Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๐-๓ หน้า ๘๓ - ๑๒๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค



พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย มหาวรรค
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหาก่อให้เกิดภพใหม่
ที่เกิดขึ้นแล้ว
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้มุ่งหวังเสนาสนะป่า
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งสติไว้ในภายในว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลงามที่ยังไม่มา พึงมา ท่านที่มาแล้ว
พึงอยู่อย่างผาสุก’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการงาน๑ ไม่ยินดีการงาน ไม่หมั่น
ประกอบความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย๒ ไม่ยินดีการพูดคุย
ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการพูดคุย

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ชอบการงาน ในที่นี้หมายถึงไม่เพลิดเพลินอยู่ด้วยการทำงาน เช่น การทำจีวร การทำผ้ากรองน้ำ
จนไม่มีเวลาบำเพ็ญสมณธรรม เช่น ถ้าท่านรู้จักแบ่งเวลา ถึงเวลาเรียนก็เข้าเรียน ถึงเวลาสวดมนต์ก็สวด
ถึงเวลาเจริญภาวนาก็เจริญ ไม่ถือว่า ชอบการงาน (ที.ม.อ. ๑๓๗/๑๒๘)
๒ ไม่ชอบการพูดคุย หมายถึงไม่ชอบพูดคุยเรื่องนอกธรรมนอกวินัยตลอดทั้งวัน เช่น เรื่องผู้หญิง ถ้า
สนทนาธรรมเพื่อแก้ปัญหา ไม่ถือว่า ชอบการพูดคุย (ที.ม.อ. ๑๓๗/๑๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีการนอนหลับ
ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีการ
คลุกคลีด้วยหมู่ ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการคลุกคลี
ด้วยหมู่
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว ไม่ตกไปสู่อำนาจ
ของความปรารถนาชั่ว
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่ถึงความหยุดชะงักในระหว่างเพียงเพราะบรรลุ
คุณวิเศษชั้นต่ำ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีศรัทธา๑

เชิงอรรถ :
๑ ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ มี ๔ อย่างคือ (๑) อาคมนียะ (ศรัทธาของพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญเพื่อ
พระสัพพัญญุตญาณ) (๒) อธิคมะ (ศรัทธาของพระอริยบุคคล) (๓) ปสาทะ (ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม
และพระสงฆ์) (๔) โอกัปปนะ (ศรัทธาอย่างมั่นคง) แต่ในที่นี้หมายถึงปสาทะและโอกัปปนะเท่านั้น (ที.ม.อ.
๑๓๘/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีหิริ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีโอตตัปปะ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นพหูสูต๑
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังปรารภความเพียร๒
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีสติตั้งมั่น
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญสติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความระลึกได้)
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือการเฟ้นธรรม)

เชิงอรรถ :
๑ พหูสูต แปลว่า ผู้ฟังมามาก มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปริยัตติพหูสูต (แตกฉานในพระไตรปิฎก) (๒) ปฏิเวธ-
พหูสูต (บรรลุสัจจะทั้งหลาย) พหูสูตในที่นี้หมายถึงปริยัตติพหูสูต (ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๓๐)
๒ ปรารภความเพียร หมายถึงบำเพ็ญเพียรทั้งทางกายทั้งทางจิต ความเพียรทางกาย คือ เว้นการคลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ เป็นอยู่โดดเดี่ยว ความเพียรทางจิต คือ บรรเทาความฟุ้งซ่านแห่งจิต (ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความเพียร)
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความอิ่มใจ)
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ)
๖. ภิกษุพึงหวังได้ แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น)
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่
เที่ยงแห่งสังขาร)
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็น
อนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๖ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งาม
แห่งกาย)
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอาทีนวสัญญา (กำหนดหมายทุกข์โทษ
ของกายอันมีความเจ็บไข้ต่าง ๆ)
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละ
อกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย)
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญวิราคสัญญา(กำหนดหมายวิราคะว่าเป็น
ธรรมละเอียดประณีต)
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญนิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็น
ธรรมละเอียดประณีต)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๔๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรมอีกหมวดหนึ่งแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งมั่นเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ๑

เชิงอรรถ :
๑ ในที่แจ้งและในที่ลับ ในที่นี้หมายถึงทั้งต่อหน้าและลับหลัง (ที.ม.อ. ๑๔๑/๑๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งมั่นเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจารี
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจารี ทั้งใน
ที่แจ้งและในที่ลับ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีการบริโภคโดยไม่แบ่งแยกลาภทั้งหลายอัน
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต
(อาหารในบาตร) บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีล
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท๑
ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอริยทิฏฐิอันเป็นธรรมเครื่องนำออกเพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๖ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๖ ประการนี้อยู่”

เชิงอรรถ :
๑เป็นไท ในที่นี้หมายถึงไม่เป็นทาสของตัณหา (ที.ม.อ. ๑๔๑/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
[๑๔๒] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะ
อย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรม
โดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิ
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในกรุง
ราชคฤห์ รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
อัมพลัฏฐิกาวันกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงอัมพลัฏฐิกาวัน ประทับอยู่ที่พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาวัน
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อประทับอยู่ที่พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาวัน
ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้
สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีล
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๔๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัมพ-
ลัฏฐิกาวัน รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
เมืองนาฬันทากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงเมืองนาฬันทา ประทับอยู่ที่ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท

ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท๑
[๑๔๕] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี
และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่า
พระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา (วาจาอย่างองอาจ)
อย่างสูง เธอถือเอาด้านเดียว บันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค’
สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอดีตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
ท่านพระสารีบุตรทูลตอบว่า “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอนาคตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจักทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จักทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีปัญญา
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”

เชิงอรรถ :
๑ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๘/๒๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้ใจเราผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้
ด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีเจโตปริยญาณ๑ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ไฉนเธอกล่าวอาสภิวาจา
เธอถือเอาด้านเดียวบันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น
ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค”
[๑๔๖] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงแม้ว่า
ข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต
และปัจจุบัน แต่ข้าพระองค์ก็รู้วิธีการอนุมาน เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของ
พระเจ้าแผ่นดินมีรากฐานมั่นคง มีกำแพงแข็งแรง มีป้อมค่ายแข็งแรง มีประตูเดียว
นายประตูของเมืองนั้นเป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม ห้ามคนที่ไม่รู้จัก อนุญาตให้
คนที่รู้จักเข้าไปได้ เขาเดินสำรวจดูหนทางตามลำดับรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อ
หรือช่องกำแพงโดยที่สุดแม้เพียงที่ที่พอแมวลอดออกได้ เขาย่อมรู้ว่า ‘สัตว์ใหญ่
ทุกชนิดเมื่อจะเข้าหรือออกเมืองนี้ ก็จะเข้าหรือออกทางประตูนี้เท่านั้น’ แม้ฉันใด
วิธีการอนุมานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตกาล ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ

เชิงอรรถ :
๑ เจโตปริยญาณ หมายถึงปรีชากำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ คือ รู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดของเขาได้ เช่นรู้ว่าเขากำลัง
คิดอะไรอยู่ ใจเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นต้น (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๒/๘๐-๘๑, ๔๗๖/๒๐๘-๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
โทษของคนทุศีล ๕ ประการ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม
ความเป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอนาคตกาล ก็จักทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้า
หมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗
ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาค-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม
ความเป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๔๗] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในปาวาริกัมพวัน เขตเมือง
นาฬันทา ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะ
อย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดย
มีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิ
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
โทษของคนทุศีล ๕ ประการ๑
[๑๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในเมือง
นาฬันทา รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
ปาฏลิคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ-
สงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงปาฏลิคาม พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบว่า
“พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงปาฏลิคาม” จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๕/๙๗-๙๘, ขุ.อุ. ๒๕/๗๖/๒๐๙-๒๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
โทษของคนทุศีล ๕ ประการ
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคโปรดทรงรับเรือนพักแรมของพวกข้าพระองค์
ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้วจึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณเข้าไป
ยังเรือนพักแรมแล้ว ปูเครื่องลาดทั่วเรือนพักแรมแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ
ตามประทีปน้ำมันไว้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า
พระองค์ได้ปูเครื่องลาดทั่วเรือนพักแรมแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีป
น้ำมันไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังเรือนพักแรม ทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าสู่เรือน
พักแรม ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้ว เข้าสู่เรือนพักแรม นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก
ผินหน้าไปทางทิศตะวันออกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาค
ส่วนอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามล้างเท้าแล้ว เข้าสู่เรือนพักแรม นั่งพิงฝา
ด้านทิศตะวันออก ผินหน้าไปทางทิศตะวันตกอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
[๑๔๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
มาตรัสว่า “คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้
โทษ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์
เป็นอันมาก ซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการที่ ๑
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็น
โทษประการที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
อานิสงส์ของคนมีศีล ๕ ประการ
๓. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติจะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัท
ก็ตาม ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการที่ ๓
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๔. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็นโทษประการ
ที่ ๔ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๕. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก นี้เป็นโทษประการที่ ๕ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
“คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้แล
อานิสงส์ของคนมีศีล ๕ ประการ
[๑๕๐] คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้
อานิสงส์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมมีโภคทรัพย์เป็นอันมาก
ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่ง
ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมขจรไป
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๓. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็น
ขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม
สมณบริษัทก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร
๕. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่งศีลสมบัติของ
บุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล๑
[๑๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาเกือบตลอดคืน ทรงส่งกลับด้วยพระดำรัสว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ราตรีผ่านไปมากแล้ว๒ ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ
บัดนี้เถิด” อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามทูลรับสนองพระดำรัสแล้วลุกจากที่นั่ง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสกอุบาสิกา
ชาวปาฏลิคามเหล่านั้นจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง
การสร้างเมืองปาฏลีบุตร๓
[๑๕๒] สมัยนั้น มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
สร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เทวดาจำนวนมากจับจองที่เป็นพัน ๆ
แห่ง ในปาฏลิคาม จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไป
เพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราช-
มหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์
ปานกลางจับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไป
เพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยจับจอง๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๕-๓๕๖
๒ ราตรีผ่านไปมากแล้ว หมายถึงเกือบจะสว่างนั่นเอง (ที.ม.อ. ๑๕๑/๑๔๐-๑๔๑)
๓ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๖/๑๐๐-๑๐๑
๔ ทราบว่า เทวดาเหล่านี้ เข้าสิงในร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น บอกว่า
ควรจะสร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้ ด้วยประสงค์จะให้พระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์ปานกลาง
มีศักดิ์น้อยใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ. ๓/๒๘๖/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นเทวดาจำนวนมากเหล่านั้น พากันจับจองที่เป็น
พัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้นในเวลาเช้า
เมื่อเสด็จลุกขึ้น รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ ใครจะสร้าง
เมืองในปาฏลิคาม”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะ
ชาวแคว้นมคธกำลังจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาว
แคว้นมคธ จะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เหมือนได้ปรึกษา
กับพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ณ ที่นี้ เราได้เห็นเทวดาจำนวนมากพากันจับจองที่
เป็นพัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จิตของ
พระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่
เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง
ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางจับจอง จิตของพระราชา
และราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มี
ศักกดิ์น้อยจับจอง ตราบใดที่ยังเป็นแดนที่อารยชนติดต่อกันอยู่ ตราบใดที่ยังเป็นเส้น
ทางค้าขาย ตราบนั้น เมืองปาฏลีบุตรนี้ยังจะเป็นเมืองชั้นเยี่ยม เป็นย่านการค้าอยู่
ต่อไป แต่เมืองปาฏลีบุตรนั้นจะมีอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายจากไฟ อันตราย
จากน้ำ หรืออันตรายจากการแตกความสามัคคี”
[๑๕๓] ต่อมา มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหาร
ของพวกข้าพระองค์ในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร
เมื่อมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธทราบพระอาการ
ที่พระผู้พระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงเข้าไปยังที่พักของตน สั่งให้จัดเตรียมของขบฉัน
อันประณีตไว้ในที่พักของตนแล้วให้คนไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร๑
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์
วัสสการะชาวแคว้นมคธ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว มหาอำมาตย์
ทั้งสองได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำด้วยมือของตน ๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์จากบาตร
มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่
ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
“บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น
พึงอุทิศทักษิณา๒แก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือเขาตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก๓
ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ”

