Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๓ หน้า ๑๐๗ - ๑๖๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๓. ฉัตตมาณวกวิมาน
[๘๙๗] อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสสอนว่า
เธออย่าได้ประพฤติตนเป็นคนฆ่าสัตว์
โดยวิธีต่าง ๆ อันเป็นกรรมไม่สะอาด
เพราะท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายไม่สรรเสริญ
ความไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลายเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กราบทูลปฏิเสธ
แต่ภายหลังได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์ตามที่ตรัสสอนนั่นแล
[๘๙๘] อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสสอนว่า
เธออย่าสำคัญสิ่งของ
แม้ที่คนอื่นดูแลรักษาไว้ที่เขามิได้ให้ว่าเป็นของควรถือเอา๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กราบทูลปฏิเสธ
แต่ภายหลังได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์ตามที่ตรัสสอนนั่นแล
[๘๙๙] อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสสอนว่า
เธออย่าได้ล่วงละเมิดหญิงที่คนอื่นรักษา๒
และภรรยาของชายอื่น๓ นั่นเป็นสิ่งไม่ประเสริฐ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กราบทูลปฏิเสธ
แต่ภายหลังได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์ตามที่ตรัสสอนนั่นแล
[๙๐๐] อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสสอนว่า
เธออย่าได้พูดให้คลาดเคลื่อนจากความจริง
เพราะท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ไม่สรรเสริญการกล่าวเท็จ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กราบทูลปฏิเสธ
แต่ภายหลังได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์ตามที่ตรัสสอนนั่นแล

เชิงอรรถ :
๑ โดยอาการลักขโมย
๒ หญิงที่บิดามารดาเป็นต้นยังไม่ยินยอมยกให้
๓ เป็นชู้กับภรรรยาชายอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๓. ฉัตตมาณวกวิมาน
[๙๐๑] อนึ่ง พระองค์ได้ตรัสสอนว่า
เธอจงงดเว้นของมึนเมาทุกชนิด
อันเป็นเหตุทำให้ความจำของคนเสื่อม
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กราบทูลปฏิเสธ
แต่ภายหลังได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์ตามที่ตรัสสอนนั่นแล
[๙๐๒] ข้าพระองค์นั้นได้รักษาสิกขาบท ๕๑ ในพระศาสนานี้
ปฏิบัติธรรมของพระตถาคต ได้ไปยังทางสองแพร่งกลางชุมโจร
พวกโจรเหล่านั้นได้ฆ่าข้าพระองค์ ณ ที่นั้น เพราะโภคะเป็นเหตุ
[๙๐๓] ข้าพระองค์ระลึกถึงกุศลกรรมมีประมาณเท่านี้นี่เอง
กุศลกรรมอื่นนอกจากนั้นของข้าพระองค์ไม่มี
เพราะสุจริตกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงเกิดในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณตามปรารถนา
[๙๐๔] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตร
ผลของการสำรวมเพียงชั่วครู่ชั่วยาม
ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
คนเป็นอันมากผู้มีกรรมต่ำต้อย๒ พากันมองดู
นึกกระหยิ่ม(ชื่นชม) ข้าพระองค์
เหมือนบุคคลพากันมองดูผู้รุ่งเรืองด้วยบริวารยศ
[๙๐๕] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรเถิด ข้าพระองค์ถึงสุคติ
และได้รับความสุข เพราะพระธรรมเพียงเล็กน้อย
ส่วนเหล่าชนที่ได้ฟังธรรมของพระองค์เนือง ๆ
เห็นทีจะสัมผัสอมตธรรมซึ่งมีความเกษม

เชิงอรรถ :
๑ ศีล ๕ (ขุ.วิ.อ. ๙๐๒/๒๗๗)
๒ มีโภคะด้อยกว่าสมบัติของข้าพระองค์ (ขุ. วิ. อ. ๙๐๔/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๓. ฉัตตมาณวกวิมาน
[๙๐๖] บุญกุศลที่ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในพระธรรมคำสอนของพระตถาคต
ทำแล้วแม้น้อยกลับมีผลยิ่งใหญ่ไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรดูเถิด
เพราะได้ทำบุญไว้ ฉัตตเทพบุตรจึงเปล่งรัศมี
สว่างไสวไปทั่วแผ่นดิน เหมือนดวงอาทิตย์
[๙๐๗] ชนจำพวกหนึ่งประชุมปรึกษากันว่า
กุศลนี้เป็นอย่างไร
พวกเราจะบำเพ็ญกุศลนั้นอย่างไร
พวกเรานั้นได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว
พึงปฏิบัติธรรม อยู่รักษาศีลกันอีกเถิด
[๙๐๘] พระศาสดาทรงมีอุปการะมาก
และทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์อย่างนี้
ในเมื่อข้าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่
ได้เสด็จไปแต่ยังวันอยู่เลย
ข้าพระองค์นั้นได้เข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีพระนามเป็นสัจธรรม
ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์เถิด
ข้าพระองค์ขอฟังธรรมซ้ำอีก
[๙๐๙] ชนเหล่าใดในพระศาสนานี้ละกามราคานุสัย
และภวราคานุสัย๑ได้เพราะละโมหะได้ขาด
ชนเหล่านั้นแลย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีกต่อไป
เพราะว่าเป็นผู้ถึงความดับอย่างสิ้นเชิงเย็นสนิทแล้ว๒
ฉัตตมาณวกวิมานที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กามราคานุสัย กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในส้นดาน คือ ความกำหนัดในกาม ภวราคานุสัย กิเลสที่นอน
เนื่องอยู่ในสันดาน คือ ความกำหนัดในภพ อยากมี อยากเป็น อยากคงอยู่
๒ ปรินิพพาน (ขุ.วิ.อ. ๙๐๙/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๔. กักกฎกรสทายกวิมาน
๔. กักกฏกรสทายกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่คนเฝ้านาผู้ถวายแกงปู
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า)
[๙๑๐] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๙๑๑] ท่านสถิต ดื่ม กินอยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้ มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๙๑๒] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
[๙๑๓] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๙๑๔] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๙๑๕] ปูทองคำมี ๑๐ ขา อยู่ที่ประตู
คอยเตือนสติให้ระลึกได้๑ย่อมงามรุ่งเรือง
[๙๑๖] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ว่าเราได้สมบัตินี้ เพราะถวายแกงปู (ขุ.วิ.อ. ๙๑๕/๒๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๕. ทวารปาลวิมาน
[๙๑๗] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
กักกฏกรสทายกวิมานที่ ๔ จบ
(อีก ๕ วิมานต่อไปนี้ พึงให้พิสดารเหมือนกักกฏกรสทายกวิมาน)
๕. ทวารปาลวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่คนเฝ้าประตูผู้ชักชวนคนทำบุญ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า)
[๙๑๘] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๙๑๙] ท่านสถิต ดื่ม กิน อยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๙๒๐] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
[๙๒๑] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๙๒๒] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๖. ปฐมกรณียวิมาน
[๙๒๓] ข้าพเจ้ามีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์
บุคคลผู้ทำบุญด้วยเหตุเพียงกล่าวเชื้อเชิญและทำใจให้เลื่อมใส
จักดำรงอยู่พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทั้งหลายอันเป็นทิพย์
[๙๒๔] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
[๙๒๕] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทวารปาลวิมานที่ ๕ จบ
๖.ปฐมกรณียวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่อุบาสกผู้รู้กิจที่ควรทำ เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า)
[๙๒๖] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๙๒๗] ท่านสถิต ดื่ม กิน อยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๙๒๘] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๗. ทุติยกรณียวิมาน
[๙๒๙] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๙๓๐] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๙๓๑] บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงบำเพ็ญบุญต่าง ๆ
ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เสด็จไปโดยชอบแล้ว
ซึ่งเป็นบุญเขตที่ใคร ๆ ถวายทานแล้วมีผลมาก
[๙๓๒] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากป่ามายังหมู่บ้าน
เพื่อประโยชน์แก่เราหนอ ดังนี้แล้ว
จึงได้มาอุบัติในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
[๙๓๓] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
[๙๓๔] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมกรณียวิมานที่ ๖ จบ
๗. ทุติยกรณียวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่อุบาสกผู้รู้กิจที่ควรทำ เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า)
[๙๓๕] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๗.ทุติยกรณียวิมาน
[๙๓๖] ท่านสถิต ดื่ม กิน อยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๙๓๗] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
[๙๓๘] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๙๓๙] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๙๔๐] บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงบำเพ็ญบุญต่าง ๆ
