Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๓ หน้า ๑๐๗ - ๑๕๙

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๑๐. ทุติยปลายิตชาดก (๒๓๐)
[๑๕๘] ท่านทั้งหลายจงรีบรุกเข้าไป จงรีบบุกเข้าไป
จงโห่ร้องให้อึกทึกกึกก้องพร้อมกับพญาช้างที่ประเสริฐ
ในวันนี้ ประดุจสายอสนิบาตอันแผ่ซ่าน
ออกจากเมฆคำรามกึกก้องอยู่
ปลายิตชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. ทุติยปลายิตชาดก (๒๓๐)
ว่าด้วยการขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบเรื่องที่ ๒
(พระเจ้าคันธาระได้ตรัสสรรเสริญกองทัพของพระองค์ว่า)
[๑๕๙] ธงสำหรับรถของเรามากมายมีจำนวนมิใช่น้อย
ถึงพลพาหนะก็กำหนดนับไม่ได้
ยากที่ศัตรูใด ๆ จะครอบงำย่ำยีได้
ดุจสมุทรสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามพ้นได้
อนึ่ง กองทัพของเรานี้ก็ยากที่กองทัพอื่นจะครอบงำย่ำยีได้
ดุจภูเขาอันลมไม่สามารถจะพัดให้หวั่นไหวได้
วันนี้ เรานั้นมีกำลังเห็นปานนี้
ยากที่พระราชาเช่นท่านจะครอบงำย่ำยีได้
(พระราชากรุงพาราณสีโพธิสัตว์ทรงขู่ขวัญพระเจ้าคันธาระว่า)
[๑๖๐] ท่านอย่าพูดพร่ำเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนพาลไปเลย
เพราะว่าพระราชาเช่นท่านไม่สามารถจะยึดเอาราชสมบัติได้
เพราะท่านถูกความเร่าร้อน แผดเผาอยู่เสมอ
ดังนั้น จึงข่มขี่ครอบงำพระราชาเช่นเราไม่ได้
ท่านนั้นประดุจเข้าไปใกล้คชสารตกมันที่เที่ยวพล่านไปเพียงตัวเดียว
ซึ่งจักบดขยี้ท่านให้แหลกลานเหมือนเหยียบย่ำพงอ้อให้เป็นจุรณไป
ทุติยปลายิตชาดกที่ ๑๐ จบ
กาสาววรรคที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๓. วิกัณณกชาดก (๒๓๓)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กาสาวชาดก ๒. จูฬนันทิยชาดก
๓. ปุฏภัตตชาดก ๔. กุมภีลชาดก
๕. ขันติวัณณนชาดก ๖. โกสิยชาดก
๗. คูถปาณกชาดก ๘. กามนีตชาดก
๙. ปลายิตชาดก ๑๐. ทุติยปลายิตชาดก

๙. อุปาหนวรรค
หมวดว่าด้วยอุปมาด้วยรองเท้า
๑. อุปาหนชาดก (๒๓๑)
ว่าด้วยการใช้ศิลปะในทางที่ผิดก่อให้เกิดโทษเหมือนรองเท้ากัด
(นายควาญช้างโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๖๑] รองเท้าที่คนซื้อมาเพื่อต้องการความสบายเท้า
กลับนำทุกข์มาให้
รองเท้านั้นถูกความร้อนแผดเผา
ถูกพื้นครูดสี ย่อมกัดเท้าคนผู้นั้นนั่นแหละ ฉันใด
[๑๖๒] ผู้ใดเกิดในตระกูลต่ำ ไม่ใช่อารยชน
เรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์แล้ว
ผู้นั้นย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปวิทยาที่เรียนมา
ในสำนักของอาจารย์นั้น ฉันนั้น
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า อนารยชน
เปรียบด้วยรองเท้าที่ทำไม่ดี
อุปาหนชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๓. วิกัณณกชาดก (๒๓๓)
๒. วีณาถูณชาดก (๒๓๒)
ว่าด้วยชายค่อมนอนขดเหมือนคันพิณ
(เศรษฐีโพธิสัตว์สนทนากับธิดาเศรษฐีว่า)
[๑๖๓] เจ้าคนเดียวเท่านั้นที่คิดอย่างนี้
ชายค่อมผู้โง่เขลาคนนี้ไม่อาจจะเป็นผู้นำได้
นางผู้เจริญ เจ้าไม่ควรจะร่วมทางกับคนค่อมคนนี้เลย
(ธิดาเศรษฐีฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้วว่า)
[๑๖๔] ดิฉันเข้าใจว่าชายค่อมเป็นคนองอาจ จึงได้รักใคร่เขา
เขานอนขดอยู่อย่างนี้ ดุจคันพิณที่สายขาด
วีณาถูณชาดกที่ ๒ จบ
๓. วิกัณณกชาดก (๒๓๓)
ว่าด้วยกามคุณเช่นกับชนัก
(เจ้าหน้าที่จัดอาหารพูดกับจระเข้ว่า)
[๑๖๕] เจ้าจงไปในสถานที่ที่เจ้าปรารถนาเถิด
เจ้าถูกชนักแทงในที่อันสำคัญ
อนึ่ง เจ้าเบื่อ ๆ อยาก ๆ ในอาหาร
เฝ้าติดตามฝูงปลาอยู่ ถูกอาหารเคล้าเสียงกลองขจัดเสียแล้ว
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงชาดกนี้แล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๖๖] บุคคลผู้คล้อยตามโลกามิส๑อย่างนี้
อนุวัตตามอำนาจจิตย่อมเดือดร้อน
บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนท่ามกลางหมู่ญาติมิตรสหาย
เหมือนจระเข้ตัวติดตามฝูงปลาถูกชนักแทง
วิกัณณกชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า โลกามิส ได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เรียกว่าโลกามิส (เหยื่อสำหรับโลก)
นั้น เพราะกามคุณทั้ง ๕ นี้ถือว่าเป็นของน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๖๖/๒๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๗. สาเกตชาดก (๒๓๗)
๔. อสิตาภูชาดก (๒๓๔)
ว่าด้วยพระนางอสิตาภู
(พระนางอสิตาภูตรัสกับพรหมทัตตกุมารว่า)
[๑๖๗] พระองค์นั่นแหละได้ทรงกระทำเหตุนี้ในกาลนี้
หม่อมฉันปราศจากความรักใคร่ในพระองค์เสียแล้ว
บัดนี้ ความรักใคร่นี้นั้นไม่อาจจะเชื่อมประสานได้อีก
เหมือนกับงาช้างที่ถูกเลื่อยตัดขาดไม่อาจจะเชื่อมต่อได้ดังเดิม
(ครั้นพระนางเสด็จจากไปแล้ว พรหมทัตตกุมารจึงคร่ำครวญว่า)
[๑๖๘] บุคคลผู้ปรารถนาเกินประมาณเพราะความโลภเกินไป
และเพราะความเมาในความโลภเกินไปจึงเสื่อมจากประโยชน์อย่างนี้
เหมือนตัวเราเสื่อมจากพระนางอสิตาภู
อสิตาภูชาดกที่ ๔ จบ
๕. วัจฉนขชาดก (๒๓๕)
ว่าด้วยวัจฉนขดาบส
(เศรษฐีกรุงพาราณสีชวนวัจฉนขดาบสโพธิสัตว์บริโภคกามว่า)
[๑๖๙] พระคุณเจ้าวัจฉนขะ เรือนทั้งหลายที่มีเงินทองบริบูรณ์
มีโภชนาหารมากมาย เป็นเรือนที่มีความสุข
ซึ่งพระคุณเจ้าไม่ต้องขวนขวายก็ฉัน ดื่ม และนอนได้เลย
(วัจฉนขดาบสโพธิสัตว์ฟังเศรษฐีแล้ว ได้กล่าวว่า)
[๑๗๐] คนไม่พยายามทำงานก็อยู่ครองเรือนไม่ได้
คนไม่พูดมุสาก็อยู่ครองเรือนไม่ได้
คนปล่อยวางอาชญาไม่ลงอาชญาบุคคลอื่นก็อยู่ครองเรือนไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ใคร่เล่าจะครองเรือน
ที่ให้เกิดความยินดีได้แสนยาก ที่บกพร่องได้
วัจฉนขชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๗. สาเกตชาดก (๒๓๗)
๖. พกชาดก (๒๓๖)
ว่าด้วยนกยางเจ้าเล่ห์
(ฝูงปลาเห็นนกยางจึงกล่าวว่า)
[๑๗๑] นกตัวนี้ดีจริงหนอ มีปีกเหมือนดอกโกมุท
หุบปีกทั้ง ๒ จับเจ่าซบเซาอยู่
(ปลาโพธิสัตว์มองดูนกยางนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๗๒] พวกเจ้าไม่รู้ปกติของมัน เพราะไม่รู้จึงพากันสรรเสริญ
นกยางตัวนี้ไม่ได้คุ้มครองพวกเราหรอก
เพราะเหตุนั้น มันจึงไม่ขยับปีก
พกชาดกที่ ๖ จบ
๗. สาเกตชาดก (๒๓๗)
ว่าด้วยทรงปรารภพราหมณ์ชื่อสาเกต
(ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระศาสดาว่า)
[๑๗๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุใดหนอ
เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้
พอพบกันเข้า จิตใจก็เมินเฉย
แต่บางคนพอพบกันเข้าเท่านั้น จิตก็เลื่อมใส
(พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งความรักแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า)
[๑๗๔] ความรักนั้นเกิดด้วยสาเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) ด้วยการอยู่ร่วมกันในชาติปางก่อน
(๒) ด้วยการเกื้อกูลกันและกันในปัจจุบัน
เหมือนดอกอุบลเกิดในน้ำ๑
สาเกตชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนดอกอุบลเกิดในน้ำ หมายถึงดอกอุบลและดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ที่เกิดในน้ำ ต้องอาศัยเหตุ ๒ ประการ
คือน้ำและเปลือกตม (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๗๔/๒๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๑๐. มหาปิงคลชาดก (๒๔๐)
๘. เอกปทชาดก (๒๓๘)
ว่าด้วยเหตุอย่างเดียวทำให้บรรลุประโยชน์ได้หลายอย่าง
(กุมารน้อยผู้เป็นบุตรของเศรษฐีโพธิสัตว์ถามบิดาว่า)
[๑๗๕] คุณพ่อครับ
เหตุอย่างเดียวทำให้ได้บรรลุประโยชน์หลายอย่างมีอยู่หรือ
พวกเราจะทำประโยชน์หลายอย่างให้สำเร็จได้ด้วยเหตุอันใด
ขอคุณพ่อจงบอกเหตุนั้นสักอย่างหนึ่งซึ่งรวบรวมเหตุไว้มากมาย
(บิดาบอกแก่กุมารน้อยนั้นว่า)
[๑๗๖] ลูกเอ๋ย เหตุอันเดียวคือความขยัน
ที่ให้ได้บรรลุประโยชน์หลายอย่าง
เพราะความขยันอันประกอบด้วยศีล เข้าถึงขันติ
อาจทำให้มิตรสหายมีความสุข
หรืออาจทำให้ศัตรูทั้งหลายได้รับความทุกข์
เอกปทชาดกที่ ๘ จบ
๙. หริตมาตชาดก (๒๓๙)
ว่าด้วยกบเขียว
(งูจะถามกบเขียวโพธิสัตว์ว่า)
[๑๗๗] พ่อกบเขียว ฝูงปลารุมกัดเราผู้มีพิษ
ซึ่งเข้าไปยังปากลอบ ท่านพอใจหรือ
(กบเขียวโพธิสัตว์ได้กล่าวกับงูว่า)
[๑๗๘] คนกดขี่ข่มเหงผู้อื่นตลอดเวลาที่ตนเป็นใหญ่
เมื่อเขาถูกคนอื่นซึ่งเป็นใหญ่กว่ากดขี่ข่มเหงบ้างก็ตอบโต้
หริตมาตชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๑๐. มหาปิงคลชาดก (๒๔๐)
๑๐. มหาปิงคลชาดก (๒๔๐)
ว่าด้วยพระเจ้าปิงคละ
(พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระโอรสของพระเจ้าปิงคละ ตรัสถามยาม
รักษาประตูว่า)
[๑๗๙] ชนทั้งมวลถูกพระเจ้าปิงคละเบียดเบียน
เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ประชาชนพากันยินดี
นายทวารบาล พระเจ้าปิงคละผู้มีพระเนตรไม่ดำ
เป็นที่รักของท่านหรือ ทำไมท่านจึงร้องไห้
