Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๘ หน้า ๓๗๒ - ๔๒๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๘ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๙] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุกัจฉา แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า ขุรมาลี
(พวกพ่อค้าถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๐] ทะเลปรากฏเหมือนกองไฟและดวงอาทิตย์
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์กล่าวแก่พวกพ่อค้านั้นว่า)
[๑๑๑] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุกัจฉา แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า อัคคิมาลี
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๑๒] ทะเลปรากฏเหมือนนมส้มและนมสด
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๑๓] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุกัจฉา แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า ทธิมาลี
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๑๔] ทะเลปรากฏเหมือนหญ้าคาและข้าวกล้า
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๑๕] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุกัจฉา แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า กุสมาลี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๑๖] ทะเลปรากฏเหมือนต้นอ้อและต้นไผ่
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๑๗] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุคัจฉะ แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า นฬมาลี
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๑๘] เสียงน่ากลัวมาก น่าสยดสยอง ฟังคล้ายเสียงของอมนุษย์
ทะเลปรากฏเหมือนเป็นหลุมเป็นบ่อ
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๑๙] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุคัจฉะ แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า พลวามุขี
[๑๒๐] ตั้งแต่ข้าพเจ้ารู้เดียงสา ข้าพเจ้าจำตัวเองได้ว่า
ข้าพเจ้ายังไม่ได้รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้สักตัวหนึ่งเลย
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอเรือจงกลับโดยความสวัสดีเถิด
สุปปารกชาดกที่ ๙ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. มาตุโปสกชาดก ๒. ชุณหชาดก
๓. ธัมมเทวปุตตชาดก ๔. อุทยชาดก
๕. ปานียชาดก ๖. ยุธัญชยชาดก
๗. ทสรถชาดก ๘. สังวรชาดก
๙. สุปปารกชาดก

เอกาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๓ }


๑๒. ทวาทสกนิบาต
๑. จูฬกุณาลชาดก (๔๖๔)
ว่าด้วยนกดุเหว่าจูฬกุณาละ
(พระโพธิสัตว์ได้กล่าวว่า)
[๑] บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิงไม่ควรเชื่อหญิงที่เป็นคนโลภ
มีจิตกลับกลอก ไม่รู้คุณคน เป็นคนประทุษร้ายมิตร
[๒] หญิงเหล่านั้นไม่รู้กิจที่ทำแล้วและยังไม่ทำ
ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง
ไม่ใช่อารยชน ก้าวล่วงธรรมทั้งหลาย
ตกไปสู่อำนาจจิตของตนเท่านั้น
[๓] เมื่อมีอันตรายและกิจเกิดขึ้น
หญิงเหล่านั้นย่อมละทิ้งสามีนั้น
แม้อยู่ร่วมกันมานาน เป็นที่รักที่พอใจ
เป็นผู้อนุเคราะห์เสมอด้วยชีวิต
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
[๔] แท้จริง จิตของหญิงเหมือนจิตของวานร
ขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเงาต้นไม้
หัวใจของหญิงหวั่นไหวไม่หยุดนิ่ง
กลับกลอกเหมือนล้อเกวียนที่กำลังหมุนไป
[๕] คราวใด หญิงเหล่านั้นมองเห็นทรัพย์ของชายที่พอจะถือเอาได้
ก็ใช้วาจาอ่อนหวานนำเขาไปสู่อำนาจ
เหมือนกับชาวกัมโพชะใช้สาหร่ายลวงม้า
[๖] คราวใด มองไม่เห็นทรัพย์ของชายที่พอจะถือเอาได้
ก็ละทิ้งเขาไปเสียโดยง่ายเหมือนคนข้ามฟาก
พอถึงฝั่งก็ทิ้งแพไปเสีย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๔ }

๑. จูฬกุณาลชาดก (๔๖๔)
[๗] หญิงเปรียบเหมือนยางเหนียว
กินทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
มีมายาแรงกล้าเหมือนแม่น้ำที่มีกระแสเชี่ยว
เพราะว่า หญิงเหล่านั้นคบได้ทั้งชายคนรักและมิใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๘] หญิงเหล่านั้นมิใช่เป็นของชายคนเดียวหรือสองคน
เหมือนร้านตลาดที่แผ่กว้างแก่คนทั่วไป
ชายใดสำคัญหญิงเหล่านั้นว่าเป็นของเรา
ชายนั้นเท่ากับใช้ตาข่ายดักลม
[๙] แม่น้ำ หนทาง โรงสุรา สภา
และบ่อน้ำดื่มเป็นฉันใด
ธรรมดาหญิงในโลกก็ฉันนั้น
ขอบเขตของหญิงเหล่านั้นไม่มีเลย
[๑๐] หญิงเหล่านั้นเสมอด้วยไฟกินเปรียง (น้ำมัน)
อุปมาด้วยหัวงูเห่า เลือกกินแต่ของที่ดีเลิศ
เหมือนโคเลือกเล็มแต่หญ้าอ่อน ๆ ในภายนอก
[๑๑] ไฟกินเปรียง ๑ ช้างสาร ๑ งูเห่า ๑
กษัตริย์ผู้ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ๑ หญิงทั้งปวง ๑
ทั้ง ๕ อย่างนี้ นรชนพึงคบหาโดยความระมัดระวังเป็นนิตย์
เพราะว่า อัธยาศัยของทั้ง ๕ นั้นแลรู้ได้ยาก
[๑๒] หญิงที่มีรูปงามยิ่งนัก ๑
หญิงที่ชายจำนวนมากพอใจ ๑
หญิงผู้ชำนาญในการฟ้อนรำขับร้อง ๑
หญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น ๑
หญิงที่เห็นแก่ทรัพย์ ๑
หญิงทั้ง ๕ จำพวกเหล่านี้ ชายไม่ควรคบหาเลย
จูฬกุณาลชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๒. ภัททสาลชาดก (๔๖๕)
๒. ภัททสาลชาดก (๔๖๕)
ว่าด้วยเทวดาประจำต้นรังหนุ่ม
(พระราชาตรัสกับเทวดาว่า)
[๑๓] ท่านเป็นใคร มีเสื้อผ้าสะอาดหมดจด
ยืนอยู่ท่ามกลางนภากาศ
เพราะเหตุไร น้ำตาของท่านจึงหลั่งไหล
ภัยนั้นเกิดจากอะไร
(ภัททสาละจอมเทพตรัสว่า)
[๑๔] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ เมื่อข้าพระองค์
เป็นผู้ที่ประชาชนในแคว้นของพระองค์บูชาอยู่ตลอด ๖๐,๐๐๐ ปี
ประชาชนเหล่านั้นรู้จักข้าพระองค์ว่า
ภัททสาลรุกขเทพ
[๑๕] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งทิศ
พระราชาพระองค์ก่อน ๆ เมื่อจะทรงสร้างพระนครก็ดี
อาคารและปราสาทชนิดต่าง ๆ ก็ดี
ก็มิได้ทรงหมิ่นข้าพระองค์เลย
พระราชาเหล่านั้นบูชาข้าพระองค์แล้วฉันใด
แม้พระองค์ก็จงบูชาข้าพระองค์ฉันนั้นเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๖] ข้าพเจ้ายังมิได้เห็นต้นไม้
ที่มีลำต้นใหญ่เท่ากับลำต้นของท่านเลย
ท่านเป็นต้นไม้ที่มีลำต้นงาม
มีสัณฐานสมส่วนและตรงโดยกำเนิด
[๑๗] ข้าพเจ้าจะสร้างปราสาทที่มีเสาเดียว อันน่ารื่นรมย์
จักนำท่านเข้าไปอยู่ในปราสาทหลังนั้น
ท่านผู้ควรบูชา ชีวิตของท่านจักยั่งยืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๒. ภัททสาลชาดก (๔๖๕)
(ภัททสาละจอมเทพตรัสว่า)
[๑๘] หากพระองค์เกิดความดำริเช่นนี้
หากพระองค์ทรงปรารถนาจะแยกร่างกายของข้าพระองค์
ขอพระองค์จงรานกิ่งก้านข้าพระองค์ให้มากแล้วบั่นให้เป็นท่อน ๆ
[๑๙] พระองค์จงตัดยอดก่อน ต่อมาจงตัดกลางลำต้น
และจงตัดโคนต้นในภายหลัง
เมื่อข้าพระองค์ถูกตัดอย่างนี้ จะพึงตายไม่เป็นทุกข์
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๐] เหมือนราชบุรุษตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู และตัดจมูกก่อน
ต่อมาภายหลังจึงตัดศีรษะของโจรที่ยังเป็นอยู่
การตายนั้นพึงเป็นทุกข์
[๒๑] ภัททสาละผู้เจ้าป่า การถูกตัดเป็นท่อน ๆ เป็นสุขหรือ
เพราะเหตุไร เพราะอาศัยอะไร
ท่านจึงปรารถนาการถูกตัดเป็นท่อน ๆ
(ภัททสาละจอมเทพตรัสว่า)
[๒๒] ก็ข้าพระองค์อาศัยเหตุอันใดซึ่งเป็นเหตุอันประกอบด้วยธรรม
จึงปรารถนาการถูกตัดเป็นท่อน ๆ ขอเดชะพระมหาราช
ขอพระองค์ทรงสดับเหตุอันนั้นของข้าพระองค์
[๒๓] พวกญาติของข้าพระองค์เจริญเติบโตอย่างมีความสุข
เกิดในที่อับลมข้าง ๆ ข้าพระองค์
ข้าพระองค์พึงเบียดเบียนพวกญาติแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าได้ก่อความไม่สุขสบายให้แก่ผู้อื่น
(พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๒๔] ภัททสาละผู้เจ้าป่า ท่านได้คิดสิ่งที่ควรคิด
ปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
สหายเอ๋ย เราให้อภัยแก่ท่าน
ภัททสาลชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๓. สมุททวาณิชชาดก (๔๖๖)
๓. สมุททวาณิชชาดก (๔๖๖)
ว่าด้วยพ่อค้าทางเรือเดินทะเล
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๒๕] มนุษย์เหล่านั้นพากันไถ พากันหว่าน
อาศัยผลแห่งการงานเลี้ยงชีพอยู่ ก็ยังไม่ถึงส่วนแห่งเกาะนี้
เกาะของเรานี้ประเสริฐกว่าชมพูทวีป
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๒๖] ในคืนพระจันทร์เพ็ญ ๑๕ ค่ำ
ทะเลจักมีคลื่นแรงมาก จักท่วมเกาะใหญ่แห่งนี้
ขอกำลังคลื่นน้ำทะเลอย่าได้ฆ่าพวกท่านเลย
พวกท่านจงไปยังเกาะอื่นเถิด
(เทพบุตรผู้ร้ายกาจอีกตนหนึ่งได้กล่าวว่า)
[๒๗] กำลังคลื่นน้ำทะเลจะไม่เกิด
จักไม่ท่วมเกาะใหญ่แห่งนี้
ข้าพเจ้าเห็นเหตุนั้นด้วยนิมิตมากมาย
พวกท่านอย่ากลัวไปเลย จะเศร้าโศกทำไม จงรื่นเริงกันเถิด
[๒๘] เกาะใหญ่นี้มีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย
พวกท่านจงยึดครองเป็นที่อยู่อาศัยเถิด
ข้าพเจ้ายังไม่เห็นภัยอะไรสำหรับพวกท่านเลย
ท่านทั้งหลายจงรื่นเริงบันเทิงใจไปตลอดชั่วลูกชั่วหลานเถิด
(นายช่างผู้โง่เขลากล่าวว่า)
