Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๓-๗ หน้า ๓๐๗ - ๓๕๗

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓-๗ สุตตันตปิฎกที่ ๐๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร

๘. สมณมุณฑิกสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ สมณมุณฑิกาบุตร
[๒๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ สมณมุณฑิกาบุตร
กับปริพาชกประมาณ ๕๐๐ คน พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ อาศัยอยู่ใน
อารามของพระนางมัลลิกาเทวีชื่อเอกศาลา ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นมะพลับ อันเป็นที่
ประชุมแสดงลัทธิ ครั้งนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน ได้คิดว่า
“บัดนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ บัดนี้
ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้บำเพ็ญเพียรทางใจ ภิกษุทั้งหลายผู้บำเพ็ญเพียร
ทางใจยังหลีกเร้นอยู่ ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร
ที่อารามของพระนางมัลลิกาเทวีชื่อเอกศาลา ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นมะพลับ อันเป็น
ที่ประชุมแสดงลัทธิ”
ลำดับนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะจึงเข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร
ถึงอารามของพระนางมัลลิกาเทวีชื่อเอกศาลา ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นมะพลับ อันเป็น
ที่ประชุมแสดงลัทธิ
ดิรัจฉานกถา
สมัยนั้น อุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตรกำลังนั่งสนทนาอยู่กับ
ปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ผู้กำลังสนทนาถึงดิรัจฉานกถา๑ต่าง ๆ ด้วยเสียงดังอื้ออึง
คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่อง
การรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม
เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร
(เรื่องบุรุษ) เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่อง
เบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และความเสื่อม อย่างนั้น ๆ
อุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร ได้เห็นช่างไม้ชื่อปัญจกังคะกำลังเดิน
มาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดเงียบหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง นี้คือช่างไม้ชื่อ
ปัญจกังคะผู้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังเดินมา ท่านเป็นสาวกคนหนึ่งบรรดา
สาวกของพระสมณโคดมผู้เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ผู้อาศัยอยู่ ณ กรุงสาวัตถี
ท่านเหล่านั้นชอบเสียงเบา แนะนำให้พูดกันเบา ๆ สรรเสริญคุณของคนที่พูดเสียง
เบา บางทีช่างไม้ชื่อปัญจกังคะทราบว่าบริษัทเสียงเบา ท่านอาจจะเข้ามาหาก็ได้”
ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้พากันนิ่ง
วาทะของปริพาชก
[๒๖๑] ลำดับนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้เข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชก
สมณมุณฑิกาบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึง
กันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร อุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตรได้กล่าวกับช่างไม้
ชื่อปัญจกังคะว่า
“ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นผู้มี
กุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มี
ใครสู้วาทะได้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ บุคคลในโลกนี้

๑. ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย ๒. ไม่กล่าววาจาชั่ว
๓. ไม่ดำริความดำริชั่ว ๔. ไม่ประกอบอาชีพชั่ว

ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า เป็นผู้มี
กุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มี
ใครสู้วาทะได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร
ลำดับนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอุคคาหมาน-
ปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ทั่วถึง
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่องที่สนทนาปราศรัย
กับอุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตรให้พระผู้มีพระภาคฟังทั้งหมด
[๒๖๒] เมื่อช่างไม้ชื่อปัญจกังคะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสว่า
“ช่างไม้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ ก็จักเป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม
มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มีใครสู้วาทะได้
แท้จริง เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่กายก็ยังไม่รู้จัก๑ จักทำกรรมชั่ว
ทางกายได้ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีเพียงอาการนอนดิ้นรน เด็กอ่อนที่ยังนอน
หงายอยู่ แม้แต่วาจาก็ยังไม่รู้จัก๒ จักกล่าววาจาชั่วได้ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีเพียงการ
ร้องไห้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่ความดำริก็ยังไม่รู้จัก๓ จักดำริชั่วได้แต่
ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีการส่งเสียงร้อง เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่การ
เลี้ยงชีพก็ยังไม่รู้จัก๔ จักเลี้ยงชีพชั่วได้ที่ไหนเล่า นอกจากการดื่มน้ำนมของมารดา
ช่างไม้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ก็จักเป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม
มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มีใครสู้วาทะได้
[๒๖๓] ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า
มิใช่ผู้มีกุศลเพียบพร้อม มิใช่ผู้มีกุศลยอดเยี่ยม มิใช่สมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควร
บรรลุไม่มีใครสู้วาทะได้ แต่บุรุษบุคคลนี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่นอนหงายอยู่บ้าง

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ บุรุษบุคคลในโลกนี้
๑. ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย ๒. ไม่กล่าววาจาชั่ว
๓. ไม่ดำริความดำริชั่ว ๔. ไม่ประกอบอาชีพชั่ว
เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า มิใช่ผู้มีกุศล
เพียบพร้อม มิใช่ผู้มีกุศลยอดเยี่ยม มิใช่สมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มี
ใครสู้วาทะได้ แต่บุรุษบุคคลนี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่นอนหงายอยู่บ้าง
ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการว่า เป็นผู้มี
กุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุไม่มี
ใครสู้วาทะได้
เสขธรรม
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเหล่านี้เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเป็นอกุศล มีสมุฏฐานมาจากจิตนี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเป็นอกุศลดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง
ศีลที่เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเหล่านี้เป็นกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเป็นกุศลมีสมุฏฐานมาแต่จิตนี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ศีลเป็นกุศลดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง
ศีลที่เป็นกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ความดำริเหล่านี้เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ความดำริที่เป็นอกุศลมีสมุฏฐานมาแต่จิตนี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ความดำริที่เป็นอกุศลดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้ เป็นสิ่งที่
บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง
ความดำริที่เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ความดำริเหล่านี้เป็นกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ความดำริเป็นกุศลมีสมุฏฐานมาแต่จิตนี้ เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่ความดำริที่เป็นกุศลดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้ เป็นสิ่งที่บุคคล
ควรรู้’
เรากล่าวว่า ‘ข้อที่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง
ความดำริที่เป็นกุศล เป็นสิ่งที่บุคคลควรรู้’
เสขธรรมว่าด้วยศีล
[๒๖๔] ศีลที่เป็นอกุศล เป็นอย่างไร
คือ กายกรรมที่เป็นอกุศล วจีกรรมที่เป็นอกุศล การเลี้ยงชีพที่เป็นบาปเหล่านี้
เราเรียกว่า ‘ศีลที่เป็นอกุศล’
ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน
คือ แม้สมุฏฐานแห่งศีลที่เป็นอกุศลเหล่านั้น เราก็ได้กล่าวไว้แล้ว สมุฏฐาน
แห่งศีลนี้ควรกล่าวว่า ‘มีจิตเป็นสมุฏฐาน’
จิตดวงไหนเล่า
แท้จริงจิตมีหลายดวง มีหลายอย่าง มีหลายประการ คือ จิตที่มีราคะ จิตที่มี
โทสะ และจิตที่มีโมหะ๑ ศีลที่เป็นอกุศลมีจิตเหล่านี้เป็นสมุฏฐาน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร
ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้ดับไปโดยไม่เหลือในที่ไหน
คือ แม้ความดับแห่งศีลที่เป็นอกุศลเหล่านั้น เราก็ได้กล่าวไว้แล้ว ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ ละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต
เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้
ดับไปโดยไม่เหลือในธรรมเหล่านี้๑
ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลที่เป็นอกุศล
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อละ
บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อทำ
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง
กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ช่างไม้ บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลที่เป็น
อกุศล
[๒๖๕] ศีลที่เป็นกุศล เป็นอย่างไร
คือ กายกรรมที่เป็นกุศล วจีกรรมที่เป็นกุศล และแม้อาชีวะอันบริสุทธิ์ก็
รวมอยู่ในศีล เหล่านี้เราเรียกว่า ‘ศีลที่เป็นกุศล’

