Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๑๒ หน้า ๗๑๙ - ๗๘๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๐๙] ความชอบใจวัตถุ ย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหว ย่อมมีเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไรเล่า
หรือจะพึงชอบใจในอะไรเล่า
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๑๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๑๑] อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ว ย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง
[๙๑๒] หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
เพราะคนส่วนมาก ต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
พากันกล่าวถึงธรรมของผู้อื่นว่า เป็นสิ่งเลวทราม
[๙๑๓] การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง
เหมือนสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น
การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง
เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๑๔] ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ไม่เห็นธรรมอื่นว่า เป็นของประเสริฐ
[๙๑๕] สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิว่า
เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่า มีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว
จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่า
เพราะพวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
[๙๑๖] นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป
หรือครั้นเห็นแล้วก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น
นรชนเห็นนามรูปมากบ้าง น้อยบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะการเห็นนามรูปนั้น
[๙๑๗] นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย
เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวว่าศาสดานั้นดีงามเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
[๙๑๘] พราหมณ์พิจารณาแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๑๙] มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
เมื่อคนทั้งหลายเกิดวิวาทกันแล้ว
ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[๙๒๐] มุนีละอาสวะเก่า๑ไม่ก่ออาสวะใหม่๒
ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย
ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก
[๙๒๑] มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนา๓ในธรรมทั้งปวง
คือในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระ๔ลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
ไม่มีความปรารถนา
มหาวิยูหสูตรที่ ๑๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาสวะเก่า หมายถึงกิเลสเกิดขึ้นเพราะปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอดีต (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๔๘/๓๙๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๒๐/๔๐๔)
๒ อาวสวะใหม่ หมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปัจจุบัน (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๔๘/๓๙๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๒๐/๔๐๔)
๓ เสนา ในที่นี้หมายถึงเสนามาร คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒๙/๑๔๙/๒๗๗)
๔ ภาระ หมายถึงสิ่งที่ต้องนำพา มี ๓ คือ (๑) ขันธภาระ ได้แก่ ขันธ์ ๕ (๒) กิเลสภาระ ได้แก่ ราคะ โทสะ
โมหะ เป็นต้น (๓) อภิสังขารภาระ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๔๙/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
๑๔. ตุวฏกสูตร๑
ว่าด้วยภิกษุผู้กำจัดบาปธรรมอย่างเร็วพลัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๒๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า
ภิกษุเห็นอย่างไร จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดับไป
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๒๓] ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง
ที่เป็นรากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า๒
และอัสมิมานะ ด้วยมันตา๓
ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในภายใน
ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
[๙๒๔] ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในภายในหรือในภายนอก
แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น
ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบคำแปลและรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๐-๑๖๙/๔๐๕-๔๗๙
๒ รากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า ในที่นี้หมายถึงอวิชชา (ความไม่รู้) อโยนิโสมนสิการ (การไม่มนสิการ
โดยแยบคาย) อัสมิมานะ (ความถือตัว) อหิริกะ (ความไม่ละอาย) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัว) อุทธัจจะ
(ความฟุ้งซ่าน) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๑/๔๑๒)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
[๙๒๕] ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่า เราเลิศกว่าเขา เราด้อยกว่าเขา
หรือว่าเราเสมอเขา เพราะคุณธรรมนั้น
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว
ไม่พึงกำหนดตนดำรงอยู่
[๙๒๖] ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง
ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น
เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว
ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตาก็ไม่มีแต่ที่ไหน ๆ
[๙๒๗] คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด
ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น
ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจ๑ในที่ไหน ๆ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๒๘] พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ๒แจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน๓
อันเป็นธรรมเครื่องกำจัดอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงตรัสบอกปฏิปทา
คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องฟูใจ มี ๗ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และกรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๕/
๔๒๓-๔๒๔)
๒ จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ ชนิด คือ มังสจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ และสมันตจักษุ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๒๔
๓ ธรรมที่เป็นพยาน หมายถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบเอง ประจักษ์แก่พระองค์เอง มิใช่โดยการ
เชื่อผู้อื่น (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๒๙] ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา๑
ไม่พึงติดใจในรส และไม่พึงยึดถืออะไร ๆ
ในโลกว่า เป็นของเรา
[๙๓๐] เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ
เมื่อนั้น เธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญในที่ไหน ๆ
ไม่พึงคาดหวังภพ และไม่พึงกระสับกระส่าย
เพราะอารมณ์ที่น่ากลัว
[๙๓๑] ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี
ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้น ก็ไม่พึงสะดุ้ง
[๙๓๒] ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
และพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนที่มีเสียงน้อย
[๙๓๓] ภิกษุไม่พึงหลับมาก มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลอกลวง
เรื่องชวนหัว การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง
[๙๓๔] ผู้นับถือพระรัตนตรัยไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์๒
การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ หรือแม้การดูฤกษ์ยาม

