Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๑ หน้า ๑ - ๕๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑. ปฐมปีฐวิมาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. อิตถีวิมาน
๑. ปีฐวรรค
หมวดว่าด้วยตั่ง
๑. ปฐมปีฐวิมาน๑
ว่าด้วยวิมานตั่ง เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑] เทพธิดาผู้ประดับองค์ ทรงมาลัย ทรงภูษาสวยงาม
วิมานตั่งทองคำของเธอช่างโอ่อ่า
ล่องลอยไปในที่ต่าง ๆ ได้รวดเร็วสมใจปรารถนา
เธอเปล่งรัศมีสว่างไสว ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ
[๒] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะ๒ทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า วิมาน หมายถึง ที่เล่น ที่อยู่ของเหล่าเทวดาซึ่งถือว่าเป็นสถานที่อันประเสริฐ และคำว่า
วิมานวัตถุ หมายถึง เรื่องวิมาน หรือที่ตั้งวิมานนั้น ๆ (ขุ.วิ.อ. ๒)
๒ โภคะ คือ เบญจกามคุณที่เป็นทิพยสมบัติ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นเครื่อง
อุปโภคบริโภค (ขุ.วิ. อ. ๒/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๒. ทุติยปีฐวิมาน
[๓] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๔] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๕] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
ได้ถวายตั่ง๑ แด่บรรดาภิกษุผู้เพิ่งมาถึง
ได้กราบไหว้ ประคองอัญชลี
และถวายทานตามกำลังทรัพย์
[๖] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๗] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมปีฐวิมานที่ ๑ จบ
๒. ทุติยปีฐวิมาน
ว่าด้วยวิมานตั่ง เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๘] เทพธิดาผู้ประดับองค์ ทรงมาลัย ทรงภูษาสวยงาม
วิมานตั่งแก้วไพฑูรย์ของเธอช่างโอ่อ่า

เชิงอรรถ :
๑ อาสนก ได้แก่ ปีฐ คือตั่ง ในที่อื่นก็เช่นกัน (ขุ.วิ.อ. ๕/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๒. ทุติยปีฐวิมาน
ล่องลอยไปในที่ต่าง ๆ ได้รวดเร็วสมใจปรารถนา
เธอเปล่งรัศมีสว่างไสวดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ
[๙] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๐] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๑๒] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
ได้ถวายตั่งแด่บรรดาภิกษุผู้เพิ่งมาถึง ได้กราบไหว้
ประคองอัญชลีและถวายทานตามกำลังทรัพย์
[๑๓] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๑๔] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยปีฐวิมานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๓. ตติยปีฐวิมาน
๓. ตติยปีฐวิมาน
ว่าด้วยวิมานตั่ง เรื่องที่ ๓
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑๕] เทพธิดาผู้ประดับองค์ ทรงมาลัย ทรงภูษาสวยงาม
วิมานตั่งทองคำของเธอช่างโอ่อ่า
ล่องลอยไปในที่ต่าง ๆ ได้รวดเร็วสมใจปรารถนา
เธอเปล่งรัศมีสว่างไสว ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ
[๑๖] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๗] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๘] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๑๙] ดิฉันมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้
เพราะผลกรรมน้อยนิดของดิฉัน
ชาติก่อน ดิฉันเกิดเป็นมนุษย์
อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
[๒๐] ได้เห็นภิกษุผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี๑
มีใจผ่องใสไม่มัวหมอง๒
เลื่อมใสแล้ว ได้ถวายตั่งแด่ท่าน
ด้วยมือทั้งสองของตน

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.วิ.อ. ๒๐/๒๙)
๒ ภิกษุผู้ทำลายกิเลสได้แล้วมีใจผ่องใสไม่มัวหมองด้วยกิเลสและไม่มีความดำริที่เศร้าหมอง (ขุ.วิ.อ. ๒๐/๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๔. จตุตถปีฐวิมาน
[๒๑] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๒๒] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ตติยปีฐวิมานที่ ๓ จบ
๔. จตุตถปีฐวิมาน
ว่าด้วยวิมานตั่ง เรื่องที่ ๔
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๒๓] เทพธิดาผู้ประดับองค์ ทรงมาลัย ทรงภูษาสวยงาม
วิมานตั่งแก้วไพฑูรย์ของเธอช่างโอ่อ่า
ล่องลอยไปในที่ต่าง ๆ ได้รวดเร็วสมใจปรารถนา
เธอเปล่งรัศมีสว่างไสว ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ
[๒๔] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๒๕] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๒๖] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๕. กุญชรวิมาน
[๒๗] ดิฉันมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้
เพราะผลกรรมน้อยนิดของดิฉัน
ชาติก่อน ดิฉันเกิดเป็นมนุษย์
อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
[๒๘] ได้เห็นภิกษุผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี
มีใจผ่องใสไม่มัวหมอง เลื่อมใสแล้ว
ได้ถวายตั่งแด่ท่านด้วยมือทั้งสองของตน
[๒๙] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๓๐] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
จตุตถปีฐวิมานที่ ๔ จบ
๕. กุญชรวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีช้างเป็นพาหนะ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๓๑] เทพธิดาผู้มีดวงตางดงามคล้ายกลีบปทุม
ช้างพาหนะอันประเสริฐของเธอ
ประดับประดาด้วยแก้วนานาประการ
น่าพอใจ มีพลัง แคล่วคล่องว่องไว
ท่องเที่ยวไปในอากาศได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๕. กุญชรวิมาน
[๓๒] กระพองมีสีคล้ายสีดอกปทุม
ประดับด้วยพวงดอกปทุมและพวงดอกอุบลทิพย์
งามรุ่งเรือง ตามตัวโปรยปรายด้วยเกสรปทุม
ประดับด้วยพวงปทุมทองอย่างสง่างาม
[๓๓] พญาช้างเยื้องย่างไปได้อย่างราบเรียบ
ไม่สั่นสะเทือนตลอดทาง
ที่เรียงรายด้วยดอกปทุมทองขนาดใหญ่
มีกลีบปทุมประดับประดาอยู่
[๓๔] เมื่อพญาช้างเยื้องย่างไป
กระดิ่งทองคำก็ดังประสานเสียงน่ารื่นรมย์
กังวานไพเราะจับใจ
ฟังคล้ายกับเสียงดนตรีเครื่องห้า๑
[๓๕] เธอทรงภูษาสะอาดสะอ้าน ประดับองค์อยู่บนคอช้าง
มีผิวพรรณงามล้ำหมู่นางอัปสรจำนวนมาก
[๓๖] นี้เป็นผลของทาน ศีล หรือการกราบไหว้ของเธอ
อาตมาถามเธอแล้ว โปรดบอกผลกรรมนั้นเถิด
[๓๗] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๓๘] ดิฉันได้เห็นพระเถระผู้สมบูรณ์ด้วยคุณ๒
ผู้ได้ฌาน ยินดีในฌาน สงบ
ได้ถวายอาสนะที่ปูด้วยผ้า โปรยปรายดอกไม้ไว้

เชิงอรรถ :
๑ ดนตรีเครื่องห้า คือ อาตตะ(โทน) วิตตะ(ตะโพน) อาตตวิตตะ(บัณเฑาะว์) ฆนะ(กังสดาล) สุสิระ(ปี่ สังข์)
(ขุ.วิ.อ. ๓๔/๓๗)
๒ คุณ หมายถึง สาวกบารมีญาณ (ขุ.วิ.อ. ๓๘/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๖. ปฐมนาวาวิมาน
[๓๙] ยังมีดอกปทุมเหลืออยู่อีกครึ่งหนึ่ง
ดิฉันเลื่อมใสแล้วจึงโปรยกลีบปทุม
รอบ ๆ อาสนะด้วยมือของตน
[๔๐] ผลแห่งกุศลกรรมของดิฉันนั้นเป็นเช่นนี้
ดิฉันจึงเป็นที่สักการะ เคารพ นอบน้อม ของมวลเทพ
[๔๑] บุคคลผู้เลื่อมใส ถวายอาสนะ
แด่ผู้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์
หลุดพ้นโดยชอบ สงบแล้ว
พึงบันเทิงใจเช่นเดียวกับดิฉัน
[๔๒] เพราะเหตุนั้นแล ท่านผู้มุ่งประโยชน์ตน
หวังผลมาก ควรถวายอาสนะ
แด่ท่านผู้ครองร่างชาติสุดท้าย๑
กุญชรวิมานที่ ๕ จบ
๖. ปฐมนาวาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีเรือเป็นพาหนะ เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๔๓] เทพนารี เธอขึ้นอยู่บนเรือประทุนทอง
ล่องลอยเข้าสู่สระโบกขรณี เด็ดดอกปทุมอยู่
[๔๔] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ พระอรหันต์ (ขุ.วิ.อ. ๔๒/๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๖. ปฐมนาวาวิมาน
[๔๕] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๔๖] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๔๗] ชาติก่อน ดิฉันเกิดเป็นมนุษย์
อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
ได้เห็นภิกษุหลายรูปผู้เหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำ
จึงขมีขมันถวายน้ำให้ท่านดื่ม
