Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๑-๕ หน้า ๑๗๕ - ๒๑๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑-๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๒.เกสิวรรค ๔.นาคสูตร
ปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งทั่วถึงด้วยปัญญา เรา
กล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่าเหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี
ที่ถูกแทงด้วยปฏักจนถึงกระดูกจึงหวาดหวั่น สำนึก บุรุษอาชาไนย
ผู้เจริญ บางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ
ประเภทที่ ๔ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปโตทสูตรที่ ๓ จบ

๔. นาคสูตร
ว่าด้วยองค์ของช้างต้น
[๑๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการย่อม
เป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
องค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ช้างของพระราชาในโลกนี้
๑. เป็นสัตว์เชื่อฟัง ๒. เป็นสัตว์ฆ่าได้
๓. เป็นสัตว์อดทนได้ ๔. เป็นสัตว์ไปได้
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์เชื่อฟัง เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยหูฟังเหตุการณ์ที่
ควาญช้างให้ทำคือเหตุการณ์ที่เคยทำหรือไม่เคยทำ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์เชื่อฟัง
เป็นอย่างนี้แล
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ฆ่าช้างบ้าง ฆ่าควาญช้างบ้าง
ฆ่าม้าบ้าง ฆ่าคนขี่ม้าบ้าง ทำลายรถบ้าง ฆ่าพลรถบ้าง ฆ่าพลเดินเท้าบ้าง ช้าง
ของพระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๒.เกสิวรรค ๔.นาคสูตร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว อดทนต่อการประหารด้วย
หอก ดาบ ลูกศร ง้าว เสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และมโหระทึกที่กระหึ่ม ช้าง
ของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ไปสู่ทิศที่ควาญช้างไสไป คือ ทิศที่เคยไปหรือ
ทิศที่ไม่เคยไปได้โดยเร็วพลัน ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แลย่อม
เป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่
การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้เชื่อฟัง ๒. เป็นผู้ฆ่าได้
๓. เป็นผู้อดทน ๔. เป็นผู้ไปได้
ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยโสตลงฟังธรรม ในเมื่อผู้
อื่นแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ทำ
ให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำ
ให้ถึงความไม่มี ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว
กระหาย ต่อการถูกเหลือบยุง แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน ต่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๒.เกสิวรรค ๕.ฐานสูตร
ถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ เป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิด
ขึ้นแล้วเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต
ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปตลอดกาลยาวนานนี้ คือ
ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความ
คลายกำหนัด ความดับทุกข์ นิพพาน ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
นาคสูตรที่ ๔ จบ

๕. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะแห่งความเสื่อมและความเจริญ
[๑๑๕] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ๑ ๔ ประการนี้
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย
๒. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
๓. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย
๔. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
บรรดาฐานะ ๔ ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็น
ไปเพื่อความฉิบหาย บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ไม่ควรทำทั้ง ๒ ส่วน คือ รู้ว่าไม่ควร
ทำทั้งส่วนที่เป็นฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ และรู้ว่าไม่ควรทำทั้งส่วนที่เป็นฐานะ
ที่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ไม่ควรทำทั้ง ๒ ส่วน

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๖. อัปปมาทสูตร
บรรดาฐานะ ๔ ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อม
เป็นไปเพื่อประโยชน์ พึงทราบคนพาลและบัณฑิตในเรื่องกำลังของบุรุษ ความเพียร
ของบุรุษ และความบากบั่นของบุรุษ คนพาลย่อมไม่เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ฐานะนี้
ที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็จริง แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์” เขาย่อมไม่ทำ
ฐานะนั้น เมื่อไม่ทำจึงเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมเห็นประจักษ์ดังนี้ว่า
“ฐานะนี้ที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็จริง แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์” เขา
ย่อมทำฐานะนั้น เมื่อทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์
บรรดาฐานะ ๔ ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อมเป็นไป
เพื่อความฉิบหาย พึงทราบคนพาลและบัณฑิตในเรื่องกำลังของบุรุษ ความเพียร
ของบุรุษ และความบากบั่นของบุรุษ คนพาลย่อมไม่เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ฐานะนี้
ที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจก็จริง แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย” เขาย่อมทำฐานะ
นั้น แต่เมื่อทำจึงเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมเห็นประจักษ์ดังนี้ว่า
“ฐานะนี้ที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจก็จริง แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย” เขาไม่
ทำฐานะนั้น เมื่อไม่ทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์
บรรดาฐานะ ๔ ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ และเมื่อทำย่อม
เป็นไปเพื่อประโยชน์ บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ควรทำทั้ง ๒ ส่วน คือ รู้ว่าควรทำ
ทั้งส่วนที่เป็นฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ และรู้ว่าควรทำทั้งส่วนที่เป็นฐานะที่เมื่อทำ
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ควรทำทั้ง ๒ ส่วน
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แล
ฐานสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัปปมาทสูตร
ว่าด้วยความไม่ประมาท
[๑๑๖] ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ ๔ ประการ
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๗.อารักขสูตร
๑. จงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต และอย่าประมาทในการละ
กายทุจริตบำเพ็ญกายสุจริตนั้น
๒. จงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจี
ทุจริตบำเพ็ญวจีสุจริตนั้น
๓. จงละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต และอย่าประมาทในการละ
มโนทุจริตบำเพ็ญมโนสุจริตนั้น
๔. จงละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ และอย่าประมาทในการละ
มิจฉาทิฏฐิบำเพ็ญสัมมาทิฏฐินั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต
บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ
เมื่อนั้นเธอย่อมไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในวันข้างหน้า
อัปปมาทสูตรที่ ๖ จบ

