Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๗ หน้า ๓๒๑ - ๓๗๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรค
๙. รามเณยยกเถรคาถา
ภาษิตของรามเณยยกเถระ
ทราบว่า ท่านพระรามเณยยกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๙] เจ้ามารร้ายเอ๋ย จิตของเรานั้นไม่หวั่นไหว
ในเพราะเสียงจ้อกแจ้กของฝูงนกกระจาบและเสียงกู่ก้องของฝูงลิง
เพราะจิตของเรายินดีในเอกัคคตารมณ์๑
๑๐. วิมลเถรคาถา
ภาษิตของพระวิมลเถระ
ทราบว่า ท่านพระวิมลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕๐] พื้นปฐพีฉ่ำชื่นด้วยน้ำฝน
ลมเจือละอองฝนก็โชยพัด
ทั้งสายฟ้าก็แลบอยู่ทั่วท้องฟ้า
(แต่)วิตก๒ทั้งหลายระงับไป
จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว
ปัญจมวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระสิริวัฑฒเถระ ๒. พระขทิรวนิยเรวตเถระ
๓. พระสุมังคลเถระ ๔. พระสานุเถระ
๕. พระรมณียวิหารีเถระ ๖. พระสมิทธิเถระ
๗. พระอุชชยเถระ ๘. พระสัญชยเถระ
๙. พระรามเณยยกเถระ ๑๐. พระวิมลเถระ


เชิงอรรถ :
๑ มีอารมณ์เดียว (ขุ.เถร.อ. ๑/๔๙/๑๘๘)
๒ การตรึกถึงกามคุณเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๑/๕๐/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๖. ฉัฏฐวรรค ๓. วัลลิยเถรคาถา
๖. ฉัฏฐวรรค
หมวดที่ ๖
๑. โคธิกเถรคาถา
ภาษิตของพระโคธิกเถระ
ทราบว่า ท่านพระโคธิกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕๑] ฝนตกลงมา เสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี จิตเราตั้งมั่นดีแล้ว
ถ้าต้องการจะตกก็จงตกลงมาเถิดฝน
๒. สุพาหุเถรคาถา
ภาษิตของพระสุพาหุเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุพาหุเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕๒] ฝนตกลงมา เสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี จิตเราตั้งมั่นดีแล้ว
ถ้าต้องการจะตกก็จงตกลงมาเถิดฝน
๓. วัลลิยเถรคาถา
ภาษิตของพระวัลลิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระวัลลิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕๓] ฝนตกลงมา เสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
ในกุฎีนั้น เราอยู่อย่างผู้ไม่ประมาท
ถ้าต้องการจะตกก็จงตกลงมาเถิดฝน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๖. ฉัฏฐวรรค ๖. กุฏิวิหารีเถรคาถา
๔. อุตติยเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตติยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุตติยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕๔] ฝนตกลงมา เสียงดังกระหึ่มคล้ายเสียงเพลงอันไพเราะ
กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
ในกุฎีนั้น เราอยู่(แต่ผู้เดียว) ไม่มีเพื่อน
ถ้าต้องการจะตกก็จงตกลงมาเถิดฝน
๕. อัญชนวนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระอัญชนวนิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอัญชนวนิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕๕] เราเข้าไปป่าอัญชนาวัน เอาตั่งเป็นกุฎี
บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
เราได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๖. กุฏิวิหารีเถรคาถา
ภาษิตของพระกุฏิวิหารีเถระ
ทราบว่า คนเฝ้านาและพระกุฎีวิหารีเถระสนทนากันว่าดังนี้
[๕๖] (คนเฝ้านาถามว่า) ใครเล่านั่งอยู่ในกระท่อม
พระกุฏิวิหารีเถระ(ตอบว่า) ภิกษุผู้ปราศจากราคะ
มีจิตมั่นคงดีแล้ว อยู่ในกระท่อม
เข้าใจอย่างนี้เถิดโยม
กระท่อมที่ท่านสร้างไว้แล้ว ไม่เปล่าประโยชน์เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๖. ฉัฏฐวรรค ๙. โกสัลลวิหาริเถรคาถา
๗. ทุติยกุฏิวิหารีเถรคาถา
ภาษิตของพระทุติยกุฏิวิหารีเถระ
ทราบว่า ท่านพระทุติยกุฏิวิหารีเถระได้กล่าวคาถาที่เทวดาได้กล่าวกับตนว่า
ดังนี้
[๕๗] กุฎี๑หลังนี้เป็นกุฎีเก่า
ท่านปรารถนากุฎีใหม่หลังอื่นทำไม
ขอท่านจงคลายความหวังในกุฎีหลังใหม่เสียเถิด
เพราะกุฎีหลังใหม่นำทุกข์มาให้
๘. รมณียกุฏิกเถรคาถา
ภาษิตของพระรมณียกุฏิกเถระ
ทราบว่า ท่านพระรมณียกุฏิกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕๘] กุฎีของเราน่ารื่นรมย์
เป็นที่พอใจ ทายกผู้มีศรัทธาถวายไว้
อาตมาไม่ต้องการพวกผู้หญิง
พวกเธอจงไปในที่ที่พวกเขาต้องการพวกผู้หญิงเถิด
๙. โกสัลลวิหาริเถรคาถา
ภาษิตของพระโกสัลลวิหารีเถระ
ทราบว่า ท่านพระโกสัลลวิหารีเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕๙] เราบวชด้วยศรัทธา เราสร้างกุฎีอยู่ในป่า
เราจึงอยู่อย่างคนไม่ประมาท
มีความเพียรเป็นนิตย์ และมีสติสัมปชัญญะ

เชิงอรรถ :
๑ ห้องที่อยู่ของพระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๗. สัตตวรรค ๑. วัปปเถรคาถา
๑๐. สีวลีเถรคาถา
ภาษิตของพระสีวลีเถระ
ทราบว่า ท่านพระสีวลีเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๐] ความปรารถนาที่เราเข้าไปสู่กุฎี
เฝ้าแสวงหาวิชชาและวิมุตติอันเป็นเครื่องถอนมานานุสัย
ความดำรินั้นของเราสำเร็จแล้ว
ฉัฏฐวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระโคธิกเถระ ๒. พระสุพาหุเถระ
๓. พระวัลลิยเถระ ๔. พระอุตติยเถระ
๕. พระอัญชนวนิยเถระ ๖. พระกุฏิวิหารีเถระ
๗. พระทุติยกุฏิวิหารีเถระ ๘. พระรมณียกุฏิกเถระ
๙. พระโกสัลลวิหารีเถระ ๑๐. พระสีวลีเถระ

๗. สัตตมวรรค
หมวดที่ ๗
๑. วัปปเถรคาถา
ภาษิตของพระวัปปเถระ
ทราบว่า ท่านพระวัปปเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๑] ผู้เห็นธรรมย่อมเห็นทั้งผู้เห็นธรรมและผู้ไม่เห็นธรรม
ผู้ไม่เห็นธรรมย่อมไม่เห็นทั้งผู้ไม่เห็นธรรมและผู้เห็นธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๗. สัตตวรรค ๔. วิมลโกณฑัญญเถรคาถา
๒. วัชชีปุตตกเถรคาถา
ภาษิตของพระวัชชีบุตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระวัชชีบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๒] เราอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว เหมือนกับท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า
คนหมู่มากปรารถนาจะเป็นเช่นอย่างเรา
เหมือนสัตว์นรกพากันปรารถนาผู้ไปสวรรค์
๓. ปักขเถรคาถา
ภาษิตของพระปักขเถระ
ทราบว่า ท่านพระปักขเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๓] ชิ้นเนื้อพลัดหลุดจากปากเหยี่ยว
เหยี่ยวติดใจในชิ้นเนื้อนั้นก็หวนกลับมาโฉบเอาอีก
นิพพานที่น่ารื่นรมย์ซึ่งพระอริยเจ้ายินดีแล้วเป็นความสุขโดยส่วนเดียว
มีความสุขซึ่งเกิดจากผลสมาบัติติดตามมา
เป็นกิจที่เราทำเสร็จแล้ว
๔. วิมลโกณฑัญญเถรคาถา
ภาษิตของพระวิมลโกญญเถระ
ทราบว่า ท่านพระวิมลโกณฑัญญเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๔] ภิกษุผู้เกิดจากนางทุมะ๑กับพระเจ้าปัณฑรเกตุ๒ผู้ครองเศวตฉัตร
ลดธง๓เสียได้ ใช้ธงชัยนั้นแหละ๔กำจัดมานะมีประการหลากหลาย
เป็นดุจลดธงผืนใหญ่ลงเสียได้

