Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๖ หน้า ๒๖๗ - ๓๒๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๖ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เปตวัตถุ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๑๑] กลางวัน พวกข้าพเจ้าทุกคนทนความกระหายน้ำไม่ได้
ทั้งมุ่งหวังจะอนุเคราะห์สัตว์พาหนะ
จึงรีบเดินทางมาในกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาวิกาล
[๖๑๒] พวกข้าพเจ้าไปผิดทาง จึงหลงทาง
สับสนเหมือนคนตาบอด
เดินหลงเข้าไปในป่าที่ไปได้ยากแสนยาก
ท่ามกลางทะเลทราย เกิดงุนงงสงสัย ไม่รู้ทิศทาง
[๖๑๓] ท่านที่ควรบูชา พวกข้าพเจ้าได้พบวิมานอันประเสริฐ
และตัวท่านซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนนี้
จึงหวังจะรอดชีวิตยิ่งกว่าแต่ก่อน
เพราะได้เห็น จึงพากันร่าเริง ดีใจและเบิกบานใจ
(เทพบุตรถามว่า)
[๖๑๔] เพราะโภคทรัพย์เป็นต้นเหตุ
พวกท่านจึงพากันไปยังทิศทางต่าง ๆ
คือ ฝั่งสมุทรทะเลทรายทางที่ต้องใช้เครื่องหวาย
ทางที่ต้องตอกทอย๑ ทางที่มีแม่น้ำ
และทางภูเขาที่ไปได้ยาก
[๖๑๕] พ่อค้าทั้งหลาย พวกท่านได้ไปยังแคว้นของพระราชาอื่น ๆ
พบเห็นผู้คนชาวต่างประเทศ
พวกเราขอฟังสิ่งอัศจรรย์
ที่พวกท่านได้ยิน หรือได้เห็นมา

เชิงอรรถ :
๑ ตอกทอย หมายถึง การตีลูกทอยคือไม้แหลม ๆ ที่ทำเป็นตะปูตีเข้าที่ต้นไม้ (หรือที่หน้าผาเพื่อทำเป็น
บันไดไต่ขึ้นไป) (ขุ.วิ.อ. ๑๒๓๘/๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้าตอบว่า)
[๖๑๖] พ่อกุมาร สมบัติของมนุษย์ที่ผ่านมาทั้งหมด
ซึ่งอัศจรรย์กว่าวิมานของท่านแม้นี้
พวกข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็นหรือได้ยิน
วิมานของท่านซึ่งมีรัศมีไม่เลว
พวกข้าพเจ้าแลดูแล้วไม่อิ่มเลย
[๖๑๗] ที่วิมานของท่านมีสระโบกขรณี ลอยอยู่ในอากาศ
มีสวนดอกไม้มากมาย มีบัวขาวมาก
มีหมู่ไม้ผลิดอกออกผลเป็นนิตย์
โชยกลิ่นหอมตลบอบอวล
[๖๑๘] เสาวิมานเหล่านี้เป็นเสาแก้วไพฑูรย์ สูงร้อยศอก
ประดับด้วยแก้วผลึก แก้วประพาฬ แก้วลาย และทับทิม
มีรัศมีโชติช่วง
[๖๑๙] วิมานของท่านนี้มีเสา ๑,๐๐๐ ต้น
ภายในประกอบด้วยแก้ว
ภายนอกล้อมรอบด้วยไพทีทองคำ๑
และมุงบังอย่างดีด้วยแผ่นทองคำ
มีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้
งามอยู่บนเสาเหล่านั้น
[๖๒๐] วิมานของท่านนี้สว่างไสวด้วยทองชมพูนุชชั้นเยี่ยม
ทุกส่วนของวิมานเกลี้ยงเกลาดี
ประกอบด้วยบันไดและพื้นน่าพอใจ มั่นคง
งดงาม มีส่วนประกอบกลมกลืน
ชวนพิศอย่างยิ่ง น่าชอบใจ

เชิงอรรถ :
๑ เวทีที่ทำด้วยทอง เพื่อใช้ประโยชน์ในการฟ้อนรำขับร้อง หรือบางแห่งใช้ตั้งเครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๒๑] ภายในวิมานแก้ว มีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์
ตัวท่านมีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อม
กึกก้องด้วยเสียงตะโพน เปิงมางและดุริยางค์
เป็นผู้ที่ทวยเทพนอบน้อมแล้วด้วยการชมเชยและกราบไหว้
[๖๒๒] ตัวท่านนั้นมีอานุภาพสุดที่จะคิด
ประกอบด้วยคุณทุกอย่าง
ผู้อันหมู่เทพนารีปลุกเร้า
บันเทิงอยู่ในวิมานปราสาทที่ประเสริฐ น่ารื่นรมย์ใจ
เหมือนท้าวเวสวัณบันเทิงอยู่ในนฬินีสถาน๑
[๖๒๓] ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นยักษ์
เป็นท้าวสักกะจอมเทพ หรือเป็นมนุษย์
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่าน
โปรดบอกด้วยเถิด ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๒๔] ข้าพเจ้าเป็นเทวดาชื่อเสรีสกะ เป็นผู้รักษาทางกันดาร
คุ้มครองทางทะเลทราย ทำตามคำสั่งท้าวเวสวัณ
จึงดูแลรักษาประเทศถิ่นนี้อยู่
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๖๒๕] วิมานนี้ท่านได้ตามความปรารถนา
หรือเกิดโดยความเปลี่ยนแปลง
ท่านทำเองหรือเทวดาทั้งหลายมอบให้
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า
วิมานที่น่าชอบใจนี้ท่านได้มาอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ สถานที่ทรงเล่นกีฬาสนามกีฬา (ขุ.วิ.อ. ๑๒๔๖/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๒๖] วิมานนี้มิใช่ข้าพเจ้าได้ตามความปรารถนา
มิใช่เกิดโดยการเปลี่ยนแปลง
มิใช่ข้าพเจ้าทำเองทั้งมิใช่เทวดาทั้งหลายมอบให้
วิมานที่น่าชอบใจนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามของตน
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๖๒๗] อะไรเป็นข้อปฏิบัติและเป็นพรหมจรรย์ของท่าน
นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมอะไรที่ท่านสั่งสมไว้ดีแล้ว
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า
วิมานนี้ท่านได้มาอย่างไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๒๘] ข้าพเจ้าได้มีนามว่าปายาสิ
เมื่อครั้งข้าพเจ้าครองราชสมบัติแคว้นโกศล
ข้าพเจ้าเป็นนัตถิกทิฏฐิ๑
เป็นคนตระหนี่ มีธรรมเลวทราม
และมีปกติกล่าวว่าขาดสูญ๒
[๖๒๙] ได้มีสมณะ ผู้พหูสูต นามว่ากุมารกัสสปะ
ซึ่งเลิศทางกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรไพเราะ
ครั้งนั้นท่านได้กล่าวธรรมกถาโปรดข้าพเจ้า
ได้ช่วยบรรเทาทิฏฐิที่เป็นข้าศึกทางใจของข้าพเจ้าได้

