Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๘ หน้า ๓๗๔ - ๔๒๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๘ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๔. ธนิยเถรคาถา
[๒๒๓] เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจะไม่เอนกายนอน
[๒๒๔] เชิญท่านดูความเพียร
ความบากบั่นของเรานั้นผู้อยู่อย่างนี้ เราบรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๓. พากุลเถรคาถา
ภาษิตของพระพากุลเถระ
(พระพากุลเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๒๕] ผู้ต้องการจะทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง
ย่อมพลาดจากฐานะที่นำความสุขมาให้
และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
[๒๒๖] บุคคลพึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำได้
ไม่พึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำไม่ได้
บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้จักบุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด
[๒๒๗] นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
เป็นสุขดีหนอ ไม่มีความโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เกษม เป็นที่ดับทุกข์ได้
๔. ธนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระธนิยเถระ
(พระธนิยเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๒๘] ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ
ปรารถนาจะเป็นอยู่สบาย
ไม่ควรดูหมิ่นจีวร ข้าว และน้ำอันเป็นของสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๕. มาตังคปุตตเถรคาถา
[๒๒๙] ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ
ปรารถนาจะเป็นอยู่สบาย
พึงใช้สอยที่นอนที่นั่ง
เหมือนงูอาศัยรูหนูอยู่
[๒๓๐] ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ
ปรารถนาจะเป็นอยู่สบาย
พึงยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
และพึงเจริญธรรมอันเอก๑
๕. มาตังคปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระมาตังคบุตรเถระ
(พระมาตังคบุตรเถระเมื่อจะติเตียนความเกียจคร้านและยกย่องการปรารภ
ความเพียร จึงได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๓๑] ขณะทั้งหลายย่อมล่วงเลยมาณพทั้งหลาย
ผู้ละทิ้งการงานด้วยอ้างว่า เวลานี้
หนาวนัก ร้อนนัก เป็นเวลาเย็นนัก
[๒๓๒] ส่วนผู้ไม่คำนึงถึงความหนาวและความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า
ทำหน้าที่ของคนอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากความสุข
[๒๓๓] เราจะใช้อกฝ่าหญ้าแพรก หญ้าคา หญ้าดอกเลา
หญ้าแฝก หญ้ามุงกระต่าย
และหญ้าปล้อง พอกพูนวิเวก

เชิงอรรถ :
๑ ภาวะแห่งความไม่ประมาท (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๓๐/๕๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๗. วารณเถรคาถา
๖. ขุชชโสภิตเถรคาถา
ภาษิตของพระขุชชโสภิตเถระ
(พระขุชชโสภิตเถระเมื่อจะบอกความประสงค์ที่ตนมาแก่เทวดา จึงได้กล่าว
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๓๔] สมณะทั้งหลายเหล่าใด
กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร
เป็นพหูสูต เป็นชาวเมืองปาฏลีบุตร
ท่านขุชชโสภิตะนี้เป็นรูปหนึ่ง
ในภิกษุเหล่านั้น ผู้ยืนอยู่ที่ประตูถ้ำ
(เทวดา เมื่อจะประกาศเรื่องที่พระเถระมาให้สงฆ์ทราบ จึงได้กล่าวคาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[๒๓๕] สมณะทั้งหลายเหล่าใด
กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร
เป็นพหูสูต เป็นชาวเมืองปาฏลีบุตร
ท่านขุชชโสภิตะนี้เป็นภิกษุรูปหนึ่ง ในภิกษุเหล่านั้น
มายืนอยู่ที่ประตูถ้ำได้ ดุจลมพัดมา
(พระเถระพยากรณ์พระอรหัตด้วยคาถานี้ว่า)
[๒๓๖] ขุชชโสภิตภิกษุนี้ ได้รับความสุขด้วยอาการเหล่านี้
คือ ด้วยการรบดี การบูชาดี การชนะสงคราม
และการประพฤติพรหมจรรย์ประจำ
๗. วารณเถรคาถา
ภาษิตของพระวารณเถระ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อประทานโอวาทแก่พระวารณเถระ จึงได้ตรัส ๓ คาถาไว้
ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๘. ปัสสิกเถรคาถา
[๒๓๗] ในหมู่มนุษย์นี้ นรชนผู้ใดผู้หนึ่งเบียดเบียนสัตว์อื่น
นรชนนั้นย่อมเสื่อมจากความสุข
ในโลกทั้งสอง คือ โลกนี้และโลกหน้า
[๒๓๘] ส่วนนรชนใดมีจิตเมตตา ช่วยเหลือสัตว์ทุกหมู่เหล่า
นรชนเช่นนี้นั้นย่อมประสบบุญมาก
[๒๓๙] บุคคลควรศึกษาคำสุภาษิต
การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ
การอยู่ผู้เดียวในที่ลับ
และธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต
๘. ปัสสิกเถรคาถา
ภาษิตของพระปัสสิกเถระ
(พระปัสสิกเถระเมื่อกราบทูลพระศาสดาถึงอุปการะที่ตนทำแก่พวกญาติ จึง
ได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๔๐] คนมีศรัทธา มีปัญญาดี ตั้งอยู่ในธรรม
มีศีลสมบูรณ์ แม้เพียงคนเดียว
ย่อมมีประโยชน์แก่ญาติและพวกพ้องทั้งหลายผู้ไม่มีศรัทธา
[๒๔๑] ญาติทั้งหลายถูกเราผู้มีความรักญาติและพวกพ้อง
แนะนำตักเตือนแล้วด้วยความเอ็นดู
จึงทำสักการะบูชาในภิกษุทั้งหลาย
[๒๔๒] ญาติเหล่านั้นตายล่วงลับไป
ได้รับความสุขในเทพชั้นดาวดึงส์
พี่น้องชายและมารดาของข้าพระองค์
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณตามที่ปรารถนา บันเทิงอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๑๐. สาฏิมัตติยเถรคาถา
๙. ยโสชเถรคาถา
ภาษิตของพระยโสชเถระ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงสรรเสริญพระยโสชเถระว่า เป็นผู้มีความปรารถนา
น้อยอย่างยิ่ง จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๒๔๓] นรชนผู้รู้ประมาณในข้าวและน้ำ ย่อมซูบผอม
มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็นคล้ายเถาหญ้านาง แต่มีใจไม่ย่อท้อ
(พระยโสชเถระเมื่อกล่าวสอนธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[๒๔๔] ภิกษุถูกเหลือบและยุงกัดในป่าใหญ่
พึงเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายนั้น
เหมือนช้างในสงคราม
[๒๔๕] ภิกษุอยู่ผู้เดียว เป็นเหมือนพรหม
อยู่ ๒ รูปเหมือนเทพ
อยู่ ๓ รูปเหมือนชาวบ้าน
อยู่มากกว่านั้น ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น
๑๐. สาฏิมัตติยเถรคาถา
ภาษิตของพระสาฏิมัตติยเถระ
(สาฏิมัตติยเถระเมื่อกล่าวสอนธรรมแก่เจ้าของเรือนนั้น จึงได้กล่าว ๓
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๔๖] เมื่อก่อน ท่านมีศรัทธา
(แต่)วันนี้ ท่านไม่มีศรัทธา
สิ่งใดเป็นของท่าน ขอสิ่งนั้นจงเป็นของท่านตามเดิมเถิด
เราไม่มีความทุจริต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๑๒. อุตตรปาลเถรคาถา
[๒๔๗] เพราะศรัทธาไม่เที่ยง คลอนแคลน
ศรัทธานั้น เราเห็นมาแล้วอย่างนั้น
คนทั้งหลายรักง่ายหน่ายเร็ว
ในความรักและความหน่ายนั้น พระมุนีจะชนะได้อย่างไร
[๒๔๘] คนทั้งหลายย่อมหุงอาหารไว้เพื่อมุนี
ทุกตระกูล ตระกูลละเล็กละน้อย
เราจะเที่ยวบิณฑบาตด้วยปลีแข้ง เพราะกำลังแข้งของเรายังมีอยู่
๑๑. อุปาลิเถรคาถา
ภาษิตของพระอุปาลิเถระ
(พระอุบาลีเถระเมื่อกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๔๙] ภิกษุออกบวชใหม่ด้วยศรัทธา ยังใหม่(ต่อการศึกษา)
พึงคบกัลยาณมิตรผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน
[๒๕๐] ภิกษุออกบวชใหม่ด้วยศรัทธา ยังใหม่อยู่ในหมู่สงฆ์
พึงเป็นผู้ฉลาดศึกษาพระวินัย
[๒๕๑] ภิกษุออกบวชใหม่ด้วยศรัทธา ยังใหม่
พึงเป็นผู้ฉลาดในสิ่งที่ควรและไม่ควร
ไม่ควรประพฤติตนเป็นคนออกหน้าออกตา
๑๒. อุตตรปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตตรเถระ
(พระอุตตรปาลเถระได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๕๒] เบญจกามคุณซึ่งทำใจให้ลุ่มหลง
ได้ทำเราผู้เป็นบัณฑิต สงบ
สามารถค้นคว้าประโยชน์ได้ ให้ตกอยู่ในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๑๔. โคตมเถรคาถา
[๒๕๓] เราได้ตกไปในอำนาจแห่งมาร
ถูกลูกศรคือราคะเสียบติดแน่น
ก็ยังสามารถเปลื้องตนจากบ่วงมัจจุราชได้
[๒๕๔] กามทั้งปวงเราละได้แล้ว
ภพทั้งปวงเราทำลายได้แล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
๑๓. อภิภูตเถรคาถา
ภาษิตของพระอภิภูตเถระ
(พระอภิภูตเถระได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๕๕] ขอเชิญญาติทั้งหลายเท่าที่มาประชุมกันในสมาคมนี้ทั้งหมด
