Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๓-๑๐ หน้า ๔๖๑ - ๕๑๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓-๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๐๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลา
ไม่ทรงได้ผู้อื่นเป็นทูตแล้วหรือ”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภคินีโสมาและ
พระภคินีสกุลา ได้สดับข่าวว่า ‘ได้ยินว่า วันนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลบริโภค
อาหารเช้าเสร็จแล้ว ภายหลังเวลาพระกระยาหารจักมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค’ ครั้งนั้น
พระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลา ได้เข้ามาหาหม่อมฉันในที่บริโภคอาหารแล้ว
รับสั่งว่า ‘ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์ทรงถวายอภิวาทพระยุคลบาท
ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ขอจงทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระ
โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำของ
หม่อมฉันทั้งสองว่า ‘พระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลาขอถวายอภิวาทพระยุคลบาท
ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธ
น้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ’ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ขอพระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลา
จงทรงพระสำราญเถิด”
[๓๗๗] ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้สดับมาอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมตรัส
อย่างนี้ว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง
จักปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จ เหตุนี้เป็นไปไม่ได้’ ชนเหล่าใดกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นสัพพัญญู
มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จ เหตุนี้เป็นไปไม่ได้’
ชนเหล่านั้นชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้น
และคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า
‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นสัพพัญญู มีปกติ
เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จ เหตุนี้เป็นไปไม่ได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร
ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าพูดตรงตามที่อาตมภาพกล่าวแล้ว ชื่อว่ากล่าวตู่อาตมภาพด้วย
คำเท็จ ขอถวายพระพร”
[๓๗๘] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งเรียกเสนาบดีชื่อวิฑูฑภะมา
ตรัสว่า “เสนาบดี ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ภายในพระราชวัง”
วิฑูฑภเสนาบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พราหมณ์ชื่อสัญชัย อากาสโคตร
กล่าว พระเจ้าข้า”
จากนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด
พ่อยอดชาย เธอจงไปเชิญพราหมณ์สัญชัย อากาสโคตรตามคำของเราว่า ‘ท่านผู้เจริญ
พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกท่าน”
บุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วได้เข้าไปหาพราหมณ์สัญชัย อากาสโคตร
ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวกับพราหมณ์สัญชัย อากาสโคตรว่า “ท่านผู้เจริญ พระเจ้า
ปเสนทิโกศลตรัสเรียกท่าน”
จากนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระดำรัสอย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาเนื้อความบางอย่าง
ตรัสไว้ แต่คนกลับเข้าใจพระดำรัสไปอีกอย่างหนึ่ง มีบ้างไหม พระผู้มีพระภาค
ยังทรงจำพระดำรัสที่ตรัสแล้วได้อยู่หรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วได้ดี
คือคำที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง
ในคราวเดียวกัน เหตุนี้เป็นไปไม่ได้”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสสภาพที่เป็นเหตุ ทั้งยังตรัสสภาพที่เป็นผลว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้
มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวกัน เหตุนี้เป็นไปไม่ได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร

วรรณะ ๔ จำพวก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์
(๓) แพศย์ (๔) ศูทร วรรณะ ๔ จำพวกนี้ จะพึงมีความผิดแผกแตกต่างกันบ้างไหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์
(๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร บรรดาวรรณะ ๔ จำพวกนี้ วรรณะ ๒ จำพวก
คือ กษัตริย์และพราหมณ์ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ คือเป็นที่ไหว้ เป็นที่ลุกรับ
เป็นที่กราบไหว้ เป็นที่กระทำสามีจิกรรม ขอถวายพระพร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมิได้ทูลถาม
ถึงความแปลกกันในปัจจุบันกับพระผู้มีพระภาค หม่อมฉันทูลถามถึงความแปลกกัน
ในสัมปรายภพกับพระผู้มีพระภาคต่างหาก วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์
(๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร วรรณะ ๔ จำพวกนี้จะพึงมีความผิดแผกแตกต่าง
กันบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร
[๓๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร
มี ๕ ประการนี้
องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้๑ของตถาคตว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร
๒. เป็นผู้มีสุขภาพมีโรคาพาธน้อย ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหาร
สม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะแก่การบำเพ็ญ
เพียร
๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน
ศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่
๕. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็น
ทั้งความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้น
ทุกข์โดยชอบ
มหาบพิตร องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้แล๑
วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร
ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้
ข้อนั้นก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่วรรณะ ๔ จำพวกตลอดกาลนาน
ขอถวายพระพร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้
คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้นเป็นผู้
ประกอบด้วยองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ ในข้อนี้ วรรณะ ๔ จำพวก
นั้นจะมีอะไรผิดแผกแตกต่างกันเล่า พระพุทธเจ้าข้า”
“มหาบพิตร ในข้อนี้ อาตมภาพกล่าวถึงวรรณะทั้ง ๔ จำพวก มีความ
แตกต่างกันด้วยความเพียร เปรียบเหมือนสัตว์คู่หนึ่ง เป็นช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้า
ที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาฝึกดีแล้ว แนะนำดีแล้ว หรือว่าสัตว์คู่หนึ่ง