เชิงอรรถ :
๑ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เป็นสำนวนแสดงประเพณีในการเข้าบ้าน นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระผู้มี
พระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยพระวรกายส่วนบน ครองอันตรวาสก หมายถึง
พระผู้มีพระภาคทรงผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ ถือบาตรและจีวร หมายถึงทรงถือ
บาตรด้วยพระหัตถ์ ทรงถือจีวรด้วยพระวรกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง(วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ.
๑๕๓/๑๔๓, ที.ม.ฏีกา ๑๕๓/๑๗๑)
๒ พึงอุทิศทักษิณา หมายถึงพึงให้ส่วนบุญ (ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓)
๓ บุตรผู้เกิดแต่อก หมายถึงบุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่แนบอก (ที.ม.อ. ๑๔๓/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร
ครั้นทรงอนุโมทนาแก่มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้น
มคธด้วยพระคาถาเหล่านี้ ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป
[๑๕๔] ลำดับนั้น มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ ด้วยคิดว่า “ประตูที่ท่านพระสมณ-
โคดมเสด็จออกไปในวันนี้จะมีชื่อว่าประตูพระโคดม ท่าที่พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำ
คงคาจะมีชื่อว่าท่าพระโคดม”
ต่อมา ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจึงได้มีชื่อว่า ประตูพระโคดม คราวนั้น
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปใกล้แม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคาเต็มเสมอฝั่ง
นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ คนทั้งหลายผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวกเที่ยวหาเรือ
บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรง
หายไปจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคาไปปรากฏที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรคนเหล่านั้นผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวก
เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
“คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพาน๑
ข้ามสระ๒ใหญ่ โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยโคลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว”
ภาณวารที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องอริยสัจ ๔ ประการ

