Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๙ หน้า ๔๒๕ - ๔๗๗

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๙ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
[๑๔] เจ้าพร้อมกับพวกญาติทั้งหมด
จงกินข้าวสาลีตามความพอใจเถิด
เจ้านกแขกเต้า เราคงได้พบกันอีก เรายินดีที่จะพบเจ้า
(พญานกแขกเต้าให้โอวาทว่า)
[๑๕] ข้าพเจ้าได้กินและดื่มในที่อยู่ของท่าน
แต่ในเพื่อนบ้านของท่านไม่น่ายินดีนัก
ท่านโกสิยะ ขอท่านจงให้อภัยทานในเหล่าสัตว์ผู้วางอาชญาแล้ว
และจงเลี้ยงดูบิดามารดาผู้แก่เฒ่าเถิด
(พราหมณ์มีใจยินดีเปล่งอุทานว่า)
[๑๖] วันนี้ โชคได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว
ที่เห็นนกตัวประเสริฐกว่านกทั้งหลาย
เราได้ฟังวาจาสุภาษิตของนกแขกเต้าแล้ว จักทำบุญให้มาก
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความนั้นจึงตรัสว่า)
[๑๗] โกสิยพราหมณ์นั้นมีความยินดีเบิกบานใจ
จัดแจงข้าวและน้ำ มีจิตผ่องใส
เลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
สาลิเกทารชาดกที่ ๑ จบ
๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
ว่าด้วยนางจันทกินนรี
(กินนรประสบเวทนาคร่ำครวญอยู่ ได้กล่าวว่า)
[๑๘] น้องจันทา ชีวิตของพี่นี้เห็นจวนจะดับเสียแล้ว
เพราะเสียเลือดไปมาก วันนี้ พี่คงจะสละชีวิตเป็นแน่
น้องจันทา ลมปราณของพี่กำลังจะดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
[๑๙] ชีวิตของพี่มีแต่จะจมลง ทุกข์เผาผลาญดวงใจพี่
พี่แสนลำบาก นี้เป็นทุกข์ของพี่
เพราะเศร้าโศกถึงเจ้าจันทาผู้กำลังเศร้าโศก
มิใช่เพราะความเศร้าโศกอย่างอื่น
[๒๐] พี่เหี่ยวแห้งเหมือนต้นหญ้าที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินที่ร้อนจัด
เหมือนป่าไม้ที่ถูกตัดราก ทั้งยังซูบซีดเหมือนแม่น้ำที่เหือดแห้ง
นี้เป็นทุกข์ของเรา เพราะเศร้าโศกถึงเจ้าจันทาผู้กำลังเศร้าโศก
มิใช่เพราะความเศร้าโศกอย่างอื่น
[๒๑] น้ำตาเหล่านี้ของพี่หลั่งไหลไปเหมือนฝนตกที่เชิงเขาหลั่งไหลไป
นี้เป็นทุกข์ของพี่ เพราะเศร้าโศกถึงเจ้าจันทาผู้กำลังเศร้าโศก
มิใช่เพราะความเศร้าโศกอย่างอื่น
(นางจันทกินนรีบริภาษพระราชาว่า)
[๒๒] ท่านราชบุตร พระองค์ชั่วจริง ๆ
ที่ทรงยิงสามีที่รักของหม่อนฉันผู้น่าสงสารที่โคนไม้ในป่า
สามีของหม่อมฉันนั้นถูกยิงนอนอยู่บนแผ่นดิน
[๒๓] ท่านราชบุตร ขอพระมารดาของพระองค์
จงได้รับความเหือดแห้งพระหฤทัย
เหมือนหม่อมฉันผู้รอคอยสามีกินนร
[๒๔] ท่านราชบุตร ขอพระชายาของพระองค์
จงได้รับความเหือดแห้งพระหฤทัย
เหมือนหม่อมฉันผู้รอคอยสามีกินนร
[๒๕] ท่านราชบุตร ขอพระมารดาของพระองค์
ผู้ทรงสังหารกินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะต้องการหม่อมฉัน
จงอย่าทรงพบเห็นพระราชโอรสและพระราชสวามีเลย
[๒๖] ท่านราชบุตร ขอพระชายาของพระองค์
ผู้ทรงสังหารกินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะต้องการหม่อมฉัน
จงอย่าทรงพบเห็นพระราชโอรสและพระราชสวามีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
(พระราชาทรงปลอบโยนนางจันทกินนรีนั้นว่า)
[๒๗] แม่จันทา ผู้มีนัยน์ตาเหมือนดอกราตรีในป่า
เจ้าอย่าร้องไห้เศร้าโศกไปเลย
เจ้าจักได้เป็นพระมเหสีของเราที่เหล่านารีบูชาในราชสกุล
(นางจันทกินนรีกราบทูลว่า)
[๒๘] ท่านราชบุตร หม่อมฉันขอยอมตาย
ไม่ขอเป็นพระมเหสีของพระองค์ผู้ทรงสังหารกินนรผู้ไม่ประทุษร้าย
เพราะต้องการหม่อมฉันแน่นอน
(พระราชาหมดความรักใคร่ จึงตรัสว่า)
[๒๙] แม่กินนรีขี้ขลาด ผู้ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่
เจ้าจงไปยังป่าหิมพานต์ หากฤษณาและกะลำพักบริโภคเถิด
มฤคชาติเหล่าอื่นจะอภิรมย์กับเจ้า
(นางจันทกินนรีคร่ำครวญอย่างหนักว่า)
[๓๐] ภูเขา ซอกเขา และถ้ำแห่งภูเขาเหล่านั้นยังตั้งอยู่เหมือนเดิม
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
เราได้ร่วมอภิรมย์กันที่ภูเขาเหล่าใด
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๑] ภูเขาเหล่านั้นเกลื่อนกลาดไปด้วยใบไม้
น่ารื่นรมย์ มีเนื้อร้ายสัญจรไปมา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๒] ภูเขาเหล่านั้นดารดาษไปด้วยดอกไม้
น่ารื่นรมย์ มีเนื้อร้ายสัญจรไปมา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๓] แม่น้ำแห่งป่าเขามีกระแสน้ำเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกไม้
มีสายธารอันใสไหลเอื่อยอยู่
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่แม่น้ำนั้นจะทำอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
[๓๔] ยอดภูเขาหิมพานต์ทั้งหลายมีสีเขียวชอุ่ม น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๕] ยอดภูเขาหิมพานต์ทั้งหลายมีสีเหลืองอร่าม น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๖] ยอดภูเขาหิมพานต์ทั้งหลายมีสีแดง น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๗] ภูเขาหิมพานต์ สูงตระหง่าน น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๘] ยอดภูเขาหิมพานต์ทั้งหลาย มีสีขาวโพลน น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๙] ยอดภูเขาหิมพานต์ งามวิจิตร น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๔๐] ที่ภูเขาคันธมาทน์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งหมู่เทพเจ้า
ปกคลุมไปด้วยโอสถนานาชนิด
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขานั้นจะทำอย่างไร
[๔๑] ที่ภูเขาคันธมาทน์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งหมู่กินนรกินนรี
ปกคลุมไปด้วยโอสถนานาชนิด
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขานั้นจะทำอย่างไร
(นางจันทกินนรีเห็นสามีที่รักหายโรคก็ดีใจ ไหว้ท้าวสักกะแล้วกล่าวว่า)
[๔๒] ข้าแต่เจ้าปู่ผู้ประเสริฐ ดิฉันได้อยู่ร่วมกับสามีผู้เป็นที่รักยิ่ง
จึงขอกราบเท้าทั้ง ๒ ของท่าน
ผู้ซึ่งได้ใช้น้ำอมฤตรดสามีดิฉันผู้น่ารักน่าปรารถนา
[๔๓] บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้ง ๒ จะเที่ยวไปยังแม้น้ำแห่งป่าเขา
อันมีกระแสน้ำเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกไม้ อาศัยอยู่ตามต้นไม้ต่าง ๆ
เจรจาแต่คำอันเป็นที่รักต่อกันและกัน
จันทกินนรีชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
ว่าด้วยพญานกออกช่วยเพื่อน
(แม่เหยี่ยวพูดกับพญาเหยี่ยวว่า)
[๔๔] พวกชาวชนบทพากันมัดคบเพลิงอยู่บนเกาะ
ประสงค์จะกินลูกน้อย ๆ ของเรา
พี่พญาเหยี่ยว ขอท่านจงไปบอกมิตรสหาย
เล่าถึงความพินาศแห่งหมู่ญาติของนกทั้งหลาย
(เหยี่ยวนั้นถูกถามจึงแสดงเหตุที่ต้องมาว่า)
[๔๕] ข้าแต่พญานกออก๑ ราชปักษี
ท่านนะเป็นนกที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย
ข้าพเจ้าขอยึดท่านเป็นที่พึ่ง
พวกนายพรานชาวชนบทประสงค์จะกินลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้า
เพื่อความสุขของข้าพเจ้า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด
(พญานกออกตอบเหยี่ยวว่า)
[๔๖] บัณฑิตทั้งหลายผู้แสวงหาความสุขอยู่
ย่อมคบมิตรสหายทั้งในกาลและมิใช่กาล
เจ้าเหยี่ยว เราจะทำตามความประสงค์ของเจ้านั้น
เพราะว่าคนดีจะต้องช่วยเหลือคนดี
(เหยี่ยวฟังดังนั้นแล้วเข้าไปหาพญานกออกพลางเชื้อเชิญว่า)
[๔๗] กิจอันใดเป็นกิจที่คนดีจะพึงกระทำให้คนดี
ด้วยความอนุเคราะห์กิจอันนี้ท่านก็ได้ทำแล้ว
ท่านจงถนอมตัวไว้เถิด อย่าได้เดือดร้อนไปเลย
เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าก็จะได้ลูกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ พญานกออก หมายถึงชื่อนกเหยี่ยวขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ชอบหากินปลาในทะเล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
(พญานกออกบันลือสีหนาทว่า)
[๔๘] เราเมื่อจะกระทำการรักษาป้องกันท่านนั้น
แม้ตัวจะตายก็ไม่หวาดหวั่น
เพราะเพื่อนทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องสละชีวิต
กระทำเพื่อเพื่อนทั้งหลาย
นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษ
(พระศาสดาทรงสรรเสริญคุณของพญานกออกนั้นว่า)
[๔๙] พญานกออกตัวนี้เกิดจากฟองไข่ ได้ทำกรรมที่ทำได้ยาก
เพื่อต้องการจะช่วยลูกนกทั้งหลายเกือบเที่ยงคืน
(ฝ่ายเหยี่ยวไปหาเต่าแล้วกล่าวว่า)
[๕๐] จริงอยู่ คนบางพวกแม้จะเคลื่อนคลาดพลาดพลั้ง
จากการงานของตน ก็ยังดำรงตนอยู่ได้
เพราะความช่วยเหลือของมิตรทั้งหลาย
ลูก ๆ ของข้าพเจ้ามีความเดือดร้อน
ข้าพเจ้าจึงมาหาท่านให้เป็นที่พึ่ง ท่านพญาเต่า
ขอท่านบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
(เต่าฟังแล้วกล่าวว่า)
[๕๑] บัณฑิตทั้งหลายย่อมทำการผูกมิตรผูกสหาย
ด้วยทรัพย์บ้าง ด้วยข้าวเปลือกบ้าง ด้วยตนบ้าง
พญาเหยี่ยว เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน
เพราะว่าคนดีจะต้องช่วยเหลือคนดี
(ลูกเต่านอนอยู่ไม่ไกลได้ยินบิดาพูด จึงกล่าวว่า)
[๕๒] คุณพ่อ ขอพ่อจงขวนขวายน้อยนั่งอยู่เฉย ๆ เถิด
ลูกจะช่วยบำเพ็ญประโยชน์แทนพ่อ
ลูกจะป้องกันลูกน้อย ๆ ของพญาเหยี่ยว
บำเพ็ญประโยชน์นั้นแทนพ่อเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
(พ่อเต่ากล่าวกับลูกว่า)
[๕๓] ลูกรัก จริงอยู่ การที่ลูกพึงช่วยเหลือ
บำเพ็ญประโยชน์แทนพ่อนั้น
เป็นธรรมของสัตบุรุษโดยแท้
บางทีพวกนายพรานเห็นพ่อซึ่งมีร่างกายใหญ่โต
ก็จะไม่พึงเบียดเบียนลูกนกน้อย ๆ ของพญาเหยี่ยว
(เหยี่ยวไปหาราชสีห์เมื่อถูกถาม จึงกล่าวว่า)
[๕๔] ท่านผู้ประเสริฐกว่าเนื้อผู้กล้าหาญ
สัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์เดือดร้อน
เพราะภยันตรายย่อมเข้าไปหาท่านผู้ประเสริฐ
ลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้ามีความเดือดร้อน
ข้าพเจ้าจึงมาหาท่านให้เป็นที่พึ่ง ท่านเป็นราชาของข้าพเจ้า
