Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๓-๘ หน้า ๓๓๐ - ๓๗๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓-๘ สุตตันตปิฎกที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก อัฏฐก นวกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๕.อุโปสถวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ธรรม ๘ ประการดังกล่าวมานี้ มีอยู่แก่สตรีใด
สตรีนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า
‘ผู้มีศีล ตั้งอยู่ในธรรม กล่าวคำสัตย์’
อุบาสิกาเช่นนั้นผู้ถึงพร้อมด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นผู้มีศีล
ย่อมเกิดในเทวโลกชื่อว่ามนาปกายิกะ
ทุติยอิธโลกิกสูตรที่ ๑๐ จบ
อุโปสถวรรคที่ ๕ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังขิตตุโปสถสูตร ๒. วิตถตุโปสถสูตร
๓. วิสาขาสูตร ๔. วาเสฏฐสูตร
๕. โพชฌาสูตร ๖. อนุรุทธสูตร
๗. ทุติยวิสาขาสูตร ๘. นกุลมาตาสูตร
๙. ปฐมอิธโลกิกสูตร ๑๐. ทุติยอิธโลกิกสูตร

ปฐมปัณณาสก์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๑.โคตมีสูตร
๒. ทุติยปัณณาสก์
๑. โคตมีวรรค
หมวดว่าด้วยพระนางปชาบดีโคตมี
๑. โคตมีสูตร๑
ว่าด้วยพระนางปชาบดีโคตมีทูลขออุปสมบท
[๕๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ขอประทานวโรกาส มาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระ-
ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย”
แม้ครั้งที่ ๒ พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็กราบทูลว่า “ขอประทานวโรกาส
มาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรง
ประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย”
แม้ครั้งที่ ๓ พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็กราบทูลว่า “ขอประทานวโรกาส
มาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรง
ประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย”

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. (แปล) ๗/๔๐๒/๓๑๒-๓๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๑.โคตมีสูตร
ลำดับนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงดำริว่า “พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต
ให้มาตุคามได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง
ประกาศไว้” ทรงเป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนองพระพักตร์ กันแสงอยู่
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทัยอยู่ ณ เขตกรุงกบิลพัสดุ์ตามพระประสงค์แล้ว
เสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
คราวนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงปลงพระเกศา ทรงนุ่งผ้ากาสายะ
เสด็จไปทางกรุงเวสาลีพร้อมด้วยนางศากิยานีจำนวนมาก เสด็จเข้าไปยังกูฏาคารศาลา
ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีโดยลำดับ เวลานั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีมีพระบาท
ระบม พระวรกายเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี เป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนอง
พระพักตร์ ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู
ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมีมีพระบาทระบม พระวรกาย
เปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี เป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนองพระพักตร์ ประทับยืน
กันแสงอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู จึงถามพระนางมหาปชาบดีโคตมีว่า “พระนางโคตมี
เพราะเหตุไร พระองค์จึงมีพระบาทระบม พระวรกายเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี เป็นทุกข์
เสียพระทัย น้ำพระเนตรนองพระพักตร์ ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู”
พระนางมหาปชาบดีโคตมีตรัสตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้เจริญ ที่เป็นเช่นนั้น
เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มาตุคามได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตใน
พระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “พระนางโคตมี ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์จงรออยู่สักครู่
จนกว่าอาตมาจะทูลขอพระผู้มีพระภาคให้มาตุคามได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตใน
พระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้”
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางมหาปชาบดีโคตมีนี้ มีพระบาทระบม พระวรกาย
เปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี เป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนองพระพักตร์ ประทับยืน
กันแสงอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มาตุคามได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๑.โคตมีสูตร
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ ขอ
ประทานวโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัย
ที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย”
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอประทาน
วโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต
ทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต
ให้มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้
ทางที่ดีเราควรทูลขอพระผู้มีพระภาคให้มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยอุบายบางอย่าง”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง
ประกาศไว้ จะสามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ
อรหัตตผลได้หรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ สามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล
อนาคามิผล หรืออรหัตตผลได้”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ามาตุคามออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ สามารถทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล ฯลฯ หรืออรหัตตผลได้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระมาตุจฉา
ของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก เคยประคับประคองดูแลถวายเกษียรธาร
เมื่อพระชนนีสวรรคต ขอประทานวโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๑.โคตมีสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้ามหาปชาบดีโคตมีรับครุธรรม๑
๘ ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแลเป็นการอุปสมบท๒ของเธอ คือ
๑. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ
การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม๓ แก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น
ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิด
จนตลอดชีวิต
๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึง
สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
๓. ภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ อย่าง คือ ถามอุโบสถ และไปรับโอวาทจาก
ภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย โดยสถาน ๓ คือ
ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้นึกสงสัย ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
๕. ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้วพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรม
ข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจน
ตลอดชีวิต
๖. ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายให้แก่นางสิกขมานา
ที่ศึกษาธรรม ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีแล้ว ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ธรรมข้อนี้ภิกษุณี
พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๑๔๙/๓๒๒-๓๒๓, วิ.จู. (แปล) ๗/๔๐๓/๓๑๕-๓๑๙
๒ อุปสมบท ในที่นี้หมายถึงทั้งการบรรพชาและอุปสมบท (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๑/๒๖๓)
๓ การกราบไหว้ หมายถึงการไม่มีมานะ(ความถือตัว) ก้มกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ การต้อนรับ หมาย
ถึงลุกจากที่นั่งแล้วลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลีกรรม หมายถึงประนมมือทั้ง ๑๐ นิ้วไหว้ การทำสามีจิกรรม
หมายถึงทำสามีจิกรรมอันสมควรมีการปูลาดอาสนะ และการพัดให้เป็นต้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๑/๒๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๑.โคตมีสูตร
๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอน
ภิกษุณี ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วง
ละเมิดจนตลอดชีวิต
อานนท์ ถ้ามหาปชาบดีโคตมีรับครุธรรม ๘ ประการนี้ได้ การรับครุธรรมนั้นแล
เป็นการอุปสมบทของเธอ”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เรียนครุธรรม ๘ ประการนี้ในสำนักของพระ
ผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมีถึงที่ประทับ แล้วกล่าวกับ
พระนางมหาปชาบดีโคตมีดังนี้ว่า
“พระนางโคตมี ถ้าพระองค์รับครุธรรม ๘ ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแล
จักเป็นการอุปสมบทของพระองค์ คือ
๑. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ
การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น
ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิด
จนตลอดชีวิต
ฯลฯ
๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอน
ภิกษุณี ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึง
ล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
พระนางโคตมี ถ้าพระองค์รับครุธรรม ๘ ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแล
จักเป็นการอุปสมบทของพระองค์”
พระนางมหาปชาบดีโคตมีตรัสตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้เจริญ ดิฉันก็จะรับ
ครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือ
ชายหนุ่มผู้ชอบแต่งกายเมื่อสรงน้ำดำเกล้าแล้ว ได้พวงดอกอุบล พวงดอกมะลิ
หรือพวงดอกลำดวนแล้ว ก็ใช้มือทั้งสองประคองรับไว้เหนือศีรษะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๑.โคตมีสูตร
ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว จะไม่ล่วงละเมิด
จนตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้ามาตุคามจะไม่ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ พรหมจรรย์ก็จะดำรงอยู่ได้นาน สัทธรรม
จะดำรงอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรม-
วินัยที่ตถาคตประกาศไว้ บัดนี้ พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน ทั้งสัทธรรมจะ
ดำรงอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี''๑
ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน
เปรียบเหมือนตระกูลหนึ่งที่มีสตรีมาก มีบุรุษน้อย จะถูกโจรปล้นทรัพย์ทำร้ายได้ง่าย
ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน
เปรียบเหมือนหนอนขยอก๒ที่ลงในนาข้าวสาลีซึ่งอุดมสมบูรณ์ ก็ทำให้นาข้าวนั้น
คงอยู่ได้ไม่นาน