๗. อารักขสูตร
ว่าด้วยสติเครื่องรักษา
[๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจ
โดยสมควรแก่ตนในฐานะ ๔ ประการ
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
พึงทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า
๑. จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด
๒. จิตของเราอย่าขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความขัดเคือง
๓. จิตของเราอย่าหลงในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความหลง
๔. จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความมัวเมา
ในกาลใด จิตของภิกษุไม่กำหนัดในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัดเพราะ
ปราศจากความกำหนัด จิตไม่ขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความขัดเคืองเพราะ
ปราศจากความขัดเคือง จิตไม่หลงในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความหลงเพราะปราศจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๘. สังเวชนียสูตร
ความหลง จิตไม่มัวเมาในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความมัวเมา เพราะปราศจากความ
มัวเมา ในกาลนั้น ภิกษุนั้นย่อมไม่หวาดผวา ไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน ไม่ถึง
ความสะดุ้ง และไม่หลงเชื่อแม้เพราะถ้อยคำของสมณะเป็นเหตุ
อารักขสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังเวชนียสูตร๑
ว่าด้วยสังเวชนียสถาน
[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย สังเวชนียสถาน๒ ๔ แห่งนี้เป็นสถานที่ที่กุลบุตรผู้มี
ศรัทธา ควรไปดู
สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง อะไรบ้าง คือ
๑. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูด้วยระลึกว่า “ตถาคต
ประสูติในที่นี้”
๒. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูด้วยระลึกว่า “ตถาคต
ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้”
๓. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูด้วยระลึกว่า “ตถาคต
ทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้”
๔. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูด้วยระลึกว่า “ตถาคต
เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้”
ภิกษุทั้งหลาย สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้แลเป็นสถานที่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา
ควรไปดู
สังเวชนียสูตรที่ ๘ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๙. ปฐมภยสูตร
ว่าด้วยภัยภายใน สูตรที่ ๑
[๑๑๙] ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ชาติภัย (ภัยเกิดเพราะความเกิด)
๒. ชราภัย (ภัยเกิดเพราะความแก่)
๓. พยาธิภัย (ภัยเกิดเพราะความเจ็บไข้)
๔. มรณภัย (ภัยเกิดเพราะความตาย)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล
ปฐมภยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยภยสูตร
ว่าด้วยภัยภายนอก สูตรที่ ๒
[๑๒๐] ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อัคคีภัย (ภัยเกิดจากไฟ) ๒. อุทกภัย (ภัยเกิดจากน้ำ)
๓. ราชภัย (ภัยเกิดจากพระราชา) ๔. โจรภัย (ภัยเกิดจากโจร)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล
ทุติยภยสูตรที่ ๑๐ จบ
เกสิวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เกสิสูตร ๒. ชวสูตร
๓. ปโตทสูตร ๔. นาคสูตร
๕. ฐานสูตร ๖. อัปปมาทสูตร
๗. อารักขสูตร ๘. สังเวชนียสูตร
๙. ปฐมภยสูตร ๑๐. ทุติยภยสูตร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๑.อัตตานุวาทสูตร

๓. ภยวรรค
หมวดว่าด้วยภัย
๑. อัตตานุวาทสูตร
ว่าด้วยอัตตานุวาทภัย
[๑๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อัตตานุวาทภัย๑ ๒. ปรานุวาทภัย๒
๓. ทัณฑภัย๓ ๔. ทุคติภัย๔
อัตตานุวาทภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วด้วย
กาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ ไฉนเราจะติเตียนตัวเราเองโดยศีล
ไม่ได้” เขากลัวภัยที่เกิดจากการติเตียนตนเอง จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต
ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์
นี้เรียกว่า อัตตานุวาทภัย
ปรานุวาทภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วด้วย
กาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ ไฉนคนอื่นจะติเตียนเราโดยศีล
ไม่ได้” เขากลัวภัยที่เกิดจากผู้อื่นติเตียน จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละ
วจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์
นี้เรียกว่า ปรานุวาทภัย

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๑.อัตตานุวาทสูตร
ทัณฑภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นพระราชารับสั่งให้จับโจรผู้มักประพฤติชั่วแล้ว
ให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้
ตะบองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง
ตัดทั้งหูและจมูกบ้าง ทำให้เป็นภาชนะสำหรับรองหม้อน้ำข้าวบ้าง ทำให้เกลี้ยง
เกลาเหมือนสังข์บ้าง ทำให้มีปากเหมือนปากราหูบ้าง ทำให้มีพวงมาลัยไฟบ้าง
ทำให้มือมีไฟลุกโชติช่วงบ้าง ทำให้เป็นเกลียวหนังเนื้อทรายบ้าง ทำให้นุ่งหนังตน
เองเหมือนนุ่งผ้าขี้ริ้วบ้าง ทำให้ยืนกวางบ้าง ทำให้เหมือนเนื้อติดเบ็ดบ้าง ทำให้
เป็นชิ้นเท่ากหาปณะบ้าง ทำให้เป็นที่รับน้ำด่างบ้าง ทำให้หมุนเหมือนกลอนเหล็ก
บ้าง ทำให้เป็นตั่งที่ทำด้วยฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง
ให้นอนหงายบนหลาวทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
เขามีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะกรรมชั่วเช่นใดเป็นเหตุ พระราชาจึงรับสั่งให้จับ
โจรผู้มักประพฤติชั่วแล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัด
ศีรษะด้วยดาบบ้าง” ก็ถ้าเราเองพึงทำกรรมชั่วเช่นนั้น พระราชาพึงรับสั่งให้จับเรา
แล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิดอย่างนี้ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วย
ดาบบ้าง เขากลัวทัณฑภัย ไม่เที่ยวแย่งชิงสิ่งของของคนอื่น นี้เรียกว่า ทัณฑภัย
ทุคติภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ผลของกายทุจริตในภพหน้า
เป็นผลเลวทราม (เป็นทุกข์) ผลของวจีทุจริตในภพหน้าเป็นผลเลวทราม ผลของ
มโนทุจริตในภพหน้าเป็นผลเลวทราม ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่ว
ด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ ความชั่วบางอย่างนั้นพึงเป็นเหตุให้เราหลังจากตาย
แล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก” เขากลัวต่อทุคติภัยจึงละกายทุจริต
บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต
บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่า ทุคติภัย
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล
อัตตานุวาทสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๓.ภยวรรค ๒.อูมิภยสูตร