เชิงอรรถ :
๑ นางอัมพปาลี (ขุ.อิติ.อ. ๖๔/๒๒๗)
๒ พระเจ้าพิมพิสาร (ขุ.อิติ.อ. ๖๔/๒๒๗)
๓ มานะ (ขุ.อิติ.อ. ๖๔/๒๒๘)
๔ ปัญญานั้นแหละ (ขุ.อิติ.อ. ๖๔/๒๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๗. สัตตวรรค ๗. เอกธัมมสวนิยเถรคาถา
๕. อุกเขปกตวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระอุกเขปกตวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุกเขปกตวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๕] ภิกษุผู้นั่งสงบเสงี่ยม มีความปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง
ย่อมกล่าวพระพุทธพจน์ซึ่งท่านพระอุกเขปกตวัจฉเถระ
ท่องจนคล่องปากมาเป็นเวลาหลายปี แก่ชาวบ้านทั้งหลายได้
๖. เมฆิยเถรคาถา
ภาษิตของพระเมฆิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระเมฆิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๖] พระมหาวีระผู้ถึงฝั่งธรรมทั้งปวงแล้ว
ได้ทรงพร่ำสอนเรา
เราฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้ว มีสติ
อยู่ในสำนัก ได้บรรลุวิชชา ๓
เราได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๗. เอกธัมมสวนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระเอกธรรมสวนิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระเอกธรรมสวนิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๗] เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว
เราถอนภพทั้งปวงได้แล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๗. สัตตวรรค ๑๐. ปุณณเถรคาถา
๘. เอกุทานิยเถรคาถา
ภาษิตของพระเอกุทานิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระเอกุทานิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๘] ผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท
เป็นพระขีณาสพ ศึกษาทางแห่งความเป็นพระมุนี๑
ผู้คงที่ สงบ มีสติทุกขณะ ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก
๙. ฉันนเถรคาถา
ภาษิตของพระฉันนเถระ
ทราบว่า ท่านพระฉันนเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖๙] เราได้สดับธรรม มีรสลึก โอฬาร
ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหาสมณะ
ดำเนินตามแนวทางซึ่งพระผู้มีพระภาคผู้มีพระญาณอันประเสริฐคือ
พระสัพพัญญู๒ทรงแสดงไว้แล้ว เพื่อบรรลุอมตนิพพาน
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงรอบรู้ในทางเกษมจากโยคะ
๑๐. ปุณณเถรคาถา
ภาษิตของพระปุณณเถระ
ทราบว่า ท่านพระปุณณเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๐] ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้
ส่วนผู้มีปัญญา เป็นผู้สูงสุดทั้งในหมู่มนุษย์และหมู่เทวดา
ชัยชนะจะมีได้ก็เพราะศีลและปัญญา
สัตตมวรรค จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทางแห่งความเป็นมุนี ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.เถ.อ. ๑/๖๘/๒๓๙)
๒ รู้ทุกอย่าง (ขุ.เถร.อ. ๑/๖๙/๒๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๘. อัฏฐมวรรค ๒. อาตุมเถรคาถา
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระวัปปเถระ ๒. พระวัชชีบุตรเถระ
๓. พระปักขเถระ ๔. พระวิมลโกณฑัญญเถระ
๕. พระอุกเขปกตวัจฉเถระ ๖. พระเมฆิยเถระ
๗. พระเอกธรรมสวนิยเถระ ๘. พระเอกุทานิยเถระ
๙. พระฉันนเถระ ๑๐. พระปุณณเถระ

๘. อัฏฐมวรรค
หมวดที่ ๘
๑. วัจฉปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระวัจฉปาลเถระ
ทราบว่า ท่านพระวัจฉปาลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๑] พระโยคาวจรมีปกติเห็นเนื้อความทั้งสุขุมและละเอียดยิ่งนัก
มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลม ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
ปฏิบัติตามศีลของพระพุทธเจ้าเป็นอาจิณ
พึงบรรลุนิพพานได้โดยไม่ยาก
๒. อาตุมเถรคาถา
ภาษิตของพระอาตุมเถระ
ทราบว่า ท่านพระอาตุมเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๒] ลำไผ่อ่อน แตกแขนง มีใบกิ่งก้านสาขาแล้ว
เป็นสิ่งที่ยากที่จะเขยื้อนถอนได้ ฉันใด
อาตมาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อโยมแม่นำภรรยามาให้
ขอโยมแม่ได้โปรดยินยอมอาตมาเถิด
เพราะว่า บัดนี้ อาตมาเป็นบรรพชิตแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๘. อัฏฐมวรรค ๕. สุสารทเถรคาถา
๓. มาณวเถรคาถา
ภาษิตของพระมาณวเถระ
ทราบว่า ท่านพระมาณวเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๓] เราได้พบเห็นคนแก่ คนเจ็บหนัก
และคนตายเมื่อถึงอายุขัย
หลังจากนั้นก็ละกามารมณ์อันเป็นที่น่าพึงใจเสียได้
จึงออกบวช
๔. สุยามนเถรคาถา
ภาษิตของพระสุยามนเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุยามนเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๔] ความพอใจในกามคุณ ความคิดร้ายผู้อื่น
ความหดหู่ซึมเซา ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
ทั้งความลังเลสงสัยย่อมไม่มีแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวงเลย
๕. สุสารทเถรคาถา
ภาษิตของพระสุสารทเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุสารทเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๕] การได้พบเห็นเหล่าสัตบุรุษผู้อบรมตนดีแล้วเป็นการดี
เป็นเหตุให้ตัดความสงสัยเสียได้
ทำความรู้ให้เจริญงอกงาม
เหล่าสัตบุรุษย่อมทำคนแม้ที่เป็นพาลให้กลายเป็นบัณฑิตได้
ฉะนั้น การสมาคมกับเหล่าสัตบุรุษจึงเป็นการดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๘. อัฏฐมวรรค ๘. เมณฑสิรเถรคาถา
๖. ปิยัญชหเถรคาถา
ภาษิตของพระปิยัญชหเถระ
ทราบว่า ท่านพระปิยัญชหเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๖] เมื่อเหล่าสัตว์หยิ่งผยองด้วยมานะเป็นต้น
พึงประพฤตินอบน้อมถ่อมตน
เมื่อเหล่าสัตว์ลดหย่อนความเพียรพยายาม
พึงช่วยเขาให้ตั้งอยู่ในความเพียรพยายาม
เมื่อเหล่าสัตว์อยู่อย่างผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ก็พึงประพฤติพรหมจรรย์เสียเอง
เมื่อเหล่าสัตว์ยินดีในกามคุณ ตนก็ไม่พึงยินดี
๗. หัตถาโรหปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระหัตถาโรหบุตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระหัตถาโรหบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๗] แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ
ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย
วันนี้ เราจะข่มจิตนั่นโดยอุบายอันแยบยล
เหมือนควาญช้างปราบพยศช้างตกมัน
๘. เมณฑสิรเถรคาถา
ภาษิตของพระเมณฑสิรเถระ
ทราบว่า ท่านพระเมณฑสิรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๘] เราเมื่อยังไม่ได้ญาณที่เป็นเครื่องหยุดสังสารวัฏ๑
ต้องท่องเที่ยวไปสู่สังสารวัฏนับชาติไม่ถ้วน
กองทุกข์ของเราผู้มีความเกิดเป็นทุกข์ ได้พลัดตกไปแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ การเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.เถร.อ. ๑/๗๘/๒๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรค
๙. รักขิตเถรคาถา
ภาษิตของพระรักขิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระรักขิตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗๙] ราคะทั้งมวลเราก็ละได้แล้ว
โทสะทั้งมวลเราก็ถอนได้แล้ว
โมหะทั้งมวลของเราก็ไปปราศแล้ว
เราจึงเป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว
๑๐. อุคคเถรคาถา
ภาษิตของพระอุคคเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุคคเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๐] กรรมที่เราได้ทำแล้ว
จะน้อยหรือมากก็ตาม
ทั้งมวลนั้นสิ้นสุดลงแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
อัฏฐมวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระวัจฉปาลเถระ ๒. พระอาตุมเถระ
๓. พระมาณวเถระ ๔. พระสุยามนเถระ
๕. พระสุสารทเถระ ๖. พระปิยัญชนเถระ
๗. พระหัตถาโรหบุตรเถระ ๘. พระเมณฑสิรเถระ
๙. พระรักขิตเถระ ๑๐. พระอุคคเถระ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๙. นวมวรรค ๓. สีหเถรคาถา
๙. นวมวรรค
หมวดที่ ๙
๑. สมิติคุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสมิติคุตตเถระ
ทราบว่า ท่านพระสมิติคุตตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๑] เราได้เสวยบาปกรรมที่เราทำเอาไว้
ในชาติอื่น ๆ ในปางก่อน ในอัตภาพนี้เอง
เรื่องบาปกรรมอื่นจะไม่มีอีกต่อไป
๒. กัสสปเถรคาถา
ภาษิตของมารดากล่าวกับพระกัสสปเถระ
ทราบว่า โยมมารดาของท่านพระกัสสปเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๒] ลูกเอ๋ย ในทิศใด ๆ อาหารหาง่าย
ไร้โรคและปราศจากภัย จงไปในทิศนั้น ๆ เถิด
ขอเจ้าอย่าได้ประสบความเศร้าโศกเลย
๓. สีหเถรคาถา
ภาษิตของพระศาสดาที่ตรัสสอนพระสีหเถระ
ทราบว่า พระศาสดาทรงมีพุทธดำรัสสอนท่านพระสีหเถระอย่างนี้ว่า
[๘๓] สีหะ เธออย่าประมาทอยู่เลย
อย่าเกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
จงบำเพ็ญกุศลธรรม
ละฉันทราคะในอัตภาพเสียให้ได้โดยพลันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๙. นวมวรรค ๖. นาคิตเถรคาถา
๔. นีตเถรคาถา
ภาษิตของพระศาสดาที่ตรัสสอนพระนีตเถระ
ทราบว่า พระศาสดาเมื่อจะประทานโอวาทแก่ท่านพระนีตเถระได้ตรัส
พระคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๔] คนทรามปัญญา เอาแต่นอนทั้งคืน
ชอบมั่วสุมกับหมู่พวกทั้งวัน
เมื่อไรจึงจะสิ้นทุกข์ได้
๕. สุนาคเถรคาถา
ภาษิตของพระสุนาคเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุนาคเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๕] ผู้ฉลาดในนิมิตแห่งจิต รู้รสแห่งวิเวก
เพ่งพินิจอยู่ ฉลาดในการบริหารกรรมฐาน มีสติตั้งมั่น
พึงบรรลุนิรามิสสุข๑ได้
๖. นาคิตเถรคาถา
ภาษิตของพระนาคิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระนาคิตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๖] ทางแห่งลัทธิอื่น ๆ นอกจากพระพุทธศาสนานี้
ไม่ใช่ทางดำเนินไปสู่นิพพาน เหมือนอริยมรรคนี้เลย
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระบรมครู
ทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ไว้เองโดยประการฉะนี้
ดุจทรงชี้ให้เห็นผลมะขามป้อมที่ฝ่าพระหัตถ์

