Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๓-๕ หน้า ๑๘๙ - ๒๓๕

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓-๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก อัฏฐก นวกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ราคเปยยาล
ราคเปยยาล๑
[๖๒๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๗ ประการ เพื่อรู้ยิ่ง
ราคะ(ความกำหนัด)
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือ ความระลึกได้)
ฯลฯ๒
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความวางใจ
เป็นกลาง)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๗ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๑)
[๖๒๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๗ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๒. อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง)
๓. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)

เชิงอรรถ :
๑ ราคเปยยาล หมายถึงหมวดธรรมที่ทรงแสดงโดยย่อมีราคะเป็นต้น หมายความว่านอกจากราคะแล้วยังมี
อกุศลธรรมอีก ๑๖ ประการ รวมเป็น ๑๗ ประการ แต่ละประการมีเป้าหมาย ๑๐ เป้าหมาย (๑๐ เพื่อ เช่น
เพื่อรู้ยิ่ง) มีการคำนวณพระสูตรด้วยเป้าหมายละ ๑ สูตร จึงเป็น ๑๗๐ สูตร (๑๐ เป้าหมาย x อกุศลธรรม
๑๗ ประการ) นี้เป็นการคำนวณพระสูตรจากการเจริญหมวดธรรมเพียง ๑ หมวด แต่ในราคเปยยาลของ
สัตตกนิบาตนี้มีหมวดธรรมที่ต้องเจริญ ๓ หมวด จึงรวมเป็น ๕๑๐ สูตร (๑๗๐ สูตร x ๓ หมวดธรรม)
๒ ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ ๒๖ (โพชฌังคสูตร) หน้า ๔๐-๔๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต ราคเปยยาล
๔. อาทีนวสัญญา (กำหนดหมายโทษทุกข์ของกายอันมีความเจ็บไข้ต่างๆ)
๕. ปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย)
๖. วิราคสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
๗. นิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๗ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๒)
[๖๒๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๗ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
๒. มรณสัญญา (กำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา)
๓. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร)
๔. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินใน
โลกทั้งปวง)
๕. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๖. อนิจเจ ทุกขสัญญา (กำหนดหมายความเป็นทุกข์ในความไม่เที่ยง
แห่งสังขาร)
๗. ทุกเข อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาในความเป็นทุกข์)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๗ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๓)
[๖๒๖-๖๕๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๗ ประการ เพื่อกำหนด
รู้ราคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ราคเปยยาล
... เพื่อความสิ้นราคะ
... เพื่อละราคะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งราคะ
... เพื่อความคลายไปแห่งราคะ
... เพื่อความดับไปแห่งราคะ
... เพื่อความสละราคะ
... เพื่อความสละคืนราคะ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๗ ประการนี้ เพื่อความสละคืนราคะ
(๔-๓๐)
[๖๕๓-๑๑๓๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๔ ประการ เพื่อรู้ยิ่ง
โทสะ(ความคิดประทุษร้าย)
... เพื่อกำหนดรู้โทสะ
... เพื่อความสิ้นโทสะ
... เพื่อละโทสะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งโทสะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งโทสะ
... เพื่อความคลายไปแห่งโทสะ
... เพื่อความดับไปแห่งโทสะ
... เพื่อความสละโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ราคเปยยาล
... เพื่อความสละคืนโทสะ ... โมหะ(ความหลง) ... โกธะ(ความโกรธ). ..
อุปนาหะ(ความผูกโกรธ) ... มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) ... ปลาสะ(ความตีเสมอ) ...
อิสสา(ความริษยา) ... มัจฉริยะ(ความตระหนี่) ... มายา(มารยา) ... สาเถยยะ(ความ
โอ้อวด) ... ถัมภะ(ความหัวดื้อ) ... สารัมภะ(ความแข่งดี) ... มานะ(ความถือตัว) ...
อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) ... มทะ(ความมัวเมา) ... ปมาทะ(ความประมาท) ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๖ ประการนี้แล เพื่อความสละคืนปมาทะ
(๓๑-๕๑๐)
พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคแล
ราคเปยยาล จบ
สัตตกนิบาต จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๑.เมตตาสูตร
พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ปฐมปัณณาสก์
๑. เมตตาวรรค
หมวดว่าด้วยเมตตา
๑. เมตตาสูตร๑
ว่าด้วยอานิสงส์แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึง
ได้ตรัสดังนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติ๒ที่บุคคลเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้
เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว พึงหวังได้
อานิสงส์ ๘ ประการ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๕/๔๒๕-๔๒๖ และเทียบ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๒๒/๔๖๗
๒ เมตตาเจโตวิมุตติ หมายถึงเมตตาที่เกิดจากตติยฌานและจตุตถฌาน พ้นจากปัจจนีกธรรม (ธรรมที่เป็น
ข้าศึก) กล่าวคือนิวรณ์ ๕ ประการ ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
(องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗/๔๒, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๓/๑๐๔) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๑๓/๔๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๑.เมตตาสูตร
อานิสงส์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. หลับเป็นสุข
๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันร้าย
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาทั้งหลายรักษา
๗. ไฟ ยาพิษ หรือศัสตรากล้ำกรายไม่ได้
๘. เมื่อยังไม่แทงตลอดคุณวิเศษ๑ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว พึงหวังได้
อานิสงส์ ๘ ประการนี้
ผู้มีสติตั้งมั่น เจริญเมตตาแผ่ไปไม่มีประมาณ
พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ๒
ย่อมมีสังโยชน์เบาบาง
หากบุคคลมีจิตไม่คิดประทุษร้ายสัตว์แม้ชีวิตเดียว
เจริญเมตตาเป็นประจำอยู่
ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉลาดเพราะการเจริญเมตตานั้น
แต่พระอริยบุคคลผู้มีใจอนุเคราะห์หมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้เป็นอันมาก
พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นกับฤาษี
ทรงชนะใจหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คุณวิเศษ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๕/๓๘๕)
๒ พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ หมายถึงบรรลุอรหัตตผลอันเป็นที่สิ้นกิเลสตามแนวทางการเจริญวิปัสสนา
ที่มีเมตตาเป็นพื้นฐาน (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๒, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๑/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๑.เมตตาสูตร
ทรงบูชายัญ คือ สัสสเมธะ ปุริสเมธะ
สัมมาปาสะ วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ๑ เสด็จเที่ยวไป
ยัญเหล่านั้น ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเจริญดีแล้ว
เหมือนแสงหมู่ดวงดาวไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ ฉะนั้น
ผู้มีเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า
จะไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง๒ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ๓
ย่อมไม่มีเวร๔กับใครๆ
เมตตาสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ยัญทั้ง ๕ นี้มีความหมายตรงกันข้ามกับมหายัญ ๕ ประการของพราหมณ์ โดย ๔ ยัญแรก (สัสสเมธะ
ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ) หมายถึงหลักสงเคราะห์ที่ดีงามของพระราชา (ราชสังคหวัตถุ) จัดเป็น
ส่วนเหตุ ยัญที่ ๕ (นิรัคคฬะ) จัดเป็นส่วนผล ยัญทั้ง ๕ นั้น มีความหมายดังนี้ (๑) สัสสเมธะ หมายถึง
ความฉลาดในการสงเคราะห์พสกนิกรด้วยการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร มีความหมาย
ตรงกันข้ามกับอัศวเมธะ(การฆ่าม้าบูชายัญ) ของพราหมณ์ (๒) ปุริสเมธะ หมายถึงความฉลาดในการ
บำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ มีความหมายตรงกันข้ามกับปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ)
ของพราหมณ์ (๓) สัมมาปาสะ หมายถึงความมีอัธยาศัยดุจบ่วงคล้องใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ
เช่น ให้คนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวไม่เก็บภาษีเป็นเวลา ๓ ปี เป็นต้น มีความหมายตรงกันข้ามกับสัมมาปาสะ
(การทำบ่วงแล้วขว้างไม้ลอดบ่วง ไม้ตกที่ไหนทำพิธีบูชายัญที่นั้น)ของพราหมณ์(๔) วาชเปยยะ หมายถึง
ความมีปิยวาจาเป็นที่ดูดดื่มใจคน เช่น เรียกว่า ‘พ่อ’ ‘ลุง’ (๕) นิรัคคฬะ หมายถึงบ้านเมืองสงบสุขปราศจาก
โจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน เป็นผลที่เกิดจาก ๔ ประการแรก มีความหมายตรง
กันข้ามกับนิรัคคฬะของพราหมณ์ซึ่งหมายถึงการฆ่าครบทุกอย่างบูชายัญไม่จำกัด (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๓,
ขุ.อิติ.อ. ๒๗/๑๐๖-๑๐๘, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๑/๒๔๙-๒๕๒, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๙/๓๗๑-๓๗๒) และดู
เทียบใน สํ.ส. ๑๕/๑๒๐/๙๑, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๙/๖๔-๖๖, ขุ.อิติ. ๒๕/๒๗/๒๕๐-๒๕๑, ขุ.สุ. ๒๕/
๒๘๗-๓๑๘/๓๘๙-๓๙๓
๒ ไม่ชนะเอง ในที่นี้หมายถึงไม่ทำความเสื่อมต่อผู้อื่นด้วยตนเอง (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๔)
๓ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ในที่นี้หมายถึงไม่ใช้ให้ผู้อื่นทำความเสื่อมต่อผู้อื่น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๔)
๔ ไม่มีเวร ในที่นี้หมายถึงไม่มีอกุศลเวรและบุคคลเวร (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๔) และดู ขุ.อิติ. ๒๕/๒๗/๒๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๒.ปัญญาสูตร
๒. ปัญญาสูตร
ว่าด้วยเหตุปัจจัยที่ให้ได้ปัญญา
[๒] ภิกษุทั้งหลาย เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา๑ อันเป็น
เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งปัญญา
ที่ได้แล้ว
เหตุปัจจัย ๘ ประการ๒ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ใน
ฐานะเป็นครู เป็นที่เข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะ ความรัก และความ
เคารพอย่างแรงกล้า นี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๑ ที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญา
อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์
เจริญเต็มที่แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
๒. อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ใน
ฐานะเป็นครู เป็นที่เข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะ ความรักและความเคารพ
อย่างแรงกล้า เธอเข้าไปหาแล้วสอบสวน ไต่ถามท่านเหล่านั้น
ตามเวลาอันสมควรว่า ‘ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร
เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร’ ท่านเหล่านั้นย่อมเปิด
เผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย
และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่าง นี้เป็นเหตุ
ปัจจัยที่ ๒ ที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่
ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
๓. ได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมทำความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกาย
และความสงบใจให้ถึงพร้อม นี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๓ ที่เป็นไปเพื่อได้