๒. อูมิภยสูตร
ว่าด้วยภัยจากคลื่น
[๑๒๒] ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อูมิภัย (ภัยจากคลื่น) ๒. กุมภีลภัย (ภัยจากจระเข้)
๓. อาวัฏฏภัย (ภัยจากน้ำวน) ๔. สุสุกาภัย (ภัยจากปลาร้าย)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แลที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ที่กุลบุตรบางคนใน
โลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้พึงประสบ
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อูมิภัย ๒. กุมภีลภัย
๓. อาวัฏฏภัย ๔. สุสุกาภัย
อูมิภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ)
อุปายาส (ความคับแค้นใจ) ครอบงำ ตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ
การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุดจะพึงปรากฏ” เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอน
เธอผู้บวชแล้วนั้นว่า “เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลดูอย่างนี้
พึงเหลียวดูอย่างนี้ พึงคู้เข้าอย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงครองสังฆาฏิ บาตร
และจีวรอย่างนี้” เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ มีแต่ตักเตือนพร่ำสอน
ผู้อื่น ก็ภิกษุเหล่านี้มีอายุคราวลูก คราวหลานของเรายังจะมาตักเตือนพร่ำสอน”
เธอขุ่นเคืองไม่พอใจ บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอูมิภัย
บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า อูมิภัย นี้เป็นชื่อเรียกความโกรธและ
ความคับแค้นใจ นี้เรียกว่า อูมิภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๓.ภยวรรค ๒.อูมิภยสูตร
กุมภีลภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่ใน
กองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอการทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุดจะพึง
ปรากฏ” เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอนเธอผู้บวชแล้วนั้นว่า “สิ่งนี้เธอพึงฉัน
สิ่งนี้เธอไม่พึงฉัน สิ่งนี้เธอพึงบริโภค สิ่งนี้เธอไม่พึงบริโภค สิ่งนี้เธอพึงลิ้ม สิ่งนี้
เธอไม่พึงลิ้ม สิ่งนี้เธอพึงดื่ม สิ่งนี้เธอไม่พึงดื่ม สิ่งเป็นกัปปิยะ๑เธอพึงฉัน สิ่ง
เป็นอกัปปิยะ๒เธอไม่พึงฉัน สิ่งเป็นกัปปิยะเธอพึงบริโภค สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึง
บริโภค สิ่งเป็นกัปปิยะเธอพึงลิ้ม สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึงลิ้ม สิ่งเป็นกัปปิยะเธอ
พึงดื่ม สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึงดื่ม เธอพึงฉันในเวลา เธอไม่พึงฉันนอกเวลา
เธอพึงบริโภคในเวลา เธอไม่พึงบริโภคนอกเวลา เธอพึงลิ้มในเวลา เธอไม่พึงลิ้มนอก
เวลา เธอพึงดื่มในเวลา เธอไม่พึงดื่มนอกเวลา” เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน
เราเป็นคฤหัสถ์ เคี้ยวกินสิ่งที่เราต้องการ ไม่เคี้ยวกินสิ่งที่เราไม่ต้องการ บริโภค
สิ่งที่เราต้องการ ไม่บริโภคสิ่งที่เราไม่ต้องการ ลิ้มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ลิ้มสิ่งที่เรา
ไม่ต้องการ ดื่มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ดื่มสิ่งที่เราไม่ต้องการ กินทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะ
และสิ่งเป็นอกัปปิยะ บริโภคทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ลิ้มทั้งสิ่งเป็น
กัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ดื่มทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ กินทั้งในเวลา
และนอกเวลา บริโภคทั้งในเวลาและนอกเวลา ลิ้มทั้งในเวลาและนอกเวลา ดื่มทั้ง
ในเวลาและนอกเวลา สิ่งใดที่ประณีตไม่ว่าจะเป็นของเคี้ยวหรือของบริโภคที่คหบดีผู้
มีศรัทธาถวายแก่เราทั้งในเวลาและนอกเวลา ภิกษุเหล่านี้ทำเหมือนปิดปากแม้ใน
สิ่งของเหล่านั้น” เธอขัดเคือง ไม่พอใจ บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียก
ว่า ภิกษุผู้กลัวกุมภีลภัยบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า กุมภีลภัย นี้
เป็นชื่อเรียกความเป็นคนเห็นแก่ปากท้อง นี้เรียกว่า กุมภีลภัย

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๓.ภยวรรค ๒.อูมิภยสูตร
อาวัฏฏภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตก
อยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอการทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด
จะพึงปรากฏ” เธอบวชอยู่อย่างนี้ ในเวลาเช้าครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย วาจา ใจ มีสติไม่ตั้งมั่น
ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นคหบดีหรือบุตรคหบดีในหมู่บ้านหรือตำบลนั้น เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อม บำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ คิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์
เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม บำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ โภคทรัพย์ในตระกูลของเราก็มี
อยู่พร้อม เราสามารถที่จะใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญได้ ทางที่ดี เราบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญ” เธอบอกคืนสิกขากลับมา
เป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอาวัฏฏภัยบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า
อาวัฏฏภัย นี้เป็นชื่อเรียกกามคุณ ๕ นี้เรียกว่า อาวัฏฏภัย
สุสุกาภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตก
อยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอการทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด
จะพึงปรากฏ” เธอบวชอยู่อย่างนี้ ในเวลาเช้าครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย วาจา ใจ มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่
สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นมาตุคาม(สตรี)ในหมู่บ้านหรือตำบลนั้นนุ่งไม่เรียบร้อย
หรือห่มไม่เรียบร้อย ราคะรบกวนจิตของเธอเพราะเห็นมาตุคามนุ่งไม่เรียบร้อยหรือ
ห่มไม่เรียบร้อย เธอมีจิตฟุ้งซ่านเพราะราคะ จึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวสุสุกาภัยบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า สุสุกาภัย
นี้เป็นชื่อเรียกมาตุคาม นี้เรียกว่า สุสุกาภัย
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แลที่กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้พึงประสบ
อูมิภยสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๓.ปฐมนานากรณสูตร