ในภิกษุทั้งหลายผู้ปฏิบัติชอบ
ซึ่งเป็นบุญเขตที่ใคร ๆ ถวายทานแล้วมีผลมาก
[๙๔๑] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในภิกษุนั้นว่า
ภิกษุออกจากป่าเข้ามายังหมู่บ้านเพื่อประโยชน์แก่เราหนอ
ดังนี้แล้วจึงได้มาอุบัติในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
[๙๔๒] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
[๙๔๓] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยกรณียวิมานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๘. ปฐมสูจิวิมาน
๘. ปฐมสูจิวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้ถวายเข็ม เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า)
[๙๔๔] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๙๔๕] ท่านสถิต ดื่ม กิน อยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๙๔๖] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
[๙๔๗] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๙๔๘] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๙๔๙] ทานที่ข้าพเจ้าถวายมา(ก่อน)นั้นไม่มีผล
ทานที่จะถวายควรเป็นของดี
เข็มที่ข้าพเจ้าถวายไปแล้วนั้นแหละเป็นของดี
[๙๕๐] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๙. ทุติยสูจิวิมาน
[๙๕๑] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมสูจิวิมานที่ ๘ จบ
๙. ทุติยสูจิวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้ถวายเข็ม เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า)
[๙๕๒] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๙๕๓] ท่านสถิต ดื่ม กิน อยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีผู้ประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๙๕๔] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
[๙๕๕] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๙๕๖] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๐. ปฐมนาควิมาน
[๙๕๗] ชาติก่อนข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
[๙๕๘] ได้เห็นภิกษุผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี มีใจผ่องใส ไม่มัวหมอง
เลื่อมใสแล้ว ได้ถวายเข็มแด่ท่านด้วยมือทั้งสองของตน
[๙๕๙] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
[๙๖๐] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยสูจิวิมานที่ ๙ จบ
๑๐. ปฐมนาควิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีช้างทิพย์เป็นพาหนะ เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า)
[๙๖๑] ท่านขี่ช้างเผือกผ่อง ไม่มีตำหนิ มีงางอนงาม ทรงพลัง
ไปได้เร็วมาก เป็นคชสารประเสริฐ ควรแก่การขับขี่
ผูกสายรัดประคนทองคำไว้เรียบร้อย เหาะมาที่นี้
[๙๖๒] ที่งาทั้งสองของพญาคชสารล้วนมีสระโบกขรณีเนรมิต
มีน้ำใสสะอาด ดารดาษด้วยปทุมชาติมีดอกบานสะพรั่ง
ในดอกปทุมทุก ๆ ดอกมีหมู่ดุริยเทพบรรเลงเพลง
และมีเหล่าเทพอัปสรนี้ฟ้อนรำชวนให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจ
[๙๖๓] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๑. ทุติยนาควิมาน
[๙๖๔] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๙๖๕] ข้าพเจ้าเลื่อมใสแล้ว ได้นำดอกไม้แปดกำมือเท่านั้น
ไปบูชาที่พระสถูปของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่(คือนิพพาน)ด้วยมือทั้งสองของตน
[๙๖๖] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจบังเกิดแก่ข้าพเจ้า
[๙๖๗] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมนาควิมานที่ ๑๐ จบ
๑๑. ทุติยนาควิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีช้างทิพย์เป็นพาหนะ เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า)
[๙๖๘] ท่านทรงช้างใหญ่เผือกปลอด เป็นคชสารประเสริฐ
แวดล้อมด้วยหมู่เทพอัปสร เที่ยววนเวียนอยู่ตามป่า
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๙๖๙] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
[๙๗๐] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๒. ตติยนาควิมาน
[๙๗๑] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๙๗๒] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นอุบาสกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระจักษุ
ได้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากลักทรัพย์ในโลก
[๙๗๓] ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา
มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[๙๗๔] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
[๙๗๕] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ทำได้ไว้เมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยนาควิมานที่ ๑๑ จบ
๑๒. ตติยนาควิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีช้างทิพย์เป็นพาหนะ เรื่องที่ ๓
(บุรุษผู้เป็นบัณฑิตถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๙๗๖] ใครหนอ มีช้างเผือกปลอดเป็นยานทิพย์
มีเสียงดนตรีประโคมกึกก้อง
มีบริวารเป็นอันมากบูชาอยู่ในอากาศ
[๙๗๗] ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
พวกเราไม่รู้จัก จึงขอถามท่าน
พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๙๗๘] ข้าพเจ้าไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
ทั้งไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ
แต่ข้าพเจ้าเป็นเทพบุตรตนหนึ่งในบรรดาเหล่าเทพชาวสุธัมมา
(บุรุษผู้เป็นบัณฑิตถามว่า)
[๙๗๙] แน่ะเทพชาวสุธัมมา ข้าพเจ้าขอกราบเรียนถามว่า
คนทำกรรมอะไรไว้สมัยเป็นมนุษย์
จึงจะเกิดเป็นเทพชาวสุธัมมาได้
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๙๘๐] ผู้ใดพึงถวายอาคารมุงบังด้วยใบอ้อย
อาคารมุงบังด้วยหญ้า และอาคารมุงบังด้วยผ้า
ผู้นั้นครั้นถวายอาคารอย่างใดอย่างหนึ่งในอาคารสามอย่างแล้ว
จึงจะเกิดเป็นเทพชาวสุธัมมาได้
ตติยนาควิมานที่ ๑๒ จบ
๑๓. จูฬรถวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีรถทิพย์คันเล็กเป็นพาหนะเกิดขึ้นแก่สุชาตกุมาร
(พระมหากัจจายนเถระทูลถามสุชาตกุมารว่า)
[๙๘๑] นายขมังธนู ท่านยืนลดธนูไม้แก่นอันยอดเยี่ยมอยู่
ท่านเป็นกษัตริย์หรือราชกุมาร หรือเป็นพรานป่า
(สุชาตกุมารตรัสตอบว่า)
[๙๘๒] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นราชโอรสของพระเจ้าอัสสกะ
เที่ยวไปในป่า ภิกษุ ข้าพเจ้าขอบอกนามแก่ท่าน
ชนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า สุชาตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน
[๙๘๓] ข้าพเจ้าเที่ยวลัดเลาะไปยังป่าใหญ่ เสาะหาหมู่เนื้อ
ไม่ทันได้เห็นเนื้อนั้นเลย แต่มาพบท่านเข้า จึงได้หยุดยืนอยู่
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[๙๘๔] พระองค์ผู้มีบุญมาก พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ทั้งมิได้เสด็จมาร้าย
ขอเชิญพระองค์ทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของพระองค์เถิด
[๙๘๕] นี้น้ำเย็นน่าดื่มนำมาจากซอกเขา
พระราชโอรส ขอเชิญพระองค์เสวยน้ำจากภาชนะนั้นแล้ว
โปรดเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนพื้นที่ปูลาดไว้แล้ว
(สุชาตกุมารตรัสว่า)
[๙๘๖] พระมหามุนี วาจาของท่านงามจริงหนอ
น่าฟัง ไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์ ไพเราะ
ท่านมีปัญญากล่าวแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[๙๘๗] ท่านยินดีอะไรจึงอยู่แต่ในป่า
พระฤๅษีผู้องอาจ ข้าพเจ้าถามแล้ว ท่านโปรดบอกด้วยเถิด
ข้าพเจ้าพิจารณาถ้อยคำของท่านแล้วจะประพฤติอย่างสม่ำเสมอ
ตามครรลองแห่งธรรมอันนำมาซึ่งประโยชน์
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[๙๘๘] พระราชกุมาร อาตมภาพชอบการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
การงดเว้นจากการลักขโมย การประพฤติผิดประเวณี
และการดื่มน้ำเมา
[๙๘๙] ความงดเว้น ความประพฤติชอบ
ความเป็นพหูสูต ความกตัญญู
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมอันกุลบุตรพึงหวังในปัจจุบัน
อันวิญญูชนพึงสรรเสริญแท้
[๙๙๐] พระราชโอรส พระองค์ทรงทราบเถิดว่า พระองค์ใกล้สวรรคต
เหลืออีกไม่ถึง ๕ เดือน โปรดรีบเปลื้องตนเสียเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน
(พระราชกุมารตรัสถามว่า)
[๙๙๑] ข้าพเจ้านั้นพึงไปชนบทไหน ทำการงานอะไร
และทำหน้าที่ของบุรุษอย่างไร หรือใช้วิชาอะไร จึงจะไม่แก่ไม่ตาย
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[๙๙๒] พระราชโอรส ไม่มีสถานที่ที่สัตว์ไปแล้วไม่พึงแก่ไม่พึงตาย
ทั้งการงาน วิชา และหน้าที่ของบุรุษ
ที่สัตว์ทำแล้วจะไม่พึงแก่ไม่พึงตาย ก็ไม่มี
[๙๙๓] แม้ชนทั้งหลายที่มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
ถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ครองแว่นแคว้น
มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย
จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มีเลย
[๙๙๔] ถึงท่านผู้เป็นบุตรของชาวอันธกเวณฑุ ผู้ได้ศึกษาแล้ว
มีความสามารถแกล้วกล้าประหารข้าศึกได้
