Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๓-๑๑ หน้า ๕๑๒ - ๕๖๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓-๑๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
เพื่อเป็นบรรณาการก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อบูชายัญก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี
ข้าแต่ท่านพระโคดม ของที่ให้ในบุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม จักมีผลมากได้อย่างไรเล่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ เมื่อก่อนท่านได้อ้างกำเนิด อ้างกำเนิด
แล้วก็อ้างเรื่องมนต์ อ้างเรื่องมนต์แล้วก็อ้างเรื่องตบะ อ้างเรื่องตบะแล้วก็มาพูด
เรื่อง ความบริสุทธิ์ที่ทั่วไปแก่วรรณะ ๔ จำพวก ซึ่งเราบัญญัติไว้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพก็นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก
ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
วรรณะ ๔ จำพวกในอดีต
[๔๑๐] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าอัสสลายนมาณพนั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงได้ตรัสกับอัสสลายนมาณพว่า
“อัสสลายนะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน มาประชุมกันที่กระท่อม
มุงบังด้วยใบไม้ในราวป่า เกิดมีทิฏฐิชั่วเห็นปานนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม’
อสิตเทวลฤาษีได้สดับว่า ‘ได้ทราบว่า พราหมณ์ฤาษี ๗ ตนมาประชุมกันที่
กระท่อมมุงบังด้วยใบไม้ในราวป่า เกิดมีทิฏฐิชั่วเห็นปานนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐ
ที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม’
ลำดับนั้น อสิตเทวลฤาษีโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้าสีแดงอ่อน สวมรองเท้า
๒ ชั้น ถือไม้เท้าเลี่ยมทองไปปรากฏในบริเวณศาลาของพราหมณ์ฤาษี ๗ ตน
ครั้งนั้นแล อสิตเทวลฤาษีเมื่อเดินไปมาอยู่ในบริเวณศาลาของพราหมณ์ฤาษีทั้ง ๗ ตน
ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เออ ท่านพราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมด เออ ท่านพราหมณ์
ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมด’
ลำดับนั้น พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ได้คิดว่า ‘ใครหนอนี่ เดินไปมาเหมือนเด็ก
ชาวบ้าน ในบริเวณศาลาของพราหมณ์ฤาษี ๗ ตน กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เออ ท่าน
พราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมด เออ ท่านพราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมด’
เอาละ เราทั้งหลายจักสาปแช่งมัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
ลำดับนั้น พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ก็พากันสาปแช่งอสิตเทวลฤาษีว่า ‘เป็นเถ้า
เถิดคนถ่อย เป็นเถ้าเถิดคนถ่อย’ พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน พากันสาปแช่งอสิตเทวล-
ฤาษี ด้วยประการใด ๆ อสิตเทวลฤาษีกลับเป็นผู้มีรูปงามกว่า เป็นผู้น่าดูกว่า
และเป็นผู้น่าเลื่อมใสกว่า ด้วยประการนั้น ๆ
ครั้งนั้นแล พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ได้คิดว่า ‘ตบะของเราทั้งหลายเปล่าประโยชน์
พรหมจรรย์ของเราไม่มีผล ด้วยว่าเมื่อก่อนเราทั้งหลายสาปแช่งผู้ใดว่า ‘เป็นเถ้าเถิด
คนถ่อย เป็นเถ้าเถิดคนถ่อย’ ผู้นั้นบางคนก็เป็นเถ้าเป็นจุณ แต่ผู้นี้เราทั้งหลายยิ่ง
สาปแช่ง ด้วยประการใด ๆ เขากลับเป็นผู้มีรูปงามยิ่งขึ้น เป็นผู้น่าดูยิ่งขึ้น และเป็น
ผู้น่าเลื่อมใสยิ่งขึ้น ด้วยประการนั้น ๆ’
อสิตเทวลฤาษีกล่าวว่า ‘ตบะของท่านผู้เจริญทั้งหลาย เปล่าประโยชน์ก็หามิได้
พรหมจรรย์ของท่านผู้เจริญทั้งหลายไม่มีผลก็หามิได้ เชิญท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงละ
ความคิดประทุษร้ายในเราเสียเถิด’
พราหมณ์ฤาษี กล่าวว่า ‘พวกเรายอมสละความคิดประทุษร้าย ท่านเป็น
ใครหนอ’
อสิตเทวลฤาษี กล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายได้ยินชื่ออสิตเทวลฤาษีมา
บ้างไหม’
พราหมณ์ฤาษี กล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายเคยได้ยินอยู่’
อสิตเทวลฤาษี กล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรานี้แลคืออสิตเทวลฤาษี
ตนนั้น’
อัสสลายนะ ลำดับนั้นแล พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน พากันเข้าไปหาอสิตเทวลฤาษี
เพื่อจะไหว้
[๔๑๑] อัสสลายนะ ครั้งนั้น อสิตเทวลฤาษีได้กล่าวกับพราหมณ์ฤาษี
ทั้ง ๗ ตนว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้สดับข่าวนี้มาว่า ‘ได้ทราบว่า
พราหมณ์ฤาษี ๗ ตนมาประชุมกันในกระท่อมมุงบังด้วยใบไม้ในราวป่า แล้วเกิดมีทิฏฐิ
ชั่วเห็นปานนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณอื่นเลว วรรณะ
ที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่มิใช่พราหมณ์
ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพรหม เกิดจาก
พรหม พรหมเป็นผู้สร้างขึ้น เป็นทายาทของพรหม จริงหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
พราหมณ์ฤาษีทั้ง ๗ ตน ตอบว่า ‘จริง ท่านผู้เจริญ’
อสิตเทวลฤาษีถามว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า ‘มารดาบังเกิดเกล้าได้แต่งงาน
กับพราหมณ์เท่านั้น มิได้แต่งงานกับชายผู้มิใช่พราหมณ์เลย’
‘ไม่รู้เลย ท่านผู้เจริญ’
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า ‘มารดาของมารดาบังเกิดเกล้าตลอด ๗ ชั่วโคตร
ชั่วย่ายายของฝ่ายมารดา ได้แต่งงานกับพราหมณ์เท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกับชายผู้มิใช่
พราหมณ์เลย’
‘ไม่รู้เลย ท่านผู้เจริญ’
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า ‘บิดาบังเกิดเกล้าได้แต่งงานกับนางพราหมณี
เท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกับหญิงผู้มิใช่นางพราหมณีเลย’
‘ไม่รู้เลย ท่านผู้เจริญ’
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า ‘บิดาของบิดาบังเกิดเกล้าตลอด ๗ ชั่วโคตร
ชั่วปู่ตาของฝ่ายบิดา ได้แต่งงานกับนางพราหมณีเท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกับหญิงผู้
มิใช่นางพราหมณีเลย’
‘ไม่รู้เลย ท่านผู้เจริญ’
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า การถือกำเนิดในครรภ์มีได้ด้วยอาการอย่างไร’
‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ว่า ‘การถือกำเนิดในครรภ์ย่อมมีได้ คือ
๑. มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
๒. มารดามีระดู
๓. คันธัพพะ๑ปรากฏ ฉันใด
เพราะปัจจัย ๓ ประการนี้ ประชุมพร้อมกัน การถือกำเนิดในครรภ์ ย่อมมีได้
ฉันนั้น’

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า ‘เอาเถิด สัตว์ที่เกิดในครรภ์พึงเป็นกษัตริย์
เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ หรือเป็นศูทร’
‘ข้าพเจ้าทั้งหลาย ไม่รู้เลย ท่านผู้เจริญ’
อสิตเทวลฤาษีถามว่า ‘เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า ‘ท่าน
ทั้งหลายเป็นพวกไหน’
พราหมณ์ฤาษีทั้ง ๗ ตนตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้า
ทั้งหลายไม่รู้เลยว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพวกไหน’
อัสสลายนะ พราหมณ์ฤาษี ๗ ตนนั้น ถูกอสิตเทวลฤาษีซักไซร้ ไล่เลียง ไต่ถาม
ในวาทะปรารภชาติกำเนิดของตนก็ตอบไม่ได้ บัดนี้ ท่านถูกเราซักไซร้ ไล่เลียง ไต่ถาม
ในวาทะปรารภชาติกำเนิดของตน จะตอบได้อย่างไร ท่านเป็นศิษย์มีอาจารย์แต่ยังรู้
ไม่หมด เป็นแต่ถือทัพพีเท่านั้น”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่าน
พระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน
ตลอดชีวิต” ดังนี้แล
อัสสลายนสูตรที่ ๓ จบ