[๒๙] เทพบุตรองค์ใดในทิศทักษิณนี้ย่อมกล่าวคัดค้านว่า
ปลอดภัย คำของเทพบุตรองค์นั้นเป็นความจริง
ส่วนเทพบุตรทิศอุดรไม่รู้ถึงภัยหรือไม่มีภัย
พวกท่านอย่ากลัวไปเลย จะเศร้าโศกทำไม จงรื่นเริงกันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๓. สมุททวาณิชชาดก (๔๖๖)
(ฝ่ายนายช่างผู้เป็นบัณฑิตได้กล่าวว่า)
[๓๐] เทพบุตรเหล่านี้กล่าวขัดแย้งกัน
ตนหนึ่งกล่าวว่าจะมีภัย ตนหนึ่งกล่าวว่าจะปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เอาเถิดพวกท่านจงฟังคำของเรา
พวกเราทั้งหมดอย่าพากันพินาศเสียเร็วพลันเลย
[๓๑] พวกเราทั้งหมดจงมาพร้อมกันสร้างเรือโกลน
ประกอบเครื่องยนต์ทุกอย่างให้มั่นคง
ถ้าเทพบุตรทิศทักษิณนี้กล่าวจริง
เทพบุตรองค์ทิศอุดรนี้ก็กล่าวคัดค้านเปล่า ๆ
อนึ่ง เมื่อเกิดอันตรายขึ้น เรือของพวกเรานั้นจักมีประโยชน์
และพวกเราจะไม่ละทิ้งเกาะนี้ไป
[๓๒] แต่ถ้าเทพบุตรทิศอุดรกล่าวจริง
เทพบุตรทิศทักษิณนี้ก็กล่าวคัดค้านเปล่า ๆ
พวกเราทั้งหมดก็จะพากันขึ้นเรือลำนั้นแหละ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จะมีความสวัสดีข้ามไปจนถึงฝั่ง
[๓๓] คำที่เทพองค์แรกกล่าวกับคำหลัง
อย่าไปเชื่อเอาง่าย ๆ ว่าถูกต้อง
ส่วนคำที่ผ่านหูมา นรชนใดในโลกนี้เก็บเอามาพิจารณา
เลือกเอาแต่คำที่ถูกต้อง
นรชนนั้นย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ
(พระศาสดาตรัส ๓ พระคาถาว่า)
[๓๔] กุลบุตรผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
รู้แจ้งชัดถึงประโยชน์ในอนาคตแล้ว
ย่อมไม่ให้ประโยชน์แม้น้อยล่วงเลยไป
เหมือนพวกพ่อค้าเหล่านั้นได้ไปโดยความสวัสดีกลางน้ำทะเล
ตามการกระทำของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๔. กามชาดก (๔๖๗)
[๓๕] ส่วนพวกคนพาลผู้ที่ติดอยู่ในรสเพราะโมหะ
ไม่รู้แจ้งชัดถึงประโยชน์ในอนาคต
หมกหมุ่นอยู่ในประโยชน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ย่อมถึงความพินาศ
เหมือนพวกมนุษย์ที่พินาศกลางทะเลเหล่านั้น
[๓๖] คนผู้เป็นบัณฑิตพึงรีบทำกิจที่ควรทำในอนาคตด้วยหวังว่า
ในเวลาที่ทำกิจ ขอกิจที่ควรทำอย่าได้เบียดเบียนเรา
กิจนั้นย่อมไม่เบียดเบียนเขาผู้รีบทำกิจที่ควรทำเช่นนั้น
สมุททวาณิชชาดกที่ ๓ จบ
๔. กามชาดก (๔๖๗)
ว่าด้วยกามและโทษของกาม
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๗] หากสิ่งที่สัตวโลกต้องการนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการกาม
เขาได้แล้วย่อมจะอิ่มใจแน่นอน
[๓๘] หากสิ่งที่ต้องการนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการกาม
เมื่อความปรารถนาสำเร็จแล้ว เขายังปรารถนาต่อไปอีก
ย่อมประสบความอยากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เหมือนคนตรากตรำลมและแดดในฤดูร้อน
ประสบความกระหายยิ่ง ๆ ขึ้นไป
[๓๙] ความอยากและความกระหายย่อมพอกพูนโดยยิ่ง
แก่คนผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้พระสัทธรรม
ผู้มีร่างกายกำลังเจริญเติบโต
เหมือนเขาเจริญแก่โคตัวที่กำลังมีเขาเจริญเติบโต
[๔๐] แม้จะให้นาข้าวสาลี นาข้าวเหนียว โค ม้า
และทาสชายหญิงทั้งแผ่นดิน ก็ไม่เพียงพอสำหรับคนคนเดียว
บุคคลรู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมให้สม่ำเสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๔. กามชาดก (๔๖๗)
[๔๑] พระราชาทรงปราบปรามข้าศึก ชนะทั่วทั้งแผ่นดิน
ทรงปกครองแผ่นดินอันมีสมุทรสาครเป็นที่สุด
ยังมิทรงอิ่มพระทัยมหาสมุทรฝั่งนี้
ทรงปรารถนาแม้มหาสมุทรฝั่งโน้นอีก
[๔๒] บุคคลไม่ประสบความอิ่มใจ
ตลอดเวลาที่ยังหวนระลึกถึงกามทั้งหลายอยู่
บุคคลเหล่าใดกลับใจ มีกายหลีกออกจากกามนั้น
เห็นโทษในกามทั้งหลาย เป็นผู้อิ่มแล้วด้วยปัญญา
บุคคลเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม
[๔๓] บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด
เพราะบุคคลผู้อิ่มด้วยปัญญานั้นไม่เดือดร้อนเพราะกามทั้งหลาย
คนที่อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้
[๔๔] บุคคลไม่พึงสั่งสมกาม
ควรเป็นคนปรารถนาน้อย ไม่โลเลเหลาะแหละ
คนผู้มีปัญญาเพียงดังมหาสมุทรไม่เร่าร้อนเพราะกามทั้งหลาย
[๔๕] ส่วนใด ๆ ของกามทั้งหลายที่ละได้
ส่วนนั้น ๆ ก็บันดาลให้เป็นสุขได้
ถ้าปรารถนาสุขทุกส่วนก็ควรละกามให้หมด
เหมือนช่างหนังตัดเอาหนังมาทำรองเท้า
(พระราชาตรัสว่า)
[๔๖] ท่านมหาพราหมณ์ คาถาทั้งหมดที่ท่านกล่าวแล้ว ๘ คาถา
มีค่านับเป็นพัน ๆ กหาปณะ
ท่านจงรับทรัพย์ไปเถิด ภาษิตของท่านนี้ดีนักแล
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๔๗] ข้าพระองค์ไม่ต้องการทรัพย์เป็นร้อย เป็นพัน หรือเป็นหมื่น
เพราะเมื่อข้าพระองค์กล่าวคาถาสุดท้าย ใจไม่ยินดีในกามเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๖. มหากัณหชาดก (๔๖๙)
(พระราชาทรงสรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า)
[๔๘] มาณพคนนี้เป็นผู้เจริญหนอ
เป็นนักปราชญ์ รู้แจ้งโลกทั้งปวง
เป็นบัณฑิต กำหนดรู้ตัณหาอันให้เกิดทุกข์ได้
กามชาดกที่ ๔ จบ
๕. ชนสันธชาดก (๔๖๘)
ว่าด้วยพระเจ้าชนสันธะ
(พระศาสดาตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๙] ได้ยินมาว่า พระเจ้าชนสันธะตรัสไว้อย่างนี้ว่า
เหตุ ๑๐ ประการที่บุคคลไม่ได้ทำไว้ก่อน
เขาย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
[๕๐] บุคคลไม่ได้ทรัพย์ซึ่งตนมิได้สะสมไว้ย่อมเดือดร้อน
เขาย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เรามิได้แสวงหาทรัพย์ไว้ก่อน
[๕๑] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เพราะเราไม่ได้ศึกษาศิลปะที่มีอยู่ก่อน ซึ่งอาจจะศึกษาได้
คนที่ไม่มีศิลปะก็หากินลำบาก
[๕๒] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นคนโกง เป็นคนชอบส่อเสียด
ปลิ้นปล้อน ดุร้าย และหยาบคาย
[๕๓] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นคนชอบฆ่าสัตว์ โหดร้าย ป่าเถื่อน
ไม่ยอมนอบน้อมต่อคนทั้งหลาย
[๕๔] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เมื่อหญิงทั้งหลายที่ไม่มีคู่ครองมีอยู่เป็นจำนวนมาก
เราก็ชอบเป็นชู้กับเมียคนอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๖. มหากัณหชาดก (๔๖๙)
[๕๕] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เมื่อข้าวและน้ำปรากฏมีอยู่เป็นอันมาก
แต่เราก็ไม่ได้ให้ทานมาก่อน
[๕๖] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
พ่อและแม่ผู้แก่เฒ่าชราพ้นวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
เราสามารถจะเลี้ยงดูได้ แต่ก็หาได้เลี้ยงดูไม่
[๕๗] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
บิดาผู้เป็นอาจารย์ตามพร่ำสอน
นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู
เราก็ดูหมิ่นเสีย
[๕๘] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
สมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
เราก็มิได้เคยคบหามาก่อน
[๕๙] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
ตบะที่บำเพ็ญแล้ว สัตบุรุษที่คนเข้าไปคบหาแล้วย่อมเป็นความดี
แต่เราหาได้บำเพ็ญตบะและคบหาสัตบุรุษมาก่อนไม่
[๖๐] ก็เหตุ ๑๐ ประการเหล่านี้ผู้ใดได้ปฏิบัติโดยถูกต้อง
ผู้นั้นชื่อว่าทำหน้าที่ของคน ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง
ชนสันธชาดกที่ ๕ จบ
๖. มหากัณหชาดก (๔๖๙)
ว่าด้วยคราวที่สุนัขดำกินคน
(พระราชาตรัสถามท้าวสักกะว่า)
[๖๑] สุนัขของท่านทั้งดำทั้งดุ แยกเขี้ยวขาววาววาม
ล่ามด้วยเชือก ๕ เส้น มันร้องทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๖๒] พระเจ้าอุสินนระ สุนัขดำตัวนี้ไม่ต้องการเนื้อสัตว์
มันจะหลุดออกไปในคราวที่มันจะทำพวกมนุษย์ให้พินาศ
(ท้าวสักกะได้ตรัสอีกว่า)
[๖๓] เมื่อใดพวกสมณะศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิ
อุ้มบาตร ทำไร่ทำนาเลี้ยงชีพ
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไปกินเนื้อสมณะโล้นนั้น
[๖๔] เมื่อใดนักบวชหญิงมีศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิ
ปฏิญาณตนว่า บำเพ็ญตบะ
แต่ซ่องเสพกามคุณ เที่ยวไปในโลก
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อนักบวชหญิงนั้น)
[๖๕] เมื่อใดพวกชฎิลมีเครายาว มีขี้ฟันเขรอะ
มีธุลีบนศีรษะเที่ยวทวงหนี้อยู่
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อชฎิลนั้น)
[๖๖] เมื่อใดพราหมณ์ทั้งหลายเรียนพระเวท เรียนสาวิตติฉันท์
และเรียนยัญวิธีแล้วเที่ยวรับจ้างทำการบูชายัญ
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อพราหมณ์เหล่านั้น)
[๖๗] เมื่อใดพ่อและแม่ผู้แก่เฒ่าชราผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
บุตรธิดามีความสามารถพอแต่ไม่เลี้ยงดู
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อบุตรธิดาเหล่านั้น)
[๖๘] เมื่อใดพ่อและแม่ผู้แก่เฒ่าชราผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
บุตรธิดากล่าวหาว่า ท่านทั้งหลายเป็นคนพาล
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อบุตรธิดาเหล่านั้น)
[๖๙] เมื่อใดชายทั้งหลายในโลกเที่ยวประพฤติอสัทธรรม (คบชู้)
กับภรรยาของอาจารย์ก็ดี ภรรยาของเพื่อนก็ดี