เชิงอรรถ :
๑ คามกถา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์หรือนิพพาน ได้แก่เรื่องราวที่ภิกษุ
ไม่ควรนำมาเป็นข้อสนทนากัน เพราะทำให้เกิดความฟุ้งซ่านและหลงเพลินเสียเวลา (ที.สี.อ. ๑/๑๗/๘๔)
และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๗/๔๓๙ ประกอบ
๒ อาถรรรพณ์ หมายถึงคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ หรือเวทมนตร์ที่ใช้เพื่อให้ดีหรือร้าย เป็นคัมภีร์อีกเล่มหนึ่ง
ในคัมภีร์พระเวท (ขุ.ม.อ. ๑๒๖/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง
การปรุงยาให้ตั้งครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค
[๙๓๕] ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
แม้ได้รับการสรรเสริญก็ไม่พึงลำพองตน
พึงบรรเทาความโลภรวมทั้งความตระหนี่
ความโกรธ และวาจาส่อเสียด
[๙๓๖] ภิกษุไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย
ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ
ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน
และไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน เพราะอยากได้ลาภ
[๙๓๗] ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง
ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง
[๙๓๘] ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด
และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่
ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร
[๙๓๙] ภิกษุผู้ถูกคนเหล่าอื่นเบียดเบียน
ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ หรือพวกคนพูดมาก(เหล่าอื่น)
ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู
[๙๔๐] ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้ว เลือกสรรอยู่
พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาทุกเมื่อ
รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๔๑] ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ๑ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยานซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
นอบน้อมอยู่ พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
ตุวฏกสูตรที่ ๑๔ จบ
๑๕. อัตตทัณฑสูตร๒
ว่าด้วยความกลัวเกิดจากโทษของตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสท่ามกลางหมู่ทหารของพระญาติทั้งสองฝ่ายดังนี้)
[๙๔๒] ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราได้เคยสังเวชมาแล้ว
[๙๔๓] เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา
[๙๔๔] โลกทั้งหมด๓ไม่มีแก่นสาร
สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว
เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน
ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ

เชิงอรรถ :
๑ ครอบงำ หมายถึงครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือครอบงำบาปอกุศลธรรม
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๖๙/๔๗๘)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๐-๑๘๙/๔๘๐-๕๓๔
๓ โลกทั้งหมด หมายถึงโลกนรก โลกกำเนิดดิรัจฉาน โลกเปตวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกขันธ์ โลกธาตุ
โลกอายตนะ และโลกพรหม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๒/๔๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๔๕] เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
ความไม่ยินดี จึงมีแก่เรา
อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร๑ที่เห็นได้ยาก
อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว
[๙๔๖] สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง
เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว
จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม
[๙๔๗] คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[๙๔๘] มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ
ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว
[๙๔๙] นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น
พึงน้อมใจไปในนิพพาน
[๙๕๐] นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป
พึงกำหนดรู้ความถือตัว
และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน

เชิงอรรถ :
๑ ลูกศร ในที่นี้หมายถึงกิเลส มี ๗ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ โสกะ และความสงสัย (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๗๔/๔๙๒-๔๙๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๔๕/๔๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๕๑] นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า
ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
[๙๕๒] เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่
เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา
เรียกอารมณ์๑ว่า ความหวั่นไหว
เปือกตมคือกาม เป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก
[๙๕๓] มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก
มุนีสลัดสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ
[๙๕๔] มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท รู้ธรรมแล้ว ก็ไม่อาศัย๒
มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ
ย่อมไม่ใฝ่หาใคร ๆ ในโลกนี้
[๙๕๕] ผู้ใดข้ามกามและกิเลสเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้
ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ
เป็นผู้ตัดกระแสได้ ไม่มีเครื่องผูก
[๙๕๖] เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
กิเลสเครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลัง อย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ ความติดใจ ความโลดแล่น อารมณ์ หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘๐/๕๑๔)
๒ ไม่อาศัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘๒/๕๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๕๗] ความยึดถือว่า เป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่า เป็นของเรา
ผู้นั้นแลชื่อว่า ย่อมไม่เสื่อมในโลก๑
[๙๕๘] กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา
หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ไม่มีแก่ผู้ใด
ผู้นั้น เมื่อไม่ได้ความยึดถือว่า เป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่า สิ่งของของเราไม่มี
[๙๕๙] บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ ไม่หวั่นไหว
สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง
เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น
[๙๖๐] อภิสังขารไร ๆ ไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง
เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร
ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง
[๙๖๑] มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่ชนที่เสมอกัน
ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย
มุนีนั้นเป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง
อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบธรรมบทข้อ ๓๖๗ หน้า ๑๔๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
๑๖. สารีปุตตสูตร๑
ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ
(ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้)
[๙๖๒] พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้
ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
ก่อนหน้านี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น
ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย
[๙๖๓] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
ย่อมปรากฏแก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง
ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว
[๙๖๔] ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง ไม่หลอกลวง
เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ของคนเป็นอันมาก
ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้
[๙๖๕] เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า
ในถ้ำแห่งภูเขา ที่โคนไม้ หรือที่ป่าช้า
[๙๖๖] ภิกษุอยู่บนที่นอนที่นั่งอันไม่มีเสียงอื้ออึง
เห็นอารมณ์ที่น่าหวาดเสียวเหล่าใดแล้ว ไม่พึงหวั่นไหว
ภิกษุ(อื่น) พึงหวั่นไหวร้องไห้อยู่บนที่นอนสูงและใหญ่
ซึ่งเป็นที่มีอารมณ์ที่น่าหวาดเสียว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๐-๒๑๐/๕๓๕-๖๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
[๙๖๗] ภิกษุเมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป๑
พึงปราบปรามอันตรายที่มีอยู่ในโลก
บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด
[๙๖๘] ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร
[๙๖๙] ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองขจัดมลทินทอง ฉะนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร)
[๙๗๐] เราจักบอกความผาสุก และธรรมตามสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณแก่เธอ ตามที่รู้
[๙๗๑] ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ไม่พึงกลัวภัย ๕ อย่าง คือ
เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน
สัมผัสจากมนุษย์ และสัตว์ ๔ เท้า
[๙๗๒] ภิกษุไม่พึงหวาดกลัวผู้ถือธรรมอื่น
แม้เห็นอารมณ์น่าหวาดเสียวเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ ทิศที่ไม่เคยไป ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๖๗/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
ของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น ก็ไม่พึงหวาดกลัว
อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศลธรรม
พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ
[๙๗๓] ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
โดยอาการมากอย่าง ก็ไม่ให้โอกาส
พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง
[๙๗๔] ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้ยังหวาดสะดุ้ง และผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
[๙๗๕] ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น
ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้นดำรงอยู่
แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขาร
ที่เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักโดยแท้
[๙๗๖] ภิกษุผู้มีปีติในเรื่องดีงาม พึงเชิดชูปัญญา
พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึงปราบความไม่ยินดีในที่นั่งที่นอนอันสงัด
ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ๔ ประการ
[๙๗๗] เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
คืนนี้เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
ภิกษุผู้เป็นเสขะพึงกำจัดวิตกอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความคร่ำครวญเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป
[๙๗๘] ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่า ก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ
[๙๗๙] ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น
พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรม
ที่อาศัยความตรึกและความคะนอง
[๙๘๐] ภิกษุถูกผู้ตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม
ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล
ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต
ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน
[๙๘๑] ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาเพื่อกำจัดธุลี ๕ อย่างในโลก
คือพึงปราบปรามราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น
ราคะในรส และราคะในผัสสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[๙๘๒] ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว
พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล
เป็นผู้มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด
สารีปุตตสูตรที่ ๑๖ จบ
อัฏฐกวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร
๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร
๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร
๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร
๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร
๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร
๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สารีปุตตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
๕. ปารายนวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
วัตถุกถา๑
พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา
[๙๘๓] เรื่องพราหมณ์พาวรีผู้เรียนจบมนตร์
ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล
จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศลอันรื่นรมย์
ไปสู่ทักขิณาปถชนบท
[๙๘๔] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี
อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะต่อกัน
(เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกษาและผลไม้
[๙๘๕] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง
หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์
ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น
ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น
[๙๘๖] ท่านบูชาพิธีมหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม
เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว
พราหมณ์อีกคนหนึ่งก็เดินทางมาถึง
[๙๘๗] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน
ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ
ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก
เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้ว
ขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑-๕๖/๑-๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๙๘๘] พราหมณ์พาวรีเห็นเขานั้นแล้วก็เชิญให้นั่ง
ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า
[๙๘๙] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด
เราบริจาคไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย
ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย
[๙๙๐] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า)
ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่
ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๙๙๑] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก
แสดงท่าทาง(หลอกลวง)กล่าวคำทำให้น่ากลัว
พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์
[๙๙๒] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความโศกเสียบแทงแล้ว
ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม
เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน
[๙๙๓] เทวดา๑ผู้ปรารถนาประโยชน์
เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัว เป็นทุกข์อยู่
จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า
[๙๙๔] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้น เป็นคนโกหก
เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๙๙๕] พราหมณ์พาวรีคิดว่า เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้
(จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป

เชิงอรรถ :
๑ เทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ในอาศรมของพราหมณ์พาวรี (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๙๓/๔๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน
[๙๙๖] (เทวดากล่าวว่า)
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น
[๙๙๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้
รู้จักเรื่องศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๙๙๘] (เทวดากล่าวว่า)
พระโอรสของเจ้าศากยะ
เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ
เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว
[๙๙๙] (เทวดากล่าวว่า)
พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น
เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง
ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๐๐] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม
ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด
พระองค์จักตรัสตอบปัญหานั้นแก่ท่านได้
[๑๐๐๑] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า
ก็มีความเบิกบานใจ
มีความโศกเบาบางและได้รับปีติเปี่ยมล้น
[๑๐๐๒] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ
เกิดความปลาบปลื้มใจ
จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ประทับอยู่ ณ ที่ไหน จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม
พวกเราพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๐๐๓] (เทวดากล่าวว่า)
เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น ทรงชนะมาร
มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง
ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ
ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน
ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของชนชาวโกศล เขตกรุงสาวัตถี
[๑๐๐๔] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า
มาณพทั้งหลาย มานี่เถิด เราจักบอก
ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๐๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนือง ๆ ในโลก
นั่นหาได้ยาก
วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า
เธอทั้งหลายจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๐๐๖] (มาณพทั้งหลายถามว่า)
ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าข้าพเจ้าทั้งหลายพบแล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า
ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์
แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด
[๑๐๐๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ก็ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย
ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับว่า
[๑๐๐๘] บุคคลใดมีลักษณะมหาบุรุษเหล่านั้นอยู่ในตัว
บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น
มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย
[๑๐๐๙] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือนจะพึงครอบครองแผ่นดินนี้
ย่อมปกครองโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๑๐] แต่ถ้าบุคคลนั้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง๑อันเปิดแล้ว
[๑๐๑๑] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้น
ถึงชาติ โคตร ลักษณะ
มนตร์ ศิษย์คนอื่น ๆ
ศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๐๑๒] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้
เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว
ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา
[๑๐๑๓] ครั้นได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว
พราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ
(๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
[๑๐๑๔] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ
(๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต
[๑๐๑๕] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ
(๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี
[๑๐๑๖] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น
แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป
เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๘/๓๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
เป็นผู้ทรงปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อน๑ทั้งนั้น
[๑๐๑๗] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทาง มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[๑๐๑๘] สู่สถานเป็นที่ตั้งแคว้นอุฬกะ เมืองมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยะ๒
[๑๐๑๙] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[๑๐๒๐] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[๑๐๒๑] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำ รีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา ฉะนั้น
[๑๐๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า