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒/๒๑๔)
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๕๘/๒๖๑-๒๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๒.ปัญญาสูตร
ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ
ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
๔. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ
และโคจร๑ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๔ ที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญาอัน
เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์
เจริญเต็มที่แห่งปัญาที่ได้แล้ว
๕. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ๒ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วย
ทิฏฐิ นี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๕ ที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้น
แห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง
ปัญญาที่ได้แล้ว
๖. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่ นี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๖ ที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็น
เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญ
เต็มที่แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
๗. อยู่ในที่ประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องราวต่างๆ ไม่พูดติรัจฉานกถา๓ กล่าว
ธรรมเอง เชื้อเชิญผู้อื่นให้กล่าว และไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยะ
นี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๗ ที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๗๕ หน้า ๑๗๒ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๓ สัตตกนิบาต ข้อ ๖ หน้า ๑๐ ในเล่มนี้
๓ ติรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์หรือนิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ
ถกเถียงสนทนากัน เพราะทำให้เกิดฟุ้งซ่าน และหลงเพลินเสียเวลา (วิ.อ. ๒/๑๔๔/๓๑๕, สารตฺถ.ฏีกา
๓/๑๔๔/๔๓, ที.สี.อ. ๑/๑๗/๘๔) มี ๒๘ อย่าง ดูรายละเอียดใน วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๐๘/๕๙๙, วิ.ม. (แปล)
๕/๒๕๐/๑๙-๒๐, ที.สี. (แปล) ๙/๑๗/๗, ที.ปา. ๑๑/๕๐/๓๐, ม.ม. ๑๓/๒๒๓/๑๙๗, สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๐/๓๖๙,
องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๙/๑๕๐-๑๕๑, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๗/๔๓๙-๔๔๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๒.ปัญญาสูตร
พรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง
ปัญญาที่ได้แล้ว
๘. เป็นผู้มีปกติเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕
อยู่ว่า ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ฯลฯ สัญญาเป็นอย่างนี้ ฯลฯ
สังขารเป็นอย่างนี้ ฯลฯ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่ง
วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้’ นี้เป็นเหตุ
ปัจจัยที่ ๘ ที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่
ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งปัญญาที่ได้แล้ว
เพื่อนพรหมจารีย่อมสรรเสริญภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
๑. ท่านผู้มีอายุนี้อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่ง
ผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครู เป็นที่เข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะ ความรัก และ
ความเคารพอย่างแรงกล้า ท่านผู้นี้ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่ควร
เห็นเป็นแน่แท้ นี้เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความ
เป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ๑ เพื่อความ
เป็นอันเดียวกัน
๒. ท่านผู้นี้อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่
ในฐานะเป็นครู เป็นที่เข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะ ความรัก และความ
เคารพอย่างแรงกล้า เข้าไปหาแล้วสอบสวน ไต่ถามท่านเหล่านั้น
ตามเวลาอันสมควรว่า ‘ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร
เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร’ ท่านเหล่านั้นย่อมเปิด
เผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย และ
บรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่าง ท่านผู้นี้ย่อมรู้
สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ นี้เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นสมณะ ในที่นี้หมายถึงสมณธรรม (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒/๒๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๒.ปัญญาสูตร
ความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อความ
เป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๓. ท่านผู้นี้ได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมทำความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบ
กายและความสงบใจให้ถึงพร้อม ท่านผู้นี้ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่
ควรเห็นเป็นแน่แท้ นี้เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความ
เป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็น
อันเดียวกัน
๔. ท่านผู้นี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ท่านผู้นี้ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่ควรเห็น
เป็นแน่แท้ นี้เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็น
ที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็น
อันเดียวกัน
๕. ท่านผู้นี้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรม
ทั้งหลายที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดี
ด้วยทิฏฐิ ท่านผู้นี้ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้
นี้เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อ
ความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๖. ท่านผู้นี้เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรม
เกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่ ท่านผู้นี้ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้
นี้เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ
เพื่อความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๗. ท่านผู้นี้อยู่ในที่ประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องราวต่าง ๆ ไม่พูดติรัจฉานกถา
กล่าวธรรมเอง เชื้อเชิญผู้อื่นให้กล่าว และไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๓.ปฐมอัปปิยสูตร
พระอริยะ ท่านผู้นี้ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้
นี้เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อ
ความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๘. ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปกติเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์
๕ อยู่ว่า ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ฯลฯ สัญญาเป็นอย่างนี้ ฯลฯ
สังขารเป็นอย่างนี้ ฯลฯ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่ง
วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้’ ท่านผู้นี้
ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ นี้เป็นธรรมที่เป็นไป
เพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง
เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็น
เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งปัญญา
ที่ได้แล้ว
ปัญญาสูตรที่ ๒ จบ
๓. ปฐมอัปปิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก สูตรที่ ๑
[๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. สรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก ๒. ติเตียนผู้เป็นที่รัก
๓. มุ่งลาภ ๔. มุ่งสักการะ
๕. ไม่มีหิริ ๖. ไม่มีโอตตัปปะ
๗. มีความปรารถนาชั่ว ๘. เป็นมิจฉาทิฏฐิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๔.ทุติยอัปปิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ
เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ไม่สรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก ๒. ไม่ติเตียนผู้เป็นที่รัก
๓. ไม่มุ่งลาภ ๔. ไม่มุ่งสักการะ
๕. มีหิริ ๖. มีโอตตัปปะ
๗. มีความมักน้อย ๘. เป็นสัมมาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่
พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ปฐมอัปปิยสูตรที่ ๓ จบ
๔. ทุติยอัปปิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก สูตรที่ ๒
[๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. มุ่งลาภ ๒. มุ่งสักการะ
๓. มุ่งชื่อเสียง ๔. ไม่รู้จักกาล
๕. ไม่รู้จักประมาณ ๖. ไม่สะอาด๑
๗. พูดมาก ๘. ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารี


เชิงอรรถ :
๑ ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงมีกายกรรมที่ไม่สะอาดเป็นต้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓-๔/๒๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๕.ปฐมโลกธัมมสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ
เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ไม่มุ่งลาภ ๒. ไม่มุ่งสักการะ
๓. ไม่มุ่งชื่อเสียง ๔. รู้จักกาล
๕. รู้จักประมาณ ๖. สะอาด
๗. ไม่พูดมาก ๘. เป็นผู้ไม่ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารี

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่
พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทุติยอัปปิยสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปฐมโลกธัมมสูตร
ว่าด้วยโลกธรรม สูตรที่ ๑
[๕] ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม๑ ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกก็
หมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ
โลกธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ลาภ ๒. เสื่อมลาภ
๓. ยศ ๔. เสื่อมยศ

เชิงอรรถ :
๑ โลกธรรม หมายถึงสิ่งที่มีความแน่นอนสำหรับสัตว์โลก(องฺ.อฏฺฐก. ฏีกา ๓/๕/๒๕๓) และดู ที.ปา.๑๑/๓๓๗/
ผ๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๕.ปฐมโลกธัมมสูตร

๕. นินทา ๖. สรรเสริญ
๗. สุข ๘. ทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกก็หมุน
ไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้
ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์
ธรรมเหล่านี้ในหมู่มนุษย์ ล้วนไม่เที่ยง
ไม่มั่นคง มีความแปรผันเป็นธรรมดา๑
แต่ท่านผู้มีปัญญาดี มีสติ รู้ธรรมเหล่านี้แล้ว
ย่อมพิจารณาเห็นว่า มีความแปรผันเป็นธรรมดา
อิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา)จึงย่ำยีจิตของท่านไม่ได้
ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา)
ความยินดีหรือความยินร้าย
ท่านขจัดปัดเป่า จนไม่มีอยู่
ท่านรู้ทางที่ปราศจากธุลี๒ ไม่มีความเศร้าโศก
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมรู้แจ้งชัดโดยถูกต้อง
ปฐมโลกธัมมสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๒/๔๙๐
๒ ทางที่ปราศจากธุลี ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕/๒๑๕))

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๖.ทุติยโลกธัมมสูตร
๖. ทุติยโลกธัมมสูตร
ว่าด้วยโลกธรรม สูตรที่ ๒
[๖] ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกก็
หมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ
โลกธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ลาภ ๒. เสื่อมลาภ
๓. ยศ ๔. เสื่อมยศ
๕. นินทา ๖. สรรเสริญ
๗. สุข ๘. ทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกก็หมุน
ไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้
ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ย่อมเกิดขึ้น
แก่ปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ
ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ย่อมเกิดขึ้น
แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ
ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นมีความแปลกกันอย่างไร มีความแตกต่างกันอย่างไร๑
มีเหตุทำให้ต่างกันอย่างไร ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น
ที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจาก
พระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “มีความแปลกกันอย่างไร มีความแตกต่างกันอย่างไร” นี้หมายถึงมีความเพียรที่ยิ่ง กล่าวคือมี
กิริยาที่พึงกระทำให้วิเศษแตกต่างกันอย่างไร (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖/๒๑๕, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๖-๘/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๖.ทุติยโลกธัมมสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ลาภเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ แต่เขาไม่เห็นประจักษ์
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงดังนี้ว่า ‘ลาภนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว แต่ลาภนั้นแล เป็นของ
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา’ ความเสื่อมลาภ ฯลฯ ยศ ฯลฯ
ความเสื่อมยศ ฯลฯ นินทา ฯลฯ สรรเสริญ ฯลฯ สุข ฯลฯ ทุกข์เกิดขึ้นแก่ปุถุชน
ผู้ยังไม่ได้สดับ แต่เขาไม่เห็นประจักษ์ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงดังนี้ว่า ‘ทุกข์นี้เกิดขึ้น
แก่เราแล้ว แต่ทุกข์นั้นแล เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา’
ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ ความเสื่อมลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ ยศย่อม
ครอบงำจิตของเขาได้ ความเสื่อมยศย่อมครอบงำจิตของเขาได้ นินทาย่อมครอบงำ
จิตของเขาได้ สรรเสริญย่อมครอบงำจิตของเขาได้ สุขย่อมครอบงำจิตของเขาได้
ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ยินดีในยศที่
เกิดขึ้น ยินร้ายในความเสื่อมยศ ยินดีในความสรรเสริญที่เกิดขึ้น ยินร้ายในนินทา
ยินดีในสุขที่เกิดขึ้น ยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดีและความยินร้าย
อย่างนี้ ย่อมไม่พ้นจากชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ
(ความโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำคราญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ)
อุปายาส (ความคับ แค้นใจ) เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ลาภเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ เขาเห็นประจักษ์ รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงดังนี้ว่า ‘ลาภนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว แต่ลาภนั้นแล เป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา’ ความเสื่อมลาภ ฯลฯ ยศ ฯลฯ ความ
เสื่อมยศ ฯลฯ นินทา ฯลฯ สรรเสริญ ฯลฯ สุข ฯลฯ ทุกข์เกิดขึ้นแก่อริยสาวก
ผู้ได้สดับ แต่เขาเห็นประจักษ์ รู้ชัดตามความเป็นจริงดังนี้ว่า ‘ทุกข์นี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว
แต่ทุกข์นั้นแล เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา’ ลาภย่อม
ครอบงำจิตของเขาไม่ได้ ความเสื่อมลาภย่อมครอบงำจิตของเขาไม่ได้ ยศย่อมครอบงำ
จิตของเขาไม่ได้ ความเสื่อมยศย่อมครอบงำจิตของเขาไม่ได้ นินทาย่อมครอบงำจิตของ
เขาไม่ได้ สรรเสริญย่อมครอบงำจิตของเขาไม่ได้ สุขย่อมครอบงำจิตของเขาไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๖.ทุติยโลกธัมมสูตร
ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของเขาไม่ได้ เขาไม่ยินดีในลาภที่เกิดขึ้น ไม่ยินร้ายในความ
เสื่อมลาภ ไม่ยินดีในยศที่เกิดขึ้น ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีในสรรเสริญที่
เกิดขึ้น ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีในสุขที่เกิดขึ้น ไม่ยินร้ายในทุกข์ เขาละ
ความยินดีและความยินร้ายได้อย่างนี้ จึงพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า หลุดพ้นจากทุกข์ได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือความแปลกกัน นี้คือความแตกต่างกัน นี้คือเหตุ
ทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ”
ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์
ธรรมเหล่านี้ในหมู่มนุษย์ ล้วนไม่เที่ยง
ไม่มั่นคง มีความแปรผันเป็นธรรมดา๑
แต่ท่านผู้มีปัญญาดี มีสติ รู้ธรรมเหล่านี้แล้ว
ย่อมพิจารณาเห็นว่า มีความแปรผันเป็นธรรมดา
อิฏฐารมณ์จึงย่ำยีจิตของท่านไม่ได้
ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์
ความยินดีหรือความยินร้าย
ท่านขจัดปัดเป่า จนไม่มีอยู่
ท่านรู้ทางที่ปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมรู้แจ้งชัดโดยชอบ
ทุติยโลกธัมมสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๒/๔๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๗.เทวทัตตวิปัตติสูตร
๗. เทวทัตตวิปัตติสูตร
ว่าด้วยวิบัติของพระเทวทัต๑
[๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
เมื่อพระเทวทัตจากไปไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัต
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของตนตามกาลอันควร
ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึง
พิจารณาเห็นสมบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติ
ของผู้อื่นตามกาลอันควร
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิด
ในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
อสัทธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เทวทัตถูกลาภครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิด
ในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๒. เทวทัตถูกความเสื่อมลาภครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๓. เทวทัตถูกยศครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๔. เทวทัตถูกความเสื่อมยศครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๕. เทวทัตถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๖. เทวทัตถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๗. เทวทัตถูกความปรารถนาชั่วครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๘. เทวทัตถูกความมีมิตรชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไป
เกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ ประการนี้แลครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป
เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๔๘-๓๔๙/๒๐๙-๒๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๗.เทวทัตตวิปัตติสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ พึงครอบงำความ
เสื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่
เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมี
มิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่
... พึงครอบงำความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะ๑และความ
เร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น๒ พึงเกิดขึ้น แต่เมื่อเธอครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะ
และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ
เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความ
เสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความ
ปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่
ก่อความคับแค้นพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อเธอครอบงำความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะ
และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่
... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่
เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมี
มิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ อาสวะ ในที่นี้หมายถึงอาสวะ ๔ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ ทิฏฐาสวะ อาสวะ
คือทิฏฐิ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (สํ.สฬา.อ. ๓/๕๓-๖๒/๑๔, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๘/๑๔๐, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๕๘/๑๕๔-๑๖๒)
๒ ความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น หมายถึงความเร่าร้อนคือกิเลสหรือความเร่าร้อนคือวิบากเหล่าอื่นที่
ก่อความทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจอันเป็นผลที่เกิดจากอาสวะ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๘/๑๔๐, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๕๘/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๘.อุตตรวิปัตติสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
จักครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความ
เสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความ
ปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
พึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
เทวทัตตวิปัตติสูตรที่ ๗ จบ
๘. อุตตรวิปัตติสูตร
ว่าด้วยพระอุตตระแสดงธรรมเรื่องวิบัติ
[๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระอุตตระอยู่ที่วฏชาลิกาวิหาร๑ ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ
มหิสวัตถุชนบท ณ ที่นั้นแล ท่านพระอุตตระเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของตนตามกาลอันควร
ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึง
พิจารณาเห็นสมบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติ
ของผู้อื่นตามกาลอันควร”
สมัยนั้น ท้าวเวสวัณมหาราชมีกรณียกิจบางอย่างเสด็จจากทิศเหนือไปยังทิศใต้
ได้สดับเสียงของท่านพระอุตตระผู้กำลังแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี
ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็น
สมบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติของผู้อื่นตาม
กาลอันควร”
ครั้งนั้นแล ท้าวเวสวัณมหาราชได้หายจากวฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ
มหิสวัตถุชนบท ไปปรากฏในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออก


เชิงอรรถ :
๑วฏชาลิกาวิหาร หมายถึงวิหารที่ตั้งอยู่ในป่าไทรย้อย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๘/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๘.อุตตรวิปัตติสูตร
หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราชเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพถึง
ที่ประทับ แล้วได้กราบทูลท้าวสักกะจอมเทพดังนี้ว่า “ขอเดชะท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์
โปรดทรงทราบว่า ‘ท่านอุตตระนี้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ในวฏชาลิกาวิหาร
ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ มหิสวัตถุชนบท อย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึง
พิจารณาเห็นความวิบัติของตนตามกาลอันควร ฯลฯ ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณา
เห็นสมบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร”
ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงหายจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏ
ต่อหน้าท่านพระอุตตระ ที่วฏชาลิกาวิหาร ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ มหิสวัตถุชนบท
เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ครั้นแล้วจึงเสด็จเข้าไปหา
ท่านพระอุตตระถึงที่อยู่ ทรงไหว้แล้วประทับยืน ณ ที่สมควร ตรัสถามท่านพระ
อุตตระดังนี้ว่า “จริงหรือ ท่านผู้เจริญ ทราบว่า ท่านพระอุตตระแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นความวิบัติของ
ตนตามกาลอันควร ฯลฯ ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติของผู้อื่นตามกาล
อันควร”
ท่านพระอุตตระได้ถวายพระพรว่า “อย่างนั้น ท่านจอมเทพ”
“ท่านผู้เจริญ ข้อความนี้เป็นปฏิภาณส่วนตัวของท่านพระอุตตระเอง หรือว่า
เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
“ท่านจอมเทพ ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกข้ออุปมาให้พระองค์สดับ วิญญูชน
บางพวกในโลกนี้จะรู้อรรถแห่งภาษิตได้ ท่านจอมเทพ มีข้าวเปลือกกองใหญ่อยู่ใน
ที่ไม่ไกลจากบ้าน หรือนิคม หมู่ชนเป็นอันมากพึงขนข้าวเปลือก จากข้าวเปลือก
กองใหญ่นั้นด้วยหาบบ้าง ด้วยตะกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้าง กอบด้วยมือบ้าง
ท่านจอมเทพ หากมีบุคคลเข้าไปถามหมู่ชนเป็นอันมากนั้นอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านขน
ข้าวเปลือกนี้มาจากไหน’ ท่านจอมเทพ หมู่ชนเป็นอันมากนั้นจะตอบอย่างไร จึงจะ
ชื่อว่าตอบได้อย่างถูกต้อง”
“ท่านผู้เจริญ หมู่ชนเป็นอันมากนั้น เมื่อจะตอบให้ถูกต้องควรตอบว่า ‘พวกเรา
ขนมาจากข้าวเปลือกกองใหญ่โน้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๘.อุตตรวิปัตติสูตร
“ท่านจอมเทพ ทำนองเดียวกันนั่นแล พระดำรัสที่เป็นสุภาษิตทั้งหมด เป็น
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น อาตมภาพและ
สาวกเหล่าอื่นย่อมกล่าวโดยถือเอาจากสุภาษิตทั้งหมดนั้น”
“ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านพระอุตตระกล่าวเรื่องนี้ไว้ดี
ยิ่งนักว่า ‘พระดำรัสที่เป็นสุภาษิตทั้งหมด เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น อาตมภาพและสาวกเหล่าอื่นย่อมกล่าวโดย
ถือเอาจากสุภาษิตทั้งหมดนั้น’
ท่านอุตตระผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
เขตกรุงราชคฤห์ เมื่อพระเทวทัตจากไปไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรง
ปรารภพระเทวทัต รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของตนตามกาลอันควร
ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นวิบัติของผู้อื่นตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุ
พึงพิจารณาเห็นสมบัติของตนตามกาลอันควร ทางที่ดี ภิกษุพึงพิจารณาเห็นสมบัติ
ของผู้อื่นตามกาลอันควร
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิด
ในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
อสัทธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เทวทัตถูกลาภครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดใน
นรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๒. เทวทัตถูกความเสื่อมลาภครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๓. เทวทัตถูกยศครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๔. เทวทัตถูกความเสื่อมยศครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๕. เทวทัตถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๖. เทวทัตถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ
๗. เทวทัตถูกความปรารถนาชั่วครอบงำย่ำยีจิต ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๘.อุตตรวิปัตติสูตร
๘. เทวทัตถูกความมีมิตรชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง
ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ ประการนี้แล ครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป
เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ทางที่ดี ภิกษุพึง
ครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ...
สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ...
ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่
... พึงครอบงำความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความ
เร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อเธอครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะ
และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ
เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความ
เสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความ
ปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้นพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อเธอครอบงำความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและ
ความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่
... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๙.นันทสูตร
เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมี
มิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
จักครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อม
ยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนา
ชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียก
อย่างนี้แล’
ท่านอุตตระผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ในหมู่มนุษย์ บริษัท ๔ คือ ภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยาย๑นี้หาได้ตั้งมั่นอยู่ในบริษัทหมู่ไหนไม่
ขอท่านอุตตระโปรดเรียนธรรมบรรยายนี้ โปรดจดจำธรรมบรรยายนี้ โปรดทรง
จำธรรมบรรยายนี้ไว้เถิด เพราะธรรมบรรยายนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้น
แห่งพรหมจรรย์๒”
อุตตรวิปัตติสูตรที่ ๘ จบ
๙. นันทสูตร
ว่าด้วยพระนันทะ
[๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง ควรเรียกว่า ‘กุลบุตร’
เมื่อจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง ควรเรียกว่า ‘ผู้มีกำลัง’ เมื่อจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง
ควรเรียกว่า ‘ผู้น่ารัก‘๓ เมื่อจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง ควรเรียกว่า ‘ผู้มีราคะจัด‘๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๕๑ หน้า ๘๕ ในเล่มนี้
๒ เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงพรหมจรรย์ทั้งสิ้นที่รวมลงในสิกขา ๓ (ศีล สมาธิ ปัญญา)
(องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๘/ ๒๑๖)
๓ ผู้น่ารัก ในที่นี้หมายถึงผู้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๙/๒๑๖)
๔ ผู้มีราคะจัด ในที่นี้หมายถึงมีราคะมาก (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๙/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๙.นันทสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เว้นแต่ว่า นันทะจะเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จัก
ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ ประกอบด้วยสติ
และสัมปชัญญะ นันทะจึงจะสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น วิธีคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายสำหรับนันทะ
ดังนี้ คือ หากนันทะจำเป็นต้องมองดูทิศตะวันออก นันทะต้องสำรวมจิตทั้งหมด
มองดูทิศตะวันออกด้วยคิดว่า ‘เมื่อเรามองดูทิศตะวันออกอยู่อย่างนี้ บาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสจักครอบงำจิตของเราไม่ได้’ นันทะต้องเป็นผู้มีสัมปชัญญะใน
การมองดูนั้นอย่างนี้
หากนันทะจำเป็นต้องมองดูทิศตะวันตก ฯลฯ จำเป็นต้องมองดูทิศเหนือ ฯลฯ
จำเป็นต้องมองดูทิศใต้ ฯลฯ จำเป็นต้องมองดูทิศเบื้องบน ฯลฯ จำเป็นต้องมองดู
ทิศเบื้องล่าง ฯลฯ จำเป็นต้องมองดูทิศเฉียง นันทะต้องสำรวมจิตทั้งหมดมองดู
ทิศเฉียง ด้วยคิดว่า ‘เมื่อเรามองดูทิศเฉียงอยู่อย่างนี้ บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสจักครอบงำจิตของเราไม่ได้’ นันทะต้องเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการมองดูนั้น
อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือวิธีคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายสำหรับนันทะ
วิธีรู้จักประมาณในการบริโภคสำหรับนันทะ ดังนี้ คือ นันทะต้องพิจารณาโดย
แยบคายแล้วฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา๑ ไม่ใช่เพื่อประดับ๒
ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง๓ แต่เพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัด
ความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า ‘โดยอุบายนี้เราจักกำจัดเวทนา
เก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ
และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา’
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือวิธีรู้จักประมาณในการบริโภคสำหรับนันทะ