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร
ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน
คือ แม้สมุฏฐานแห่งศีลที่เป็นกุศลเหล่านั้น เราก็ได้กล่าวไว้แล้ว สมุฏฐานแห่ง
ศีลนี้ควรกล่าวว่า ‘มีจิตเป็นสมุฏฐาน’
จิตดวงไหนเล่า
แท้จริง จิตมีหลายดวง มีหลายอย่าง มีหลายประการ คือ จิตที่ปราศจากราคะ๑
ที่ปราศจากโทสะ และที่ปราศจากโมหะ ศีลที่เป็นกุศลมีจิตเหล่านี้เป็นสมุฏฐาน
ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ดับไปโดยไม่เหลือในที่ไหน
คือ แม้ความดับแห่งศีลที่เป็นกุศลเหล่านั้น เราก็ได้กล่าวไว้แล้ว ภิกษุในธรรม-
วินัยนี้ เป็นผู้มีศีล แต่หาใช่มีเพียงศีลก็พอ๒ ยังจะต้องรู้ชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งศีลที่เป็นกุศลเหล่านั้น
บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลที่เป็นกุศล
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ ฯลฯ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ ฯลฯ เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง
กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ช่างไม้ บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลที่เป็นกุศล

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร

เสขธรรมว่าด้วยความดำริ
[๒๖๖] ความดำริที่เป็นอกุศล เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริในการเบียดเบียน
เหล่านี้เราเรียกว่า ‘ความดำริที่เป็นอกุศล’
ความดำริที่เป็นอกุศลเหล่านี้ มีอะไรเป็นสมุฏฐาน
คือ แม้สมุฏฐานแห่งความดำริที่เป็นอกุศลเหล่านั้น เราก็ได้กล่าวไว้แล้ว
สมุฏฐานแห่งความดำรินี้ควรกล่าวว่า ‘มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน’
สัญญาประเภทไหนเล่า
แท้จริง แม้สัญญาก็มีมาก มีหลายอย่าง มีหลายประการ คือ สัญญาในกาม๑
สัญญาในพยาบาท สัญญาในการเบียดเบียน ความดำริที่เป็นอกุศลมีสัญญาเหล่านี้
เป็นสมุฏฐาน
ความดำริที่เป็นอกุศลเหล่านี้ ดับไปโดยไม่เหลือในที่ไหน
คือ แม้ความดับแห่งความดำริที่เป็นอกุศลนั้น เราก็ได้กล่าวไว้แล้ว ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน๒ ที่มีวิตก
วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งความดำริที่เป็น
อกุศล
บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริที่เป็นอกุศล
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร
๒. สร้างฉันทะ ฯลฯ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ ฯลฯ เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง
กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ช่างไม้ บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริ
ที่เป็นอกุศล
[๒๖๗] ความดำริที่เป็นกุศล เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในเนกขัมมะ ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในความ
ไม่เบียดเบียน เหล่านี้เราเรียกว่า ‘ความดำริที่เป็นกุศล’
ความดำริที่เป็นกุศลนี้ มีอะไรเป็นสมุฏฐาน
คือ แม้สมุฏฐานแห่งความดำริที่เป็นกุศลเหล่านั้นเราก็ได้กล่าวไว้แล้ว สมุฏฐาน
แห่งความดำรินี้ควรกล่าวว่า ‘มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน’
สัญญาประเภทไหนเล่า
แท้จริง แม้สัญญาก็มีมาก มีหลายอย่าง มีหลายประการ คือ สัญญาใน
เนกขัมมะ สัญญาในความไม่พยาบาท สัญญาในความไม่เบียดเบียน ความดำริที่
เป็นกุศลมีสัญญาเหล่านี้เป็นสมุฏฐาน
ความดำริที่เป็นกุศลเหล่านี้ ดับไปโดยไม่เหลือในที่ไหน
คือ แม้ความดับแห่งความดำริที่เป็นกุศลนั้น เราก็ได้กล่าวไว้แล้ว เพราะวิตก
วิจารสงบระงับไป ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ ซึ่งเป็นที่ดับไปโดย
ไม่เหลือแห่งความดำริที่เป็นกุศลเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๘. สมณมุณฑิกสูตร
บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริที่เป็นกุศล
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อทำ
บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ ฯลฯ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ ฯลฯ เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง
กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ช่างไม้ บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริ
ที่เป็นกุศล
อเสขธรรม ๑๐ ประการ
[๒๖๘] ช่างไม้ เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ๑ไหนว่า
เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มี
ใครสู้วาทะได้
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นอเสขะ
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสังกัปปะ ที่เป็นอเสขะ
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวาจา ที่เป็นอเสขะ
๔. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมากัมมันตะ ที่เป็นอเสขะ
๕. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาอาชีวะ ที่เป็นอเสขะ
๖. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวายามะ ที่เป็นอเสขะ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
๗. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสติ ที่เป็นอเสขะ
๘. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสมาธิ ที่เป็นอเสขะ
๙. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาญาณะ๑ ที่เป็นอเสขะ
๑๐. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวิมุตติ ที่เป็นอเสขะ

เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แลว่า เป็นผู้มีกุศลเพียบ
พร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มีใครสู้วาทะได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
สมณมุณฑิกสูตรที่ ๘ จบ

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อสกุลุทายี สูตรเล็ก
[๒๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่อสกุลุทายีพร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่
ใหญ่อาศัยอยู่ในอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ครั้นเวลาเช้า พระผู้มี
พระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า
“ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ทางที่ดี เราควรเข้าไปหา
สกุลุทายีปริพาชก จนถึงอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปจนถึงอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้
เหยื่อแก่นกยูง

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

ดิรัจฉานกถา
สมัยนั้น สกุลุทายีปริพาชกกำลังนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ผู้กำลังสนทนา
ถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ ด้วยเสียงดังอื้ออึง คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ
เรื่องความเจริญและความเสื่อมอย่างนั้น ๆ สกุลุทายีปริพาชก ได้เห็นพระผู้มีพระภาค
กำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดเงียบหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง นี้คือ พระสมณ-
โคดมกำลังเสด็จมา พระองค์โปรดเสียงเบา ทรงแนะนำให้พูดกันเบา ๆ ตรัสสรรเสริญ
คุณของคนที่พูดเสียงเบา บางทีพระองค์ทรงทราบว่าบริษัทเสียงเบา พระองค์อาจ
จะเสด็จเข้ามาหาก็ได้”
ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้พากันนิ่ง
[๒๗๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปหาสกุลุทายีถึงที่อยู่ สกุลุทายี
ปริพาชกทูลเชื้อเชิญพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคจงเสด็จเข้ามาเถิด ขอต้อนรับเสด็จ
นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมาที่นี้ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคประทับนั่งเถิด อาสนะนี้
ปูลาดไว้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว แม้สกุลุทายีปริพาชก
ก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามสกุลุทายี
ปริพาชกว่า
“อุทายี บัดนี้ ท่านทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และเรื่องอะไร
ที่ท่านทั้งหลายสนทนากันค้างไว้”
สกุลุทายีปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่ข้าพระองค์
ทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในเวลานี้ ของดไว้ก่อนเถิด เรื่องนี้พระผู้มีพระภาค
จะทรงสดับได้ในภายหลังโดยไม่ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเวลาที่ข้าพระองค์
ไม่ได้เข้าไปยังบริษัทนี้ บริษัทนี้ก็จะนั่งสนทนากันแต่ดิรัจฉานกถาต่าง ๆ แต่ในเวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
ที่ข้าพระองค์เข้าไปยังบริษัทนี้ บริษัทนี้ก็นั่งมองดูแต่หน้าของข้าพระองค์ด้วยความ
ประสงค์ว่า ‘สมณะอุทายี จักกล่าวธรรมใดแก่พวกเรา พวกเราจักฟังธรรมนั้น’
และในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามายังบริษัทนี้ ทั้งข้าพระองค์และบริษัทนี้ก็นั่ง
มองดูพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคด้วยความประสงค์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักตรัส
ธรรมใดแก่พวกเรา พวกเราจักฟังธรรมนั้น”
ขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคต
[๒๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุทายี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงตั้งปัญหาซึ่งจะ
เป็นเหตุให้เราแสดงธรรมในบริษัทนี้เถิด”
สกุลุทายีปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อน ๆ ท่านผู้เป็น
สัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเรา
เดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะจะปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’
ท่านผู้นั้นถูกข้าพระองค์ถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตก็นำเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อน
ไถลไปพูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธ ความประทุษร้าย และความไม่พอใจให้ปรากฏ
ข้าพระองค์นั้นระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ต้องเป็นพระผู้มี
พระภาคแน่นอน ต้องเป็นพระสุคตแน่นอน”
“ท่านผู้เป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่าง
เบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะจะปรากฏ
ต่อเนื่องตลอดไป’ ที่ถูกท่านถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตก็นำเรื่องอื่นมาพูด
กลบเกลื่อน ไถลไปพูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธ ความประทุษร้าย และความ
ไม่พอใจให้ปรากฏ เป็นใครเล่า”
“นิครนถ์ นาฏบุตร พระพุทธเจ้าข้า”
“ผู้ใดระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึก
ชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ ผู้นั้นควรถาม
ปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตกับเรา หรือเราควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตกับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
ผู้นั้น ผู้นั้นจะทำให้เรายินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต หรือเราจะพึง
ทำจิตของผู้นั้นให้ยินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต
ผู้ใดพึงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเถิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรม ผู้นั้นควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกับเรา หรือเราควรถามปัญหา
ปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกับผู้นั้น ผู้นั้นทำให้เรายินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์
ส่วนอนาคต หรือเราพึงยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วน
อนาคต
อุทายี จงงดขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน เราจักแสดงธรรมแก่
ท่านว่า ‘เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้
จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาตินี้ที่ปรากฏแก่ข้าพระองค์โดยอัตภาพนี้พร้อม
ทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ ข้าพระองค์ยังไม่สามารถจะระลึกได้เลย ไฉนเลยจัก
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกถึง
ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เหมือนพระผู้มี
พระภาคเล่า บัดนี้ แม้แต่ปีศาจเล่นฝุ่น ข้าพระองค์ก็ยังไม่เคยเห็นเลย ไฉนเลย
จักเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ
เกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จักรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
เหมือนพระผู้มีพระภาคเล่า คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า
‘อุทายี จงงดขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน เราจักแสดงธรรมแก่ท่านว่า
‘เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี
เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ’ จะปรากฏแก่ข้าพระองค์ โดยประมาณยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ก็หาไม่ ไฉนข้าพระองค์จึงจะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงยินดีด้วยการตอบปัญหาใน
ลัทธิอาจารย์ของตนได้เล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