ป้า น้าสาว อาสาวก็ดี
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อชายเหล่านั้น)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
[๗๐] เมื่อใดพราหมณ์ทั้งหลายถือดาบและโล่หนัง
เหน็บกริชทำการปล้น ฆ่าคนเดินทาง
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อพราหมณ์เหล่านั้น)
[๗๑] เมื่อใดชายทั้งหลายผู้ขัดสีฉวีวรรณ มีลำแขนล่ำสัน
ไม่ปรากฏหลักฐาน ก่อเวรให้หญิงหม้าย ทำลายมิตรภาพ
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อชายเหล่านั้น)
[๗๒] เมื่อใดคนมีมายา ผิดกฎกติกา
มีความคิดอย่างคนชั่วจักมีอยู่ในโลก
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อคนมีมายานั้น)
มหากัณหชาดกที่ ๖ จบ
๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
ว่าด้วยโกสิยเศรษฐี
(โกสิยเศรษฐีกล่าวว่า)
[๗๓] ของนี้มีอยู่เพียงนิดหน่อย ได้มาแสนยาก
ข้าพเจ้าไม่ได้ซื้อ ไม่ได้ขาย ทั้งไม่ได้สะสมไว้ในที่นี้
ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้ไม่เพียงพอสำหรับคน ๒ คน
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๗๔] บุคคลควรให้แต่น้อยจากของที่น้อย
ควรให้พอปานกลางจากของที่มีพอปานกลาง
ควรให้มากจากของที่มีมาก
ชื่อว่าการไม่ให้ไม่ควร
[๗๕] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
(จันทเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๗๖] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นเป็นโมฆะ
แม้ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ๑ของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ
[๗๗] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(สุริยเทพเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๗๘] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นย่อมมีผลจริง
แม้ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบของผู้นั้นก็มีผลจริง
[๗๙] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(มาตลิเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๘๐] ก็บุคคลเข้าไปยังแหล่งน้ำบางแห่งแล้วบูชาที่แม่น้ำหลายสายบ้าง
ที่สระโบกขรณีชื่อคยาบ้าง ที่ท่าน้ำชื่อโทณะ
และท่าน้ำชื่อติมพรุบ้าง ที่ห้วงน้ำใหญ่ซึ่งมีกระแสเชี่ยวบ้าง
[๘๑] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นในที่นั้น
และความเพียรที่ตั้งไว้ชอบของเขาในที่นั้นย่อมมีผล
[๘๒] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข

เชิงอรรถ :
๑ ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่บำเพ็ญเพื่อให้เกิดทรัพย์ (ขุ.ชา.อ. ๒/๗๖/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
(ปัญจสิขเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๘๓] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดพร้อมทั้งเครื่องผูกที่มีสายยาว
[๘๔] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(โกสิยเศรษฐีเห็นฤทธิ์ของเทพบุตรเหล่านั้นแล้วจึงกล่าวว่า)
[๘๕] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ
แต่สุนัขของพวกท่านตัวนี้ เพราะเหตุไร
จึงเปลี่ยนแปลงรัศมีสีสันได้ต่าง ๆ นานา
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ขอท่านจงบอกข้าพเจ้าว่า
พวกท่านเป็นใครกันหนอ
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[๘๖] เทพทั้งหลายที่มา ณ ที่นี้ คือ
จันทเทพบุตรและสุริยเทพบุตรทั้ง ๒ มาตลีเทพสารถี
เราคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
ส่วนผู้นี้แลชื่อว่าปัญจสิขเทพบุตร
(ท้าวสักกะสรรเสริญยศของปัญจสิขเทพบุตรว่า)
[๘๗] เสียงปรบมือ ๑ ตะโพน ๑ กลอง ๑ เปิงมาง ๑
ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วให้ตื่นขึ้น
เทพบุตรผู้ตื่นขึ้นแล้วย่อมร่าเริงยินดี
(ท้าวสักกะตรัสอีกว่า)
[๘๘] คนผู้ตระหนี่เห็นแก่ตัวเหล่านี้
บางพวกมักว่าสมณะและพราหมณ์
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ตายไปก็ตกนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๘. เมณฑกปัญหชาดก (๔๗๑)
(เพื่อจะแสดงว่าบุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรมได้บังเกิดในเทวโลก จึงตรัสว่า)
[๘๙] คนผู้หวังสุคติเหล่านี้ บางพวกดำรงอยู่ในธรรม
คือความสำรวมและการจำแนกแจกทาน
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ตายไปก็ไปสุคติ
[๙๐] ท่านเป็นญาติของพวกเราเมื่อชาติก่อน
แต่ท่านนั้นเป็นคนตระหนี่ ขี้โกรธ มีธรรมเลวทราม
พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
ท่านอย่ามีธรรมเลวทรามไปตกนรกเลย
(โกสิยเศรษฐีมีจิตยินดีกล่าวว่า)
[๙๑] พวกท่านหวังเกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างแน่แท้จึงได้พร่ำสอนข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่พวกท่านผู้หวังเกื้อกูลกล่าวทุกประการ
[๙๒] ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้านั้นจะของดเว้น
จากความตระหนี่ จะไม่ทำบาปอะไร ๆ อีก
อนึ่ง วัตถุอะไร ๆ ที่ไม่พึงให้จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า
แม้แต่น้ำข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้แล้วก็จะไม่ยอมดื่ม
[๙๓] ข้าแต่ท้าวสักกะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่ตลอดกาลทั้งปวงอย่างนี้
แม้โภคะของข้าพเจ้าจักหมดสิ้นไป ข้าแต่ท้าวสักกะ
ต่อแต่นี้ข้าพเจ้าจะละกามทั้งหลายตามที่มีอยู่แล้วบวช
โกสิยชาดกที่ ๗ จบ
๘. เมณฑกปัญหชาดก (๔๗๑)
ว่าด้วยปัญหาเรื่องแพะเป็นเพื่อนกับสุนัข
(พระราชาตรัสถามปัญหาว่า)
[๙๔] แต่ไหนแต่ไรมา ความเป็นเพื่อนกันแม้เพียงการย่างก้าวเดินไป
๗ ก้าวของสัตว์เหล่าใดไม่เคยมีมาแล้วในโลกนี้
สัตว์เหล่านั้น ๒ ตัว ซึ่งเป็นศัตรูกันกลับเป็นสหายกัน
ประพฤติเกี่ยวเนื่องกันเพราะเหตุไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๘. เมณฑกปัญหชาดก (๔๗๑)
(และตรัสต่อไปว่า)
[๙๕] ถ้าว่าในเวลาอาหารเช้าของเราในวันนี้
พวกท่านไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหาข้อนี้ได้
เราจะเนรเทศพวกท่านทั้งหมดออกจากแคว้น
เพราะเราไม่ต้องการพวกคนมีปัญญาทราม
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๖] เมื่อมหาชนมาประชุมกันอึกทึกครึกโครม
เมื่อคนมาร่วมกันเป็นโกลาหล
พวกข้าพระองค์ก็มีใจฟุ้งซ่าน มีจิตไม่แน่วแน่
จึงไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหาข้อนี้ได้
[๙๗] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
นักปราชญ์ทั้งหลายมีจิตแน่วแน่ไปในที่ลับตามลำพัง
คิดพิจารณาถึงเนื้อความในที่สงัดแล้ว
ภายหลังจึงจะกล่าวตอบเนื้อความข้อนี้ได้
(เสนกบัณฑิตนั้นกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[๙๘] พวกบุตรของคนชั้นสูงและพวกราชบุตรโปรดปรานพอใจเนื้อแพะ
พวกเขาไม่บริโภคเนื้อสุนัข
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(ปุกกุสบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[๙๙] ชนทั้งหลายถลกหนังแพะทำเป็นเครื่องลาดหลังม้า
เพราะนั่งสบาย แต่พวกเขาไม่ลาดด้วยหนังสุนัข
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(กามินทบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[๑๐๐] ก็แพะมีเขาโค้งและมีหญ้าเป็นภักษา
ส่วนสุนัขไม่มีเขาและกินเนื้อ
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๙. มหาปทุมชาดก (๔๗๒)
(เวทินทบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[๑๐๑] แพะกินหญ้ากินใบไม้
แต่สุนัขไม่กินหญ้าไม่กินใบไม้
สุนัขจับกระต่ายและแมวกิน
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(มโหสธบัณฑิตเฉลยปัญหาที่ปรากฏแจ่มแจ้งแก่ตนว่า)
[๑๐๒] แพะมี ๔ เท้า ๘ กีบ ๘ เล็บ
สุนัขนี้แฝงกายนำหญ้ามาเพื่อแพะตัวนี้
ส่วนแพะนี้แฝงกายนำเนื้อมาเพื่อสุนัขตัวโน้น
[๑๐๓] นัยว่า พระองค์ผู้จอมเทพประเสริฐกว่าชาววิเทหะ
ประทับอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐ
ได้ทอดพระเนตรการแลกเปลี่ยนอาหารของกันและกันโดยประจักษ์
และนั่นเสียงเห่าของสุนัขต่อหน้าแพะ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๔] เป็นลาภของเรามิใช่น้อยหนอ
ที่มีบัณฑิตเช่นนี้อยู่ในราชสกุล
ปราชญ์ทั้งหลายรู้แจ้งเนื้อความแห่งปัญหา
อันละเอียดลึกซึ้งได้โดยตลอด
และกล่าวด้วยถ้อยคำอันเป็นสุภาษิต
(และตรัสอีกว่า)
[๑๐๕] เรามีความพอใจอย่างยิ่งด้วยถ้อยคำอันเป็นสุภาษิต
เราให้รถเทียมม้าอัสดรคนละคัน
บ้านส่วยที่มั่งคั่งคนละ ๑ ตำบล
แก่ท่านผู้เป็นบัณฑิตทุกคน
เมณฑกปัญหชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๙. มหาปทุมชาดก (๔๗๒)
๙. มหาปทุมชาดก (๔๗๒)
ว่าด้วยมหาปทุมกุมาร
(พวกผู้ใหญ่มีกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นตลอดจนอำมาตย์ราชเสวกได้กราบทูลว่า)
[๑๐๖] โทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นทั้งหมดที่ยังมิได้เห็น
มิได้พิจารณาด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรลงทัณฑ์
[๑๐๗] ส่วนผู้ใดเป็นกษัตริย์ยังมิได้ทรงพิจารณาแล้วทรงลงอาชญา
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนโภชนาหารพร้อมทั้งหนาม
เหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด กลืนกินอาหารที่มีแมลงวัน
[๑๐๘] พระราชาพระองค์ใดลงอาชญาบุคคลผู้ไม่ควรจะลงอาชญา
ไม่ลงอาชญาบุคคลผู้ควรลงอาชญา
พระราชาพระองค์นั้นไม่รู้สิ่งสมควรหรือไม่สมควร
เหมือนคนตาบอดเดินทางที่ขรุขระ
[๑๐๙] อนึ่ง ฐานะน้อยใหญ่ทั้งหมดเหล่านี้
พระราชาพระองค์ใดเห็นชัดเจนดีแล้วสั่งการลงไป
พระราชาพระองค์นั้นสมควรจะปกครองราชสมบัติได้
[๑๑๐] พระราชาผู้อ่อนโยนอย่างเดียวหรือผู้แข็งกร้าวอย่างเดียว
ไม่สามารถจะดำรงตนอยู่ในฐานะอันยิ่งใหญ่ได้
เพราะเหตุนั้น พึงประพฤติทั้ง ๒ ประการ
[๑๑๑] พระราชาผู้อ่อนโยนก็อาจจะถูกดูหมิ่น
ผู้แข็งกร้าวก็อาจจะมีศัตรู
ครั้นทราบเหตุทั้ง ๒ อย่างนี้แล้ว
พึงประพฤติพอสมควรเป็นกลาง ๆ ไว้
[๑๑๒] คนมีความกำหนัดพึงพูดมาก ถึงคนมีความโกรธก็พูดมาก
ขอเดชะมหาราช พระองค์ไม่ควรให้ปลงพระชนม์พระราชโอรส
เพราะเหตุแห่งหญิงเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
(ฝ่ายพระราชาผู้โง่เขลาทรงสั่งลงอาชญาว่า)
[๑๑๓] ประชาชนเป็นฝ่ายเดียวกันทั้งหมด
ฝ่ายหญิงนี้มีเพียงคนเดียว
เพราะเหตุนั้น เราจะปฏิบัติตามคำของหญิงนี้
พวกท่านจงไป จงโยนปทุมกุมารนั้นลงเหวไปเถิด
(ต่อมาพระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๔] ที่ซอกเขาอันเป็นเหวลึกหลายชั่วลำตาล ยากที่จะขึ้นมาได้
เจ้าถูกผลักตกลงไปในเหวนั้นทำไมจึงไม่ตาย
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๕] พญานาคเกิดอยู่ที่ซอกเขานั้น
แผ่พังพาน มีกำลัง ใช้ขนดรองรับอาตมภาพ
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ตายในเหวนั้น
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๖] พ่อราชบุตร มาเถิด พ่อจักนำเจ้ากลับพระราชวังของตน
ขอความเจริญจงมีแก่เจ้า เจ้าจงครอบครองราชสมบัติเถิด
จักทำอะไรอยู่ในป่าเล่า
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๗] อาตมภาพมองเห็นตนเหมือนคนที่กลืนเบ็ด
แล้วดึงเบ็ดที่เปื้อนโลหิตขึ้นมา ครั้นดึงขึ้นมาแล้วพึงเป็นสุข
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๘] อะไรหนอ เจ้ากล่าวว่า เป็นเบ็ด
อะไรหนอ เจ้ากล่าวว่า เบ็ดเปื้อนโลหิต
อะไรหนอ เจ้ากล่าวว่า ดึงออกมาแล้ว
เราถามแล้ว ขอเจ้าจงบอกความข้อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๙] กาม อาตมากล่าวว่า เป็นเบ็ด
ช้างและม้า อาตมากล่าวว่า เป็นเบ็ดที่เปื้อนโลหิต
การสละได้แล้ว อาตมากล่าวว่า ดึงออกมาแล้ว
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด จอมกษัตริย์
(พระศาสดาทรงประมวลชาดกด้วยคาถาสุดท้ายว่า)
[๑๒๐] พระราชมารดา (เลี้ยง) เป็นนางจิญจมาณวิกา
พระราชบิดาของอาตมาเป็นพระเทวทัต
พญานาคเป็นอานนท์ผู้เป็นบัณฑิต
เทวดาเป็นพระสารีบุตร
พระราชบุตรคือตถาคต
ขอเธอทั้งหลายทรงจำชาดกไว้อย่างนี้
มหาปทุมชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
ว่าด้วยลักษณะมิตรและผู้มิใช่มิตร
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๒๑] วิญญูชนผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
เห็นหรือได้ยินผู้ทำการงานอะไรบ้าง
หรือพึงพยายามอย่างไร จึงจะรู้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร
(พระโพธิสัตว์กราบทูลลักษณะผู้มิใช่มิตรว่า)
[๑๒๒] คนผู้มิใช่มิตร คือ เห็นเพื่อนแล้วไม่ยิ้มแย้ม ๑
ไม่ยินดีจะสนทนากับเพื่อน ๑ ไม่สบตาเพื่อน ๑ พูดต่อต้าน ๑
[๑๒๓] คบศัตรูของเพื่อน ๑ ไม่คบเพื่อนของเพื่อน ๑
ห้ามปรามคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่ด่าเพื่อน ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
[๑๒๔] ไม่บอกความลับแก่เพื่อน ๑
ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ๑
ไม่ยกย่องการกระทำของเพื่อน ๑
ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน ๑
[๑๒๕] เมื่อเพื่อนฉิบหายกลับพอใจ ๑ เมื่อเพื่อนเจริญกลับไม่พอใจ ๑
ได้อาหารที่มีรสแปลกมาก็ไม่นึกถึงเพื่อน ๑
แต่นั้น ย่อมจะไม่อนุเคราะห์เพื่อนว่า
อย่างไรหนอ เพื่อนเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง ๑
[๑๒๖] อาการ ๑๖ ข้อดังกล่าวมานี้มีอยู่แล้วในคนที่มิใช่มิตร
พึงเป็นเหตุให้บัณฑิตได้เห็นและได้ยินแล้วรู้ได้ว่ามิใช่มิตร
(พระโพธิสัตว์กราบทูลลักษณะของมิตรว่า)
[๑๒๗] วิญญูชนผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
เห็นหรือได้ยินผู้ทำการงานอะไรบ้าง
หรือชนพึงพยายามอย่างไรจึงรู้ว่า ผู้นั้นเป็นมิตร
(ได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า)
[๑๒๘] คนผู้เป็นมิตร คือ เพื่อนจากไปก็คิดถึง ๑
เพื่อนกลับมาก็ยินดี ๑ หยอกล้อยิ้มย่องต่อเพื่อน ๑
ยินดีตอบสนองด้วยวาจาที่ไพเราะ ๑
[๑๒๙] คบเพื่อนของเพื่อนฝ่ายเดียว ๑ ไม่คบศัตรูของเพื่อน ๑
ห้ามปรามคนที่ด่าเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่ยกย่องเพื่อน ๑
[๑๓๐] บอกความลับแก่เพื่อน ๑ ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ๑
ยกย่องการกระทำของเพื่อน ๑ สรรเสริญปัญญาของเพื่อน ๑
[๑๓๑] เมื่อเพื่อนเจริญก็ยินดี ๑ เมื่อเพื่อนฉิบหายก็ไม่ยินดี ๑
ได้อาหารที่มีรสแปลกมาก็นึกถึงเพื่อน ๑
แต่นั้น ย่อมจะอนุเคราะห์เพื่อนว่า
อย่างไรหนอ เพื่อนจะได้ลาภจากที่นี้บ้าง ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
[๑๓๒] อาการ ๑๖ ข้อดังกล่าวมานี้มีอยู่แล้วในคนที่เป็นมิตร
พึงเป็นเหตุให้บัณฑิตได้เห็นและได้ยินแล้วรู้ได้ว่าเป็นมิตร
มิตตามิตตชาดกที่ ๑๐ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. จูฬกุณาลชาดก ๒. ภัททสาลชาดก
๓. สมุททวาณิชชาดก ๔. กามชาดก
๕. ชนสันธชาดก ๖. มหากัณหชาดก
๗. โกสิยชาดก ๘. เมณฑกปัญหชาดก
๙. มหาปทุมชาดก ๑๐. มิตตามิตตชาดก

ทวาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๕ }


๑๓. เตรสกนิบาต
๑. อัมพชาดก (๔๗๔)
ว่าด้วยมนต์เสกมะม่วง
(พระราชาตรัสถามคนเฝ้าสวนมะม่วงว่า)
[๑] ท่านพรหมจารี๑ เมื่อก่อน
ท่านได้นำผลมะม่วงน้อยใหญ่มาให้เรา
บัดนี้ ผลไม้ทั้งหลายไม่ปรากฏด้วยมนต์เหล่านั้น
ของท่านเลยหรือ ท่านพราหมณ์
(มาณพกราบทูลว่า)
[๒] ข้าพระองค์กำลังคำนวณการโคจรของดาวฤกษ์
ยังไม่เห็นฤกษ์ยามปรากฏในมนต์เลย
ครั้นได้การโคจรของดาวฤกษ์และฤกษ์ยามแล้ว
ข้าพระองค์จักนำผลมะม่วงมากมายมาถวายได้อย่างแน่นอน
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๓] เมื่อก่อน ท่านไม่พูดถึงการโคจรของดาวฤกษ์เลย
ไม่ได้อ้างถึงฤกษ์ยามเลย
ได้นำผลมะม่วงที่มีสีงาม กลิ่นหอม รสอร่อย
จำนวนมากมายมาให้เราด้วยตนเอง
[๔] แม้เมื่อก่อน ด้วยการร่ายมนต์ของท่าน
ผลไม้ทั้งหลายก็ปรากฏมี ท่านพราหมณ์
แต่วันนี้ ท่านนั้นแม้จะร่ายมนต์อยู่ ก็ไม่สามารถจะให้สำเร็จได้
สภาพของท่านนั้น มันเกิดอะไรขึ้นวันนี้

เชิงอรรถ :
๑ ท่านพรหมจารี หมายถึงท่านผู้เรียนพระเวท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๖ }

๑. อัมพชาดก (๔๗๔)
(มาณพกราบทูลว่า)
[๕] บุตรคนจัณฑาลได้มอบมนต์ให้แก่ข้าพระองค์โดยถูกต้อง
และบอกสาเหตุที่ทำให้มนต์เสื่อมไว้ว่า
ถ้ามีใครมาถามถึงชื่อและโคตรของเราแล้วเจ้าอย่าปกปิด
ถ้าปกปิดความจริง มนต์ก็จะเสื่อมไป
[๖] ข้าพระองค์นั้นถูกพระองค์ผู้เป็นจอมชนตรัสถามขึ้นในหมู่ชน
เกิดความลบหลู่ครอบงำแล้วจึงได้กราบทูลความพลั้งพลาดไปว่า
มนต์เหล่านี้เป็นของพราหมณ์ ดังนั้น
ข้าพระองค์มีมนต์เสื่อมเสียแล้ว จึงเป็นคนน่าสงสารร้องไห้อยู่
(พระราชาทรงติเตียนมาณพนั้นว่า)
[๗] คนผู้ต้องการน้ำหวานพึงได้น้ำหวานจากต้นไม้ใด
จะเป็นต้นละหุ่งก็ตาม ต้นสะเดาก็ตาม หรือต้นทองกวาวก็ตาม
ต้นไม้นั้นแลเป็นต้นไม้ดีที่สุดของเขา
[๘] บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากผู้ใด จะเป็นกษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล หรือคนเทขยะก็ตาม
ผู้นั้นแลเป็นคนสูงสุดของเขา
[๙] ท่านทั้งหลายจงทำโทษ เฆี่ยนตี แล้วจงจับคอเจ้าคนชั่ว
ผู้ที่ยังประโยชน์อันสูงสุดซึ่งตนได้มาแสนยากให้พินาศไป
เพราะความเย่อหยิ่งและดูหมิ่นคน ไสหัวออกไป
(มาณพกล่าวขอเรียนมนต์ใหม่กับอาจารย์ว่า)
[๑๐] บุรุษสำคัญพื้นที่ว่าเรียบ พึงตกบ่อ ตกถ้ำ ตกเหว
ตกหลุมรากไม้ผุ หรือว่าคนตาบอดสำคัญว่าเชือก
พึงเหยียบงูเห่า เหยียบไฟฉันใด ท่านผู้มีปัญญาพึงรับทราบว่า
ข้าพเจ้าพลั้งพลาดไปแล้วฉันนั้นเหมือนกัน ท่านอาจารย์ทราบแล้ว
จงมอบมนต์ให้แก่ข้าพเจ้าผู้มีมนต์เสื่อมแล้วอีกเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๒. ผันทนชาดก (๔๗๕)
(ต่อจากนั้น อาจารย์กล่าวว่า)
[๑๑] เราได้มอบมนต์ให้แก่เจ้าโดยธรรม
ถึงเจ้าก็เรียนเอาโดยธรรม
แม้สาเหตุที่ทำให้มนต์เสื่อม เราก็เต็มใจบอกแก่เจ้า
ถ้าเจ้าตั้งอยู่ในธรรมแล้ว มนต์จะไม่เสื่อม
[๑๒] เจ้าคนโง่ คนที่มีปัญญาน้อย
ถึงจะเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ในมนุษยโลกทุกวันนี้
ด้วยมนต์ที่ตนได้มาโดยยาก ได้มาด้วยความลำบากก็จริง
แต่เมื่อพูดเหลาะแหละก็ทำมนต์บทนั้นให้เสื่อมไปได้
[๑๓] สำหรับเจ้าผู้เป็นคนโง่ หลงงมงาย
อกตัญญู พูดเท็จ ไม่ระมัดระวัง
เราจะไม่ให้มนต์ทั้งหลายเช่นนั้นอีก
มนต์ที่ไหนกัน ไปเสียเถิดเจ้า เราไม่พอใจเจ้าเลย
อัมพชาดกที่ ๑ จบ
๒. ผันทนชาดก (๔๗๕)