แม้ท่านเหล่านั้นซึ่งเสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืน
ก็ต้องถึงความสิ้นอายุสลายไป
[๙๙๕] แม้เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์
ศูทร จัณฑาล ปุกกุสะ และชนประเภทอื่น
โดยชาติกำเนิดซึ่งจะไม่แก่ไม่ตายไม่มี
[๙๙๖] แม้เหล่าชนผู้ร่ายมนตร์พรหมจินดามีองค์ ๖๑
และเหล่าชนที่ใช้วิชาอื่น ๆ จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มี
[๙๙๗] อนึ่ง แม้ฤๅษีทั้งหลายผู้สงบ สำรวมตน บำเพ็ญตบะ
ก็ยังต้องละทิ้งร่างกายไปตามกาลอันสมควร

เชิงอรรถ :
๑ มนตร์พรหมจินดามีองค์ ๖ คือ ๑. กัปปะ (ว่าด้วยวิธีเกี่ยวกับการบูชายัญ) ๒. พยากรณ์ (แสดงการแยกปกติ)
๓. นิรุตติ (แสดงรูปศัพท์ เติมปัจจัย) ๔. สิกขา (แสดงฐานกรณ์ และปตยนะของอักษร) ๕. ฉันโทวิจิติ
(แสดงลักษณะของฉันท์) ๖. โชติสัตถะ (แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญหรือความเสื่อมของ
มนุษย์) (ขุ.วิ.อ. ๙๙๖/๓๐๙) เทียบ เวทางคศาสตร์ของพราหมณ์ มี ๖ อย่าง คือ ๑. ศึกษาวิธีออกเสียง
คำในพระเวทให้ถูกต้อง ๒. ไวยากรณ์ ๓. ฉันท์ ๔. เชยติส คือดาราศาสตร์ ๕. นิรุกติ คือกำเนิดของคำ
และ ๖. กัลปะ คือวิธีจัดทำพิธี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๗๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน
[๙๙๘] แม้พระอรหันต์ทั้งหลายผู้อบรมตนแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป ก็ยังต้องทอดทิ้งร่างกายนี้ไป
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[๙๙๙] พระมหามุนี คาถาทั้งหลายของท่านเป็นสุภาษิต มีประโยชน์
ข้าพเจ้าโล่งใจ เพราะเนื้อความที่เป็นสุภาษิต
และขอท่านโปรดเป็นที่พึ่งที่ระลึกของข้าพเจ้าด้วย
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[๑๐๐๐] ขอพระองค์จงอย่าทรงถึงอาตมภาพว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเลย
ขอจงทรงถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นศากยบุตร ผู้มีความเพียรยิ่งใหญ่
ผู้ซึ่งอาตมภาพถือเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว
พระองค์นั้นแหละว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
(พระราชกุมารตรัสถามว่า)
[๑๐๐๑] ท่านผู้นิรทุกข์ พระศาสดาของท่านพระองค์นั้น
ประทับอยู่ ณ ชนบทไหน
ถึงข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าผู้หาบุคคลใดเสมอเหมือนมิได้
(พระเถระถวายพระพรว่า)
[๑๐๐๒] พระศาสดาผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ทรงสมภพในราชวงศ์
ของพระเจ้าโอกกากราช ในชนบทด้านทิศตะวันออก
พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[๑๐๐๓] ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของท่าน
ยังทรงพระชนม์อยู่ ถึงไกลหลายพันโยชน์
ข้าพเจ้าก็จะพึงไปเฝ้าใกล้ ๆ ให้จงได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน
[๑๐๐๔] ท่านผู้นิรทุกข์ แต่เพราะพระบรมศาสดาของท่าน
เสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว
ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอถึงพระองค์ผู้มีความเพียรยิ่งใหญ่
ซึ่งเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๑๐๐๕] ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรมที่ยอดเยี่ยม
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเทวดา
และมนุษย์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๑๐๐๖] ข้าพเจ้าของดเว้นจากการฆ่าสัตว์โดยพลัน
ของดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา
(พระเถระถามเทพบุตรนั้นว่า)
[๑๐๐๗] รถใหญ่ของท่านนี้แผ่รัศมีไปโดยรอบกว้าง ๑๐๐ โยชน์
ดังดวงอาทิตย์มีรัศมีมากโคจรไปในท้องฟ้า ส่องแสงไปทั่วทุกทิศ
[๑๐๐๘] รถใหญ่ของท่านนี้บุด้วยแผ่นทองคำโดยรอบ
งอนรถนั้นวิจิตรด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณี
แผ่นทองคำและแผ่นเงินมีลวดลายสวยงาม
ประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ บรรจงสร้างไว้อย่างดี ทำให้แลดูงาม
[๑๐๐๙] และปลายงอนรถนี้สร้างด้วยแก้วไพฑูรย์
แอกรถนี้วิจิตรด้วยแก้วทับทิม
แม้ม้าเหล่านี้ก็ประดับด้วยทองและเงิน
วิ่งได้เร็วทันใจ แลดูสง่างาม
[๑๐๑๐] ท่านยืนสง่าอยู่บนรถทองคำเทียมด้วยม้า๑,๐๐๐ ตัวเป็นพาหนะ
เปรียบดังท้าวสักกะจอมเทพ ท่านผู้มียศ
อาตมภาพขอถามท่านผู้ชาญฉลาดว่า
ยศอย่างโอฬารนี้ท่านได้มาอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
(เทพบุตรตอบว่า)
[๑๐๑๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชาติก่อนข้าพเจ้าเป็นราชโอรสนามว่าสุชาตะ
และพระคุณเจ้าได้อนุเคราะห์ให้ข้าพเจ้าได้ตั้งอยู่ในความสำรวม
[๑๐๑๒] อนึ่ง พระคุณเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าจะสิ้นอายุ
ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดาด้วยกล่าวว่า
สุชาตราชโอรส พระองค์จงทรงบูชาพระบรมสารีริกธาตุนี้
การบูชานั้นจักเป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง
[๑๐๑๓] ข้าพเจ้าได้ขวนขวายบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้น
ด้วยของหอมและดอกไม้ทั้งหลาย
ครั้นละร่างมนุษย์แล้วได้เกิดในสวนนันทวัน
[๑๐๑๔] มีเหล่านางอัปสรฟ้อนรำขับร้องห้อมล้อมรื่นรมย์อยู่
ในสวนนันทวันอย่างงามเลิศ น่ารื่นรมย์
ขวักไขว่ไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
จูฬรถวิมานที่ ๑๓ จบ
๑๔. มหารถวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่รถทิพย์คันใหญ่เป็นพาหนะเกิดขึ้นแก่คนเลี้ยงโค
(พระมหาโมคคัลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๐๑๕] ท่านขึ้นรถเทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ ตัวเป็นพาหนะ
งามวิจิตรอเนกประการ รุ่งเรืองเหมือนกับท้าววาสวปุรินททะ๑
ผู้เป็นจอมเทพซึ่งกำลังเสด็จไปใกล้พื้นที่อุทยานโดยลำดับ
[๑๐๑๖] แคร่รถทั้งสองข้างของท่านก็ล้วนแล้วด้วยทองคำ
ประกอบไม้เท้าแขนสองข้าง

เชิงอรรถ :
๑ เป็นชื่อของท้าวสักกะ ผู้เคยให้ที่พักอาศัยในกาลก่อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
ไม้คานทั้งสองสนิทดี มีลูกกรงจัดไว้ได้ระเบียบเรียบร้อย
เหมือนช่างศิลป์บรรจงจัดไว้เสร็จแล้ว
รถของท่านนี้รุ่งเรืองดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
[๑๐๑๗] รถคันนี้คลุมด้วยข่ายทองคำ วิจิตรด้วยรัตนะต่าง ๆ มากมาย
มีเสียงกึกก้องไพเราะน่าเพลิดเพลิน ทั้งมีรัศมีรุ่งโรจน์
รุ่งเรืองด้วยหมู่เทวดาถือแส้จามร
[๑๐๑๘] ดุมรถเหล่านี้ประดับตรงกลางระหว่างล้อรถ ประดุจเนรมิตด้วยใจ
ทั้งวิจิตรด้วยลวดลายเป็นร้อย สว่างไสวดังสายฟ้าแลบ
[๑๐๑๙] รถคันนี้พราวไปด้วยลวดลายวิจิตรอเนกประการ
และกงล้อใหญ่มีรัศมีตั้งพัน
มีเสียงดังไพเราะน่าฟัง คล้ายดนตรีเครื่องห้าที่ขับประโคมแล้ว
[๑๐๒๐] งอนรถร้อยไว้ด้วยแก้วมณี มีสัณฐานกลมดังดวงจันทร์
วิจิตร บริสุทธิ์ งดงาม ผุดผ่องทุกเมื่อ
ประกอบด้วยลายทองเนียนสนิท งามล้ำดุจลายแก้วไพฑูรย์
[๑๐๒๑] ม้าเหล่านี้ผูกร้อยไว้ด้วยแก้วมณี มีสัณฐานกลมดังดวงจันทร์
สูงใหญ่ ว่องไว เปรียบเหมือนม้าใหญ่ที่เจริญเติบโต
มีฤทธิ์มาก ทรงพลัง รวดเร็วมาก
รู้ใจของท่าน วิ่งไปได้เร็วดังใจนึก
[๑๐๒๒] ด้วยว่า ม้าทั้งหมดนี้อดทน เหยาะย่างไปด้วยเท้าทั้ง ๔
รู้ใจของท่าน วิ่งไปได้เร็วดังใจนึก มีกิริยาท่าทางนุ่มนวล
ไม่ลำพอง วิ่งเรียบ ทำให้ผู้ขับขี่เบิกบานใจ เป็นยอดม้าทั้งหลาย
[๑๐๒๓] บางคราวก็แกว่งขนหางไปมา
บางคราวก็วิ่งเหยาะย่างเท้าไป บางคราวก็เหาะไป
ทำเครื่องประดับที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยให้กวัดแกว่ง
เสียงเครื่องประดับเหล่านั้นดังไพเราะน่าฟัง
คล้ายดนตรีเครื่องห้าที่ขับประโคมแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
[๑๐๒๔] เสียงรถ เสียงเครื่องประดับทั้งหลาย เสียงกีบเท้าม้า
เสียงม้าเสียดสีกัน และเสียงเทพผู้บันเทิงดังไพเราะ
คล้ายดนตรีของคนธรรพ์ในสวนจิตรลดา
[๑๐๒๕] เหล่าเทพอัปสรอยู่บนรถ
มีดวงตาอ่อนโยนคล้ายดวงตาลูกเนื้อทราย
มีขนตาดก มีใบหน้ายิ้มแย้ม พูดจาอ่อนหวาน
มีร่างกายคลุมด้วยข่ายแก้วไพฑูรย์ มีผิวเนียน
ซึ่งคนธรรพ์และเทวดาผู้สูงศักดิ์บูชาทุกเมื่อเป็นประจำ
[๑๐๒๖] เทพอัปสรเหล่านั้นมีรูปโฉมเย้ายวนน่ายินดี
ทรงพัสตราภรณ์สีแดงและสีเหลือง
มีดวงตากลมโต มีนัยน์ตางามน่ารักยิ่งนัก
เป็นผู้ดีมีสกุล มีเรือนร่างสวยงาม
ยิ้มแย้มแจ่มใส ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ
[๑๐๒๗] เธอเหล่านั้นสวมใส่ทองต้นแขน ทรงพัสตราภรณ์งดงาม
มีเอวกลมกลึง ขาเรียวงาม ถันเต่งตึง นิ้วมือเรียวกลม
พักตร์ผุดผ่อง น่าชม ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ
[๑๐๒๘] เทพอัปสรบางพวกมีช้องผมงาม ล้วนเป็นสาวแรกรุ่น
มีมวยผมแซมสลับด้วยแก้วทับทิมและพวงดอกไม้จัดแต่งไว้เรียบร้อย
มีประกายพรายพราว
เทพอัปสรเหล่านั้นมีกิริยาแช่มช้อย
มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ
[๑๐๒๙] บางพวกมีมาลัยแก้วประดับเทริด
และทับทรวงด้วยดอกปทุมและอุบล
ทรงเครื่องประดับ อบด้วยแก่นจันทน์
เทพอัปสรเหล่านั้นมีกิริยาแช่มช้อย
มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
[๑๐๓๐] เทพอัปสรเหล่านั้นประดับพวงมาลัย
และทับทรวงด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
