Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๕ หน้า ๒๑๔ - ๒๖๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา


พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เปตวัตถุ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๒๘๖] เพราะกรรมนั้น นิ้วของเราจึงหงิกงอ
หน้าของเราจึงบิดเบี้ยว และนัยน์ตาทั้งสองของเราจึงเขรอะ
เราได้ทำบาปนั้นไว้
(อังกุรพาณิชถามว่า)
[๒๘๗] แน่ะบุรุษเลวทราม สมควรแล้วที่ท่านมีหน้าบิดเบี้ยว
นัยน์ตาทั้งสองจึงเขรอะ เพราะท่านได้ทำหน้างอต่อทานของผู้อื่น
[๒๘๘] ทำไม อสัยหเศรษฐีเมื่อจะให้ทาน
จึงได้มอบข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า
และที่อยู่อาศัยให้ผู้อื่นจัดแจง
[๒๘๙] เราจากที่นี้ไปถึงเมืองทวาราวดี
จักรีบบำเพ็ญทานซึ่งจะนำความสุขมาให้แก่เราแน่นอน
[๒๙๐] จักให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ สระน้ำ
และสะพานในที่ที่เดินลำบากเป็นทาน
[๒๙๑] อังกุรพาณิชนั้นกลับจากทะเลทรายนั้น
ไปถึงเมืองทวาราวดีแล้ว
เริ่มบำเพ็ญทานซึ่งจะนำความสุขมาให้ตน
[๒๙๒] ได้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ สระน้ำ
ด้วยจิตอันเลื่อมใสแล้ว
[๒๙๓] ช่างกัลบก พ่อครัวชาวมคธพากันป่าวร้องในเรือน
ของอังกุรพาณิชนั้นทั้งในเวลาเย็นทั้งในเวลาเช้าทุกวันว่า
ใครหิวจงมารับประทานตามชอบใจ
ใครกระหายจงมาดื่มตามชอบใจ
ใครจักนุ่งห่มผ้าจงมานุ่งห่มตามชอบใจ
ใครต้องการพาหนะเทียมรถจงเลือกพาหนะที่ชอบใจ
จากหมู่พาหนะเทียมรถนี้แล้วเทียมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๒๙๔] ใครต้องการร่มจงมาเอาร่มไป
ใครต้องการของหอมจงมาเอาของหอมไป
ใครต้องการดอกไม้จงมาเอาดอกไม้ไป
ใครต้องการรองเท้าจงมาเอารองเท้าไป
[๒๙๕] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข
สินธุมาณพเอ๋ย เพราะไม่เห็นเหล่าชนผู้ขอ เราจึงนอนเป็นทุกข์
[๒๙๖] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข
สินธุมาณพเอ๋ย เมื่อวณิพกมีน้อย เราจึงนอนเป็นทุกข์
(สินธุมาณพได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า)
[๒๙๗] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์
และเป็นใหญ่กว่าชาวโลกทั้งปวง พึงประทานพรแก่ท่าน
เมื่อท่านจะเลือก ท่านจะเลือกขอพรเช่นไร
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๒๙๘] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ พึงประทานพรแก่เรา
เราจะพึงขอพรว่า เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
ภักษาหารอันเป็นทิพย์และเหล่าชนผู้ขอซึ่งมีศีลพึงปรากฏขึ้น
[๒๙๙] เมื่อเราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป
ครั้นเราให้ทานนั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง
เมื่อกำลังให้ พึงยังจิตให้เลื่อมใส
ข้าพเจ้าพึงเลือกขอพรอย่างนี้กับท้าวสักกะ
(โสนกบุรุษกล่าวเตือนอังกุรพาณิชว่า)
[๓๐๐] บุคคลไม่ควรให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดแก่บุคคลอื่น
ควรให้ทานและควรรักษาทรัพย์ไว้
เพราะว่าทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
เพราะการให้ทานเกินประมาณ สกุลทั้งหลายจะล่มจม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๓๐๑] บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้เกินควร
เพราะเหตุนั้นแหละ ทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
ประเพณีแห่งการให้ทานและการไม่ให้
เป็นธรรมเนียมของบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ พึงเป็นไปโดยพอเหมาะ
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๓๐๒] ชาวเราทั้งหลาย ดีหนอ เราพึงให้ทานแน่แท้
ด้วยว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบระงับพึงคบหาเรา
เราพึงทำความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ
เปรียบเหมือนฝนตกทำที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็ม
[๓๐๓] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ
ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน
ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน
[๓๐๔] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ
ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ(บุญ)
[๓๐๕] ก่อนแต่ให้ก็มีใจดี
เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวเป็นคาถาว่า)
[๓๐๖] ในเรือนของอังกุรพาณิชผู้มุ่งบุญ
เขาให้โภชนะแก่หมู่ชนวันละ ๖๐,๐๐๐ เล่มเกวียนเป็นนิตย์
[๓๐๗] พ่อครัว ๓,๐๐๐ คนประดับด้วยต่างหูแก้วมณี
เป็นผู้ขวนขวายในการให้ทาน
พากันเข้าไปอาศัยอังกุรพาณิชเลี้ยงชีพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๓๐๘] มาณพ ๖๐,๐๐๐ คนประดับด้วยต่างหูแก้วมณี
ช่วยกันผ่าฟืนในมหาทานของอังกุรพาณิช
[๓๐๙] นารี ๑๖,๐๐๐ คนประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง
ช่วยกันบดเครื่องเทศ(สำหรับปรุงอาหาร)
ในมหาทานของอังกุรพาณิช
[๓๑๐] นารีอีก ๑๖,๐๐๐ คนประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง
ถือทัพพีเข้าไปยืนคอยรับใช้ในมหาทานของอังกุรพาณิช
[๓๑๑] อังกุรพาณิชนั้นได้ให้ของเป็นอันมาก
แก่คนจำนวนมากโดยประการต่าง ๆ
ได้ทำความเคารพและความเลื่อมใสในกษัตริย์ด้วยมือของตนบ่อย
ให้ทานโดยประการต่าง ๆ สิ้นกาลนาน
[๓๑๒] อังกุรพาณิชบำเพ็ญมหาทานให้เป็นไปแล้วตลอดเดือน
ตลอดปักษ์ ตลอดฤดู ตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดกาลนาน
[๓๑๓] อังกุรพาณิชนั้นได้ให้ทาน บูชาแล้วอย่างนี้ตลอดกาลนาน
ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์
[๓๑๔] อินทกมาณพถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแก่พระอนุรุทธเถระ
ละร่างมนุษย์แล้วได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์
[๓๑๕] แต่อินทกเทพบุตรรุ่งเรืองยิ่งกว่าอังกุรเทพบุตร
โดยฐานะ ๑๐ อย่าง คือ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๓๑๖] อายุ ยศ วรรณะ สุข และความเป็นใหญ่ยิ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า) อังกุระ
ท่านให้มหาทานสิ้นกาลนาน
มาในสำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๓๑๗] ครั้งที่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด
ประทับอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์๑
ที่โคนต้นปาริฉัตตกพฤษ์ ณ ภพดาวดึงส์
[๓๑๘] เทวดาในหมื่นโลกธาตุพากันมานั่งประชุม
เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่บนยอดเขา
[๓๑๙] ไม่มีเทวดาตนไหนมีผิวพรรณงามรุ่งเรือง
ยิ่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นงดงามรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง
[๓๒๐] ครั้งนั้น อังกุรเทพบุตรนี้อยู่ในที่ไกล ๑๒ โยชน์
จากที่พระศาสดาประทับอยู่
ส่วนอินทกเทพบุตรนั่งในที่ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รุ่งเรืองยิ่งกว่า
[๓๒๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น
อังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตร
เมื่อจะทรงประกาศพระทักขิไณยบุคคล
จึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
[๓๒๒] อังกุรเทพบุตร ท่านให้มหาทานสิ้นกาลนาน
มาในสำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก
[๓๒๓] อังกุรเทพบุตรผู้อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้อบรมพระองค์เองทรงตักเตือนแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า จะประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น
ซึ่งว่างจากพระทักขิไณยบุคคล
[๓๒๔] อินทกเทพบุตรนี้ให้ทานนิดหน่อย
รุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์
ดังดวงจันทร์รุ่งเรืองยิ่งกว่าหมู่ดาว

เชิงอรรถ :
๑ แท่นหินที่มีสีเหมือนผ้ากัมพล (สีเหลือง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ
(อินทกเทพบุตรกราบทูลว่า)
[๓๒๕] พืชแม้มากที่บุคคลหว่านลงในนาดอน
ย่อมมีผลไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ทำชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด
[๓๒๖] ทานมากมายที่บุคคลตั้งไว้ในบุคคลผู้ทุศีล
ย่อมมีผลไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ทำทายกให้ปลื้มใจ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
[๓๒๗] พืชแม้น้อยที่บุคคลหว่านลงในนาดี
เมื่อฝนตกสม่ำเสมอ ผลย่อมทำชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด
[๓๒๘] อุปการะแม้น้อยที่บุคคลทำแล้วในท่านผู้มีศีล
มีคุณความดี ผู้คงที่ บุญย่อมกลับมีผลมาก ฉันนั้นเหมือนกัน
[๓๒๙] ควรเลือกให้ทานในเขตที่บุคคลให้แล้วมีผลมาก
ทายกเลือกให้ทานแล้ว จึงไปสู่สวรรค์
[๓๓๐] ทานที่เลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญ
ทานที่ทายกให้ในพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายซึ่งยังอยู่ในมนุษยโลกนี้
ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดี
อังกุรเปตวัตถุที่ ๙ จบ
๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตมารดาของอุตตรมาณพ
[๓๓๑] นางเปรตผู้มีผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัว
เข้าไปหาภิกษุนั้นผู้อยู่ในที่พักกลางวัน
ซึ่งนั่งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
[๓๓๒] นางมีผมยาวห้อยลงมาจรดพื้นดิน
มีผมปกคลุมอยู่แล้ว
ได้กล่าวกับสมณะนั้นดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ
[๓๓๓] ตั้งแต่ดิฉันตายจากมนุษยโลกเป็นเวลา ๕๕ ปีแล้ว
ยังไม่ได้กินข้าวและดื่มน้ำเลย
ขอท่านจงให้น้ำดื่มแก่ดิฉันผู้กระหายน้ำด้วยเถิด เจ้าค่ะ
(ภิกษุนั้นกล่าวว่า)
[๓๓๔] แม่น้ำคงคานี้มีน้ำเย็น ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์
เธอจงตักน้ำจากแม่น้ำคงคานั้นดื่มเถิด จะมาขอเราทำไม
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๓๓๕] ท่านผู้เจริญ ถ้าดิฉันตักน้ำในแม่น้ำคงคาดื่มเอง