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร
คือช้างที่ควรฝึกก็ตาม ม้าที่ควรฝึกก็ตาม โคที่ควรฝึกก็ตาม ที่ยังไม่ได้ฝึก ยังไม่ได้
แนะนำ
มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร สัตว์คู่หนึ่งเป็น
ช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาฝึกดีแล้ว
แนะนำดีแล้ว สัตว์คู่หนึ่งที่ฝึกแล้วเท่านั้น พึงถึงเหตุของสัตว์ที่ฝึกแล้ว พึงบรรลุภูมิ
ของสัตว์ที่ฝึกแล้ว มิใช่หรือ ขอถวายพระพร”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“มหาบพิตร สัตว์คู่หนึ่งจะเป็นช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม
เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้แนะนำ สัตว์ที่เขาไม่ได้ฝึกเลย จะพึงถึงเหตุ
ของสัตว์ที่ฝึกแล้ว จะบรรลุถึงภูมิของสัตว์ที่ฝึกแล้ว เหมือนสัตว์คู่นั้นจะเป็นช้างที่ควร
ฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม ที่เขาฝึกแล้ว แนะนำดีแล้ว
ได้บ้างไหม ขอถวายพระพร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้เลย๑ที่
อิฏฐผลใดอันบุคคลผู้มีศรัทธา มีอาพาธน้อย ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ปรารภความเพียร
มีปัญญา พึงถึงอิฏฐผลนั้น บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา๒ มีอาพาธมาก โอ้อวด มีมารยา
เกียจคร้าน มีปัญญาทราม จักถึงได้ ขอถวายพระพร”
[๓๘๐] พระเจ้าปเสนทิโกศล ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสสภาพที่เป็นเหตุ ทั้งยังตรัสสภาพที่เป็นผลว่า ‘วรรณะ ๔ จำพวกนี้
คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร
เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้และมีความเพียร
เหมือนกัน’ ในข้อนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ จะพึงมีความผิดแผกแตกต่างกันบ้างไหม
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ในข้อนี้ อาตมภาพกล่าวว่าวรรณะ
๔ จำพวกนี้ ไม่แตกต่างกันแม้แต่น้อย คือวิมุตติกับวิมุตติไม่แตกต่างกัน เปรียบเหมือน
บุรุษผู้เก็บไม้สักแห้งมาก่อไฟ ให้ลุกโพลงขึ้น ต่อมาบุรุษอีกคนหนึ่งเก็บไม้สาละแห้ง
มาก่อไฟให้ลุกโพลงขึ้น ต่อมาบุรุษอีกคนหนึ่งเก็บไม้มะม่วงแห้งมาก่อไฟให้ลุกโพลงขึ้น
ต่อมาบุรุษอีกคนหนึ่งเก็บไม้มะเดื่อแห้งมาก่อไฟ ให้ลุกโพลงขึ้น
มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร เปลวกับเปลว สีกับสี
แสงกับแสง ของไฟที่เกิดขึ้นมาจากไม้ต่าง ๆ กันนั้น จะพึงมีความแตกต่างกันบ้างไหม
ขอถวายพระพร”
“ไม่มีความแตกต่างกันเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่างนั้นเหมือนกัน มหาบพิตร เดชอันใดถูกความเพียรย่ำยีแล้ว เกิดขึ้นด้วย
ความเพียร ในเดชนั้นอาตมภาพไม่กล่าวว่าแตกต่างกัน คือวิมุตติกับวิมุตติไม่แตกต่างกัน
ขอถวายพระพร”
“พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพที่เป็นเหตุ ทั้งตรัสสภาพอันเป็นผล เทวดามีจริงหรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
“มหาบพิตร เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสถามอย่างนี้ว่า ‘เทวดามีจริงหรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเทวดามีจริง
เทวดาเหล่านั้นมาสู่โลกนี้หรือไม่มาสู่โลกนี้ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร เทวดาเหล่าใดมีความเบียดเบียน๑ เทวดา
เหล่านั้นมาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่าใดไม่มีความเบียดเบียน๒ เทวดาเหล่านั้นไม่มา๓สู่โลกนี้
ขอถวายพระพร”
วาทะพระอานนท์
[๓๘๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วิฑูฑภเสนาบดีได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาเหล่าใดมีความเบียดเบียนมาสู่โลกนี้ เทวดา
เหล่านั้นจักยังเทวดาทั้งหลายผู้ไม่มีความเบียดเบียน ผู้ไม่มาสู่โลกนี้ให้จุติหรือจัก
ขับไล่เสียจากที่นั้นหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้คิดว่า “วิฑูฑภเสนาบดีนี้เป็นพระราชโอรสของ
พระเจ้าปเสนทิโกศล เราเป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควรที่โอรส
กับโอรสจะพึงปรึกษากัน” ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวกับวิฑูฑภเสนาบดีว่า
“เสนาบดี ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจะขอย้อนถามท่านก่อน ท่านพึง
ตอบปัญหาตามที่ท่านพอใจ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชอาณาจักร
ของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด และในพระราชอาณาจักรใด พระเจ้า
ปเสนทิโกศลครองราชย์เป็นอิสราธิบดี ในพระราชอาณาจักรนั้น ท้าวเธอทรง
สามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญหรือไม่มีบุญ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่
ประพฤติพรหมจรรย์ ให้ย้ายออก หรือทรงเนรเทศจากที่นั้นได้ มิใช่หรือ”
วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า “พระคุณเจ้า พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศล
มีประมาณเท่าใด และในพระราชอาณาจักรใด พระเจ้าปเสนทิโกศลครองราชย์เป็น
อิสราธิบดี ในพระราชอาณาจักรนั้น ท้าวเธอย่อมทรงสามารถยังสมณะหรือ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร
พราหมณ์ ผู้มีบุญหรือไม่มีบุญ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ให้ย้ายออกหรือทรงเนรเทศเสียจากที่นั้นได้”
“เสนาบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ที่อันมิใช่พระราชอาณาจักรของ
พระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด และในที่ใด พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ครอง
ราชย์เป็นอิสราธิบดี ในที่นั้น ท้าวเธอย่อมสามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญ
หรือไม่มีบุญ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ให้ย้ายออก หรือทรง
เนรเทศเสียจากที่นั้นได้หรือ”
“พระคุณเจ้า ที่อันมิใช่พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณ
เท่าใดและในที่ใดพระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ครองราชย์เป็นอิสราธิบดี ในที่นั้น ท้าวเธอ
ย่อมไม่ทรงสามารถจะยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญหรือไม่มีบุญ ผู้ประพฤติ
พรหมจรรย์หรือไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ให้ย้ายออก หรือทรงเนรเทศเสียจาก
ที่นั้นได้”
“เสนาบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านเคยได้ยินเกี่ยวกับเทพชั้น
ดาวดึงส์มาแล้วหรือ”
“ใช่แล้ว พระคุณเจ้า โยมได้ยินเกี่ยวกับเทพชั้นดาวดึงส์มาแล้ว แม้ในบัดนี้
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงสดับเกี่ยวกับเทพชั้นดาวดึงส์มาแล้ว”
“เสนาบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศลจะทรง
สามารถยังเทพชั้นดาวดึงส์ ให้เคลื่อนหรือทรงเนรเทศไปเสียจากที่นั้นได้ไหม”
วิฑูฑภเสนาบดี ตอบว่า “พระคุณเจ้า พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงสามารถแม้
แต่จะทอดพระเนตรเห็นเทพชั้นดาวดึงส์ ที่ไหนเล่าจะทรงให้เคลื่อน หรือทรงเนรเทศ
ไปเสียจากที่นั้นได้”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “เสนาบดี อย่างนั้นหมือนกัน เทพเหล่าใดมีความ
เบียดเบียนมาสู่โลกนี้ เทพเหล่านั้นย่อมไม่สามารถแม้เพื่อจะเห็นเทพผู้ไม่มีความ
เบียดเบียน ผู้ไม่มาสู่โลกนี้ ที่ไหนเล่าจักให้เคลื่อนหรือเนรเทศไปเสียจากที่นั้นได้”
[๓๘๒] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ภิกษุรูป
นี้ชื่ออะไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุรูปนี้ชื่ออานนท์ ขอถวายพระพร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] ๑๐. กัณณกัตถลสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า “พระคุณเจ้าอานนท์รูปก็งาม นามก็เพราะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระคุณเจ้าอานนท์กล่าวสภาพที่เป็นเหตุ และกล่าวสภาพที่
เป็นผล พรหมมีจริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสถาม
อย่างนี้ว่า ‘พรหมมีจริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า’ เล่า มหาบพิตร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพรหมมีจริง
พรหมนั้นมาสู่โลกนี้หรือไม่มาสู่โลกนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พรหมใดมีความเบียดเบียน พรหมนั้น
มาสู่โลกนี้ พรหมใดไม่มีความเบียดเบียน พรหมนั้นก็ไม่มาสู่โลกนี้ ขอถวายพระพร”
ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ขอเดชะ พราหมณ์
สัญชัย อากาสโคตรมาแล้ว พระเจ้าข้า”
ต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสถามพราหมณ์สัญชัย อากาสโคตรว่า
“พราหมณ์ ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ไว้ภายในพระราชวัง”
พราหมณ์สัญชัย อากาสโคตรกราบทูลว่า “ขอเดชะ วิฑูฑภเสนาบดี พระเจ้าข้า”
วิฑูฑภเสนาบดีกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช พราหมณ์สัญชัย อากาสโคตร
พระเจ้าข้า”
ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ขอเดชะ บัดนี้
ยานพาหนะพร้อมแล้ว พระเจ้าข้า”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชื่นชมพระภาษิตของพระพุทธเจ้า
ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความเป็นสัพพัญญู พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงตอบความเป็นสัพพัญญูแล้ว ข้อที่ทรงตอบนั้นหม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก
และหม่อมฉันก็ชื่นชมด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น
หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความบริสุทธิ์ของวรรณะ ๔ จำพวก
พระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบความบริสุทธิ์ของวรรณะ ๔ จำพวกแล้ว และข้อที่ทรง
ตอบนั้น หม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็ชื่นชมด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเทวดาที่ยิ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบ
เทวดาที่ยิ่ง ข้อที่ทรงตอบนั้นหม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็ชื่นชม
ด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น
หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงพรหมที่ยิ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบ
พรหมที่ยิ่ง ข้อที่ทรงตอบนั้นหม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็ชื่นชม
ด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น
อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงข้อใด ๆ พระผู้มีพระภาคก็ทรง
ตอบข้อนั้น ๆ ข้อที่ทรงตอบนั้น หม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็
ชื่นชมด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เอาเถิด บัดนี้ หม่อมฉันขอทูลลากลับ เพราะมีกิจ
มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร
ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ทรงลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจึงเสด็จจากไป
ดังนี้แล
กัณณกัตถลสูตรที่ ๑๐ จบ
ราชวรรคที่ ๔ จบบริบูรณ์

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ฆฏิการสูตร ๒. รัฏฐปาลสูตร
๓. มฆเทวสูตร ๔. มธุรสูตร
๕. โพธิราชกุมารสูตร ๖. อังคุลิมาลสูตร
๗. ปิยชาติกสูตร ๘. พาหิติกสูตร
๙. ธัมมเจติยสูตร ๑๐. กัณณกัตถลสูตร