[๔๘] ผู้ใดแลขมีขมันถวายน้ำให้ภิกษุหลายรูป
ผู้เหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำได้ดื่ม
แม่น้ำหลายสายมีกระแสน้ำใสเย็น
มากไปด้วยสวนไม้ดอก มีบัวขาวอยู่มากมาย ย่อมเกิดแก่ผู้นั้น
[๔๙] วิมานนั้นมีแม่น้ำหลายสายไหลล้อมรอบอยู่ประจำ
สายน้ำมีทรายมูล มีกระแสน้ำใสเย็น
มีหมู่ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หมากหอม ไม้หว้า
ไม้ราชพฤกษ์และหมู่ไม้แคฝอย ผลิดอกออกผลสะพรั่ง
[๕๐] วิมานอันเลอเลิศมีภูมิภาคเช่นนั้น
เป็นส่วนประกอบงดงามเหลือเกิน
นี้เป็นผลของกรรมนั้นนั่นเอง
ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมได้วิมานเช่นนี้
[๕๑] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๗. ทุติยนาวาวิมาน
[๕๒] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมนาวาวิมานที่ ๖ จบ
๗. ทุติยนาวาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีเรือเป็นพาหนะ เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๕๓] เทพนารี เธอขึ้นอยู่บนเรือประทุนทอง
ล่องลอยเข้าสู่สระโบกขรณี เด็ดดอกปทุมอยู่
[๕๔] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๕๕] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๕๖] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๕๗] ชาติก่อน ดิฉันเกิดเป็นมนุษย์
อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
ได้เห็นภิกษุผู้เหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำ
จึงขมีขมันถวายน้ำให้ท่านดื่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๘. ตติยนาวาวิมาน
[๕๘] ผู้ใดแลขมีขมันถวายน้ำ
ให้ภิกษุผู้เหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำได้ดื่ม
แม่น้ำหลายสายมีกระแสน้ำใสเย็น มากไปด้วยสวนไม้ดอก
มีบัวขาวอยู่มากมายย่อมเกิดแก่ผู้นั้น
[๕๙] วิมานนั้น มีน้ำหลายสายไหลล้อมรอบอยู่ประจำ
สายน้ำมีทรายมูล มีกระแสน้ำใสเย็น
มีหมู่ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หมากหอม ไม้หว้า
ไม้ราชพฤกษ์และหมู่ไม้แคฝอย ผลิดอกออกผลสะพรั่ง
[๖๐] วิมานอันเลอเลิศมีภูมิภาคเช่นนั้น
เป็นส่วนประกอบงดงามเหลือเกิน
นี้เป็นผลของกรรมนั้นนั่นเอง
ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมได้วิมานเช่นนี้
[๖๑] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๖๒] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยนาวาวิมานที่ ๗ จบ
๘. ตติยนาวาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีเรือเป็นพาหนะ เรื่องที่ ๓
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า)
[๖๓] เทพนารี เธอขึ้นอยู่บนเรือประทุนทอง
ล่องลอยเข้าสู่สระโบกขรณี เด็ดดอกปทุมอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๘. ตติยนาวาวิมาน
[๖๔] วิมานเรือนยอดของเธอ
จัดแบ่งไว้แต่ละส่วนอย่างเหมาะสม
ส่องสว่างรุ่งเรืองรอบทั้ง ๔ ทิศ
[๖๕] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๖๖] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ตถาคตขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๖๗] เทพธิดานั้นดีใจที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถาม
จึงทูลตอบปัญหาผลกรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
[๖๘] ชาติก่อนหม่อมฉันเกิดเป็นมนุษย์
อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
ได้เห็นภิกษุหลายรูปผู้เหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำ
จึงขมีขมันถวายน้ำให้ท่านดื่ม
[๖๙] ผู้ใดแล ขมีขมันถวายน้ำให้ภิกษุหลายรูป
ผู้เหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำได้ดื่ม
แม่น้ำหลายสายมีกระแสน้ำใสเย็น มากไปด้วยสวนไม้ดอก
มีบัวขาวอยู่มากมายย่อมเกิดแก่ผู้นั้น
[๗๐] วิมานนั้นมีแม่น้ำหลายสายไหลล้อมรอบอยู่ประจำ
สายน้ำมีทรายมูล มีกระแสน้ำใสเย็น
มีหมู่ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หมากหอม ไม้หว้า
ไม้ราชพฤกษ์และหมู่ไม้แคฝอย ผลิดอกออกผลสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๙. ปทีปวิมาน
[๗๑] วิมานอันเลอเลิศ มีภูมิภาคเช่นนั้น
เป็นส่วนประกอบงดงามเหลือเกิน
นี้เป็นผลของกรรมนั้นนั่นเอง
ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมได้วิมานเช่นนี้
[๗๒] วิมานที่อยู่ของหม่อมฉันมีเรือนยอด
จัดแบ่งไว้แต่ละส่วนอย่างเหมาะสม
ส่องสว่างรุ่งเรืองรอบทั้ง ๔ ทิศ
[๗๓] เพราะบุญนั้นผิวพรรณหม่อมฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่หม่อมฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน
[๗๔] ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงอานุภาพมาก หม่อมฉันขอกราบทูลว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
หม่อมฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
นี้เป็นผลของกรรมที่พระพุทธองค์ทรงเสวยน้ำ
ที่หม่อมฉันขมีขมันถวายนั้น
ตติยนาวาวิมานที่ ๘ จบ
๙. ปทีปวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ถวายประทีป
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๕] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก๑

เชิงอรรถ :
๑ ดาวที่มีรัศมีมากกว่าดาวดวงอื่น (ขุ.วิ.อ. ๗๕/๕๕) ปัจจุบันเรียกว่า ดาวรุ่ง คือ ดาวพระศุกร์ที่เห็นในเวลา
เช้ามืด ถ้าเห็นในเวลาหัวค่ำ เรียกดาวประจำเมือง (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕
หน้า ๕๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๙. ปทีปวิมาน
[๗๖] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๗๗] เทพธิดา เพราะบุญอะไรเธอจึงมีรัศมีผ่องใส
ไพโรจน์ล้ำเหล่าเทพทั้งมวล
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอวัยวะทุกส่วนส่องสว่างไปทั่วทุกทิศ
[๗๘] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๗๙] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๘๐] ชาติก่อนดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
ถึงยามข้างแรมเดือนมืด ได้จุดประทีปถวาย
ในเวลาที่ต้องตามประทีป
[๘๑] ผู้ใดตามประทีปเป็นทานในเวลาที่ต้องตามประทีป
ในยามข้างแรมเดือนมืด
วิมานมีแสงโชติช่วง มากไปด้วยสวนไม้ดอก
มีบัวขาวอยู่มากมายย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น
[๘๒] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๘๓] เพราะบุญนั้นดิฉันจึงมีรัศมีผ่องใสไพโรจน์ล้ำกว่าเทพทั้งมวล
เพราะบุญนั้นดิฉันจึงมีอวัยวะทุกส่วนสัดส่องสว่างไปทั่วทุกทิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๐. ติลทักขิณวิมาน
[๘๔] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปทีปวิมานที่ ๙ จบ
๑๐. ติลทักขิณวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ถวายเมล็ดงา
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๘๕] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๘๖] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๘๗] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๘๘] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๘๙] ชาติก่อนดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
[๙๐] ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี
มีพระทัยผ่องใสไม่มัวหมอง
ถึงไม่ได้ตั้งใจแต่ก็เลื่อมใสแล้ว
ได้เบียดแทรกเข้าไปถวายเมล็ดงาเป็นทานแด่พระพุทธเจ้า
ผู้เป็นพระทักขิไณยบุคคลด้วยมือทั้งสองของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๑. ปฐมปติพพตาวิมาน
[๙๑] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๙๒] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ติลทักขิณวิมานที่ ๑๐ จบ
๑๑. ปฐมปติพพตาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ซื่อสัตย์ต่อสามี เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๙๓] เหล่านกกระเรียน นกยูง หงส์
นกดุเหว่าดำและนกดุเหว่าขาว ล้วนเป็นทิพย์
ชุมนุมกันส่งเสียงไพเราะอยู่รอบวิมานนี้
ซึ่งดารดาษด้วยบุบผชาติ น่ารื่นรมย์ ช่างงามเหลือเกิน
ทั้งเทพบุตรและเทพธิดาเวียนกันมาชมไม่ขาดสาย
[๙๔] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