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความพระดำรัสนี้มีความหมายว่า ถ้าให้สตรีบวชโดยไม่ได้บัญญัติครุธรรมไว้ก่อน เวลาผ่านไป ๕๐๐ ปี
ก็จะไม่มีพระอรหันต์บรรลุปฏิสัมภิทา แต่เมื่อบัญญัติครุธรรมไว้ก่อนที่สตรีจะบวช ในระยะเวลา ๑,๐๐๐ ปี
ก็ยังมีพระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปี ก็ยังมีพระอรหันต์สุกขวิปัสสกอยู่ ผ่านไป
อีก ๑,๐๐๐ ปี ก็ยังมีพระอนาคามีอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปี ก็ยังมีพระสกทาคามีอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปี
ก็ยังมีพระโสดาบันอยู่ สรุปว่า ปฏิเวธสัทธรรมจะดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี แม้ปริยัตติสัทธรรมก็จะดำรงอยู่ได้
๕,๐๐๐ ปี เพราะปริยัติกับปฏิเวธต่างเกื้อกูลกัน (วิ.อ. ๓/๔๐๓/๔๐๐-๔๐๗, องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๑/๒๖๕)
๒ หนอนขยอก ในที่นี้หมายถึงแมลงเจาะกลางลำต้นข้าวแล้วทำให้รวงข้าวที่ออกมาไม่มีน้ำนม (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๕๑/๒๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๒.โอวาทสูตร
ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน
เปรียบเหมือนเพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยซึ่งอุดมสมบูรณ์ ก็ทำให้ไร่อ้อยนั้นคงอยู่ได้ไม่นาน
อานนท์ เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการไว้ เพื่อไม่ให้ภิกษุณีล่วงละเมิดจน
ตลอดชีวิต เปรียบเหมือนคนกั้นทำนบที่สระใหญ่ไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออก
ฉะนั้น”
โคตมีสูตรที่ ๑ จบ
๒. โอวาทสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้จะสอนภิกษุณี
[๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประกอบด้วยธรรมเท่าไรหนอ สงฆ์จึงควรสมมติ
ให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ
สงฆ์จึงควรสมมติให้เป็นผู้สอนภิกษุณี
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ๑ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ๒ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๒ (ปัญญาสูตร) หน้า ๑๙๗ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มตามข้อที่อ้างในเชิงอรรถที่ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๓.สังขิตตสูตร
๓. เป็นผู้ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดย
พิสดาร วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ๑
๔. เป็นผู้มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาชาวเมือง
ที่สละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้ความหมายได้
๕. เป็นผู้สามารถที่จะชี้แจงให้ภิกษุณีสงฆ์เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา
๖. เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของภิกษุณีโดยมาก
๗. เป็นผู้ไม่เคยประพฤติล่วงครุธรรม๒ ในสตรีผู้นุ่งห่มผ้ากาสายะบวชอุทิศ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้
๘. มีพรรษา ๒๐ หรือเกิน ๒๐
อานนท์ ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล สงฆ์จึงควรสมมติให้เป็นผู้
สั่งสอนภิกษุณี”
โอวาทสูตรที่ ๒ จบ
๓. สังขิตตสูตร
ว่าด้วยลักษณะธรรมวินัยโดยย่อ๓
[๕๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ในสัตตกนิบาต ข้อ ๗๖ (ทุติยวินยสูตร) หน้า ๑๗๓ ในเล่มนี้
๒ เป็นผู้ไม่เคยประพฤติล่วงครุธรรม หมายถึงในสมัยที่เป็นคฤหัสถ์ ไม่เคยจับต้องกายภิกษุณี ไม่เคย
ประพฤติผิดประเวณีกับนางสิกขมานาหรือสามเณรี (วิ.อ. ๒/๑๔๕-๑๔๗/๓๑๙, องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๒/๒๖๕)
๓ วิ.จู. (แปล) ๗/๔๐๖/๓๒๒-๓๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๓.สังขิตตสูตร
“ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อที่เมื่อหม่อมฉัน
ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
อยู่เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โคตมี เธอรู้ธรรมเหล่าใดว่า
๑. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด
๒. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความประกอบไว้ ไม่เป็นไปเพื่อความพราก
๓. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อการสะสม ไม่เป็นไปเพื่อการไม่สะสม
๔. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความมักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความมักน้อย
๕. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
๖. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
๗. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภ
ความเพียร
๘. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความ
เป็นคนเลี้ยงง่าย
โคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้โดยส่วนเดียวว่า ‘นั่นไม่ใช่ธรรม นั่นไม่ใช่
วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์’
โคตมี เธอรู้ธรรมเหล่าใดว่า
๑. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
๒. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความพราก ไม่เป็นไปเพื่อความประกอบไว้
๓. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อการไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อการสะสม
๔. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความมักมาก
๕. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
๖. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ
๗. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความ
เกียจคร้าน
๘. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความ
เป็นคนเลี้ยงยาก
โคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้โดยส่วนเดียวว่า ‘นั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย
นั่นเป็นสัตถุศาสน์”
สังขิตตสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๔.ทีฆชาณุสูตร
๔. ทีฆชาณุสูตร
ว่าด้วยโกฬิยบุตรชื่อว่าทีฆชาณุ
[๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะชื่อว่า
กักกรปัตตะ เขตกรุงโกฬิยะ ครั้งนั้น โกฬิยบุตรชื่อว่าทีฆชาณุได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี อยู่ครองเรือน
นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ของชาวกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้
ยินดีทองและเงิน๑ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพนี้
เพื่อสุขในภพนี้และเพื่อเกื้อกูลในภพหน้าเพื่อสุขในภพหน้าแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พยัคฆปัชชะ๒ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ
เกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขในภพนี้แก่กุลบุตร
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อุฏฐานสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น)
๒. อารักขสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการรักษา)
๓. กัลยาณมิตตตา (ความเป็นผู้มีมิตรดี)
๔. สมชีวิตา (ความเป็นอยู่เหมาะสม)
อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีพด้วยการงานใด จะเป็นกสิกรรม พาณิชยกรรม
โครักขกรรม เป็นช่างศร รับราชการ หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา----------------------------------------