โปรดตั้งใจฟัง เราจักแสดงธรรมโปรดท่านทั้งหลาย
การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์
[๒๕๖] ขอท่านทั้งหลายจงพากเพียร บากบั่น
ขวนขวายในคำสอนของพระพุทธเจ้า
กำจัดเสนาของพญามัจจุราชเสีย
เหมือนกุญชรทำลายเรือนไม้อ้อ
[๒๕๗] ผู้ไม่ประมาทอยู่ในพระธรรมวินัยนี้
จะละการเวียนว่ายตายเกิด แล้วทำที่สุดทุกข์ได้
๑๔. โคตมเถรคาถา
ภาษิตของพระโคตมเถระ
(พระโคตมเถระแสดงธรรมด้วย ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๑๕. หารติเถรคาถา
[๒๕๘] เราเมื่อยังท่องเที่ยวไปมาได้ไปตกนรกบ้าง
ได้ไปถือปฏิสนธิยังเปตโลกบ้าง
ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอันมีแต่ทุกข์บ้าง
เราเสวยทุกข์อยู่หลายประการมาเป็นเวลานาน
[๒๕๙] แม้อัตภาพมนุษย์ เราก็ผ่านมามากแล้ว
เราได้ไปสวรรค์เป็นครั้งคราว
และได้ดำรงอยู่ในรูปภพ อรูปภพ
เนวสัญญีนาสัญญีภพ (และ) อสัญญีภพ
[๒๖๐] เรารู้แจ้งชัดภพทั้งหลายอันหาแก่นสารมิได้
ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ครั้นรู้แจ้งภพนั้นอันเกิดในตนแล้ว
จึงเป็นผู้มีสติ ได้บรรลุสันติธรรมที่แท้จริง
๑๕. หาริตเถรคาถา
ภาษิตของพระหาริตเถระ
(พระหาริตเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๖๑] ผู้ต้องการจะทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง
ย่อมพลาดจากฐานะที่นำความสุขมาให้
และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
[๒๖๒] บุคคลพึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำได้
ไม่พึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำไม่ได้
บัณฑิตย่อมรู้จักบุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด
[๒๖๓] นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
เป็นสุขดีหนอ ไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี
เกษม เป็นที่ดับทุกข์ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] รวมเรื่องพระเถรที่มีในนิบาต
๑๖. วิมลเถรคาถา
ภาษิตของพระวิมลเถระ
(พระวิมลเถระได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๖๔] ผู้ปรารถนาความสุขที่ยั่งยืน
พึงเว้นปาปมิตรเสียให้ไกล
คบหาแต่คนดี และพึงอยู่ในโอวาทของท่าน
[๒๖๕] บุคคลเกาะท่อนไม้เล็ก ๆ ย่อมจมลงในมหาสมุทร ฉันใด
บุคคลแม้มีความเป็นอยู่ดี อาศัยคนเกียจคร้าน
ก็จมลงในสังสารวัฏได้ ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรเว้นคนเกียจคร้าน
มีความเพียรย่อหย่อนเสีย
[๒๖๖] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับเหล่าบัณฑิตผู้สงัด เป็นอริยะ
มีใจเด็ดเดี่ยว เข้าฌานอยู่ ปรารภความเพียรเป็นนิตย์
ติกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถรที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พระอังคณิกภารทวาชเถระ ๒. พระปัจจยเถระ
๓. พระพากุลเถระ ๔. พระธนิยเถระ
๕. พระมาตังคบุตรเถระ ๖. พระขุชชโสภิตเถระ
๗. พระวารณเถระ ๘. พระปัสสิกเถระ
๙. พระยโสชเถระ ๑๐. พระสาฏิมัตติยเถระ
๑๑. พระอุบาลีเถระ ๑๒. พระอุตตรปาลเถระ
๑๓. พระอภิภูตเถระ ๑๔. พระโคตมเถระ
๑๕. พระพาริตเถระ ๑๖. พระวิมลเถระ

ในติกนิบาต รวมพระเถระได้ ๑๖ รูป
รวมคาถาได้ ๔๘ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] ๒. ภคุเถรคาถา
๔. จตุกกนิบาต
๑. นาคสมาลเถรคาถา
ภาษิตของพระนาคสมาลเถระ
(พระนาคสมาลเถระพยากรณ์พระอรหัตด้วย ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๖๗] หญิงนักฟ้อนตกแต่งร่างกายนุ่งผ้าสวยงาม
ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ฟ้อนรำอยู่ในท่ามกลางถนนหลวง เมื่อดนตรีบรรเลงอยู่
[๒๖๘] เมื่อเราเดินเข้าไปบิณฑบาต
ได้เห็นนางผู้ตกแต่งร่างกาย นุ่งผ้าสวยงาม
เหมือนบ่วงมัจจุราชที่วางดักไว้
[๒๖๙] จากนั้น โยนิโสมนสิการจึงเกิดขึ้นแก่เรา โทษก็ปรากฏ
ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
[๒๗๐] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา ๓๑ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๒. ภคุเถรคาถา
ภาษิตของพระภคุเถระ
(พระภคุเถระได้กล่าว ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๗๑] เราถูกความง่วงเหงาหาวนอนครอบงำ
ได้ออกไปจากที่อยู่ กำลังขึ้นที่จงกรม
ได้ล้มลงที่พื้นดินตรงนั้นเอง

เชิงอรรถ :
๑ วิชชา ๓ คือ (๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (๒) จุตูปปาตญาณ ความรู้การจุติ
และอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (๓) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น (ที.ปา. ๑๑/๓๕๓/๒๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] ๓. สภิยเถรคาถา
[๒๗๒] เรานั้นนวดตัวแล้ว กลับขึ้นที่จงกรมใหม่
มีใจตั้งมั่นดีแล้ว ได้จงกรม ณ ที่จงกรม
[๒๗๓] จากนั้น โยนิโสมนสิการจึงเกิดขึ้นแก่เรา
โทษก็ปรากฏ ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
[๒๗๔] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๓. สภิยเถรคาถา
ภาษิตของพระสภิยเถระ
(พระสภิยเถระแสดงธรรมด้วย ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๗๕] ชนเหล่าอื่นย่อมไม่รู้ว่า พวกเรากำลังย่อยยับอยู่ในโลกนี้
บรรดาชนเหล่านั้น ชนเหล่าใดรู้แจ้งอยู่
ความทะเลาะวิวาทกันย่อมระงับได้จากสำนักของชนเหล่านั้น
[๒๗๖] เมื่อพวกที่ไม่รู้สึก ยังประพฤติยึดถืออยู่เหมือนจะไม่ตาย
ความทะเลาะวิวาทย่อมสงบลงไม่ได้เลย
ส่วนพวกที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง
ย่อมไม่กระสับกระส่าย
ในเมื่อสัตว์ทั้งหลายกระสับกระส่ายอยู่
[๒๗๗] กรรมที่ย่อหย่อน วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทุกอย่างนั้นไม่มีผลมาก
[๒๗๘] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] ๕. ชัมพุกเถรคาถา
๔. นันทกเถรคาถา
ภาษิตของพระนันทกเถระ
(พระนันทกเถระได้กล่าว ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๗๙] น่าติเตียนร่างกายของเธอ
ที่เต็มไปด้วยของน่ารังเกียจ มีกลิ่นเหม็น
เป็นฝักฝ่ายของมาร ชุ่มไปด้วยกิเลส
มีช่อง ๙ ช่อง๑ เป็นที่ไหลออกแห่งของไม่สะอาดเป็นประจำ
[๒๘๐] เธออย่าได้คิดถึงเรื่องเก่า
อย่ามาเย้ายวนพระอริยสาวกเลย
แม้ในสวรรค์ ท่านเหล่านั้นก็ยังไม่ยินดี
จะกล่าวไปใยถึงกามคุณของมนุษย์เล่า
[๒๘๑] ชนเหล่าใดโง่เขลา เบาปัญญา
ไม่มีความคิด ถูกโมหะครอบงำ
ชนเช่นนั้นย่อมยินดีในบ่วงที่มารวางดักไว้นั้น
[๒๘๒] ชนเหล่าใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
ชนเช่นนั้นเป็นผู้มั่นคง ตัดด้ายคือตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาด
ไม่มีเครื่องผูก จึงไม่ยินดีในบ่วงแห่งมารนั้น
๕. ชัมพุกเถรคาถา
ภาษิตของพระชัมพุกเถระ
(พระชัมพุกเถระได้กล่าว ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๘๓] ตลอดเวลา ๕๕ ปี เรามีกายหมักหมมด้วยฝุ่น
บริโภคอาหารเดือนละครั้ง ถอนผมและหนวดออกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ทวาร ๙ คือ ตา (๒) หู (๒) จมูก (๒) ปาก (๑) ทวารหนัก (๑) ทวารเบา (๑) รวมเป็น ๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] ๖. เสนกเถรคาถา
[๒๘๔] ยืนด้วยเท้าข้างเดียว เว้นการนั่ง
กินคูถแห้งและไม่ยินดีอาหารที่เขาเชื้อเชิญ
[๒๘๕] เราได้ทำบาปกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็นอันมากเช่นนั้น
ถูกโอฆะต่าง ๆ พัดพาไป
จึงได้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
[๒๘๖] ท่านจงมองเห็นการถึงสรณะ
จงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๖. เสนกเถรคาถา
ภาษิตของพระเสนกเถระ
(พระเสนกเถระได้กล่าว ๔ คาถาด้วยการเปล่งอุทานว่า)
[๒๘๗] เป็นการดีหนอที่เรามาใกล้ท่าน้ำคยาในวันเพ็ญเดือน ๔
เพราะได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
[๒๘๘] ซึ่งพระองค์มีพระรัศมีมากอย่าง
เป็นพระคณาจารย์ ผู้ถึงความเป็นผู้เลิศ
ทรงเป็นผู้นำอย่างยอดเยี่ยมของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทรงเป็นผู้ชนะมาร มีพระญาณหาประมาณมิได้
[๒๘๙] มีอานุภาพมาก มีความเพียรมาก มีความรุ่งเรืองมาก
ไม่มีอาสวะ สิ้นอาสวะทั้งมวล
เป็นพระศาสดา ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
[๒๙๐] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงปลดเปลื้องเรามีนามว่าเสนกะ
ผู้เศร้าหมองมานาน ถูกมิจฉาทิฏฐิหุ้มห่อไว้
จากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งสิ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] ๘. ราหุลเถรคาถา
๗. สัมภูตเถรคาถา
ภาษิตของพระสัมภูตเถระ
ทราบว่า ท่านพระสัมภูตเถระได้กล่าวคาถา ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๙๑] ผู้ใดรีบในเวลาที่ควรช้า
และช้าในเวลาที่ควรรีบ
ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมประสบทุกข์
เพราะไม่จัดแจงโดยแยบคาย
[๒๙๒] ประโยชน์ของเขาย่อมเสื่อมไป
เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
เขาย่อมได้รับความตำหนิจากวิญญูชน
และพลาดจากมิตรทั้งหลาย
[๒๙๓] ผู้ใดช้าในเวลาที่ควรช้า
และรีบในเวลาที่ควรรีบ
ผู้นั้นเป็นบัณฑิตย่อมประสบสุข
เพราะจัดแจงโดยอุบายที่แยบคาย
[๒๙๔] ประโยชน์ของเขา ย่อมบริบูรณ์
เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น
เขาย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ
และไม่พลาดจากมิตรทั้งหลาย
๘. ราหุลเถรคาถา
ภาษิตของพระราหุลเถระ
(พระราหุลเถระได้กล่าว ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๙๕] ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า พระราหุลผู้เจริญ
เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการนั่นเอง
คือเพราะเหตุที่เราเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า
และได้ดวงตาเห็นธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] ๙. จันทนเถรคาถา
[๒๙๖] อนึ่ง เพราะอาสวะของเราหมดสิ้นแล้ว
และเพราะไม่มีการเกิดอีก
เราจึงเป็นพระอรหันต์ ผู้ควรแก่ทักษิณา
บรรลุวิชชา ๓ เห็นอมตธรรม
[๒๙๗] สัตว์ทั้งหลายมืดมนเพราะกาม
ถูกข่ายรัดรึงไว้แน่น ถูกเครื่องมุงบังคือตัณหาปกคลุมไว้
ถูกเครื่องผูกคือความประมาทผูกพันไว้ เหมือนปลาในข้อง
[๒๙๘] เราสลัดกามนั้นได้ ตัดบ่วงมารได้
ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากเหง้า
จึงเป็นผู้เย็นดับสนิท
๙. จันทนเถรคาถา
ภาษิตของพระจันทนเถระ
(พระจันทนเถระได้พยากรณ์พระอรหัตด้วยคาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๙๙] ภรรยาแต่งตัวด้วยเครื่องประดับล้วนแต่เป็นทองคำ
มีหมู่สาวใช้ห้อมล้อม ได้อุ้มลูกมาหาเรา
[๓๐๐] แต่(เรา)พอเห็นนางผู้เป็นมารดาแห่งบุตรของเรา
ได้ตกแต่งร่างกายนุ่งผ้าสวยงาม กำลังมา
เหมือนบ่วงมัจจุราชที่วางดักไว้
[๓๐๑] จากนั้น โยนิโสมนสิการจึงเกิดขึ้นแก่เรา
โทษก็ปรากฏ ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
[๓๐๒] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] ๑๐. ธัมมิกเถรคาถา
๑๐. ธัมมิกเถรคาถา
ภาษิตของพระธรรมิกเถระ
(พระศาสดา ได้ตรัส ๓ พระคาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๐๓] ธรรมเท่านั้นย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้
นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว
ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
[๓๐๔] เพราะธรรมและอธรรมทั้งสองมีผลไม่เหมือนกัน
อธรรมนำไปสู่นรก
ธรรมให้ถึงสุคติ
[๓๐๕] เพราะเหตุนั้น บุคคลเมื่อชื่นชมยินดีด้วยโอวาท
อันพระตถาคตผู้มั่นคงตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้
พึงทำความพอใจในธรรมทั้งหลาย
สาวกทั้งหลายของพระตถาคตผู้ประเสริฐ
ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว เป็นนักปราชญ์
ถึงธรรมว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสุด
ย่อมพ้นไปได้
(พระธรรมิกเถระได้พยากรณ์พระอรหัตด้วยคาถาสุดท้ายว่า)
[๓๐๖] เรากำจัดอวิชชาซึ่งเป็นรากเหง้าดุจหัวฝี
ถอนข่ายคือตัณหาได้แล้ว
เรานั้นสิ้นสังสารวัฏแล้ว
และไม่มีกิเลสเป็นเหตุขัดข้อง
เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญปราศจากเมฆหมอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] ๑๒. มุทิตเถรคาถา
๑๑. สัปปกเถรคาถา
ภาษิตของพระสัปปกเถระ
(พระสัปปกเถระได้กล่าว ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๐๗] เมื่อใด นางนกยางมีขนขาวสะอาด
ถูกความกลัวต่อเมฆดำ(ฝนฟ้าคะนอง)คุกคาม
ปรารถนาจะกลับรัง จะบินเข้าสู่รัง
เมื่อนั้น แม่น้ำอชกรณี ย่อมทำเราให้รื่นรมย์
[๓๐๘] เมื่อใด นางนกยางมีขนขาวสะอาด
ถูกความกลัวต่อเมฆดำคุกคาม
ไม่เห็นที่เร้นที่หลบภัย ย่อมเสาะหาที่เร้นที่หลบภัย
เมื่อนั้น แม่น้ำอชกรณี ย่อมทำเราให้รื่นรมย์
[๓๐๙] ต้นหว้าทั้งหลาย ณ ที่นั้น ๆ ทั้งสองฟากฝั่ง
ทำฝั่งแม่น้ำข้างหลังถ้ำใหญ่ให้งดงาม
จะทำสัตว์อะไร ไม่ให้ยินดีได้ในที่นั้นเล่า
[๓๑๐] กบทั้งหลายมีผู้เสียงเบา
หลบหนีฝูงงูพิษได้อย่างปลอดภัย
พากันส่งเสียงร้องอย่างไพเราะ
วันนี้เป็นสมัยที่อยู่ปราศจากภูเขาและแม่น้ำก็หาไม่
แม่น้ำอชกรณีเป็นแม่น้ำที่ปลอดภัย สวยงาม น่ารื่นรมย์ดี
๑๒. มุทิตเถรคาถา
ภาษิตของพระมุทิตเถระ
(พระมุทิตเถระได้กล่าว ๔ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๑๑] เราต้องการจะเลี้ยงชีพ จึงได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว
จากนั้นจึงได้มีศรัทธา มีความเพียรบากบั่นมั่นคง โดยตั้งใจว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๔. จตุตกกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๓๑๒] ร่างกายของเรานี้จงแตกทำลายไปเถิด
เนื้อหนังของเราจงเหือดแห้งไป
แข้งขาทั้ง ๒ จะหลุดจากที่ต่อเข่าทั้ง ๒ พลัดตกไปก็ตามที
[๓๑๓] เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจักไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจักไม่เอนกายนอน
[๓๑๔] เชิญท่านดู ความเพียรและความบากบั่นของเรานั้น
ผู้อยู่อย่างนี้ เราบรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
จตุกกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พระนาคสมาลเถระ ๒. พระภคุเถระ
๓. พระสภิยเถระ ๔. พระนันทกเถระ
๕. พระชัมพุกเถระ ๖. พระเสนกเถระ
๗. พระสัมภูตเถระ ๘. พระราหุลเถระ
๙. พระจันทนเถระ ๑๐. พระธรรมิกเถระ
๑๑. พระสัปปกเถระ ๑๒. พระมุทิตเถระ

มี ๕๒ (๔๘) คาถา
และพระเถระทั้งหมดก็มี ๑๓ รูป (๑๒ รูป) ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. ราชทัตตเถรคาถา
๕. ปัญจกนิบาต
๑. ราชทัตตเถรคาถา
ภาษิตของพระราชทัตตเถระ
(พระราชทัตตเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๑๕] ภิกษุไปป่าช้าผีดิบ๑แล้ว
ได้เห็นซากศพหญิงที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า
ทั้งถูกหมู่หนอนบ่อนกัดกินอยู่
[๓๑๖] ธรรมดาคนผู้รักสวยรักงามบางพวก
พบเห็นซากศพอันเลวแล้วพากันเกลียดชัง
(แต่)กามราคะปรากฏแก่เรา
เรานั้นเป็นเหมือนคนตาบอด
เพราะไม่เห็นของไม่สะอาด
ที่ไหลออกจากทวารทั้ง ๙ ในซากศพนั้น
[๓๑๗] ชั่วระยะเวลาที่ข้าวสุก
เราหลีกออกจากสถานที่นั้น
มีสติสัมปชัญญะ
ได้เข้าไปยังสถานที่สมควรแห่งหนึ่ง
[๓๑๘] จากนั้น โยนิโสมนสิการจึงเกิดขึ้นแก่เรา
โทษก็ปรากฏ ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
[๓๑๙] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ภิกฺขุ อสุภกมฺมฏฺฐานตฺถํ อุปคนฺตฺวา ภิกษุไปป่าช้าผีดิบเพื่อเจริญอสุภกรรมฐาน (ขุ.เถร.อ. ๒/๓๑๕/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. สุภูตเถรคาถา
๒. สุภูตเถรคาถา
ภาษิตของพระสุภูตเถระ
(พระสุภูตเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๒๐] คนผู้ประสงค์จะทำการงาน
ประกอบตนอยู่ในการงานที่ไม่ควรประกอบ
หากยังขืนทำอยู่
จะไม่ประสบความสำเร็จ
การประกอบในการงานที่ไม่ควรประกอบนั้นแล
เป็นลักษณะแห่งความล้มเหลว
[๓๒๑] บุคคลใดยังเพิกถอนความเป็นอยู่อย่างลำบากไม่ได้
หากละทิ้งความไม่ประมาทซึ่งเป็นธรรมอันเอกเสีย
บุคคลนั้นเป็นเหมือนคนกาลกิณี
หากละทิ้งธรรมอื่น ๆ เสียแม้ทั้งหมด
ก็จะพึงเป็นเหมือนคนตาบอด
เพราะมองไม่เห็นทั้งธรรมที่สงบและธรรมที่ไม่สงบ
[๓๒๒] บุคคลควรพูดถึงสิ่งที่ตนทำได้
ไม่พึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำไม่ได้
บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้จักบุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด
[๓๒๓] ดอกไม้งาม มีสีสวย(แต่)ไม่มีกลิ่น แม้ฉันใด
วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น
ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม
[๓๒๔] ดอกไม้งาม มีทั้งสีและมีกลิ่น แม้ฉันใด
วาจาสุภาษิต ก็ฉันนั้น