ทรงเครื่องประดับ อบด้วยแก่นจันทน์
ถึงพวกนางก็มีกิริยาแช่มช้อย
มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ
[๑๐๓๑] บางพวกสว่างไสวไปทั่วทั้งสิบทิศด้วยเครื่องประดับคอ มือ เท้า
และศีรษะ เหมือนพระอาทิตย์ในสารทกาลกำลังอุทัย
[๑๐๓๒] ดอกไม้และเครื่องประดับที่แขนทั้งสองต้องลมก็ไหวพริ้ว
เปล่งเสียงกังวานไพเราะจับใจ อันวิญญูชนทุกคนควรฟัง
[๑๐๓๓] ท่านผู้เป็นจอมเทพ เสียงรถ ช้าง ม้า และดนตรีทั้งหลาย
ซึ่งอยู่สองข้างพื้นอุทยานทำให้ท่านบันเทิงใจ
ดุจพิณทั้งหลายมีรางและคันถือที่ประกอบไว้เรียบร้อยแล้ว
[๑๐๓๔] เมื่อพิณมีเสียงไพเราะจับใจจำนวนมากเหล่านี้
ที่เทพอัปสรทั้งหลายบรรเลงอย่างซาบซึ้งตรึงใจยิ่งอยู่
เหล่านางอัปสรเทพกัญญา ผู้ล้วนชำนาญศิลป์
ต่างพากันร่ายรำอยู่บนดอกปทุมทั้งหลาย
[๑๐๓๕] ในเวลาที่มีการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนเหล่านี้
ประสานกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
เทพอัปสรพวกหนึ่งฟ้อนรำอยู่บนรถของท่านนี้
อีกพวกหนึ่งทางด้านนี้เปล่งรัศมีสว่างไสวทั้งสองด้าน
[๑๐๓๖] ท่านนั้นผู้อันหมู่เทพดุริยางค์ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส
อันทวยเทพทั้งหลายบูชาอยู่
บันเทิงใจอยู่ ดังพระอินทร์ผู้ทรงวชิราวุธ
ในเมื่อพิณมีเสียงไพเราะจับใจจำนวนมากเหล่านี้
ที่เทพอัปสรทั้งหลายบรรเลงอย่างซาบซึ้งตรึงใจยิ่งอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
[๑๐๓๗] เมื่อชาติก่อน ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมอะไรไว้
ท่านได้รักษาอุโบสถหรือว่า
ได้ชอบใจการประพฤติธรรมและการสมาทานวัตรอะไร
[๑๐๓๘] การที่ท่านมีอิทธานุภาพไพบูลย์รุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่เทพนี้
มิใช่ผลกรรมเล็กน้อยที่ท่านทำไว้แล้ว
หรืออุโบสถที่ท่านประพฤติแล้วในชาติก่อน
[๑๐๓๙] นี้เป็นผลของทาน หรือศีล หรือการกราบไหว้ของท่าน
อาตมาถามท่านแล้ว โปรดบอกผลกรรมนั้นแก่อาตมาเถิด
[๑๐๔๐] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๐๔๑] ข้าพเจ้าได้เห็นพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงชนะอินทรีย์แล้ว
มีความเพียรไม่ย่อหย่อน ผู้สูงสุดแห่งนระทั้งหลาย เป็นอัครบุคคล
เปิดประตูอมตนิพพาน เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ซึ่งมีบุญลักษณะนับร้อย
[๑๐๔๒] ครั้นได้เห็นพระองค์ผู้ข้ามโอฆะได้แล้วเช่นกับกุญชร
มีพระวรกายงดงามเช่นกับทองสิงคี๑และทองชมพูนุท๒
พลันข้าพเจ้าก็มีใจหมดจดเพราะได้เห็นพระองค์
ผู้มีธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นธงนั่นเอง
[๑๐๔๓] ข้าพเจ้านั้นมีใจไม่ติดข้องในอะไร ได้มอบถวายข้าวน้ำ
จีวร และของที่สะอาด ประณีต มีรสชาติ
เฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ในที่อยู่ของตนซึ่งดารดาษด้วยดอกไม้
[๑๐๔๔] ได้อังคาสพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นซึ่งทรงเป็นผู้สูงสุด
กว่าเหล่ามนุษย์ ให้อิ่มหนำด้วยข้าว น้ำ จีวร ของเคี้ยว
ของฉัน และของลิ้ม จึงรื่นรมย์อยู่ในสวรรค์อันเป็นเทวบุรี

เชิงอรรถ :
๑ ทองเนื้อสุก (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๒/๓๒๙)
๒ ทองวิเศษ (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๒/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค
[๑๐๔๕] โดยอุบายนี้ ข้าพเจ้าได้ถวายทานที่มีลิ่มสลักออกแล้วนี้๑
อันมีความบริสุทธิ์ ๓ ประการ ละร่างมนุษย์แล้ว
รื่นรมย์อยู่ในเทวบุรี เสมอเหมือนกับพระอินทร์
[๑๐๔๖] ท่านพระมุนี บุคคลผู้มุ่งหวังอายุ วรรณะ สุขะ พละ
และรูปที่ประณีต มีใจไม่ติดข้องในอะไร ๆ
พึงถวายข้าวและน้ำซึ่งปรุงดีแล้วให้มากแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๐๔๗] ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกหน้า
ผู้ที่ประเสริฐกว่า หรือเสมอด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี
บรรดาผู้ควรบูชาทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าถึงความเป็นผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง
ของเหล่าชนผู้ต้องการบุญหวังผลอันไพบูลย์
มหารถวิมานที่ ๑๔ จบ
มหารถวรรคที่ ๕ จบ
รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มัณฑูกเทวปุตตวิมาน ๒. เรวตีวิมาน
๓. ฉัตตมาณวกวิมาน ๔. กักกฏกรสทายกวิมาน
๕. ทวารปาลวิมาน ๖. ปฐมกรณียวิมาน
๗. ทุติยกรณียวิมาน ๘. ปฐมสูจิวิมาน
๙. ทุติยสูจิวิมาน ๑๐. ปฐมนาควิมาน
๑๑. ทุติยนาควิมาน ๑๒. ตติยนาควิมาน
๑๓. จูฬรถวิมาน ๑๔. มหารถวิมาน

ภาณวารที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ บริจาคสมบัติของตนทั้งหมด (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๓/๓๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๖. ปายาสิกวรรค ๑. ปฐมอคาริยวิมาน
๖. ปายาสิกวรรค
หมวดว่าด้วยเทพบุตรผู้เคยเป็นคนรับใช้เจ้าปายาสิ
๑. ปฐมอคาริยวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่สองสามีภรรยา
ผู้เป็นดังอู่ข้าวอู่น้ำของพระสงฆ์ เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๐๔๘] สวนจิตรลดาเป็นสวนประเสริฐชั้นดีเยี่ยม
ของทวยเทพชั้นไตรทศ ส่องแสงสว่างไสวฉันใด
วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น
ส่องแสงสว่างไสวอยู่ในอากาศ
[๑๐๔๙] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๐๕๐] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๐๕๑] ข้าพเจ้าและภรรยาเมื่อยังครองเรือนอยู่ในมนุษยโลก
ได้เป็นดังอู่ข้าวอู่น้ำ มีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[๑๐๕๒-๑๐๕๓] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมอคาริยวิมานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๖. ปายาสิกวรรค ๓. ผลทายกวิมาน
๒. ทุติยอคาริยวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่สองสามีภรรยา
ผู้เป็นดังอู่ข้าวอู่น้ำของพระสงฆ์ เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๐๕๔] สวนจิตรลดาเป็นสวนประเสริฐชั้นดีเยี่ยม
ของทวยเทพชั้นไตรทศ ส่องแสงสว่างไสวฉันใด
วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น
ส่องแสงสว่างไสวอยู่ในอากาศ
[๑๐๕๕] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๐๕๖] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๐๕๗] ข้าพเจ้าและภรรยาเมื่อยังครองเรือนอยู่ในมนุษยโลก
ได้เป็นดังอู่ข้าวอู่น้ำ มีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[๑๐๕๘-๑๐๕๙] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยอคาริยวิมานที่ ๒ จบ
๓. ผลทายกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้ถวายมะม่วง ๔ ผล
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๖. ปายาสิกวรรค ๓. ผลทายกวิมาน
[๑๐๖๐] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๑๐๖๑] ท่านสถิต ดื่ม กินอยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
และเทพกัญญา ๖๔,๐๐๐ นางมีรูปงาม
ท่องเที่ยวไปมาอย่างสำราญในภพดาวดึงส์ มีสมบัติมากมาย
เป็นผู้ชำนาญการฟ้อนรำขับร้อง พากันมาให้ความบันเทิงใจ
[๑๐๖๒] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๐๖๓] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๐๖๔] ผู้มีใจเลื่อมใสเมื่อจะถวายทานในหมู่ภิกษุผู้ปฏิบัติตรง
ได้ถวายผลไม้เป็นประจำ จึงได้รับผลบุญอันไพบูลย์
ผู้นั้นแหละไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทศ และเสวยผลบุญอย่างไพบูลย์
[๑๐๖๕] ท่านมหามุนี ข้าพเจ้าก็อย่างนั้นเหมือนกันได้ถวายมะม่วง ๔ ผล
[๑๐๖๖] เพราะเหตุนั้น มนุษย์ผู้ต้องการความสุข
ปรารถนาความสุขอันเป็นทิพย์
หรือปรารถนาความเป็นผู้มีส่วนดีงามในหมู่มนุษย์เป็นนิตย์
ควรถวายผลไม้แท้
[๑๐๖๗-๑๐๖๘] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ผลทายกวิมานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๖. ปายาสิกวรรค ๕. ทุติยอุปัสสยทายกวิมาน
๔. ปฐมอุปัสสยทายกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่สองสามีภรรยาผู้บำรุงพระอรหันต์ เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๐๖๙] ดวงจันทร์ปราศจากเมฆหมอกส่องแสงสว่างอยู่ในนภากาศฉันใด
วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น ส่องแสงสว่างไสวอยู่ในอากาศ
[๑๐๗๐] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๐๗๑] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๐๗๒] ข้าพเจ้าและภรรรยาเมื่อยังครองเรือนอยู่ในมนุษยโลก
ได้ถวายที่อยู่แด่พระอรหันต์ มีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[๑๐๗๓-๑๐๗๔] เพราะบุญนั้น ข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมอุปัสสยทายกวิมานที่ ๔ จบ
๕. ทุติยอุปัสสยทายกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่สองสามีภรรยาผู้บำรุงพระอรหันต์ เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๐๗๕-๑๐๗๘] ดวงอาทิตย์ปราศจากเมฆหมอกส่องแสงสว่างอยู่ในนภากาศฉันใด
วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น ส่องแสงสว่างไสวอยู่ในอากาศ
ฯลฯ
(อธิบายนอกนี้พึงให้พิสดารเหมือนวิมานข้างต้น)