(ยามรักษาประตูกล่าวทูลตอบว่า)
[๑๘๐] พระเจ้าปิงคละผู้มีพระเนตรไม่ดำ
เป็นที่รักของข้าพเจ้าก็หาไม่
แต่ข้าพเจ้ากลัวการเสด็จกลับมาของพระองค์
พระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว
จะต้องเบียดเบียนพญามัจจุราช
เขาถูกพระองค์เบียดเบียนแล้ว
พึงนำพระองค์กลับมา ณ ที่นี้อีก
(พระโพธิสัตว์ตรัสปลอบยามรักษาประตูว่า)
[๑๘๑] พระเจ้าปิงคละนั้นถูกถวายพระเพลิง
ด้วยฟืน ๑,๐๐๐ เล่มเกวียน
พระอัฐิก็สรงด้วยน้ำตั้ง ๑๐๐ หม้อ
สถานที่ถวายพระเพลิงนั่นเล่าก็ล้อมไว้แล้ว
ไม่ต้องกลัว เสด็จมาไม่ได้หรอก
มหาปิงคลชาดกที่ ๑๐ จบ
อุปาหนวรรคที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๔. วิคติจฉชาดก (๒๔๔)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุปาหนชาดก ๒. วีณาถูณชาดก
๓. วิกัณณกชาดก ๔. อสิภูตาชาดก
๕. วัจฉนขชาดก ๖. พกชาดก
๗. สาเกตชาดก ๘. เอกปทชาดก
๙. หริตมาตชาดก ๑๐. มหาปิงคลชาดก

๑๐. สิงคาลวรรค
หมวดว่าด้วยสุนัขจิ้งจอก
๑. สัพพทาฐิชาดก (๒๔๑)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกได้เป็นใหญ่กว่าสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งปวง
(พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๘๒] สุนัขจิ้งจอกมีนิสัยกระด้าง มีความต้องการบริวาร
บรรลุถึงสมบัติอันยิ่งใหญ่
เป็นราชาแห่งสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งปวง ฉันใด
[๑๘๓] บรรดามนุษย์ทั้งหลาย บุคคลใดมีบริวาร
บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นใหญ่ในบริวารเหล่านั้น
เหมือนสุนัขจิ้งจอกเป็นใหญ่กว่าสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งหลาย ฉันนั้น
สัพพทาฐิชาดกที่ ๑ จบ
๒. สุนขชาดก (๒๔๒)
ว่าด้วยสุนัขฉลาดเอาตัวรอดได้
(พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลมีโภคสมบัติมากได้เดินผ่านดงไปทำธุระบางอย่าง
เห็นสุนัขถูกล่ามไว้ จึงกล่าวว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๔. วิคติจฉชาดก (๒๔๔)
[๑๘๔] สุนัขที่ไม่กัดกินเชือกหนังนี้โง่จริง
ธรรมดาบุคคลควรจะเปลื้องตนจากเครื่องผูก
กินแล้วกลับบ้าน
(สุนัขได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๘๕] คำที่ท่านกล่าวนั้นยังฝังใจข้าพเจ้า
และข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะรอจนกว่าคนจะนอนหลับ
สุนขชาดกที่ ๒ จบ
๓. คุตติลชาดก (๒๔๓)
ว่าด้วยคุตติลโพธิสัตว์
(นักขับร้องโพธิสัตว์กล่าวกับท้าวสักกะว่า)
[๑๘๖] ข้าพระองค์ได้สอนศิษย์ให้เรียนการดีดพิณ ๗ สาย
มีเสียงอันไพเราะ น่าจับจิตจับใจ
เขากลับมาท้าทายข้าพระองค์แข่งขันดีดพิณสู้กันบนเวที
ท้าวโกสีย์ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด
(ท้าวสักกะสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๘๗] เพื่อนเอ๋ย เราจะเป็นที่พึ่ง
เราเป็นคนบูชาอาจารย์
ศิษย์จักชนะท่านไม่ได้ ส่วนท่านจะชนะศิษย์ นะอาจารย์
คุตติลชาดกที่ ๓ จบ
๔. วิคติจฉชาดก (๒๔๔)
ว่าด้วยการนอบน้อมท่านผู้หมดความต้องการ
(ฤๅษีโพธิสัตว์เมื่อปริพาชกหนีไปแล้ว จึงแสดงธรรมแก่บริษัทซึ่งนั่งประชุมกัน
อยู่ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๗. ปาทัญชลิชาดก (๒๔๗)
[๑๘๘] ได้ยินมาว่า คนที่ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนเห็นก็ดี
ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่เห็นก็ดี
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ถึงเขาจะเที่ยวแสวงหาไปนานแสนนาน
ก็จะไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนาเลย
[๑๘๙] คนย่อมไม่พอใจสิ่งที่ตนได้มา
และดูหมิ่นสิ่งที่ตนปรารถนาได้มาแล้ว
เพราะความปรารถนาซึ่งมีอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด
ข้าพเจ้าขอกระทำการนอบน้อมท่านผู้ปราศจากความปรารถนา
วิคติจฉชาดกที่ ๔ จบ
๕. มูลปริยายชาดก (๒๔๕)
ว่าด้วยทรงปราบภิกษุผู้ทะนงด้วยมูลปริยายสูตร
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์ถามปัญหากับพวกศิษย์แล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๙๐] กาลเวลาย่อมกินเหล่าสัตว์ทั้งปวงพร้อมกับตัวเอง
ส่วนผู้ใดกินกาลเวลาได้๑
ผู้นั้นชื่อว่าเผาตัณหาที่เผาเหล่าสัตว์ได้แล้ว
(พระโพธิสัตว์ติเตียนมาณพเหล่านั้นว่า)
[๑๙๑] ศีรษะของนรชนปรากฏมีเป็นจำนวนมาก
และมีผมหนาปกคลุมจนถึงคอ
บรรดาคนเหล่านี้ ใครบ้างเล่าที่มีปัญญา
มูลปริยายชาดกที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้กินกาลเวลาได้ หมายถึงพระขีณาสพ เพราะทำกาลปฏิสนธิในคราวต่อไปให้สิ้น คือกลืนกินกาลเวลา
ด้วยอริยมรรค (ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก) (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๙๐/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๗. ปาทัญชลิชาดก (๒๔๗)
๖. พาโลวาทชาดก (๒๔๖)
ว่าด้วยการโอวาทคนพาล
(กุฎุมพีผู้หนึ่งแกล้งฤๅษีโพธิสัตว์ จึงกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๙๒] บุคคลผู้ไม่สำรวมประหารสัตว์ก็ดี
เบียดเบียนสัตว์ก็ดี ฆ่าสัตว์ก็ดี แล้วให้ทาน
สมณะใดบริโภคอาหารเช่นนี้
สมณะนั้นย่อมแปดเปื้อนบาปด้วย
(พระโพธิสัตว์ฟังแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๙๓] บุคคลผู้ไม่สำรวมถึงจะฆ่าบุตรภรรยาแล้วให้ทานก็ตามที
ผู้มีปัญญาบริโภคอาหารนั้นก็ไม่แปดเปื้อนบาปเลย
พาโลวาทชาดกที่ ๖ จบ
๗. ปาทัญชลิชาดก (๒๔๗)
ว่าด้วยปาทัญชลีราชกุมาร
(อำมาตย์โพธิสัตว์เข้าใจว่า พระราชกุมารเฉลียวฉลาด จึงกล่าวว่า)
[๑๙๔] ปาทัญชลีราชกุมารมีพระปรีชา
ทรงรุ่งเรืองกว่าพวกเราทั้งหมดแน่นอน
พระองค์ทรงเห็นเหตุอื่นที่ยิ่งกว่านี้เป็นแน่
เพราะฉะนั้นจึงทรงเม้มพระโอษฐ์
(พระกุมารโง่เขลา กล่าวว่า)
[๑๙๕] ปาทัญชลีราชกุมารพระองค์นี้
จะทรงทราบสิ่งที่เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม
สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ก็หาไม่
พระองค์ไม่ทรงทราบอะไรเลย
นอกจากการเม้มพระโอษฐ์เท่านั้น
ปาทัญชลิชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๑๐. กปิชาดก (๒๕๐)
๘. กิงสุโกปมชาดก (๒๔๘)
ว่าด้วยคนไม่รู้ธรรมด้วยญาณย่อมสงสัยในธรรม
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสกับพระราชโอรสทั้ง ๔ พระองค์ว่า)
[๑๙๖] เจ้าทั้งหมดได้เห็นต้นทองกวาวมาแล้ว
เพราะเหตุไรจึงสงสัยในต้นทองกวาวนั้นเล่า
เพราะพวกเจ้ามิได้สอบถามนายสารถี
ให้รอบคอบทุกสถานะใช่ไหม
(พระศาสดาทรงแสดงเหตุนี้กับภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๙๗] บุคคลเหล่าใดยังไม่รู้ธรรมทั้งหลายด้วยญาณทั้งปวง
บุคคลเหล่านั้นยังสงสัยในธรรมทั้งหลาย
เหมือนพระราชภาดา ๔ พระองค์สงสัยในต้นทองกวาว
กิงสุโกปมชาดกที่ ๘ จบ
๙. สาลกชาดก (๒๔๙)
ว่าด้วยสาลกวานร
(หมองูคิดจะจับลิง จึงเกลี้ยกล่อมลิงว่า)
[๑๙๘] พ่อสาลกวานร เจ้าเป็นลูกคนเดียวของพ่อ
และเจ้าจักได้เป็นใหญ่ในโภคะในตระกูลของพ่อ
ลงมาจากต้นไม้เถิด มาเถิดลูกพ่อ
เราจะพากันกลับบ้านเดี๋ยวนี้
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๙๙] ท่านเข้าใจว่าเราเป็นสัตว์ใจดีมิใช่หรือ
ไฉนจึงเฆี่ยนตีเราด้วยเรียวไผ่
เราพอใจอยู่ในป่ามะม่วงที่มีผลสุก
ท่านจงกลับไปบ้านตามสบายเถิด
สาลกชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๑๐. กปิชาดก (๒๕๐)
๑๐. กปิชาดก (๒๕๐)
ว่าด้วยการเข้าใจผิดว่าลิงเป็นฤๅษี
(ดาบสกุมารเห็นลิงปลอมมีความสงสารจึงกล่าวกับดาบสโพธิสัตว์ผู้เป็นบิดาว่า)
[๒๐๐] ฤๅษีผู้นี้ยินดีในความสงบและความสำรวม
ท่านถูกภัยคือความหนาวเบียดเบียนยืนอยู่
เชิญท่านฤๅษีเข้ามายังบรรณศาลานี้
เพื่อบรรเทาความหนาว ความกระวนกระวายทั้งสิ้นเถิด
(พระโพธิสัตว์ฟังคำของบุตรแล้วจึงลุกขึ้นมองดูก็รู้ว่าเป็นลิง จึงกล่าวว่า)
[๒๐๑] ผู้นี้มิใช่ฤๅษีผู้ยินดีในความสงบและความสำรวมหรอก
แต่เป็นลิงที่ห้อยโหนไปตามกิ่งมะเดื่อ
มันมักประทุษร้าย มักโกรธ และมีสันดานเลวทราม
ถ้ามันเข้ามา มันก็จะพึงทำลายบรรณศาลานี้
กปิชาดกที่ ๑๐ จบ
สิงคาลวรรคที่ ๑๐ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สัพพทาฐิชาดก ๒. สุนขชาดก
๓. คุตติลชาดก ๔. วิคติจฉชาดก
๕. มูลปริยายชาดก ๖. พาโลวาทชาดก
๗. ปาทัญชลิชาดก ๘. กิงสุโกปมชาดก
๙. สาลกชาดก ๑๐. กปิชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. ทัฬหวรรค ๒. สันถววรรค
๓. กัลยาณวรรค ๔. อสทิสวรรค
๕. รุหกวรรค ๖. นตังทัฬหวรรค
๗. พีรณถัมภกวรรค ๘. กาสาววรรค
๙. อุปาหนวรรค ๑๐. สิงคาลวรรค

ทุกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๙ }


๓. ติกนิบาต
๑. สังกัปปวรรค
หมวดว่าด้วยความดำริ
๑. สังกัปปราคชาดก (๒๕๑)
ว่าด้วยราคะเกิดเพราะความดำริ
(พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลถูกลูกศรคือกิเลสแทง จึงกราบ