--
๑ ดู ขุ.อุ. ๒๕/๕๒/๑๘๖
๒ พยัคฆปัชชะ เป็นชื่อเรียกชาวโกฬิยะ เพราะบรรพบุรุษของชาวโกฬิกะนี้สร้างบ้านเรือนอยู่ในพยัคฆปัชช-
นคร (นครทางเสือผ่าน) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๔.ทีฆชาณุสูตร
อันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้เรียกว่า
อุฏฐานสัมปทา
อารักขสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวม
ด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม๑ ได้มาโดยธรรม๒ เขารักษา
คุ้มครองโภคทรัพย์นั้นด้วยคิดว่า ‘ทำอย่างไร โภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา จึงจะไม่ถูก
พระราชาริบ โจรไม่ลัก ไฟไม่ไหม้ น้ำไม่พัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักไม่ลักไป’ นี้เรียกว่า
อารักขสัมปทา
กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้วางตัวเหมาะสม เจรจา สนทนากับคนในหมู่บ้านหรือใน
นิคมที่ตนอาศัยอยู่ จะเป็นคหบดี บุตรคหบดี คนหนุ่มผู้เคร่งศีล หรือคนแก่ผู้เคร่ง
ศีลก็ตาม ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ และถึงพร้อม
ด้วยปัญญา คอยศึกษาสัทธาสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาตามสมควร
คอยศึกษาสีลสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศีลตามสมควร คอยศึกษาจาคสัมปทา
ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะตามสมควร และคอยศึกษาปัญญาสัมปทาของท่านผู้
ถึงพร้อมด้วยปัญญาตามสมควร นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา
สมชีวิตา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้ว
เลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการ
ใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’
เปรียบเหมือนคนชั่งของ หรือลูกมือของคนชั่งของ ยกตราชั่งขึ้นดูก็รู้ได้ว่า ‘ต้อง
ลดลงเท่านี้ หรือเพิ่มขึ้นเท่านี้’ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญแห่ง

เชิงอรรถ :
๑ ประกอบด้วยธรรม ในที่นี้หมายถึงมีกุศลธรรม ๑๐ ประการ (องฺ.ติก.ฏีกา. ๒/๑๔/๑๐๓)
๒ ได้มาโดยธรรม ในที่นี้หมายถึงโภคทรัพย์ที่บุคคลดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ แล้วได้มา (องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๖๑/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๔.ทีฆชาณุสูตร
โภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก
ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับน้อย แต่เลี้ยงชีพอย่าง
ฟุ่มเฟือย ก็จะมีผู้กล่าวหาเขาได้ว่า ‘กุลบุตรผู้นี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เหมือนคนกินผล
มะเดื่อ‘๑ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับมาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหา
เขาได้ว่า ‘กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างไม่สมฐานะ’ แต่เพราะกุลบุตรนี้รู้ทางเจริญแห่ง
โภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก
ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ นี้เรียกว่า สมชีวิตา
พยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ มีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ
๑. เป็นนักเลงหญิง ๒. เป็นนักเลงสุรา
๓. เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว
เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษ
พึงปิดทางไหลเข้า เปิดทางไหลออกของสระน้ำนั้น และฝนก็มิได้ตกต้องตามฤดูกาล
เมื่อเป็นเช่นนี้ สระน้ำใหญ่นั้นก็เหือดแห้งไป ไม่เพิ่มปริมาณขึ้นเลย ฉันใด โภคทรัพย์
ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ
๑. เป็นนักเลงหญิง ๒. เป็นนักเลงสุรา
๓. เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว
พยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ มีทางเจริญ ๔ ประการ คือ
๑. ไม่เป็นนักเลงหญิง ๒. ไม่เป็นนักเลงสุรา
๓. ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษ
พึงเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระน้ำนั้น และฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงคนที่ต้องการกินผลมะเดื่อ เขย่าต้นมะเดื่อให้ผลสุก ๆ ร่วงลงมาจำนวนมาก แต่แล้วเขาก็กลับหยิบ
มากินเพียงบางผลเท่านั้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๔/๒๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๔.ทีฆชาณุสูตร
เป็นเช่นนี้ สระน้ำใหญ่นั้นก็เพิ่มปริมาณขึ้น ไม่เหือดแห้งไปเลย ฉันใด โภคทรัพย์ที่
เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีทางเจริญ ๔ ประการ คือ
๑. ไม่เป็นนักเลงหญิง ๒. ไม่เป็นนักเลงสุรา
๓. ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขใน
ภพนี้แก่กุลบุตร
พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุขใน
ภพหน้าแก่กุลบุตร
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาสัมปทา ๒. สีลสัมปทา
๓. จาคสัมปทา ๔. ปัญญาสัมปทา
สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ๑ เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา
สีลสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒ เว้นขาดจากการเสพ
ของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา
จาคสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน
นี้เรียกว่า จาคสัมปทา