๔. โฆฏมุขสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโฆฏมุขะ
[๔๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระอุเทนอยู่ ณ เขมิยอัมพวัน เขตกรุงพาราณสี สมัยนั้น
พราหมณ์ชื่อโฆฏมุขะได้ไปกรุงพาราณสี ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้นแล โฆฏมุข-
พราหมณ์ เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปยังเขมิยอัมพวัน สมัยนั้น ท่านพระอุเทนเดิน
จงกรมอยู่ในที่กลางแจ้ง โฆฏมุขพราหมณ์เข้าไปหาท่านพระอุเทนถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว เดินจงกรมตามท่านพระอุเทน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
ผู้กำลังเดินจงกรมอยู่ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า “สมณะผู้เจริญ การบวชที่ถูกต้องไม่มี
ในการบวชนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะในการบวชนี้บัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านก็ยัง
ไม่เห็นธรรม”
เมื่อโฆฏมุขพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุเทนจึงลงจากที่จงกรม
เข้าไปยังวิหารแล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้โฆฏมุขพราหมณ์ก็ลงจากที่จงกรม
เข้าไปยังวิหารแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ท่านพระอุเทนได้กล่าวกับโฆฏมุขพราหมณ์
ว่า “พราหมณ์ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านปรารถนาก็เชิญนั่งเถิด”
โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารอการเชื้อเชิญของท่านอุเทนอยู่จึงยัง
ไม่นั่ง เพราะคนเช่นข้าพเจ้าไม่มีใครเชื้อเชิญก่อนแล้ว จะพึงสำคัญการนั่งบนอาสนะ
ที่ควรนั่งก็ดูกระไรอยู่”
ลำดับนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์เลือกนั่งแล้ว ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
แล้วได้กล่าวกับท่านพระอุเทนว่า “สมณะผู้เจริญ การบวชที่ถูกต้องไม่มี ในการบวชนี้
ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะในการบวชนี้บัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านก็ยังไม่เห็นธรรม”
ท่านพระอุเทนกล่าวว่า “พราหมณ์ ถ้าท่านจะพึงยอมรับคำที่ควรยอมรับ
และพึงคัดค้านคำที่ควรคัดค้านของเรา อนึ่ง ท่านยังไม่เข้าใจเนื้อความแห่งภาษิตใด
ก็ควรซักถามเราในภาษิตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ท่านอุเทน ภาษิตนี้เป็นอย่างไร
เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร’ เพราะทำอย่างนี้ เราทั้งสองจะพึงมีการสนทนา
ปราศรัยกันในเรื่องนี้ได้”
โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจักยอมรับคำที่ควรยอมรับ และจักคัดค้าน
คำที่ควรคัดค้านของท่านอุเทน อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่รู้เนื้อความแห่งภาษิตใดของท่าน
อุเทน ข้าพเจ้าจักซักถามท่านอุเทนในภาษิตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ท่านอุเทน ภาษิตนี้
เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร’ เพราะทำอย่างนี้ เราทั้งสองจง
สนทนาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร

บุคคล ๔ ประเภท
[๔๑๓] ท่านพระอุเทนกล่าวว่า “พราหมณ์ บุคคล ๔ ประเภทนี้ มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๔ ประเภท ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
๒. เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
๓. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
๔. เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน
บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน
เย็นใจ มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน
พราหมณ์ บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนี้ ท่านชอบใจบุคคลจำพวกไหนเล่า”
โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านอุเทน ข้าพเจ้าไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน
หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
ข้าพเจ้าไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน
ข้าพเจ้าไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้
เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
ข้าพเจ้าชอบใจบุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้
เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน (เพราะ)บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น เป็นผู้
ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
“พราหมณ์ เพราะเหตุไรเล่า ท่านจึงไม่ชอบใจบุคคล ๓ ประเภทนี้”
“ท่านอุเทน บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
ชื่อว่าทำตนซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึง
ไม่ชอบใจบุคคลนี้
ฝ่ายบุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
ชื่อว่าทำผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึง
ไม่ชอบใจบุคคลนี้
ส่วนบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็น
ผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ชื่อว่าทำตนเองและ
ผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจบุคคลนี้
แต่บุคคลใด ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
บุคคลนั้น ชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน
เย็นใจ มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน ชื่อว่าไม่ทำตนและผู้อื่นซึ่งรักสุข
เกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงชอบใจบุคคลนี้”
บริษัท ๒ จำพวก
[๔๑๔] ท่านพระอุเทนกล่าวว่า “พราหมณ์ บริษัทมี ๒ จำพวก
บริษัท ๒ จำพวก ไหนบ้าง
คือ บริษัทบางพวกในโลกนี้
๑. มีความกำหนัดยินดีเมื่อมีต่างหูแก้วมณี จึงแสวงหาบุตร ภรรยา
ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทองและเงิน
๒. ไม่มีความกำหนัดยินดีเมื่อมีต่างหูแก้วมณี ก็ละทิ้งบุตร ภรรยา
ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทองและเงิน แล้วออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
บุคคลใดไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และ
เป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลนั้น
ชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ
มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน
พราหมณ์ ท่านเห็นบุคคลเช่นไรในบริษัทไหนมาก คือในบริษัทผู้กำหนัดยินดี
ในแก้วมณีและกุณฑล แสวงหาบุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทอง
และเงิน และในบริษัทผู้ไม่กำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี ละทิ้งบุตร ภรรยา ทาสหญิง
ทาสชาย นา สวน ทอง และเงิน แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
โฆฏมุขพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านอุเทน บุคคลใดไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่น
ประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบ
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลนั้นชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
นั้น เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน
ข้าพเจ้าเห็นบุคคลนี้มีมากในบริษัทผู้ไม่กำหนัดยินดีในเมื่อมีต่างหูแก้วมณี
ละทิ้งบุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทอง และเงิน แล้วออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต”
“พราหมณ์ ในบัดนี้นั่นเอง เราย่อมรู้คำที่ท่านกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ‘สมณะ
ผู้เจริญ การบวชที่ถูกต้องไม่มี ในการบวชนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะในการ
บวชนี้บัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านก็ยังไม่เห็นธรรม”
“ท่านอุเทน วาจาที่ท่านกล่าวแก่ข้าพเจ้านั้น เป็นวาจามีเหตุสนับสนุนโดยแท้
การบวชที่ถูกต้องมีจริง ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ และขอท่านอุเทน
โปรดจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ อนึ่งบุคคล ๔ จำพวกนี้ ท่านอุเทนกล่าวโดยย่อ ไม่จำแนก
โดยพิสดาร ขอโอกาสเถิดท่าน ขอท่านอุเทนช่วยอนุเคราะห์จำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้
ให้ข้าพเจ้าฟังโดยพิสดารด้วยเถิด”
“พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
โฆฏมุขพราหมณ์รับคำแล้ว ท่านพระอุเทนได้กล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร

ติตถิยวัตร
[๔๑๕] “บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้
เดือดร้อน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ
เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขา
แบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจาก
ปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหาร
คร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค
ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับ
อาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่
เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ
ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าว
คำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ รับอาหารในเรือน
๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๓ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้
ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหาร
๑๕ วันต่อ ๑ มื้ออยู่ ด้วยประการอย่างนี้
เขาเป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร
กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็น
อาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร กินเหง้า
และผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ เขานุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน
นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนัง
เสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
ผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า ถอนผมและ
หนวด คือถือการถอนผมและหนวดยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือถือ
การเดินกระโหย่ง นอนบนหนาม คือ ถือการนอนบนหนาม อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง
คือถือการลงอาบน้ำ ถือการย่างและอบกายหลายรูปแบบอยู่ ด้วยประการอย่างนี้
พราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำ
ตนให้เดือดร้อน
[๔๑๖] บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฆ่านก ฆ่าเนื้อ(เลี้ยงชีพ) เป็นคน
โหดเหี้ยม เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นคนฆ่าโจร เป็นคนฆ่าโค เป็นคนคุมเรือนจำ
หรือบางพวกเป็นผู้ทำการทารุณ
พราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำ
ผู้อื่นให้เดือดร้อน
[๔๑๗] บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้
เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก๑แล้ว
ก็ดี เป็นพราหมณมหาศาลก็ดี พระราชานั้นโปรดให้สร้างโรงบูชายัญหลังใหม่ ทางด้าน
ทิศตะวันออกแห่งพระนคร ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงนุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ
ทรงทาพระวรกายด้วยเนยใสและน้ำมัน ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้าไป
ยังโรงบูชายัญใหม่พร้อมด้วยพระมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บรรทมบนพื้นหญ้า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
เขียวขจี มิได้ลาดด้วยเครื่องปูลาด ดำรงพระชนม์อยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๑ แห่งโค
แม่ลูกอ่อนที่มีอยู่ตัวเดียว พระมเหสีดำรงพระชนม์อยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๒ พราหมณ์
ปุโรหิตดำรงชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๓ บูชาไฟด้วยน้ำนมเต้าที่ ๔ ลูกโคมีชีวิตอยู่
ด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชารับสั่งอย่างนี้ว่า ‘จงฆ่าโคตัวผู้ประมาณเท่านี้บูชายัญ
จงฆ่าลูกโคตัวผู้ประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวเมียประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่า
แพะประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าแกะประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าม้าประมาณเท่านี้
บูชายัญ จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้เพื่อทำเสาบูชายัญ จงเกี่ยวหญ้าประมาณเท่านี้
เพื่อลาดพื้น’ เหล่าชนผู้เป็นทาสก็ดี เป็นคนรับใช้ก็ดี เป็นคนงานก็ดี ของพระราชานั้น
ถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ไปทำงานไป
พราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการ
ทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน
พระพุทธคุณ
[๔๑๘] บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตน
ให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่น
ให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว
ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน เป็นอย่างไร
คือ พระตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควร
ฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศ
ให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง) ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่ง ได้สดับธรรมนั้น แล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนัก
ว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางมาแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง
การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด
ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่
โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
สิกขาและสาชีพของภิกษุ
เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ๑ ของภิกษุทั้งหลาย คือ
๑. ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. ละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ รับเอาแต่ของ
ที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์๒
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๓ อันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์
มีถ้อยคำเป็นหลักเชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ละ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้
เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน
ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์
ความสามัคคี
๖. ละ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่
พอใจ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
๗. ละ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง
ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง
มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๑ และภูตคาม๒
๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่
เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ของ
หอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่ นา และที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษ๑ด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที นกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ แม้ฉันใด ภิกษุ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง
จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ ย่อมเสวยสุขอัน
ปราศจากโทษในภายใน
การสำรวมอินทรีย์
[๔๑๙] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ๒ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ฯลฯ
ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ
ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความสำรวม
อินทรีย์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน
การตื่น การพูด การนิ่ง

