Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๘-๑ หน้า ๑ - ๖๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒



พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑๘. ปัญญาสนิบาต
๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
ว่าด้วยพระราชธิดานฬินิกา
(พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้เรียกพระราชธิดานฬินิกามาแล้ว ตรัสว่า๑)
[๑] ลูกหญิงนฬินิกา ชนบทกำลังเดือดร้อน
แม้แคว้นก็กำลังพินาศ มาเถิด ลูกจงไปนำพราหมณ์นั้นมาให้พ่อ
(พระราชธิดานฬินิกาสดับพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๒] ทูลกระหม่อมพ่อ หม่อมฉันไม่เคยทนทุกข์ลำบาก
ทั้งไม่ฉลาดในหนทางไกล
หม่อมฉันจักไปยังป่าที่มีช้างอาศัยอยู่ได้อย่างไร
(พระราชาตรัสว่า)
[๓] ลูกหญิงนฬินิกา ลูกจงไปยังชนบท
ที่มั่งคั่ง ด้วยช้าง ด้วยรถ และด้วยยาน
ที่สร้างด้วยไม้๒โดยวิธีนี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ในวงเล็บนี้และทุกวงเล็บที่ปรากฏตลอดคัมภีร์เล่มนี้ ยกมาจากอรรถกถาของชาดกเรื่องนั้น ๆ เริ่มจาก
ขุ.ชา.อ. ๘ - ๑๐ เป็นลำดับไป
๒ ยานที่สร้างด้วยไม้ ในที่นี้หมายถึงเรือ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔] ลูกจงพาเอากองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
และกองพลราบไป ลูกจักนำพราหมณ์มาสู่อำนาจได้
เพราะผิวพรรณและรูปของลูก
(นายพรานป่าชี้ไปที่อาศรม แล้วกราบทูลพระราชธิดานฬินิกาว่า)
[๕] อาศรมอันน่ารื่นรมย์ของอิสิสิงคดาบสปรากฏอยู่นั่น
ซึ่งมีต้นกล้วยปรากฏเป็นทิวแถว แวดล้อมไปด้วยป่าแสม
[๖] นั่นแสงไฟยังโพลงเห็นประจักษ์อยู่ นั่นควันไฟยังปรากฏอยู่
เข้าใจว่า อิสิสิงคดาบสผู้มีฤทธิ์มากจะยังไม่เลิกบูชาไฟ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสว่า)
[๗] อิสิสิงคดาบสมองเห็นพระราชธิดานั้น
สวมใส่ตุ้มหูแก้วมณีกำลังเสด็จมา
เกิดความกลัว จึงเข้าไปยังอาศรมที่มุงด้วยใบไม้
[๘] ที่ใกล้ประตูอาศรมของดาบสนั้น
พระราชธิดานั้นก็ทรงแสดงให้เห็นอวัยวะของลับ
และส่วนที่ปรากฏ ขณะเล่นลูกข่างอยู่
[๙] ฝ่ายชฎิลดาบสผู้อยู่ในบรรณศาลา
ครั้นเห็นพระราชธิดานั้นทรงเล่นอยู่
จึงออกมาจากอาศรมแล้วกล่าวคำนี้ว่า
[๑๐] พ่อมหาจำเริญ ต้นไม้ของท่านชื่ออะไรที่มีผลเป็นอย่างนี้
ถึงท่านจะขว้างไปแล้วแม้ในที่ไกล
มันก็ย้อนกลับมา ไม่ละทิ้งท่านไป
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๑] ท่านพราหมณ์ ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
ณ ภูเขาคันธมาทน์ ต้นไม้ชนิดนั้นที่มีผลเป็นอย่างนี้มีอยู่มาก
ถึงข้าพเจ้าจะขว้างไปแล้วแม้ในที่ไกล
มันก็ย้อนกลับมา ไม่ละทิ้งข้าพเจ้าไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(อิสิสิงคดาบสเมื่อจะทำการปฏิสันถาร จึงกล่าวว่า)
[๑๒] เชิญท่านผู้เจริญเข้าไปยังอาศรมนี้เถิด
จงรับน้ำมันทาเท้าและภักษาหาร ข้าพเจ้าจักให้
นี้อาสนะ เชิญท่านผู้เจริญนั่งบนอาสนะนี้
เชิญท่านผู้เจริญขบฉันเหง้ามันและผลไม้ ณ ที่นี้เถิด
[๑๓] ที่ระหว่างขาอ่อนทั้ง ๒ ของท่านนี้เป็นอะไร
สวยเรียบดี ปรากฏเป็นเพียงสีดำ
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
อวัยวะส่วนปลายยอด๑ของท่านเข้าไปอยู่ในฝักหรือ
(พระราชธิดานฬินิกาลวงดาบสว่า)
[๑๔] ข้าพเจ้ากำลังเที่ยวแสวงหารากไม้และผลไม้อยู่ในป่า
ได้ขว้างหมีร้ายกาจตัวหนึ่ง
มันวิ่งปราดเข้าถึงตัวข้าพเจ้าโดยฉับพลัน
ทำให้ข้าพเจ้าล้มลงแล้วกัดอวัยวะส่วนปลายยอดไป