เชิงอรรถ :
๑ เพื่อความมัวเมา หมายถึงความถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน ความเห่อเหิม ในที่นี้หมายถึง
ความถือตัวว่ามีกำลังเหมือนนักมวยปล้ำ ความถือตัวเพราะมานะ และความถือตัวว่าเป็นชาย (องฺ.ฉกฺก.
ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕) และดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๖/๑๕๙-๑๖๐, องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๘/๕๔๙, อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๘๔๕/๕๕๐
๒ เพื่อประดับ ในที่นี้หมายถึงเพื่อให้ร่างกายอ้วนพีอวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕,
วิสุทธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๓ เพื่อตกแต่ง ในที่นี้หมายถึงเพื่อประเทืองผิวให้งดงามเหมือนหญิงนักฟ้อน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕,
วิสุทธิ. ๑/๑๘/๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๑๐.การัณฑวสูตร
วิธีประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ สำหรับนันทะ ดังนี้ คือ นันทะ
ต้องชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้น๑ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอด
ปฐมยามแห่งราตรี สำเร็จสีหไสยาโดยตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติ-
สัมปชัญญะ ทำอุฏฐานสัญญา(ความหมายใจว่าจะลุกขึ้น)ไว้ในใจในมัชฌิมยามแห่ง
ราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง
ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือวิธีประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ สำหรับ
นันทะ
วิธีมีสติสัมปชัญญะสำหรับนันทะ ดังนี้ คือ เวทนาปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏ
ตั้งอยู่ และปรากฏดับไปแก่นันทะ สัญญาปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ และปรากฏ
ดับไปแก่นันทะ วิตกปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ และปรากฏดับไปแก่นันทะ
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือ วิธีมีสติสัมปชัญญะสำหรับนันทะ
ภิกษุทั้งหลาย เว้นแต่ว่า นันทะจะเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จัก
ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ ประกอบด้วยสติ
และสัมปชัญญะ นันทะจึงจะสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
อย่างนี้แล
นันทสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. การัณฑวสูตร
ว่าด้วยสมณะหยากเยื่อ
[๑๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ริมฝั่งสระคัคคราโบกขรณี
เขตกรุงจัมปา สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวกภิกษุโจท
ด้วยอาบัตินั้น พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องกางกั้นในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท
(ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
(๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๕๑/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๑๐.การัณฑวสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงกำจัดบุคคลนี้ออกไป จงกำจัดบุคคลนี้ออกไป คนชนิดนี้ต้องขับออก เป็นบุตร
นอกคอก กวนใจเสียจริง ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป
การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ
บาตรและจีวรเหมือนภิกษุผู้เจริญอื่น ๆ ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติ
ของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จัก
เขาอย่างนี้ว่า ‘ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ’
ครั้นรู้จักเขาอย่างนี้แล้ว จึงนาสนะ๑เขาออกไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า
‘ภิกษุนี้อย่าได้ประทุษร้ายภิกษุที่ดีอื่น ๆ’
ภิกษุทั้งหลาย หญ้าที่ทำลายต้นข้าว มีเมล็ดเหมือนข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือน
ข้าวตายนึ่ง พึงเกิดขึ้นในนาข้าวที่สมบูรณ์ รากของมันก็เป็นเช่นเดียวกับข้าวที่ดีอื่นๆ
ก้านของมันก็เป็นเช่นเดียวกับข้าวที่ดีอื่นๆ ใบของมันก็เป็นเช่นเดียวกับข้าวที่ดีอื่นๆ
ตราบเท่าที่มันยังไม่ออกรวง แต่เมื่อใด มันออกรวง เมื่อนั้น ชาวนาย่อมรู้จักมัน
อย่างนี้ว่า ‘หญ้านี้ทำลายต้นข้าว มีเมล็ดเหมือนข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าวตายนึ่ง’
ครั้นรู้จักมันอย่างนี้แล้ว ชาวนาจึงถอนมันขึ้นพร้อมทั้งราก แล้วทิ้งให้พ้นจากที่นา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ‘หญ้าชนิดนี้อย่าได้ทำลายข้าวที่ดีอื่น ๆ’ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีการก้าวไป
การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ
บาตรและจีวรเหมือนภิกษุผู้เจริญอื่น ๆ ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติ
ของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จัก
เขาอย่างนี้ว่า ‘ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ’
ครั้นรู้จักเขาอย่างนี้แล้ว จึงนาสนะเขาออกไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ‘ภิกษุ
นี้อย่าได้ประทุษร้ายภิกษุที่ดีอื่น ๆ’
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลฝัดข้าวเปลือกกองใหญ่ ข้าวเปลือกที่เป็นตัวแกร่ง
ในข้าวเปลือกกองใหญ่นั้น ก็เป็นกองอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนข้าวเปลือกที่ลีบ ก็ถูกลมพัดไป