เชิงอรรถ :
๑ นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๑/๘๕/๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๙. นวมวรรค ๙. (ปฐม)เทวสภเถรคาถา
๗. ปวิฏฐเถรคาถา
ภาษิตของพระปวิฏฐเถระ
ทราบว่า ท่านพระปวิฏฐเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๗] ขันธ์ ๕ เราเห็นแล้วตามความเป็นจริง
ภพทั้งปวงเราทำลายได้แล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
๘. อัชชุนเถรคาถา
ภาษิตของพระอัชชุนเถระ
ทราบว่า ท่านพระอัชชุนเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๘] เราสามารถยกตนจากห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร ขึ้นสู่บกคือนิพพาน
ได้ เหมือนคนที่ถูกพัดพาไปในห้วงน้ำใหญ่ช่วยขึ้นฝั่งได้
เราได้รู้แจ้งตลอดอริยสัจ ๔ แล้ว
๙. (ปฐม)เทวสภเถรคาถา
ภาษิตของพระ(ปฐม)เทวสภเถระ
ทราบว่า ท่านพระ(ปฐม)เทวสภเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘๙] เราข้ามพ้นกามราคะดุจเปือกตม
และฉันทราคะดุจหล่มมาได้แล้ว
เราละทิฏฐิเสมือนบาดาลได้ขาดแล้ว
เราพ้นจากโอฆะและกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายได้แล้ว
และมานะทั้งมวลเรากำจัดได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๐. ทสมวรรค ๑. ปริปุณณกเถรคาถา
๑๐. สามิทัตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสามิทัตตเถระ
ทราบว่า ท่านพระสามิทัตตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๐] ขันธ์ ๕ เรากำหนดรู้แล้ว
ขันธ์เหล่านั้นดำรงอยู่อย่างถูกตัดรากถอนโคนแล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
นวมวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระสมิติคุตตเถระ ๒. พระกัสสปเถระ
๓. พระสีหเถระ ๔. พระนีตเถระ
๕. พระสุนาคเถระ ๖. พระนาคิตเถระ
๗. พระปวิฏฐเถระ ๘. พระอัชชุนเถระ
๙. พระ(ปฐม)เทวสภเถระ ๑๐. พระสามิทัตตเถระ

๑๐. ทสมวรรค
หมวดที่ ๑๐
๑. ปริปุณณกเถรคาถา
ภาษิตของพระปริปุณณเถระ
ทราบว่า ท่านพระปริปุณณกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๑] สุธาโภชน์๑มีรสนับร้อยที่เราบริโภคแล้ว
ยังไม่เทียบเท่านิพพานสุขที่เราได้บรรลุในวันนี้
เพราะนิพพานธรรมนั้นเป็นธรรมอันพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเห็นนิพพานอันอะไรกำหนดมิได้ทรงแสดงไว้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ข้าวที่สะอาดบริสุทธิ์ซึ่งเป็นอาหารของเทวดา (ขุ.เถร.อ. ๑/๙๑/๒๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๐. ทสมวรรค ๔. เมตตชิเถรคาถา
๒. วิชยเถรคาถา
ภาษิตของพระวิชยเถระ
ทราบว่า ท่านพระวิชยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๒] ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้ว ไม่ติดในอาหาร
มีสุญญตวิโมกข์๑ อนิมิตตวิโมกข์๒ และอัปปณิหิตวิโมกข์๓ ทั้ง ๓
เป็นอารมณ์ ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้เป็นที่รู้ได้ เหมือนนกไม่ทิ้งร่องรอย
ไว้ในอากาศ
๓. เอรกเถรคาถา
ภาษิตของพระเอรกเถระ
ทราบว่า ท่านพระเอรกเถระได้กล่าวซ้ำคาถาที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนั่นแล
ดังนี้ว่า
[๙๓] เอรกะ กามมีแต่ทุกข์ กามไม่มีสุขเลย
ผู้ที่ยินดีในกาม ชื่อว่าใฝ่ทุกข์
ผู้ที่ไม่ยินดีในกาม ชื่อว่าไม่ใฝ่ทุกข์
๔. เมตตชิเถรคาถา
ภาษิตของพระเมตตชิเถระ
ทราบว่า ท่านพระเมตตชิเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๔] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคศากยบุตรผู้ทรงพระสิริ
พระองค์นั้น พระองค์ผู้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณอันเลิศ
ทรงแสดงนวโลกุตตรธรรม๔อันเลิศนี้ไว้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
๑ สุญญตวิโมกข์ ความหลุดพ้นด้วยความว่างเพราะไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้น
๒ อนิมิตตวิโมกข์ ความหลุดพ้นเพราะไม่ถือนิมิตในสังขารเป็นต้น
๓ อัปปณิหิตวิโมกข์ ความหลุดพ้นเพราะไม่มีนิมิตที่จะถือเอาด้วยอำนาจราคะเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๑/๙๒/๓๐๐)
๔ ธรรมเหนือโลก ๙ อย่าง (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) (ขุ.เถร.อ. ๑/๙๔/๓๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๐. ทสมวรรค ๗. ติสสเถรคาถา
๕. จักขุปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระจักขุบาลเถระ
ทราบว่า ท่านพระจักขุบาลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๕] เรามีนัยน์ตาพิการ ตาบอด
เดินทางไกลทุรกันดาร
ถึงจะต้องนอนเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นดิน
ก็จะไม่ร่วมทางไปกับคนชั่วช้า
๖. ขัณฑสุมนเถรคาถา
ภาษิตของพระขัณฑสุมนเถระ
ทราบว่า ท่านพระขัณฑสุมนเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๖] เพราะบริจาคดอกไม้ดอกเดียวแท้ ๆ
เราจึงรับการบำเรออยู่ในแดนสวรรค์ถึง ๘๐๐ ล้านปี
ด้วยเศษกุศลธรรมแห่งการบริจาคนั้น
ได้บรรลุนิพพานแล้ว
๗. ติสสเถรคาถา
ภาษิตของพระติสสเถระ
ทราบว่า ท่านพระติสสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๗] เราละทิ้งจานทองคำลวดลายวิจิตร
มีค่านับร้อยปละ๑มาใช้บาตรดินแทน
นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ ๑ ปละ = ๔ ออนซ์ (A.P. Buddhadatta mahathera PALi-Engilsh Dictionary หน้า ๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๐. ทสมวรรค ๑๐. (ทุติย)เทวสภเถรคาถา
๘. อภัยเถรคาถา
ภาษิตของพระอภัยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอภัยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๘] เมื่อเห็นรูป มัวใส่ใจถึงอารมณ์อันเป็นที่รักอยู่
ย่อมหลงลืมสติได้ ผู้ที่มีจิตกำหนัดนัก ยังเสวยรูปารมณ์อยู่
รูปารมณ์นั้นย่อมผูกพันเขาไว้
และอาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่เขาผู้เข้าถึงมูลแห่งภพ
๙. อุตติยเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตติยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุตติยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙๙] เมื่อบุคคลฟังเสียงแล้ว มัวใส่ใจถึงอารมณ์อันเป็นที่รักอยู่
ย่อมหลงลืมสติได้
ผู้ที่มีจิตกำหนัดนักยังเสวยสัททารมณ์อยู่
สัททารมณ์นั้นย่อมผูกพันเขาไว้
และอาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่เขาผู้เข้าถึงสังสารวัฏ
๑๐. (ทุติย)เทวสภเถรคาถา
ภาษิตของพระ(ทุติย)เทวสภเถระ
ทราบว่า ท่านพระ(ทุติย)เทวสภเถระได้ล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๐] ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรชอบ
มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์๑
ทั้งประดับประดาด้วยดอกไม้คือวิมุตติ
ไม่ช้าเลย จะเป็นผู้หมดอาสวะ ปรินิพพาน
ทสมวรรค จบ

เชิงอรรถ :
๑ จิตตั้งมั่นอยู่ในที่ตั้งของสติ ๔ อย่าง คือ (กาย เวทนา จิต ธรรม) (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๐๐/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. เอกาทสวรรค ๒. เสตุจฉเถรคาถา
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระปริปุณณกเถระ ๒. พระวิชยเถระ
๓. พระเอรกเถระ ๔. พระเมตตชิเถระ
๕. พระจักขุปาลเถระ ๖. พระขัณฑสุมนเถระ
๗. พระติสสเถระ ๘. พระอภัยเถระ
๙. พระอุตติยเถระ ๑๐. พระ(ทุติย)เทวสภเถระ