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร

การละนิวรณ์
ภิกษุนั้น ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้
แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า
ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้
สิ่งของของผู้อื่น) ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา
ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท(ความปองร้ายเขา) มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์ เกื้อกูล
สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ (ความ
หดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระ
จิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ) เป็นผู้
ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
ฌาน ๔
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เป็นเครื่อง
ทอนกำลังปัญญาแล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน บรรลุจตุตถฌาน
ที่ไม่มีทุกข์ และไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร

วิชชา ๓
[๔๒๐] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๒ เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น
มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น
ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติ
ก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น
ไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลัง
จากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต
วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ ชักชวนผู้อื่น
ให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
เธอเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ
เกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธ-
คามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ
และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป๓’
พราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบ
ในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการ
ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงเป็นผู้
ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน”
การสร้างศาลาสงฆ์
[๔๒๑] เมื่อท่านพระอุเทนกล่าวอย่างนี้แล้ว โฆฏมุขพราหมณ์ได้กล่าวกับ
ท่านพระอุเทนว่า
“ท่านอุเทน ภาษิตของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอุเทน ภาษิตของท่าน
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอุเทนประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือน
บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๔. โฆฏมุขสูตร
ในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านอุเทนพร้อมทั้ง
พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านอุเทนโปรดจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึง
สรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ท่านพระอุเทน กล่าวว่า “พราหมณ์ ท่านอย่าถึงอาตมภาพเป็นสรณะเลย
เชิญท่านถึงพระผู้มีพระภาคที่อาตมภาพถึงเป็นสรณะเถิด”
“ข้าแต่ท่านอุเทน บัดนี้ พระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประทับอยู่ที่ไหน”
“พราหมณ์ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน
เสียแล้ว”
“ท่านอุเทน ถ้าข้าพเจ้าได้ฟังว่า ‘ท่านพระโคดมพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน
ในหนทางแม้ ๑๐ โยชน์’ ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น แม้สิ้นทาง ๑๐ โยชน์ ถ้าข้าพเจ้าได้ฟังว่า ‘ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
ประทับอยู่ที่ไหน ในหนทางแม้ ๒๐ โยชน์ ...๓๐ โยชน์ ... ๔๐ โยชน์ ... ๕๐ โยชน์ ...
๑๐๐ โยชน์’ ข้าพเจ้าก็จะไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แม้สิ้นทาง ๑๐๐ โยชน์
แต่เพราะท่านพระโคดมพระองค์นั้น เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพเจ้าขอถึง
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
เป็นสรณะ ขอท่านอุเทน โปรดจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต อนึ่ง พระเจ้าอังคะโปรดพระราชทานเบี้ยเลี้ยงประจำแก่ข้าพเจ้า
ทุกวัน ข้าพเจ้าขอถวายส่วนหนึ่งจากเบี้ยเลี้ยงประจำนั้นแก่ท่านอุเทน”
“พราหมณ์ พระเจ้าอังคะโปรดพระราชทานอะไรเป็นเบี้ยเลี้ยงประจำแก่ท่านทุกวัน”
“ท่านอุเทน พระเจ้าอังคะโปรดพระราชทานทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะเป็นเบี้ยเลี้ยง
ประจำแก่ข้าพเจ้าทุกวัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
“พราหมณ์ การรับทองและเงินไม่สมควรแก่อาตมภาพทั้งหลาย”
“ท่านอุเทน ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่าน
อุเทน”
ท่านพระอุเทน กล่าวว่า “พราหมณ์ ถ้าท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวาย
อาตมภาพ ก็ขอให้สร้างโรงฉันถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด”
โฆฏมุขพราหมณ์ กล่าวว่า “ด้วยบุญที่ท่านอุเทนชักชวนข้าพเจ้าในสังฆทานนี้
ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีเหลือประมาณ ท่านอุเทน ข้าพเจ้าจะสร้างโรงฉันถวายแก่สงฆ์ในเมือง
ปาตลีบุตร ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้ และเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่น”
ครั้งนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์ให้จัดสร้างโรงฉันถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร
ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้ และเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่น ๆ โรงฉันนั้นปัจจุบันเรียกว่า
‘โฆฏมุขี’ ดังนี้แล
โฆฏมุขสูตรที่ ๔ จบ