เธอแสดงฤทธิ์ได้หลากหลาย อยู่ในวิมานนั้น
อนึ่ง เทพอัปสรเหล่านี้ก็ฟ้อนรำขับร้อง
ให้ความบันเทิงอยู่รอบ ๆ เธอ
[๙๕] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
จึงได้สำเร็จเป็นเทพธิดาผู้มีฤทธิ์
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๒. ทุติยปติพพตาวิมาน
[๙๖] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๙๗] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นผู้ซื่อสัตย์ ไม่นอกใจสามี
คอยถนอมน้ำใจ เหมือนมารดาถนอมบุตร
ถึงแม้จะโกรธก็ไม่กล่าวคำหยาบคาย
[๙๘] ดำรงมั่นอยู่ในความสัตย์ ละเว้นการพูดเท็จ
ยินดีในการให้ทาน ชอบอุทิศตนช่วยเหลือผู้อื่น
มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายข้าวและน้ำ
เป็นทานอย่างเหลือเฟือโดยเคารพ
[๙๙] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๑๐๐] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมปติพพตาวิมานที่ ๑๑ จบ
๑๒. ทุติยปติพพตาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ซื่อสัตย์ต่อสามี เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑๐๑] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
เธอสถิตอยู่ในวิมานน่ารื่นรมย์
เสาทำด้วยแก้วไพฑูรย์อันน่ารื่นรมย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๒. ทุติยปติพพตาวิมาน
เปล่งแสงเรืองรอง งามผุดผ่อง
เธอแสดงฤทธิ์ได้หลากหลาย
เทพอัปสรเหล่านี้ก็ฟ้อนรำ ขับร้อง
และให้ความบันเทิงอยู่รอบ ๆ เธอ
[๑๐๒] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
จึงได้สำเร็จเป็นเทพธิดาผู้มีฤทธิ์ เพราะบุญอะไรจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๐๓] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๑๐๔] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระจักษุ
ดิฉันงดเว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ในโลก
[๑๐๕] พอใจเฉพาะสามีของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา๑
มีจิตเลื่อมใสได้ถวายข้าวและน้ำ
เป็นทานอย่างเหลือเฟือโดยเคารพ
[๑๐๖] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๑๐๗] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยปติพพตาวิมานที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ แปลตามลำดับศีล ๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๓. ปฐมสุณิสาวิมาน
๑๓. ปฐมสุณิสาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงสะใภ้ เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑๐๘] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๐๙] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๑๐] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑๑] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๒] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นสะใภ้(อยู่)ในเรือนพ่อผัว
[๑๑๓] ได้เห็นภิกษุผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี
มีใจผ่องใส ไม่มัวหมอง เลื่อมใสแล้ว
ได้ถวายขนมแด่ท่านด้วยมือทั้งสองของตน
ครั้นแบ่งขนมครึ่งหนึ่งถวายแล้ว
ดิฉันจึงมาบันเทิงใจอยู่ในสวนนันทวัน๑
[๑๑๔] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน

เชิงอรรถ :
๑ สวนดอกไม้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๔. ทุติยสุณิสาวิมาน
[๑๑๕] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมสุณิสาวิมานที่ ๑๓ จบ
๑๔. ทุติยสุณิสาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงสะใภ้ เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑๑๖] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๑๗] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๑๘] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑๙] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๑๒๐] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นสะใภ้(อยู่)ในเรือนพ่อผัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๕. อุตตราวิมาน
[๑๒๑] ได้เห็นภิกษุผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี
มีใจผ่องใส ไม่มัวหมอง
เลื่อมใสแล้ว ได้ถวายขนมกุมมาส๑ ก้อนหนึ่ง
แด่ท่านด้วยมือทั้งสองของตน ครั้นถวายแล้ว
ดิฉันจึงมาบันเทิงใจอยู่ในสวนนันทวัน
[๑๒๒] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๑๒๓] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยสุณิสาวิมานที่ ๑๔ จบ
๑๕. อุตตราวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางอุตตรา
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑๒๔] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๒๕] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ ขนมสดที่ทำจากถั่วผสมข้าวเหนียว (ขุ.วิ.อ. ๑๒๑/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๕. อุตตราวิมาน
[๑๒๖] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๒๗] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[๑๒๘] เมื่อดิฉันยังครองเรือนอยู่
มิได้มีความริษยา ความตระหนี่ ความตีเสมอ
ดิฉันมีนิสัยไม่มักโกรธ ประพฤติตามคำสั่งสามี
และไม่ประมาทในการรักษาศีลอุโบสถเป็นนิตย์
[๑๒๙] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ๑ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์๒
[๑๓๐] ดิฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพ จึงได้ครอบครองวิมานนี้
[๑๓๑] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักขโมย
จากการประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และเว้นไกลการดื่มน้ำเมา
[๑๓๒] ดิฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ

เชิงอรรถ :
๑ คือ วันแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด
๒ คือ วันรับ วันขึ้น ๗ ค่ำ ๑๔ ค่ำ วันแรม ๗ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ วันส่ง คือ วันขึ้น-แรม ๙ ค่ำ
๑ ค่ำ เช่นเดียวกันทั้งหมด (ขุ.วิ.อ. ๑๒๙/๗๘) อีกนัยหนึ่ง ปาฏิหาริยปักษ์ หมายถึง อุโบสถที่รักษา
ประจำตลอด ๓ เดือน ภายในพรรษา ถ้าไม่อาจรักษา ๓ เดือนได้ ก็ให้รักษา ๑ เดือน ในระหว่าง
วันปวารณาทั้งสอง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) หรือถ้าไม่อาจรักษาได้ ๑
เดือน ก็รักษาตลอดครึ่งเดือน คือ ตั้งแต่วันปวารณาต้น (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง แรม ๑๔ ค่ำ
เดือน ๑๑) (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๖. สิริมาวิมาน
[๑๓๓] เพราะศีลของตน ดิฉันนั้นจึงมีเกียรติยศบริวารยศ
เสวยผลบุญของตนอยู่เป็นสุข ไร้โรค
[๑๓๔] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[๑๓๕] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(เทพธิดาได้กราบเรียนต่อไปว่า)
[๑๓๖] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านพึงถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ
พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า (แล้วกราบทูล)ตามคำของดิฉันว่า “อุตตราอุบาสิกาถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ดิฉันว่าจะได้บรรลุสามัญผลขั้นใดขั้น
หนึ่งนั้นไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับที่ทรงพยากรณ์ดิฉันว่า จะได้บรรลุสกทาคามิผลเลย”
อุตตราวิมานที่ ๑๕ จบ
๑๖. สิริมาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางสิริมา
(พระวังคีสะประสงค์จะให้นางสิริมา๑เทพธิดาประกาศบุญกรรมที่นางได้ทำไว้ใน
ครั้งก่อนจึงถามนางด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ นางสิริมา เดิมเป็นหญิงโสเภณี ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าได้บรรลุโสดาบันจึงเลิกอาชีพโสเภณี ได้ตั้ง
สลากภัตร ๘ ที่ ถวายสงฆ์ทุกวัน ต่อมานางป่วยหนักเสียชีวิตแต่ยังสาว ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาอยู่ในวิมาน
นี้ (ขุ.วิ.อ. ๑๓๗/๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๖. สิริมาวิมาน
[๑๓๗] ม้าสำหรับเทียมรถของเธอ ตกแต่งด้วยเครื่องประดับชั้นดีเยี่ยม