[๑๕] แผลนี้ มันรบกวนและเกิดอาการคันขึ้น
ข้าพเจ้าจึงไม่ได้รับความสำราญตลอดเวลา
ท่านผู้เจริญพอจะกำจัดอาการคันนี้ได้หรือ
ข้าพเจ้าขอร้องท่านผู้เจริญ
โปรดบำเพ็ญประโยชน์แก่พราหมณ์ด้วยเถิด
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๑๖] แผลของท่านมีสีแดง ค่อนข้างลึกและใหญ่
แต่ไม่เน่า มีกลิ่นนิดหน่อย
ข้าพเจ้าจะปรุงยาน้ำฝาดให้ท่านขนานหนึ่ง
เท่าที่ท่านผู้เจริญจะพึงมีบรมสุขได้

เชิงอรรถ :
๑ อวัยวะส่วนปลายยอด หมายถึงเครื่องหมายเพศ (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓/๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๗] ท่านพรหมจารี การเสกมนต์ การปรุงยาน้ำฝาด
และโอสถทั้งหลายก็บำบัดไม่ได้
ขอท่านพึงใช้องคชาตอันอ่อนนุ่มเสียดสีกำจัดอาการคัน
เท่าที่ข้าพเจ้าจะพึงมีบรมสุขได้เถิด
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๑๘] อาศรมของท่านผู้เจริญอยู่ทางทิศไหนจากที่นี้หนอ
ท่านผู้เจริญย่อมรื่นรมย์อยู่ในป่าหรือ
มูลผลาหารของท่านมีเพียงพอหรือ
สัตว์ร้ายทั้งหลายไม่เบียดเบียนท่านผู้เจริญหรือ
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๙] จากที่นี้ตรงไปทางทิศเหนือ
มีแม่น้ำชื่อเขมาเกิดจากป่าหิมพานต์
อาศรมที่น่ารื่นรมย์ของข้าพเจ้าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
[๒๐] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า ต้นหว้า
ต้นราชพฤกษ์ และต้นแคฝอย ออกดอกบานสะพรั่ง
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
ซึ่งมีพวกกินนรขับกล่อมอยู่โดยรอบ
[๒๑] ต้นตาล เหง้าตาล และผลตาล ณ ที่นั้น
มีสีสันงดงามและมีกลิ่นหอม
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
ซึ่งประกอบไปด้วยภูมิภาคอันงดงามนั้นบ้าง
[๒๒] ผลไม้และเผือกมันซึ่งมีสีสันสวยงาม
มีกลิ่นหอมและมีรสอร่อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
ที่อาศรมของข้าพเจ้านั้นมีอยู่เพียงพอ
และพวกนายพรานพากันมายังที่นั้นแล้ว
ขออย่าได้ลักมูลผลาหาร๑จากอาศรมของข้าพเจ้านั้นไปเลย
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๒๓] ขณะนี้ บิดาของข้าพเจ้าไปแสวงหามูลผลาหาร
จะกลับมาในตอนเย็น เราทั้ง ๒ จะไปยังอาศรมนั้น
ต่อเมื่อบิดากลับมาจากการแสวงหามูลผลาหาร
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๒๔] ฤๅษีและพระราชฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดีเหล่าอื่น
มีจำนวนมากอยู่ตามทาง
ท่านจงถามฤๅษีเหล่านั้นถึงอาศรมของข้าพเจ้าเถิด
ฤๅษีเหล่านั้นจักนำท่านไป ณ สถานที่อยู่ของข้าพเจ้าเอง
(พระดาบสโพธิสัตว์กลับมาจากป่าแล้วถามว่า)
[๒๕] เจ้ามิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ก่อไฟ
เพราะเหตุไรหนอ เจ้าจึงเหงาหงอยซบเซาอยู่
[๒๖] แน่ะลูกผู้ประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อก่อน ฟืนเจ้าก็หัก ไฟเจ้าก็บูชา
แม้ไฟสำหรับผิงเจ้าก็จัดแจงไว้
ตั่งเจ้าก็ตั้งไว้ น้ำเจ้าก็ตักไว้เพื่อพ่อ
ลูกยังประพฤติพรหมจรรย์รื่นรมย์อยู่หรือ
[๒๗] เจ้ามิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ
มิได้ก่อไฟ มิได้หุงต้มโภชนาหาร
วันนี้ ลูกยังมิได้ทักทายพ่อเลย
สิ่งของอะไรหายหรือ หรือว่าลูกมีทุกข์ใจอะไร

เชิงอรรถ :
๑ มูลผลาหาร คือ อาหารที่ได้จากรากไม้กล่าวคือเหง้า (เหง้าบัว,หัวเผือก,หัวมัน) และผลไม้ทั้งหลายที่มี
สีและกลิ่นเป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๒/๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๒๘] ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้มาที่นี่
