Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๒ หน้า ๕๔ - ๑๐๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๔. อสัมปทานวรรค ๓. ฆตาสนชาดก (๑๓๓)
๑๔. อสัมปทานวรรค
หมวดว่าด้วยการไม่รับสิ่งของ
๑. อสัมปทานชาดก (๑๓๑)
ว่าด้วยการไม่รับสิ่งของทำให้เกิดการแตกร้าว
(สังขเศรษฐีโพธิสัตว์กล่าวกับภรรยาผู้ร้องไห้อยู่ว่า)
[๑๓๑] มิตรไมตรีของผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนพาล
ย่อมเป็นโทษเพราะการไม่รับสิ่งของ
เพราะฉะนั้น พี่จึงนำข้าวลีบครึ่งมานะ๑มาด้วยคิดว่า
มิตรไมตรีของเราอย่าได้แตกร้าวเลย
ขอมิตรไมตรีของเรานี้จงยั่งยืนต่อไป
อสัมปทานชาดกที่ ๑ จบ
๒. ปัญจภีรุกชาดก (๑๓๒)
ว่าด้วยความไม่หวาดสะดุ้งกลัว
(พระโพธิสัตว์คิดถึงเหตุการณ์ที่ตนรอดพ้นจากนางยักษิณี จึงเปล่งอุทานว่า)
[๑๓๒] เราไม่ตกอยู่ในอำนาจของพวกรากษส
เพราะความเพียรอันมั่นคงในคำแนะนำของท่านผู้ฉลาด
และเพราะความไม่หวาดหวั่นต่อภัยและความสะดุ้งกลัว
ความสวัสดีจากภัยอันใหญ่หลวงนั้นจึงมีแก่เรา
ปัญจภีรุกชาดกที่ ๒ จบ
๓. ฆตาสนชาดก (๑๓๓)
ว่าด้วยภัยเกิดจากที่พึ่ง
(พญานกโพธิสัตว์เห็นเปลวเพลิงลุกโพลงจากน้ำ จึงชวนพวกนกไปอยู่ที่อื่นว่า)

เชิงอรรถ :
๑ มานะ คือมาตราตวงสมัยโบราณ ได้แก่ ๑ มานะ เท่ากับ ๘ ทะนาน ฉะนั้นครึ่งมานะจึงเท่ากับ ๔ ทะนาน
(ขุ.ชา.อ. ๒/๑๓๑/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๔. อสัมปทานวรรค ๕. จันทาภชาดก (๑๓๕)
[๑๓๓] ความเกษมสำราญมีอยู่บนหลังผิวน้ำใด
บนหลังผิวน้ำนั้นมีศัตรูเกิดขึ้น ไฟลุกโพลงอยู่ท่ามกลางน้ำ
วันนี้ จะอยู่บนต้นไม้ซึ่งเกิดที่พื้นดินไม่ได้อีก
พวกเจ้าจงพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ เถิด
วันนี้ ที่พึ่งของพวกเรามีภัยเกิดขึ้นแล้ว
ฆตาสนชาดกที่ ๓ จบ
๔. ฌานโสธนชาดก (๑๓๔)
ว่าด้วยสุขเกิดแต่ฌาน
(พระโพธิสัตว์มาจากพรหมโลกชั้นอาภัสสรพรหมอยู่ในอากาศแล้วกล่าวว่า)
[๑๓๔] สัตว์เหล่าใดมีสัญญา แม้สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นทุคคตสัตว์๑
สัตว์เหล่าใดไม่มีสัญญา แม้สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นทุคคตสัตว์
พวกท่านจงละเว้นสัญญีภพและอสัญญีภพทั้ง ๒ อย่างนั้นเสีย
ความสุขอันเกิดจากสมาบัตินั้น
เป็นความสุขที่ไม่มีกิเลสเครื่องยวนใจ
ฌานโสธนชาดกที่ ๔ จบ
๕. จันทาภชาดก (๑๓๕)
ว่าด้วยผู้เจริญแสงจันทร์เป็นอารมณ์
(พระโพธิสัตว์มาจากพรหมโลกชั้นอาภัสสรพรหมอยู่ในอากาศแล้วกล่าวว่า)
[๑๓๕] บุคคลใดในโลกนี้หยั่งถึงกสิณมีแสงจันทร์
และแสงอาทิตย์เป็นอารมณ์ด้วยปัญญา
บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงอาภัสสรพรหมได้ด้วยฌานอันไม่มีวิตก
จันทาภชาดกที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทุคคตสัตว์ หมายถึงหมู่สัตว์ที่มีจิตทั้งหมด เว้นท่านผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน (ฌานที่มีสัญญาก็
มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่) เพราะยังไม่ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ (ขุ.ชา.อ. ๒/๑๓๔/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๔. อสัมปทานวรรค ๘. โคธชาดก (๑๓๘
๖. สุวัณณหังสชาดก (๑๓๖)
ว่าด้วยพญาหงส์ทองถูกถอนขน
(พระศาสดาทรงประมวลเรื่องในอดีตมาตรัสสอนถุลลนันทาภิกษุณีผู้มักมากแล้ว
ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๓๖] บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น
เพราะความโลภเกินไปเป็นความชั่วแท้
นางพราหมณีจับเอาพญาหงส์ทองแล้วจึงเสื่อมจากทองคำ
สุวัณณหังสชาดกที่ ๖ จบ
๗. พัพพุชาดก (๑๓๗)
ว่าด้วยวิธีทำให้แมวตาย
(พระศาสดาทรงประมวลเรื่องในอดีตมา ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๓๗] แมวตัวหนึ่งได้หนูหรือเนื้อในที่ใด
แมวตัวที่ ๒ ตัวที่ ๓ และตัวที่ ๔ ก็เกิดในที่นั้น
แมวเหล่านั้นเอาอกกระแทกปล่องแก้วผลึกนี้แล้วสิ้นชีวิต
พัพพุชาดกที่ ๗ จบ
๘. โคธชาดก (๑๓๘)
ว่าด้วยพญาเหี้ย
(พญาเหี้ยโพธิสัตว์ติเตียนดาบสว่า)
[๑๓๘] นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า
ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง
ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง
เจ้าดีแต่ขัดสีภายนอกเท่านั้น
โคธชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๔. อสัมปทานวรรค ๑๐. กากชาดก (๑๔๐)
๙. อุภโตภัฏฐชาดก (๑๓๙)
ว่าด้วยผู้เสื่อมประโยชน์ทั้ง ๒ ด้าน
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์กล่าวติเตียนนายพรานเบ็ดว่า)
[๑๓๙] ตาของเจ้าก็แตกทั้ง ๒ ข้าง ผ้านุ่งก็หาย
ภรรยาของเจ้าก็ทะเลาะกับเพื่อนบ้านแล้ว
การงานทั้งทางน้ำและทางบกก็เสียหายทั้ง ๒ ด้าน
อุภโตภัฏฐชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. กากชาดก (๑๔๐)
ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว
(กาโพธิสัตว์แสดงธรรมว่า)
[๑๔๐] กาทั้งหลายมีใจหวาดผวาอยู่เป็นนิตย์
มีปกติเบียดเบียนชาวโลกทั้งมวล
เพราะฉะนั้น มันเหลวของกาทั้งหลาย
ผู้เป็นญาติของข้าพเจ้าจึงไม่มี
กากชาดกที่ ๑๐ จบ
อสัมปทานวรรคที่ ๑๔ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อสัมปทานชาดก ๒. ปัญจภีรุกชาดก
๓. ฆตาสนชาดก ๔. ฌานโสธนชาดก
๕. จันทาภชาดก ๖. สุวัณณหังสชาดก
๗. พัพพุชาดก ๘. โคธชาดก
๙. อุภโตภัฏฐชาดก ๑๐. กากชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. กกัณฏกวรรค ๓. วิโรจนชาดก (๑๔๓)
๑๕. กกัณฏกวรรค
หมวดว่าด้วยกิ้งก่า
๑. โคธชาดก (๑๔๑)
ว่าด้วยตระกูลเหี้ยประสบความพินาศ
(พญาเหี้ยโพธิสัตว์เมื่อจะหนีไปทางปล่องลม จึงกล่าวว่า)
[๑๔๑] บุคคลคบหาคนชั่วย่อมไม่ประสบความสุขเลย
เหมือนตระกูลเหี้ยทำตนเองให้ประสบความวอดวายเพราะกิ้งก่า
โคธชาดกที่ ๑ จบ
๒. สิงคาลชาดก (๑๔๒)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกโพธิสัตว์
(สุนัขจิ้งจอกโพธิสัตว์กล่าวติเตียนนักเลงว่า)
[๑๔๒] เหตุที่ท่านนอนลวงเหมือนคนตายนั้นรู้ได้ยาก
ไม้พลองของท่านเมื่อข้าพเจ้าคาบที่ปลายลากมาก็ไม่หลุดจากมือ
สิงคาลชาดกที่ ๒ จบ
๓. วิโรจนชาดก (๑๔๓)
ว่าด้วยคนถูกเยาะเย้ยว่ารุ่งเรือง
(พญาไกรสรราชสีห์โพธิสัตว์กล่าวกะสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๑๔๓] มันสมองของเจ้าทะลักออกมา
กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลาย
ซี่โครงของเจ้าก็หักหมด
วันนี้ เจ้าช่างรุ่งโรจน์เหลือเกิน
วิโรจนชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. กกัณฏกวรรค ๖. กากชาดก (๑๔๖)
๔. นังคุฏฐชาดก (๑๔๔)
ว่าด้วยการบูชาไฟด้วยหางวัว
(พราหมณ์บำเรอไฟผู้เป็นโพธิสัตว์เข้าใจว่าการบูชาไฟไม่มีประโยชน์ จึงกล่าวว่า)
[๑๔๔] ไฟอสัตบุรุษ การที่เราบูชาเจ้าด้วยหางนั้นก็มากพอแล้ว
วันนี้ เนื้อไม่มีสำหรับเจ้าผู้ชอบเนื้อ
ขอท่านผู้เจริญจงรับเอาเพียงหางเถิด
นังคุฏฐชาดกที่ ๔ จบ
๕. ราธชาดก (๑๔๕)
ว่าด้วยลูกนกแขกเต้าราธะ
(นกแขกเต้าโพธิสัตว์ได้กล่าวเตือนน้องราธะว่า)
[๑๔๕] พ่อราธะ เจ้ายังไม่รู้ว่า
คนที่ยังไม่มาในปฐมยามมีประมาณเท่าไร
เจ้าพูดเพ้อเจ้ออย่างโง่ ๆ ไปเอง
ในเมื่อแม่โกสิยายนีหมดความเยื่อใยในบิดาของเราแล้ว
ราธชาดกที่ ๕ จบ
๖. กากชาดก (๑๔๖)
ว่าด้วยกาวิดน้ำด้วยจะงอยปาก
(ฝูงกาปรึกษากันแล้วพูดว่าไม่สามารถจะทำทะเลให้แห้งได้ จึงกล่าวว่า)
[๑๔๖] คางของพวกเราล้าแล้วหนอ ปากก็ซีดเซียว
พวกเราพากันวิดอยู่ก็ไม่อาจทำให้น้ำแห้งได้
ห้วงน้ำใหญ่ก็ยังคงเต็มอยู่เช่นเดิม
กากชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. กกัณฏกวรรค ๙. เอกปัณณชาดก (๑๔๙)
๗. ปุปผรัตตชาดก (๑๔๗)
ว่าด้วยผ้าที่ย้อมด้วยดอกคำ
(คนเข็ญใจไม่ใส่ใจถึงความทุกข์ของตน นึกถึงแต่หญิงคนรักนั้นอย่างเดียว
จึงรำพึงถึงโอกาสที่พลาดไปว่า)
[๑๔๗] การที่ถูกเสียบแทงด้วยหลาว
และการที่กาจิกข้าพเจ้านี้หาเป็นทุกข์แก่ข้าพเจ้าไม่
การที่นางเนื้อทองจักไม่ได้นุ่งห่มผ้าที่ย้อมด้วยดอกคำ
เที่ยวงานตลอดคืนกลางเดือน ๑๒ โน้นซิเป็นทุกข์ของข้าพเจ้า
ปุปผรัตตชาดกที่ ๗ จบ
๘. สิงคาลชาดก (๑๔๘)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกเข้าไปในซากช้าง
(สุนัขจิ้งจอกโพธิสัตว์ติดอยู่ในท้องช้างตายเกิดความสังเวช จึงกล่าวว่า)
[๑๔๘] ไม่เอาอีกแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว
เราจะไม่เข้าไปในซากช้างอีก
เพราะในเวลาที่เข้าไปอยู่ในซากช้างนี้ เรากลัวแทบตาย
สิงคาลชาดกที่ ๘ จบ
๙. เอกปัณณชาดก (๑๔๙)
ว่าด้วยต้นไม้มีด้านละใบ
(ทุฏฐราชกุมารเข้าใจต้นสะเดาว่าจะฆ่ามนุษย์ได้ จึงถอนหน่อสะเดาขยี้จน
แหลกแล้ว ตรัสว่า)
[๑๔๙] ต้นไม้นี้มีใบด้านละใบ จากพื้นดินสูงยังไม่ถึง ๔ องคุลี