[๑๐๗๙-๑๐๘๐] และรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยอุปัสสยทายกวิมานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๖. ปายาสิกวรรค ๗. ยวปาลกวิมาน
๖. ภิกขาทายกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้ถวายอาหารแด่ภิกษุ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๐๘๑] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๑๐๘๒] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๐๘๓] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาของผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๐๘๔] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
ได้เห็นภิกษุผู้กระหายน้ำเหน็ดเหนื่อยมาในกาลนั้น
ข้าพเจ้าได้ปรุงอาหารอย่างหนึ่งถวายพร้อมทั้งข้าวสุก
[๑๐๘๕-๑๐๘๖] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ภิกขาทายกวิมานที่ ๖ จบ
๗. ยวปาลกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่คนเฝ้านาข้าวเหนียวผู้ถวายขนมสดแด่ภิกษุ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๐๘๗-๑๐๘๘] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๐๘๙] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๖. ปายาสิกวรรค ๘. ปฐมกุณฑลีวิมาน
[๑๐๙๐] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นคนเฝ้านาข้าวเหนียว
ได้เห็นภิกษุผู้ปราศจากกิเลสประดุจดังธุลี มีใจผ่องใสไม่มัวหมอง
[๑๐๙๑] เลื่อมใสแล้ว จึงได้แบ่งขนมสดถวายท่านด้วยมือทั้งสองของตน
ครั้นแล้วจึงบันเทิงอยู่ในสวนนันทวัน
[๑๐๙๒-๑๐๙๓] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ยวปาลกวิมานที่ ๗ จบ
๘. ปฐมกุณฑลีวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้บำรุงพระสงฆ์ เรื่องที่ ๑
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๐๙๔] ท่านประดับตกแต่งร่างกาย ทัดทรงดอกไม้
ทรงพัสตราภรณ์สวยงาม ใส่ต่างหูงาม
ตัดผมโกนหนวดเรียบร้อย สวมเครื่องประดับข้อมือ
มีบริวารยศ รุ่งเรืองอยู่ในทิพย์วิมานดังดวงจันทร์
[๑๐๙๕] อนึ่ง ทวยเทพพากันมาบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
และเทพกัญญา ๖๔,๐๐๐ นางมีรูปงาม
ท่องเที่ยวไปมาอย่างสำราญในภพดาวดึงส์ มีสมบัติมากมาย
เป็นผู้ชำนาญการฟ้อนรำขับร้อง พากันมาให้ความบันเทิงอยู่
[๑๐๙๖] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๐๙๗] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๖. ปายาสิกวรรค ๙. ทุติยกุณฑลีวิมาน
[๑๐๙๘] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
ได้เห็นสมณะทั้งหลายผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
มีบริวารยศ เป็นพหูสูต บรรลุธรรมที่สิ้นตัณหา
มีจิตเลื่อมใสได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[๑๐๙๙-๑๑๐๐] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปฐมกุณฑลีวิมานที่ ๘ จบ
๙. ทุติยกุณฑลีวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้บำรุงพระสงฆ์ เรื่องที่ ๒
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๐๑] ท่านประดับตกแต่งร่างกาย ทัดทรงดอกไม้
ทรงพัสตราภรณ์สวยงาม
ใส่ต่างหูงดงาม ตัดผมโกนหนวดเรียบร้อย สวมเครื่องประดับข้อมือ
มีบริวารยศ รุ่งเรืองอยู่ในทิพวิมานดังดวงจันทร์
[๑๑๐๒] อนึ่ง ทวยเทพพากันมาบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
และเทพกัญญา ๖๔,๐๐๐ นางมีรูปงาม
ท่องเที่ยวไปมาอย่างสำราญในภพดาวดึงส์ มีสมบัติมากมาย
เป็นผู้ชำนาญการฟ้อนรำขับร้อง พากันมาให้ความบันเทิงอยู่
[๑๑๐๓] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑๐๔] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๖. ปายาสิกวรรค ๑๐. ปายาสิวิมาน
[๑๑๐๕] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
ได้เห็นสมณะทั้งหลายผู้ดีงาม ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
มีบริวารยศ เป็นพหูสูต มีศีล มีอินทรีย์ผ่องใส
จึงมีจิตเลื่อมใส ได้ถวายข้าวและน้ำ
เป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[๑๑๐๖-๑๑๐๗] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยกุณฑลีวิมานที่ ๙ จบ
๑๐. ปายาสิวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้เป็นคนรับใช้เจ้าปายาสิ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๐๘] วิมานของท่านนี้เปรียบเสมือนสุธัมมสภาของท้าวสักกเทวราช
อันเป็นสภาที่หมู่เทพนั่งประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
ส่องแสงสว่างไสวอยู่ในอากาศ
[๑๑๐๙] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑๑๐] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๑๑] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นชายหนุ่มรับใช้ของเจ้าปายาสิ ได้ทรัพย์มาแล้วก็ทำการแจกจ่าย
อนึ่ง ท่านผู้มีศีลทั้งหลายเป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑. จิตตลตาวิมาน
[๑๑๑๒-๑๑๑๓] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ปายาสิวิมานที่ ๑๐ จบ
ปายาสิกวรรคที่ ๖ จบ
รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปฐมอคาริยวิมาน ๒. ทุติยอคาริยวิมาน
๓. ผลทายกวิมาน ๔. ปฐมอุปัสสยทายกวิมาน
๕. ทุติยอุปัสสยทายกวิมาน ๖. ภิกขาทายกวิมาน
๗. ยวปาลกวิมาน ๘. ปฐมกุณฑลีวิมาน
๙. ทุติยกุณฑลีวิมาน ๑๐. ปายาสิวิมาน
จะกล่าวปุริสวิมานวรรคที่ ๒ ดังนี้
๗. สุนิกขิตตวรรค
หมวดว่าด้วยเทพบุตรผู้จัดดอกไม้ให้เป็นระเบียบ
๑. จิตตลตาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่รุ่งเรืองเหมือนสวนจิตรดา
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๑๔] สวนจิตรลดาเป็นสวนประเสริฐชั้นดีเยี่ยม
ของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ส่องแสงสว่างไสวฉันใด
วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น ส่องแสงสว่างไสวอยู่ในอากาศ
[๑๑๑๕] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๒. นันทนวิมาน
[๑๑๑๖] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาของผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๑๗] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นคนยากจน ไม่มีที่พึ่ง ยากไร้ เป็นกรรมกร
เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่า
อนึ่ง ท่านผู้มีศีลทั้งหลายเป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[๑๑๑๘-๑๑๑๙] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
จิตตลตาวิมานที่ ๑ จบ
๒. นันทนวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่รุ่งเรืองเหมือนสวนนันทวัน
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๒๐] สวนนันทวันเป็นสวนประเสริฐชั้นดีเยี่ยม
ของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ส่องแสงสว่างไสวฉันใด
วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น ส่องแสงสว่างไสวอยู่ในอากาศ
[๑๑๒๑] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑๒๒] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๒๓] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นคนยากจน ไม่มีที่พึ่ง ยากไร้ เป็นกรรมกร
เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๓. มณิถูณวิมาน
อนึ่ง ท่านผู้มีศีลทั้งหลายเป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[๑๑๒๔-๑๑๒๕] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
นันทนวิมานที่ ๒ จบ
๓. มณิถูณวิมาน
ว่าด้วยวิมานแก้วมณีที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๒๖] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๑๑๒๗] ท่านสถิต ดื่ม กินอยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันมาบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีผู้ประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๑๑๒๘-๑๑๒๙] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑๓๐] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๓๑] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
ได้สร้างที่จงกรมไว้ใกล้หนทางในป่า และปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น
อนึ่ง ท่านผู้มีศีลทั้งหลายเป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๔. สุวัณณวิมาน
[๑๑๓๒-๑๑๓๓] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
มณิถูณวิมานที่ ๓ จบ
๔. สุวัณณวิมาน
ว่าด้วยวิมานทองคำที่เกิดขึ้นแก่บุรุษ
ผู้สร้างวิหารถวายพระพุทธเจ้า
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๓๔] วิมานที่ภูเขาทองคำของท่าน มีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกส่วน
ปกคลุมด้วยข่ายทองคำ ผูกขึงข่ายกระดึงไว้
[๑๑๓๕] เสาวิมานทุกต้นแปดเหลี่ยม สร้างไว้อย่างสวยงาม
ล้วนประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ แต่ละเหลี่ยมประดับรัตนะ ๗ ประการ
[๑๑๓๖] มีพื้นน่ารื่นรมย์ใจ วิจิตรด้วยแก้วไพฑูรย์ ทองคำ
แก้วผลึก เงิน แก้วลาย แก้วมุกดา และทับทิม
[๑๑๓๗] ที่วิมานนั้นไม่มีธุลีฟุ้งขึ้น
มีหมู่จันทันสีเหลืองสร้างไว้รองรับช่อฟ้า
[๑๑๓๘] บันได ๔ บันไดสร้างไว้ ๔ ทิศ