เอกาทสมวรรค
หมวดที่ ๑๑
๑. เพลัฏฐกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระเพลัฏฐกานิเถระ
ทราบว่า ท่านพระเพลัฏฐกานิเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๑] เธอละเพศคฤหัสถ์มาบวชแล้ว ยังไม่ทันเสร็จกิจเลย
ก็มีปากกล้าเหมือนไถ เห็นแก่ปากแก่ท้อง ทั้งเกียจคร้าน
ซึมเซา เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร
ย่อมเข้าถึงการเกิดบ่อย ๆ
๒. เสตุจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระเสตุจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระเสตุจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๒] ชนทั้งหลายที่ยังถูกมานะหลอกลวง
เศร้าหมองในสังขารทั้งหลาย
ถูกลาภและความเสื่อมลาภครอบงำได้
ย่อมบรรลุสมาธิไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. เอกาทสวรรค ๖. สุเหมันตเถรคาถา
๓. พันธุรเถรถาคา
ภาษิตของพระพันธุรเถระ
ทราบว่า ท่านพระพันธุรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๓] ลาภคืออามิสนั่นเราไม่ต้องการ
เรามีความสุขพอแล้ว อิ่มเอิบด้วยรสพระธรรม
ครั้นได้ดื่มรสอันล้ำเลิศแล้ว
ก็จะไม่ขอทำความใกล้ชิดกับรสอย่างอื่นที่เป็นพิษ
๔. ขิตกเถรคาถา
ภาษิตของพระขิตกเถระ
ทราบว่า ท่านพระขิตกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๔] กายของเราที่ได้สัมผัสกับสุขอันมีปีติมาก
เป็นกายเบาหนอ ย่อมลอยไปได้เหมือนปุยนุ่นที่ปลิวไปตามลม
๕. มลิตวัมภเถรคาถา
ภาษิตของพระมลิตวัมภเถระ
ทราบว่า ท่านพระมลิตวัมภเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๕] เราเกิดกระสันขึ้นในที่ใด จะไม่อยู่ในที่นั้น
ถึงจะยินดีอย่างนั้น ก็พึงหลีกไปเสีย
ส่วนผู้มีปัญญาไม่พึงอยู่ประจำสถานที่ที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย
๖. สุเหมันตเถรคาถา
ภาษิตของพระสุเหมันตเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุเหมันตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๖] เนื้อความที่มีความหมายตั้งร้อย มีลักษณะถึงร้อย
คนโง่เห็นได้ลักษณะเดียวเท่านั้น ส่วนคนฉลาดเห็นได้ทั้งร้อยอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. เอกาทสวรรค ๙. สังฆรักขิตเถรคาถา
๗. ธัมมสังวรเถรคาถา
ภาษิตของพระธรรมสังวรเถระ
ทราบว่า ท่านพระธัมมสังวรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๗] เราใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว
จึงออกจากเรือนบวช บรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๘. ธัมมสฏปิตุเถรคาถา
ภาษิตของพระธรรมสฏปิตุเถระ
ทราบว่า ท่านพระธัมมสฏปิตุเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๘] เรานั้นอายุได้ ๑๒๐ ปี
จึงได้ออกบวชเป็นบรรพชิต บรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๙. สังฆรักขิตเถรคาถา
ภาษิตของพระสังฆรักขิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระสังฆรักขิตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐๙] ภิกษุผู้อยู่ในที่สงัดรูปนี้เห็นจะไม่คำนึงถึง
คำสอนของพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วยประโยชน์สูงสุดเป็นแน่
เพราะเหตุนั้นแล จึงไม่สำรวมอินทรีย์อยู่
เหมือนแม่เนื้อลูกอ่อนในป่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. ทวาททสมวรรค ๑. เชนตเถรคาถา
๑๐. อุสภเถรคาถา
ภาษิตของพระอุสภเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุสภเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๐] พฤกษชาติทั้งหลายบนยอดเขาที่ฝนตกรดใหม่ ๆ
งอกงามเต็มที่แล้ว ย่อมให้เกิดภาวะที่จิตควรแก่ภาวนาเพิ่มขึ้นแก่
เราผู้ชื่อว่าอุสภะ ซึ่งยังต้องการความสงัด เห็นความสำคัญในป่า
เอกาทสมวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระเพลัฏฐกานิเถระ ๒. พระเสตุจฉเถระ
๓. พระพันธุรเถระ ๔. พระขิตกเถระ
๕. พระมลิตวัมภเถระ ๖. พระสุเหมันตเถระ
๗. พระธรรมสังวรเถระ ๘. พระธรรมสฏปิตุเถระ
๙. พระสังฆรักขิตเถระ ๑๐. พระอุสภเถระ

๑๒. ทวาทสมวรรค
หมวดที่ ๑๒
๑. เชนตเถรคาถา
ภาษิตของพระเชนตเถระ
ทราบว่า ท่านพระเชนตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๑] การบวชเป็นของยากแท้
เรือนมีการอยู่ครองได้ยาก
ธรรมก็ลึกซึ้ง โภคะทั้งหลายก็หาได้ยาก
การเป็นอยู่ของพวกเราตามมีตามได้ก็ฝืดเคือง
ดังนั้น จึงควรที่จะคิดถึงความไม่แน่นอนอยู่เสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. ทวาททสมวรรค ๔. อธิมุตตเถรคาถา
๒. วัจฉโคตตเถรคาถา
ภาษิตของพระวัจฉโคตตเถระ
ทราบว่า พระวัจฉโคตตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๒] เราซึ่งได้วิชชา ๓ มักเพ่งถึงนิพพานอันเป็นธรรมประณีต
ฉลาดในอุบายสำหรับสงบใจ
ได้บรรลุประโยชน์ตน
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๓. วนวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระวนวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระวนวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๓] ภูเขาหินอันกว้างใหญ่ไพศาล
มีน้ำไหลใสสะอาด
มีฝูงค่างและฝูงเนื้อฟานคลาคล่ำ
ดารดาษไปด้วยน้ำและสาหร่ายเหล่านั้น
ย่อมทำให้เรารื่นรมย์ใจยิ่งนัก
๔. อธิมุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระอธิมุตตเถระ
ทราบว่า ท่านพระอธิมุตตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๔] ภิกษุผู้ขวนขวายในการบำรุงร่างกาย
ยังติดสุขอยู่ทางร่างกาย
เมื่อสิ้นชีวิตโดยพลัน
จะมีความเป็นสมณะที่ดีได้ที่ไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. ทวาททสมวรรค ๗. ยสเถรคาถา
๕. มหานามเถรคาถา
ภาษิตของพระมหานามเถระ
ทราบว่า ท่านพระมหานามเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๕] (มหานาม)ท่านนี้กำลังจะเสื่อมประโยชน์เพราะภูเขาเนสาทกะ
อันมากไปด้วยหมู่ต้นโมกมันและต้นอ้อยช้าง
เป็นขุนเขาที่สมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ
ปกคลุมไปด้วยพุ่มไม้และเถาวัลย์นานาพันธุ์
๖. ปาราปริยเถรคาถา
ภาษิตของพระปาราปริยเถระ
ทราบว่า ท่านพระปาราปริยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๖] เราละผัสสายตนะ ๖ ได้แล้ว
คุ้มครองสำรวมระวังทวาร ๖ ด้วยดี
กำจัดสรรพกิเลสอันเป็นมูลรากแห่งวัฏฏทุกข์ได้หมดแล้ว
จึงหมดสิ้นอาสวะ
๗. ยสเถรคาถา
ภาษิตของพระยสเถระ
ทราบว่า ท่านพระยสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๗] เราลูบไล้ดีแล้ว นุ่งห่มดีแล้ว
ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด
บรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. ทวาททสมวรรค ๑๐. อิสิทัตตเถรคาถา
๘. กิมพิลเถรคาถา
ภาษิตของพระกิมพิลเถระ
ทราบว่า ท่านพระกิมพิลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๘] วัยย่อมร่วงโรยไปเร็วนัก
รูปที่เป็นอยู่อย่างนั้นย่อมปรากฏแก่เรา เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ
เราระลึกถึงร่างกายของเราผู้อยู่ไม่ปราศจากสติ
เหมือนกับร่างกายของผู้อื่น
๙. วัชชีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระวัชชีบุตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระวัชชีบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑๙] ท่านพระอานนท์โคตมโคตร ท่านจงเข้าไปยังสุมทุมพุ่มไม้
กำหนดนิพพานไว้ในใจ เพ่งฌานไปเถิด และอย่าประมาท
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนจะช่วยอะไรท่านได้
๑๐. อิสิทัตตเถรคาถา
ภาษิตของพระอิสิทัตตเถระ
ทราบว่า ท่านพระอิสิทัตตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๒๐] ขันธ์ ๕ เรากำหนดรู้แล้ว
ขันธ์เหล่านั้นดำรงอยู่อย่างถูกตัดรากถอนโคนแล้ว
ความสิ้นทุกข์เราได้บรรลุแล้ว
เราได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ทวาทสมวรรค จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. ทวาททสมวรรค รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรค
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระเชนตเถระ ๒. พระวัจฉโคตตเถระ
๓. พระวนวัจฉเถระ ๔. พระอธิมุตตเถระ
๕. พระมหานามเถระ ๖. พระปาราปริยเถระ
๗. พระยสเถระ ๘. พระกิมพิลเถระ
๙. พระวัชชีบุตรเถระ ๑๐. พระอิสิทัตตเถระ

เอกกนิบาต จบ
รวมหัวข้อที่มีในเอกกนิบาต
ในเอกกนิบาตนี้แหละ ท่านผู้หวังประโยชน์ส่วนใหญ่
รวบรวมพระเถระผู้ทำกิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว หาอาสวะมิได้
ได้ ๑๒๐ รูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. ปิณโฑลภารทวาชเถรคาถา
๒. ทุกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. อุตตรเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุตตรเถระได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๒๑] ภพที่เที่ยงสักภพก็ไม่มี หรือแม้สังขารที่เที่ยงก็ไม่มี
ขันธ์เหล่านั้นย่อมเวียนเกิดและเวียนดับไป
[๑๒๒] เรารู้โทษอย่างนี้แล้ว จึงไม่มีความต้องการภพ
สลัดออกจากกามทุกอย่าง ได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
๒. ปิณโฑลภารทวาชเถรคาถา
ภาษิตของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
ทราบว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๒๓] ชีวิตของเรานี้ หาเป็นไปโดยไม่สมควรไม่
อาหารทำใจให้สงบไม่ได้
แต่เราเห็นว่าร่างกายดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร
จึงได้เที่ยวแสวงหาอาหารโดยทางที่ชอบ
[๑๒๔] ด้วยว่า นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ได้กล่าวการไหว้ และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่า
เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียดซึ่งถอนขึ้นได้ยาก
เป็นสักการะที่คนชั่วละได้ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต]๑. ปฐมวรรค ๕. อชินเถรคาถา
๓. วัลลิยเถรคาถา
ภาษิตของพระวัลลิยเถระ
(พระวัลลิยเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๒๕] ลิงเข้าไปในกระท่อมมี ๕ ประตู
พยายามเวียนเข้าออกทางประตูเนือง ๆ
[๑๒๖] จงหยุดนิ่ง อย่าวิ่งไปนะเจ้าลิง
เพราะเจ้าอาศัยเรือนคืออัตภาพไม่ได้ เหมือนดังกาลก่อน
เจ้าถูกเราข่มไว้ด้วยปัญญาแล้ว จักไปไกลไม่ได้เลย
๔. คังคาตีริยเถรคาถา
ภาษิตของพระคังคาตีริยเถระ
(พระคังคาตีริยเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๒๗] เราสร้างกระท่อมด้วยใบตาล ๓ ใบ อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
บาตรของเราเหมือนหม้อสำหรับตักน้ำนมรดศพ
และจีวรของเราเป็นผ้าบังสุกุล
[๑๒๘] ในระหว่าง ๒ พรรษา เราพูดเพียงคำเดียว
ระหว่างพรรษาที่ ๓ เราทำลายกองความมืดได้แล้ว๑
๕. อชินเถรคาถา
ภาษิตของพระอชินเถระ
(พระอชินเถระเมื่อจะให้ภิกษุทั้งหลายสังเวช จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๒๙] ถึงแม้ว่าบุคคลจะมีวิชชา ๓ ละมัจจุราชได้ ไม่มีอาสวะ
คนพาลทั้งหลายที่ไม่มีความรู้ย่อมดูหมิ่นบุคคลนั้นว่า
เป็นผู้ไม่มีชื่อเสียง