ผลมีรสเช่นกับยาพิษ เมื่อโตขึ้นจะเป็นเช่นไรหนอ
เอกปัณณชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. กกัณฏกวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
๑๐. สัญชีวชาดก (๑๕๐)
ว่าด้วยสัญชีวมาณพตาย
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์เรียกมาณพมาเตือนว่า)
[๑๕๐] ผู้ใดยกย่องและคบหาคนชั่ว
คนชั่วย่อมกระทำผู้นั้นให้เป็นเหยื่อ
เหมือนเสือโคร่งที่สัญชีวมาณพทำให้ฟื้นขึ้น
แล้วทำสัญชีวมาณพให้เป็นเหยื่อ
สัญชีวชาดกที่ ๑๐ จบ กกัณฏกวรรคที่ ๑๕ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โคธชาดก ๒. สิงคาลชาดก
๓. วิโรจนชาดก ๔. นังคุฏฐชาดก
๕. ราธชาดก ๖. กากชาดก
๗. ปุปผรัตตชาดก ๘. สิงคาลชาดก
๙. เอกปัณณชาดก ๑๐. สัญชีวชาดก
อุปริปัณณาสก์ จบ
รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. อปัณณกวรรค ๒. สีลวรรค
๓. กุรุงควรรค ๔. กุลาวกวรรค
๕. อัตถกามวรรค ๖. อาสิงสวรรค
๗. อิตถีวรรค ๘. วรุณวรรค
๙. อปายิมหวรรค ๑๐. ลิตตวรรค
๑๑. ปโรสตวรรค ๑๒. หังสิวรรค
๑๓. กุสนาฬิวรรค ๑๔. อสัมปทานวรรค
๑๕. กกัณฏกวรรค
ชาดกที่ประดับเอกกนิบาต จบ
เอกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๒. สิงคาลชาดก (๑๕๒)
๒. ทุกนิบาต
๑. ทัฬหวรรค
หมวดว่าด้วยความกระด้าง
๑. ราโชวาทชาดก (๑๕๑)
ว่าด้วยพระราโชวาท
(นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะกล่าวอวดพระเกียรติคุณพระราชาของตนว่า)
[๑] พระเจ้าพัลลิกะทรงขจัดคนกระด้างด้วยความกระด้าง
ทรงชนะคนอ่อนโยนด้วยความอ่อนโยน
ทรงชนะคนดีด้วยความดี ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี
พระราชาองค์นี้เป็นเช่นนี้ นายสารถี
ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด
(นายสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวพระเกียรติคุณพระราชาของตนว่า)
[๒] พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ
ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์
พระราชาองค์นี้เป็นเช่นนี้ นายสารถี
ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด
ราโชวาทชาดกที่ ๑ จบ
๒. สิงคาลชาดก (๑๕๒)
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้สุนัขจิ้งจอกตาย
(ราชสีห์โพธิสัตว์เห็นพี่ชายทั้ง ๖ ตาย จึงกล่าวว่า)
[๓] การงานเหล่านั้นย่อมทำบุคคลผู้มิได้พิจารณา
ทำด้วยความรีบร้อนให้เดือดร้อนเหมือนกลืนของร้อนเข้าไปในปาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๑. ทัฬหวรรค ๔. อุรคชาดก (๑๕๔)
(พระศาสดาตรัสเหตุที่สุนัขจิ้งจอกตายว่า)
[๔] ราชสีห์ได้บันลือสีหนาทไปทั่วภูเขาเงิน
สุนัขจิ้งจอกที่อาศัยอยู่ในภูเขาเงิน
ได้ยินเสียงกึกก้องของราชสีห์
เกิดความกลัวความสะดุ้งจนหัวใจแตกตาย
สิงคาลชาดกที่ ๒ จบ
๓. สูกรชาดก (๑๕๓)
ว่าด้วยสุกรท้าราชสีห์
(สุกรเมื่อจะท้าราชสีห์โพธิสัตว์ให้ต่อสู้กัน จึงกล่าวว่า)
[๕] นี่สหาย เราก็มี ๔ เท้า ถึงท่านก็มี ๔ เท้า
จงกลับมาก่อนสหาย ท่านกลัวหรือ จึงได้หนีไป
(ราชสีห์โพธิสัตว์กล่าวตอบว่า)
[๖] นี่เจ้าสุกรผู้สหาย เจ้ามีเนื้อตัวไม่สะอาด
ขนก็เหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นคลุ้งกระจายไป
ถ้าเจ้าต้องการจะสู้รบกับเรา เราขอยกชัยชนะให้เจ้า
สูกรชาดกที่ ๓ จบ
๔. อุรคชาดก (๑๕๔)
ว่าด้วยงูมีคุณธรรมสูง
(พญาครุฑเรียกพระโพธิสัตว์มาประกาศให้ทราบว่า จักจับพญานาควักกละกิน
จึงกล่าวว่า)
[๗] พญานาคผู้ประเสริฐกว่างูทั้งหลายต้องการจะพ้นจากข้าพเจ้า
จึงได้แปลงกายเป็นแก้วมณี เข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้นี้
ก็ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงเพศอันประเสริฐของท่าน
ถึงจะหิวก็ไม่สามารถที่จะจับพญานาคตัวนั้นกินได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๖. อลีนจิตตชาดก (๑๕๖)
(พระโพธิสัตว์ดาบสกล่าวชมเชยพญาครุฑว่า)
[๘] เธอนั้นเป็นผู้เคารพยำเกรงเพศอันประเสริฐ
ถึงจะหิวก็ไม่อาจที่จะคร่าพญานาคตัวนั้นมากินได้
ขอเธอนั้นจงเป็นผู้อันพรหมรักษาคุ้มครองแล้ว
จงดำรงชีวิตอยู่สิ้นกาลนาน
อนึ่ง ภักษาทิพย์จงปรากฏมีแก่เธอ
อุรคชาดกที่ ๔ จบ
๕. ภัคคชาดก (๑๕๕)
ว่าด้วยบิดาพระโพธิสัตว์ชื่อภัคคะ
(พราหมณ์โพธิสัตว์เห็นยักษ์ลงมา จึงกล่าวปรารภกับบิดาว่า)
[๙] พ่อภัคคะ ขอพ่อจงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปี
ขอพวกปีศาจจงอย่าได้กินผมเลย
ขอพ่อจงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปีเถิด
(พระโพธิสัตว์เห็นยักษ์ลงมาหาบุตร จึงกล่าวปรารภกับบุตรว่า)
[๑๐] แม้เจ้าก็จงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปี
ขอพวกปีศาจจงกินยาพิษ
ขอเจ้าจงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปีเถิด
ภัคคชาดกที่ ๕ จบ
๖. อลีนจิตตชาดก (๑๕๖)
ว่าด้วยพระเจ้าอลีนจิต
(พระศาสดาทรงนำเรื่องอดีตนี้มาได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๑] เสนาหมู่ใหญ่อาศัยพระเจ้าอลีนจิต มีใจร่าเริง
ได้จับเป็นพระเจ้าโกศลผู้ไม่ทรงอิ่มราชสมบัติของตน ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๗. คุณชาดก (๑๕๗)
[๑๒] ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิสัย๑ ปรารภความเพียร
เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
พึงบรรลุธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ ฉันนั้น
อลีนจิตตชาดกที่ ๖ จบ
๗. คุณชาดก (๑๕๗)
ว่าด้วยมิตรธรรม
(สุนัขจิ้งจอกฟังคำของนางสุนัขจิ้งจอกแล้วจึงเข้าไปหาราชสีห์โพธิสัตว์ บอกเหตุ
ที่ภรรยาและบุตรของราชสีห์รบกวนแล้วว่า)
[๑๓] ผู้มีอำนาจย่อมขับไล่ผู้น้อยตามความพอใจของตน
นี้เป็นธรรมดาของผู้มีกำลัง
นางมฤคีผู้มีเขี้ยวแหลมคมบันลือสีหนาท
คุกคามบุตรและภรรยาของข้าพเจ้า
ขอท่านจงทราบอย่างนี้
ที่พึ่งของพวกเรามีภัยเกิดขึ้นแล้ว
(ราชสีห์โพธิสัตว์กล่าวเตือนนางราชสีห์ว่า)
[๑๔] ถึงแม้ว่ามิตรจะมีกำลังด้อยกว่า
แต่ดำรงอยู่ในมิตรธรรม
เขาชื่อว่าเป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์
เป็นมิตร และเป็นเพื่อนของเรา
นี่นางผู้มีเขี้ยวแหลมคม
เจ้าอย่าได้ดูหมิ่นสุนัขจิ้งจอกผู้ให้ชีวิตแก่เราอีกเลย
คุณชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ถึงพร้อมด้วยนิสัย หมายถึงการได้พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า
เป็นที่อาศัย (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๒/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๙. โมรชาดก (๑๕๙)
๘. สุหนุชาดก (๑๕๘)
ว่าด้วยพฤติกรรมของม้าสุหนุ
(อำมาตย์สำเร็จราชกิจโพธิสัตว์ได้กราบทูลพระราชาถึงพฤติกรรมของม้าว่า)
[๑๕] การที่ม้าพยศสุหนุกับม้าพยศโสณะ
กระทำความสนิทสนมกันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ม้าโสณะเป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้น
ม้าโสณะมีอารมณ์ฉุนเฉียวเช่นใด
ม้าสุหนุก็มีอารมณ์ฉุนเฉียวเช่นนั้น
[๑๖] ม้าทั้ง ๒ ตัวมีปกติวิ่งพล่านไปด้วยอารมณ์
คึกคะนองชอบกัดเชือกล่ามตัวเองเป็นนิตย์พอ ๆ กัน
ความชั่วเข้ากันได้กับความชั่ว
ความไม่สงบเข้ากันได้กับความไม่สงบ
สุหนุชาดกที่ ๘ จบ
๙. โมรชาดก (๑๕๙)
ว่าด้วยนกยูง
(นกยูงทองโพธิสัตว์เมื่อจะผูกมนต์เพื่อรักษาป้องกันตัวก่อนออกหากิน ได้
กล่าวคาถานี้ว่า)
[๑๗] ดวงตาของโลก
เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก
กำลังอุทัยทอแสงเรืองรองสว่างไปทั่วปฐพี
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอน้อมไหว้พระอาทิตย์นั้น
ซึ่งทอแสงเรืองรองสว่างไปทั่วปฐพี
วันนี้ ข้าพเจ้าได้ท่านคุ้มครองแล้ว
พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๙. โมรชาดก (๑๕๙)
พราหมณ์เหล่าใดถึงฝั่งแห่งพระเวทในธรรมทั้งมวล
ขอพราหมณ์เหล่านั้นจงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระโพธิญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้ว
และวิมุตติธรรมของพระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วเหล่านั้น
นกยูงนั้นเจริญพระปริตรนี้แล้วจึงเที่ยวแสวงหาอาหาร
(นกยูงทองนั้น เมื่อกลับที่พักในเวลาเย็น ได้กล่าวคาถานี้ว่า)
[๑๘] ดวงตาของโลกนี้
เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก
ทอแสงเรืองรองสว่างไปทั่วปฐพี อัสดงคตแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอน้อมไหว้พระอาทิตย์นั้น
ซึ่งทอแสงเรืองรองสว่างไปทั่วปฐพี
วันนี้ ข้าพเจ้าได้ท่านคุ้มครองแล้ว
พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน
พราหมณ์เหล่าใดถึงฝั่งแห่งพระเวทในธรรมทั้งมวล