เรื่องอริยสัจ ๔ ประการ๑
[๑๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด
อานนท์ เราจะเข้าไปยังโกฏิคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโกฏิคาม ประทับอยู่ที่โกฏิคามนั้น
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ ประการ เราและเธอ
ทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ เราและเธอทั้งหลาย
จึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึง
เที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราและ
เธอทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอ
ทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอด
ทุกขนิโรธอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เราและเธอทั้งหลายถอนภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติ๒สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๗/๑๐๓-๑๐๔, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๙๑/๖๐๕
๒ ภวเนตติ หมายถึงตัณหานำไปสู่ภพ ตัณหาประดุจเชือกซึ่งสามารถนำสัตว์ออกจากภพไปสู่ภพ (ที.ม.อ.
๑๕๕/๑๔๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑/๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
เราและเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไป
ในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลยาวนาน
แต่เพราะได้เห็นอริยสัจ ๔
เราและเธอทั้งหลายจึงถอนภวเนตติได้
ตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้เด็ดขาด
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่โกฏิคาม ทรงแสดงธรรมีกถา
เป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะ
อย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจาก
อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๑
[๑๕๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคาม
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังนาทิกคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จถึงนาทิกคาม ประทับอยู่ที่พระตำหนักอิฐ ในนาทิกคาม
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๐๔-๑๐๐๖/๕๐๕-๕๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุสาฬหะที่มรณภาพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
ภิกษุณีนันทาที่มรณภาพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกสุทัตตะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสิกาสุชาดาที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกกกุธะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกการฬิมภะ ฯลฯ อุบาสกนิกฏะ ฯลฯ อุบาสกกฏิสสหะ ฯลฯ
อุบาสกตุฏฐะ ฯลฯ อุบาสกสันตุฏฐะ ฯลฯ อุบาสกภฏะ ฯลฯ
อุบาสกสุภฏะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
[๑๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุสาฬหะ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุณีนันทาเป็นโอปปาติกะ๑ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสุทัตตะเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะ
ราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่ภพนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อุบาสิกาสุชาดาเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๒ในวันข้างหน้า
อุบาสกกกุธะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก

เชิงอรรถ :
๑ โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพ เช่น
เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) แต่ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามีที่เกิดในภพชั้นสุทธาวาส
(ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้นมีชั้นอวิหา เป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้นกิเลสใน
ภพชั้นสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๘๒-๒๘๓)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ที.ม.อ.
๑๗๕/๑๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
อุบาสกการฬิมภะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกนิกฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกกฏิสสหะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกตุฏฐะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสันตุฏฐะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกภฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสุภฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๕๐ คน ดับชีพแล้วเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๙๖ คน ดับชีพแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว
ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๕๑๐ คน ดับชีพแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม
[๑๕๘] อานนท์ ข้อที่บุคคลเกิดเป็นมนุษย์แล้วดับชีพนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่เมื่อผู้นั้น ๆ ดับชีพแล้ว พวกเธอเข้ามาหาตถาคตถามเรื่องนั้น นั่นเป็นการรบกวน
ตถาคต ฉะนั้น เราจะแสดงหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม๑เป็นเครื่องมือให้อริยสาวก
มีไว้ เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิด
ในนรก หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดใน
แดนเปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
[๑๕๙] หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อ
ประสงค์ ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดน
เปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า‘ คือ
อะไร
คือ พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จ
ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็น
ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค”
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล๒ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้า
มาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”

เชิงอรรถ :
๑ แว่นธรรม หมายถึงธรรมเป็นเครื่องส่องดูตนเองจนสามารถพยากรณ์ตนได้ ในที่นี้ ได้แก่ อริยมรรคญาณ
(ที.ม.ฏีกา ๑๕๘/๑๗๕) ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๗๔/๖๖, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๕๒/๘๖
๒ ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใด ก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๔/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ
ถูกต้อง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขา
นำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ๑ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิ
ครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อานนท์ นี้แล คือหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรมเป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้
เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรต
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในตำหนักอิฐในนาทิกคามนั้น ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมี
ลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๖๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนาทิกคาม รับสั่งเรียกท่าน
พระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังกรุงเวสาลีกัน” ท่านพระ-
อานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
เสด็จถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน๒รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ศีลที่พระอริยะชอบใจ หมายถึงศีลที่ประกอบด้วยมรรคและผล ในที่นี้หมายถึงความสำรวมทุกชนิด
(ที.ม.อ. ๑๕๙/๑๔๖, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)
๒ อัมพปาลีวัน หมายถึงสวนมะม่วงของหญิงคณิกาชื่ออัมพปาลี ซึ่งถวายเป็นที่พักแด่สงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธาน (ที.ม.อ. ๑๖๐/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะ นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอ
ทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุผู้มีสติ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด
การนิ่ง
ภิกษุผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับ
เธอทั้งหลาย”๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๑๔/๗๑๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๕/๒๗๗, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖๘/๒๑๑-๒๑๒,
องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗๔/๓๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
นางอัมพปาลีคณิกา