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๙ (ปฐมอิธโลกิกสูตร) หน้า ๓๒๖ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มและความพิสดารในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๑ (สังขิตตุโปสถสูตร) หน้า ๓๐๓-๓๐๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๕.อุชชยสูตร
ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
เห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา
พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุข
ในภพหน้าแก่กุลบุตร
คนขยันหมั่นเพียรในการงาน
ไม่ประมาท รู้วิธีการเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ
รักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีในภพหน้าอยู่เป็นนิตย์
ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าสัจจะตรัสธรรม ๘ ประการดังกล่าวมานี้
เพื่อผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา
อันเป็นเหตุนำสุขมาให้ในโลกทั้ง ๒ คือ
ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า
จาคะ บุญ๑นี้ย่อมเจริญยิ่งขึ้น แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้”
ทีฆชาณุสูตรที่ ๔ จบ
๕. อุชชยสูตร
ว่าด้วยอุชชยพราหมณ์
[๕๕] ครั้งหนึ่ง อุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ บุญ ในที่นี้หมายถึงศรัทธา ศีล และปัญญา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๔/๒๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๕.อุชชยสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกข้าพระองค์คิดจะไปอยู่ต่างถิ่น ขอท่านพระโคดม
โปรดแสดงธรรมที่จะอำนวยผลเพื่อเกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขในภพนี้ เพื่อเกื้อกูลใน
ภพหน้า เพื่อสุขในภพหน้าแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล
ในภพนี้ เพื่อสุขในภพนี้แก่กุลบุตร
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อุฏฐานสัมปทา ๒. อารักขสัมปทา
๓. กัลยาณมิตตตา ๔. สมชีวิตา
อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีพด้วยการงานใด จะเป็นกสิกรรม พาณิชยกรรม
โครักขกรรม เป็นช่างศร รับราชการ หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
อันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้เรียกว่า
อุฏฐานสัมปทา
อารักขสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวม
ด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษา
คุ้มครองโภคทรัพย์นั้นด้วยคิดว่า ‘ทำอย่างไร โภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา จึงจะไม่ถูก
พระราชาริบ โจรไม่ลัก ไฟไม่ไหม้ น้ำไม่พัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักไม่ลักไป’ นี้เรียกว่า
อารักขสัมปทา
กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้วางตัวเหมาะสม เจรจา สนทนากับคนในบ้านหรือในนิคม
ที่ตนอาศัยอยู่ จะเป็นคหบดี บุตรคหบดี คนหนุ่มผู้เคร่งศีล หรือคนแก่ผู้เคร่งศีล
ก็ตาม ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ และถึงพร้อม
ด้วยปัญญา คอยศึกษาสัทธาสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาตามสมควร
คอยศึกษาสีลสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศีลตามสมควร คอยศึกษาจาคสัมปทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๕.อุชชยสูตร
ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะตามสมควร และคอยศึกษาปัญญาสัมปทาของท่านผู้ถึง
พร้อมด้วยปัญญาตามสมควร นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา
สมชีวิตา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้ว
เลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้
จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’
เปรียบเหมือนคนชั่งของ หรือลูกมือของคนชั่งของ ยกตราชั่งขึ้นดูก็รู้ได้ว่า ‘ต้อง
ลดลงเท่านี้ หรือเพิ่มขึ้นเท่านี้’ ฉันใด กุลบุตร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญแห่ง
โภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก
ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับน้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่าง
ฟุ่มเฟือย ก็จะมีผู้กล่าวหาเขาได้ว่า ‘กุลบุตรผู้นี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เหมือนคนกินผล
มะเดื่อ’ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับมาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหาเขา
ได้ว่า ‘กุลบุตรนี้จักตายอย่างไม่สมฐานะ’ แต่เพราะกุลบุตรนี้รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์
และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้
ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ นี้เรียกว่า สมชีวิตา
พราหมณ์ โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ มีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ
๑. เป็นนักเลงหญิง ๒. เป็นนักเลงสุรา
๓. เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว
เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษ
พึงปิดทางไหลเข้า เปิดทางไหลออกของสระน้ำนั้น และฝนก็มิได้ตกต้องตามฤดูกาล
เมื่อเป็นเช่นนี้ สระน้ำใหญ่นั้นก็เหือดแห้งไป ไม่เพิ่มปริมาณขึ้นเลย ฉันใด โภคทรัพย์
ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ
๑. เป็นนักเลงหญิง ๒. เป็นนักเลงสุรา
๓. เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๕.อุชชยสูตร
พราหมณ์ โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ มีทางเจริญ ๔ ประการ คือ
๑. ไม่เป็นนักเลงหญิง ๒. ไม่เป็นนักเลงสุรา
๓. ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษ
พึงเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระน้ำนั้น และฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
เมื่อเป็นเช่นนี้ สระน้ำใหญ่นั้นก็เพิ่มปริมาณขึ้น ไม่เหือดแห้งไปเลย ฉันใด โภคทรัพย์
ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีทางเจริญ ๔ ประการ คือ
๑. ไม่เป็นนักเลงหญิง ๒. ไม่เป็นนักเลงสุรา
๓. ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
พราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขใน
ภพนี้แก่กุลบุตร
พราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า
เพื่อสุขในภพหน้าแก่กุลบุตร
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาสัมปทา ๒. สีลสัมปทา
๓. จาคสัมปทา ๔. ปัญญาสัมปทา
สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ๑ เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา
สีลสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒ เว้นขาดจากการเสพ
ของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๙ (ปฐมอิธโลกิกสูตร) หน้า ๓๒๖ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๖ (อนุรุทธสูตร) หน้า ๓๒๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๕.อุชชยสูตร
จาคสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน
นี้เรียกว่า จาคสัมปทา
ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ๑ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า
ปัญญาสัมปทา
พราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุขใน
ภพหน้าแก่กุลบุตร
คนขยันหมั่นเพียรในการงาน
ไม่ประมาท รู้วิธีการเลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ
รักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีในภพหน้าอยู่เป็นนิตย์
ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าสัจจะตรัสธรรม ๘ ประการดังกล่าวมานี้
เพื่อผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา
อันเป็นเหตุนำสุขมาให้ในโลกทั้ง ๒ คือ
ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า
จาคะ บุญ ย่อมเจริญยิ่งขึ้นแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้”
อุชชยสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๕๔ (ทีฆชาณุสูตร) หน้า ๓๔๔ ในวรรคเดียวกันนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๖.ภยสูตร
๖. ภยสูตร
ว่าด้วยภัยเป็นชื่อของกาม๑
[๕๖] ภิกษุทั้งหลาย
๑. คำว่า ‘ภัย’ เป็นชื่อของกาม
๒. คำว่า ‘ทุกข์’ เป็นชื่อของกาม
๓. คำว่า ‘โรค’ เป็นชื่อของกาม
๔. คำว่า ‘ฝี’ เป็นชื่อของกาม
๕. คำว่า ‘ลูกศร’ เป็นชื่อของกาม
๖. คำว่า ‘เครื่องข้อง’ เป็นชื่อของกาม
๗. คำว่า ‘เปือกตม’ เป็นชื่อของกาม
๘. คำว่า ‘การอยู่ในครรภ์’ เป็นชื่อของกาม
คำว่า ‘ภัย’ นี้เป็นชื่อของกาม เพราะเหตุไร
เพราะสัตว์โลกผู้ยินดีด้วยกามราคะ ถูกฉันทราคะ๒เกี่ยวพันไว้ ย่อมไม่พ้นจาก
ภัยทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า ฉะนั้น คำว่า ‘ภัย’ นี้ จึงเป็นชื่อของกาม

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒๓/๔๕๓, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๗/๔๔๕-๔๔๖
๒ ฉันทราคะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจกล่าวคือตัณหา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๑๓/๒๖๐) ทั้งกาม-
ราคะ และฉันทราคะ เป็นชื่อเรียกกิเลสกามในจำนวน ๑๘ ชื่อ คือ (๑) ฉันทะ (ความพอใจ) (๒) ราคะ
(ความกำหนัด) (๓) ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ) (๔) สังกัปปะ (ความดำริ)
(๕) ราคะ (ความกำหนัด) (๖) สังกัปปราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริ) (๗) กามฉันทะ (ความ
พอใจด้วยอำนาจความใคร่) (๘) กามราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่) (๙) กามนันทะ (ความ
เพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่) (๑๐) กามตัณหา (ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่) (๑๑) กาม-
เสนหะ (ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่) (๑๒) กามปริฬาหะ (ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่)
(๑๓) กามมุจฉา (ความสยบด้วยอำนาจความใคร่) (๑๔) กามัชโฌสานะ (ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่)
(๑๕) กาโมฆะ (ห้วงน้ำคือความใคร่) (๑๖) กามโยคะ (กิเลสเครื่องประกอบด้วยอำนาจความใคร่)
(๑๗) กามุปาทานะ (กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่) (๑๘) กามัจฉันทนีวรณะ (กิเลสเครื่องกั้นจิตคือ
ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่) ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑/๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๗.ปฐมอาหุเนยยสูตร
คำว่า ‘ทุกข์’ ฯลฯ คำว่า ‘โรค’ ฯลฯ คำว่า ‘ฝี’ ฯลฯ คำว่า ‘ลูกศร’ ฯลฯ
คำว่า ‘เครื่องข้อง’ ฯลฯ คำว่า ‘เปือกตม’ ฯลฯ
คำว่า ‘การอยู่ในครรภ์’ เป็นชื่อของกาม เพราะเหตุไร
เพราะสัตว์โลกผู้ยินดีด้วยกามราคะ ถูกฉันทราคะเกี่ยวพันไว้ ย่อมไม่พ้นจาก
การอยู่ในครรภ์ทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า ฉะนั้น คำว่า ‘การอยู่ในครรภ์’ นี้
จึงเป็นชื่อของกาม
ปุถุชนตกต่ำด้วยราคะอันน่ายินดี๑
ย่อมเข้าถึงความเป็นสัตว์เกิดในครรภ์อีกเพราะกามเหล่าใด
กามเหล่านี้ เรียกว่า ภัย ทุกข์ โรค ฝี
ลูกศร เครื่องข้อง เปือกตม และการอยู่ในครรภ์
แต่เมื่อใด ภิกษุมีความเพียรเผากิเลส ไม่ละสัมปชัญญะ
ภิกษุผู้เช่นนั้นก็ข้ามกามเป็นดุจทางลื่น๒ ที่ข้ามได้ยาก
มองเห็นหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงชาติและชรา ดิ้นรนอยู่
ภยสูตรที่ ๖ จบ
๗. ปฐมอาหุเนยยสูตร
ว่าด้วยอาหุไนยบุคคล สูตรที่ ๑
[๕๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เป็นผู้ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็น
นาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