เรื่องวรรณะ
[๒๗๒] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุทายี ในลัทธิอาจารย์ของตน ท่านมี
ความเห็นว่าอย่างไร”
สกุลุทายีปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน
ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด”
“ในลัทธิอาจารย์ของตน ท่านมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็น
วรรณะสูงสุด’ วรรณะสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะ
สูงสุด พระพุทธเจ้าข้า”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะไหนเล่า”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด
พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านกล่าวแต่เพียงว่า ‘วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะ
นั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ คำที่ท่านกล่าวนั้น พึงขยายความได้อย่างยืดยาว แต่ท่าน
ไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิงคน
นั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่า
มีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในหมู่บ้าน นิคม หรือ
เมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า
‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็น อย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นจะถือว่า
เลื่อนลอย มิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
“เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน พระพุทธเจ้าข้า”
“อุทายี ท่านก็อย่างนั้นเหมือนกัน กล่าวอยู่แต่เพียงว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ แต่ไม่
ได้ชี้วรรณะนั้นให้ชัด”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม
นายช่างเจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกาย
ออกมา แม้ฉันใด อัตตา๑ก็มีวรรณะ(แสงสว่าง)ก็ฉันนั้นเหมือนกัน หลังจากตายไป
ย่อมเป็นของยั่งยืน”
[๒๗๓] “อุทายี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเอง
อย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากำพลเหลือง
ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกายออกมา กับหิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดา
วรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่า และประณีตกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืดนี้
ย่อมส่องสว่างกว่า และประณีตกว่า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด กับประทีปน้ำมัน
ในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีต
กว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืดส่องสว่างกว่าและ
ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืดกับกอง
ไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่า
และประณีตกว่ากัน”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ กองไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด ส่องสว่างกว่าและ
ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร กองไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด กับดาวศุกร์
ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในเวลาใกล้รุ่ง บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะ
ไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดาวศุกร์ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในเวลา
ใกล้รุ่งส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระพุทธเจ้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ดาวศุกร์ในนภากาศอันกระจ่างปราศจาก
เมฆ ในเวลาใกล้รุ่งกับดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศอันกระจ่างปราศจาก
เมฆ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่า
และประณีตกว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศอันกระจ่าง
ปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ จะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระ-
พุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรงในนภากาศ
อันกระจ่างปราศจากเมฆในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ กับดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงตรงใน
นภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสารทกาลเดือนท้ายแห่งฤดูฝน บรรดา
วรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงตรงอันกระจ่างปราศจากเมฆ ใน
สารทกาลเดือนท้ายแห่งฤดูฝนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“เทวดาเหล่าใดไม่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เทวดาเหล่านั้นมีมาก
มีมากยิ่งกว่าเหล่าเทวดาที่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เรารู้ทั่วถึงเทวดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
เหล่านั้น แต่เราก็ไม่กล่าวว่า ‘เป็นวรรณะที่ไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า’
ส่วนท่านกล่าวว่า ‘วรรณะที่เลวกว่าและเศร้าหมองกว่าหิ่งห้อยเป็นวรรณะสูงสุด’
แต่ท่านไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด”
“พระผู้มีพระภาคทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“อุทายี ทำไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว
พระสุคตทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้วเล่า”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นอย่างนี้ว่า ‘วรรณะนี้เป็นวรรณะสูงสุด วรรณะนี้เป็นวรรณะสูงสุด’ ข้าพระองค์
เหล่านั้นเมื่อถูกพระผู้มีพระภาคสอบสวนซักไซร้ไล่เลียงในลัทธิอาจารย์ของตนจึง
กลายเป็นคนว่าง เป็นคนเปล่า ผิดไปหมด”
ปัญหาเรื่องโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
[๒๗๔] “อุทายี โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุ๑เพื่อ
ทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่หรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นอย่างนี้ว่า ‘โลกมีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลก
ที่มีสุขโดยส่วนเดียวก็มีอยู่”
“ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้น เป็นอย่างไร”
“คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ละเว้นขาดจากปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) ละเว้น
ขาดจากอทินนาทาน(การลักทรัพย์) ละเว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
ผิดในกาม) ละเว้นขาดจากมุสาวาท(การพูดเท็จ) สมาทานคุณคือตบะอย่างใด
อย่างหนึ่ง ประพฤติอยู่ นี้แลเป็นข้อปฏิบัตินั้นที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียว พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลละเว้นขาดจากปาณาติบาต
อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง”
“มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลละเว้นขาดจากอทินนาทาน
อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง”
“มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลละเว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร
อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง”
“มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลละเว้นขาดจากมุสาวาท
อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง”
“มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลสมาทานคุณคือตบะอย่างใด
อย่างหนึ่งประพฤติอยู่ อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง”
“มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร การจะอาศัยข้อปฏิบัติอันมีทั้งสุขและทุกข์
แล้วทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่บ้างไหม”
“พระผู้มีพระภาคทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
“อุทายี ทำไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว
พระสุคตทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้วเล่า”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นอย่างนี้ว่า ‘โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มี
สุขโดยส่วนเดียวก็มีอยู่’ ข้าพระองค์เหล่านั้นเมื่อถูกพระผู้มีพระภาคสอบสวนซักไซ้
ไล่เลียงในลัทธิอาจารย์ของตนก็เป็นคนว่าง เป็นคนเปล่า เป็นคนผิดไปหมด
[๒๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ ข้อปฏิบัติที่
มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ”
“อุทายี โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุข
โดยส่วนเดียวก็มีอยู่”
ฌาน ๔
“ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้น๑ เป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
“อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่
เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
ตติยฌาน ฯลฯ อยู่ นี้แล เป็นข้อปฏิบัตินั้นที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียว”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อปฏิบัติที่ตรัสตอบมิใช่ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้
แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้ เพราะโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว บุคคลทำให้แจ้งชัด
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้๑”
“อุทายี โลกมีสุขโดยส่วนเดียว บุคคลไม่อาจทำให้แจ้งด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้ แต่ข้อปฏิบัตินั้นเป็นข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้
แน่แท้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชก ได้บันลือ
เสียงอื้ออึงขึ้นว่า “พวกเราพร้อมทั้งอาจารย์ยังไม่พอใจในเหตุนี้ พวกเราพร้อม
ทั้งอาจารย์ยังไม่พอใจในเหตุนี้ พวกเรายังไม่รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติที่ยิ่งไปกว่านี้”
ลำดับนั้น สกุลุทายีปริพาชกห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้เงียบเสียงแล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุนั้นจึงจะ
ทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้”
“อุทายี เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ ยืนสนทนาปราศรัยกันกับเทวดาทั้งหลาย
ผู้เข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวเหล่านั้น อุทายี ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านั้นแล ภิกษุ
นั้นจึงจะทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
[๒๗๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
คงมุ่งจะทำให้แจ้ง๑โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้นเป็นแน่”
“อุทายี ไม่ใช่ภิกษุจะประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพียงเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุข
โดยส่วนเดียวนี้เท่านั้น แท้จริงยังมีธรรมอื่นที่ดีกว่า และประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติ
พรหมจรรย์ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง”
“ธรรมที่ดีกว่าและประณีตกว่าที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
มุ่งจะทำให้แจ้งนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าข้า”
“อุทายี ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก
ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเหตุทำใจให้
เศร้าหมอง เป็นครื่องบั่นทอนปัญญาได้แล้ว เธอสงัดจากกาม และอกุศลธรรม
ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุ
ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ
บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ อุทายี ธรรมนี้แล ดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