เชิงอรรถ :
๑ มีความเห็นผิดว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองเอง
(สุตฺต. ๙/๑๖๘/๕๔)
๒ การกล่าวว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบูชายัญไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี
ทำชั่วไม่มีผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มีคุณ ฯลฯ (สุตฺต. ๙/๑๗๑/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๓๐] ข้าพเจ้าฟังธรรมกถาของท่านแล้ว
ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก
งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๖๓๑] ข้อนั้นเป็นข้อปฏิบัติและเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า
นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมนั้นที่ข้าพเจ้าสั่งสมไว้ดีแล้ว
วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามนั้นนั่นเอง
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๖๓๒] ทราบมาว่า คนมีปัญญาทั้งหลายพูดแต่คำจริง
คำพูดของบัณฑิตทั้งหลายจึงไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
คนทำบุญไว้จะไปที่ใด ย่อมมีแต่สิ่งที่น่ารักน่าใคร่
บันเทิงอยู่ในที่นั้น
[๖๓๓] ณ ที่ใด มีความโศก ความร่ำไห้
การฆ่า การจองจำ และเหตุเกิดเรื่องเลวร้าย
คนทำบาปไว้ก็จะไปในที่นั้น
ไม่พ้นจากคติที่ชั่วไปได้ไม่ว่าในกาลไหน
[๖๓๔] พ่อกุมาร เพราะเหตุอะไรหนอ
เทพบริวารจึงเป็นเสมือนผู้ฟั่นเฟือนไปในชั่วครู่นี้
เหมือนน้ำใสถูกกวนให้ขุ่น
เพราะเหตุไรหนอ
เทพบริวารนี้และตัวท่านจึงได้มีความโทมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๓๕] พ่อทั้งหลาย กลิ่นทิพย์เหล่านี้
โชยกลิ่นหอมระรื่นจากป่าไม้ซึก
หอมตลบอบอวลทั่ววิมานนี้
กำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
[๖๓๖] ล่วงไป ๑๐๐ ปี เปลือกฝักไม้ซึกเหล่านี้
แต่ละฝักก็จะแตกออก
เป็นที่รู้กันว่า ๑๐๐ ปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว
ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดในหมู่เทวดานี้
[๖๓๗] พ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้เห็นแล้วว่า
ข้าพเจ้าจักดำรงอยู่ในวิมานนี้อีก ๕๐๐ ปีทิพย์
แล้วจึงจุติ เพราะสิ้นบุญ สิ้นอายุ
ข้าพเจ้าจึงซบเซา เพราะความโศกนั้นนั่นเอง
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๖๓๘] ผู้ที่ได้วิมานซึ่งหาที่เปรียบมิได้เป็นเวลานานเช่นนั้น
จะพึงเศร้าโศกไปทำไมเล่า
แต่พวกผู้มีบุญน้อยเข้าอยู่วิมานชั่วเวลาสั้นนั้นแหละ
ควรเศร้าโศกแท้
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๖๓๙] พ่อทั้งหลาย ข้อที่ท่านทั้งหลายกล่าววาจาที่น่ารักกับข้าพเจ้า
นั่นเป็นการกล่าวตักเตือนอันสมควรแก่ข้าพเจ้า
ส่วนข้าพเจ้าจะตามคุ้มครองท่านทั้งหลาย
เชิญท่านทั้งหลายไปยังที่
ที่ท่านทั้งหลายปรารถนาโดยความสวัสดีเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๖๔๐] พวกข้าพเจ้าต้องการทรัพย์ หวังกำไร
จึงพากันไปยังสินธุประเทศ และโสวีระประเทศ
แล้วจักประกอบกรรมที่ได้รับรองไว้ตามสมควร
มีการเสียสละอย่างบริบูรณ์
กระทำการบูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๖๔๑] ท่านทั้งหลาย อย่าได้ทำการบูชาเสรีสกเทพบุตรเลย
สิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดถึงทั้งหมด จักมีแก่พวกท่าน
ท่านทั้งหลายจงงดเว้นกรรมชั่วและจงตั้งใจประกอบตามธรรม
[๖๔๒] ในหมู่พ่อค้าเกวียนนี้ มีอุบาสกผู้เป็นพหูสูต
มีศีลและวัตร มีศรัทธา มีจาคะ
มีศีลเป็นที่รักอย่างยิ่ง
มีวิจารณญาณ สันโดษ มีความรู้
[๖๔๓] ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่
ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกกัน
พูดแต่วาจาอ่อนหวานละมุนละม่อม
[๖๔๔] เขามีความเคารพ ยำเกรง มีวินัย
ไม่เป็นคนเลว เป็นผู้บริสุทธิ์ในอธิศีล
มีความประพฤติประเสริฐ
เลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม
[๖๔๕] เขาเห็นจะแสวงหาโภคทรัพย์ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา
มิใช่เพราะเหตุแห่งตน เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป
เขาก็น้อมไปในเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๔๖] เขาเป็นคนซื่อตรง ไม่คดโกง
ไม่โอ้อวด ไม่เจ้าเล่ห์ ไม่พูดมีเลศนัย
เขาทำแต่กรรมดี
ตั้งอยู่ในธรรมเช่นนี้ จะพึงได้รับทุกข์อย่างไรเล่า
[๖๔๗] เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงได้ปรากฏตัว
พ่อค้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเห็นธรรมเถิด
เพราะเว้นอุบาสกนั้นเสียแล้ว
ท่านทั้งหลายจะสับสน
เหมือนคนตาบอดหลงเข้าไปในป่าเป็นเถ้าถ่านไป
การทอดทิ้งผู้อื่นเป็นการง่ายสำหรับคนทั่วไป
(แต่เป็นการยากสำหรับสัตบุรุษ)
คบหาสัตบุรุษจึงนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๖๔๘] อุบาสกคนนั้นคือใคร และทำงานอะไร
เขาชื่ออะไร และโคตรอะไร
ข้าแต่เทวดา แม้ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ก็ต้องการจะเห็นอุบาสกนั้นที่ท่านมาที่นี้
เพื่อช่วยเหลืออุบาสกที่ท่านชอบ เป็นคนโชคดี
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๔๙] ผู้ที่เป็นกัลบกมีชื่อว่าสัมภวะ
อาศัยการตัดผมเลี้ยงชีพ
เป็นคนรับใช้ของพวกท่าน
ท่านทั้งหลายจงรู้ว่าเป็นอุบาสก
ท่านทั้งหลายอย่าดูหมิ่นเขา
เขาเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๖๕๐] ข้าแต่เทวดา พวกข้าพเจ้ารู้จักช่างตัดผมคนที่ท่านพูดถึงดี
แต่ไม่รู้จักว่า เขาเป็นคนเช่นนี้เลย
แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายฟังคำของท่านแล้ว
ก็จักบูชาอุบาสกนั้นอย่างโอฬาร
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๖๕๑] พวกผู้คนในกองเกวียนนี้
ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่ หรือคนปูนกลาง
ทั้งหมดทุกคนนั้น เชิญขึ้นไปบนวิมาน
พวกคนตระหนี่จงดูผลของบุญทั้งหลาย
(พระธรรมสังคีติกาจารย์กล่าว ๖ คาถาในตอนจบเรื่องว่า)
[๖๕๒] พ่อค้าทุกคน ณ ที่นั้น
ต่างคนต่างเข้าห้อมล้อมช่างตัดผมนั้น
พากันขึ้นวิมานซึ่งเสมือนภพดาวดึงส์ของท้าววาสวะ
พร้อมกล่าวว่า เราก่อน ๆ
[๖๕๓] พ่อค้าทุกคนนั้นต่างประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นว่า
เราก่อน ๆ แล้วได้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๖๕๔] พ่อค้าทุกคน ครั้นต่างคนต่างประกาศความเป็นอุบาสก
ณ ที่นั้นแล้วได้ไปยังสถานที่ที่ตนปรารถนาโดยสวัสดี
หมู่พ่อค้าเกวียนบันเทิงอยู่ด้วยเทวฤทธิ์เนือง ๆ
ได้รับอนุญาตแล้วหลีกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๕๕] พ่อค้าเหล่านั้นต้องการทรัพย์ หวังกำไร
ไปถึงสินธุและโสวีระประเทศ พยายามค้าขายตามปรารถนา
มีลาภบริบูรณ์ กลับมาเมืองปาฏลีบุตรโดยปลอดภัย
[๖๕๖] พ่อค้าเหล่านั้นไปเรือนของตน
มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา
มีจิตเพลิดเพลิน ดีใจ ปลาบปลื้ม
บูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร
ได้ช่วยกันสร้างเทวาลัยชื่อเสรีสกะขึ้น
[๖๕๗] การคบสัตบุรุษให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้
การคบผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก
พ่อค้าทั้งหมดได้ประสบความสุข
เพราะผลอันสืบเนื่องมาจากอุบาสกคนเดียว
เสรีสกเปตวัตถุที่ ๒ จบ
ภาณวารที่ ๓ จบ
๓. นันทกเปตวัตถุ๑
เรื่องนันทกเปรต
(เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า)
[๖๕๘] มีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าปิงคลกะ
เป็นใหญ่แห่งชาวสุรัฏฐวิสัย เสด็จไปเฝ้าพระเจ้าโมริยะแล้ว
กลับมาถึงทางที่จะไปยังสุรัฏฐวิสัยอีก
[๖๕๙] เสด็จมาถึงทางโค้ง ในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นเวลาร้อน
ได้ทอดพระเนตรเห็นทางที่น่ารื่นรมย์
เป็นทางทรายที่เปรตเนรมิตไว้นั้น

เชิงอรรถ :
๑ เรื่องนี้เกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๒๐๐ ปี (ขุ.เป.อ. ๑๒๓/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๖๐] จึงตรัสบอกนายสารถีว่า
“ทางนี้น่ารื่นรมย์ ปลอดภัย สะดวก ปลอดโปร่ง
สารถี พวกเราตรงไปทางนี้แหละ
จากที่นี้ไปไม่ไกลก็จะถึงสุรัฏฐประเทศ”
[๖๖๑] พระเจ้าสุรัฏฐ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทางนั้น
พร้อมด้วยกองทัพ ๔ เหล่า
บุรุษคนหนึ่งตกใจกลัวได้กราบทูลพระเจ้าสุรัฏฐ์ ดังนี้ว่า
[๖๖๒] “พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัว
น่าขนพองสยองเกล้า
เพราะทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ
[๖๖๓] พวกเราเดินผิดทางเสียแล้ว เห็นจะมาใกล้พวกเปรต
กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งมา ข้าพระองค์ได้ยินเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว”
[๖๖๔] พระเจ้าสุรัฏฐ์ทรงตกพระทัย ตรัสกับนายสารถีดังนี้ว่า
“พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัวน่าขนพองสยองเกล้า
ทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ
[๖๖๕] พวกเราเดินผิดทางเสียแล้ว เห็นจะมาใกล้พวกเปรต
กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งมา เราได้ยินเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว”
[๖๖๖] จึงเสด็จขึ้นคอช้าง ทอดพระเนตรไปทั่วทั้ง ๔ ทิศ
ทรงเห็นต้นไทรย้อยต้นหนึ่ง มีร่มหนาทึบดี
เขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ
[๖๖๗] จึงรับสั่งกับนายสารถีว่า “ป่าใหญ่เขียวชอุ่มดุจสีเมฆ
ทั้งสีและสัณฐานคล้ายเมฆ ปรากฏอยู่นั่นใช่ไหม”
(นายสารถีกราบทูลว่า)
[๖๖๘] “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า นั้นต้นไทรย้อย มีร่มหนาทึบดี
เขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๖๙] พระเจ้าสุรัฏฐ์เสด็จพระราชดำเนินไปจนถึงป่าใหญ่
ซึ่งเขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ
ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ ปรากฏอยู่
[๖๗๐] เสด็จลงจากคอช้างแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ต้นไม้
ประทับนั่งที่โคนต้น พร้อมทั้งหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพาร
ได้ทอดพระเนตรเห็นขันน้ำเต็มและขนมที่ถูกพระทัย
[๖๗๑] บุรุษผู้มีรูปลักษณ์ดั่งเทพ ประดับอาภรณ์พร้อมสรรพ
เข้าไปเฝ้าพระเจ้าสุรัฏฐ์แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า
[๖๗๒] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
และก็มิได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงกำจัดศัตรู
เชิญพระองค์ผู้ประเสริฐเสวยน้ำ และเสวยขนมเถิด
[๖๗๓] พระเจ้าสุรัฏฐ์พร้อมด้วยอำมาตย์และข้าราชบริพาร
พากันดื่มน้ำและกินขนมแล้ว จึงตรัสถามว่า
[๖๗๔] ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
พวกเราไม่รู้จักจึงขอถามท่าน
พวกเราจะพึงรู้จักท่านได้อย่างไร
(นันทกเปรตกราบทูลว่า)
[๖๗๕] ข้าพระองค์ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
ทั้งไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ
ข้าพระองค์เป็นเปรต มาจากถิ่นสุรัฏฐวิสัย มาอยู่ที่นี้
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๖๗๖] เมื่อก่อน ท่านอยู่ในสุรัฏฐวิสัย
มีปกตินิสัยอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร
เพราะความดีอะไร ท่านจึงมีอานุภาพอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
(นันทกเปรตกราบทูลว่า)
[๖๗๗] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราชศัตรู
ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์ทรงสดับความนั้น
อำมาตย์ ข้าราชบริพาร และพราหมณ์ ปุโรหิต ก็เชิญสดับด้วย
[๖๗๘] ขอเดชะ(เมื่อก่อน) ข้าพระองค์เป็นบุรุษ อยู่ในสุรัฏฐวิสัย
เป็นคนใจบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิ๑ ทุศีล ตระหนี่
และด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
[๖๗๙] เมื่อชนเหล่าอื่นกำลังทำบุญให้ทาน
ข้าพเจ้าก็ทำอันตรายเสีย ซ้ำยังห้ามหมู่ชนว่า
[๖๘๐] ผลทานไม่มี ผลแห่งความสำรวมจักมีแต่ที่ไหน
ใครผู้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ไม่มี
ใครเล่าจักฝึกฝนบุคคลผู้ไม่เคยฝึกฝนได้
[๖๘๑] สัตว์ทั้งหลายเท่าเทียมกัน
ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลจึงไม่ต้องมี
กำลังหรือความเพียรก็ไม่ต้องมี
ความพากเพียรของบุรุษจักมีแต่ที่ไหน
[๖๘๒] ธรรมดาผลทานย่อมไม่มี
ใครจะทำบุคคลผู้มีเวรให้หมดจดด้วยทานไม่ได้
สัตว์ย่อมได้สุขหรือทุกข์ที่ควรได้เอง
สุขหรือทุกข์ที่เกิดจากการแปรผัน สัตว์นำมาเอง
[๖๘๓] มารดาไม่มี บิดาไม่มี พี่ชายไม่มี น้องชายไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผล การบูชาก็ไม่มีผล
ทานและการบูชาที่ตั้งไว้ดีแล้วก็ไม่มีผล