น้ำนั้นจะกลายเป็นเลือด (เพราะผลแห่งบาปกรรม)ของดิฉัน
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงขอน้ำดื่ม
(ภิกษุนั้นถามว่า)
[๓๓๖] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรน้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เธอ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๓๓๗] ดิฉันมีลูกชายคนหนึ่งชื่ออุตตระ เป็นอุบาสกมีศรัทธา
และเขาได้ถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และยาสำหรับแก้ไข้
แก่สมณะทั้งหลายด้วยความไม่พอใจของดิฉัน
[๓๓๘] ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำ ได้ด่าเขาว่า
[๓๓๙] เจ้าถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง
และยาสำหรับแก้ไข้ ด้วยความไม่พอใจของแม่
[๓๔๐] เจ้าอุตตระ สิ่งนั้นจงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เจ้าในปรโลก
เพราะผลกรรมนั้นน้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ดิฉัน
อุตตรมาตุเปติวัตถุที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๑. สุตตเปตวัตถุ
๑๑. สุตตเปตวัตถุ
เรื่องหญิงผู้ถวายด้ายได้ไปอยู่กับเปรต
(หญิงคนหนึ่งไปอยู่กับเวมานิกเปรตเป็นเวลา ๗๐๐ ปี เกิดความเบื่อหน่าย
จึงกล่าวกับเวมานิกเปรตนั้นว่า)
[๓๔๑] เมื่อก่อน ฉันได้ถวายด้ายแก่ภิกษุซึ่งเข้าไปขอถึงเรือนของฉัน
ฉันได้เสวยวิบากซึ่งเป็นผลแห่งการถวายด้ายนั้น
อนึ่ง ผ้ามากมายหลายโกฏิบังเกิดมีแก่ฉัน
[๓๔๒] วิมานของฉันดารดาษไปด้วยดอกไม้ น่ารื่นรมย์ แสนจะงดงาม
ทั้งเทพบุตรเทพธิดาพากันมาชมไม่ขาดสาย
ฉันเลือกใช้สอยนุ่งและห่มตามปรารถนาถึงเพียงนี้
สรรพวัตถุซึ่งเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมากมายก็ยังไม่สิ้นไป
[๓๔๓] ฉันได้รับความสุขและความสำราญในวิมานนี้
เพราะอาศัยวิบากแห่งกรรมนั้นเอง
กลับไปยังมนุษยโลกแล้วจักทำบุญให้มากขึ้น
ลูกเจ้า ขอเจ้าจงนำฉันกลับไปยังมนุษยโลกเถิด
(เวมานิกเปรตกล่าวว่า)
[๓๔๔] ท่านมาอยู่ในวิมานนี้กว่า ๗๐๐ ปี เป็นคนแก่เฒ่าแล้ว
จะไปอยู่ในมนุษยโลกทำไม อนึ่ง ญาติของท่านตายไปหมดแล้ว
ท่านจากเปตโลกนี้ไปยังมนุษยโลกนั้นแล้วจักทำอะไรได้
(หญิงนั้นกล่าวว่า)
[๓๔๕] เมื่อฉันอยู่ที่วิมานนี้ ๗ ปี๑ ได้เสวยทิพสมบัติและความสุข
อิ่มหนำแล้วกลับไปยังมนุษยโลกตามเดิม จักทำบุญให้มาก
ลูกเจ้า ขอท่านจงนำฉันไปส่งยังมนุษยโลกเถิด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ๗ ปี ในที่นี้หมายถึง ๗๐๐ ปี นั้นเอง เพราะผู้ที่เสวยความสุขอันเป็นทิพย์ ย่อมไม่กำหนด
วันเวลาที่ผ่านไป (ขุ.เป.อ. ๓๔๕/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[๓๔๖] เวมานิกเปรตนั้นจับแขนหญิงนั้น
นำกลับไปส่งยังบ้านที่นางเกิดและเจริญวัย
แล้วพูดกับหญิงนั้นซึ่งกลายเป็นหญิงแก่มีกำลังน้อยที่สุดว่า
เธอจงบอกชนแม้อื่นในที่นี้ว่า
ท่านทั้งหลายจงทำบุญจะได้รับความสุข
[๓๔๗] มนุษย์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อนเหมือนเปรตทั้งหลายที่เราเห็นแล้ว
เดือดร้อนอยู่เพราะไม่ได้ทำกรรมดีไว้
ก็หมู่สัตว์คือเทวดาและมนุษย์ทำกรรมมีสุขเป็นวิบากแล้ว
เป็นผู้ดำรงอยู่ในความสุข
สุตตเปตวัตถุที่ ๑๑ จบ
๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตผู้ถูกสุนัขกัณณมุณฑกัดกินเนื้อ
(พระเจ้าพาราณสีตรัสถามนางเวมานิกเปรตว่า)
[๓๔๘] สระโบกขรณีมีน้ำใสเย็น มีบันไดทองคำ
มีพื้นดาดด้วยทรายทองคำ
ในสระโบกขรณีนั้นมีต้นไม้สวยงาม มีกลิ่นหอมยวนใจ
[๓๔๙] ดาดดื่นไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์
ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ
ดารดาษไปด้วยบัวนานาชนิด รายล้อมไปด้วยบัวขาว
[๓๕๐] มีกลิ่นหอมเจริญใจ
ยามต้องลมรำเพยพัดก็โชยกลิ่นหอมระรื่นฟุ้งขจรไป
ระงมไปด้วยเสียงหงส์และนกกะเรียน
นกจักรพาก๑มาส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ

เชิงอรรถ :
๑ นกชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[๓๕๑] ขวักไขว่ไปด้วยฝูงทิชาชาติ๑นานาชนิด
มีเสียงร้องของนกนานาชนิด ไพเราะจับใจ
มีไม้ผล ไม้ดอกนานาพันธุ์
[๓๕๒] ไม่มีเมืองใดในมนุษย์เหมือนเมืองของท่านนี้
ปราสาทของท่านมีมาก สำเร็จแล้วด้วยทองคำและเงิน
ส่องแสงสว่างโชติช่วงโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ
[๓๕๓] ทาสี ๕๐๐ คน ประดับด้วยกำไลทองคำ
นุ่งห่มผ้าทองคำ คอยบำเรอท่าน
[๓๕๔] ท่านมีบัลลังก์ทองคำและเงินจำนวนมาก
ปูลาดด้วยหนังชะมดและผ้าโกเชาว์๒ ที่เขาจัดเตรียมไว้แล้ว
[๓๕๕] ท่านจะเข้าบรรทมบนบัลลังก์ใดก็สำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง
เมื่อถึงเที่ยงคืน ท่านลุกจากบัลลังก์นั้นไป
[๓๕๖] ลงไปสู่สวนรอบสระโบกขรณี
ยืนอยู่ที่ริมสระนั้นซึ่งมีหญ้าเขียวอ่อนนุ่ม
[๓๕๗] ทันใดนั้น สุนัขชื่อกัณณมุณฑกะก็ขึ้นมาจากสระนั้น
กัดอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน
เมื่อใดท่านถูกสุนัขกัดกินเหลือแต่ร่างกระดูก
เมื่อนั้น ท่านจึงลงสู่สระโบกขรณี
ร่างกายก็กลับเป็นเหมือนเดิม
[๓๕๘] ภายหลังจากเวลาที่ลงสระโบกขรณี
ท่านกลับมีอวัยวะน้อยใหญ่บริบูรณ์ งดงาม ดูน่ารัก
นุ่งห่มผ้า มาสู่สำนักเรา

เชิงอรรถ :
๑ นก ได้ชื่อว่า ทิชาชาติ เพราะเกิด ๒ หน คือ คลอดจากท้องมารดาเป็นฟองไข่หนหนึ่ง และถูกฟักจน
คลอดเป็นตัวอีกหนหนึ่ง
๒ พรมที่ทำด้วยขนแกะที่มีขนยาว (ขุ.เป.อ. ๓๕๔/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[๓๕๙] เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร
สุนัขกัณณมุณฑกะจึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน
(นางเวมานิกเปรตกราบทูลว่า)
[๓๖๐] มีคหบดีคนหนึ่ง เป็นอุบาสก มีศรัทธา อยู่ในเมืองกิมพิลา
หม่อมฉันเป็นภรรยาของเขา เป็นคนทุศีล ประพฤตินอกใจเขา
[๓๖๑] เมื่อหม่อมฉันประพฤตินอกใจเขา
สามีจึงพูดดังนี้ว่า การที่เธอประพฤตินอกใจฉันแล้วปกปิดไว้
เป็นการไม่เหมาะ ไม่สมควร
[๓๖๒] และหม่อมฉันนั้นได้กล่าวเท็จสาบานอย่างร้ายแรงว่า
ฉันไม่ได้ประพฤตินอกใจท่านทางกายหรือทางใจ
[๓๖๓] ถ้าฉันประพฤตินอกใจท่านทางกายหรือทางใจ
ขอให้สุนัขกัณณมุณฑกะตัวนี้จงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของฉันเถิด
[๓๖๔] ผลกรรมชั่วและการกล่าวเท็จทั้งสองนั้น
หม่อมฉันได้เสวยแล้วเป็นเวลา ๗๐๐ ปี
เพราะกรรมอันชั่วช้าสุนัขกัณณมุณฑกะ
จึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของหม่อมฉัน
[๓๖๕] ขอเดชะพระองค์ผู้ประเสริฐ
พระองค์ทรงมีอุปการะแก่หม่อมฉันมาก
เสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันพ้นแล้วจากสุนัขกัณณมุณฑกะ
หายโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
[๓๖๖] ขอเดชะ หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์
ขอประนมอัญชลีวิงวอนว่า ขอพระองค์จงเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์
รื่นรมย์อยู่กับหม่อมฉันเถิดเพคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๖๗] ฉันเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์และรื่นรมย์กับเธอแล้ว
เชิญเถิดนางงาม ฉันอ้อนวอนเธอ
ขอจงรีบนำฉันกลับเถิด
กัณณมุณฑเปติวัตถุที่ ๑๒ จบ
๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
เรื่องพระนางอุพพรีกับเปรต
[๓๖๘] พระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ
เมื่อวันคืนล่วงไป ๆ พระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว
[๓๖๙] พระนางอุพพรีมเหสีของพระองค์
เสด็จไปยังพระเมรุมาศแล้วทรงกรรแสงอยู่
เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัต ก็ทรงกรรแสงว่า พรหมทัต ๆ
[๓๗๐] อนึ่งดาบส๑ ผู้เป็นมุนี สมบูรณ์ด้วยจรณะ ได้มาที่นั้น
และได้ถามชนทั้งหลายที่มาประชุมกันในที่นั้นว่า
[๓๗๑] นี่เป็นเมรุมาศของใครซึ่งตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ
หญิงนี้เป็นภรรยาของใคร เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่
ซึ่งเสด็จจากมนุษยโลกนี้ไปไกล
คร่ำครวญอยู่ว่า พรหมทัต ๆ
[๓๗๒] ฝ่ายชนที่มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นตอบว่า
ท่านผู้เจริญ ผู้นิรทุกข์ นี่เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัต
หญิงนี้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้บำเพ็ญเพียรเผากิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
[๓๗๓] นี่เป็นพระเมรุมาศของท้าวเธอ
ซึ่งตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ
หญิงนี้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ
เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตพระราชสวามี
ซึ่งเสด็จจากมนุษยโลกนี้ไปไกล
จึงทรงกรรแสงอยู่ว่า พรหมทัต ๆ
(ดาบสจึงทูลถามว่า)
[๓๗๔] พระราชาผู้มีพระนามว่าพรหมทัต ๘๖,๐๐๐ พระองค์
ถูกเผาในป่าช้านี้
บรรดาพระเจ้าพรหมทัตเหล่านั้น
พระนางทรงกรรแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตองค์ไหน
(พระนางอุพพรีตรัสตอบว่า)
[๓๗๕] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชา
ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี
เป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ ซึ่งเป็นพระราชสวามี
ทรงประทานสิ่งของที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
(ดาบสทูลถามว่า)
[๓๗๖] พระราชาทุกพระองค์ทรงพระนามว่าพรหมทัตเหมือนกันทั้งหมด
เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี
ทรงเป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ
[๓๗๗] พระนางเป็นพระมเหสีของพระราชาเหล่านั้นทุกพระองค์โดยลำดับ
เหตุไรจึงละเว้นพระราชาองค์ก่อน ๆ เสีย
แล้วมาเศร้าโศกถึงพระราชาองค์สุดท้ายเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
(พระนางอุพพรีตรัสตอบว่า)
[๓๗๘] ท่านผู้นิรทุกข์ ตลอดเวลาอันยาวนาน
ดิฉันเกิดเป็นสตรีเท่านั้น(ไม่เคยเกิดเป็นบุรุษบ้างหรือ)
ท่านพูดถึงแต่การที่ดิฉันเป็นสตรี
ในการเวียนว่ายตายเกิดเป็นอันมาก
(ดาบสทูลตอบว่า)