เชิงอรรถ :
๑ มาณพ ๑๖ คนนี้ได้เคยบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ แล้วอบรมจิตเพื่อเป็นบุญ
วาสนาที่จะติดตามตัวไป (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๘/๔๓๐)
๒ วนสวหยะ มีชื่อ ๒ ชื่อ คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๘/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๒๓] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ ฉะนั้น
[๑๐๒๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจเพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า
[๑๐๒๕] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตรพร้อมด้วยลักษณะ
ขอจงตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[๑๐๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี
ชื่อพาวรีโดยโคตร มีลักษณะ ๓ อย่างอยู่ในตัว
เป็นผู้เรียนจบไตรเพท
[๑๐๒๗] พราหมณ์พาวรีนั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์ และประวัติศาสตร์๑
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๒ และเกฏุภศาสตร์๓

เชิงอรรถ :
๑ ประวัติศาสตร์ คือ พงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
๒ นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (lexicon) หรือภิธานศัพท์ (Glossary)
ที่รวบรวมคำศัพท์ ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมายเป็นส่วนหนึ่ง
ของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
๓ เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน
กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์จำนวน ๕๐๐ คน
[๑๐๒๘] (อชิตมาณพทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้
ขอพระองค์จงทรงประกาศความเด่นชัด
แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี
อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย
[๑๐๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้
มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว
มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก
มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้เถิด
[๑๐๓๐] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร
ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงตอบ
ก็ปลาบปลื้มใจประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่าง ๆ ว่า
[๑๐๓๑] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม
หรือเป็นพระอินทร์ผู้สุชัมบดี เมื่อถามปัญหาด้วยใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหานั้นกับใครเล่า
[๑๐๓๒] (อชิตมาณพกราบทูลว่า)
พราหมณ์พาวรีถามเรื่องศีรษะ
และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหานั้น
กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ
วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ
และวิริยะ เป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๐๓๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความปลาบปลื้มใจมากล้น สนับสนุนแล้ว
ทำหนังเสือเฉวียงบ่า ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท
[๑๐๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์
[๑๐๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ขอพราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์
จงมีความสุข และแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข
มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ
[๑๐๓๗] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี
แก่เธอและมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง
พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จงถามเถิด
[๑๐๓๘] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว
นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปฐมปัญหากับพระตถาคต
ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น
วัตถุกถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
๑. อชิตมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๑๐๓๙] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะอะไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไร เป็นเครื่องฉาบทาโลกนี้ไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๑๐๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่๒ และความประมาท
เราเรียกความอยากว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๑๐๔๑] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
กระแส๓ทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง๔
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๗-๖๔/๑๑-๑๒
๒ ความตระหนี่ มี ๕ อย่าง (๑) อาวาสมัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่) (๒) กุลมัจฉริยะ (ความตระหนี่ตระกูล)
(๓) ลาภมัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ) (๔) วัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่วรรณะ) (๕) ธัมมมัจฉริยะ (ความ
ตระหนี่ธรรม) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒/๔๙)
๓ กระแส ในที่นี้หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓/๕๓)
๔ ที่ทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งปวง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
[๑๐๔๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้
[๑๐๔๓] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นาม๑และรูป๒นี้ ดับที่ไหน

