Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๓-๔ หน้า ๑๔๒ - ๑๘๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก อัฏฐก นวกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๓.นคโรปมสูตร
๓. อริยสาวก เพราะปีติคลายไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ๑ เพื่อความอุ่นใจ
เพื่อความไม่สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของตน เพื่อก้าวลงสู่นิพพาน
เปรียบเหมือนปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมอปรัณณชาติ
คือ งา ถั่วเขียว ถั่วทอง ไว้มากเพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่
สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของประชาชนภายใน และป้องกัน
อันตรายภายนอก
๔. อริยสาวก เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับ
ไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ๒ เพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่
สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของตน เพื่อก้าวลงสู่นิพพาน เปรียบ
เหมือนปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมเภสัช คือ เนยใส
เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ ไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ เพื่อ
ความไม่สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของประชาชนภายในและ
ป้องกันอันตรายภายนอก
ฌาน ๔ ประการนี้อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันที่อริยสาวก
ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้
และได้ฌาน ๔ ประการ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันนี้ตามความ
ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ภิกษุทั้งหลาย ในกาลนั้น เราจึงเรียก
อริยสาวกนี้ว่า มารมีบาปก็ทำอะไรไม่ได้
นคโรปมสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๑ หน้า ๒๒๒ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๑ หน้า ๒๒๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๔.ธัมมัญญูสูตร
๔. ธัมมัญญูสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้รู้ธรรม
[๖๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ๑นี้ เป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นธัมมัญญู ๒. เป็นอัตถัญญู
๓. เป็นอัตตัญญู ๔. เป็นมัตตัญญู
๕. เป็นกาลัญญู ๖. เป็นปริสัญญู
๗. เป็นปุคคลปโรปรัญญู๒

ภิกษุเป็นธัมมัญญู อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ หากภิกษุไม่รู้ธรรมคือ สุตตะ ฯลฯ
เวทัลละเลย เราไม่พึงเรียกเธอว่าเป็นธัมมัญญูในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้ธรรมคือ
สุตตะ ฯลฯ เวทัลละ ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่าเป็นธัมมัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญู
ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุเป็นอัตถัญญู อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ความหมายแห่งภาษิตนั้นๆ นั่นแลว่า ‘นี้เป็นความหมาย
แห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้’ หากภิกษุไม่รู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ
เลยว่า ‘นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้’ เราไม่พึง

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๒
๒ ปุคคลปโรปรัญญู หมายถึงรู้จักเลือกคน กล่าวคือรู้ว่า เมื่อคบหาคนใดอกุศลธรรมเสื่อมไปกุศลธรรมเจริญ
ขึ้น จึงเลือกคบคนนั้น เมื่อคบคนใดอกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป ก็ไม่คบคนนั้น (องฺ.สตฺตก.ฏีกา
๓/๖๘/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๔.ธัมมัญญูสูตร
เรียกเธอว่า ‘เป็นอัตถัญญู‘ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้ความหมายแห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า
‘นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้’ ฉะนั้น เราจึงเรียก
เธอว่า เป็นอัตถัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุเป็นอัตตัญญู อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักตนว่า ‘ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา
ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้’ หากภิกษุไม่รู้จักตนว่า ‘ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ
จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้’ เราไม่พึงเรียกเธอว่าเป็นอัตตัญญู
ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักตนว่า ‘ว่าโดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา
ปฏิภาณ เรามีอยู่ประมาณเท่านี้’ ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่า เป็นอัตตัญญู ภิกษุ
ชื่อว่าเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุเป็นมัตตัญญู อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร๑ หากภิกษุไม่รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เราไม่พึงเรียกเธอว่าเป็นมัตตัญญูในที่นี้
แต่เพราะภิกษุรู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชชบริขาร ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่าเป็นมัตตัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญู
อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุเป็นกาลัญญู อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักกาลว่า ‘นี้เป็นกาลแห่งอุทเทส๒ นี้เป็นกาลแห่ง
ปริปุจฉา๓ นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น’ หากภิกษุไม่รู้จักกาลว่า ‘นี้เป็น

เชิงอรรถ :
๑ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร คือเภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (วิ.อ. ๒/๒๙๐,
สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓) เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุเจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือ บริวารของชีวิต
ดุจกำแพงล้อมพระนครเพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธที่จะบั่นรอนชีวิตได้ช่องเกิดขึ้น และเป็น
สัมภาระของชีวิตคอยประคับประคองชีวิตให้ดำรงอยู่ได้นาน (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐-๔๑, ม.มู.อ. ๑/๑๙๑/๓๙๗,
ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๓) เป็นเครื่องป้องกันโรคบำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนาเนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป
(สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓)
๒ อุทเทส หมายถึงการเรียนพระพุทธพจน์ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๘/๒๐๓)
๓ ปริปุจฉา หมายถึงการสอบถามเหตุผล (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๘/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๔.ธัมมัญญูสูตร
กาลแห่งอุทเทศ นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น’
เราไม่เรียกเธอว่าเป็นกาลัญญูในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักกาลว่า ‘นี้เป็นกาลแห่งอุทเทศ
นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกาลหลีกเร้น’ ฉะนั้น เราจึง
เรียกเธอว่าเป็นกาลัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู
กาลัญญู ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุเป็นปริสัญญู อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักบริษัทว่า ‘นี้ขัตติยบริษัท นี้พราหมณบริษัท นี้
คหบดีบริษัท นี้สมณบริษัท ในบริษัทนั้นเราควรเข้าไปหาอย่างนี้ ควรยืนอย่างนี้
ควรทำอย่างนี้ ควรนั่งอย่างนี้ ควรกล่าวอย่างนี้ ควรสงบนิ่งอย่างนี้’ หากภิกษุ
ไม่รู้จักบริษัทว่า ‘นี้ขัตติยบริษัท ฯลฯ ควรสงบนิ่งอย่างนี้’ เราไม่เรียกเธอว่าเป็น
ปริสัญญู ในที่นี้ แต่เพราะภิกษุรู้จักบริษัทว่า ‘นี้ขัตติยบริษัท ฯลฯ ควรสงบนิ่ง
อย่างนี้’ ฉะนั้น เราจึงเรียกเธอว่าเป็นปริสัญญู ภิกษุชื่อว่าเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู
อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญู อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักบุคคล ๒ จำพวก บุคคล ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง
ต้องการเห็นพระอริยะ อีกพวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ บุคคลพวกที่ไม่ต้องการ
เห็นพระอริยะ ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่ต้องการเห็นพระอริยะ
ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
บุคคลผู้ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการฟังสัทธรรม
อีกพวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม บุคคลพวกที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม ก็ถูกติเตียน
ด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่ต้องการฟังสัทธรรม ก็ได้รับการสรรเสริญด้วย
เหตุนั้น อย่างนี้
บุคคลผู้ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งเงี่ยโสตฟังธรรม อีกพวก
หนึ่งไม่เงี่ยโสตฟังธรรม บุคคลพวกที่ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
อย่างนี้ บุคคลพวกที่เงี่ยโสตฟังธรรม ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๕.ปาริฉัตตกสูตร
บุคคลเงี่ยโสตฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้
อีกพวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไม่ได้ บุคคลพวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไม่ได้ ก็ถูก
ติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ ก็ได้รับการสรรเสริญ
ด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
บุคคลฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความ
แห่งธรรมที่ทรงจำไว้ อีกพวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ บุคคลพวก
ที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคล
พวกที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
บุคคลพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อีกพวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
บุคคลรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น อีกพวกหนึ่งปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น บุคคลพวกที่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ พวกที่ปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคล ๒ ฝ่ายด้วยประการฉะนี้แล ภิกษุชื่อว่า
เป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล จึงเป็นผู้ควรแก่ของที่
เขานำมาถวาย ฯลฯ๑ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธัมมัญญูสูตรที่ ๔ จบ


เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ ๑๔ หน้า ๒๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๕.ปาริฉัตตกสูตร
๕. ปาริฉัตตกสูตร
ว่าด้วยอริยสาวกเปรียบได้กับต้นปาริฉัตร
[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย
๑. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจกันว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ
ปาริฉัตรมีใบเหลือง ไม่นานนัก เดี๋ยวใบก็จักร่วงหล่น’
๒. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัดใบ สมัยนั้น
เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรผลัดใบแล้ว
ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักผลิดอกออกใบ’
๓. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลิดอก
ออกใบ สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้
สวรรค์ชื่อปาริฉัตรผลิดอกออกใบแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักเป็น
ช่อใบช่อดอก’
๔. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นช่อใบ
ช่อดอกแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้
สวรรค์ชื่อปาริฉัตรเป็นช่อใบช่อดอกแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักมี
ดอกตูม’
๕. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีดอกตูมแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ
ปาริฉัตรมีดอกตูมแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักแย้ม’
๖. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีดอกแย้มแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ
ปาริฉัตรมีดอกแย้มแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักบานสะพรั่ง’
๗. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ออกดอก
บานสะพรั่งแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจ เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ตลอด ๔ เดือนทิพย์ ณ
โคนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๕.ปาริฉัตตกสูตร
เมื่อต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรออกดอกบานสะพรั่งแล้ว แผ่รัศมีไปได้ ๕๐ โยชน์
ในบริเวณรอบ ๆ ส่งกลิ่นโชยไปตามลมได้ ๑๐๐ โยชน์ นี้เป็นอานุภาพของต้นไม้สวรรค์
ชื่อปาริฉัตร
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน
๑. สมัยใด อริยสาวกคิดออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น
อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่มีใบ
เหลือง
๒. สมัยใด อริยสาวกโกนผมและหนวด นุ่งห่มกาสาวพัสตร์ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้
สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ผลัดใบแล้ว
๓. สมัยใด อริยสาวกสงัดจากกามและอกุศลทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ฯลฯ๑ สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตร
ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ผลิดอกออกใบแล้ว
๔. สมัยใด อริยสาวก เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตร
ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่เป็นช่อใบช่อดอกแล้ว
๕. สมัยใด อริยสาวก เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ สัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวก
จึงเปรียบเหมือนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่มี
ดอกตูมแล้ว
๖. สมัยใด อริยสาวก เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวกจึง
เปรียบเหมือนต้นปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่มีดอกแย้มแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มขององค์ฌานในสูตรนี้ ดูอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๑ หน้า ๒๒๒-๒๒๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๕.ปาริฉัตตกสูตร
๗. สมัยใด อริยสาวกทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้
สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ออกดอกบานสะพรั่งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น ภุมมเทวดากระจายข่าวว่า ‘ท่านรูปนี้มีชื่ออย่างนี้
เป็นสัทธิวิหาริกของท่านผู้มีชื่อนี้ ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากบ้านหรือ
นิคมชื่อโน้น ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้’
เทวดาชั้นจาตุมหาราชสดับเสียงของภุมมเทวดาแล้ว ได้กระจายข่าวต่อไป ฯลฯ
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ
เทวดาชั้นชั้นยามา ฯลฯ
เทวดาชั้นดุสิต ฯลฯ
เทวดาชั้นนิมมานรดี ฯลฯ
เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ
เทวดาชั้นพรหมกายิกา สดับเสียงของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว ก็กระจาย
ข่าวว่า ‘ท่านรูปนี้มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของท่านผู้มีชื่อนี้ ได้ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต จากบ้านหรือนิคมชื่อโน้น ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วยประการ
ฉะนี้ นี้เป็นอานุภาพของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ
ปาริฉัตตกสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๖.สักกัจจสูตร
๖. สักกัจจสูตร
ว่าด้วยความเคารพ
[๗๐] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้น
อย่างนี้ว่า “ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรหนอแลอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้”
ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรจึงมีความคิดดังนี้ว่า
๑. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดาอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้
๒. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระธรรม ฯลฯ
๓. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยสิกขา ฯลฯ
๕. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยสมาธิ ฯลฯ
๖. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยความไม่ประมาท ฯลฯ
๗. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยปฏิสันถารอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้
ต่อมา ท่านพระสารีบุตรได้มีความคิดดังนี้ว่า “ธรรมของเราเหล่านี้ บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ทางที่ดี เราควรจะไปกราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค ธรรมของเรา
เหล่านี้จักบริสุทธิ์ และนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุรุษได้
ทองคำแท่งอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เขามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทองคำแท่งของเรานี้บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ทางที่ดี เราควรจะไปเสนอทองคำแท่งนี้แก่ช่างทอง ทองคำแท่งของเรา
นี้ไปถึงช่างทองแล้วจักบริสุทธิ์ และนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด
ธรรมของเราเหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทางที่ดี เราควรจะไป
กราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค ธรรมของเราเหล่านี้ก็จักบริสุทธิ์ และนับว่า
บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้”
ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรได้ออกจากที่หลีกเร้น๑ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ที่หลีกเร้นในที่นี้หมายถึงการอยู่ผู้เดียวด้วยผลสมาบัติ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๗/๑๐๖, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๘/๒๐๓)
หรือทำนิพพานที่สงบสุขให้เป็นอารมณ์เข้าผลสมาบัติในเวลาเช้า (ตามนัย วิ.อ. ๑/๒๒/๒๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๖.สักกัจจสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความคิดคำนึงขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยอะไรหนอแลอยู่ จึงละ
อกุศล เจริญกุศลได้’ ลำดับนั้นแลข้าพระองค์จึงเกิดความคิดดังนี้ว่า
๑. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระศาสดาอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้
๒. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระธรรม ฯลฯ
๓. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยสิกขา ฯลฯ
๕. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยสมาธิ ฯลฯ
๖. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยความไม่ประมาท ฯลฯ
๗. ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัยปฏิสันถารอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ต่อมา ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ธรรมของเรา
เหล่านี้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ทางที่ดี เราควรจะไปกราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค
ธรรมของเราเหล่านี้จักบริสุทธิ์ และนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ เปรียบ
เหมือนบุรุษได้ทองคำแท่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เขามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทองคำแท่ง
ของเรานี้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ทางที่ดีเราควรจะไปเสนอทองคำแท่งนี้แก่ช่างทอง ทองคำ
แท่งของเรานี้ไปถึงช่างทองแล้วจักบริสุทธิ์ และนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้
แม้ฉันใด ธรรมของเราเหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทางที่ดี
เราควรจะไปกราบทูลธรรมเหล่านี้แด่พระผู้มีพระภาค ธรรมของเราเหล่านี้ก็จักบริสุทธิ์
และนับว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร ภิกษุสักการะ เคารพ อาศัย
ศาสดาอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้ ฯลฯ อาศัยธรรม ฯลฯ อาศัยสงฆ์ ฯลฯ อาศัย
สิกขา ฯลฯ อาศัยสมาธิ ฯลฯ อาศัยความไม่ประมาท ฯลฯ สารีบุตร ภิกษุ
สักการะ เคารพ อาศัยปฏิสันถารอยู่ จึงละอกุศล เจริญกุศลได้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๖.สักกัจจสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
๑-๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา จักมีความ
เคารพในพระธรรม ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ก็ชื่อว่า
ไม่มีความเคารพในพระธรรมด้วย พระพุทธเจ้าข้า
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ไม่มีความ
เคารพในพระธรรม จักมีความเคารพในพระสงฆ์ ภิกษุผู้ไม่มีความ
เคารพในพระศาสดา ไม่มีความเคารพในพระธรรม ก็ชื่อว่าไม่มี
ความเคารพในพระสงฆ์ด้วย พระพุทธเจ้าข้า
๔. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ไม่มีความ
เคารพในพระธรรม ไม่มีความเคารพในพระสงฆ์ จักมีความเคารพ
ในสิกขา ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ไม่มีความเคารพใน
พระธรรม ไม่มีความเคารพในพระสงฆ์ ก็ชื่อว่าไม่มีความเคารพใน
สิกขาด้วย พระพุทธเจ้าข้า
๕. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ไม่มีความ
เคารพในพระธรรม ไม่มีความเคารพในพระสงฆ์ ไม่มีความเคารพ
ในสิกขา จักมีความเคารพในสมาธิ ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพใน
พระศาสดา ไม่มีความเคารพในพระธรรม ไม่มีความเคารพใน
พระสงฆ์ ไม่มีความเคารพในสิกขา ก็ชื่อว่าไม่มีความเคารพใน
สมาธิด้วย พระพุทธเจ้าข้า
๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ไม่มีความ
เคารพในพระธรรม ไม่มีความเคารพในพระสงฆ์ ไม่มีความเคารพ
ในสิกขา ไม่มีความเคารพในสมาธิ จักมีความเคารพในความไม่
ประมาท ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ไม่มีความเคารพ
ในพระธรรม ไม่มีความเคารพในพระสงฆ์ ไม่มีความเคารพในสิกขา
ไม่มีความเคารพในสมาธิ ก็ชื่อว่าไม่มีความเคารพในความไม่
ประมาทด้วย พระพุทธเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๖.สักกัจจสูตร
๗. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ไม่มีความ
เคารพในพระธรรม ไม่มีความเคารพในพระสงฆ์ ไม่มีความเคารพ
ในสิกขา ไม่มีความเคารพในสมาธิ ไม่มีความเคารพในความไม่
ประมาท จักมีความเคารพในปฏิสันถาร ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพ
ในพระศาสดา ไม่มีความเคารพในพระธรรม ไม่มีความเคารพ
ในพระสงฆ์ ไม่มีความเคารพในสิกขา ไม่มีความเคารพในสมาธิ
ไม่มีความเคารพในความไม่ประมาท ก็ชื่อว่าไม่มีความเคารพใน
ปฏิสันถารด้วย พระพุทธเจ้าข้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
๑-๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา จักไม่มีความ
เคารพในพระธรรม ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา ก็ชื่อว่ามี
ความเคารพในพระธรรมด้วย พระพุทธเจ้าข้า
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีเคารพในพระศาสดา มีความเคารพใน
พระธรรม จักไม่มีความเคารพในพระสงฆ์ ภิกษุผู้มีความเคารพ
ในพระศาสดา มีความเคารพในพระธรรม ก็ชื่อว่ามีความเคารพ
ในพระสงฆ์ด้วย พระพุทธเจ้าข้า
๔. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพ
ในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ จักไม่มีความเคารพในสิกขา
ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพในพระธรรม
มีความเคารพในพระสงฆ์ ก็ชื่อว่ามีความเคารพในสิกขาด้วย
พระพุทธเจ้าข้า
๕. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพ
ในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ มีความเคารพในสิกขา
จักไม่มีความเคารพในสมาธิ ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา
มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ มีความ
เคารพในสิกขา ก็ชื่อว่ามีความเคารพในสมาธิด้วย พระพุทธเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๖.สักกัจจสูตร
๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพ
ในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ มีความเคารพในสิกขา
มีความเคารพในสมาธิ จักไม่มีความเคารพในความไม่ประมาท
ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพในพระธรรม
มีความเคารพในพระสงฆ์ มีความเคารพในสิกขา มีความเคารพใน
สมาธิ ก็ชื่อว่ามีความเคารพในความไม่ประมาทด้วย พระพุทธเจ้าข้า
๗. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพ
ในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ มีความเคารพในสิกขา
มีความเคารพในสมาธิ มีความเคารพในความไม่ประมาท จักไม่มี
ความเคารพในปฏิสันถาร ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา
มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ มีความ
เคารพในสิกขา มีความเคารพในสมาธิ มีความเคารพในความไม่
ประมาท ก็ชื่อว่ามีความเคารพในปฏิสันถารด้วย พระพุทธเจ้าข้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
๑-๖. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา จักมีความเคารพใน
พระธรรมด้วย ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา ก็ชื่อว่ามีความ
เคารพในพระธรรมด้วย พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ
๗. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา ฯลฯ มีความเคารพ
ในความไม่ประมาท จักมีความเคารพในปฏิสันถารด้วย ภิกษุผู้มี
ความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพในพระธรรม มีความ
เคารพในพระสงฆ์ มีความเคารพในสิกขา มีความเคารพในสมาธิ
มีความเคารพในความไม่ประมาท ก็ชื่อว่ามีความเคารพในปฏิสันถารด้วย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร ดีจริง สารีบุตร เธอรู้ชัดเนื้อความ
แห่งภาษิตที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๖.สักกัจจสูตร
สารีบุตร
๑-๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในศาสดา จักมีความเคารพ
ในธรรม ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในศาสดา ก็ชื่อว่าไม่มีความเคารพ
ในธรรมด้วย ฯลฯ ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในศาสดา ไม่มีความ
เคารพในธรรม ไม่มีความเคารพในสงฆ์ ไม่มีความเคารพในสิกขา
ไม่มีความเคารพในสมาธิ ก็ชื่อว่าไม่มีความเคารพในความไม่
ประมาทด้วย
๗. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในศาสดา ไม่มีความ
เคารพในธรรม ไม่มีความเคารพในสงฆ์ ไม่มีความเคารพในสิกขา
ไม่มีความเคารพในสมาธิ ไม่มีความเคารพในความไม่ประมาท
จักมีความเคารพในปฏิสันถาร ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในศาสดา
ไม่มีความเคารพในธรรม ไม่มีความเคารพในสงฆ์ ไม่มีความ
เคารพในสิกขา ไม่มีความเคารพในสมาธิ ไม่มีความเคารพใน
ความไม่ประมาท ก็ชื่อว่าไม่มีความเคารพในปฏิสันถารด้วย
สารีบุตร
๑-๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีความเคารพในศาสดา จักไม่มีความ
เคารพในธรรม ภิกษุผู้มีความเคารพในศาสดา ก็ชื่อว่ามีความ
เคารพในธรรมด้วย ฯลฯ
๗. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีความเคารพในศาสดา มีความเคารพ
ในธรรม มีความเคารพในสงฆ์ มีความเคารพในสิกขา มีความ
เคารพในสมาธิ มีความเคารพในความไม่ประมาท จักไม่มีความ
เคารพในปฏิสันถาร ภิกษุผู้มีความเคารพในศาสดา มีความ
เคารพในธรรม มีความเคารพในสงฆ์ มีความเคารพในสิกขา
มีความเคารพในสมาธิ มีความเคารพในความไม่ประมาท ก็ชื่อว่า
มีความเคารพในปฏิสันถารด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๗.ภาวนาสูตร
สารีบุตร
๑-๖. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีความเคารพในศาสดา จักมีความเคารพใน
ธรรมด้วย ภิกษุผู้มีความเคารพในศาสดา ก็ชื่อว่ามีความเคารพใน
ธรรมด้วย ฯลฯ
๗. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีความเคารพในศาสดา ฯลฯ มีความเคารพใน
ความไม่ประมาท จักมีความเคารพในปฏิสันถารด้วย ภิกษุผู้มี
ความเคารพในศาสดา ฯลฯ มีความเคารพในความไม่ประมาท
ก็ชื่อว่ามีความเคารพในปฏิสันถารด้วย
สารีบุตร เธอพึงทราบเนื้อความแห่งภาษิตที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้แล โดยพิสดาร
อย่างนี้”
สักกัจจสูตรที่ ๖ จบ
๗. ภาวนาสูตร
ว่าด้วยภาวนา
[๗๑] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นประกอบภาวนาอยู่ แม้จะเกิดความ
ปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ จิตของเราจึงจะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น’ ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นก็ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะ
ไม่ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ควรกล่าวว่า เพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญ
อะไร เพราะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕
พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
เปรียบเหมือนไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่กกไม่ดี ให้ความ
อบอุ่นไม่ดี ฟักไม่ดี แม้แม่ไก่นั้นจะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ
ลูกของเราจะไช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากทำลายกระเปาะไข่ออกมาได้โดย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๗.ภาวนาสูตร
สวัสดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่ดี
ฟักไม่ดี แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นประกอบภาวนาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แม้จะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ จิตของเราจึงจะหลุดพ้นจาก
อาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น’ ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นก็ไม่หลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ควรกล่าวว่า เพราะไม่ได้เจริญ
เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นประกอบภาวนาอยู่ แม้จะไม่เกิดความปรารถนา
อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ จิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่
ถือมั่น’ ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ควรกล่าวว่า เพราะได้เจริญ เพราะได้เจริญอะไร เพราะได้เจริญ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘
เปรียบเหมือนไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่กกดีแล้ว ให้ความ
อบอุ่นดีแล้ว ฟักดีแล้ว แม้แม่ไก่นั้นจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ ลูกของเราจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากทำลายกระเปาะไข่ออกมาได้โดย
สวัสดี’ ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากทำลาย
กระเปาะไข่ออกมาได้โดยสวัสดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกดี
แล้ว ให้ความอบอุ่นดีแล้ว ฟักดีแล้ว แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นประกอบภาวนาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะ
ไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ จิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น’ ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๘.อัคคิกขันโธปมสูตร
เพราะไม่ถือมั่นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ควรกล่าวว่า เพราะได้เจริญ เพราะได้เจริญ
อะไร เพราะได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือที่ด้ามมีด
ปรากฏแก่ช่างไม้ หรือลูกมือช่างไม้ แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า ‘วันนี้ ด้ามมีดของเรา
กร่อนไปเท่านี้ เมื่อวานนี้เท่านี้ เมื่อวานซืนเท่านี้’ ก็จริง แต่เมื่อด้ามมีดกร่อนไป
เขาก็รู้ว่า กร่อนไปแล้วนั่นเอง แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นประกอบภาวนาอยู่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่
รู้อย่างนี้ว่า ‘วันนี้ อาสวะของเราสิ้นไปแล้วเท่านี้ เมื่อวานนี้เท่านี้ เมื่อวานซืนเท่านี้’
ก็จริง แต่เมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็รู้ว่า ‘สิ้นไปแล้ว’ นั่นเอง
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือเดินสมุทรที่เขาผูกด้วยหวาย และขันชะเนาะแล้ว
แล่นไปในน้ำตลอด ๖ เดือน พอถึงฤดูหนาว ก็ถูกเข็นขึ้นบก เครื่องผูกเรือตากลม
และแดดไว้ เครื่องผูกเหล่านั้นถูกฝนตกชะ ย่อมชำรุดเสียหายไปโดยไม่ยาก ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นประกอบภาวนาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สังโยชน์
ทั้งหลายย่อมระงับ ดับไปโดยไม่ยาก
ภาวนาสูตรที่ ๗ จบ
๘. อัคคิกขันโธปมสูตร
ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยกองไฟ
[๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จดำเนินทางไกล ได้ทอดพระเนตรเห็นกองไฟใหญ่ ที่กำลังลุกโชนโชติช่วง
อยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ครั้นแล้วจึงเสด็จแวะลงข้างทาง ประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นกองไฟใหญ่โน้นที่กำลังลุกโชนโชติช่วงอยู่หรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๘.อัคคิกขันโธปมสูตร
๑. “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ระหว่างการเข้าไปนั่ง
กอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้นที่กำลังลุกโชนโชติช่วงอยู่ กับการเข้าไปนั่งกอดหรือ
นอนกอดธิดากษัตริย์ ลูกสาวพราหมณ์ หรือลูกสาวคหบดีที่มีมือและเท้าอ่อนนุ่ม อย่าง
ไหนประเสริฐกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การที่บุคคลเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดธิดากษัตริย์
ลูกสาวพราหมณ์ หรือลูกสาวคหบดีที่มีมือและเท้าอ่อนนุ่มนี้ประเสริฐกว่า ส่วนการ
ที่บุคคลเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้นที่กำลังลุกโชนโชติช่วงอยู่นี้ เป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคล
ผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด
ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี๑
เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ เข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดธิดา
กษัตริย์ ลูกสาวพราหมณ์ หรือลูกสาวคหบดี จะประเสริฐอะไร การเข้าไปนั่งกอด
หรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้นที่กำลังลุกโชนโชติช่วงนี้ประเสริฐกว่า ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะเขาจะพึงเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย อันมีการเข้าไปนั่งกอด
หรือนอนกอดกองไฟใหญ่นั้นเป็นเหตุ แต่เขาหลังจากตายแล้ว ก็จะไม่ไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟนั้นเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความ
ประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่
พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือน
หยากเยื่อ เข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดธิดากษัตริย์ ลูกสาวพราหมณ์ หรือลูกสาว
คหบดีนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่บุคคล
ผู้ทุศีลนั้น และหลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี หมายถึงตนเองไม่มีศีล หมดสภาพความเป็นภิกษุ แต่ยัง
เรียกตนว่า ‘เป็นภิกษุ‘แล้วร่วมอยู่ร่วมฉันกับภิกษุอื่นผู้มีศีล ใช้สิทธิ์ถือเอาลาภที่เกิดขึ้นในสงฆ์ (องฺ.ติก.อ.