ย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. คิริมานันทเถรคาถา
๓. คิริมานันทเถรคาถา
ภาษิตของพระคิริมานันทเถระ
(พระคิริมานันทเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๒๕] ฝนตกลงมาเสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
เราเข้าไปสงบอยู่ในกุฎีนั้น
ถ้าต้องการจะตก ก็จงตกลงมาเถิดฝน
[๓๒๖] ฝนตกลงมาเสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
เรามีจิตสงบอยู่ในกุฎีนั้น
ถ้าต้องการจะตก ก็จงตกลงมาเถิดฝน
[๓๒๗] ฝนตกลงมาเสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
เราไม่มีราคะอยู่ในกุฎีนั้น
ถ้าต้องการจะตก ก็จงตกลงมาเถิดฝน
[๓๒๘] ฝนตกลงมาเสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
เราไม่มีโทสะอยู่ในกุฎีนั้น
ถ้าต้องการจะตก ก็จงตกลงมาเถิดฝน
[๓๒๙] ฝนตกลงมาเสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงขับอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
เราไม่มีโมหะอยู่ในกุฎีนั้น
ถ้าต้องการจะตก ก็จงตกลงมาเถิดฝน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๔. สุมนเถรคาถา
๔. สุมนเถรคาถา
ภาษิตของพระสุมนเถระ
(พระสุมนเถระเมื่อเปล่งอุทานจึงได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๓๐] พระอุปัชฌาย์ปรารถนาธรรมข้อใด ในบรรดาธรรมทั้งหลาย
จึงได้อนุเคราะห์เราผู้มุ่งหวังแต่นิพพาน
กิจที่ควรทำ เราได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว
[๓๓๑] ธรรม๑เราได้บรรลุแล้ว
ทำให้แจ้งประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว
เรานั้นมีญาณบริสุทธิ์ หมดความสงสัย
จึงประกาศให้แจ้งในสำนักท่าน
[๓๓๒] เรารู้จักขันธ์ที่อาศัยอยู่มาก่อน๒
ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว
เราได้บรรลุประโยชน์ตน ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๓๓๓] เราไม่ประมาท
ศึกษาสิกขามาอย่างดีในคำสอนของท่าน
กิเลสอาสวะทั้งมวลของเราสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
[๓๓๔] ท่านมีแต่ความเอ็นดู
ได้อนุเคราะห์สั่งสอนเรา ด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่ประเสริฐ
คำสอนของท่านไม่ไร้ค่า
เราเป็นอันเตวาสิกศึกษาแล้วในสำนักของท่าน

เชิงอรรถ :
๑ มรรค ๔ (๑) โสดาปัตติมรรค (๒) สกทาคามิมรรค (๓) อนาคามิมรรค (๔) อรหัตตมรรค
(ขุ.เถร.อ. ๒/๓๓๑/๕๕)
๒ บุพเพสันนิวาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๖. นทีกัสสปเถรคาถา
๕. วัฑฒเถรคาถา
ภาษิตของพระวัฑฒเถระ
(พระวัฑฒเถระได้กล่าว ๕ คาถากึ่งไว้ดังนี้ว่า)
[๓๓๕] ทราบว่า โยมมารดาของเราดีแท้
ได้ชี้ให้เราเห็นประตักอันเป็นคำสั่งสอน
ซึ่งเราได้ถูกท่านผู้ให้กำเนิด พร่ำสอน ฟังคำมาแล้ว
ก็ได้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
ได้บรรลุสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม
[๓๓๖] เราเป็นพระอรหันต์ ผู้ควรแก่ทักษิณา
บรรลุวิชชา ๓ เห็นอมตธรรม
ชนะเสนามารได้แล้ว อยู่อย่างไม่มีอาสวะ
[๓๓๗] อาสวะที่มีแก่เราทั้งภายในและภายนอก
เราถอนได้หมดสิ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นไม่ได้อีก
[๓๓๘] โยมมารดาเป็นหญิงผู้มีความแกล้วกล้า
ได้กล่าวเนื้อความนี้แก่เรา
แม้เมื่อเราเป็นบุตรของท่านผู้ไม่มีกิเลส
กิเลสอันเปรียบเหมือนหมู่ไม้ในป่าก็ย่อมไม่มีแก่ท่านแน่
[๓๓๙] ทุกข์เราทำให้สิ้นสุดแล้ว
อัตภาพนี้มีเป็นครั้งสุดท้าย
สังสารวัฏคือความเกิดและความตายหมดสิ้นแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
๖. นทีกัสสปเถรคาถา
ภาษิตของพระนทีกัสสปเถระ
(พระนทีกัสสปเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๗. คยากัสสสปเถรคาถา
[๓๔๐] พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาสู่แม่น้ำเนรัญชรา
เพื่อเป็นประโยชน์แก่เราผู้ได้ฟังธรรมแล้วละมิจฉาทิฏฐิได้
[๓๔๑] ครั้งเมื่อเราเป็นปุถุชนยังมืดมนอยู่
สำคัญเอาว่า การบูชายัญนี้เป็นความบริสุทธิ์
จึงได้บูชายัญต่าง ๆ ชนิด และได้บูชาไฟด้วย
[๓๔๒] เรานั้นยึดถือทิฏฐิ
ลุ่มหลงไปด้วยการเชื่อถือผิด
เป็นคนตาบอด ยังไม่รู้แจ้ง
ได้สำคัญถึงความไม่บริสุทธิ์ ว่าเป็นความบริสุทธิ์
[๓๔๓] มิจฉาทิฏฐิเราละได้แล้ว
ภพทั้งปวงเราทำลายได้แล้ว
บัดนี้ เราบูชาไฟคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ควรแก่ทักษิณา
เราจะนอบน้อมพระตถาคต
[๓๔๔] ความลุ่มหลงทั้งปวงเราละได้แล้ว
ภวตัณหาเราก็ทำลายได้แล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
๗. คยากัสสปเถรคาถา
ภาษิตของพระคยากัสสปเถระ
(พระคยากัสสปเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๔๕] เรานั้นได้ลงน้ำ(ลอยบาป)ในแม่น้ำคยา
ในวันเพ็ญเดือน ๔ วันหนึ่ง ๓ เวลา
คือ เวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาเย็น
โดยเข้าใจเอาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๘. วักกลิเถรคาถา
[๓๔๖] เราได้เสวยบาปกรรมที่เราทำไว้ในชาติอื่น ๆ แต่ปางก่อน
บัดนี้ เราจะลอยบาปนั้นเสียตรงนี้
เราได้มีความเห็นอย่างนี้มาแต่เดิม
[๓๔๗] เรานั้นครั้นฟังพระวาจาสุภาษิต
อันเป็นบทที่ประกอบด้วยเหตุผลแล้ว
ก็ได้พิจารณาเห็นเนื้อความตามความเป็นจริง
ได้อย่างถ่องแท้ โดยแยบคาย
[๓๔๘] ล้างบาปได้หมดแล้ว เป็นผู้ไม่มีมลทิน
หมดจดสะอาด บริสุทธิ์
เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
เป็นบุตรพุทธโอรส
[๓๔๙] เราก้าวลงสู่กระแสน้ำคือมรรคอันมีองค์ ๘
ลอยบาปได้หมดแล้ว จึงบรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๘. วักกลิเถรคาถา
ภาษิตของพระวักกลิเถระ
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า)
[๓๕๐] เธอ เมื่ออยู่ในป่าใหญ่เป็นสถานที่ลำบาก
หาปัจจัยได้ยาก ถูกโรคลมรบกวน จักทำอย่างไรละภิกษุ
พระวักกลิเถระ (ได้กราบทูลว่า)
[๓๕๑] ข้าพระองค์จักแผ่ปีติสุขอันไพบูลย์ไปทั่วร่างกาย
ครอบงำแม้ปัจจัยที่เศร้าหมอง อยู่ในป่าใหญ่
[๓๕๒] จะเจริญสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
และโพชฌงค์ ๗ อยู่ในป่าใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๙. วิชิตเสนเถรคาถา
[๓๕๓] ข้าพระองค์พอได้เห็นเพื่อนพรหมจารี๑ทั้งหลาย
ผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน
มีความเห็นร่วมกัน จึงจักอยู่ในป่าใหญ่
[๓๕๔] เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ฝึกพระองค์แล้ว
มีพระหฤทัยตั้งมั่น จักเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
ทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ในป่าใหญ่
๙. วิชิตเสนเถรคาถา
ภาษิตของพระวิชิตเสนเถระ
(พระวิชิตเสนเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๕๕] เราจะคล้องจิตของเจ้าไว้
เหมือนควาญช้างกักช้างไว้ที่ประตูเมือง
เราจะไม่ชักนำเจ้าซึ่งเป็นข่ายแห่งกามเกิดในร่างกาย
ให้เป็นไปในกรรมชั่ว
[๓๕๖] เจ้าถูกเราคล้องไว้จะไปไม่ได้
เหมือนช้างไม่ได้ช่องประตู หมดทางไป
แน่ะจิตผู้ชั่วช้า ก็เจ้าผู้ดื้อด้าน
จะพอใจในกรรมชั่ว เที่ยวไปเสมอ ๆ มิได้
[๓๕๗] ควาญช้างผู้มีกำลังเข้มแข็ง
ย่อมบังคับช้างที่จับได้ใหม่ ยังไม่ได้ฝึก
ทั้งไม่ต้องการ(จะให้ฝึก)ด้วย ให้อยู่ในอำนาจได้ ฉันใด
เราจะบังคับเจ้าให้อยู่ในอำนาจได้ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์,ผู้ประพฤติธรรมมีเว้นจากเมถุนเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๑๐. ยสทัตตเถรคาถา
[๓๕๘] สารถีมือหนึ่ง เก่งในการฝึกม้าให้ดี
ย่อมฝึกม้าให้รอบรู้ได้ ฉันใด
เราตั้งอยู่ในพละ ๕
จะฝึกเจ้าให้ได้ ฉันนั้น
[๓๕๙] จักใช้สติผูกเจ้าไว้ จะคอยเอาใจใส่ฝึกเจ้า
เจ้าจิตเอ๋ย เจ้าถูกบังคับให้ทำธุระด้วยความเพียรแล้ว
จะไปไกลจากอารมณ์ภายในนี้ไม่ได้
๑๐. ยสทัตตเถรคาถา
ภาษิตของพระยสทัตตเถระ
(พระยสทัตตเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๖๐] คนปัญญาทราม คิดแต่จะแข่งดี
ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ก็ยังไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน
[๓๖๑] คนปัญญาทราม คิดแต่จะแข่งดี
ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ก็ยังเสื่อมจากพระสัทธรรม เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
[๓๖๒] คนปัญญาทราม คิดแต่จะแข่งดี
ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ก็ยังเหี่ยวแห้งในพระสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำน้อย