มีพลัง แคล่วคล่องว่องไว เหาะทะยานลงไป
รถเทียมม้า ๕๐๐ คัน ที่บุญกุศลเนรมิตเพื่อเธอ
และม้าเหล่านั้นเหมือนถูกนายสารถีกระตุ้นเตือน
ย่อมแล่นตามเธอไป
[๑๓๘] เธอประดับองค์ สถิตบนรถอันเลอเลิศ
เปล่งรัศมีสว่างรุ่งเรืองอยู่ประดุจดวงไฟอันโชติช่วง
เทพธิดาผู้มีรูปงาม น่าชม มองแล้วไม่เบื่อ อาตมาขอถามว่า
“เธอมาจากเทพหมู่ไหนหนอจึงเข้ามาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งหาใครเลิศยิ่งกว่าไม่ได้แล้ว
(สิริมาเทพธิดานั้นตอบพระเถระว่า)
[๑๓๙] ถัดลงมาจากหมู่ปรนิมมิตวสวัตดีเทพ๑ผู้ถึงความเป็นเลิศ
ด้วยกามคุณ ที่บัณฑิตกล่าวชมว่ายอดเยี่ยมนั้น
มีนิมมานรดีเทพซึ่งเนรมิตสมบัติได้เองแล้วชื่นชมอยู่
ดิฉันเป็นนางอัปสรจากหมู่นิมมานรดีเทพนั้น ซึ่งมีรูปร่างน่าพึงใจ
ประสงค์จะนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งหาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ จึงมาสู่มนุษยโลกนี้
(พระเถระถามว่า)
[๑๔๐] ชาติก่อนแต่จะมาเป็นเทพธิดานี้
เธอได้ประพฤติสุจริตกรรมอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีบริวารยศอยู่มากมาย เปี่ยมไปด้วยความสุข
อนึ่ง เธอมีฤทธิ์ที่หาฤทธิ์ใดเทียมเท่ามิได้
เหาะไปในอากาศได้ ทั้งมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วสิบทิศ

เชิงอรรถ :
๑ เป็นชื่อของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นที่ ๖ (สวรรค์มี ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี
ปรนิมมิตวสวัตดี) เมื่อต้องการอะไรจะให้เทพชั้นที่ ๕ นิรมิตให้ (ขุ.วิ.อ. ๑๓๙/๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๖. สิริมาวิมาน
[๑๔๑] เทพธิดา อนึ่ง เธอมีมวลเทพห้อมล้อม สักการะ
เธอจุติมาจากคติ๑ไหนจึงมาถึงสุคติภพนี้
หรือว่าเธอได้ทำตามคำสอนของพระศาสดาพระองค์ไหน
หากเธอเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้าจริง ขอจงบอกอาตมาเถิด
(สิริมาเทพธิดาตอบว่า)
[๑๔๒] ดิฉันเป็นพระสนมของพระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ๒
มีพระสิริ อยู่ในพระนครซึ่งสถาปนาไว้เป็นอย่างดีท่ามกลางขุนเขา
มีความชำนาญอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ ขับร้อง
ชาวเมืองราชคฤห์ได้พากันเรียกขานดิฉันว่า สิริมา
[๑๔๓] พระพุทธเจ้าทรงองอาจกว่าหมู่ผู้เป็นฤษี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์
ได้ทรงแสดงทุกขสัจและสมุทัยสัจว่าเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง
ทรงแสดงทุกขนิโรธสัจซึ่งปราศจากปัจจัยปรุงแต่งว่าเป็นสภาวะคงที่
และทรงแสดงมรรคสัจนี้ซึ่งเป็นทางไม่อ้อมค้อม
เป็นทางตรง และเป็นทางปลอดโปร่งแก่ดิฉัน
[๑๔๔] ดิฉันครั้นฟังธรรมอันเป็นทางไม่ตาย ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
เป็นคำสอนของพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้
สำรวมในศีลทั้งหลายอย่างเคร่งครัดเป็นอันดี
มั่นอยู่ในธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่านรชนทรงแสดงไว้แล้ว
[๑๔๕] ครั้นรู้ทางที่ปราศจากกิเลสประดุจธุลีซึ่งปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
อันพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ทรงแสดงไว้แล้ว
ได้สัมผัสสมถสมาธิ๓ ในอัตภาพนั้นเอง
การได้สัมผัสสมถสมาธินั้นแหละ
เป็นภาวะแน่นอนอย่างยิ่งสำหรับดิฉัน

เชิงอรรถ :
๑ คติ (ภพที่สัตว์ไปเกิด) ๕ คือ นรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรต มนุษย์ และสวรรค์
๒ พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองกรุงราชคฤห์ (ขุ.วิ.อ. ๑๔๒/๙๐)
๓ สมถสมาธิ คือ โลกุตตรสมาธิที่ตัดกิเลสได้เด็ดขาด (ขุ.วิ.อ. ๑๔๕/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๖. สิริมาวิมาน
[๑๔๖] ดิฉันได้อมตธรรมอันประเสริฐ ที่ทำให้ต่างจากปุถุชน
มีความเชื่อมั่น๑ บรรลุคุณวิเศษเพราะรู้แจ้ง๒แล้ว
หมดความลังเลสงสัย ได้รับการบูชาจากคนจำนวนมาก
ความยินดีไม่น้อย
[๑๔๗] ตามที่กราบเรียนมานี้ ดิฉันจึงเป็นเทพธิดาผู้เห็นอมตธรรม
เป็นสาวิกาของพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้
ได้เห็นธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคล
ทุคติเป็นอันไม่มีแก่ดิฉันอีกแล้ว
[๑๔๘] ดิฉันนั้นมาหมายจะถวายอภิวาท
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้
หมายจะนมัสการบรรดาภิกษุผู้น่าเลื่อมใส ซึ่งยินดีในกุศลธรรม๓
และหมายจะเข้าไปนั่งใกล้สมาคมของสมณะที่ปลอดภัย
ดิฉันมีความเคารพพระธรรมราชา
คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสิริ
[๑๔๙] ครั้นได้เห็นพระจอมมุนีแล้ว
ดิฉันก็มีใจเบิกบาน เอิบอิ่ม
จึงขอถวายอภิวาทพระองค์ผู้เป็นพระตถาคตเลิศกว่านรชน
ฝึกคนที่ควรฝึก ทรงตัดตัณหาได้ ทรงยินดีในกุศลธรรม
ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นจากทุกข์ได้
ทรงช่วยเหลือสัตว์โลกด้วยความเกื้อกูลอย่างยิ่ง
สิริมาวิมานที่ ๑๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย (ขุ.วิ.อ. ๑๔๖/๙๒)
๒ รู้แจ้งอริยสัจ (ขุ.วิ.อ. ๑๔๖/๙๒)
๓ นิพพาน (ขุ.วิ.อ. ๑๔๘/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๑. ปีฐวรรค ๑๗. เปสการิยวิมาน
๑๗. เปสการิยวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่ธิดาช่างหูก
(ท้าวสักกะตรัสถามเทพธิดาว่า)
[๑๕๐] วิมานนี้น่ารื่นรมย์ เสาทำด้วยแก้วไพฑูรย์
เปล่งแสงเรืองรองอยู่เป็นนิตย์
จัดไว้เป็นสัดส่วนอย่างดี มีต้นไม้ทองขึ้นรอบด้าน
เป็นสถานที่เกิดมีเพราะผลกรรมของเรา
[๑๕๑] เทพอัปสรซึ่งมีอยู่ก่อนตั้งแสนเหล่านี้
เกิดในวิมานนั้นด้วยกรรมของตน
เธอก็เกิดเองด้วยกรรมของตน มีบริวารยศ
เปล่งรัศมีข่มเหล่าเทพอัปสรผู้เกิดก่อนอยู่
[๑๕๒] เธอผู้ทรงบริวารยศ เปล่งรัศมีรุ่งเรืองข่มหมู่เทพอัปสรนี้อยู่
ประหนึ่งพระจันทร์ ผู้เป็นราชาแห่งดาวนักษัตร
ส่องแสงสกาวข่มหมู่ดาวอยู่ฉะนั้นเทียว
[๑๕๓] แม่เทพธิดาผู้น่าชม มองแล้วไม่เบื่อ
เธอมาจากไหนหนอจึงอุบัติยังภพของเรานี้
เราทั้งมวลมองดูเธอไม่รู้จักอิ่ม เหมือนทวยเทพชั้นไตรทศ๑
รวมทั้งพระอินทร์มองดูพระพรหมไม่รู้จักอิ่ม
(เทพธิดาผู้อันท้าวสักกเทวราชตรัสถามอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศเนื้อความ
นั้นจึงกล่าวตอบเป็น ๒ คาถาว่า)
[๑๕๔] ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้อที่พระองค์รับสั่งถามหม่อมฉันว่า
เธอจุติจากภพไหนจึงได้มาเกิดที่ภพของเรานี้
หม่อมฉันขอเฉลยว่า เมื่อชาติก่อนหม่อมฉันเกิดเป็นธิดาของช่างหูก
อยู่ในกรุงพาราณสีซึ่งเป็นราชธานีแคว้นกาสี

เชิงอรรถ :
๑ ดาวดึงส์ (ขุ.วิ.อ. ๑๕๓/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค
[๑๕๕] หม่อมฉันมีใจเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
เชื่อมั่นไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย ได้รักษาสิกขาบท (ศีล) มิให้ขาด
บรรลุอริยผลมีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๑ ไม่มี
ทุกข์ (เมื่อจะทรงชื่นชมบุญสมบัติและทิพยสมบัติของเทพธิดานั้น
ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสคาถาครึ่ง ความว่า)
[๑๕๖] แม่เทพธิดาผู้มีใจเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
เชื่อมั่นไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย รักษาสิกขาบทมิให้ขาด
บรรลุอริยผล มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ไม่มีทุกข์ เราขอแสดงความชื่นชมต่อบุญสมบัติและทิพยสมบัติของ
เธอนั้น และขอแสดงความยินดีต่อการมาดีของเธอ
เธอก็รุ่งเรืองด้วยธรรมและบริวารยศ
เปสการิยวิมานที่ ๑๗ จบ
รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมปีฐวิมาน ๒. ทุติยปีฐวิมาน
๓. ตติยปีฐวิมาน ๔. จตุตถปีฐวิมาน
๕. กุญชรวิมาน ๖. ปฐมนาวาวิมาน
๗. ทุติยนาวาวิมาน ๘. ตติยนาวาวิมาน
๙. ปทีปวิมาน ๑๐. ติลทักขิณวิมาน
๑๑. ปฐมปติพพตาวิมาน ๑๒. ทุติยปติพพตาวิมาน
๑๓. ปฐมสุณิสาวิมาน ๑๔. ทุติยสุณิสาวิมาน
๑๕. อุตตราวิมาน ๑๖. สิริมาวิมาน
๑๗. เปสการิยวิมาน

ท่านเรียกว่า “วรรค” ด้วยการรวมเรื่องวิมานนั้น
ปีฐวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึง มรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ที.สี.อ.