วิชชา ๓
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์
ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม
และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ เธอรู้ชัด
ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติ
พรหมจรรย์ในเรามุ่งจะทำให้แจ้ง
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่ออาสวักขยญาณรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ
อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะทำให้แจ้ง
อุทายี ธรรมเหล่านี้แล ดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์
ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๙. จูฬสกุลทายิสูตร

สกุลุทายีปริพาชกขอบวช
[๒๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สกุลุทายีปริพาชกได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์
เป็นสรณะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาคเถิด”
เมื่อสกุลุทายีปริพาชกกราบทูลอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้
กล่าวห้ามสกุลุทายีปริพาชกว่า “ท่านอุทายี ท่านอย่าได้ประพฤติพรหมจรรย์ใน
พระสมณโคดมเลย ท่านเป็นอาจารย์แล้วอย่ายอมเป็นศิษย์เลย อุปมาเหมือน
เป็นขันน้ำแล้ว จะลดฐานะลงเป็นจอกในขันน้ำ แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็จักมีแก่
ท่านอุทายีฉันนั้นเหมือนกัน ท่านอย่าได้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย
ท่านอุทายี ท่านเป็นอาจารย์แล้วอย่ายอมเป็นศิษย์เลย”
เรื่องนี้เป็นอันยุติได้ว่า บริษัทของสกุลุทายีปริพาชก ได้ทำให้สกุลุทายีปริพาชก
มีอุปสรรคต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬสกุลุทายิสูตรที่ ๙ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
๑๐. เวขณสสูตร

๑๐. เวขณสสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อเวขณสะ
[๒๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อเวขณสะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้ยืนอยู่
ณ ที่สมควร แล้วได้เปล่งอุทานในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “นี้เป็นวรรณะสูงสุด
นี้เป็นวรรณะสูงสุด”
ทรงเปรียบเทียบวรรณะ ๒ อย่าง
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “กัจจานะ ทำไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็น
วรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด’ วรรณะสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร”
เวขณสปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่น
ยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะไหนเล่า”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะ
สูงสุด พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านกล่าวแต่เพียงว่า ‘วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า
วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ คำที่ท่านกล่าวนั้นพึงขยายความได้อย่างยืดยาว
แต่ท่านไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า
‘เราปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จัก
หญิงคนนั้นหรือว่า เป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้น
หรือว่ามีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในหมู่บ้าน นิคม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค] ๑๐. เวขณสสูตร
หรือเมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า
‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า
เลื่อนลอย มิใช่หรือ”
“เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน พระพุทธเจ้าข้า”
“กัจจานะ ท่านก็อย่างนั้นเหมือนกัน กล่าวอยู่แต่เพียงว่า ‘ข้าแต่ท่านพระโคดม
วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด’
แต่ไม่ได้ชี้วรรณะนั้นให้ชัด”
“ท่านพระโคดม แก้วไพฑูรย์อันงามเกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่าง
เจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกายออกมา
แม้ฉันใด อัตตา๑ที่มีวรรณะก็ฉันนั้นเหมือนกัน หลังจากตายไปย่อมเป็นของยั่งยืน”
[๒๗๙] ''กัจจานะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร แก้วไพฑูรย์อันงาม
เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากัมพล
เหลือง ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกายออกมากับหิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดา
วรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืดนี้ย่อมส่องสว่างกว่าและ
ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด กับประทีปน้ำ
มันในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและ
ประณีตกว่ากัน”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค] ๑๐. เวขณสสูตร
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืด ส่องสว่างกว่าและ
ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืด กับกอง
ไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างและ
ประณีตกว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ กองไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืดส่องสว่างกว่าและ
ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร กองไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืดกับดาวศุกร์
ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆในเวลาใกล้รุ่ง บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะ
ไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดาวศุกร์ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆในเวลา
ใกล้รุ่งส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ดาวศุกร์ในนภากาศอันกระจ่างปราศจาก
เมฆในเวลาใกล้รุ่งกับดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศอันกระจ่างปราศจาก
เมฆในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างสว่างกว่า
และประณีตกว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศอันกระจ่าง
ปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำนี้ส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศ
อันกระจ่างปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ กับดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง
ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสารทกาลเดือนท้ายแห่งฤดูฝน บรรดาวรรณะ
ทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะงามกว่าและประณีตกว่ากัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค] ๑๐. เวขณสสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงตรง
ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสารทกาลเดือนท้ายแห่งฤดูฝนนี้ ส่องสว่าง
กว่าและประณีตกว่า”
“กัจจานะ เทวดาเหล่าใดไม่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เทวดา
เหล่านั้น มีมาก มีมากยิ่งกว่าเหล่าเทวดาที่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
เรารู้ทั่วถึงเทวดาเหล่านั้น แต่เราก็ไม่กล่าวว่า ‘เป็นวรรณะที่ไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า
หรือประณีตกว่า’ ส่วนท่านกล่าวว่า ‘วรรณะที่เลวกว่าและเศร้าหมองกว่าหิ่งห้อย
นั้นเป็นวรรณะที่สูงสุด’ แต่ท่านไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด
[๒๘๐] กัจจานะ กามคุณมี ๕ ประการ
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กัจจานะ กามคุณมี ๕ ประการ นี้แล
สุข โสมนัสที่อาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้เกิดขึ้น เราเรียกว่า กามสุข
ดังนั้น ในกามและกามสุขนั้น เราจึงกล่าวกามสุขว่าเลิศกว่ากามทั้งหลาย
(แต่)กล่าวสุขอันเลิศกว่ากาม๑ว่าเลิศกว่ากามสุข”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค] ๑๐. เวขณสสูตร