[๓๖๓] คนปัญญาทราม คิดแต่จะแข่งดี
ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ก็ไม่งอกงามในพระสัทธรรม เหมือนพืชเน่าในไร่นา
[๓๖๔] ส่วนผู้ใดมีจิตอันคุ้มครองไว้แล้ว ย่อมฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ผู้นั้นทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป ทำพระอรหัตให้แจ้งแล้ว
บรรลุนิพพานอันสงบอย่างยิ่ง เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๑๒. โกสิยเถรคาถา
๑๑. โสณกุฏิกัณณเถรคาถา
ภาษิตของพระโสณกุฏิกัณณเถระ
(พระโสณกุฏิกัณณเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๖๕] เราได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้หลุดพ้น ไม่มีอาสวะ
ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
และได้อยู่ร่วมกับพระองค์ในพระวิหาร
[๓๖๖] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่กลางแจ้งหลายราตรีนั่นเทียว
คราวนั้นพระศาสดา ผู้ทรงฉลาดในธรรมเป็นเครื่องอยู่
ได้เสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร
[๓๖๗] พระโคดมได้ทรงลาดผ้าสังฆาฏิ
สำเร็จสีหไสยาสน์ ละความขลาดกลัวได้แล้ว
เหมือนราชสีห์นอนอยู่ในถ้ำภูเขา
[๓๖๘] จากนั้น โสณสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้กล่าววาจาไพเราะ
ได้กล่าวพระสัทธรรมถวาย
เบื้องพระพักตร์พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๓๖๙] กำหนดรู้เบญจขันธ์
ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางตรงให้เจริญ
บรรลุนิพพานอันสงบอย่างยิ่ง
จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
๑๒. โกสิยเถรคาถา
ภาษิตของพระโกสิยเถระ
(พระโกสิยเถระได้กล่าว ๕ คาถาไว้ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๑๒. โกสิยเถรคาถา
[๓๗๐] ผู้ใดเป็นปราชญ์ รู้คำสั่งสอนของครูทั้งหลาย
พึงอยู่ในโอวาทของท่าน
และพึงทำความเคารพให้เกิดในโอวาทของท่าน
ผู้นั้นชื่อว่ามีความภักดี เป็นบัณฑิต
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
[๓๗๑] อันตรายที่ร้ายแรงเกิดขึ้นแล้ว
ทำผู้ใดซึ่งพิจารณาอยู่ให้หวั่นไหวไม่ได้
ผู้นั้นชื่อว่ามีกำลัง เป็นบัณฑิต
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
[๓๗๒] ผู้ใดตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
มีปัญญาลึกซึ้ง เหมือนมหาสมุทร
เห็นอรรถที่ละเอียด
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่ง่อนแง่น เป็นบัณฑิต
และพึงเป็นผู้วิเศษ เพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
[๓๗๓] ผู้ใดเป็นพหูสูต ทรงธรรม
และมักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตเช่นกับครูนั้น
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
[๓๗๔] ผู้ใดย่อมรู้ความหมายของพระปริยัติธรรม
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว
และครั้นรู้แล้วก็ทำตามที่รู้
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในอำนาจเหตุผล เป็นบัณฑิต
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
ปัญจกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พระราชทัตตเถระ ๒. พระสุภูตเถระ
๓. พระคิริมานันทเถระ ๔. พระสุมนเถระ
๕. พระวัฑฒเถระ ๖. พระนทีกัสสปเถระ
๗. พระคยากัสสปเถระ ๘. พระวักกลิเถระ
๙. พระวิชิตเถระ ๑๐. พระยสทัตตเถระ
๑๑. พระโสณกุฏิกัณณเถระ ๑๒. พระโกสิยเถระ

ในนิบาตนี้ มีพระเถระ ๑๒ รูป
กล่าวรูปละ ๕ คาถา รวมเป็น ๖๐ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อุรุเวลกัสสปเถรคาถา
๖. ฉักกนิบาต
๑. อุรุเวลกัสสปเถรคาถา
ภาษิตของพระอุรุเวลกัสสปเถระ
(พระอุรุเวลกัสสปเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๗๕] (พระโคดมยังไม่กำราบเราเพียงใด)
เราเห็นปาฏิหาริย์ของพระโคดมผู้เรืองยศแล้ว
ก็ยังเป็นคนลวงโลกด้วยความริษยา และมานะ
ยังไม่นอบน้อม เพียงนั้น
[๓๗๖] พระศาสดาผู้เป็นสารถีฝึกคน
ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ก็ทรงปราม
แต่นั้น เราก็ได้มีความสังเวช
ขนพองสยองเกล้าอย่างไม่เคยเป็น
[๓๗๗] คราวนั้น เราละความสำเร็จนิดหน่อยของเรา
ครั้งที่เคยเป็นชฎิล๑
แล้วบวชในพระศาสนาของพระชินเจ้า
[๓๗๘] ครั้งก่อน เรายินดีด้วยการบูชายัญ มุ่งกามสุคติภูมิ
ภายหลัง ถอนราคะ โทสะ และแม้โมหะได้ขาด
[๓๗๙] เรารู้ขันธ์ที่อาศัยอยู่มาก่อน
ได้ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว
มีฤทธิ์ รู้จิตของผู้อื่น
และบรรลุทิพพโสตญาณ
[๓๘๐] อนึ่ง เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง เราบรรลุแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ นักบวชประเภทหนึ่ง เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูงขึ้น มักถือลัทธิบูชาไฟ บางครั้งจัดเข้าในพวกฤษี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต]๒. เตกิจฉกานิเถรคาถา
๒. เตกิจฉกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระเตกิจฉกานิเถระ
(มารกล่าวว่า)
[๓๘๑] ข้าวเปลือกเขาเก็บไว้ในฉาง
ข้าวสาลีก็ยังอยู่ในลาน
ข้าพเจ้าไม่ได้ก้อนข้าว
บัดนี้ยังจะทำอย่างไร
(พระเตกิจฉกานิเถระกล่าวว่า)
[๓๘๒] ท่านเลื่อมใสแล้ว
จงระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ซึ่งมีพระคุณหาประมาณมิได้
จะเป็นผู้มีสรีระที่ปีติถูกต้องแล้วเบิกบานใจเนือง ๆ
[๓๘๓] ท่านเลื่อมใสแล้ว
จงระลึกถึงพระธรรม
ซึ่งมีพระคุณหาประมาณมิได้
จะเป็นผู้มีสรีระที่ปีติถูกต้องแล้ว เบิกบานใจเนือง ๆ
[๓๘๔] ท่านเลื่อมใสแล้ว
จงระลึกถึงพระสงฆ์
ซึ่งมีพระคุณหาประมาณมิได้
จะเป็นผู้มีสรีระที่ปีติถูกต้องแล้ว เบิกบานใจเนือง ๆ
(มารกล่าวว่า)
[๓๘๕] ท่านอยู่กลางแจ้ง
ตลอดราตรีที่เย็น ซึ่งเป็นฤดูหนาวเหล่านี้
ท่านอย่าได้ถูกความหนาวรบกวน เบียดเบียนเลย
นิมนต์เข้าวิหารซึ่งมีบานประตูหน้าต่างมิดชิดเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๓. มหานาคเถรคาถา
(พระเตกิจฉกานิเถระกล่าวว่า)
[๓๘๖] เราจะสัมผัสอัปปมัญญาทั้งสี่๑
และจะมีความสุข อยู่ด้วยอัปปมัญญาเหล่านั้น
เราจะอยู่อย่างไม่หวั่นไหว
ไม่เดือดร้อน เพราะความหนาวอยู่
๓. มหานาคเถรคาถา
ภาษิตของพระมหานาคเถระ
(พระมหานาคเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๘๗] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมเสื่อมจากพระสัทธรรม
เหมือนปลาในน้ำน้อย
[๓๘๘] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้น ไม่งอกงามในพระสัทธรรม
เหมือนพืชเน่าในไร่นา
[๓๘๙] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมอยู่ห่างไกลจากนิพพาน
ในพระศาสนาของพระศาสดาผู้เป็นพระธรรมราชา
[๓๙๐] ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม
เหมือนปลาในน้ำมาก

เชิงอรรถ :
๑ อัปปมัญญา ๔ คือ พรหมวิหาร ๔ (๑. เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข ๒. กรุณา
ความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ ๓. มุทิตา ความยินดีในเมื่อผู้อื่นมีสุข ๔. อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง ไม่
เอนเอียงเพราะรักเพราะชัง) ที่ชื่อว่าอัปปมัญญาเพราะแผ่ไปโดยไม่มีประมาณในสัตว์ในบุคคล ไม่จำกัดขอบเขต
(ขุ.เถร.อ. ๒/๓๘๖/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๔. กุลลเถรคาถา
[๓๙๑] ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมงอกงามในพระสัทธรรม
เหมือนพืชดีในไร่นา
[๓๙๒] ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน
ในพระศาสนาของพระศาสดาผู้เป็นพระธรรมราชา
๔. กุลลเถรคาถา
ภาษิตของพระกุลลเถระ
(พระกุลลเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๙๓] กุลลภิกษุ ไปป่าช้าผีดิบ
ได้เห็นซากศพหญิงที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า
ทั้งถูกหมู่หนอนบ่อนกัดกิน
[๓๙๔] กุลละเอ๋ย เจ้าจงพิจารณาดูร่างกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า หลั่งของไม่สะอาดเข้าออก
ที่พวกคนเขลาชื่นชมกันนัก
[๓๙๕] เราใช้แว่นคือพระธรรมส่องดูร่างกายนี้
ซึ่งว่างเปล่าทั้งภายในและภายนอก
เพื่อบรรลุญาณทัสสนะ๑
[๓๙๖] ร่างกายของเรานี้ กับซากศพนั้น ก็เหมือนกัน
ซากศพนั่นกับร่างกายของเรานี้ ก็เหมือนกัน
ร่างกายนี้ ท่อนล่าง ท่อนบน ก็เหมือนกัน
ท่อนบน ท่อนล่างก็เหมือนกัน