ว่าด้วยการผูกเวรของหมีและไม้สะคร้อ
(หมีได้บอกช่างไม้ว่า)
[๑๔] ท่านผู้เดียวถือขวานเข้ามาถึงป่ายืนอยู่
เพื่อน เราถามแล้วท่านจงบอก
ท่านต้องการจะตัดไม้หรือ
(ช่างไม้ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๕] เพื่อน เจ้าเป็นหมีเที่ยวไปยังป่าน้อยใหญ่
ทั้งป่าทึบและป่าโปร่ง เราถามแล้ว เจ้าจงบอก
ไม้อะไรถึงจะแข็งแกร่งสำหรับกงรถ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๒. ผันทนชาดก (๔๗๕)
(หมีกล่าวว่า)
[๑๖] ต้นรังก็ดี ต้นตะเคียนก็ดี ต้นหูกวางก็ดี ต้นสีเสียดก็ดี
ที่ไหนจะแข็งแกร่ง แต่ต้นไม้ที่มีนามว่าสะคร้อนั่นซิ
เป็นไม้ที่แข็งแกร่งสำหรับกงรถ
(ช่างไม้ถามว่า)
[๑๗] ก็ต้นสะคร้อนั้น ใบก็ตาม ลำต้นก็ตามเป็นเช่นไร
เพื่อน เราถามแล้ว ท่านจงตอบ
เราจะรู้จักต้นสะคร้อได้อย่างไร
(หมีบอกว่า)
[๑๘] ต้นไม้ใดที่กิ่งห้อยน้อมลงมาแต่ไม่หัก
ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่โคนต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นมีนามว่าสะคร้อ
[๑๙] ต้นสะคร้อนี้จักเป็นไม้ที่สมควร
แก่กิจการของท่านทุกอย่าง
คือ ทำกำก็ได้ ล้อก็ได้ ดุมก็ได้
งอนไถก็ได้ กงก็ได้ ตัวรถก็ได้
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนั้นว่า)
[๒๐] ทันใดนั้น รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นสะคร้อ
ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถึงข้าพเจ้าก็มีคำที่จะพูด
ภารทวาชะ โปรดฟังคำของข้าพเจ้า
[๒๑] ท่านจงถลกหนังจากคอหมี ๔ องคุลีแล้วใช้หุ้มกงรถ
เมื่อทำเช่นนี้ กงรถจะพึงมั่นคงยิ่งขึ้น
[๒๒] ถึงรุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นสะคร้อ
ได้จองเวรแล้วเพียงนั้น
ได้นำความทุกข์มาให้แก่พวกหมี
ทั้งที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด ด้วยประการฉะนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๓. ชวนหังสชาดก (๔๗๖)
[๒๓] ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้ ไม้สะคร้อยุให้คนฆ่าหมี
ส่วนหมียุให้คนโค่นต้นสะคร้อ
เพราะการวิวาทกันและกัน ต่างคนต่างยุให้ฆ่ากันและกัน คือ
[๒๔] พวกมนุษย์เกิดการทะเลาะกันขึ้นที่ใด
ที่นั้นมนุษย์ทั้งหลายก็เปิดเผยความลับเหมือนนกยูงรำแพน
และเหมือนหมีกับไม้สะคร้อเหล่านั้น
[๒๕] เพราะเหตุนั้น ตถาคตขอถวายพระพรมหาบพิตรทั้งหลาย
ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงพระเจริญ
ตราบเท่าที่ทรงสมาคมกัน ณ สถานที่นี้
ขอทรงรื่นเริงบันเทิงพระทัย อย่าทรงวิวาทกัน
อย่าทรงเป็นเหมือนหมีกับไม้สะคร้อเลย
[๒๖] ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงสำเหนียกถึงความสามัคคีนั้น
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว
บุคคลผู้ยินดีแล้วในความสามัคคี ดำรงอยู่ในธรรม
ย่อมไม่เสื่อมจากนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ผันทนชาดกที่ ๒ จบ
๓. ชวนหังสชาดก (๔๗๖)
ว่าด้วยพญาชวนหงส์
(พระราชาทรงเชื้อเชิญชวนพญาหงส์โพธิสัตว์ว่า)
[๒๗] เจ้าจับอยู่ที่ตั่งทองนี้แหละพญาหงส์
ข้าพเจ้ารักที่จะเห็นท่าน
ท่านมาเป็นเจ้าของสถานที่นี้แล้ว
สิ่งที่มีอยู่ในพระราชนิเวศน์นี้
ท่านไม่รังเกียจ จงบอกมาให้เราทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๓. ชวนหังสชาดก (๔๗๖)
(และทรงขอร้องว่า)
[๒๘] เพราะการฟัง คนบางหมู่จึงเป็นที่รักของคนบางคน
เพราะได้เห็น ความพอใจของคนบางคนจึงเสื่อมคลาย
เพราะได้เห็นและเพราะได้ฟัง คนบางหมู่จึงเป็นที่รัก
เพราะการเห็น ท่านรักใคร่ข้าพเจ้าบ้างไหม
[๒๙] เพราะการฟัง ท่านจึงเป็นที่รักของข้าพเจ้า
และเป็นที่รักยิ่ง เพราะได้มาพบกัน
พญาหงส์ ท่านเป็นที่น่ารักน่าดูอย่างนี้สำหรับข้าพเจ้า
ขอท่านจงอยู่ใกล้ ๆ ข้าพเจ้าเถิด
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าได้รับสักการบูชาอยู่เป็นนิตย์
พึงอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
แต่บางคราวพระองค์ทรงมึนเมา
จะพึงตรัสว่า จงย่างพญาหงส์ให้เรา
(พระราชาตรัสให้ปฏิญาณว่า)
[๓๑] น่าติเตียนจริง การดื่มน้ำเมา
ซึ่งเป็นที่พอใจของข้าพเจ้ายิ่งกว่าท่าน
เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มน้ำเมา
ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในนิเวศน์ของข้าพเจ้า
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๒] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี
เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย
ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น
[๓๓] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า
เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง
ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๔. จูฬนารทกัสสปชาดก (๔๗๗)
[๓๔] ใจจดจ่ออยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแม้จะอยู่ไกลกันก็เหมือนอยู่ใกล้
ใจเหินห่างจากผู้ใด ผู้นั้นแม้จะอยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล
[๓๕] สหายผู้มีจิตเลื่อมใส ถึงจะอยู่ยังฟากฝั่งสมุทร
ถ้ามีจิตเลื่อมใสต่อกัน ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้กัน
ส่วนสหายผู้มีจิตคิดประทุษร้ายถึงจะอยู่ใกล้
ถ้ามีจิตคิดประทุษร้ายต่อกัน
ก็ชื่อว่าอยู่ยังฟากฝั่งสมุทร
[๓๖] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมทัพ ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
ศัตรูถึงจะอยู่ร่วมกัน ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลกัน
ส่วนบัณฑิตถึงจะอยู่ไกลกัน
ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้ เพราะมีใจนึกถึงกัน
[๓๗] เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป
คนที่รักกันก็จะกลายเป็นไม่รักกัน
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลลาไป
ก่อนที่จะไม่เป็นที่รักของพระองค์
(พระราชาตรัสกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๓๘] หากการประคองอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้
ท่านไม่ทราบและไม่ทำตามคำของข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติอยู่อย่างนี้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอร้องท่านว่า โปรดแวะเวียนมาอีก
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๙] ขอเดชะพระมหาราช ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
หากเราทั้งหลายยังอยู่ปกติอย่างนี้
แม้พระองค์และข้าพระองค์ก็จักไม่มีอันตราย
วันคืนต่อ ๆ ไป เราคงจะได้พบกันบ้างหรอก
ชวนหังสชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๔. จูฬนารทกัสสปชาดก (๔๗๗)
๔. จูฬนารทกัสสปชาดก (๔๗๗)
ว่าด้วยกัสสปดาบสสอนจูฬนารทดาบส
(พระโพธิสัตว์ถามลูกชายว่า)
[๔๐] ฟืนลูกก็มิได้ผ่า น้ำลูกก็มิได้ตัก
แม้ไฟลูกก็มิได้ก่อให้โพลงขึ้น
ทำไมหนอ ลูกจึงซบเซาเหมือนคนปัญญาอ่อน
(ดาบสกุมารตอบว่า)
[๔๑] พ่อกัสสปะ ลูกหมดความพยายามที่จะอยู่ป่าต่อไป
ขอกราบลาพ่อ การอยู่ในป่าลำบาก
ลูกต้องการจะไปยังเมือง
[๔๒] พ่อพราหมณ์ ลูกไปจากที่นี้แล้ว
ไปอยู่ชนบทใดชนบทหนึ่ง
พึงศึกษาอาจาระอันเป็นประเพณีที่ควรศึกษา๑
ขอพ่อกรุณาสอนธรรม๒นั้นให้ลูกด้วย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๔๓] ถ้าลูกทิ้งป่าและมูลผลาหารในป่า
พอใจการอยู่ในเมือง
ลูกจงตั้งใจฟังธรรมนั้นจากพ่อ
[๔๔] อย่าเสพของมีพิษ ๑ จงเว้นเหวให้ห่างไกล ๑
อย่าจมลงในเปือกตม ๑ พึงระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้อสรพิษ ๑
(ดาบสกุมารเมื่อไม่รู้ความหมายของคำที่พ่อกล่าวโดยย่อ จึงถามว่า)
[๔๕] อะไรหนอคือของมีพิษ เหว
หรือเปือกตม สำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์
อะไรที่พ่อกล่าวว่า เป็นอสรพิษ
ลูกถามแล้ว ขอพ่อจงบอกเรื่องนั้น

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงมารยาทซึ่งเป็นจารีตประเพณีที่ควรศึกษาของสถานที่นั้น (ขุ.ชา.อ. ๖/๔๒/๑๖๑)
๒ ธรรม หมายถึงจารีตประเพณีของชาวชนบทนั้น (ขุ.ชา.อ. ๖/๔๓/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๕. ทูตชาดก (๔๗๘)
(ฝ่ายพระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๔๖] พ่อนารทะ ของหมักดองในโลกที่เขาเรียกชื่อว่าสุรา
ทำใจให้ฮึกเหิม มีกลิ่นหอม น่าพอใจ มีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้ง
สุรานั้น พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นของมีพิษสำหรับพรหมจรรย์
[๔๗] พ่อนารทะ หญิงทั้งหลายในโลกย่อมย่ำยีชายผู้ประมาทแล้ว
พวกหล่อนย่อมชักจูงจิตของชายหนุ่มไป
เหมือนลมพัดปุยนุ่นที่พลัดตกจากต้น
สภาพนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นเหวสำหรับพรหมจรรย์
[๔๘] ลาภ ๑ ความมีชื่อเสียง ๑ สักการะ ๑
การบูชาในสกุลอื่น ๆ ๑
พ่อนารทะ นี้แหละบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นเปือกตมของพรหมจรรย์
[๔๙] พ่อนารทะ พระราชาทั้งหลายทรงมีศัสตราวุธ
ทรงปกครองแผ่นดินนี้
พระราชาผู้จอมมนุษย์ ผู้ยิ่งใหญ่เช่นนั้น
เจ้าควรระวัง
[๕๐] พ่อนารทะ พระราชาผู้เป็นอิสระ เป็นอธิบดีเหล่านั้น
เจ้าอย่าอยู่ใกล้ชิดเลย