วิมานนั้นมีห้องสำเร็จด้วยรัตนะต่าง ๆ รุ่งโรจน์ดังพระอาทิตย์
[๑๑๓๙] ที่วิมานนั้น มีไพทีอยู่ทั้ง ๔ ทิศ จัดสร้างได้สัดส่วน
ส่องแสงสว่างโชติช่วงโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ
[๑๑๔๐] ในวิมานอันประเสริฐนั้น ท่านเป็นเทพบุตรมีรัศมีรุ่งเรืองมาก
มีผิวพรรณรุ่งโรจน์อย่างยิ่ง ดังพระอาทิตย์กำลังอุทัย
[๑๑๔๑] นี้เป็นผลของทาน หรือศีล หรือการกราบไหว้ของท่าน
อาตมาถามท่านแล้ว โปรดบอกผลกรรมนั้นแก่อาตมาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๕. อัมพวิมาน
[๑๑๔๒] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๔๓] ข้าพเจ้าเลื่อมใสแล้วให้สร้างวิหารใกล้เมืองอันธกวินทะ
ถวายพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ด้วยมือของตน
[๑๑๔๔] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ได้ถวายของหอม ดอกไม้ ปัจจัย เครื่องลูบไล้
และวิหารแด่พระศาสดาที่เมืองอันธกวินทะนั้น
เพราะบุญกรรมอันเป็นเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้ผลบุญนี้
จึงมีสิทธิในสวนนันทวัน
[๑๑๔๕] ข้าพเจ้ามีหมู่เทพอัปสรฟ้อนรำขับร้องห้อมล้อม
รื่นรมย์อยู่ในสวนนันทวันอันน่ารื่นรมย์
มีหมู่นกนานาชนิดมากมาย
สุวัณณวิมานที่ ๔ จบ
๕. อัมพวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่บุรุษผู้รับจ้างรดน้ำต้นมะม่วง
ได้ถวายน้ำสรงแด่พระสารีบุตร
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๔๖] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๑๑๔๗] ท่านสถิต ดื่ม กินอยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันมาบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๕. อัมพวิมาน
[๑๑๔๘-๑๑๔๙] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑๕๐] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๕๑] เมื่อพระอาทิตย์กำลังแผดแสงในเดือนท้ายฤดูร้อน
ข้าพเจ้าเป็นคนรับจ้างรดน้ำสวนมะม่วงของคนเหล่าอื่น
[๑๑๕๒] ขณะนั้น พระสารีบุตรซึ่งเหน็ดเหนื่อยกาย
แต่ใจมิได้เหน็ดเหนื่อย ได้เดินมาทางสวนมะม่วงนั้น
[๑๑๕๓] ข้าพเจ้ากำลังรดน้ำต้นมะม่วงเห็นท่านกำลังเดินมา
จึงได้กล่าวว่า ขอโอกาสเถิดขอรับ กระผมขอนิมนต์ให้ท่านสรงน้ำ
ข้อนั้นจะนำความสุขมาให้กระผม
[๑๑๕๔] พระคุณเจ้าสารีบุตรวางบาตรจีวรไว้ เหลือผ้าสบงผืนเดียว
นั่งที่ร่มเงาโคนต้นไม้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้านั้น
[๑๑๕๕] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส นำน้ำใสมาถวายให้ท่าน
ซึ่งมีผ้าสบงผืนเดียวสรงที่ร่มเงาโคนต้นไม้
[๑๑๕๖] ต้นมะม่วงเราก็รดน้ำแล้ว สมณะเราก็ให้สรงน้ำแล้ว
และบุญมิใช่น้อยเราก็ขวนขวายแล้ว เพราะเหตุดังนี้
คนผู้นั้นจึงมีปีติซาบซ่านไปทั่วกายของตน
[๑๑๕๗] ชาตินั้น ข้าพเจ้าได้ทำกรรมมีประมาณเท่านี้นั่นเอง
ละร่างมนุษย์แล้ว มาเกิดยังสวนนันทวัน
[๑๑๕๘] ข้าพเจ้ามีหมู่เทพอัปสรฟ้อนรำขับร้องห้อมล้อม
รื่นรมย์อยู่ในสวนนันทวันอันน่ารื่นรมย์
มีหมู่นกนานาชนิดมากมาย
อัพวิมานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๖. โคปาลวิมาน
๖. โคปาลวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่คนเลี้ยงโคผู้ถวายขนมแด่ภิกษุ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๕๙] ภิกษุรูปหนึ่งเห็นเทวดาแล้ว สอบถามว่า
ท่านสวมเครื่องประดับข้อมือ มีบริวารยศ
รุ่งเรืองอยู่ในวิมานสูงซึ่งตั้งอยู่ชั่วกาลนาน
เหมือนจันทเทพบุตรรุ่งเรืองอยู่ในทิพยวิมาน
[๑๑๖๐] ท่านประดับแล้ว ทัดทรงดอกไม้ ทรงพัสตราภรณ์สวยงาม
ใส่ต่างหูงดงาม ตัดผมโกนหนวดเรียบร้อย
สวมเครื่องประดับข้อมือ มีบริวารยศ
รุ่งเรืองอยู่ในทิพยวิมานดังดวงจันทร์
[๑๑๖๑] อนึ่ง ทวยเทพพากันมาบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
และเทพกัญญา ๖๔,๐๐๐ นางมีรูปงาม
ท่องเที่ยวไปมาอย่างสำราญในภพดาวดึงส์
มีสมบัติมากมาย เป็นผู้ชำนาญการ
พากันมาฟ้อนรำขับร้อง ให้ความบันเทิงใจอยู่
[๑๑๖๒] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๑๖๓] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๖๔] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
รับจ้างเลี้ยงโคนมทั้งหลายของคนเหล่าอื่น
ต่อมามีสมณะมาหาข้าพเจ้า
และฝูงโคได้พากันไปเพื่อจะกินถั่วราชมาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๖. โคปาลวิมาน
[๑๑๖๕] อนึ่ง วันนี้ข้าพเจ้าต้องทำกิจสองอย่างควบคู่กันไป
ท่านขอรับ ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้คิดอย่างนั้นแหละ
แต่นั้นจึงกลับได้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
จึงวางห่อขนมถวายในมือพร้อมกับกราบเรียนว่า
ผมขอถวาย ขอรับ
[๑๑๖๖] ข้าพเจ้านั้นรีบรุดไปยังไร่ถั่วราชมาส
ก่อนที่ไร่ถั่วราชมาสซึ่งเป็นทรัพย์สินของเจ้าของไร่จะถูกฝูงโคทำลาย
ณ ที่นั้น งูเห่ามีพิษร้ายได้กัดเท้าข้าพเจ้าผู้กำลังรีบด่วน
[๑๑๖๗] ข้าพเจ้านั้นถูกความทุกข์เบียดเบียนบีบคั้น
และภิกษุได้แก้ห่อขนมนั้นออก
แล้วฉันขนมเพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าตายเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้วตายไปเกิดเป็นเทวดา
[๑๑๖๘] ข้าพเจ้ากระทำกุศลกรรมนั้นไว้เท่านี้
ตนเองจึงได้เสวยผลกรรมที่นำความสุขมาให้
เพราะพระคุณเจ้าอนุเคราะห์ไว้มากแล้ว
ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระคุณเจ้าด้วยความกตัญญู
[๑๑๖๙] ในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกและมารโลก
ไม่มีมุนีท่านอื่นผู้อนุเคราะห์เช่นกับพระคุณเจ้า
เพราะพระคุณเจ้าอนุเคราะห์ไว้มากแล้ว
ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระคุณเจ้าด้วยความกตัญญู
[๑๑๗๐] อนึ่ง ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกหน้า
ไม่มีมุนีท่านอื่นผู้อนุเคราะห์เช่นกับพระคุณเจ้า
เพราะพระคุณเจ้าอนุเคราะห์ไว้มากแล้ว
ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระคุณเจ้าด้วยความกตัญญู
โคปาลวิมานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๗. กัณฐกวิมาน
๗. กัณฐกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่ม้ากัณฐกะ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๗๑] ในคืนวันเพ็ญ ดวงจันทร์มีรอยรูปกระต่าย เป็นใหญ่กว่าหมู่ดาว
มีหมู่ดาวนักษัตรแวดล้อม โคจรไปโดยรอบฉันใด
[๑๑๗๒] ทิพยวิมานนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น น่าอยู่
มีรัศมีรุ่งโรจน์ในเทพบุรี เหมือนพระอาทิตย์กำลังอุทัย
[๑๑๗๓] มีพื้นน่ารื่นรมย์ วิจิตรด้วยแก้วไพฑูรย์ ทองคำ แก้วผลึก
เงิน แก้วลาย แก้วมุกดา และทับทิม
[๑๑๗๔] ลาดด้วยแก้วไพฑูรย์ ปรางค์ปราสาททั้งหลายของท่าน
งามน่ารื่นรมย์ ปราสาทซึ่งเนรมิตไว้ดีแล้ว
[๑๑๗๕] สระโบกขรณีของท่านน่ารื่นรมย์
มีหมู่มัจฉาทิพย์อาศัยอยู่เนืองแน่น
น้ำใสสะอาด มีพื้นลาดด้วยทรายทองคำ
[๑๑๗๖] ดารดาษด้วยบัวหลวงหลากชนิด บัวขาวรายล้อมอยู่รอบ
ยามลมพัด ก็โชยกลิ่นหอมระรื่นจรุงใจ
[๑๑๗๗] ทั้งสองข้างสระโบกขรณีของท่านนั้น มีพุ่มไม้เนรมิตไว้ดีแล้ว
ซึ่งประกอบด้วยไม้ดอกและไม้ผลทั้งสองอย่าง
[๑๑๗๘] เทพอัปสรทั้งหลายพากันมาบำรุงท่านผู้นั่งบนบัลลังก์เท้าทองคำ
ที่ปูลาดด้วยผ้าขนสัตว์อันอ่อนนุ่ม ดังบำรุงท้าวสักกเทวราช
[๑๑๗๙] พวกนางแต่งองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งมวล
ประดับด้วยพวงดอกไม้ต่าง ๆ บำเรอท่านผู้มีฤทธิ์มากให้รื่นรมย์
ท่านรื่นเริงบันเทิงใจ ดังท้าววสวัตดีเทวราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๗. กัณฐกวิมาน
[๑๑๘๐] ท่านมีความยินดีในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี
รื่นรมย์อยู่ด้วยกลอง สังข์ ตะโพน พิณ และบัณเฑาะว์
[๑๑๘๑] ท่านมีรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะหลายอย่าง
ล้วนเป็นทิพย์ น่ารื่นรมย์ สมความประสงค์
[๑๑๘๒] ในวิมานอันประเสริฐนั้น ท่านเป็นเทพบุตรผู้มีรัศมีรุ่งเรืองมาก
มีผิวพรรณรุ่งโรจน์ยิ่ง ดังพระอาทิตย์กำลังอุทัย
[๑๑๘๓] นี้เป็นผลของทาน หรือศีล หรือการกราบไหว้ของท่าน
อาตมาถามแล้ว ท่านโปรดบอกผลกรรมนั้นแก่อาตมาเถิด
[๑๑๘๔] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๑๘๕] ข้าพเจ้าคือพญาม้ากัณฐกะ เป็นสหชาต๑กับพระราชโอรสของ
พระเจ้าสุทโธทนะในกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานีที่อุดมของกษัตริย์ศากยวงศ์
[๑๑๘๖] คราวเมื่อพระราชโอรสพระองค์นั้นเสด็จออก
เพื่อพระโพธิญาณในเวลาเที่ยงคืน
พระองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ที่อ่อนนุ่ม มีพระนขาที่แดงปลั่ง
[๑๑๘๗] กระตุ้นข้าพเจ้า และได้รับสั่งว่า
พาไปซิ สหาย เราบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว
จักช่วยสัตว์โลกให้ข้ามโอฆสงสาร
[๑๑๘๘] เมื่อข้าพเจ้าฟังพระดำรัสนั้น มีความหรรษาร่าเริงมาก
คราวนั้นข้าพเจ้ามีใจยินดีเบิกบานรับพระดำรัส
[๑๑๘๙] พอรู้ว่าพระศากยบุตรผู้ทรงยศใหญ่ประทับนั่งบนหลังข้าพเจ้าแล้ว
ข้าพเจ้าก็บันเทิงเบิกบานใจได้นำเสด็จพระมหาบุรุษออกไป

เชิงอรรถ :
๑ เกิดวันเดียวกัน (ขุ.วิ.อ. ๑๑๘๕/๓๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๗. กัณฐกวิมาน
[๑๑๙๐] ถึงแคว้นของกษัตริย์เหล่าอื่น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น
