องลาดในรถ
๑๗. เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือดาว ๑๘. เครื่องลาดหนังชะมด
๑๙. เครื่องลาดมีเพดาน ๒๐. เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามแผ่นหนัง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้หนังผืนใหญ่
[๒๕๕] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามที่นอน
สูงใหญ่” จึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง แผ่นหนัง
เหล่านั้นตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง
ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายเดินเที่ยวไปตามวิหารพบเข้า จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ
หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามหนังผืนใหญ่” จึงใช้
หนังโค ตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง
ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง
เรื่องภิกษุใจบาปขอหนังลูกโค
มีภิกษุใจบาปรูปหนึ่งเป็นพระใกล้ชิดตระกูลของอุบาสกใจบาปคนหนึ่ง เช้าวัน
หนึ่ง ภิกษุนั้นครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเดินไปบ้านของอุบาสกนั้น นั่ง
บนอาสนะที่เขาจัดไว้ ลำดับนั้น อุบาสกใจบาปนั้นเข้าไปหาภิกษุใจบาปถึงอาสนะ
ไหว้แล้วนั่งลง ณ ที่สมควร อุบาสกใจบาปนั้นมีลูกโครุ่นรูปร่างงดงาม น่าดู น่าชม
คล้ายลูกเสือเหลือง ภิกษุใจบาปนั้นจึงมองลูกโคนั้นด้วยความสนใจ
อุบาสกถามภิกษุว่า “พระคุณเจ้า ท่านมองดูลูกโคอย่างสนใจ เพื่ออะไรกัน”
ภิกษุตอบว่า “อุบาสก อาตมาอยากได้หนังของมัน”
เขาจึงฆ่าลูกโคแล้วถลกหนังมาถวายภิกษุใจบาปนั้น ลำดับนั้น ภิกษุใจบาป
นั้นใช้สังฆาฏิห่อหนังเดินจากไป แม่โคจึงเดินตามภิกษุเพราะความรักลูก
ภิกษุทั้งหลายถามภิกษุใจบาปนั้นว่า “ทำไมแม่โคจึงเดินตามท่านเล่า”
ภิกษุนั้นตอบว่า “ผมเองก็ไม่ทราบว่า มันเดินตามมาเพราะเหตุใด”
พอดีสังฆาฏิของภิกษุใจบาปนั้นเปื้อนเลือด ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“สังฆาฏิผืนนี้ท่านห่ออะไรไว้”
ภิกษุนั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
พวกภิกษุถามว่า “ท่านชักชวนให้ฆ่าสัตว์หรือ”
ภิกษุนั้นกล่าวว่า “อย่างนั้น ท่านทั้งหลาย”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึง
ชักชวนให้ฆ่าสัตว์เล่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิการฆ่าสัตว์ ทรงสรรเสริญการงด
เว้นจากการฆ่าสัตว์มิใช่หรือ” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องทรงห้ามใช้หนังโคเป็นต้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุใจบาปรูปนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอชักชวนให้ฆ่าสัตว์ จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงชักชวนให้ฆ่าสัตว์
เล่า โมฆบุรุษ เราตำหนิการฆ่าสัตว์ สรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ โดย
ประการต่าง ๆ มิใช่หรือ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงชักชวนให้ฆ่าสัตว์ รูปใดชักชวน พึงปรับอาบัติตามธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังโค รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
หนังอะไรก็ตาม ภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
ว่าด้วยทรงอนุญาตเครื่องคิหิวิกัต๑เป็นต้น
[๒๕๖] สมัยนั้น เตียงก็ดี ตั่งก็ดีของคนทั้งหลาย หุ้มด้วยหนังบ้าง รัดด้วย
หนังบ้าง ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่นั่งทับ

เชิงอรรถ :
๑ คิหิวิกัต หมายถึงเครื่องใช้สอยของพวกคฤหัสถ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งทับเตียงตั่งที่เป็น
คิหิวิกัต แต่ไม่อนุญาตให้นอนทับ”
ต่อมา วิหารทั้งหลายเขาผูกรัดด้วยเชือกหนัง ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่
นั่งพิง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งพิงเฉพาะเชือก”
ทรงห้ามและอนุญาตให้สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้านและภิกษุเป็นไข้
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ไม่สวมรองเท้าไม่อาจเข้าหมู่บ้านได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้สวมรองเท้าเข้า
หมู่บ้านได้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๗. โสณกุฏิกัณณวัตถุ
๑๕๗. โสณกุฏิกัณณวัตถุ๑
ว่าด้วยพระโสณกุฏิกัณณะ
เรื่องพระมหากัจจานะ
[๒๕๗] สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะพักอยู่ที่ภูเขาปปาตะ๒ เมืองกุรุรฆระ
ในแคว้นอวันตี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณกุฏิกัณณะ เป็นอุปัฏฐากของท่านพระ
มหากัจจานะ ต่อมา เขาเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมตามที่พระ
คุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’
กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนมาบวช
เป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกับอุบาสกโสณกุฏิกัณณะ
ดังนี้ว่า “การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งต้องนอนผู้เดียว๓ บริโภคอาหารมื้อเดียวจน
ตลอดชีพทำได้ยาก แต่เอาเถอะ โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ที่บ้านนั้นแหละ จง
หมั่นประพฤติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้อง
นอนผู้เดียว บริโภคอาหารมื้อเดียวตามเวลาที่เหมาะสมเถิด”๔
ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อบรรพชาของอุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ระงับไป

เชิงอรรถ :
๑ โสณสูตร (ขุ.อุ. ๒๕/๔๖/๑๗๑)
๒ ภูเขาปวัตตะ (ขุ.อ. ๒๕/๔๖/๑๗๑)
๓ นอนผู้เดียว มิได้หมายถึงแต่เพียงอิริยาบถนอนอย่างเดียว แต่หมายถึงอิริยาบถอีก ๓ อิริยาบถด้วย คือ
ยืนผู้เดียว เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว ซึ่งจัดเป็นกายวิเวก (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๓/๓๖๐)
๔ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่อุบาสกจะพึงหมั่นประพฤติในส่วนเบื้องต้น คือ ศีล ๕ ที่จะต้องรักษาประจำ
ศีล ๘ ที่พึงรักษาในวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และศีล ๑๐ (ถ้าสามารถ)และเจริญสมาธิ
ปัญญาตามเหมาะสมแก่ศีลที่รักษานั้น ๆ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
แม้ครั้งที่ ๒ อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่
ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ
ธรรมตามที่พระคุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครอง
เรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่
กระทำได้ง่าย’ กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจาก
เรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะจึงให้อุบาสกโสณกุฏิกัณณะบวช
ก็สมัยนั้น อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ท่านพระมหากัจจานะจัดหาภิกษุ
สงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยากลำบาก เวลาล่วงไปถึง
๓ ปี จึงให้ท่านโสณะอุปสมบทได้
๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ว่าด้วยอาณัตติกพจน์ของท่านพระมหากัจจานะ ๕ ประการ
สมัยนั้น ท่านพระโสณะออกพรรษาแล้ว หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความ
คิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระ
ลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไปเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ครั้นเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่านพระมหา
กัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระโสณะได้กล่าวกับท่านพระ
มหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิด
ความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไป
เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”



{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ท่านผู้เจริญ กระผมจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ โสณะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจะเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส๑ มีพระอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรง
บรรลุทมถะและสมถะสูงสุด๒ ทรงฝึกฝนแล้ว คุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรง
เป็นผู้ประเสริฐ ท่านโสณะ ท่านจงถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้าแทบพระบาทของ
พระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระมหากัจจานะผู้เป็นพระ
อุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ ขอถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้า’ ดังนี้ และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า
๑. พระพุทธเจ้าข้า อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ข้าพระองค์จัดหา
ภิกษุสงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยาก
ลำบาก เวลาล่วงไปถึง ๓ ปี๓ จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ

เชิงอรรถ :
๑ น่าเลื่อมใส คือให้เกิดความเลื่อมใส (วิ.อ. ๓/๒๕๗/๑๗๐) พระรูปกายของพระผู้มีพระภาคถึงพร้อมด้วย
พระรัศมีแห่งพระสรีระอันนำความเลื่อมใสมารอบด้าน เพราะประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ และพระเกตุมาลามีพระรัศมีแผ่ออกข้างละวา นำความเลื่อมใสมาแก่ชนผู้สนใจ
ทัสสนาพระรูปกาย เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมด้วยกองธรรมอันประกอบ
ด้วยหมู่แห่งคุณที่ประมาณมิได้ เป็นต้นว่า พลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ (ดู ขุ.ป.