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญาหยั่งรู้ด้วยการเห็นธรรม คือ บรรลุธรรมจักษุกล่าวคือมรรคญาณ (ขุ.เถร.อ. ๒/๓๙๕/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
[๓๙๗] ร่างกายกลางวัน กลางคืน ก็เหมือนกัน
กลางคืน กลางวัน ก็เหมือนกัน
ในกาลก่อนกับภายหลัง ก็เหมือนกัน
ภายหลัง กับกาลก่อนก็เหมือนกัน
[๓๙๘] อิสรชนผู้เพียบพร้อมด้วยกามสุข
ที่เขาบำเรอด้วยดนตรีเครื่องห้า ย่อมไม่ยินดีเช่นนั้น
เหมือนกับเราผู้มีจิตแน่วแน่
พิจารณาเห็นธรรมแจ่มแจ้งโดยชอบ
๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระมาลุงกยบุตรเถระ
(พระมาลุงกยบุตรเถระแสดงธรรมด้วย ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๓๙๙] ตัณหา ย่อมเจริญแก่มนุษย์ ผู้ประพฤติประมาท
เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า
เขาย่อมเร่ร่อนไปมา
เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้ เที่ยวเร่ร่อนไปในป่า
[๔๐๐] ตัณหาที่เลวทรามซ่านไปในโลกนี้
ย่อมครอบงำบุคคลใดไว้ได้
ความโศกย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกรดแล้วเจริญงอกงามขึ้น
[๔๐๑] ส่วนบุคคลใด ครอบงำตัณหาที่เลวทรามนั้น
ซึ่งล่วงได้ยาก ในโลกไว้ได้
ความโศกย่อมตกไปจากบุคคลนั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๖. สัปปทาสเถรคาถา
[๔๐๒] เพราะเหตุนั้น เราขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายที่ประชุมกันในที่นี้ จงมีความเจริญ
ขอท่านทั้งหลายจงขุดรากเหง้าแห่งตัณหา
เหมือนผู้ต้องการหญ้าแฝกขุดหญ้าแฝกอยู่
มารอย่าได้ระรานท่านทั้งหลายอยู่ร่ำไป
เหมือนกระแสน้ำระรานไม้อ้อ
[๔๐๓] ท่านทั้งหลาย จงทำตามพระพุทธพจน์
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
แออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่
[๔๐๔] ความประมาทคือความเลินเล่อ จัดเป็นธุลี
ธุลีเกิดจากความประมาท
บุคคลพึงถอนลูกศรที่เสียบอยู่ในหทัยของตน
ด้วยความไม่ประมาท และด้วยวิชชาเถิด
๖. สัปปทาสเถรคาถา
ภาษิตของพระสัปปาทเถระ
(พระสัปปทาสเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๔๐๕] ตั้งแต่เราบวชมาได้ ๒๕ พรรษา
ไม่ได้ความสงบใจ แม้เพียงดีดนิ้วมือ
[๔๐๖] เราไม่ได้เอกัคคตาจิต๑ ถูกกามราคะรบกวน
ประคองแขนคร่ำครวญ
ไม่ยอมออกจากวิหารโดยคิดว่า

เชิงอรรถ :
๑ จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๗. กาติยานเถรคาถา
[๔๐๗] ชีวิตจะมีประโยชน์อะไรสำหรับเรา
เราจะนำศัสตรามา คนอย่างเรา จะบอกลาสิกขาทำไมเล่า
ควรตายเสียเถิด
[๔๐๘] คราวนั้น เราได้ฉวยมีดโกนขึ้นอยู่บนเตียงน้อย
ได้จดมีดโกน เพื่อจะเชือดหลอดคอของตน
[๔๐๙] แต่นั้น โยนิโสมนสิการก็เกิดขึ้นแก่เรา
โทษก็ปรากฏ ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
[๔๑๐] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๗. กาติยานเถรคาถา
ภาษิตของพระกาติยานเถระ
(พระกาติยานเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้อย่างนี้)
[๔๑๑] ลุกขึ้นนั่งเถิด กาติยานะ อย่ามัวนอนหลับอยู่เลย
จงตื่นเถิด อย่าให้มัจจุราช ซึ่งเป็นพวกพ้องของความประมาท
ชนะเธอผู้เกียจคร้านด้วยอุบายที่โกงได้เลย
[๔๑๒] ชาติและชราครอบงำเธอ
เหมือนกำลังคลื่นมหาสมุทร
เธอนั้นจงทำที่พึ่งอย่างดีสำหรับตนเสีย
เพราะเธอไม่มีที่พึ่งอย่างอื่น
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๘. มิคชาลเถรคาถา
[๔๑๓] พระศาสดาชี้บอกทางนี้
ซึ่งล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง
และจากภัยคือชาติและชรา
เธอจงอย่าได้ประมาทตลอดยามต้นและยามปลาย
หมั่นกระทำความเพียรให้มั่นเถิด
[๔๑๔] จงปลดเปลื้องเครื่องผูกทั้งหลายที่เป็นของเดิมเสีย
ใช้สอยผ้าสังฆาฏิ ปลงผมด้วยมีดโกน
และฉันอาหารที่เที่ยวภิกษาจารได้มา
อย่าเห็นแก่การเล่นสนุกสนาน
อย่าเห็นแก่การหลับนอน จงหมั่นเข้าฌานเถิด กาติยานะ
[๔๑๕] เธอจงเพ่งฌาน ชนะกิเลส
เธอเป็นผู้ฉลาดในทางที่ปลอดโปร่งจากโยคะ
จะถึงความบริสุทธิ์ซึ่งไม่มีความบริสุทธิ์อื่นใดยิ่งกว่าแล้วปรินิพพาน
เหมือนไฟลุกโชนที่เขาดับด้วยน้ำ
[๔๑๖] ประทีปที่มีเปลวไฟน้อย ย่อมดับไปเพราะลม
เหมือนเถาวัลย์หลุดร่วงเพราะลม ฉันใด
เธอผู้มีโคตรเหมือนพระอินทร์ แม้เธอก็ฉันนั้น
อย่าถือมั่น จงกำจัดมารเสีย
จงปราศจากความกำหนัดพอใจในเวทนาทั้งหลาย
จงเป็นผู้สงบเย็น รอคอยกาลปรินิพพานในอัตภาพนี้แล
๘. มิคชาลเถรคาถา
ภาษิตของพระมิคชาลเถระ
(พระมิคชาลเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๔๑๗] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธ์แห่งพระอาทิตย์ย์
ทรงมีพระจักษุ ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ซึ่งพระธรรม
ที่ล่วงสังโยชน์ได้ทั้งหมด
ทำวัฏฏะให้พินาศไปสิ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๙. เชนตปุโรหิตปุตตเถรคาถา
[๔๑๘] เป็นธรรมที่นำเหล่าสัตว์ออกจากสงสาร
เป็นเครื่องข้ามพ้นสงสารได้
ทำรากเหง้าแห่งตัณหาให้เหือดแห้งไป
ทำลายกรรมกิเลสซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตที่มีรากเป็นพิษ
ให้ถึงความดับ
[๔๑๙] พระธรรมซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกรรมให้สิ้นสุด
อันพระพุทธเจ้าแสดงแล้ว
เพื่อทำลายรากเหง้าอวิชชา ให้ตกไปด้วยวชิรญาณ
เมื่อการยึดถือวิญญาณทั้งหลายปรากฏขึ้น
[๔๒๐] เป็นธรรมให้รู้เวทนาทั้งหลายได้แจ่มแจ้ง
ปลดเปลื้องอุปาทาน
พิจารณาเห็นภพดุจหลุมถ่านเพลิงด้วยญาณ
[๔๒๑] เป็นธรรมหยั่งรู้ได้ยาก ลึกซึ้ง
ห้ามความแก่และความตายได้
เป็นทางประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ สงบทุกข์ เกษม
[๔๒๒] เป็นธรรมเครื่องเห็นแสงสว่างตามความเป็นจริง
ถึงความปลอดโปร่งอย่างมาก สงบ มีความเจริญเป็นที่สุด
เพราะทรงทราบกรรมว่าเป็นกรรม และวิบากโดยความเป็นวิบาก
แห่งธรรมที่อิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น
๙. เชนตปุโรหิตปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระเชนตปุโรหิตบุตรเถระ
(พระเชนตปุโรหิตบุตรเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๔๒๓] เราเป็นผู้มัวเมาด้วยความเมาเพราะชาติสกุล โภคะ อิสริยยศ
ทรวดทรง ผิวพรรณและรูปร่าง
เราได้ประพฤติมัวเมาด้วยความเมาอย่างอื่นอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๑๐. สุมนเถรคาถา
[๔๒๔] เราเป็นคนโง่ ถูกอติมานะกำจัด มีใจกระด้างจัด ชูมานะดุจธง
จึงไม่สำคัญใคร ๆ ว่า เสมอกับตนและยิ่งกว่าตน
[๔๒๕] กระด้างเพราะมานะ ไม่เอื้อเฟื้อ จึงไม่ยอมกราบไหว้ใคร ๆ
แม้เป็นมารดา บิดา และแม้ผู้อื่นที่ควรเคารพ
[๔๒๖] เราได้พบพระศาสดาผู้ทรงแนะนำ
เลิศประเสริฐสูงสุดกว่าสารถีทั้งหลาย
ทรงรุ่งเรืองอยู่ดุจพระอาทิตย์ มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
[๔๒๗] จึงมีใจเลื่อมใส ละทิ้งมานะและความมัวเมาแล้ว
กราบไหว้พระศาสดาผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทุกหมู่เหล่าด้วยเศียรเกล้า
[๔๒๘] ความถือตัวว่าดีกว่าเขา และความถือตัวว่าเลวกว่าเขา
เราละถอนได้เด็ดขาดแล้ว
อัสมิมานะเราก็ตัดขาดแล้ว
มานะทุกอย่างเราก็ทำลายเสียแล้ว
๑๐. สุมนเถรคาถา
ภาษิตของพระสุมนเถระ
(พระสุมนเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๔๒๙] เมื่อครั้งเราบวชใหม่ มีอายุได้ ๗ ขวบ โดยกำเนิด
ได้ข่มพญานาค ผู้มีฤทธิ์มากด้วยฤทธิ์
[๔๓๐] ได้ตักน้ำจากสระใหญ่อโนดาดมาถวายพระอุปัชฌาย์
พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นเราแล้ว ตรัสดังนี้ว่า
[๔๓๑] สารีบุตร เธอจงดูเด็กน้อยนี้ ผู้มีใจตั้งมั่นดีภายใน
กำลังถือหม้อน้ำมานี้
[๔๓๒] สามเณรของพระอนุรุทธะ มีวัตรน่าเลื่อมใส
มีอิริยาบถงดงาม ทั้งแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๑๑. นหาตกมุนีเถรคาถา
[๔๓๓] อันพระอนุรุทธะผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ฝึกให้เป็นบุรุษอาชาไนย
ผู้เป็นคนดีฝึกให้เป็นคนดี
ผู้สำเร็จกิจแล้ว แนะนำสั่งสอนแล้ว
[๔๓๔] สุมนสามเณรนั้น ได้ถึงความสงบอย่างยิ่ง
ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันไม่กำเริบพระอรหัตตผล
แล้วหวังว่าใคร ๆ อย่าพึงรู้จักเรา
๑๑. นหาตกมุนีเถรคาถา
ภาษิตของพระนหาตกมุนีเถระ
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า)
[๔๓๕] เธอเมื่ออยู่ในป่าใหญ่ เป็นสถานที่ลำบากหาปัจจัยได้ยาก
ถูกโรคลมรบกวน จักทำอย่างไรละ ภิกษุ
พระนหาตกมุนีเถระ(ได้กราบทูลว่า)
[๔๓๖] ข้าพระองค์จะแผ่ปีติสุขอันไพบูลย์ไปทั่วร่างกาย