[๓๗๙] บางคราวพระนางเกิดเป็นสตรี
บางคราวเกิดเป็นบุรุษ
บางคราวเกิดเป็นปศุสัตว์
ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายที่ผ่านมาที่เข้าถึงความเป็นหญิงเป็นต้นนั้น
ย่อมไม่ปรากฏอย่างนี้
(พระนางอุพพรีตรัสว่า)
[๓๘๐] ท่านช่วยรดดิฉันผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๓๘๑] ผู้ที่ช่วยให้ดิฉันผู้กำลังเศร้าโศกถึงพระสวามีให้บรรเทาลงได้
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศกที่เสียบหทัยของดิฉันแล้วหนอ
[๓๘๒] พระมหามุนี ดิฉันซึ่งท่านถอนลูกศรคือความโศกได้แล้ว
ก็เย็นสงบ ไม่เศร้าโศก ไม่กรรแสงอีก
เพราะได้ฟังคำของท่าน
[๓๘๓] พระนางอุพพรีฟังคำสุภาษิตของดาบสผู้เป็นสมณะนั้นแล้ว
ถือบาตรจีวรออกบวชเป็นบรรพชิต
[๓๘๔] ครั้นออกบวชแล้วเป็นผู้สงบ เจริญเมตตาจิต
เพื่อบังเกิดในพรหมโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ[๒. อุพพริวรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
[๓๘๕] พระนางเมื่อเที่ยวจากบ้านหนึ่งไปยังบ้านหนึ่ง
ไปยังนิคมและราชธานีทั้งหลาย
ได้เสด็จสวรรคตที่บ้านอุรุเวลา
[๓๘๖] พระนางเบื่อหน่ายการเกิดเป็นหญิง
เจริญเมตตาจิตเพื่อบังเกิดในพรหมโลก
จึงได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว
อุพพรีเปตวัตถุที่ ๑๓ จบ
อุพพริวรรคที่ ๒ จบ
รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังสารโมจกเปติวัตถุ ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
๓. มัตตาเปติวัตถุ ๔. นันทาเปติวัตถุ
๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ ๖. กัณหเปตวัตถุ
๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ ๘. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
๙. อังกุรเปตวัตถุ ๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ
๑๑. สุตตเปตวัตถุ ๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
๓. จูฬวรรค
หมวดเล็ก
๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้เดินทวนกระแสน้ำอันไหลไม่ขาดสาย
(โกลิยมหาอำมาตย์ของพระเจ้าพิมพิสาร ถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๓๘๗] ท่านเปลือยกาย เหมือนกับเปรตครึ่งท่อน
ทัดทรงดอกไม้ ตกแต่งร่างกาย
เดินอยู่ในที่นี้ ซึ่งมีน้ำในแม่น้ำคงคาไหลไม่ขาดสาย
ท่านจักไปไหนนะเปรต ท่านอยู่ประจำที่ไหน
(พระสังคีติกาจารย์กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๓๘๘] เปรตนั้นกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักไปยังบ้านจุนทัฏฐิละ
ซึ่งอยู่ในระหว่างวาสภคามกับกรุงพาราณสี
[๓๘๙] อนึ่งมหาอำมาตย์ซึ่งปรากฏชื่อว่า โกลิยะ เห็นเปรตนั้นแล้ว
จึงได้ให้ข้าวสัตตุ๑และผ้าสีเหลืองคู่หนึ่งแก่เปรต
[๓๙๐] เมื่อเรือหยุด ได้สั่งให้สิ่งของเหล่านั้นแก่อุบาสกผู้เป็นช่างกัลบก
ผ้านุ่งผ้าห่มก็ปรากฏแก่เปรตทันที
ในขณะที่มหาอำมาตย์ได้ให้ผ้าคู่หนึ่งแก่อุบาสกซึ่งเป็นช่างกัลบก
[๓๙๑] ลำดับนั้น เปรตนั้นนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
ทัดทรงดอกไม้ ตกแต่งร่างกายอย่างสวยงาม
ทักษิณาย่อมสำเร็จแก่เปรตผู้ดำรงอยู่ในฐานะ๒
เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงให้ทานบ่อย ๆ เพื่ออนุเคราะห์เปรตทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ข้าวตู คือข้าวตากคั่วแล้วตำเป็นผงเคล้ากับน้ำตาลและมะพร้าว (ขุ.เป.อ. ๓๘๙/๑๘๑)
๒ เปรตที่อยู่ในฐานะที่จะรับส่วนบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ เช่น ขุปปิปาสิกเปรต เปรตที่หิวกระหายอยู่เป็นนิตย์
วันตาสเปรต เปรตที่กินน้ำมูกน้ำลายที่เขาบ้วนทิ้งแล้ว ปรทัตตูปชีวิเปรต เปรตที่อาศัยอาหารที่คนอื่น
เขาให้ นิชฌามตัณหิกเปรต เปรตที่ถูกตัณหาแผดเผา เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๑๒/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
[๓๙๒] เปรตเหล่าอื่นบางพวกนุ่งผ้าขี้ริ้วขาดรุ่งริ่ง
บางพวกนุ่งเส้นผม หลีกไปยังทิศน้อยใหญ่เพื่อหาอาหาร
[๓๙๓] บางพวกวิ่งไปแม้ในที่ไกล กลับมาโดยไม่ได้อะไรเลย
บางพวกหิวจัดจนเป็นลมล้มสลบกลิ้งไปบนพื้นดิน
[๓๙๔] บางพวกไม่ได้ทำความดีไว้ในชาติก่อน ไม่ได้อะไรเลย
ล้มกลิ้งบนพื้นดินเหมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
ประสบความเดือดร้อน คร่ำครวญว่า
[๓๙๕] ในชาติก่อน พวกเราเป็นหญิงแม่เรือน
เป็นมารดาทารกในตระกูล เป็นคนมีบาป
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ไม่ได้ทำที่พึ่งให้แก่ตน
[๓๙๖] แม้ข้าวและน้ำมีมากแต่เราไม่ได้แจกจ่ายให้ทาน
และไม่ได้ถวายอะไรแก่บรรพชิตผู้ปฏิบัติชอบ
[๓๙๗] อยากทำแต่กรรมที่คนดีไม่พึงทำ เป็นคนเกียจคร้าน
ใคร่แต่ความสำราญและกินจุ
แม้ผู้ที่ให้ก้อนข้าวปฏิคาหกเพียงคำหนึ่ง ตนก็ยังด่า
[๓๙๘] เรือน คนรับใช้ชายหญิง
และผ้าอาภรณ์เหล่านั้นเป็นของพวกเรา
แต่คนเหล่าอื่นเอาไปใช้สอย
พวกเราจึงประสบแต่ทุกข์
[๓๙๙] ช่างจักสานก็ดี ช่างหนังก็ดี
คนประทุษร้ายมิตรก็ดี คนจัณฑาลก็ดี
คนกำพร้าก็ดี ช่างกัลบกก็ดี มักถูกดูหมิ่นอยู่ร่ำไป
[๔๐๐] เปรตทั้งหลายจุติจากเปตวิสัยแล้ว
ย่อมเกิดในตระกูลเหล่านั้น ซึ่งเป็นตระกูลต่ำและขัดสน
นี้เป็นที่เกิดสำหรับคนตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
[๔๐๑] ส่วนคนทั้งหลายทำความดีไว้ในชาติปางก่อน
มีปกติให้ ปราศจากความตระหนี่
พวกเขาย่อมทำสวรรค์ให้เต็มบริบูรณ์
และเปล่งรัศมีสว่างไสวทั่วนันทวัน
[๔๐๒] บริโภคกามคุณตามความปรารถนา
รื่นรมย์ในเวชยันตปราสาท จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
ย่อมเกิดในตระกูลสูง มีโภคสมบัติมาก
[๔๐๓] คือ เกิดในตระกูลแห่งบุคคลผู้มีบริวารยศ
ซึ่งมีคนถือพัดแววหางนกยูง
คอยพัดอยู่บนบัลลังก์ที่ปูลาดด้วยผ้าขนสัตว์
ในเรือนยอดและปราสาทราชมนเทียร
[๔๐๔] (ในเวลาเป็นทารก) ก็ทัดทรงดอกไม้ ตบแต่งร่างกาย
หมู่ญาติและพี่เลี้ยงนางนมผลัดกันอุ้ม
เหล่าพี่เลี้ยงนางนมปรารถนาความสุข พากันบำรุงอยู่ทั้งเช้าและเย็น
[๔๐๕] ป่าใหญ่ของเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ซึ่งปราศจากความเศร้าโศก
น่ารื่นรมย์ยินดี เป็นสถานที่ซึ่งดิฉันได้แล้วนี้
ย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ไม่ได้ทำบุญไว้ แต่ย่อมมีแก่ผู้ที่ทำบุญไว้เท่านั้น
[๔๐๖] ส่วนผู้ที่ไม่ได้ทำบุญไว้
ย่อมไม่มีความสุขทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า
แต่ผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว
ย่อมมีความสุขทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า
[๔๐๗] ผู้ปรารถนาจะอยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์เหล่านั้น
ต้องทำบุญกุศลไว้ให้มาก เพราะว่าเหล่าชนผู้ทำบุญไว้แล้ว
ย่อมเพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติ ร่าเริงบันเทิงอยู่ในสวรรค์
อภิชชมานเปตวัตถุที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
เรื่องเปรตญาติของพระสานุวาสีเถระ
[๔๐๘] พระเถระชาวกุณฑินครรูปหนึ่งซึ่งอยู่ประจำที่ภูเขาสานะ
มีชื่อว่า โปฏฐปาทะ เป็นผู้สงบ อบรมอินทรีย์แล้ว
[๔๐๙] มารดา บิดา พี่ชายของท่านตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงไปเกิดในเปตโลก
[๔๑๐] เปรตเหล่านั้นตกยาก มีร่างกายเศร้าหมอง
อึดอัดด้วยของบูดเน่า ลำบากยิ่งนัก
เปลือยกาย ซูบผอม สะดุ้งหวาดเสียวมาก
ทำงานหนัก ไม่กล้าปรากฏตัว
[๔๑๑] เปรตพี่ชายของท่านเพียงคนเดียวกล้าเปลือยกาย
คลานไปแสดงตนแก่พระเถระในทางเปลี่ยว
[๔๑๒] ฝ่ายพระเถระก็ไม่ได้ใส่ใจถึง
เดินผ่านไปอย่างสงบ
เปรตนั้นจึงบอกให้พระเถระรู้ว่า
ข้าพเจ้าคือพี่ชายของท่าน ซึ่งไปเกิดในเปตโลก
[๔๑๓] ท่านผู้เจริญ มารดาบิดาของท่านตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงต้องไปเกิดในเปตโลก
[๔๑๔] เปรตมารดาบิดาของท่านเหล่านั้นตกยาก มีร่างกายเศร้าหมอง
อึดอัดด้วยของบูดเน่า ลำบากยิ่งนัก
เปลือยกาย ซูบผอม สะดุ้ง หวาดเสียวมาก
ทำงานหนัก ไม่กล้าปรากฏตัว
[๔๑๕] ขอท่านกรุณาอนุเคราะห์ให้ทานอุทิศส่วนกุศลให้พวกเรา
พวกเปรตที่ทำงานหนักจักเป็นอยู่ได้ด้วยทานที่ท่านให้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
[๔๑๖] พระเถระและภิกษุอื่นอีก ๑๒ รูป เที่ยวบิณฑบาตแล้ว
กลับมาประชุมกัน เพราะต้องทำภัตกิจ๑ร่วมกัน
[๔๑๗] พระเถระกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้งหมดว่า
ขอท่านทั้งหลายจงให้ภัตตาหารตามที่ได้มาแก่ผมเถิด
ผมจักทำสังฆภัต๒เพื่ออนุเคราะห์ญาติทั้งหลาย
[๔๑๘] ภิกษุเหล่านั้นจึงมอบถวายพระเถระ
พระเถระจึงนิมนต์สงฆ์มาแล้วถวายทาน
ครั้นถวายแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย
คือ มารดา บิดา และพี่ชายของเรา
ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขเถิด
[๔๑๙] ในลำดับที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
โภชนะสะอาด ประณีต สมบูรณ์ พร้อมด้วยกับมีรสต่าง ๆ
ก็เกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้น
[๔๒๐] หลังจากที่ได้ของกินนั้น
เปรตผู้เป็นพี่ชายมีผิวพรรณดี มีกำลัง
มีความสุข ก็มาแสดงตนกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ ดูเอาเถิด โภชนะมีมากมาย
แต่พวกเรายังเปลือยกายอยู่
ขอท่านจงพยายามที่จะให้พวกเราได้ผ้านุ่งผ้าห่มเถิด
[๔๒๑] พระเถระเลือกเก็บผ้าเก่าจากกองขยะ
เย็บผ้าเก่าให้เป็นจีวร แล้วได้ถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔

เชิงอรรถ :
๑ การฉันภัตตาหารร่วมกัน
๒ ถวายอาหารแก่สงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
[๔๒๒] ครั้นถวายแล้ว ได้อุทิศส่วนกุศลให้ว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย
คือ มารดา บิดา และพี่ชายของเรา
ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขเถิด
[๔๒๓] ในขณะที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั่นเอง
ผ้าทั้งหลายก็เกิดมีแก่เปรตเหล่านั้น
หลังจากได้ผ้าแล้ว เปรตผู้เป็นพี่ชายนุ่งห่มผ้าสวยงาม
มีผิวพรรณดี มีกำลัง มีความสุข