๑/๓๗๗/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๑. ทาสีวิมาน
๒. จิตตลตาวรรค
หมวดว่าด้วยสวนจิตลดาของเหล่าเทวดา
๑. ทาสีวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงคนใช้
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑๕๗] เธอมีหมู่เทพนารีห้อมล้อม ดุจท้าวสักกเทวราช
เที่ยวชมไปโดยรอบในสวนจิตรลดาอันน่ารื่นรมย์
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๕๘] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๕๙] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๖๐] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๖๑] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นคนใช้ ทำงานรับใช้ผู้อื่นอยู่ในสกุลหนึ่ง
[๑๖๒] เป็นอุบาสิกาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงมีพระจักษุ ทรงพระยศ
ดิฉันได้มีความพากเพียรออกจากกิเลส
ในศาสนาของพระศาสดาผู้ทรงพระคุณคงที่
เพราะมีมนสิการมั่นอยู่ในใจว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๑. ทาสีวิมาน
[๑๖๓] แม้ถึงร่างกายนี้จะแตกสลายไปก็ตามที
การที่เราจะหยุดความเพียรในการเจริญกรรมฐานนี้
จะไม่มีเป็นอันขาด
[๑๖๔] ขอเชิญท่านดูผลแห่งความเพียรออกจากกิเลส
ซึ่งดิฉันผู้มีความรู้น้อย ได้บรรลุอริยมรรค
อันมีสิกขาบท ๕ เป็นอุปนิสัย เป็นทางสวัสดี เป็นเหตุถึงความเกษม
ไม่มีขวากหนามคือกิเลส เป็นสภาวะที่(ตัณหาและทิฏฐิ) ยึดเหนี่ยว
ไม่ได้ เป็นทางตรงที่สัตบุรุษทั้งหลายประกาศแล้วนี้เถิด
[๑๖๕] ท้าวสักกเทวราชผู้ทรงอำนาจเชิญดิฉันมา
เหล่าดุริยเทพหกหมื่นองค์ ช่วยกันปลุกเร้าดิฉัน ให้เกิดปีติโสมนัส
[๑๖๖] ได้แก่ เทพบุตรมีนามว่าอาลัมพะ คัคคระ ภีมะ สาธุวาที ปสังสิยะ
โปกขระและสุผัสสะ เหล่าเทพธิดาน้อย ๆ มีนามว่า วีณา โมกขา
[๑๖๗] นันทา สุนันทา โสณทินนา สุจิมหิตา
อลัมพุสา มิสสเกสีและบุณฑริกา
[๑๖๘] อนึ่ง เทพกัญญาอีกพวกหนึ่ง คือ เอณีปัสสา สุผัสสา สุภัททา
และมุทุวาทินี ผู้ประเสริฐกว่านางอัปสรทั้งหลาย
ผู้มีหน้าที่ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส
[๑๖๙] เทวดาเหล่านั้น พอได้เวลาก็เข้ามาหาดิฉัน
เสนอสนองด้วยวาจาน่ายินดีว่า
เอาเถอะ พวกเราจักฟ้อนรำ ขับร้อง บำเรอเธอให้รื่นรมย์
[๑๗๐] สถานที่ที่ดิฉันได้รับในบัดนี้ มิใช่สถานที่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำบุญไว้
แต่เป็นสถานที่สำหรับคนที่ได้ทำบุญไว้แล้วเท่านั้น
ไม่มีความโศก น่าเพลิดเพลิน เจริญใจ
เป็นอุทยานกว้างใหญ่ของเหล่าเทพชั้นไตรทศ
[๑๗๑] สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำบุญไว้ย่อมไม่มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ส่วนผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้วย่อมมีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้าแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๒. ลขุมาวิมาน
[๑๗๒] ผู้ปรารถนาจะสถิตอยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์เหล่านั้น
ควรทำกุศลไว้ให้มาก
เพราะว่าเหล่าชนผู้ได้ทำบุญไว้แล้วย่อมพรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติ
บันเทิงอยู่ในสวรรค์
ทาสีวิมานที่ ๑ จบ
๒. ลขุมาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางลขุมาอุบาสิกา
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๑๗๓] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๗๔] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๗๕] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๗๖] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๗๗] (เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ เป็นชาวเมืองพาราณสี
บ้านของดิฉันตั้งอยู่ใกล้ทางออก)
ออกจากประตูเกวัฏฏทวาร๑ไป ก็เป็นหมู่บ้านของดิฉัน
พระสาวกทั้งหลายผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในหมู่บ้านนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เกวัฏฏทวาร เป็นชื่อประตูเมืองพาราณสีประตูหนึ่ง (ขุ.วิ.อ. ๑๗๗/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๒. ลขุมาวิมาน
[๑๗๘] ดิฉันมีใจเลื่อมใสในพระสาวกทั้งหลายผู้ปฏิบัติตรง
จึงได้ถวายข้าวสุก ขนมสด ผักดอง
พร้อมทั้งเครื่องดื่มที่ปรุงด้วยส่วนผสมต่าง ๆ มีข้าวและเกลือเป็นต้น
[๑๗๙] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีล ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดวันปาฏิหาริยปักษ์
[๑๘๐] ดิฉันผู้สำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพ จึงได้ครอบครองวิมานนี้
[๑๘๑] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นไกลจากการลักขโมย
การประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และการดื่มน้ำเมา
[๑๘๒] ดิฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ
[๑๘๓-๑๘๔] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านพึงถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค
ด้วยเศียรเกล้า (แล้วกราบทูล)ตามคำของดิฉันว่า “ลขุมาอุบาสิกาถวายอภิวาทแทบ
พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
การที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ดิฉันว่าจะได้บรรลุสามัญผลขั้นใดขั้นหนึ่งนั้น
ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับที่ทรงพยากรณ์ดิฉันว่าจะได้บรรลุสกทาคามิผลเลย”
ลขุมาวิมานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๓. อาจามทายิกาวิมาน
๓. อาจามทายิกาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงกำพร้า ผู้ถวายข้าวตัง
แด่พระมหากัสสปเถระ
(ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะตรัสถามพระมหากัสสปเถระถึงสถานที่เกิดของหญิง
นั้น จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๘๕] เมื่อพระคุณเจ้ากำลังเที่ยวบิณฑบาต หยุดยืนนิ่งอยู่
หญิงกำพร้าขัดสนคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยชายคาเรือนของผู้อื่นอยู่
[๑๘๖] นางเลื่อมใส ได้ถวายข้าวตังแด่พระคุณเจ้าด้วยมือทั้งสองของตน
นางละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นไหนหนอ
(พระมหากัสสปเถระถวายพระพรว่า)
[๑๘๗] เมื่ออาตมภาพกำลังเที่ยวบิณฑบาต หยุดยืนนิ่งอยู่
หญิงกำพร้าขัดสนคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยชายคาเรือนของผู้อื่นอยู่
[๑๘๘] นางเลื่อมใส ได้ถวายข้าวตังแก่อาตมภาพด้วยมือทั้งสองของตน
นางละร่างมนุษย์ จุติพ้นจากมนุษยโลกนี้แล้ว
[๑๘๙] นางเป็นเทพธิดาชื่ออาจามทายิกา มีความสุขบันเทิงอยู่ในสวรรค์
ซึ่งเป็นที่อยู่ของทวยเทพผู้มีฤทธิ์มากชื่อนิมมานรดี
(ท้าวสักกเทวราชตรัสสรรเสริญทานนั้นว่า)
[๑๙๐] น่าอัศจรรย์จริงหนอ
ทานที่หญิงกำพร้าตั้งไว้ดีแล้วในพระคุณเจ้ามหากัสสปะ
ทักษิณาสำเร็จผลแล้วด้วยไทยธรรมที่ได้มาจากผู้อื่น
[๑๙๑] ความเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
ซึ่งนารีผู้งามทั่วสรรพางค์กาย
สามีมองมิรู้เบื่อ ได้ครอบครองแล้วนั้น
ยังมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของการถวายข้าวตังนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๔. จัณฑาลีวิมาน
[๑๙๒] ทองคำร้อยแท่ง ม้าร้อยตัว ราชรถเทียมม้าอัสดรร้อยคัน
หญิงสาวประดับต่างหูแก้วมณีแสนนาง
ก็ยังมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของการถวายข้าวตังนั้น
[๑๙๓] ช้างมาตังคะเกิดในป่าหิมพานต์ ประมาณ ๑๐๐ เชือก
มีงางอนงาม ทรงพลังมาก มีสายคล้องคอทอง
ตกแต่งด้วยเครื่องลาดและเครื่องประดับที่วิจิตรบรรจงด้วยทอง
ก็ยังมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของการถวายข้าวตังนั้น
[๑๙๔] การที่พระเจ้าจักรพรรดิได้ครอบครองมหาทวีปทั้งสี่ในโลกนี้นั้น
ก็ยังมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของการถวายข้าวตังนั้น
อาจามทายิกาวิมานที่ ๓ จบ
๔. จัณฑาลีวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงจัณฑาลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
(พระมหาโมคคัลลานเถระกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๑๙๕] จัณฑาลี เธอจงถวายอภิวาทพระยุคลบาท
ของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระยศ
พระองค์ผู้สูงสุดกว่าฤๅษีทั้งหลาย
ได้ประทับยืนอยู่เพื่ออนุเคราะห์เธอผู้เดียวเท่านั้น
[๑๙๖] เธอจงทำใจให้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้คงที่
แล้วจงประคองอัญชลีถวายอภิวาทโดยเร็ว ชีวิตเธอเหลือน้อยแล้ว
(เพื่อจะแสดงประวัติของนางจัณฑาลีนั้นโดยตลอด พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย
จึงกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๑๙๗] หญิงจัณฑาลผู้นี้ครองเรือนร่างเป็นวันสุดท้าย
ซึ่งพระมหาโมคคัลลานเถระผู้อบรมตนแล้ว ตักเตือนแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๔. จัณฑาลีวิมาน