๓๑/๖๘-๗๓/๕,๑๒๑/๑๓๗) และพุทธธรรมเฉพาะอย่าง ๑๘ ประการ (ดู ที.ปา.อ. ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙)
(ขุ.อุ.อ. ๙๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๓)
๒ ทมถะและสมถะ หมายถึงปัญญาและสมาธิและหมายถึงความสงบกายและความสงบจิตบ้าง (วิ.อ. ๓/
๒๕๗/๑๗๐) ทมถะและสมถะที่สูงสุด คือปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติอันเป็นโลกุตตระ (สารตฺถ. ฏีกา. ๓/
๒๕๗/๓๖๓)
๓ หมายถึง เวลาผ่านไป ๓ พรรษา นับจากวันที่บรรพชาเป็นสามเณร (วิ.อ. ๓/๒๕๗/๑๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มี
รอยระแหงกีบโค ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า
หลายชั้น เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๓. พระพุทธเจ้าข้า พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต
การอาบน้ำได้เป็นนิตย์ เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้า
ตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง ถ้ากระไร
พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ
หนังแพะ และหนังมฤค เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๕. พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ พวกมนุษย์ถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่นอกสีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’
ภิกษุผู้รับฝากเหล่านั้นมาบอกว่า ‘พวกมนุษย์ชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่าน’
ภิกษุที่จะได้รับจีวรเหล่านั้นยำเกรงอยู่ จึงไม่ยินดี ด้วยคิดว่า
‘ของที่เป็นนิสสัคคีย์๑ อย่าได้มีแก่พวกเราเลย’ ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงตรัสบอกเหตุในเรื่องจีวร”
พระโสณะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ท่านพระโสณะรับคำของท่านพระมหากัจจานะแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้ท่าน
พระมหากัจจานะ ทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร จาริกไปทาง
กรุงสาวัตถี เดินทางไปโดยลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ถึงพระเชตวันอารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐีแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดเกี่ยวกับของที่เป็นนิสสัคคีย์ใน วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๕๙-๕๔๑/๑-๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอจงจัด
เสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้”
ท่านพระอานนท์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์จะประทับอยู่ใน
วิหารหลังเดียวกับภิกษุรูปที่พระองค์มีพระบัญชาใช้เราว่า ‘อานนท์ เธอจงจัด
เสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้’ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์จะประทับ
อยู่ในวิหารแห่งเดียวกับท่านพระโสณะ” จึงจัดเสนาสนะต้อนรับท่านพระโสณะใน
พระวิหารอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค
เรื่องพระโสณะสวดพระสูตรในอัฏฐกวรรค
[๒๕๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่แจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าพระวิหาร
ฝ่ายท่านพระโสณะก็ใช้เวลาอยู่ในที่แจ้งจนดึกจึงเข้าพระวิหาร พอถึงเวลาใกล้รุ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นแล้ว ทรงเชื้อเชิญท่านพระโสณะว่า “ภิกษุ เธอจงกล่าวธรรม
ตามถนัดเถิด”๑
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้สวดพระสูตรทั้งหมด ในอัฏฐก
วรรค๒โดยทำนองสรภัญญะ
เมื่อท่านพระโสณะสวดทำนองสรภัญญะจบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงชื่นชม
อย่างยิ่งจึงได้ประทานสาธุการว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ เธอเล่าเรียนสูตรในอัฏฐก
วรรคมาดีแล้ว จำได้แม่นยำดี เปล่งเสียงสวดได้ไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีที่น่าตำหนิ
บอกความหมายได้ชัดเจน ภิกษุ เธอมีพรรษาเท่าไร”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์บวชได้ ๑ พรรษา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เพราะเหตุไร เธอจึงช้าอยู่เล่า”

เชิงอรรถ :
๑ จงกล่าวธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่เล่าเรียนมา (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๔)
๒ ขุ.สุ. ๒๕/๗๗๓-๙๘๒/๔๘๖-๕๒๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์เห็นโทษในกามนานแล้ว แต่ผู้ครองเรือน
วุ่นวาย๑ มีกิจมาก มีธุระมาก พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า
“อารยชนเห็นโทษในโลก รู้ธรรมที่ไม่มีอุปธิ