ได้มาแสดงตนแก่พระเถระกล่าวว่า
[๔๒๔] ท่านผู้เจริญ ผ้านุ่งผ้าห่มของพวกเรา
มีมากกว่าผ้าที่มีในแคว้นของพระเจ้านันทราช
[๔๒๕] คือ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย
ผ้าแม้เหล่านั้นเหลือเฟือและมีค่ามากห้อยอยู่ในอากาศนั่นเอง
[๔๒๖] พวกเราเลือกนุ่งห่มเฉพาะผืนที่พอใจ
ขอท่านจงพยายามที่จะให้พวกเราได้บ้านเรือนเถิด
[๔๒๗] พระเถระสร้างกุฎีใบไม้แล้วได้ถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔
ครั้นถวายแล้วได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ว่า
ขอผลแห่งบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย
คือ มารดา บิดาและพี่ชายของเรา
ขอพวกญาติจงมีความสุขเถิด
[๔๒๘] ในขณะที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั่นเอง
เรือนทั้งหลาย คือ ปราสาท และที่อยู่อาศัยอย่างอื่น
ซึ่งจัดสร้างไว้เป็นสัดส่วน ก็เกิดขึ้น
[๔๒๙] เรือนในหมู่มนุษย์หาเป็นเช่นเรือนของพวกเราในเปตโลกนี้ไม่
เรือนของพวกเราในเปตโลกนี้เหมือนเรือนในหมู่เทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
[๔๓๐] เปล่งรัศมีรุ่งเรืองไปโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ
ขอท่านจงพยายามที่จะให้พวกเราได้น้ำดื่มเถิด
[๔๓๑] พระเถระจึงตักน้ำเต็มธมกรกแล้ว
ได้ถวายสงฆ์ซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔
ครั้นถวายแล้วได้อุทิศส่วนกุศลให้ว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่พวกญาติของเรา
คือ มารดา บิดา และพี่ชาย
ขอพวกญาติของเราจงมีความสุขเถิด
[๔๓๒] ในขณะที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั่นเอง
น้ำดื่มก็เกิดขึ้นเป็นสระโบกขรณีมีรูปสี่เหลี่ยม ลึก
ซึ่งบุญกรรมจัดสร้างไว้ดีแล้ว
[๔๓๓] มีน้ำเย็น มีท่าราบเรียบ เย็นสบาย
มีกลิ่นหอมหาที่เปรียบมิได้ ดารดาษด้วยดอกปทุมและอุบล
ผิวน้ำเต็มด้วยละอองเกสร
[๔๓๔] เปรตเหล่านั้นอาบและดื่มกินในสระนั้นแล้ว
แสดงตนแก่พระเถระ กล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ น้ำดื่มของพวกเรามีมากเพียงพอแล้ว
บาปย่อมเผล็ดผลเป็นทุกข์แก่พวกเรา
[๔๓๕] เมื่อพวกเราเที่ยวไป
ต้องเดินเขยกไปบนก้อนกรวดและหน่อหญ้าคา
ขอท่านจงพยายามที่จะให้พวกเราได้ยานเถิด
[๔๓๖] พระเถระได้รองเท้าแล้ว ได้ถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔
ครั้นถวายแล้วได้อุทิศส่วนกุศลให้ว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่พวกญาติ
คือ มารดา บิดา และพี่ชายของเรา
ขอพวกญาติของเราจงมีความสุขเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๓. รถการเปติวัตถุ
[๔๓๗] ในขณะที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
เปรตทั้งหลายได้มาปรากฏพร้อมกับรถ
แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ
พวกเราได้รับอนุเคราะห์ด้วยอาหาร ผ้านุ่งผ้าห่ม
[๔๓๘] บ้านเรือน ด้วยการให้น้ำดื่ม และยานทั้งสอง
เพราะฉะนั้น พวกเราจึงมาเพื่อไหว้ท่าน
ผู้เป็นมุนีมีความกรุณาในโลก
สานุวาสีเถรเปตวัตถุที่ ๒ จบ
๓. รถการเปติวัตถุ
เรื่องนางเวมานิกเปรตผู้อาศัยอยู่ที่สระรถการ
(มาณพคนหนึ่งถามนางเวมานิกเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔๓๙] นางเทวีผู้มีอานุภาพมาก
เธอขึ้นวิมานที่มีเสาแก้วไพฑูรย์งามผุดผ่อง
แสนจะงดงาม สถิตอยู่ในวิมานนั้น
ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญเด่นอยู่บนท้องฟ้า
[๔๔๐] เธอมีรัศมีเรืองรองดังทองคำ
มีรูปโฉมเลอเลิศ น่าดูน่าชมยิ่งนัก
นั่งอยู่แต่ผู้เดียวบนบัลลังก์อันประเสริฐสุด มีค่ามาก
เธอไม่มีสามีหรือ
[๔๔๑] สระโบกขรณีของเธอเหล่านี้
โดยรอบมีดอกไม้ต่าง ๆ อยู่มาก มีบัวขาวมาก
โดยรอบลาดด้วยทรายทองคำ
ในสระโบกขณีนั้นหาเปือกตมและจอกแหนมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๓. รถการเปติวัตถุ
[๔๔๒] และมีฝูงหงส์น่าดูน่าชม น่ารื่นรมย์ใจ
ว่ายเวียนอยู่ในน้ำไม่ขาดสาย
ทั้งหมดมีเสียงไพเราะ
พากันมาชุมนุมส่งเสียงร้องอย่างไพเราะดังเสียงกลอง
[๔๔๓] เธอรุ่งเรืองด้วยเทวฤทธิ์
มีบริวารยศ ยืนพิงอยู่ในเรือ
เธอผู้มีคิ้วโก่งดำสนิท
มีหน้ายิ้มแย้ม พูดจาน่ารัก
มีอวัยวะทุกส่วนงาม รุ่งเรืองยิ่งนัก
[๔๔๔] วิมานนี้ปราศจากธุลี
ตั้งอยู่บนภาคพื้นราบเรียบ
มีสวนป่าซึ่งชวนให้ยินดีเพลิดเพลินเจริญใจ
แน่ะนารีผู้มองแล้วไม่เบื่อ
เราปรารถนาที่จะอยู่บันเทิงร่วมกับเธอในสวนนันทวันของเธอนี้
(นางเวมานิกเปรตกล่าวว่า)
[๔๔๕] ท่านจงทำกรรมซึ่งจะให้ท่านได้เสวยผลในวิมานของฉันนี้
และจิตของท่านจงน้อมมาในวิมานนี้ด้วย
ท่านครั้นทำกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ได้เสวยผลในวิมานนี้แล้ว
จักได้ฉันผู้จะทำให้ท่านสมความปรารถนาได้ด้วยประการอย่างนี้
[๔๔๖] มาณพนั้นรับคำนางเวมานิกเปรตนั้นแล้ว
จึงได้ทำกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ได้เสวยผลในวิมานนั้น
แล้วก็ได้อยู่ร่วมกับนางเวมานิกเปรตนั้น
รถการเปติวัตถุที่ ๓ จบ
ภาณวารที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๔. ภุสเปตวัตถุ
๔. ภุสเปตวัตถุ
เรื่องเปรตกอบแกลบ
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้ถามถึงบุพกรรมของเปรตทั้ง ๔ ตน ด้วยคาถา
เหล่านี้ว่า)
[๔๔๗] ท่านทั้ง ๔ ตนนี้
ตนหนึ่งกอบเอาแกลบข้าวสาลีที่ไฟกำลังลุกโชน
โปรยใส่ศีรษะของตนเอง
อีกตนหนึ่งเอาฆ้อนเหล็กทุบศีรษะตนเองจนศีรษะแตก
ส่วนตนนี้เป็นหญิงกินเนื้อส่วนหลังและโลหิตของตนเอง
ส่วนท่านกินคูถซึ่งเป็นของไม่สะอาด ไม่น่าปรารถนา
นี้เป็นผลกรรมอะไร
(นางเปรตซึ่งอดีตเคยเป็นภรรยาพ่อค้าโกงตอบว่า)
[๔๔๘] เมื่อก่อน ผู้นี้ทำร้ายมารดา
ส่วนผู้นี้เป็นพ่อค้าโกง
ผู้นี้กินเนื้อแล้วแก้ตัวด้วยการกล่าวเท็จ
[๔๔๙] ครั้งที่ดิฉันเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นหญิงแม่เรือน ใหญ่กว่าทุกคนในสกุล
เมื่อสิ่งของที่ชนเหล่าอื่นขอได้ยังมีอยู่ก็เก็บซ่อนเสีย
(โดยคิดว่า) เราจะไม่ให้อะไร ๆ จากของที่มีอยู่นี้
[๔๕๐] ปกปิดไว้ด้วยการกล่าวเท็จว่า ในเรือนของเราไม่มีสิ่งนี้
ถ้าเราปกปิดของที่มีไว้ ขอคูถจงเป็นอาหารของเรา
[๔๕๑] เพราะวิบากทั้งสอง คือ วิบากแห่งการกระทำนั้นด้วย
วิบากแห่งการกล่าวเท็จด้วย
ภัตข้าวสาลีที่มีกลิ่นหอมจึงกลับกลายเป็นคูถสำหรับดิฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๕. กุมารเปตวัตถุ
[๔๕๒] อนึ่งกรรมทั้งหลายไม่ไร้ผล
เพราะกรรมย่อมไม่สูญหาย
ฉะนั้น ดิฉันจึงต้องทั้งกินทั้งดื่มคูถ
ซึ่งมีกลิ่นเหม็น มีหนอน
ภุสเปตวัตถุที่ ๔ จบ
๕. กุมารเปตวัตถุ
เรื่องกุมารเปรต
(เมื่อจะประกาศเรื่องของกุมารเปรตนั้น พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าว ๗ คาถาว่า)
[๔๕๓] พระญาณของพระสุคต น่าอัศจรรย์
โดยที่พระศาสดาทรงพยากรณ์บุคคลได้อย่างถูกต้องว่า
บุคคลบางเหล่าในโลกนี้ มีบุญมากก็มี
บางเหล่ามีบุญน้อยก็มี
[๔๕๔] คหบดีผู้นี้เมื่อยังเป็นเด็ก ถูกเขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นอยู่ด้วยน้ำนมที่ไหลออกจากนิ้วมือตลอดราตรี
ยักษ์และภูตผีปีศาจ หรือสัตว์เลื้อยคลาน
ก็ไม่เบียดเบียนเด็กผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว
[๔๕๕] แม้สุนัขทั้งหลายก็พากันมาเลียเท้าทั้งสองของเด็กนั้น
ฝูงเหยี่ยวและสุนัขจิ้งจอกก็พากันวนเวียนรักษา
ฝูงนกก็พากันคาบรกไปทิ้ง
ส่วนฝูงกาพากันคาบขี้ตาออกไป
[๔๕๖] มนุษย์และอมนุษย์ไร ๆ มิได้จัดการรักษาเด็กนี้
หรือใครๆ ที่จะปรุงยาหรือทำการบำบัดด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดมิได้มี
และมิได้ถือเอาการประกอบฤกษ์ยาม
ทั้งไม่ได้โปรยธัญชาติทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๕. กุมารเปตวัตถุ
[๔๕๗] เด็กที่บุคคลนำมาทิ้งไว้ในป่าช้าในยามราตรี
ได้รับความลำบากอย่างยิ่งเช่นนี้
สั่นเทาอยู่ เป็นดุจก้อนเนยข้น
ยังเหลืออยู่เพียงชีวิต มีความสงสัยว่า (ตัวจะรอดหรือไม่รอดหนอ)
[๔๕๘] พระผู้มีพระภาคผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
ทรงมีพระปัญญากว้างขวาง ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ครั้นแล้วได้ทรงพยากรณ์เด็กนั้นว่า
เด็กคนนี้จักเป็นผู้มีสกุลสูง๑ สำหรับนครนี้
(อุบาสกซึ่งอยู่ในที่ใกล้พระศาสดาทูลถามว่า)
[๔๕๙] ข้อปฏิบัติของเขาเป็นอย่างไร พรหมจรรย์ของเขาเป็นอย่างไร
เขาประพฤติข้อปฏิบัติและพรหมจรรย์อย่างไร จึงมีวิบากอย่างนี้
เขาถึงความพินาศเช่นนี้แล้วจึงกลับมาเสวยความสำเร็จเช่นนั้น ๆ
(พระสังคีติกาจารย์เมื่อจะแสดงคำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาค จึงกล่าว
๔ คาถาว่า)
[๔๖๐] เมื่อก่อน หมู่ชนได้ทำการบูชาพระสงฆ์
ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานอย่างโอฬาร
เด็กนั้นได้มีความคิดเห็นในการบูชานั้นเป็นอย่างอื่นไป
เขาได้กล่าววาจาหยาบคาย ซึ่งมิใช่ของสัตบุรุษ
[๔๖๑] ภายหลังเขาบรรเทาความคิดนั้นแล้ว
กลับได้ปีติและความเลื่อมใส ได้บำรุงพระตถาคต
ซึ่งประทับอยู่ที่พระเชตวัน ด้วยข้าวต้ม ๗ วัน
[๔๖๒] ข้อนั้นเป็นข้อปฏิบัติและพรหมจรรย์ของเขา
เขาประพฤติเช่นนั้น จึงมีวิบากอย่างนี้
เขาถึงความพินาศเช่นนี้แล้วจักกลับได้เสวยความสำเร็จเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ จักได้เป็นเศรษฐีมีโภคสมบัติมาก (ขุ.เป.อ. ๔๕๘/๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๖. เสริณีเปติวัตถุ
[๔๖๓] เขาอยู่ในมนุษยโลกนี้แหละเป็นเวลาร้อยปี
เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทุกอย่าง หลังจากตายไป
จักเข้าถึงความเป็นสหายของท้าววาสวะ๑ในสัมปรายภพ
กุมารเปตวัตถุที่ ๕ จบ
๖. เสริณีเปติวัตถุ
เรื่องนางเสริณีเปรต
(อุบาสกคนหนึ่งถามนางเสริณีเปรตว่า)
[๔๖๔] นางผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงปรากฏ
เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
เธอเป็นใครเล่ามายืนอยู่ที่นี้
(นางเสริณีเปรตตอบว่า)
[๔๖๕] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก ได้รับความลำบาก
เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(อุบาสกถามว่า)
[๔๖๖] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางเสริณีเปรตตอบว่า)
[๔๖๗] เมื่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นดุจท่าน้ำซึ่งไม่มีใครหวงห้ามมีอยู่
ดิฉันเก็บทรัพย์ไว้ประมาณกึ่งมาสก
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน

เชิงอรรถ :
๑ ไปเกิดเป็นลูกของท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์ (ขุ.เป.อ. ๔๖๓/๒๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๖. เสริณีเปติวัตถุ
[๔๖๘] ดิฉันกระหายน้ำจึงเข้าไปใกล้แม่น้ำ
แม่น้ำกลับกลายเป็นว่างเปล่าไป
ในเวลาร้อนเข้าไปใกล้ร่มไม้
ร่มไม้กลับกลายเป็นแดดไป
[๔๖๙] ทั้งลมก็ร้อนเหมือนไฟ พัดดิฉันฟุ้งไป
ท่านผู้เจริญ ดิฉันเสวยทุกข์มีความกระหายเป็นต้นนี้
และทุกข์อย่างอื่นที่หนักกว่านั้น
[๔๗๐] ท่านไปถึงหัตถินีนครแล้วช่วยบอกมารดาของดิฉันว่า
เราเห็นธิดาของท่านตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำกรรมชั่วไว้ เขาจึงตายไปเกิดยังเปตโลก
[๔๗๑] ดิฉันมีทรัพย์อยู่สี่แสน เก็บซ่อนไว้ใต้เตียง
ทั้งไม่ได้บอกใคร ๆ ไว้
[๔๗๒] ขอมารดาของดิฉันจงเอาทรัพย์ส่วนหนึ่งจากที่เก็บซ่อนไว้นั้น
ให้ทานบ้าง เลี้ยงชีพบ้าง
ครั้นให้ทานแล้วจงอุทิศส่วนบุญมาให้ดิฉันบ้าง
เมื่อนั้นดิฉันจักมีความสุข สำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง
[๔๗๓] อุบาสกนั้นรับคำของนางว่า สาธุ แล้วไปถึงหัตถินีนคร
ได้บอกมารดาของนางว่า
ฉันเห็นธิดาของเธอตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำชั่วไว้ นางจึงตายไปเกิดยังเปตโลก
[๔๗๔] ณ ที่นั้น นางสั่งฉันว่า
ท่านไปถึงหัตถินีนครแล้วช่วยบอกมารดาของดิฉันว่า
เราเห็นธิดาของท่านตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำกรรมชั่วไว้ นางจึงตายไปเกิดยังเปตโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๗. มิคลุททกเปตวัตถุ
[๔๗๕] ดิฉันมีทรัพย์อยู่สี่แสน เก็บซ่อนไว้ใต้เตียง
ทั้งไม่ได้บอกใคร ๆ ไว้
[๔๗๖] ขอมารดาของดิฉันจงเอาทรัพย์ส่วนหนึ่งจากที่เก็บซ่อนไว้นั้น
ให้ทานบ้าง เลี้ยงชีพบ้าง
ครั้นให้ทานแล้วจงอุทิศส่วนบุญให้แก่ดิฉันบ้าง
เมื่อนั้นดิฉันจักมีความสุข สำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง
[๔๗๗] มารดาของนางเสริณีเปรตนั้น
ถือเอาทรัพย์ส่วนหนึ่งจากที่นางเสริณีเปรตเก็บซ่อนไว้นั้นมาให้ทาน
ครั้นให้แล้วได้อุทิศส่วนบุญไปให้นาง
นางเสริณีเปรต มีความสุข
และแม้มารดาของนางก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
เสริณีเปติวัตถุที่ ๖ จบ
๗. มิคลุททกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตพรานเนื้อ
(พระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔๗๘] ท่านยังหนุ่ม มีเทพบุตรและเทพธิดาห้อมล้อม
งามด้วยกามคุณทั้งหลาย ซึ่งทำให้เกิดความกำหนัดยินดี
ได้เสวยเหตุแห่งทุกข์ในกลางวัน
ชาติก่อน ท่านได้ทำกรรมอะไรไว้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๔๗๙] เมื่อชาติก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้อ
มีฝ่ามือเปื้อนเลือด เป็นคนหยาบช้าทารุณ
อยู่ที่เขาคิริพพชะ เป็นที่น่ารื่นรมย์
ใกล้กรุงราชคฤห์ซึ่งน่ารื่นรมย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๗. มิคลุททกเปตวัตถุ
[๔๘๐] ข้าพเจ้ามีใจประทุษร้ายในสัตว์มีชีวิตจำนวนมาก
หยาบช้าทารุณอย่างยิ่ง
ชอบเบียดเบียนสัตว์อื่น
ไม่สำรวม เที่ยวไปเป็นนิตย์
[๔๘๑] ข้าพเจ้านั้นมีสหายใจดี
มีศรัทธา เป็นอุบาสกคนหนึ่ง
เพราะเขาเป็นผู้เอ็นดูข้าพเจ้า
จึงห้ามอยู่บ่อย ๆ ว่า
[๔๘๒] พ่อเอ๋ย อย่าได้ทำชั่วเลย
อย่าได้ดำเนินทางผิดเลย
ถ้าสหายปรารถนาความสุขเมื่อตายไป
จงงดเว้นการฆ่าสัตว์ซึ่งเป็นการไม่สำรวมเสียเถิด
[๔๘๓] ข้าพจ้าฟังคำของเขาผู้หวังดี
มีความเอ็นดูด้วยประโยชน์เกื้อกูล
แต่ไม่ได้ทำตามคำสั่งสอนของเขาทั้งสิ้น
เพราะเป็นคนไม่มีปัญญา ยินดีในบาปมาช้านาน
[๔๘๔] เขามีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
แนะนำข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในความสำรวมด้วยอนุเคราะห์อีกว่า
ถ้าท่านจะฆ่าสัตว์ในกลางวัน
ในเวลากลางคืนก็จงงดเว้นเสีย
[๔๘๕] ข้าพเจ้านั้นจึงฆ่าสัตว์แต่เฉพาะกลางวัน
กลางคืนเป็นผู้สำรวมงดเว้น
เพราะฉะนั้น กลางคืนข้าพเจ้าจึงได้รับการบำรุงบำเรอ
กลางวันประสบทุกข์ ถูกสุนัขรุมกัดกิน คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๘. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
[๔๘๖] กลางคืนได้เสวยทิพยสมบัติด้วยผลแห่งกุศลกรรมนั้น
กลางวันฝูงสุนัขดุร้ายพากันวิ่งเข้ามากัดกินข้าพเจ้ารอบด้าน
[๔๘๗] ชนเหล่าใดมีความเพียรเนือง ๆ
เอาธุระในพระศาสนาของพระสุคตอย่างมั่นคง
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ชนเหล่านั้นแหละจะได้บรรลุอมตบท
ซึ่งปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้อย่างแน่นอน
มิคลุททกเปตวัตถุที่ ๗ จบ
๘. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตพรานเนื้อ เรื่องที่ ๒
(พระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔๘๘] ท่านรื่นรมย์ยู่บนบัลลังก์
ที่ในเรือนยอดและปราสาทปูลาดด้วยผ้าขนสัตว์
ด้วยดนตรีเครื่องห้าซึ่งบุคคลประโคมแล้วอย่างไพเราะ
[๔๘๙] ภายหลัง เมื่อสิ้นราตรี ดวงอาทิตย์ขึ้น (จน)ดวงอาทิตย์ตก
ท่านเข้าไปประสบทุกข์เป็นอันมากอยู่ในป่าช้า
[๔๙๐] เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงต้องประสบทุกข์เช่นนี้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๔๙๑] เมื่อชาติก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้อ
เป็นคนหยาบช้า ทารุณ ไม่สำรวม
อยู่ที่ภูเขาคิริพพชะ เป็นที่น่ารื่นรมย์
ใกล้กรุงราชคฤห์ซึ่งน่ารื่นรมย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๘. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
[๔๙๒] ข้าพเจ้านั้นมีสหายใจดี มีศรัทธา เป็นอุบาสกคนหนึ่ง
เขามีภิกษุที่คุ้นเคยกัน ซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดม
เพราะเขาเอ็นดูข้าพเจ้าจึงห้ามอยู่บ่อย ๆ ว่า
[๔๙๓] พ่อเอ๋ย อย่าได้ทำชั่วเลย
อย่าได้ดำเนินทางผิดเลย
ถ้าสหายปรารถนาความสุขเมื่อตายไป
จงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นการไม่สำรวมเสียเถิด
[๔๙๔] ข้าพเจ้าฟังคำของเขาผู้หวังดี มีความเอ็นดูด้วยประโยชน์เกื้อกูล
แต่ไม่ได้ทำตามคำสั่งสอนของเขาทั้งสิ้น
เพราะเป็นคนไม่มีปัญญา ยินดีในบาปมาช้านาน
[๔๙๕] เขามีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
แนะนำข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในความสำรวมด้วยความอนุเคราะห์อีกว่า
ถ้าท่านจะฆ่าสัตว์ในกลางวัน
ในเวลากลางคืนก็จงงดเว้นเสีย
[๔๙๖] ข้าพเจ้านั้นจึงฆ่าสัตว์แต่เฉพาะกลางวัน
กลางคืนเป็นผู้สำรวมงดเว้น
เพราะฉะนั้น กลางคืนข้าพเจ้าจึงได้รับความสุข
กลางวันประสบทุกข์ ถูกสุนัขรุมกัดกิน คือ
[๔๙๗] กลางคืนได้เสวยทิพยสมบัติด้วยผลแห่งกุศลกรรมนั้น
กลางวันฝูงสุนัขดุร้ายพากันวิ่งเข้ามากัดกินข้าพเจ้ารอบด้าน
[๔๙๘] ชนเหล่าใดมีความเพียรเนือง ๆ
เอาธุระในพระศาสนาของพระสุคตอย่างมั่นคง
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ชนเหล่านั้นแหละจะได้บรรลุอมตบท
ซึ่งปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้อย่างแน่นอน
ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๙. กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุ
๙. กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตอดีตผู้พิพากษาโกง
(พระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔๙๙] ตัวท่านทัดทรงดอกไม้ ใส่ชฎา สวมกำไลทอง
ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ท่านมีสีหน้าผ่องใส งดงาม ดุจแสงดวงอาทิตย์อ่อน ๆ
[๕๐๐] ท่านมีเทพบุตรและเทพธิดา พวกละ ๑๐,๐๐๐ สวมกำไลทอง
นุ่งห่มผ้าขลิบด้วยทอง พวกละ ๑๐,๐๐๐ คอยบำรุงบำเรอ
[๕๐๑] ท่านมีอานุภาพมาก มีรูปชวนให้เกิดขนลุกแก่ผู้พบเห็น
แต่ท่านจิกเนื้อหลังของตนเองกินเป็นอาหาร
[๕๐๒] เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงจิกเนื้อหลังของตนเองกินเป็นอาหาร
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๕๐๓] ข้าพเจ้าได้ประพฤติทุจริตด้วยการพูดส่อเสียด พูดเท็จ และ
ด้วยการอำพรางหลอกลวงเพื่อความฉิบหายแก่ตนเองในมนุษยโลก
[๕๐๔] ในมนุษยโลกนั้น ข้าพเจ้าไปยังชุมชนแล้ว
เมื่อถึงเวลาที่จะพูดความจริง ละเหตุผลเสีย
ประพฤติคล้อยตามอธรรม
[๕๐๕] ผู้ประพฤติทุจริตมีพูดส่อเสียดเป็นต้น ย่อมจิกเนื้อหลังตนเองกิน
เหมือนข้าพเจ้าจิกเนื้อหลังตนเองกินอยู่ในวันนี้
[๕๐๖] ข้าแต่พระนารทะ ทุกข์ที่ข้าพเจ้าได้รับอยู่นี้ ท่านได้เห็นเองแล้ว
เหล่าชนผู้ฉลาด มีความอนุเคราะห์ พึงกล่าวสอนว่า
ท่านอย่าได้พูดส่อเสียด และอย่าได้พูดเท็จ
อย่าได้กินเนื้อหลังของตนเป็นอาหารเลย
กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ
๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้ตำหนิการบูชาพระธาตุ
(พระมหากัสสปเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๕๐๗] ท่านอยู่ในอากาศ มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป
และหมู่หนอนพากันชอนไชกินปากที่มีกลิ่นเหม็นเน่าของท่าน
เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้
[๕๐๘] เพราะการฟุ้งไปแห่งกลิ่นเหม็นนั้น
นายนิรยบาลถือศัสตรามาเฉือนปากที่มีแผลซ้ำแล้วซ้ำอีก
เอาน้ำแสบราดตรงที่เฉือนแล้วเชือดซ้ำ ๆ
[๕๐๙] เมื่อก่อนท่านทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงต้องประสบทุกข์เช่นนี้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๕๑๐] ท่านผู้นิรทุกข์ (เมื่อก่อน)ข้าพเจ้าอยู่ที่ภูเขาคิริพพชะ
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใกล้กรุงราชคฤห์ซึ่งน่ารื่นรมย์
เป็นเจ้าของทรัพย์และข้าวเปลือกมากมายยิ่ง