๓. ปฐมนานากรณสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้บุคคลต่างกัน สูตรที่ ๑
[๑๒๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวก๑อยู่
เขาชอบใจปฐมฌานนั้น ติดใจปฐมฌานนั้น และถึงความปลื้มใจ
กับปฐมฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น น้อมใจไปใน
ปฐมฌานนั้น ชอบอยู่กับปฐมฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อ
ตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นหมู่พรหม
พวกเทวดาชั้นหมู่พรหมมีอายุประมาณ ๑ กัป๒ คนที่เป็นปุถุชน
ดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนด
อายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค
ดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนด
อายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แล
เป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกัน
ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติ (การตาย)
และอุบัติ(การเกิด)ยังมีอยู่
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติย-
ฌานมีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น๓ ไม่มีวิตก

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๓. ปฐมนานากรณสูตร
ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่ เขาชอบใจทุติยฌานนั้น
ติดใจทุติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจกับทุติยฌานนั้น เขา
ดำรงอยู่ในทุติยฌานนั้น น้อมใจไปในทุติยฌานนั้น ชอบอยู่กับ
ทุติยฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็น
ผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นอาภัสสระ พวกเทวดาชั้นอาภัสสระ
มีอายุประมาณ ๒ กัป คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระ
นั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้น
หมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดน
เปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระ
นั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้น
หมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน
เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้
ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะ
ทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เขาชอบใจ
ตติยฌานนั้น ติดใจตติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจกับตติยฌาน
นั้น เขาดำรงอยู่ในตติยฌานนั้น น้อมใจไปในตติยฌานนั้น
ชอบอยู่กับตติยฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นสุภกิณหะ พวกเทวดาชั้น
สุภกิณหะมีอายุประมาณ ๔ กัป คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้น
สุภกิณหะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดา
เหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้น
สุภกิณหะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดา
เหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลก
กัน เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวก
ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๔.ทุติยนานากรณสูตร
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เขาชอบใจจตุตถฌานนั้น ติดใจ
จตุตถฌานนั้นและถึงความปลื้มใจกับจตุตถฌานนั้น เขาดำรงอยู่
ในจตุตถฌานนั้น น้อมใจไปในจตุตถฌานนั้น ชอบอยู่กับจตุตถ-
ฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพวกเทวดาชั้นเวหัปผละ พวกเทวดาชั้นเวหัปผละมีอายุ
ประมาณ ๕๐๐ กัป คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้น
จนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้น
หมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดน
เปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละ
นั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้น
หมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน
เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้
ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปฐมนานากรณสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยนานากรณสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้บุคคลต่างกัน สูตรที่ ๒
[๑๒๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
เขาพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณที่มีอยู่ในปฐมฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เสียดแทง
เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น เบียดเบียน ไม่เชื่อฟัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๕.ปฐมเมตตาสูตร
ต้องแตกสลายไป ว่างเปล่า ไม่อยู่ในอำนาจ หลังจากตายแล้ว เขา
ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นสุทธาวาส การเข้า
ถึงนี้ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไปกับปุถุชนทั้งหลาย
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
ฯลฯ
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและ
โทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ เขาพิจารณา
เห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ที่มีอยู่ในจตุตถฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เสียดแทง
เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น เบียดเบียน ไม่เชื่อฟัง
ต้องแตกสลายไป ว่างเปล่า ไม่อยู่ในอำนาจ หลังจากตายแล้ว เขา
ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นสุทธาวาส การเข้า
ถึงนี้ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไปกับปุถุชนทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ทุติยนานากรณสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมเมตตาสูตร
ว่าด้วยผู้มีเมตตาจิต สูตรที่ ๑
[๑๒๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน๑ ทิศเบื้องล่าง๒ ทิศเฉียง๓