[๑๙๘] แม่โคได้ขวิดนางตาย ขณะยืนประคองอัญชลี
นมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ส่องแสงสว่างในโลกมืด
(นางไปเกิดเป็นเทพธิดาอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ วันนั้น นางได้มาหาพระ
มหาโมคคัลลานเถระ นมัสการแล้วกราบเรียนว่า)
[๑๙๙] ข้าแต่ท่านผู้แกล้วกล้า ดิฉันบรรลุเทวฤทธิ์แล้ว
ขอเข้านมัสการใกล้ ๆ ท่านผู้มีอานุภาพมาก ผู้สิ้นอาสวะ
ปราศจากกิเลสประดุจธุลี ไม่หวั่นไหว
นั่งเร้นอยู่ในป่าแต่เพียงผู้เดียว
(พระมหาโมคคัลลานเถระจึงถามนางว่า)
[๒๐๐] เทพธิดาผู้เลอโฉม เธอเป็นใคร มีผิวพรรณงามดั่งทอง
มีรัศมีเรืองรอง มียศมาก งามตระการมิใช่น้อย
มีหมู่เทพอัปสรแวดล้อมลงจากวิมานมาไหว้อาตมา
(เทพธิดานั้นถูกพระมหาเถระถามแล้วอย่างนี้จึงกล่าว ๔ คาถาว่า)
[๒๐๑] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันคือหญิงจัณฑาล
ซึ่งท่านผู้แกล้วกล้าให้ไปถวายอภิวาทพระยุคลบาท
ของพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระยศ
[๒๐๒] ครั้นถวายอภิวาทพระยุคลบาทแล้ว
ดิฉันได้จุติจากกำเนิดคนจัณฑาล
มาบังเกิดในวิมานซึ่งเจริญพร้อมมูลในสวนนันทวัน
[๒๐๓] นางเทพอัปสรหลายพันนาง พากันห้อมล้อมดิฉันอยู่
ดิฉันเป็นผู้ประเสริฐเลิศกว่าเทพอัปสรเหล่านั้น
โดยรัศมี บริวารยศและอายุ
[๒๐๔] ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันมีสติสัมปชัญญะ
สร้างคุณงามความดีไว้มาก
มาในโลก(นี้)เพื่อนมัสการพระคุณเจ้าผู้เป็นมุนี มีความกรุณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๕. ภัททิตถิกาวิมาน
(พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า)
[๒๐๕] เทพธิดาจัณฑาลีผู้กตัญญูกตเวที ครั้นกราบเรียนอย่างนี้แล้ว
จึงกราบลงแทบเท้าพระมหาโมคคัลลานะผู้อรหันต์แล้วหายไป ณ
ที่นั้นเอง
จัณฑาลีวิมานที่ ๔ จบ
๕. ภัททิตถิกาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางภัททิตถิกาอุบาสิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามถึงบุพกรรมที่นางภัททาเทพธิดานั้นได้ทำไว้ว่า)
[๒๐๖-๒๐๗] เทพธิดาผู้ทรงปัญญา เธอประดับมาลัยดอกมณฑารพ
ซึ่งมีสีต่าง ๆ ไว้ที่ศีรษะ คือ สีเขียว เหลือง ดำ หงสบาทและแดง
รายล้อมด้วยกลีบเกสร ในเทพหมู่อื่นไม่มีต้นไม้ชนิดนี้
[๒๐๘] เทพธิดาผู้มีบริวารยศ
เพราะบุญอะไรเธอจึงได้เกิดในหมู่เทพชั้นไตรทศ
ตถาคตถามเธอแล้ว จงบอกเถิดว่า นี้เป็นผลของกรรมอันใดเล่า
(เทพธิดาถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว จึงทูลตอบด้วยคาถาเหล่านี้
ความว่า)
[๒๐๙] คนทั้งหลายรู้จักหม่อมฉันในนามว่า ภัททิตถิกา
หม่อมฉันเป็นอุบาสิกาอยู่ในกิมพิลนคร
เป็นผู้มีศรัทธาและสมบูรณ์ด้วยศีล ยินดีแจกจ่ายทานทุกเมื่อ
[๒๑๐] หม่อมฉันมีใจเลื่อมใสในพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติตรง
จึงได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม อาหาร เสนาสนะและเครื่องตามประทีป
[๒๑๑] หม่อมฉันเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๕. ภัททิตถิกาวิมาน
[๒๑๒] หม่อมฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพจึงได้ครอบครองวิมานนี้
[๒๑๓] หม่อมฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นไกลจากการลักขโมย
การประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และการดื่มน้ำเมา
[๒๑๔] หม่อมฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจ
มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า
โคดม ผู้ทรงมีพระจักษุ
หม่อมฉันได้บำเพ็ญสุจริตธรรมและได้บำเพ็ญกุศลธรรมไว้แล้ว
จุติจากมนุษยโลกนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นเทพธิดามีรัศมีในตัวเอง
เที่ยวชมสวนนันทวันอยู่
[๒๑๕] อนึ่ง หม่อมฉันได้ถวายอาหารแก่ภิกษุ
ผู้อนุเคราะห์เกื้อกูลอย่างเหลือล้น
ผู้เป็นคู่ดาบสมหามุนี๑
ได้บำเพ็ญสุจริตธรรมและได้บำเพ็ญกุศลธรรมไว้แล้ว
จุติจากมนุษยโลกนั้น เกิดเป็นเทพธิดา
มีรัศมีในตัวเอง เที่ยวชมสวนนันทวันอยู่
[๒๑๖] หม่อมฉันเข้าจำอุโบสถศีล ประกอบด้วยองค์ ๘
มีคุณกำหนดมิได้ นำความสุขมาให้เนืองนิตย์
ได้บำเพ็ญสุจริตธรรมและได้บำเพ็ญกุศลธรรมแล้ว
จุติจากมนุษยโลกนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นเทพธิดา
มีรัศมีในตัวเอง เที่ยวชมสวนนันทวันอยู่
ภัททิตถิกาวิมานที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พระอัครสาวกทั้งคู่ คือ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ (ขุ.วิ.อ. ๒๑๕/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๖. โสณทินนาวิมาน
๖. โสณทินนาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางโสณทินนาอุบาสิกา
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดานั้นด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[๒๑๗] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๒๑๘] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๒๑๙] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไร เธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๒๒๐] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๒๒๑] ชาวเมืองนาลันทา๑รู้จักดิฉันในนามว่า โสณทินนา
ดิฉันเป็นอุบาสิกาอยู่ในเมืองนาลันทา
เป็นผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล ยินดีแจกจ่ายทานทุกเมื่อ
[๒๒๒] ดิฉันมีใจเลื่อมใสในพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติตรง
จึงได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม อาหาร เสนาสนะและเครื่องตามประทีป
[๒๒๓] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีล ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์
[๒๒๔] ดิฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพจึงได้ครอบครองวิมานนี้

เชิงอรรถ :
๑ เมืองนาลันทา เป็นเมืองเล็ก ๆ ขึ้นกับกรุงราชคฤห์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๗. อุโปสถาวิมาน
[๒๒๕] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นไกลจากการลักขโมย
การประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และการดื่มน้ำเมา
[๒๒๖] ดิฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า โคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ
[๒๒๗-๒๒๘] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
โสณทินนาวิมานที่ ๖ จบ
๗. อุโปสถาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางอุโบสถาอุบาสิกา
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามถึงบุพกรรมของเทพธิดานั้นว่า)
[๒๒๙] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๒๓๐-๒๓๑] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๒๓๒] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๒๓๓] ชาวเมืองสาเกตรู้จักดิฉันในนามว่า อุโปสถา
ดิฉันเป็นอุบาสิกาอยู่ในเมืองสาเกต
เป็นผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล และยินดีแจกจ่ายทานทุกเมื่อ
[๒๓๔] ดิฉันมีใจเลื่อมใสในพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติตรง
จึงได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม อาหาร เสนาสนะและเครื่องตามประทีป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๘. สุนิททาวิมาน
[๒๓๕] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีล ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์
[๒๓๖] ดิฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพจึงได้ครอบครองวิมานนี้
[๒๓๗] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นไกลจากการลักขโมย
การประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และการดื่มน้ำเมา
[๒๓๘] ดิฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า โคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ
[๒๓๙-๒๔๐] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(เมื่อจะแสดงโทษของตน เทพธิดานั้นจึงได้กล่าว ๒ คาถาอีกว่า)
[๒๔๑] เพราะดิฉันได้ฟังเรื่องทิพยสมบัติในสวนนันทวันเนือง ๆ
จึงเกิดความพอใจขึ้น
เพราะเหตุที่ดิฉันตั้งจิตปรารถนาในภพดาวดึงส์นั้น
จึงได้เกิดในสวนนันทวัน
[๒๔๒] ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติตามพระดำรัส
ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ (แต่)
ตั้งจิตไว้ในภพที่เลว ภายหลังจึงเดือดร้อน
(เพื่อจะปลอบใจเทพธิดานั้น พระมหาโมคคัลลานเถระจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า)
[๒๔๓] อุโปสถาเทพธิดา เธอจะอยู่ในวิมานนี้นานเท่าไร
อาตมาถามแล้ว ถ้าเธอทราบอายุขัย จงบอกอาตมาด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๘. สุนิททาวิมาน
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[๒๔๔] ข้าแต่ท่านจอมปราชญ์ ดิฉันจักดำรงอยู่
ในวิมานนี้นานประมาณหกหมื่นปีทิพย์