เชิงอรรถ :
๑ ราคะอันน่ายินดี หมายถึงกามสุข (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๖/๒๖๗)
๒ ทางลื่น หมายถึงทางแห่งวัฏฏะ คือ การเวียนว่ายตายเกิด (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๖/๒๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๗.ปฐมอาหุเนยยสูตร
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ๑ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ๒ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
๔. เป็นสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยความเห็นชอบ
๕. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๖. ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ๓
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
๗. เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ๔ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ
๘. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ๕ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ฯลฯ เป็นนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก
ปฐมอาหุเนยยสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ ๗๕ (ปฐมวินยธรสูตร) หน้า ๑๗๑-๑๗๒ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ ๖ (วิตถตธนสูตร) หน้า ๑๐-๑๑ ในเล่มนี้
๓ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๑ (เวรัญชสูตร) หน้า ๒๒๓ ในเล่มนี้
๔ ดูความเต็มในข้อตามที่อ้างในเชิงอรรถที่ ๓
๕ ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ ๗๕ (ปฐมวินยธรสูตร) หน้า ๑๗๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๘.ทุติยอาหุเนยยสูตร
๘. ทุติยอาหุเนยยสูตร
ว่าด้วยอาหุไนยบุคคล สูตรที่ ๒
[๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เป็นผู้ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ๑ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ๒ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. เป็นผู้ปรารภความเพียร มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง
ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๔. เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร อาศัยเสนาสนะที่สงัด
๕. เป็นผู้อดทนต่อความยินร้ายและความยินดีได้ ครอบงำความยินร้าย
ที่เกิดขึ้นได้อยู่
๖. เป็นผู้อดทนต่อภัยที่น่ากลัวได้ ครอบงำย่ำยีภัยที่น่ากลัวซึ่งเกิดขึ้นได้อยู่
๗. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๘. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ๓ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ฯลฯ เป็นนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก
ทุติยอาหุเนยยสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑-๓ ข้อความที่ย่อ(ฯลฯ)ไว้ในสูตรนี้ ดูความเต็มในข้อตามที่อ้างในเชิงอรรถหน้า ๓๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค ๑๐.ทุติยปุคคลสูตร
๙. ปฐมปุคคลสูตร๑
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นนาบุญของโลก สูตรที่ ๑
[๕๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก
บุคคล ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑. พระโสดาบัน ๒. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
๓. พระสกทาคามี ๔. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
๕. พระอนาคามี ๖. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล
๗. พระอรหันต์ ๘. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
บุคคลผู้ปฏิบัติ ๔ จำพวก
และบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวกนี้
เป็นสงฆ์ผู้ปฏิบัติตรง ประกอบด้วยปัญญาและศีล
บุญย่อมมีผลยิ่ง๒แก่มนุษย์ผู้มุ่งบุญบูชากระทำอยู่
ทานที่บุคคลให้ในสงฆ์นี้ย่อมมีผลมาก
ปฐมปุคคลสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ทุติยปุคคลสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นนาบุญของโลก สูตรที่ ๒
[๖๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๗/๑๓๘, ๒๐๗/๒๒๙
๒ มีผลยิ่ง ในที่นี้หมายถึงมีผลอันยิ่งใหญ่ หรือประมาณมิได้ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๙-๖๐/๒๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๑.โคตมีวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
บุคคล ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑. พระโสดาบัน ๒. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
๓. พระสกทาคามี ๔. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
๕. พระอนาคามี ๖. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล
๗. พระอรหันต์ ๘. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
บุคคล ๘ จำพวก คือบุคคลผู้ปฏิบัติ ๔ จำพวก
และบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวก
เป็นสงฆ์ผู้สูงส่งกว่าสัตว์ทั้งหลาย
บุญย่อมมีผลยิ่งแก่มนุษย์ผู้มุ่งบุญบูชากระทำอยู่
ทานที่บุคคลให้ในสงฆ์นี้ย่อมมีผลมาก
ทุติยปุคคลสูตรที่ ๑๐ จบ
โคตมีวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โคตมีสูตร ๒. โอวาทสูตร
๓. สังขิตตสูตร ๔. ทีฆชาณุสูตร
๕. อุชชยสูตร ๖. ภยสูตร
๗. ปฐมอาหุเนยยสูตร ๘. ทุติยอาหุเนยยสูตร
๙. ปฐมปุคคลสูตร ๑๐. ทุติยปุคคลสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๑.อิจฉาสูตร
๒. ภูมิจาลวรรค
หมวดว่าด้วยเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวครั้งใหญ่
๑. อิจฉาสูตร
ว่าด้วยความอยากได้ลาภ
[๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้ มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด๑ แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง๒
ความอยากได้ลาภ๓ย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ
แต่ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอจึงเศร้าโศก ลำบากใจ
ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้
อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่า
เป็นผู้ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากสัทธรรม๔
๒. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ
ให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภ
ก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอจึงมัวเมา ประมาท เลินเล่อ ภิกษุนี้
เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้
ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ มัวเมา ประมาท และเคลื่อนจาก
สัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ สงัด ในที่นี้หมายถึงความสงัดทางกาย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๑/๒๖๘)
๒ ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง หมายถึงไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานให้ต่อเนื่องกันไป (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๑/๒๖๘)
๓ ลาภ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย ๔ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๑/๒๖๘)
๔ สัทธรรม ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๑/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๑.อิจฉาสูตร
๓. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ
ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอจึงเศร้าโศก ลำบากใจ
ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ
เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากสัทธรรม
๔. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่
พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอจึงมัวเมา
ประมาท เลินเล่อ ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่หมั่น
ไม่พากเพียร ไม่พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ
มัวเมา ประมาท และเคลื่อนจากสัทธรรม
๕. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ
แต่ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอก็ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ
ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียก
ว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ
เธอชื่อ ว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ ไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจาก
สัทธรรม
๖. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ
ให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภก็
เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอก็ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ
ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ
ให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ ไม่มัวเมา ไม่ประมาท และไม่
เคลื่อนจากสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๒.อลังสูตร
๗. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้
ได้ลาภ ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอก็ไม่เศร้าโศก
ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน
ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่หมั่น ไม่พากเพียร
ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ ไม่เศร้าโศก
ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจากสัทธรรม
๘. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่
พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอไม่มัวเมา
ไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่
หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้
ได้ลาภ ไม่มัวเมา ไม่ประมาท และไม่เคลื่อนจากสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
อิจฉาสูตรที่ ๑ จบ
๒. อลังสูตร
ว่าด้วยผู้สามารถทำประโยชน์ตนและผู้อื่น
[๖๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้มีความ
สามารถสำหรับตนเองและมีความสามารถสำหรับผู้อื่น๑

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงสามารถปฏิบัติให้เกื้อกูลสำหรับตนเองและผู้อื่น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๒/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๒.อลังสูตร
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย๑
๒. ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๓. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้
๔. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
๕. มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่
สละสลวยไม่หยาบคายให้รู้ความหมายได้
๖ ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง และมีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง และมีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๒. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้
๓. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
๔. มีวาจางาม ฯลฯ ให้รู้ความหมายได้
๕. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง

เชิงอรรถ :
๑ ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย หมายถึงเมื่อกล่าวถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น ก็สามารถเข้าใจ
ได้ฉับพลัน ในสูตรนี้ มุ่งกล่าวถึงสมถะและวิปัสสนา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๒/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๒.อลังสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง และมีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๓. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม
๔. ไม่มีวาจางาม ไม่เจรจาถ้อยคำไพเราะ ไม่ประกอบด้วยวาจา
ชาวเมืองที่สละสลวยไม่หยาบคายให้รู้ความหมายได้ ทั้งไม่ชี้แจงให้
เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ไม่ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ ไม่เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ไม่ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรง
จำไว้ ทั้งไม่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
๓. มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ ฯลฯ ให้รู้ความหมายได้
๔. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๒.อลังสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๒. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้
๓. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ไม่มีวาจางาม
ไม่เจรจาถ้อยคำไพเราะ ไม่ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวย
ไม่หยาบคายให้รู้ความหมายได้ ทั้งไม่ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารี
เห็นชัด ไม่ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ ไม่เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ไม่ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๒. ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ ทั้งไม่รู้อรรถรู้ธรรม
แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่มีวาจางาม ฯลฯ ให้รู้ความ
หมายได้
๓. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๒.อลังสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งไม่ทรงจำธรรมที่ฟัง
แล้วไว้ได้ แต่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้
๒. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว แต่ไม่มีวาจางาม
ฯลฯ ให้รู้ความหมายได้ ทั้งไม่ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งไม่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว
ไว้ได้ ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ ไม่รู้อรรถรู้ธรรม
แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ
ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวยไม่หยาบคายให้รู้ความหมายได้
๒. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
อลังสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๓.สังขิตตสูตร
๓. สังขิตตสูตร
ว่าด้วยภิกษุทูลขอให้ทรงแสดงธรรมโดยย่อ
[๖๓] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ โดยที่เมื่อข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว
จะพึงจากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมเชื้อเชิญเราอย่างที่
เขาทำกันมา และเมื่อเราแสดงธรรมแล้ว ก็คอยติดตามเราเรื่อยไป”
ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรด
แสดงธรรมโดยย่อ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ทำอย่างไร
ข้าพระองค์จึงจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาค ทำอย่างไรข้าพระองค์
จึงจะเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ เพราะฉะนั้นแล เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
‘จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงมั่นด้วยดีในภายใน และบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วจัก
ครอบงำจิตไม่ได้อยู่’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
เมื่อใดแล จิตของเธอตั้งมั่น ดำรงมั่นด้วยดีในภายใน และบาปอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้วจักครอบงำจิตไม่ได้อยู่ เมื่อนั้น เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เมตตา-
เจโตวิมุตติจักเป็นธรรมอันเราเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้
เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น
เธอพึงเจริญสมาธินี้ที่มีวิตกมีวิจารบ้าง เจริญสมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจารบ้าง เจริญ
สมาธิที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง เจริญสมาธิที่มีปีติบ้าง เจริญสมาธิที่ไม่มีปีติบ้าง
เจริญสมาธิที่มีความยินดีบ้าง เจริญสมาธิที่มีอุเบกขาบ้าง
เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญแล้ว เจริญดีแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น
เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘กรุณาเจโตวิมุตติ ฯลฯ เมื่อนั้น เธอพึงสำเหนียก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๓.สังขิตตสูตร
อย่างนี้ว่า ‘มุทิตาเจโตวิมุตติ ฯลฯ เมื่อนั้น เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘อุเบกขา-
เจโตวิมุตติ จักเป็นธรรมอันเราเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว
ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว’ เธอพึงสำเหนียก
อย่างนี้แล
เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น
เธอพึงเจริญสมาธินี้ที่มีวิตกมีวิจารบ้าง เจริญสมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจารบ้าง เจริญ
สมาธิที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง เจริญสมาธิที่มีปีติบ้าง เจริญสมาธิที่ไม่มีปีติบ้าง
เจริญสมาธิที่มีความยินดีบ้าง เจริญสมาธิที่มีอุเบกขาบ้าง
เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญแล้ว เจริญดีแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น
เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น
เธอพึงเจริญสมาธินี้ที่มีวิตกมีวิจารบ้าง เจริญสมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจารบ้าง เจริญ
สมาธิที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง เจริญสมาธิที่มีปีติบ้าง เจริญสมาธิที่ไม่มีปีติบ้าง
เจริญสมาธิที่มีความยินดีบ้าง เจริญสมาธิที่มีอุเบกขาบ้าง
เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญแล้ว เจริญดีแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น
เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ เมื่อนั้นเธอ
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ เมื่อนั้นเธอพึงสำเหนียก
อย่างนี้ว่า ‘เราจักพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น
เธอพึงเจริญสมาธินี้ที่มีวิตกมีวิจารบ้าง เจริญสมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจารบ้าง เจริญ
สมาธิที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง เจริญสมาธิที่มีปีติบ้าง เจริญสมาธิที่ไม่มีปีติบ้าง
เจริญสมาธิที่มีความยินดีบ้าง เจริญสมาธิที่มีอุเบกขาบ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๔.คยาสีสสูตร
เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญแล้ว เจริญดีแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น
เธอจะเดินไปที่ใด ๆ ก็เดินไปได้อย่างผาสุกในที่นั้น ๆ จะยืนอยู่ในที่ใด ๆ ก็ยืนอยู่
ได้อย่างผาสุกในที่นั้น ๆ จะนั่งอยู่ในที่ใด ๆ ก็นั่งอยู่ได้อย่างผาสุกในที่นั้น ๆ จะนอน
อยู่ในที่ใด ๆ ก็นอนอยู่อย่างผาสุกในที่นั้น ๆ๑”
ภิกษุนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทนี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป เธอจากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
ภิกษุนั้นได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
สังขิตตสูตรที่ ๓ จบ
๔. คยาสีสสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่คยาสีสะ
[๖๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ เขตเมืองคยา
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ
๑. ก่อนจะตรัสรู้ เราเป็นโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ เรารู้โอภาส๒ แต่ไม่
เห็นรูปทั้งหลาย
๒. เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ถ้าเรารู้โอภาสและเห็นรูปทั้งหลาย
ด้วยอาการอย่างนี้ ญาณทัสสนะ๓ นี้ของเราก็จะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น’