๒/๑๓/๘๖) และดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๓/๑๕๒-๑๕๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๘.อัคคิกขันโธปมสูตร
๒. ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ระหว่างการที่บุรุษผู้มี
กำลังใช้เชือกหนังที่เหนียวพันแข้งทั้ง ๒ ข้างแล้วดึงถูไปมา เชือกหนังนั้นพึงบาดผิว
ครั้นบาดผิวแล้วพึงบาดหนัง ครั้นบาดหนังแล้วพึงบาดเนื้อ ครั้นบาดเนื้อแล้ว
พึงตัดเส้นเอ็น ครั้นตัดเส้นเอ็นแล้วพึงตัดกระดูก ครั้นตัดกระดูกแล้วพึงจรด
เยื่อกระดูก กับการยินดีการกราบไหว้ของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล
หรือคหบดีมหาศาล อย่างไหนประเสริฐกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การยินดีการกราบไหว้ของขัตติยมหาศาล พราหมณ-
มหาศาล หรือคหบดีมหาศาลนี้ประเสริฐกว่า การที่บุรุษผู้มีกำลังใช้เชือกหนังที่
เหนียวพันแข้งทั้ง ๒ ข้างแล้วดึงถูไปมา เชือกหนังนั้นพึงบาดผิวแล้ว ฯลฯ พึงจรด
เยื่อกระดูกนี้ เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคล
ผู้ทุศีลนั้น ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ ยินดีการกราบไหว้ของขัตติยมหาศาล
พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล จะประเสริฐอะไร การที่บุรุษผู้มีกำลังใช้
เชือกหนังที่เหนียวพันแข้งทั้ง ๒ ข้างแล้วดึงถูไปมา เชือกหนังนั้นพึงบาดผิว ฯลฯ
พึงจรดเยื่อกระดูกนี้เท่านั้นประเสริฐกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาพึงเข้าถึงความตาย
หรือทุกข์ปางตายอันมีการบาดผิวเป็นต้นนั้นเป็นเหตุ แต่หลังจากตายแล้ว เขาจะไม่
ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเชือกหนังบาดผิวเป็นต้นนั้นเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ ยินดีการ
กราบไหว้ของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล ย่อมเป็นไป
เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น และหลังจาก
ตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
๓. ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ระหว่างการที่บุรุษผู้มี
กำลังใช้หอกที่คมชะโลมด้วยน้ำมันพุ่งใส่กลางอก กับการยินดีการไหว้ของขัตติยมหาศาล
พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล อย่างไหนประเสริฐกว่ากัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๘.อัคคิกขันโธปมสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การยินดีการไหว้ของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล
หรือคหบดีมหาศาล ประเสริฐกว่า ส่วนการที่บุรุษผู้มีกำลังใช้หอกที่คมชะโลมด้วย
น้ำมัน พุ่งใส่กลางอกนี้เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคล
ผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ ยินดีการไหว้ของขัตติยมหาศาล พราหมณ-
มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล จะประเสริฐอะไร การที่บุรุษผู้มีกำลังใช้หอกที่คม
ชะโลมด้วยน้ำมันพุ่งใส่กลางอกนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
เขาจะพึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตายอันมีหอกที่คมชะโลมด้วยน้ำมันพุ่งใส่
กลางอกเป็นเหตุ แต่หลังจากตายแล้ว เขาจะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เพราะการถูกหอกแทงนั้นเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ ยินดีการ
ไหว้ของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล ย่อมเป็นไปเพื่อ
มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น และหลังจาก
ตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
๔. ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ระหว่างการที่บุรุษผู้มี
กำลังใช้แผ่นเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วงนาบกายกับการใช้สอยจีวรที่เขาถวาย
ด้วยศรัทธาของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล อย่างไหน
จะประเสริฐกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การที่บุคคลผู้ทุศีลใช้สอยจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา
ของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาลนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่า
ส่วนการที่บุรุษผู้มีกำลังใช้แผ่นเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วงนาบกายตัวเองนี้เป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคล
ผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ ใช้สอยจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของขัตติย-
มหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล จะประเสริฐอะไร การที่บุรุษผู้
มีกำลังใช้แผ่นเหล็กร้อน ที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วงนาบกายนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๘.อัคคิกขันโธปมสูตร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาพึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย อันมีการถูก
นาบกายด้วยแผ่นเหล็กร้อนนั้นเป็นเหตุ แต่หลังจากตายแล้ว เขาจะไม่ไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการถูกนาบกายด้วยแผ่นเหล็กร้อนนั้นเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ ใช้สอยจีวร
ที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น และ
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
๕. ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ระหว่างการที่บุรุษ
ผู้มีกำลังใช้ตะขอเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วงง้างปากแล้ว ใส่ก้อนเหล็กร้อน
ที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วงเข้าไปในปาก ก้อนเหล็กร้อนนั้นพึงไหม้ริมฝีปากบ้าง ไหม้
ปากบ้าง ไหม้ลิ้นบ้าง ไหม้คอบ้าง ไหม้อกบ้าง พาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง
ออกทางทวารเบื้องล่างของคนนั้น กับการฉันบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธาของ
ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล อย่างไหนประเสริฐ
กว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การฉันบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติยมหาศาล
พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาลนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่า การที่บุรุษผู้มีกำลัง
ใช้ตะขอเหล็กร้อน ที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วงง้างปากแล้ว ใส่ก้อนเหล็กร้อน ที่เผาไฟ
ลุกโชนโชติช่วงเข้าไปในปาก ก้อนเหล็กร้อนนั้นพึงไหม้ริมฝีปากบ้าง ไหม้ปากบ้าง
ไหม้ลิ้นบ้าง ไหม้คอบ้าง ไหม้อกบ้าง พาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกทางทวาร
เบื้องล่างของคนนั้นนี้เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคล
ผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ ฉันบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติย-
มหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล จะประเสริฐอะไร การที่บุรุษ
ผู้มีกำลังใช้ตะขอเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วงง้างปากแล้ว ใส่ก้อนเหล็กร้อน
ที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วงเข้าไปในปาก ก้อนเหล็กร้อนนั้นพึงไหม้ริมฝีปากบ้าง ไหม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๘.อัคคิกขันโธปมสูตร
ปากบ้าง ไหม้ลิ้นบ้าง ไหม้คอบ้าง ไหม้อกบ้าง พาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกทาง
ทวารเบื้องล่างของคนนั้นนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาพึง
เข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย อันมีการใส่ก้อนเหล็กร้อนนั้นเป็นเหตุ แต่หลัง
จากตายแล้ว เขาจะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการใส่ก้อนเหล็ก
ร้อนนั้นเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ ฉันบิณฑบาต
ที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น
และหลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
๖. ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ระหว่างการที่บุรุษผู้มี
กำลังจับศีรษะหรือคอแล้วให้นั่งทับ หรือนอนทับเตียงเหล็กร้อน ที่เผาไฟลุกโชน
โชติช่วง กับการใช้สอยเตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติยมหาศาล พราหมณ-
มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล อย่างไหนประเสริฐกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การใช้สอยเตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติย-
มหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาลเท่านั้น ประเสริฐกว่า การที่บุรุษ
ผู้มีกำลังจับศีรษะ หรือคอแล้วให้นั่งทับ หรือนอนทับเตียงเหล็กร้อน ที่เผาไฟลุกโชน
โชติช่วงนี้เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคล
ผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ การใช้สอยเตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธาของ
ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล จะประเสริฐอะไร การที่
บุรุษผู้มีกำลังจับศีรษะหรือคอแล้ว ให้นั่งทับหรือนอนทับเตียงเหล็กร้อน ที่เผาไฟลุก
โชนโชติช่วงนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาจะพึงเข้าถึง
ความตาย หรือทุกข์ปางตายอันมีการนั่งหรือนอนทับเตียงตั่งเหล็กร้อนนั้นเป็นเหตุ
แต่หลังจากตายแล้ว เขาจะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการ
นั่งหรือนอนทับเตียงตั่งเหล็กร้อนนั้นเป็นปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๘.อัคคิกขันโธปมสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ การใช้สอย
เตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดี
มหาศาล ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่บุคคลผู้
ทุศีลนั้น และหลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
๗. ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ระหว่างการที่บุรุษ
ผู้มีกำลังจับคนชูเท้าขึ้น ห้อยศีรษะลงแล้วโยนลงในหม้อเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชน
โชติช่วง เขาถูกไฟลวกเดือดโผล่ขึ้นเป็นฟองในหม้อเหล็กร้อนนั้น บางครั้งก็ลอยขึ้น
บางครั้งก็จมลง บางครั้งก็ลอยขวาง กับการใช้สอยวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา
ของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล อย่างไหนประเสริฐ
กว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การใช้สอยวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติยมหาศาล
พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาลเท่านั้น ประเสริฐกว่า การที่บุรุษผู้มีกำลัง
จับคนชูเท้าขึ้น ห้อยศีรษะลงแล้วโยนลงในหม้อเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วง
เขาถูกไฟลวกเดือดโผล่ขึ้นเป็นฟองในหม้อเหล็กร้อนนั้น บางครั้งก็ลอยขึ้น บางครั้ง
ก็จมลง บางครั้งก็ลอยขวางนี้เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคล
ทุศีล ฯลฯ เป็นเหมือนหยากเยื่อ การใช้สอยวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติย-
มหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดีมหาศาล จะประเสริฐอะไร การที่บุรุษผู้มี
กำลังจับคนชูเท้าขึ้น ห้อยศีรษะลงแล้วโยนลงในหม้อเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วง
เขาถูกไฟลวกเดือดโผล่ขึ้นเป็นฟองในหม้อเหล็กร้อนนั้น บางครั้งก็ลอยขึ้น บางครั้ง
ก็จมลง บางครั้งก็ลอยขวางนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขา
พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตายอันมีการถูกโยนลงในหม้อเหล็กร้อนนั้นเป็นเหตุ
แต่หลังจากตายแล้ว เขาจะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการถูก
โยนลงในหม้อเหล็กร้อนนั้นเป็นปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๘.อัคคิกขันโธปมสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล ฯลฯ เป็นดุจหยากเยื่อ การใช้สอย
วิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาของขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล หรือคหบดี-
มหาศาล ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่บุคคลผู้
ทุศีลนั้น และหลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
ใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารของชนเหล่าใด
สักการะเหล่านั้นของชนเหล่านั้นจักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก และการบรรพชาของ
เราทั้งหลาย จักไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียก
อย่างนี้แล
อีกประการหนึ่ง เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุเมื่อพิจารณาเห็น
ประโยชน์ตน ก็ควรที่จะทำประโยชน์ตนนั้นให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทโดยแท้
เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของผู้อื่น ก็ควรทำประโยชน์ของผู้อื่นนั้นให้สำเร็จด้วย
ความไม่ประมาทโดยแท้ หรือเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง ก็ควรทำ
ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างนั้นให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว และเมื่อพระองค์กำลังตรัส
เวยยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปได้กระอักเลือดอุ่นๆ ออกมา ภิกษุ
ประมาณ ๖๐ รูป ได้บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ด้วยกราบทูลว่า “ข้าแต่
พระผู้มีพระภาค การประพฤติพรหมจรรย์ ทำได้ยากแสนยาก ข้าแต่พระผู้มี
พระภาค การประพฤติพรหมจรรย์ ทำได้ยากแสนยาก” ภิกษุอีกประมาณ ๖๐ รูป
มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ฉะนี้แล
อัคคิกขันโธปมสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๙.สุเนตตสูตร
๙. สุเนตตสูตร
ว่าด้วยครูชื่อสุเนตตะ๑
[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่อสุเนตตะ เป็นเจ้าลัทธิผู้
ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่
สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลก สาวกเหล่าใด เมื่อครูสุเนตตะ
แสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลกอยู่ ไม่ทำจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น
หลังจากตายแล้ว ได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อครู
สุเนตตะแสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลกอยู่ ได้ทำจิตให้เลื่อมใส สาวก
เหล่านั้นหลังจากตายแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่อมูคปักขะ ฯลฯ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่อ
อรเนมิ ฯลฯ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่อกุททาละ ฯลฯ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครู
ชื่อหัตถิปาละ ฯลฯ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่อโชติปาละ ฯลฯ เรื่องเคยมีมาแล้ว
มีครูชื่ออรกะเป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลาย
ร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลก สาวกเหล่าใด
เมื่อครูอรกะแสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลกอยู่ ไม่ทำจิตให้เลื่อมใส
สาวกเหล่านั้นหลังจากตายแล้ว ได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวก
เหล่าใด เมื่อครูชื่ออรกะแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลกอยู่ ได้ทำจิตให้
เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นหลังจากตายแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ผู้ใดถูกโทสะประทุษร้าย
พึงด่าบริภาษครูทั้ง ๗ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย
มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นจะพึงประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
หรือไม่

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๔/๕๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๑๐.อรกสูตร
“พึงประสพ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีจิตถูกโทสะประทุษร้าย พึงด่าพึงบริภาษครูทั้ง ๗ นี้
ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน
พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก ส่วนผู้ใดมีจิตถูกโทสะ
ประทุษร้าย พึงด่าบริภาษบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ๑คนเดียว ผู้นั้นย่อมประสพ
สิ่งที่มิใช่บุญมากกว่าบุคคลผู้ด่าบริภาษครูทั้ง ๗ นั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรา
ไม่กล่าวว่าการขุดโค่นคุณความดีของตนเช่นนี้ จะมีภายนอกศาสนานี้ เหมือนการ
ด่าการบริภาษเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเรา
ทั้งหลายจักไม่คิดประทุษร้ายในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียก
อย่างนี้แล”
สุเนตตสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. อรกสูตร
ว่าด้วยครูชื่ออรกะ
[๗๔] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่ออรกะ เป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจาก
ความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกอย่างนี้ว่า
“พราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายมีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์
ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันซึ่งมีชื่อว่า “ผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ” บ้าง
“ผู้มาสู่พระสัทธรรม” บ้าง “ผู้ประกอบด้วยฌานของพระเสขะ” บ้าง “ผู้ประกอบด้วยวิชชาของพระเสขะ”
บ้าง “ผู้เข้าถึงกระแสธรรม” บ้าง “ผู้มีปัญญาแทงตลอด” บ้าง “ผู้ยืนจรดประตูอมตะ” บ้าง (องฺ.เอกก.อ.
๑/๒๖๘/๔๐๒, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๑๐.อรกสูตร
พราหมณ์ หยาดน้ำค้างที่ยอดหญ้า เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ก็เหือดแห้งไปอย่าง
รวดเร็ว อยู่ได้ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เปรียบด้วยหยาดน้ำค้าง
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมา
แล้วจะไม่ตาย
พราหมณ์ เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตก ฟองน้ำย่อมแตกหายไปอย่างรวดเร็ว คงอยู่ได้
ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เปรียบด้วยฟองน้ำ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา
พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย
พราหมณ์ รอยขีดในน้ำย่อมขาดหายไปอย่างรวดเร็ว คงอยู่ได้ไม่นาน
แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เปรียบด้วยรอยขีดในน้ำ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว ฯลฯ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย
พราหมณ์ แม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขา มาจากที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่
พาไปได้ ไม่มีขณะ เวลา หรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด โดยที่แท้ แม่น้ำนั้นย่อมไหลบ่า
เรื่อยไป แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เปรียบด้วยแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขา
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว ฯลฯ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้ว
จะไม่ตาย
พราหมณ์ บุรุษผู้มีกำลังอมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้นแล้ว พึงถ่มทิ้งไปโดยไม่