จุติจากเทวโลกนี้แล้ว จักไปเกิดร่วมกับมวลมนุษย์
(พระมหาโมคคัลลานเถระปลุกเร้าเทพธิดานั้นให้อาจหาญด้วยคาถานี้ว่า)
[๒๔๕] อุโปสถาเทพธิดา เธออย่าสะทกสะท้าน
เพราะว่าเธอเป็นผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้แล้วว่า
จักบรรลุคุณวิเศษเป็นพระโสดาบัน ทุคติเป็นอันเธอละได้แล้ว
อุโปสถาวิมานที่ ๗ จบ
๘. สุนิททาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางสุนิททาอุบาสิกา
(พระมหาโมคคัลลานเถระเมื่อจะถามถึงบุพกรรมของเทพธิดานั้นจึงกล่าวคาถา
นี้ว่า)
[๒๔๖] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๒๔๗-๒๔๘] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๒๔๙] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๒๕๐] ชาวเมืองราชคฤห์รู้จักดิฉันในนามว่า สุนิททา
ดิฉันเป็นอุบาสิกาอยู่ในกรุงราชคฤห์
เป็นผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล และยินดีแจกจ่ายทานทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๙. สุทินนาวิมาน
[๒๕๑] ดิฉันมีใจเลื่อมใสในพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติตรง
จึงได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม อาหาร เสนาสนะ และเครื่องตามประทีป
[๒๕๒] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีล ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์
[๒๕๓] ดิฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพจึงได้ครอบครองวิมานนี้
[๒๕๔] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นไกลจากการลักขโมย
การประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และการดื่มน้ำเมา
[๒๕๕] ดิฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า โคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ
[๒๕๖-๒๕๗] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
สุนิททาวิมานที่ ๘ จบ
๙. สุทินนาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางสุทินนาอุบาสิกา
(พระมหาโมคคัลลานเถระเมื่อจะถามถึงบุพกรรมของเทพธิดานั้นจึงกล่าวคาถา
นี้ว่า)
[๒๕๘] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๒๕๙-๒๖๐] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๙. สุทินนาวิมาน
[๒๖๑] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๒๖๒] ชาวกรุงราชคฤห์รู้จักดิฉันในนามว่า สุทินนา
ดิฉันเป็นอุบาสิกาอยู่ในกรุงราชคฤห์
เป็นผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
และยินดีแจกจ่ายทานทุกเมื่อ
[๒๖๓] ดิฉันมีใจเลื่อมใสในพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติตรง
จึงได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม อาหาร เสนาสนะ และเครื่องตามประทีป
[๒๖๔] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์
[๒๖๕] ดิฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพ
จึงได้ครอบครองวิมานนี้
[๒๖๖] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นไกลจากการลักขโมย
การประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และการดื่มน้ำเมา
[๒๖๗] ดิฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า โคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ
[๒๖๘-๒๖๙] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
สุทินนาวิมานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๑๑. ทุติยภิกขาทายิกาวิมาน
๑๐. ปฐมภิกขาทายิกาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ถวายภิกษา เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดานั้นด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[๒๗๐] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๒๗๑-๒๗๒] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๒๗๓] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๒๗๔] ชาติก่อนดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
[๒๗๕] ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี
มีพระทัยผ่องใส ไม่มัวหมอง มีความเลื่อมใส
ได้ถวายภิกษาแด่พระองค์ด้วยมือทั้งสองของตน
[๒๗๖-๒๗๗] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมภิกขาทายิกาวิมานที่ ๑๐ จบ
๑๑. ทุติยภิกขาทายิกาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ถวายภิกษา เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดานั้นด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[๒๗๘] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๒๗๙-๒๘๐] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๒๘๑] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาของผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๒. จิตตลตาวรรค ๑๑. ทุติยภิกขาทายิกาวิมาน
[๒๘๒] ชาติก่อน ดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
[๒๘๓] ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี
มีพระทัยผ่องใส ไม่มัวหมอง มีความเลื่อมใส
ได้ถวายภิกษาแด่พระองค์ด้วยมือทั้งสองของตน
[๒๘๔-๒๘๕] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยภิกขาทายิกาวิมานที่ ๑๑ จบ
รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ทาสีวิมาน ๒. ลขุมาวิมาน
๓. อาจามทายิกาวิมาน ๔. จัณฑาลีวิมาน
๕. ภัททิตถิกาวิมาน ๖. โสณทินนาวิมาน
๗. อุโปสถาวิมาน ๘. สุนิททาวิมาน
๙. สุทินนาวิมาน ๑๐. ปฐมภิกขาทายิกาวิมาน
๑๑. ทุติยภิกขาทายิกาวิมาน

จิตตลตาวรรคที่ ๒ จบ
ปฐมภาณวาร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๓. ปาริจฉัตตวรรค ๑. อุฬารวิมาน
๓. ปาริจฉัตตกวรรค
หมวดว่าด้วยดอกปาริชาต
๑. อุฬารวิมาน
ว่าด้วยวิมานอันโอฬาร
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดานั้นด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[๒๘๖] เธอมีบริวารยศอันยิ่งใหญ่ ผิวพรรณเรืองรอง
ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศ เหล่าเทพนารีและเหล่าเทพบุตร
แต่งองค์ทรงเครื่องพากันฟ้อนรำขับร้องอยู่
[๒๘๗] ให้ความบันเทิงใจ แวดล้อมหวังบำเรอเธออยู่
เทพธิดาผู้มีโฉมชวนพิศ วิมานเหล่านี้ของเธอล้วนเป็นวิมานทองคำ
[๒๘๘] ทั้งเธอก็เป็นใหญ่กว่าเทพเหล่านั้น ปรารถนาทุกสิ่งก็สำเร็จสิ้น
เธอเกิดมาดี มีอานุภาพยิ่งใหญ่ ร่าเริงบันเทิงใจอยู่ในหมู่เทพ
เทพธิดา อาตมาถามแล้ว ขอเธอจงบอกเถิดว่า
นี้เป็นผลของกรรมอันใดเล่า
(เทพธิดาตอบว่า)
[๒๘๙] ชาติก่อนดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
เป็นลูกสะใภ้อยู่ในตระกูลทุศีล
เมื่อคนในตระกูลมีพ่อผัวแม่ผัวเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนตระหนี่
[๒๙๐] ดิฉันกลับเป็นผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
ยินดีแจกจ่ายทานโดยเคารพทุกเมื่อ
ได้ถวายขนมเบื้องแด่พระคุณเจ้าซึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่
[๒๙๑] ครั้งนั้น ดิฉันบอกแม่ผัวว่า สมณะมาถึงที่นี้แล้ว
ดิฉันเลื่อมใส ได้ถวายขนมเบื้องแด่ท่านด้วยมือทั้งสองของตน
[๒๙๒] แม่ผัวด่าดิฉันว่า เธอเป็นหญิงหัวดื้อ
ทำไมเธอไม่คิดจะปรึกษาฉันเสียก่อนว่า จะถวายสมณะเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๓. ปาริจฉัตตวรรค ๒. อุจฉุทายิกาวิมาน
[๒๙๓] เพราะเหตุนี้แหละ แม่ผัวจึงเกรี้ยวกราด
แล้วเอาสากตีดิฉันถูกจงอยบ่า
ได้ทำร้ายดิฉัน ดิฉันจึงไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้นาน
[๒๙๔] เพราะชีวิตสลายลง ดิฉันพ้นจากทุกข์นั้นมา
ได้จุติจากอัตภาพนั้นมาจึงเกิดร่วมกับหมู่เทพชั้นไตรทศ
[๒๙๕] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีร่างกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
อุฬารวิมานที่ ๑ จบ
๒. อุจฉุทายิกาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ถวายท่อนอ้อย
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดานั้นด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[๒๙๖] เธอมีสิริรัศมีกาย มีบริวารยศและมีเดช
เปล่งรัศมีส่องทั่วแผ่นดินพร้อมทั้งเทวโลกให้สว่างไสว
รุ่งเรืองดังพระจันทร์และพระอาทิตย์
และดังท้าวมหาพรหมเปล่งรัศมีงามล้ำกว่า
ทวยเทพชาวไตรทศพร้อมทั้งพระอินทร์
[๒๙๗] อาตมาขอถามเธอ เทพธิดาผู้เลอโฉม ประดับมาลัยดอกอุบล
มีมาลัยแก้วประดับเทริด มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดั่งทองคำ
ประดับประดาอาภรณ์อย่างสวยงาม ทรงพัสตราภรณ์ชั้นเลิศ
เธอเป็นใครมาไหว้อาตมา
[๒๙๘] ชาติก่อนเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมอะไรมาก่อน
เธอสั่งสมทานไว้ดีหรือว่ารักษาศีลไว้ดี จึงเกิดในสวรรค์ มีบริวารยศ
เพราะกรรมอะไร เทพธิดา อาตมาถามแล้ว
ขอเธอจงบอกเถิดว่า นี้เป็นผลของกรรมอันใดเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๓. ปาริจฉัตตวรรค ๒. อุจฉุทายิกาวิมาน
(เทพธิดาตอบว่า)