ครอบงำแม้ปัจจัยที่เศร้าหมอง อยู่ในป่าใหญ่
[๔๓๗] จะเจริญสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
และโพชฌงค์ ๗ อยู่ในป่าใหญ่
[๔๓๘] พิจารณาเนือง ๆ ถึงจิตที่บริสุทธิ์
ซึ่งหลุดพ้นจากกิเลส ไม่ขุ่นมัว จะไม่มีอาสวะอยู่
[๔๓๙] อาสวะทั้งหมดของข้าพระองค์ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก
ข้าพระองค์ถอนขึ้นได้ไม่เหลือเลย และจะไม่เกิดขึ้นอีก
[๔๔๐] ขันธ์ ๕ ข้าพระองค์กำหนดรู้แล้ว
ขันธ์เหล่านั้นดำรงอยู่อย่างถูกตัดรากถอนโคนแล้ว
ข้าพระองค์ได้บรรลุความสิ้นทุกข์แล้ว บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๑๓. สิริมัณฑเถรคาถา
๑๒. พรหมทัตตเถรคาถา
ภาษิตของพระพรหมทัตตเถระ
(พระพรหมทัตตเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๔๔๑] สำหรับผู้ที่ไม่โกรธ ฝึกฝนตนมาแล้ว
เป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ
สงบคงที่ ความโกรธจะมีแต่ที่ไหน
[๔๔๒] ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธ ผู้นั้นเลวกว่าผู้ที่โกรธนั้นแหละ
เพราะความที่โกรธตอบนั้น ผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธ
ชื่อว่าย่อมชนะสงคราม ที่ชนะได้ยาก
[๔๔๓] ผู้ที่รู้ว่าผู้อื่นโกรธเคืองแล้วมีสติสงบอยู่ได้
ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
[๔๔๔] เหล่าชนที่ไม่เข้าใจธรรม
ย่อมสำคัญบุคคลผู้อดกลั้นต่อตนและผู้อื่นทั้งสอง
นั้นว่าเป็นคนโง่เขลา
[๔๔๕] ถ้าความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
ท่านจงคำนึงถึงพระโอวาทที่อุปมาด้วยเลื่อย
ถ้าความอยากในรสพึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
ท่านจงระลึกถึงพระโอวาทที่อุปมาด้วยเนื้อบุตร
[๔๔๖] ถ้าจิตของท่านแล่นพล่านไปทั้งในกามและภพ
ท่านจงรีบข่มไว้ด้วยสติเหมือนคนห้ามปรามปศุสัตว์ดื้อที่กินข้าวกล้า
๑๓. สิริมัณฑเถรคาถา
ภาษิตของท่านพระสิริมัณฑเถระ
(พระสิริมัณฑเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๔๔๗] ทุจริตที่ปิดบังไว้ย่อมรั่วรด ที่เปิดเผยย่อมไม่รั่วรด
เพราะฉะนั้น ควรเปิดเผยทุจริตที่ปิดไว้นั้นเสีย
ทุจริตที่เปิดเผยนั้น จะไม่รั่วรดได้ด้วยอาการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๑๔. สัพพกามีเถรคาถา
[๔๔๘] สัตว์โลกถูกมัจจุราชคอยขจัด ถูกชรารุมล้อม
ถูกลูกศรคือตัณหาคอยทิ่มแทง
ทั้งถูกความอยากแผดเผาตลอดกาล
[๔๔๙] สัตว์โลก ถูกมัจจุราชคอยขจัด และถูกชรารุมล้อม
ไม่มีที่พึ่ง ถูกเบียดเบียนอยู่เป็นนิตย์
เหมือนโจรถูกลงอาชญา
[๔๕๐] ชรา พยาธิ มรณะ ทั้ง ๓ เปรียบเหมือนกองไฟ
ย่อมมาย่ำยีสัตว์โลกนี้
สัตว์โลกนี้ ไม่มีกำลังที่จะต่อสู้
ทั้งไม่มีความเร็วที่จะหนีไป
[๔๕๑] บุคคลควรทำวันคืนไม่ให้ไร้ประโยน์
ด้วยการใส่ใจถึงวิปัสสนาไม่ว่าน้อยหรือมาก
ชีวิตของผู้ที่ผ่านวันคืนไปเท่าใด
ก็เป็นอันพร่องไปเท่านั้น
[๔๕๒] วันคืนสุดท้าย ย่อมคืบคลานเข้าไปใกล้บุคคล
ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง หรือนอน
เพราะฉะนั้น ท่านไม่พึงประมาทกาลเวลา
๑๔. สัพพกามีเถรคาถา
ภาษิตของพระสัพพกามีเถระ
(พระสัพพกามีเถระได้กล่าว ๖ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๔๕๓] สัตว์สองเท้านี้ ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ
หลั่งของไม่สะอาดออกทั่วทั้งร่างกาย
ต้องบริหารอยู่ประจำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๖. ฉักกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๔๕๔] กามคุณ ๕ ย่อมลวงเบียดเบียนปุถุชน
เหมือนนายพรานแอบใช้เครื่องดัก ดักเนื้อ
เหมือนชาวประมงใช้เบ็ดตกปลา
(และ)เหมือนพรานเนื้อใช้ตังดักลิง
[๔๕๕] กามคุณ ๕ เหล่านั้น คือ รูป เสียง กลิ่น รส
และโผฏฐัพพะที่น่าชอบใจ ย่อมปรากฏในเรือนร่างหญิง
[๔๕๖] เหล่าปุถุชนที่มีจิตกำหนัด ส้องเสพหญิงเหล่านั้นอยู่
ย่อมขยายสังสารวัฏที่น่ากลัว ย่อมก่อภพใหม่ไม่มีสิ้นสุด
[๔๕๗] ส่วนผู้ใดเว้นขาดสตรีเหล่านั้น
ผู้นั้นชื่อว่ามีสติ ก้าวล่วงตัณหาที่ซ่านไปในโลกนี้ได้ด้วยดี
เหมือนคนสลัดหัวงูจากเท้า
[๔๕๘] เราเห็นโทษในกามทั้งหลาย
เห็นการออกบวชโดยความเกษม
พรากจากกามเสียได้ทั้งหมดแล้วได้ถึงความสิ้นอาสวะ
ฉักกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พระอุรุเวลกัสสปเถระ ๒. พระเตกิจฉกานิเถระ
๓. พระมหานาคเถระ ๔. พระกุลลเถระ
๕. พระมาลุงกยบุตรเถระ ๖. พระสัปปทาสเถระ
๗. พระกาติยานเถระ ๘. พระมิคชาลเถระ
๙. พระเชนตปุโรหิตบุตรเถระ ๑๐. พระสุมนเถระ
๑๑. พระนหาตกมุนีเถระ ๑๒. พระพรหมทัตตเถระ
๑๓. พระสิริมัณฑเถระ ๑๔. พระสัพพกามีเถระ

ในนิบาตนี้ มี ๘๔ คาถา และมีพระเถระ ๑๔ รูป ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๑. สุนทรสมุททเถรคาถา
๗. สัตตกนิบาต
๑. สุนทรสมุททเถรคาถา
ภาษิตของพระสุนทรสมุทรเถระ
(พระสุนทรสมุทรเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๕๙] หญิงแพศยาตกแต่งร่างกาย นุ่งผ้าสวยงาม
ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ของหอม
มีเท้าย้อมด้วยสีแดงได้สวมเขียงเท้า ยืนอยู่
[๔๖๐] นางได้ถอดเขียงเท้า ประนมมือไว้ข้างหน้า
พูดเล้าโลมเราด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวานว่า
[๔๖๑] ท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่น โปรดเชื่อฟังดิฉัน
จงบริโภคกามที่เป็นของมนุษย์
ดิฉันจะมอบทรัพย์สมบัติให้ท่าน
ดิฉันขอให้สัจจะแก่ท่าน
ถ้าท่านไม่เชื่อ จะให้ดิฉันนำไฟมาทำการสบถต่อท่านก็ได้
[๔๖๒] เมื่อคราวที่เราทั้งสองแก่เฒ่าจนถือไม้เท้าจึงค่อยบวช
เมื่อเป็นเช่นนี้นับว่าได้ชัยชนะในโลกทั้ง ๒
[๔๖๓] เราเพราะเห็นหญิงแพศยาตกแต่งร่างกาย นุ่งผ้าสวยงาม
ประนมมืออ้อนวอน เหมือนบ่วงมัจจุราชที่วางดักไว้
[๔๖๔] แต่นั้น โยนิโสมนสิการก็เกิดขึ้นแก่เรา
โทษก็ปรากฏ ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อม
[๔๖๕] ต่อจากนั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๒. ลกุณฏกภัททิยเถรคาถา
๒. ลกุณฏกภัททิยเถรคาถา
ภาษิตของพระลกุณฑกภัททิยเถระ
(พระลกุณฏกภัททิยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๖๖] พระภัททิยภิกษุอยู่ในอัมพาฏการามอันสวยงาม
ใกล้ชัฏแห่งป่า ได้ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากแล้ว
เป็นผู้งามด้วยคุณมีศีลเป็นต้น
เข้าฌานอยู่ในชัฏแห่งป่า
[๔๖๗] ผู้มักบริโภคกามบางพวกยินดีด้วยเสียงตะโพน
เสียงพิณและเสียงบัณเฑาะว์
ส่วนเรายินดีในคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ที่โคนไม้
[๔๖๘] หากพระพุทธเจ้าพึงประทานพรแก่เรา
และหากเราพึงได้รับพรนั้น
เราจะพึงรับกายคตาสติที่ชาวโลกทั้งมวลควรเจริญอยู่ประจำ
[๔๖๙] เหล่าชนที่ดูหมิ่นรูปร่างเรา แต่ชมเสียงเรา
ชื่อว่ายังตกอยู่ภายใต้อำนาจฉันทราคะ ย่อมไม่รู้จักเรา
[๔๗๐] คนโง่เขลาถูกกิเลสปิดกั้นไว้โดยรอบ
ไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก
ย่อมถูกชักจูงไปตามกระแสเสียง
[๔๗๑] แม้คนที่ไม่รู้ภายใน เห็นชัดแต่ภายนอก
ชื่อว่าเห็นแต่ผลภายนอก
ย่อมถูกชักจูงไปตามกระแสเสียง
[๔๗๒] ส่วนคนที่มีความเห็นไม่ถูกปิดกั้น
รู้ชัดทั้งภายใน เห็นแจ้งทั้งภายนอก
ย่อมไม่ถูกชักจูงไปตามกระแสเสียง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๓. ภัททเถรคาถา
๓. ภัททเถรคาถา
ภาษิตของพระภัททเถระ
(พระภัททเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๗๓] เราเป็นบุตรคนเดียว จึงได้เป็นที่รักของมารดาบิดา
เพราะเหตุว่ามารดาบิดาได้เรามาด้วยการประพฤติวัตร
และการบวงสรวงมากมาย
[๔๗๔] มารดาบิดาทั้งสองนั้นแหละมุ่งหวังความเจริญ
แสวงหาประโยชน์เพื่ออนุเคราะห์เรา
จึงได้น้อมนำเราไปถวายพระพุทธเจ้าด้วยกราบทูลว่า
[๔๗๕] บุตรชายคนนี้ข้าพระองค์ทั้งสองได้มาโดยยาก
เป็นสุขุมาลชาติ ได้รับแต่ความสุข
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ข้าพระองค์ทั้งสอง ขอถวายบุตรสุดที่รักคนนี้
ไว้เป็นคนรับใช้พระองค์ผู้ทรงชนะมาร
[๔๗๖] พระศาสดาทรงรับเราแล้ว ได้รับสั่งกับพระอานนท์เถระว่า
จงบวชให้เด็กนี้ เด็กนี้จักเป็นผู้รอบรู้ได้รวดเร็ว
[๔๗๗] พระศาสดาผู้ทรงชนะมาร ครั้นทรงสั่งให้บวชให้เราแล้ว
ก็ได้เสด็จเข้าพระคันธกุฎี เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ทันอัสดงคต
พอเริ่มวิปัสสนานั้น จิตของเราก็ได้หลุดพ้นแล้ว
[๔๗๘] แต่นั้น พระศาสดาทรงออกจากผลสมาบัตินั้นแล้ว