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร

๕. พราหมณวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์

๑. พรหมายุสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อพรหมายุ
[๓๘๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นวิเทหะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป สมัยนั้นแล พราหมณ์ชื่อพรหมายุอาศัยอยู่ในกรุงมิถิลา
เป็นคนชรา เป็นคนแก่ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับจนมีอายุถึง ๑๒๐ ปี
นับแต่เกิด รู้จบไตรเพท๑ พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๒ เกฏุภศาสตร์๓ อักษรศาสตร์๔
และประวัติศาสตร์๕ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์๖ และลักษณะ
มหาบุรุษ๗ พรหมายุพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นวิเทหะพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๑ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก
ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค๒’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศ
ให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด๓ ทรงประกาศพรหมจรรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง”
[๓๘๔] สมัยนั้น มาณพชื่ออุตตระเป็นศิษย์ของพรหมายุพราหมณ์ จบไตรเพท
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจ
ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ เวลานั้นพรหมายุ-
พราหมณ์เรียกอุตตรมาณพมากล่าวว่า
“พ่ออุตตระ ท่านพระสมณโคดมพระองค์นี้เป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล เสด็จจาริกไปในแคว้นวิเหทะพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ฯลฯ การได้พบ
พระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง มาเถิด พ่ออุตตระ เธอจงเข้าไปเฝ้า
ท่านพระสมณโคดมถึงที่ประทับแล้ว จงรู้จักพระสมณโคดมให้ได้ พวกเราจะได้รู้จัก
พระองค์ว่า ‘กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ ท่านพระโคดม
ทรงเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
อุตตรมาณพเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ทำอย่างไร ผมจึงจะรู้จักท่านพระโคดมว่า
‘กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้น
จริงหรือไม่”
พรหมายุพราหมณ์ตอบว่า “พ่ออุตตระ พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะ
มหาบุรุษ ๓๒ ประการ ที่ปรากฏในมนตร์ของเรา ย่อมมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็น
อย่างอื่น คือ
๑. ถ้าทรงอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว
(รัตนะ) ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว
(๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว
มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรง
สมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญาหรือศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต
๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก
พ่ออุตตระ เราเป็นผู้ให้มนตร์ แต่เธอเป็นผู้รับมนตร์”
[๓๘๕] อุตตรมาณพรับคำแล้วลุกจากที่นั่ง ไหว้พรหมายุพราหมณ์ กระทำ
ประทักษิณ๑แล้วหลีกจาริกไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในแคว้นวิเทหะ เที่ยว
จาริกไปโดยลำดับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้พิจารณาดูลักษณะมหาบุรุษ
๓๒ ประการ ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ก็เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
โดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐาน๒อันเร้นอยู่ในฝัก (๒) พระชิวหาใหญ่
จึงยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ และไม่เลื่อมใสในลักษณะมหาบุรุษทั้ง ๒
ประการนี้

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า “ลักษณะ ๓๒ ประการของเรา
อุตตรมาณพนี้เห็นโดยมากเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) คุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก
(๒) ชิวหาใหญ่ จึงยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ และไม่เลื่อมใส
ลักษณะมหาบุรุษทั้ง ๒ ประการนี้”
จากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร๑ให้อุตตรมาณพได้เห็น
พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าไปในช่องพระกรรณ
ทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา ทรงสอดเข้าไปในช่องพระนาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา
ทรงแผ่พระชิวหาปิดทั่วมณฑลพระนลาฏ
เวลานั้น อุตตรมาณพได้มีความคิดว่า “พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ
มหาบุรุษ ๓๒ ประการ ทางที่ดี เราพึงติดตามพระสมณโคดมดูพระอิริยาบถของ
พระองค์ต่อไป” จากนั้นอุตตรมาณพได้ติดตามพระผู้มีพระภาคตลอด ๗ เดือน
ดุจพระฉายา(เงา)ติดตามพระองค์ไปฉะนั้น
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
[๓๘๖] ครั้งนั้น เมื่อล่วงไป ๗ เดือน อุตตรมาณพได้หลีกจาริกไปทางกรุง
มิถิลา ในแคว้นวิเทหะ เมื่อเที่ยวจาริกไปตามลำดับ ได้เข้าไปหาพรหมายุพราหมณ์
ถึงที่อยู่ในกรุงมิถิลากราบแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พรหมายุพราหมณ์ถามอุตตรมาณพ
ว่า “พ่ออุตตระ กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไป เป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่าง
อื่นเลยหรือ ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลยหรือ”
อุตตรมาณพตอบว่า “ท่านขอรับ กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเป็นเช่น
นั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย
ทั้งยังทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ๒

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
คือ ท่านพระโคดม
๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีฝ่าพระบาทราบเสมอ
กันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ
๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ข้อที่พื้น
ฝ่าพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่
มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่างนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป ข้อที่ท่านพระโคดมมีส้นพระบาทยื่นยาว
ออกไปนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๔. มีพระองคุลียาว ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระองคุลียาวนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระหัตถ์และ
พระบาทอ่อนนุ่มนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นข้อที่พระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย
ข้อที่ท่านพระโคดมมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลี
จดกันเป็นรูปตาข่ายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๗. มีข้อพระบาทสูง ข้อที่ท่านพระโคดมมีข้อพระบาทสูงนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระชงฆ์เรียว
ดุจแข้งเนื้อทรายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วย
ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ ข้อที่ท่านพระโคดมเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อม
พระองค์ลงก็ทรงลูบถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้นี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
๑๐. มีพระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระคุยหฐาน
อันเร้นอยู่ในฝักนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๑. มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำ ข้อที่ท่านพระโคดมมี
พระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
๑๒. มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้ ข้อที่ท่าน
พระโคดมมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว ข้อที่ท่าน
พระโคดมมีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียวนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดัง
กุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระโลมชาติ
ปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดังกุณฑล
สีครามเข้มดังดอกอัญชันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระวรกาย
ตั้งตรงดุจกายพรหมนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่ง๑ เต็มบริบูรณ์ ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระมังสะ
ในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ ข้อที่ท่าน
พระโคดมมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีร่องพระ
ปฤษฎางค์เต็มเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลของต้นไทร พระวรกายสูง
เท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกาย
ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลของต้นไทร
พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับ
ส่วนสูงพระวรกายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด ข้อที่ท่านพระโคดมมีลำพระศอกลม
เท่ากันตลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ข้อที่ท่านพระโคดมมีเส้น
ประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดีนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหา-
บุรุษนั้น
๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระหนุดุจคางราชสีห์นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระทนต์ ๔๐ ซี่นี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระทนต์เรียบเสมอ
กันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระทนต์ไม่ห่างกันนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระเขี้ยวแก้วขาวงามนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระชิวหาใหญ่ยาวนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก ข้อที่
ท่านพระโคดมมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนก
การเวกนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๙. มีพระเนตรดำสนิท ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระเนตรดำสนิทนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ข้อที่ท่านพระโคดมมี
ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น ข้อที่ท่าน
พระโคดมมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่นนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่ท่านพระโคดมมี
พระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
ท่านผู้เจริญ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ
๓๒ ประการนี้แล
[๓๘๗] ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
เมื่อจะทรงดำเนิน ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ก้าวพระบาทยาวนัก
ไม่ก้าวพระบาทสั้นนัก ไม่ทรงดำเนินเร็วนัก ไม่ทรงดำเนินช้านัก ขณะทรงดำเนิน
พระชานุกับพระชานุไม่เสียดสีกัน ข้อพระบาทกับข้อพระบาทไม่กระทบกัน ไม่ทรงยก
พระอุรุสูง ไม่ทรงทอดพระอุรุไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทกพระอุรุ ไม่ทรงส่ายพระอุรุ
เมื่อทรงดำเนินพระวรกายส่วนบนไหว ทรงดำเนินไม่ใช้กำลังมาก เมื่อทอดพระเนตร
ทรงเหลียวดูไปทั้งพระวรกาย ไม่ทรงแหงนดู ไม่ทรงก้มดู ขณะทรงดำเนิน ไม่ส่าย
พระเนตร ทรงทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงมีพระญาณทัสสนะ
ไม่มีอะไรขวางกั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
เมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระวรกาย ไม่ทรงย่อพระวรกาย ไม่ทรง
ห่อพระวรกาย ไม่ทรงส่ายพระวรกาย เสด็จเข้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ไม่ไกลนัก
ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับนั่งท้าวพระหัตถ์บนพุทธอาสน์ ไม่ทรงพิงพระวรกายที่พุทธอาสน์
เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท
ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท ไม่ประทับนั่งเอาฝ่าพระหัตถ์
ยันพระหนุ(เท้าคาง) เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว
ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน ทรงพอพระทัยในวิเวก๑
เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรง
ยื่นบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรคอยรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนักไม่มากนัก
ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุก ๆ ไม่ทรงล้างบาตรด้วยวิธีหมุน ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น
ทรงล้างบนพระหัตถ์
เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ก็เป็นอันทรงล้างบาตร เมื่อทรงล้างบาตรก็เป็นอันทรง
ล้างพระหัตถ์ ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ให้
น้ำกระเซ็น
เมื่อทรงรับข้าวสุกก็ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงยื่น
บาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรคอยรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนักไม่มากนัก ทรงรับ
กับข้าว เสวยพระกระยาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงทำกับข้าวให้เกินกว่าคำข้าว
ทรงเคี้ยวคำข้าวข้างในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน ข้าวยังไม่ละเอียด ไม่ทรง
กลืนลงไป ไม่มีข้าวเหลืออยู่ในพระโอษฐ์ จึงน้อมคำข้าวอีกคำหนึ่งเข้าไป ทรงมีปกติ
กำหนดรสอาหารแล้วเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงติดในรส

ท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสวยพระกระยาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
๑. ไม่เสวยเพื่อเล่น
๒. ไม่เสวยเพื่อมัวเมา
๓. ไม่เสวยเพื่อประดับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
๔. ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง
๕. เสวยเพื่อดำรงพระวรกายนี้ไว้
๖. เสวยเพื่อยังพระชนม์ให้เป็นไปได้
๗. เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก
๘. เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยทรงพระดำริว่า ‘เพียงเท่านี้ก็จักกำจัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ร่างกายของเราจักดำเนินไปสะดวก ไม่มีโทษ และอยู่สำราญ’ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงรับน้ำล้างบาตรไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรง
ลดบาตรลงรับ ไม่ทรงยื่นบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตร
ไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุก ๆ ไม่ทรงล้างบาตรด้วยวิธีหมุน
ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ก็เป็นอันทรงล้าง
บาตร เมื่อทรงล้างบาตรก็เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์ ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก
ไม่ใกล้นัก ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ให้น้ำกระเซ็น เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ไม่ทรง
วางบาตรที่พื้น ทรงวางไว้ในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้
จะตามรักษาบาตรตลอดก็หามิได้ เสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่
ทรงปล่อยเวลาอนุโมทนาให้ล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียน
ภัตรนั้น ไม่ทรงมุ่งหวังภัตรอื่น ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
พระองค์เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เสด็จไป ก็ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่เสด็จช้านัก
ไม่ผลุนผลันเสด็จไป ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรแน่นติด
พระวรกายเกินไป และไม่ทรงจีวรหลุดลุ่ยจากพระวรกาย ทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้
ทั้งฝุ่นละอองไม่ติดพระวรกาย เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้
จึงทรงล้างพระบาท ไม่ทรงใส่พระทัยเพื่อประดับตกแต่งพระบาทอยู่ ทรงล้างพระบาท
แล้วประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระวรกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ ไม่ทรงดำริ
เพื่อเบียดเบียนพระองค์ ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
ทั้งสองฝ่าย ประทับนั่งทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์
แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวงเท่านั้น
ประทับอยู่ในอาราม ก็ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยกย่องบริษัท ไม่ทรงรุกราน
บริษัท โดยที่แท้ ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงมีพระสุรเสียงกึกก้องเปล่งออกจากพระโอษฐ์
ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

๑. นุ่มนวล ๒. ฟังชัดเจน
๓. ไพเราะ ๔. ฟังง่าย
๕. กลมกล่อม ๖. ไม่พร่า
๗. ลุ่มลึก ๘. มีกังวาน

พระสุรเสียงที่พระองค์ทรงสอนบริษัทให้เข้าใจมิได้ก้องออกไปนอกบริษัทนั้น
ชนทั้งหลายที่ท่านพระโคดมทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงลุกจาก
ที่นั่งจากไปยังเหลียวดูโดยไม่อยากจากไป ต่างรำพึงว่า ‘เราได้เห็นท่านพระโคดม
พระองค์นั้นทรงดำเนิน ประทับยืน เสด็จเข้าละแวกบ้าน ประทับนั่งนิ่งในละแวกบ้าน
กำลังเสวยพระกระยาหารในละแวกบ้าน เสวยเสร็จแล้วก็ประทับนั่งนิ่ง เสวยเสร็จแล้ว
ทรงอนุโมทนา เสด็จกลับมายังพระอาราม เสด็จมาถึงพระอารามแล้วประทับนิ่งอยู่
ประทับอยู่ในพระอารามแล้ว ทรงแสดงธรรมในบริษัท ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
ทรงพระคุณเช่นนี้ ๆ และทรงพระคุณยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วนั้น”
[๓๘๘] เมื่ออุตตรมาณพกล่าวอย่างนี้แล้ว พรหมายุพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง
ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วเปล่งอุทาน
ขึ้น ๓ ครั้งว่า
“ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
แล้วคิดว่า “ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะได้พบท่านพระโคดมพระองค์นั้นสักครั้งหนึ่ง
ทำอย่างไร เราจึงจะได้สนทนาปราศรัย(กับท่านพระโคดม) บ้าง”
[๓๘๙] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเมื่อเสด็จจาริกไปในแคว้นวิเทหะโดยลำดับ
เสด็จถึงกรุงมิถิลา ได้ทราบว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง
ของพระเจ้ามฆเทวะ เขตกรุงมิถิลา พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงมิถิลาได้สดับข่าวว่า
“ได้ยินว่า พระสมณโคดมเป็นศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริก
ไปในแคว้นวิเทหะพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงมิถิลาแล้ว
ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของพระเจ้ามฆเทวะ เขตกรุงมิถิลา ท่านพระโคดม
พระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระองค์ทรง
รู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระ
อรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงมิถิลาพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร

พรหมายุพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
[๓๙๐] พรหมายุพราหมณ์ได้สดับข่าวว่า “ได้ยินว่า พระสมณโคดม
เป็นศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล เสด็จถึงกรุงมิถิลาแล้วประทับอยู่ ณ
สวนมะม่วงของพระเจ้ามฆเทวะ เขตกรุงมิถิลา” ครั้งนั้นแล พรหมายุพราหมณ์
พร้อมด้วยมาณพเป็นอันมาก พากันเข้าไปยังสวนมะม่วงของพระเจ้ามฆเทวะ
ลำดับนั้น ในที่ไม่ไกลจากสวนมะม่วงของพระเจ้ามฆเทวะ พรหมายุพราหมณ์ได้
คิดว่า “การที่เราไม่นัดหมายให้ทรงทราบก่อนแล้วเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมไม่ควร
แก่เราเลย”
ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์เรียกมาณพคนหนึ่งมาสั่งว่า “มาเถิด พ่อมาณพ
พ่อจงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามพระสมณโคดมถึงพระสุขภาพ
ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
ตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่ท่านพระโคดม พรหมายุพราหมณ์ทูลถามท่านพระโคดม
ถึงความมีพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านพระโคดม พรหมายุ-
พราหมณ์เป็นคนชรา เป็นคนแก่ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ จนมีอายุ
๑๒๐ ปี นับแต่เกิด จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษร-
ศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์
และลักษณะมหาบุรุษ ข้าแต่ท่านพระโคดม พราหมณ์และคหบดีมีประมาณเท่าใด
อยู่อาศัยในกรุงมิถิลา พรหมายุพราหมณ์ปรากฏว่า เป็นผู้เลิศกว่าพราหมณ์
และคหบดีเหล่านั้น เพราะโภคะ มนตร์ อายุ และยศ ท่านปรารถนาที่จะเข้าเฝ้า
ท่านพระโคดม”
มาณพนั้นรับคำพรหมายุพราหมณ์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พรหมายุพราหมณ์ทูลถามท่านพระโคดมถึงพระสุขภาพ
ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และ
ฝากกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านพระโคดม พรหมายุพราหมณ์เป็นคนชรา เป็น
คนแก่ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ จนมีอายุ ๑๒๐ ปี นับแต่เกิด
จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์
เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พราหมณ์และคหบดีมีประมาณเท่าใด อยู่อาศัยในกรุงมิถิลา พรหมายุ-
พราหมณ์ปรากฏว่า เป็นผู้เลิศกว่าพราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น เพราะโภคะ มนตร์
อายุ และยศ ท่านปรารถนาจะเข้าเฝ้าท่านพระโคดม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ พรหมายุพราหมณ์ จงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด”
หลังจากนั้น มาณพนั้นจึงเข้าไปหาพรหมายุพราหมณ์ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวกับ
พรหมายุพราหมณ์ว่า “ท่านเป็นผู้ที่ท่านพระสมณโคดมทรงประทานโอกาสแล้ว จงไป
ในเวลาที่เห็นสมควรเถิด”
พรหมายุพราหมณ์ขอดูพระชิวหาและพระคุยหฐาน
[๓๙๑] ครั้งนั้นแล พรหมายุพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
บริษัทนั้นได้เห็นพรหมายุพราหมณ์มาแต่ไกล จึงรีบลุกขึ้นให้โอกาสตามสมควร
แก่เขา เปรียบเหมือนลุกขึ้นให้โอกาสแก่ผู้มีชื่อเสียง มียศ ลำดับนั้น พรหมายุ-
พราหมณ์ได้กล่าวกับบริษัทนั้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลาย
นั่งบนอาสนะของตนเองเถิด เราจักนั่งใกล้ ๆ พระสมณโคดมนี้”
ครั้งนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้พิจารณา
ดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นโดยมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก (๒) พระชิวหาใหญ่
จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ
ต่อจากนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ลักษณะมหาบุรุษ
ที่ข้าพระองค์ได้สดับมาว่ามี ๓๒ ประการ
แต่ยังไม่เห็นอยู่ ๒ ประการในพระวรกายของพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน
พระคุยหฐานของพระองค์เร้นอยู่ในฝัก
ที่ผู้รู้กล่าวกันว่าคล้ายของนารีหรือ
พระชิวหาของพระองค์ได้นรลักษณ์หรือ
พระองค์มีพระชิวหาใหญ่หรือ
ข้าพระองค์จะพึงทราบความข้อนั้นได้อย่างไร
ขอพระองค์ทรงค่อย ๆ นำพระลักษณะนั้นออกมาเถิด
ขอได้โปรดกำจัดความสงสัยของข้าพระองค์ด้วยเถิด ท่านฤาษี
ถ้าพระองค์ทรงประทานโอกาส
ข้าพระองค์จะขอทูลถามปัญหา
ที่ข้าพระองค์ปรารถนาบางอย่าง
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน
และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ”
[๓๙๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “พรหมายุพราหมณ์นี้เห็น
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) คุยหฐาน
อันเร้นอยู่ในฝัก (๒) ชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส
ในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้พรหมายุพราหมณ์
ได้เห็นพระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหา สอดเข้าในช่องพระกรรณ
ทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา ทรงสอดเข้าในช่องพระนาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา
ทรงแผ่พระชิวหาปิดทั่วมณฑลพระนลาฏ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
พรหมายุพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
“พราหมณ์ ลักษณะมหาบรุษ
ที่ท่านได้สดับมาว่ามี ๓๒ ประการนั้น
มีอยู่ในกายของเราครบทุกอย่าง ท่านอย่าสงสัย
พราหมณ์ สิ่งที่ควรรู้เราได้รู้ยิ่งแล้ว
สิ่งที่ควรเจริญเราได้เจริญแล้ว
และสิ่งที่ควรละเราก็ละได้แล้ว
เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพุทธะ
ท่านได้รับโอกาสแล้ว จงถามปัญหาบางอย่าง
ที่ท่านปรารถนาเถิด
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน
และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ”
[๓๙๓] ครั้งนั้นแล พรหมายุพราหมณ์ได้คิดว่า“เราเป็นผู้ที่พระสมณโคดม
ประทานโอกาสแล้ว จะทูลถามถึงประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ในสัมปรายภพ”
ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้คิดว่า “เราฉลาดประโยชน์ในปัจจุบัน แม้คนเหล่าอื่น
ก็ถามเราถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ทางที่ดี เราควรทูลถามประโยชน์ในสัมปรายภพ
กับพระสมณโคดมเถิด”
ต่อจากนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บุคคลเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
เป็นผู้จบเวท๑ได้อย่างไร
เป็นผู้มีวิชชา ๓๒ได้อย่างไร
บัณฑิตเรียกบุคคลผู้มีความสวัสดีว่า อะไร
บุคคลเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร
บุคคลมีคุณครบถ้วนได้อย่างไร
บุคคลเป็นมุนีได้อย่างไร
และบัณฑิตเรียกพระพุทธเจ้าว่า อะไร”
[๓๙๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
“ผู้ใดระลึกชาติก่อน ๆ ได้
เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุถึงความสิ้นชาติ
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนีผู้รู้ยิ่งถึงที่สุด
มุนีนั้นย่อมรู้จิตอันบริสุทธิ์
อันพ้นจากราคะทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง
เป็นผู้ละชาติและมรณะได้แล้ว
ชื่อว่ามีคุณครบถ้วนแห่งพรหมจรรย์
ชื่อว่าถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
บัณฑิตเรียกพระพุทธเจ้าว่า ผู้คงที่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พรหมายุพราหมณ์ลุกขึ้นจากที่นั่ง ห่มผ้า
เฉวียงบ่า หมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า จุมพิต
พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยปาก นวดด้วยฝ่ามือทั้ง ๒ และประกาศชื่อ
ของตนว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
ครั้งนั้นแล บริษัทหมู่นั้นเกิดความอัศจรรย์ใจว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ ท่านผู้เจริญ พระสมณะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พรหมายุพราหมณ์
นี้เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ ยังทำความเคารพยกย่องอย่างยิ่งเช่นนี้”
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพรหมายุพราหมณ์ว่า “พอละพราหมณ์
เชิญท่านลุกขึ้นนั่งบนที่นั่งของตนเถิด เพราะจิตของท่านเลื่อมใสในเราแล้ว”
จากนั้น พรหมายุพราหมณ์จึงลุกขึ้นนั่งบนที่นั่งของตน
ทรงแสดงอนุปุพพีกถา
[๓๙๕] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา๑แก่พรหมายุพราหมณ์
คือ ทรงประกาศเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้า
หมองแห่งกาม และอานิสงส์ในการออกบวช เมื่อทรงทราบว่า พรหมายุพราหมณ์มี
จิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศ
สามุกกังสิกเทศนา๒ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลส
ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พรหมายุพราหมณ์บนที่นั่งนั่นเองว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือน
ผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ลำดับนั้น พรหมายุพราหมณ์เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีก ในหลัก
คำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๑. พรหมายุสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต อนึ่ง ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร
ของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
พรหมายุพราหมณ์ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจาก
ที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่อล่วงราตรีนั้นไป
พรหมายุพราหมณ์ได้ตระเตรียมของควรเคี้ยวควรฉันอันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน
แล้วใช้ให้คนไปกราบทูลภัตตกาลกับพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม
ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพรหมายุพราหมณ์ แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้
แล้วพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ต่อมา พรหมายุพราหมณ์ได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประมุข ให้อิ่มหนำด้วยของควรเคี้ยวควรฉันอันประณีตด้วยมือของตนตลอด ๗ วัน
เมื่อล่วง ๗ วันนั้นไป พระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปในแคว้นวิเทหะ เมื่อพระผู้มี
พระภาคเสด็จจากไปแล้วไม่นานนัก พรหมายุพราหมณ์ก็ได้สิ้นชีวิตไป
ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พรหมายุพราหมณ์สิ้นชีวิตแล้ว คติของเขาเป็นเช่นไร สัมปรายภพของเขาเป็นเช่นไร
พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย พรหมายุพราหมณ์เป็นบัณฑิต
ได้บรรลุธรรมและธรรมตามลำดับ๑ ไม่เบียดเบียนเราให้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรมเลย
พรหมายุพราหมณ์เป็นโอปปาติกะ๒ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป
จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่กลับมาจากโลกนั้นอีก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
พรหมายุสูตรที่ ๑ จบ