เชิงอรรถ :
๑ แสดงความเห็นผิดว่า การทำบุญ การให้ทานเป็นต้นไม่มีผล (ขุ.เป.อ. ๖๗๘/๒๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๘๔] คนแม้ฆ่าคน (หรือ) ตัดคอคนอื่น ก็ไม่ชื่อว่าใครฆ่าใคร
เป็นแต่ศัสตรา เสียบเข้าไปในระหว่างช่องกายทั้ง ๗ ช่อง๑
[๖๘๕] ชีวะ๒ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ถูกตัด ไม่ถูกทำลาย
บางคราวมี ๘ เหลี่ยม บางคราวกลมเหมือนงบน้ำอ้อย
บางคราวสูง ๕๐๐ โยชน์ ใครเล่าสามารถจะตัดชีวะให้ขาดได้
[๖๘๖] เหมือนเมื่อกลุ่มด้ายที่ถูกขว้างไป
กลุ่มด้ายนั้นย่อมคลายกลิ้งไปได้ ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแหวกหนีออกไปจากร่างได้
[๖๘๗] เหมือนบุคคลออกจากบ้านหนึ่ง เข้าสู่บ้านหนึ่ง ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างหนึ่ง เข้าสู่อีกร่างหนึ่ง
[๖๘๘] เหมือนบุคคลออกจากเรือนหลังหนึ่ง เข้าสู่อีกเรือนหลังหนึ่ง ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างหนึ่ง เข้าสู่อีกร่างหนึ่ง
[๖๘๙] ครั้นสิ้นกำหนด ๘,๔๐๐,๐๐๐ มหากัป
สัตว์ทั้งหลายจะเป็นพาลหรือบัณฑิตก็ตาม
จักยังสังสารวัฏให้สิ้นไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง
[๖๙๐] สุขและทุกข์ เหมือนตักตวงได้ด้วยทะนานและกระบุง
พระชินเจ้าย่อมรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หมู่สัตว์นอกนี้ล้วนเป็นผู้ลุ่มหลง
[๖๙๑] เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ จึงได้เป็นคนหลง
ถูกโมหะครอบงำ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล ตระหนี่
และด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
[๖๙๒] ภายใน ๖ เดือน ข้าพระองค์จักตาย
จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า กายทั้ง ๗ ในลัทธินี้ หมายถึงสภาวะ ๗ กอง ได้แก่ กองแห่งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทุกข์และชีวะ
(ดู ลัทธิของครูปกุธะ กัจจายตนะ ใน ที.สี. ๙/๑๗๓)
๒ คำว่า ชีวะ ในที่นี้ เทวดากล่าวหมายถึง ดวงชีพ ตรงกับอาตมันหรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๙๓] นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม มีประตู ๔ ด้าน
กรรมสร้างจำแนกไว้เป็นส่วน ๆ
ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็ก ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก
[๖๙๔] พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง
ประกอบด้วยความร้อน
แผ่ไปรอบตลอดร้อยโยชน์อยู่ตลอดกาล
[๖๙๕] ล่วงไป ๑๐๐,๐๐ ปี ในกาลนั้น ข้าพระองค์ได้ยินเสียงอื้ออึง
(ว่า เพื่อนยากทั้งหลายเมื่อพวกท่านไหม้อยู่ในนรกนี้
กาลประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีล่วงไปแล้ว)
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ๑๐๐ โกฏิปีเป็นกำหนดของนรก
[๖๙๖] ชนทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล และติเตียนพระอริยะ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิปี
[๖๙๗] ข้าพระองค์จักเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นเป็นเวลายาวนาน
นี้เป็นผลกรรมอันชั่วช้าของข้าพระองค์
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกอย่างหนัก
[๖๙๘] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราช ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
ขอพระองค์ทรงสดับความนั้น
ขอความเจริญจงมีแด่ข้าพระองค์และอุตตราธิดาของข้าพระองค์
[๖๙๙] นางทำแต่กรรมดี ยินดีแล้วในนิจศีลและอุโบสถศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ และยินดีในทาน
[๗๐๐] เป็นสะใภ้ตระกูลอื่นก็ยังคงรักษาศีลไม่บกพร่องอยู่เป็นนิตย์
และเป็นอุบาสิกาของพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสิริ
[๗๐๑] ภิกษุรูปหนึ่ง มีศีลสมบูรณ์ สำรวมตา มีสติ คุ้มครองอินทรีย์
สำรวมระวังเป็นอันดี เข้ามาบิณฑบาตยังหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๗๐๒] เดินไปตามลำดับตรอก ได้มาถึงบ้านนั้น
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์
นางอุตตราได้เห็นภิกษุนั้นแล้ว
[๗๐๓] นางได้ถวายน้ำดื่มเต็มขันและขนมอย่างวิจิตรแล้ว
อุทิศว่า ขอผลทานที่ดิฉันถวายแล้วนี้
จงสำเร็จแก่บิดาของดิฉันซึ่งตายไปแล้วเถิด เจ้าค่ะ
[๗๐๔] ในขณะที่นางอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง วิบากก็เกิดขึ้น
ข้าพระองค์สำเร็จความประสงค์ดังปรารถนา
บริโภคกามสุขอยู่ เหมือนท้าวเวสวัณมหาราช
[๗๐๕] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราช
ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์จงทรงสดับความนั้น
บัณฑิตกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เลิศของโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรส
และพระอัครมเหสี ทรงถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่า
เป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
[๗๐๖] ชนทั้งหลายย่อมบรรลุอมตบทด้วยมรรคมีองค์ ๘
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบอริราช
ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระอัครมเหสี
จงทรงถึงพระธรรมนั้น ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
[๗๐๗] พระอริยบุคคลผู้บรรลุอริยมรรค ๔
และพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในอริยผล ๔ ชื่อว่าพระสงฆ์
ผู้ปฏิบัติตรง มีศีล สมาธิและปัญญา
ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระอัครมเหสี
ทรงถึงพระสงฆ์นั้น ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๗๐๘] ขอพระองค์ทรงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์
ทรงยินดีเฉพาะพระมเหสีของพระองค์
ไม่ตรัสคำเท็จ ไม่เสวยน้ำจัณฑ์เถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๐๙] เทวดาผู้ควรบูชา ท่านเป็นผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา
เราจะทำตามคำของท่าน
ท่านเป็นอาจารย์ของเรา
[๗๑๐] เราขอถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
พระธรรมอันยอดเยี่ยม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๗๑๑] เราจะรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
จะไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๗๑๒] เราจะผ่อนคลายความเห็นชั่ว
เหมือนโปรยแกลบให้ลอยไปตามลมแรง
หรือเหมือนทิ้งเศษไม้ใบหญ้าลงกระแสน้ำเชี่ยว
และยินดีในพระพุทธศาสนา
[๗๑๓] พระเจ้าสุรัฏฐ์เมื่อตรัสดังนี้แล้ว
ทรงงดเว้นจากความเห็นชั่ว
ทรงนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว
เสด็จทรงรถพระที่นั่ง
บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
นันทกเปตวัตถุที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๔. เรวตีเปตวัตถุ
๔. เรวตีเปตวัตถุ
เรื่องนางเรวดีเปรต
(ยักษ์บริวารของท้าวเวสวัณปรารถนาจะจับนางเรวดีโยนลงไปในอุสสทนรก
จึงกล่าวว่า)
[๗๑๔] จงลุกขึ้น นางเรวดีผู้แสนจะชั่วช้า มีปกติไม่ให้ทาน
ประตู(นรก)เปิดแล้ว
พวกเราจะนำเจ้าไปโยนลงนรก
อันเป็นสถานที่ทอดถอนใจของเหล่าสัตว์นรก
ผู้มีความทุกข์ทรมานทนทุกข์อยู่
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า)
[๗๑๕] ยักษ์ใหญ่ตาแดงสองตนดุจทูตพญายมนั้น ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว
ก็จับแขนนางเรวดีคนละข้าง พาไปใกล้หมู่เทวดา
(นางเรวดีถามยักษ์สองตนว่า)
[๗๑๖] นั่นวิมานของใคร มีรัศมีแสงอาทิตย์ น่าพอใจ
เรืองรอง งดงาม น่าอยู่อาศัย ปกคลุมด้วยตาข่ายทอง
เนืองแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา รุ่งโรจน์ดังแสงอาทิตย์
[๗๑๗] หมู่เทพนารีลูบไล้กายด้วยแก่นจันทน์หอม
ช่วยทำวิมานทั้งภายในและภายนอกให้งดงาม
วิมานนั้นมีรัศมีปรากฏเสมอด้วยแสงอาทิตย์
คนที่ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมานเป็นใครกัน
(ยักษ์สองตนจึงบอกแก่นางเรวดีว่า)
[๗๑๘] ที่กรุงพาราณสี มีอุบาสกชื่อนันทิยะ
เป็นคนไม่ตระหนี่ เป็นทานบดี รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
วิมานที่เนืองแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา
รุ่งโรจน์ดังแสงอาทิตย์นั้นเป็นของนันทิยอุบาสก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๔. เรวตีเปตวัตถุ
[๗๑๙] หมู่เทพนารีลูบไล้กายด้วยแก่นจันทน์หอม
ช่วยทำวิมานทั้งภายในและภายนอกให้งดงาม
วิมานนั้นมีรัศมีปรากฏเสมอด้วยแสงอาทิตย์
คนที่ขึ้นสวรรค์ บันเทิงอยู่ในวิมาน คือ นันทิยอุบาสก
(นางเรวดีกล่าวว่า)
[๗๒๐] ฉันเป็นภรรยาของนันทิยอุบาสก
เป็นใหญ่ในเรือน เป็นใหญ่ในทรัพย์สินทั้งหมดของสามี
บัดนี้ ฉันจะรื่นรมย์ในวิมานของสามี
ไม่ปรารถนาจะเห็นนรก
(ยักษ์สองตนนั้นไม่ยอมเชื่อจึงพาตัวนางลงไปใกล้อุสสทนรกแล้วกล่าวว่า)
[๗๒๑] นางผู้แสนจะชั่วช้า นี่แหละนรกสำหรับเจ้า
บุญเจ้าไม่ได้ทำไว้ในมนุษยโลก
เพราะคนตระหนี่มักโกรธมีบาปธรรม
ย่อมไม่ได้อยู่ร่วมกับผู้เกิดในสวรรค์
(นางเรวดีเห็นนายนิรยบาลสองตนพากันมาฉุดคร่าตนเพื่อจะโยนลงไปในคูถนรก
ชื่อว่าสังสวกะ จึงถามถึงนรกนั้นว่า)
[๗๒๒] ทำไมหนอจึงปรากฏแต่อุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งสกปรก
เหตุไฉน อุจจาระนี้จึงมีกลิ่นเหม็นร้ายกาจ คละคลุ้งไปเล่า