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๕.ปฐมเมตตาสูตร
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ๑ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาชอบใจเมตตาฌานนั้น ติดใจเมตตาฌานนั้น และถึง
ความปลื้มใจกับเมตตาฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในเมตตาฌานนั้น
น้อมใจไปในเมตตาฌานนั้น ชอบอยู่กับเมตตาฌานนั้นโดยมาก
ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดา
ชั้นหมู่พรหม พวกเทวดาชั้นหมู่พรหมมีอายุประมาณ ๑ กัป คน
ที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลา
ที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง
ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของ
พระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ
เวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพาน
ในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน
เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีกรุณาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาชอบใจกรุณาฌานนั้น ติดใจกรุณาฌานนั้น และถึง
ความปลื้มใจกับกรุณาฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในกรุณาฌานนั้น
น้อมใจไปในกรุณาฌานนั้น ชอบอยู่กับกรุณาฌานนั้นโดยมาก
ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดา
ชั้นอาภัสสระ พวกเทวดาชั้นอาภัสสระมีอายุประมาณ ๒ กัป
คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๕.ปฐมเมตตาสูตร
เวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง
ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของ
พระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ
เวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพาน
ในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน
เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้มีมุทิตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาชอบใจมุทิตาฌานนั้น ติดใจมุทิตาฌานนั้น และถึง
ความปลื้มใจกับมุทิตาฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในมุทิตาฌานนั้น
น้อมใจไปในมุทิตาฌานนั้น ชอบอยู่กับมุทิตาฌานนั้นโดยมาก
ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดา
ชั้นสุภกิณหะ พวกเทวดาชั้นสุภกิณหะมีอายุประมาณ ๔ กัป
คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ
เวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง
ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของ
พระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ
เวลากำหนดที่เป็นอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพาน
ในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน
เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๖.ทุติยเมตตาสูตร
ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่อย่างนี้ เขาชอบใจอุเบกขาฌานนั้น ติดใจ
อุเบกขาฌานนั้น และถึงความปลื้มใจกับอุเบกขาฌานนั้น เขา
ดำรงอยู่ในอุเบกขาฌานนั้น น้อมใจไปในอุเบกขาฌานนั้น ชอบ
อยู่กับอุเบกขาฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นเวหัปผละ พวกเทวดาชั้น
เวหัปผละมีอายุประมาณ ๕๐๐ กัป คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้น
เวหัปผละนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดา
เหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้น
เวหัปผละนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดา
เหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลก
กัน เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวก
ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปฐมเมตตาสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยเมตตาสูตร
ว่าด้วยผู้มีเมตตาจิต สูตรที่ ๒
[๑๒๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๗.ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตร
สังขาร วิญญาณที่มีอยู่ในเมตตาจิตนั้น โดยความไม่เที่ยง เป็น
ทุกข์ เสียดแทง เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น
เบียดเบียน ไม่เชื่อฟัง ต้องแตกสลายไป ว่างเปล่า ไม่อยู่ใน
อำนาจ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พวกเทวดาชั้นสุทธาวาส การเข้าถึงนี้ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไปกับปุถุชน
ทั้งหลาย
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีกรุณาจิต ฯลฯ
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้มีมุทิตาจิต ฯลฯ
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่
ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณที่มีอยู่ในอุเบกขาจิตนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็น
ทุกข์ เสียดแทง เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น
เบียดเบียน ไม่เชื่อฟัง ต้องแตกสลายไป ว่างเปล่า ไม่อยู่ในอำนาจ
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดา
ชั้นสุทธาวาส การเข้าถึงนี้ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไปกับปุถุชนทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ทุติยเมตตาสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยเหตุอัศจรรย์ของพระตถาคต สูตรที่ ๑
[๑๒๗] ภิกษุทั้งหลาย เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๗.ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตร
๑. เมื่อพระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มีสติสัมปชัญญะ เสด็จลง
สู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างโอฬารประมาณไม่ได้ เกิน
เลยอานุภาพของเทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์ แม้แต่โลกันตริกนรกซึ่งเปิดตลอด ไม่มีอะไร
ปิดกั้น มืดมิด มองไม่เห็นอะไร๑ ที่แสงสว่างแห่งดวงจันทร์และ
ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ยังส่องไป
ไม่ถึง แต่แสงสว่างโอฬารประมาณไม่ได้ ล่วงเลยอานุภาพของ
เทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏในโลกันตริกนรกนั้น แม้พวกสัตว์ที่
เกิดในโลกันตริกนรกนั้นจำกันและกันได้เพราะแสงสว่างนั้นว่า
“ท่านผู้เจริญ ทราบว่า สัตว์แม้เหล่าอื่นที่เกิดในที่นี้มีอยู่” นี้เป็น
เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ย่อมปรากฏเพราะความ
ปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. เมื่อพระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์ของพระ
มารดา ฯลฯ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ย่อม
ปรากฏเพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. เมื่อตถาคตทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯลฯ นี้เป็นเหตุ
อัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏ
ของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔. เมื่อตถาคตทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม แสงสว่างโอฬาร
ประมาณไม่ได้ เกินเลยอานุภาพของเทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏ
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ แม้แต่โลกันตริกนรก
ซึ่งเปิดตลอด ไม่มีอะไรปิดกั้น มืดมิด มองไม่เห็นอะไร ที่แสงสว่าง

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๘. ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร
แห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก
อย่างนี้ยังส่องไปไม่ถึง แต่แสงสว่างโอฬาร ประมาณไม่ได้ ล่วง
เลยอานุภาพของเทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏในโลกันตริกนรกนั้น
แม้พวกสัตว์ที่เกิดในโลกันตริกนรกนั้นจำกันและกันได้เพราะแสง
สว่างนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ทราบว่า สัตว์แม้เหล่าอื่นที่เกิดในที่นี้
มีอยู่” นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยเหตุอัศจรรย์ของพระตถาคต สูตรที่ ๒
[๑๒๘] ภิกษุทั้งหลาย เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. หมู่สัตว์ผู้ยังหมกมุ่นในอาลัย ยินดีในอาลัย๑ บันเทิงในอาลัย เมื่อ
ตถาคตแสดงธรรมที่ไม่มีอาลัยก็ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจ
ใฝ่รู้ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. หมู่สัตว์ผู้ยังหมกมุ่นในความถือตัว ยินดีในความถือตัว บันเทิงใน
ความถือตัว เมื่อตถาคตแสดงธรรมที่กำจัดความถือตัวก็ตั้งใจฟัง
ด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจใฝ่รู้ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๒ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏของตถาคตอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๙.อานันทอัจฉริยสูตร
๓. หมู่สัตว์ผู้ยังหมกมุ่นในความไม่สงบ ยินดีในความไม่สงบ บันเทิง
ในความไม่สงบ เมื่อตถาคตแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ
ก็ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจใฝ่รู้ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคย
ปรากฏประการที่ ๓ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏของตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔. หมู่สัตว์ผู้ยังตกอยู่ในอวิชชาเป็นผู้มืดบอด ถูกอวิชชาหุ้มห่อ เมื่อ
ตถาคตแสดงธรรมที่กำจัดอวิชชา ก็ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ
ตั้งใจใฝ่รู้ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตรที่ ๘ จบ

๙. อานันทอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์
[๑๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ๑ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้มีอยู่ใน
อานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๒. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๑๐.จักกวัตติอัจฉริยสูตร
๓. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลมีอยู่ในอานนท์
อานันทอัจฉริยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. จักกวัตติอัจฉริยสูตร๑
ว่าด้วยความเป็นอัจฉริยะของพระเจ้าจักรพรรดิ
[๑๓๐] ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้มีอยู่ใน
พระเจ้าจักรพรรดิ
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าขัตติยบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในขัตติยบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี ขัตติยบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๒. ถ้าพราหมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็
มีใจยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในพราหมณ-
บริษัทนั้น แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี พราหมณบริษัท
ยังไม่เต็มอิ่ม เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๓. ถ้าคหบดีบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในคหบดีบริษัท
นั้น แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี คหบดีบริษัทยังไม่
เต็มอิ่ม เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๔. ถ้าสมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในสมณบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี สมณบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลมีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือน
กันแลมีอยู่ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๒. ถ้าภิกษุณีบริษัท ฯลฯ
๓. ถ้าอุบาสกบริษัท ฯลฯ
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลมีอยู่ในอานนท์
จักกวัตติอัจฉริยสูตรที่ ๑๐ จบ
ภยวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัตตานุวาทสูตร ๒. อูมิภยสูตร
๓. ปฐมนานากรณสูตร ๔. ทุติยนานากรณสูตร
๕. ปฐมเมตตาสูตร ๖. ทุติยเมตตาสูตร
๗. ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตร ๘. ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร
๙. อานันทอัจฉริยสูตร ๑๐. จักกวัตติอัจฉริยสูตร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๑. สังโยชนสูตร