๒. เสลสูตร๓
ว่าด้วยเสลพราหมณ์
[๓๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุ-
สงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมของชาวอังคุตตราปะชื่ออาปณะ
ชฎิลชื่อเกณิยะได้สดับข่าวว่า
“ได้ยินว่า พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล
เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคุตตราปะพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป
เสด็จถึงอาปณนิคมโดยลำดับ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไป
อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วย
พระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้
เป็นความดีอย่างแท้จริง”
เกณิยชฎิลนิมนต์เสวยภัตตาหาร
หลังจากนั้น เกณิยชฎิลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคจึงทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้งนั้น เกณิยชฎิล
ผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เกณิยะ ภิกษุ-
สงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป อนึ่ง ท่านก็ยังเลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลายยิ่งนัก”
แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพราหมณ์
ทั้งหลายยิ่งนักก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ
ภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับเกณิยชฎิลว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์
มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป อนึ่ง ท่านก็ยังเลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลายยิ่งนัก”
แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพราหมณ์
ทั้งหลายยิ่งนักก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ
ภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น เกณิยชฎิลทราบอาการ
ที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง เข้าไปยังอาศรมของตนแล้ว
เรียกมิตรสหาย ญาติสาโลหิตมาบอกว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทราบว่า
ข้าพเจ้านิมนต์พระสมณโคดม พร้อมกับภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้
ขอท่านทั้งหลายพึงทำความขวนขวายด้วยกำลังกายเพื่อข้าพเจ้าด้วยเถิด”
พวกมิตรสหายและญาติสาโลหิตรับคำเกณิยชฎิลแล้ว บางพวกก่อเตา บางพวก
ผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวกตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิล
จัดแจงโรงปะรำด้วยตนเอง
พราหมณ์ชื่อเสละได้ฟังคำว่า พุทธะ
[๓๙๗] สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อเสละอาศัยอยู่ในอาปณนิคม เป็นผู้จบ
ไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์
เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญในโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ ทั้งยัง
เป็นอาจารย์สอนมนตร์แก่มาณพจำนวน ๓๐๐ คนอีกด้วย สมัยนั้น เกณิยชฎิลก็เป็น
ผู้เลื่อมใสในเสลพราหมณ์ยิ่งนัก ขณะนั้น เสลพราหมณ์แวดล้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน
เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปยังอาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นชนบางพวกกำลังก่อเตา
บางพวกกำลังผ่าฟืน บางพวกกำลังล้างภาชนะ บางพวกกำลังตั้งหม้อน้ำ บางพวก
กำลังปูอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลกำลังจัดแจงโรงปะรำด้วยตนเอง จึงได้ถามเกณิยชฎิล
ว่า “ท่านเกณิยะ จักมีพิธีอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคล พิธีบูชามหายัญจะปรากฏ
แก่ท่าน หรือท่านได้ทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ ให้เสด็จมาเสวยพระ
กระยาหารพร้อมกับข้าราชบริพาร ในวันพรุ่งนี้หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
เกณิยชฎิลตอบว่า “ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ามิได้มีพิธีอาวาหมงคลหรือวิวาห-
มงคล และมิได้ทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธเสด็จมาเสวยพระกระยาหาร
พร้อมกับข้าราชบริพาร ในวันพรุ่งนี้ แต่พิธีบูชามหายัญได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า
เนื่องจากพระสมณโคดมผู้เป็นศากยบุตร ผู้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูลเสด็จ
จาริกไปในแคว้นอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป
เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค’ ข้าพเจ้าได้ทูลนิมนต์ท่านพระโคดมพระองค์นั้น พร้อมด้วยภิกษุ-
สงฆ์มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้”
เสลพราหมณ์ ถามว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า ‘พุทธะ’ หรือ”
เกณิยชฎิล ตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า ‘พุทธะ”
เสลพราหมณ์ ถามย้ำอีกว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า ‘พุทธะ’ หรือ”
เกณิยชฎิล ตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า ‘พุทธะ”
[๓๙๘] ครั้งนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “แม้แต่เสียงประกาศว่าพุทธะนี้แล
ก็หาได้ยากในโลก พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการที่
ปรากฏในมนตร์ของเรา ย่อมมีคติเป็น ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าทรงอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว
(๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า
๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์
สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา
หรือศัสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต
๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิตจะได้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร

เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ บัดนี้ ท่านพระโคดมอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน”
เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวาชี้บอกเสลพราหมณ์
ว่า “ท่านเสละ ท่านจงเดินไปทางบริเวณทิวไม้สีเขียวนั้นเถิด”
หลังจากนั้น เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ พลางเรียกมาณพเหล่านั้นมาเตือนว่า “ท่านทั้งหลาย จงอย่า
ส่งเสียงดัง ค่อย ๆ เดินตามกันไปให้เป็นระเบียบ เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นชอบอยู่
ตามลำพัง ดุจพญาราชสีห์ให้ยินดีได้ยาก อนึ่ง ขณะที่เรากำลังสนทนากับพระสมณ-
โคดม ท่านจงอย่าพูดสอดแทรกขึ้น รอให้เราสนทนาจบเสียก่อน”
ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้พิจารณาดู
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
เสลพราหมณ์ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกายของพระผู้มี
พระภาคโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก
(๒) พระชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในลักษณะ
มหาบุรุษทั้ง ๒ ประการ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “เสลพราหมณ์นี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ
๓๒ ประการของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) คุยหฐาน อันเร้นอยู่ในฝัก
(๒) ชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในลักษณะมหาบุรุษ
อีก ๒ ประการ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร๑ให้เสลพราหมณ์ได้เห็น
พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าไปในช่องพระกรรณ
ทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา ทรงแผ่
พระชิวหาปิดทั่วมณฑลพระนลาฏ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร

เสลพราหมณ์กับศิษย์กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท
ครั้งนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ
มหาบุรุษ ๓๒ ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบว่าพระองค์เป็น
พระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ เราได้สดับเรื่องนี้มาจากสำนักของพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็น
คนชรา เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์และปาจารย์ ผู้กล่าวกันว่า ‘พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดงพระองค์ให้ปรากฏในเมื่อบุคคลกล่าว
ถึงคุณของพระองค์ ทางที่ดี เราควรชมเชยพระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์เป็นคาถา
ที่เหมาะสม”
[๓๙๙] ลำดับนั้น เสลพราหมณ์จึงชมเชยพระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์
ด้วยคาถาที่เหมาะสมว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จอุบัติมาดีแล้ว
มีพระวิริยภาพ มีพระวรกายสมบูรณ์
มีพระรัศมีเรืองงาม เป็นผู้น่าทัศนายิ่งนัก
มีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดั่งทอง
มีพระเขี้ยวแก้วขาวสะอาด
เพราะพระลักษณะมหาบุรุษ
ที่มีปรากฏแก่มหาบุรุษนั้น
ย่อมมีปรากฏในพระวรกายของพระองค์อย่างครบถ้วน
พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส มีพระพักตร์ผุดผ่อง
มีพระวรกายสูงใหญ่ตรง
มีพระเดช ทรงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่สมณะ
เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งเรืองอยู่
พระองค์เป็นภิกษุ มีคุณสมบัติงดงามน่าชม
มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดั่งทอง
พระองค์มีพระวรรณะสูงส่งถึงเพียงนี้
จะเป็นสมณะไปทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ที่องอาจในหมู่พลรถ ทรงปราบปรามไพรีชนะ
ทรงเป็นใหญ่ในภาคพื้นชมพูทวีป
ซึ่งมีสมุทรสาครทั้งสี่เป็นขอบเขต
ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์ตามพระราชประเพณี
ที่กษัตราธิราชโดยพระชาติได้เสวยราชย์
มีหมู่เสวกามาตย์เสด็จตามพระองค์เถิด”
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า)
“เสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว
คือเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ยังธรรมจักรที่ไม่มีใคร ๆ หมุนไปได้ ให้หมุนไปได้”
(เสลพราหมณ์กราบทูลว่า)
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พระองค์ทรงปฏิญญาว่า
เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ทั้งยังตรัสยืนยันว่ายังธรรมจักรให้เป็นไป
ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ผู้เจริญ
เป็นสาวกผู้ประพฤติตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ผู้เป็นศาสดา
ใครจะช่วยประกาศธรรมจักรที่พระองค์ทรงให้เป็นไปแล้วนี้ได้”
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า)
“เสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต
จะช่วยประกาศธรรมจักรที่ยอดเยี่ยม
ซึ่งเราให้เป็นไปไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
พราหมณ์ เราได้รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง๑
ได้เจริญธรรมที่ควรให้เจริญ๒
ได้ละธรรมที่ควรละ๓ได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า
พราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัยในตัวเราเสีย
จงน้อมใจเชื่อเราเสียเถิด
การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนือง ๆ
เป็นโอกาสที่หาได้ยาก
ผู้จะปรากฏเนือง ๆ ในโลก
ย่อมเป็นการหาได้ยาก
พราหมณ์ เรานั้นเป็นพระพุทธเจ้า
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสชั้นเยี่ยม
เราเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามารได้
ควบคุมอมิตรทั้งหมด๔ไว้ในอำนาจ
ไม่มีภัยจากที่ไหน เบิกบานอยู่”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
(เสลพราหมณ์กล่าวด้วยคาถาว่า)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์
จงทรงใคร่ครวญคำของข้าพระองค์นี้
เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลส
เป็นมหาวีระตรัสไว้
เหมือนพญาราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า
ใครเห็นพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุด
ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามารได้ จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า
ถึงคนผู้เกิดในตระกูลต่ำก็ยังเลื่อมใส
ผู้ปรารถนา จะตามฉัน ก็เชิญมา
หรือผู้ที่ไม่ปรารถนา ก็เชิญกลับไป
ฉันจะบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐนี้”
(มาณพเหล่านั้นกล่าวด้วยคาถาว่า)
“หากท่านอาจารย์ประทับใจคำสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้
แม้เราทั้งหลายก็จะบวช
ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐ”
พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
จะประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักของพระองค์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๔๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระคาถาว่า)
“เสละ พรหมจรรย์เรากล่าวไว้แล้ว
ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล
ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล
เมื่อคนที่ไม่ประมาท หมั่นศึกษาอยู่๑”
เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริวารได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาคแล้ว
[๔๐๐] เมื่อล่วงราตรีนั้นไป เกณิยชฎิลสั่งให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีตไว้ใน
อาศรมของตน แล้วส่งคนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จไป
ยังอาศรมของเกณิยชฎิลและประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
จากนั้น เกณิยชฎิลได้อังคาสภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำ
สำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ทรงวางพระหัตถ์แล้ว เกณิยชฎิลเลือกนั่ง ณ ที่สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
พระพุทธเจ้าทรงทำอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิล
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
“การบูชาไฟเป็นการบูชายัญอันประเสริฐ
ว่าด้วยเรื่องฉันท์ สาวิตรีฉันท์เป็นฉันท์อันดับแรก
พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย
สมุทรสาครเป็นศูนย์รวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๒. เสลสูตร
ดาวนักษัตรทั้งหลาย มีดวงจันทร์เด่นสกาว
มวลความร้อนมีดวงอาทิตย์เป็นเจ้า
หมู่ชนผู้มุ่งแสวงบุญอยู่มีพระสงฆ์เท่านั้น
เป็นทางเจริญแห่งบุญแท้จริงของผู้บูชา”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว
ก็เสด็จลุกจากพุทธอาสน์จากไป
ต่อมา ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวาร จากไปอยู่เพียงลำพัง ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น
ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๑”
จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสละพร้อมกับภิกษุผู้เป็นบริวารได้เป็นพระอรหันต์
จำนวนหนึ่งบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงพระองค์เป็นสรณะครบ ๘ วันนับจากวันนี้
จึงเป็นอันว่าข้าพระองค์ทั้งหลายฝึกฝนตนสำเร็จ
ในศาสนาของพระองค์ใช้เวลา ๗ วันเท่านั้น
พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา
เป็นพระมุนีผู้ครอบงำมารได้