เพื่อความสุขของข้าพเจ้า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด
(ราชสีห์ฟังแล้วกล่าวว่า)
[๕๕] เหยี่ยว เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน
เรามาก็เพื่อจะฆ่าหมู่ศัตรูของท่าน
ธรรมดาวิญญูชนผู้มีความสามารถรู้อยู่
จะไม่พยายามคุ้มครองมิตรผู้เสมอด้วยตนได้อย่างไร
(แม่เหยี่ยวประกาศมิตตธรรมว่า)
[๕๖] เพื่อบรรลุถึงความสุข บุคคลควรคบมิตรสหายผู้มีใจดี
และบุคคลผู้เป็นเจ้านาย
เราทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกับลูก ๆ บันเทิงใจอยู่
เหมือนคนสวมเกราะป้องกันลูกศร
[๕๗] ลูกนกน้อย ๆ ส่งเสียงคูขันอยู่อย่างไพเราะจับใจ
ต้อนรับเราและท่านผู้กำลังคูขัน
เพราะการกระทำของมิตรสหายผู้ไม่หนีไปของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๔. อุททาลกชาดก (๔๘๗)
[๕๘] บัณฑิตนั้นได้มิตรสหายแล้วย่อมป้องกันลูก
ปศุสัตว์ หรือทรัพย์ไว้ได้
ข้าพเจ้า ลูก ๆ และสามีของข้าพเจ้อยู่พร้อมหน้ากัน
เพราะความช่วยเหลือของมิตรทั้งหลาย
[๕๙] อันบุคคลผู้มีเจ้านายและเพื่อนผู้กล้าหาญอาจจะได้รับประโยชน์
สำหรับผู้ที่มีเพื่อนพรั่งพร้อมก็จะมีเพื่อนร่วมงานเช่นนี้
เขาก็จะมีมิตร มียศ มีความรุ่งเรือง บันเทิงใจอยู่ในโลกนี้ นะพี่ที่รัก
[๖๐] พี่เสนกะ ควรจะผูกมิตรแม้กับคนยากจน ดูเถิด
พวกเรามาพร้อมเพรียงกับหมู่ญาติได้เพราะความช่วยเหลือของมิตร
[๖๑] นกตัวใดผูกมิตรไว้กับมิตรผู้กล้าหาญและมิตรผู้มีกำลัง
นกตัวนั้นย่อมมีความสุขเหมือนอย่างฉันและท่าน นะพี่เสนกะ
มหาอุกกุสชาดกที่ ๓ จบ
๔. อุททาลกชาดก (๔๘๗)
ว่าด้วยอุททาลกดาบส
(พระราชาทรงสนทนากับปุโรหิตว่า)
[๖๒] ชฎิลเหล่าใดนุ่งห่มหนังสัตว์ที่ขรุขระ
มีขี้ฟันเขรอะ ร่างกายสกปรก สาธยายมนต์อยู่
ชฎิลเหล่านั้นประกอบหน้าที่การงานของมนุษย์
จะรู้แจ้งโลกนี้แล้วพ้นจากอบายได้หรือ
(ปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๖๓] ขอเดชะพระราชา หากบุคคลถึงจะเป็นพหูสูต
กระทำแต่กรรมชั่ว ก็ชื่อว่าไม่ประพฤติธรรม
เขาแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม๑ ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ จรณธรรม ในที่นี้ ได้แก่ สมาบัติ ๘ (ขุ.ชา.อ. ๖/๖๓/๒๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๔. อุททาลกชาดก (๔๘๗)
(อุททาลกดาบสกล่าวกับปุโรหิตว่า)
[๖๔] บุคคลแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
อาตมาเข้าใจว่า พระเวททั้งหลายเป็นสิ่งที่ไร้ผล
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวมเท่านั้นเป็นสัจจะ
(ปุโรหิตกล่าวว่า)
[๖๕] พระเวททั้งหลายจะไร้ผลก็หาไม่
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวมเท่านั้นเป็นสัจจะ
เพราะบุคคลบรรลุพระเวททั้งหลายแล้วย่อมได้เกียรติ
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้วด้วยจรณธรรมย่อมบรรลุความสงบ
(อุททาลกดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๖] มารดาบิดาและเผ่าพันธุ์ทั้งหลายที่บุคคลจะต้องเลี้ยงดู
บุตรเกิดแต่ผู้ใด เขาก็คือผู้นั้นนั่นเอง
อาตมาชื่อว่าอุททาลกะ เป็นวงศ์แห่งโสตถิยสกุลของท่าน
(พราหมณ์ถามถึงธรรมเนียมของพราหมณ์ว่า)
[๖๗] ท่านผู้เจริญ คนจะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร
จะเป็นพราหมณ์เต็มตัวได้อย่างไร
ปรินิพพานจะมีได้อย่างไร
และคนผู้ทรงธรรม บัณฑิตกล่าวเรียกว่าอย่างไร
(อุททาลกดาบสตอบว่า)
[๖๘] เพราะก่อไฟบูชาอยู่เนือง ๆ บุคคลจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์
บุคคลเมื่อรดน้ำบูชายัญและให้ยกเสาบูชายัญ
จึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์เต็มตัว
พราหมณ์ผู้บำเพ็ญอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้เกษม
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียกว่าผู้ดำรงอยู่ในธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(ปุโรหิตตำหนิธรรมเนียมของพราหมณ์ว่า)
[๖๙] ความบริสุทธิ์ย่อมมีเพราะการรดน้ำก็หาไม่
แม้จะเป็นพราหมณ์เต็มตัวก็หาไม่
ขันติและโสรัจจะก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น
แม้เขาชื่อว่าได้ปรินิพพานเพราะดับกิเลสก็หาไม่
(อุททาลกดาบสถามว่า)
[๗๐] บุคคลจะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร
จะเป็นพราหมณ์เต็มตัวได้อย่างไร ปรินิพพานจะมีได้อย่างไร
และบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม บัณฑิตกล่าวเรียกว่าอย่างไร
(ปุโรหิตบอกว่า)
[๗๑] บุคคลผู้ไม่มีไร่นา ไม่มีเผ่าพันธุ์ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ไม่มีความหวัง หมดความโลภอันเป็นบาป
มีความโลภในภพหมดสิ้นแล้ว
ผู้บำเพ็ญอย่างนี้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ชื่อว่าผู้มีความเกษม
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
(อุททาลกดาบสกล่าวว่า)
[๗๒] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล
และคนเทขยะทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผู้สงบเสงี่ยม
ฝึกตนแล้ว ล้วนแต่ได้ปรินิพพานแล้ว
เมื่อทุกคนมีความสงบเยือกเย็น
ยังจะมีคนดีและคนชั่วอีกไหมหนอ
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๗๓] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล
และคนเทขยะทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้สงบเสงี่ยม
ฝึกตนแล้ว ล้วนแต่ได้ปรินิพพานแล้ว
เมื่อทุกคนมีความสงบเยือกเย็นย่อมไม่มีทั้งคนดีและคนชั่ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(อุททาลกดาบสติเตียนพราหมณ์ว่า)
[๗๔] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล
และคนเทขยะทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้สงบเสงี่ยม
ฝึกตนแล้ว ล้วนแต่ได้ปรินิพพานแล้ว
[๗๕] เมื่อทุกคนมีความสงบเยือกเย็น ย่อมไม่มีทั้งคนดีและคนชั่ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะประพฤติให้เสียความเป็นพราหมณ์
วงศ์แห่งโสตถิยสกุลทำไม
(ปุโรหิตเปรียบเทียบให้เข้าใจว่า)
[๗๖] วิมานที่คลุมด้วยผ้าซึ่งย้อมด้วยสีต่าง ๆ
ผ้าเหล่านั้นมีแต่เงา สีที่ย้อมนั้นหาปรากฏไม่
[๗๗] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน เมื่อใดคนทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์
เป็นผู้มีวัตรดีเพราะรู้ทั่วถึงธรรม
เมื่อนั้นพวกเขาย่อมปล่อยวางชาติของตนเสียได้
อุททาลกชาดกที่ ๔ จบ
๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
ว่าด้วยท้าวสักกะลักเหง้าบัวเพื่อลองใจฤๅษี
(อุปกัญจนดาบสสาบานว่า)
[๗๘] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงได้ม้า โค เงิน ทอง และภรรยาที่น่าพอใจในโลกนี้
และจงเป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยบุตรภรรยามากหลาย
(ดาบสผู้น้องชายคนที่ ๒ เมื่อจะชำระตนให้หมดจด จึงสาบานว่า)
[๗๙] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงทัดทรงระเบียบดอกไม้ นุ่งห่มผ้าแคว้นกาสี
ลูบไล้จุรณแก่นจันทน์ และเขาจงมีบุตรมาก ๆ
อนึ่ง จงทำความเยื่อใยอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(ดาบสน้องชายที่เหลือต่างกล่าวสาบานว่า)
[๘๐] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ผู้นั้นเป็นกสิกร จงมีข้าวเปลือกมากมาย
เป็นคฤหัสถ์ จงมียศ มีบุตรมากหลาย
มีทรัพย์ มีวัตถุที่น่าใคร่ทั้งปวง
อย่าได้เห็นความเสื่อม อยู่ครองเรือนเถิด
[๘๑] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์
เป็นพระราชายิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลาย
ทรงมีพลัง ประกอบด้วยพระอิสริยยศ
ทรงครอบครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตเถิด
[๘๒] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ จงอย่าได้คลายความยินดี(ในตำแหน่ง)
เชี่ยวชาญในคลองแห่งฤกษ์ยามและนักษัตร
เจ้าผู้ครองแคว้นผู้ทรงยศ จงบูชาเขาเถิด
[๘๓] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอชาวโลกทั้งปวงจงสำคัญผู้นั้นว่า
เป็นครูสอนเวทมนต์ทุกชนิด มีตบะ
ขอชาวชนบทจงมุ่งไปบูชาเขาพร้อม ๆ กัน
[๘๔] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงเก็บกินบ้านส่วยที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ๑
เหมือนท้าววาสวะประทานให้
จงอย่าได้คลายความกำหนัดจนกระทั่งตาย

เชิงอรรถ :
๑ สมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) ด้วยผู้คน เพราะมีผู้คนคับคั่ง (๒) ด้วยข้าวเปลือก เพราะมี
ข้าวเปลือกมากมาย (๓) ด้วยฟืนที่หาได้ง่าย (๔) ด้วยน้ำ เพราะมีน้ำสมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๔/๒๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
[๘๕] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงเป็นผู้ใหญ่บ้าน
บันเทิงใจอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้องในท่ามกลางหมู่สหาย
จงอย่าได้รับความพินาศอะไร ๆ จากพระราชาเลย
[๘๖] ท่านพราหมณ์ หญิงใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอองค์เอกอัครราชาทรงปราบปรามศัตรูทั่วพื้นปฐพี
จงสถาปนาหญิงนั้นในตำแหน่งที่ยอดกว่าหญิงพัน ๆ คน
และประเสริฐกว่าหญิงภายในขอบขัณฑสีมา
[๘๗] ท่านพราหมณ์ หญิงใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอหญิงนั้นอย่าได้หวาดหวั่นท่ามกลางนางทาสีทั้งหลาย
ที่มาประชุมพร้อมกัน พึงบริโภคของอร่อย
จงประพฤติโอ้อวดเพราะลาภอยู่เถิด
[๘๘] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงเป็นผู้ปฏิบัติที่อยู่ในมหาวิหาร
จงเป็นนักก่อสร้างในกชังคลนคร จงกระทำหน้าต่างตลอดวัน๑
[๘๙] ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอช้างเชือกนั้นจงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อยที่อวัยวะ ๖ แห่ง๒