พระราชานี้แหละบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นอสรพิษสำหรับพรหมจรรย์
[๕๑] อนึ่ง คนผู้ต้องการอาหารในเวลาอาหาร
พึงเข้าไปยังเรือนหลังใดหลังหนึ่ง
บรรดาเรือนเหล่านี้ เจ้าพึงเที่ยวแสวงหาอาหาร
ในเรือนหลังที่ตนทราบว่าดีงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๕. ทูตชาดก (๔๗๘)
[๕๒] ครั้นเข้าไปยังสกุลอื่นเพื่อประโยชน์แก่น้ำหรือโภชนาหาร
ควรขบเคี้ยวบริโภคแต่พอประมาณ ไม่ควรใฝ่ใจในรูป
[๕๓] คอกโค ๑ โรงสุรา ๑ นักเลง ๑ หอประชุม ๑
สถานที่เก็บเงินทอง ๑ เจ้าจงเว้นให้ห่างไกล
เหมือนคนขับยานพาหนะเว้นหนทางที่ขรุขระ
จูฬนารทกัสสปชาดกที่ ๔ จบ
๕. ทูตชาดก (๔๗๘)
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นทูต
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๕๔] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าส่งทูตไปหาท่าน
ซึ่งกำลังเข้าฌานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
พวกเขาถามแล้วท่านก็ไม่ตอบ
ทุกข์ของท่านนั้นเป็นความลับหรือ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๕๕] พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญของชาวแคว้นกาสี
ถ้าความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่พระองค์
พระองค์อย่าตรัสบอกความทุกข์นั้นแก่คน
ที่ช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้พ้นจากความทุกข์ไม่ได้
[๕๖] ผู้ใดพึงช่วยปลดเปลื้องให้พ้นส่วนแห่งความทุกข์
ที่เกิดแล้วนั้นได้ แม้เสี้ยวหนึ่งโดยธรรม
ผู้นั้นควรบอกให้ทราบโดยแท้
[๕๗] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี
เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย
ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๖. กาลิงคโพธิชาดก (๔๗๙)
[๕๘] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า
เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง
ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี
[๕๙] คนใดถูกเขาถามถึงความทุกข์ของตนอยู่บ่อย ๆ
พึงบอกให้ทราบในเวลาอันไม่สมควร
พวกศัตรูของคนนั้นย่อมพอใจ
ส่วนคนที่หวังประโยชน์ต่อเขาย่อมเป็นทุกข์
[๖๐] ส่วนนักปราชญ์รู้กาลอันสมควร
ทราบความมีใจของพวกมีปัญญาเป็นอันเดียวกับตนแล้ว
พึงบอกความทุกข์อันแรงกล้าแก่คนอื่นชนิดนั้น
พึงเปล่งถ้อยคำอันอ่อนหวาน มีประโยชน์
[๖๑] อนึ่ง ถ้านักปราชญ์พึงรู้ถึงทุกข์ที่ทนไม่ได้ของตนว่า
โลกธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ถึงความสุขเฉพาะเราเท่านั้นหามิได้
พึงเพ่งถึงสัจจะ หิริ และโอตตัปปะเท่านั้น
อดกลั้นความทุกข์อันแรงกล้าเพียงผู้เดียว
(พระโพธิสัตว์กราบทูลอีกว่า)
[๖๒] ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ต้องการทรัพย์เพื่อให้อาจารย์
จึงท่องเที่ยวไปขอยังแว่นแคว้น นิคม และราชธานีต่าง ๆ
[๖๓] ขอเดชะพระมหาราช ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งหมู่ชน
ข้าพระองค์ได้ขอกับพวกคหบดี ราชบุรุษ
และพราหมณ์มหาศาล จึงได้ทองคำมา ๗ แท่ง
ทองคำเหล่านั้นของข้าพระองค์สูญหายเสียแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกมาก
[๖๔] ขอเดชะพระมหาราช คนเหล่านั้นข้าพระองค์คิดไตร่ตรองดู
แล้วว่า ไม่สามารถจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่บอกแก่เขาเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๖. กาลิงคโพธิชาดก (๔๗๙)
[๖๕] ขอเดชะพระมหาราช ส่วนพระองค์ข้าพระองค์คิดไตร่ตรองดู
แล้วว่า สามารถจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ
(พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๖๖] พระราชาผู้ผดุงรัฐให้เจริญของชาวแคว้นกาสี
มีพระหฤทัยเลื่อมใสได้พระราชทานทองคำแท้ ๆ แก่เขา ๑๔ แท่ง
ทูตชาดกที่ ๕ จบ
๖. กาลิงคโพธิชาดก (๔๗๙)
ว่าด้วยพระเจ้ากาลิงคะทรงบูชาโพธิมณฑล
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนี้ว่า)
[๖๗] พระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ากาลิงคะ
ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม
ทรงพญาช้างแก้วซึ่งมีอานุภาพมาก ได้เสด็จไปใกล้โพธิพฤกษ์
[๖๘] พราหมณ์ปุโรหิตภารทวาชะ ชาวกาลิงคะพิจารณาดูภูมิภาค
แล้วประคองอัญชลี ได้กราบทูลพระราชา
พระนามว่ากาลิงคะ ผู้เป็นโอรสของพระดาบสว่า
[๖๙] ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์เสด็จลงมาเถิด
สถานที่นี้เป็นภูมิภาคที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงยกย่องแล้ว
เพราะสถานที่นี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ล้ำเลิศ
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงรุ่งเรืองอยู่
[๗๐] ภูมิภาคนี้ ต้นหญ้าลดาวัลย์เวียนเป็นทักษิณาวัฏ
ภูมิภาคนี้เป็นจุดศูนย์กลางแห่งแผ่นดิน
ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้
[๗๑] ภูมิภาคแห่งนี้เป็นจุดศูนย์กลางแห่งแผ่นดิน
ซึ่งเป็นที่รองรับสรรพสัตว์ เป็นแผ่นดินที่มีสาครล้อมรอบ
ขอพระองค์เสด็จลงมานมัสการเถิด พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
[๗๒] พญาช้างเหล่าใดถึงจะเป็นช้างแก้วและเกิดในตระกูลสูง
พญาช้างเหล่านั้นก็เข้าไปใกล้สถานที่มีประมาณเพียงนั้นไม่ได้
[๗๓] พญาช้างถึงจะเกิดในตระกูลสูงก็จริง
ขอพระองค์ทรงไสพญาช้างตัวที่ฝึกแล้วไปเถิด
สถานที่มีประมาณเพียงนี้ พญาช้างก็ไม่สามารถจะเข้าไปได้
[๗๔] พระเจ้ากาลิงคะครั้นทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว
ทรงใคร่ครวญวาจาของปุโรหิตผู้พยากรณ์
แล้วทรงไสพญาช้างไปด้วยพระดำริว่า
เราจักรู้ตามคำที่พราหมณ์นี้พูดจริงหรือ
[๗๕] ส่วนพญาช้างที่พระราชาทรงไสไป
ได้เปล่งเสียงโกญจนาทอันกึกก้อง ได้ถอยหลังคุกเข่าลง
เหมือนไม่สามารถจะนำภาระอันหนักไปได้
[๗๖] พราหมณ์ปุโรหิตภารทวาชะชาวกาลิงคะรู้ว่า
พระคชาธารสิ้นชีพเสียแล้วจึงได้รีบกราบทูลพระเจ้ากาลิงคะว่า
ขอพระองค์เสด็จประทับพระคชาธารเชือกอื่นเถิด
พระคชาธารเชือกนี้สิ้นชีพแล้ว พระเจ้าข้า
[๗๗] พระเจ้ากาลิงคะครั้นได้สดับคำนั้นแล้ว
รีบประทับพระคชาธารเชือกอื่น
เมื่อพระราชาเสด็จประทับแล้ว
พระคชาธารก็ล้มลงบนแผ่นดิน ณ ที่นั้นเอง
เป็นอันว่า คำของปุโรหิตผู้ถวายพยากรณ์
ได้เป็นจริงตามที่ช้างปรากฏแล้ว
[๗๘] พระเจ้ากาลิงคะได้ตรัส
กับพราหมณ์ปุโรหิตกาลิงคะดังนี้ว่า
ท่านนั่นแหละเป็นสัมพุทธะ สัพพัญญูรู้เห็นเหตุทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
[๗๙] กาลิงคพราหมณ์ผู้ไม่ยอมรับคำชมเชยนั้นได้กราบทูลอย่างนี้ว่า
ความจริง ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นนักพยากรณ์
ส่วนพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นสัพพัญญู พระพุทธเจ้าข้า
[๘๐] ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นสัพพัญญู
และทรงรู้ทุกอย่าง หาทรงทราบด้วยสูตรไม่
ส่วนข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ได้ด้วยกำลังวิชาอาคม
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรู้ชัดทุกสิ่งทุกอย่าง
[๘๑] ลำดับนั้น พระราชาทรงนำระเบียบดอกไม้
และเครื่องลูบไล้ไปบูชา ฉลองต้นโพธิ
ด้วยดนตรีต่าง ๆ ที่รับสั่งให้ประโคมแล้วเสด็จกลับ
[๘๒] พระเจ้ากาลิงคะทรงรับสั่งให้เก็บดอกไม้หกหมื่นเล่มเกวียน
บูชาโพธิมณฑลสถานอันยอดเยี่ยมทุกวัน ดังนี้แล
กาลิงคโพธิชาดกที่ ๖ จบ
๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
ว่าด้วยอกิตติดาบส
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนี้ว่า)
[๘๓] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทอดพระเนตรเห็น
อกิตติดาบสเข้าฌานอยู่ จึงตรัสถามว่า
ท่านมหาพราหมณ์ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรหรือ
จึงเข้าฌานอยู่องค์เดียวในเวลาอากาศอบอ้าว
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๘๔] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ การเกิดอีก ๑
การที่สรีระแตกทำลาย ๑ การหลงลืมสติตาย ๑ เป็นทุกข์
เพราะเหตุนั้น ท้าววาสวะ อาตมาจึงเข้าฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
(ท้าวสักกะถวายพรว่า)
[๘๕] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะรับพร จึงกราบทูลว่า)
[๘๖] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
นรชนทั้งหลายได้บุตร ภรรยา ทรัพย์ ข้าวเปลือก
และสิ่งของอันเป็นที่รักแล้วยังไม่อิ่ม เพราะความโลภอันใด
ความโลภอันนั้นขออย่าได้มีอยู่ในอาตมาเลย
(ท้าวสักกะประทานพรให้ยิ่งขึ้นไปว่า)
[๘๗] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะรับพร จึงกราบทูลว่า)
[๘๘] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
นา สวน เงิน โค ม้า และคนผู้เป็นทาสย่อมเสื่อมสิ้นไป
เพราะโทสะที่เกิดแล้วอันใด
โทสะอันนั้นขออย่าได้มีอยู่ในอาตมาเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๘๙] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๐] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอให้อาตมาไม่พึงพบเห็นคนพาล ไม่พึงได้ยิน
ไม่พึงอยู่ร่วมกับคนพาล ไม่พึงทำการเจรจาปราศรัย