(นายนิรยบาลตอบว่า)
[๗๒๓] นางเรวดี นรกที่เจ้าจะหมกไหม้อยู่หลายพันปีนี้
มีชื่อว่าสังสวกนรก ลึก ๑๐๐ ชั่วคน
(นางเรวดีจึงถามว่า)
[๗๒๔] ฉันทำกรรมชั่วทางกายวาจาใจอะไรหรือหนอ
จึงตกสังสวกนรกที่ลึก ๑๐๐ ชั่วคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๔. เรวตีเปตวัตถุ
(นายนิรยบาลตอบว่า)
[๗๒๕] เจ้าลวงสมณพราหมณ์และวณิพกพวกอื่น
ด้วยการกล่าวเท็จ นั่นแหละบาปที่เจ้าทำไว้
[๗๒๖] เพราะบาปนั้นเจ้าจึงตกสังสวกนรกที่ลึกถึง ๑๐๐ ชั่วคน
นางเรวดี เจ้าจะต้องหมกไหม้อยู่ในนรกนั้นหลายพันปี
[๗๒๗] นายนิรยบาลทั้งหลาย จะตัดมือ เท้า หู แม้กระทั่งจมูก
อนึ่งแม้ฝูงนกกาก็จะพากันมารุมจิกกินเจ้าที่ดิ้นทุรนทุรายอยู่
(นางเรวดีกล่าวว่า)
[๗๒๘] โปรดเถิดพ่อคุณ ขอท่านทั้งหลายช่วยนำดิฉันกลับไปเถิด
ดิฉันจักสร้างกุศลกรรมที่คนทำแล้วได้รับความสุข
และไม่เดือดร้อนในภายหลังนั้นให้มาก
ด้วยการให้ทาน ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
การสำรวม และการฝึกอินทรีย์
(นายนิรยบาลกล่าวว่า)
[๗๒๙] เมื่อก่อน เจ้าประมาทมัวเมา บัดนี้จะมาร่ำไห้ทำไมเล่า
เจ้าจักต้องเสวยผลกรรมทั้งหลายที่เจ้าทำไว้เอง
(นางเรวดีกล่าวว่า)
[๗๓๐] ใครจากเทวโลกไปยังมนุษยโลก เมื่อถูกถาม
พึงกล่าวถ้อยคำของดิฉันอย่างนี้ว่า
ขอท่านทั้งหลายจงถวายทาน คือ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม
ที่นอน ที่นั่ง ข้าวและน้ำ
ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ปล่อยวางอาชญา
เพราะว่า คนตระหนี่ มักโกรธ มีบาปธรรม
ย่อมไม่ได้เกิดร่วมกับผู้ไปสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๔. เรวตีเปตวัตถุ
[๗๓๑] ถ้าดิฉันนั้นจากที่นี้ไป ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว
จักรู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล
จักสร้างกุศลให้มากด้วยการให้ทาน
การประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
การสำรวม และการฝึกอินทรีย์
[๗๓๒] ดิฉันจักปลูกสวนไม้ดอกไม้ผล
จักตัดทางเข้าไปในสถานที่ที่เดินลำบาก
ขุดบ่อน้ำ และตั้งน้ำดื่มไว้ด้วยใจที่ผ่องแผ้ว
[๗๓๓] จักเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
ตลอดวันปาฏิหาริยปักษ์
[๗๓๔] ดิฉันผู้สำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และจักไม่ละเลยในการให้ทาน
เพราะผลกรรมนี้ ดิฉันได้เห็นเองแล้ว
(พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ว่า)
[๗๓๕] นายนิรยบาลทั้งหลายช่วยกันจับนางเรวดี
ที่กำลังพร่ำเพ้อ ดิ้นรนไปมาอยู่อย่างนี้
ให้เท้าชี้หัวดิ่งลงไปในนรกอันน่ากลัว
(นางเรวดีได้กล่าวคาถาสุดท้ายอีกว่า)
[๗๓๖] ชาติก่อน ฉันเป็นคนตระหนี่
ด่าว่าสมณพราหมณ์
และลวงสามีด้วยเรื่องไม่จริง
จึงหมกไหม้ในนรกที่น่ากลัว
เรวตีเปตวัตถุที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๕. อุจฉุเปตวัตถุ
๕. อุจฉุเปตวัตถุ
เรื่องเปรตเจ้าของไร่อ้อย
(อุจฉุเปรตถามพระมหาโมคคัลลานเถระว่า)
[๗๓๗] ไร่อ้อยแปลงใหญ่นี้เกิดมีแก่ข้าพเจ้า เป็นผลบุญมิใช่น้อย
เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ากินอ้อยนั้นไม่ได้
ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านบอกด้วยเถิดว่า นี้เป็นผลกรรมอะไร
[๗๓๘] ข้าพเจ้าเดือดร้อน อยากจะกิน(อ้อย)
พยายามตะเกียกตะกาย ทนทุกข์
จะกินสักหน่อยหนึ่ง ก็สิ้นเรี่ยวแรง พร่ำเพ้ออยู่
นี้เป็นผลกรรมอะไร
[๗๓๙] อนึ่ง ข้าพเจ้าหมดเรี่ยวแรงแล้ว ซวนเซล้มลง
ดิ้นเร่า ๆ อยู่บนพื้นดิน เหมือนปลาดิ้นรนอยู่บนบกที่ร้อนจัด
ก็เมื่อข้าพเจ้าร้องไห้อยู่ สัตว์ทั้งหลายพากันมากินน้ำตาของข้าพเจ้า
ท่านผู้เจริญ นี้เป็นผลกรรมอะไร
[๗๔๐] ข้าพเจ้าทั้งเหน็ดเหนื่อย ทั้งหิวกระหาย
ปากคอแห้งผาก ไม่ประสบความสุขสำราญ
ท่านผู้เจริญ อย่างไรหนอ ข้าพเจ้าจึงจะกินอ้อยได้
(พระมหาโมคคัลลานเถระกล่าวว่า)
[๗๔๑] เมื่อชาติก่อน ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมไว้ด้วยตนเอง
เราจะบอก ท่านจงฟังให้เข้าใจ
[๗๔๒] ท่านเดินกินอ้อยไป
บุรุษคนหนึ่งเดินตามหลังท่าน
และเขาหวังจะกินอ้อย จึงขอท่าน
ท่านมิได้พูดอะไรกับเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๖. กุมารเปตวัตถุ
[๗๔๓] และเขาได้วิงวอนท่านซึ่งไม่พูดด้วย
ได้พูดกับท่านว่า ขอท่านให้อ้อยเถิดนาย
ท่านได้ยื่นอ้อยให้แก่บุรุษนั้นข้างหลัง
นี้เป็นผลกรรมนั้นแหละ
[๗๔๔] ขอเชิญท่านหันหลังไปหยิบเอา
ครั้นรับแล้ว เชิญกินอ้อยนั้นตามต้องการเถิด
เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจักเป็นผู้ดีใจ
ร่าเริง เบิกบาน และบันเทิงใจ
[๗๔๕] เปรตนั้นได้หันหลังไปหยิบอ้อย
ครั้นรับแล้ว กินอ้อยนั้นตามความต้องการ
เพราะเหตุนั้นแหละ เปรตนั้นจึงดีใจ
ร่าเริง เบิกบาน และบันเทิงใจ
อุจฉุเปตวัตถุที่ ๕ จบ
๖. กุมารเปตวัตถุ
เรื่องกุมารเปรต
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๗๔๖] เราได้ฟังมาดังนี้ว่า
ได้มีกุมารสององค์เป็นพระราชโอรส
ในกรุงสาวัตถี ข้างป่าหิมพานต์
[๗๔๗] พระราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์นั้น
ทรงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ทรงเพลิดเพลินด้วยอำนาจ ความยินดีในกาม
ทรงติดความสุขในปัจจุบัน
ไม่ทรงเห็นถึงความสุขในอนาคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๗. ราชปุตตเปตวัตถุ
[๗๔๘] ครั้นเคลื่อนจากความเป็นมนุษย์นี้ไปสู่ปรโลก
ไม่ปรากฏกายให้ใครเห็น
ร้องคร่ำครวญถึงกรรมชั่วครั้งก่อนของตน
ณ ที่ใกล้กรุงสาวัตถีนี้ว่า
[๗๔๙] เมื่อพระทักขิไณยบุคคลมีอยู่มากหลาย
และเมื่อไทยธรรมก็มีอยู่
แต่พวกเราไม่อาจทำบุญซึ่งจะนำความสุขมาให้
แล้วทำตนให้มีความสวัสดี(แม้เพียง)เล็กน้อย
[๗๕๐] อะไรจะพึงเลวกว่ากามนั้น
อันเป็นเหตุให้พวกเราเคลื่อนจากราชสกุลแล้วไปอยู่เปตวิสัย
เพียบพร้อมไปด้วยความหิวกระหาย
[๗๕๑] มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้เคยเป็นเจ้าของในที่ใด
ย่อมไม่ได้เป็นเจ้าของในที่นั้นอีก
เป็นผู้เจริญขึ้นแล้วเสื่อมลง ย่อมหมุนไปตามความหิวกระหาย
[๗๕๒] นรชนทราบถึงโทษ
ซึ่งเกิดมีด้วยอำนาจความเมาในความเป็นใหญ่อย่างนี้แล้ว
ละความเมาในความเป็นใหญ่ได้แล้ว พึงไปสวรรค์ได้
เขามีปัญญาเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์
กุมารเปตวัตถุที่ ๖ จบ
๗. ราชปุตตเปตวัตถุ
เรื่องเปรตราชบุตร
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๗๕๓] ผลกรรมทั้งหลายที่พระราชโอรสทำไว้ในชาติก่อนพึงย่ำยีจิตใจ
เพราะรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่น่ารื่นรมย์ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๗. ราชปุตตเปตวัตถุ
[๗๕๔] พระราชโอรสจึงได้เสวยการฟ้อนรำ ขับร้อง ความยินดี
และความสนุกสนานเป็นอันมาก
ทรงได้รับการบำรุงบำเรอในพระราชอุทยานแล้ว
จึงเสด็จเข้าไปยังภูเขาคิริพพชะ
[๗๕๕] ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธะนามว่า สุเนตร
ผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ ฝึกฝนตนแล้ว
มีจิตตั้งมั่น ปรารถนาน้อย
สมบูรณ์ด้วยหิริ ยินดีเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตรซึ่งได้มาด้วยภิกขาจาร
[๗๕๖] จึงเสด็จลงจากคอช้างแล้วได้ตรัสถามว่า
ได้ภิกษาบ้างไหม พระคุณเจ้า
ถือตัวว่าเป็นกษัตริย์
ทรงจับบาตรของพระปัจเจกพุทธะนั้นชูขึ้น
[๗๕๗] แล้วทุ่มทำลายบาตรที่พื้นดินแข็ง
ทรงพระสรวล หลีกไป(หน่อยหนึ่ง)แล้วตรัสว่า
เราเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากิตวะ
ท่านจักทำอะไรเราได้
[๗๕๘] กรรมหยาบช้ามีผลเผ็ดร้อน
ซึ่งพระราชโอรสผู้แออัดอยู่ในนรกเสวยแล้ว
[๗๕๙] พระราชโอรสทำบาปหยาบช้าไว้
จึงได้ประสบทุกข์แสนสาหัสอยู่ในนรก ๘๔๐,๐๐๐ ปี รวม ๖ ครั้ง
[๗๖๐] เธอเป็นคนพาล
นอนหงายบ้าง คว่ำบ้าง
นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวาบ้าง
ชี้เท้าขึ้นข้างบนบ้าง ยืนอยู่บ้าง
หมกไหม้อยู่สิ้นกาลนาน (ข้างละ ๘๔๐,๐๐๐ ปี)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๘. คูถขาทกเปตวัตถุ
[๗๖๑] เธอทำบาปหยาบช้าไว้
จึงประสบทุกข์แสนสาหัสอยู่ในนรกหลายพัน หลายหมื่นปี
[๗๖๒] บุคคลผู้มีการกระทำอันเป็นบาป
พากันระรานฤๅษีผู้ไม่ประทุษร้ายต่อผู้ประทุษร้าย
ผู้มีข้อปฏิบัติดีงาม จึงได้เสวยทุกข์เผ็ดร้อนอย่างยิ่งเช่นนี้
[๗๖๓] เปรตผู้เป็นราชบุตรนั้นเสวยทุกข์เป็นอันมากในนรกหลายแสนปี
จุติจากนรกแล้วมาเกิดเป็นเปรตชื่อขุปปิปาสหตะ๑
[๗๖๔] นรชนทราบถึงโทษ
ซึ่งเกิดมีด้วยอำนาจความเมาในความเป็นใหญ่อย่างนี้แล้ว
พึงละความเมาในความเป็นใหญ่เสีย
แล้วประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
[๗๖๕] ผู้มีปัญญา มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์
เป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญในปัจจุบันนี่แหละ
เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์
ราชปุตตเปตวัตถุที่ ๗ จบ
๘. คูถขาทกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตกินคูถ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๗๖๖] ท่านเป็นใครหนอ โผล่ขึ้นจากหลุมคูถ ยืนเศร้าสร้อยอยู่
ท่านคงทำกรรมชั่วไว้โดยไม่ต้องสงสัย
จะร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไมเล่า