[๒๙๙] พระคุณเจ้าผู้เจริญ เมื่อไม่นานมานี้ พระเถระรูปหนึ่ง
เข้ามาบิณฑบาตยังเรือนของดิฉันในหมู่บ้านนี้แหละ
จากนั้นดิฉันมีจิตเลื่อมใส เกิดปีติสุดประมาณ
จึงได้ถวายท่อนอ้อยแด่ท่าน
[๓๐๐] แต่ต่อมาภายหลัง แม่ผัวซักถามดิฉันว่า
แม่ตัวดี แกเอาอ้อยไปทิ้งไว้ที่ไหนล่ะ
ดิฉันจึงตอบว่า ไม่ได้ทิ้งและก็ไม่ได้กิน
แต่ดิฉันได้ถวายแด่ภิกษุผู้สงบระงับไปแล้ว
[๓๐๑] ทันใดนั้น แม่ผัวได้ด่าดิฉันว่า
นี่แกหรือฉันเป็นใหญ่กันแน่
ว่าแล้วก็คว้าตั่งฟาดดิฉัน
ดิฉันตายจากมนุษยโลกนั้นแล้วก็มาเกิดเป็นเทพธิดา
[๓๐๒] ดิฉันทำกุศลกรรมนั้นไว้เท่านี้
ตนเองจึงได้มาเสวยผลกรรมที่นำความสุขมาให้
ได้รับการบำเรอบันเทิงใจอยู่
ด้วยกามคุณ ๕ ร่วมกับหมู่เทพ
[๓๐๓] ดิฉันทำกุศลกรรมนั้นไว้เท่านี้
ตนเองจึงได้มาเสวยผลกรรมที่นำความสุขมาให้
มีท้าวสักกะจอมเทพคุ้มครอง มีทวยเทพชั้นไตรทศรักษา
เพียบพร้อมอยู่ด้วยกามคุณ ๕
[๓๐๔] ผลบุญดังกล่าวมานี้มิใช่เล็กน้อย
บุญที่ดิฉันได้ถวายอ้อยให้ผลมาก
ดิฉันจึงได้รับการบำเรอ บันเทิงใจอยู่
ด้วยกามคุณ ๕ ร่วมกับหมู่เทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๓. ปาริจฉัตตวรรค ๓. ปัลลังกวิมาน
[๓๐๕] ผลบุญดังกล่าวมานี้มิใช่เล็กน้อย
บุญที่ดิฉันได้ถวายอ้อยมีอานุภาพมาก
ดิฉันจึงมีท้าวสักกะจอมเทพคุ้มครอง
มีทวยเทพชั้นไตรทศรักษา ดังท้าวสหัสนัยน์ในนันทวัน
[๓๐๖] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเข้าไปหาพระคุณเจ้า
ผู้อนุเคราะห์ซึ่งมีปัญญา แล้วกราบไหว้และถามถึงความไม่มีโรค
จากนั้นก็มีจิตเลื่อมใส เกิดปีติสุดประมาณ
จึงได้ถวายท่อนอ้อยแด่พระคุณเจ้า
อุจฉุทายิกาวิมานที่ ๒ จบ
๓. ปัลลังกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีบัลลังก์สวยงามเกิดแก่หญิงผู้ประพฤติธรรม
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดานั้นด้วยคาถาว่า)
[๓๐๗] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก เธอแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้หลายรูปแบบ
อยู่บนบัลลังก์วิมานอันเลอเลิศ น่านอน โอ่โถง
วิจิตรด้วยแก้วมณีและทองคำ เรี่ยรายด้วยดอกไม้
[๓๐๘] อนึ่ง รอบข้างเธอมีเทพอัปสรเหล่านี้ฟ้อนรำขับร้องให้บันเทิงใจ
อยู่เสมอ
เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์
ได้ทำบุญอะไรไว้ จึงได้สำเร็จเป็นเทพธิดาผู้มีฤทธิ์
เพราะบุญอะไร เธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(เทพธิดาตอบว่า)
[๓๐๙] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นลูกสะใภ้ในตระกูลที่มั่งคั่งตระกูลหนึ่ง
มีนิสัยไม่มักโกรธ ปฏิบัติตามคำสั่งของสามีเสมอ
ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๓. ปาริจฉัตตวรรค ๓. ปัลลังกวิมาน
[๓๑๐] เมื่อดิฉันเป็นมนุษย์ยังสาวอยู่ ไม่ประพฤติใฝ่ต่ำ
มีใจดี ทำตัวให้สามีโปรดปราน
ชาติก่อนดิฉันมีความประพฤติเป็นที่น่าพอใจ
ทั้งวันและคืน เป็นคนมีศีล
[๓๑๑] ได้บำเพ็ญสิกขาบททั้งหลายอย่างครบถ้วน
คืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ไม่ลักทรัพย์ มีการงานทางกายบริสุทธิ์
ประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์
สะอาด ไม่กล่าวเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา
[๓๑๒] มีใจเลื่อมใส ประพฤติตามธรรม ปลาบปลื้มใจ
เข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์
[๓๑๓] ครั้นสมาทานกุศลธรรมอันประเสริฐ
ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อันสูงสุด
มีสุขเป็นอานิสงส์เช่นนี้แล้ว ดิฉันเป็นคนดี
ปฏิบัติตามคำสั่งของสามีเสมอ
เป็นสาวิกาของพระสุคตมาก่อน
[๓๑๔] ครั้นทำกุศลกรรมเช่นนี้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ตายแล้วมาสู่สวรรค์ มีส่วนได้เสวยทิพยสมบัติอันวิเศษ
จึงได้สำเร็จเป็นเทพธิดาผู้มีฤทธิ์ในอภิสัมปรายภพ
[๓๑๕] ดิฉันมีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อม มีรัศมีในตัวเอง
บันเทิงใจอยู่ในวิมานปราสาทที่ยอดเยี่ยมน่ารื่นรมย์ใจ
หมู่เทพและเทพธิดาพากันมาชื่นชมดิฉัน
ผู้มีอายุยืนซึ่งมายังเทพวิมานนี้
ปัลลังกวิมานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๓. ปาริจฉัตตวรรค ๔. ลตาวิมาน
๔. ลตาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่เทพธิดาชื่อลดา
[๓๑๖] ลดาเทพธิดา สัชชาเทพธิดา ปวราเทพธิดา
อัจฉิมุดีเทพธิดาและสุดาเทพธิดา
ผู้มีความรุ่งเรือง เป็นธิดาของท้าวเวสสวัณมหาราช
ต่างเป็นนางบาทปริจาริกาของท้าวสักกเทวราช
ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงสิริ งดงามอยู่ด้วยคุณธรรม
[๓๑๗] เทพธิดา ๕ นางตามที่กล่าวมานี้ได้พากันไปสรงสนานยังแม่น้ำ
มีกระแสน้ำเย็น ดารดาษด้วยดอกอุบลเป็นที่ปลอดภัย
ซึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์นี้ ครั้นสรงสนาน ณ ที่นั้นแล้ว
เทพธิดาเหล่านั้นพากันร่าเริง ฟ้อนรำ ขับร้อง
สุดาเทพธิดาได้พูดกับลดาเทพธิดาว่า
[๓๑๘] ข้าแต่พี่ผู้ทัดทรงพวงอุบล มีมาลัยแก้วประดับเทริด
มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดั่งทองคำ มีนัยน์ตาสีน้ำตาล
มีผิวพรรณงดงาม ประดุจท้องฟ้า ไร้เมฆหมอก มีอายุยืน
ดิฉันขอถามพี่ เพราะบุญอะไรทำให้พี่ได้บริวารยศและเกียรติยศ
[๓๑๙] เพราะทำบุญอะไรไว้ พี่จึงเป็นที่โปรดปรานของสามี
มีโฉมงามเลิศกว่าใคร ทั้งฉลาดเป็นเลิศ
ในการฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลงดนตรี
พี่เทพบุตรและเทพธิดาถามอยู่เสมอ ๆ
ขอโปรดได้บอกพวกเราด้วยเถิด
(ลดาเทพธิดาตอบว่า)
[๓๒๐] เมื่อพี่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษยโลก
เป็นสะใภ้ในตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่ง
มีนิสัยไม่มักโกรธ ปฏิบัติตามคำสั่งของสามีเสมอ
ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๓. ปาริจฉัตตวรรค ๔. ลตาวิมาน
[๓๒๑] เมื่อพี่เป็นมนุษย์ยังสาวอยู่ ไม่ประพฤติใฝ่ต่ำ
มีใจดี ทำตัวให้สามีโปรดปราน
ทำตัวให้พ่อแม่สามี พี่น้องสามี
พร้อมทั้งข้าทาสชายหญิงให้ชื่นชอบ
เพราะบุญที่ทำในคราวเป็นหญิงสะใภ้นั้น
ทำให้พี่ได้บริวารยศและเกียรติยศ
[๓๒๒] เพราะกุศลกรรมนั้น พี่จึงได้ดีกว่าเทพธิดาเหล่าอื่น
โดยฐานะ ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละ
ได้เสวยความร่าเริงยินดีเป็นอย่างมาก
(เมื่อสุดาเทพธิดาได้ฟังคำตอบดังนี้แล้วจึงได้ถามพี่สาวทั้งสามว่า)
[๓๒๓] พี่ทั้งสาม ได้ยินเรื่องที่พี่ลดานี้พูดหรือไม่
ดิฉันได้ทูลถามถึงเรื่องที่พวกเราชอบสงสัยกันมาก
พี่ลดาก็กล่าวแก้ได้อย่างไม่ผิดพลาด
ว่ากันว่า ขึ้นชื่อว่าสามีย่อมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ
และเป็นเทพสูงสุดของพวกผู้หญิงเรา
[๓๒๔] ขอให้เราทุกคนจงประพฤติธรรมในสามี
เหมือนอย่างสตรีที่ดีประพฤติยำเกรงสามี
ครั้นเราทุกคนประพฤติธรรมในสามี
ก็จักได้สมบัติตามที่พี่ลดาพูด
[๓๒๕] พญาราชสีห์ที่สัญจรไปตามราวไพรใกล้เชิงเขา
อาศัยภูเขาหลวงอยู่แล้วก็เที่ยวตะครุบฆ่าสัตว์สี่เท้า
จำพวกเนื้อที่ด้อยกำลัง กัดกินเป็นอาหารฉันใด
[๓๒๖] สตรีผู้มีศรัทธา เป็นอริยสาวิกาในศาสนานี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ยังอาศัยสามีให้การเลี้ยงดู ก็ควรประพฤติเกื้อกูลยำเกรงสามี
นางประพฤติธรรมโดยระงับความโกรธ กำจัดความตระหนี่เสียได้
จึงร่าเริงบันเทิงใจอยู่บนสวรรค์
ลดาวิมานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน] ๓. ปาริจฉัตตวรรค ๕. คุตติลวิมาน
๕. คุตติลวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่คุตติลาจารย์เคยไปเยี่ยม
๑. วัตถุตตมทายิกาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดแก่หญิงผู้ถวายผ้าเนื้อดีเยี่ยม
(พระโพธิสัตว์นามว่าคุตติละได้กราบทูลท้าวสักกเทวราชว่า)
[๓๒๗] ข้าแต่ท้าวโกสีย์ ข้าพระองค์ได้สอนวิชาดีดพิณ ๗ สาย
ซึ่งมีเสียงไพเราะมาก น่ารื่นรมย์ใจ
ให้แก่มุสิละผู้เป็นศิษย์
เขาตั้งใจจะดีดพิณประชันกับข้าพระองค์กลางเวที
ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ด้วยเถิด
(ท้าวสักกเทวราชตรัสปลอบด้วยคาถาว่า)
[๓๒๘] ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจะเป็นที่พึ่งของท่านอาจารย์
เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้บูชาอาจารย์
ศิษย์จักชนะอาจารย์ไม่ได้
อาจารย์จักชนะศิษย์แน่นอน
(ครั้นกาลต่อมา ท้าวสักกเทวราชรับสั่งให้มาตลีเทพสารถีนำเวชยันต์ราชรถ
ลงมารับคุตติลาจารย์ไปยังเทวโลกเพื่อให้ดีดพิณถวาย คุตติลาจารย์จึงกราบทูล
ท้าวเธอ ในท่ามกลางเทพบริษัท เพื่อขอไต่ถามถึงบุพกรรมของเทพธิดาทั้งหลาย ณ
ที่นั้น เป็นรางวัลแห่งการดีดพิณเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงไต่ถามถึง
บุพกรรมของเทพธิดาเหล่านั้น คำถามของคุตติลาจารย์เป็นเช่นเดียวกับของพระ
มหาโมคคัลลานเถระ)๑ คำตอบของเหล่าเทพธิดาเป็นเช่นเดียวกันทั้งสองครั้ง
[๓๒๙] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก

เชิงอรรถ :
๑ (ขุ.วิ.อ. ๓๒๘/๑๕๘-๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น