พระมหาบุรุษนั้นก็ทรงละข้าพเจ้าและฉันนะอำมาตย์ไว้
มิได้ทรงอาลัย แล้วเสด็จหลีกไป
[๑๑๙๑] ข้าพเจ้าได้เลียพระบาททั้งสองซึ่งมีพระนขาแดงของพระองค์
และได้ร้องไห้มองดูพระมหาวีระผู้กำลังเสด็จไป
[๑๑๙๒] เพราะไม่ได้พบเห็นพระศากยบุตรผู้ทรงสิริพระองค์นั้น
ข้าพเจ้าจึงป่วยหนักแล้วตายอย่างฉับพลัน
[๑๑๙๓] ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสนั้นแหละ
ข้าพเจ้าจึงมาอยู่ครอบครองวิมานนี้
ซึ่งประกอบด้วยกามคุณทิพย์ทุกอย่าง ในเทพบุรีนี้เอง
[๑๑๙๔] อนึ่ง เพราะมีความยินดีที่ได้ฟังข่าวการบรรลุพระโพธิญาณ
เพราะมีกุศลเป็นมูลเหตุนั้นนั้นแหละ
ข้าพเจ้าก็จักบรรลุความสิ้นอาสวะได้
[๑๑๙๕] ท่านผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้าจะพึงไป
สำนักพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขอพระคุณเจ้าช่วยกราบทูลพระองค์ถึงการถวายอภิวาท
ด้วยเศียรเกล้าตามคำของข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๑๑๙๖] แม้ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าซึ่งหาบุคคลอื่นเปรียบมิได้
เพราะว่าการได้เห็นพระโลกนาถผู้คงที่หาได้ยาก
(พระสังคีติกาจารย์ได้รจนาคาถาไว้ ๒ คาถา ดังนี้ว่า)
[๑๑๙๗] กัณฐกเทพบุตรนั้นเป็นผู้กตัญญูกตเวที เข้าไปเฝ้าพระศาสดา
ฟังพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
แล้วชำระธรรมจักษุให้บริสุทธิ์๑

เชิงอรรถ :
๑ บรรลุโสดาปัตติมรรค (ขุ.วิ.อ. ๑๑๙๗/๓๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๘. อเนกวัณณวิมาน
[๑๑๙๘] ครั้นชำระทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสให้บริสุทธิ์แล้ว
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทพระศาสดาแล้วหายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง
กัณฐกวิมานที่ ๗ จบ
๘. อเนกวัณณวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่เทพบุตรผู้มีรัศมีหลากสี
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๑๙๙] ท่านมีหมู่เทพอัปสรแวดล้อม ขึ้นวิมานมีรัศมีต่าง ๆ
วิจิตรมากมาย เป็นที่ระงับความกระวนกระวายและความเศร้าโศก
บันเทิงอยู่ ดังท้าวสุนิมมิตเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดา
[๑๒๐๐] ไม่มีผู้เสมอเหมือนท่าน อนึ่ง ไม่มีใครที่ไหนยิ่งไปกว่าท่าน
ทั้งด้านบริวารยศ ด้านบุญ และด้านฤทธิ์
ทวยเทพทั้งมวลและหมู่เทพชั้นดาวดึงส์พากันมาประชุม
นอบน้อมท่าน ดังเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมดวงจันทร์
และเทพอัปสรเหล่านี้พากันมาฟ้อนรำขับร้อง
ให้ความบันเทิงใจรอบ ๆ ท่าน
[๑๒๐๑] ท่านได้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๒๐๒] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๒๐๓] ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพเจ้านั้นเป็นพระสาวก
ของพระชินเจ้าทรงพระนามว่าสุเมธ
ยังเป็นปุถุชน มิได้ตรัสรู้ บวชอยู่ ๗ พรรษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน
[๑๒๐๔] เมื่อพระชินเจ้าทรงพระนามว่าสุเมธผู้เป็นพระศาสดา
ทรงข้ามโอฆะ๑ได้แล้ว ผู้คงที่ เสด็จปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้านั้นไหว้รัตนเจดีย์ซึ่งคลุมด้วยข่ายทองคำ
แล้วได้ทำใจให้เลื่อมใสในพระสถูป
[๑๒๐๕] ข้าพเจ้ามิได้ให้ทาน ก็เพราะข้าพเจ้าไม่มีวัตถุสิ่งของที่จะให้
แต่ได้ชักชวนคนอื่น ๆ ในการให้ทานนั้นว่า
ขอเชิญท่านทั้งหลายบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
ของพระพุทธเจ้าผู้ควรบูชานั้น
ว่ากันว่า ด้วยการบูชาพระบรมสารีริกธาตุอย่างนี้
ท่านทั้งหลายละจากอัตภาพนี้แล้วจักไปสู่สวรรค์
[๑๒๐๖] ข้าพเจ้าได้ทำกุศลกรรมนั้นไว้เท่านี้
ตนเองจึงเสวยสุขอันเป็นทิพย์
บันเทิงอยู่ในท่ามกลางหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ทั้งยังไม่หมดบุญ
อเนกวัณณวิมานที่ ๘ จบ
๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่มัฏฐกุณฑลีมาณพ
ผู้ทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก่อนสิ้นใจ
(พราหมณ์ถามเทพบุตรตนนั้นว่า)
[๑๒๐๗] เจ้าประดับตกแต่งร่างกาย ใส่ต่างหูเกลี้ยง
ทัดทรงดอกไม้ มีกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง
ประคองแขนคร่ำครวญอยู่กลางป่า
เจ้าเป็นทุกข์เรื่องอะไร

เชิงอรรถ :
๑ ห้วงน้ำคือกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน
(มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรตอบว่า)
[๑๒๐๘] เรือนรถที่ทำด้วยทองคำ งามผุดผ่องเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ายังหาล้อรถทั้งคู่นั้นไม่ได้
เพราะความทุกข์นั้น ข้าพเจ้าจักยอมสละชีวิต
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๒๐๙] พ่อมาณพผู้เจริญ ล้อทองคำ ล้อแก้วมณี ล้อทองแดง
หรือล้อเงิน จงบอกข้ามา ข้าจะจัดล้อทั้งคู่ให้เจ้า
[๑๒๑๐] มาณพนั้นกล่าวแก่พราหมณ์นั้นว่า
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้งสองย่อมปรากฏในท้องฟ้านั้น
รถทองคำของข้าพเจ้าย่อมงามด้วยล้อทั้งคู่นั้น
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๒๑๑] พ่อมาณพ เจ้าโง่นัก ที่มาปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา
ข้าเข้าใจว่า เจ้าจักตายเสียเปล่า
เพราะเจ้าไม่มีทางที่จะได้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เลย
(มาณพกล่าวว่า)
[๑๒๑๒] แม้การโคจรไปมาของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังปรากฏอยู่
รัศมีก็ยังปรากฏอยู่ในวิถีทั้งสอง
ส่วนคนที่ตายไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ
เราทั้งสองผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้
ใครหนอโง่กว่ากัน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๒๑๓] พ่อมาณพ เจ้าพูดจริงแท้ เราทั้งสองผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่
ข้านี่แหละโง่กว่า ที่มาปรารถนาคนที่ตายไปแล้ว
เหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน
[๑๒๑๔] เจ้าช่วยระงับข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๒๑๕] เจ้าบรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของข้าผู้กำลังเศร้าโศก
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบที่หัวใจของข้าขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๒๑๖] พ่อมาณพ ข้าซึ่งเจ้าช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นให้แล้ว
ก็เย็นสงบแล้ว จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของเจ้า
(พราหมณ์เมื่อจะถามต่อไป จึงกล่าวว่า)
[๑๒๑๗] เจ้าเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
เจ้าเป็นใคร เป็นบุตรของใครหรือ เราจะรู้จักเจ้าได้อย่างไร
(มาณพเปิดเผยตนแก่พราหมณ์นั้นว่า)
[๑๒๑๘] ท่านเองเผาบุตรคนใดที่ป่าช้าแล้ว
คร่ำครวญร้องไห้ถึงบุตรคนใด
บุตรคนนั้นคือข้าพเจ้า ซึ่งทำกุศลกรรมแล้ว
ได้เกิดร่วมกับหมู่เทพชั้นไตรทศ
(พราหมณ์ถามว่า)
[๑๒๑๙] เมื่อเจ้าให้ทานน้อยหรือมาก ในเรือนของตน
หรือรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้น ข้าพเจ้ามิได้เห็น
เพราะกรรมอะไรเจ้าจึงไปเทวโลกได้
(มาณพตอบว่า)
[๑๒๒๐] ข้าพเจ้าป่วยเป็นไข้ ทุกข์ทรมาน
มีกายกระสับกระส่ายอยู่ในที่อยู่ของตน
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสดังธุลี
ทรงข้ามพ้นความสงสัย เสด็จไปดีแล้ว มีพระปัญญาไม่ต่ำทราม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน
[๑๒๒๑] ข้าพเจ้านั้นมีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส
ได้ทำอัญชลีกรรมแด่พระตถาคต
ครั้นทำกุศลกรรมนั้นแล้ว ได้เกิดร่วมกับหมู่เทพชั้นไตรทศ
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๒๒๒] น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแล้วหนอ
อัญชลีกรรมมีผลเป็นได้ถึงเช่นนี้
แม้ข้าพเจ้าก็มีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส
จึงขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในวันนี้นี่เอง
(มาณพกล่าวว่า)
[๑๒๒๓] ท่านจงมีจิตเลื่อมใส ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม
และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึกในวันนี้นี่แหละ
อนึ่ง ท่านจงสมาทานสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาดและด่างพร้อย
[๑๒๒๔] คือ จงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน อย่ากล่าวเท็จ อย่าดื่มน้ำเมา
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๒๒๕] เทวดาผู้น่าบูชา ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์
หวังความเกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
[๑๒๒๖] ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมอันยอดเยี่ยม
และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นเทพของนรชนเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๑๒๒๗] ข้าพเจ้าจะรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
มัฏฐกุณฑลีวิมานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
๑๐. เสริสสกวิมาน
ว่าด้วยวิมานไม้ซึกที่เกิดขึ้นแก่เจ้าปายาสิ
(พระควัมปติกล่าวว่า)