เชิงอรรถ :
๑ เปรตผู้มีแต่ความหิวกระหายตลอดเวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๘. คูถขาทกเปตวัตถุ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๗๖๗] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๖๘] ท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรท่านจึงได้รับทุกข์เช่นนี้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๗๖๙] ได้มีภิกษุรูปหนึ่งอยู่ประจำในวัดของข้าพเจ้า
มักริษยา ตระหนี่ตระกูล ผูกขาดในเรือนของข้าพเจ้า
มีใจกระด้าง มักด่าว่า(ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย)
[๗๗๐] ข้าพเจ้าเชื่อคำของท่าน ได้ด่าว่าภิกษุทั้งหลาย
เพราะผลกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๗๑] ภิกษุผู้คุ้นเคยกับตระกูลของท่านไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
มีปัญญาทราม มรณภาพแล้วไปสู่คติไหนหนอ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๗๗๒] ข้าพเจ้ายืนอยู่บนกระหม่อมศีรษะของเปรต
ซึ่งเคยเป็นภิกษุผู้ทำกรรมชั่วนั้นแหละ
และภิกษุนั้นไปเกิดเป็นเปรตผู้ปรนนิบัติของข้าพเจ้าเอง
[๗๗๓] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นถ่ายสิ่งใดลงไป
สิ่งนั้นเป็นอาหารของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าเองถ่ายสิ่งใดลงไป
เปรตซึ่งเคยเป็นภิกษุนั้นก็อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพ
คูถขาทกเปตวัตถุที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๙. คูถขาทกเปติวัตถุ
๙. คูถขาทกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตกินคูถ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๗๗๔] เธอเป็นใครหนอ โผล่ขึ้นจากหลุมคูถ ยืนเศร้าสร้อยอยู่
เธอคงทำกรรมชั่วไว้โดยไม่ต้องสงสัย
จะร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไมเล่า
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๗๗๕] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๗๖] เธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร เธอจึงได้รับทุกข์เช่นนี้
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๗๗๗] ได้มีภิกษุรูปหนึ่งอยู่ประจำในวัดของดิฉัน
มักริษยา ตระหนี่ตระกูล ผูกขาดในเรือนของดิฉัน
มีใจกระด้าง มักด่าว่า(ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย)
[๗๗๘] ดิฉันเชื่อคำของท่าน ได้ด่าว่าภิกษุทั้งหลาย
เพราะผลกรรมนั้นดิฉันจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๗๙] ภิกษุผู้คุ้นเคยกับตระกูลของเธอไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
มีปัญญาทราม มรณภาพแล้วไปสู่คติไหนหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๐. คณเปตวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๗๘๐] ดิฉันยืนอยู่บนกระหม่อมศีรษะของเปรต
ซึ่งเคยเป็นภิกษุผู้ทำกรรมชั่วนั้นแหละ
และภิกษุนั้นไปเกิดเป็นเปรตผู้ปรนนิบัติของดิฉันเอง
[๗๘๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นถ่ายสิ่งใดลงไป
สิ่งนั้นเป็นอาหารของดิฉัน
และดิฉันเองถ่ายสิ่งใดลงไป
เปรตซึ่งเคยเป็นภิกษุนั้นก็อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพ
คูถขาทกเปติวัตถุที่ ๙ จบ
๑๐. คณเปตวัตถุ
เรื่องเปรตคณะหนึ่ง
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเปรตทั้งหลายว่า)
[๗๘๒] พวกท่านเปลือยกาย มีร่างกายผ่ายผอม
มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ซูบผอม
มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น มีซี่โครงผุดขึ้น
ท่านผู้นิรทุกข์ พวกท่านเปลือยกายเป็นใครกันหนอ
(เปรตทั้งหลายตอบว่า)
[๗๘๓] พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าเป็นเปรตตกยาก
เกิดในยมโลก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๘๔] พวกท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรท่านทั้งหลายจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๐. คณเปตวัตถุ
(เปรตเหล่านั้นตอบว่า)
[๗๘๕] เมื่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นเหมือนท่าน้ำซึ่งไม่มีใครหวงห้าม
พวกข้าพเจ้า(มีความตระหนี่)จึงเก็บทรัพย์เพียงครึ่งมาสกไว้
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน (ให้ทาน)
[๗๘๖] พวกข้าพเจ้ากระหายน้ำ จึงเข้าไปใกล้แม่น้ำ
แม่น้ำกลับกลายเป็นว่างเปล่าไป
ในเวลาร้อน พวกข้าพเจ้าเข้าไปใกล้ร่มไม้
ร่มไม้กลับกลายเป็นแดดไป
[๗๘๗] ทั้งลมก็ร้อนเหมือนไฟ พัดฟุ้งเผาพวกข้าพเจ้าไป
พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าสมควรเสวยทุกข์อันมีความ
กระหายเป็นต้นนี้ และทุกข์อย่างอื่นที่หนักกว่านั้น
[๗๘๘] อนึ่งพวกข้าพเจ้าหิวโหย อยากอาหาร
พากันเดินทางไปหลายโยชน์
ก็ไม่ได้อาหารเลย จึงพากันกลับมา
พวกข้าพเจ้าช่างมีบุญน้อยเสียจริงหนอ
[๗๘๙] พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าหิวโหยอิดโรย
เป็นลมล้มสลบลงที่พื้นดิน บางครั้งล้มหงายกลิ้งไป
บางครั้งก็ล้มคว่ำ
[๗๙๐] อนึ่งพวกข้าพเจ้านั้นสลบล้มอยู่ที่พื้นดินนั้นเอง
หน้าอกและศีรษะก็กระทบกันและกัน
พวกข้าพเจ้าช่างมีบุญน้อยเสียจริงหนอ
[๗๙๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าควรจะเสวยทุกข์
มีความกระหายเป็นต้นนี้ และทุกข์อย่างอื่นที่หนักกว่านั้น
เพราะเมื่อไทยธรรมมีอยู่ ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๑. ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ
[๗๙๒] อนึ่ง พวกข้าพเจ้านั้นจากเปตโลกนี้ไปแล้ว
ได้กำเนิดเป็นมนุษย์
จักรู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล
และทำกุศลให้มากเป็นแน่
คณเปตวัตถุที่ ๑๐ จบ
๑๑. ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ
เรื่องหญิงชาวเมืองปาฏลีบุตรสนทนากับเปรต
(เวมานิกเปรตตนหนึ่งได้กล่าวกับหญิงมนุษย์คนหนึ่งว่า)
[๗๙๓] สัตว์นรกบางพวก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย
หรือแม้มนุษย์ และเทวดาเธอก็ได้เห็นแล้ว
ผลกรรมของตนเธอก็ได้เห็นด้วยตนเอง
เราจักนำเธอไปส่งยังเมืองปาฏลีบุตรซึ่งไม่มีใครหวงห้าม
เธอไปที่เมืองนั้นแล้วจงทำกุศลกรรมเถิด
(เมื่อหญิงนั้นได้ฟังแล้ว มีความปลื้มใจ จึงกล่าวตอบว่า)
[๗๙๔] เทวดาผู้ควรบูชา ท่านเป็นผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ดิฉัน
ดิฉันจะทำตามคำของท่าน
ท่านเป็นอาจารย์ของดิฉัน
[๗๙๕] สัตว์นรกบางพวก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย
หรือแม้มนุษย์ และเทวดาดิฉันก็ได้เห็นแล้ว
ผลกรรมของตนดิฉันก็ได้เห็นเองแล้ว
ดิฉันจะทำบุญให้มาก
ปาฏลิปุตตเปตวัตถุที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ
๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ
เรื่องเปรตเฝ้าสวนมะม่วง
(พวกพ่อค้าได้ถามเวมานิกเปรตตนหนึ่งว่า)
[๗๙๖] สระโบกขรณีของท่านนี้แสนจะน่ารื่นรมย์
มีพื้นราบเรียบ มีท่าน้ำงดงาม มีน้ำมาก
มีดอกไม้บานสะพรั่ง ขวักไขว่ด้วยหมู่ภมร
ท่านได้สระโบกขรณีเป็นที่เจริญใจนี้มาอย่างไร
[๗๙๗] สวนมะม่วงของท่านนี้แสนจะน่ารื่นรมย์
กำลังเผล็ดผล มีดอกบานสพรั่ง ขวักไขว่ไปด้วยหมู่ภมร
นำความสุขมาให้ ทุกฤดูกาล
ท่านได้วิมานนี้มาอย่างไร
(เวมานิกเปรตนั้นตอบว่า)
[๗๙๘] ข้าพเจ้าได้สวนมะม่วงมีร่มเงาเย็นน่ารื่นรมย์ใจในที่นี้
เพราะทานที่ธิดาของข้าพเจ้าถวายมะม่วงสุก
น้ำ ข้าวยาคูแล้วอุทิศให้
(ธิดาของเปรตนั้นบอกลูกของตนเองว่า)
[๗๙๙] ขอลูกจงดูผลแห่งทาน ความข่มใจ
และความสำรวมที่เห็นผลทันตาอย่างนี้
แม่เป็นสาวใช้ มาเป็นลูกสะใภ้เป็นใหญ่ในเรือนในตระกูลของลูก
(ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงเห็นนางมีญาณแก่กล้า จึงแผ่รัศมีไปแสดง
พระองค์ให้ปรากฏดุจประทับยืนอยู่เฉพาะหน้า แล้วได้ตรัสคาถานี้ว่า)
สิ่งที่ไม่น่าชอบใจย่อมครอบงำผู้ประมาทโดยอาการที่น่าชอบใจ
สิ่งที่ไม่น่ารักย่อมครอบงำผู้ประมาทโดยอาการที่น่ารัก
และสิ่งที่เป็นทุกข์ย่อมครอบงำผู้ประมาทได้โดยอาการที่เป็นสุข
อัมพวนเปตวัตถุที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๔. โภคสังหรเปตวัตถุ
๑๓. อักขรุกขเปตวัตถุ
เรื่องอักขรุกขเปรต
(ภุมเทวดาตนหนึ่งเตือนอุบาสกคนหนึ่งว่า)
[๘๐๐] ทายกให้สิ่งใด ผลจะเป็นสิ่งนั้นก็หาไม่
เพราะฉะนั้นบุคคลพึงให้ทานเถิด
ครั้นให้ทานแล้ว ย่อมข้ามพ้นทุกข์และความพินาศทั้งสอง
ย่อมประสบสุขทั้งสอง๑ เพราะทานนั้น
ท่านจงตื่นเถิด อย่าได้ประมาทเลย
อักขรุกขเปตวัตถุที่ ๑๓ จบ
๑๔. โภคสังหรเปตวัตถุ
เรื่องเปรตรวบรวมโภคะ
(เวลากลางคืน หญิงเปรต ๔ ตน ถูกทุกข์ครอบงำ จึงพากันร้องไห้รำพึงรำพัน
ด้วยเสียงดังอย่างน่ากลัวว่า)
[๘๐๑] พวกเรารวบรวมโภคทรัพย์ไว้โดยชอบธรรมบ้าง
ไม่ชอบธรรมบ้าง
แต่คนอื่น ๆ พากันใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
พวกเรากลับได้รับทุกข์๒
โภคสังหรเปตวัตถุที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือ สุขในภพนี้และภพหน้า ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น (ขุ.เป.อ. ๘๐๐/๒๙๘)
๒ เหตุที่เปรตเหล่านั้นได้รับทุกข์ เพราะรวบรวมโภคะไว้มากโดยทางทุจริต แล้วไม่นำไปทำประโยชน์แก่
ใคร ตายไปแล้วมาเกิดเป็นเปรต ร้องโหยหวน เสียดายทรัพย์เมื่อเห็นผู้อื่นใช้สอยทรัพย์ของตน (ขุ.เป.อ.
๘๐๑/๓๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๖. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ
เรื่องเปรตเศรษฐีบุตร
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาที่เปรต ๔ ตนเริ่มจะกล่าวตนละคาถาให้
บริบูรณ์ว่า)
[๘๐๒] เมื่อพวกเราหมกไหม้อยู่ในนรก ๖ หมื่นปีครบถ้วนบริบูรณ์
เมื่อไรจักมีความสิ้นสุด
[๘๐๓] ความสิ้นสุดไม่มี ความสิ้นสุดจะมีที่ไหน
ความสิ้นสุดจักไม่ปรากฏ
เพื่อนยาก เพราะเราและท่านได้ทำกรรมชั่วไว้อย่างนั้น
[๘๐๔] พวกเรา เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ไม่ให้ของที่มีอยู่
จึงมีชีวิตเป็นอยู่อย่างลำบาก
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ พวกเราไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน
[๘๐๕] เรานั้นจากเปตโลกนี้ไปแล้ว ได้เกิดเป็นมนุษย์
จักรู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล
ทำกุศลให้มากเป็นแน่
เสฏฐิปุตตเปตวัตถุที่ ๑๕ จบ
๑๖. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
เรื่องเปรตถูกค้อนต่อยศีรษะ
(วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นเปรตตนหนึ่ง
จึงซักถามด้วยคาถาว่า)
[๘๐๖] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงวิ่งไปมาเหมือนเนื้อที่วิ่งพล่าน
ท่านคงทำกรรมชั่วไว้โดยไม่ต้องสงสัย
จะมาร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไมเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๖. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๘๐๗] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำบาปกรรมไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[๘๐๘] ค้อนเหล็กจำนวน ๖๐,๐๐๐ ลูก
ตกมาตีกระหม่อมศีรษะของข้าพเจ้า
(พระเถระถามว่า)
[๘๐๙] ท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรท่านจึงต้องได้รับทุกข์เช่นนี้
[๘๑๐] อนึ่ง ค้อนเหล็กจำนวน ๖๐,๐๐๐ ลูก
ตกมาตีกระหม่อมศีรษะของท่าน เพราะผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๘๑๑] ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งนามว่าสุเนตร
อบรมอินทรีย์แล้ว ผู้ไม่เกิดความกลัวแต่ที่ไหน
นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๘๑๒] ข้าพเจ้าได้ดีดก้อนกรวด ทำลายกระหม่อมของท่าน
เพราะผลกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องได้รับทุกข์เช่นนี้
[๘๑๓] ค้อนเหล็กจำนวน ๖๐,๐๐๐ ลูก
ตกมาตีกระหม่อมศีรษะของข้าพเจ้า
(พระเถระกล่าวว่า)
[๘๑๔] บุรุษชั่ว เพราะความสาสมแก่เหตุของท่าน
ค้อนเหล็กจำนวน ๖๐,๐๐๐ ลูก
จึงตกมาตีกระหม่อมศีรษะของท่าน
สัฏฐิกูฏเปตวัตถุที่ ๑๖ จบ
มหาวรรคที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
๓. นันทกเปตวัตถุ ๔. เรวตีเปตวัตถุ
๕. อุจฉุเปตวัตถุ ๖. กุมารเปตวัตถุ
๗. ราชปุตตเปตวัตถุ ๘. คูถขาทกเปตวัตถุ
๙. คูถขาทกเปติวัตถุ ๑๐. คณเปตวัตถุ
๑๑. ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ ๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ
๑๓. อักขรุกขเปตวัตถุ ๑๔. โภคสังหรเปตวัตถุ
๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ ๑๖. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ

รวม ๑๖ เรื่อง ท่านจัดไว้เป็นหนึ่งวรรค
รวมวรรคที่มีในเรื่องเปรต คือ

๑. อุรวรรค ๒. อุพพริวรรค
๓. จูฬวรรค ๔. มหาวรรค

รวม ๕๑ เรื่อง ๔ ภาณวาร
เปตวัตถุ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. สุภูติเถรคาถา
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรคาถา
________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคออรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
นิทานคาถา
เชิญท่านทั้งหลายสดับคาถาซึ่งนำเข้าไปหาประโยชน์
ของท่านผู้อบรมตนได้ ผู้เป็นเช่นราชสีห์แยกเขี้ยว
ร้องคำรามอยู่ที่ซอกเขา
ท่านมีชื่อ วงศ์ตระกูล มีธรรมเป็นเครื่องอยู่
และมีจิตอันน้อมไปในธรรมตามที่ปรากฏ
เป็นผู้มีปัญญา อยู่อย่างไม่เกียจคร้าน
เห็นแจ่มแจ้ง บรรลุนิพพานแล้วในเสนาสนะอันสงัดนั้น ๆ
เมื่อเล็งเห็นผลอันเลิศแห่งหน้าที่ที่ได้ทำเสร็จแล้ว
จึงได้กล่าวข้อความนี้ไว้
๑. เอกกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. สุภูติเถรคาถา
ภาษิตของพระสุภูติเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุภูติเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑] ฝนเอ๋ย กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
จงตกตามสบายเถิด จิตเราหลุดพ้น ตั้งมั่นดีแล้ว
เราปรารภความเพียรอยู่ จงตกลงมาเถิดฝน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. ปุณณเถรคาถา
๒. มหาโกฏฐิตเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาโกฏฐิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระโกฏฐิตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒] ภิกษุสงบ งดเว้นจากการทำชั่ว พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้เหมือนลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่นไป
๓. กังขาเรวตเถรคาถา
ภาษิตของพระกังขาเรวตเถระ
ทราบว่า ท่านพระกังขาเรวตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓] เชิญท่านดูพระปัญญาของพระตถาคตทั้งหลาย
ผู้ประทานแสงสว่างและประทานดวงตา๑
ย่อมชื่อว่าทรงกำจัดความสงสัย
ของเหล่าเวไนยสัตว์ ผู้พากันมาเฝ้าเสียได้
เหมือนแสงไฟที่เจิดจ้าในเวลาค่ำคืน
๔. ปุณณเถรคาถา
ภาษิตของพระปุณณเถระ
ทราบว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔] บุคคลพึงสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลาย
ผู้มีปัญญาชี้แนะแต่ประโยชน์ถ่ายเดียว
เพราะสัตบุรุษ๒ทั้งหลายเป็นปราชญ์ ไม่ประมาท
เห็นประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา ได้บรรลุประโยชน์อันใหญ่หลวง
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก ละเอียดและสุขุม