๕. จังกีสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อจังกี
[๔๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะของชาวโกศล ประทับอยู่ ณ ป่าไม้
สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ สมัยนั้นแล พราหมณ์
ชื่อจังกีปกครองบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย
มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศล
พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย๑ พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านโอปาสาทะ
ได้ฟังข่าวว่า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
“ได้ยินว่า ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล
เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านพราหมณ์ชื่อ
โอปาสาทะโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งบ้าน
พราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไป
อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วย
พระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้
เป็นความดี อย่างแท้จริง”
[๔๒๓] ครั้งนั้นแล พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ
ออกจากบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะรวมกันเป็นหมู่ ไปยังป่าไม้สาละชื่อเทพวันทาง
ทิศเหนือ สมัยนั้น จังกีพราหมณ์พักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน มองเห็น
พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะซึ่งล้วนออกจากบ้านพราหมณ์
ชื่อโอปาสาทะเดินรวมกันเป็นหมู่ ไปทางทิศเหนือ เข้าไปยังป่าไม้สาละชื่อเทพวัน
จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า
“พ่ออำมาตย์ พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะออกจาก
บ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะเดินรวมกันเป็นหมู่ ไปทางทิศเหนือ เข้าไปยังป่าไม้สาละ
ชื่อเทพวัน ทำไมกัน”
อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ข้าแต่ท่านจังกี พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ เสด็จถึง
บ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
แห่งบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจร
ไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น พากันไปเข้า
เฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
จังกีพราหมณ์กล่าวว่า “พ่ออำมาตย์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปหาพวกพราหมณ์
และคหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะแล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านขอรับ จังกี-
พราหมณ์พูดว่า ‘ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน แม้จังกีพราหมณ์ก็จะไปเข้าเฝ้า
พระสมณโคดมด้วย”
อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของจังกีพราหมณ์แล้ว เข้าไปหาพวกพราหมณ์และ
คหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ จังกีพราหมณ์
พูดว่า ‘ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน แม้จังกีพราหมณ์ก็จะไปเข้าเฝ้าพระสมณ-
โคดมด้วย”
ความเป็นผู้ดีของจังกีพราหมณ์
[๔๒๔] เวลานั้น พราหมณ์ต่างถิ่น ๕๐๐ คน มีธุระเดินทางมาพักอยู่
ในบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะพอได้ฟังว่า “จังกีพราหมณ์จักไปเข้าเฝ้าพระสมณ-
โคดมด้วย” จึงพากันเข้าไปหาจังกีพราหมณ์ถึงที่อยู่แล้วถามว่า “ท่านจังกีจักไป
เข้าเฝ้าพระสมณโคดมจริงหรือ”
จังกีพราหมณ์ตอบว่า “จริง เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”
พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านจังกีอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเลย ท่านจังกี
ไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านจังกี
เพราะว่า ท่านจังกีเป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
ดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
ด้วยเหตุนี้ ท่านจังกีจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควร
เสด็จมาหาท่านจังกี
อนึ่ง ท่านจังกีเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ จบไตรเพท
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจ
ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มี
รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดุจพรหม มีกายดุจพรหม
โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวานอย่างชาวเมือง
นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชน สอนมนตร์แก่มาณพ
๓๐๐ คน ฯลฯ ท่านจังกีเป็นผู้ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อม ฯลฯ เป็นผู้ที่พราหมณ์ชื่อโปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ
นอบน้อม ฯลฯ
ท่านจังกีปกครองบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย
มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิ-
โกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้ ท่านจังกีจึงไม่ควรไป
เข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านจังกี”
สรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า
[๔๒๕] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว จังกีพราหมณ์ได้กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้า
ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่า ท่านพระสมณโคดม
ทรงเป็นผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนนีและฝ่ายพระชนก ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์
ดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
ด้วยเหตุนี้ ท่านพระโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าท่าน
พระโคดม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
ท่านทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดมทรงสละเงินทองมากมายทั้งที่ฝัง
อยู่ในพื้นดินและในอากาศ ผนวชแล้ว ฯลฯ พระสมณโคดมกำลังหนุ่มแน่น
มีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัย เสด็จออกจากพระราชวัง ผนวชเป็น
บรรพชิต ฯลฯ เมื่อพระชนนีและพระชนกไม่ทรงปรารถนา (จะให้เสด็จออกผนวช)
มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ทรงกันแสงอยู่ พระสมณโคดมทรงปลงพระเกศาและ
พระมัสสุ แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต
ฯลฯ พระสมณโคดมมีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก
ดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ พระสมณโคดม
ทรงมีอริยศีล๑ มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็นกุศล ฯลฯ มีพระวาจาไพเราะ
สุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ
ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชนมากมาย๒ ฯลฯ ทรงสิ้นกามราคะ ไม่ประดับ
ตกแต่ง ฯลฯ ทรงเป็นกรรมวาที เป็นกิริยวาที ไม่ทรงมุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ
ผนวชแล้วจากตระกูลสูง คือ ขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูล
มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ ประชาชนต่างบ้านต่างเมืองพากันมาทูลถาม
ปัญหาพระสมณโคดม ฯลฯ ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิตขอถึงพระสมณโคดม
เป็นที่พึ่ง ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค’ ฯลฯ พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
ฯลฯ พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธ พร้อมทั้งพระราชโอรสและพระมเหสี ทรงถวาย
ชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมทั้งพระราชโอรส
และพระมเหสี ทรงถวายชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ โปกขรสาติพราหมณ์
พร้อมทั้งบุตรภรรยา ก็ได้ถวายชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
พระสมณโคดมเสด็จถึงบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ
ป่าไม้สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ สมณพราหมณ์
ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่าเป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา พระสมณโคดมเสด็จมาถึงบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะโดยลำดับ ประทับอยู่
ณ ป่าไม้สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ พระสมณ-
โคดมจึงจัดว่าเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยเหตุนี้
พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เราทราบพระคุณของพระสมณโคดมเพียงเท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณ
เพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระสมณโคดมมีพระคุณนับประมาณมิได้ ถึงแม้ท่านพระโคดม
ทรงประกอบด้วยองค์คุณบางอย่าง ก็ไม่ควรเสด็จมาหาเรา โดยที่แท้ เราต่างหาก
ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”
(หลังจากนั้น) จังกีพราหมณ์ได้กล่าวเชิญว่า “ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเรา
ทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วยกัน๑”
มาณพชื่อกาปทิกะทูลถามบทมนตร์
[๔๒๖] ครั้งนั้น จังกีพราหมณ์พร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึก
ถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วทรงปฏิสันถาร
เรื่องบางเรื่องพอเป็นที่ระลึกถึงกันกับพราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่า สมัยนั้น มาณพ
ชื่อกาปทิกะยังเป็นหนุ่มโกนศีรษะ มีอายุ ๑๖ ปี นับแต่เกิดมา เป็นผู้จบไตรเพท
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ เป็นผู้เข้าใจ
ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญคัมภีร์โลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษนั่งอยู่ในบริษัท
นั้นด้วย เขาได้พูดสอดขึ้นในระหว่างที่พราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่ากำลังสนทนากันอยู่
กับพระผู้มีพระภาค

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงห้ามกาปทิกมาณพว่า “ภารทวาชะผู้มีอายุ
เจ้าอย่าพูดแทรกขึ้นในระหว่างที่พราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่ากำลังสนทนากันอยู่
จงรอให้เขาพูดจบเสียก่อน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว จังกีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ท่านพระโคดม อย่าทรงห้ามกาปทิกมาณพเลย กาปทิกมาณพเป็นบุตรของผู้มี
สกุล เป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต เจราจาถ้อยคำไพเราะ และสามารถจะเจรจาโต้ตอบ
ในคำนั้นกับท่านพระโคดมได้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “กาปทิกมาณพจักสำเร็จการศึกษา
ในปาพจน์คือไตรเพทเป็นแน่แท้ พราหมณ์ทั้งหลายจึงพากันยกย่องเขาถึงเพียงนั้น”
ครั้งนั้น กาปทิกมาณพได้คิดว่า “เมื่อใด พระสมณโคดมจักทอดพระเนตรสบ
ตาเรา เมื่อนั้น เราจักทูลถามปัญหากับพระสมณโคดม”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของกาปทิกมาณพด้วยจิต
(ของพระองค์) จึงทรงทอดพระเนตรไปทางที่กาปทิกมาณพนั่งอยู่
[๔๒๗] ครั้งนั้นแล กาปทิกมาณพได้คิดว่า “พระสมณโคดมทรงสนพระทัย
เราอยู่ ทางที่ดี เราควรทูลถามปัญหากับพระสมณโคดม” ลำดับนั้น กาปทิกมาณพ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ในบทมนตร์อันเป็นของเก่าของพราหมณ์ทั้งหลาย
โดยสืบต่อกันมาตามคัมภีร์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมถึงความตกลงใจโดยเด็ดขาดว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ในเรื่องนี้ท่านพระโคดมจะตรัสอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภารทวาชะ บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย พราหมณ์
สักคนหนึ่งผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
มีอยู่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
กาปทิกมาณพทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
“ภารทวาชะ แม้อาจารย์ท่านหนึ่ง แม้ปาจารย์ของอาจารย์ท่านหนึ่ง ตลอดขึ้น
ไปจน ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ มีอยู่หรือ”
“ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
“ภารทวาชะ ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษี
อัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ
ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนตร์ เป็นผู้
บอกมนตร์ที่พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม บทมนตร์เก่าที่ท่านบุรพาจารย์
พราหมณ์ขับไว้แล้ว บอกไว้แล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้
บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านได้บอกไว้แล้ว แม้ท่านเหล่านั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
รู้สิ่งนี้ เราทั้งหลายเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ มีอยู่หรือ”
“ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภารทวาชะ ได้ทราบกันดังนี้ว่า บรรดาพราหมณ์
ทั้งหลาย ไม่มีพราหมณ์แม้สักคนหนึ่ง ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ไม่มีใครสักคนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นปาจารย์ของ
อาจารย์ตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารู้สิ่งนี้
เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ แม้ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของ
พวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษี
ยมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็น
ผู้แต่งมนตร์ เป็นผู้บอกมนตร์ที่พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม บทมนตร์เก่า
ที่ท่านขับไว้แล้ว บอกไว้แล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้กล่าวไว้
บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้บอกไว้แล้ว แม้ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า
‘เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร

ธรรม ๕ ประการมีผลเป็น ๒ อย่าง
[๔๒๘] ภารทวาชะ คนตาบอดเข้าแถวเกาะหลังกัน คนอยู่หัวแถว คนอยู่
กลางแถว และคนอยู่ปลายแถว ต่างก็มองไม่เห็นกัน แม้ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์
ทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด คือ แม้คนอยู่
หัวแถว คนอยู่กลางแถว และคนอยู่ปลายแถว ต่างก็มองไม่เห็นกัน ท่านเข้าใจ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น ความเชื่อของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมหา
มูลมิได้ มิใช่หรือ”
กาปทิกมาณพกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ในข้อนี้พราหมณ์ทั้งหลายมิใช่
เล่าเรียนกันมาด้วยความเชื่ออย่างเดียว แต่เล่าเรียนด้วยการฟังตามกันมา”
“ภารทวาชะ ครั้งแรกท่านได้อ้างถึงความเชื่อ บัดนี้ท่านอ้างถึงการฟังตาม
กันมา ธรรม ๕ ประการนี้มีผลเป็น ๒ อย่างในปัจจุบัน
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศรัทธา (ความเชื่อ)
๒. รุจิ (ความชอบใจ)
๓. อนุสสวะ (การฟังตามกันมา)
๔. อาการปริวิตก (ความตรึกตามอาการ)
๕. ทิฏฐินิชฌานขันติ (ความเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้)
ธรรม ๕ ประการนี้แล มีผลเป็น ๒ อย่างในปัจจุบัน คือ
สิ่งที่เชื่อกันด้วยดีแต่สิ่งนั้นกลับเป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี สิ่งที่ไม่เชื่อกันด้วยดี
แต่สิ่งนั้นกลับเป็นจริงแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี
สิ่งที่ชอบใจจริง ๆ ฯลฯ
สิ่งที่ฟังตามกันมาอย่างดี ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
สิ่งที่ตรึกไว้อย่างดี ฯลฯ
สิ่งที่พินิจไว้อย่างดี แต่สิ่งนั้นกลับเป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี สิ่งที่ไม่ได้พินิจ
ไว้อย่างดี แต่สิ่งนั้นกลับเป็นจริงแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี
ภารทวาชะ คนผู้ฉลาดเมื่อจะตามรักษาสัจจะ ไม่ควรจะตกลงใจในข้อนั้นอย่าง
เด็ดขาดว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
ตรัสตอบถึงการรักษาสัจจะ
[๔๒๙] กาปทิกมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ด้วยข้อปฏิบัติประมาณ
เท่าไร การรักษาสัจจะจึงมีได้ บุคคลชื่อว่ารักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติประมาณเท่าไร
ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงการรักษาสัจจะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภารทวาชะ ถ้าบุรุษมีศรัทธา กล่าวว่า ‘เรามี
ศรัทธาอย่างนี้’ ชื่อว่ารักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่ามีความตกลงใจโดยเด็ดขาดว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ การรักษาสัจจะย่อมมีได้
บุคคลชื่อว่ารักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการรักษาสัจจะ
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการรู้สัจจะก่อน
ถ้าบุรุษมีความชอบใจ ฯลฯ
ถ้าบุรุษมีการฟังตามกันมา ฯลฯ
ถ้าบุรุษมีความตรึกตามอาการ ฯลฯ
ถ้าบุรุษมีความพินิจที่เข้ากันได้กับทฤษฎีของตน เขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรามี
ความพินิจที่เข้ากันได้กับทฤษฎีของตนอย่างนี้’ ชื่อว่ารักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึง
ความตกลงใจโดยเด็ดขาดว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
ภารทวาชะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้การรักษาสัจจะย่อมมีได้ บุคคลชื่อว่า
รักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการรักษาสัจจะด้วยข้อ
ปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการรู้สัจจะก่อน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร

ตรัสตอบถึงการรู้สัจจะ
[๔๓๐] กาปทิกมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม การรักษาสัจจะย่อมมี
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่ารักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเรา
ทั้งหลายย่อมหวังการรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ การรู้สัจจะย่อมมีด้วยข้อ
ปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดมถึงการรู้สัจจะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภารทวาชะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอาศัยบ้าน
หรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คหบดีก็ดี บุตรของคหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว
ใคร่ครวญในธรรม ๓ ประการ คือ (๑) ในธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโลภะ(ความโลภ)
(๒) ในธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ(การประทุษร้าย) (๓) ในธรรมที่เป็นเหตุให้เกิด
โมหะ(ความหลง) ว่า ‘ท่านผู้นี้มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโลภะ หรือไม่หนอ (เพราะว่า)
ผู้มีจิตถูกธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความโลภครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ารู้’
เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเห็น’ หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น ก็จะพึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้นได้หรือหนอ’
เมื่อเขาพิจารณาถึงภิกษุนั้นอยู่ จึงรู้ได้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิด
โลภะ (เพราะว่า)ผู้มีจิตถูกธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโลภะครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็กล่าว
ว่า ‘ข้าพเจ้ารู้’ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเห็น’ หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น ท่านผู้นี้พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์
แก่สิ่งนั้น
อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนผู้ไม่โลภ ท่านผู้นี้แสดงธรรม
อันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเองไม่ได้ เป็นธรรม
ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ไม่ใช่ธรรมที่คนโลภจะแสดงได้ง่าย’
[๔๓๑] เมื่อใดเขาพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ ย่อมเห็นชัดว่า เธอบริสุทธิ์จาก
ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโลภะแล้ว เมื่อนั้นเขาพิจารณาภิกษุนั้นให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
เป็นเหตุให้เกิดโทสะว่า ‘ท่านผู้นี้มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ มีจิตถูกธรรมที่เป็น
เหตุให้เกิดโทสะครอบงำ เมื่อไม่รู้ก็จะกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ารู้’ เมื่อไม่เห็นก็จะกล่าวว่า
‘ข้าพเจ้าเห็น’ หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
แก่ผู้อื่น ก็จะพึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น’ เขาเมื่อพิจารณาภิกษุนั้นอยู่
ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ (เพราะว่า)ผู้มีจิตถูก
ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็จะพึงกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ารู้’ เมื่อ
ไม่เห็นก็จะพึงกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเห็น’ หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น
อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนผู้ไม่ประทุษร้าย ท่านผู้นี้แสดง
ธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเองไม่ได้ เป็นธรรม
ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ไม่ใช่ธรรมที่คนประทุษร้ายจะแสดงได้ง่าย’
[๔๓๒] เมื่อใด เขาพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ย่อมเห็นชัดว่า เธอบริสุทธิ์จาก
ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ เมื่อนั้นเขาย่อมพิจารณาภิกษุนั้นให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมที่
เป็นเหตุให้เกิดโมหะว่า ‘ท่านผู้นี้มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโมหะ มีจิตถูกธรรมที่เป็น
เหตุให้เกิดโมหะครอบงำ เมื่อไม่รู้ก็จะกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ารู้’ เมื่อไม่เห็นก็จะกล่าวว่า
‘ข้าพเจ้าเห็น’ หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
แก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น’ เขาเมื่อพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ ย่อมรู้
ได้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโมหะ (เพราะว่า)ผู้มีจิตถูกธรรมที่
เป็นเหตุให้เกิดโมหะครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็จะพึงกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ารู้’ เมื่อไม่เห็น
ก็จะพึงกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเห็น’ หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น
อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนผู้ไม่หลง ท่านผู้นี้แสดงธรรม
อันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเองไม่ได้ เป็นธรรม
ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ไม่ใช่ธรรมที่คนหลงจะแสดงได้ง่าย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
เมื่อใด เขาพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ ย่อมเห็นชัดว่าเธอบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเหตุ
ให้เกิดโมหะ เมื่อนั้น เขาสร้างศรัทธาในภิกษุนั้นอย่างมั่นคง จึงเกิดศรัทธาแล้ว
เข้าไปหา เมื่อเข้าไปหา ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสตลง เขาเงี่ยโสตลงแล้ว
ฟังธรรม๑อยู่ ย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้ว
เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรแก่การเพ่งพินิจ เมื่อธรรมควร
แก่การเพ่งพินิจมีอยู่ ฉันทะ๒ย่อมเกิด เกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะ
แล้วย่อมพิจารณา ครั้นพิจารณาแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เธอตั้งความเพียรแล้ว
ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งด้วยกาย และเห็นชัดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา
ภารทวาชะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ การรู้สัจจะจึงมีได้ ด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้แล บุคคลย่อมรู้สัจจะได้ และเราย่อมบัญญัติการรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะทีเดียว”
ตรัสตอบถึงการบรรลุสัจจะ
[๔๓๓] กาปทิกมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม การรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วย
ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่ารู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลาย
ย่อมหวังการรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้หรือ การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อ
ปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูล
ถามท่านพระโคดมถึงการบรรลุสัจจะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภารทวาชะ การปฏิบัติ เจริญ ทำให้มากซึ่ง
ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ การบรรลุสัจจะ
ย่อมมีได้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการ
บรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร

ตรัสตอบถึงธรรมมีอุปการะมาก
[๔๓๔] กาปทิกมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม การบรรลุสัจจะย่อมมีได้
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเรา
ทั้งหลายย่อมหวังการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้หรือ ธรรมมีอุปการะมาก
แก่การบรรลุสัจจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะ
มากแก่การบรรลุสัจจะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภารทวาชะ ความเพียรมีอุปการะมากแก่
การบรรลุสัจจะ ถ้าบุคคลไม่ตั้งความเพียรนั้นไว้ ก็จะไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะ
เขาตั้งความเพียรไว้จึงบรรลุสัจจะได้ ฉะนั้น ความเพียรจึงมีอุปการะมากแก่การ
บรรลุสัจจะ”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียรเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน
พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร พระพุทธเจ้าข้า”
“ปัญญาเครื่องพิจารณามีอุปการะมากแก่ความเพียร ถ้าบุคคลไม่พิจารณาปัญญา
เครื่องพิจารณานั้นก็จะพึงตั้งความเพียรนี้ไว้ไม่ได้ แต่เพราะเขาพิจารณาจึงตั้งความเพียร
ไว้ได้ ฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณาจึงมีอุปการะมากแก่ความเพียร”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณาเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูล
ถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา พระพุทธเจ้าข้า”
“ความอุตสาหะมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้าบุคคลไม่อุตสาหะ
ก็จะพึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะเขาอุตสาหะจึงพิจารณาได้ ฉะนั้น ความอุตสาหะจึง
มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน
พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
“ฉันทะมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด บุคคลก็จะไม่พึง
อุตสาหะ แต่เพราะฉันทะเกิด เขาจึงอุตสาหะ ฉะนั้น ฉันทะจึงมีอุปการะมากแก่
ความอุตสาหะ”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดม
ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ พระพุทธเจ้าข้า”
“ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรม
ทั้งหลายไม่ควรแก่การเพ่งพินิจ ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลายควรแก่การ
เพ่งพินิจ ฉันทะจึงเกิด ฉะนั้น ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมจึงมีอุปการะมาก
แก่ฉันทะ”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมเป็นอย่างไร
ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจ
แห่งธรรม พระพุทธเจ้าข้า”
“ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การ
เพ่งพินิจแห่งธรรม ถ้าบุคคลไม่ไตร่ตรองเนื้อความ ธรรมทั้งหลายก็จะไม่พึงควรแก่
การเพ่งพินิจ แต่เพราะเขาไตร่ตรองเนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่งพินิจ
ฉะนั้น ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความจึงมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจ
แห่งธรรม”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความเป็นอย่างไร ข้าพระองค์
ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความ
พระพุทธเจ้าข้า”
“การทรงจำธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความ ถ้าบุคคล
ไม่ทรงจำธรรมนั้น ก็จะพึงไตร่ตรองเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะเขาทรงจำธรรมไว้ได้
จึงไตร่ตรองเนื้อความได้ ฉะนั้น การทรงจำธรรมจึงมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่อง
ไตร่ตรองเนื้อความ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
“ธรรมมีอุปการะแก่การทรงจำธรรมเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระ
โคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม พระพุทธเจ้าข้า”
“การฟังธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม ถ้าบุคคลไม่ฟังธรรมนั้น ก็จะ
พึงทรงจำธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเขาฟังธรรมจึงทรงจำธรรมไว้ได้ ฉะนั้น การฟังธรรม
จึงมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรมเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน
พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม พระพุทธเจ้าข้า”
“การเงี่ยโสตลงมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม ถ้าบุคคลไม่เงี่ยโสตลง ก็จะพึง
ฟังธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเขาเงี่ยโสตลงจึงฟังธรรมได้ ฉะนั้น การเงี่ยโสตลงจึงมี
อุปการะมากแก่การฟังธรรม”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลงเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน
พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง พระพุทธเจ้าข้า”
“การเข้าไปนั่งใกล้มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง ถ้าบุคคลไม่เข้าไปนั่งใกล้
ก็จะพึงเงี่ยโสตลงไม่ได้ แต่เพราะเขาเข้าไปนั่งใกล้จึงเงี่ยโสตลงได้ ฉะนั้น การเข้าไป
นั่งใกล้จึงมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้เป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถาม
ท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ พระพุทธเจ้าข้า”
“การเข้าไปหามีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ ถ้าบุคคลไม่เข้าไปหา ก็จะ
พึงนั่งใกล้ไม่ได้ เพราะเขาเข้าไปหาจึงนั่งใกล้ได้ ฉะนั้น การเข้าไปหาจึงมีอุปการะ
มากแก่การเข้าไปนั่งใกล้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๕. จังกีสูตร
“ท่านพระโคดม ธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหาเป็นอย่างไร ข้าพระองค์
ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา”
“ภารทวาชะ ศรัทธามีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา ถ้าศรัทธาไม่เกิด บุคคล
ก็จะไม่พึงเข้าไปหา แต่เพราะศรัทธาเกิด เขาจึงเข้าไปหา ฉะนั้น ศรัทธาจึงมีอุปการะ
มากแก่การเข้าไปหา”
[๔๓๕] กาปทิกมาณพกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดม
ถึงการรักษาสัจจะ ท่านพระโคดมได้ตรัสตอบการรักษาสัจจะแล้ว และข้อที่ตรัสตอบ
นั้นข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และข้าพระองค์ก็ชื่นชมด้วยข้อที่ตรัสตอบนั้น
ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการรู้สัจจะ ท่านพระโคดมได้ตรัสตอบ
การรู้สัจจะแล้ว และข้อที่ตรัสตอบนั้นข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และข้าพระองค์
ก็ชื่นชมด้วยข้อที่ตรัสตอบนั้น
ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมก็ได้
ตรัสตอบการบรรลุสัจจะแล้ว และข้อที่ตรัสตอบนั้น ข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก
และข้าพระองค์ก็ชื่มชมด้วยข้อที่ตรัสตอบนั้น
ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ
ท่านพระโคดมก็ได้ตรัสตอบธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะแล้ว และข้อที่ตรัส
ตอบนั้น ข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และข้าพระองค์ก็ชื่นชมด้วยข้อที่ตรัส
ตอบนั้น
ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงปัญหาข้อใด ๆ ท่านพระโคดมก็ได้ตรัสตอบ
ปัญหาข้อนั้น ๆ แล้ว และข้อที่ตรัสตอบนั้นข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และ
ข้าพระองค์ก็ชื่นชมด้วยข้อที่ตรัสตอบนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
ข้าแต่ท่านพระโคดม เมื่อก่อนข้าพระองค์รู้อย่างนี้ว่า ‘พวกสมณะโล้นเหล่านี้
เป็นสามัญชน เกิดจากพระบาทของพระพรหมเป็นกัณหชาติ๑(วรรณะศูทร) เป็นใครกัน
และจะรู้ทั่วถึงธรรมได้อย่างไร ท่านพระโคดมได้ทรงทำให้ข้าพระองค์เกิดความรัก
สมณะในหมู่สมณะ ให้เกิดความเลื่อมใสสมณะในหมู่สมณะ และให้เกิดความเคารพ
สมณะในหมู่สมณะแล้วหนอ’ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
จังกีสูตรที่ ๕ จบ

๖. เอสุการีสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อเอสุการี
[๔๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อเอสุการีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้นั่ง ณ
ที่สมควร
การบำเรอ ๔ ประเภท
เอสุการีพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พราหมณ์
ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภท คือ

๑. บัญญัติการบำเรอพราหมณ์ ๒. บัญญัติการบำเรอกษัตริย์
๓. บัญญัติการบำเรอแพศย์ ๔. บัญญัติการบำเรอศูทร