เชิงอรรถ :
๑ นาม หมายถึงขันธ์ที่มิใช่รูป ๔ อย่าง (เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘)
๒ รูป หมายถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔
มหาภูตรูป คือ รูปใหญ่ รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ (๑) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่
สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือธาตุดิน (๒) อาโปธาตุ
สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือธาตุน้ำ
(๓) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ (๔) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ ค้ำจุน
เรียกสามัญว่า ธาตุลม (ที.สี.(แปล) ๙/๔๘๗-๔๙๙/๒๑๖-๒๒๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘)
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ หรือที่เรียกว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ
ปสาทรูป ๕ (รูปที่เป็นประธานสำหรับรับอารมณ์) (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย
โคจรรูป หรือวิสัยรูป ๕ (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์) (๖) รูป (๗) เสียง (๘) กลิ่น
(๙) รส (๑๐) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกันกับมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ภาวรูป ๒ (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ) (๑๐) อิตถัตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (๑๑) ปุริสัตตะ ปุริสินทรีย์
ความเป็นชาย
หทัยรูป ๑ (รูปคือหทัย) (๑๒) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
ชีวิตรูป ๑ (รูปที่เป็นชีวิต) (๑๓) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
อาหารรูป ๑ (รูปคืออาหาร) (๑๔) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ปริจเฉทรูป ๑ (รูปที่กำหนดเทศะ) (๑๕) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
วิญญัติรูป ๒ (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย) (๑๖) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความ
หมายด้วยกาย (๑๗) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
วิการรูป ๔ (รูปคือการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้) (๑๘) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (๑๙) (รูปัสส)
มุทุตา ความอ่อนสลวย (๒๐) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้
ลักขณรูป ๔ (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด) (๒๑) อุปจยะ ความก่อตัว (๒๒) สันตติ
ความสืบต่อ (๒๓) ชรตา ความทรุดโทรม (๒๔) อนิจจตา ความแปรแตกสลาย (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘,
อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๘๔-๙๘๔/๑๖๙-๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ
[๑๐๔๕] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด ผู้มีธรรมที่พิจารณาแล้ว
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ
และพระเสขะเหล่านั้นด้วยเถิด
[๑๐๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
เป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่
อชิตมาณวกปัญหาที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
๒. ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[๑๐๔๗] (ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว๒
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่า เป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
[๑๐๔๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
บุคคลเป็นผู้มีพรหมจรรย์๓(เพราะเห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ไม่หวั่นไหว
[๑๐๔๙] ภิกษุนั้นชื่อว่า รู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่า ล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหาที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๖๕-๖๗/๑๓
๒ ส่วนสุด ๒ ด้าน ได้แก่ ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสสมุทัยเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสนิโรธอยู่ท่ามกลาง
เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑/๗๙)
๓ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมรรคพรหมจรรย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๔๘/๔๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
๓. ปุณณกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[๑๐๕๐] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญ๒แก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ๓กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้๔
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ
[๑๐๕๒] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในการบูชายัญ
ได้ข้ามพ้นชาติและชราบ้างไหม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๖๘-๗๓/๑๔-๑๕
๒ ยัญ ในที่นี้หมายถึงไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒/๘๘)
๓ มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู (ขุ.ม.อ. ๑/๒๖)
๔ หวังความเป็นอย่างนี้ หมายถึงปรารถนาการบังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๕๑/๔๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภจึงมุ่งหวังกาม
เรากล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้
[๑๐๕๔] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลกข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้น๑ในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน๒ ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว๓
ปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ฝั่งนี้และฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงอัตภาพของตนและอัตภาพของผู้อื่น (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔, ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๗/๑๐๔)
๒ ควัน หมายถึงความประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๗/๑๐๕)
๓ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๒/๑๘๕, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๔๑/๗๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๗/๑๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
๔. เมตตคูมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๑๐๕๖] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า
ทรงเป็นผู้จบเวท๒ ทรงอบรมพระองค์แล้ว
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ
[๑๐๕๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่รู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลกนี้
ล้วนเกิดมาแต่อุปธิ๓เป็นต้นเหตุ
[๑๐๕๘] ผู้ใดแลไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่า เป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ชัดอยู่
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า มีชาติเป็นแดนเกิด
ไม่ควรก่ออุปธิ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔-๘๕/๑๕-๑๘
๒ เวท ในที่นี้หมายถึงญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ฯลฯ วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิในมรรคทั้ง ๔ (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๘/๑๑๔)
๓ อุปธิ มี ๑๐ อย่าง (๑) อุปธิคือตัณหา (๒) อุปธิคือทิฏฐิ (๓) อุปธิคือกิเลส (๔) อุปธิคือกรรม (๕) อุปธิคือ
ทุจริต (๖) อุปธิคืออาหาร (๗) อุปธิคือปฏิฆะ (๘) อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔ (๙) อุปธิคืออายตนะภายใน ๖
(๙) อุปธิคืออายตนะภายนอก ๖ (๑๐) อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๙/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
[๑๐๕๙] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๑๐๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรม๑ใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวธรรมที่ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[๑๐๖๑] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[๑๐๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๖๐/๔๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
และวิญญาณในธรรมเหล่านั้นเสีย
ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ๑
[๑๐๖๓] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท รู้แจ้ง
ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้วเที่ยวไปอยู่
พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน
[๑๐๖๔] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๐๖๕] พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า) พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง
[๑๐๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง๒
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัยแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ภพ มี ๒ คือ (๑) กรรมภพ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร (๒) ภพใหม่
อันมีในปฏิสนธิ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๔/๑๓๘)
๒ ฝั่ง ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๖๗] นรชนใดในที่นี้เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดกิเลสเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว
เมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔ จบ
๕. โธตกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๑๐๖๘] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
ศึกษาธรรม๒เป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๑๐๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖-๙๓/๑๘-๒๐
๒ ศึกษาธรรม หมายถึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๑/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๗๐] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ๑ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์
จากความสงสัยทั้งหลายเถิด
[๑๐๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใครๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้แจ้งธรรมอันประเสริฐ
ก็จะข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้
[๑๐๗๒] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่อาศัย๒ เที่ยวไปอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ผู้สักกะ หมายถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๒/๑๖๓)
๒ ไม่อาศัย หมายถึงไม่อาศัยในอารมณ์ไหน ๆ ด้วยทิฏฐิหรือตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๒๑/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้นที่เรารู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[๑๐๗๔] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[๑๐๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย
โธตกมาณวกปัญหาที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๖. อุปสีวมาณวกปัญหา
๖. อุปสีวมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ
[๑๐๗๖] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย(ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่๒ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้
[๑๐๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ‘ไม่มีอะไร’ ดังนี้แล้วก็จะข้ามห้วงกิเลสได้
เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาดูความสิ้นตัณหาทั้งคืนทั้งวัน
[๑๐๗๘] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น๓อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๙๔-๑๐๑/๒๐-๒๒
๒ ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ หมายถึงโอฆะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๘/๑๗๗)
๓ ละสมาบัติอื่น ในที่นี้หมายถึงละสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๒) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๐/๑๘๔,
ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๗๘/๔๔๒)
๔ สัญญาวิโมกข์ หมายถึงสัญญาสมาบัติ คุณธรรมชั้นสูงที่บุคคลบรรลุ มี ๗ ประการ ได้แก่ รูปฌาน ๔
อรูปฌาน ๓ (ยกเว้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๐/๑๘๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๗๘/๔๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่
ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ
[๑๐๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว
ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้
[๑๐๘๐] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานนับปีไม่ได้ไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั่นนั้นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก
[๑๐๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น
[๑๐๘๒] (ท่านอุปสีวะทูลถามดังนี้)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลาย เพราะมีความแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๐๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ)เมื่อมุนีนั้นถอนธรรม๑ทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวงท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว
อุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖ จบ
๗. นันทมาณวกปัญหา๒
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[๑๐๘๔] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ๓
หรือว่าย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่๔ว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๕/๑๙๓)
๒ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๒-๑๐๘/๒๒-๒๔
๓ ผู้เป็นไปด้วยญาณ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยญาณในสมาบัติ ๘ หรือ ญาณในอภิญญา ๕ (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๔๖/๑๙๖)
๔ ผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรของบุคคลผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง ผู้ทำ
กิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่าง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๖/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
[๑๐๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ย่อมไม่เรียกบุคคลว่า เป็นมุนี
เพราะได้เห็น ได้ฟังและได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี
[๑๐๘๖] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
เพราะศีลและวัตรบ้าง เพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น
ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้นประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้นก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
[๑๐๘๘] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก
ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราย่อมไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว๑ เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแลชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว หมายถึงกำหนดรู้ตัณหาได้ด้วยปริญญา ๓ อย่าง คือ (๑) ญาตปริญญา กำหนด
รู้ขั้นรู้จัก คือรู้ว่า นี้คือรูปตัณหาเป็นต้น (๒) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ พิจารณาตัณหาโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง (๓) ปหานปริญญา กำหนดรู้ขั้นละ คือ ละตัณหาให้ได้เด็ดขาด (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๑/๒๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๘. เหมกมาณวกปัญหา
[๑๐๙๐] (นันทมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าแต่พระโคดม นิพพานที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้นชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้
นันทมาณวกปัญหาที่ ๗ จบ
๘. เหมกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[๑๐๙๑] (เหมกมาณพทูลถามดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำตอบทั้งหมด เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำตอบทั้งหมดนั้น มีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำตอบนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๙-๑๑๒/๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๙. โตเทยยมาณวกปัญหา
[๑๐๙๒] ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น)ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เครื่องบรรเทาฉันทราคะ
ในปิยรูปทั้งหลายที่เห็น ที่ได้ยิน และที่ได้รับรู้ในโลกนี้
[๑๐๙๔] ชนเหล่าใดมีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นเป็นผู้สงบทุกเมื่อ
เป็นผู้ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้แล้ว
เหมกมาณวกปัญหาที่ ๘ จบ
๙. โตเทยยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโตเทยยมาณพ
[๑๐๙๕] (โตเทยยมาณพทูลถามดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามพ้นจากความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๓-๑๑๖/๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๙. โตเทยยมาณวกปัญหา
[๑๐๙๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามพ้นจากความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นไม่มี
[๑๐๙๗] (โตเทยยมาณพทูลถามดังนี้)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
[๑๐๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวังทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่ดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ บุคคลจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่า เป็นมุนีอย่างนี้
โตเทยยมาณวกปัญหาที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๐. กัปปมาณวกปัญหา
๑๐. กัปปมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[๑๐๙๙] (กัปปมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ๒
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก
[๑๑๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า กัปปะ)
เราจะบอกที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
เราจะบอกที่พึ่งแก่เธออีก
[๑๑๐๑] เราเรียกนิพพานซึ่งไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้นว่า เป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช
[๑๑๐๒] ชนเหล่าใดมีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นก็ไม่ไปตามอำนาจของมาร ไม่ไปบำรุงมาร
กัปปมาณวกปัญหาที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๗-๑๒๐/๒๗
๒ สระ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๙๙/๔๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๑. ชตุกัณณิมาณวกปัญหา
๑๑. ชตุกัณณิมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[๑๑๐๓] (ชตุกัณณิมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร๒ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๑๐๔] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลายด้วยพระเดช
เคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่างส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ และชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด
[๑๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เห็นเนกขัมมะ๓โดยความเป็นธรรมเกษมแล้ว
ควรสลัดกิเลสเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่ากิเลสเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑-๑๒๕/๒๘-๒๙
๒ พระสหชเนตร ในที่นี้หมายถึงผู้มีพระเนตร คือ พระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๐๓/๔๔๗)
๓ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๐๕/๔๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๒. ภัทราวุธมาณวกปัญหา
[๑๑๐๖] เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
กิเลสเครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป
[๑๑๐๗] พราหมณ์ อาสวะทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ
ไม่มีแก่บุคคลนั้น ผู้คลายความติดใจในนามรูป
โดยประการทั้งปวง
ชตุกัณณิมาณวกปัญหาที่ ๑๑ จบ
๑๒. ภัทราวุธมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของภัทราวุธมาณพ
[๑๑๐๘] (ภัทราวุธมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ทรงละความเพลิดเพลินได้
ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว
ละการกำหนดได้ มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงกลับไปจากที่นี้
[๑๑๐๙] ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้)