ขอพราหมณ์เหล่านั้นจงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระโพธิญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้ว
และวิมุตติธรรมแห่งพระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วเหล่านั้น
นกยูงนั้นเจริญพระปริตรนี้แล้วจึงอยู่ในที่อยู่ของตน
โมรชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
๑๐. วินีลกชาดก (๑๖๐)
ว่าด้วยกาวินีลกะ
(กาวินีลกะกำลังไปทางอากาศเห็นพระเจ้ากรุงวิเทหะประทับบนรถซึ่งเทียมด้วย
ม้าสินธพ ๔ ตัว จึงกล่าวว่า)
[๑๙] ม้าอาชาไนยกำลังพาพระเจ้าวิเทหะ
ผู้ครองกรุงมิถิลาเสด็จไป
เหมือนหงส์ ๒ ตัวกำลังพาเราผู้ชื่อวินีลกะไป
(พ่อพญาหงส์ได้ฟังเรื่องที่ลูกทั้ง ๒ เล่าให้ฟัง ก็โกรธตวาดลูกกาวินีลกะว่า)
[๒๐] นี่เจ้าวินีลกะ เจ้ามาอยู่อาศัยซอกเขา
อันมิใช่พื้นเพเดิมของเจ้า
เจ้าจงไปอยู่อาศัยชายหมู่บ้านเถิด
ที่นั่นเป็นที่อยู่อาศัยของแม่เจ้า
วินีลกชาดกที่ ๑๐ จบ
ทัฬหวรรคที่ ๑ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ราโชวาทชาดก ๒. สิงคาลชาดก
๓. สูกรชาดก ๔. อุรคชาดก
๕. ภัคคชาดก ๖. อลีนจิตตชาดก
๗. คุณชาดก ๘. สุหนุชาดก
๙. โมรชาดก ๑๐. วินีลกชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๒. สันถวชาดก (๑๖๒)
๒. สันถววรรค
หมวดว่าด้วยความสนิทสนม
๑. อินทสมานโคตตชาดก (๑๖๑)
ว่าด้วยอินทสมานโคตรดาบส
(ดาบสโพธิสัตว์บอกดาบสที่ไม่ควรทำความคลุกคลีกับคนชั่วว่า)
[๒๑] บุคคลไม่ควรทำความสนิทสนมกับคนชั่ว
บุคคลผู้ประเสริฐรู้ประโยชน์ชัดอยู่
ก็ไม่ควรทำความสนิทสนมกับบุคคลผู้ไม่ประเสริฐ
เพราะว่า บุคคลผู้ไม่ประเสริฐถึงแม้จะอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน
ก็ยังทำความชั่วเหมือนช้างได้ฆ่าอินทสมานโคตรดาบส
[๒๒] บุคคลรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเราด้วยศีล ปัญญา และสุตะ
พึงกระทำไมตรีกับบุคคลเช่นนั้นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษเป็นความสุขโดยแท้
อินทสมานโคตตชาดกที่ ๑ จบ
๒. สันถวชาดก (๑๖๒)
ว่าด้วยการสนิทสนม
(พราหมณ์โพธิสัตว์ตกใจกลัวที่บรรณศาลาถูกไฟไหม้กล่าวว่า)
[๒๓] สิ่งอื่นที่จะชั่วช้าไปกว่าความสนิทสนมกับคนชั่วไม่มี
เพราะไฟนี้อันเราให้อิ่มหนำด้วยเนยใสและข้าวปายาสแล้ว
ก็ยังเผาบรรณศาลาที่เรากระทำได้แสนยาก
(พระโพธิสัตว์ดำริว่าความสนิทสนมกับสัตบุรุษเป็นสิ่งประเสริฐ จึงกล่าวว่า)
[๒๔] สิ่งอื่นที่จะประเสริฐไปกว่าความสนิทสนมกับสัตบุรุษไม่มี
แม่เนื้อสามายังเลียปากราชสีห์ เสือโคร่ง
และเสือเหลืองได้เพราะความสนิทสนม
สันถวชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๔. คิชฌชาดก (๑๖๔)
๓. สุสีมชาดก (๑๖๓)
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะ
(พราหมณ์ปุโรหิตโพธิสัตว์ของพระเจ้าสุสีมะ กราบทูลเรื่องที่ได้ทราบข่าวมาว่า)
[๒๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าสุสีมะ ช้างดำมีงาขาว
ของพระองค์เหล่านี้ ๑๐๐ กว่าเชือก ประดับด้วยข่ายทองคำ
พระเจ้าสุสีมะ พระองค์ยังทรงระลึกถึงการกระทำของพระชนก
และพระอัยยกาของพระองค์หรือ จึงตรัสว่า
เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสุสีมะทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้วตรัสว่า)
[๒๖] นี่พ่อมาณพ ช้างดำมีงาขาวของเราเหล่านี้
๑๐๐ กว่าเชือก ประดับด้วยข่ายทองคำ
เรายังระลึกถึงการกระทำของพระบิดาและพระอัยยกา
จึงพูดว่า เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น
สุสีมชาดกที่ ๓ จบ
๔. คิชฌชาดก (๑๖๔)
ว่าด้วยสายตานกแร้ง
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสถามพญาแร้งโพธิสัตว์ว่า)
[๒๗] ธรรมดานกแร้งย่อมเห็นซากศพได้ไกลถึงร้อยโยชน์มิใช่หรือ
เพราะเหตุไร เจ้าแม้มาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วก็ไม่รู้
(พญาแร้งโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๒๘] เมื่อใดสัตว์มีความเสื่อมในขณะจะสิ้นชีวิต
เมื่อนั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
คิชฌชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๖. อุปสาฬหกชาดก (๑๖๖)
๕. นกุลชาดก (๑๖๕)
ว่าด้วยพังพอน
(ฤๅษีโพธิสัตว์เห็นพังพอนกลับมา จึงกล่าวว่า)
[๒๙] นี่เจ้าพังพอนผู้เกิดในครรภ์
ท่านเชื่อมสัมพันธ์กับงูที่เป็นศัตรู
ยังจะนอนแยกเขี้ยวอยู่ ภัยนั้นมีมาแต่ไหนหนอ
(พังพอนตอบว่า)
[๓๐] ในศัตรูบุคคลพึงระแวงไว้ก่อน แม้ในมิตรก็ไม่พึงวางใจ
ภัยที่เกิดขึ้นจากคนไม่มีภัยย่อมกัดกร่อนจนถึงโคนราก
นกุลชาดกที่ ๕ จบ
๖. อุปสาฬหกชาดก (๑๖๖)
ว่าด้วยพราหมณ์อุปสาฬหกะ
(พราหมณ์โพธิสัตว์ตอบปัญหาของมาณพ กำหนดด้วยปุพเพนิวาสญาณแล้ว
จึงกล่าวว่า)
[๓๑] พราหมณ์ชื่ออุปสาฬหกะ จำนวน ๑๔,๐๐๐ คน
ได้ถูกพวกญาติเผาในสถานที่นี้
สถานที่ไม่เคยมีคนตายไม่มีในโลก
[๓๒] สัจจะ ธรรมะ อหิงสา
สัญญมะ และทมะมีอยู่ในผู้ใด
พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมคบหาบุคคลเช่นนั้น
(เพราะ)คุณธรรมชื่อว่าไม่ตายในโลก
อุปสาฬหกชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๘. สกุณัคฆิชาดก (๑๖๘)
๗. สมิทธิชาดก (๑๖๗)
ว่าด้วยเทพธิดาหลงรักพระสมิทธิโพธิสัตว์
(เทพธิดาประเล้าประโลมพราหมณ์โพธิสัตว์ว่า)
[๓๓] ภิกษุ ท่านยังมิได้บริโภคกามคุณเลย
กลับมาเที่ยวภิกขาจารเสียนี่
ก็ท่านบริโภคกามคุณเสียก่อนแล้ว
จึงเที่ยวภิกขาจารจะไม่ดีหรือ
ภิกษุ ท่านจงบริโภคกามคุณเสียก่อนเถิด
แล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
ขอเวลาบริโภคกามคุณอย่าได้ล่วงเลยท่านไปเสียเลย
(พราหมณ์โพธิสัตว์กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า)
[๓๔] เราไม่รู้เวลาตายของตนเลย
เวลาตายปิดบังอยู่ยังไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่บริโภคกามมาเที่ยวภิกขาจารอยู่
ขอเวลาบำเพ็ญสมณธรรมอย่าได้ล่วงเลยเราไปเลย
สมิทธิชาดกที่ ๗ จบ
๘. สกุณัคฆิชาดก (๑๖๘)
ว่าด้วยเหยี่ยวนกเขาหลงกลนกมูลไถ
(พระศาสดาทรงแสดงเรื่องเหยี่ยวนกเขากับนกมูลไถในอดีตแล้วตรัสเรื่องโคจร
ของภิกษุว่า)
[๓๕] เหยี่ยวนกเขาโฉบลงเต็มแรงด้วยหมายใจว่า
จะจับเอานกมูลไถที่อยู่ในที่หากิน
โฉบลงอย่างฉับพลัน
เพราะเหตุนั้น จึงถึงความตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๑๐. กกัณฏกชาดก (๑๗๐)
(เมื่อเหยี่ยวนกเขาตายแล้ว นกมูลไถจึงออกมายืนบนอกของเหยี่ยวนกเขา
เปล่งอุทานว่า)
[๓๖] เรานั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุบาย
ยินดีแล้วในที่หากินอันเป็นเขตแห่งบิดา
เห็นประโยชน์ของตนอยู่
เป็นผู้ปราศจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ
สกุณัคฆิชาดกที่ ๘ จบ
๙. อรกชาดก (๑๖๙)
ว่าด้วยศาสดาอรกะสอนการแผ่เมตตา
(พราหมณ์โพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษี เมื่อจะสอนหมู่ฤๅษี จึงได้ประกาศอานิสงส์
ของเมตตาว่า)
[๓๗] ผู้ใดอนุเคราะห์ชาวโลกทั้งมวลด้วยเมตตาจิตหาประมาณมิได้
ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง๑โดยประการทั้งปวง
[๓๘] จิตเกื้อกูลหาประมาณมิได้ เป็นจิตบริบูรณ์อันผู้นั้นอบรมดีแล้ว
กรรมใดที่เขาบำเพ็ญแล้วพอประมาณ
กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ในจิตของเขานั้น
อรกชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. กกัณฏกชาดก (๑๗๐)
ว่าด้วยกิ้งก่าได้ทรัพย์
(พระราชาทรงทอดพระเนตรกิริยาของกิ้งก่านั้นซึ่งไม่นอบน้อมเหมือนก่อน จึง
ตรัสถามว่า)

เชิงอรรถ :
๑ เบื้องบน คือแต่พื้นดินจนถึงพรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เบื้องต่ำ คือแต่พื้นดินถึงอุสสทนรก
ใต้พื้นดิน เบื้องขวาง คือในโลกมนุษย์อันหาประมาณมิได้ (ขุ.ชา.อ. ๓/๓๗/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๓. มักกฏชาดก (๑๗๓)
[๓๙] กิ้งก่าบนยอดเสาค่ายตัวนี้ไม่ลงมาอ่อนน้อมเหมือนวันก่อน
ท่านมโหสธบัณฑิต ท่านรู้ไหมว่า
กิ้งก่ากลายเป็นสัตว์กระด้างกระเดื่องไปเพราะเหตุไร
[๔๐] กิ้งก่าได้ทรัพย์กึ่งมาสกซึ่งตนไม่เคยได้มาก่อน
จึงดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลา
กกัณฏกชาดกที่ ๑๐ จบ
สันถววรรคที่ ๒ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อินทสมานโคตตชาดก ๒. สันถวชาดก
๓. สุสีมชาดก ๔. คิชฌชาดก
๕. นกุลชาดก ๖. อุปสาฬหกชาดก
๗. สมิทธิชาดก ๘. สกุณัคฆิชาดก
๙. อรกชาดก ๑๐. กกัณฏกชาดก

๓. กัลยาณวรรค
หมวดว่าด้วยกัลยาณธรรม
๑. กัลยาณธัมมชาดก (๑๗๑)
ว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม
(เศรษฐีโพธิสัตว์ทูลขอพระบรมราชานุญาตบวชว่า)
[๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ในกาลใด
บุคคลได้รับสมญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลก
ในกาลนั้นนรชนผู้มีปัญญาไม่ควรให้ตนเสื่อมจากสมญานั้น
ธรรมดาสัตบุรุษถือเอาสมญานั้นเป็นธุระสำคัญแม้ด้วยหิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๓. มักกฏชาดก (๑๗๓)
[๔๒] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน สมญาว่าผู้มีกัลยาณธรรมในโลก
ข้าพระองค์ได้รับแล้วในวันนี้
ข้าพระองค์พิจารณาถึงสมญานั้นอยู่จักขอบวชในวันนี้
เพราะข้าพระองค์ไม่มีความพอใจในการบริโภคกามคุณในโลกนี้
กัลยาณธรรมชาดกที่ ๑ จบ
๒. ทัททรชาดก (๑๗๒)
ว่าด้วยราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอกที่ภูเขาเงิน
(ลูกราชสีห์โพธิสัตว์ได้ยินเสียงสุนัขจิ้งจอก จึงถามบิดาว่า)
[๔๓] ข้าแต่พ่อผู้เป็นใหญ่กว่ามฤคชาติทั้งหลาย
ใครหนอส่งเสียงดัง บันลือลั่นตลอดทั่วภูเขาเงิน
สีหะทั้งหลายก็ไม่บันลือโต้ตอบมัน
มันเป็นสัตว์อะไร
(พ่อราชสีห์โพธิสัตว์ฟังคำของลูกแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๔๔] ลูกเอ๋ย มันคือสุนัขจิ้งจอก
เป็นสัตว์ต่ำทรามกว่ามฤคชาติทั้งหลายที่กำลังหอนอยู่
สีหะทั้งหลายรังเกียจชาติของมันจึงนั่งนิ่งเฉยอยู่
ทัททรชาดกที่ ๒ จบ
๓. มักกฏชาดก (๑๗๓)
ว่าด้วยลิงปลอมเป็นดาบส
(ดาบสกุมารเห็นลิงปลอมเป็นดาบสแก่หนาวสั่นอยู่ไม่รู้ว่าเป็นลิง คิดจะให้เข้า
ไปผิงไฟในบรรณศาลา จึงพูดกับบิดาว่า)
[๔๕] ข้าแต่พ่อ พระดาบสรูปนั้นยืนพิงต้นตาลอยู่
อาศรมของเรานี้ก็มีอยู่ เราให้อาศรมเพื่อให้เขาอยู่เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๗. ตินทุกชาดก (๑๗๗)
(ดาบสบิดาโพธิสัตว์ฟังคำของลูกแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๔๖] ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเรียกมันมาเลย
มันเข้ามาแล้วพึงทำลายอาศรมของเรา
หน้าตาของพราหมณ์ผู้มีศีลไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรอก
มักกฏชาดกที่ ๓ จบ
๔. ทุพภิยมักกฏชาดก (๑๗๔)
ว่าด้วยลิงผู้มักประทุษร้ายมิตร
(พราหมณ์โพธิสัตว์เห็นกิริยาของลิง จึงกล่าวติเตียนว่า)
[๔๗] ข้าได้ให้น้ำอันเพียงพอแก่เจ้าผู้ถูกความร้อน
ในฤดูร้อนแผดเผา กระหายอยู่
บัดนี้ เจ้าดื่มแล้วยังกระทำเสียงเจี๊ยก ๆ อยู่อีก
การคบหากับคนชั่วไม่ประเสริฐเลย
(ลิงผู้มักประทุษร้ายมิตรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวผูกอาฆาตว่า)
[๔๘] ท่านเคยได้ยินหรือเคยได้เห็นมาบ้างไหมว่า
ลิงตัวไหนที่ชื่อว่าเป็นสัตว์มีศีล
บัดนี้ เราจะถ่ายอุจจาระรดศีรษะท่าน
นี้เป็นธรรมดาของเรา
ทุพภิยมักกฏชาดกที่ ๔ จบ
๕. อาทิจจุปัฏฐานชาดก (๑๗๕)
ว่าด้วยลิงไหว้พระอาทิตย์
(พวกมนุษย์เห็นกิริยาของลิงผู้ทำเป็นเหมือนบำเพ็ญตบะและเหมือนจำศีล จึง
กล่าวสรรเสริญว่า)
[๔๙] เล่ากันมาว่า บรรดาสัตว์ทั้งมวล สัตว์ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลมีอยู่
ท่านจงดูลิงสาขะผู้ต่ำทราม มันยืนไหว้พระอาทิตย์อยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๗. ตินทุกชาดก (๑๗๗)
(ฤๅษีโพธิสัตว์เห็นพวกมนุษย์พากันสรรเสริญลิง จึงกล่าวเตือนว่า)
[๕๐] ท่านทั้งหลายไม่รู้ปกติของมัน
เพราะไม่รู้จึงพากันสรรเสริญ
โรงไฟก็ถูกมันเผา
และคนโทน้ำ ๒ ลูกก็ถูกมันทำลาย
อาทิจจุปัฏฐานชาดกที่ ๕ จบ
๖. กฬายมุฏฐิชาดก (๑๗๖)
ว่าด้วยลิงซัดลูกเดือยทิ้งทั้งกำมือ
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้สำเร็จราชกิจกราบทูลถึงความประพฤติของลิงว่า)
[๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ลิงที่เที่ยวไปตามกิ่งไม้นี้
เป็นลิงโง่แท้ ๆ ลิงตัวนี้ไม่มีปัญญา
มันซัดลูกเดือยทั้งกำจนหมด
แล้วเที่ยวหาลูกเดือยที่ตกลงไปยังพื้นดินกินทีละเม็ด
(ครั้นพระโพธิสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๕๒] ข้าแต่มหาราช พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นก็ดี
ที่มีความโลภจัด จะเสื่อมจากประโยชน์ส่วนมาก
เพราะประโยชน์ส่วนน้อยเหมือนลิงเสื่อมจากลูกเดือย
กฬายมุฏฐิชาดกที่ ๖ จบ
๗. ตินทุกชาดก (๑๗๗)
ว่าด้วยอุบายกินผลมะพลับ
(ฝูงลิง ๘๐,๐๐๐ ตัวเห็นพวกมนุษย์ ตกใจกลัวตาย จึงไปบอกพญาวานร-
โพธิสัตว์ว่า)
[๕๓] พวกมนุษย์ถือคันธนูและกำลูกธนู ถือดาบอันคมกริบ
พากันล้อมพวกเราไว้ เราจักพ้นได้อย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๑๐. ทุทททชาดก (๑๘๐)
(พญาวานรโพธิสัตว์ได้ฟังคำของพวกลิงแล้วได้ปลอบว่า)
[๕๔] พวกมนุษย์มีกิจการงานมาก
ประโยชน์บางอย่างจะพึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เวลาที่จะช่วงชิงเอาผลไม้ยังมีอยู่
พวกท่านจงเคี้ยวกินผลมะพลับนั้นเถิด
ตินทุกชาดกที่ ๗ จบ
๘. กัจฉปชาดก (๑๗๘)
ว่าด้วยเต่าสอนธรรม
(เต่าถูกช่างหม้อโพธิสัตว์ใช้จอบขุดทิ้งไว้บนบกได้รับเวทนา จึงได้พูดคร่ำครวญว่า)
[๕๕] เปือกตมนี้เป็นที่เกิดเป็นที่เติบโตของเรา
เพราะเหตุนั้น เราจึงได้อาศัยอยู่ในเปือกตม
เปือกตมจึงได้ทับถมเรานั้นให้ทุพพลภาพ
ท่านภัคคะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงฟังคำของเรา
เราจะกล่าวกับท่าน
[๕๖] ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม
สถานที่ใดบุคคลได้รับความสุข
สถานที่นั้นเป็นที่เกิดเป็นที่เจริญเติบโต
ของคนที่รู้จักเหตุอันควรและไม่ควร
บุคคลมีชีวิตอยู่ได้ในสถานที่ใด พึงไป ณ สถานที่นั้น
ไม่พึงให้ที่อยู่ทำลายตนเสียเลย
กัจฉปชาดกที่ ๘ จบ
๙. สตธัมมชาดก (๑๗๙)
ว่าด้วยสตธรรมมาณพ
(มาณพผู้ถือชาติสกุลบริโภคอาหารที่เป็นเดนแล้วคร่ำครวญว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๑๐. ทุทททชาดก (๑๘๐)
[๕๗] อาหารที่เราบริโภคแล้วนั้นเป็นของน้อยด้วย เป็นเดนด้วย
และเขาได้ให้อาหารนั้นแก่เราโดยยากแสนยากด้วย
เรานั้นเกิดเป็นพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น
อาหารที่เราบริโภคเข้าไปแล้วจึงได้อาเจียนออกมา
(พระศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตนี้แล้ว ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า)
[๕๘] ผู้ใดละทิ้งธรรม มีชีวิตอยู่โดยอธรรม
ผู้นั้นย่อมไม่เพลิดเพลินยินดีลาภแม้ที่ตนได้มาแล้ว
เหมือนสตธรรมพราหมณ์
สตธัมมชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. ทุทททชาดก (๑๘๐)
ว่าด้วยสัตบุรุษให้ทานที่ให้ได้ยาก
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวสรรเสริญทานที่ทายกถวายด้วยจิตเลื่อมใสมีผลมากแล้ว
จึงอนุโมทนาว่า)
[๕๙] อสัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก
เมื่อจะกระทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
และพวกอสัตบุรุษก็ทำตามได้ยาก
[๖๐] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์๑
ทุทททชาดกที่ ๑๐ จบ
กัลยาณวรรคที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๒๒๘๖-๒๒๘๗/๕๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๔. อสทิสวรรค ๔. คิริทัตตชาดก (๑๘๔)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัลยาณธรรมชาดก ๒. ทัททรชาดก
๓. มักกฏชาดก ๔. ทุพภิยมักกฏชาดก
๕. อาทิจจุปัฏฐานชาดก ๖. กฬายมุฏฐิชาดก
๗. ตินทุกชาดก ๘. กัจฉปชาดก
๙. สตธัมมชาดก ๑๐. ทุทททชาดก

๔. อสทิสวรรค
หมวดว่าด้วยอสทิสกุมาร
๑. อสทิสชาดก (๑๘๑)
ว่าด้วยอสทิสกุมาร
(พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องอสทิสราชกุมารโพธิสัตว์ทรงขับพระราชาเจ็ดพระนคร
ให้หนีไป ได้ชัยชนะแล้ว ผนวชเป็นฤๅษีกับภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๑] อสทิสราชบุตรทรงเป็นนักแม่นธนู
มีพลังมาก ยิงได้ไกล ยิงได้อย่างรวดเร็ว
และแม่นยำ ทำลายเป้าใหญ่ ๆ ได้
[๖๒] พระองค์ทรงทำการรบให้ข้าศึกทั้งหมดหนีไป
แต่ไม่เบียดเบียนใคร ๆ
ช่วยพระอนุชาให้ถึงความสวัสดีแล้ว
ทรงเข้าถึงความสำรวม๑
อสทิสชาดกที่ ๑ จบ
๒. สังคามาวจรชาดก (๑๘๒)
ว่าด้วยช้างเข้าสู่สงคราม
(พระโพธิสัตว์ผู้เป็นคนฝึกช้างของพระราชาสอนช้างว่า)

เชิงอรรถ :
๑ ความสำรวม หมายถึงออกผนวช (ขุ.ชา.อ. ๓/๖๒/๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๔. อสทิสวรรค ๔. คิริทัตตชาดก (๑๘๔)
[๖๓] พญากุญชร ท่านได้ชื่อว่าเจนสงคราม กล้าหาญ มีกำลังมาก
ทำไมหนอ มาใกล้เขื่อนประตูแล้วจึงถอยกลับเสียเล่า
[๖๔] พญากุญชร ท่านจงหักลิ่มกลอน จงถอนเสาระเนียด
จงเหยียบทำลายซุ้มประตู และจงเข้าไปในเมืองโดยเร็ว
สังคามาวจรชาดกที่ ๒ จบ
๓. วาโลทกชาดก (๑๘๓)
ว่าด้วยลากินน้ำหาง
(พระราชาตรัสเรียกอำมาตย์โพธิสัตว์ผู้อยู่ใกล้มา ตรัสถามกิริยาของพวกลาว่า)
[๖๕] เพราะดื่มน้ำหางอันมีรสน้อย อันเป็นน้ำเลว