เสด็จออกจากที่เร้น ทรงรับสั่งกับเราว่า
ภัททะ เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด
พระวาจานั้นได้เป็นการอุปสมบทของเรา
[๔๗๙] เราเกิดมาได้ ๗ ปี ก็ได้อุปสมบท ได้บรรลุวิชชา ๓
น่าอัศจรรย์จริง ความที่ธรรมเป็นธรรมดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๔. โสปากเถรคาถา
๔. โสปากเถรคาถา
ภาษิตของพระโสปากเถระ
(พระโสปากเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๘๐] เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านรชน
เสด็จจงกรมที่ร่มเงาแห่งพระคันธกุฎี
ได้เข้าไปเฝ้าพระองค์ซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด แล้วถวายบังคม ณ ที่นั้น
[๔๘๑] ได้ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือ เดินจงกรมตามพระองค์
ผู้ซึ่งปราศจากกิเลสดุจธุลีสูงสุดกว่าสรรพสัตว์
[๔๘๒] ลำดับนั้น พระองค์ได้ตรัสถามปัญหากับเรา
เราเชี่ยวชาญรอบรู้ปัญหาทั้งหลาย
จึงไม่สะทกสะท้านและหวาดกลัว
ได้พยากรณ์ถวายพระศาสดา
[๔๘๓] เมื่อเราแก้ปัญหาถวายเสร็จแล้ว
พระตถาคตทรงอนุโมทนาแล้ว
ทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า
[๔๘๔] เป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธ
ที่โสปากภิกษุนี้บริโภค จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
และได้ตรัสถึงการต้อนรับและสามีจิกรรม
ของชาวอังคะและชาวมคธเหล่านั้น ว่าเป็นลาภของพวกเขา
[๔๘๕] โสปากะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เธอจงมาพบเรา
และการแก้ปัญหานี้แหละ จงเป็นการอุปสมบทของเธอ
[๔๘๖] เราเกิดมามีอายุได้ ๗ ขวบ ก็ได้อุปสมบทแล้ว
ยังทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
น่าอัศจรรย์จริง ความที่ธรรมเป็นธรรมดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๕. สรภังคเถรคาถา
๕. สรภังคเถรคาถา
ภาษิตของพระสรภังคเถระ
(พระสรภังคเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๘๗] เราได้ใช้มือหักต้นแขม ทำกระท่อมอยู่อาศัย
เพราะเหตุนั้น เราจึงได้มีชื่อโดยสมมติว่าสรภังคะ
[๔๘๘] วันนี้ เราไม่สมควรใช้มือทั้งสองหักต้นแขมอีก
เพราะพระสมณโคดมผู้เรืองยศ
ทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลายสำหรับพวกเราแล้ว
[๔๘๙] เมื่อก่อน เราผู้ชื่อว่าสรภังคะไม่เคยได้เห็นโรค๑ ครบบริบูรณ์
โรคนี้นั้นเราผู้ทำตามพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพได้เห็นแล้ว
[๔๙๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี สิขี
เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ
ได้ทรงดำเนินไปโดยทางใดแล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมก็ทรงดำเนินโดยทางนั้น
[๔๙๑] พระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ปราศจากตัณหา
ไม่ทรงยึดมั่น หยั่งถึงความดับ เสด็จอุบัติโดยธรรมกาย ผู้คงที่
ได้ทรงแสดงธรรมนี้ คือ
[๔๙๒] อริยสัจ ๔ อันได้แก่ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์
ความดับทุกข์ และทางที่ดำเนินไปให้ถึงความสิ้นทุกข์
ด้วยทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทานขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ชื่อว่า โรค เพราะอรรถว่าเสียดแทงด้วย
อำนาจแห่งการเป็นทุกขเวทนาเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๒/๔๘๙/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๗. สัตตกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๔๙๓] ทุกข์อันไม่มีที่สุดในสังสารวัฏ
ย่อมเป็นไปไม่ได้ในนิโรธที่ทรงแสดงไว้
เพราะกายนี้ดับไป และเพราะชีวิตนี้สิ้นไป ภพใหม่ไม่มีอีก
เราเป็นผู้หลุดพ้นดีแล้วจากสรรพกิเลสและภพทั้งปวง
สัตตกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พระสุนทรสมุทรเถระ ๒. พระลกุณฏกภัททิยเถระ
๓. พระภัททเถระ ๔. พระโสปากเถระ
๕. พระสรภังคเถระ

ในสัตตกนิบาตนี้ มีพระเถระ ๕ รูป
และมี ๓๕ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๘. อัฏฐกนิบาต] ๑. มหากัจจายนเถรคาถา
๘. อัฏฐกนิบาต
๑. มหากัจจายนเถรคาถา
ภาษิตของพระมหากัจจายนเถระ
(พระมหากัจจายนเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๙๔] ภิกษุไม่พึงทำงานก่อสร้างให้มาก๑
พึงเว้นห่างหมู่ชน
ไม่พึงขวนขวายเพื่อประจบสกุล
ภิกษุผู้ขวนขวายนั้นชื่อว่าติดในรส
ย่อมละทิ้งประโยชน์ที่จะนำความสุขมาให้
[๔๙๕] ด้วยว่านักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ได้กล่าวการไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่า
เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันแหลมคมซึ่งถอนขึ้นได้ยาก
เป็นสักการะที่คนชั่วละได้ยาก
[๔๙๖] ภิกษุไม่พึงแนะนำให้คนอื่นกระทำกรรมชั่ว
และไม่พึงส้องเสพกรรมชั่วนั้นเสียเอง
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
[๔๙๗] คนเราจะเป็นโจรเพราะคำพูดของผู้อื่นก็หาไม่
จะเป็นมุนีเพราะคำพูดของผู้อื่นก็หาไม่
และบุคคลรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร
แม้เทพทั้งหลายก็รู้จักเขาว่าเป็นอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่พึงเริ่มงานก่อสร้างใหม่ ที่ใหญ่ เช่นการสร้างวัดใหม่เป็นต้น ซึ่งขัดต่อการบำเพ็ญสมณธรรม แต่งาน
ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ทรุดโทรม ซึ่งใช้ความพยายามเล็กน้อย ควรทำแท้ เพื่อปฏิบัติบูชาพระดำรัสของ
พระศาสดา (ขุ.เถร.อ. ๒/๔๙๔/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๘. อัฏฐกนิบาต] ๒. สิริมิตตเถรคาถา
[๔๙๘] พวกอื่นย่อมไม่รู้ว่า พวกเราย่อยยับอยู่ในโลกนี้
บรรดาชนเหล่านั้น ชนเหล่าใดรู้แจ้งอยู่
ความทะเลาะวิวาทกันย่อมระงับได้จากสำนักของคนเหล่านั้น
[๔๙๙] ผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็เป็นอยู่ได้
ส่วนคนมีทรัพย์ แต่ไม่มีปัญญา ก็เป็นอยู่ไม่ได้
[๕๐๐] บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู
ย่อมเห็นรูปทุกอย่างด้วยตา
ส่วนนักปราชญ์ไม่พึงละทิ้งทุกอย่างที่ได้เห็น ที่ได้ยิน
[๕๐๑] ผู้เป็นปราชญ์นั้นถึงมีตาดี ก็พึงทำเป็นเหมือนคนตาบอด
ถึงมีหูดี ก็พึงทำเป็นเหมือนคนหูหนวก
ถึงมีปัญญา ก็พึงทำเป็นเหมือนคนใบ้
ถึงมีกำลัง ก็พึงทำเป็นเหมือนคนอ่อนแอ
ครั้นเมื่อประโยชน์เกิดขึ้นแล้ว ถึงจะนอนในเวลาใกล้จะตาย
ก็ยังทำประโยชน์ให้สำเร็จได้
๒. สิริมิตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสิริมิตตเถระ
(พระสิริมิตตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๐๒] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ
ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
ภิกษุนั้นผู้คงที่ละไปแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้
[๕๐๓] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
ภิกษุนั้นคุ้มครองทวารไว้ได้ทุกเมื่อ ละไปแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๘. อัฏฐกนิบาต] ๒. สิริมิตตเถรคาถา
[๕๐๔] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ
ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
มีศีลงาม ภิกษุนั้นละไปแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้
[๕๐๕] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ
ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
เป็นกัลยาณมิตร ภิกษุนั้นละไปแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้
[๕๐๖] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ
ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
มีปัญญาดี ภิกษุนั้นละไปแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกในโลกหน้าด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้
[๕๐๗] ผู้ใดมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
มีศีล และมีกัลยาณธรรม
ที่พระอริยเจ้าปรารถนาและสรรเสริญ
[๕๐๘] ผู้ใดมีความเลื่อมใสในพระสงฆ์
ทั้งมีความเห็นตรง
พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ได้เรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน
ชีวิตของเขาก็ไม่ไร้ประโยชน์
[๕๐๙] เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จึงควรประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส
และความเห็นธรรมไว้เนือง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น