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๖-๑๒๙/๒๙-๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๓. อุทยมาณวกปัญหา
หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระดำรัสของพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหา
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๑๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่น๑ทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์ เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล
[๑๑๑๑] เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด
เพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช๒
ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง
ภัทราวุธมาณวกปัญหาที่ ๑๒ จบ
๑๓. อุทยมาณวกปัญหา๓
ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ
[๑๑๑๒] (อุทัยมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องยึดมั่น หมายถึงรูปตัณหา คือ ยึดมั่น ถือมั่นในรูปเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๑๐/๔๔๙)
๒ บ่วงแห่งมัจจุราช หมายถึงกิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๓/๒๖๖)
๓ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๐-๑๓๖/๓๐-๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๓. อุทยมาณวกปัญหา
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์๑
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด
[๑๑๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง
[๑๑๑๔] เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ
ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา๒
[๑๑๑๕] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน
[๑๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึก๓เป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ อัญญาวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๓/๑๑๕-๑๑๖) และดู ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๗๔-๗๕/๒๖๖-๒๗๕ ประกอบ
๒ ข้อ ๑๑๑๓-๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๓/๑๘๖, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๕-๗๖/๒๗๒-๒๗๗
๓ ความตรึก (วิตก) มี ๙ อย่าง (๑) กามวิตก (ความตรึกในกาม) (๒) พยาบาทวิตก (ความตรึกในพยาบาท)
(๓) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในความเบียดเบียน) (๔) ญาติวิตก (ความตรึกถึงญาติ) (๕) ชนปทวิตก
(ความตรึกถึงชนบท) (๖) อมราวิตก (ความตรึกถึงเทพเจ้า) (๗) ปรานุทยตาปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึก
ที่ประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น) (๘) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วย
ลาภสักการะและความสรรเสริญ) (๙) อนวัญญัตติปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยความไม่ถูก
ดูหมิ่น) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๘/๒๗๘-๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๔. โปสาลมาณวกปัญหา
[๑๑๑๗] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์
[๑๑๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณ๑จึงดับสนิท
อุทยมาณวกปัญหาที่ ๑๓ จบ
๑๔.โปสาลมาณวกปัญหา๒
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[๑๑๑๙] (โปสาลมาณพทูลถามดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณ หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร) (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๑๘/๔๕๐)
๒ ดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๗-๑๔๐/๓๒-๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๔. โปสาลมาณวกปัญหา
[๑๑๒๐] ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา๑ ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่าไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร
[๑๑๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติ๒ทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย
[๑๑๒๒] บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขาร๓ว่า เป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่า มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
ครั้นรู้กรรมอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์
เป็นญาณอันแท้จริง
โปสาลมาณวกปัญหาที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ไม่มีรูปสัญญา หมายถึงผู้ได้อรูปสมาบัติ ๔ (ขู.จู. (แปล) ๓๐/๘๒/๒๘๗)
๒ วิญญาณัฏฐิติ คือ ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณัฏฐิติ ๔ และวิญญาณัฏฐิติ ๗
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๓/๒๘๙-๒๙๐)
๓ กัมมาภิสังขาร ในที่นี้หมายถึงอาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศล-
เจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายถึง ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ (ขุ.จู.อ. ๘๔/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๕. โมฆราชมาณวกปัญหา
๑๕. โมฆราชมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[๑๑๒๓] (โมฆราชมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ มิได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้ง จะตรัสตอบ
[๑๑๒๔] โลกนี้๒ โลกอื่น๓ พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ
[๑๑๒๕] ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น
[๑๑๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า๔
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิ๕เสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น
โมฆราชมาณวกปัญหาที่ ๑๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑-๑๔๔/๓๓-๓๔
๒ โลกนี้ ในที่นี้หมายถึงมนุษยโลก (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖/๓๐๗)
๓ โลกอื่น หมายถึงโลกอื่นทั้งหมด เว้นมนุษยโลก (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖/๓๐๗)
๔ พิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า หมายถึงพิจารณาโลก คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปตวิสัย
มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก และพรหมโลกด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) ด้วยการ
กำหนดเห็นสังขารไม่เป็นไปตามอำนาจ (๒) ด้วยการพิจารณาเห็นสังขารเป็นของว่างเปล่า (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๘๘/๓๐๙-๓๒๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๒๖/๔๕๓)
๕ อัตตานุทิฏฐิ หมายถึงสักกาทิฏฐิ (ขุ.จู. ๒/๑๑๒๖/๔๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๖. ปิงคิยมาณวกปัญหา
๑๖. ปิงคิยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปิงคิยมาณพ
[๑๑๒๗] (ปิงคิยมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด
ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย
ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้เถิด
[๑๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
ชนทั้งหลายเห็นชนอื่นๆ เดือดร้อนอยู่เพราะรูปทั้งหลายแล้ว
ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
[๑๑๒๙] (ปิงคิยมาณพทูลถามดังนี้)
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑
ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๕-๑๔๘/๓๔-๓๕ และดูรายละเอียดใน ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๙-๙๒/๓๒๔-๓๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนัตถุติคาถา
[๑๑๓๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
ปิงคิยมาณวกปัญหาที่ ๑๖ จบ
ปารายนัตถุติคาถา๑
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้จึงได้กล่าวไว้ดังนี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็น
ศิษย์ใกล้ชิด ได้ตรัสตอบปัญหาแล้ว ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม
แห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้วปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชรา
และมรณะได้แน่นอน เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น
ธรรมบรรยายนี้จึงชื่อว่า ปารายนะ