ความเมาจึงเกิดแก่พวกลา
แต่ความเมาก็ไม่เกิดขึ้นแก่ม้าสินธพ
เพราะดื่มน้ำมีรสอันประณีตนี้
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ลานั้นมีชาติเลวทราม
ดื่มน้ำมีรสน้อย อันรสนั้นถูกต้องแล้วย่อมเมา
ส่วนม้าสินธพเกิดในตระกูล มีปกตินำพาธุระ
ดื่มน้ำมีรสอันเลิศแล้ว ก็ไม่เมา
วาโลทกชาดกที่ ๓ จบ
๔. คิริทัตตชาดก (๑๘๔)
ว่าด้วยม้าเลียนแบบนายคิริทัตต์
(อำมาตย์โพธิสัตว์ตรวจดูอาการของม้าพิการแล้ว กราบทูลพระราชาว่า)
[๖๗] ม้ามงคลชื่อปัณฑวะของพระเจ้าสาม
ถูกนายคิริทัตต์ประทุษร้ายแล้ว
จึงละปกติเดิมของตน เลียนแบบนายคิริทัตต์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๔. อสทิสวรรค ๗. จตุมัฏฐชาดก (๑๘๗)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลให้หาคนเลี้ยงม้าที่ดีมาว่า)
[๖๘] ถ้าคนประกอบด้วยอาการอันงดงามที่สมควรแก่ม้านั้น
พึงจับม้านั้นที่บังเหียน แล้วจูงไปรอบ ๆ สนามม้าไซร้
ม้านั้นจะละอาการเขยกแล้วเลียนแบบคนเลี้ยงม้านั้นโดยพลัน
คิริทัตตชาดกที่ ๔ จบ
๕. อนภิรติชาดก (๑๘๕)
ว่าด้วยจิตขุ่นมัวและไม่ขุ่นมัว
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์ถามมาณพผู้เป็นศิษย์ถึงสาเหตุที่มนต์เสื่อม
หายไปแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๖๙] เมื่อน้ำขุ่น ไม่ใส บุคคลย่อมไม่เห็นหอยโข่ง หอยกาบ
ก้อนกรวด เม็ดทราย และฝูงปลา ฉันใด
เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน
และประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น
[๗๐] เมื่อน้ำใสสะอาด บุคคลย่อมเห็นหอยโข่ง หอยกาบ
ก้อนกรวด เม็ดทราย และฝูงปลา ฉันใด
เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ตน
และประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น
อนภิรติชาดกที่ ๕ จบ
๖. ทธิวาหนชาดก (๑๘๖)
ว่าด้วยพระเจ้าทธิวาหนะ
(พระเจ้าทธิวาหนะตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๗๑] ในกาลก่อน มะม่วงนี้มีผิวสวย กลิ่นหอม
รสอร่อย ได้รับการบำรุงเหมือนเดิม
เพราะเหตุไร จึงกลับกลายเป็นมะม่วงที่มีรสขมไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๔. อสทิสวรรค ๗. จตุมัฏฐชาดก (๑๘๗)
(อำมาตย์โพธิสัตว์กราบทูลแจ้งเหตุของมะม่วงนั้นว่า)
[๗๒] ข้าแต่พระเจ้าทธิวาหนะ
มะม่วงของพระองค์มีต้นสะเดาล้อมรอบ
รากกับรากเกี่ยวพันกัน กิ่งกับกิ่งประสานกัน
เพราะการเกี่ยวข้องกับต้นไม้ที่มีรสขมไม่น่าพอใจนั้น
มะม่วงต้นนี้จึงกลายเป็นไม้ที่มีรสขมไป
ทธิวาหนชาดกที่ ๖ จบ
๗. จตุมัฏฐชาดก (๑๘๗)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกมีเหตุชั่วช้า ๔ ประการ
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์สนทนากับพญาหงส์ว่า)
[๗๓] ท่านทั้ง ๒ พากันขึ้นไปยังค่าคบไม้
อยู่ในที่ลับแล้วปรึกษากันบนต้นไม้สูง
เชิญท่านลงมาปรึกษากันข้างล่างเถิด
พญาเนื้อจะได้ฟังบ้าง
(ในเวลาที่ลูกหงส์ ๒ ตัวรังเกียจสุนัขจิ้งจอกแล้วพากันบินกลับไป พระโพธิสัตว์
จึงกล่าวว่า)
[๗๔] ครุฑกับครุฑพึงปรึกษากัน
เทวดากับเทวดาพึงปรึกษากัน
เรื่องนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่สุนัขจิ้งจอกชั่วช้า ๔ ประการ๑
นี่สุนัขจิ้งจอกชั่วช้า เจ้าจงเข้าโพรงไปเถิด
จตุมัฏฐชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ชั่วช้า ๔ ประการ ได้แก่ (๑) รูปไม่งาม (๒) ชาติกำเนิดต่ำ (๓) เสียงไม่ไพเราะ (๔) ด้อยคุณธรรม
(ขุ.ชา.อ. ๓/๗๔/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๑. รุหกชาดก (๑๙๑)
๘. สีหโกตถุชาดก (๑๘๘)
ว่าด้วยตัวเหมือนราชสีห์แต่เสียงไม่เหมือน
(ลูกราชสีห์โพธิสัตว์ตัวหนึ่งได้ยินเสียงลูกของสุนัขจิ้งจอก จึงถามพ่อว่า)
[๗๕] ราชสีห์ตัวนั้นมีนิ้วอย่างราชสีห์ มีเล็บอย่างราชสีห์
ยืนอยู่ด้วยเท้าราชสีห์เพียงตัวเดียวเท่านั้นในหมู่ราชสีห์
บันลือเสียงเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น
(ราชสีห์โพธิสัตว์บอกให้ลูก ๆ รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน จึงสอนลูกสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๗๖] นี่เจ้าลูกราชสีห์ เจ้าอย่าบันลืออีกเลย
จงเงียบเสียงอยู่ในป่าเถิด
พวกเขาจะพึงรู้จักเจ้าด้วยเสียงนั่นแหละ
เพราะเสียงของเจ้าไม่เหมือนกับเสียงของพ่อเจ้า
สีหโกตถุชาดกที่ ๘ จบ
๙. สีหจัมมชาดก (๑๘๙)
ว่าด้วยลาปลอมตัวเป็นราชสีห์
(พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นชาวนาได้ยินเสียงลาปลอมร้อง ก็รู้ว่าเป็นลา
จึงกล่าวคาถาว่า)
[๗๗] นั่นไม่ใช่เสียงบันลือของราชสีห์
ไม่ใช่เสียงของเสือโคร่ง ไม่ใช่เสียงของเสือเหลือง
ลาชั่วช้าคลุมตัวด้วยหนังราชสีห์ร้องอยู่
(พ่อค้ามาเห็นลาถึงความบอบช้ำ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า)
[๗๘] ลาเอาหนังราชสีห์คลุมตัว
เคี้ยวกินข้าวเหนียวอันเขียวสดเป็นเวลานาน
มันร้องออกมานั้นแหละ จึงทำร้ายตัวเอง
สีหจัมมชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๑. รุหกชาดก (๑๙๑)
๑๐. สีลานิสังสชาดก (๑๙๐)
ว่าด้วยอานิสงส์ของศีล
(เทวดาประจำสมุทรกล่าวถึงคุณของการสังสรรค์กับบัณฑิตว่า)
[๗๙] ดูเถิด นี้แหละผลของศรัทธา ศีล และจาคะ
พญานาคแปลงตนเป็นเรือนำอุบาสกผู้มีศรัทธาไป
[๘๐] พึงคบหาสัตบุรุษเท่านั้น พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ
เพราะการอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ นายช่างกัลบกจึงถึงความสวัสดี
สีลานิสังสชาดกที่ ๑๐ จบ
อสทิสวรรคที่ ๔ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อสทิสชาดก ๒. สังคามาวจรชาดก
๓. วาโลทกชาดก ๔. คิริทัตตชาดก
๕. อนภิรติชาดก ๖. ทธิวาหนชาดก
๗. จตุมัฏฐชาดก ๘. สีหโกตถุชาดก
๙. สีหจัมมชาดก ๑๐. สีลานิสังสชาดก

๕. รุหกวรรค
หมวดว่าด้วยรุหกปุโรหิต
๑. รุหกชาดก (๑๙๑)
ว่าด้วยรุหกปุโรหิต
(พระราชาโพธิสัตว์ทรงหวังจะให้รุหกปุโรหิตยกโทษให้นางพราหมณี จึงตรัสว่า)
[๘๑] พ่อมหาจำเริญรุหกะ สายธนูที่ขาดไปแล้วก็ยังต่อให้ติดอีกได้
ท่านจงคืนดีกับภรรยาเก่าเถิด อย่าลุอำนาจแห่งความโกรธเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๔. มณิโจรชาดก (๑๙๔)
(รุหกปุโรหิตได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๘๒] เมื่อสายป่านยังมีอยู่ นายช่างผู้กระทำสายธนูก็มีอยู่
ข้าพระองค์จักกระทำสายธนูใหม่
พอกันทีสำหรับสายธนูเก่า
รุหกชาดกที่ ๑ จบ
๒. สิริกาฬกัณณิชาดก (๑๙๒)
ว่าด้วยสิริกับกาฬกัณณี
(พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า)
[๘๓] หญิงที่มีรูปงาม มีกิริยามารยาท
และความประพฤติเรียบร้อย ชายไม่พึงปรารถนาเธอ
ท่านเชื่อไหมล่ะ พ่อมโหสธบัณฑิต
(เสนกบัณฑิตฟังพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๘๔] ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เชื่อ พระเจ้าข้า
ชายนั้นคงเป็นคนต่ำต้อย
เพราะสิริกับกาฬกัณณีเข้ากันไม่ได้เลยไม่ว่าในกาลไหน ๆ
สิริกาฬกัณณิชาดกที่ ๒ จบ
๓. จูฬปทุมชาดก (๑๙๓)
ว่าด้วยพระเจ้าจูฬปทุม
(ปทุมกุมารโพธิสัตว์ได้สดับคำของชายาผู้ชั่วช้าแล้ว จึงตรัสว่า)
[๘๕] หญิงคนนี้แหละคือหญิงคนนั้น
แม้เราก็คือชายคนนั้น หาใช่คนอื่นไม่
ชายคนที่หญิงนี้อ้างว่าเป็นสามีของนางตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
ก็คือชายที่ถูกตัดมือตัดเท้าคนนี้แหละ หาใช่คนอื่นไม่
ขึ้นชื่อว่าหญิงควรฆ่าทั้งนั้น สัจจะไม่มีในหญิงทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๔. มณิโจรชาดก (๑๙๔)
[๘๖] พวกท่านจงตีชายชั่วช้า หยาบคาย คล้ายซากศพ
มักเป็นชู้กับภรรยาคนอื่นคนนี้เสียด้วยสาก
จงตัดใบหูและจมูกของหญิงผู้ปรนนิบัติสามี
ที่ชั่วช้านั้นคนนี้เสียยังเป็น ๆ เถิด
จูฬปทุมชาดกที่ ๓ จบ
๔. มณิโจรชาดก (๑๙๔)
ว่าด้วยพระเจ้าอธรรมิกราชลงโทษโจรลักแก้วมณี
(นางสุชาดาเห็นคหบดีโพธิสัตว์ถูกเฆี่ยน รำลึกถึงคุณแห่งศีลของตนแล้ว จึง
กล่าวว่า)
[๘๗] เทวดาทั้งหลาย๑ไม่มีหรือไม่อยู่เป็นแน่
เมื่อมีกิจเห็นปานนี้เกิดขึ้น
เทวดาทั้งหลายก็พากันไปค้างแรมเสียแน่
อนึ่ง ท่านผู้รักษาโลกก็ไม่มีอยู่ในโลกนี้แน่นอน
เมื่อคนทุศีลทั้งหลายกระทำกรรมอันหยาบช้าอยู่
คนทั้งหลายผู้ห้ามปรามก็ไม่มีแน่นอน
(ท้าวสักกะถวายโอวาทแก่พระราชาว่า)
[๘๘] ในรัชสมัยของพระราชาผู้ไม่ทรงธรรม
ในกาลไม่สมควรตก ฝนก็ตก
ในกาลสมควรจะตก ฝนก็ไม่ตก
พระราชาผู้ไม่ทรงธรรม จุติจากโลกสวรรค์
พระราชาพระองค์นั้นถูกทำลายแล้ว
เพราะเหตุแห่งความชั่วมีประมาณเท่านี้แน่นอน
มณิโจรชาดกที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า เทวดาทั้งหลาย ในที่นี้ หมายถึงเทวดาผู้คอยดูแลคนมีศีล และห้ามปรามคนทำชั่ว (ขุ.ชา.อ.