[๕๑๑] ข้าพเจ้าได้ห้ามภรรยา ธิดา
และลูกสะใภ้ของข้าพเจ้านั้น
ซึ่งพากันนำพวงมาลัย
ดอกอุบล และเครื่องลูบไล้ใหม่ ๆ
ไปเพื่อบูชาพระสถูป
บาปนั้นข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้ว
[๕๑๒] พวกเราจึงได้เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ กัน
จักหมกไหม้อยู่ในนรกแสนสาหัสถึง ๘๖,๐๐๐ ปี
เพราะตำหนิการบูชาพระสถูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
[๕๑๓] เมื่อการบูชาและการฉลองพระสถูป
ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปอยู่
ชนเหล่าใดประกาศโทษ (แห่งการบูชาพระสถูปเหมือนเรา)
ท่านพึงคัดชนเหล่านั้นออกจากบุญนั้น
[๕๑๔] อนึ่ง เชิญท่านดูเทพธิดาเหล่านี้
ซึ่งทัดทรงดอกไม้ ตกแต่งร่างกายเหาะมา
พวกนางมั่งคั่งและมีบริวารยศ
เสวยผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๕๑๕] ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้เห็นผลน่าอัศจรรย์
น่าขนลุกขนชัน ซึ่งไม่เคยมีมาแล้วนั้น
ย่อมทำการนอบน้อม
กราบไหว้พระมหามุนีนั้น
[๕๑๖] ข้าพเจ้าจากเปตโลกนี้ไปแล้ว
ได้ถือกำเนิดเป็นมนุษย์
จักเป็นผู้ไม่ประมาท
ทำการบูชาพระสถูปบ่อย ๆ แน่แท้
ธาตุวิวัณณเปตวัตถุที่ ๑๐ จบ
จูฬวรรคที่ ๓ จบ
รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อภิชชมานเปตวัตถุ ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
๓. รถการเปติวัตถุ ๔. ภุสเปตวัตถุ
๕. กุมารเปตวัตถุ ๖. เสริณีเปติวัตถุ
๗. มิคลุททกเปตวัตถุ ๘. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
๙. กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุ ๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
๔. มหาวรรค
หมวดใหญ่
๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
เรื่องเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีกับเปรตเปลือย
[๕๑๗] ชาวเมืองวัชชีมีนครนามว่าไพสาลี
ในนครไพสาลีนั้น มีกษัตริย์ลิจฉวี พระนามว่าอัมพสักขระ๑
ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตที่ภายนอกพระนคร
มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ
จึงได้ตรัสถามเปรตนั้นในที่นั้นนั่นเองว่า
[๕๑๘] บุคคลที่ถูกเสียบอยู่บนปลายหลาวนี้
ไม่มีการนอน การนั่ง การเดินไปเดินมา
และการลิ้ม การดื่ม การเคี้ยวกิน การนุ่งห่มผ้า
แม้หญิงบำเรอของเขาก็ไม่มี
[๕๑๙] ชนเหล่าใดเป็นญาติ เป็นมิตรสหายซึ่งเคยเห็นหรือเคยได้ยินกันมา
เคยเอ็นดูกันมาในกาลก่อนของผู้นี้
เดี๋ยวนี้ชนเหล่านั้นแม้จะเยี่ยมเยียนเขาก็ไม่ได้
เพราะว่าผู้นี้มีสภาพที่ชนนั้นสละแล้ว
[๕๒๐] ผู้ที่ตายแล้วย่อมไม่มีมิตรสหาย
พวกมิตรสหายทราบถึงความขาดแคลนจึงพากันละทิ้ง
และเห็นประโยชน์จึงพากันห้อมล้อม
ส่วนผู้ที่มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติย่อมมีมิตรสหายมากมาย
[๕๒๑] ชีวิตของบุรุษที่เสื่อมจากเครื่องอุปโภคและบริโภคทุกอย่างฝืดเคือง
ถูกหลาวเสียบตัว มีร่างกายเปื้อนเลือด
จักดับในวันนี้ หรือในวันพรุ่งนี้เป็นแน่
ดุจหยาดน้ำค้างซึ่งติดอยู่บนปลายหญ้า

เชิงอรรถ :
๑ เจ้าลิจฉวีองค์นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ นับถือลัทธินัตถิกวาทว่า ‘ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ทำดีทำชั่วไม่มีผล’ (ขุ.เป.อ.
๑๒๑/๒๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๒๒] ยักษ์ เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไร
ท่านจึงพูดกับบุรุษผู้ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง
นอนหงายอยู่บนหลาวด้ามไม้สะเดาเช่นนี้ว่า
บุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด
การมีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นความประเสริฐ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๒๓] ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์ระลึกได้ว่า ในชาติก่อน
บุรุษนี้เป็นญาติสายโลหิตของข้าพระองค์
ก็ข้าพระองค์เห็นแล้ว มีความกรุณาต่อเขาว่า
ขอบุรุษผู้เลวทรามนี้อย่าตกนรกเลย
[๕๒๔] ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้ตายจากอัตภาพนี้แล้ว
จักบังเกิดในนรกซึ่งแน่นขนัดไปด้วยสัตว์ผู้กระทำความชั่วไว้
เป็นนรกร้ายกาจ
มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อน น่ากลัว
[๕๒๕] หลาวนี้แหละยังดีกว่านรกนั้นมากมายหลายส่วน
ขอบุรุษนี้อย่าตกนรก ซึ่งมีแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว
เผ็ดร้อนอย่างน่ากลัว รุนแรงยิ่ง
[๕๒๖] เพราะฟังคำของข้าพระองค์นี้แล้ว บุรุษนี้เป็นประหนึ่งว่า
น้อมจิตเข้าไปหาทุกข์ในนรก พึงละบาปเสียได้
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จะไม่พูดในที่ใกล้เขาด้วยหวังว่า
ชีวิตของบุรุษนี้จงอย่าดับไปเพราะข้าพระองค์แต่ผู้เดียว
(เมื่อเปรตแสดงความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงขอโอกาสเพื่อ
จะตรัสถามความเป็นไปของเปรตนั้นอีก จึงได้ตรัสคาถานี้ว่า)
[๕๒๗] เรื่องของบุรุษนี้ เรารู้แล้ว
แต่เราปรารถนาจะถามท่านถึงเรื่องอื่นบ้าง
ถ้าท่านให้โอกาสแก่เรา
เราจะถาม และท่านไม่ควรโกรธเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๒๘] ข้าพระองค์ได้ให้ปฏิญญาไว้ในกาลนั้นแน่นอนแล้ว
จะไม่บอกแก่ผู้ที่ไม่เลื่อมใส
(แต่บัดนี้)ข้าพระองค์ไม่ประสงค์(จะบอก)
(แต่)มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้ เพราะเหตุดังว่ามานี้
ขอเชิญพระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ตามพระประสงค์
ข้าพระองค์จะทูลตอบเท่าที่จะทูลตอบได้
(เมื่อเปรตให้โอกาสเช่นนั้นแล้ว เจ้าอัมพสักขระลิจฉวีจึงตรัสถามว่า)
[๕๒๙] เราจะเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นด้วยตา
ถ้าแม้นเราเห็นสิ่งนั้นแล้วไม่เชื่อ
ก็ขอให้ลงโทษถอดยศเราเถิด ยักษ์
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๐] นี้ขอจงเป็นสัจปฏิญญาของพระองค์ต่อข้าพระองค์
พระองค์ได้ทรงฟังธรรมแล้ว จงทรงได้ความเลื่อมใสดีงาม
ข้าพระองค์ต้องการทราบ มิได้มีจิตคิดประทุษร้าย
จักขอกราบทูลถวายทุกเรื่องที่พระองค์ได้สดับแล้วบ้าง
หรือไม่ได้สดับแล้วบ้าง แด่พระองค์ เท่าที่รู้มา
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๓๑] ท่านขี่ม้าขาวประดับประดาแล้ว
เข้าไปใกล้บุรุษที่ถูกเสียบด้วยหลาว
ยานนี้น่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชม นี้เป็นผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๒] ที่ท่ามกลางเมืองไพสาลีนั้น
มีหลุมที่หนทางลื่น ข้าพระองค์มีจิตเลื่อมใส
จึงใส่หัวโคหัวหนึ่งลงไปในหลุมใช้เป็นสะพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๓๓] ข้าพระองค์และบุคคลอื่น
เหยียบบนหัวโคนั้นเดินข้ามไปได้
ยานนี้น่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชม นี้เป็นผลกรรมนั้น
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๓๔] ท่านมีรัศมีกายสว่างไสวทั่วทุกทิศ
และมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
เข้าถึงเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
แต่ยังเปลือยกายอยู่ นี้เป็นผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๕] เมื่อก่อน ข้าพระองค์ไม่เป็นคนมักโกรธ มีจิตผ่องใสเป็นนิตย์
พูดกับคนทั่วไปด้วยวาจาอ่อนหวาน ด้วยผลกรรมนั้น
ข้าพระองค์จึงมีรัศมีกายเป็นทิพย์ สว่างไสวอยู่เนืองนิตย์
[๕๓๖] ข้าพระองค์เห็นยศและชื่อเสียงของผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม
มีจิตเลื่อมใส กล่าวสรรเสริญ ด้วยผลกรรมนั้น
ข้าพระองค์จึงมีกลิ่นทิพย์ฟุ้งไปเนือง ๆ
[๕๓๗] เมื่อพวกสหายของข้าพระองค์อาบน้ำที่ท่าน้ำ
ข้าพระองค์ลักเอาผ้าที่เขาซ่อนไว้บนบก
มีความประสงค์จะล้อเล่น แต่ไม่ได้มีจิตคิดประทุษร้าย
เพราะกรรมนั้นข้าพระองค์จึงเป็นเปรตเปลือยกาย
และเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๓๘] ผู้ที่ทำบาปเล่น ๆ (โดยเห็นแก่ความสนุก)
นักปราชญ์ยังกล่าวว่ามีผลกรรมถึงเพียงนี้
แล้วผู้ที่จงใจทำบาปเล่า
นักปราชญ์ได้กล่าวว่าจะมีผลกรรมสักเพียงไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๙] มนุษย์ทั้งหลายมีใจดำริชั่วร้าย
เป็นผู้เศร้าหมองทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา
ตายไปจะต้องตกนรกในสัมปรายภพ อย่างไม่ต้องสงสัย
[๕๔๐] ส่วนชนเหล่าอื่นปรารถนาสุคติ
ยินดีให้ทาน เลี้ยงอัตภาพแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพอย่างไม่ต้องสงสัย
(เมื่อเปรตชี้แจงจำแนกผลกรรมแต่โดยย่ออย่างนี้ พระราชาไม่ทรงเชื่อจึงตรัส
ถามว่า)
[๕๔๑] เราจะพึงรู้เรื่องนั้นโดยไม่ต้องอาศัยบุคคลอื่นอย่างไรว่า
นี้เป็นผลกรรมดีและกรรมชั่ว
เราเห็นอะไรแล้วจึงควรเชื่อ
หรือใครบ้างจะพึงช่วยชี้แจงให้เราเชื่อเรื่องนั้นได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๔๒] พระองค์ทรงเห็นและทรงสดับมาแล้วก็จงทรงเชื่อเถิดว่า
นี้เป็นผลกรรมดีและกรรมชั่ว
เมื่อกรรมดีและกรรมชั่วทั้งสองไม่มี
สัตว์ทั้งหลายที่ไปสู่สุคติหรือทุคติจะพึงมีได้อย่างไรเล่า
[๕๔๓] ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ ไม่พึงทำกรรมดีและกรรมชั่ว
เหล่าสัตว์ในมนุษยโลกที่จะไปสุคติหรือทุคติ เลวบ้าง ประณีตบ้าง
ก็มีไม่ได้
[๕๔๔] แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลก
ได้ทำกรรมดีและกรรมชั่วไว้
ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกจึงไปสุคติหรือทุคติ
เลวบ้าง ประณีตบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๔๕] บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวกรรม
อันเป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์ไว้ทั้งสองอย่าง
เทวดาเหล่านั้นห้อมล้อมเหล่าชนที่ได้รับผลอันเป็นเหตุให้เสวยสุข
ส่วนพวกคนพาลมักไม่เห็นกรรมและผลกรรมทั้งสอง
จึงถูกกรรมแผดเผาอยู่
[๕๔๖] ข้าพระองค์มิได้มีบุญกรรมที่ทำไว้ด้วยตนเอง