[๑๑๓๑] (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
(๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ
(๗) นันทะ (๘) เหมกะ


เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๙-๑๕๕/๓๖-๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนัตถุติคาถา
[๑๑๓๒] (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ
(๑๑) ชตุกัณณิผู้เป็นบัณฑิต (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราชผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะผู้เป็นมหาฤๅษี
[๑๑๓๓] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้เฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๑๑๓๔] พระพุทธเจ้า(อันพราหมณ์เหล่านั้น)ทูลถามปัญหาแล้ว
ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการตรัสตอบปัญหาทั้งหลาย
[๑๑๓๕] พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ
[๑๑๓๖] การตรัสตอบปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่ง๑ไปถึงฝั่ง๒ได้

เชิงอรรถ :
๑ ที่มิใช่ฝั่ง หมายถึงกิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๔)
๒ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๓๗] บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่า ปารายนะ
ปารายนานุคีติคาถา๑
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๑๓๘] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชนดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
พระปัญญาอันไพบูลย์ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใดก็ตรัสบอกอย่างนั้น
จะพึงตรัสคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
[๑๑๓๙] อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยคำสรรเสริญ
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้
[๑๑๔๐] ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๕๖-๑๗๔/๓๘-๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๔๑] นกพึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ที่มีผลไม้มาก ฉันใด
อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทัสสนะแคบ๑
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ ฉะนั้น
[๑๑๔๒] ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำตอบทั้งหมดนั้น เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำตอบทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
(อาตมภาพจึงไม่ยินดียิ่งในคำตอบนั้น)
[๑๑๔๓] พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่ง
ทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
[๑๑๔๔] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[๑๑๔๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวกับท่านพระปิงคิยะดังนี้)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่