และไม่พึงพอใจการเจรจาปราศรัยกับคนพาลเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๑] พระคุณเจ้ากัสสปะ คนพาลได้ทำอะไรแก่พระคุณเจ้าหรือ
ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร
พระคุณเจ้าจึงไม่ต้องการพบเห็นคนพาล
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๒] คนพาลมีปัญญาทราม ย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ
ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ
การแนะนำชั่วเป็นสิ่งที่ประเสริฐสำหรับเขา
เขาถูกว่ากล่าวโดยชอบก็โกรธ คนพาลนั้นไม่รู้วินัย
การไม่พบเห็นเขาเสียได้เป็นการดี
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๓] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๔] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอให้อาตมาพึงได้พบ พึงได้ยิน พึงได้อยู่ร่วมกับนักปราชญ์
พึงได้เจรจาปราศรัยและพอใจการเจรจาปราศรัยกับนักปราชญ์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๕] พระคุณเจ้ากัสสปะ นักปราชญ์ได้ทำอะไรแก่พระคุณเจ้าหรือ
ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร
พระคุณเจ้าจึงต้องการพบเห็นนักปราชญ์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๖] นักปราชญ์ผู้มีปัญญาย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ
ไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำดีเป็นสิ่งประเสริฐของเขา
เขาถูกว่ากล่าวโดยชอบก็ไม่โกรธ
นักปราชญ์นั้นรู้วินัย การสมาคมกับท่านเป็นการดี
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๗] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๘] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
เมื่อราตรีนั้นสิ้นไป ในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น
ขอภักษาอันเป็นทิพย์และยาจกผู้มีศีลพึงปรากฏ
[๙๙] ขอถวายพระพร เมื่ออาตมาให้อยู่ ขอภักษาอย่าพึงหมดสิ้นไป
ครั้นให้แล้ว ขออาตมาอย่าพึงเดือดร้อนในภายหลัง
ขณะกำลังให้ ก็พึงทำจิตให้เลื่อมใส
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๐๐] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๐๑] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอมหาบพิตรอย่าเสด็จมาหาอาตมาอีกเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๐๒] นรชนชายหญิงทั้งหลายหวังอย่างยิ่งที่จะพบโยม
ด้วยการบำเพ็ญจริยาวัตรเป็นอันมาก
ในการเห็นโยมน่ากลัวนักหรือ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๐๓] มหาบพิตรผู้มีวรรณะเหมือนวรรณะแห่งเทพ
บันดาลความใคร่ทั้งปวงให้สำเร็จได้เช่นนั้น
อาตมาพบเห็นแล้ว พึงประมาทการบำเพ็ญตบะ
สิ่งนั้นจึงเป็นภัยแก่อาตมาเพราะการพบเห็นมหาบพิตร
อกิตติชาดกที่ ๗ จบ
๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
ว่าด้วยตักการิยมาณพเตือนอาจารย์
(ปุโรหิตผู้เป็นอาจารย์สนทนากับพระโพธิสัตว์ผู้เป็นศิษย์ว่า)
[๑๐๔] พ่อตักการิยะ ฉันนั่นแหละเป็นคนโง่ พูดคำชั่ว
เหมือนกบที่อยู่ในป่าเรียกหางูมากินตัวเอง
จะต้องตกไปยังหลุมนี้ การพูดเกินขอบเขตไม่ดีเลย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๕] คนผู้พูดเกินขอบเขตย่อมประสบการจองจำ
การถูกฆ่า และความโศกเศร้า คร่ำครวญ
ท่านอาจารย์ ท่านควรตำหนิตนเอง
ตามเหตุที่คนทั้งหลายจะฝังท่านลงในหลุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
(ลูกชายเศรษฐีกล่าวว่า)
[๑๐๖] เราไปถามตุณฑิละทำไม
นางกาฬีนี้ซิ ควรทำกับน้องชายหล่อนเอง
เราถูกแย่งเสื้อผ้า และกลายเป็นชีเปลือยไป
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
(พระโพธิสัตว์แสดงเหตุอื่นอีกว่า)
[๑๐๗] นกกุลิงคะตัวเองไม่ได้ต่อสู้กับใครเลย
แต่ไปบินอยู่ระหว่างแกะที่กำลังขวิดกัน
จึงถูกหัวแกะทั้ง ๒ บดขยี้ท่ามกลางอากาศนั้น
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
[๑๐๘] คน ๔ คนเมื่อจะช่วยเหลือคนเพียงคนเดียวจึงพากันจับชายผ้า
พวกเขาทั้งหมด ๔ คนจึงพากันศีรษะแตกนอนตายไป
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
[๑๐๙] อุปมาเหมือนแม่แพะที่เขาผูกมัดไว้ที่พุ่มกอไผ่
คึกคะนอง ดีดเท้าไปกระทบมีดดาบ
จึงถูกเขาใช้มีดดาบเล่มนั้นเชือดคอของมัน
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
(พระราชาทรงกริ้วต่อนายพราน จึงตรัสว่า)
[๑๑๐] กินนรเหล่านี้มิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์เทพบุตร
เป็นสัตว์พวกเนื้อ ตกอยู่ในอำนาจของเรา
พวกเจ้าจงย่างมันตัวหนึ่งในเวลาอาหารมื้อเย็น
อีกตัวหนึ่งจงย่างมันในเวลาอาหารมื้อเช้าต่อไป
(กินนรีรู้ว่าพระราชาทรงกริ้ว จึงกราบทูลว่า)
[๑๑๑] คำทุพภาษิตนับแสนคำก็ไม่ถึงแม้เสี้ยวหนึ่งแห่งคำสุภาษิต
กินนรรังเกียจคำทุพภาษิตจึงเศร้าหมอง
เพราะเหตุนั้น พวกกินนรจึงนิ่งเฉย มิใช่เพราะความโง่เขลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
(พระราชาทรงยินดีแล้วตรัสว่า)
[๑๑๒] กินนรตัวนี้พูดกับเราแล้ว พวกเจ้าจงปล่อยมันไป
และจงนำมันไปยังภูเขาหิมพานต์
ส่วนตัวนี้ เจ้าจงให้ไว้ที่ห้องครัวใหญ่
และย่างมันในเวลาอาหารมื้อเช้าแต่เช้าตรู่
(กินนรได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วจึงกราบทูลว่า)
[๑๑๓] ปศุสัตว์ทั้งหลายมีเมฆฝนเป็นที่พึ่ง
ประชาชนนี้มีปศุสัตว์เป็นที่พึ่ง
ข้าแต่พระมหาราช พระองค์เป็นที่พึ่งของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เป็นที่พึ่งของภรรยาของข้าพระองค์
ระหว่างข้าพระองค์ทั้ง ๒ ตัวหนึ่งรู้ว่าอีกตัวหนึ่งตายแล้ว
ตนพ้นความตายแล้วจึงจะบินไปสู่ภูเขา
[๑๑๔] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
คนจะพึงหลีกเว้นจากการนินทาได้โดยง่ายก็หาไม่
คนที่ควรคบหาก็มีฉันทะต่าง ๆ กัน
คนหนึ่งได้รับการยกย่องด้วยคุณธรรมข้อใด
คุณธรรมข้อนั้นแหละ คนอื่นกลับได้รับการนินทา
[๑๑๕] สัตวโลกทั้งหลายมีจิตทรามบ้าง ประณีตบ้าง
สัตวโลกทั้งปวงชื่อว่ามีความคิดก็เพราะจิตของตน
สัตว์ทุกตัวตนในโลกนี้ล้วนมีจิตเป็นของตนเอง
จึงไม่ควรยอมอยู่ในอำนาจแห่งจิตของใคร ๆ
(พระราชาทรงโสมนัสแล้วจึงตรัสว่า)
[๑๑๖] กินนรพร้อมทั้งภรรยาได้นิ่งอยู่
บัดนี้ กินนรตนใดกลัวภัยจึงพูด
กินนรตนนั้นพ้นภัยแล้ว มีความสุข ไม่มีโรค
นับว่า การพูดมีประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายโดยแท้
ตักการิยชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)
๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)
ว่าด้วยน้ำใจของพญาเนื้อรุรุ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๗] เราจะให้บ้านส่วยและเหล่านารีที่ประดับตบแต่งแล้วแก่คน
ผู้บอกกล่าวถึงพญาเนื้อตัวประเสริฐกว่าเนื้อทั้งหลายแก่เรา
(บุตรเศรษฐีกราบทูลว่า)
[๑๑๘] ขอพระองค์ประทานบ้านส่วยและเหล่านารี
ที่ประดับตบแต่งแล้วแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์จักกราบทูลถึงพญาเนื้อ
ตัวประเสริฐกว่าเนื้อทั้งหลายต่อพระองค์
(เมื่อจะบอกที่อยู่ของพญาเนื้อ จึงกราบทูลว่า)
[๑๑๙] ณ ไพรสณฑ์แห่งนั้น ต้นมะม่วงและต้นสาละผลิดอกบานสะพรั่ง
ภูมิภาคปกคลุมไปด้วยติณชาติมีสีแดงเหมือนปีกแมลงค่อมทอง
พญาเนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนั้นว่า)
[๑๒๐] พระราชาทรงโก่งธนูสอดใส่ลูกศร เสด็จเข้าไปใกล้
ส่วนพญาเนื้อเห็นพระราชาแล้วจึงร้องกราบทูลแต่ไกลว่า
[๑๒๑] ทรงหยุดก่อน พระมหาราชผู้จอมทัพ
อย่าเพิ่งทรงยิงข้าพระองค์
ใครหนอกราบทูลเรื่องนี้แก่พระองค์ว่า
พญาเนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๒] เจ้าคนที่ประพฤติเลวทรามยืนอยู่ห่าง ๆ
นั่นเพื่อน ก็เขานั่นแหละได้บอกเรื่องนี้แก่เราว่า
เนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๓] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้
ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า
ส่วนคนบางคนที่ประทุษร้ายมิตรไม่ดีเลย
(พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๒๔] นี่พญาเนื้อรุรุ เจ้าติเตียนหมู่เนื้อ
หรือหมู่นก ก็หรือติเตียนหมู่มนุษย์
เพราะภัยอันใหญ่หลวงจะมาต้องเรา
เพราะได้ฟังเจ้าพูดภาษามนุษย์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๕] ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ได้ช่วยผู้ใด
ซึ่งถูกน้ำพัดมาในห้วงน้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสเชี่ยวกรากขึ้นมา
ภัยมาถึงข้าพระองค์เพราะผู้นั้นเป็นเหตุ
การสมาคมกับคนชั่วเป็นทุกข์
(พระราชาทรงกริ้วบุตรเศรษฐี จึงตรัสว่า)
[๑๒๖] เรานั้นจะปล่อยลูกศร ๔ ปีกดอกนี้
แหวกอากาศไปเจาะร่างเสียบตรงหัวใจ
เราจะฆ่ามันผู้ประทุษร้ายมิตร ทำกิจที่ไม่ควรทำ
ซึ่งไม่รู้จักคนผู้ทำคุณไว้เช่นนั้น
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๗] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ผู้ทรงพระปรีชา
การฆ่าคนชั่วนั้น สัตบุรุษทั้งหลายไม่สรรเสริญ
ขอคนผู้มีธรรมชั่วช้าจงกลับไปบ้านได้ตามความปรารถนา
และขอพระองค์ทรงพระราชทาน
สิ่งที่พระองค์ตรัสพระราชทานไว้แก่เขาเถิด
และข้าพระองค์จะกระทำสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
(พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์แล้วตรัสว่า)