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผู้บรรลุอรหัตตผลย่อมอยู่อย่างผาสุกทุกอิริยาบถ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๓/๒๗๐)
๒ โอภาส ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๔/๒๗๐)
๓ ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงทัสสนะคือญาณที่เป็นทิพพจักษุ ในสูตรนี้กล่าวถึงญาณ ๘ คือ (๑) ทิพพจักขุ-
ญาณ (๒) อิทธวิธญาณ (๓) เจโตปริยญาณ (๔) ยถากัมมูปคญาณ (๕) อนาคตังสญาณ (๖) ปัจจุปปันนังส-
ญาณ (๗) อตีตังสญาณ (๘) ปุพเพนิวาสญาณ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๔/๒๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๔.คยาสีสสูตร
สมัยต่อมา เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกาย
และใจอยู่ รู้โอภาสและเห็นรูปทั้งหลาย แต่เราไม่ได้ยืนเจรจาปราศรัย
กับเทวดาเหล่านั้น
๓. เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ถ้าเรารู้โอภาส เห็นรูปทั้งหลาย
และยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ญาณ-
ทัสสนะนี้ของเราก็จะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น’
สมัยต่อมา เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกาย
และใจอยู่ รู้โอภาส เห็นรูปทั้งหลาย และยืนเจรจาปราศรัยกับ
เทวดาเหล่านั้น แต่ไม่รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดานี้มาจากเทพ
นิกายโน้น ๆ’
๔-๗. เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ถ้าเรารู้โอภาส เห็นรูปทั้งหลาย ยืนเจรจา
ปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น และรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้
มาจากเทพนิกายโน้น ๆ’ ด้วยอาการอย่างนี้ ญาณทัสสนะนี้ของเรา
ก็จะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น’
สมัยต่อมา เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกาย
และใจอยู่ รู้โอภาส เห็นรูปทั้งหลาย ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดา
เหล่านั้น และรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้มาจากเทพ
นิกายโน้น ๆ’ แต่ไม่รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้
เทวดาเหล่านี้จุติจากภพนี้แล้ว จึงมาเกิดในภพนั้น’ ฯลฯ รู้จัก
เทวดาเหล่านั้นว่า ‘ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้ เทวดาเหล่านี้จุติจาก
ภพนี้แล้ว จึงมาเกิดในภพนั้น’ แต่ไม่รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘ด้วย
วิบากแห่งกรรมนี้ เทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์
อย่างนี้’ ฯลฯ รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้
เทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้’ แต่ไม่รู้จัก
เทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้ ดำรงอยู่ได้นาน
อย่างนี้’ ฯลฯ รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้
ดำรงอยู่ได้นานอย่างนี้’ แต่ไม่รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เราเคยอยู่ร่วม
หรือไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๔.คยาสีสสูตร
๘. เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ถ้าเรารู้โอภาส เห็นรูปทั้งหลาย ยืนเจรจา
ปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น และรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้
มาจากเทพนิกายโน้น ๆ’ รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘ด้วยวิบากแห่ง
กรรมนี้ เทวดาเหล่านี้จุติจากภพนี้แล้ว จึงมาเกิดในภพนั้น’ รู้จัก
เทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์
อย่างนี้’ รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้
ดำรงอยู่ได้นานอย่างนี้’ และรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เราเคยอยู่ร่วม
หรือไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้’ ญาณทัสสนะนี้ของเราก็จะ
บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น’
สมัยต่อมา เรานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกาย
และใจอยู่ รู้โอภาส เห็นรูปทั้งหลาย ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดา
เหล่านั้น และรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้ มาจากเทพ
นิกายโน้น ๆ’ รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘ด้วยวิบากแห่งกรรมนี้
เทวดาเหล่านี้จุติจากภพนี้แล้ว จึงมาเกิดในภพนั้น’ รู้จักเทวดา
เหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้’
รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้ ดำรงอยู่ได้
นานอย่างนี้’ และรู้จักเทวดาเหล่านั้นว่า ‘เราเคยอยู่ร่วมหรือไม่เคย
อยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้’
อธิเทวญาณทัสสนะ(ความรู้ความเห็นเกี่ยวกับเทวดาผู้ยิ่ง)ของเรา ๘ ขั้นอย่างนี้
ยังไม่หมดจดดีตราบใด เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอด
เยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์ตราบนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด อธิเทวญาณทัสสนะของเรา ๘ ขั้นอย่างนี้หมดจดดีแล้ว
เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์
ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า ‘เจโตวิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก’
คยาสีสสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๕.อภิภายตนสูตร
๕. อภิภายตนสูตร
ว่าด้วยอภิภายตนะ
[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย อภิภายตนะ๑ ๘ ประการนี้
อภิภายตนะ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน๒ เห็นรูปภายนอกขนาดเล็ก มีสีสันดี
หรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’
นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๑
๒. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกขนาดใหญ่ มีสีสันดี
หรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’
นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๒
๓. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน๓ เห็นรูปภายนอกขนาดเล็ก มีสีสันดี
หรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’
นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๓
๔. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกขนาดใหญ่ มีสีสันดี
หรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’
นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๔
๕. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่เขียว มีสีเขียว
เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๕

เชิงอรรถ :
๑ อภิภายตนะ หมายถึงเหตุครอบงำ เหตุที่มีอิทธิพล ได้แก่ ญาณหรือฌานที่เป็นเหตุครอบงำปัจจนีกธรรม
คือนิวรณ์ ๕ และอารมณ์ทั้งหลาย คำนี้มาจาก อภิภู + อายตนะ ที่ชื่อว่า อภิภู เพราะครอบงำอารมณ์
และชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นที่เกิดความสุขอันวิเศษแก่พระโยคีทั้งหลาย และเพราะเป็นมนายตนะและ
ธัมมายตนะ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/๒๗๐, องฺ.อฏฺฐก. ฏีกา ๓/๖๑-๖๕/๓๐๒, ที.ม.อ. ๒/๑๗๓/๑๖๔) และดู
ที.ม. ๑๐/๑๗๓/๙๘, ที.ปา. ๑๑/๓๓๘/๒๒๙-๒๓๐, ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๙/๗๑
๒ มีรูปสัญญาภายใน หมายถึงจำได้หมายรู้รูปภายในโดยการบริกรรมรูปภายใน ยังไม่ถึงอัปปนา (องฺ.อฏฺฐก.
อ. ๓/๖๕/๒๗๐)
๓ มีอรูปสัญญาภายใน หมายถึงปราศจากบริกรรมอรูปภายใน เพราะไม่ให้รูปสัญญาเกิดขึ้น (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๖๕/๒๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๖.วิโมกขสูตร
๖. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่เหลือง มีสีเหลือง
เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๖
๗. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่แดง มีสีแดง
เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๗
๘. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่ขาว มีสีขาว
เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย อภิภายตนะ ๘ ประการนี้แล
อภิภายตนสูตรที่ ๕ จบ
๖. วิโมกขสูตร
ว่าด้วยวิโมกข์
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย วิโมกข์๑ ๘ ประการนี้
วิโมกข์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีรูป๒ เห็นรูปทั้งหลาย นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๑
๒. บุคคลผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก นี้เป็นวิโมกข์
ที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ วิโมกข์(ความหลุดพ้น) หมายถึงภาวะที่จิตหลุดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งไปในอารมณ์นั้นๆ (องฺ.อฏฺฐก.
อ. ๓/๖๖/๒๗๒) ดู ที.ม. ๑๐/๑๒๙/๖๓, ๑๗๔/๑๐๐, ที.ปา ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, ๓๕๘/๒๗๑-๒๗๒, ม.ม. ๑๓/
๒๔๘/๒๒๓-๒๒๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๒๘/๕๓๐-๕๓๑
๒ มีรูป ในที่นี้หมายถึงได้รูปฌานที่เกิดจากอาการทำบริกรรมในรูปภายในตน เช่น ทำบริกรรมผม เหงื่อ เนื้อ
เลือด กระดูก ฟัน เล็บ โดยวิธีการบริกรรมเป็นสีต่าง ๆ มีสีเขียว เหลือง แดง เป็นต้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/
๒๗๐,๖๖/๒๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๗.อนริยโวหารสูตร
๓. บุคคลเป็นผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม’ เท่านั้น นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๓
๔. บุคคลบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘อากาศหา
ที่สุดมิได้’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๔
๕. บุคคลล่วงอากาสานัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๕
๖. บุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็น
วิโมกข์ที่ ๖
๗. บุคคลล่วงอากิญจัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๗
๘. บุคคลล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุ
สัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย วิโมกข์ ๘ ประการนี้แล
วิโมกขสูตรที่ ๖ จบ
๗. อนริยโวหารสูตร๑
ว่าด้วยอนริยโวหาร
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย อนริยโวหาร๒ ๘ ประการนี้
อนริยโวหาร ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าได้เห็น
๒. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าได้ฟัง