ทูลพระราชาว่า)
[๑] อาตมาถูกลูกศรคือกิเลสอาบยาพิษคือราคะ
ซึ่งเกิดจากความดำริถึงกาม ลับที่หินคือวิตก
อันนายช่างศรยังมิได้ขัดถูให้เกลี้ยงเกลา
[๒] ยังมิได้ดึงสายธนูให้พ้นหมวกหูข้างขวาของคันธนู
ยังมิทันได้ติดขนปีกนกยูงเป็นต้น
แทงเข้าที่หัวใจทำความเร่าร้อนไปทั่วสรรพางค์กาย
[๓] อาตมามิได้เห็นบาดแผลที่ถูกแทง
และเลือดที่ไหลออกจากบาดแผลเลย
ตลอดเวลาที่ไม่ได้อบรมจิตด้วยอุบายอันแยบคาย
อาตมาได้นำทุกข์มาให้แก่ตนเสียเอง
สังกัปปราคชาดกที่ ๑ จบ
๒. ติลมุฏฐิชาดก (๒๕๒)
ว่าด้วยการผูกโกรธเพราะเมล็ดงาเพียงกำมือเดียว
(พรหมทัตตกุมารทรงผูกโกรธอาจารย์ไม่หาย จึงตรัสกับอาจารย์ว่า)
[๔] การที่ท่านอาจารย์จับแขนข้าพเจ้าแล้วเฆี่ยนข้าพเจ้าด้วยไม้เรียว
เพราะงากำมือเดียวนั้นยังฝังใจข้าพเจ้าอยู่จนทุกวันนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๐ }

๑. สังกัปปวรรค ๓. มณิกัณฐชาดก (๒๕๓)
[๕] ท่านพราหมณ์ ชะรอยท่านจะไม่ใยดีในชีวิตของตนละซิ
จึงมาที่นี้ เพราะท่านเคยจับแขนข้าพเจ้าเฆี่ยนถึง ๓ ครั้ง
(อาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวกราบทูลว่า)
[๖] อารยชนบางคนย่อมกีดกันคนกระทำความชั่วด้วยอาชญา
การกระทำนั้นเป็นการสอนหาใช่เป็นเวรไม่
บัณฑิตทั้งหลายรู้เหตุนั้นอย่างนี้
ติลมุฏฐิชาดกที่ ๒ จบ
๓. มณิกัณฐชาดก (๒๕๓)
ว่าด้วยการขอแก้วมณี
(พญานาคเมื่อจะห้ามดาบสมิให้ขอ จึงได้กล่าวว่า)
[๗] เพราะแก้วมณีดวงนี้เป็นเหตุทำให้ข้าวน้ำเกิดขึ้น
แก่ข้าพเจ้ามากมาย
ข้าพเจ้าให้แก้วมณีท่านไม่ได้ ท่านเป็นคนขอเกินไป
ข้าพเจ้าจะไม่มาอาศรมของท่านอีกแล้ว
[๘] เมื่อท่านขอแก้วมณีจนทำให้ข้าพเจ้าหวาดกลัว
เหมือนชายหนุ่มถือดาบคมที่ลับด้วยหินทำให้ผู้อื่นสะดุ้งกลัว
ข้าพเจ้าให้แก้วมณีท่านไม่ได้ ท่านเป็นคนขอเกินไป
ข้าพเจ้าจะไม่มาอาศรมของท่านอีกแล้ว
(ดาบสโพธิสัตว์ผู้พี่ได้กล่าวกับดาบสผู้น้องว่า)
[๙] บุคคลไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นที่รักของเขา
อนึ่ง เพราะขอเกินไปย่อมเป็นที่เกลียดชัง
นาคราชถูกฤาษีขอแก้วมณี
จึงไม่หวนกลับมาให้ฤาษีเห็นอีกเลย๑
มณิกัณฐชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๑/๓๔๔/๓๗๙-๓๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๑. สังกัปปวรรค ๖. ชรูทปานชาดก (๒๕๖)
๔. กุณฑกกุจฉิสินธวชาดก (๒๕๔)
ว่าด้วยม้าสินธพกินรำข้าว
(พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพ่อค้าเมื่อจะทดลองลูกม้าสินธพ จึงกล่าวว่า)
[๑๐] หญ้าอันเป็นเดน ข้าวตัง
และรำข้าวเจ้าเคยกินมาแล้ว
นั่นเป็นอาหารของเจ้า
เพราะเหตุใดบัดนี้เจ้าจึงไม่กิน
(ลูกม้าสินธพได้กล่าวว่า)
[๑๑] มหาพราหมณ์ สถานที่ใดประชาชนไม่รู้จัก
สัตว์เลี้ยงโดยชาติ โดยวินัย๑
สถานที่นั้นมีข้าวตังและรำข้าวอยู่เป็นจำนวนมาก
[๑๒] ส่วนท่านรู้จักข้าพเจ้าดีว่า ม้านี้เป็นม้าชั้นยอดชนิดใด
ข้าพเจ้ารู้อยู่ เพราะอาศัยท่านผู้รู้ จึงไม่กินรำข้าวของท่าน
กุณฑกกุจฉิสินธวชาดกที่ ๔ จบ
๕. สุกชาดก (๒๕๕)
ว่าด้วยลูกนกแขกเต้า
(พระศาสดาครั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[๑๓] นกแขกเต้าตัวนั้นรู้ประมาณในการกินอาหารเพียงใด
จะมีอายุยืนและเลี้ยงดูมารดาบิดาได้นานเพียงนั้น
[๑๔] แต่เมื่อกลืนกินอาหารมากเกินไป
มันจึงจมลงแล้วในสมุทรนั้น
เพราะว่ามันไม่รู้จักประมาณ

เชิงอรรถ :
๑ วินัย ในที่นี้หมายถึงความประพฤติ (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๑/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๑. สังกัปปวรรค ๖. ชรูทปานชาดก (๒๕๖)
[๑๕] เพราะฉะนั้น การรู้จักประมาณ
คือการไม่ติดอยู่ในรสอาหารเป็นการดี
บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณจะจมลง๑
ผู้รู้จักประมาณจะไม่จมลง
สุกชาดกที่ ๕ จบ
๖. ชรูทปานชาดก (๒๕๖)
ว่าด้วยขุดบ่อน้ำเก่า
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[๑๖] พ่อค้าทั้งหลายที่มีความต้องการน้ำ
พากันขุดบ่อน้ำเก่าอยู่ ได้แร่เหล็ก แร่ทองแดง
แร่ดีบุก แร่ตะกั่ว แร่เงิน แร่ทอง แก้วมุกดา
แก้วไพฑูรย์เป็นจำนวนมาก
[๑๗] แต่พ่อค้าเหล่านั้นไม่ยินดีด้วยทรัพย์นั้น
ได้พากันขุดลึกยิ่งขึ้นไปอีก
พญานาคตัวมีพิษร้ายแรงมีเดชกล้าในบ่อน้ำนั้น
ได้ฆ่าพวกเขาด้วยเดชแห่งพิษ
[๑๘] เพราะฉะนั้น บุคคลเมื่อจะขุดอย่าขุดลึกเกินไป
เพราะว่าบ่อน้ำที่ขุดลึกเกินไปไม่เป็นการดี
ทรัพย์ที่พวกพ่อค้าขุดได้มาและชีวิตของพวกพ่อค้า
ถูกพญานาคให้พินาศไปเพราะการขุดลึกเกินไป
ชรูทปานชาดกที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จมลง ในที่นี้ หมายถึงจมลงในอบายภูมิทั้ง ๔ อันเป็นสภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ คือ (๑) นิรยะ
นรก สภาวะหรือที่อันปราศจากความสุข มีแต่ความเร่าร้อน (๒) ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน พวก
มืดบอดโง่เขลา (๓) ปิตติวิสัย แดนเปรตผู้มีแต่ความหิวโหย (๔) อสุรกาย พวกอสูร พวกหวาดหวั่น
ไร้ความรื่นเริง (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๕/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๑. สังกัปปวรรค ๙. ติรีฏวัจฉชาดก (๒๕๙)
๗. คามณิจันทชาดก (๒๕๗)
ว่าด้วยคามณิจันทพราหมณ์
(อาทาสมุขกุมารโพธิสัตว์เห็นกิริยาของพวกลิงแล้ว จึงได้กล่าวกับอำมาตย์
คามณิจันทพราหมณ์ว่า)
[๑๙] สัตว์นี้ไม่ฉลาด(ที่จะกะหรือสร้าง)บ้านเรือน
เป็นสัตว์มีปกติหลุกหลิกหน้าย่น
มักทำลายสิ่งที่เขาทำไว้แล้วสร้างไว้แล้ว
สัตว์ตระกูลนี้มีธรรมชาติอย่างนี้
[๒๐] ขนอย่างนี้มิใช่ขนของผู้มีจิตประกอบด้วยปัญญา
ลิงนี้เป็นสัตว์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
พระเจ้าชนสันธะผู้เป็นพระชนกของข้าพเจ้า
ได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้ว่า
ธรรมดาลิงไม่รู้เหตุที่ควรหรือไม่ควรอะไรเลย
[๒๑] สัตว์เช่นนั้นจะเลี้ยงดูมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย
หรือพี่สาว น้องสาวของตนไม่ได้เลย
พระเจ้าทศรถผู้เป็นพระชนกของข้าพเจ้าได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้
คามณิจันทชาดกที่ ๗ จบ
๘. มันธาตุราชชาดก (๒๕๘)
ว่าด้วยพระเจ้ามันธาตุ
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[๒๒] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรรอบภูเขาสิเนรุ
ส่องแสงสว่างไสวไปทั่วทิศมีกำหนดประมาณเท่าไร
สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยแผ่นดินอยู่ในที่มีกำหนดประมาณเท่านั้น
ล้วนเป็นทาสของพระเจ้ามันธาตุหมดทั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๑. สังกัปปวรรค ๙. ติรีฏวัจฉชาดก (๒๕๙)
[๒๓] ขึ้นชื่อว่าความอิ่มในกามทั้งหลายไม่มีแม้ด้วยฝนกหาปณะ
กามทั้งหลายมีความยินดีน้อยแต่มีทุกข์มาก
บัณฑิตรู้ชัดแล้วอย่างนี้
[๒๔] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
แต่ยินดีในความสิ้นตัณหา
มันธาตุราชชาดกที่ ๘ จบ
๙. ติรีฏวัจฉชาดก (๒๕๙)
ว่าด้วยติรีฏวัจฉดาบส
(อุปราชเข้าไปเฝ้าพระราชาถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า)
[๒๕] กรรมอะไร ๆ ที่สำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้ไม่มีเลย
อนึ่ง ดาบสนี้เป็นพระญาติ เป็นพระสหายของพระองค์ก็หามิได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
ติรีฏวัจฉดาบสผู้มีปกติถือไม้ ๓ ท่อน๑เที่ยวไป
จึงบริโภคโภชนะมีรสเลิศเล่า
(พระราชาทรงสรรเสริญคุณของติรีฏวัจฉดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๒๖] เมื่อพ่อแพ้ในการรบ
ตกอยู่ในอันตรายแต่ผู้เดียว
ดาบสนั้นได้ทำการอนุเคราะห์ ยื่นมือช่วยเหลือ
พ่อผู้ตกยากอยู่ในป่าใหญ่อันทารุณ
เพราะการช่วยเหลือนั้น
พ่อผู้กำลังเผชิญทุกข์อยู่ก็ขึ้นจากบ่อน้ำได้

เชิงอรรถ :
๑ ไม้ ๓ ท่อน ในที่นี้หมายถึงไม้ที่จะนำไปทำขาตั้งหม้อน้ำหรือคนโทน้ำ (ขุ.ชา.อ. ๔/๒๕/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๑. ปทุมชาดก (๒๖๑)
[๒๗] พ่อผู้ดำรงอยู่ในมนุษยโลกนี้
กำลังตกอยู่ในวิสัยของพญามัจจุราช มาถึงสถานที่นี้ได้
เพราะการช่วยเหลืออันแสนยากของดาบสนั้น
ลูกเอ๋ย ติรีฏวัจฉดาบสเป็นผู้สมควรแก่ลาภ๑
พวกเจ้าจงถวายปัจจัยที่ควรบริโภค
จงบูชาด้วยปัจจัยที่ควรบูชาแก่ท่านเถิด
ติรีฏวัจฉชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. ทูตชาดก (๒๖๐)
ว่าด้วยทุกชีวิตเป็นทูตของท้อง
(บุรุษโลเลคนหนึ่งได้เห็นวิธีเสวยพระกระยาหารของพระเจ้าโภชนสุทธิกโพธิสัตว์
ตกอยู่ในอำนาจของความอยาก จึงกล่าว ๒ คาถาทูลว่า)
[๒๘] สัตว์ทั้งหลายที่ตกอยู่ในอำนาจของตัณหาไปยังสถานที่ไกล
เพื่อจะขอแม้กับคนที่เป็นศัตรูเพื่อประโยชน์แก่ท้องใด
ข้าพระองค์เป็นทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย
[๒๙] มนุษย์ทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของท้องใดทั้งกลางวันกลางคืน