จงถูกนำออกจากป่าอันน่ารื่นรมย์ไปยังราชธานี
จงถูกขอสับ ถูกปฏักแทง
[๙๐] ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอลิงตัวนั้นจงสวมใส่พวงดอกรักขาว
ถูกเจาะหู ห้อยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยเรียวไม้ เข้าไปใกล้ปากงู
จงถูกล่ามโซ่ตระเวนเที่ยวไปตามตรอกเถิด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ทำตลอดวัน ในที่นี้หมายถึงทำให้เสร็จภายในวันเดียวเท่านั้น (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๘/๒๖๘)
๒ อวัยวะ ๖ แห่ง คือ เท้าทั้ง ๔ คอ และสะเอว (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๙/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(พระโพธิสัตว์สาบานว่า)
[๙๑] ผู้ใดแลกล่าวถึงสิ่งที่ไม่หายว่าหาย
หรือว่าผู้ใดสงสัยใคร ๆ ก็ตาม
ขอผู้นั้นจงได้ประสบและซ่องเสพกามทั้งหลาย
ท่ามกลางเรือนจนกระทั่งตาย
(ท้าวสักกะถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๙๒] กามเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก และน่าพอใจ
ของเทวดาและมนุษย์เป็นจำนวนมากในชีวโลกนี้
ที่สัตว์ทั้งหลายเที่ยวแสวงหาอยู่ในโลก
ทำไมฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์แก้ปัญหาของท้าวสักกะว่า)
[๙๓] เพราะกามทั้งหลายแล สัตว์ทั้งหลายย่อมฆ่ากัน
และย่อมจองจำกัน
เพราะกามทั้งหลายจึงเกิดทุกข์ เกิดภัย
ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ เพราะกามทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายจึงประมาท ทำกรรมชั่วเพราะโมหะ
[๙๔] สัตว์เหล่านั้นผู้มีธรรมชั่วก็ประสบสิ่งที่ชั่ว
เมื่อตายไปก็ตกนรก
เพราะฉะนั้น ฤๅษีทั้งหลายเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย
จึงไม่สรรเสริญกามทั้งหลาย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๕] โยมเมื่อจะทดลองฤๅษีทั้งหลาย
จึงหยิบเอาเหง้าบัวซึ่งวางไว้ที่ริมฝั่งแล้วไปฝังไว้บนบก
พระคุณเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ฤๅษีทั้งหลายอยู่อย่างบริสุทธื์ ไม่มีผู้ชั่วช้า นี้เหง้าบัวของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า)
[๙๖] ฤๅษีทั้งหลายไม่ใช่นักฟ้อนสำหรับพระองค์
และไม่ใช่บุคคลที่จะพึงล้อเล่น
ไม่ใช่ญาติ และไม่ใช่สหายของพระองค์
ขอถวายพระพร ท้าวสหัสสนัยน์เทวราช
อาศัยเหตุอะไร พระองค์จึงได้ล้อเล่นกับฤๅษีทั้งหลาย
(ท้าวสักกะขอขมาพระโพธิสัตว์ว่า)
[๙๗] ท่านพราหมณ์ ขอพระคุณเจ้าจงเป็นทั้งอาจารย์
และบิดาของโยม
ข้อนี้ขอจงเป็นที่พึ่งแก่โยมผู้พลั้งพลาดไปแล้ว
ท่านผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ขอท่านจงงดโทษสักครั้งหนึ่งเถิด
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือโกรธ
(พระโพธิสัตว์งดโทษต่อท้าวสักกะแล้วให้หมู่ฤๅษียกโทษให้ว่า)
[๙๘] คืนเดียวที่พวกฤๅษีอยู่ในป่าก็นับว่าอยู่ดีแล้ว
เพราะพวกเราได้เห็นท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ
ขอพระคุณเจ้าทั้งปวงจงพอใจ เพราะพราหมณ์ได้เหง้าบัวคืนมา
(พระศาสดาได้ตรัสคาถาประมวลชาดกว่า)
[๙๙] ในกาลนั้น ตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ
กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะ และอานนท์ ทั้ง ๗ เป็นพี่น้องกัน
[๑๐๐] ในกาลนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตราเป็นทาสี
จิตตคหบดีเป็นทาส สาตาคิระเป็นยักษ์
[๑๐๑] ในกาลนั้น ปาลิเลยยะได้เป็นช้าง
วานรที่ถวายน้ำผึ้งได้เป็นวานรตัวประเสริฐ
กาฬุทายีได้เป็นท้าวสักกะ พวกเธอจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้
ภิสชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๖. สุรุจิชาดก (๔๘๙)
๖. สุรุจิชาดก (๔๘๙)
ว่าด้วยพระมเหสีของพระเจ้าสุรุจิ
(พระนางสุเมธาสดับพระดำรัสของท้าวสักกะแล้วได้บอกคุณคือศีลของตนว่า)
[๑๐๒] ดิฉันเป็นหญิงที่สามีพึงเลี้ยงดู
ซึ่งถูกเชิญมาเป็นมเหสีของพระเจ้าสุรุจิเป็นคนแรก
พระเจ้าสุรุจิได้นำดิฉันมา ๑๐,๐๐๐ ปีแล้ว
[๑๐๓] ท่านพราหมณ์ ดิฉันนั้นยังไม่รู้สึกเลยว่า
ได้ล่วงเกินพระเจ้าสุรุจิผู้ครอบครองมิถิลานคร แคว้นวิเทหะ
ด้วยกาย วาจา และใจ ไม่ว่าในที่แจ้งหรือในที่ลับเลย
[๑๐๔] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๐๕] ดิฉันเป็นที่รักที่พอพระทัยของพระภัสดา
พระมารดาผู้เป็นแม่ผัว พระราชบิดาผู้เป็นพ่อผัว
เป็นที่รักของดิฉัน ท่านพราหมณ์
ท่านทั้ง ๒ นั้นทรงแนะนำดิฉันอยู่จนตลอดพระชนมชีพ
[๑๐๖] ดิฉันนั้นยินดีในการไม่เบียดเบียน
มีปกติประพฤติธรรมโดยส่วนเดียว
ตั้งใจมาบำรุงท่านเหล่านั้นโดยเคารพ
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางคืนและกลางวัน
[๑๐๗] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๐๘] ท่านพราหมณ์ ดิฉันมิได้มีความริษยา
หรือความโกรธในหญิง ๑๖,๐๐๐ นาง
ผู้เป็นภรรยาร่วมกันเหล่านั้นในกาลไหน ๆ เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๖. สุรุจิชาดก (๔๘๙)
[๑๐๙] ดิฉันยินดีที่จะเกื้อกูลพวกนาง
ไม่มีสักนางหนึ่งเลยซึ่งเป็นที่เกลียดชังของดิฉัน
ดิฉันช่วยเหลือพวกนางผู้ร่วมสามีกันทุกคนเป็นประจำ
เหมือนช่วยเหลือตนเอง
[๑๑๐] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๑๑] พวกทาส กรรมกร คนรับใช้ และคนที่อาศัยเลี้ยงชีพเหล่าอื่น
ดิฉันมีความแช่มชื่นเบิกบาน ใช้สอยด้วยเหตุที่เหมาะสมเสมอ
[๑๑๒] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๑๓] แม้สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย และแม้พวกวณิพกเหล่าอื่น
ดิฉันมีฝ่ามืออันชุ่ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ
ด้วยข้าวและน้ำเป็นประจำ
[๑๑๔] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๑๕] ดิฉันเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
สำรวมแล้วในศีลทั้งหลายในกาลทุกเมื่อ
[๑๑๖] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
(ท้าวสักกะทรงสรรเสริญพระนางสุเมธาว่า)
[๑๑๗] พระราชบุตรีผู้เจริญ ผู้เพียบพร้อมด้วยยศ
คุณธรรมทั้งหลายที่พระนางระบุถึงในพระองค์
มีอยู่ในพระนางทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๗. ปัญจุโปสถิกชาดก (๔๙๐)
[๑๑๘] กษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระชาติ
เป็นอภิชาตบุตรผู้เรืองยศ เป็นพระธรรมราชาแห่งชาววิเทหะ
จะอุบัติแด่พระนาง
(พระนางสุเมธาทรงโสมนัส จึงตรัสถามว่า)
[๑๑๙] พระดาบสผู้มีดวงตาแจ่มใส ครองผ้าเปื้อนฝุ่น
ยืนอยู่ในอากาศที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง
กล่าววาจาเป็นที่น่าชื่นใจ จับใจดิฉันยิ่งนัก
[๑๒๐] ท่านเป็นเทวดามาจากสวรรค์หรือหนอ
หรือว่าเป็นฤๅษีผู้มีฤทธิ์มาก
ท่านเป็นใครกันแน่มาถึงที่นี้ จงประกาศตนให้ดิฉันทราบ
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๒๑] หมู่เทพมาประชุมพร้อมกันที่สภาชื่อสุธรรมาถวายบังคมท่านผู้ใด
ท่านผู้นั้นคือข้าพเจ้าท้าวสักกสหัสสนัยน์ได้มายังสำนักของพระนาง
[๑๒๒] หญิงคนใดในมนุษยโลก ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
มีปัญญา มีศีล มีความเคารพสามี นับถือแม่ผัวประดุจเทวดา
[๑๒๓] เทวดาทั้งหลายซึ่งมิใช่มนุษย์ย่อมมาเยือนหญิงมนุษย์
ผู้มีปัญญาดี มีการงานอันสะอาดเช่นนั้น
[๑๒๔] พระนางผู้เจริญ ก็พระนางมีกรรมอันสั่งสมไว้ดีแล้ว
และมีการประพฤติที่ดีงามไว้ในปางก่อน ทรงเกิดในราชสกุลนี้
เป็นหญิงที่มีความสำเร็จตามความปรารถนาทุกสิ่งทุกอย่าง
[๑๒๕] พระราชบุตรี ก็พระนางทรงกำชัยชนะนี้ไว้ได้ในโลกทั้ง ๒
คือทรงเข้าถึงเทวโลก ๑ มีเกียรติยศชื่อเสียงในชีวิตนี้ ๑
[๑๒๖] พระนางสุเมธา ขอพระองค์ทรงสุขสำราญ
รักษาธรรมไว้ในพระองค์ตลอดกาลนานเถิด
เรานี้ขอลากลับไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทศ การพบพระนางเป็นที่พอใจของเรา
สุรุจิชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๗. ปัญจุโปสถิกชาดก (๔๙๐)
๗. ปัญจุโปสถิกชาดก (๔๙๐)
ว่าด้วยการรักษาอุโบสถของสัตว์ ๕ ชนิด
(พระโพธิสัตว์ถามนกพิราบว่า)
[๑๒๗] เจ้านกพิราบ บัดนี้เจ้าดูขวนขวายน้อยไป
เจ้าไม่ต้องการอาหารหรือ
ทำไมจึงอดกลั้นความหิวกระหาย
รักษาอุโบสถอยู่เล่า เจ้านกพิราบ
(นกพิราบกล่าวว่า)
[๑๒๘] เมื่อก่อนข้าพเจ้าตกอยู่ในความกำหนัดต่อนางนกพิราบ
เราทั้ง ๒ รื่นรมย์กันที่ภูมิประเทศนั้น ๆ
ต่อมานกเหยี่ยวได้บินโฉบเอานางนกพิราบไป
ข้าพเจ้ามิได้ประสงค์จะพลัดพรากจากนางนกนั้นเลย
[๑๒๙] เพราะความพลัดพรากแยกออกจากนาง
ข้าพเจ้าจึงได้เสวยเวทนาทางใจ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ราคะอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
(พระโพธิสัตว์ถามสัตว์ทีละตัว ฝ่ายสัตว์เหล่านั้นก็ตอบตามความเป็นจริงว่า)
[๑๓๐] เจ้างูผู้เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ผู้มีลิ้นสองแฉก เจ้าเลื้อยไม่ตรง
เลื้อยไปด้วยอก มีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษร้ายแรง
ทำไมเจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายรักษาอุโบสถอยู่เล่า
[๑๓๑] โคเปลี่ยวมีกำลังของนายบ้าน
มีหนอกกระเพื่อม มีสีสันสวยงาม
มีกำลังวังชาสมบูรณ์ มันเหยียบข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าโกรธจึงได้กัดมัน
มันทุรนทุรายเพราะความทุกข์จนถึงตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
[๑๓๒] ชนทั้งหลายออกจากหมู่บ้านนั้น
พากันคร่ำครวญร้องไห้แล้วได้หลีกไป
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ความโกรธอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
[๑๓๓] เจ้าสุนัขจิ้งจอก เนื้อของพวกสัตว์ที่ตายแล้ว
มีอยู่ในป่าช้าเป็นอันมาก
เนื้อนั้นเป็นอาหารที่พอใจของเจ้า
ทำไมเจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายรักษาอุโบสถอยู่เล่า
[๑๓๔] ข้าพเจ้ายินดีในซากศพ ติดใจในเนื้อช้าง
จึงได้เข้าไปยังท้องช้างใหญ่
ลมร้อนและแสงแดดอันแรงกล้าได้แผดเผา
จนกระทั่งทวารหนักของช้างเชือกนั้นแห้งยุบลง
[๑๓๕] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งผอมทั้งเหลือง ทั้งไม่มีทางออก
ต่อมาเมฆฝนกลุ่มใหญ่ได้ตกมาโดยพลัน
ทำให้ทวารหนักของช้างเชือกนั้นเปียกชุ่ม
[๑๓๖] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าออกจากท้องช้างนั้นมาได้
เหมือนดั่งดวงจันทร์พ้นจากปากราหู
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ความโลภอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
[๑๓๗] เจ้าหมี เมื่อก่อนเจ้าเที่ยวเคี้ยวกินปลวกทั้งหลาย
ที่จอมปลวกอยู่ ทำไมเจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหาย
รักษาอุโบสถอยู่เล่า
[๑๓๘] ข้าพเจ้าดูหมิ่นที่อยู่ของตน ได้ไปยังหมู่บ้านมลรัฐ
เพราะความอยากเกินไป ชนทั้งหลายออกจากหมู่บ้านนั้น
ทุบตีข้าพเจ้าด้วยคันธนูและไม้ค้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
[๑๓๙] ข้าพเจ้านั้นหัวแตก ตัวเปื้อนเลือด จึงได้กลับมายังที่อยู่ของตน
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ความอยากเกินไปอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
(สัตว์ทั้ง ๔ ถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๔๐] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้อความอันใดท่านได้ถามพวกข้าพเจ้า
ข้อความอันนั้น ข้าพเจ้าทั้งหมดก็ได้ตอบตามที่รู้มา
พวกข้าพเจ้าจะขอถามท่านบ้าง
ท่านพราหมณ์ผู้เจริญ ทำไมท่านจึงรักษาอุโบสถอยู่เล่า
(พระโพธิสัตว์ได้ตอบว่า)
[๑๔๑] พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ไม่ถูกกิเลสทั้งปวงแปดเปื้อน
นั่งที่อาศรมของเราครู่หนึ่ง
ท่านได้ประกาศให้เราทราบถึงที่ไปที่มา
ชื่อ โคตร และความประพฤติทุกอย่าง
[๑๔๒] แม้ถึงอย่างนั้น เราก็มิได้ไหว้เท้าทั้ง ๒ ของท่าน
และมิได้ถามท่าน เพราะมีมานะ
เพราะเหตุนั้น เราจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
มานะอย่าได้มารบกวนเราอีกต่อไป
ปัญจุโปสถิกชาดกที่ ๗ จบ
๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
ว่าด้วยพญานกยูง
(พญานกยูงร้องขอชีวิตว่า)
[๑๔๓] ถ้าหากท่านจับข้าพเจ้าเพราะเหตุแห่งทรัพย์
ท่านอย่าได้ฆ่าข้าพเจ้าเลย
จงจับเป็นแล้วนำข้าพเจ้าไปยังสำนักพระราชาเถิดเพื่อน
ท่านคงจะได้ทรัพย์มิใช่น้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
(บุตรนายพรานปลอบว่า)
[๑๔๔] ลูกธนูที่สอดอยู่ในแล่งนี้
ข้าพเจ้าตั้งใจจะฆ่าท่านในวันนี้ก็หาไม่
แต่จะตัดบ่วงให้แก่ท่าน ด้วยมีความประสงค์ว่า
ขอพญายูงทองจงบินไปตามสบายเถิด
(พญานกยูงกล่าวว่า)
[๑๔๕] ข้าพเจ้าขอถามท่าน เพราะเหตุที่ท่าน
สู้อดกลั้นความหิวกระหายตลอดทั้งคืนทั้งวัน
เฝ้าติดตามข้าพเจ้าอยู่ตลอด ๗ ปี
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุอะไร ท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้า
ผู้ติดบ่วงให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า
[๑๔๖] วันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตแล้วหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่สัตว์ทั้งปวงแล้ว
เพราะเหตุใด ท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วง
ให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า
(บุตรนายพรานถามว่า)
[๑๔๗] พญานกยูง ขอท่านจงบอกถึงผล
ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตและให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวง
ความข้อนี้ที่ข้าพเจ้าถามท่าน
เขาจุติจากโลกนี้ไปแล้วจะได้รับความสุขอย่างไร
(พญานกยูงตอบว่า)
[๑๔๘] ข้าพเจ้าขอบอกผลของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
และผู้ให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวงว่า
เขาย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และเมื่อตายย่อมไปสู่สวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
(บุตรนายพรานกล่าวว่า)
[๑๔๙] สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาไม่มี
ชีวะย่อมถึงความขาดสูญในภพนี้เท่านั้น
ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน ย่อมขาดสูญ
และกล่าวสอนว่า ทานคนโง่บัญญัติไว้
ข้าพเจ้าเชื่อวาจาของพระอรหันต์เหล่านั้น
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕๐] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่น
ในมนุษยโลก พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นอย่างไรหนอ
(บุตรนายพรานกล่าวว่า)
[๑๕๑] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมีอยู่ในโลกอื่น ไม่ใช่โลกนี้
ในมนุษยโลก พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ทั้ง ๒ นั้นว่า เทวดา
(ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้กล่าวกับเขาว่า)
[๑๕๒] สมณะและพราหมณ์เหล่าใดเป็นอเหตุกทิฏฐิ๑ ไม่พูดถึงกรรม
ไม่พูดถึงผลของกรรมดีกรรมชั่วด้วยเหมือนกัน
แต่สอนว่า ทานคนโง่บัญญัติไว้
สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีทิฏฐิเลวทราม
ถูกกำจัดแล้วในเพราะการพยากรณ์เพียงเท่านี้

เชิงอรรถ :
๑ อเหตุกทิฏฐิ คือพวกมีความเห็นผิดกล่าวอย่างนี้ว่า กรรมที่เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์และความเศร้าหมอง
ไม่มี (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๒/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
(บุตรนายพรานกำหนดได้แล้วจึงกล่าวว่า)
[๑๕๓] คำของท่านนั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
ทานจะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
กรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน จะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
และทานคนโง่จะพึงบัญญัติขึ้นได้อย่างไร
[๑๕๔] พญานกยูง ข้าพเจ้ากระทำกรรมอย่างไร กระทำเพราะอะไร
ประพฤติอย่างไร จะคบใคร ผู้มีตบะคุณอย่างไร
ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าโดยที่ข้าพเจ้าจะไม่ต้องตกนรก
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕๕] บนพื้นแผ่นดินยังมีสมณะพวกใดพวกหนึ่งอยู่
สมณะเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นบรรพชิต
เที่ยวบิณฑบาตเฉพาะเวลาเช้า
งดเว้นการบริโภคในเวลาวิกาล เป็นสัตบุรุษ
[๑๕๖] ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นตามกาลอันสมควร
แล้วจงถามข้อความตามที่ท่านพอใจ
สมณะเหล่านั้นจะชี้แจงข้อความอันเป็นประโยชน์
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแก่ท่านตามที่รู้มา
(พระปัจเจกพุทธเจ้าเปล่งอุทานว่า)
[๑๕๗] ความเป็นพรานนี้ข้าพเจ้าละได้แล้ว
เหมือนงูลอกคราบเก่าแก่ทิ้งไป
เหมือนต้นไม้สลัดใบเหลืองทิ้ง เขียวชะอุ่มอยู่
ข้าพเจ้าละทิ้งความเป็นพรานได้ในวันนี้
(ท่านทำสัจจกิริยาว่า)
[๑๕๘] นกเหล่าใดที่ข้าพเจ้ากักขังไว้หลายร้อยตัวในเรือนของข้าพเจ้า
วันนี้ ข้าพเจ้าให้ทานชีวิตแก่นกเหล่านั้น
ขอให้นกเหล่านั้นจงหลุดพ้น กลับไปยังที่อยู่ของตนเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศว่า นกเหล่านั้นพ้นจากทุกข์ได้เพราะอาศัย
พญานกยูง จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๑๕๙] นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในป่า
เพื่อจะจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศ
ครั้นจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศได้แล้ว
เขาได้พ้นจากทุกข์เหมือนเราตถาคตได้พ้นแล้ว
มหาโมรชาดกที่ ๘ จบ
๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
ว่าด้วยสุกรชื่อตัจฉะ
(สุกรตัจฉะเที่ยวเสาะหาฝูงสุกรในป่าพบสุกรจำนวนมากแล้วดีใจ จึงกล่าวว่า)
[๑๖๐] เราเมื่อเสาะหาหมู่ญาติใด เที่ยวไปตามเทือกเขาลำเนาไพร
เราเที่ยวตามหาอยู่ช้านาน ญาติทั้งหลายนี้นั้นเราก็ได้พบแล้ว
[๑๖๑] มูลผลาหารนี้ก็มีอยู่มาก และภักษาหารนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย
ส่วนแม่น้ำ ภูเขานี้ก็น่ารื่นรมย์ คงจะอยู่ได้สบาย
[๑๖๒] เราจักอยู่พร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงในที่นี้แหละ
จักเป็นผู้ขวนขวายน้อย หมดความระแวงภัย
ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
(สุกรทั้งหลายกล่าวว่า)
[๑๖๓] ตัจฉะ ท่านจงเสาะหาถ้ำในที่อื่นอยู่เถิด
ในที่นี้พวกเรามีศัตรู
มันมาที่นี้ฆ่าสุกรแล้วกัดกินเนื้อล่ำ ๆ เป็นประจำ
(สุกรตัจฉะถามว่า)
[๑๖๔] ใครหนอเป็นศัตรูของพวกเราในที่นี้
ใครกันรังควานหมู่ญาติผู้พร้อมเพรียงซึ่งรังควานได้ยาก
เราถามแล้ว ขอพวกท่านจงบอกผู้นั้นแก่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
(สุกรเหล่านั้นตอบว่า)
[๑๖๕] ท่านตัจฉะ พญาเนื้อ
เป็นสัตว์มีพลัง มีเขี้ยวเป็นอาวุธ
มันมาที่นี่ฆ่าสุกรแล้วกัดกินเนื้อล่ำ ๆ เป็นประจำ
(สุกรตัจฉะกล่าวว่า)
[๑๖๖] พวกเราไม่มีเขี้ยวก็หาไม่ พลังกายก็พร้อมมูล
พวกเราทั้งหมดจงพร้อมเพรียงกัน สร้างอำนาจร่วมกัน
(สุกรเหล่านั้นกล่าวว่า)
[๑๖๗] ท่านตัจฉะ ท่านนะพูดได้จับใจ สบายหู
แม้ตัวใดหนีไปในขณะต่อสู้ พวกเราจะฆ่าตัวนั้นในภายหลัง
(ชฎิลโกงเห็นเสือโคร่งกลับมามือเปล่า จึงกล่าวว่า)
[๑๖๘] วันนี้ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่หมู่สัตว์ทั้งปวง
ท่านไม่มีเขี้ยวที่จะฆ่าเนื้อหรือหนอ
ถึงอยู่ในฝูงสุกรก็ยังซบเซาเหมือนคนกำพร้า
(พญาเสือโคร่งได้กล่าวว่า)
[๑๖๙] ข้าพเจ้าจะไม่มีเขี้ยวก็หาไม่ พลังกายก็พร้อมมูล
แต่เพราะเห็นญาติ ๆ พร้อมเพรียงเป็นอันเดียวกัน
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงซบเซาอยู่ผู้เดียวในป่า