ยากนัก แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เปรียบด้วยก้อนเขฬะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว ฯลฯ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย
พราหมณ์ ชิ้นเนื้อที่เขาใส่ไว้ในกระทะเหล็กที่ถูกเผาไฟตลอดทั้งวัน ย่อมหดหาย
ไปอย่างรวดเร็ว คงอยู่ได้ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เปรียบด้วย
ชิ้นเนื้อ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว ฯลฯ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมา
แล้วจะไม่ตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๑๐.อรกสูตร
พราหมณ์ แม่โคที่จะถูกฆ่า ถูกเขานำไปสู่ที่ฆ่า ยกเท้าขึ้นคราวใด ก็ยิ่งใกล้
ถูกฆ่า ใกล้ตายเข้าไปคราวนั้น แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เปรียบด้วยแม่โค
ที่จะถูกฆ่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว ฯลฯ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิด
มาแล้วจะไม่ตาย
ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้มีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี เด็ก
หญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงมีสามีได้ สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอาพาธเพียง ๖ อย่าง
เท่านั้น คือ หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนอย่างนี้ ดำรงอยู่ได้นานอย่างนี้ และมีอาพาธน้อย
อย่างนี้ ไฉนครูอรกะนั้นยังแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า “พราหมณ์ ชีวิต
ของมนุษย์ มีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมา
แล้วจะไม่ตาย”
ภิกษุทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวถึงชีวิตนั้นให้ถูกต้อง พึงกล่าวว่า “ชีวิต
ของมนุษย์ทั้งหลายมีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความ
คับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก
สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย”
ภิกษุทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ ผู้มีอายุยืนจะอยู่ได้ ๑๐๐ ปี น้อยกว่านั้นก็มี
มากกว่านั้นก็มี ส่วนคนที่อยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปี จะอยู่ได้ ๓๐๐ ฤดูเท่านั้น คือ
ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดูฝน ๑๐๐ คนที่อยู่ได้ถึง ๓๐๐ ฤดู จะอยู่ได้ถึง
๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ ฤดูร้อน ๔๐๐ ฤดูฝน ๔๐๐ คนที่อยู่ได้ถึง
๑,๒๐๐ เดือน จะอยู่ได้ถึง ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน
๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน คนที่อยู่ได้ถึง ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน จะอยู่ได้ถึง
๓๖,๐๐๐ ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูฝน
๑๒,๐๐๐ ราตรี คนที่อยู่ได้ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี จะบริโภคอาหารได้ ๗๒,๐๐๐ มื้อ
คือ ฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ มื้อ นับรวม
ถึงการดื่มนมมารดาและเหตุที่ทำให้ไม่ได้บริโภคอาหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ในข้อนั้น เหตุที่ทำให้ไม่ได้บริโภคอาหารมีดังนี้ คนโกรธก็ไม่บริโภคอาหาร
คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร คนเจ็บไข้ก็ไม่บริโภคอาหาร คนรักษาอุโบสถก็ไม่
บริโภคอาหาร และคนหาอาหารไม่ได้ก็ไม่บริโภคอาหาร
ภิกษุทั้งหลาย เราได้กำหนดอายุ กำหนดประมาณอายุ กำหนดฤดู กำหนดปี
กำหนดเดือน กำหนดกึ่งเดือน กำหนดราตรี กำหนดวัน กำหนดอาหาร และ
กำหนดอันตรายแห่งการบริโภคอาหารของมนุษย์ผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี ด้วยประการ
ฉะนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย กิจใด ที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัย
ความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ภิกษุ
ทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง๑ เธอทั้งหลายจงเพ่ง๒ อย่าประมาท อย่าเป็นผู้มี
วิปปฏิสาร (ความร้อนใจ) ในภายหลังเลย นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลาย
อรกสูตรที่ ๑๐ จบ
มหาวรรคที่ ๑๐ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. หิริโอตตัปปสูตร ๒. สัตตสุริยสูตร
๓. นคโรปมสูตร ๔. ธัมมัญญูสูตร
๕. ปาริฉัตตกสูตร ๖. สักกัจจสูตร
๗. ภาวนาสูตร ๘. อัคคิกขันโธปมสูตร
๙. สุเนตตสูตร ๑๐. อรกสูตร


เชิงอรรถ :
๑ คำว่า นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกเสนาสนะ หรือสถานที่ที่สงัดปราศจากคน
เหมาะแก่การบำเพ็ญความเพียรแก่ภิกษุ ประหนึ่งว่า ทรงมอบมรดก (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๗๓/๓๖)
๒ เพ่ง ในที่นี้หมายถึงเจริญสมถกัมมัฏฐานโดยเพ่งอารมณ์กัมมัฏฐาน ๓๘ ประการ และเจริญวิปัสสนา-
กัมมัฏฐานโดยเพ่งขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้นว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยง (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๗๓/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๑.ปฐมวินยธรสูตร
๘. วินยวรรค
หมวดว่าด้วยวินัย๑
๑. ปฐมวินยธรสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของพระวินัยธร สูตรที่ ๑
[๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ
เป็นพระวินัยธรได้
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักลหุกาบัติ
๔. รู้จักครุกาบัติ๒
๕. มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์๓ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ

เชิงอรรถ :
๑ พระสูตรที่ ๑-๘ ในวรรคนี้ ดูเปรียบเทียบกับคัมภีร์บริวาร (วิ.ป. ๘/๓๒๗/๒๘๘-๒๙๑)
๒ รู้จักอาบัติ หมายถึงรู้อาบัติที่ท่านแสดงไว้ในสิกขาบทและสิกขาบทวิภังค์ (อธิบายสิกขาบท)
รู้จักอนาบัติ หมายถึงสามารถวินิจฉัยเรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอาบัติแต่ไม่ถึงกับต้องอาบัติ เช่น นางภิกษุณี
อุบลวรรณาถูกข่มขืน ท่านไม่ยินดี จึงไม่ต้องอาบัติ ดู วิ.มหา (แปล) ๑/๖๘/๕๖-๕๗
รู้จักลหุกาบัติ หมายถึงรู้ว่าอาบัติ ๕ อย่าง คือ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต จะพ้น
ได้ด้วยวินัยกรรมเบาคือการแสดงอาบัติ(เทสนาวิธี)
รู้จักครุกาบัติ หมายถึงรู้ว่าสังฆาทิเสสจะพ้นได้ด้วยวินัยกรรมหนักคือวุฏฐานวิธี (ระเบียบเครื่องออกจาก
อาบัติ ๔ อย่าง คือ ปริวาส มานัต อัพภาน และปฏิกัสสนา) และรู้ว่าปาราชิกไม่สามารถจะพ้นได้ด้วยวินัย
กรรมอะไร ๆ (วิ.อ. ๓/๓๒๑/๔๔๒)
๓ สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำดังนี้ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงศีลสิกขาบทที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ = รักษา + โมกขะ = ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๓.ตติยวินยธรสูตร
และโคจร๑ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย
๖. ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๗. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นพระวินัยธรได้
ปฐมวินยธรสูตรที่ ๑ จบ
๒. ทุติยวินยธรสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของพระวินัยธร สูตรที่ ๒
[๗๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นพระวินัยธรได้
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและทาง
วาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือ การไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิดที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ เช่น ไม่
เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องสาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่า
คฤหัสถ์ ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว
(วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๘)
โคจร หมายถึงสถานที่เที่ยวไปของภิกษุซึ่งไม่มีหญิงแพศยา(โสเภณี) ไม่มีหญิงหม้าย ไม่มีสาวเทื้อ (สาวแก่)
ไม่มีบัณเฑาะก์ ไม่มีภิกษุณี ไม่มีร้านสุรา ไม่เป็นสถานที่ต้องคลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ และพวก
เดียรถีย์ ตรงกันข้าม ต้องเป็นสถานที่ของตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวะ
อบอวลด้วยกลิ่นฤาษี มุ่งหวังความผาสุกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นสถานที่ที่ภิกษุสำรวม
อินทรีย์ ๖ งดเว้นการขวนขวายในการดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกต่อกุศล เช่น การฟ้อน ขับร้อง ประโคมดนตรี
อนึ่ง คำว่า โคจร นี้หมายถึงธรรมที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ สติปัฏฐาน ๔ (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๙๖/๕๗๑-๕๗๒, วิสุทฺธิ ๑/๑๔/๑๗-๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๓.ตติยวินยธรสูตร
๓. รู้จักลหุกาบัติ
๔. รู้จักครุกาบัติ
๕. ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสอง๑ได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร
วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ๒
๖. ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๗. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นพระวินัยธรได้
ทุติยวินยธรสูตรที่ ๒ จบ
๓. ตติยวินยธรสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของพระวินัยธร สูตรที่ ๓
[๗๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นพระวินัยธรได้
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ ปาติโมกข์ทั้งสอง ในที่นี้หมายถึงวิภังค์ ๒ คือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยภิกขุปาติโมกข์ กล่าวคือสิกขาบทใน
ปาติโมกข์ฝ่ายภิกษุ ๒๒๗ ข้อ และภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยภิกขุนีปาติโมกข์ กล่าวคือสิกขาบทฝ่ายภิกษุณี