นางอัมพปาลีคณิกา๑
[๑๖๑] นางอัมพปาลีคณิกาทราบว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงเวสาลี
ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของเรา” ลำดับนั้น นางอัมพปาลีคณิกาให้จัดเตรียมยาน
พาหนะคันงาม ๆ ขึ้นยานพาหนะคันงาม ๆ ออกจากกรุงเวสาลีพร้อมด้วยยานพาหนะ
คันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคัน ตรงไปยังสวนของตน จนสุดทางที่ยานพาหนะ
จะเข้าไปได้ ลงจากยานพาหนะเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางอัมพปาลีคณิกาเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
จากนั้น นางอัมพปาลีคณิกาผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
เมื่อนางทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
พวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงเวสาลี
ประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน จึงสั่งให้จัดเตรียมยานพาหนะคันงาม ๆ เสด็จขึ้นยานพาหนะ
คันงาม ๆ ออกจากกรุงเวสาลีพร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
ในบรรดาเจ้าลิจฉวีนั้น บางพวกดำล้วน คือ ใช้สีดำ ทรงผ้าสีดำ ทรงเครื่อง
ประดับสีดำ บางพวกเหลืองล้วน คือ ใช้สีเหลือง ทรงผ้าสีเหลือง ทรงเครื่อง
ประดับสีเหลือง บางพวกแดงล้วน คือ ใช้สีแดง ทรงผ้าสีแดง ทรงเครื่องประดับ
สีแดง บางพวกขาวล้วน คือ ใช้สีขาว ทรงผ้าสีขาว ทรงเครื่องประดับสีขาว
นางอัมพปาลีคณิกาใช้เพลากระทบเพลา ล้อกระทบล้อ แอกกระทบแอกรถ
กับพวกเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๘-๒๘๙/๑๐๕-๑๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] นางอัมพปาลีคณิกา
พวกเจ้าลิจฉวีตรัสถามว่า “อัมพปาลี เหตุไร เธอจึงใช้เพลากระทบเพลา
ล้อกระทบล้อ แอกกระทบแอกรถกับพวกเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ เล่า”
นางอัมพปาลีทูลตอบว่า “ข้าแต่พระลูกเจ้า เพราะหม่อมฉันทูลนิมนต์พระผู้มี
พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ให้ทรงรับภัตตาหารในวันพรุ่งนี้”
พวกเจ้าลิจฉวีตรัสว่า “เธอจงให้ภัตตาหารมื้อนี้(แลก)กับเงิน ๑๐๐,๐๐๐ เถิด”
นางอัมพปาลีทูลว่า “แม้พวกท่านจะยกกรุงเวสาลีพร้อมทั้งแว่นแคว้นให้
หม่อมฉัน กระนั้นหม่อมฉันก็ไม่ยอมให้ภัตตาหารมื้อสำคัญ”
ทันใดนั้น พวกเจ้าลิจฉวีทรงดีดพระองคุลีพร้อมตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย
นางอัมพปาลีชนะพวกเรา นางลวงพวกเรา” แล้วเสด็จไปยังอัมพปาลีวัน
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นพวกเจ้าลิจฉวีเสด็จมาแต่ไกล จึงรับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ไม่เคยเห็นพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จงดู
พวกเจ้าลิจฉวี จงเปรียบพวกเจ้าลิจฉวีกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์”
พวกเจ้าลิจฉวีเสด็จไปด้วยยานพาหนะจนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้
จึงเสด็จลงจากยานพาหนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พวกเจ้าลิจฉวีเห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
พวกเจ้าลิจฉวีผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
โปรดรับภัตตาหารของพวกข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรารับนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ของนาง
อัมพปาลีไว้แล้ว”
พวกเจ้าลิจฉวีทรงดีดพระองคุลีพร้อมตรัสว่า “นางอัมพปาลีชนะพวกเรา
นางลวงพวกเรา” จากนั้น พวกเจ้าลิจฉวีต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี
พระภาค เสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ
แล้วจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] นางอัมพปาลีคณิกา
[๑๖๒] ครั้นคืนนั้นผ่านไป นางอัมพปาลีคณิกา สั่งให้จัดเตรียมของขบฉัน
อันประณีตไว้ในสวนของตน ให้คนไปกราบทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของนางอัมพปาลีคณิกา ประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาด
ไว้แล้ว
นางอัมพปาลีคณิกาได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์
จากบาตร นางอัมพปาลีคณิกาจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอมอบถวาย
สวนแห่งนี้แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน”
พระผู้มีพระภาคทรงรับสวนแล้ว จึงทรงชี้แจงให้นางอัมพปาลีคณิกาเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน เขตกรุงเวสาลี ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมี
ลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม๑
[๑๖๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในอัมพ-
ปาลีวันแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไป
ยังเวฬุวคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเวฬุวคาม ประทับอยู่ในเวฬุวคามนั้น รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจำพรรษารอบกรุง
เวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนเรา
จะจำพรรษาในเวฬุวคามนี้”
พวกภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจำพรรษารอบกรุงเวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน
ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงจำ
พรรษาในเวฬุวคามนั้น
[๑๖๔] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษา ได้เกิดอาการพระประชวร
อย่างรุนแรงมีทุกขเวทนา๒อย่างแสนสาหัสจวนเจียนจะปรินิพพาน พระองค์ทรงมี
สติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นไม่พรั่นพรึงทรงพระดำริว่า “การที่เราไม่บอกผู้อุปัฏฐาก
ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานนั้น ไม่เหมาะแก่เรา ทางที่ดี เราควรใช้ความเพียร๓
ขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่ต่อไป”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาการพระประชวรนั้น
ทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่ อาการพระประชวรจึงสงบ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหายจาก
พระประชวร หายจากพระอาการไข้ไม่นาน ได้เสด็จออกจากพระวิหารไปประทับนั่ง
บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วในร่มเงาพระวิหาร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๕/๒๒๒-๒๒๓
๒ ทุกขเวทนา ในที่นี้หมายถึงความรู้สึกเจ็บปวด เป็นอาการของทุกข์ในไตรลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้แก่ผู้ที่เป็น
พระอรหันต์ มิใช่ทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทหรือในอริยสัจ พระผู้มีพระภาคทรงข่มทุกขเวทนานี้ด้วยความเพียร
(ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๘-๑๔๙)
๓ ความเพียร ในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ (๑) ความเพียรที่เป็นบุพภาค ได้แก่ การบริกรรมผลสมาบัติ (๒) ความเพียร
ที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๙, ที.ม.ฏีกา ๑๖๔/๑๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม
ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ
ข้าพระองค์ได้เห็นพระสุขภาพของพระองค์แล้ว ได้เห็นพระองค์ทรงอดทนต่อทุกข-
เวทนาแล้ว ทำให้ร่างกายของข้าพระองค์อ่อนเปลี้ยประดุจคนเมา ข้าพระองค์รู้สึก
มืดทุกด้าน แม้ธรรม๑ ก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์อีกแล้ว เพราะพระอาการไข้ของ
พระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์ก็ยังเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า ‘พระผู้มีพระภาคจะยัง
ไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ปรารภภิกษุสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใด
อย่างหนึ่ง”
[๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังได้อะไรในเรา
อีกเล่า ธรรมที่เราแสดงแล้วไม่มีในไม่มีนอก๒ ในเรื่องธรรมทั้งหลาย ตถาคตไม่มี
อาจริยมุฏฐิ๓ ผู้ที่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า ภิกษุสงฆ์
จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก ผู้นั้นจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นแน่ แต่ตถาคตไม่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า
ภิกษุสงฆ์จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก แล้วทำไมตถาคตจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์
กล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งอีกเล่า บัดนี้ เราเป็นผู้ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลมานาน
ผ่านวัยมามาก เรามีวัย ๘๐ ปี ร่างกายของตถาคตประหนึ่งแซมด้วยไม้ไผ่ ยังเป็น
ไปได้ ก็เหมือนกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ฉะนั้น ร่างกายของตถาคตสบาย
ขึ้นก็เพราะในเวลาที่ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทุกอย่าง และ
เพราะดับเวทนาบางอย่างได้เท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๙)
๒ ไม่มีในไม่มีนอก หมายถึงไม่แบ่งเป็น ๒ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นการแบ่งธรรมหรือแบ่งบุคคล(ผู้ฟัง) เช่น ผู้ที่คิดว่า
เราจะไม่แสดงธรรมประมาณเท่านี้แก่บุคคลอื่น ซึ่งว่าทำธรรมให้มีใน แต่จะแสดงธรรมประเภทเท่านี้
แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำธรรมให้มีนอก ส่วนผู้ที่คิดว่า เราจะแสดงแก่บุคคลนี้ ชื่อว่าทำบุคคลให้มีใน ไม่แสดง
แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำบุคคลให้มีนอก (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๔๙)
๓ อาจริยมุฏฐิ แปลว่า กำมือของอาจารย์ อธิบายว่า มือที่กำไว้ ใช้เรียกอาการของอาจารย์ภายนอก
พระพุทธศาสนาที่หวงวิชา ไม่ยอมบอกแก่ศิษย์ขณะที่ตนเองยังหนุ่ม แต่จะบอกแก่ศิษย์ที่ตนรัก ขณะที่ตน
ใกล้จะตายเท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงถือตามคติเช่นนี้ (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม
อานนท์ เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ๑ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มี
สิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอ่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้๒
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม
เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล
อานนท์ ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าจะในบัดนี้หรือเมื่อเราล่วงไปแล้ว จะเป็น
ผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง
ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจักอยู่ในความเป็นผู้เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้ใคร่ต่อ
การศึกษา”๓
คามกัณฑ์ ในมหาปรินิพพานสูตร จบบริบูรณ์
ภาณวารที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ว่าด้วยนิมิตโอภาส