[๑๗๐] เมื่อก่อนสุกรเหล่านี้กลัวภัย
แยกกันหนีไปคนละทิศละทาง แสวงหาที่พึ่ง
แต่บัดนี้พวกมันกลับรวมหมู่กันตั้งท่าสู้
ยากที่ข้าพเจ้าจะข่มพวกมันได้
[๑๗๑] พวกมันได้ผู้นำดี มีความพร้อมเพรียงกัน
มีความเห็นอย่างเดียวกัน พร้อมกันที่จะทำลายข้าพเจ้าได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาสุกรเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
(ชฎิลโกงเมื่อจะให้เสือโคร่งเกิดความอุตสาหะ จึงกล่าวว่า)
[๑๗๒] พระอินทร์องค์เดียวยังเอาชัยชนะพวกอสูรได้
นกเหยี่ยวตัวเดียวยังข่มขี่ฆ่านกทั้งหลายได้
เสือโคร่งตัวเดียวเข้าไปอยู่ในฝูงเนื้อ
ก็ยังฆ่าเนื้อตัวล่ำ ๆ ซึ่งมีกำลังเหมือนเช่นนั้นได้
(เสือโคร่งกล่าวว่า)
[๑๗๓] หมู่ญาติผู้พร้อมเพรียงร่วมใจกัน มีกิริยาเช่นเสือโคร่ง
ไม่ว่าพระอินทร์หรือนกเหยี่ยว หรือเสือโคร่ง ซึ่งเป็นพญาสัตว์
ก็ไม่อาจให้อยู่ในอำนาจได้
(ชฎิลโกงปลุกใจเสือโคร่งว่า)
[๑๗๔] ฝูงนกกุมภีลกาตัวเล็ก ๆ เที่ยวไปเป็นฝูง เป็นหมู่
รื่นเริง จับกลุ่มกันโผผิน บินร่อนไปมา
[๑๗๕] ก็เมื่อนกเหล่านั้นโผผินอยู่ เหยี่ยวย่อมโฉบเอานกตัวหนึ่ง
บรรดานกเหล่านั้นที่แตกฝูงออกมา
นั้นเป็นคติของเหล่าพยัคฆ์ทั่วไป
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[๑๗๖] เสือโคร่งมีเขี้ยวเป็นอาวุธ ถูกชฎิลชั่วผู้เห็นแก่อามิสปลุกใจ
มีความสำคัญเหมือนครั้งก่อน
จึงได้เผ่นเข้าไปในฝูงของสุกรผู้ที่มีเขี้ยว
(รุกขเทวดาเห็นเหตุอัศจรรย์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า)
[๑๗๗] ญาติทั้งหลายมีมากด้วยกันเป็นการดี
ถึงแม้จะเป็นต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ตาม
เสือโคร่งถูกสุกรทั้งหลายที่สามัคคีกันฆ่าตาย
ในหนทางที่เดินได้คนเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๐. มหาวาณิชชาดก (๔๙๓)
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๗๘] สุกรทั้งหลายได้ฆ่าเสียทั้ง ๒ คน คือ
พราหมณ์ ๑ เสือโคร่ง ๑
จึงได้รื่นเริงบันเทิงใจ ส่งเสียงบันลือลั่น
[๑๗๙] สุกรเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันที่โคนต้นมะเดื่อ
ได้อภิเษกสุกรตัจฉะว่า
ท่านจงเป็นราชา เป็นใหญ่แห่งเราทั้งหลายเถิด
ตัจฉสูกรชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. มหาวาณิชชาดก (๔๙๓)
ว่าด้วยพ่อค้าใหญ่
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า)
[๑๘๐] พ่อค้าทั้งหลายจากแคว้นต่าง ๆ มาประชุมกันที่กรุงพาราณสี
ตั้งพ่อค้าที่มีปัญญาดีกว่าคนหนึ่งให้เป็นหัวหน้า
พากันนำทรัพย์กลับ
[๑๘๑] พ่อค้าเหล่านั้นมาถึงถิ่นกันดารที่มีภักษาน้อย ไม่มีน้ำ
ได้พบต้นไทรใหญ่ มีร่มเงาเย็นสบาย น่ารื่นรมย์
[๑๘๒] ก็พ่อค้าเหล่านั้นพากันนั่งที่ร่มเงาต้นไทรนั้นนั่นเอง
พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ คิดเห็นพ้องกันว่า
[๑๘๓] ต้นไม้ต้นนี้สดชื่น ราวกับมีน้ำซับซึมอยู่
ขอเชิญพวกเราเหล่าพ่อค้าพากันตัดกิ่งด้านตะวันออกเถิด
[๑๘๔] ก็กิ่งไม้นั้นพอถูกตัดแล้วก็หลั่งน้ำใส ไม่ขุ่น
พ่อค้าเหล่านั้นพากันอาบและดื่มกินตามที่ต้องการ ณ กิ่งไม้นั้น
[๑๘๕] ครั้งที่ ๒ พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ คิดเห็นพ้องกันว่า
ขอเชิญพวกเราเหล่าพ่อค้าพากันตัดกิ่งด้านทิศใต้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๐. มหาวาณิชชาดก (๔๙๓)
[๑๘๖] ก็กิ่งไม้นั้นพอถูกตัดแล้วก็หลั่งข้าวสาลี เนื้อ ข้าวสุก
ขนมกุมมาสซึ่งมีสีเหมือนข้าวปายาสที่มีน้ำน้อย
แกงอ่อม และกับมีแกงถั่วเป็นต้นออกมามากมาย
[๑๘๗] พวกพ่อค้าเหล่านั้นพากันบริโภค
เคี้ยวกินตามที่ต้องการ ณ กิ่งไม้นั้น
ครั้งที่ ๓ พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ
คิดเห็นพ้องกันว่า ขอเชิญพวกเราเหล่าพ่อค้า
พากันตัดกิ่งด้านทิศตะวันตกเถิด
[๑๘๘] ก็กิ่งไม้นั้นพอถูกตัดแล้ว
ก็หลั่งเหล่านารีมีเครื่องประดับพร้อมมูล
เสื้อผ้าอาภรณ์งามวิจิตร ใส่ต่างหูแก้วมณี
[๑๘๙] ก็พ่อค้าแต่ละคนมีนารีนางหนึ่ง
ส่วนหัวหน้ากองเกวียนมีนารี ๒๕ นาง
แวดล้อมอยู่รอบข้างที่ร่มเงาต้นไทรนั้น
[๑๙๐] พวกพ่อค้าเหล่านั้นมีเหล่านารีแวดล้อมตามที่ต้องการ
ครั้งที่ ๔ พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ คิดเห็นพ้องกันว่า
ขอเชิญพวกเราเหล่าพ่อค้าพากันตัดกิ่งด้านทิศเหนือเถิด
[๑๙๑] ก็กิ่งไม้นั้นพอถูกตัดแล้ว ก็หลั่งแก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
เงิน ทอง เครื่องลาดหลังช้าง และเครื่องปูลาดที่ทำด้วยขนแกะ
[๑๙๒] ผ้าแคว้นกาสีและผ้ากัมพลชื่ออุททิยะออกมาเป็นจำนวนมาก
พวกพ่อค้าเหล่านั้นพากันขนบรรทุกเกวียนเหล่านั้นตามที่ต้องการ
[๑๙๓] ครั้งที่ ๕ พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ คิดเห็นพ้องกันว่า
ขอเชิญพวกเราช่วยกันตัดโคนต้นไทรนั้นเถิด บางทีจะได้ยิ่งกว่านี้
[๑๙๔] ทันใดนั้น หัวหน้ากองเกวียนได้ลุกขึ้นประคองอัญชลี
ขอร้องว่า พ่อค้าวาณิชทั้งหลาย ต้นไทรมีความผิดอะไรหรือ
ขอความเจริญจงมีแก่พวกท่านเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
[๑๙๕] กิ่งด้านทิศตะวันออกให้น้ำอาบ
กิ่งด้านทิศใต้ให้ข้าวและน้ำดื่ม
กิ่งด้านทิศตะวันตกให้เหล่านารี
ส่วนกิ่งด้านทิศเหนือให้ทรัพย์ที่น่าปลื้มใจทุกอย่าง
พ่อค้าวาณิชทั้งหลาย ต้นไทรมีความผิดอะไรหรือ
ขอความเจริญจงมีแก่พวกท่านเถิด
[๑๙๖] บุคคลนั่งก็ตาม นอนก็ตามที่ร่มเงาต้นไม้ใด
ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น
เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
[๑๙๗] แต่พวกพ่อค้าเหล่านั้นจำนวนมาก
ไม่เชื่อฟังคำของนายกองเกวียนผู้เดียวนั้น
ใช้ขวานอันคมกริบตัดต้นไทรนั้นตั้งแต่โคนต้น
[๑๙๘] พวกนาคก็ออกมาจากต้นไทรนั้นสวมเกราะ ๒๕ ตน
ถือธนู ๓๐๐ ตน และถือโล่หนัง ๖,๐๐๐ ตน
(พญานาคกล่าวสั่งว่า)
[๑๙๙] พวกเจ้าจงฆ่า จงมัดพวกพ่อค้าเหล่านี้
อย่าได้ไว้ชีวิตแม้แต่คนเดียว
พวกเจ้าจงทำพวกพ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดให้เป็นผงธุลี
เว้นไว้แต่นายกองเกวียนเท่านั้น
(พระศาสดาทรงทราบแล้วตรัส ๒ คาถาโอวาทว่า)
[๒๐๐] เพราะเหตุนั้นแล คนฉลาดพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน
ไม่พึงตกไปสู่อำนาจแห่งความโลภ
พึงกำจัดใจที่เป็นศัตรูภายในเสีย
[๒๐๑] ผู้เห็นภัยรู้โทษอย่างนี้ว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
เป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ยึดมั่น มีสติ ดำเนินชีวิตอยู่
มหาวาณิชชาดกที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
ว่าด้วยพระเจ้าสาธินะ
(พวกมนุษย์ดีใจยืนประคองอัญชลี ได้กล่าวว่า)
[๒๐๒] น่าอัศจรรย์จริงหนอ
รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหะ ผู้เรืองยศ
พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ทำให้เกิดขนพองสยองเกล้า
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[๒๐๓] มาตลีเทพบุตร เทพสารถีผู้มีฤทธิ์มาก
ทูลเชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหะผู้ครอบครองมิถิลานครว่า
[๒๐๔] พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นใหญ่ทั่วทิศ
ขอเชิญพระองค์เสด็จทรงรถทิพย์นี้เถิด
เทพชั้นดาวดึงส์ทั้งหลาย
พร้อมทั้งองค์อมรินทร์ใคร่จะทรงทัศนาพระองค์
ก็เทพเหล่านั้นระลึกถึงพระองค์
ประชุมพร้อมกันอยู่ที่สภาชื่อสุธรรมา
[๒๐๕] ก็ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะทรงพระนามสาธินะ
ผู้ครอบครองมิถิลานคร เสด็จประทับรถทิพย์
ซึ่งเทียมด้วยม้าอัสดร ๑,๐๐๐ ตัว
ได้เสด็จไปในสำนักแห่งเทพ
(พระมหาราชาประทับยืนบนทิพยยาน
ซึ่งเทียมด้วยม้าอัสดร ๑,๐๐๐ ตัวนำไป
เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้)
เทพครั้นเห็นพระราชาเสด็จมาก็ยินดีต้อนรับพระองค์
[๒๐๖] ขอเดชะพระมหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
มิใช่เสด็จมาร้าย พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ ขอเชิญประทับ ณ สำนักท้าวสักกเทวราชเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
[๒๐๗] แม้ท้าวสักกะก็ทรงยินดีต้อนรับ
พระเจ้าวิเทหะผู้ครอบครองมิถิลานคร
ท้าววาสวะทรงเชื้อเชิญด้วยกามทั้งหลายพร้อมทั้งอาสนะ
[๒๐๘] พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นการดีแท้
ที่พระองค์เสด็จมาถึงสถานที่อยู่แห่งเหล่าเทพผู้ครองอำนาจ
ขอเชิญประทับอยู่ในหมู่ทวยเทพผู้มั่งคั่งด้วยกามทุกอย่าง
ขอพระองค์เสวยกามซึ่งมิใช่ของมนุษย์
ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด
(พระเจ้าสาธินะตรัสกับท้าวสักกะว่า)
[๒๐๙] เมื่อก่อน หม่อมฉันอยู่ในสวรรค์
ย่อมยินดีการฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรี
แต่บัดนี้ วันนี้หม่อมฉันนั้นหายินดีในสวรรค์ไม่
พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าจอมเทพ
อายุของหม่อมฉันสิ้นแล้วหรือ หม่อมฉันใกล้ตายหรือ
หรือว่าหม่อมฉันหลงไป
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๑๐] พระองค์ผู้กล้าหาญ ผู้ประเสริฐกว่านรชน
พระชนมายุของพระองค์ยังไม่สิ้นไป
ความตายก็ยังอยู่ห่างไกล และแม้พระองค์ก็ยังไม่หลง
แต่บุญที่พระองค์เสวยวิบากอยู่ในเทวโลกนี้ของพระองค์เหลืออยู่น้อย
[๒๑๑] พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นใหญ่ทั่วทิศ
ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ด้วยเทวานุภาพ
เสวยกามซึ่งมิใช่ของมนุษย์ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด
(พระโพธิสัตว์ทรงห้ามท้าวสักกะว่า)
[๒๑๒] สิ่งใดที่ได้มาเพราะเหตุที่ผู้อื่นให้ สิ่งนั้นเปรียบกันได้
เหมือนยานพาหนะที่ยืมเขามา เหมือนทรัพย์ที่ยืมเขามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
[๒๑๓] ก็สมบัติที่ได้มาเพราะเหตุที่ผู้อื่นให้นั้น หม่อมฉันไม่ปรารถนา