๔. ปุคคลวรรค
หมวดว่าด้วยบุคคล
๑. สังโยชนสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ละสังโยชน์ได้
[๑๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์๑(สังโยชน์เบื้องต่ำ)
ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่
เป็นปัจจัยให้ได้ภพ๒ไม่ได้
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ แต่ยังละสังโยชน์
ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้
ภพไม่ได้
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ และละสังโยชน์ที่
เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็น
ปัจจัยแห่งการเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้
บุคคลจำพวกไหนยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัย
แห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
คือ พระสกทาคามี บุคคลนี้แลยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่
เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๒.ปฏิภาณสูตร
บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็น
ปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
คือ พระอนาคามีผู้มุ่งหน้าไปสู่อกนิฏฐภพ บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้
แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่ง
การเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
คือ พระอนาคามีผู้ปรินิพพานในระหว่าง บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้
ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่ง
การเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้
คือ พระอรหันต์ผู้หมดกิเลส บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์
ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
สังโยชนสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปฏิภาณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ตอบได้ถูกต้อง
[๑๓๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่รวดเร็ว๒
๒. บุคคลผู้ตอบได้รวดเร็ว แต่ไม่ถูกต้อง๓

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร
๓. บุคคลผู้ตอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว
๔. บุคคลผู้ตอบได้ไม่ถูกต้องและไม่รวดเร็ว
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปฏิภาณสูตรที่ ๒ จบ

๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เข้าใจได้ฉับพลัน
[๑๓๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. อุคฆฏิตัญญู๒ (ผู้เข้าใจได้ฉับพลัน)
๒. วิปจิตัญญู๓ (ผู้เข้าใจต่อเมื่อขยายความ)
๓. เนยยะ๔ (ผู้ที่พอจะแนะนำได้)
๔. ปทปรมะ๕ (ผู้ที่สอนให้รู้ได้เพียงตัวบทคือพยัญชนะ)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
อุคฆฏิตัญญูสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๕.สาวัชชสูตร

๔. อุฏฐานผลสูตร
ว่าด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร
[๑๓๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร แต่ไม่ดำรงชีพ
ด้วยผลแห่งกรรม
๒. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งกรรม แต่ไม่ดำรงชีพด้วยผลแห่ง
ความขยันหมั่นเพียร
๓. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียรและดำรงชีพด้วย
ผลแห่งกรรม
๔. บุคคลผู้ไม่ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียรและไม่ดำรงชีพ
ด้วยผลแห่งกรรม๒
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
อุฏฐานผลสูตรที่ ๔ จบ

๕. สาวัชชสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีแต่โทษ
[๑๓๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๓ ไหนบ้าง คือ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๕.สาวัชชสูตร
๑. บุคคลผู้มีแต่โทษ๑ ๒. บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก๒
๓. บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย๓ ๔. บุคคลผู้ไม่มีโทษ๔
บุคคลผู้มีแต่โทษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรม (การกระทำทางกาย) ที่มีโทษ
ประกอบด้วยวจีกรรม (การกระทำทางวาจา) ที่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรม (การ
กระทำทางใจ) ที่มีโทษ บุคคลผู้มีแต่โทษ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มี
โทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย
ประกอบด้วยมโนกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลผู้มีโทษ
เป็นส่วนมาก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มี
โทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย
ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลผู้มีโทษ
เป็นส่วนน้อย เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ไม่มีโทษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วย
วจีกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษ บุคคลผู้ไม่มีโทษ เป็นอย่าง
นี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
สาวัชชสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๗.ทุติยสีลสูตร

๖. ปฐมสีลสูตร
ว่าด้วยศีล สูตรที่ ๑
[๑๓๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ไม่บำเพ็ญสมาธิ
ให้บริบูรณ์ และไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๑
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ แต่ไม่บำเพ็ญสมาธิ
ให้บริบูรณ์ และไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๒
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ และบำเพ็ญสมาธิ
ให้บริบูรณ์ แต่ไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๓
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ บำเพ็ญสมาธิให้
บริบูรณ์และบำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๔
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปฐมสีลสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยสีลสูตร
ว่าด้วยศีล สูตรที่ ๒
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เคารพในศีล ไม่ถือศีลเป็นใหญ่ ไม่
เคารพในสมาธิ ไม่ถือสมาธิเป็นใหญ่ และไม่เคารพในปัญญา
ไม่ถือปัญญาเป็นใหญ่

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๘. นิกกัฏฐสูตร
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ แต่ไม่เคารพ
ในสมาธิ ไม่ถือสมาธิเป็นใหญ่ และไม่เคารพในปัญญา ไม่ถือ
ปัญญาเป็นใหญ่
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ และเคารพ
ในสมาธิ ถือสมาธิเป็นใหญ่ แต่ไม่เคารพในปัญญา ไม่ถือ
ปัญญาเป็นใหญ่
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ เคารพในสมาธิ
ถือสมาธิเป็นใหญ่ และเคารพในปัญญา ถือปัญญาเป็นใหญ่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ทุติยสีลสูตรที่ ๗ จบ

๘. นิกกัฏฐสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีกายและจิตออก
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก๑
๒. บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก
๓. บุคคลผู้มีกายยังไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก
๔. บุคคลผู้มีกายออกและมีจิตออก
บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่ง๒และป่าทึบ๓
เธอตรึกถึงกามวิตก(ความตรึกในทางกาม)บ้าง พยาบาทวิตก (ความตรึกในทาง
พยาบาท)บ้าง วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)บ้าง บุคคลผู้มีกายออก
แต่มีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างนี้แล