จึงไม่ยินดีในบาป เพราะคนบริสุทธิ์๒ ย่อมไม่ยินดีในบาป”๓
ลำดับนั้น ท่านพระโสณะคิดว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังทรงชื่นชมเรา เวลานี้
ควรกราบทูลคำสั่งของพระอุปัชฌาย์” จึงลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กราบทูลพระผู้
มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระมหากัจจานะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ ขอกราบ
ถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า สั่งให้กราบทูลว่า
๑. พระพุทธเจ้าข้า อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ข้าพระองค์จัดหา
ภิกษุสงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยาก
ลำบาก เวลาล่วงไปถึง ๓ ปี จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาค พึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มี
รอยระแหงกีบโค ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า
หลายชั้น เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๓. พระพุทธเจ้าข้า พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต
การอาบน้ำได้เป็นนิตย์ เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ

เชิงอรรถ :
๑ วุ่นวายอยู่กับกรณียกิจน้อยใหญ่ (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๕)
๒ คือเป็นผู้มีความประพฤติทางกายเป็นต้นบริสุทธิ์สม่ำเสมอ (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๖)
๓ ขุ.อุ. ๒๕/๔๖/๑๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้าตีนกา หญ้า
หางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง ถ้ากระไร
พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ
หนังแพะ และหนังมฤค เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๕. พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ มนุษย์ทั้งหลายถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่นอกสีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’
ภิกษุผู้รับฝากเหล่านั้นมาบอกว่า ‘พวกมนุษย์ชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่าน’
ภิกษุที่จะได้รับจีวรเหล่านั้นยำเกรงอยู่ จึงไม่ยินดีด้วยคิดว่า ‘ของ
ที่เป็นนิสสัคคีย์อย่าได้มีแก่พวกเราเลย’ ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสบอกเหตุในเรื่องจีวร”
เรื่องประทานพร ๕ อย่างแก่พระโสณะ
[๒๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
๑. ภิกษุทั้งหลาย อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะมีจำนวน ๕ รูปรวมทั้งพระ
วินัยธร ในปัจจันตชนบททั้งหมด
กำหนดเขตปัจจันตชนบทและมัชฌิมชนบท
บรรดาชนบทเหล่านั้น ปัจจันตชนบทกำหนดเขตไว้ ดังนี้
ทางทิศตะวันออกมีนิคมกชังคละ เป็นขอบเขต ถัดเข้ามาถึงมหาสาลนคร
พ้นเขตนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศเหนือมีแม่น้ำสัลลวดี เป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ทางทิศใต้มีนิคมเสตกัณณิกะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศตะวันตกมีหมู่บ้านพราหมณ์ถูณะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไป
เป็นปัจจันตชนบท ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศอุดรมีภูเขาอุสีรธชะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์ ๕ รูปรวมทั้งพระ
วินัยธรได้ทั่วปัจจันตชนบทดังกล่าวนี้
๒. ภิกษุทั้งหลาย พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มีรอย
ระแหงกีบโค เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้น ในปัจจันตชนบททั้งหมด
๓. ภิกษุทั้งหลาย พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ ใน
ปัจจันตชนบททั้งหมด
๔. ภิกษุทั้งหลาย ในอวันตีทักขิณาบถมีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้า
ตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง เราอนุญาต
หนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ และหนังมฤค ใน
ปัจจันตชนบททั้งหมด
๕. ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกมนุษย์ถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลายผู้อยู่นอก
สีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอฝากถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’ เรา
อนุญาตให้ยินดีจีวรนั้นยังไม่นับ(ราตรี) ตลอดเวลาที่ยังไม่ถึงมือ”๑
จัมมขันธกะที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุที่รับฝากถวายจีวร ยังมิได้นำจีวรมาถวายจนถึงมือ หรือยังมิได้ส่งข่าวมาแจ้งให้ทราบว่า มีทายก
ถวายจีวร ต่อเมื่อภิกษุที่รับฝากถวายจีวรนำมาถวายจนถึงมือ หรือส่งข่าวมาแจ้งให้ทราบ หรือได้ฟังข่าวว่า