ข้าพระองค์เป็นทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพรถ
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย
(พระราชาได้สดับคำของบุรุษนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๓๐] พ่อพราหมณ์ เราจะให้โคแดงสัก ๑,๐๐๐ ตัว
พร้อมกับโคจ่าฝูงแก่ท่าน เพราะทูตจะไม่ให้แก่ทูตได้อย่างไร
แม้เราก็เป็นทูตของท้องนั้นเหมือนกัน
ทูตชาดกที่ ๑๐ จบ
สังกัปปวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ลาภ ในที่นี้หมายถึงการได้ปัจจัย ๔ (ขุ.ชา.อ. ๔/๒๗/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๑. ปทุมชาดก (๒๖๑)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังกัปปราคชาดก ๒. ติลมุฏฐิชาดก
๓. มณิกัณฐชาดก ๔. กุณฑกกุจฉิสินธวชาดก
๕. สุกชาดก ๖. ชรูทปานชาดก
๗. คามณิจันทชาดก ๘. มันธาตุราชชาดก
๙. ติรีฏวัจฉชาดก ๑๐. ทูตชาดก

๒. ปทุมวรรค
หมวดว่าด้วยดอกบัว
๑. ปทุมชาดก (๒๖๑)
ว่าด้วยลูกชายเศรษฐีขอดอกบัว
(ลูกชายเศรษฐีคนหนึ่งเรียกชายจมูกแหว่งมาแล้ว กล่าวขอดอกบัวว่า)
[๓๑] ผมและหนวดที่ขาดไปแล้ว ๆ ยังงอกขึ้นอีกฉันใด
ขอจมูกของท่านจงงอกขึ้นฉันนั้น
เราขอดอกบัวท่านแล้ว ขอท่านจงให้แก่เรา
(ลูกชายเศรษฐีคนที่ ๒ กล่าวขอว่า)
[๓๒] พืชที่เก็บไว้ในฤดูใบไม้ร่วง เขาหว่านลงในนาแล้วงอกขึ้นฉันใด
ขอจมูกของท่านจงงอกขึ้นฉันนั้น
เราขอดอกบัวท่านแล้ว ขอท่านจงให้แก่เรา
(พระโพธิสัตว์ลูกชายเศรษฐีคนที่ ๓ กล่าวขอว่า)
[๓๓] คนทั้ง ๒ คนนี้เพ้อเจ้ออยู่ด้วยคิดว่า
ผู้นี้จะให้ดอกบัวแก่เราบ้าง พวกเขาจะพูดหรือไม่พูดก็ตาม
จมูกของท่านไม่มีทางจะงอกขึ้นได้
เราเพียงแต่ขอท่านเท่านั้น ท่านจงให้ดอกบัวแก่เรานะสหาย
ปทุมชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๕. ขุรัปปชาดก (๒๖๕)
๒. มุทุปาณิชาดก (๒๖๒)
ว่าด้วยพระราชาถูกหลอกด้วยคนฝ่ามืออันอ่อนนุ่ม
(พระราชธิดาให้แม่นมเรียนคาถาไปทูลพระราชกุมารว่า)
[๓๔] เมื่อใด มีคนใช้ที่มีฝ่ามืออ่อนนุ่ม
ช้างที่ฝึกไว้ดีแล้ว เวลามืด และฝนตก
เมื่อนั้น พระองค์พึงสมประสงค์แน่นอน
(พระราชาโพธิสัตว์ไม่อาจจะรักษาพระราชธิดาไว้ได้ จึงได้ตรัสว่า)
[๓๕] หญิงเหล่านั้นพูดจาอ่อนหวาน ไม่รู้จักพอ
ให้เต็มได้ยากเหมือนกับแม่น้ำ ย่อมจมลง(ในนรก)
บุคคลรู้ชัดเนื้อความข้อนั้นแล้ว พึงเว้นให้ห่างไกล
[๓๖] หญิงเหล่านั้นคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ย่อมตามเผาผลาญชายนั้นทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของตน
มุทุปาณิชาดกที่ ๒ จบ
๓. จูฬปโลภนชาดก (๒๖๓)
ว่าด้วยการประเล้าประโลมของหญิงเพียงครู่เดียว
(อนิตถิกุมารโพธิสัตว์ดำริจะช่วยเหลือดาบสผู้เสื่อมจากฌาน จึงได้ตรัสว่า)
[๓๗] ตัวท่านเองเดินมาได้บนผิวน้ำที่ไม่แตกแยกด้วยฤทธิ์
ครั้นถึงความคลุกคลีกับหญิง จึงจมลงในห้วงน้ำใหญ่
[๓๘] ธรรมดาหญิงทั้งหลายมีความหมุนเวียนเปลี่ยนอยู่เสมอ
มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ
ย่อมจมลง(ในนรก)
บุคคลรู้ชัดเนื้อความข้อนั้นแล้ว พึงเว้นให้ห่างไกล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๕. ขุรัปปชาดก (๒๖๕)
[๓๙] หญิงเหล่านั้นคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ย่อมตามเผาผลาญชายนั้นทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของตน
จูฬปโลภนชาดกที่ ๓ จบ
๔. มหาปนาทชาดก (๒๖๔)
ว่าด้วยปราสาทของพระเจ้ามหาปนาทะ
(พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๐] พระราชาทรงพระนามว่าปนาทะ ทรงมีปราสาททองคำ
กว้าง ๑๖ ชั่วลูกธนูตก สูง ๑,๐๐๐ ชั่วลูกธนู
[๔๑] ปราสาทสูง ๑,๐๐๐ ชั่วลูกธนู มีพื้น ๑๐๐ ชั้น
ประดับประดาด้วยธงแก้วมณีสีเขียว มีนักฟ้อนอยู่ ๖,๐๐๐ คน
โดยแบ่งออกเป็น ๗ พวก ฟ้อนรำอยู่ในปราสาทนั้น
[๔๒] ภัททชิ เธอพูดถึงปราสาทตามที่มีแล้วในกาลนั้น
ในกาลนั้นตถาคตเป็นท้าวสักกเทวราช
เป็นผู้ขวนขวายช่วยเหลือการงานของเธอ
มหาปนาทชาดกที่ ๔ จบ
๕. ขุรัปปชาดก (๒๖๕)
ว่าด้วยคนกล้าไม่กลัวลูกศรที่คม
(บุตรพ่อค้าถามพระโพธิสัตว์ผู้เป็นหัวหน้าทำหน้าที่อารักขาว่า)
[๔๓] เมื่อมรณภัยนั้นปรากฏเฉพาะหน้า
เพราะเห็นพวกโจรยิงลูกธนูอันแหลมคมด้วยความว่องไว
และถือดาบที่ทาน้ำมันอันคมกริบ
เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่สะดุ้งกลัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๘. อารามทูสกชาดก (๒๖๘)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๔๔] เมื่อมรณภัยนั้นปรากฏเฉพาะหน้า
เพราะเห็นพวกโจรยิงลูกธนูแหลมคมด้วยความว่องไว
และถือดาบที่ทาน้ำมันอันคมกริบ
ข้าพเจ้ากลับยินดีและพอใจมากที่สุด
[๔๕] ข้าพเจ้านั้นมีความยินดีจึงย่ำยีศัตรูได้
ข้าพเจ้าได้สละชีวิตไว้ก่อนแล้ว เพราะเมื่อยังอาลัยในชีวิต
บุคคลกล้าหาญจะกระทำกิจของผู้กล้าหาญในกาลใด ๆ ไม่ได้เลย
ขุรัปปชาดกที่ ๕ จบ
๖. วาตัคคสินธวชาดก (๒๖๖)
ว่าด้วยม้าสินธพชื่อวาตัคคะ
(ลูกลาได้เข้าไปหาแม่ลาแล้วถามว่า)
[๔๖] แม่เป็นโรคผอมเหลืองไม่ใยดีอาหารเพราะม้าตัวใด
ม้านั้นคือตัวนี้มาภักดีแล้ว
บัดนี้ เพราะเหตุไร แม่จึงให้ม้านั้นหนีไปเสียเล่า
(แม่ลาได้ฟังคำของลูก จึงกล่าวว่า)
[๔๗] ก็ถ้าความเชยชิดเกิดมีแต่แรกพบ
ชื่อเสียงของสตรีจะเสียหาย
เพราะเหตุนั้น ลูกเอ๋ย แม่จึงทำให้ม้านั้นหนีไป
(พระศาสดาได้ตรัสพระคาถาว่า)
[๔๘] หญิงใดไม่ปรารถนาชายมียศศักดิ์
เกิดในตระกูลสูงที่เขาชักนำมาแล้ว จะเสียใจไปนานแสนนาน
เหมือนภัททลีแม่ลาเสียใจเพราะคิดถึงม้าสินธพที่ชื่อวาตัคคะ
วาตัคคสินธวชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๘. อารามทูสกชาดก (๒๖๘)
๗. สุวัณณกักกฏกชาดก (๒๖๗)
ว่าด้วยนางช้างพังอ้อนวอนปูทอง
(ช้างโพธิสัตว์ให้ช้างพังทราบว่าตนถูกปูหนีบเพื่อจะไม่ให้นางหนีไป จึงกล่าวว่า)
[๔๙] เราถูกปูทองซึ่งมีตาโปนออกมา
มีกระดูกเป็นหนังอาศัยอยู่ในน้ำ ไม่มีขน หนีบแล้ว
ร้องขอความกรุณาอยู่
เจ้าอย่าทิ้งเราผู้เป็นสามีคู่ชีวิตไปเลย
(ช้างพังหันกลับไปปลอบโยนพระโพธิสัตว์ว่า)
[๕๐] ข้าแต่ลูกเจ้า ดิฉันจะไม่ทิ้งท่าน
ผู้เป็นช้างมีอายุ ๖๐ ปี เสื่อมกำลัง
ท่านเป็นสามีสุดที่รักของดิฉัน
ยิ่งกว่าแผ่นดินอันมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
(ช้างพังอ้อนวอนปูทองว่า)
[๕๑] ท่านเป็นสัตว์น้ำที่ประเสริฐกว่าปูทั้งหลายในสมุทร
ในแม่น้ำคงคา และในแม่น้ำยมุนา
ขอท่านจงปล่อยสามีของข้าพเจ้าผู้ร้องไห้อยู่เถิด
สุวัณณกักกฏกชาดกที่ ๗ จบ
๘. อารามทูสกชาดก (๒๖๘)
ว่าด้วยลิงทำลายสวน
(พระโพธิสัตว์เห็นกิริยาของลิง จึงกล่าวว่า)
[๕๒] ลิงตัวที่ได้รับสมมติว่าประเสริฐที่สุด
กว่าลิงทั้งปวงที่มีชาติเสมอกัน ยังมีปัญญาเพียงแค่นี้
ส่วนลิงนอกจากนี้จะมีปัญญาเช่นไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๑๐. อุลูกชาดก
(พวกลิงได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้ว จึงกล่าวว่า)
[๕๓] ท่านผู้ประเสริฐ ท่านยังไม่รู้จึงได้ติเตียนอย่างนี้
พวกเราไม่เห็นรากแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า
ต้นไม้หยั่งรากลงลึกแค่ไหน
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๔] เราไม่ติเตียนพวกเจ้าที่เป็นลิงป่าหรอก
แต่ผู้ที่ควรถูกตำหนิคือพระเจ้าวิสสเสนะ
ที่พวกเจ้าปลูกต้นไม้ให้
อารามทูสกชาดกที่ ๘ จบ
๙. สุชาตาชาดก (๒๖๙)
ว่าด้วยทรงปรารภนางสุชาดา
(พระโพธิสัตว์เป็นโอรสของพระเจ้าพรหมทัตได้ตรัสกับพระมารดาว่า)
[๕๕] ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ
มีเสียงอันไพเราะ น่ารักน่าชม แต่พูดจาหยาบกระด้าง
ย่อมไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๕๖] พระองค์ทรงทอดพระเนตรแล้วมิใช่หรือ
นกดุเหว่าสีดำตัวนี้มีสีไม่สวย ลายพร้อยไปทั้งตัว
แต่เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายจำนวนมาก
เพราะร้องด้วยเสียงอันไพเราะ
[๕๗] เพราะฉะนั้นบุคคลควรพูดคำอันสละสลวย
คิดก่อนพูด พูดพอประมาณไม่ฟุ้งซ่าน
ถ้อยคำของผู้ที่แสดงเป็นอรรถเป็นธรรม
เป็นถ้อยคำอันไพเราะ เป็นถ้อยคำที่เป็นภาษิต
สุชาตาชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๑๐. อุลูกชาดก
๑๐. อุลูกชาดก (๒๗๐)
ว่าด้วยนกเค้า
(กาตัวหนึ่งไม่พอใจการตั้งนกเค้าให้เป็นราชา จึงกล่าวกับนกทั้งหลายว่า)
[๕๘] ได้ข่าวว่า พวกญาติทั้งหมดจะแต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่
ถ้าพวกญาติอนุญาต ข้าพเจ้าจะขอพูดสักคำหนึ่ง
(นกทั้งหลายอนุญาตว่า)
[๕๙] เอาเถิดเพื่อน พวกเราทั้งหมดอนุญาต
แต่เจ้าจงพูดแต่ถ้อยคำที่เป็นอรรถเป็นธรรมเท่านั้น
เพราะว่าพวกนกหนุ่ม ๆ ที่มีปัญญา
และทรงไว้ซึ่งญาณอันรุ่งเรืองยังมีอยู่
(กาได้รับอนุญาตแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๖๐] ขอความเจริญรุ่งเรืองจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