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย
พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน
ละความหวาดกลัวภัยได้
เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ”
ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมมืออยู่ กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระยุคลบาทออกเถิด
ขอเชิญท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย
ถวายอภิวาทพระบรมศาสดาเถิด” ดังนี้แล
เสลสูตรที่ ๒ จบ

๓. อัสสลายนสูตร
ว่าด้วยอัสสลายนมาณพ
[๔๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้มาจากแคว้นต่าง ๆ ประมาณ
๕๐๐ คน พักอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น พราหมณ์เหล่านั้น
ได้คิดว่า “พระสมณโคดมนี้ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ที่ทั่วไปแก่วรรณะ ๔ จำพวก
ใครหนอจะสามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
สมัยนั้น มาณพชื่ออัสสลายนะ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ยังเป็นหนุ่ม โกนศีรษะ
มีอายุ ๑๖ ปี นับแต่เกิดมา เป็นผู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์
อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญในโลกายต-
ศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ๑
ครั้งนั้น พราหมณ์เหล่านั้นคิดกันว่า “อัสสลายนมาณพผู้นี้ อาศัยอยู่ในกรุง
สาวัตถี ยังเป็นหนุ่ม ฯลฯ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ เขาจะ
สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้”
ลำดับนั้น พราหมณ์เหล่านั้นพากันเข้าไปหาอัสสลายนมาณพถึงที่อยู่ แล้วได้
กล่าวว่า “พ่ออัสสลายนะ พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ที่ทั่วไปแก่
วรรณะ ๔ จำพวก พ่ออัสสลายนะ จงไปเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นเถิด”
เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กล่าวกับพราหมณ์
เหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดมเป็นธรรมวาทีที่บุคคล
จะพึงเจรจาโต้ตอบได้ยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดม
ในคำนั้นได้”
แม้ครั้งที่ ๒ พราหมณ์เหล่านั้นก็ได้กล่าวกับอัสสลายนมาณพว่า “พ่ออัสสลายนะ
พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ที่ทั่วไปแก่วรรณะ ๔ จำพวก พ่ออัสสลายนะ
จงไปเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นเถิด พ่ออัสสลายนะได้ประพฤติวิธีบรรพชา๒
มาแล้ว”
แม้ครั้งที่ ๒ อัสสลายนมาณพก็ได้กล่าวกับพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดมเป็นธรรมวาที ที่บุคคลจะพึงเจรจาโต้ตอบ
ได้ยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ พราหมณ์เหล่านั้นก็ได้กล่าวกับอัสสลายนมาณพว่า “พ่ออัสสลายนะ
พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ที่ทั่วไปแก่วรรณะ ๔ จำพวก พ่ออัสสลายนะ
จงเข้าไปเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นเถิด พ่ออัสสลายนะได้ประพฤติวิธี
บรรพชามาแล้ว พ่ออัสสลายนะอย่ายอมแพ้เสียตั้งแต่ยังไม่รบเลย”
เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กล่าวกับพราหมณ์
เหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมไม่ได้แน่ ได้ทราบว่า พระสมณโคดม
เป็นธรรมวาทีที่บุคคลจะพึงเจรจาโต้ตอบได้ยาก ข้าพเจ้าคงไม่สามารถจะเจรจา
โต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้ แต่ข้าพเจ้าจักไปตามคำของท่านทั้งหลาย”
เรื่องวรรณะ ๔ จำพวก๑
[๔๐๒] ลำดับนั้น อัสสลายนมาณพพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น
ที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐ
ที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น
วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์
เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพรหม เกิดจากพรหม เป็นผู้ที่พรหม
สร้างขึ้น เป็นทายาทของพรหม’ ในเรื่องนี้ท่านพระโคดมได้ตรัสไว้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัสสลายนะ นางพราหมณีของพราหมณ์ทั้งหลาย
มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดบุตรบ้าง ให้บุตรดื่มนมบ้าง ปรากฏอยู่ พราหมณ์
เหล่านั้นซึ่งเป็นผู้เกิดจากโยนีเหมือนกัน ยังจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐ
ที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
อื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็น
บุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพรหม เกิดจากพรหม เป็นผู้ที่พรหมสร้างขึ้น
เป็นทายาทของพรหม”
อัสสลายนมาณพกราบทูลว่า “ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ก็จริง แต่ในเรื่องนี้พราหมณ์
ทั้งหลายก็ยังเข้าใจเรื่องนั้นอยู่อย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น
ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
[๔๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร ท่านได้ฟังมาแล้วหรือว่า ‘ในแคว้นโยนก แคว้นกัมโพชะ และปัจจันตชนบท
อื่น ๆ มีวรรณะอยู่ ๒ จำพวกเท่านั้น คือ (๑) เจ้า (๒) ทาส เป็นเจ้าแล้วกลับ
เป็นทาส เป็นทาสแล้วกลับเป็นเจ้า”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเคยฟังความข้อนั้นมา
แล้วอย่างนี้ว่า ‘ในแคว้นโยนก แคว้นกัมโพชะ และปัจจันตชนบทอื่น ๆ มีวรรณะอยู่
๒ จำพวกเท่านั้น คือ (๑) เจ้า (๒) ทาส เป็นเจ้าแล้วกลับเป็นทาส เป็นทาสแล้ว
กลับเป็นเจ้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็น
ความยินดีของพราหมณ์ทั้งหลายผู้กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือ
พราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้
พราหมณ์ทั้งหลายก็เข้าใจเรื่องนั้นอยู่อย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
[๔๐๔] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร กษัตริย์เท่านั้นหรือที่เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
พยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะพึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
นรก๑ ส่วนพราหมณ์ไม่เป็นอย่างนั้นหรือ
แพศย์เท่านั้นหรือ ฯลฯ
ศูทรเท่านั้นหรือที่เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิต
พยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะพึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
นรก ส่วนพราหมณ์ไม่เป็นอย่างนั้นหรือ”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ที่เป็นผู้
ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตาย
แล้วจะพึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
แม้พราหมณ์ ฯลฯ
แม้แพศย์ ฯลฯ
แม้ศูทร ฯลฯ
ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง แม้วรรณะ ๔ จำพวก ที่เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็ง
อยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะพึงไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งหมด”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไร
เป็นความยินดีของพราหมณ์ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือ
พราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้
พราหมณ์ทั้งหลายก็เข้าใจเรื่องนั้นอยู่อย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
[๔๐๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร พราหมณ์เท่านั้นหรือที่เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการ
ลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตาย
แล้วจะพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กษัตริย์ไม่เป็นอย่างนั้นหรือ แพศย์ไม่เป็น
อย่างนั้นหรือ ศูทรไม่เป็นอย่างนั้นหรือ”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ที่เป็นผู้
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิด
ในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูด
คำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่
พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากสวรรคตแล้วจะพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
แม้พราหมณ์ ฯลฯ
แม้แพศย์ ฯลฯ
แม้ศูทร ฯลฯ
ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง แม้วรรณะ ๔ จำพวก ที่เป็นผู้เว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาด
จากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาด
จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมา-
ทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ทั้งหมด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็น
ความยินดีของพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ก็จริง แต่ในเรื่องนี้
พราหมณ์ทั้งหลายก็เข้าใจเรื่องนั้นอยู่อย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