ว่าด้วยนิมิตโอภาส๑
[๑๖๖] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเสวย
พระกระยาหารเสร็จแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจง
ถือผ้านิสีทนะ(ผ้ารองนั่ง) เราจะเข้าไปพักกลางวันที่ปาวาลเจดีย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ถือผ้านิสีทนะตามเสด็จพระผู้มี
พระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ท่าน
พระอานนท์ปูลาดถวาย ท่านพระอานนท์ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร
[๑๖๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์
น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป๒ หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต
เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป” เมื่อพระผู้มีพระภาค
ทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะ
รู้ทันจึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่
ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ทั้งนี้เป็นเพราะ
ท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจ
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๘๒๒/๓๘๕-๓๘๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๒
๒ กัป ในที่นี้หมายถึงอายุกัป คือช่วงอายุของคนแต่ละยุค ในยุคของพระพุทธเจ้าของเรา อายุกัปของคน =
๑๐๐ ปี (ที.ม.อ. ๑๖๗/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์
น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต
เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป” เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
ทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน
จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” เพราะท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจ
จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ไปเถิดอานนท์
เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้วนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง
ในที่ไม่ไกล
มารกราบทูลให้ปรินิพพาน
[๑๖๘] ครั้นเมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคต
โปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่
ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า
ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๓ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท๑ ที่เกิดขึ้น
ให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุทั้งหลาย
ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตน แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุณี
ทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้
ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ

เชิงอรรถ :
๑ ปรัปวาท ในที่นี้หมายถึงวาทะ หรือลัทธิต่าง ๆ ของเจ้าลัทธิอื่นนอกพระพุทธศาสนา (ที.ม.ฏีกา ๓๗๔/๓๗๕,
ขุ.ม.อ.๓๑/๒๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสก
ทั้งหลายผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ได้แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสิกา
ทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้
ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่พรหมจรรย์๑ ของเรายังไม่บริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์ คือ คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา
(ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงปลงพระชนมายุสังขาร
มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ก็เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกัน
โดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด
เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค’
เมื่อมารทูลอาราธนาอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตอบมารผู้มีบาปดังนี้ว่า
“มารผู้มีบาป ท่านจงอย่ากังวล๑เลย อีกไม่นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี
จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”
ทรงปลงพระชนมายุสังขาร
[๑๖๙] เวลานั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงพระ
ชนมายุสังขาร๒แล้ว ณ ปาวาลเจดีย์ เมื่อพระองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว
ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุงแรงน่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็
ดังกึกก้อง ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้น จึงทรงเปล่งพระอุทานในเวลานั้น
ดังนี้ว่า
“พระมุนีละกรรมทั้งที่ชั่งได้และที่ชั่งไม่ได้
อันเป็นเหตุก่อกำเนิด เป็นเครื่องปรุงแต่งภพได้แล้ว
ยินดีในภายใน มีใจมั่นคง
ทำลายกิเลสที่เกิดในตนได้
เหมือนนักรบทำลายเกราะได้ฉะนั้น”๓

เชิงอรรถ :
๑ คำนี้แปลจากคำว่า “อปฺโปสฺสุกฺโก” ซึ่งตามรูปศัพท์แปลกันว่า ขวนขวายน้อย (ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)
๒ ปลงพระชนมายุสังขาร หมายถึงสลัดปัจจัยเครื่องปรุงแต่งอายุ คือ ตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน (ที.ม.อ.
๑๖๙/๑๕๙)
๓ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ๘ ประการ

เหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ๘ ประการ๑
[๑๗๐] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง ๆ
น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง อะไรหนอแลเป็นเหตุ
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แผ่นดินไหวครั้งนี้
รุนแรงจริง แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง ๆ น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า
ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดิน
ไหวอย่างรุนแรง พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้
ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
เหตุปัจจัย ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ
เวลาที่ลมพายุพัดแรงย่อมทำให้น้ำกระเพื่อม น้ำที่กระเพื่อม
ย่อมทำให้แผ่นดินไหวตาม นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๑ ที่ทำ
ให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๒. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางจิต หรือเทพ
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้เจริญปฐวีสัญญานิดหน่อย แต่เจริญ
อาโปสัญญาจนหาประมาณมิได้ จึงทำให้แผ่นดินนี้ไหวสั่นสะเทือน
เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๒ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง
๓. คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือน
เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๓ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๖-๓๗๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บริษัท ๘ จำพวก
๔. คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุ
ปัจจัยประการที่ ๔ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๕. คราวที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แผ่นดินนี้ก็ไหว
สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๕ ที่ทำให้เกิด
แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๖. คราวที่ตถาคตประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป แผ่นดินนี้
ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๖ ที่ทำให้
เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๗. คราวที่ตถาคตมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร แผ่นดินนี้ก็ไหว
สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๗ ที่ทำให้เกิด
แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๘. คราวที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แผ่นดินนี้
ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๘ ที่ทำให้
เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
อานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้แล ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
บริษัท ๘ จำพวก๑
[๑๗๒] อานนท์ บริษัท ๘ จำพวกนี้
บริษัท ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. ขัตติยบริษัท (ชุมนุมกษัตริย์)
๒. พราหมณบริษัท (ชุมนุมพราหมณ์)
๓. คหบดีบริษัท (ชุมนุมคหบดี)
๔. สมณบริษัท (ชุมนุมสมณะ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๗/๒๒๙, ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๕๑/๑๕๐, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๙/๓๗๑-๓๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บริษัท ๘ จำพวก
๕. จาตุมหาราชบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นจาตุมหาราช)
๖. ดาวดึงสบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นดาวดึงส์)
๗. มารบริษัท (ชุมนุมมาร)
๘. พรหมบริษัท (ชุมนุมพรหม)
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาขัตติยบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคยนั่งพูดคุย
และสนทนาในขัตติยบริษัทนั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะเช่นนั้น
กษัตริย์เหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูดอยู่นี้เป็นใคร
เป็นเทพหรือเป็นมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วหายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไปแล้วนี้เป็นใคร เป็นเทพ
หรือเป็นมนุษย์’
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาพราหมณบริษัทหลายร้อยครั้ง ฯลฯ
คหบดีบริษัท ฯลฯ สมณบริษัท ฯลฯ จาตุมหาราชบริษัท ฯลฯ ดาวดึงสบริษัท ฯลฯ
มารบริษัท ฯลฯ
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาพรหมบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคยนั่งพูดคุย
และสนทนาในพรหมบริษัทนั้น พรหมเหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะเช่นนั้น
พรหมเหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้พรหมเหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูดอยู่นี้เป็นใคร
เป็นเทพหรือเป็นมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้พรหมเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วก็หายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไปแล้วนี้เป็นใคร เป็นเทพ
หรือเป็นมนุษย์’
อานนท์ บริษัท ๘ จำพวกนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๙ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] อภิภายตนะ ๘ ประการ