บุญทั้งหลายที่หม่อมฉันทำเอง
บุญนั้นจะเป็นทรัพย์เฉพาะตนของหม่อมฉัน
[๒๑๔] หม่อมฉันนั้นไปอยู่ในหมู่มนุษย์แล้วจะทำกุศลให้มาก
ด้วยการให้ทาน การประพฤติธรรมให้สม่ำเสมอ
การสำรวมและด้วยการฝึกฝนอินทรีย์
ซึ่งเป็นกรรมที่บุคคลทำแล้วมีความสุข
และไม่ทำให้เดือดร้อนในภายหลัง
(พระโพธิสัตว์จูงพระหัตถ์พระเจ้านารทะเที่ยวไปในอุทยานได้ตรัสว่า)
[๒๑๕] ภูมิภาคตรงนี้คืออุทยานนั้น
ตรงนี้คือลำรางไขน้ำพร้อมทั้งอ่างรองรับน้ำที่ไหลเข้ามา
ตรงนี้คือภูมิภาคทั้ง ๒ ข้างแห่งลำรางไขน้ำ
ซึ่งปกคลุมด้วยหญ้าเขียวขจี
ตรงนี้คือแม่น้ำที่มีกระแสไหลอยู่ไม่ขาดสาย
[๒๑๖] ตรงนี้คือสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์
มีนกจักรพากขันขานเสียงระงม
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ดอกปทุม และดอกอุบล
ที่เหล่าชนพากันหลงใหลยึดถือว่าเป็นของเรา
เขาไปไหนหนอ
[๒๑๗] ตรงนี้พื้นที่นั้นมีแต่พื้นดินที่รกเท่านั้น
มีแต่สวนและแนวป่าเท่านั้นเอง
นารทะ เมื่อเรามองไม่เห็นหมู่ชนนั้น
ทิศทั้งหลายปรากฏแก่เราเหมือนกับว่างเปล่า
(พระเจ้าสาธินะตรัสว่า)
[๒๑๘] ข้าพเจ้าได้เห็นวิมานส่องแสงไปทั้ง ๔ ทิศ
ต่อพระพักตร์ท้าวเทวราชและต่อหน้าเทวดาชั้นไตรทศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
[๒๑๙] เราได้อยู่ในทิพยวิมาน บริโภคกามซึ่งมิใช่ของมนุษย์
ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ที่มั่งคั่งด้วยกามทุกอย่าง
[๒๒๐] เรานั้นละกามเช่นนี้ มาในโลกนี้เพื่อต้องการทำบุญ
จะประพฤติธรรมอย่างเดียว ไม่ต้องการราชสมบัติ
[๒๒๑] เราจะดำเนินไปตามทางที่ไม่ต้องใช้อาชญา
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
เป็นทางที่ท่านผู้ปฏิบัติดีดำเนินไปอยู่
สาธินราชชาดกที่ ๑๑ จบ
๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
ว่าด้วยการจำแนกตระกูลพราหมณ์ ๑๐ ตระกูล
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนี้ว่า)
[๒๒๒] พระเจ้ายุธิฏฐิละ ผู้ทรงฝักใฝ่ในธรรม
ได้ตรัสกับวิธุรอำมาตย์ว่า
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์ผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๒๓] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๒๔] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล
เป็นพหูสูต ผู้เว้นจากเมถุนธรรม
ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของพระองค์หาได้ยาก พระเจ้าข้า
[๒๒๕] ขอเดชะพระมหาราช ได้ยินว่า
พราหมณ์มีอยู่ ๑๐ ตระกูลด้วยกัน
ขอพระองค์โปรดสดับการจำแนกแจกแจง
พราหมณ์ทั้ง ๑๐ ตระกูลนั้นโดยพิสดารจากข้าพระองค์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
[๒๒๖] พราหมณ์บางพวกถือถุงย่ามที่เต็มด้วยรากไม้ปากปิด
ติดสลากยาบ้าง รดน้ำมนต์บ้าง เป่าเสกคาถาอาคมบ้าง
[๒๒๗] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนหมอ
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนหมอเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๒๘] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๒๙] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๓๐] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งถือกังสดาลป่าวประกาศไปข้างหน้าบ้าง
ไปรับใช้บ้าง ศึกษาวิชาการเกี่ยวกับรถบ้าง
[๒๓๑] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนคนรับใช้
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนคนรับใช้เหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๓๒] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๓๓] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๓๔] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งถือคนโทน้ำและไม้เท้าคด
เข้าไปพึ่งพาพระราชาในคามและนิคมด้วยตั้งใจว่า
เมื่อชาวบ้านหรือชาวนิคมไม่ให้ เราจะไม่ออกไป
[๒๓๕] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนผู้กดขี่
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนผู้กดขี่เหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๓๖] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๓๗] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๓๘] พราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีขนรักแร้ เล็บ และขนงอกขึ้นยาว
มีฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ เกรอะกรังไปด้วยฝุ่นละออง
เป็นพวกยาจกเที่ยวไปอยู่
[๒๓๙] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนคนขุดตอไม้ที่ถูกไฟไหม้
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนคนขุดตอไม้
ที่ถูกไฟไหม้เหล่านั้นแด่พระองค์
เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๔๐] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
[๒๔๑] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๔๒] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งเหล่าชน
พราหมณ์อีกพวกหนึ่งย่อมค้าขายผลสมอ มะขามป้อม
ผลมะม่วง ผลหว้า สมอพิเภก ขนุนสำปะลอ
ไม้ชำระฟัน ผลมะตูม และพุทรา
[๒๔๓] ลูกเกด อ้อยลำ น้ำอ้อยงบ กล้องสูบยาเส้น น้ำผึ้ง
และยาหยอดตา และย่อมค้าขายสิ่งของที่มีค่ามากและมีค่าน้อย
[๒๔๔] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนพ่อค้า
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนพ่อค้าเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๔๕] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๔๖] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๔๗] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งให้กระทำกสิกรรมและพาณิชกรรม
เลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ ตกแต่งหญิงสาว
ทำวิวาหมงคลและอาวาหมงคล
[๒๔๘] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนพ่อค้าคหบดี
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนพ่อค้าคหบดีเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๔๙] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๕๐] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๕๑] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งเป็นปุโรหิตประจำบ้าน
บริโภคภิกษาที่เขาเก็บไว้เพื่อตน
ชนจำนวนมากย่อมสอบถามพราหมณ์เหล่านั้น
พราหมณ์เหล่านั้นเป็นนักตอนสัตว์และตีตราสัตว์
[๒๕๒] แม้สัตว์เลี้ยงทั้งหลาย เช่น กระบือ สุกร และแพะ
ในบ้านเหล่านั้น ก็ถูกพราหมณ์เหล่านั้นฆ่า
แม้พวกพราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนนายโคฆาต
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนนายโคฆาตเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๕๓] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๕๔] ผู้งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๕๕] พราหมณ์ทั้งหลายถือดาบและโล่หนัง เหน็บกริช
ยืนดักอยู่ที่ทางเดินของพวกพ่อค้าบ้าง
คอยคุ้มครองกองเกวียนบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
[๒๕๖] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนคนเลี้ยงโค
และโจรปล้นฆ่าชาวบ้านเขาก็เรียกกันว่าพราหมณ์
ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์
ผู้เป็นเสมือนคนเลี้ยงโคและโจรปล้นฆ่าชาวบ้านเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๕๗] ก็พวกพราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๕๘] ผู้งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๕๙] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งสร้างกระท่อมอยู่ในป่า
ทำเครื่องดักสัตว์ เบียดเบียนกระต่าย
เสือปลา ปลา และเต่า ตลอดจนถึงเหี้ย
[๒๖๐] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนนายพราน
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์
ผู้เป็นเสมือนนายพรานเหล่านั้นแด่พระองค์
เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๖๑] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๖๒] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๖๓] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งปรารถนาทรัพย์ก็ลงนอนอยู่ใต้เตียง
เมื่อเริ่มทำพิธีโสมยาคะ ก็ให้พระราชาทั้งหลายสรงสนาน ณ เบื้องบน
[๒๖๔] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนคนขัดสนิม
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนคนขัดสนิมเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๖๕] ก็พวกพราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๖๖] ผู้งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์ครั้นแสดงผู้เป็นพราหมณ์เพียงแค่ชื่อ บัดนี้เพื่อจะแสดงผู้เป็น
พราหมณ์โดยปรมัตถ์ จึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า)
[๒๖๗] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ พราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต ผู้งดเว้นจากเมถุนธรรม
ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของพระองค์ยังมีอยู่ พระเจ้าข้า
[๒๖๘] พราหมณ์เหล่านั้นบริโภคภัตตาหารมื้อเดียว
และไม่ดื่มน้ำเมา ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์เหล่านั้นแด่พระองค์
เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะทรงสดับดังนั้นแล้วดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[๒๖๙] วิธุระ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูต
เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่านั้นแหละ
วิธุระ จงรีบนิมนต์พวกท่านมาเร็ว ๆ
ทสพราหมณชาดกที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