[๔๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ในประเทศนี้ พราหมณ์เท่านั้นหรือที่สามารถเจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียน กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ไม่สามารถหรือ”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ในประเทศนี้
แม้กษัตริย์ก็สามารถเจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
แม้พราหมณ์ ฯลฯ
แม้แพศย์ ฯลฯ
แม้ศูทร ฯลฯ
ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริงในประเทศนี้ แม้วรรณะ ๔ จำพวก ก็สามารถ
เจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนได้ทั้งหมด”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็น
ความยินดีของพราหมณ์ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้
พราหมณ์ทั้งหลายก็เข้าใจเรื่องนั้นอยู่อย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
[๔๐๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร พราหมณ์เท่านั้นหรือที่สามารถถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำ
แล้วลอยละอองธุลีได้ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ไม่สามารถหรือ”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ก็ย่อม
สามารถถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้
แม้พราหมณ์ ฯลฯ
แม้แพศย์ ฯลฯ
แม้ศูทร ฯลฯ
ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริงแม้วรรณะ ๔ จำพวก ก็ย่อมสามารถถือเอา
เครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้ทั้งหมด”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็น
ความยินดีของพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้
พราหมณ์ทั้งหลายก็เข้าใจเรื่องนั้นอยู่อย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
[๔๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร พระราชามหากษัตริย์ในโลกนี้ ผู้ได้รับมูรธาภิเษก๑แล้ว จะพึงทรงเกณฑ์
บุรุษผู้มีฐานะต่าง ๆ กัน ๑๐๐ คน ให้มาประชุมกันตรัสว่า ‘มาเถิดท่านทั้งหลาย
ในจำนวนบุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใดเกิดจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ราชตระกูล บุรุษเหล่านั้นจงถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟลุกโพลงขึ้น มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจำนวนบุรุษ
เหล่านั้น บุรุษเหล่าใดเกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลพราน ตระกูลช่างจักสาน
ตระกูลช่างรถ ตระกูลคนขนขยะ บุรุษเหล่านั้นจงถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร
ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่งมาทำเป็นไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟลุกโพลงขึ้น
อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดจาก
ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์
หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟลุกโพลงขึ้นเท่านั้นหรือ เป็นไฟ
มีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้ ส่วนไฟ
ที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างจักสาน
ตระกูลช่างรถ ตระกูลคนขนขยะ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือ
ไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟลุกโพลงขึ้นนั้น เป็นไฟไม่มีเปลว ไม่มีสี
ไม่มีแสงสว่าง และไม่สามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้กระนั้นหรือ”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้ไฟที่บุรุษทั้งหลาย
ผู้เกิดจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน
ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟลุกโพลงขึ้นนั้น ก็เป็นไฟ
มีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้ แม้ไฟ
ที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างจักสาน
ตระกูลช่างรถ ตระกูลคนขนขยะ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า
หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟลุกโพลงขึ้นนั้น ก็เป็นไฟมีเปลว มีสี
มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟให้สำเร็จได้ ท่านพระโคดม ความจริง
แม้ไฟทุกชนิดก็เป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟให้
สำเร็จได้ทั้งหมด”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็น
ความยินดีของพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส
เกิดจากโอษฐ์ของพรหม เกิดจากพรหม พรหมเป็นผู้สร้างขึ้น เป็นทายาทของ
พรหม”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้
พราหมณ์ทั้งหลายก็เข้าใจเรื่องนั้นอยู่อย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม”
[๔๐๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร ขัตติยกุมารในโลกนี้ สำเร็จการอยู่ร่วมกับนางพราหมณี เพราะอาศัยการ
อยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันของคนทั้งสองนั้น จึงเกิดบุตรขึ้น บุตรที่เกิดจากนาง
พราหมณีกับขัตติยกุมารนั้น ซึ่งเหมือนมารดาก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ควรจะเรียกว่า
‘กษัตริย์หรือพราหมณ์”
อัสสลายนมาณพทูลตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม บุตรที่เกิดจากนางพราหมณี
กับขัตติยกุมารนั้น ซึ่งเหมือนมารดาก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ควรจะเรียกว่า ‘กษัตริย์
ก็ได้ พราหมณ์ก็ได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พราหมณกุมารในโลกนี้พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับ
นางกษัตริย์ เพราะอาศัยการอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันของคนทั้งสองนั้น บุตรจึง
เกิดขึ้น บุตรที่เกิดจากนางกษัตริย์กับพราหมณกุมารนั้น ซึ่งเหมือนมารดาก็ดี
เหมือนบิดาก็ดี ควรจะเรียกว่า ‘กษัตริย์หรือพราหมณ์”
“ข้าแต่ท่านพระโคดม บุตรผู้เกิดจากนางกษัตริย์กับพราหมณกุมารนั้น ซึ่งเหมือน
มารดาก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ควรจะเรียกว่า ‘กษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์ก็ได้”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในโลกนี้เขาพึงผสมแม่ม้ากับพ่อลา เพราะ
อาศัยการผสมแม่ม้ากับพ่อลานั้นจึงเกิดลูกม้า(ล่อ)ขึ้น ลูกม้าที่เกิดจากแม่ม้ากับพ่อลา
ซึ่งเหมือนแม่ก็ดี เหมือนพ่อก็ดี ควรจะเรียกว่า ‘ม้าหรือลา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค] ๓. อัสสลายนสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ลูกผสมนั้นย่อมเป็นม้าอัสดร ข้าแต่ท่านพระโคดม
เรื่องของสัตว์นี้ข้าพระองค์เห็นว่าต่างกัน (แต่ตามนัยต้น) สำหรับเรื่องของมนุษย์
เหล่าโน้น ข้าพระองค์เห็นว่าไม่ต่างกัน”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในโลกนี้มีมาณพ ๒ คนเป็นพี่น้องร่วมท้อง
เดียวกัน คนหนึ่งเป็นคนศึกษาเล่าเรียน อาจารย์ได้แนะนำ คนหนึ่งไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน
อาจารย์ไม่ได้แนะนำ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญคนไหนใน ๒ คนนี้ให้บริโภคก่อน
ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธา๑ก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อเป็นบรรณาการก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อ
บูชายัญก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี”
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ใน ๒ คนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชิญมาณพผู้ศึกษา
เล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์ได้แนะนำให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ในการ
เลี้ยงเพื่อเป็นบรรณาการก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อบูชายัญก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขก
ก็ดี ข้าแต่ท่านพระโคดม ของที่ให้ในผู้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์ไม่ได้แนะนำ
จักมีผลมากได้อย่างไรเล่า”
“อัสสลายนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในโลกนี้มีมาณพ ๒ คนเป็น
พี่น้องร่วมท้องเดียวกัน คนหนึ่งเป็นคนศึกษาเล่าเรียน อาจารย์ได้แนะนำ แต่เป็น
คนทุศีล มีบาปธรรม คนหนึ่งไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน อาจารย์ไม่ได้แนะนำ แต่เป็นคน
มีศีล มีกัลยาณธรรม พราหมณ์ทั้งหลายจะพึงเชื้อเชิญคนไหนใน ๒ คนนี้ให้บริโภค
ก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อเป็นบรรณาการก็ดี ในการเลี้ยง
เพื่อบูชายัญก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี”
อัสสลายนมาณพกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ใน ๒ คนนี้ พราหมณ์
ทั้งหลายพึงเชิญมาณพผู้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์ไม่ได้แนะนำ แต่เป็นคน
มีศีล มีกัลยาณธรรมให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ในการเลี้ยง

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น