การที่แต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่นั้น ข้าพเจ้ายังไม่ชอบใจ
ท่านจงมองดูหน้านกเค้าที่ยังไม่โกรธดูซิ
ถ้านกเค้าโกรธจะทำหน้าอย่างไร
อุลูกชาดกที่ ๑๐ จบ
ปทุมวรรคที่ ๒ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปทุมชาดก ๒. มุทุปาณิชาดก
๓. จูฬปโลภนชาดก ๔. มหาปนาทชาดก
๕. ขุรัปปชาดก ๖. วาตัคคสินธวชาดก
๗. สุวัณณกักกฏกชาดก ๘. อารามทูสกชาดก
๙. สุชาตาชาดก ๑๐. อุลูกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๓. กัจฉปชาดก (๒๗๓)
๓. อุทปานวรรค
หมวดว่าด้วยบ่อน้ำ
๑. อุทปานทูสกชาดก (๒๗๑)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกทำลายบ่อน้ำ
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวกับสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๖๑] นี่เพื่อน ทำไมเจ้าจึงได้ถ่ายรดบ่อน้ำดื่มที่ขุดได้ยาก
ของพวกฤาษีชีไพรผู้บำเพ็ญตบะอยู่ตลอดกาลนานเล่า
(สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒] พวกเราดื่มน้ำที่ใดแล้วย่อมถ่ายลงที่นั้น
นั้นเป็นธรรมของพวกสุนัขจิ้งจอก
และเป็นธรรมของพวกเรามาตั้งแต่ครั้งบิดาและปู่
ท่านไม่ควรจะกล่าวโทษธรรมนั้น
(ต่อแต่นั้นพระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า)
[๖๓] ธรรมของพวกเจ้ายังเป็นเช่นนี้
ก็สภาพที่มิใช่ธรรมของพวกเจ้าจะเป็นเช่นไร
ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรม
หรือสภาพที่มิใช่ธรรมของพวกเจ้าในกาลไหน ๆ เลย
อุทปานทูสกชาดกที่ ๑ จบ
๒. พยัคฆชาดก (๒๗๒)
ว่าด้วยรุกขเทวดาอ้อนวอนราชสีห์และเสือ
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์ได้กล่าวกับรุกขเทวดานอกนี้ว่า)
[๖๔] เพราะการคบหามิตรใด ความปลอดภัยจะหมดไป
บัณฑิตควรรักษาลาภยศและชีวิตของตน
ที่มิตรนั้นเคยครอบครองมาก่อนเอาไว้ประดุจบุคคลรักษาดวงตา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๓. กัจฉปชาดก (๒๗๓)
[๖๕] เพราะการคบหากับมิตรใด ความปลอดภัยเพิ่มพูนมากขึ้น
บัณฑิตควรทำการช่วยเหลือในกิจทุกอย่างของมิตรนั้น
ให้เหมือนกับทำให้กับตนเอง
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๖๖] มาเถิดราชสีห์และเสือ พวกเจ้าจงกลับไปยังป่าใหญ่
ขอมนุษย์อย่าโค่นป่าที่ปราศจากราชสีห์และเสือ
ขอพวกราชสีห์และเสือก็อย่าปราศจากป่าเลย
พยัคฆชาดกที่ ๒ จบ
๓. กัจฉปชาดก (๒๗๓)
ว่าด้วยฤาษีขอร้องเต่า
(พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษีเมื่อจะล้อเล่นกับลิงทุศีล จึงกล่าวว่า)
[๖๗] ใครหนอเดินมาเหมือนคนถือภัตตาหารมาเต็มถาด
เหมือนพราหมณ์ได้ลาภเต็มมือ
เจ้าไปเที่ยวภิกขาจารที่ไหนหนอ เข้าไปหาผู้มีศรัทธาคนใดมา
(ลิงทุศีลได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๘] ข้าพเจ้าเป็นลิงโง่เขลาจับต้องสิ่งที่ไม่ควรจับต้อง
ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงช่วยปล่อยข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าหลุดพ้นแล้วจะไปยังภูเขา
(พระโพธิสัตว์เจรจากับเต่าว่า)
[๖๙] ธรรมดาเต่าเป็นต้นตระกูลกัสสปโคตร
ลิงเป็นต้นตระกูลโกณฑัญญโคตร
กัสสปะ ท่านจงปล่อยโกณฑัญญะเสียเถิด
ท่านได้เคยร่วมเมถุน๑กันมาแล้ว
กัจฉปชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เคยร่วมเมถุน ในที่นี้หมายถึงเต่าเคยเสพสังวาสกับลิง (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๖๙/๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๖. กุรุธัมมชาดก (๒๗๖)
๔. โลลชาดก (๒๗๔)
ว่าด้วยโทษของความโลเล
(นกพิราบโพธิสัตว์เห็นกานั้นทอดถอนใจอยู่ เมื่อจะล้อเล่น จึงกล่าวว่า)
[๗๐] นกยางอะไรนี่มีหงอน เป็นโจร มีเมฆเป็นปู่๑
แม่นกยาง เจ้าจงลงมาข้างล่างนี้เถิด
กาสหายของเราเป็นสัตว์ดุร้าย
(กาได้ฟังดังนั้น จึงตอบว่า)
[๗๑] เรามิใช่นกยางมีหงอนหรอก
เราเป็นกาโลเล ไม่เชื่อฟังคำของท่าน
ท่านจงมาดูเถิด เรากลายเป็นกามีขนเกรียนไปแล้ว
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๗๒] เพื่อนเอ๋ย เจ้าจักประสบความชั่วร้ายเช่นนี้อีก
เพราะปกติของเจ้าเป็นเช่นนั้น
อาหารของมนุษย์เป็นของที่นกไม่ควรกิน
โลลชาดกที่ ๔ จบ
๕. รุจิรชาดก (๒๗๕)
ว่าด้วยเรื่องนกกาที่น่ารัก
(พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๗๓] นกยางตัวนี้ช่างน่ารักเสียนี่กระไร
มาอาศัยอยู่ในรังกา
นั่นเป็นรังของกาดุร้ายสหายของเรา

เชิงอรรถ :
๑ มีก้อนเมฆเป็นปู่ ในที่นี้หมายถึงนกยางทั้งหลายจะตั้งครรภ์ (มีไข่) ได้ ต้องได้ยินเสียงเมฆครางกระหึ่ม
เสียก่อน จึงตั้งครรภ์ได้ (ดู อธิบาย วิ.อ. ๑/๒๒๒-๒๒๓) นี้เป็นธรรมดาของนกยาง (ขุ.ชา.อ. ๔/๗๐/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๖. กุรุธัมมชาดก (๒๗๖)
(กากล่าวว่า)
[๗๔] ท่านรู้จักเราดีมิใช่หรือ พิราบเพื่อนรัก
ผู้มีข้าวฟ่างและลูกเดือยเป็นอาหาร
เราไม่เชื่อฟังคำของท่าน ท่านจงมาดูเถิด
เรากลายเป็นกาขนเกรียนไปแล้ว
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๗๕] เพื่อนเอ๋ย เจ้าจักประสบความชั่วร้ายเช่นนี้อีก
เพราะปกติของเจ้าเป็นเช่นนั้น
อาหารของมนุษย์เป็นของที่นกไม่ควรกิน
รุจิรชาดกที่ ๕ จบ
๖. กุรุธัมมชาดก (๒๗๖)
ว่าด้วยธรรมของชาวกุรุ
(พราหมณ์ทั้งหลายสรรเสริญคุณของพระอุปราชโพธิสัตว์ว่า)
[๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่าเหล่าชน
ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบศรัทธาและศีลของพระองค์แล้ว
จะขอรับพระราชทานแลกเปลี่ยนทองคำกับพญาช้างอัญชนวรรณ
นำไปไว้ในแคว้นกาลิงคะ พระเจ้าข้า
(พระอุปราชโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๗๗] สัตว์ทั้งหมดนั้นที่พึงเลี้ยงด้วยข้าวก็ดี
ไม่พึงเลี้ยงด้วยข้าวก็ดี ในมนุษยโลกนี้ ตัวใดเจาะจงไปหา
เราไม่ควรปฏิเสธ นี้เป็นคำของบูรพาจารย์
[๗๘] พราหมณ์ทั้งหลาย เราจะให้พญาช้างนี้ที่สมควรแก่พระราชา
เหมาะที่พระราชาจะทรงใช้สอย มียศ ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
ปกคลุมกระพองด้วยข่ายทองคำแก่พวกท่านพร้อมทั้งนายควาญ
พวกท่านจงไปตามปรารถนาเถิด
กุรุธัมมชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๙. สตปัตตชาดก (๒๗๙)
๗. โรมชาดก (๒๗๗)
ว่าด้วยดาบสลวงนกพิราบโรมะ
(ดาบสโกงคิดจะลวงจับนกพิราบกิน จึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า)
[๗๙] โรมกะ เราอยู่ในถ้ำศิลามา ๕๐ กว่าปี
เมื่อก่อนนกทั้งหลายไม่หวาดระแวง
ไว้ใจจึงบินมาเกาะที่มือเรา
[๘๐] วักกังคะ คราวนี้ทำไม
นกเหล่านั้นจึงพยายามหนีไปอยู่ซอกเขาแห่งอื่น
นกทั้งหลายไม่นับถือเราเหมือนเมื่อก่อนกระมัง
หรือจากไปเสียนาน จึงจำเราไม่ได้
หรือนกพวกนี้มิใช่นกพวกนั้น
(นกพิราบโพธิสัตว์ได้ยินดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๑] พวกเราจำท่านได้ดี ไม่ลืมหรอก
ท่านก็คือดาบสรูปนั้นแหละ พวกเราก็ไม่ใช่นกพวกอื่น
แต่จิตของท่านประทุษร้ายในสัตว์เหล่านี้
ท่านอาชีวก เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงกลัวท่าน
โรมชาดกที่ ๗ จบ
๘. มหิสชาดก (๒๗๘)
ว่าด้วยลิงกับกระบือ
(รุกขเทวดาได้กล่าวกับกระบือโพธิสัตว์ว่า)
[๘๒] เพราะมุ่งหมายประโยชน์อะไรต่อลิงผู้มีจิตกลับกลอก
มีปกติประทุษร้ายมิตร ท่านจึงอดกลั้นทุกข์นี้ไว้
เหมือนคนอดกลั้นต่อเจ้านาย
ผู้ให้สิ่งที่ต้องการได้ทุกอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๙. สตปัตตชาดก (๒๗๙)
[๘๓] ท่านจงขวิดมัน จงเหยียบมัน
ถ้าไม่ปรามมันไว้บ้าง
พวกสัตว์โง่ก็จะพึงเบียดเบียนหนักข้อขึ้น
(กระบือโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๘๔] ก็เมื่อเจ้าลิงตัวนี้เข้าใจว่ากระบือตัวอื่นเหมือนข้าพเจ้า
จักกระทำอนาจารอย่างนี้
กระบือเหล่านั้นก็จักฆ่ามันเสียในที่นั้น
ข้าพเจ้าจักพ้นจากปาณาติบาต
มหิสชาดกที่ ๘ จบ
๙. สตปัตตชาดก (๒๗๙)
ว่าด้วยมาณพเข้าใจผิดนกกระไน
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๘๕] นางสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวไปในป่าปรารถนาดี
ประกาศให้รู้ในหนทาง
มาณพเข้าใจว่าเป็นผู้ไม่ปรารถนาดี
แต่เข้าใจนกกระไนผู้ไม่ปรารถนาดีว่า
เป็นผู้ปรารถนาดี ฉันใด
[๘๖] บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อผู้หวังดีกล่าวสอน ก็ไม่รับคำสอน
[๘๗] อนึ่ง ชนเหล่าใดสรรเสริญบุคคลนั้น
หรือยกย่องบุคคลนั้น เพราะความกลัว
เขาย่อมเข้าใจบุคคลนั้นว่าเป็นมิตร
เหมือนมาณพเข้าใจนกกระไน
สตปัตตชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๒. เสยยชาดก (๒๘๒)
๑๐. ปุฏทูสกชาดก (๒๘๐)
ว่าด้วยลิงผู้ชอบทำลายพวงดอกไม้
(พราหมณ์โพธิสัตว์เรียกลิงจ่าฝูงมาว่ากล่าวว่า)
[๘๘] พญาเนื้อ ท่านเห็นจะเป็นผู้ฉลาดในการทำห่อใบไม้เป็นแน่แท้
เพราะฉะนั้นจึงได้รื้อมันเสีย
คงจะกระทำพวงอื่นให้ดีกว่าเป็นแน่