๓/๘๗/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๙. คหปติชาดก (๑๙๙)
๕. ปัพพตูปัตถรชาดก (๑๙๕)
ว่าด้วยสระโบกขรณีที่เชิงเขา
(พระราชาตรัสถามปัญหากับอำมาตย์โพธิสัตว์ว่า)
[๘๙] สระโบกขรณีมีน้ำเย็น รสอร่อย
เกิดอยู่ที่เนินหินเชิงภูเขาหิมพานต์ น่ารื่นรมย์
สุนัขจิ้งจอกรู้อยู่ว่า ราชสีห์รักษาสระโบกขรณีนั้นไว้
ก็ยังลงไปดื่มกิน
(อำมาตย์โพธิสัตว์ทราบว่า อำมาตย์คนหนึ่งจะก่อเหตุร้ายภายในพระราชวัง
จึงกราบทูลว่า)
[๙๐] ข้าแต่มหาราช ถ้าสัตว์มีเท้าทั้งหลายพากันดื่มน้ำในมหานที
แม่น้ำจะไม่ชื่อว่าเป็นแม่น้ำเพราะเหตุนั้นก็หาไม่
หากว่าชน ๒ คนนั้นเป็นที่รัก
ขอพระองค์ทรงงดโทษเสียเถิด
ปัพพตูปัตถรชาดกที่ ๕ จบ
๖. วลาหกัสสชาดก (๑๙๖)
ว่าด้วยความปลอดภัยเกิดจากม้าวลาหก
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๙๑] คนเหล่าใดไม่ทำตามโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
คนเหล่านั้นจักถึงความพินาศ
เหมือนพวกพ่อค้าที่ถูกพวกนางรากษสประเล้าประโลม
[๙๒] ส่วนคนเหล่าใดทำตามโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
คนเหล่านั้นจักปลอดภัย
เหมือนพวกพ่อค้าที่เชื่อฟังคำของพญาม้าวลาหก
วลาหกัสสชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๙. คหปติชาดก (๑๙๙)
๗. มิตตามิตตชาดก (๑๙๗)
ว่าด้วยอาการของผู้เป็นมิตรและมิใช่มิตร
(ฤๅษีโพธิสัตว์บอกเหตุแก่ดาบสทั้งหลายว่า)
[๙๓] บุคคลเห็นคนผู้เป็นศัตรูกันแล้วย่อมไม่ยิ้มแย้ม
ไม่ชื่นชมศัตรูนั้น เมื่อสบตากันก็เบือนหน้าไปทางอื่น
และประพฤติตรงกันข้าม
[๙๔] อาการทั้งหลายปรากฏที่ศัตรู
บัณฑิตเห็นแล้ว ฟังแล้วซึ่งอาการเหล่านั้น
พึงรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นศัตรูของเรา
มิตตามิตตชาดกที่ ๗ จบ
๘. ราธชาดก (๑๙๘)
ว่าด้วยนกราธโพธิสัตว์
(พราหมณ์ถามนกราธโพธิสัตว์ว่า)
[๙๕] ลูกเอ๋ย พ่อเพิ่งกลับมาจากที่ค้างแรม มาถึงเดี๋ยวนี้เอง
ยังไม่นานนักลูกเอ๋ย แม่ของเจ้าไม่ไปคบหาชายอื่นหรือ
(นกราธโพธิสัตว์แจ้งให้พราหมณ์ทราบว่า)
[๙๖] ธรรมดาบัณฑิตเมื่อกล่าวคำจริง
แต่คำนั้นเป็นการกล่าวถึงความไม่ดีจะพึงหมกไหม้
เหมือนนกแขกเต้าชื่อโปฏฐปาทะหมกไหม้อยู่ที่เถ้าไฟในเตา
ราธชาดกที่ ๘ จบ
๙. คหปติชาดก (๑๙๙)
ว่าด้วยคหบดีโพธิสัตว์
(คหบดีโพธิสัตว์เห็นกิริยาของภรรยาและชายชู้ เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น
จึงกล่าวว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๒. เกฬิสีลชาดก (๒๐๒)
[๙๗] เหตุทั้ง ๒ ประการไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจเลย
ก็หญิงนี้ลงไปในฉางข้าวแล้ว ยังพูดว่า ฉันยังใช้คืนท่านไม่ได้
[๙๘] นี่ท่านผู้ใหญ่บ้าน เพราะเหตุนั้น ฉันจึงพูดกับท่าน
ในคราวเมื่อเรามีชีวิตฝืดเคือง ยากเข็ญ
ท่านได้ทำสัญญากำหนดไว้ ๒ เดือน
แล้วมาทวงเนื้อโคผอมแก่เมื่อยังไม่ถึงกำหนดเวลาสัญญา
เหตุทั้ง ๒ ประการนั้นฉันไม่ชอบใจเลย
คหปติชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. สาธุสีลชาดก (๒๐๐)
ว่าด้วยเลือกเอาผู้มีศีล
(พราหมณ์ถามพระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ว่า)
[๙๙] ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ว่า บรรดาคน ๔ คน คือ
(๑) คนมีรูปงาม (๒) คนมีอายุ (๓) คนมีชาติสูง
(๔) คนมีศีลธรรม ท่านจะเลือกใครหนอ
(อาจารย์ฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้วกล่าวว่า)
[๑๐๐] ร่างกายก็มีประโยชน์ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมต่อท่าน
ผู้เจริญวัย ชาติสูงก็มีประโยชน์ แต่ข้าพเจ้าชอบใจศีล
สาธุสีลชาดกที่ ๑๐ จบ
รุหกวรรคที่ ๕ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. รุหกชาดก ๒. สิริกาฬกัณณิชาดก
๓. จูฬปทุมชาดก ๔. มณิโจรชาดก
๕. ปัพพตูปัตถรชาดก ๖. วลาหกัสสชาดก
๗. มิตตามิตตชาดก ๘. ราธชาดก
๙. คหปติชาดก ๑๐. สาธุสีลชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๒. เกฬิสีลชาดก (๒๐๒)
๖. นตังทัฬหวรรค
หมวดว่าด้วยเครื่องผูกที่มั่นคง
๑. พันธนาคารชาดก (๒๐๑)
ว่าด้วยเครื่องผูก
(ฤๅษีโพธิสัตว์เปล่งอุทานว่า)
[๑๐๑] นักปราชญ์ไม่กล่าวเครื่องผูกที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้
และทำด้วยหญ้าปล้องว่า เป็นเครื่องผูกที่มั่นคง
ส่วนความกำหนัดยินดีในแก้วมณีและต่างหูก็ดี
ความเยื่อใยในบุตรและภรรยาก็ดี
[๑๐๒] นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกที่ประกอบด้วยกิเลสนั่นว่า
เป็นเครื่องผูกที่มั่นคง คร่าสัตว์ให้ตกต่ำ ย่อหย่อน แก้ได้ยาก
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูกนั้นได้ขาด
หมดความเยื่อใย ละความสุขในกามเสียแล้วหลีกไป
พันธนาคารชาดกที่ ๑ จบ
๒. เกฬิสีลชาดก (๒๐๒)
ว่าด้วยผู้มีปกติมัวเมาในการเล่น
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๐๓] พวกหงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี
ช้างก็ดี เนื้อฟานก็ดี กลัวราชสีห์ด้วยกันทั้งนั้น
ร่างกายไม่ถือเป็นประมาณ
[๑๐๔] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
แม้เด็กถ้ามีปัญญาก็เป็นผู้ใหญ่ได้
ส่วนคนพาลถึงจะมีร่างกายใหญ่โตก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้
เกฬิสีลชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๕. คังเคยยชาดก (๒๐๕)
๓. ขันธชาดก (๒๐๓)
ว่าด้วยขันธปริตรป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ ได้
(ฤๅษีโพธิสัตว์สอนดาบสทั้งหลายให้เจริญเมตตาในพญางูทั้ง ๔ ว่า)
[๑๐๕] เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูวิรูปักษ์
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูเอราปถะ
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูฉัพยาบุตร
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ
เราขอมีเมตตากับสัตว์ไม่มีเท้า เราขอมีเมตตากับสัตว์สองเท้า
เราขอมีเมตตากับสัตว์สี่เท้า เราขอมีเมตตากับสัตว์มีหลายเท้า
สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สองเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา สัตว์สี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์มีหลายเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
ขอสรรพสัตว์ที่มีลมหายใจ
ขอสรรพสัตว์ที่ยังมีชีวิตทั้งมวลจงพบกับความเจริญ
ความชั่วช้าอย่าได้มาแผ้วพานสัตว์ตนใดตนหนึ่งเลย๑
[๑๐๖] พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้
พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้
สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง
ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู มีคุณพอประมาณได้
เราทำการรักษา ทำการป้องกันไว้แล้ว
ขอหมู่สัตว์ผู้มีชีวิตทั้งหลายจงหลีกไป
เรานั้นขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค
ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์
ขันธชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖๗/๑๑๑-๑๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๕. คังเคยยชาดก (๒๐๕)
๔. วีรกชาดก (๒๐๔)
ว่าด้วยกาวีรกโพธิสัตว์
(นางกาเมียของกาสวิฏฐกะไม่เห็นกาสวิฏฐกะกลับมา จึงถามกาวีรกโพธิสัตว์
ว่า)
[๑๐๗] ท่านวีรกะ ท่านเห็นนกชื่อสวิฏฐกะ
ผัวข้าพเจ้าที่ร้องด้วยเสียงอันไพเราะ
มีสร้อยคอสีคล้ายสร้อยคอนกยูงบ้างไหม
(กาวีรกโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๘] กาสวิฏฐกะเมื่อทำตามปักษีที่มีปกติเที่ยวหากิน
ทั้งทางน้ำและทางบก กินปลาดิบอยู่เป็นนิตย์
ถูกสาหร่ายพันคอตายแล้ว
วีรกชาดกที่ ๔ จบ
๕. คังเคยยชาดก (๒๐๕)
ว่าด้วยเต่างามกว่าปลาในแม่น้ำคงคา
(เต่ากล่าวกับปลาว่า)
[๑๐๙] ปลาที่อยู่ในแม่น้ำคงคาก็งาม
ถึงปลาที่อยู่ในแม่น้ำยมุนาก็งาม
แต่สัตว์สี่เท้ามีสัณฐานกลมคล้ายต้นไทร
มีคอยื่นออกมานิดหน่อยตัวนี้สง่างามกว่าใครทั้งหมด
(ปลากล่าวว่า)
[๑๑๐] ท่านไม่ตอบเหตุที่เราถาม
ท่านถูกถามอย่างหนึ่ง กลับตอบไปเสียอีกอย่างหนึ่ง
คนที่ยกย่องตนเอง พวกเราไม่ชอบใจเลย
คังเคยยชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๙. กุกกุฏชาดก (๒๐๙)
๖. กุรุงคมิคชาดก (๒๐๖)
ว่าด้วยนกและเต่าช่วยกวาง
(นกสตปัตตะช่วยกวางให้พ้นจากบ่วงแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๑๑] เอาเถิดเต่าเอ๋ย เจ้าจงใช้ฟันกัดบ่วงหนัง
ส่วนเราจักกระทำโดยวิธีที่นายพรานจะมาไม่ถึง
(พระศาสดาตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า)
[๑๑๒] เต่าก็ลงน้ำ กวางก็เข้าป่า