เชิงอรรถ :
๑ ทำลายอวิชชาได้ด้วยอริยมรรค (ขุ.เถ.อ. ๑/๑๒๘/๓๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. สุราธเถรคาถา
[๑๓๐] ส่วนบุคคลใดในโลกนี้เป็นผู้มักได้ข้าวและน้ำ
ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนชั่วช้าเลวทราม
ก็เป็นที่สักการะนับถือของพวกเขา
๖. เมฬชินเถรคาถา
ภาษิตของพระเมฬชินเถระ
(พระเมฬชินเถระเมื่อจะบันลือสีหนาท จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๓๑] เมื่อใด เราได้ฟังธรรมของพระศาสดาผู้ทรงแสดงอยู่
เมื่อนั้น เรารู้ธรรมทั้งปวง
จึงไม่รู้สึกสงสัยในพระศาสดาที่ใคร ๆ ชนะไม่ได้
[๑๓๒] ซึ่งเป็นผู้นำหมู่ แกล้วกล้าเป็นอันมาก
ประเสริฐเลิศกว่าสารถีทั้งหลาย
เราไม่มีความสงสัยในมรรคหรือข้อปฏิบัติ
๗. ราธเถรคาถา
ภาษิตของพระราธเถระ
(พระราธเถระเมื่อจะชมเชยภาวนา จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๓๓] เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ ฉันใด
จิตที่ไม่ได้อบรม ราคะย่อมรั่วรดได้ ฉันนั้น
[๑๓๔] เรือนที่มุงดีแล้ว ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ ฉันใด
จิตที่อบรมดีแล้ว ราคะก็รั่วรดไม่ได้ ฉันนั้น
๘. สุราธเถรคาถา
ภาษิตของพระสุราธเถระ
(พระสุราธเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. วสภเถรคาถา
[๑๓๕] ด้วยว่าชาติของเราสิ้นไปแล้ว
คำสั่งสอนของพระชินเจ้าเราอยู่จบแล้ว
ทิฏฐิและอวิชชาคือข่ายเราละได้แล้ว
ตัณหานำไปสู่ภพเราก็ถอนได้แล้ว
[๑๓๖] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้ว
ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงเราก็ได้บรรลุแล้ว
๙. โคตมเถรคาถา
ภาษิตของพระโคตมเถระ
(พระโคตมเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๓๗] มุนีทั้งหลายผู้ไม่พัวพันในเหล่าสตรีทั้งหลายย่อมนอนเป็นสุข
เหล่าสตรีที่หาสัจจะได้ยากแสนยาก
บุรุษต้องคอยระแวดระวังตลอดกาลทุกเมื่อ
[๑๓๘] กาม เราได้ประพฤติเพื่อฆ่าเจ้าได้แล้ว
บัดนี้ เราจึงไม่เป็นหนี้เจ้า
เดี๋ยวนี้เราบรรลุนิพพานที่บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก
๑๐. วสภเถรคาถา
ภาษิตของพระวสภเถระ
(พระวสภเถระเมื่อจะติเตียนความปรารถนาเลวทราม จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[๑๓๙] บุคคลผู้ลวงโลกย่อมฆ่าตนก่อน ภายหลังจึงฆ่าผู้อื่น
บุคคลผู้ลวงโลกนั้นย่อมฆ่าตนได้ง่าย
เหมือนนายพรานนกหาอุบายฆ่านกด้วยนกต่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. มหาจุนทเถรคาถา
[๑๔๐] ท่านสุชัมบดี บุคคลผู้มีวรรณะภายนอก๑ไม่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เพราะพราหมณ์ต้องมีวรรณะภายใน
ผู้ใดมีกรรมชั่ว ผู้นั้นแลเป็นคนชั้นต่ำ
ปฐมวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระอุตตรเถระ ๒. พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
๓. พระวัลลิยเถระ ๔. พระคังคาตีริยเถระ
๕. พระอชินเถระ ๖. พระเมฬชินเถระ
๗. พระราธเถระ ๘. พระสุราธเถระ
๙. พระโคตมเถระ ๑๐. พระวสภเถระ ล้วนมีฤทธิ์มาก

๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. มหาจุนทเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาจุนทเถระ
(พระมหาจุนทเถระเมื่อจะสรรเสริญอุปนิสัยที่หนักแน่นและการอยู่อย่างสงัด
จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๔๑] การฟังด้วยดีเป็นเหตุให้การศึกษาเจริญ
การศึกษาเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญ
บุคคลรู้ประโยชน์ได้ก็เพราะปัญญา
ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้วนำความสุขมาให้

เชิงอรรถ :
๑ วรรณะ คือ คุณสมบัติมีศีลเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๔๐/๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. เหรัญญิกานิเถรคาถา
[๑๔๒] ภิกษุพึงใช้เสนาสนะที่สงัด
พึงประพฤติธรรมที่เป็นเหตุให้หลุดพ้นจากสังโยชน์
ถ้ายังไม่ประสบความยินดีในเสนาสนะที่สงัดและโมกขธรรมนั้น
ก็ควรเป็นผู้มีสติรักษาตนอยู่ในหมู่
๒. โชติทาสเถรคาถา
ภาษิตของพระโชติทาสเถระ
(พระโชติทาสเถระเมื่อจะสอนพวกญาติผู้ถือความบริสุทธิ์ภายนอกในลัทธิต่าง ๆ
จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๔๓] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้มีความพยายามร้ายกาจ
เบียดเบียนมนุษย์ทั้งหลายด้วยการกระทำที่เจือไปด้วยความผลุน
ผลันก็ดี ด้วยการทำที่มีความประสงค์ต่าง ๆ กันก็ดี
แม้ชนเหล่านั้นก็ย่อมเกลี่ยตนลงในเหตุนั้นเหมือนกัน
เพราะกรรมย่อมไม่สูญหาย
[๑๔๔] คนทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม
เขาย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นที่ตนทำไว้โดยแท้
๓. เหรัญญิกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระเหรัญญิกานิเถระ
(พระเหรัญญิกานิเถระเมื่อจะตักเตือนน้องชาย จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๔๕] วันคืนผ่านพ้นไป ชีวิตย่อมดับไป
อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไป
เหมือนน้ำในแม้น้ำน้อยสิ้นไป
[๑๔๖] เมื่อเป็นเช่นนั้น คนพาลถึงทำบาปกรรมอยู่ก็ไม่รู้สึกตัว
ภายหลัง เขาได้รับทุกข์แสนสาหัส
เพราะบาปกรรมนั้นมีผลเลวทราม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. มหากาลเถรคาถา
๔. โสมมิตตเถรคาถา
ภาษิตของพระโสมมิตตเถระ
(พระโสมมิตตเถระเมื่อจะคุกคามพระวิมลเถระด้วยโอวาท จึงได้กล่าว ๒ คาถา
ไว้ดังนี้ว่า)
[๑๔๗] บุคคลเกาะท่อนไม้เล็ก ๆ ย่อมจมลงในมหาสมุทร ฉันใด
บุคคลแม้มีความเป็นอยู่ดี อาศัยคนเกียจคร้าน
ก็จมลงในสังสารวัฏได้ ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้านมีความเพียรย่อหย่อนเสีย
[๑๔๘] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับเหล่าบัณฑิตผู้สงัด เป็นอริยะ
ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว เข้าฌานอยู่ ปรารภความเพียรเป็นนิตย์
๕. สัพพมิตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสัพพมิตตเถระ
(พระสัพพมิตตเถระได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๔๙] คนเกี่ยวข้องกับคน คนยินดีกับคน
คนถูกคนเบียดเบียน และคนเบียดเบียนคน
[๑๕๐] จะต้องการอะไรด้วยคนสำหรับเขา หรือสิ่งที่คนให้เกิด
จงละคนที่เบียดเบียนคนเป็นอันมากไปเสีย
๖. มหากาลเถรคาถา
ภาษิตของพระมหากาลเถระ
(พระมหากาลเถระเมื่อจะกล่าวสอนตน จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๕๑] นางกาฬีมีร่างกายใหญ่ ดำเหมือนกา หักขาซ้าย ขาขวา
แขนซ้าย แขนขวา และทุบศีรษะซากศพ
ดังทุบหม้อนมเปรี้ยว นั่งจัดให้เรียบร้อยอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. กิมพิลเถรคาถา
[๑๕๒] ผู้ใด ไม่รู้แจ้ง ย่อมก่ออุปธิกิเลส
ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมประสบทุกข์อยู่ร่ำไป
เพราะฉะนั้น ผู้รู้แจ้ง ไม่ควรก่ออุปธิกิเลส
เราอย่าถูกทุบศีรษะนอนอยู่อย่างนี้อีกต่อไป
๗. ติสสเถรคาถา
ภาษิตของพระติสสเถระ
(พระติสสเถระเมื่อจะประกาศโทษในลาภสักการะและความที่ตนไม่ติดข้องอยู่
ในลาภสักการะนั้น จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๕๓] ภิกษุโล้นครองผ้าสังฆาฏิ มักได้ ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน
ชื่อว่าได้ข้าศึกไว้มาก
[๑๕๔] ภิกษุรู้โทษในลาภสักการะว่า เป็นภัยใหญ่อย่างนี้แล้ว
ควรเป็นผู้มีลาภน้อย มีจิตไม่ชุ่มด้วยตัณหา มีสติ เว้นขาด
๘. กิมพิลเถรคาถา
ภาษิตของพระกิมพิลเถระ
(ท่านพระกิมพิลเถระเมื่อจะแสดงความอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี จึงได้
กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๕๕] พระศากยบุตรทั้งหลายซึ่งเป็นสหายกันในปาจีนวังสทายวัน
พากันละทิ้งโภคะไม่น้อย มายินดีในการเที่ยวแสวงหาบิณฑบาต
[๑๕๖] ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
บากบั่นมุ่งมั่นเป็นนิตย์
ละความยินดีที่เป็นโลกิยะ
มายินดีอยู่ด้วยความยินดีในธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต]๒. ทุติยวรรค ๑๐. สิริมเถรคาถา
๙. นันทเถรคาถา
ภาษิตของพระนันทเถระ
(พระนันทเถระเกิดความโสมนัส จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๕๗] เรามัวประกอบการประดับตกแต่ง
มีจิตฟุ้งซ่านและกวัดแกว่ง
ถูกกามราคะรบกวน เพราะไม่ได้ทำโยนิโสมนสิการ๑
[๑๕๘] เราปฏิบัติโดยอุบายที่ชอบ
อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธ์พระอาทิตย์ผู้ฉลาดในอุบาย
ได้ทรงสั่งสอนแนะนำแล้ว
จึงถอนจิตในภพได้แล้ว
๑๐. สิริมเถรคาถา
ภาษิตของพระสิริมเถระ
(พระสิริมเถระเมื่อจะติเตียนความเป็นปุถุชน จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๕๙] ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น
แม้ชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ
ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญเปล่า
เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น
[๑๖๐] ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
แม้ชนเหล่าอื่นจะติเตียน
ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า
เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
ทุติยวรรค จบ