[๑๒๘] พญาเนื้อรุรุ เจ้าไม่ประทุษร้ายต่อคนผู้ประทุษร้าย
แถมยังปล่อยให้คนชั่วช้ากลับไปบ้านได้ตามสบาย
นับว่าเป็นผู้หนึ่งในบรรดาสัตบุรุษทั้งหลายแน่นอน
เราจะให้สิ่งที่ได้พูดว่าจะให้แก่เขา
และจะให้เจ้าเที่ยวไปตามความพอใจด้วย
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะลองหยั่งพระทัยพระราชา จึงได้กราบทูลว่า)
[๑๒๙] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี
เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย
ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น
[๑๓๐] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า
เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง
ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี
(พระศาสดาทรงประกาศความข้อนั้นว่า)
[๑๓๑] พวกชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกัน
ร้องทุกข์ว่า พวกเนื้อพากันมากินข้าวกล้า
ขอพระองค์ผู้สมมติเทพจงทรงห้ามหมู่เนื้อนั้น
(พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๓๒] ชนบทจงอย่ามีและแม้แว่นแคว้นจงพินาศไปก็ตามที
ส่วนเราให้อภัยทานแล้ว
จะไม่ประทุษร้ายพญาเนื้อรุรุอย่างเด็ดขาด
[๑๓๓] ชนบทของเราจงอย่ามีและแว่นแคว้นของเราจงพินาศไป
ส่วนเราให้พรแก่พญาเนื้อแล้วจะไม่พูดมุสาเด็ดขาด
รุรุมิคราชชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
ว่าด้วยละมั่งทำคุณแก่พระราชา
(พระเจ้าพรหมทัตมีพระทัยเปี่ยมด้วยปีติ ทรงเปล่งอุทานว่า)
[๑๓๔] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ปรารถนาอย่างใดก็ได้อย่างนั้น
[๑๓๕] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
[๑๓๖] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ปรารถนาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น
[๑๓๗] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
[๑๓๘] คนมีปัญญาแม้จะตกอยู่ในความทุกข์
ก็ไม่ควรสิ้นความหวัง เพื่อจะบรรลุถึงความสุข
เพราะว่าสัมผัส๑มีอยู่มากมาย ทั้งที่ไม่มีประโยชน์และมีประโยชน์
ถึงจะไม่นึกคิดก็ต้องถึงความตาย
[๑๓๙] สิ่งที่ไม่ได้คิดแล้วเป็นไปได้ก็มี
สิ่งที่คิดแล้วพินาศไปก็มี ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย
โภคะทั้งหลายสำเร็จได้เพราะความคิดไม่มีเลย

เชิงอรรถ :
๑ สัมผัส คือ สิ่งที่กระทบถูกต้อง ผัสสะที่เป็นทุกข์ ถูกเข้าแล้วถึงตายก็มี ผัสสะที่เป็นสุข ถูกเข้าแล้ว
ทำให้มีชีวิตก็มี (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓๘/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
(พราหมณ์ปุโรหิตถวายพระพรชัยแล้ว ได้กราบทูลว่า)
[๑๔๐] ละมั่งตัวใด พระองค์ติดตามไปจนถึงซอกเขา ในตอนแรก
เพราะอาศัยความบากบั่นของละมั่งตัวนั้นซึ่งมีจิตไม่ย่อท้อ
พระองค์จึงยังทรงพระชนม์อยู่ได้
[๑๔๑] ละมั่งตัวใด พยายามใช้ก้อนหินถม
ช่วยพระองค์ขึ้นมาจากเหวที่ขึ้นได้แสนยาก
และปลดเปลื้องพระองค์ผู้ทรงระทมทุกข์จากปากพญามัจจุราช
พระองค์คงจะทรงรับสั่งถึงละมั่งตัวมีจิตไม่ย่อท้อตัวนั้นแหละ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๒] เวลานั้น ท่านได้อยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกันหรือ
หรือว่าใครบอกเรื่องนั้นแก่ท่าน
ท่านเห็นทุกอย่างหรือ จึงเปิดเผยเรื่องนั้นได้
ญาณของท่านมีกำลังมากจริงนะพราหมณ์
(พราหมณ์ปุโรหิตเมื่อจะชี้แจง จึงกราบทูลว่า)
[๑๔๓] เวลานั้น ข้าพระองค์ได้อยู่ที่นั้นด้วยก็หาไม่
และแม้ใครจะบอกเรื่องนั้น ๆ แก่ข้าพระองค์ก็หาไม่
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ปราชญ์ทั้งหลาย
ประมวลเนื้อความแห่งบทคาถาสุภาษิตนั้นมา
(ต่อมาท้าวสักกะทรงสิงในสรีระของพราหมณ์ปุโรหิตแล้วได้ตรัสกับพระราชาว่า)
[๑๔๔] พระองค์ทรงสอดลูกศรมีปีก
ซึ่งจะฆ่าได้ด้วยความเพียรของผู้อื่นไว้ที่แล่งแล้ว
ทำไมยังทรงลังเลอยู่เล่า
ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระปัญญาอันประเสริฐ
ขอลูกศรที่แล่นออกจากแล่งไปจงฆ่าละมั่งโดยเร็วเถิด
เพราะว่าเนื้อละมั่งนั่นเป็นภักษาของพระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๕] ข้อนั้น ถึงเราจะรู้อย่างชัดแจ้งว่า
เนื้อเป็นพระกระยาหารของกษัตริย์ก็จริง
พราหมณ์ แต่เราเมื่อจะอ่อนน้อมบูชาคุณ
ที่ละมั่งตัวนี้ได้ทำไว้แก่เราในกาลก่อน
เพราะเหตุนั้น จึงไม่ฆ่าเนื้อละมั่ง
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๔๖] พระมหาราชผู้เป็นใหญ่ในทิศ นั่นไม่ใช่เนื้อ
นั่นคือท้าวสักกะผู้ยิ่งใหญ่กว่าอสูร
พระองค์ผู้จอมมนุษย์
ขอพระองค์ทรงประหารท้าวสักกะนั่น
แล้วเป็นจอมเทพเสียเอง
[๑๔๗] ขอเดชะพระมหาราช ผู้ประเสริฐกว่าคนผู้กล้าหาญ
ถ้าพระองค์ยังทรงลังเลที่จะฆ่าเนื้อละมั่งผู้สหายอยู่
พระองค์พร้อมทั้งพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี
จะต้องตกเวตตรณีนรกของพญายม
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๘] เราและชาวชนบทก็ดี
ลูกเมียและหมู่สหายก็ดี
จะต้องตกเวตตรณีนรกของพญายมก็ตามที
เราไม่ควรจะฆ่าผู้ที่ให้ชีวิตแก่เราเลย
[๑๔๙] เนื้อตัวนี้ทำคุณแก่เราผู้กำลังตกยากอยู่คนเดียว
ในป่าเปลี่ยวอันแสนทารุณ
เราเมื่อระลึกถึงบุพการีที่เนื้อตัวนี้ได้กระทำไว้เช่นนั้น
ทั้งที่รู้อยู่จะพึงฆ่าลงได้อย่างไร ท่านมหาพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงประกาศคุณของพระราชาว่า)
[๑๕๐] พระองค์ทรงโปรดปรานผู้เป็นมิตร
ขอทรงมีพระชนม์ชีพยืนนานเถิด
ขอทรงดำรงอยู่ในคุณธรรมปกครองรัฐสีมานี้เถิด
พระองค์ผู้มีหมู่นารีบำเรออยู่
จงบันเทิงพระหฤทัยในแว่นแคว้น
ดังเช่นท้าววาสวะบันเทิงอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๕๑] ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ
มีพระหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
ทรงต้อนรับแขกผู้มาเยือนทั้งปวง
จงบำเพ็ญทานบ้าง เสวยเองบ้างตามอานุภาพ
จงอย่าทรงถูกชาวโลกนินทา เสด็จสู่แดนสวรรค์เถิด
สรภมิคชาดกที่ ๑๐ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. อัมพชาดก ๒. ผันทนชาดก
๓. ชวนหังสชาดก ๔. จูฬนารทกัสสปชาดก
๕. ทูตชาดก ๖. กาลิงคโพธิชาดก
๗. อกิตติชาดก ๘. ตักการิยชาดก
๙. รุรุมิคราชชาดก ๑๐. สรภมิคชาดก

เตรสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๒ }


๑๔. ปกิณณกนิบาต
๑. สาลิเกทารชาดก (๔๘๔)
ว่าด้วยนกแแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่
(คนเฝ้านาถูกโกสิยพราหมณ์ถามแล้ว จึงได้กล่าวว่า)
[๑] ท่านโกสิยะ นาข้าวสาลีบริบูรณ์ดี
แต่พวกนกแขกเต้าพากันมาจิกกิน
ข้าพเจ้าขอบอกคืนนานะท่านพราหมณ์
เพราะไม่สามารถจะห้ามพวกมันได้
[๒] แต่บรรดานกแขกเต้าเหล่านั้น
มีนกตัวหนึ่งสวยงามกว่านกเหล่านั้นทั้งหมด
กินข้าวสาลีตามความพอใจแล้วยังคาบบินไปอีก
(พราหมณ์ได้กล่าวกับคนเฝ้านาว่า)
[๓] เจ้าจงดักบ่วงหางสัตว์โดยวิธีที่นกนั้นจะติดบ่วง
จับเป็นแล้วนำมาให้เรา
(พญานกแขกเต้ารำพันอยู่ว่า)
[๔] นกทั้งหลายเหล่านั้นกิน ดื่มแล้วก็บินไป
ส่วนเราตัวเดียวติดบ่วงอยู่ เราได้ทำความชั่วอะไรไว้หนอ
(พราหมณ์กล่าวกับพญานกแขกเต้านั้นว่า)
[๕] นกตัวอื่นกินเฉพาะท้องเท่านั้น แต่เจ้ากินเกินท้อง
เจ้ากินข้าวสาลีตามความพอใจแล้วยังคาบบินไปอีก
[๖] ฉางที่ป่าไม้งิ้วนั้นเจ้าบรรจุไว้จนเต็มหรือ
หรือเจ้ามีเวรกับเรา เราถามแล้ว จงบอกเถิด
เพื่อน เจ้าเก็บข้าวสาลีไว้ที่ไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๗] ข้าพเจ้ามิได้มีเวรกับท่าน ฉางของข้าพเจ้าก็ไม่มี
ข้าพเจ้าไปถึงยอดไม้งิ้วก็ชำระหนี้ และให้กู้ยืมหนี้
ทั้งยังฝังแม้ขุมทรัพย์ไว้ที่ยอดไม้งิ้วนั้นด้วย
ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด ท่านโกสิยะ
(พราหมณ์ถามพญานกแขกเต้าว่า)
[๘] การให้กู้ยืมหนี้และการชำระหนี้ของเจ้าเป็นเช่นไร
เจ้าจงบอกถึงการฝังขุมทรัพย์มาซิ
เมื่อเจ้าทำดังนั้น เจ้าก็จะพ้นจากบ่วง
(พญานกแขกเต้าเมื่อตอบว่า)
[๙] ท่านโกสิยะ ข้าพเจ้ามีลูกอ่อนตัวเล็ก ๆ ขนปีกยังไม่งอก
ลูกนกเล็ก ๆ เหล่านั้น ข้าพเจ้าได้เลี้ยงแล้ว จักเลี้ยงข้าพเจ้า
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงให้พวกเขากู้ยืมหนี้
[๑๐] พ่อแม่ของข้าพเจ้าแก่เฒ่า ผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
ข้าพเจ้าคาบรวงข้าวสาลีไปเพื่อท่านทั้ง ๒ นั้น
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงชำระหนี้ที่ท่านได้ให้กู้ยืมไว้ในกาลก่อน
[๑๑] ที่ป่าไม้งิ้วนั้น ยังมีนกอื่น ๆ อีก
ที่ทุพพลภาพ มีขนปีกหมดสิ้นแล้ว
ข้าพเจ้าต้องการบุญ จึงให้รวงข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้น
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการทำบุญนั้นว่า เป็นขุมทรัพย์
[๑๒] การให้กู้ยืมหนี้และการชำระหนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้
ข้าพเจ้าบอกการฝังขุมทรัพย์แก่ท่าน
ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด ท่านโกสิยะ
(พราหมณ์ฟังแล้วมีจิตเลื่อมใส จึงได้กล่าวว่า)
[๑๓] ปักษีนี้ดีหนอ เป็นนกแต่มีธรรมอย่างยอดเยี่ยม
ในพวกมนุษย์บางเหล่าไม่มีธรรมนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น