ส่วนนกสตปัตตะกลับมาถึงต้นไม้แล้ว
ได้พาลูก ๆ หนีไปอยู่แสนไกล
กุรุงคมิคชาดกที่ ๖ จบ
๗. อัสสกชาดก (๒๐๗)
ว่าด้วยพระนางอุพพรีเทวีของพระเจ้าอัสสกะ
(พระนางอุพพรีเทวีของพระเจ้าอัสสกะสวรรคตไปเกิดเป็นหนอน ได้กล่าว
คาถาภาษามนุษย์ในท่ามกลางบริษัทว่า)
[๑๑๓] สถานที่นี้ข้าพเจ้าได้เที่ยวเล่น
กับพระเจ้าอัสสกะพระสวามีสุดที่รัก
ผู้มีพระประสงค์ตามความใคร่
[๑๑๔] ความสุขและความทุกข์เก่า ๆ
ถูกความสุขและความทุกข์ใหม่ ๆ ปิดบังไว้
เพราะฉะนั้น แมลงจึงเป็นที่รักของข้าพเจ้า
ยิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะเสียอีก
อัสสกชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๙. กุกกุฏชาดก (๒๐๙)
๘. สุงสุมารชาดก (๒๐๘)
ว่าด้วยปัญญาของจระเข้
(พญาวานรโพธิสัตว์ได้กล่าวกับจระเข้ว่า)
[๑๑๕] อย่าเลยสำหรับมะม่วง ผลหว้า
และผลขนุนที่ท่านเห็นที่สมุทรฝั่งโน้น
ผลมะเดื่อของเราประเสริฐกว่า
[๑๑๖] ร่างกายของท่านใหญ่โตเสียเปล่า
แต่ปัญญาไม่สมกับร่างกายเลย
นี่จระเข้ เจ้าถูกเราลวงแล้ว
บัดนี้เจ้าจงไปตามสบายเถิด
สุงสุมารชาดกที่ ๘ จบ
๙. กุกกุฏชาดก (๒๐๙)
ว่าด้วยไก่
(ไก่ต้องการจะให้นายพรานละอายใจ จึงพูดเป็นภาษามนุษย์ว่า)
[๑๑๗] ต้นหูกวาง ต้นสมอพิเภกในป่า
ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว
ต้นไม้เหล่านั้นไม่สามารถจะเคลื่อนที่ได้เหมือนกับท่าน
(นายพรานกล่าวว่า)
[๑๑๘] ไก่ตัวนี้คือไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมา
เป็นไก่ที่ฉลาด หลบหนีจากบ่วงหางสัตว์มาได้
และยังขันเยาะเย้ยเสียอีก
กุกกุฏชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก (๒๑๒)
๑๐. กันทคลกชาดก (๒๑๐)
ว่าด้วยนกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น
(นกหัวขวานกันทคลกะตกลงที่พื้นดินแล้ว กล่าวกับนกหัวขวานขทิรวนิย-
โพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๙] ท่านขทิรวนิยะผู้เจริญ ต้นไม้ต้นนี้
มีใบเกลี้ยง มีหนาม ชื่อต้นอะไร
กระหม่อมของข้าพเจ้าแตก
เพราะการเจาะต้นไม้นี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
(นกหัวขวานขทิรวนิยโพธิสัตว์ฟังคำรำพันของนกหัวขวานกันทคลกะแล้ว จึง
กล่าวว่า)
[๑๒๐] นกหัวขวานตัวนี้ชื่อกันทคลกะ เมื่อจะเจาะหมู่ไม้ในป่า
ได้บินท่องเที่ยวไปในหมู่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น
ต่อมาภายหลัง ได้มาพบไม้ตะเคียนซึ่งมีแก่นโดยธรรมชาติ
ได้ทำลายกระหม่อมที่ต้นตะเคียนนั้นแล้ว
กันทคลกชาดกที่ ๑๐ จบ
นตังทัฬหวรรคที่ ๖ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พันธนาคารชาดก ๒. เกฬิสีลชาดก
๓. ขันธชาดก ๔. วีรกชาดก
๕. คังเคยยชาดก ๖. กุรุงคมิคชาดก
๗. อัสสกชาดก ๘. สุงสุมารชาดก
๙. กุกกุฏชาดก ๑๐. กันทคลกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก (๒๑๒)
๗. พีรณถัมภกวรรค
หมวดว่าด้วยป่าช้าพีรณถัมภกะ
๑. โสมทัตตชาดก (๒๑๑)
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสมทัตต์
(พราหมณ์โสมทัตตโพธิสัตว์กล่าวกับพ่อว่า)
[๑๒๑] พ่อเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เป็นนิตย์
ได้กระทำความเพียรอยู่ในป่าช้าที่ชื่อพีรณถัมภกะตลอดทั้งปี
ครั้นเข้าสู่ที่ประชุมบริษัทกลับพูดอีกอย่างหนึ่ง
ความเพียรป้องกันผู้ปราศจากปัญญาไม่ได้
(พราหมณ์ผู้เป็นบิดากล่าวว่า)
[๑๒๒] พ่อโสมทัตต์ ขึ้นชื่อว่าผู้ขอย่อมได้ผล ๒ อย่าง คือ
(๑) ไม่ได้ทรัพย์ (๒) ได้ทรัพย์
เพราะว่าการขอมีสภาพเช่นนี้เป็นธรรมดา
โสมทัตตชาดกที่ ๑ จบ
๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก (๒๑๒)
ว่าด้วยพราหมณ์บริโภคอาหารที่เป็นเดน
(พราหมณ์ถามนางพราหมณีว่า)
[๑๒๓] ข้าวข้างบนมีอุณหภูมิอย่างหนึ่ง
ข้าวข้างล่างมีอุณหภูมิอย่างหนึ่ง
แม่พราหมณี ฉันขอถามเธอหน่อยเถิด
ทำไมข้าวข้างล่างจึงเย็น ส่วนข้าวข้างบนจึงร้อน
(บุตรนักฟ้อนโพธิสัตว์ได้บอกพฤติกรรมทั้งหมดกับพราหมณ์ว่า)
[๑๒๔] ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นนักฟ้อนรำเที่ยวขอมาจนถึงที่นี่
ส่วนชายชู้ของนางพราหมณีนี้ลงไปซ่อนตัวอยู่ในฉางข้าว
คนที่ท่านเสาะแสวงหานั้นก็คือชายชู้นี้แหละ
อุจฉิฏฐภัตตชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๖. มัจฉชาดก (๒๑๖)
๓. ภรุราชชาดก (๒๑๓)
ว่าด้วยพระราชาแคว้นภรุ
(พระศาสดาทรงนำเรื่องอดีตมาแล้ว ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๒๕] ตถาคตได้สดับมาว่า พระราชาแห่งแคว้นภรุ
ทรงกระทำช่องว่างระหว่างฤๅษีทั้งหลายเพราะความชอบ
พระองค์ทรงประสบความวิบัติ พร้อมทั้งถูกตัดขาดจากแคว้น
[๑๒๖] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ
การลุอำนาจความพอใจ
บุคคลผู้มีจิตอันกิเลสไม่ประทุษร้าย
จะกล่าวแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยสัจจะเท่านั้น
ภรุราชชาดกที่ ๓ จบ
๔. ปุณณนทีชาดก (๒๑๔)
ว่าด้วยการอุปมาด้วยแม่น้ำที่เต็มฝั่ง
(พระราชาทรงระลึกถึงคุณของปุโรหิตโพธิสัตว์แล้ว ทรงเขียนคาถาลงในใบลานว่า)
[๑๒๗] ชนทั้งหลายกล่าวถึงแม่น้ำที่เต็มฝั่งว่ากาตัวใดกินได้ก็ดี
กล่าวถึงข้าวกล้าที่เกิดแล้วว่ากาตัวใดหลบซ่อนอยู่ได้ก็ดี
กล่าวถึงคนรักที่จากไปอยู่เสียไกลกลับมาว่ากาตัวใดบอกข่าวให้ก็ดี
กาตัวนั้นเรานำมาให้ท่านแล้ว เชิญเถิดท่านพราหมณ์
ท่านจงบริโภคเนื้อกานั้นเถิด
(ปุโรหิตโพธิสัตว์อ่านหนังสือแล้วทราบว่าพระราชาทรงคิดถึง จึงกล่าวว่า)
[๑๒๘] เมื่อใด พระราชาทรงระลึกถึงเราเพื่อจะส่งเนื้อกามาให้
เนื้อหงส์ก็ดี เนื้อนกกระเรียนก็ดี เนื้อนกยูงก็ดี
ที่เรานำไปถวายแล้ว เมื่อนั้นทำไมจะไม่ระลึกถึงเรา
การไม่ระลึกถึงเราเสียเลยจะเป็นความเลวทราม
ปุณณนทีชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๖. มัจฉชาดก (๒๑๖)
๕. กัจฉปชาดก (๒๑๕)
ว่าด้วยเต่า
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้อนุศาสน์อรรถและธรรมแก่พระราชาได้กราบทูลว่า)
[๑๒๙] เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนแล้วหนอ
เมื่อคาบท่อนไม้อยู่ดีแล้ว
กลับฆ่าตนเองเสียด้วยคำพูดของตนนั่นแหละ
[๑๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่วีรชน
นรชนผู้เป็นบัณฑิตเห็นเหตุนี้แล้ว
ควรพูดให้ดี ไม่ควรพูดให้เกินเวลา
ทรงทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า
เต่าถึงความพินาศเพราะการพูดมาก
กัจฉปชาดกที่ ๕ จบ
๖. มัจฉชาดก (๒๑๖)
ว่าด้วยปลา
(ปลาตัวผู้ร้องรำพันถึงปลาตัวเมียว่า)
[๑๓๑] ไฟนี้ก็เผาเราให้เร่าร้อนไม่ได้
หลาวที่เสี้ยมดีแล้วก็ทำความทุกข์ทรมานให้เกิดแก่เราไม่ได้
เหมือนเรื่องที่นางปลาเข้าใจเราว่าไปยินดีนางปลาตัวอื่นเลย
[๑๓๒] ไฟคือราคะนั้นเผาเราให้เร่าร้อน
จิตของเราเองเบียดเบียนเราให้ลำบาก
พรานแหทั้งหลาย ขอพวกท่านจงปล่อยเราไปเถิด
สัตว์ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามคุณ
พวกท่านไม่ควรฆ่าไม่ว่าในกาลไหน ๆ
มัจฉชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๑๐. ธัมมัทธชชาดก (๒๒๐)
๗. เสคคุชาดก (๒๑๗)
ว่าด้วยนางเสคคุ
(อุบาสกได้กล่าวกับลูกสาวผู้กำลังคร่ำครวญอยู่ว่า)
[๑๓๓] สัตวโลกทั้งหมดมีความพอใจในการเสพกาม
แม่เสคคุเอ๋ย เจ้าไม่รู้เรื่องของชาวบ้าน
แม่เด็กน้อย การที่เจ้าถูกพ่อจับมือในป่าใหญ่
แล้วร้องไห้คร่ำครวญนั้น มันเป็นอย่างไรสำหรับเจ้าในวันนี้
(กุมารีฟังคำนั้นแล้วคร่ำครวญกล่าวว่า)
[๑๓๔] ยามเมื่อฉันมีความทุกข์ คนที่เป็นที่พึ่งคือบิดาของฉันเอง
แต่กลับประทุษร้ายฉันในป่า
ฉันจะคร่ำครวญหาใครเล่าในท่ามกลางป่า
คนที่จะช่วยเหลือฉันได้กลับทำกรรมที่น่าบัดสีเสียเอง
เสคคุชาดกที่ ๗ จบ
๘. กูฏวาณิชชาดก (๒๑๘)
ว่าด้วยพ่อค้าโกง
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้พิพากษาทราบว่าพ่อค้าบ้านนอกคิดโกง เมื่อจะแก้เอาชนะ
คนโกง จึงกล่าวว่า)
[๑๓๕] การที่ท่านคิดฉ้อฉลตอบบุคคลผู้ฉ้อฉลเป็นการคิดที่ดีแล้ว
การโกงตอบบุคคลผู้โกงท่านกระทำตอบแล้ว
ถ้าหนูทั้งหลายพึงเคี้ยวกินผาลได้
ทำไมนกเหยี่ยวทั้งหลายจะพึงเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้
[๑๓๖] ด้วยว่า คนโกงโกงตอบคนโกงมีอยู่มากในโลก
คนอื่นผู้ล่อลวงตอบคนล่อล่วง ก็มีอยู่เหมือนกัน
ท่านผู้มีบุตรหาย ท่านจงให้ผาลแก่คนที่มีผาลหายเถิด
ขอคนผู้มีผาลหายอย่าได้ลักพาบุตรของท่านไปเลย
กูฏวาณิชชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๑๐. ธัมมัทธชชาดก (๒๒๐)
๙. ครหิตชาดก (๒๑๙)
ว่าด้วยผู้ครองเรือนถูกพญาวานรติเตียน
(พญาวานรโพธิสัตว์ได้กล่าวกับพวกวานรว่า)
[๑๓๗] มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาทราม ไม่เห็นอริยธรรม๑