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๘๙] มารดาบิดาของข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในการทำพวงใบไม้ก็หาไม่
พวกเราได้แต่รื้อสิ่งของที่เขาทำไว้แล้ว ๆ เท่านั้น
ตระกูลของพวกเรานี้มีธรรมอย่างนี้
(พราหมณ์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๙๐] ธรรมของพวกเจ้ายังเป็นเช่นนี้
ก็สภาพที่มิใช่ธรรมของพวกเจ้าจะเป็นเช่นไร
ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรม
หรือสภาพที่มิใช่ธรรมของพวกเจ้าในกาลไหน ๆ เลย
ปุฏทูสกชาดกที่ ๑๐ จบ
อุทปานวรรคที่ ๓ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุทปานทูสกชาดก ๒. พยัคฆชาดก
๓. กัจฉปชาดก ๔. โลลชาดก
๕. รุจิรชาดก ๖. กุรุธัมมชาดก
๗. โรมชาดก ๘. มหิสชาดก
๙. สตปัตตชาดก ๑๐. ปุฏทูสกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๒. เสยยชาดก (๒๘๒)
๔. อัพภันตรวรรค
หมวดว่าด้วยผลไม้ทิพย์ชื่ออัพภันตระ
๑. อัพภันตรชาดก (๒๘๑)
ว่าด้วยผลไม้ทิพย์ชื่ออัพภันตระ
(ท้าวสักกะทรงเจรจากับพระมเหสีของพระราชาว่า)
[๙๑] ผลของต้นมะม่วงที่ชื่ออัพภันตระ เป็นผลไม้ทิพย์
หญิงแพ้ท้องบริโภคแล้ว จะประสูติโอรสเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
[๙๒] พระนางผู้เจริญ แม้พระนางก็จะได้เป็นพระมเหสี
ทั้งจะได้เป็นที่โปรดปรานของพระสวามี
พระราชาจักทรงนำผลมะม่วงชื่ออัพภันตระนี้
มาพระราชทานแก่พระนาง
(นกแขกเต้าสุวโปตกะได้กล่าวกับพวกรากษสว่า)
[๙๓] บุคคลผู้กล้าหาญยอมเสียสละชีวิตร่างกาย
พยายามทำประโยชน์แก่ผู้ที่เลี้ยงดูตนมา
ย่อมประสบฐานะอันใด ข้าพเจ้าก็จะประสบฐานะอันนั้นเช่นกัน
อัพภันตรชาดกที่ ๑ จบ
๒. เสยยชาดก (๒๘๒)
ว่าด้วยคบคนดีผู้คบก็เป็นคนดี
(พระราชาโพธิสัตว์สนทนากับเหล่าอำมาตย์ว่า)
[๙๔] ผู้ใดคบหาบุคคลผู้ประเสริฐ
ผู้นั้นชื่อว่ามีส่วนอันประเสริฐ เป็นผู้ประเสริฐ
เรากระทำไมตรีกับพระราชาโจรองค์เดียวแล้ว
ได้ปลดปล่อยพวกท่านตั้ง ๑๐๐ คนให้พ้นการถูกประหารชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๕. มณิสูกรชาดก (๒๘๕)
[๙๕] เพราะฉะนั้น บุคคลเพียงผู้เดียว
กระทำไมตรีกับชาวโลกทั้งปวง
ละโลกนี้ไปแล้วพึงไปสู่สวรรค์
พวกท่านผู้เป็นชาวกาสีจงฟังคำของเรานี้เถิด
(พระศาสดาตรัสพระคาถาว่า)
[๙๖] พระเจ้ากังสมหาราชผู้ทรงปกครองกรุงพาราณสี
ครั้นทรงมีพระดำรัสนี้แล้ว ทรงสละธนูและลูกศร
ทรงสำรวมออกผนวชแล้ว
เสยยชาดกที่ ๒ จบ
๓. วัฑฒกีสูกรชาดก (๒๘๓)
ว่าด้วยสุกรชื่อวัฑฒกี
(ชฎิลโกงเห็นเสือโคร่งกลับมาตัวเปล่า จึงกล่าวกับเสือโคร่งว่า)
[๙๗] เจ้าเสือโคร่ง ในวันก่อนเจ้าเที่ยวย่ำยีเหล่าสุกรที่นี้
แต่บัดนี้ เจ้าซบเซามาแต่ผู้เดียว
วันนี้ เจ้าไม่มีแรงหรือ เสือโคร่ง
(เสือโคร่งได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๙๘] ได้ยินว่า ในวันก่อนสุกรเหล่านี้เห็นข้าพเจ้าแล้วเกิดความกลัว
แยกย้ายกันวิ่งหนีไปหาที่ซุกซ่อนตัวละทิศละทาง
แต่วันนี้สุกรเหล่านั้นมาอยู่รวมกันในชัยภูมิที่ข้าพเจ้าจะย่ำยีได้ยาก
(เทวดาที่สิงสถิตอยู่ในไพรสณฑ์นั้นได้กล่าวว่า)
[๙๙] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมฝูงสุกรที่มาประชุมพร้อมกัน
ข้าพเจ้าเห็นด้วยตัวเองซึ่งมิตรภาพอันไม่เคยปรากฏมาก่อน
จึงกล่าวสรรเสริญฝูงสูกรที่มีเขี้ยวเป็นกำลังจึงชนะเสือโคร่งได้
และพ้นมรณภัยได้ด้วยความสามัคคี
วัฑฒกีสูกรชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๕. มณิสูกรชาดก (๒๘๕)
๔. สิริชาดก (๒๘๔)
ว่าด้วยสมบัติเกิดขึ้นแก่ผู้มีบุญ
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๐๐] ผู้ไม่มีบุญจะมีศิลปะหรือไม่มีศีลปะก็ตามที
ขวนขวายรวบรวมทรัพย์ใดไว้เป็นจำนวนมาก
ทรัพย์นั้นผู้มีบุญย่อมได้ใช้สอย
[๑๐๑] สมบัติจำนวนมากล่วงเลยคนเหล่าอื่นไปเสีย
ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้กระทำบุญไว้ในที่ทั้งปวงเท่านั้น
แม้รัตนะทั้งหลายก็เกิดขึ้นในที่มิใช่บ่อเกิดแห่งรัตนะ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงรัตนะเหล่านั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๒] ไก่ แก้วมณี ไม้เท้า และหญิงชื่อปุญญลักขณาเทวี
เกิดขึ้นแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ไม่ทำบาปทำแต่บุญไว้แล้ว
สิริชาดกที่ ๔ จบ
๕. มณิสูกรชาดก (๒๘๕)
ว่าด้วยสุกรพยายามทำลายแก้วมณี
(สุกรทั้งหลายไม่เห็นอุบายจึงเข้าไปหาดาบสโพธิสัตว์ไหว้แล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๐๓] พวกข้าพเจ้าประมาณ ๓๐ ตัว
ได้อาศัยอยู่ในถ้ำแก้วมณีถึง ๗ ปี
ได้ปรึกษากันว่า พวกเราจะทำลายประกายของแก้วมณี
[๑๐๔] แก้วมณีกลับผ่องใสยิ่งขึ้น
ตลอดเวลาที่พวกข้าพเจ้าเสียดสีมันอยู่
บัดนี้ พวกข้าพเจ้าขอถามถึงกิจนี้
ท่านเข้าใจกิจนี้อย่างไรในเรื่องนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๘. มัจฉุททานชาดก (๒๘๘)
(ดาบสโพธิสัตว์บอกแก่สุกรเหล่านั้นว่า)
[๑๐๕] แก้วไพฑูรย์นี้บริสุทธิ์งามผ่องใส
ไม่มีใครสามารถจะทำลายรัศมีของแก้วไพฑูรย์นั้นให้เสียหายได้
สุกรทั้งหลาย พวกท่านจงพากันหนีไปเถิด
มณิสูกรชาดกที่ ๕ จบ
๖. สาลูกชาดก (๒๘๖)
ว่าด้วยสุกรสาลูกะถูกเลี้ยงไว้ฆ่า
(โคมหาโลหิตโพธิสัตว์ได้กล่าวกับโคจูฬโลหิตผู้น้องว่า)
[๑๐๖] เจ้าอย่าปรารถนาเป็นเช่นสุกรสาลูกะเลย
เพราะสุกรสาลูกะนี้กินอาหารที่ทำให้เดือดร้อน
เจ้าอย่าทะเยอทะยานไปนัก จงกินต้นข้าวลีบเถิด
นั่นเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้มีอายุยืน
[๑๐๗] อีกไม่นานนัก ข้าราชสำนักพร้อมกับบริวารนั้นจะเป็นแขกมาที่นี้
ตอนนั้นเจ้าจะเห็นสุกรสาลูกะถูกตีด้วยสากนอนตายอยู่
(พระศาสดาตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๐๘] ครั้นเห็นสุกรสาลูกะถูกฆ่าด้วยสากนอนตายถูกชำแหละอยู่
โคแก่ทั้ง ๒ ได้คิดว่า ต้นข้าวลีบของพวกเราเท่านั้นประเสริฐที่สุด
สาลูกชาดกที่ ๖ จบ
๗. ลาภครหชาดก (๒๘๗)
ว่าด้วยวิธีการหลอกลวงเพื่อแสวงหาลาภ
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์ได้ตรัสกับมาณพผู้เป็นศิษย์ว่า)
[๑๐๙] ไม่บ้าก็ทำเป็นเหมือนคนบ้า
ไม่ใช่คนส่อเสียดก็ทำเป็นเหมือนคนส่อเสียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๘. มัจฉุททานชาดก (๒๘๘)
ไม่ใช่นักฟ้อนรำก็ทำเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ
ไม่ตื่นข่าวก็ทำเป็นเหมือนตื่นข่าว
ย่อมได้ลาภในบุคคลที่ลุ่มหลงงมงาย
นี้เป็นคำสอนสำหรับเธอ
(ลูกศิษย์ได้ฟังคำของอาจารย์แล้ว จึงติเตียนลาภว่า)
[๑๑๐] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
หรือประพฤติไม่เป็นธรรม
[๑๑๑] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม
ลาภครหชาดกที่ ๗ จบ
๘. มัจฉุททานชาดก (๒๘๘)
ว่าด้วยบุญที่ให้ทานแก่ปลา
(กุฎุมพีโพธิสัตว์ตรวจดูห่อทรัพย์แล้วจำตราของตนได้ จึงกล่าวว่า)
[๑๑๒] ปลาทั้งหลายมีราคาเกินกว่า ๑,๐๐๐ กหาปณะ
กับ ๗ มาสก ไม่มีคนที่จะเชื่อเรื่องนี้
แต่สำหรับข้าพเจ้ามีเงินอยู่ ๗ มาสก
ก็ซื้อปลาพวงนั้นได้
(เทวดาประจำแม่น้ำปรากฏกายอยู่ในอากาศ กล่าวว่า)
[๑๑๓] ท่านได้ให้อาหารแก่ฝูงปลาแล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่ข้าพเจ้า
เมื่อระลึกถึงส่วนกุศลนั้นและความอ่อนน้อมที่ท่านได้กระทำแล้ว
จึงรักษาทรัพย์ของท่านไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๑๐. สีลวีมังสกชาดก (๒๙๐)
(เทวดาบอกการโกงที่น้องชายกระทำแก่พระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๔] ผู้ใดทำกรรมชั่ว
ล่อลวงเอาทรัพย์สมบัติของพี่น้องชายของพ่อแม่
ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้มีจิตชั่วร้าย
ย่อมไม่มีความเจริญ
แม้เทวดาก็ไม่นับถือเขา
มัจฉุททานชาดกที่ ๘ จบ
๙. นานาฉันทชาดก (๒๘๙)
ว่าด้วยความต้องการที่ต่างกัน
(พราหมณ์กล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๕] ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายอยู่ในเรือนหลังเดียวกัน
แต่มีความต้องการต่างกัน คือ ข้าพระองค์ต้องการบ้านส่วย
ส่วนนางพราหมณีต้องการแม่โคนม ๑๐๐ ตัว
[๑๑๖] บุตรของข้าพระองค์ต้องการรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย
หญิงสะใภ้ต้องการต่างหูแก้วมณี
ส่วนนางปุณณิกาทาสีผู้ต่ำต้อยต้องการครก
กระด้ง และสาก พระเจ้าข้า
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๑๗] ท่านทั้งหลายจงให้บ้านส่วยแก่พราหมณ์
แม่โคนม ๑๐๐ ตัวแก่นางพราหมณี
รถเทียมม้าอาชาไนยแก่บุตรของพราหมณ์
ต่างหูแก้วมณีแก่หญิงสะใภ้
และครก กระด้ง สากแก่นางปุณณิกาทาสีผู้ต่ำต้อย
นานาฉันทชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๑๐. สีลวีมังสกชาดก (๒๙๐)
๑๐. สีลวีมังสกชาดก (๒๙๐)
ว่าด้วยการพิจารณาอานิสงส์ของศีล
(พราหมณ์ได้กราบทูลพระราชาถึงการกระทำของตนเพราะต้องการจะทดลอง
ศีลว่า)
[๑๑๘] ได้ยินว่า ศีลเป็นสิ่งที่ดีงาม
ศีลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในโลก
ดูเถิด นาคที่พิษร้ายแรงยังไม่เบียดเบียนใคร ๆ
เพราะสำนึกอยู่ว่าตนมีศีล
[๑๑๙] เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองว่า
เป็นสิ่งที่ปลอดภัยในโลก
ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีลได้รับการขนานนามว่า
เป็นผู้ประพฤติข้อปฏิบัติของพระอริยะ
[๑๒๐] ผู้มีศีลเป็นที่รักของหมู่ญาติ
และรุ่งเรืองในหมู่มิตร
หลังจากตายแล้วจะไปสู่สุคติ
สีลวีมังสกชาดกที่ ๑๐ จบ
อัพภันตรวรรคที่ ๔ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัพภันตรชาดก ๒. เสยยชาดก
๓. วัฑฒกีสูกรชาดก ๔. สิริชาดก
๕. มณิสูกรชาดก ๖. สาลูกชาดก
๗. ลาภครหชาดก ๘. มัจฉุททานชาดก
๙. นานาฉันทชาดก ๑๐. สีลวีมังสกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๔. ชัมพุขาทกชาดก (๒๙๔)
๕. กุมภวรรค
หมวดว่าด้วยหม้อสมบัติ
๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก (๒๙๑)
ว่าด้วยคนเขลาย่อมเดือดร้อนเพราะทำลายหม้อสมบัติ
(พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาประมวลชาดก ตรัสพระคาถาว่า)
[๑๒๑] นักเลงได้หม้อที่สามารถจะบันดาลสิ่งที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง
เขาย่อมประสบความสุขตลอดเวลาที่ยังรักษาหม้อนั้นไว้ได้
[๑๒๒] เมื่อใด เขาเมาสุรา คะนอง
ทำลายหม้อเสียเพราะความเมา
เมื่อนั้น เขาจะเป็นคนเปลือยนุ่งห่มผ้าเก่า
กลายเป็นคนโง่เง่าเดือดร้อนในภายหลัง
[๑๒๓] ผู้ใดโง่เขลา ประมาท ได้ทรัพย์แล้วใช้สอยไปทำนองนี้
ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
เหมือนนักเลงทำลายหม้อขุมทรัพย์
ภัทรฆฏเภทกชาดกที่ ๑ จบ
๒. สุปัตตชาดก (๒๙๒)
ว่าด้วยเมียพญากาสุปัตตะแพ้ท้อง
(กากราบทูลพระราชาถึงเหตุที่ตนกระทำความชั่วว่า)
[๑๒๔] ข้าแต่มหาราช พญากาชื่อสุปัตตะ
มีบริวาร ๘๐,๐๐๐ ตัวแวดล้อม อาศัยอยู่ที่กรุงพาราณสี
[๑๒๕] เมียพญากานั้นชื่อนางสุปัสสาแพ้ท้อง
ต้องการจะกินพระกระยาหารของพระราชาอันมีค่ามาก
ที่พวกพ่อครัวปรุงแล้วในห้องเครื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๔. ชัมพุขาทกชาดก (๒๙๔)
[๑๒๖] ข้าพระองค์เป็นทูตของกาเหล่านั้น
ถูกพญากาส่งมา จึงได้มา ณ ที่นี้
ข้าพระองค์จะกระทำความจงรักภักดีต่อเจ้านาย
จึงได้จิกจมูกคนเชิญเครื่องเสวยให้เป็นแผล
สุปัตตชาดกที่ ๒ จบ
๓. กายนิพพินทชาดก (๒๙๓)
ว่าด้วยความเบื่อหน่ายร่างกาย
(ฤๅษีโพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๗] เมื่อเราถูกโรคภัยอย่างใดอย่างหนึ่งเบียดเบียนอยู่
ได้รับทุกข์อย่างแรงกล้า
ร่างกายนี้จักซูบซีดโดยฉับพลัน
เหมือนดอกไม้ตกอยู่ที่ทรายกลางแดด
[๑๒๘] ร่างกายอันไม่น่าพอใจกลับเป็นสิ่งที่น่าพอใจ
ไม่สะอาดกลับเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่สะอาด
เต็มไปด้วยซากศพนานาชนิด
ปรากฏเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้ไม่เห็นความจริง
[๑๒๙] น่าติเตียนนัก ร่างกายอันเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย
น่าเกลียด ไม่สะอาด มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา
ที่หมู่สัตว์พากันมัวเมาหมกมุ่นอยู่
แล้วทำทางที่จะเข้าถึงสุคติให้เสื่อม
กายนิพพินทชาดกที่ ๓ จบ
๔. ชัมพุขาทกชาดก (๒๙๔)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกอยากกินลูกหว้า
(สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งต้องการจะลวงกากินลูกหว้าแสร้งสรรเสริญกาว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๖. สมุททชาดก (๒๙๖)
[๑๓๐] ใครนั่นมีเสียงหยดย้อยยอดเยี่ยม
กว่าสัตว์ที่มีเสียงไพเราะทั้งหลาย จับอยู่ที่กิ่งต้นหว้า
เจรจาด้วยสำเนียงอันน่าพอใจ คล้ายลูกนกยูง
(กาสรรเสริญตอบสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๑๓๑] กุลบุตรรู้จักสรรเสริญกุลบุตรด้วยกัน
นี่ท่านผู้มีผิวพรรณเช่นกับลูกเสือโคร่ง
เชิญท่านบริโภคเถิดเพื่อน
เราจะให้ลูกหว้าสุกแก่ท่าน
(เทวดาโพธิสัตว์เห็นกากับสุนัขจิ้งจอกกล่าวยกย่องกันตามที่ไม่เป็นจริง จึง
กล่าวว่า)
[๑๓๒] เราเห็นมานานแล้ว
คนที่มาประชุมกันพูดเท็จ สรรเสริญกันเอง
คือ กากินอาหารที่เขาคายแล้วและสุนัขจิ้งจอกกินซากศพ
ชัมพุขาทกชาดกที่ ๔ จบ
๕. อันตชาดก (๒๙๕)
ว่าด้วยที่สุด ๓ อย่าง
(กาตัวหนึ่งต้องการจะลวงสุนัขจิ้งจอกกินเนื้อ จึงกล่าวว่า)
[๑๓๓] พญาเนื้อ ลำตัวของท่านเหมือนพญาโคอุสภะ
การเยื้องกรายของท่านดุจพญาราชสีห์
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ข้าพเจ้าจะได้อะไรบ้างเล่า
(สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๔] กุลบุตรรู้จักสรรเสริญกุลบุตรด้วยกัน
นี่พ่อกาผู้มีสร้อยคองามเหมือนนกยูง
เชิญท่านลงจากต้นละหุ่งเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๖. สมุททชาดก (๒๙๖)
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์เห็นกิริยาของกากับสุนัขจิ้งจอก จึงกล่าวว่า)
[๑๓๕] บรรดามฤคชาติทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่เลวที่สุด
บรรดาปักษีทั้งหลาย กาเป็นสัตว์ที่เลวที่สุด
และบรรดารุกขชาติทั้งหลาย ต้นละหุ่งเป็นต้นไม้ที่เลวที่สุด
ที่สุด ๓ อย่าง มาประจวบกันเข้าแล้ว
อันตชาดกที่ ๕ จบ
๖. สมุททชาดก (๒๙๖)
ว่าด้วยสมุทร
(เทวดาโพธิสัตว์ประจำสมุทรเห็นกิริยาของกา จึงกล่าวว่า)
[๑๓๖] นี่ใครหนอ เที่ยวบินเวียนวนอยู่รอบทะเลน้ำเค็ม
คอยห้ามหมู่ปลาและหมู่มังกรอยู่
จึงเดือดร้อนอยู่ในเกลียวคลื่น
(กาน้ำได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๗] ข้าพเจ้าเป็นนกชื่ออนันตปายี
ปรากฏไปทั่วทุกทิศว่า เป็นผู้ไม่รู้จักอิ่ม
ต้องการจะดื่มสมุทรสาคร อันเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำลำธาร
(เทวดาประจำสมุทรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๘] ห้วงน้ำใหญ่นี้นั้นจะลดลงหรือเต็มอยู่ก็ตามที
ที่สุดของน้ำแห่งห้วงน้ำใหญ่นั้นที่บุคคลดื่มแล้ว
ใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้
ได้ยินว่า สาครอันใคร ๆ ไม่อาจดื่มให้หมดสิ้นไปได้
สมุททชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๙. โกมาริยปุตตชาดก (๒๙๙)
๗. กามวิลาปชาดก (๒๙๗)
ว่าด้วยผู้เพ้อถึงกาม
(บุรุษผู้ที่ถูกเสียบอยู่บนปลายหลาวเห็นกาบินมาทางอากาศ เรียกกามาเพื่อ
จะส่งข่าวถึงภรรยาสุดที่รัก จึงกล่าวว่า)
[๑๓๙] นกผู้มีปีกเป็นยานพาหนะบินได้สูง
ขอท่านช่วยบอกภรรยาของข้าพเจ้า
ผู้มีขาอ่อนประดุจลำต้นกล้วยให้ทราบด้วย
เมื่อนางไม่รู้จักรอคอยข้าพเจ้าเป็นเวลานาน
[๑๔๐] นางเองเป็นคนโหดร้าย ยังไม่รู้ว่าหลาวนี้เขาปักไว้
เพื่อเสียบประจานข้าพเจ้า ก็จะโกรธ
ความโกรธของนางย่อมทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน
แต่หลาวในที่นี้ไม่ทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อนเลย
[๑๔๑] หอก เกราะ และแหวนวงเล็ก ๆ ที่ทำด้วยทองเนื้อห้า
อนึ่ง ผ้าแคว้นกาสีอันมีเนื้อละเอียด
ข้าพเจ้าได้เก็บไว้ที่หัวนอน
ขอนางผู้มีความต้องการด้วยทรัพย์
จงยินดีด้วยทรัพย์ที่มีประมาณเท่านี้เถิด
กามวิลาปชาดกที่ ๗ จบ
๘. อุทุมพรชาดก (๒๙๘)
ว่าด้วยลิงหลอกลิงด้วยผลมะเดื่อ
(ลิงใหญ่หน้าดำตัวหนึ่งคิดจะลวงลิงเล็กเพื่อยึดที่อยู่ จึงกล่าวกับลิงเล็กว่า)
[๑๔๒] ต้นมะเดื่อ ต้นไทร และต้นมะขวิดเหล่านี้มีผลสุก
เจ้าจงออกมากินเถิด
จะยอมตายเพราะความหิวทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๙. โกมาริยปุตตชาดก (๒๙๙)
(ลิงเล็ก ๆ เชื่อแล้วไป แต่ไม่ได้อะไร จึงกลับมาพบลิงใหญ่แล้วคิดจะลวงลิง
ใหญ่นั้นบ้าง จึงกล่าวว่า)
[๑๔๓] ผู้ใดอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่
ผู้นั้นย่อมเป็นผู้อิ่มหนำสำราญ
เหมือนข้าพเจ้าได้กินผลไม้สุกจนอิ่มหนำสำราญในวันนี้
(ลิงใหญ่ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔๔] ลิงลวงลิงป่าเพราะเหตุใด
เหตุนั้นลิงหนุ่มก็ไม่ควรเชื่อ ถึงลิงแก่เฒ่าก็ไม่ควรเชื่อ
อุทุมพรชาดกที่ ๘ จบ
๙. โกมาริยปุตตชาดก (๒๙๙)
ว่าด้วยลิงอ้างโกมาริยบุตรเป็นอาจารย์
(ดาบสเหล่านั้นเมื่อจะถามลิง ได้กล่าวว่า)
[๑๔๕] เมื่อก่อน เจ้าได้โลดเต้นเล่นคะนอง
ในสำนักของพวกเราผู้มีปกติเล่นคะนอง
ลิงเอ๋ย เจ้ามาทำกิริยาของลิงในอาศรมของพวกเราอีก
พวกเราไม่พอใจปกติของเจ้านั้นเลย
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔๖] เพราะฌานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว
จากสำนักอาจารย์ชื่อโกมาริยบุตรผู้เป็นพหูสูต๑
บัดนี้ ท่านอย่าได้สำคัญข้าพเจ้าเหมือนเมื่อก่อนเลย
ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าบำเพ็ญฌานอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ผู้เป็นพหูสูต ในที่นี้หมายถึงผู้ได้ยินได้ฟังและแทงตลอดกสิณบริกรรมเป็นอันมาก และสมาบัติ ๘ (ขุ.ชา.อ.