เชิงอรรถ :
๑ นาสนะ หมายถึงวิธีลงโทษพระ มี ๓ วิธี คือ (๑) ลิงคนาสนะ(ให้ฉิบหายจากเพศบรรพชิต) (๒) ทัณฑ-
กัมมนาสนะ(ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ) (๓) สังวาสนาสนะ(ให้ฉิบหายจากสังวาส) (วิ.อ. ๓/๓๒๑/๔๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค ๑๐.การัณฑวสูตร
อยู่อีกส่วนหนึ่ง เจ้าของใช้ไม้กวาดกวาดข้าวที่ลีบนั้นออกไปโดยมาก ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะคิดว่า ‘มันอย่าได้ทำลายข้าวเปลือกที่ดีอื่น ๆ’ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีการก้าวไป
การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ
บาตรและจีวร เหมือนภิกษุผู้เจริญอื่น ๆ ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติ
ของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จัก
เขาอย่างนี้ว่า ‘ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ’
ครั้นรู้จักเขาอย่างนี้แล้ว จึงนาสนะเขาออกไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ‘ภิกษุ
นี้อย่าได้ประทุษร้ายภิกษุที่ดีอื่น ๆ’
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการกระบอกตักน้ำดื่ม ถือขวานอันคมเข้าไปในป่า
เขาใช้สันขวานเคาะต้นไม้ใด ๆ บรรดาต้นไม้นั้น ๆ ต้นไม้ที่แข็งมีแก่น ซึ่งถูกเคาะ
ด้วยสันขวาน มีเสียงแน่น ส่วนต้นไม้ที่เสีย(เป็นโพลง)ข้างใน เปียกชื้น เกิดผุยุ่ย
ถูกเคาะด้วยสันขวาน มีเสียงก้อง เขาจึงตัดต้นไม้ที่เสียข้างในนั้นที่โคน ครั้นตัด
ที่โคนแล้ว จึงตัดปลาย ครั้นตัดปลายแล้ว จึงคว้านข้างในให้สะอาดดี ครั้นคว้าน
ข้างในให้สะอาดดีแล้ว จึงทำเป็นกระบอกตักน้ำดื่ม แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีการก้าวไป
การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ
บาตรและจีวร เหมือนภิกษุผู้เจริญอื่น ๆ ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติ
ของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา เมื่อนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จัก
เขาอย่างนี้ว่า ‘ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะหยากเยื่อ’
ครั้นรู้จักเขาอย่างนี้แล้ว จึงนาสนะเขาออกไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคิดว่า ‘ภิกษุ
นี้อย่าได้ประทุษร้ายภิกษุที่ดีอื่น ๆ”
เพราะการอยู่ร่วมกัน บุคคลจึงรู้ได้ว่า
ผู้นี้เป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว มักโกรธ
ลบหลู่คุณท่าน หัวดื้อ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด
บุคคลบางคนอยู่ในชุมชน พูดไพเราะ พูดดังสมณะ
ปิดบังกรรมชั่ว มีความเห็นชั่ว ไม่เอื้อเฟื้อ
พูดเลอะเทอะ พูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๑.เมตตาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เธอทั้งหลายทราบบุคคลนั้นว่า เป็นอย่างไรแล้ว
จงพร้อมเพรียงกันขับบุคคลนั้นเสีย
จงกำจัดบุคคลผู้เป็นดังแกลบ
จงถอนบุคคลผู้เป็นดังหยากเยื่อออกไป
จงนำบุคคลผู้เป็นดังแกลบ
ผู้มิใช่สมณะ แต่ยังถือตัวว่าเป็นสมณะออกไปเสีย
ครั้นกำจัดบุคคลผู้ปรารถนาชั่ว
มีอาจาระและโคจร๑ชั่วออกแล้ว
จงเป็นผู้มีสติอยู่ร่วมกับบุคคลผู้บริสุทธิ์และบุคคลผู้ไม่บริสุทธิ์
จากนั้น เธอทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
มีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
การัณฑวสูตรที่ ๑๐ จบ
เมตตาวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เมตตาสูตร ๒. ปัญญาสูตร
๓. ปฐมอัปปิยสูตร ๔. ทุติยอัปปิยสูตร
๕. ปฐมโลกธัมมสูตร ๖. ทุติยโลกธัมมสูตร
๗. เทวทัตตวิปัตติสูตร ๘. อุตตรวิปัตติสูตร
๙. นันทสูตร ๑๐. การัณฑวสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๗๕ หน้า ๑๗๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑.เวรัญชสูตร
๒. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. เวรัญชสูตร
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงแก้ข้อสงสัยของเวรัญชพราหมณ์
[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่ของ
นเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา ครั้งนั้น๑ เวรัญชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวก
พราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง
เรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมานั้นจริงทีเดียว เพราะท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ
พราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง
การที่ท่านพระโคดมทำเช่นนั้นไม่สมควรเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เรายังไม่เห็นผู้ที่
เราควรจะไหว้ ลุกรับ หรือเชื้อเชิญให้นั่ง เพราะตถาคตไหว้ ลุกรับ หรือเชื้อเชิญผู้ใด
ให้นั่ง ศีรษะของผู้นั้นจะต้องขาดตกไป”
๑. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนไม่มีรส”๒

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๒-๑๕/๒-๘
๒ ข้อที่พราหมณ์ตำหนิพระผู้มีพระภาคว่า เป็นคนไม่มีรส ในที่นี้พราหมณ์มุ่งถึงความเป็นคนไม่มีสัมมา-
คารวะ เช่น การกราบไหว้ การต้อนรับ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ละรสได้แล้ว หมายถึง
พระองค์ทรงละอัสสาทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้แล้ว จึงเป็นคนไม่มีรส คือ ไม่ยินดี
ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (วิ.อ. ๑/๓/๑๒๕-๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑.เวรัญชสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณ-
โคดมเป็นคนไม่มีรส’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะตถาคตละรสคือรูป เสียง กลิ่น รส และ
โผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นคนไม่มีรส’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
๒. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนไม่มีสมบัติ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นคนไม่มีสมบัติ’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะตถาคตละสมบัติคือรูป เสียง กลิ่น
รส และโผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน
ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า
‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีสมบัติ’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
๓. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมสอนไม่ให้ทำ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมสอนไม่ให้ทำ’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต
และมโนทุจริต ตลอดถึงการไม่ให้ทำบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหา
เราว่า ‘พระสมณโคดมสอนไม่ให้ทำ’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
๔. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมสอนให้ทำลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมสอนให้ทำลาย’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ และ
โมหะ ตลอดถึงให้ทำลายบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมสอนให้ทำลาย’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
๕. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑.เวรัญชสูตร
วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงรังเกียจบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่บุคคล
กล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่าน
กล่าวถึง”
๖. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนช่างกำจัด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ
โทสะ และโมหะ ตลอดถึงแสดงธรรมเพื่อกำจัดบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่บุคคล
กล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่าน
กล่าวถึง”
๗. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรม
ทั้งหลาย คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ เราเรียก
คนที่ละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า
‘เป็นคนช่างเผาผลาญ’ ตถาคตละบาปอกุศลธรรมที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ’ นี้แล
มีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
๘. พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ นั้นมีมูลอยู่ เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์
และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน
ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ ตถาคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑.เวรัญชสูตร
ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูก
ตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าว
หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ นี้แลมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง
พราหมณ์ ไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่กกดีแล้ว ให้ความ
อบอุ่นดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวที่ใช้เล็บหรือจะงอยปากทำลาย
กระเปาะ๑ไข่ออกมาได้โดยสวัสดีก่อน ควรเรียกมันว่า ‘เป็นตัวพี่หรือตัวน้อง”
พราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ควรเรียกว่า ‘พี่’ เพราะมันแก่กว่าเขา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เช่นเดียวกันนั่นแหละ พราหมณ์ ในขณะที่หมู่
สัตว์ถูกกระเปาะไข่คืออวิชชาห่อหุ้มอยู่ เราได้ทำลายกระเปาะไข่คืออวิชชา ผู้เดียว
เท่านั้นสำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม จึงเป็นพี่ใหญ่ผู้ประเสริฐที่สุด
ของโลก
พราหมณ์ เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ
ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ
พราหมณ์ เรานั้นสงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น๒ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’