เชิงอรรถ :
๑ ทัสสนะแคบ ในที่นี้หมายถึงมีปัญญาน้อย (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๔๑/๔๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๔๖] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน
[๑๑๔๗] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวดังนี้)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพ
มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่
[๑๑๔๘] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[๑๑๔๙] ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน
เห็นพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจเหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
[๑๑๕๐] ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๕๑] อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิตย์ โดยการไปด้วยความดำริ
ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นั้น
[๑๑๕๒] อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม๑
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่ง๒
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[๑๑๕๓] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสดังนี้)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงปล่อยวางศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช
[๑๑๕๔] (ท่านพระปิงคิยะกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วเลื่อมใสอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกิเลสเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่ทรงมีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ทรงมีปฏิภาณ

เชิงอรรถ :
๑ เปือกตม ในที่นี้หมายถึงกาม (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๐)
๒ ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง หมายถึงละจากคำสอนของศาสดาหนึ่งไปหาคำสอนของศาสดาหนึ่ง
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
[๑๑๕๕] พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ๑
ทรงรู้ธรรมที่ทำความเป็นอธิเทพของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
ผู้ทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัยให้กลับรู้ได้
[๑๑๕๖] สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนวรรคที่ ๕ จบ
สุตตุททานคาถา
สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
(๑-๒) ในวรรคที่ ๑ มี

๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร
๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร
๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร
๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร


เชิงอรรถ :
๑ อธิเทพ หมายถึงเทพ ๓ จำพวก คือ (๑) สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชกุมาร
พระราชเทวี (๒) อุปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เป็นต้น (๓) วิสุทธิเทพ
เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๙/๓๘๗-๓๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๑ นี้ที่มีเนื้อความประเสริฐสุดได้ ๑๒ สูตร พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงมีพระจักษุทรงปราศจากมลทิน ทรงจำแนกแสดงไว้ดีแล้ว บัณฑิต
ทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า อุรควรรค
(๓-๔) ในวรรคที่ ๒ มี

๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร ๓. หิริสูตร
๔. มงคลสูตร ๕. สูจิโลมสูตร ๖. ธัมมจริยสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร ๘. นาวาสูตร ๙. กิงสีลสูตร
๑๐. อุฏฐานสูตร ๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธัมมิกสูตร

รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๒ นี้ ได้ ๑๔ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า จูฬวรรค
(๕-๖) ในวรรคที่ ๓ มี

๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาสิตสูตร
๔. สุนทริกภารทวาชสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร
๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร
๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร

รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๓ นี้ ได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า มหาวรรค
(๗-๘) ในวรรคที่ ๔ มี

๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา

๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร
๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
๑๖. สารีปุตตสูตร

รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๔ นี้ ได้ ๑๖ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนก
ไว้ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อัฏฐกวรรค
(๙) พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุดในคณะ
ประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ที่ประเสริฐซึ่งตกแต่งไว้อย่างดี
ในมคธชนบทอันน่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศสวยงาม
เป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่เคยสร้างบุญไว้
(๑๐) ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอันพราหมณ์ผู้เป็นมาณพ ๑๖ คน
กราบทูลถามแล้ว ได้ทรงประกาศประทานธรรม
แก่ชนทั้ง ๒ พวกที่มาประชุมกันแน่นขนัด ณ ปาสาณกเจดีย์
กินเนื้อที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ เพราะการถามโสฬสปัญหา
(๑๑) พระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะมาร
ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงธรรมที่ประกาศอรรถ บริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ
เป็นบ่อเกิดแห่งความเกษมอย่างยิ่ง
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก
พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันหลากหลายด้วยธรรมจำนวนมาก
ซึ่งเป็นเหตุให้ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
(๑๒) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะและอรรถ
มีการเปรียบเทียบที่หมายรู้ด้วยอักขระซึ่งแน่นอน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๓) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันไม่มีมลทิน
เพราะมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ
เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๔) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ อันไม่มีมลทิน
เพราะมลทินคือกิเลส มลทินคือทุจริต
เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๕) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐเป็นเหตุปลดเปลื้องอาสวะ
กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน และกิเลสเป็นเครื่องประกอบ
เป็นเหตุปลดเปลื้องนิวรณ์และมลทินทั้ง ๓ ของชาวโลกนั้น
(๑๖) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหามลทินไม่ได้
เป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าหมองทุกอย่าง
เป็นเครื่องคลายความกำหนัด ไม่มีความหวั่นไหว
หมดความเศร้าโศก เป็นธรรมสงบ ประณีต และรู้เห็นได้ยาก
(๑๗) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหักรานราคะและโทสะให้สงบ
เป็นเครื่องตัด เป็นเครื่องต้านทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
และเป็นเครื่องพ้นกำเนิด ทุคติ วิญญาณ ๕
และความยินดีที่มีตัณหาเป็นพื้นฐาน
(๑๘) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก และละเอียดอ่อน
มีอรรถอันลุ่มลึกซึ่งรู้ได้เฉพาะบัณฑิต
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๙) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ
ดุจดอกไม้เครื่องประดับที่คงทน ๙ ชนิด
อันจำแนกอินทรีย์ ฌาน และวิโมกข์ อันมรรคมีองค์ ๘
เป็นยานเครื่องนำไปอย่างประเสริฐ
(๒๐) พระผู้มีพระภาค ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งปราศจากมลทิน
บริสุทธิ์เปรียบเหมือนดวงจันทร์
วิจิตรด้วยรัตนะ เปรียบเหมือนห้วงน้ำ
เสมอด้วยดอกไม้ มีเดชเปรียบดังดวงอาทิตย์
(๒๑) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ ปลอดโปร่ง เกษม
ให้ความสุข ฉ่ำเย็น สงบ
เป็นเครื่องต้านทานมัจจุราชอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างสูง
เป็นเหตุให้ชาวโลกนั้นรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งสภาวธรรมที่ดับกิเลสได้แล้ว
สุตตนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๔ }

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน จบ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น