ทั้งไม่มีผู้ที่จะพึงถวายผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน ข้าวและน้ำ แล้วอุทิศให้
เหตุนั้นข้าพระองค์จึงเป็นเปรตเปลือยกาย
มีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๔๗] ท่านยักษ์ จะพึงมีเหตุอะไร ๆ บ้างหนอ
ที่จะทำให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่ม
เชิญบอกเราได้ ถ้ามีเหตุ
เรารับฟังคำที่มีเหตุควรเชื่อถือได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๔๘] เมืองไพสาลีนี้ มีภิกษุนามว่ากัปปิตกะ๑
สำเร็จฌาน มีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นแล้ว
คุ้มครองอินทรีย์ได้ สำรวมในพระปาติโมกข์
เยือกเย็น มีสัมมาทิฏฐิอันสูงสุด
[๕๔๙] เป็นผู้อ่อนโยน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ว่าง่าย
มีหน้าเบิกบาน มาดี ไปดี พูดโต้ตอบได้ดี
เป็นเนื้อนาบุญ มีเมตตาจิตเป็นประจำ
และเป็นทักขิไณยบุคคลของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนอดีตชฎิล ๑,๐๐๐ รูป ท่านเป็นอุปัชฌาย์ของท่านพระอุบาลีเถระ (ขุ.เป.อ.
๕๔๘/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๕๐] สงบระงับ กำจัดมิจฉาวิตกได้
หมดทุกข์ หมดตัณหา
หลุดพ้นแล้ว ปราศจากกิเลสเป็นเหตุเสียบแทง
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่คด ไม่มีอุปธิ
หมดสิ้นกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า
ได้บรรลุวิชชา ๓ มีความรุ่งเรือง
[๕๕๑] ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ แม้ใคร ๆ เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นปราชญ์
ในหมู่ชนชาววัชชี เขาพากันเรียกท่านว่า ปราชญ์
ส่วนพวกยักษ์และเทวดารู้จักท่านว่า ผู้ไม่หวั่นไหว
มีกัลยาณธรรม เที่ยวไปในโลก
[๕๕๒] ถ้าพระองค์ทรงถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่พระมุนีนั้น
ทรงอุทิศส่วนบุญให้ข้าพระองค์
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และพระองค์ก็จะทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๕๓] บัดนี้ สมณะนั้นอยู่ที่ไหน
เราไปแล้วจักพึงพบเห็นได้
และสมณะนั้น คือใคร จะพึงแก้ไขความสงสัยและความสนเท่ห์
ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามแห่งความเห็นในวันนี้ได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๕๔] ท่านนั่งอยู่ที่กปินัจจนานั่น
มีเทวดาแวดล้อมเป็นจำนวนมาก
เป็นผู้มีเกียรติคุณอันแท้จริง
และเป็นผู้ไม่ประมาทในคุณอันอัศจรรย์ของตน
กล่าวธรรมีกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๕๕] เราไปแล้วจักทำตามที่ท่านสั่งนั้นเดี๋ยวนี้
จักให้สมณะนุ่งห่มผ้าคู่หนึ่ง
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และเราจะพึงเห็นท่านผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๕๖] ข้าแต่เจ้าลิจฉวี ขอประทานวโรกาส
ขอพระองค์อย่าได้เสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่สมควร
นั่นเป็นธรรมเนียมไม่เหมาะสำหรับพระองค์
และต่อจากนั้น พระเจ้าลิจฉวีตรัสว่า
เราจะเข้าไปพบบรรพชิตผู้นั่งอยู่ในที่ลับ ณ ที่นั้นในเวลาอันสมควร
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๕๗] ครั้นตรัสแล้วอย่างนี้ เจ้าลิจฉวีมีหมู่ข้าทาสบริพารแวดล้อม
เสด็จไปในพระนครนั้น
ครั้นเสด็จเข้าไปยังพระนครนั้นแล้ว
จึงเสด็จเข้าประทับอาศัยในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
[๕๕๘] ต่อจากนั้น พระเจ้าลิจฉวีทรงกระทำกิจของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
ทรงสรงสนาน และเสวยน้ำแล้ว
ได้เวลาอันสมควร จึงทรงเลือกผ้า ๘ คู่จากหีบ
รับสั่งให้หมู่ข้าทาสบริพารถือไป
[๕๕๙] พระองค์ ครั้นเสด็จเข้าไปยังสถานที่นั้นแล้ว
ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะนั้นมีจิตสงบระงับ
เดินกลับจากโคจรคาม เป็นผู้เยือกเย็น
นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๖๐] จึงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถามสมณะนั้น
ถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย ความอยู่สำราญ
แล้วได้ตรัสกับสมณะนั้นว่า
พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเป็นกษัตริย์ลิจฉวี ในเมืองไพสาลี
ชนทั้งหลายรู้จักโยมว่า เจ้าอัมพสักขรลิจฉวี
[๕๖๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าจงรับผ้า ๘ คู่นี้ของโยม
โยมถวายพระคุณเจ้า
โยมมาในที่นี้เพราะต้องการความสบายใจที่โยมจะพึงสบายใจ
(พระเถระทูลถามว่า)
[๕๖๒] สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันละเว้นราชนิเวศน์
ของมหาบพิตรเสียห่างไกล
เพราะในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ บาตรก็แตก
และแม้ผ้าสังฆาฏิก็ยังถูกฉีกทำลาย
[๕๖๓] ครั้นต่อมา สมณะอีกพวกหนึ่งถูกมัดเท้าจับห้อยหัวลง
สมณะทั้งหลายได้รับการเบียดเบียน
ที่มหาบพิตรทรงกระทำกับบรรพชิตเช่นนั้น
[๕๖๔] มหาบพิตรไม่เคยพระราชทาน
แม้แต่น้ำมันสักหยดหนึ่งด้วยยอดหญ้า
ไม่ตรัสบอกทางให้คนหลงทาง
ชิงเอาไม้เท้าของคนตาบอดเสียเอง
เป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวมเช่นนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร
หรือเพราะทรงเห็นอะไร
มหาบพิตร จึงทรงจำแนกแจกจ่ายให้แก่อาตมาเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๖๕] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเบียดเบียนสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
โยมขอรับผิดตามที่ท่านพูด
แต่โยมมีความประสงค์จะล้อเล่น ไม่ได้คิดประทุษร้าย
กรรมชั่วแม้นั้นโยมกระทำแล้วจริง
[๕๖๖] เด็กหนุ่มเปลือยกาย มีโภคะเพียงเล็กน้อย
ได้สร้างบาปกรรมด้วยการล้อเล่น จึงต้องเสวยทุกข์
ก็เปรตนั้นจะมีทุกข์อะไรเล่า
ที่เป็นทุกข์ยิ่งกว่าความเปลือยกายนั้น
[๕๖๗] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเห็นสิ่งอันน่าสังเวช
และผลอันเป็นมลทินนั้นแล้ว
จึงถวายทานแม้เพราะเหตุนั้นเป็นปัจจัย
นิมนต์พระคุณเจ้ารับผ้าทั้ง ๘ คู่เถิด
ทักษิณา๑ นี้จงสำเร็จแก่เปรต
(พระเถระถวายพระพรว่า)
[๕๖๘] เพราะบัณฑิตทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น
สรรเสริญการให้ทานไว้โดยมากแท้
และเมื่อมหาบพิตรทรงถวายทาน ขอให้ทานอย่าหมดเปลืองไป
อาตมภาพรับผ้าของมหาบพิตรทั้ง ๘ คู่
ขอทักษิณาทานเหล่านี้จงสำเร็จแก่เปรต
[๕๖๙] ลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีนั้น ทรงบ้วนพระโอษฐ์
ทรงถวายผ้า ๘ คู่แด่พระเถระ พระเถระรับผ้า ๘ คู่นั้นแล้ว
และเจ้าลิจฉวีนั้นก็ทอดพระเนตรเห็นเปรตนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย

เชิงอรรถ :
๑ ทานที่ให้โดยเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม,หรือไทยธรรมที่ถวายแก่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เพื่อประโยชน์
แก่เปตชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๗๐] (เจ้าลิจฉวีนั้น)ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้น
ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง มีรูปงาม ประดับประดา
นุ่งผ้าอย่างดี ขี่ม้าอาชาไนย มีบริวารห้อมล้อม มีเทวฤทธิ์มาก
[๕๗๑] พระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงปลื้มพระหฤทัย เบิกบาน
มีพระหฤทัยร่าเริง งามสง่า
ได้ทรงเห็นกรรมและผลกรรมมากอย่างแจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เอง
[๕๗๒] จึงเสด็จเข้าไปหาเปรตนั้นแล้วรับสั่งกับเปรตนั้นว่า
เราจักให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
สิ่งไร ๆ ที่เราไม่ควรให้ไม่มีเลย
และท่านมีอุปการะแก่เรามาก
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๗๓] ข้าแต่เจ้าลิจฉวี พระองค์ได้พระราชทานสิ่งของอย่างหนึ่ง
แก่ข้าพระองค์ ทานนั่นมิได้ไร้ผล
ข้าพระองค์นั้นซึ่งเป็นอมนุษย์
จักเป็นพยานร่วมกับพระองค์ผู้เป็นมนุษย์
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๗๔] ท่านเป็นตัวอย่าง เป็นพวกพ้อง เป็นที่ยึดเหนี่ยว
เป็นมิตรและเป็นเทพของเรา
เราขอไหว้ อ้อนวอนท่าน ต้องการจะพบท่านอีก
(เปรตกราบทูลว่า)
[๕๗๕] ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา
ยังกระด้างกระเดื่อง มีจิตดำเนินไปผิด๑
ขอเดชะเจ้าลิจฉวี พระองค์จักไม่ได้เห็นข้าพระองค์
และข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้วก็จักไม่เจรจาด้วย

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิ ละทางถูกไปปฏิบัติทางผิด (ขุ.เป.อ. ๕๗๕/๒๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๗๖] แต่ถ้าพระองค์จักทรงเคารพธรรม
ยินดีบริจาคทานเครื่องบำรุงอัตภาพ
เป็นเสมือนบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอเดชะเจ้าลิจฉวี เมื่อเป็นดังนี้ พระองค์จักได้เห็นข้าพระองค์
[๕๗๗] และข้าพระองค์จักได้เห็นได้เจรจากับพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยบุรุษนี้จากหลาวโดยเร็ว
เพราะการมาหาบุรุษนี้เป็นเหตุ
เราทั้งสองได้เป็นพยานร่วมกัน
เพราะเหตุแห่งบุรุษถูกเสียบที่หลาว ข้าพระองค์เข้าใจว่า
[๕๗๘] เราทั้งสองนั้นได้เป็นพยานร่วมกัน
ฝ่ายบุรุษถูกเสียบที่หลาวนี้ ถูกปล่อยโดยเร็วโดยทันที
แล้วประพฤติธรรมโดยเคารพ
พึงพ้นจากนรกนั้นแน่นอน
กรรมที่เว้นการให้ผล๑ ก็พึงมีได้
[๕๗๙] พระองค์เสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุแล้ว
ทรงถวายทานแก่ท่าน ในเวลาที่สมควร
ประทับนั่งใกล้แล้วเชิญตรัสถามด้วยพระโอษฐ์เอง
ท่านจักทูลความข้อนั้นแก่พระองค์
[๕๘๐] พระองค์ทรงประสงค์บุญ และมีจิตไม่ประทุษร้าย
เชิญเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นแล้วตรัสถามเถิด
ท่านจักทูลธรรมทั้งที่ทรงสดับแล้ว
และยังไม่ได้ทรงสดับทั้งหมดแด่พระองค์ตามความรู้
(พระองค์ทรงสดับธรรมแล้วจักได้ตรัสบอกสุคติ)

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่เว้นผลอันบุคคลพึงเสวยในภพต่อ ๆ ไป (อโหสิกรรม) พึงมีได้ เมื่อยังมีการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.เป.อ.