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา (ขุ.เถร.อ. ๑/๓/๕๐)
๒ คนดี (ขุ.เถร.อ. ๑/๔/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. ภัลลิยเถรคาถา
๕. ทัพพเถรคาถา
ภาษิตของพระทัพพเถระ
ทราบว่า ท่านพระทัพพเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕] พระทัพพะผู้ฝึกได้ยาก ถูกพระศาสดาผู้ฝึกทรงฝึกแล้ว
เป็นผู้สันโดษ๑ ปราศจากความสงสัย ชนะกิเลสได้แล้ว
ปราศจากความขลาดกลัว มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว
๖. สีตวนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระสีตวนิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระสีตวนิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖] ภิกษุผู้เข้าไปสู่ป่าสีตวันแล้ว
ย่อมเป็นผู้โดดเดี่ยว สันโดษ มีจิตตั้งมั่น
ชนะกิเลสได้แล้ว ปราศจากความขนพองสยองเกล้า
มีปัญญา เจริญกายคตาสติ๒
๗. ภัลลิยเถรคาถา
ภาษิตของพระภัลลิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระภัลลิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗] ผู้ที่ขจัดเสนาพญามัจจุราช๓ได้ เหมือนกระแสน้ำหลาก
พัดพังทลายสะพานไม้อ้อซึ่งไม่มีกำลังต้านทาน
นับว่าเป็นผู้ชนะกิเลส ปราศจากความขลาดกลัว
ฝึกตนดีแล้ว มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ยินดีสิ่งของเท่าที่ตนมีอยู่ (ขุ.เถร.อ. ๑/๕/๖๙)
๒ กำหนดกายเป็นอารมณ์ (ขุ.เถร.อ. ๑/๖/๖๙)
๓ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย (ขุ.เถร.อ. ๑/๗/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. ปุณณมาสเถรคาถา
๘. วีรเถรคาถา
ภาษิตของพระวีรเถระ
ทราบว่า ท่านพระวีรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘] พระวีรเถระผู้ฝึกได้ยาก ถูกพระศาสดาผู้ฝึกทรงฝึกแล้ว
เป็นผู้สันโดษ ปราศจากความสงสัย ชนะกิเลสได้แล้ว
ปราศจากความขนพองสยองเกล้า มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว
๙. ปิลินทวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระปิลินทวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙] การที่เราได้มายังสำนักพระผู้มีพระภาคนี้เป็นการมาดีแล้ว
ไม่ไร้ประโยชน์ การที่เราได้คิดไว้ว่า จะฟังธรรมในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคแล้วบวชนี้เป็นความคิดไม่เลวเลย
เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกธรรมอันประเสริฐทั้งหลาย
เราได้บรรลุธรรมนั้นแล้ว
๑๐. ปุณณมาสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุณณมาสเถระ
ทราบว่า ท่านพระปุณณมาสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐] ผู้ที่บรรลุความรู้สูงสุด๑ เป็นผู้สงบระงับ สำรวมตนแล้ว
ไม่ข้องติดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งโลก๒
นับว่าได้กำจัดความเพ่งเล็งคือตัณหาในโลกนี้และโลกหน้าเสียได้
ปฐมวรรค จบ

เชิงอรรถ :
๑ บรรลุนิพพานด้วยมรรคญาณ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๐/๘๐)
๒ อุปาทานขันธ์ ๕ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๐/๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. มหาวัจฉเถรคาถา
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. พระสุภูติเถระ ๒. พระมหาโกฏฐิตเถระ
๓. พระกังขาเรวตเถระ ๔. พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
๕. พระทัพพบุตรเถระ ๖. พระสีตวนิยเถระ
๗. พระภัลลิยเถระ ๘. พระวีรเถระ
๙. พระปิลินทวัจฉเถระ ๑๐. พระปุณณมาสเถระ
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. จูฬวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระจูฬวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระจูฬวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑] ภิกษุที่มากด้วยความปราโมทย์ในธรรม
อันพระพุทธเจ้าทรงประกาศแล้ว
พึงบรรลุสันตบท๑อันเป็นธรรมเข้าไปสงบระงับสังขาร เป็นสุข
๒. มหาวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระมหาวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๒] ภิกษุมีพลังปัญญา สมบูรณ์ด้วยศีลและข้อปฏิบัติ
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
ฉันอาหารพออยู่ได้ ปราศจากราคะ๒
พึงรอเวลาเป็นที่ดับขันธปรินิพพานในพระศาสนานี้

เชิงอรรถ :
๑ นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๑/๘๔)
๒ ความกำหนัดในกามคุณ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๒/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. กุณฑธานเถรคาถา
๓. วนวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระวนวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระวนวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๓] ภูเขาหินหลากหลายมีสีดังเมฆครื้ม งามเรืองรอง
แหล่งน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง๑
ช่างชวนให้เรารื่นรมย์ใจเสียจริง
๔. วนวัจฉเถรสามเณรคาถา
ภาษิตของสามเณรของพระวนวัจฉเถระ
ทราบว่าสามเณรของท่านพระวนวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๔] พระอุปัชฌาย์ได้กล่าวกับเราว่า
สีวกะ เราจะไปจากที่นี่ กายเราอยู่บ้าน (แต่)ใจเราอยู่ป่า
แม้ลุกไม่ไหว เราก็จะไป ผู้รู้แจ้งหาข้องอยู่ไม่
๕. กุณฑธานเถรคาถา
ภาษิตของพระกุณฑธานเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุณฑธานเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๕] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องสูง ๕
พึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุผู้ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง๒ ๕ ประการได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้ามโอฆะ๓ได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ จำพวกแมลงทับ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๓/๘๙)
๒ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๕/๑๐๐)
๓ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๕/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. สิงคาลเถรคาถา
๖. เพลัฏฐสีสเถรคาถา
ภาษิตของพระเพลัฏฐสีสเถระ
ทราบว่า ท่านพระเพลัฏฐสีสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๖] โคอาชาไนย เจริญเต็มที่เทียมไถแล้ว
ย่อมลากไถไปได้โดยไม่ลำบาก ฉันใด
เราเมื่อได้ความสุข ปราศจากอามิส๑เจือปนแล้ว
วันคืนทั้งหลาย ย่อมผ่านพ้นเราไปโดยไม่ยาก ฉันนั้น
๗. ทาสกเถรคาถา
ภาษิตของพระทาสกเถระ
ทราบว่า ท่านพระทาสกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๗] เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำบริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร (นอนกลิ้งเกลือกไปมา)
๘. สิงคาลเถรคาถา
ภาษิตของพระสิงคาลเถระ
ทราบว่า ท่านพระสิงคาลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๘] ภิกษุอยู่ในป่าเภสกฬาวัน พิจารณาแผ่นดินคืออัตภาพนี้
ด้วยเข้าใจว่า เป็นกระดูกล้วน เป็นอารมณ์
ย่อมชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
เราเข้าใจว่า ท่านรูปนั้นเห็นจะละกามราคะได้เร็วพลันแน่แท้

เชิงอรรถ :
๑ ความสุขจากผลสมาบัติที่ไม่เจือด้วยอามิส ๓ คือ อามิสคือกาม อามิสคือโลก อามิสคือวัฏฏะ
(ขุ.เถร.อ. ๑/๑๖/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรค
๙. กุฬเถรคาถา
ภาษิตของพระกุฬเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุฬเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๙] พวกคนไขน้ำก็ทำหน้าที่ไขน้ำ
พวกช่างทำศรก็ดัดลูกศร
พวกช่างไม้ก็ถากไม้
พวกมีวัตรดีก็ฝึกตน
๑๐. อชิตเถรคาถา
ภาษิตของพระอชิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระอชิตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๐] เราไม่มีความกลัวตาย
ไม่มีความเยื่อใยในชีวิต
เราจะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ละทิ้งร่างกายเราไป
ทุติยวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระจูฬวัจฉเถระ ๒. พระมหาวัจฉเถระ
๓. พระวนวัจฉเถระ ๔. พระสีวกเถระ
๕. พระกุณฑธานเถระ ๖. พระเพลัฏฐสีสเถระ
๗. พระทาสกเถระ ๘. พระสิงคาลเถระ
๙. พระกุฬเถระ ๑๐. พระอชิตเถระ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. โคสาลเถรคาถา
๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. นิโครธเถรคาถา
ภาษิตของนิโครธเถระ
ทราบว่า ท่านพระนิโครธเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๑] เราไม่กลัวภัย
พระศาสดาของเราทั้งหลายทรงเฉียบแหลมในอมตธรรม
ภิกษุทั้งหลายย่อมดำเนินตามหนทางที่ไม่มีภัย
๒. จิตตกเถรคาถา
ภาษิตของพระจิตตกเถระ
ทราบว่า ท่านพระจิตตกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๒] นกยูงทั้งหลาย มีขนคอเขียวงดงาม มีหงอนสวย
ร้องเซ็งแซ่อยู่ในป่าการวี
นกยูงเหล่านั้นพากันร้องเซ็งแซ่ในยามมีลมหนาวเจือฝน
ย่อมกระตุ้นเตือนผู้เจริญฌานซึ่งหลับอยู่ให้ตื่นขึ้น
๓. โคสาลเถรคาถา
ภาษิตของพระโคสาลเถระ
ทราบว่า ท่านพระโคสาลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๓] เราฉันข้าวมธุปายาส๑ ใต้พุ่มไผ่
พิจารณาถึงความเกิดและความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลายโดยเคารพ
จะกลับไปสู่สานุบรรพตที่เราเคยอยู่ แล้วเพิ่มพูนวิเวกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมสด เจือด้วยของหวานมี น้ำผึ้งเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๓/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. อภัยเถรคาถา
๔. สุคันธเถรคาถา
ภาษิตของพระสุคันธเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุคันธเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๔] ภิกษุบวชยังไม่ทันครบพรรษา
มองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
บรรลุวิชชา๑ ๓ แล้ว
ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๕. นันทิยเถรคาถา
ภาษิตของพระนันทิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระนันทิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๕] มารผู้มีกรรมหยาบช้าและมีชาติเลวทราม
ท่านเบียดเบียนภิกษุผู้มีจิตบรรลุอรหัตตผล
สว่างไสวด้วยญาโณภาส๒เป็นนิตย์เช่นนั้น
จะได้รับทุกข์มหันต์
๖. อภัยเถรคาถา
ภาษิตของพระอภัยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอภัยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๖] เพราะเราได้ฟังวาจาสุภาษิตของพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
จึงได้รู้แจ้งธรรมอันละเอียดยิ่ง
ดุจบุคคลยิงปลายขนทรายด้วยลูกศร