อภิภายตนะ ๘ ประการ
[๑๗๓] อานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการนี้
อภิภายตนะ๑ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน๒ เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดเล็ก
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๑
๒. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดใหญ่
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๒
๓. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน๓ เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดเล็ก
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๓
๔. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดใหญ่
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๔
๕. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เขียว
มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม เปรียบเหมือนดอก
ผักตบที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ฉันใด
หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน
ที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ฉันใด บุคคล
หนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลาย
ภายนอกที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม

เชิงอรรถ :
๑ อภิภายตนะ หมายถึงเหตุครอบงำเหตุที่มีอิทธิพล ได้แก่ญาณหรือฌานที่เป็นเหตุครอบงำนิวรณ์ ๕ และ
อารมณ์ทั้งหลาย คำนี้มาจาก อภิภู + อายตนะ ที่ชื่อว่า อภิภู เพราะครอบงำอารมณ์ และที่ชื่อว่าอายตนะ
เพราะเป็นที่เกิดความสุขอันวิเศษแก่พระโยคีทั้งหลาย เพราะเป็นมนายตนะ และธัมมายตนะ (ที.ม.อ. ๑๗๓/
๑๖๔, องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/๒๗๐, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๖๑-๖๕/๓๐๒) และ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๘/๒๒๙-๒๓๐,
ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔-๒๒๕, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๕/๓๖๗-๓๖๘, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๙/๗๑
๒ มีรูปสัญญาภายใน หมายถึงจำได้หมายรู้รูปภายในโดยการบริกรรมรูปภายใน (ที.ม.อ. ๑๗๓/๑๖๔)
๓ มีอรูปสัญญาภายใน หมายถึงเว้นจากสัญญาในบริกรรมในรูปภายใน (ที.ม.อ. ๑๗๓/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] อภิภายตนะ ๘ ประการ
ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็น
อภิภายตนะประการที่ ๕
๖. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เหลือง
มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม เปรียบเหมือน
ดอกกรรณิการ์ที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสี
เหลืองเข้ม ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อ
ละเอียดทั้ง ๒ ด้านที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง
มีสีเหลืองเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบ
ด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๖
๗. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่แดง
มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม เปรียบเหมือนดอก
ชบาที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ฉันใด หรือ
เปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้านที่แดง
มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมี
อรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก
ที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ครอบงำรูป
เหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะ
ประการที่ ๗
๘. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่ขาว
มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม เปรียบเหมือนดาว
ประกายพรึกที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ฉันใด
หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน
ที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่ง
มีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก
ที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ครอบงำรูป
เหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะ
ประการที่ ๘
อานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๑ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ

วิโมกข์ ๘ ประการ
[๑๗๔] อานนท์ วิโมกข์๑ ๘ ประการนี้
วิโมกข์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีรูปเห็นรูปทั้งหลาย นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๑
๒. บุคคลผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก นี้เป็น
วิโมกข์ประการที่ ๒
๓. บุคคลผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม’ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหา
ที่สุดมิได‘’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๔
๕. บุคคลล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๕
๖. บุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์
ประการที่ ๖
๗. บุคคลล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๗
๘. บุคคลล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๘
อานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๑๒๙ หน้า ๗๕ ในเล่มนี้ และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, ม.ม. ๑๓/๒๔๘/๒๒๓-๒๒๔, องฺ.อฏฺฐก.
(แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-๓๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงเล่าเรื่องมาร

ทรงเล่าเรื่องมาร๑
[๑๗๕] อานนท์ สมัยหนึ่ง เมื่อแรกตรัสรู้ เราพักอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลา มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเรายืน ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพาน
ในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มี
พระภาค’
เมื่อมารกล่าวอย่างนี้ เราตอบว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบ
เท่าที่ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า
ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย
โดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา
ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว
แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรม
มีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรา
ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์
ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้
ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของ
เรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ข้อ ๑๖๘ หน้า ๑๑๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงเล่าเรื่องมาร
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์
ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได
ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่พรหมจรรย์ของเรายังไม่บริบูรณ์
กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
ประกาศได้ดีแล้ว
[๑๗๖] อานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้เอง มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเราที่ปาวาลเจดีย์
ยืน ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพาน
ของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุทั้งหลาย
ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๔ }

1 ความคิดเห็น :