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๑๓/๒๐๖, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๕๐/๓๖๘, ๒๕๒/๓๖๙, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๙/๕๙๐
๒ อนริยโวหาร ในที่นี้หมายถึงถ้อยคำของเหล่าชนผู้ไม่ใช่พระอริยะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๕๐/๔๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๘.อริยโวหารสูตร
๓. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๔. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าได้รู้
๕. การกล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น
๖. การกล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง
๗. การกล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ
๘. การกล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้
ภิกษุทั้งหลาย อนริยโวหาร ๘ ประการนี้แล
อนริยโวหารสูตรที่ ๗ จบ
๘. อริยโวหารสูตร๑
ว่าด้วยอริยโวหาร
[๖๘] ภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๘ ประการนี้
อริยโวหาร ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น
๒. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง
๓. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ
๔. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้
๕. การกล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าได้เห็น
๖. การกล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าได้ฟัง
๗. การกล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๘. การกล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าได้รู้
ภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๘ ประการนี้แล
อริยโวหารสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๑๓/๒๐๖, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๕๑/๓๖๘,๒๕๓/๓๗๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๙.ปริสาสูตร
๙. ปริสาสูตร
ว่าด้วยบริษัท๑
[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๘ จำพวกนี้
บริษัท ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. ขัตติยบริษัท (ชุมนุมกษัตริย์)
๒. พราหมณบริษัท (ชุมนุมพราหมณ์)
๓. คหบดีบริษัท (ชุมนุมคหบดี)
๔. สมณบริษัท (ชุมนุมสมณะ)
๕. จาตุมหาราชบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นจาตุมหาราช)
๖. ดาวดึงสบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นดาวดึงส์)
๗. มารบริษัท (ชุมนุมมาร)
๘. พรหมบริษัท (ชุมนุมพรหม)
ภิกษุทั้งหลาย เราจำได้ว่า ‘เคยเข้าไปหาขัตติยบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคย
นั่งพูดคุยและสนทนาในขัตติยบริษัทนั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มี
วรรณะเช่นนั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้กษัตริย์
เหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า
‘ผู้กำลังพูดอยู่นี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วก็หายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไป
แล้วนี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือมนุษย์’
ภิกษุทั้งหลาย เราจำได้ว่า ‘เคยเข้าไปหาพราหมณบริษัท ฯลฯ คหบดีบริษัท
ฯลฯ สมณบริษัท ฯลฯ จาตุมหาราชบริษัท ฯลฯ ดาวดึงสบริษัท ฯลฯ มารบริษัท ฯลฯ’-------------------------------------

-----
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๑๗๒/๙๗-๙๘, ม.มู. ๑๒/๑๕๑/๑๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๑๐.ภูมิจาลสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เราจำได้ว่า ‘เคยเข้าไปหาพรหมบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคย
นั่งพูดคุยและสนทนาในพรหมบริษัทนั้น พรหมเหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะ
เช่นนั้น พรหมเหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้พรหมเหล่านั้น
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูด
อยู่นี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้พรหมเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้วก็หายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไปแล้ว
นี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือมนุษย์’
ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๘ จำพวกนี้แล
ปริสาสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ภูมิจาลสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวครั้งใหญ่๑
[๗๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตร
และจีวรเสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาต หลังจาก
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจง
ถือนิสีทนะ๒ เราจะเข้าไปพักกลางวันที่ปาวาลเจดีย์” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว ถือนิสีทนะตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปข้างพระปฤษฎางค์
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาด
ไว้แล้วได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์
น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ พหุปุตตกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์น่า
รื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๑๖๖-๑๖๙/๙๑-๙๖, สํ.ม. ๑๙/๘๒๒/๒๒๖-๒๒๙, ขุ.อุ. ๒๕/๕๑/๑๗๙-๑๘๔
๒ นิสีทนะ ในที่นี้หมายถึงแผ่นหนังสัตว์ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๗๐/๒๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๑๐.ภูมิจาลสูตร
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่
ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่
ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป”
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอกาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้
ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
เพราะท่านถูกมารดลใจ
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ พหุปุตตกเจดีย์
น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ฯลฯ ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป”
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอกาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้
ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๑๐.ภูมิจาลสูตร
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย” เพราะท่านถูกมารดลใจ
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
ไปเถิด เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระ
ผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
ครั้นเมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน มารผู้มีบาปได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด
ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่เหล่าภิกษุผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า
ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว
แต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรม
มีปาฏิหาริย์ปราบปรัปปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าภิกษุผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้
เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนกทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย
โดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระ
สุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๑๐.ภูมิจาลสูตร
พระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่
เหล่าภิกษุณีผู้สาวิกาของเรา ฯลฯ ตราบเท่าที่เหล่าอุบาสกผู้สาวกของเรา ฯลฯ
ตราบเท่าที่เหล่าอุบาสิกาผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าอุบาสิกาผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจาก
โยคะ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดย
ชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระ
สุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่
พรหมจรรย์๑นี้ของเรายังไม่เจริญแพร่หลาย กว้างขวาง รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น
กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคเจริญแพร่หลาย
กว้างขวาง รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศ
ได้ดีแล้ว
บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด
เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์ คือ คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา
(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๗๐/๒๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๑๐.ภูมิจาลสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มารผู้มีบาป ท่านจงขวนขวายน้อย๑เถิด
ไม่นานนัก ตถาคตจะปรินิพพาน จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”
เวลานั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว
ณ ปาวาลเจดีย์ เมื่อพระองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขาร๒แล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหว
ครั้งใหญ่ น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง ครั้นพระผู้มี
พระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานในเวลานั้นดังนี้ว่า
“มุนีละกรรมทั้งที่ชั่งได้และชั่งไม่ได้
อันเป็นเหตุก่อกำเนิดเป็นเครื่องปรุงแต่งภพได้แล้ว
ยินดีในภายใน มีใจมั่นคง
ทำลายกิเลสที่เกิดในตนได้
เหมือนนักรบทำลายเกราะได้ ฉะนั้น”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “แผ่นดินไหวครั้งนี้ รุนแรงจริง
แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริงๆ น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็
ดังกึกก้อง อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง”
ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริงๆ น่าสะพรึงกลัว ขนพอง
สยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้ทำให้แผ่นดิน
ไหวอย่างรุนแรง

เชิงอรรถ :
๑ ขวนขวายน้อย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องกังวลห่วงใย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๗๐/๒๗๗)
๒ ปลงอายุสังขาร หมายถึงสลัดปัจจัยเครื่องปรุงแต่งอายุ ตกลงพระทัยอย่างมีสติมั่นคง และกำหนดรู้ด้วย
พระปัญญาว่าจะปรินิพพาน (ที.ม.อ. ๒/๑๗๗/๑๖๗, องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๗๐/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น