ว่าด้วยเขตที่ถวายทานแล้วมีผลมาก
(กุฎุมพีทูลถามพระราชาว่า)
[๒๗๐] ข้าพระองค์ได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นสุขุมาลชาติ
ประทับอยู่ในปรางค์ปราสาทอันประเสริฐ
เสด็จบรรทมบนพระยี่ภู่อันสูงใหญ่
เสด็จจากแคว้นมายังปัจจันตชนบทเช่นกับที่ป่าปราศจากน้ำ
[๒๗๑] จึงได้ทูลถวายภัตตาหารอันวิจิตร
คือข้าวสุกแห่งข้าวสาลีอันดีเลิศ
ซึ่งมีกับที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด
ด้วยความเคารพรักต่อพระองค์
[๒๗๒] พระองค์ผู้ทรงรับภัตนั้นแล้วได้พระราชทานให้พราหมณ์
ไม่เสวยด้วยพระองค์เอง
ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของพระองค์หรือ
ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายบังคมพระองค์
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๒๗๓] พราหมณ์เป็นอาจารย์ของเรา
เป็นผู้ขวนขวายในกิจใหญ่น้อย
เป็นครู และเป็นผู้ที่ควรจะเชื้อเชิญ
เราจึงควรให้โภชนะแก่เขา
(กุฎุมพีกล่าวกับพราหมณ์ว่า)
[๒๗๔] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ผู้โคตมโคตร
ที่พระราชาทรงบูชา
พระราชาได้พระราชทานภัตแก่ท่าน
ซึ่งมีกับที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
[๒๗๕] ท่านได้รับพระราชทานภัตตาหารนั้นแล้ว
กลับถวายโภชนะแก่ฤๅษี
ท่านคงจะรู้ตัวซิว่า ไม่ใช่เนื้อนาบุญแห่งทาน
ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่านหรือ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
(พราหมณ์ตอบว่า)
[๒๗๖] ข้าพเจ้ายังต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา
เป็นผู้ติดในครอบครัว
ถึงจะถวายอนุศาสน์แก่พระราชา
ก็ยังบริโภคกามซึ่งเป็นของมนุษย์
[๒๗๗] ข้าพเจ้าควรจะถวายโภชนะแก่ฤๅษีผู้อยู่ป่า
บำเพ็ญตบะมาช้านาน ผู้เจริญด้วยคุณ อบรมตนแล้ว
(กุฎุมพีกล่าวกับฤๅษีว่า)
[๒๗๘] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามฤๅษีผู้ผอม
มีร่างกายสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น
มีขนรักแร้ เล็บ และขนงอกขึ้นยาว
มีขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ
[๒๗๙] ท่านอยู่ผู้เดียวในป่า ไม่คำนึงถึงชีวิต
เพราะเหตุไร ภิกษุจึงดีกว่าท่าน
ถึงกับท่านยอมถวายโภชนะ
(ฤๅษีตอบว่า)
[๒๘๐] อาตมายังขุดมันเทศและเหง้าตาล
มันมือเสือ และหัวหอม หัวกระเทียมอยู่
นวดข้าวฟ่างและลูกเดือย รวบรวมตากให้แห้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
[๒๘๑] อาตมายังแสวงหาผัก เหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อ
พุทรา และมะขามป้อมเหล่านั้นมาบริโภคอยู่
อาตมายังมีการยึดถือนั้นอยู่
[๒๘๒] เมื่ออาตมายังหุงโภชนะ ยังมีความกังวล
ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่
ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่หุง
ผู้ละเว้นความยึดถือว่าเป็นของเรา
ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
(กุฎุมพีกล่าวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า)
[๒๘๓] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามภิกษุผู้นั่งนิ่ง มีวัตรอันดีงาม
ฤาษีได้ถวายภัตตาหารซึ่งมีกับที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่าน
[๒๘๔] ท่านรับภัตตาหารนั้นแล้ว นั่งนิ่งฉันแต่ผู้เดียว
ไม่เชื้อเชิญใครอื่น
ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่านหรือ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
(พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า)
[๒๘๕] อาตมาไม่ได้หุงเอง มิได้ใช้ให้ใครหุง
ไม่ได้ตัดเอง มิได้ใช้ให้ใครตัด
เพราะรู้ว่า อาตมานั้นไม่มีความกังวล
งดเว้นจากบาปทั้งปวง
[๒๘๖] ฤๅษีจึงถือเอาภิกษาด้วยมือซ้าย ถือคนโทน้ำด้วยมือขวา
ได้ถวายภัตตาหารซึ่งมีกับที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่อาตมา
[๒๘๗] เพราะชนทั้งหลายเหล่านี้ยังมีความยึดมั่นว่าเป็นของเรา
ยังมีความยึดมั่นถือมั่นจึงควรให้ทาน
ส่วนอาตมาสำคัญว่า ผู้เชื้อเชิญ ผู้ถวาย เป็นปฏิปทาที่ผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(กุฎุมพีฟังคำของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วดีใจ จึงกล่าวว่า)
[๒๘๘] วันนี้ พระราชาผู้เป็นจอมทัพ
เสด็จมาที่นี่เพื่อประโยชน์แก่เราแท้ ๆ
ข้าพระองค์รู้ชัดในวันนี้ถึงเขตที่ถวายทานแล้วมีผลมาก
[๒๘๙] พระราชาทั้งหลายทรงพอพระทัยในแคว้น
พราหมณ์ทั้งหลายพอใจในกิจน้อยใหญ่
ฤๅษีทั้งหลายพอใจในมูลผลาหาร
ส่วนภิกษุทั้งหลายหลุดพ้นแล้ว
ภิกขาปรัมปรชาดกที่ ๑๓ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. สาลิเกทารชาดก ๒. จันทกินนรีชาดก
๓. มหาอุกกุสชาดก ๔. อุททาลกชาดก
๕. ภิสชาดก ๖. สุรุจิชาดก
๗. ปัญจุโปสถิกชาดก ๘. มหาโมรชาดก
๙. ตัจฉสูกรชาดก ๑๐. มหาวาณิชชาดก
๑๑. สาธินราชชาดก ๑๒. ทสพราหมณชาดก
๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก

ปกิณณกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๘ }


๑๕. วีสตินิบาต
๑. มาตังคชาดก (๔๙๗)
ว่าด้วยอานุภาพของฤๅษีมาตังคะ
(มัณฑัพยกุมารตรัสกับมาตังคดาบสว่า)
[๑] ท่านมาจากไหนหนอ
นุ่งผ้าเก่าขาดกะรุ่งกะริ่งเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น
สวมใส่เศษผ้าจากกองขยะไว้จนถึงคอ
ท่านไม่ใช่ทักขิไณยบุคคล เป็นใครกันแน่
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๒] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เพียบพร้อมด้วยยศ
พราหมณ์ทั้งหลายย่อมขบฉันและดื่มกินอาหาร
ที่พระองค์ทรงตระเตรียมไว้
พระองค์ก็ทรงรู้ว่า อาตมาอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีวิต
ขอคนจัณฑาลจงได้ก้อนข้าวที่ต้องการลุกขึ้นยืนรับเถิด
(มัณฑัพยกุมารตรัสว่า)
[๓] อาหารนี้เราตระเตรียมไว้สำหรับพราหมณ์ทั้งหลาย
อาหารนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตน สำหรับเราผู้เชื่อมั่น
ท่านจงหลีกไปแต่ที่นี้เถิด จะยืนอยู่ทำไม
พราหมณ์ผู้ชั่วช้า คนเช่นเราจะไม่ให้ท่าน
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๔] คนทั้งหลายเมื่อหวังผลย่อมหว่านพืชลงในนาดอน ๑
ในนาลุ่ม ๑ ในที่ไม่ใกล้แม่น้ำ ๑ ด้วยความเชื่อนั้น
ขอพระองค์จงให้ทาน พึงให้ทักขิไณยบุคคลยินดีได้แน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑. มาตังคชาดก (๔๙๗)
(มัณฑัพยกุมารตรัสว่า)
[๕] เรารู้แจ้งเนื้อนาบุญเป็นที่ประดิษฐานเมล็ดพืชทั้งหลายในโลก
เนื้อนาบุญ คือ พราหมณ์ทั้งหลายที่เกิดโดยชาติและมนต์
นับว่าเป็นเนื้อนาบุญที่มีศีลเป็นที่รักยิ่ง
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖] ก็อคุณธรรมเหล่านี้ คือ ความเมาเพราะชาติ ๑
ความมีมานะจัด ๑ โลภะ ๑ โทสะ ๑
มทะ ๑ โมหะ ๑ ทุกอย่างมีอยู่ในเนื้อนาบุญเหล่าใด
เนื้อนาบุญเหล่านั้นนับว่าเป็นเนื้อนาบุญที่ไม่มีศีลเป็นที่รักในโลก
[๗] อคุณธรรมเหล่านี้ คือ ความเมาเพราะชาติ ๑
ความมีมานะจัด ๑ โลภะ ๑ โทสะ ๑
มทะ ๑ โมหะ ๑ ทุกอย่างไม่มีอยู่ในเนื้อนาบุญเหล่าใด
เนื้อนาบุญเหล่านั้นนับว่าเป็นเนื้อนาบุญที่มีศีลเป็นที่รักในโลก
(เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวความนี้ซ้ำอีก มัณฑัพยกุมารทรงกริ้วแล้วตรัสว่า)
[๘] เจ้าอุปโชติยะ เจ้าอุปัชฌายะ
และเจ้าภัณฑกุจฉิไปไหนกันหมด
พวกเจ้าจงเฆี่ยนตี จงทำร้ายเจ้าดาบสนี้
แล้วจับคอเจ้าคนชั่ว ไสหัวมันออกไป
(พระโพธิสัตว์เหาะไปอยู่ในอากาศกราบทูลว่า)
[๙] พระองค์ทรงด่าว่าฤๅษีชื่อว่าขุดภูเขาด้วยเล็บ
เคี้ยวกินก้อนเหล็กด้วยฟันและพยายามกลืนกินไฟ
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[๑๐] มาตังคฤๅษีครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
มีความบากบั่นแน่วแน่ในสัจจะ
เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายเห็นอยู่ ได้เหาะหนีไปในอากาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑. มาตังคชาดก (๔๙๗)
(นางทิฏฐมังคลิการีบเสด็จไปโดยเร็วเห็นว่า)
[๑๑] ศีรษะบิดกลับไปข้างหลัง
แขนกางออกใช้การไม่ได้
นัยน์ตาขาวเหมือนนัยน์ตาของคนตายแล้ว
ใครหนอได้กระทำบุตรของดิฉันนี้ให้เป็นอย่างนี้
(ชนผู้อยู่ในที่นั้นบอกนางว่า)
[๑๒] สมณะนุ่งผ้าเก่าขาดกะรุ่งกะริ่งเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น
สวมใส่เศษผ้าจากกองขยะไว้จนถึงคอได้มา ณ ที่นี้
สมณะรูปนั้นได้กระทำบุตรของท่านนี้ให้เป็นอย่างนี้
(นางทิฏฐมังคลิกาถามว่า)
[๑๓] พ่อมาณพ สมณะผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน
ได้ไปยังทิศไหนเสียเล่า
ขอท่านโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะไปขอโทษท่าน
ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะได้ชีวิตของบุตรนั้นคืนมา
(มาณพทั้งหลายผู้อยู่ในที่นั้นบอกว่า)
[๑๔] ฤๅษีผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดินได้เหาะไป
ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญลอยอยู่ท่ามกลางนภากาศ
อีกอย่างหนึ่ง ฤๅษีผู้เป็นคนดีแม้รูปนั้น
ปฏิญญามั่นอยู่ด้วยสัจจะ ได้ไปทางทิศบูรพา
(นางทิฏฐมังคลิกาจะถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕] ศีรษะบิดกลับไปข้างหลัง
แขนกางออกใช้การไม่ได้
นัยน์ตาขาวเหมือนนัยน์ตาของคนตายแล้ว
ใครหนอได้กระทำบุตรของดิฉันนี้ให้เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
(พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตกล่าวตอบนางว่า)
[๑๖] ยักษ์ทั้งหลายผู้มีอานุภาพมากยังมีอยู่แล
ก็ยักษ์เหล่านั้นได้ติดตามฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดี
ทราบว่าบุตรของท่านมีจิตประทุษร้าย
โกรธเคืองจึงได้ทำให้เป็นอย่างนี้
(นางทิฏฐมังคลิกากล่าวว่า)
[๑๗] ก็ยักษ์ทั้งหลายได้กระทำบุตรของดิฉันให้เป็นอย่างนี้