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๙.ธัมมกถิกสูตร
บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
เลย แต่เธอตรึกถึงเนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม)บ้าง อพยาบาทวิตก
(ความตรึกปลอดจากพยาบาท)บ้าง อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน)
บ้าง บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีกายยังไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
และเธอตรึกถึงกามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง บุคคลผู้มีกายยัง
ไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีกายออกและมีจิตออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
และเธอตรึกถึงเนกขัมมวิตกบ้าง อพยาบาทวิตกบ้าง อวิหิงสาวิตกบ้าง บุคคลผู้มี
กายออกและมีจิตออก เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
นิกกัฏฐสูตรที่ ๘ จบ

๙. ธัมมกถิกสูตร
ว่าด้วยธรรมกถึก
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถึก ๔ จำพวกนี้
ธรรมกถึก ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมน้อยและไม่มีประโยชน์
ทั้งหมู่ผู้ฟังก็ไม่ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรม-
กถึกจำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้
๒. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมน้อย แต่มีประโยชน์ และ
หมู่ผู้ฟังก็ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก
จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๓. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมมาก แต่ไม่มีประโยชน์ และ
หมู่ผู้ฟังก็ไม่ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก
จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้
๔. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมมากและมีประโยชน์ และ
หมู่ผู้ฟังก็ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก
จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถึก ๔ จำพวกนี้แล
ธัมมกถิกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. วาทีสูตร
ว่าด้วยนักพูด
[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย นักพูด ๔ จำพวกนี้
นักพูด ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. นักพูดที่จนด้านอรรถ แต่ไม่จนด้านพยัญชนะ
๒. นักพูดที่จนด้านพยัญชนะ แต่ไม่จนด้านอรรถ
๓. นักพูดที่จนทั้งด้านอรรถและด้านพยัญชนะ
๔. นักพูดที่ไม่จนทั้งด้านอรรถและด้านพยัญชนะ
นักพูด ๔ จำพวกนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุ(นักพูด)ผู้ประกอบด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ประการ
จะพึงจนทั้งด้านอรรถหรือด้านพยัญชนะ
วาทีสูตรที่ ๑๐ จบ
ปุคคลวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังโยชนสูตร ๒. ปฏิภาณสูตร
๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร ๔. อุฏฐานผลสูตร
๕. สาวัชชสูตร ๖. ปฐมสีลสูตร
๗. ทุติยสีลสูตร ๘. นิกกัฏฐสูตร
๙. ธัมมกถิกสูตร ๑๐. วาทีสูตร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค ๓.อาโลกสูตร

๕. อาภาวรรค
หมวดว่าด้วยแสงสว่าง
๑. อาภาสูตร
ว่าด้วยแสงสว่าง
[๑๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แสงสว่าง ๔ ประการนี้
แสงสว่าง ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. แสงสว่างแห่งดวงจันทร์ ๒. แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์
๓. แสงสว่างแห่งไฟ ๔. แสงสว่างแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย แสงสว่าง ๔ ประการนี้แล
บรรดาแสงสว่าง ๔ ประการนี้ แสงสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศ
อาภาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปภาสูตร
ว่าด้วยรัศมี
[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย รัศมี ๔ ประการนี้
รัศมี ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รัศมีแห่งดวงจันทร์ ๒. รัศมีแห่งดวงอาทิตย์
๓. รัศมีแห่งไฟ ๔. รัศมีแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย รัศมี ๔ ประการนี้แล
บรรดารัศมี ๔ ประการนี้ รัศมีแห่งปัญญาเป็นเลิศ
ปภาสูตรที่ ๒ จบ

๓. อาโลกสูตร
ว่าด้วยความสว่าง
[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย ความสว่าง ๔ ประการนี้
ความสว่าง ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค ๕. ปัชโชตสูตร
๑. ความสว่างแห่งดวงจันทร์ ๒. ความสว่างแห่งดวงอาทิตย์
๓. ความสว่างแห่งไฟ ๔. ความสว่างแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ความสว่าง ๔ ประการนี้แล
บรรดาความสว่าง ๔ ประการนี้ ความสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศ
อาโลกสูตรที่ ๓ จบ

๔. โอภาสสูตร
ว่าด้วยความสว่างไสว
[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย ความสว่างไสว ๔ ประการนี้
ความสว่างไสว ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความสว่างไสวแห่งดวงจันทร์ ๒. ความสว่างไสวแห่งดวงอาทิตย์
๓. ความสว่างไสวแห่งไฟ ๔. ความสว่างไสวแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ความสว่างไสว ๔ ประการนี้แล
บรรดาความสว่างไสว ๔ ประการนี้ ความสว่างไสวแห่งปัญญาเป็นเลิศ
โอภาสสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปัชโชตสูตร
ว่าด้วยความรุ่งเรือง
[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย ความรุ่งเรือง ๔ ประการนี้
ความรุ่งเรือง ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความรุ่งเรืองแห่งดวงจันทร์ ๒. ความรุ่งเรืองแห่งดวงอาทิตย์
๓. ความรุ่งเรืองแห่งไฟ ๔. ความรุ่งเรืองแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ความรุ่งเรือง ๔ ประการนี้แล
บรรดาความรุ่งเรือง ๔ ประการนี้ ความรุ่งเรืองแห่งปัญญาเป็นเลิศ
ปัชโชตสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค ๗.ทุติยกาลสูตร

๖. ปฐมกาลสูตร
ว่าด้วยกาล สูตรที่ ๑
[๑๔๖] ภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ ประการนี้
กาล ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การฟังธรรมตามกาล๑ ๒. การสนทนาธรรม๒ตามกาล
๓. ความสงบใจตามกาล ๔. ความเห็นแจ้งตามกาล
ภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ ประการนี้แล
ปฐมกาลสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยกาลสูตร
ว่าด้วยกาล สูตรที่ ๒
[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ ประการนี้ที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุน
เวียนไปตามโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ
กาล ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การฟังธรรมตามกาล ๒. การสนทนาธรรมตามกาล
๓. ความสงบใจตามกาล ๔. ความเห็นแจ้งตามกาล
กาล ๔ ประการนี้แลที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุนเวียนไปตามโดยชอบ
ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ
เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดภูเขา น้ำไหลไปตามที่ลุ่มทำให้ซอกเขา
ลำธาร และห้วยเต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มแล้วทำให้หนองเต็ม หนองเต็ม
แล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็มแล้วทำให้แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้ว ทำให้แม่น้ำ
ใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้วก็ทำให้มหาสมุทรเต็ม แม้ฉันใด