กล่าวกันอย่างนี้ว่า เงินของฉัน ทองของฉัน ทั้งคืนทั้งวัน
[๑๓๘] ในเรือนหลังหนึ่งมีเจ้าของเรือนอยู่ ๒ คน
ใน ๒ คนนั้น คนหนึ่งไม่มีหนวด นมยาน
เกล้าผมมวย และเจาะหู ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ชายเจ้าของเรือนนั้นพูดเสียดแทงชนนั้นตั้งแต่วันที่มาถึง
ครหิตชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. ธัมมัทธชชาดก (๒๒๐)
ว่าด้วยผู้มีธรรมเป็นธงชัย
(ท้าวสักกะตรัสถามปุโรหิตโพธิสัตว์ว่า)
[๑๓๙] ท่านดูเหมือนอยู่เป็นสุข ท่านจากบ้านเมืองมาสู่ป่าแห้งแล้ง
นั่งเพ่งพินิจคิดอะไรอยู่ผู้เดียวที่โคนไม้ เหมือนคนกำพร้า
(ปุโรหิตโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๔๐] ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข
ข้าพเจ้าจากบ้านเมืองมาสู่ป่าแห้งแล้ง
หวนระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ
นั่งพินิจคิดอยู่แต่ผู้เดียวที่โคนไม้ เหมือนคนกำพร้า
ธัมมัทธชชาดกที่ ๑๐ จบ
พีรณถัมภกวรรคที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อริยธรรม หมายถึงธรรมของพระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้แก่ โลกุตตรธรรม ๙ (คือ มรรค
๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) อันประเสริฐ ปราศจากโทษ (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๓๗/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๓. ปุฏภัตตชาดก (๒๒๓)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โสมทัตตชาดก ๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก
๓. ภรุราชชาดก ๔. ปุณณนทีชาดก
๕. กัจฉปชาดก ๖. มัจฉชาดก
๗. เสคคุชาดก ๘. กูฏวาณิชชาดก
๙. ครหิตชาดก ๑๐. ธัมมัทธชชาดก

๘. กาสาววรรค
หมวดว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์
๑. กาสาวชาดก (๒๒๑)
ว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์
(พญาช้างโพธิสัตว์ได้ติเตียนมนุษย์เข็ญใจที่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ว่า)
[๑๔๑] ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาด๑ยังไม่หมดไป
ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เลย
[๑๔๒] ส่วนผู้ใดคลายกิเลสดุจน้ำฝาดได้แล้ว
ตั้งมั่นด้วยดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแลสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
กาสาวชาดกที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจน้ำฝาด ได้แก่ ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง)
มักขะ (ความลบหลู่บุญคุณท่าน) ปลาสะ (การตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตะหนี่)
มายา (ความเป็นคนเจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ความ
ถือตัว) อติมานะ (ความดูหมิ่น) มทะ (ความมัวเมา) ปมาทะ (ความประมาท) อกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง
กรรมที่นำไปเกิดในภพทั้งปวง กิเลสพันห้า นี้เรียกว่า กิเลสดุจน้ำฝาด (น้ำย้อม) (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๔๑/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๓. ปุฏภัตตชาดก (๒๒๓)
๒. จูฬนันทิยชาดก (๒๒๒)
ว่าด้วยพญาวานรจูฬนันทิยะ
(บุรุษชั่วถูกแผ่นดินสูบระลึกถึงโอวาทของอาจารย์ได้ จึงกล่าวรำพันว่า)
[๑๔๓] ท่านอาจารย์ปาราสริยะได้กล่าวคำใดไว้ว่า
ท่านอย่าได้ทำความชั่วที่ทำแล้วจะทำตนให้เดือดร้อนในภายหลัง
คำนี้เป็นคำของอาจารย์
[๑๔๔] คนทำกรรมใดไว้ย่อมเห็นกรรมนั้นในตน
คนทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี
คนทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
คนหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น
จูฬนันทิยชาดกที่ ๒ จบ
๓. ปุฏภัตตชาดก (๒๒๓)
ว่าด้วยห่อข้าวเปล่า
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้อนุศาสน์อรรถธรรมแก่พระราชาได้กราบทูลพระเทวีว่า)
[๑๔๕] บุคคลควรนอบน้อมแก่ผู้ที่นอบน้อม
ควรคบผู้ที่คบด้วย ควรทำกิจแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจ
ไม่ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่
ผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
และไม่ควรคบแม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะคบด้วย
[๑๔๖] ควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้ง และไม่ควรทำความเยื่อใย
ไม่ควรคบกับผู้มีจิตใจเหินห่าง
ควรมองหาผู้อื่น(ที่มีความเยื่อใย)
เหมือนนกรู้ว่า ต้นไม้นี้หมดผลแล้วไปยังต้นไม้อื่น
เพราะว่าโลกกว้างใหญ่
ปุฏภัตตชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๗. คูถปาณกชาดก (๒๒๗)
๔. กุมภีลชาดก (๒๒๔)
ว่าด้วยจระเข้สรรเสริญพญาวานร
(พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๔๗] พญาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ
(๑) สัจจะ (๒) ธรรมะ (๓) ธิติ (๔) จาคะ เช่นกับท่าน
ผู้นั้นย่อมครอบงำศัตรูที่ตนพบเห็นได้
[๑๔๘] ส่วนผู้ใดไม่มีคุณธรรมอันเป็นเครื่องให้เจริญอย่างยิ่ง
๔ ประการนี้ คือ (๑) สัจจะ (๒) ธรรมะ (๓) ธิติ (๔) จาคะ
ผู้นั้นย่อมครอบงำศัตรูที่ตนพบเห็นไม่ได้
กุมภีลชาดกที่ ๔ จบ
๕. ขันติวัณณนชาดก (๒๒๕)
ว่าด้วยการพรรณนาขันติ
(อำมาตย์คนหนึ่งไม่อาจอดกลั้นความผิดของตนได้ จึงทูลถามพระราชาว่า)
[๑๔๙] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้ามีคนที่ขวนขวาย
ในกิจการทุกอย่างอยู่คนหนึ่ง
แต่เขามีความผิดอยู่เรื่องหนึ่ง
พระองค์จะทรงดำริเป็นประการใด
ในความผิดนั้น พระเจ้าข้า
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๕๐] เราก็มีคนเช่นนี้อยู่คนหนึ่ง และเขาก็ปรากฏอยู่ที่นี้
ขึ้นชื่อว่าคนที่พร้อมด้วยองค์คุณทุกอย่างหาได้ยาก
เราจึงชอบใจขันติ
ขันติวัณณนชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๗. คูถปาณกชาดก (๒๒๗)
๖. โกสิยชาดก (๒๒๖)
ว่าด้วยผู้รู้กาลควรไม่ควรเหมือนนกเค้า
(บัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลข้อความนี้แก่พระราชาว่า)
[๑๕๑] ขึ้นชื่อว่าการออกไปจากที่อยู่อาศัยในกาลอันสมควรเป็นการดี
ส่วนการออกไปในกาลอันไม่สมควรไม่เป็นการดี
เพราะว่าชนจำนวนมากที่เป็นศัตรูทำคนเพียงคนเดียว
ที่ออกจากที่อยู่อาศัยโดยกาลอันไม่สมควร
แล้วไม่ยังประโยชน์อะไร ๆ ให้เกิดขึ้น ให้ถึงความพินาศ
เหมือนหมู่นกกาทำลายนกเค้าตัวเดียวให้พินาศ
[๑๕๒] นักปราชญ์รู้ซึ้งถึงวิธีการต่าง ๆ
เข้าใจถึงช่องทางของคนเหล่าอื่น
ทำพวกศัตรูทั้งหมดให้อยู่ในอำนาจแล้ว
พึงอยู่เป็นสุขเหมือนนกเค้าผู้ฉลาด
โกสิยชาดกที่ ๖ จบ
๗. คูถปาณกชาดก (๒๒๗)
ว่าด้วยหนอนท้าช้างสู้
(หนอนร้องเรียกช้างว่า)
[๑๕๓] ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญมาพบกับเราผู้กล้าหาญ
ผู้สามารถที่จะประหารได้โดยไม่ย่นย่อ
พญาช้าง ท่านจงกลับมาก่อน ท่านกลัวหรือจึงหนีไป
ขอชนชาวแคว้นอังคะและมคธ
จงเห็นความกล้าหาญของเราและท่านเถิด
(ช้างเมื่อจะรุกรบกับหนอนนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๑๕๔] เราจักไม่ใช้เท้า งา และงวงฆ่าเจ้า เราจักใช้คูถฆ่าเจ้า
เจ้าหนอนในคูถเน่าจงถูกของเน่าฆ่าเถิด
คูถปาณกชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๑๐. ทุติยปลายิตชาดก (๒๓๐)
๘. กามนีตชาดก (๒๒๘)
ว่าด้วยคนที่ถูกความอยากครอบงำ
(พระราชาตรัสกับท้าวสักกเทวราชโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕๕] เราอยากได้พระนครทั้ง ๓ และรัฐทั้ง ๓
คือ (๑) ปัญจาละ (๒) กุรุยะ (๓) เกกกะ
ในระหว่างพระนครเหล่านั้น พ่อพราหมณ์เอ๋ย
เราอยากได้ยิ่งกว่าราชสมบัติที่เราได้แล้วเสียอีก
เจ้าจงเยียวยาข้าพเจ้าผู้ถูกความอยากทำลายแล้วเถิด
(ท้าวสักกเทวราชโพธิสัตว์ตรัสกับพระราชาว่า)
[๑๕๖] จริงอยู่ คนถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาหาย
คนถูกผีสิง หมอผีที่เก่งบางคนก็ขับออกได้
แต่คนถูกความอยากทำลาย ใคร ๆ ก็เยียวยาไม่ได้
เพราะว่า คนที่ล่วงเลยกุศลธรรมแล้วจะเยียวยาได้อย่างไร
กามนีตชาดกที่ ๘ จบ
๙. ปลายิตชาดก (๒๒๙)
ว่าด้วยการขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ
(พระเจ้าพรหมทัตโพธิสัตว์ทรงดำริจะยึดเอาเมืองตักกศิลา จึงตรัสว่า)
[๑๕๗] ตักกสิลาถูกกองทัพช้างอันเกรียงไกร
ถูกกองทัพม้าสินธพอันเกรียงไกร
ถูกกองทัพรถประดุจเกลียวคลื่นในมหาสมุทร
อันยังห่าฝนคือลูกศรให้ตกลงประดุจเมฆฝนอันหนาทึบ
ถูกกองทัพทหารราบซึ่งถือดาบกวัดแกว่งประหารได้อย่างแม่นยำ
ล้อมรอบด้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น