สรรเสริญสุขอันเลิศกว่ากาม
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้อที่ในกามและกามสุขนั้น
ท่านพระโคดมตรัสกามสุขว่าเลิศกว่ากามทั้งหลาย (แต่)ตรัสสุขอันเลิศกว่ากามว่า
เลิศกว่ากามสุข ชื่อว่าตรัสดีแล้ว”
“กัจจานะ ข้อที่ว่า ‘กามก็ดี กามสุขก็ดี สุขอันเลิศกว่ากามก็ดี’ นี้เธอ
ผู้มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความ
มุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์แตกต่างกันจึงรู้ได้ยาก ภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันต-
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุ
ประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุ
เหล่านั้นแล จะพึงรู้กาม กามสุข หรือสุขอันเลิศกว่ากามนี้ได้”
[๒๘๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชก โกรธ ไม่พอใจ
เมื่อจะด่าว่าเย้ยหยันพระผู้มีพระภาค คิดว่า “เราจักทำให้พระสมณโคดมได้รับ
ความเสียหาย” จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“เมื่อเป็นเช่นนั้น สมณพราหมณ์บางพวกในโลกนี้ ไม่รู้เงื่อนเบื้องต้น ไม่เห็น
เงื่อนเบื้องปลาย แต่ยังยืนยันอยู่ว่า เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ คำกล่าวของ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถึงความเป็นคำน่าหัวเราะ เป็นคำต่ำช้า เป็นคำเปล่า เป็นคำ
เหลวไหลทีเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัจจานะ สมณพราหมณ์เหล่าใด เมื่อไม่รู้เงื่อนเบื้องต้น
ไม่เห็นเงื่อนเบื้องปลาย ยังยืนยันว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถูกข่มก็ชอบอยู่ แต่จงงดเงื่อนเบื้องต้นและเงื่อนเบื้องปลายไว้ก่อน ขอให้
วิญญูชนผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนซื่อตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจัก
แสดงธรรม เมื่อเขาปฏิบัติตามคำพร่ำสอน ไม่นานก็จักรู้เอง เห็นเอง ได้ทราบว่า
ความหลุดพ้นโดยชอบจากเครื่องผูกคืออวิชชาก็เป็นอย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]
รวมพระสูตรที่มีในวรรค
กัจจานะ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงาย ถูกเครื่องผูกที่ทำด้วยด้ายผูกไว้ที่ข้อเท้าทั้งสอง
ที่ข้อมือทั้งสองและที่คอรวมเป็น ๕ แห่ง เครื่องผูกเหล่านั้นจะหลุดไปเมื่อเด็กเติบโตขึ้น
และมีร่างกายแข็งแรงขึ้น เขาจึงรู้ว่า ‘เราหลุดพ้นแล้วและเครื่องผูกก็ไม่มีแก่เรา’
แม้ฉันใด วิญญูชน ผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนซื่อตรง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ขอจงมาเถิด เราจักสั่งสอน จักแสดงธรรม เมื่อเขาปฏิบัติตามคำพร่ำสอนแล้ว
ไม่นานก็จักรู้เอง เห็นเอง ได้ทราบว่า ความหลุดพ้นโดยชอบจากเครื่องผูกคือ
อวิชชาก็เป็นอย่างนั้น”
ปริพาชกชื่อเวขณสะแสดงตนเป็นอุบาสก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ดังนี้แล
เวขณสสูตรที่ ๑๐ จบ
ปริพาชกวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร ๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร
๓. มหาวัจฉโคตตสูตร ๔. ทีฆนขสูตร
๕. มาคัณฑิยสูตร ๖. สันทกสูตร
๗. มหาสกุลุทายิสูตร ๘. สมณมุณฑิกสูตร
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร ๑๐. เวขณสสูตร

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร

๔. ราชวรรค
หมวดว่าด้วยพระราชา

๑. ฆฏิการสูตร
ว่าด้วยช่างหม้อชื่อฆฏิการะ
[๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออกจากทางแล้วได้ทรงแย้มพระโอษฐ์ ณ
สถานที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้คิดว่า “อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ เพราะพระตถาคต๑ทั้งหลายย่อมไม่ทรงแย้ม
พระโอษฐ์โดยไม่มีสาเหตุ”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมอัญชลีไปทาง
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ได้ทูลถามพระองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ
เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ เพราะพระตถาคตทั้งหลาย
ย่อมไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์โดยไม่มีสาเหตุ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ณ สถานที่แห่งนี้
มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ เป็นนิคมมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมือง
หนาแน่น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงอาศัยเวคฬิงคนิคมอยู่ ได้ยินว่า ที่นี้เคยเป็นอารามของพระผู้มีพระภาคพระนาม
ว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นมาก่อน ได้ยินว่า พระผู้มี
พระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสสอน
ภิกษุสงฆ์ ณ ที่นี้”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ปูลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นถวาย แล้วกราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงประทับ
นั่ง ณ ที่นี้เถิด ภาคพื้นส่วนนี้จักเป็นส่วนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์
ทรงใช้สอย”
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้รับสั่งเรียกท่าน
พระอานนท์มาตรัสว่า
“อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ณ สถานที่แห่งนี้ มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ เป็นนิคม
มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น พระผู้มีพระภาคพระนาม
ว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอาศัยเวคฬิงคนิคมอยู่ ได้ยินว่า
ที่นี้เคยเป็นอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นมาก่อน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ ณ ที่นี้
[๒๘๓] อานนท์ ในเวคฬิงคนิคม ได้มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากผู้เลิศ
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีมาณพ
ชื่อโชติปาละเป็นสหายที่รักกันของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ
เรียกโชติปาลมาณพมากล่าวว่า ‘มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่า
การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถือกันว่าเป็นความดี’
เมื่อช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวอย่างนี้แล้ว โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลย
ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวกับโชติปาลมาณพว่า ‘มาเถิด โชติปาละ
เพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้พระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็น
พระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’
ช่างหม้อชื่อฆฏิการะจึงกล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น เรานำจุรณ
ถูตัว๑ไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำกันเถิด’ โชติปาลมาณพรับคำแล้ว ลำดับนั้น ช่างหม้อ
ชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพ ได้นำจุรณถูตัวไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำ
[๒๘๔] อานนท์ ต่อมา ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ได้เรียกโชติปาลมาณพมากล่าวว่า
‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ
ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน
เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถือกันว่าเป็นความดี’
เมื่อช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวอย่างนี้แล้ว โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลย
ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกล
จากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนาม
ว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็น
พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็น
ความดี’
แม้ครั้งที่ ๓ โชติปาลมาณพก็กล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็น
พระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้จับชายพกของโชติปาลมาณพแล้วกล่าวว่า
‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ
ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน
เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถือกันว่าเป็นความดี’
ลำดับนั้น โชติปาลมาณพให้ช่างหม้อชื่อฆฏิการะปล่อยชายพกแล้วกล่าวว่า
‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’
ช่างหม้อชื่อฆฏิการะนั้นจับที่ผมของโชติปาละมาณพผู้อาบน้ำดำเกล้าแล้วกล่าวว่า
‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ
ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน
เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถือกันว่าเป็นความดี’
ต่อมา โชติปาลมาณพได้คิดว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่ช่างหม้อ
ชื่อฆฏิการะผู้มีสกุลรุนชาติต่ำ บังอาจมาจับผมของเราผู้อาบน้ำดำเกล้าแล้ว การที่
เราจะไปด้วยนี้ เห็นจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย’ แล้วได้กล่าวกับช่างหม้อชื่อฆฏิการะว่า
‘ฆฏิการะเพื่อนรัก การที่เพื่อนทำความพยายามตั้งแต่พูดชักชวน จับที่ชายพก
จนล่วงเลยถึงบังอาจจับที่ผมของเรานั้น ก็เพื่อจะชวนให้ไปในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เท่านั้นเองหรือ’
ช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวว่า ‘เท่านั้นเอง โชติปาละเพื่อนรัก จริงอย่างนั้น
การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถือกันว่าเป็นความดี’
โชติปาลมาณพกล่าวว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ปล่อยเราเถิด พวกเรา
จักไปด้วยกัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
[๒๘๕] อานนท์ ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้เข้า
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่
ประทับ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ส่วนโชติปาลมาณพได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ช่างหม้อ
ชื่อฆฏิการะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือโชติปาละมาณพผู้เป็น
สหายรักกันของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงธรรมแก่โชติปาลมาณพนี้เถิด’
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงให้ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา๑ จากนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาค
ทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า
กัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กระทำประทักษิณ
แล้วจากไป
[๒๘๖] อานนท์ ครั้งนั้น โชติปาลมาณพได้ถามช่างหม้อชื่อฆฏิการะว่า
‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ท่านเมื่อฟังธรรมนี้ หลังจากนี้จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
หรือไม่’
ช่างหม้อชื่อฆฏิการะตอบว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ท่านก็รู้อยู่มิใช่หรือว่า ‘เราต้อง
เลี้ยงดูมารดาบิดาซึ่งเป็นคนตาบอดและแก่ชรา’