๕๙๐/๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๘๑] ท้าวเธอทรงเจรจาความลับในที่นั้นแล้ว
ได้เป็นพยานร่วมกับเปรต เสด็จหลีกไป
ครั้นแล้วท้าวเธอได้กล่าวกับข้าราชบริพารของกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย
ซึ่งนั่งประชุมกันอยู่ใกล้ ๆ ว่า
[๕๘๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดฟังคำอย่างหนึ่งของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักเลือกพร จักได้ประโยชน์
บุรุษที่ถูกเสียบที่หลาว มีกรรมหยาบช้า
ถูกลงอาชญา มีสภาพที่จะต้องติดอยู่ร่ำไป
[๕๘๓] เขาถูกหลาวเสียบมาอย่างนี้ประมาณ ๒๐ ราตรี
จะตายหรือไม่ตาย เราจักปล่อยเขาด้วยความเต็มใจ
หมู่ชนจงอนุญาตตามชอบใจ
[๕๘๔] พระองค์โปรดจงรีบปล่อยบุรุษนั้นและบุรุษอื่นโดยเร็ว
และใครเล่าจะพึงว่ากล่าวพระองค์ผู้ทรงทำอย่างนั้นอยู่ได้
พระองค์ทรงทราบอย่างไร ขอจงทรงทำอย่างนั้น
หมู่ชนย่อมอนุญาตตามชอบใจ
[๕๘๕] เจ้าลิจฉวีนั้นเสด็จเข้าไปยังสถานที่นั้นแล้ว
ทรงรีบปล่อยบุรุษที่ถูกหลาวเสียบ
และได้ตรัสกับบุรุษนั้นว่า อย่ากลัวเลยเพื่อน
และรับสั่งให้พวกหมอพยาบาลรักษา
[๕๘๖] แล้วเสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุ
ทรงถวายทานแก่ท่านในเวลาที่สมควร
มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ จึงประทับนั่งใกล้
แล้วได้รับสั่งถามท่าน ณ ที่นั้นนั่นแหละด้วยพระองค์เองว่า
[๕๘๗] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ มีกรรมหยาบช้า
ถูกลงอาชญา มีสภาพจะต้องติดอยู่ร่ำไป
เขาถูกเสียบอย่างนี้ประมาณ ๒๐ ราตรี จะตายหรือไม่ตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๘๘] โยมไปปล่อยเขามาเดี๋ยวนี้ตามคำของเปรตนั้น
พระคุณเจ้าผู้เจริญ จะพึงมีเหตุอะไรหรือ
ที่เปรตนั้นไม่ต้องตกนรก
[๕๘๙] ถ้ามีเหตุขอนิมนต์ท่านบอกโยมเถิด พระคุณเจ้าผู้เจริญ
โยมกำลังรอฟังคำมีเหตุที่น่าเชื่อถืออยู่
(กัปปิตกภิกษุถวายพระพรว่า)
เพราะยังไม่ได้เสวย
ผลกรรมเหล่านั้นจะไม่มีการสูญหาย
ภาวะที่กรรมเหล่านั้นจะสูญสิ้นไปจะพึงมีได้ในโลกนี้
[๕๙๐] ถ้าเขาประพฤติธรรมสม่ำเสมอโดยเคารพ
ไม่ประมาททั้งคืนทั้งวัน
เขาจะพึงพ้นจากนรกนั้นไปได้
และกรรมที่เว้นการให้ผล พึงมีได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๙๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมรู้ประโยชน์ของบุรุษนี้อย่างทั่วถึง
บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าจงอนุเคราะห์โยมบ้าง
ขอได้กล่าวตักเตือนพร่ำสอนโยม
โดยวิธีที่โยมไม่พึงตกนรกด้วยเถิด
ท่านผู้มีปัญญากว้างขวาง
(กัปปิตกภิกษุถวายพระพรว่า)
[๕๙๒] วันนี้ ขอมหาบพิตรจงมีพระหฤทัยเลื่อมใส
ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึง
อนึ่ง จงทรงศึกษาสมาทานสิกขาบท ๕ ประการ
ไม่ให้ขาดและไม่ให้บกพร่อง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๙๓] จงทรงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์โดยพลัน
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก
ไม่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์ ไม่ตรัสเท็จ
และทรงยินดีเฉพาะพระมเหสีของพระองค์
อนึ่ง ขอจงทรงสมาทานอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘
อย่างประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
[๕๙๔] ขอพระองค์จงทรงถวายจีวร บิณฑบาต
คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว
ผ้า และที่อยู่อาศัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลาย
บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ
[๕๙๕] ทรงอังคาสภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ บุญจึงเจริญทุกเมื่อ
[๕๙๖] ผู้ที่ประพฤติธรรมสม่ำเสมอโดยเคารพ
ไม่ประมาททั้งคืนทั้งวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น
และกรรมที่เว้นการให้ผลพึงมีได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๙๗] วันนี้แหละ โยมมีจิตเลื่อมใส ขอถึงพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
อนึ่ง ขอศึกษาสมาทานสิกขาบท ๕ ประการ
ไม่ให้ขาดและไม่ให้บกพร่อง คือ
[๕๙๘] ของดเว้นจากการฆ่าสัตว์พลัน
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก
ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่กล่าวเท็จ
และยินดีเฉพาะภรรยาของตน
อนึ่ง ขอสมาทานอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘
อย่างประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๕๙๙] โยมจะถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง
ข้าว น้ำ ของกินของเคี้ยว ผ้า และที่อยู่อาศัย
[๖๐๐] โยมยินดีในพระพุทธศาสนา ไม่หวั่นไหว
จะถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต
[๖๐๑] เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีทรงเป็นอุบาสกคนหนึ่งในเมืองไพสาลี
ทรงมีศรัทธา และมีพระหฤทัยอ่อนโยนเช่นนั้น
ทรงทำอุปการะ บำรุงพระภิกษุสงฆ์โดยเคารพในกาลนั้น
[๖๐๒] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ หายโรค
มีอิสระ สบายดี ได้บรรพชาแล้ว
แม้คนทั้งสองอาศัยกัปปิตกภิกษุผู้ประเสริฐ ได้บรรลุสามัญญผล๑
[๖๐๓] การคบสัตบุรุษเช่นนี้ย่อมมีผลมากแก่สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่
บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบได้บรรลุอรหัตตผล
ส่วนเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีได้บรรลุโสตาปัตติผล
อัมพสักขรเปตวัตถุที่ ๑ จบ
๒. เสรีสกเปตวัตถุ
เรื่องเสรีสกเปรต
(พระควัมปติกล่าวว่า)
[๖๐๔] ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเทวดาและพวกพ่อค้า
ที่ได้มาพบกันในทางทะเลทรายในคราวนั้น
และขอเชิญทุกท่านฟังถ้อยคำตามที่เทวดา
และพวกพ่อค้ากล่าวสนทนากัน

เชิงอรรถ :
๑ สามัญญผล แปลว่า ผลแห่งความเป็นสมณะ ความเป็นสมณะ หมายถึงการบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา
พระผู้มีพระภาคทรงพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การบวชได้ผลเห็นประจักษ์ (หมายถึงการบรรลุมรรค ๔ ผล ๔
นิพพาน ๑ ไปตามลำดับ) (สุตฺต ๙/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๐๕] ยังมีพระราชาผู้ทรงยศพระนามว่า ปายาสิ
ได้เกิดร่วมกับหมู่ภุมเทวดา
มีบริวารยศบันเทิงอยู่ในวิมานของตน
เป็นเทวดาแต่ได้มาสนทนากับพวกมนุษย์
(เสรีสกเทพบุตรถามพวกพ่อค้าด้วยคาถาว่า)
[๖๐๖] มนุษย์ทั้งหลายผู้กลัวทางคดเคี้ยว
มีใจหวาดหวั่นอยู่ในที่น่าระแวงว่ามีภัย ในป่า ในถิ่นของอมนุษย์
ในทางกันดาร ซึ่งมีน้ำมีอาหารไม่เพียงพอ
เดินไปได้แสนยาก ท่ามกลางทะเลทราย
[๖๐๗] ในทางทะเลทรายนี้ ไม่มีผลไม้ ไม่มีเผือกมัน ไม่มีเชื้อไฟ
ในทางทะเลทรายนี้ จักหาอาหารได้แต่ที่ไหน
นอกจากฝุ่นและทรายที่แดดแผดเผาทั้งร้อน ทั้งทารุณ
[๖๐๘] ที่นี้เป็นที่ดอน ร้อนดังแผ่นเหล็กเผาไฟ
หาความสบายมิได้ เทียบเท่านรก
สถานที่นี้เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกหยาบช้ามีปีศาจเป็นต้น
เป็นภูมิประเทศเหมือนถูกสาปไว้
[๖๐๙] อนึ่ง พวกท่านหวังอะไร
เพราะเหตุไรจึงไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน
ตามกันเข้ามายังประเทศถิ่นนี้พร้อมกัน
เพราะความโลภ ความกลัว หรือเพราะความหลง
(พวกพ่อค้าตอบว่า)
[๖๑๐] พวกข้าพเจ้านั้นเป็นพ่อค้าเกวียนอยู่ในแคว้นมคธและแคว้นอังคะ
ต้องการทรัพย์ หวังกำไร
จึงบรรทุกสินค้ามามาก
พากันไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น