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค ๙. สุจริตสูตร
กาล ๔ ประการนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุนเวียน
ไปตามโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ
ทุติยกาลสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุจจริตสูตร
ว่าด้วยทุจริต
[๑๔๘] ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ ประการนี้
วจีทุจริต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มุสาวาท (พูดเท็จ) ๒. ปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียด)
๓. ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) ๔. สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)
ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ ประการนี้แล
ทุจจริตสูตรที่ ๘ จบ

๙. สุจริตสูตร
ว่าด้วยสุจริต
[๑๔๙] ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้
วจีสุจริต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัจจวาจา (พูดจริง) ๒. อปิสุณาวาจา (พูดไม่ส่อเสียด)
๓. สัณหวาจา (พูดอ่อนหวาน) ๔. มันตภาสา๑ (พูดด้วยปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้แล
สุจริตสูตรที่ ๙ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. สารสูตร
ว่าด้วยสารธรรม
[๑๕๐] ภิกษุทั้งหลาย สารธรรม (ธรรมที่เป็นแก่นสาร) ๔ ประการนี้
สารธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สีลสารธรรม๑ (ธรรมที่เป็นแก่นสารคือศีล)
๒. สมาธิสารธรรม (ธรรมที่เป็นแก่นสารคือสมาธิ)
๓. ปัญญาสารธรรม (ธรรมที่เป็นแก่นสารคือปัญญา)
๔. วิมุตติสารธรรม (ธรรมที่เป็นแก่นสารคือวิมุตติ)
ภิกษุทั้งหลาย สารธรรม ๔ ประการนี้แล
สารสูตรที่ ๑๐ จบ
อาภาวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อาภาสูตร ๒. ปภาสูตร
๓. อาโลกสูตร ๔. โอภาสสูตร
๕. ปัชโชตสูตร ๖. ปฐมกาลสูตร
๗. ทุติยกาลสูตร ๘. ทุจจริตสูตร
๙. สุจริตสูตร ๑๐. สารสูตร

ตติยปัณณาสก์ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑. อินทริยวรรค ๒. สัทธาพลสูตร

๔. จตุตถปัณณาสก์
๑. อินทริยวรรค
หมวดว่าด้วยอินทรีย์
๑. อินทริยสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์
[๑๕๑] ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๔ ประการนี้
อินทรีย์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา)
๒. วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือวิริยะ)
๓. สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือสมาธิ)
๔. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๔ ประการนี้แล
อินทริยสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัทธาพลสูตร
ว่าด้วยสัทธาพละ
[๑๕๒] ภิกษุทั้งหลาย พละ (กำลัง) ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา)
๒. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ)
๓. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ)
๔. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
สัทธาพลสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑. อินทริยวรรค ๕.ปฏิสังขานพลสูตร

๓. ปัญญาพลสูตร
ว่าด้วยปัญญาพละ
[๑๕๓] ภิกษุทั้งหลาย พละ (กำลัง) ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา)
๒. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ)
๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ)
๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์)
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
ปัญญาพลสูตรที่ ๓ จบ

๔. สติพลสูตร
ว่าด้วยสติพละ
[๑๕๔] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สติพละ (กำลังคือสติ)
๒. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ)
๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ)
๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์)
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
สติพลสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฏิสังขานพลสูตร
ว่าด้วยปฏิสังขานพละ
[๑๕๕] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๖. กัปปสูตร
๑. ปฏิสังขานพละ (กำลังคือการพิจารณา)
๒. ภาวนาพละ (กำลังคือการเจริญ)
๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ)
๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์)
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
ปฏิสังขานพลสูตรที่ ๕ จบ

๖. กัปปสูตร
ว่าด้วยกัป
[๑๕๖] ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ ประการนี้
อสงไขยกัป ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ในเวลาที่สังวัฏฏกัป๑ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้
หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือ
จำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
๒. ในเวลาที่สังวัฏฏฐายีกัป๒ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า
จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐
ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๗.โรคสูตร
๓. ในเวลาที่วิวัฏฏกัป๑ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวน
เท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี
หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
๔. ในเวลาที่วิวัฏฏฐายีกัป๒ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า
จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐
ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ ประการนี้แล
กัปปสูตรที่ ๖ จบ

๗. โรคสูตร
ว่าด้วยโรค
[๑๕๗] ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้
โรค ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. โรคทางกาย ๒. โรคทางใจ
สัตว์ผู้อ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางกายตลอดระยะเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปี
บ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง
แม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง ยังพอมีอยู่ แต่สัตว์ผู้จะกล่าวอ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางใจ
ตลอดระยะเวลาแม้ครู่เดียว หาได้โดยยาก ยกเว้นท่านผู้หมดกิเลสแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้
โรค ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นคนมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๘. ปริหานิสูตร
๒. เธอเมื่อมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ ย่อมตั้งความปรารถนา
ชั่วเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง
๓. เธอวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายามเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้
ลาภสักการะและชื่อเสียง
๔. เธอเข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย นั่งกล่าวธรรม กลั้นอุจจาระและ
ปัสสาวะเพื่อให้เขานับถือ
ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้แล
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายในธรรมวินัยนี้พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักไม่
เป็นคนมักมาก ไม่เป็นคนมีจิตคับแค้น ไม่เป็นคนไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ เราจักไม่ตั้งความปรารถนาชั่ว
เพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักไม่วิ่งเต้น ไม่ขวนขวาย
ไม่พยายามเพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักอดทนต่อ
ความหนาว ความร้อน ความหิวกระหาย ต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆจักเป็นผู้
อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด
เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต”
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
โรคสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปริหานิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม
[๑๕๘] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔
ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้เลยว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี
ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๑๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น