๓๑๑ ข้อ (วิ.อ.๒/๑๔๕-๑๔๗/๓๑๙)
๒ วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร ในที่นี้หมายถึงวินิจฉัยได้ดีด้วยคัมภีร์ขันธกะและปริวารแห่งพระวินัยปิฎก วินิจฉัยได้
ดีโดยอนุพยัญชนะ หมายถึงวินิจฉัยบทอักษรให้สมบูรณ์ ไม่ตกหล่น (วิ.อ. ๒/๑๔๕-๑๔๗/๓๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๔.จตุตถวินยธรสูตร
๓. รู้จักลหุกาบัติ
๔. รู้จักครุกาบัติ
๕. เป็นผู้ตั้งมั่น ไม่ง่อนแง่นในวินัย๑
๖. ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๗. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นพระวินัยธรได้
ตติยวินยธรสูตรที่ ๓ จบ
๔. จตุตถวินยธรสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของพระวินัยธร สูตรที่ ๔
[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นพระวินัยธรได้
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักลหุกาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ ตั้งมั่นไม่ง่อนแง่น หมายถึงหนักแน่นมั่นคงและมั่นใจในเรื่องที่ตนวินิจฉัยไว้ดีแล้ว ไม่กวัดแกว่งโอนเอียง
คล้อยตามความคิดของผู้อื่น เมื่อถูกถามในเรื่องบาลี อรรถกถาตอนต้น ตอนปลาย ตามลำดับบท ก็ไม่
หวั่นไหวสะทกสะท้าน สามารถยืนยันได้ด้วยว่า ‘ข้าพเจ้าพูดอย่างนี้ อาจารย์ของข้าพเจ้าพูดอย่างนี้’ แยก
ตอบเป็นประเด็นได้ชัดเจน ดุจการใช้แหนบถอนขนที่ละเส้น (องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๗๕-๘๒/๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๕.ปฐมวินยธรโสภณสูตร
๔. รู้จักครุกาบัติ
๕. ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ๑
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ
อย่างนี้
๖. เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ๒
รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้
๗. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นพระวินัยธรได้
จตุตถวินยธรสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปฐมวินยธรโสภณสูตร
ว่าด้วยเหตุให้พระวินัยธรสง่างาม สูตรที่ ๑
[๗๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นพระวินัยธร
ย่อมสง่างาม
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๑ หน้า ๒๒๓ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๑ หน้า ๒๒๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๖.ทุติยวินยธรโสภณสูตร
๓. รู้จักลหุกาบัติ
๔. รู้จักครุกาบัติ
๕. มีศีล ฯลฯ๑ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๖. ได้ฌาน ๔ ฯลฯ ได้โดยไม่ลำบาก
๗. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นพระวินัยธร ย่อม
สง่างาม
ปฐมวินยธรโสภณสูตรที่ ๕ จบ
๖. ทุติยวินยธรโสภณสูตร
ว่าด้วยเหตุให้พระวินัยธรสง่างาม สูตรที่ ๒
[๘๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นพระวินัยธร
ย่อมสง่างาม
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักลหุกาบัติ
๔. รู้จักครุกาบัติ
๕. ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร
วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ ๗๕ (ปฐมวินยธรสูตร) หน้า ๑๗๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๗.ตติยวินยธรโสภณสูตร
๖. ได้ฌาน ๔ ฯลฯ ได้โดยไม่ลำบาก
๗. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นพระวินัยธร
ย่อมสง่างาม
ทุติยวินยธรโสภณสูตรที่ ๖ จบ
๗. ตติยวินยธรโสภณสูตร
ว่าด้วยเหตุให้พระวินัยธรสง่างาม สูตรที่ ๓
[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นพระวินัยธร
ย่อมสง่างาม
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักลหุกาบัติ
๔. รู้จักครุกาบัติ
๕. เป็นผู้ตั้งมั่น ไม่ง่อนแง่นในวินัย
๖. ได้ฌาน ๔ ฯลฯ ได้โดยไม่ลำบาก
๗. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นพระวินัยธร ย่อม
สง่างาม
ตติยวินยธรโสภณสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๙.สัตถุสาสนสูตร
๘. จตุตถวินยธรโสภณสูตร
ว่าด้วยเหตุให้พระวินัยธรสง่างาม สูตรที่ ๔
[๘๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นพระวินัยธร
ย่อมสง่างาม
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักลหุกาบัติ
๔. รู้จักครุกาบัติ
๕. ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ
อย่างนี้
๖. เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้
๗. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นพระวินัยธร
ย่อมสง่างาม
จตุตถวินยธรโสภณสูตรที่ ๘ จบ
๙. สัตถุสาสนสูตร
ว่าด้วยสัตถุศาสน์
[๘๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
โดยย่อแก่ข้าพระองค์ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้วจะพึงหลีกออกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค ๑๐.อธิกรณสมถสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี เธอรู้ธรรมเหล่าใดว่า ‘ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นไป
เพื่อความเบื่อหน่ายอย่างที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ
เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน’ เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้ให้ดีว่า ‘นี้ไม่ใช่ธรรม
นี้ไม่ใช่วินัย นี้ไม่ใช่สัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดา)’ แต่เธอรู้ธรรมเหล่าใดว่า
‘ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน’ เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้ให้ดีว่า
‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์”
สัตถุสาสนสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. อธิกรณสมถสูตร
ว่าด้วยอธิกรณสมถธรรม
[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย อธิกรณสมถธรรม(ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์) ๗ ประการนี้
เพื่อระงับ เพื่อดับอธิกรณ์๑ที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ
ธรรม ๗ ประการ๒ อะไรบ้าง คือ
๑. สงฆ์พึงให้สัมมุขาวินัย ๒. สงฆ์พึงให้สติวินัย
๓. สงฆ์พึงให้อมูฬหวินัย ๔. สงฆ์พึงให้ปฏิญญาตกรณะ

เชิงอรรถ :
๑ อธิกรณ์ ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี ๔ อย่าง คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ การถกเถียงกันเกี่ยว
กับพระธรรมวินัย (๒)อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (๓)อาปัตตาธิกรณ์ การต้อง
อาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวเองให้พ้นจากอาบัติ (๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ
เช่น การให้อุปสมบท การให้ผ้ากฐิน เป็นต้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๓) และดู วิ.จู. ๖/๒๑๕/๒๔๕-๒๔๖
๒ สัมมุขาวินัย หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าคือต้องพร้อมทั้ง ๔ พร้อมดังนี้ (๑) พร้อมหน้าสงฆ์
ได้แก่ ภิกษุเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ในแต่ละกรณี (๒) พร้อมหน้าบุคคล ได้แก่ คู่กรณี
หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้า (๓) พร้อมหน้าวัตถุได้แก่ ยกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมาวินิจฉัย
(๔) พร้อมหน้าธรรม ได้แก่ วินิจฉัยถูกต้องตามธรรมวินัย
สติวินัย หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยประกาศสมมติให้ว่าพระอรหันต์เป็นพระอริยะผู้มีสติสมบูรณ์ เป็นวิธี
ระงับโดยเอาสติเป็นหลักในกรณีที่มีผู้โจทพระอรหันตขีณาสพ เป็นการบอกให้รู้ว่าใครจะโจทพระอรหันต์ไม่ได้
อมูฬหวินัย หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยยกประโยชน์แก่ภิกษุที่หายเป็นบ้าแล้วในกรณีที่มีผู้โจทภิกษุนั้น
ด้วยอาบัติที่ต้องในขณะเป็นบ้า สงฆ์จะสวดประกาศสมมติเพื่อไม่ให้ใคร ๆ โจทเธอด้วยอาบัติ
ปฏิญญาตกรณะ หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยปรับอาบัติตามคำรับสารภาพของภิกษุผู้ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๘.วินยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๕. สงฆ์พึงให้เยภุยยสิกา ๖. สงฆ์พึงให้ตัสสปาปิยสิกา
๗. สงฆ์พึงให้ติณวัตถารกะ
ภิกษุทั้งหลาย อธิกรณสมถธรรม ๗ ประการนี้แล เพื่อระงับเพื่อดับอธิกรณ์
ที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ
อธิกรณสมถสูตรที่ ๑๐ จบ
วินยวรรคที่ ๘ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมวินยธรสูตร ๒. ทุติยวินยธรสูตร
๓. ตติยวินยธรสูตร ๔. จตุตถวินยธรสูตร
๕. ปฐมวินยธรโสภณสูตร ๖. ทุติยวินยธรโสภณสูตร
๗. ตติยวินยธรโสภณสูตร ๘. จตุตถวินยธรโสภณสูตร
๙. สัตถุสาสนสูตร ๑๐. อธิกรณสมถสูตร


เชิงอรรถ :
เยภุยยสิกา หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยตัดสินตามเสียงข้างมาก สงฆ์จะใช้วิธีการนี้ในกรณีที่บุคคลหลาย
ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน
ตัสสปาปิยสิกา หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยตัดสินลงโทษแก่ผู้กระทำผิด เมื่อสงฆ์พิจารณาตามหลักฐาน
พยานแล้วเห็นว่ามีความผิดจริง แม้เธอจะไม่รับสารภาพก็ตาม
ติณวัตถารกะ หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยให้ทั้ง ๒ ฝ่ายประนีประนอมกัน เปรียบเหมือนเอาหญ้ากลบไว้
ไม่ต้องชำระสะสางความ วิธีนี้ใช้ระงับอธิกรณ์ที่ยุ่งยาก เช่น กรณีพิพาทกันของภิกษุชาวกรุงโกสัมพี ดู
กงฺขา.ฏีกา ๔๗๐ (วิ.อ. ๓/๑๙๕/๒๙๒-๒๙๓, ๒๐๒/๒๙๓, ๒๐๗/๒๙๔, ๒๑๒/๒๙๔-๒๙๕, ๓๔๐/๔๘๗,
๔๘๓/๕๔๘) และดู วิ.จู. ๖/๑๘๕-๒๑๒/๒๑๘-๒๔๓, วิ.ป. ๘/๒๗๕/๒๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๙.สมณวรรค ๓.พราหมณสูตร
๙. สมณวรรค
หมวดว่าด้วยสมณะ
๑. ภิกขุสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ได้ชื่อว่าภิกษุ
[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการได้