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
ในการบำเรอทั้ง ๔ ประเภทนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอพราหมณ์
ไว้ว่า ‘พราหมณ์ควรบำเรอพราหมณ์ กษัตริย์ควรบำเรอพราหมณ์ แพศย์ควรบำเรอ
พราหมณ์ หรือศูทรควรบำเรอพราหมณ์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอพราหมณ์
ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอกษัตริย์ไว้ว่า ‘กษัตริย์ควรบำเรอกษัตริย์
แพศย์ควรบำเรอกษัตริย์ หรือศูทรควรบำเรอกษัตริย์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ
การบำเรอกษัตริย์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้ว่า ‘แพศย์ควรบำเรอแพศย์
หรือศูทรควรบำเรอแพศย์’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอศูทรไว้ว่า ‘ศูทรเท่านั้นควรบำเรอศูทร
ผู้อื่นใครเล่าจักบำเรอศูทร’ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอศูทรไว้เช่นนี้แล
ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภทนี้ ท่าน
พระโคดมตรัสการบำเรอนี้ไว้อย่างไร”
[๔๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ชาวโลกทั้งปวงเห็นด้วยกับ
คำของพราหมณ์ที่ว่า ‘พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภทเท่านี้หรือ”
เอสุการีพราหมณ์ ทูลตอบว่า “ไม่ใช่ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บุรุษผู้ขัดสน ไม่มีทรัพย์สินสิ่งไรเป็น
ของตน ยากจน ชนทั้งหลายแขวนก้อนเนื้อที่อาบยาพิษไว้สำหรับเขาซึ่งไม่ชอบพอกัน
โดยแกล้งพูดว่า ‘พ่อคุณ เชิญท่านกินเนื้อนี้ แต่ต้องจ่ายค่าเนื้อเพิ่มขึ้น’ แม้ฉันใด
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภทแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น
ฝ่ายเดียว โดยไม่มีฝ่ายอื่นยินยอม ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่กล่าวว่า ‘สิ่งทั้งปวง
ควรบำเรอ’ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรบำเรอ’ เพราะว่า เมื่อบุคคลบำเรอ
สิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย เราจึงไม่
กล่าวว่า ‘สิ่งนั้นควรบำเรอ’ แต่เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดเพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้น
พึงมีแต่ความดีเท่านั้น ไม่มีความชั่วเลย เราจึงกล่าวว่า ‘สิ่งนั้นควรบำเรอ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
ถ้าแม้ชนทั้งหลายจะพึงถามกษัตริย์อย่างนี้ว่า ‘เมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะ
เหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย หรือว่าเมื่อท่านบำเรอ
สิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ในกรณี
เช่นนี้ท่านควรบำเรอสิ่งไหน’ กษัตริย์เมื่อจะตรัสตอบให้ถูกต้อง ควรตรัสตอบอย่างนี้ว่า
‘เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มี
ความดีเลย ข้าพเจ้าไม่ควรบำเรอสิ่งนั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุ
แห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ข้าพเจ้าควรบำเรอสิ่งนั้น’
ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามพราหมณ์ ฯลฯ
ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามแพศย์ ฯลฯ
ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามศูทรอย่างนี้ว่า ‘เมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุ
แห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย หรือว่าเมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่
เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย ในกรณีเช่นนี้ท่าน
ควรบำเรอสิ่งไหน’ แม้ศูทรเมื่อจะตอบให้ถูกต้อง ควรตอบอย่างนี้ว่า ‘เมื่อข้าพเจ้า
บำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอสิ่งนั้นพึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดีเลย
ข้าพเจ้าไม่ควรบำเรอสิ่งนั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ
สิ่งนั้นพึงมีแต่ความดีเท่านั้น ไม่มีความชั่วเลย ข้าพเจ้าควรบำเรอสิ่งนั้น’
เราจะกล่าวว่า ‘บุคคลเป็นผู้ประเสริฐเพราะเกิดในตระกูลสูง’ ก็หาไม่ จะกล่าว
ว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทรามเพราะเกิดในตระกูลสูง’ ก็หาไม่ จะกล่าวว่า ‘บุคคลเป็น
ผู้ประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่ง’ ก็หาไม่ จะกล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทราม
เพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่ง’ ก็หาไม่ เรากล่าวว่า ‘บุคคลเป็นผู้ประเสริฐ เพราะ
ความเป็นผู้มีโภคะมาก’ ก็หาไม่ แต่จะกล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทราม เพราะความ
เป็นผู้มีโภคะมาก’ ก็หาไม่
[๔๓๘] พราหมณ์ เพราะบุคคลบางคนในโลกนี้ แม้เกิดในตระกูลสูงก็ยังเป็น
ผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น
เราจึงไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้ประเสริฐเพราะเกิดในตระกูลสูง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
แต่บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้เกิดในตระกูลสูงก็ยังเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการ
พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทราม เพราะเกิดในตระกูลสูง’
[๔๓๙] พราหมณ์ เพราะบุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีวรรณะสูงก็ยังเป็นผู้
ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึง
ไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้ประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะสูง’
บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีวรรณะสูงก็เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก
การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่
กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทรามเพราะความเป็นผู้มีวรรณะสูง’
บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีทรัพย์สมบัติมากก็ยังเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้
สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า
‘เขาเป็นผู้ประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมาก’
บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีทรัพย์สมบัติมากก็ยังเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการ
พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ‘เขาเป็นผู้เลวทรามเพราะความเป็นผู้มีทรัพย์
สมบัติมาก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
พราหมณ์ เราไม่กล่าวว่า ‘บุคคลต้องบำเรอสิ่งทั้งปวง’ แต่เราก็ไม่ปฏิเสธว่า
‘บุคคลไม่ต้องบำเรอสิ่งทั้งปวง’ เพราะว่า เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดอยู่ ศรัทธา ศีล สุตะ
จาคะ ปัญญาย่อมเจริญ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ เราจึงกล่าวว่า ‘บุคคลต้องบำเรอ
สิ่งนั้น”
ทรัพย์ ๔ ชนิด
[๔๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ ชนิด คือ

๑. บัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์ ๒. บัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์
๓. บัญญัติทรัพย์ของแพศย์ ๔. บัญญัติทรัพย์ของศูทร

ในทรัพย์ ๔ ชนิดนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์คือการ
เที่ยวไปเพื่ออาหาร แต่พราหมณ์เมื่อดูหมิ่นทรัพย์คือการเที่ยวไปเพื่ออาหาร ชื่อว่า
เป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ พราหมณ์
ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์คือแล่งธนู แต่กษัตริย์เมื่อดูหมิ่น
ทรัพย์คือแล่งธนู ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของมิได้ให้ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของแพศย์คือกสิกรรมและโครักขกรรม แต่แพศย์
เมื่อดูหมิ่นทรัพย์คือกสิกรรมและโครักขกรรม ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือน
คนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของแพศย์
ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของศูทรคือเคียวและไม้คาน แต่ศูทรเมื่อดูหมิ่น
ทรัพย์คือเคียวและไม้คาน ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของมิได้ให้ ฉะนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของศูทรไว้เช่นนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ ชนิดนี้ ในเรื่องนี้
ท่านพระโคดมจะตรัสว่าอย่างไร”
[๔๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ชาวโลกทั้งปวงเห็นด้วยกับ
คำนั้นว่า ‘พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ ชนิดเท่านี้หรือ”
เอสุการีพราหมณ์ทูลตอบว่า “ไม่ใช่ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บุรุษผู้ขัดสน ไม่มีทรัพย์สินสิ่งไรเป็น
ของตน ยากจน ชนทั้งหลายแขวนก้อนเนื้ออาบยาพิษไว้สำหรับเขาซึ่งไม่ชอบพอกัน
โดยแกล้งพูดว่า ‘พ่อคุณ เชิญท่านกินเนื้อนี้ แต่ต้องจ่ายค่าเนื้อเพิ่มขึ้น’ แม้ฉันใด
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ ประเภท แก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นฝ่ายเดียว
โดยไม่มีฝ่ายอื่นยินยอม ฉันนั้นเหมือนกัน
แต่เราบัญญัติโลกุตตรธรรมอันเป็นอริยะว่าเป็นทรัพย์ของบุคคล เมื่อเขาระลึกถึง
วงศ์ตระกูลเก่าอันเป็นของมารดาบิดา อัตภาพเกิดในวงศ์ตระกูลใด ๆ ก็นับตามวงศ์
ตระกูลนั้น ๆ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลกษัตริย์ก็นับว่า ‘เป็นกษัตริย์’ ถ้าอัตภาพเกิด
ในตระกูลพราหมณ์ก็นับว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลแพศย์ก็นับว่า
‘เป็นแพศย์’ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลศูทรก็นับว่า ‘เป็นศูทร’ เปรียบเหมือนไฟอาศัย
เชื้อใดๆ ติดขึ้นก็นับตามเชื้อนั้น ๆ ถ้าไฟอาศัยไม้ติดขึ้น ก็นับว่า ‘เป็นไฟไม้’ ถ้าอาศัย
หยากเยื่อติดขึ้น ก็นับว่า ‘เป็นไฟหยากเยื่อ’ ถ้าอาศัยหญ้าติดขึ้น ก็นับว่า ‘เป็นไฟหญ้า’
ถ้าอาศัยมูลโคติดขึ้นก็นับว่า ‘เป็นไฟมูลโค’ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัญญัติ
โลกุตตรธรรมอันเป็นอริยะว่าเป็นทรัพย์ของบุคคล เมื่อเขาระลึกถึงวงศ์ตระกูลเก่าอันเป็น
ของมารดาบิดา อัตภาพเกิดในตระกูลใด ๆ ก็นับตามตระกูลนั้น ๆ ถ้าอัตภาพเกิดใน
ตระกูลกษัตริย์ ก็นับว่า ‘เป็นกษัตริย์’ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลพราหมณ์ ก็นับว่า
‘เป็นพราหมณ์’ ถ้าอัตภาพเกิดในตระกูลแพศย์ ก็นับว่า ‘เป็นแพศย์’ ถ้าอัตภาพเกิด
ในตระกูลศูทร ก็นับว่า ‘เป็นศูทร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร

คนจะดีหรือชั่วมิใช่เพราะตระกูล
พราหมณ์ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขา
อาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก
การลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการ
พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ
ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด
จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจาก
การพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่อง
นำออกจากทุกข์
[๔๔๒] พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในประเทศนี้พราหมณ์
เท่านั้นหรือย่อมสามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน กษัตริย์
แพศย์ ศูทร ไม่สามารถหรือ”
เอสุการีพราหมณ์กราบทูลว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ในประเทศนี้แม้
กษัตริย์ก็สามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนได้
แม้พราหมณ์ ฯลฯ
แม้แพศย์ ฯลฯ
แม้ศูทร ฯลฯ
ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ในประเทศนี้ แม้วรรณะ ๔ ทั้งหมดก็สามารถ
เจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกันแล ถ้าแม้กุลบุตร
ออกจากตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรม
อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของ
ของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออก
จากทุกข์
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด
จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการ
พูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็น
เครื่องนำออกจากทุกข์
[๔๔๓] พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์เท่านั้นหรือ
ย่อมสามารถถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้ กษัตริย์
แพศย์ ศูทร ไม่สามารถหรือ”
เอสุการีพราหมณ์กราบทูลว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ก็สามารถ
ถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้
แม้พราหมณ์ ฯลฯ
แม้แพศย์ ฯลฯ
แม้ศูทร ฯลฯ
ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ในประเทศนี้ แม้วรรณะ ๔ ทั้งหมดก็สามารถ
ถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกันแล ถ้าแม้กุลบุตร
ออกจากตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรมอันเป็น
ข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด
จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด
จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจาก
การพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่อง
นำออกจากทุกข์
[๔๔๔] พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชามหากษัตริย์
ในโลกนี้ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว จะพึงทรงเกณฑ์บุรุษผู้มีฐานะต่าง ๆ กัน ๑๐๐ คน
ให้มาประชุมกันตรัสว่า ‘มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจำนวนบุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใด
เกิดจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล บุรุษเหล่านั้นจงถือเอาไม้สัก
ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วจงสีให้ไฟลุกโพลงขึ้น
มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจำนวนบุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใด เกิดจากตระกูลจัณฑาล
ตระกูลพราน ตระกูลช่างจักสาน ตระกูลช่างรถ ตระกูลคนขนขยะ บุรุษเหล่านั้น
จงถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่งมาทำเป็นไม้สีไฟ
แล้วจงสีให้ไฟลุกโพลงขึ้น’
พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูล
กษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๖. เอสุการีสูตร
ไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นเท่านั้นหรือ เป็นไฟมีเปลว มีสี
มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้ ส่วนไฟที่บุรษทั้งหลาย
ผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างจักสาน ตระกูลช่างรถ ตระกูล
คนขนขยะ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่งมาทำเป็นไม้
สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น เป็นไฟไม่มีเปลว ไม่มีสี ไม่มีแสงสว่าง และไม่สามารถ
ทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้กระนั้นหรือ”
เอสุการีพราหมณ์กราบทูลว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้ไฟที่บุรุษ
ทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ
ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น ก็เป็น
ไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้ แม้ไฟ
ที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างจักสาน
ตระกูลช่างรถ ตระกูลคนขนขยะ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า
หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น ก็เป็นไฟมีเปลว มีสี
มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟให้สำเร็จได้
ท่านพระโคดม ความจริงแม้ไฟทุกชนิด ก็เป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง
และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟให้สำเร็จได้ทั้งหมด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าแม้บุคคลออกจาก
ตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรมอันเป็น
ข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด
จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๗. ธนัญชานิสูตร
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด
จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจาก
การพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่ง
เล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็น
เครื่องนำออกจากทุกข์ได้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่าน
พระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน
ตลอดชีวิต” ดังนี้แล
เอสุการีสูตรที่ ๖ จบ

๗. ธนัญชานิสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อธนัญชานิ
[๔๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเที่ยวจาริกไปในทักขิณาคีรีชนบท
พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ ได้เข้าไป
หาท่านพระสารีบุตรถึงทักขิณาคีรีชนบท ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระสารีบุตรได้ถามภิกษุนั้นว่า “ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีภาคไม่ทรงประชวร
และยังทรงมีพระกำลังอยู่หรือ”
ภิกษุนั้นกล่าวตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงประชวร และยัง
ทรงมีพระกำลังอยู่ ขอรับ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๗. ธนัญชานิสูตร
“ภิกษุสงฆ์ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่หรือ”
“แม้ภิกษุสงฆ์ก็ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่ ขอรับ”
“พราหมณ์ชื่อธนัญชานิอยู่ใกล้ประตูตัณฑุลปาลิ๑ ในกรุงราชคฤห์นั้น เขาไม่
ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่หรือ”
“แม้ธนัญชานิพราหมณ์ก็ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่ ขอรับ”
“ธนัญชานิพราหมณ์ยังเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่หรือ”
ภิกษุนั้นกราบเรียนว่า “ท่านผู้มีอายุ ธนัญชานิพราหมณ์ของเราจะไม่ประมาท
ที่ไหนได้ เขาอาศัยพระราชาเที่ยวเบียดบัง(เอาผลประโยชน์ของ)พราหมณ์และคหบดี
อาศัยพวกพราหมณ์และคหบดีเบียดบัง(เอาผลประโยชน์)ของรัฐ แม้ภรรยาของเขา
ผู้มีศรัทธา ที่ขอมาจากตระกูลมีศรัทธา ก็ตายไปเสียแล้ว ภรรยาคนใหม่ของเขา
ไม่มีศรัทธา เขาขอมาจากตระกูลไม่มีศรัทธา”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ การที่เราได้ฟังว่าธนัญชานิพราหมณ์
เป็นผู้ประมาท เป็นข่าวไม่ดีเลย ถ้ากระไร เราจะได้พบกับธนัญชานิพราหมณ์นั้น
สักครั้งหนึ่ง ทำอย่างไร เราจึงจะได้สนทนาปราศัยบ้าง”
[๔๔๖] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ในทักขิณาคีรีชนบทตามอัธยาศัยแล้ว
จึงจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริกไปตามลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์แล้ว ได้ยิน
ว่า สมัยนั้นท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระเวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุง
ราชคฤห์ ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ธนัญชานิพราหมณ์ใช้คนให้รีดนมโคซึ่งอยู่ที่คอก
โคนอกกรุง ท่านพระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๗. ธนัญชานิสูตร
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปหาธนัญชานิพราหมณ์ถึงที่อยู่ ธนัญชานิ-
พราหมณ์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรกำลังเดินมาแต่ไกล จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร
ถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “นิมนต์ดื่มนมสดทางนี้เถิด พระคุณเจ้าสารีบุตร ยังพอมีเวลา
สำหรับฉันภัตตาหาร”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “อย่าเลย พราหมณ์ วันนี้อาตมภาพทำภัตกิจ
เสร็จแล้ว อาตมภาพจักพักกลางวันที่โคนไม้โน้น ท่านควรจะมาพบอาตมภาพที่
โคนไม้นั้น”
ธนัญชานิพราหมณ์รับคำแล้ว ต่อมา ธนัญชานิพราหมณ์บริโภคอาหารเช้า
เสร็จแล้วภายหลังเวลาอาหาร ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร
การประพฤติไม่ชอบธรรม
ท่านพระสารีบุตรได้ถามธนัญชานิพราหมณ์ว่า “ธนัญชานิ ท่านเป็นผู้ไม่
ประมาทอยู่หรือ”
ธนัญชานิพราหมณ์ได้ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร โยมจะไม่ประมาทได้
อย่างไร เพราะโยมต้องเลี้ยงมารดาบิดา ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ต้องเลี้ยงพวก
ทาสกรรมกรและคนรับใช้ ต้องทำกิจที่ควรทำแก่มิตรและอำมาตย์ ต้องทำกิจที่ควร
ทำแก่ญาติสาโลหิต ต้องทำกิจที่ควรทำแก่แขก ต้องทำบุญที่ควรแก่บุรพเปตชน
ต้องทำการบวงสรวงที่ควรทำแก่เทวดา ต้องสนองพระราชกรณียกิจของพระราชา
แม้กายนี้ก็ต้องบำรุงบำเรอ”
[๔๔๗] ท่านพระสารีบุตรถามว่า “ธนัญชานิ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม๑ ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุ
แห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๗. ธนัญชานิสูตร
อธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้าเองประพฤติ
อธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ขอนายนิรยบาลอย่า
ฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือมารดาบิดาของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้
ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอเพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนาย
นิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย”
ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร ไม่ใช่ ที่แท้คนนั้นถึงจะ
คร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า
‘ข้าพเจ้าเองประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา
ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือบุตรและภรรยาของผู้นั้นจะ
พึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย”
“ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล
ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขา
ไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้
ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง
ทาสกรรมกรและคนรับใช้ ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือพวก
ทาสกรรมกรและคนรับใช้ของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยัง
นรกเลย”
“ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล
ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๗. ธนัญชานิสูตร
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยัง
นรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้าง
หรือว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมิตรอำมาตย์
ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือมิตรและอำมาตย์ของผู้นั้นจะ
พึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย”
“ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล
ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือ
ว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต
ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือญาติสาโลหิตของผู้นั้นจะพึง
ได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย”
“ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล
ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งแขก นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุ
แห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้า
ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งแขก ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่า
ข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือแขกของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม
ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่า
เขาไปยังนรกเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๗. ธนัญชานิสูตร
“ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็
ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุรพเปตชน นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือ
ว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุรพเปตชน
ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือบุรพเปตชนของผู้นั้นจะพึงได้
ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้า
ทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปนรกเลย”
“ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล
ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งเทวดา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุ
แห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้า
ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งเทวดา ขอนายนิรยบาลอย่า
ฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือเทวดาของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้
ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนาย
นิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย”
“ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล
ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งพระราชา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้าง
หรือว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งพระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๖๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น