เชิงอรรถ :
๑ การทำในใจโดยแยบคาย (การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๒. ภัททชิเถรคาถา
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระมหาจุนทเถระ ๒. พระโชติทาสเถระ
๓. พระเหรัญญิกานิเถระ ๔. พระโสมมิตตเถระ
๕. พระสัพพมิตตเถระ ๖. พระมหากาลเถระ
๗. พระติสสเถระ ๘. พระกิมพิลเถระ
๙. พระนันทเถระ ๑๐. พระสิริมเถระ

๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. อุตตรเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตตรเถระ
(พระอุตตรเถระเมื่อพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๖๑] เรากำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลายแล้ว ถอนตัณหาขึ้นได้ด้วยดี
ถึงโพชฌงค์เราเจริญแล้ว เราได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
[๑๖๒] ครั้นกำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลายแล้ว ถอนตัณหาดุจข่ายได้
เจริญโพชฌงค์แล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะนิพพาน
๒. ภัททชิเถรคาถา
ภาษิตของพระภัททชิเถระ
(พระภัททชิเถระสรรเสริญปราสาททองที่ตนเคยครอบครอง จึงได้กล่าว ๒
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๖๓] พระราชาทรงพระนามว่าปนาทะ
มีปราสาททองกว้างและสูงประมาณ ๑๖ โยชน์
ชนทั้งหลายกล่าวกันว่าสูงประมาณ ๑,๐๐๐ โยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. โสภิตเถรคาถา
[๑๖๔] มีชั้นพันชั้น ร้อยยอด สะพรั่งไปด้วยธง
พราวไปด้วยแก้วสีเขียว
ในปราสาทนั้น มีนักฟ้อนหกพันคน แบ่งเป็น ๗ กลุ่ม
พากันฟ้อนรำอยู่
๓. โสภิตเถรคาถา
ภาษิตของพระโสภิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระโสภิตเถระ เมื่อเปล่งอุทาน จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๖๕] เราเป็นภิกษุ มีสติ มีปัญญา บำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า
ระลึกชาติก่อนได้ ๕๐๐ กัปเพียงคืนเดียว
[๑๖๖] เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘๑
ระลึกชาติก่อนได้ ๕๐๐ กัป เพียงคืนเดียว

เชิงอรรถ :
๑ สติปัฏฐาน ๔ หมายถึงที่ตั้งของสติ ๔ ประการ คือ
(๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์
(๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์
(๓) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาจิตเป็นอารมณ์
(๔) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์.
(ที.ม. ๑๐/๓๗๓/๒๔๘)
โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ
(๑) สติ ความระลึกได้ (๒) ธัมมวิจยะ ความเฟ้นธรรม
(๓) วิริยะ ความเพียร (๔) ปีติ ความอิ่มใจ
(๕) ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ (๖) สมาธิ ความตั้งใจมั่น
(๗) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามความเป็นจริง
(ที.ป. ๑๑/๓๕๗/๒๕๘)
มรรค ๘ ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ คือ
(๑) สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (๒) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
(๓) สัมมาวาจา เจรจาชอบ (๔) สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ
(๕) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) สัมมาวายาม พยายามชอบ
(๗) สัมมาสติ ระลึกชอบ (๘) สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ
(ที.ม. ๑๐/๔๐๒/๒๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. ปุณณมาสเถรคาถา
๔. วัลลิยเถรคาถา
ภาษิตของพระวัลลิยเถระ
(พระวัลลิยเถระเมื่อจะถามพระเวณุทัตตเถระ จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๖๗] กิจใดอันบุคคลผู้มีความเพียรมั่น
มุ่งที่จะตรัสรู้ พึงทำกิจนั้น
เราจักทำไม่ให้พลาด
เชิญท่านดูความเพียร ความบากบั่นของเราเถิด
[๑๖๘] อนึ่ง ขอท่านจงบอกหนทางอันหยั่งลงสู่อมตมหานิพพาน
ซึ่งเป็นทางตรงให้เรา เราจะรู้ด้วยญาณ
ดุจกระแสแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาคร
๕. วีตโสกเถรคาถา
ภาษิตของพระวีตโสกเถระ
(พระวีตโสกเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๖๙] ช่างกัลบกเข้ามาหาเรา ด้วยคิดว่า จักตัดผมของเรา
เราจึงรับเอากระจกจากช่างกัลบกนั้นมาส่องดูร่างกาย
[๑๗๐] ร่างกายได้ปรากฏเป็นสภาพว่างเปล่า
ความบอด ความมืดได้สิ้นไป
กิเลสดุจผ้าขี้ริ้วทั้งปวง เราตัดขาดด้วยดีแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
๖. ปุณณมาสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุณณมาสเถระ
(พระปุณณเถระเมื่อจะแสดงธรรมแก่ภรรยาเก่า จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๘. ภารตเถรคาถา
[๑๗๑] เราละนิวรณ์๑ ๕ เพื่อบรรลุนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะแล้ว
ถือเอาแว่นส่องธรรม คือญาณทัสสนะสำหรับตน
[๑๗๒] พิจารณาดูร่างกายนี้ทั่วทั้งภายในภายนอก
ร่างกายของเราได้ปรากฏเป็นสภาพว่างเปล่า
ทั้งภายในและภายนอก
๗. นันทกเถรคาถา
ภาษิตของพระนันทกเถระ
(พระนันทกเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๗๓] โคอาชาไนยที่ดี พลาดล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่ได้
ได้ความสังเวชอย่างยิ่งแล้ว ไม่ท้อถอย นำภาระต่อไปได้ ฉันใด
[๑๗๔] ท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า
เป็นอาชาไนยสมบูรณ์ด้วยทัศนะ
เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นบุตรซึ่งเกิดแต่พระอุระของพระพุทธเจ้า ฉันนั้น
๘. ภารตเถรคาถา
ภาษิตของพระภารตเถระ
(พระภารตเถระเมื่อจะบอกมิจฉาวิตกที่เกิดแก่พระนันทกเถระ จึงได้กล่าว ๒
คาถาไว้ดังนี้ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ นิวรณ์ ๕ สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ ความพอใจในกาม
(๒) พยาบาท ความคิดร้าย (๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ (๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๕๑/๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. กัณหทินนเถรคาถา
[๑๗๕] เชิญมาเถิดนันทกะ เราไปยังสำนักพระอุปัชฌาย์
จักบันลือสีหนาทเฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๑๗๖] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนีทรงเอ็นดูให้พวกเราบวช
เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
พวกเราก็ได้บรรลุแล้ว
๙. ภารทวาชเถรคาถา
ภาษิตของพระภารทวาชเถระ
(พระภารทวาชเถระเมื่อจะบอกปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมแก่บุตร จึงได้กล่าว
๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๗๗] ธีรชนผู้มีปัญญา ชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ชื่อว่า ชนะสงคราม
ย่อมบันลือเหมือนราชสีห์บันลือที่ซอกเขา
[๑๗๘] พระศาสดาเราเข้าถึงแล้ว
พระธรรมเราก็บูชา
และพระสงฆ์เราก็นับถือแล้ว
และเพราะได้เห็นลูกผู้ไม่มีอาสวกิเลส
พ่อก็ปลาบปลื้มดีใจ
๑๐. กัณหทินนเถรคาถา
ภาษิตของพระกัณหทินนเถระ
(พระกัณหทินนเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๗๙] สัตบุรุษทั้งหลาย เราเข้าไปหาแล้ว
ธรรมทั้งหลายเราฟังแล้ว เนืองนิตย์
ครั้นฟังธรรมแล้ว จะดำเนินไปสู่ทางอันหยั่งลงสู่อมตธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๑. มิคสิรเถรคาถา
[๑๘๐] เมื่อเรา เป็นผู้กำจัดความกำหนัดยินดีในภพได้แล้ว
ความกำหนัดยินดีในภพย่อมไม่มีแก่เราอีก
ไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และในบัดนี้ก็ไม่มีแก่เรา
ตติยวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระอุตตรเถระ ๒. พระภัททชิเถระ
๓. พระโสภิตเถระ ๔. พระวัลลิยเถระ
๕. พระวีตโสกเถระ ๖. พระปุณณมาสเถระ
๗. พระนันทกเถระ ๘. พระภารตเถระ
๙. พระภารทวาชเถระ ๑๐. พระกัณหทินนเถระ