ส่วนพระคุณเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่าโกรธบุตรดิฉันเลย
พระคุณเจ้าผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
ดิฉันขอถึงพระคุณเจ้าเท่านั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นบาทเบื้องต้น
ดิฉันได้ติดตามมาด้วยความโศกถึงบุตร
(พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๘] ทั้งในกาลนั้น ทั้งเดี๋ยวนี้ การคิดประทุษร้ายทางใจบางอย่าง
ของอาตมาก็ไม่มีแก่อาตมา ส่วนบุตรของท่านเป็นผู้มัวเมาเพราะ
ความเมาในพระเวท เรียนจบพระเวทแล้วหารู้จักประโยชน์ไม่
(นางทิฏฐมังคลิกากล่าวว่า)
[๑๙] แน่นอน ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
ธรรมดาคนเรา สัญญาย่อมเลือนไปเพียงชั่วครู่
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน
ขอพระคุณเจ้าจงอดโทษสักครั้งหนึ่งเถิด
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธรุนแรง
(พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตผู้ถูกนางทิฏฐมังคลิกาอ้อนวอนขอโทษให้บุตร จึง
กล่าวว่า)
[๒๐] นี้ก้อนข้าวที่อาตมาฉันเหลือ
มัณฑัพยบุตรของท่านผู้มีปัญญาน้อยจงบริโภค
ยักษ์ทั้งหลายไม่พึงเบียดเบียนมัณฑัพยบุตรของท่าน
และบุตรของท่านจักเป็นผู้ไม่มีโรค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
(ลำดับนั้น มารดากล่าวกับบุตรว่า)
[๒๑] พ่อมัณฑัพยะ เจ้าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา
ไม่ฉลาดต่อบุคคลผู้เป็นเนื้อนาบุญ
ได้ให้ทานในบุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังน้ำฝาดมากมาย
ผู้มีการงานเศร้าหมอง ไม่สำรวม
[๒๒] บางพวกเกล้าผมเป็นชฎา บางพวกนุ่งหนังสัตว์
บางพวกปากมีหนวดรุงรังเหมือนบ่อน้ำเก่า
เจ้าจงดูหมู่ชนนี้ มีรูปทราม
มวยผมและหนังสัตว์คุ้มครองคนมีปัญญาทรามไม่ได้
[๒๓] ชนเหล่าใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
ชนเหล่านั้นมีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นพระอรหันต์
ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้นมีผลมาก
มาตังคชาดกที่ ๑ จบ
๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
ว่าด้วยจิตตบัณฑิตกับพระเจ้าสัมภูตบัณฑิต
(พระราชาทรงขับเพลงขับว่า)
[๒๔] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล
ผลกรรมถึงจะเล็กน้อย ชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่
เราเห็นสัตว์ผู้เกิดมามีอานุภาพมาก
ซึ่งเกิดแต่ผลบุญ เพราะกรรมของตน
[๒๕] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล
ผลกรรมถึงจะเล็กน้อยชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่
แม้ท่านจิตตบัณฑิตมีมโนรถสำเร็จสมปรารถนา
เหมือนอย่างเราแลหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
(เมื่อพระเจ้าสัมภูตะทรงขับเพลงจบลง กุมารขับเพลงตอบถวายพระราชาว่า)
[๒๖] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล
ผลกรรมถึงจะเล็กน้อยชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่
ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ แม้จิตตบัณฑิตพระองค์ก็โปรด
ทราบเถิดว่า ท่านมีมโนรถสำเร็จสมปรารถนาเหมือนพระองค์
(พระเจ้าสัมภูตะทรงสดับแล้ว จึงตรัสว่า)
[๒๗] เจ้าเป็นจิตตดาบสหรือหนอ หรือว่าเจ้าฟังมาจากคนอื่น
หรือใครได้บอกเรื่องนั้นกับเจ้า คาถาเจ้าขับดีแล้ว
เราไม่มีความสงสัย และเราจะให้บ้านส่วยแก่เจ้า ๑๐๐ หลัง
(ลำดับนั้น กุมารกราบทูลว่า)
[๒๘] ข้าพระองค์มิใช่จิตตฤๅษี และข้าพระองค์มิได้ฟังมาจากคนอื่น
แต่ฤๅษีได้บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ว่า
เจ้าจงไป จงขับคาถาตอบพระราชา
พระราชาทรงพอพระทัย พึงพระราชทานพรแก่เจ้าบ้าง
(พระเจ้าสัมภูตะทรงสดับแล้วจึงรับสั่งให้พวกราชบุรุษเตรียมกระบวนว่า)
[๒๙] พวกพนักงานจงเทียมราชรถที่ตกแต่งสวยงาม
เย็บปักอย่างวิจิตรตระการตา จงผูกสายรัดสัปคับช้าง
สวมเครื่องประดับคอ
[๓๐] ชาวพนักงานจงนำกลอง ตะโพน และสังข์มา
และจงเทียมราชยานที่เร็ว
วันนี้ เราจักไปสู่อาศรมที่เราเห็นฤๅษีนั่งอยู่
(พระเจ้าสัมภูตะเสด็จเข้าไปหาจิตตบัณฑิตดาบส ทรงดีพระทัยแล้วตรัสว่า)
[๓๑] หม่อมฉันเป็นผู้ได้ลาภดีแล้วหนอ
คาถาอันเขาขับดีแล้ว ณ ท่ามกลางบริษัท
หม่อมฉันนั้นมีปีติและโสมนัสเพราะได้เห็นฤๅษีผู้สมบูรณ์ด้วยสีลวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
(ตั้งแต่ได้พบจิตตบัณฑิตดาบส พระเจ้าสัมภูตะทรงโสมนัส จึงรับสั่งพวก
ราชบุรุษให้เตรียมสถานที่แล้วตรัสว่า)
[๓๒] ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงรับอาสนะ น้ำ
และผ้าเช็ดเท้าของข้าพเจ้าเถิด
ข้าพเจ้าขอถวายของมีค่า๑ต้อนรับพระคุณเจ้าผู้เจริญ
ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงใช้สอยของที่มีค่าของข้าพเจ้าด้วยเถิด
(พระเจ้าสัมภูตะเมื่อจะทรงแบ่งราชสมบัติถวายครึ่งหนึ่ง จึงตรัสว่า)
[๓๓] ขอพระองค์จงสร้างพระตำหนักที่น่ารื่นรมย์สำหรับพระองค์
ขอพระองค์ทรงให้หมู่นารีบำเรอเถิด
และจงให้โอกาสเพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉัน
แม้เราทั้ง ๒ จะครอบครองความเป็นใหญ่ร่วมกัน
(จิตตบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า)
[๓๔] ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมาเห็นผลของทุจริต
และวิบากยิ่งใหญ่แห่งธรรมที่ประพฤติดีแล้วจักสำรวมตนอย่างเดียว
จึงไม่ปรารถนาบุตร ปศุสัตว์ หรือทรัพย์
[๓๕] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เพียง ๑๐ ปีเท่านั้น
ชีวิตนั้นยังไม่ทันถึงเขตกำหนดซูบซีดไปเหมือนต้นอ้อที่ถูกตัด
[๓๖] ในสภาพชีวิตอย่างนั้นจะเพลิดเพลิน จะเล่นสนุกสนาน
จะรื่นเริง จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไมกัน
ประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภรรยาสำหรับอาตมา
อาตมาพ้นแล้วจากเครื่องผูก มหาบพิตร
[๓๗] อาตมานั้นทราบชัดอย่างนี้ว่า มัจจุราชจะไม่เมินเฉยต่ออาตมา
ผู้ถูกมฤตยูครอบงำ จะรื่นเริง จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไมกัน

เชิงอรรถ :
๑ ของที่มีค่า ในที่นี้หมายถึงสิ่งของที่คู่ควรแก่การต้อนรับแขก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
[๓๘] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
ชาติกำเนิดของนรชนไม่สม่ำเสมอ
ในหมู่มนุษย์ กำเนิดแห่งคนจัณฑาลนับว่าต่ำต้อยที่สุด
ในชาติก่อน พวกเราได้อาศัยอยู่ในครรภ์ของหญิงจัณฑาล
เพราะกรรมชั่วช้าของตน
[๓๙] พวกเราได้เกิดเป็นคนจัณฑาลในอวันตีชนบท
ได้เกิดเป็นเนื้ออยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ได้เกิดเป็นนกเขาอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทา
แต่วันนี้เราทั้ง ๒ นั้นเป็นพราหมณ์และกษัตริย์
(จิตตบัณฑิตดาบสเมื่อให้พระเจ้าสัมภูตะเกิดอุตสาหะในบุญกุศลทั้งหลาย จึง
กล่าวว่า)
[๔๐] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก
ชีวิตที่ถูกชรานำไป ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ
ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา
มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีทุกข์เป็นกำไรเลย
[๔๑] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก
ชีวิตที่ถูกชรานำไป ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ
ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา
มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีทุกข์เป็นผลเลย
[๔๒] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก
ชีวิตที่ถูกชรานำไปย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ
ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา
มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีธุลีแปดเปื้อนบนพระเศียรเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
[๔๓] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก
ชราย่อมขจัดผิวพรรณของนรชนผู้แก่ชรา
ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ
ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา
มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมเพื่อเกิดในนรกเลย
(เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนั้น พระราชาทรงยินดีแล้วจึงตรัสว่า)
[๔๔] คำของพระองค์นั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
คำนั้นเป็นเหมือนดังที่ฤๅษีกล่าว
แต่กามของหม่อมฉันมีอยู่มิใช่น้อย
ข้าแต่ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
กามเหล่านั้นคนเช่นหม่อมฉันละได้ยาก
[๔๕] หม่อมฉันจมอยู่ในเปือกตมคือกาม
ไม่อาจดำเนินตามทางของภิกษุได้
เหมือนช้างเชือกที่จมอยู่ในท่ามกลางเปือกตม
เห็นที่เนินอยู่ก็ไม่อาจจะไปได้
[๔๖] มารดาบิดาพร่ำสอนบุตรด้วยหวังว่า
เขาจะมีความสุขได้อย่างไร แม้ฉันใด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระองค์ก็ฉันนั้น พร่ำสอนหม่อมฉัน
โดยที่หม่อมฉันละโลกนี้ไปแล้วจะพึงเป็นสุขสิ้นกาลนาน
(พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตถวายพระพรว่า)
[๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้จอมชน
หากมหาบพิตรไม่ทรงสามารถจะละกามซึ่งเป็นของมนุษย์เหล่านี้ได้
ขอพระองค์ทรงตั้งพลีกรรมที่เป็นธรรมเถิด มหาบพิตร
อนึ่ง การกระทำที่ไม่เป็นธรรมขออย่าได้มีในแคว้นของพระองค์เลย
[๔๘] ขอพวกทูตจงเที่ยวไปนิมนต์สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ทั่วทิศทั้ง ๔ มหาบพิตร ขอทรงบำรุงสมณะและพราหมณ์
เหล่านั้นด้วยข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ และปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๗ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น