เชิงอรรถ :
๑ กระเปาะ คือ เปลือกไข่ส่วนที่เป็นสัณฐานนูนกลม คำว่า ‘กระเปาะ‘คือ รูปนูนกลม สิ่งต่างๆ ที่มีสัณฐาน
คล้ายคลึงเช่นนั้น เรียกว่า กระเปาะ เช่น กระเปาะไข่ กระเปาะดอกไม้ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๒๕)
๒ เจตโส เอโกทิภาวํ ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น คำว่า ‘เอโกทิ’ เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌานชื่อว่าเอโกทิภาวะ
เพราะทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดเจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น’ เพราะ
สมาธิชื่อว่าเอโกทินี้ มีแก่จิตเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ ไม่มีแก่ชีวะ (วิ.อ. ๑/๑๑/๑๔๓-๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑.เวรัญชสูตร
เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราบรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อม
จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพ
นั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นแล้ว จึงมาเกิดในภพนี้ เราระลึก
ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้แล ในยามที่ ๑ แห่งราตรี ความมืดมิด
คืออวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือน
แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๑ ของเรา
เหมือนการเจาะกระเปาะไข่ออกมาของลูกไก่

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินในที่หมายถึงไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้น เพราะขจัดปัจจัยมีสุขเป็นต้นได้ ราคะเป็นต้น
ท่านเรียกว่ากิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำโน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ เช่น ต้องย้อนกลับไปสู่
จตุตถฌานอีก เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑.เวรัญชสูตร
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อมจิตไป
เพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติและกำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น
ไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขา
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์’
เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติและกำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพยอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เรารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไป
ตามกรรม ด้วยประการฉะนี้
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้แล ในยามที่ ๒ แห่งราตรี ความมืดมิด
คืออวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๒ ของเรา เหมือน
การเจาะกระเปาะไข่ออกมาของลูกไก่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑.เวรัญชสูตร
ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ๑เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป‘๒
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๓ นี้แล ในยามที่ ๓ แห่งราตรี ความมืดมิด
คืออวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๓ ของเรา เหมือน
การเจาะกระเปาะไข่ออกมาของลูกไก่”
เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดมเป็นพี่ใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่าน
พระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ
ต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึง
ท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรง
จำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เวรัญชสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้
แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
๒ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ในที่นี้หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความ
สิ้นไปแห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพุทธศาสนาถือว่าการบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ.
๑/๒๔๘/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
๒. สีหสูตร
ว่าด้วยสีหเสนาบดี๑
[๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก นั่งประชุมกันใน
สันถาคาร๒ กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญ
พระสงฆ์โดยประการต่าง ๆ
สมัยนั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ลำดับนั้น
สีหเสนาบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นต้องเป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากเหล่านี้นั่งประชุมกันใน
สันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าว
สรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่าง ๆ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ต่อมา สีหเสนาบดีได้เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนิครนถ์
นาฏบุตรดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระสมณโคดม เจ้าข้า”
นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้า
พระสมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อม
แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำสาวกตามแนวนั้น”
ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ สีหเสนาบดี หมายถึงสีหราชกุมาร ที่ได้นามว่า เสนาบดี เพราะได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็น
๑ ใน ๓ คนที่เป็นสาวกชั้นแนวหน้าของนิครนถ์ นาฏบุตร คือ อุบาลีคหบดีในเมืองนาลันทา เจ้าวัปปะ
ศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ และสีหเสนาบดีในกรุงเวสาลี (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๑๒/๒๓๑) และดู วิ.ม. (แปล) ๕/๒๙๐-
๒๙๔/๑๐๘-๑๑๖
๒ สันถาคาร มีความหมาย ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับมหาชน
อาคารนี้ถูกสร้างขึ้นที่ใจกลางเมือง คนที่อยู่รอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศสามารถมองเห็นได้ คนที่มาจาก ๔ ทิศ จะพัก
ที่อาคารนี้ก่อนที่จะเข้าไปพักในที่สะดวกสำหรับตน นัยที่ ๒ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประชุมพิจารณา
ราชกิจสำหรับราชตระกูล ในที่นี้หมายถึงนัยที่ ๒ (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๑๒/๒๒๙-๒๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
แม้ครั้งที่ ๒ เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ก็ได้นั่งประชุมกันใน
สันถาคาร กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญ
พระสงฆ์โดยประการต่าง ๆ
แม้ครั้งที่ ๒ สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก
เหล่านี้นั่งประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญ
พระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่าง ๆ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ต่อมา สีหเสนาบดีได้เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนิครนถ์
นาฏบุตรว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระสมณโคดม เจ้าข้า”
นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้าพระ
สมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อมแสดง
ธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น”
แม้ครั้งที่ ๒ สีหเสนาบดีก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ก็ได้นั่งประชุมกันในสันถาคาร
กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดย
ประการต่าง ๆ
แม้ครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก
เหล่านี้ นั่งประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญ
พระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่างๆ ก็พวกนิครนถ์เหล่านี้ เราจะ
บอกหรือไม่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทางที่ดี เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์แล้วเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ครั้งนั้น สีหเสนาบดีเดินทางออกจากกรุงเวสาลีแต่หัววัน พร้อมด้วยรถ
๕๐๐ คัน เดินทางไปด้วยยานพาหนะตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้ แล้วลงเดิน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
“พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ
แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า
คนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการ
ไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่านั้นจะชื่อว่า
พูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ
ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าว
ต่อ ๆ กันมา จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้๑ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มี
พระภาคเลย”
ข้อกล่าวหา ๘ ประการ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สีหะ
๑. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรม
เพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
๒. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดงธรรม
เพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
๓. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย แสดงธรรม
เพื่อความให้ทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
๔. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ แสดงธรรม
เพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ มีมูลอยู่
๕. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดงธรรม
เพื่อการกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
๖. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดง
ธรรมเพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.ม. (แปล) ๕/๒๙๐/๑๐๘, ที.สี. (แปล) ๙/๓๘๒/๑๖๑, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๑/๗๔, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/
๕๘/๒๒๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
๗. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรม
เพื่อความไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
๘. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนเบาใจ แสดงธรรมเพื่อ
ความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
พระดำรัสแก้ข้อกล่าวหา
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรม
เพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงการไม่
ให้ทำบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่
ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดงธรรม
เพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เพราะเราสอนให้ทำกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ตลอดถึงการให้
ทำกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ
แสดงธรรมเพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย แสดงธรรม
เพื่อความให้ทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ และโมหะ ตลอดถึงให้ทำลายบาป
อกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย
แสดงธรรมเพื่อการให้ทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ แสดงธรรม
เพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงรังเกียจ
การประกอบบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
คนช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แล
มีมูลอยู่
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดงธรรม
เพื่อความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ ตลอดถึงแสดงธรรม
เพื่อกำจัดบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็น
คนช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อการกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมี
มูลอยู่
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรม
เพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ กายทุจริต วจีทุจริต และ
มโนทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ เราเรียกคนที่ละบาปอกุศลธรรมที่ควรเผาผลาญ
ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนช่างเผาผลาญ’ ตถาคตละบาปอกุศลธรรมที่
ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณ
โคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อการเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตาม
แนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดง
ธรรมเพื่อความไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
เป็นอย่างไร
คือ เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้น ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ ตถาคตละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่
ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็น
คนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรมเพื่อการไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’
นี้แลมีมูลอยู่
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนเบาใจ แสดงธรรมเพื่อ
ความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เพราะเราเป็นคนเบาใจด้วยความเบาใจอย่างยิ่ง แสดงธรรมเพื่อความ
เบาใจ และแนะนำเหล่าสาวกตามแนวนั้น ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดม
เป็นคนเบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แล
มีมูลอยู่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้แล้ว สีหเสนาบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่
มีชื่อเสียงเช่นท่าน ต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี”
สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจ
อย่างยิ่ง เพราะพระดำรัสที่พระองค์ตรัสว่า ‘สีหะ ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด
คนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน ต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี’ เพราะพวก
อัญเดียรถีย์ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้ว ก็ป่าวประกาศไปทั่วกรุงเวสาลีว่า ‘สีห-
เสนาบดีเป็นสาวกของพวกเรา’ แต่พระองค์กลับตรัสว่า ‘ท่านใคร่ครวญก่อนแล้ว
จึงตัดสินใจเถิด คนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน ต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็น การดี’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้ง
พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็น
อุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตเถิด”


เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๑๑ (เวรัญชสูตร) หน้า ๒๒๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
ทรงสนับสนุนให้อุปถัมภ์ลัทธิที่เคยนับถือมาก่อน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับพวกนิครนถ์
มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไปตระกูล
ต่อไปเถิด”
สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจ
อย่างยิ่งเพราะพระดำรัสที่พระองค์ตรัสว่า ‘สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับ
พวกนิครนถ์มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไป
ตระกูลต่อไปเถิด’ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ควรให้
ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่ศาสดาอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น
ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของศาสดาอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่
ศาสดาอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวก
ของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก’ แต่พระผู้มีพระภาคกลับทรงชักชวนให้ข้าพระองค์ให้ทาน
แก่พวกนิครนถ์ ข้าพระองค์จะรู้เวลาในเรื่องนี้เอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพีกถาแก่สีหเสนาบดี คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)

เชิงอรรถ :
๑ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สงฺกิเลสํ (องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๒/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
เมื่อทรงทราบว่า สีหเสนาบดีมีจิตควรบรรลุธรรมสงบ อ่อน ปราศจาก
นิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๑ของพระพุทธเจ้า
ทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก
มลทิน ได้เกิดแก่สีหเสนาบดีนั้นบนที่นั่งนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
ข้ามพ้นความสงสัย๒ ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ปราศจาก
ความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย๓ในศาสนาของพระศาสดา จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร
ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
สีหเสนาบดีนั้นทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกจากอาสนะ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ลำดับนั้น สีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า “เธอไปหาซื้อเนื้อสดที่มีขายมา”
เมื่อคืนนั้นผ่านไป ได้สั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตไว้ในนิเวศน์

เชิงอรรถ :
๑ สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็นด้วย
สยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือ มิได้รับการแนะนำจากผู้อื่น ตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก (วิ.อ.
๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗)
หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเองโดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา หรือ
ทูลถาม (ที.สี.อ. ๑/๒๙๘/๒๕๐) และดู วิ.ม. (แปล) ๔/๒๕/๓๒-๓๓, ที.สี. (แปล) ๙/๒๙๘/๑๐๙, ๓๕๕/๑๔๙
๒ ความสงสัย ในที่นี้หมายถึงความสงสัย (วิจิกิจฉา) ๘ ประการ เป็นองค์ธรรมในสังโยชน์ ๑๐ ประการ
ดูรายละเอียดใน อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๐๐๘/๒๖๑ และความสงสัย ๑๖ ประการ ดู รายละเอียดใน ม.มู.
๑๒/๑๘/๑๑, สํ.นิ. ๑๖/๒๐/๒๗
๓ ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หรือไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยสนับสนุน
ให้เชื่อ เพราะเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง (ที.สี.อ. ๑/๒๙๙/๒๕๐, องฺ.ฉกฺก.อ.๓/๑๖/๑๐๖, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๑๖/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๒.สีหสูตร
ของตนแล้ว จึงให้ไปกราบทูลภัตกาลว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของสีหเสนาบดีพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้
สมัยนั้น พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก
สามแยก ทั่วกรุงเวสาลีว่า “วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วน ๆ ทำอาหารเลี้ยง
พระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง”
ครั้งนั้นแล มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปหาสีหเสนาบดีแล้วกระซิบบอกว่า “ท่านครับ
ได้โปรดทราบ พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก
สามแยก ทั่วกรุงเวสาลีว่า ‘วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วน ๆ ทำอาหาร
เลี้ยงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง”
สีหเสนาบดีตอบว่า “ช่างเถิด ท่านเหล่านั้นประสงค์จะตำหนิพระพุทธเจ้า
ประสงค์จะตำหนิพระธรรม ประสงค์จะตำหนิพระสงฆ์มานานแล้ว และท่านเหล่านั้น
ก็กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่ เปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องเท็จ
ไม่เป็นจริง ส่วนพวกเราไม่จงใจฆ่าสัตว์แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต”
จากนั้น สีหเสนาบดีได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานให้ทรงอิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์
จากบาตร สีหเสนาบดีจึงเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มี
พระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก
อาสนะเสด็จจากไป
สีหสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๓.อัสสาชานิยสูตร
๓. อัสสาชานิยสูตร
ว่าด้วยม้าอาชาไนย
[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย๑พันธุ์ดีของพระราชา ประกอบด้วยองค์
๘ ประการ ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะ
โดยแท้
องค์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาในโลกนี้
๑. เป็นสัตว์มีกำเนิดดีทั้งฝ่ายแม่ม้าและพ่อม้า เกิดในทิศที่ม้าอาชาไนย
พันธุ์ดีอื่น ๆ เกิด
๒. กินหญ้าสดหรือหญ้าแห้งที่เขาให้อย่างเรียบร้อยไม่เรี่ยราด
๓. รังเกียจที่จะหมอบทับหรือนอนทับอุจจาระหรือปัสสาวะ
๔. เป็นสัตว์สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข ไม่รบกวนม้าอื่น ๆ
๕. เป็นสัตว์เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงแก่นายสารถีตาม
ความเป็นจริง
๖. นายสารถีพยายามปราบความโอ้อวด ความพยศคดโกงเหล่านั้นของมันได้
๗. เป็นสัตว์ลากภาระไปได้ คือ มีความคิดว่า ‘ม้าอื่น ๆ จะลากภาระ
ไปได้หรือไม่ก็ตาม เราจักลากภาระนี้ไปได้’ และเมื่อเดินไปก็เดินไป
ตามทางตรงเท่านั้น
๘. เป็นสัตว์มีกำลัง คือทรงกำลังไว้ได้จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชา ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
นี้แล ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ ม้าอาชาไนย หมายถึงม้าที่เกิดในตระกูลม้าสินธพ หรือในตระกูลพญาม้าวลาหก (ธ.อ. ๖/๑๑๒) หรือม้า
รู้เหตุที่ควรและไม่ควร (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔๓/๒๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๕ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น