๔. จตุตถวรรค
หมวดที่ ๔
๑. มิคสิรเถรคาถา
ภาษิตของพระมิคสิรเถระ
(พระมิคสิรเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๘๑] จำเดิมแต่กาลที่เราได้บวชในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อจะหลุดพ้น ได้บรรลุ ล่วงเสียซึ่งกามธาตุ๑
[๑๘๒] ต่อแต่นั้น เมื่อเราเพ่งธรรมของพระพุทธเจ้าผู้เป็นดังพรหม
จิตจึงหลุดพ้นและมารู้ชัดว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ
เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง

เชิงอรรถ :
๑ ก้าวล่วงโลกที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ด้วยการเสพกามด้วยอนาคามิมรรคฌาน (ขุ.เถร.อ. ๑/๘๒/๔๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๓. อุปวาณเถรคาถา
๒. สิวกเถรคาถา
ภาษิตของพระสิวกเถระ
(พระสิวกเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๘๓] เรือนคืออัตภาพที่เกิดในภพนั้น ๆ บ่อย ๆ
เป็นของไม่เที่ยง
เรามัวแสวงหานายช่างคือตัณหาผู้สร้างเรือน
จึงได้ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลมีประมาณเท่านี้
การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์
[๑๘๔] แน่ะนายช่างผู้สร้างเรือน
บัดนี้ เราพบท่านแล้ว
ท่านจะสร้างเรือนอีกไม่ได้
กลอนเรือนคือกิเลสของท่าน เราหักสิ้นแล้ว
และช่อฟ้าคืออวิชชาแห่งเรือนที่ท่านสร้าง เราก็ทำลายแล้ว
จิตของเรา เราทำให้สิ้นสุด จะดับในภพนี้เอง
๓. อุปวาณเถรคาถา
ภาษิตของพระอุปวาณเถระ
(พระอุปวาณเถระเมื่อจะบอกประโยชน์แก่พราหมณ์ จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[๑๘๕] ท่านพราหมณ์ พระสุคตเป็นพระอรหันต์ ในโลก
เป็นมุนี ถูกลมเบียดเบียนแล้ว
ถ้ามีน้ำร้อน ขอท่านจงถวายพระมุนีเถิด
[๑๘๖] พระมุนีพระองค์นั้นเป็นผู้อันบุคคลผู้ควรบูชา บูชาแล้ว
ผู้ควรสักการะ สักการะแล้ว และผู้ควรนอบน้อม นอบน้อมแล้ว
เราปรารถนาจะนำน้ำร้อนไปถวายพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. สัมพุลกัจจานเถรคาถา
๔. อิสิทินนเถรคาถา
ภาษิตของเทวดาเตือนพระอิสิทินนเถระ
(เทวดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล เมื่อจะเตือนพระอิสิทินนเถระ จึงได้กล่าว ๒
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๘๗] เรา(เทวดา) เห็นอุบาสกทั้งหลายผู้ทรงธรรม
กล่าวอยู่ว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง
แต่อุบาสกเหล่านั้น เป็นผู้กำหนัดอย่างแรงกล้า
ห่วงใยในแก้วมณี ต่างหู บุตรธิดาและภรรยา
[๑๘๘] เพราะเหตุที่อุบาสกเหล่านั้น
ไม่รู้ธรรมในพระศาสนานี้เป็นแน่
ถึงอย่างนั้น ก็ยังกล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง
แต่พวกเขาไม่มีกำลังปัญญาที่จะตัดราคะได้
ฉะนั้น พวกเขาจึงติดบุตรธิดา ภรรยาและทรัพย์
พระอิสิทินนเถระ(ฟังคำนั้นแล้วก็เกิดความสังเวช ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต)
๕. สัมพุลกัจจานเถรคาถา
ภาษิตของพระสัมพุลกัจจานเถระ
(พระสัมพุลกัจจานเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[๑๘๙] ฝนตกไปเถิด ฟ้าร้องครืน ๆ ไปเถิด
และเราคนเดียวอยู่ในถ้ำที่น่ากลัว
ถึงเราคนเดียวจะอยู่ในถ้ำที่น่ากลัว
ก็ไม่มีความกลัว ความสะดุ้งหวาดเสียว หรือขนลุกขนพอง
[๑๙๐] การที่เราคนเดียวอยู่ในถ้ำที่น่ากลัว
ก็ไม่มีความกลัว ความสะดุ้งหวาดเสียว
หรือขนลุกขนพอง นี้เป็นธรรมดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๗. โสณโปฏิริยปุตตเถรคาถา
๖. ขิตกเถรคาถา
ภาษิตของพระขิตกเถระ
(พระขิตกเถระเมื่อจะข่มพวกภิกษุผู้อยู่ป่า จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๙๑] จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดังภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
ผู้ใดอบรมจิตได้อย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน
[๑๙๒] จิตของเราตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดังภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
เราอบรมจิตได้แล้วอย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงเราแต่ที่ไหน
๗. โสณโปฏิริยปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระโสณโปฏิริยปุตตเถระ
(พระผู้มีพระภาค เมื่อจะตรัสสอนพระโสณโปฏิริยบุตรเถระ จึงได้ตรัสพระ
คาถาว่า)
[๑๙๓] ราตรีที่ประกอบด้วยฤกษ์มาลินี๑
มิใช่เป็นราตรีที่จะหลับก่อน
ราตรีเช่นนี้เป็นราตรีที่ผู้รู้แจ้งปรารถนาแล้ว
เพื่อประกอบความเพียรโดยแท้

เชิงอรรถ :
๑ ฤกษ์มาลินี หมายถึง ฤกษ์ที่มีดวงดาวขึ้นเป็นกลุ่มเหมือนพวงดอกไม้ (ดาวลูกไก่) เป็นฤกษ์ที่ควรทำความ
เพียร ไม่ใช่เวลานอน (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๙๓/๔๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๙. อุสภเถรคาถา
(พระโสณโปฏิริยเถระได้ฟังพระดำรัสนั้นก็สลดใจ กลับได้หิริโอตตัปปะ
อธิษฐานอัพโภกาสิกังคธุดงค์๑ กระทำการเจริญวิปัสสนา ได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๙๔] ถ้าช้างพึงเหยียบเราผู้ตกจากคอช้าง
เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า
แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร
๘. นิสภเถรคาถา
ภาษิตของพระนิสภเถระ
(พระนิสภเถระ เมื่อจะกล่าวสอนภิกษุสหายทั้งหลาย จึงได้กล่าว ๒ คาถา
ไว้ดังนี้ว่า)
[๑๙๕] วิญญูชนละเบญจกามคุณ ซึ่งน่ารักน่ารื่นรมย์ใจ
ออกบวชด้วยศรัทธา พึงทำที่สุดทุกข์ได้
[๑๙๖] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า คอยเวลาอันควร
๙. อุสภเถรคาถา
ภาษิตของพระอุสภเถระ
(พระอุสภเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๑๙๗] เราฝันว่าได้ห่มจีวรสีใบมะม่วงอ่อนเฉวียงบ่า
นั่งบนคอช้าง เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน
[๑๙๘] ลงจากคอช้างแล้ว ได้ความสลดใจ
ครั้งนั้น เรานั้นมีความสว่าง
ได้ความสลดใจ ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๙๓/๔๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑. กุมารกัสสปเถรคาถา
๑๐. กัปปฏกุรเถรคาถา
ภาษิตของพระกัปปฏกุรเถระ
(พระผู้มีพระภาค เมื่อจะตรัสสอนพระกัปปฏกุรเถระ จึงได้ตรัส ๒ คาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[๑๙๙] กัปปฏกุรภิกษุเกิดความวิตกผิดว่า ผ้าขี้ริ้วผืนนี้เป็นของเรา
เมื่อน้ำใส(คืออมตธรรม)มีอยู่เต็มเปี่ยมในหม้ออมตธรรม
กลับมีใจปราศจากอมตธรรมคำสอนของเรานี้
เป็นทางที่เราสอนไว้แล้วเพื่อสั่งสมฌานทั้งหลาย
[๒๐๐] กัปปฏะ เธออย่ามานั่งโงกง่วงอยู่เลย
อย่าให้เราต้องสอนเธอเสียงดัง ณ ที่ใกล้หูเลย
กัปปฏะ เธอนั่งโงกง่วงอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ช่างไม่รู้จักประมาณเลย
จตุตถวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระมิคสิรเถระ ๒. พระสิวกเถระ
๓. พระอุปวาณเถระ ๔. พระอิสิทินนเถระ
๕. พระสัมพุลกัจจานเถระ ๖. พระขิตกเถระ
๗. พระโสณโปฏิริยบุตรเถระ ๘. พระนิสภเถระ
๙. พระอุสภเถระ ๑๐. พระกัปปฏกุรเถระ