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
โชติปาลมาณพจึงกล่าวว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น เราจักออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตเอง’
ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
พระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือ
โชติปาลมาณพ ผู้เป็นสหายรักกันของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงบวช
ให้โชติปาลมาณพนี้ด้วยเถิด’
โชติปาลมาณพได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระนาม
ว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เรื่องพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
[๒๘๗] อานนท์ ครั้งนั้น เมื่อโชติปาลมาณพอุปสมบทได้ไม่นานประมาณ
กึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประทับอยู่ในเวคฬิงคนิคมตามควรแก่อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางเขตกรุงพาราณสี
เสด็จจาริกไปแล้วโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสี
อานนท์ ได้ยินว่า ในคราวนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีทรงสดับข่าวว่า ‘ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค
พระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงกรุงพาราณสี
ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤทายวัน’ ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกี
รับสั่งให้จัดยานพาหนะคันงาม ๆ หลายคัน ทรงขึ้นยานพาหนะคันงามเสด็จจาก
เขตกรุงพาราณสีพร้อมกับยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จด้วยราชานุภาพอย่าง
ยิ่งใหญ่ เพื่อทรงเยี่ยมพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสด็จไปจนสุดทางที่ยานพาหนะจะไปได้ จึงเสด็จลงจากยาน
เสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ
ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
สมควร พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงชี้แจงให้พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีทรงเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา พระเจ้ากาสี
ทรงพระนามว่ากิกีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของ
หม่อมฉันในวันพรุ่งนี้เถิด’
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับ
นิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่า
กัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทรงลุกจากที่
ประทับ ถวายอภิวาท ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป เมื่อล่วงราตรีนั้นไป
พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีได้รับสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต ล้วนเป็น
ข้าวสาลีซึ่งอ่อนละมุน เก็บกากออกหมดแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง ในพระราช-
นิเวศน์ของท้าวเธอ แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษกราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า’
[๒๘๘] อานนท์ ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยัง
พระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วย
พระองค์เอง เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์แล้ว พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีก็เลือกประทับนั่ง
ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า แล้วได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
ผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของหม่อมฉันเถิด พระสงฆ์
จักได้รับการบำรุงเห็นปานนี้’
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
‘อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาไว้แล้ว’
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของหม่อมฉันเถิด
พระสงฆ์จักได้รับการบำรุงเห็นปานนี้’
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
‘อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาไว้แล้ว’
ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ทรงเสียพระทัย ทรงโทมนัสว่า ‘พระผู้มี
พระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรับนิมนต์
การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของเรา’ จากนั้น ได้ทูลถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ มีใครอื่นที่เป็นผู้อุปัฏฐากยิ่งกว่าหม่อมฉันหรือ พระพุทธเจ้าข้า’
พระกัสสปพุทธเจ้าทรงสรรเสริญช่างหม้อชื่อฆฏิการะ
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
‘มหาบพิตร มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะอยู่ในนิคมนั้น เขาเป็นอุปัฏฐาก
ผู้เลิศของอาตมภาพ’ พระองค์ทรงเสียพระทัย มีความโทมนัสว่า ‘พระผู้มีพระภาค
พระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา
ในกรุงพาราณสีของเรา’
แต่ความเสียใจและความโทมนัสนั้นย่อมไม่มี และจักไม่มีแก่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ
เพราะช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์
เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) เว้นขาดจากอทินนาทาน(การ
ลักทรัพย์) เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม) เว้นขาดจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
มุสาวาท(การพูดเท็จ) เว้นขาดจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน(การเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท)
ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธเจ้า เป็นผู้
ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระธรรม เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคง
ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะรักใคร่ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นผู้หมดความ
สงสัยในทุกข์ เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขสมุทัย เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขนิโรธ
เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บริโภคภัตรมื้อเดียว เป็นพรหมจารี
มีศีล มีกัลยาณธรรม ไม่ใช้แก้วมณีและทองคำเป็นเครื่องประดับ ปราศจากการใช้
ทองและเงิน
มหาบพิตร ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ไม่ใช้พลั่วและมือของตนขุดแผ่นดิน หาบแต่ดิน
ริมตลิ่งที่พังหรือขุยหนูมาใช้ทำเป็นภาชนะ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ต้องการภาชนะ
สำหรับใส่ข้าวสาร ใส่ถั่วเขียว ใส่ถั่วดำ ขอให้นำภาชนะที่ต้องการนั้นไปเถิด’ ช่างหม้อ
ชื่อฆฏิการะเลี้ยงดูมารดาบิดา ซึ่งเป็นคนตาบอดและแก่ชรา (หลังจากตายแล้ว)
ช่างหม้อชื่อฆฏิการะจะเป็นโอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป
จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นอีก
[๒๘๙] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง
ครั้นเวลาเช้า อาตมภาพครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปหามารดาบิดา
ของช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ‘ดูเถิด นี่คนหาอาหารไปที่ไหนเสียเล่า’
มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะทูลตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปัฏฐาก
ของพระองค์ออกไปแล้ว ขอพระองค์จงรับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกง
เสวยเถิด’
ครั้งนั้น อาตมภาพได้รับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกงฉันแล้ว
ลุกจากอาสนะจากไป ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้ว
ได้ถามว่า ‘ใครมารับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกง บริโภคแล้วลุกจากอาสนะ
จากไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
มารดาบิดาบอกว่า ‘ลูกเอ๋ย พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกง เสวย
แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป’
มหาบพิตร ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ
เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อ
ชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน
[๒๙๐] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง
ครั้นเวลาเช้า อาตมภาพครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปหามารดาบิดาของ
ช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ‘ดูเถิด นี่คนหาอาหารไปไหนเสียเล่า’
มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะทูลตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปัฏฐาก
ของพระองค์ออกไปแล้ว ขอพระองค์จงรับขนมกุมมาสจากกระเช้านี้ รับแกงจาก
หม้อแกงเสวยเถิด’
ครั้งนั้น อาตมภาพได้รับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกงฉันแล้ว
ลุกจากอาสนะจากไป ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่
แล้วได้ถามว่า ‘ใครมารับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกง บริโภคแล้ว
ลุกจากอาสนะจากไป’
มารดาบิดาบอกว่า ‘ลูกเอ๋ย พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกงเสวย
แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไปแล้ว’
มหาบพิตร ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ
เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อ
ชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
[๒๙๑] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง ขณะนั้น
กุฏิรั่วจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปดูว่าในเรือน
ของช่างหม้อชื่อฆฏิการะมีหญ้าหรือไม่‘’
เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น(ไปดูกลับมาแล้ว)ได้กล่าวกับ
อาตมภาพว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะไม่มีหญ้า มีแต่
หญ้าที่มุงหลังคาเรือนของเขาเท่านั้น’
อาตมภาพจึงได้สั่งภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพากันไป
รื้อหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ’
ภิกษุเหล่านั้นได้ไปรื้อหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ครั้งนั้น
มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า ‘พวกใครเล่ามารื้อ
หญ้ามุงหลังคาเรือน’
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ‘คุณโยม กุฏิของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารั่ว’
มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวว่า ‘นำไปเถิดเจ้าข้า นำไปตาม
สะดวกเถิด พระคุณเจ้า’
ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้วถามว่า ‘พวกใคร
เล่ามารื้อหญ้ามุงหลังคาเรือน’
มารดาบิดาตอบว่า ‘ลูกเอ๋ย ภิกษุทั้งหลายบอกว่า ‘กุฏิของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารั่ว’
ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ
ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคย
อย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน
ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑. ฆฏิการสูตร
มหาบพิตร ครั้งนั้น เรือนที่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะอาศัยอยู่หลังนั้น มีอากาศเป็น
หลังคาอยู่ตลอด ๓ เดือน ถึงฝนตกก็ไม่รั่ว ช่างหม้อชื่อฆฏิการะมีคุณเช่นนี้’
พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภ
ของช่างหม้อชื่อฆฏิการะหนอ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’
[๒๙๒] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงให้ราชบุรุษส่งเกวียน
บรรทุกข้าวสาร ข้าวบัณฑุมุฑิกสาลีประมาณ ๕๐๐ เล่มเกวียน และเครื่องแกง
พอสมควรกับข้าวสารนั้นไปพระราชทานแก่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ราชบุรุษทั้งหลาย
เข้าไปหาช่างหม้อชื่อฆฏิการะแล้วได้กล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญ นี้ข้าวสาร ข้าวบัณฑุมุฑิก-
สาลีประมาณ ๕๐๐ เล่มเกวียน และเครื่องแกงพอสมควรกับข้าวสารนั้น พระเจ้า
กิกีกาสีทรงส่งมาพระราชทานแก่ท่านแล้ว จงรับของพระราชทานเหล่านั้นไว้เถิด’
ช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวว่า ‘พระราชามีพระราชกิจมาก มีพระราชกรณียกิจ
มาก สิ่งของที่พระราชทานมานี้อย่าเป็นของข้าพเจ้าเลย จงเป็นของหลวงเถิด’
อานนท์ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น โชติปาลมาณพคงเป็นคนอื่นเป็นแน่
แต่เธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น สมัยนั้น เราก็คือโชติปาลมาณพนั่นเอง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ฆฏิการสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร

๒. รัฏฐปาลสูตร
ว่าด้วยพระรัฏฐปาละ
พราหมณ์และคหบดีชาวเมืองถุลลโกฏฐิตะเข้าเฝ้า
[๒๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นกุรุ พร้อมกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของชาวกุรุชื่อถุลลโกฏฐิตะ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายชาว
ถุลลโกฏฐิตนิคมได้สดับข่าวว่า
“ได้ยินว่า พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยะตระกูล
ทรงจาริกไปในแคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงถุลลโกฏฐิตนิคม
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๑ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค๒’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วจึง
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวถุลลโกฏฐิตนิคม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกประณมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร บางพวก

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร
ประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่ง
นิ่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์และคหบดีชาวถุลลโกฏฐิต-
นิคมเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
รัฏฐปาลกุลบุตรขอบวช
[๒๙๔] สมัยนั้น กุลบุตรชื่อรัฏฐปาละ เป็นบุตรของตระกูลชั้นสูงในถุลลโกฏฐิต-
นิคมนั้น นั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย ขณะนั้นเอง รัฏฐปาลกุลบุตรได้คิดว่า “ธรรมตาม
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เราเข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่ดี
เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด”
ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีชาวถุลลโกฏฐิตนิคม ผู้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี
พระภาค ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
ลำดับนั้น เมื่อพราหมณ์และคหบดีชาวถุลลโกฏฐิตนิคมจากไปไม่นาน รัฏฐปาลกุลบุตร
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระองค์
เข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ข้าพระองค์ปรารถนาจะโกนผมและหนวด นุ่งห่ม
ผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา
อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “รัฏฐปาละ มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตแล้วหรือ”
รัฏฐปาลกุลบุตรกราบทูลว่า “ยังมิได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “รัฏฐปาละ พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่บวชให้กุลบุตร
ที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต”
รัฏฐปาลกุลบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระองค์จักหาวิธีให้มารดาบิดาอนุญาตให้
ข้าพระองค์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า”
[๒๙๕] ครั้งนั้น รัฏฐปาลกุลบุตรลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ลูกเข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย
ลูกปรารถนาจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต ขอคุณพ่อคุณแม่โปรดอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด”
เมื่อรัฏฐปาลกุลบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาบิดาของรัฏฐปาลกุลบุตรได้กล่าว
ว่า “พ่อรัฏฐปาละ เจ้าเป็นลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโต
มาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ลูกไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อย
[มาเถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติ ลูกเมื่อกำลังบริโภค
กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด
พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต] ถึงลูกจะตายพ่อแม่ก็ไม่
ปรารถนาจะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตเล่า”
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ รัฏฐปาลกุลบุตรได้กล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ ธรรมตามที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงนั้น ลูกเข้าใจว่า การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์
ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ลูกปรารถนาจะโกนผม
และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอคุณพ่อคุณแม่
โปรดอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ มารดาบิดาของรัฐปาลกุลบุตรก็ได้กล่าวว่า “พ่อรัฏฐปาละ เจ้าเป็น
ลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย
ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ลูกไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อย [มาเถิด พ่อรัฏฐปาละ
ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด ลูกเมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลัง
ให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่
อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต] ถึงลูกจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนา
จะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตเล่า”
มารดาบิดาไม่อนุญาตให้บวช
[๒๙๖] ครั้งนั้น รัฏฐปาลกุลบุตรคิดว่า “มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เราออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแน่” จึงนอนบนพื้นอันไม่มีเครื่องปูลาด ณ ที่นั้นเอง
ด้วยตั้งใจว่า “เราจักตาย หรือจักได้บวชก็ที่ตรงนี้แหละ” เขาจึงไม่บริโภคอาหาร
ตั้งแต่ ๑ มื้อ ๒ มื้อ ๓ มื้อ ๔ มื้อ ๕ มื้อ ๖ มื้อ จนถึง ๗ มื้อ
ครั้งนั้น มารดาบิดาของรัฏฐปาลกุลบุตรได้กล่าวว่า “พ่อรัฏฐปาละ เจ้าเป็น
ลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย
ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ลูกไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อย จงลุกขึ้นเถิด พ่อรัฏฐปาละ
ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด ลูกเมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลัง
ให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกาม๑ไปพลาง ทำบุญ๒ไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่
อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ถึงลูกจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนา
จะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตเล่า จงลุกขึ้นเถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติ
อยู่เถิด ลูกเมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภค

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร
กามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต ถึงลูกจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาต
ให้ลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า”
เมื่อมารดาบิดากล่าวอย่างนี้แล้ว รัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้นิ่งเฉย
แม้ครั้งที่ ๒ มารดาบิดาของรัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้กล่าวว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๒ รัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้นิ่งเฉย
แม้ครั้งที่ ๓ มารดาบิดาของรัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้กล่าวว่า “พ่อรัฏฐปาละ
เจ้าเป็นลูกคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย
ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี พ่อรัฏฐปาละ ลูกไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อย [จงลุกขึ้น
เถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด ลูกเมื่อกำลังบริโภค
กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด
พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต] ถึงลูกจะตาย พ่อแม่ก็
ไม่ปรารถนาจะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตเล่า จงลุกขึ้น พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม ฯลฯ ถึงลูก
จะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งมีชีวิตอยู่
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า”
แม้ครั้งที่ ๓ รัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้นิ่งเฉย
เพื่อนช่วยอ้อนวอนขออนุญาตให้บวช
[๒๙๗] ครั้งนั้น พวกเพื่อนของรัฏฐปาลกุลบุตรพากันเข้าไปหารัฏฐปาลกุลบุตร
ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า
“รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนเป็นลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่
เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี เพื่อนไม่รู้จักความ
ทุกข์แม้แต่น้อยเลย [ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขา
ปรนนิบัติอยู่เถิด เมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร
กามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้เพื่อนออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิต] ถึงเพื่อนจะตายพ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากเพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่
จักยอมอนุญาตให้เพื่อนผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า ลุกขึ้นเถิด
รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด เมื่อกำลังบริโภค
กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด
พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้เพื่อนออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแน่ ถึงเพื่อนจะตาย
พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากเพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้เพื่อนซึ่งมีชีวิตอยู่
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค
จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด เมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนิบัติอยู่
จงยินดีบริโภคกามไปพลางทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้เพื่อนออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต ถึงเพื่อนจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากเพื่อน เหตุไฉน
พ่อแม่จักอนุญาตให้เพื่อนซึ่งยังมีชีวิตออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า”
เมื่อสหายเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว รัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้นิ่งเฉย
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ พวกเพื่อนของรัฏฐปาลกุลบุตรได้กล่าวว่า “รัฏฐปาละเพื่อนรัก
เพื่อนเป็นลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วย
ความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี เพื่อนไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อยเลย
ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด
เมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง
ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้เพื่อนออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ถึงเพื่อนจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากเพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่เหล่านั้นจักอนุญาต
ให้เพื่อนซึ่งมีชีวิตอยู่ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละ
เพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม ฯลฯ ถึงเพื่อนจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก
เพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่เหล่านั้นจักอนุญาตให้เพื่อนซึ่งมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตเล่า”
แม้ครั้งที่ ๓ รัฏฐปาลกุลบุตรก็นิ่งเฉย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๓๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร
[๒๙๘] ลำดับนั้น พวกเพื่อนของรัฏฐปาลกุลบุตรพากันเข้าไปหามารดาบิดา
ของรัฏฐปาลกุลบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ รัฏฐปาลกุลบุตรนี้ นอนบน
พื้นที่ไม่มีเครื่องปูลาด ณ ที่นั้นเองด้วยตั้งใจว่า ‘เราจักตาย หรือจักได้บวชก็ที่ตรงนี้
แหละ’ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมให้รัฏฐปาลกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เขาจักตาย ณ ที่ตรงนั้นแน่ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้รัฏฐปาลกุลบุตรออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต คุณพ่อคุณแม่ก็ได้เห็นเขาแม้บวชแล้ว หากรัฏฐปาลกุลบุตร
จักไม่ยินดีในการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาจะมีทางไปที่ไหนอื่นเล่า ก็จัก
กลับมาที่บ้านนี้นั่นเอง ขอคุณพ่อคุณแม่จงอนุญาตให้รัฏฐปาลกุลบุตรออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตเถิด”
มารดาบิดากล่าวว่า “ลูกทั้งหลาย พ่อแม่อนุญาตให้รัฏฐปาลกุลบุตรออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตได้๑ แต่เขาบวชแล้วต้องมาเยี่ยมพ่อแม่บ้าง”
ต่อมา พวกเพื่อนพากันเข้าไปหารัฏฐปาลกุลบุตรถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า “เชิญ
ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก คุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้เพื่อนออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตแล้ว แต่เพื่อนบวชแล้วต้องมาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนบ้าง”
รัฏฐปาลกุลบุตรบวชและบรรลุพระอรหัต
[๒๙๙] ครั้งนั้น รัฏฐปาลกุลบุตรลุกขึ้นบำรุงร่างกายให้เกิดกำลังแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระองค์ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงให้ข้าพระองค์บวชเถิด”
รัฏฐปาลกุลบุตรได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น
เมื่อท่านรัฏฐปาละอุปสมบทแล้วไม่นาน พอได้กึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ในถุลลโกฏฐิตนิคมตามความยินดี เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จเที่ยวจาริกไป
ตามลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระรัฏฐปาละหลีกออก
ไปอยู่รูปเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้ง
ประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า
“ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป๑”
ท่านพระรัฏฐปาละได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น ท่านพระรัฏฐปาละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ปรารถนาจะไปเยี่ยมมารดาบิดา ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์”
พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดใจของท่านพระรัฏฐปาละด้วยพระหฤทัยแล้ว
ทรงทราบชัดว่า “รัฏฐปาลกุลบุตรไม่สามารถที่จะบอกลาสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์อีก”
ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “รัฏฐปาละ เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ต่อจากนั้น ท่านพระรัฏฐปาละลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วเก็บงำเสนาสนะถือบาตรและจีวรจาริกไปทางถุลลโกฏฐิตนิคม เที่ยวจาริก
ไปตามลำดับจนถึงถุลลโกฏฐิตนิคมแล้ว ได้ยินว่า ท่านพระรัฏฐปาละพักอยู่ ณ พระราช-
อุทยานชื่อมิคจีระของพระเจ้าโกรัพยะในถุลลโกฏฐิตนิคมนั้น ครั้นเวลาเช้า ท่าน
พระรัฏฐปาละครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังถุลลโกฏฐิตนิคม
ขณะเที่ยวบิณฑบาตในถุลลโกฏฐิตนิคมตามลำดับตรอก ได้เข้าไปจนถึงนิเวศน์ของ
บิดาของตน
เวลานั้น บิดาของท่านพระรัฏฐปาละกำลังให้ช่างกัลบกสางผมอยู่ที่ซุ้มประตูกลาง๒
ได้เห็นท่านพระรัฏฐปาละกำลังมาแต่ไกลแล้วได้กล่าวว่า “พวกสมณะโล้นเหล่านี้
บวชลูกชายคนเดียวผู้เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของเรา”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๒. รัฏฐปาลสูตร
ครั้งนั้น ท่านพระรัฏฐปาละไม่ได้รับทาน๑ ไม่ได้รับคำตอบที่บ้านบิดาของท่านเอง
ที่แท้ได้แต่คำด่าเท่านั้น สมัยนั้น ทาสหญิงของญาติของท่านพระรัฏฐปาละกำลัง
จะทิ้งขนมกุมมาสค้างคืน ท่านพระรัฏฐปาละได้กล่าวกับทาสหญิงของญาตินั้นว่า
“น้องหญิง ถ้าจะทิ้งสิ่งนั้น ก็จงใส่ในบาตรของอาตมานี้เถิด”
ขณะที่ทาสหญิงของญาติของท่านกำลังเกลี่ยขนมกุมมาสค้างคืนนั้นลงในบาตร
ก็จำเค้ามือ เท้า และน้ำเสียงของท่านพระรัฏฐปาละได้
พระรัฏฐปาละฉันขนมบูด
[๓๐๐] ครั้งนั้น ทาสหญิงของญาติของท่านพระรัฏฐปาละได้เข้าไปหามารดา
ของท่านพระรัฏฐปาละถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า “คุณนายเจ้าขา โปรดทราบเถิดว่า
‘พระรัฏฐปาละบุตรของคุณนายกลับมาแล้ว”
มารดาของท่านพระรัฏฐปาละกล่าวว่า “หนูเอ๋ย ถ้าเธอพูดจริง ฉันจะปลดปล่อย
เธอให้เป็นไท” มารดาของท่านพระรัฏฐปาละ เข้าไปหาบิดาของท่านพระรัฏฐปาละ
ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า “เดชะบุญ ท่านคหบดี ท่านรู้ไหม ได้ยินว่า รัฏฐปาลกุลบุตร
กลับมาแล้ว”
เวลานั้น ท่านพระรัฏฐปาละนั่งพิงฝาเรือนแห่งหนึ่งฉันขนมกุมมาสค้างคืน
โยมบิดาเข้าไปหาท่านพระรัฏฐปาละถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า “อะไรกัน พ่อรัฏฐปาละ
ลูกฉันขนมกุมมาสค้างคืนหรือ ลูกควรไปเรือนของตน มิใช่หรือ”
ท่านพระรัฏฐปาละตอบว่า “คหบดี อาตมภาพผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตจะมีเรือนแต่ที่ไหน อาตมภาพไม่มีเรือน อาตมภาพได้ไปเรือนของโยม
มาแล้ว ในเรือนนั้น อาตมภาพไม่ได้รับทาน ไม่ได้รับคำตอบเลย ได้แต่คำด่า
อย่างเดียว”
บิดากล่าวว่า “มาเถิด ลูกรัฏฐปาละ พวกเราจะไปเรือนด้วยกัน”

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น