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส ๔. ราคะ
๕. โทสะ ๖. โมหะ
๗. มานะ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการนี้แลได้
ภิกขุสูตรที่ ๑ จบ
๒. สมณสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ได้ชื่อว่าสมณะ
[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าสมณะ เพราะระงับธรรม ๗ ประการได้
ฯลฯ
สมณสูตรที่ ๒ จบ
๓. พราหมณสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ได้ชื่อว่าพราหมณ์
[๘๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการได้
ฯลฯ
พราหมณสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๙.สมณวรรค ๗.อริโยสูตร
๔. โสตติกสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ได้ชื่อว่าโสตติกะ
[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าโสตติกะ เพราะธรรม ๗ ประการร้อยรัด
ไม่ได้
ฯลฯ
โสตติกสูตรที่ ๔ จบ
๕. นหาตกสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ได้ชื่อว่านหาตกะ
[๘๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่านหาตกะ เพราะล้างธรรม ๗ ประการได้
ฯลฯ
นหาตกสูตรที่ ๕ จบ
๖. เวทคูสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ได้ชื่อว่าเวทคู
[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าเวทคู เพราะรู้ธรรม ๗ ประการ
ฯลฯ
เวทคูสูตรที่ ๖ จบ
๗. อริโยสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ได้ชื่อว่าอริยะ
[๙๑] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าอริยะ เพราะกำจัดธรรม ๗ ประการได้
ฯลฯ
อริโยสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๙.สมณวรรค ๙.อสัทธัมมสูตร
๘. อรหาสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ได้ชื่อว่าอรหันต์
[๙๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าอรหันต์ เพราะเป็นผู้ห่างไกลจากธรรม ๗
ประการได้
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส ๔. ราคะ
๕. โทสะ ๖. โมหะ
๗. มานะ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลชื่อว่าอรหันต์ เพราะเป็นผู้ห่างไกลจากธรรม ๗ ประการ
นี้แล
อรหาสูตรที่ ๘ จบ
๙. อสัทธัมมสูตร
ว่าด้วยอสัทธรรม๑
[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๗ ประการนี้
อสัทธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้มีสุตะน้อย
๕. เป็นผู้เกียจคร้าน ๖. เป็นผู้หลงลืมสติ
๗. เป็นผู้มีปัญญาทราม

ภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๗ ประการนี้แล
อสัทธัมมสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๒, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๕๐/๖๐๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๙.สมณวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๐. สัทธัมมสูตร
ว่าด้วยสัทธรรม๑
[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย สัทธรรม ๗ ประการนี้
สัทธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นพหูสูต
๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร ๖. เป็นผู้มีสติ
๗. เป็นผู้มีปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย สัทธรรม ๗ ประการนี้แล
สัทธัมมสูตรที่ ๑๐ จบ
สมณวรรคที่ ๙ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ภิกขุสูตร ๒. สมณสูตร
๓. พราหมณสูตร ๔. โสตติกสูตร
๕. นหาตกสูตร ๖. เวทคูสูตร
๗. อริโยสูตร ๘. อรหาสูตร
๙. อสัทธัมมสูตร ๑๐. สัทธัมมสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.ป. ๘/๓๒๗/๒๙๑, ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต ๑๐.อาหุเนยยวรรค
๑๐. อาหุเนยยวรรค
หมวดว่าด้วยอาหุไนยบุคคล
[๙๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก
บุคคล ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในจักษุอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ สม่ำเสมอ
ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เขาทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ ผู้ควรแก่ของที่
เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำ
อัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในจักษุอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ สม่ำเสมอ
ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เขามีปัญญาหยั่งรู้ความสิ้นอาสวะและ
ความสิ้นชีวิต ไม่ก่อนไม่หลังกัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวก
ที่ ๒ ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่
ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในจักษุอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ สม่ำเสมอ
ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต ๑๐.อาหุเนยยวรรค
เขาจึงเป็นอันตราปรินิพพายี ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๓
ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา
ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ฯลฯ
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ เป็นอุปหัจจปรินิพพายี ฯลฯ
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ เป็นอสังขารปรินิพพายี ฯลฯ
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ เป็นสสังขารปรินิพพายี ฯลฯ
๗. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในจักษุอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ สม่ำเสมอ
ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
เขาจึงเป็นอุทธังโสตอกนิฏฐคามี ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวก
ที่ ๗ ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่
ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก (๑)
[๙๖-๖๒๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำ
มาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
บุคคล ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์ ฯลฯ ในจักษุอยู่
... พิจารณาเห็นความเป็นอนัตตา ฯลฯ ในจักษุอยู่
... พิจารณาเห็นความสิ้นไป ฯลฯ ในจักษุอยู่
... พิจารณาเห็นความเสื่อมไป ฯลฯ ในจักษุอยู่
... พิจารณาเห็นความคลายไป ฯลฯ ในจักษุอยู่
... พิจารณาเห็นความดับไป ฯลฯ ในจักษุอยู่
... พิจารณาเห็นความสละคืน ฯลฯ ในจักษุอยู่ ฯลฯ (๒-๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑๐.อาหุเนยยวรรค
ในโสตะอยู่ ฯลฯ ในฆานะอยู่ ... ในชิวหาอยู่ ... ในกายอยู่ ... ในใจอยู่ ฯลฯ
(๙-๔๘)
ในรูปอยู่ ฯลฯ ในเสียงอยู่ ... ในกลิ่นอยู่ ... ในรสอยู่ ... ในโผฏฐัพพะอยู่ ...
ในธรรมารมณ์อยู่ ฯลฯ (๔๙-๙๖)
ในจักขุวิญญาณอยู่ ฯลฯ ในโสตวิญญาณอยู่ ... ในฆานวิญญาณอยู่ ...
ในชิวหาวิญญาณอยู่ ... ในกายวิญญาณอยู่ ... ในมโนวิญญาณอยู่ ฯลฯ (๙๗-๑๔๔)
ในจักขุสัมผัสอยู่ ฯลฯ ในโสตสัมผัสอยู่ ... ในฆานสัมผัสอยู่ ... ในชิวหาสัมผัสอยู่
... ในกายสัมผัสอยู่ ... ในมโนสัมผัสอยู่ ฯลฯ (๑๔๕-๑๙๒)
ในเวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสอยู่ ฯลฯ ในเวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสอยู่ ...
ในเวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสอยู่ ... ในเวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสอยู่ ... ในเวทนา
ที่เกิดจากกายสัมผัสอยู่ ... ในเวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสอยู่ ฯลฯ (๑๙๓-๒๔๐)
ในรูปสัญญาอยู่ ฯลฯ ในสัททสัญญาอยู่ ... ในคันธสัญญาอยู่ ... ในรสสัญญาอยู่
... ในโผฏฐัพพสัญญาอยู่ ... ในธัมมสัญญาอยู่ ฯลฯ (๒๔๑-๒๘๘)
ในรูปสัญเจตนาอยู่ ฯลฯ ในสัททสัญเจตนาอยู่ ... ในคันธสัญเจตนาอยู่ ... ใน
รสสัญเจตนาอยู่ ... ในโผฏฐัพพสัญเจตนาอยู่ ... ในธัมมสัญเจตนาอยู่ ฯลฯ (๒๘๙-
๓๓๖)
ในรูปตัณหาอยู่ ฯลฯ ในสัททตัณหาอยู่ ... ในคันธตัณหาอยู่ ... ในรสตัณหาอยู่
... ในโผฏฐัพพตัณหาอยู่ ... ในธัมมตัณหาอยู่ ฯลฯ (๓๓๗-๓๘๔)
ในรูปวิตกอยู่ ฯลฯ ในสัททวิตกอยู่ ... ในคันธวิตกอยู่ ... ในรสวิตกอยู่ ... ใน
โผฏฐัพพวิตกอยู่ ... ในธัมมวิตกอยู่ ฯลฯ (๓๘๕-๔๓๒)
ในรูปวิจารอยู่ ฯลฯ ในสัททวิจารอยู่ ... ในคันธวิจารอยู่ ... ในรสวิจารอยู่ ...
ในโผฏฐัพพวิจารอยู่ ... ในธัมมวิจารอยู่ ฯลฯ (๔๓๓-๔๘๐)
... พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ... ในรูปขันธ์อยู่
... พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑๐.อาหุเนยยวรรค
... พิจารณาเห็นความเป็นอนัตตา ...
... พิจารณาเห็นความสิ้นไป ...
... พิจารณาเห็นความเสื่อมไป ...
... พิจารณาเห็นความคลายไป ...
... พิจารณาเห็นความดับไป ...
... พิจารณาเห็นความสละคืน ...
ในเวทนาขันธ์อยู่ ... ในสัญญาขันธ์อยู่ ... ในสังขารขันธ์อยู่ ... ในวิญญาณขันธ์อยู่
ฯลฯ (๔๘๑-๕๒๐)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ในอาหุเนยยวรรคนี้ มีหมวดธรรมดังนี้ คือ
ทวาร ๖ อารมณ์ ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖
สัญญา ๖ สัญเจตนา ๖ ตัณหา ๖ วิตก ๖ วิจาร ๖ และขันธ์ ๕
แต่ละประการในธรรมแต่ละหมวดมีพระสูตร ๘ สูตร
มีสภาวธรรม ๘ ประการ คือ
ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา
ความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความคลายกำหนัด
ความดับ และความสละคืน
จัดเป็นพระสูตรเบื้องต้น ๑๖ สูตร๑
โดยประกอบการพิจารณาไปตามลำดับ ประการละ ๘ สูตร
เมื่อรวมกันทั้งหมด ได้พระสูตร ๕๒๘ สูตร
อาหุเนยยวรรคที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พระสูตรเบื้องต้น ๑๖ สูตร คือ ในธรรมประการที่ ๑ คือจักษุแห่งหมวดทวาร ๖ จัดพระสูตรได้ ๘ สูตร
และในธรรมประการที่ ๑ คือรูปแห่งหมวดอารมณ์ ๖ จัดพระสูตรได้ ๘ สูตรซึ่งเป็นหัวข้อธรรมตัวอย่าง
ให้หัวข้อธรรมอื่น ๆ ดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น