๕. ปัญจมวรรค
หมวดที่ ๕
๑. กุมารกัสสปเถรคาถา
ภาษิตของพระกุมารกัสสปเถระ
(พระกุมารกัสสปเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้
ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๒. ธัมมปาลเถรคาถา
[๒๐๑] น่าอัศจรรย์หนอ พระพุทธเจ้า พระธรรม
และสัมปทาของพระศาสดาของเราทั้งหลาย
อันเป็นที่จะทำพระสาวกให้รู้แจ้งธรรมเช่นนั้นได้
[๒๐๒] บรรดาพระสาวกที่หยั่งรู้ถึงกายของตน๑
ได้ในอสงไขยกัป๒นั้น
พระกุมารกัสสปะนี้เป็นองค์สุดท้าย
ร่างกายนี้เป็นร่างกายสุดท้าย
การเวียนว่ายตายเกิดเป็นวาระสุดท้าย
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
๒. ธัมมปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระธัมมปาลเถระ
(พระธรรมปาลเถระเมื่อจะแสดงธรรมโปรดพวกสามเณร จึงได้กล่าว ๒
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๐๓] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น
ประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนา
ผู้ตื่นอยู่ ในเมื่อคนเหล่าอื่นหลับแล้ว
ชื่อว่าไม่ไร้ผล
[๒๐๔] เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีปัญญา
ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จึงควรประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส
และการเห็นธรรมเนือง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ หยั่งรู้อุปาทานขันธ์ คือ ขันธ์ที่อาศัยความยึดมั่นถือมั่น (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๐๒/๕๐๑)
๒ มหากัปที่ผ่านไปนานจนไม่สามารถนับได้ (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๐๒/๕๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๔. โมฆราชเถรคาถา
๓. พรหมาลิเถรคาถา
ภาษิตของพระพรหมาลิเถระ
(พระพรหมาลิเถระเมื่อจะยกย่องการประกอบความเพียรเนือง ๆ จึงได้กล่าว
๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๐๕] อินทรีย์ของใครถึงความสงบ
เหมือนม้าที่นายสารถีฝึกดีแล้ว
แม้เทวดาทั้งหลาย ก็กระหยิ่ม(ชื่นชม)ต่อผู้นั้น
ซึ่งละมานะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นผู้คงที่
[๒๐๖] อินทรีย์ของเราถึงความสงบ
เหมือนม้าตัวที่นายสารถีฝึกดีแล้ว
แม้เทวดาทั้งหลาย ก็กระหยิ่มต่อเรา
ซึ่งละมานะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นผู้คงที่
๔. โมฆราชเถรคาถา
ภาษิตของพระศาสดาตรัสถามพระโมฆราชเถระ
(พระศาสดาตรัสถามพระโมฆราชเถระ ด้วยพระคาถาที่ ๑ ว่า)
[๒๐๗] โมฆราชผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง แต่มีจิตดีงาม
เธอเป็นภิกษุมีจิตตั้งมั่นเนืองนิตย์
จะทำอย่างไรตลอดราตรีกาล
ที่หนาวเหน็บในฤดูเหมันต์
พระโมฆราชเถระ (เมื่อจะทูลตอบพระศาสดา จึงได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๐๘] ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า
ชาวมคธเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ข้าพระองค์พึงคลุมกายด้วยฟางแล้วนอน
เหมือนกับภิกษุเหล่าอื่น ผู้มีความเป็นอยู่สบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๖. จูฬกเถรคาถา
๕. วิสาขปัญจาลีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระวิสาขปัญจาลีบุตรเถระ
(พระวิสาขปัญจาลีบุตรเถระเมื่อจะบอกลักษณะของพระธรรมกถึกแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๐๙] (พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ คือ)
๑. ไม่พึงยกตน
๒. ไม่ข่มผู้อื่น
๓. ไม่พึงมองดูด้วยความเหยียดหยาม
๔. ไม่พึงกระทบกระทั่งท่านผู้ถึงฝั่งนิพพาน
๕. ไม่พึงกล่าวคุณความดีของตนในที่ชุมชน
ไม่ฟุ้งซ่าน กล่าวแต่พอประมาณ มีวัตรดีงาม
[๒๑๐] พระธรรมกถึกนั้นมักเห็นเนื้อความอันสุขุมและละเอียดยิ่งนัก
มีปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
ปฏิบัติตามศีลของพระพุทธเจ้าเป็นอาจิณ
พึงได้นิพพานไม่ยากเลย
๖. จูฬกเถรคาถา
ภาษิตของพระจูฬกเถระ
(พระจูฬกเถระเมื่อจะทำตนให้เกิดอุตสาหะในการเจริญภาวนา จึงได้กล่าว ๒
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๑๑] นกยูงทั้งหลาย มีหงอนงาม ขนหางงาม
สร้อยคอเขียวงาม จะงอยปากงาม
มีเสียงไพเราะ ส่งเสียงร้องอยู่
อนึ่ง แม้แผ่นดินใหญ่นี้มีหญ้าเขียวชะอุ่ม
มีน้ำชุ่มชื่น ท้องฟ้าก็มีเมฆสวยงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๘. วัชชิตเถรคาถา
[๒๑๒] ท่านมีสภาวะที่ควรแก่การงาน
จงเพ่งฌานที่พระโยคาวจรผู้มีใจดีเพ่งแล้ว
จงเป็นผู้มีความพยายามไม่หยุดยั้ง
ในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยดี
จงบรรลุนิพพานอันเป็นธรรมสูงสุด
ขาวสะอาด ผุดผ่อง ละเอียด
เห็นได้แสนยากเป็นสภาพที่แน่นอนนั้นเถิด
๗. อนูปมเถรคาถา
ภาษิตของพระอนูปมเถระ
(พระอนูปมเถระกล่าวสอนตนเองด้วย ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๑๓] จิตที่มีความเพลิดเพลิน
ถูกกรรมกิเลสยกขึ้นสู่ภพซึ่งเป็นเช่นกับหลาว
ท่านเว้นจากภพที่เรียกว่าหลาว
และกามคุณที่เรียกว่าท่อนไม้นั้น ๆ เสีย
[๒๑๔] เรากล่าวอกุศลจิตนั้นว่าเป็นจิตมีโทษ
กล่าวอกุศลจิตนั้นว่าเป็นจิตประทุษร้าย
พระศาสดาที่บุคคลหาได้โดยยาก ท่านก็ได้แล้ว
ท่านอย่ามาชักชวนเราในทางฉิบหายเลย
๘. วัชชิตเถรคาถา
ภาษิตของพระวัชชิตเถระ
(พระวัชชิตเถระระลึกชาติก่อนของตนได้ จึงได้กล่าว ๒ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๑๕] เราเป็นปุถุชนมืดมนอยู่ เมื่อไม่เห็นอริยสัจ
จึงได้ท่องเที่ยววนเวียนไปมาในคติทั้งหลายตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา[๒. ทุกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรค
[๒๑๖] เรานั้นไม่ประมาทแล้ว
กำจัดกรรมกิเลสที่ได้ชื่อว่าสงสารได้แล้ว
เราตัดคติทั้งปวงขาดแล้ว บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
๙. สันธิตเถรคาถา
ภาษิตของพระสันธิตเถระ
(พระสันธิตเถระเมื่อจะประกาศการบรรลุคุณวิเศษของตน จึงได้กล่าว ๒
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๑๗] เรามีสติตั้งมั่นได้สัญญาอย่างหนึ่ง
ซึ่งประกอบด้วยพุทธานุสติ ณ โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
สว่างไสวไปด้วยรัศมีสีเขียว งามสะพรั่ง
[๒๑๘] ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัททกัปนี้ไป
เราได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
เพราะนำสัญญาที่เราได้ในครั้งนั้นมา
ปัญจมวรรค จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระกุมารกัสสปเถระ ๒. พระธรรมปาลเถระ
๓. พระพรหมาลิเถระ ๔. พระโมฆราชเถระ
๕. พระวิสาขปัญจาลีบุตรเถระ ๖. พระจูฬกเถระ
๗. พระอนูปมเถระ ๘. พระวัชชิตเถระ

๙. พระสันธิตเถระ ผู้นำธุลีคือกิเลสออกได้
ในทุกนิบาต รวมคาถาได้ ๙๘ คาถา
และรวมพระเถระผู้ฉลาดในนัย ซึ่งกล่าวคาถาไว้ได้ ๔๙ รูป
ทุกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๓. ติกนิบาต] ๒. ปัจจยเถรคาถา
๓. ติกนิบาต
๑. อังคณิกภารทวาชเถรคาถา
ภาษิตของพระอังคณิกภารทวาชเถระ
(พระอังคณิกภารทวาชเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๓ คาถา
ไว้ดังนี้ว่า)
[๒๑๙] เมื่อเราแสวงหาความบริสุทธิ์โดยอุบายไม่สมควร
จึงได้บำเรอไฟอยู่ในป่า
เราไม่รู้ทางอันบริสุทธิ์
จึงได้บำเพ็ญตบะอย่างอื่นอีก
[๒๒๐] ความสุขนั้นเราได้แล้วโดยง่าย
ขอท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๒๒๑] เมื่อก่อน เราได้เป็นเผ่าพันธ์แห่งพระพรหม
แต่บัดนี้ เราเป็นพราหมณ์ บรรลุวิชชา ๓
ล้างมลทินคือกิเลสได้แล้ว
และเป็นพราหมณ์จบไตรเพท
๒. ปัจจยเถรคาถา
ภาษิตของพระปัจจยเถระ
(พระปัจจยเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว ๓ คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[๒๒๒] เราบวชแล้วได้ ๕ วัน
ยังเป็นเสขบุคคลอยู่
ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัต
เมื่อเราเข้าไปยังวิหารแล้วได้ตั้งใจปรารถนาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๗๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น