มีทายกถวายจีวรแล้วแต่นั้น จีวรนั้นเก็บไว้ได้ ๑๐ วัน (วิ.อ. ๓/๒๕๙/๑๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
จัมมขันธกะมี ๖๓ เรื่อง คือ๑
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐปกครองหมู่บ้าน
๘๐,๐๐๐ หมู่บ้านรับสั่งให้นายโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้า
เรื่องพระสาคตะแสดงอุตตริมนุสสธรรมอิทธิปาฏิหาริย์
เรื่องโสณโกฬิวิสะเศรษฐีบุตรออกบรรพชาปรารภความเพียรจนเท้าแตก
เรื่องทรงเปรียบเทียบความเพียรกับสายพิณ
เรื่องทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าชั้นเดียว เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีเขียว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีเหลือง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีแดง เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีบานเย็น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีดำ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีแสด เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีชมพู
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหู เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหุ้มแข้ง เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าปกหลังเท้า
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ายัดนุ่น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหูลายคล้ายขนปีกนกกระทา
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมลงป่อง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่เย็บด้วยขนนกยูง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่งดงามวิจิตร
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังราชสีห์
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือเหลือง

เชิงอรรถ :
๑ พระสังคีติกาจารย์ท่านเก็บข้อความมากล่าวเป็นคาถา ดูเหมือนจะไม่รวมข้อใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือดาว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนาก
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังแมว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังค่าง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนกเค้า
เรื่องภิกษุเท้าแตก เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าในอาราม
เรื่องภิกษุอาพาธเป็นหน่อที่เท้า เรื่องภิกษุไม่ล้างเท้า
เรื่องภิกษุเหยียบตอไม้ เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมเขียงเท้าเดินเสียงดังกึกกัก
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยใบตาล เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยใบไผ่
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้าสามัญ
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้ามุงกระต่าย
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้าปล้อง เรื่องสวมเขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยแฝก เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยขนสัตว์
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยทองคำ เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยเงิน
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วไพฑูรย์
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยสำริด
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยกระจก เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยดีบุก
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยสังกะสี เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยทองแดง
เรื่องจับโค เรื่องพระฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะ
เรื่องภิกษุเป็นไข้ เรื่องยานเทียมด้วยโคเพศผู้
เรื่องวอ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่
เรื่องหนังผืนใหญ่ เรื่องภิกษุใจบาปขอหนังลูกโค
เรื่องเตียงตั่งของพวกคฤหัสถ์หุ้มด้วยหนัง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
เรื่องภิกษุเป็นไข้สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้านได้ เรื่องพระมหากัจจานะ
เรื่องพระโสณะสวดพระสูตรในอัฏฐกวรรคโดยทำนองสรภัญญะ
เรื่องทรงประทานพร ๕ อย่างแก่พระโสณะ คือ
๑. อนุญาตให้สงฆ์ปัญจวรรคให้อุปสมบทได้
๒. อนุญาตให้สวมรองเท้าหลายชั้นได้
๓. อนุญาตให้อาบน้ำได้เป็นนิตย์
๔. อนุญาตให้ใช้หนังเครื่องลาดได้ในทักขิณาบถ
๕. ทายกถวายจีวร เมื่อยังไม่ถึงมือภิกษุ อนุญาตให้
ไม่ต้องนับราตรี
จัมมขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๒ }

1 ความคิดเห็น :