เชิงอรรถ :
๑ ระลึกชาติได้, ตาทิพย์, สิ้นอาสวะ (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๔/๑๒๔)
๒ อรหัตตมรรคญาณ (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๕/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. อุตติยเถรคาถา
๗. โลมสกังคิยเถรคาถา
ภาษิตของพระโลมสกังคิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระโสมสกังคิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๗] เราจะใช้อกฝ่าหญ้าแพรก หญ้าคา หญ้าดอกเลา หญ้าแฝก
หญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้องเพิ่มพูนวิเวก
๘. ชัมพุคามิกปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระชัมพุคามิกบุตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระชัมพุคามิกบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๘] ท่านยังขวนขวายประดับตกแต่งด้วยเสื้อผ้าอยู่หรือไม่
ยังยินดีประดับประดาร่างกายอยู่หรือไม่
ท่านทำกลิ่นศีลให้ขจรขจายไปอยู่หรือไม่
คนทุศีลนอกนี้ไม่อาจทำกลิ่นศีลให้ขจรขจายไปได้
๙. หาริตเถรคาถา
ภาษิตของพระหาริตเถระ
ทราบว่า พระหาริตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๙] หาริตะ เธอจงยกตนขึ้น เธอจงทำจิตให้ตรง
เหมือนช่างศรดัดศรให้ตรง แล้วทำลายอวิชชาเสีย
๑๐. อุตติยเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตติยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุตติยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๐] เมื่ออาพาธเกิดขึ้นแก่เรา เราก็ได้สติว่า
อาพาธเกิดแก่เราแล้ว เวลานี้เราไม่ควรประมาท
ตติยวรรค จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๒. สุปปิยเถรคาถา
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระนิโครธเถระ ๒. พระจิตตกเถระ
๓. พระโคสาลเถระ ๔. พระสุคันธเถระ
๕. พระนันทิยเถระ ๖. พระอภัยเถระ
๗. พระโลมสกังคิยเถระ ๘. พระชัมพุคามิกบุตรเถระ
๙. พระหาริตเถระ ๑๐. พระอุตติยเถระ

๔. จตุตถวรรค
หมวดที่ ๔
๑. คหุรตีริยเถรคาถา
ภาษิตของคหุรตีริยเถระ
ทราบว่า ท่านพระคหุรตีริยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๑] บุคคลถูกเหลือบและยุงกัดในป่าใหญ่
พึงเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายนั้น
เหมือนช้างในสงคราม
๒. สุปปิยเถรคาถา
ภาษิตของพระสุปปิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุปปิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๒] บุคคลผู้มีความชรา
เพียรเผาผลาญกิเลสอยู่
พึงบรรลุนิพพานอันปราศจากความแก่
ปราศจากอามิส
เป็นธรรมสงบเกษมจากโยคะ (และ)ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. สามัญญกานิเถรคาถา
๓. โสปากเถรคาถา
ภาษิตของพระโสปากเถระ
ทราบว่า ท่านพระโสปากเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๓] บุคคลมีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตา
ในบุตรคนเดียวที่น่ารัก ฉันใด
ภิกษุพึงมีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตา
ในสัตว์ทั้งปวงในที่ทุกแห่ง ฉันนั้น
๔. โปสิยเถรคาถา
ภาษิตของพระโปสิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระโปสิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๔] หญิงเหล่านี้ไม่เข้าใกล้เป็นการดี
แต่พอเข้าใกล้ ก็จักก่อความพินาศให้เนืองนิตย์
เราออกจากป่ามาสู่บ้าน จากนั้นก็เข้าไปยังเรือน
เราชื่อโปสิยะ ไม่บอกลาใคร ลุกจากเตียงหลีกหนีไป
๕. สามัญญกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระสามัญญกานิเถระ
ทราบว่า ท่านพระสามัญญกานิเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๕] บุคคลผู้ต้องการนิรามิสสุข
ประพฤติให้สมควรแก่การได้ความสุขนั้น ย่อมได้ความสุข
ผู้บำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางสายตรง
ไม่คดเคี้ยว เพื่อบรรลุอมตบท๑
ย่อมได้เกียรติคุณและเจริญยศ

เชิงอรรถ :
๑ ธาตุที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (ขุ.เถร.อ. ๑/๓๕/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๘. ควัมปติเถรคาถา
๖. กุมาปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระกุมาบุตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุมาบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๖] การฟังเป็นความดี
การประพฤติตนเป็นคนมักน้อยเป็นความดี
การปฏิบัติเพื่อละกามคุณ ๕ ทุกเมื่อเป็นความดี
การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี
การปฏิบัติตามโอวาทโดยเคารพเป็นความดี
กิจมีการฟังเป็นต้นเป็นเครื่องหมายความเป็นสมณะผู้หมดความกังวล
๗. กุมาปุตตเถรสหายกเถรคาถา
ภาษิตของพระกุมาบุตรสหายกเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุมาบุตรเถรสหายกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๗] ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่สำรวมจิต ท่องเที่ยวไปตามชนบทต่าง ๆ
ย่อมทำสมาธิคลาดเคลื่อน
การท่องเที่ยวไปยังแว่นแคว้นจะช่วยอะไรได้เล่า
เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงกำจัดความแข่งดี
ไม่พึงให้มิจฉาวิตกและกิเลสมีตัณหาเป็นต้นครอบงำ เจริญฌาน
๘. ควัมปติเถรคาถา
ภาษิตของพระควัมปติเถระ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญพระควัมปติเถระด้วยพระคาถาดังนี้ว่า
[๓๘] เทวดาทั้งหลายพากันนอบน้อมพระควัมปติ
ผู้ห้ามแม่น้ำสรภูให้หยุดไหลได้ด้วยฤทธิ์
ไม่ติดอยู่ในกิเลสและตัณหาไร ๆ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งอะไรทั้งสิ้น
ข้ามกิเลสเครื่องข้องทั้งหมดเสียได้
เป็นมหามุนี ผู้บรรลุนิพพานแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรค
๙. ติสสเถรคาถา
ภาษิตของพระติสสเถระ
ทราบว่า ท่านพระติสสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๙] ภิกษุพึงมีสติพยายามละกามราคะ
เหมือนคนพยายามใช้ศัสตรา
ตัดเครื่องประหารที่ชื่อว่าโอมัฏฐะ
เมื่อศีรษะถูกไฟไหม้
๑๐. วัฑฒมานเถรคาถา
ภาษิตของพระวัฑฒมานเถระ
ทราบว่า ท่านพระวัฑฒมานเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๐] ภิกษุพึงมีสติพยายามละภวราคะ
เหมือนคนพยายามใช้ศัสตรา
ตัดเครื่องประหารที่ชื่อว่าโอมัฏฐะ
เมื่อศีรษะถูกไฟไหม้
จตุตถวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระคหุรตีริยเถระ ๒. พระสุปปิยเถระ
๓. พระโสปากเถระ ๔. พระโปสิยเถระ
๕. พระสามัญญกานิเถระ ๖. พระกุมาบุตรเถระ
๗. พระกุมาบุตรเถรสหายกเถระ ๘. พระควัมปติเถระ
๙. พระติสสเถระ ๑๐. พระวัฑฒมานเถระ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๓. สุมังคลเถรคาถา
๕. ปัญจมวรรค
หมวดที่ ๕
๑. สิริวัฑฒเถรคาถา
ภาษิตของพระสิริวัฑฒเถระ
ทราบว่า ท่านพระสิริวัฑฒเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๑] ภิกษุผู้เป็นบุตรของพระพุทธองค์ผู้คงที่ หาผู้เสมอเหมือนมิได้
ไปเข้าฌานอยู่ตามซอกเขา เหมือนสายฟ้าแลบส่องลอดเข้าไป
ตามช่องเขาที่ชื่อเวภาระและปัณฑวะ
๒. ขทิรวนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระขทิรวนิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระขทิรวนิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๒] สามเณรจาละ สามเณรอุปจาละ สามเณรสีสูปจาละ
พวกเธอครองสติมั่นคงอยู่หรือเปล่า
หลวงลุง๑ของพวกเธอ ผู้เปรียบเหมือนนายขมังธนู
ผู้สามารถยิงทะลวงปลายขนทรายได้
เพราะมีปัญญาหลักแหลมว่องไวรู้แจ้งตลอดมาถึงแล้ว
๓. สุมังคลเถรคาถา
ภาษิตของพระสุมังคลเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุมังคลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๓] เราพ้นดีแล้ว พ้นแล้วด้วยดี
พ้นดีแล้วจากการหลังค่อม ๓ กรณี คือ

เชิงอรรถ :
๑ พระสารีบุตรเถระ (ขุ.เถร.อ. ๑/๔๒/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๕. รมณียวิหารีเถรคาถา
จากการเกี่ยวข้าว การไถนา และการถางหญ้า
แม้ว่างานเกี่ยวหญ้าเป็นต้น จะมีอยู่ในที่ใกล้ ๆ นี้ก็ตาม
แต่ก็ไม่เหมาะ ไม่ควรแก่เราทั้งสิ้น
เพียรเพ่งเถิด สุมังคละ จงเผาเถิด สุมังคละ
เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เถิด สุมังคละ
๔. สานุเถรคาถา
ภาษิตของพระสานุเถระ
ทราบว่า ท่านพระสานุเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๔] โยมแม่ ชนทั้งหลายร่ำไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว
หรือยังมีชีวิตอยู่ (แต่)หาไม่พบ
โยมแม่ โยมยังแลเห็นอาตมามีชีวิตอยู่
ทำไมจึงร่ำไห้ถึงอาตมาเล่า โยมแม่
๕. รมณียวิหารีเถรคาถา
ภาษิตของพระรมณียวิหารีเถระ
ทราบว่า ท่านพระรมณียวิหารีเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๕] ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าว่า
เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยทัศนะ๑
เพราะพลั้งพลาดแล้วสามารถตั้งตนได้
เหมือนโคอาชาไนยเจริญเต็มที่
พลาดล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเห็นชอบ (ขุ.เถร.อ. ๑/๔๕/๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๘. สัญชยเถรคาถา
๖. สมิทธิเถรคาถา
ภาษิตของพระสมิทธิเถระ
ทราบว่า ท่านพระสมิทธิเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๖] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา
มีสติปัญญาเจริญ มีจิตมั่นคงดีแล้ว
เจ้ามารร้ายเอ๋ย เจ้าจงบันดาลรูปแปลกประหลาดต่าง ๆ ตามใจ
ชอบเถิด แต่จะไม่อาจทำให้เราสะทกสะท้านได้เลย
๗. อุชชยเถรคาถา
ภาษิตของพระอุชชยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุชชยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๗] ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์
พระองค์ทรงหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งมวล
ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในพระโอวาทของพระองค์
จึงอยู่อย่างผู้ปราศจากอาสวกิเลส
๘. สัญชยเถรคาถา
ภาษิตของพระสัญชยเถระ
ทราบว่า ท่านพระสัญชยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๘] ตั้งแต่เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ความดำริอันต่ำทราม ประกอบด้วยโทษ
ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น