[๑๒๒๘] ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเทวดาและพวกพ่อค้า
ที่ได้มาพบกันในทะเลทรายในคราวนั้น
และขอเชิญทุกท่านฟังถ้อยคำตามที่เทวดาและพวกพ่อค้าสนทนากัน
[๑๒๒๙] ยังมีพระราชาพระนามว่าปายาสิได้เกิดร่วมกับหมู่ภุมเทวดา
มีบริวารยศ บันเทิงอยู่ในวิมานของตน
เป็นเทวดาแต่ได้มาสนทนากับพวกมนุษย์
(เสริสสกเทพบุตรถามพวกพ่อค้าด้วยคาถาว่า)
[๑๒๓๐] มนุษย์ทั้งหลาย ผู้กลัวทางคดเคี้ยว มีใจหวาดหวั่นอยู่
ในที่น่าระแวงว่ามีภัย ในป่า ในถิ่นของอมนุษย์
ในทางกันดารซึ่งมีน้ำ มีอาหารไม่เพียงพอ
เดินไปได้แสนยาก ท่ามกลางทะเลทราย
[๑๒๓๑] ในทางทะเลทรายนี้ ไม่มีผลไม้ ไม่มีเผือกมัน
ไม่มีเชื้อไฟ ในทางทะเลทรายนี้ จักหาอาหารได้แต่ที่ไหน
นอกจากฝุ่นและทรายที่แดดแผดเผาทั้งร้อนทั้งทารุณ
[๑๒๓๒] ที่นี้เป็นที่ดอน ร้อนดังแผ่นเหล็กเผาไฟ
หาความสบายมิได้ เทียบเท่านรก
สถานที่นี้เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกหยาบช้ามีปีศาจเป็นต้น
เป็นภูมิประเทศเหมือนถูกสาปไว้
[๑๒๓๓] อนึ่ง พวกท่านหวังอะไร
เพราะเหตุไรจึงไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน
ตามกันเข้ามายังประเทศถิ่นนี้พร้อมกัน
เพราะความโลภ ความกลัว หรือเพราะหลงทาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
(พวกพ่อค้าตอบว่า)
[๑๒๓๔] พวกข้าพเจ้านั้น เป็นพ่อค้าเกวียนอยู่ในแคว้นมคธและแคว้นอังคะ
ต้องการทรัพย์ หวังกำไร จึงบรรทุกสินค้ามามาก
พากันไปยังสินธุและโสวีระประเทศ
[๑๒๓๕] กลางวัน พวกข้าพเจ้าทุกคนทนความกระหายน้ำไม่ได้
ทั้งมุ่งหวังจะอนุเคราะห์สัตว์พาหนะ
จึงรีบเดินทางมาในกลางคืนซึ่งเป็นเวลาวิกาล
[๑๒๓๖] พวกข้าพเจ้านั้นไปผิดทาง จึงหลงทาง
สับสนเหมือนคนตาบอด เดินหลงเข้าไปในป่าที่ไปได้ยากแสนยาก
ท่ามกลางทะเลทราย เกิดงุนงงสงสัยไม่รู้ทิศทาง
[๑๒๓๗] ท่านที่ควรบูชา พวกข้าพเจ้าได้พบวิมานอันประเสริฐ
และตัวท่านซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนนี้
จึงหวังจะรอดชีวิตยิ่งกว่าแต่ก่อน
เพราะได้เห็นจึงพากันร่าเริง ดีใจและเบิกบานใจ
(เทพบุตรถามว่า)
[๑๒๓๘] เพราะโภคทรัพย์เป็นเหตุ พวกท่านจึงพากันไปยังทิศต่าง ๆ
คือ ฝั่งสมุทร ทะเลทราย ทางที่ต้องใช้เครือหวาย
ทางที่ต้องตอกทอย ทางที่มีแม่น้ำ และทางภูเขาที่ไปได้ยาก
[๑๒๓๙] พ่อค้าทั้งหลาย พวกท่านได้ไปยังแคว้นของพระราชาอื่น ๆ
พบเห็นผู้คนชาวต่างประเทศ
พวกเราขอฟังสิ่งอัศจรรย์ที่พวกท่านได้ยินหรือได้เห็นมา
(พวกพ่อค้าตอบว่า)
[๑๒๔๐] พ่อกุมาร สมบัติของมนุษย์ที่ผ่านมาทั้งหมด
ซึ่งอัศจรรย์กว่าวิมานของท่านแม้นี้
พวกข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นมาก่อน
วิมานของท่านซึ่งมีรัศมีไม่เลว พวกข้าพเจ้าแลดูแล้วไม่อิ่มเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
[๑๒๔๑] ที่วิมานของท่านนี้ มีสระโบกขรณีลอยอยู่ในอากาศ
มีสวนดอกไม้มากมาย มีบัวขาวมาก
มีหมู่ไม้ผลิดอกออกผลเป็นนิตย์ โชยกลิ่นหอมตลบอบอวล
[๑๒๔๒] เสาวิมานเหล่านี้เป็นเสาแก้วไพฑูรย์ สูง ๑๐๐ ศอก
ประดับด้วยแก้วผลึก แก้วประพาฬ แก้วเพทาย
และทับทิม มีรัศมีโชติช่วง
[๑๒๔๓] วิมานของท่านนี้มีเสา ๑,๐๐๐ ต้น ภายในประกอบด้วยแก้ว
ภายนอกล้อมรอบด้วยไพทีทองคำ และมุงบังอย่างดีด้วยแผ่นทองคำ
มีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้ งามอยู่บนเสาเหล่านั้น
[๑๒๔๔] วิมานของท่านนี้สว่างไสวด้วยทองชมพูนุทชั้นเยี่ยม
ทุกส่วนของวิมานเกลี้ยงเกลาดี ประกอบด้วยบันไดและพื้นน่าพอใจ
มั่นคง งดงาม มีส่วนประกอบกลมกลืน ชวนพิศอย่างยิ่ง น่าชอบใจ
[๑๒๔๕] ภายในวิมานแก้ว มีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์
ตัวท่านมีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อม
กึกก้องด้วยเสียงตะโพน เปิงมางและดุริยางค์
เป็นผู้ที่ทวยเทพนอบน้อมแล้วด้วยการชมเชยและกราบไหว้
[๑๒๔๖] ตัวท่านนั้นมีอานุภาพสุดที่จะคิด ประกอบด้วยคุณทุกอย่าง
อันหมู่เทพนารีปลุกเร้า บันเทิงอยู่ในวิมานปราสาทที่ประเสริฐ
น่ารื่นรมย์ ดังท้าวเวสวัณ บันเทิงอยู่ในนฬินีสถาน๑
[๑๒๔๗] ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นยักษ์
เป็นท้าวสักกะจอมเทพหรือเป็นมนุษย์
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่าน โปรดบอกเถิด
ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร

เชิงอรรถ :
๑ สถานที่ทรงเล่นกีฬา, สนามกีฬา (ขุ.วิ.อ. ๑๒๔๖/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
(เทพบุตรตอบว่า)
[๑๒๔๘] ข้าพเจ้าเป็นเทวดาชื่อเสรีสกะ เป็นผู้รักษาทางกันดาร
คุ้มครองทางทะเลทราย ทำตามคำสั่งของท้าวเวสวัณ
จึงดูแลรักษาประเทศถิ่นนี้อยู่
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๒๔๙] วิมานนี้ท่านได้ตามความปรารถนาหรือเกิดโดยความเปลี่ยนแปลง
ท่านทำเองหรือเทวดาทั้งหลายมอบให้
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า วิมานที่น่าชอบใจนี้ท่านได้มาอย่างไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[๑๒๕๐] วิมานนี้มิใช่ข้าพเจ้าได้ตามความปรารถนา
มิใช่เกิดโดยการเปลี่ยนแปลง
มิใช่ข้าพเจ้าทำเอง ทั้งมิใช่เทวดาทั้งหลายมอบให้
วิมานที่น่าชอบใจนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามของตน
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๒๕๑] อะไรเป็นวัตรและเป็นพรหมจรรย์ของท่าน
นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมอะไรที่ท่านสั่งสมไว้ดีแล้ว
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า วิมานนี้ท่านได้มาอย่างไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[๑๒๕๒] ข้าพเจ้าได้มีนามว่า ปายาสิ
เมื่อครั้งข้าพเจ้าครองราชสมบัติในแคว้นโกศล
ข้าพเจ้าเป็นนัตถิกทิฏฐิ๑ เป็นคนตระหนี่
มีธรรมเลวทราม และมีปกติกล่าวว่าขาดสูญ๒

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่ถือว่า ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖)
๒ ลัทธิที่ถือว่า ตายแล้วไม่เกิดอีก (ที.สี.อ. ๘๔/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
[๑๒๕๓] ได้มีสมณะนามว่า กุมารกัสสปะ เป็นพหูสูต
ผู้เลิศทางกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรไพเราะ
ครั้งนั้นท่านได้กล่าวธรรมกถาโปรดข้าพเจ้า
ได้ช่วยบรรเทาทิฏฐิที่เป็นข้าศึกทางใจ๑ของข้าพเจ้าได้
[๑๒๕๔] ข้าพเจ้าฟังธรรมกถาของท่านนั้นแล้ว ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก
งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๑๒๕๕] ข้อนั้นเป็นวัตร และเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า
นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมนั้นที่ข้าพเจ้าสั่งสมไว้ดีแล้ว
วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามนั้นนั่นเอง
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๒๕๖] ทราบมาว่า คนมีปัญญาทั้งหลายพูดแต่คำจริง
คำพูดของบัณฑิตทั้งหลายจึงไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
คนทำบุญไว้จะไปในที่ใดย่อมมีแต่สิ่งที่น่ารักน่าใคร่
บันเทิงอยู่ในที่นั้น
[๑๒๕๗] ณ ที่ใดมีความโศก ความร่ำไห้
การฆ่า การจองจำ และเหตุเกิดเรื่องเลวร้าย๒
คนทำบาปไว้ก็จะไปในที่นั้น
ไม่พ้นจากคติที่ชั่วไปได้ ไม่ว่ากาลไหน ๆ
[๑๒๕๘] พ่อกุมาร เพราะเหตุอะไรหนอ
เทพบริวารจึงเป็นเสมือนผู้ฟั่นเฟือนไปในชั่วครู่นี้
เหมือนน้ำใสถูกกวนให้ขุ่น
เพราะเหตุอะไรหนอ เทพบริวารนี้และตัวท่านจึงได้มีความโทมนัส

เชิงอรรถ :
๑ มิจฉาทิฏฐิ
๒ ความหายนะ (พินาศ) (ขุ.วิ.อ. ๑๒๕๗/๔๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
(เทพบุตรตอบว่า)
[๑๒๕๙] พ่อทั้งหลาย กลิ่นทิพย์เหล่านี้โชยกลิ่นหอมระรื่นจากป่าไม้ซึก
หอมตลบอบอวลไปทั่ววิมานนี้
กำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
[๑๒๖๐] ล่วงไป ๑๐๐ ปี ฝักไม้ซึกเหล่านี้แต่ละฝักก็จะแตกออก
เป็นที่รู้กันว่า ๑๐๐ ปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว
ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดในหมู่เทวดานี้
[๑๒๖๑] พ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้เห็นแล้วว่า
ข้าพเจ้าจักดำรงอยู่ในวิมานนี้เพียง ๕๐๐ ปีทิพย์
แล้วจึงจุติเพราะสิ้นบุญ สิ้นอายุ
ข้าพเจ้าจึงซบเซาเพราะความโศกนั้นนั่นเอง
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๑๒๖๒] ผู้ที่ได้วิมานซึ่งหาที่เปรียบมิได้เป็นเวลานานเช่นนั้น
จะพึงเศร้าโศกไปทำไมเล่า
แต่พวกผู้มีบุญน้อยเข้าอยู่วิมานชั่วเวลาสั้น ๆ
นั้นแหละควรเศร้าโศกแท้
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๑๒๖๓] พ่อทั้งหลาย ข้อที่ท่านทั้งหลายกล่าววาจาที่น่ารักกับข้าพเจ้า
นั่นเป็นการกล่าวตักเตือนอันสมควรแก่ข้าพเจ้า
ส่วนข้าพเจ้าจะตามคุ้มครองท่านทั้งหลาย
เชิญท่านทั้งหลายไปยังที่ที่ท่านทั้งหลายปรารถนาโดยความสวัสดีเถิด
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๑๒๖๔] ข้าพเจ้าทั้งหลายต้องการทรัพย์ หวังกำไร
จึงพากันไปยังสินธุและโสวีระประเทศ
แล้วจักพยายามค้าขายตามที่ตั้งใจไว้ มีการเสียสละอย่างบริบูรณ์
ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรอย่างโอฬาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น