๔/๑๔๖/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้
(ดาบสเหล่านั้นกล่าวว่า)
[๑๔๗] แม้ถ้าบุคคลจะพึงหว่านพืชลงบนแผ่นหิน
และฝนจะพึงตกลงมาก็ตามที
พืชนั้นจะพึงงอกขึ้นมาหาได้ไม่
เจ้าลิงเอ๋ย จริงอยู่ ฌานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
ถึงเจ้าจะได้สดับมาแล้ว
เจ้าก็ยังอยู่ห่างไกลภูมิฌานนั่นอยู่ดี
โกมาริยปุตตชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. วกชาดก (๓๐๐)
ว่าด้วยหมาใน
(พระศาสดาตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๔๘] หมาในมีเนื้อและเลือดเป็นอาหาร
มีชีวิตอยู่ได้เพราะฆ่าสัตว์อื่น
สมาทานวัตรแล้วเข้าจำอุโบสถ
[๑๔๙] ท้าวสักกะทรงทราบถึงข้อปฏิบัติของหมาในนั้นแล้ว
ทรงจำแลงเพศเป็นแพะเข้าไปหา
หมาในนั้นต้องการจะดื่มเลือดจึงตบะแตก
โผเข้าไปหาแพะนั้น
ทำลายตบะที่ตนได้สมาทานแล้ว
[๑๕๐] บุคคลบางคนในโลกนี้ก็เหมือนกัน
สมาทานข้อปฏิบัติอย่างเพลา ทำตนกลับกลอก
เหมือนหมาในกลับกลอกเพราะแพะเป็นเหตุ
วกชาดกที่ ๑๐ จบ
กุมภวรรคที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก ๒. สุปัตตชาดก
๓. กายนิพพินทชาดก ๔. ชัมพุขาทกชาดก
๕. อันตชาดก ๖. สมุททชาดก
๗. กามวิลาปชาดก ๘. อุทุมพรชาดก
๙. โกมาริยปุตตชาดก ๑๐. วกชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. สังกัปปวรรค ๒. ปทุมวรรค
๓. อุทปานวรรค ๔. อัพภันตรวรรค
๕. กุมภวรรค

ติกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๕ }


๔. จตุกกนิบาต
๑. กาลิงควรรค
หมวดว่าด้วยพระเจ้ากาลิงคะ
๑. จูฬกาลิงคชาดก (๓๐๑)
ว่าด้วยพระเจ้าจูฬกาลิงคะ
(นันทิเสนอำมาตย์เรียกคนรักษาประตูพระนคร ให้เขาเปิดประตูรับพระราชธิดา
ของพระเจ้าอัสสกะว่า)
[๑] ท่านทั้งหลายจงเปิดประตูถวายพระราชธิดาเหล่านี้
ขอพระราชธิดาเหล่านี้จงเสด็จเข้าพระนคร
ซึ่งข้าพเจ้าผู้มีนามว่านันทิเสนผู้เป็นดุจสีหะ
ได้รับการสั่งสอนมาดี ผู้เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าอรุณ
ได้จัดการรักษาไว้ดีแล้ว
(พระเจ้ากาลิงคะทรงกลัวต่อมรณภัย จึงด่าดาบสว่า)
[๒] ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านได้กล่าวว่า
ชัยชนะจะมีแก่พระเจ้ากาลิงคะ
ผู้สามารถย่ำยีบุคคลที่ใครย่ำยีไม่ได้
ส่วนความปราชัย ความหายนะจะมีแก่พระเจ้าอัสสกะ
คนซื่อย่อมไม่พูดเท็จ
(ดาบสทูลถามท้าวสักกะว่า)
[๓] ข้าแต่ท้าวสักกะ พวกเทวดายังกล่าวเท็จอยู่อีกหรือ
บรรดาคำเหล่านั้น คำสัตย์เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ข้าแต่ท้าวมัฆวานเทวราชผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรจึงตรัสคำเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๖ }

๑. กาลิงควรรค ๒. มหาอัสสาโรหชาดก (๓๐๒)
(ท้าวสักกะทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๔] พราหมณ์ ท่านเคยฟังมาแล้วมิใช่หรือ เขากล่าวกันว่า
เทวดาทั้งหลายกีดกันความบากบั่นของคนไว้ไม่ได้
การฝึกตนก็ดี ความตั้งใจไว้อย่างมั่นคงก็ดี
ความมีใจไม่แตกแยกก็ดี ความไม่ท้อถอยก็ดี
การรุกในเวลาที่ควรรุกก็ดี ความเพียรอันมั่นคงก็ดี
ความบากบั่นของคนก็ดี ได้มีแก่พระเจ้าอัสสกะ
เพราะเหตุนั้นแหละ ชัยชนะจึงได้มีแก่พระเจ้าอัสสกะ
จูฬกาลิงคชาดกที่ ๑ จบ
๒. มหาอัสสาโรหชาดก (๓๐๒)
ว่าด้วยพระเจ้ามหาอัสสาโรหะ
(พระราชาโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พระโอรสว่า)
[๕] ผู้ใดเมื่อให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรจะให้
ไม่ให้ในบุคคลที่ควรจะให้
ผู้นั้นแม้ประสบทุกข์ในคราวมีอันตราย
ก็หาเพื่อนช่วยเหลือไม่ได้
[๖] ผู้ใดเมื่อไม่ให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรจะให้
ให้ทานในบุคคลที่ควรจะให้
ผู้นั้นแม้ประสบทุกข์ในคราวมีอันตราย
ก็ได้เพื่อนที่จะช่วยเหลือ
[๗] การแสดงคุณวิเศษแห่งการเกี่ยวข้องผูกพันกันฉันมิตร
ในชนทั้งหลายผู้ไม่เป็นพระอริยะ โอ้อวด ย่อมจะไร้ผล
ส่วนการแสดงคุณวิเศษแห่งการเกี่ยวข้องเป็นต้นนั้นแม้เล็กน้อย
ซึ่งบุคคลกระทำแล้วในชนทั้งหลาย ผู้เป็นพระอริยะ
ซื่อตรงและคงที่ ย่อมมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๕. สีลวีมังสชาดก (๓๐๕)
[๘] ผู้ใดได้ทำคุณงามความดีไว้ก่อน
ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งในโลก
ภายหลังเขาจะทำหรือไม่ทำก็ตามที
ชื่อว่าเป็นผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง
มหาอัสสาโรหชาดกที่ ๒ จบ
๓. เอกราชชาดก (๓๐๓)
ว่าด้วยพระเจ้าเอกราช
(พระเจ้าทุพภิเสนทรงขอโทษพระเจ้าเอกราชแล้ว ตรัสว่า)
[๙] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช เมื่อก่อนพระองค์เสวยกามคุณ
ที่สมบูรณ์ยอดเยี่ยม มาบัดนี้พระองค์ถูกโยนลงในหลุมอันขรุขระ
ก็ยังไม่ทรงละพระฉวีวรรณและพระกำลังอันมีอยู่แต่ก่อน
(พระเจ้าเอกราชผู้เป็นพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐] พระเจ้าทุพภิเสน เมื่อก่อนหม่อมฉันมีขันติ
และตบะสมปรารถนามาแล้ว
หม่อมฉันได้ขันติและตบะนั้นแล้ว
จะพึงละฉวีวรรณและกำลังอันมีอยู่แต่ก่อนทำไมเล่า
[๑๑] พระองค์ผู้เรืองยศ ปรากฏพระปรีชาญาณ
ทรงทนทานเป็นพิเศษ ทราบว่า กรณียกิจทุกอย่าง
หม่อมฉันได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งยังได้ยศที่สูงส่งที่ไม่เคยได้มาก่อน
เพราะเหตุไรจะพึงละฉวีวรรณและกำลังอันมีอยู่แต่ก่อนเสียเล่า
[๑๒] พระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันบรรเทาความสุข
ด้วยความทุกข์ และข่มความทุกข์ด้วยความสุข
สัตบุรุษเช่นหม่อมฉันวางตนเป็นกลางในความสุขและความทุกข์
เพราะมีความเยือกเย็นในภาวะทั้ง ๒ นั้น
เอกราชชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๕. สีลวีมังสชาดก (๓๐๕)
๔. ทัททรชาดก (๓๐๔)
ว่าด้วยนาคทัททระ
(นาคจูฬทัททระอดทนความดูหมิ่นไม่ได้ จึงพูดกับนาคผู้เป็นพี่ชายว่า)
[๑๓] เจ้าพี่ทัททระ วาจาอันหยาบคายในมนุษยโลกเหล่านี้
ทำให้หม่อมฉันเดือดร้อน
พวกเด็กชาวบ้านไม่มีพิษนี้ ด่าหม่อมฉันผู้มีพิษร้ายว่า
พวกสัตว์กินกบกินเขียด พวกสัตว์น้ำ
(นาคมหาทัททรโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔] บุคคลผู้ถูกขับไล่จากบ้านเมืองของตนไปอยู่ถิ่นอื่น
พึงสร้างฉางใหญ่ไว้เก็บคำพูดที่หยาบคาย
[๑๕] สถานที่ใด ประชาชนไม่รู้จักสัตว์โดยชาติ หรือโดยวินัย
สถานที่นั้น เขาเมื่ออยู่ในกลุ่มชนที่ไม่มีใครรู้จักเลย ไม่ควรมีมานะ
[๑๖] ผู้มีปัญญาแม้จะเปรียบด้วยไฟป่า เมื่ออยู่ยังต่างถิ่น
ก็ควรอดทนถ้อยคำคุกคามแม้ของผู้เป็นทาส
ทัททรชาดกที่ ๔ จบ
๕. สีลวีมังสชาดก (๓๐๕)
ว่าด้วยการทดลองศีล
(พราหมณ์โพธิสัตว์กล่าวกับอาจารย์ว่า)
[๑๗] ขึ้นชื่อว่าสถานที่ลับสำหรับกระทำกรรมชั่วไม่มีอยู่ในโลก
ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าก็ยังมีคนเห็น
คนพาลสำคัญอยู่ว่า กรรมชั่วนั้นเราได้ทำในสถานที่ลับ
[๑๘] ข้าพเจ้าไม่พบสถานที่ลับ แม้สถานที่ว่างก็ไม่มี
ในสถานที่ใด ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่าว่าง
แม้สถานที่นั้น ก็ไม่ว่างจากข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๙ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น