รูปร่างของเธอสวยงาม น่าชม
ไม่สูงเกินไปและไม่เตี้ยเกินไป มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง
ศีรษะของเธอผู้เจริญดำสวยงาม
เพราะปกคลุมด้วยผมอันดำสนิทเป็นเงางาม
[๒๙] ไม่มีหนวด บวชได้ไม่นาน
ก็เธอมีเครื่องประดับเช่นกับเชิงบาตรอยู่ที่คอ
และมีปุ่ม ๒ ปุ่มเกิดที่อกอย่างงดงาม
ทั้งคู่มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดังผลมะพลับทองคำ
[๓๐] อนึ่ง ใบหน้าของเธอน่าทัศนายิ่งนัก
กรรเจียกจอนก็ห้อยอยู่ที่หูทั้ง ๒
เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็เปล่งประกายแวววาว
สายรัดชฎาที่ประดับก็โชติช่วงชัชวาล
[๓๑] และเครื่องประดับอย่างอื่นอีก ๔ อย่างของมาณพนั้น
มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีขาว
เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็แกว่งไกวไปมา
เหมือนหมู่นกติรีฏิ ยามเมื่อฝนตก
[๓๒] ก็เธอมิได้คาดสายรัดเอวที่ทำด้วยหญ้ามุงกระต่าย
เปลือกปอ และหญ้าปล้อง
สายรัดเอวนั้นปลิวสะบัดเหมือนสายฟ้าในอากาศ
โชติช่วงอยู่ระหว่างสะเอวกับสะโพก
[๓๓] อนึ่ง ผลไม้ทั้งหลายไม่มีใบ ไม่มีขั้ว ติดอยู่ที่สะเอว
ใต้สะดือ ไม่กระทบกันเลย ส่ายได้เป็นนิจ
พ่อ ผลไม้เหล่านั้นเป็นผลของต้นไม้อะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๓๔] ก็แหละชฎา๑ของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก
มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม
จัดรูปทรงแบ่งศีรษะเป็นสองส่วนได้อย่างงดงาม
ขอให้ชฎาของเราเป็นเช่นนั้นเถิด
[๓๕] ก็คราวใดชฎิลนั้นสยายชฎา
ที่ประกอบด้วยสีและกลิ่นเหล่านั้น
คราวนั้นอาศรมนี้ก็หอมอบอวล
เหมือนดอกอุบลเขียวที่ต้องลม
[๓๖] เปือกตมที่เรือนร่างชฎิลนั้นก็น่าดูยิ่งนัก
หาเป็นเช่นกับกายของเราไม่
พอถูกลมโชยพัดก็หอมฟุ้ง
เหมือนป่าไม้มีดอกบานสะพรั่งปลายฤดูร้อน
[๓๗] ชฎิลนั้นตีผลไม้มีรูปอันวิจิตรงดงามน่าดูลงบนพื้นดิน
และผลไม้ที่ขว้างไปแล้วย่อมกลับมาสู่มือของชฎิลนั้นอีก
พ่อ ผลไม้นั้นเป็นผลของต้นไม้อะไรหนอ
[๓๘] อนึ่ง ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก
ขาว เรียบเสมอ เปรียบได้กับสังข์ที่ขัดดีแล้ว
เมื่อเธอยิ้ม ย่อมทำใจให้ผ่องใส
ชฎิลนั้นคงไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่
[๓๙] คำพูดของเธอไม่หยาบคาย ไม่คลาดเคลื่อน
นุ่มนวล อ่อนหวาน ซื่อตรง ไม่ทำให้ฟุ้งซ่าน ไม่คลอนแคลน
เมื่อเปล่งออกมา น้ำเสียงของเธอทำให้ฟูใจ
ไพเราะจับใจ ดุจเสียงนกการเวก
ทำให้ใจของลูกกำหนัดยิ่งนัก

เชิงอรรถ :
๑ ชฎาในที่นี้หมายถึงสายผม (เส้นผมหลายเส้นที่ร้อยในลูกปัด) ที่เอาแก้วแซมผูกไว้มีทรงคล้ายชฎา (ขุ.ชา.อ.
๘/๓๔/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔๐] เธอมีน้ำเสียงหยดย้อย ไม่เป็นถ้อยคำที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบด้วยเสียงอันพึมพำ
ลูกปรารถนาที่จะได้พบเธออีก
เพราะชฎิลหนุ่มได้เป็นมิตรกับลูกมาก่อน
[๔๑] แผลนี้เชื่อมต่อสนิทดี เกลี้ยงเกลาทุกส่วน
อูมใหญ่ตั้งอยู่อย่างเหมาะเจาะ
งามพร้อมคล้ายกับกลีบบัว
ชฎิลหนุ่มขึ้นคร่อมลูกด้วยแผลนั้นนั่นแหละ
ใช้บั้นเอวดันขาอ่อนให้เปิดไว้
[๔๒] รัศมีที่แผ่ซ่านจากกายของเธอ
เปล่งปลั่งผุดผ่องสว่างไสว
เหมือนสายฟ้าในอากาศ
แม้แขนทั้ง ๒ ของเธอก็อ่อนนุ่ม
มีขนเช่นกับขนดอกอัญชัน
นิ้วของเธอก็กลมกลึงวิจิตรงดงาม
[๔๓] เธอมีร่างกายไม่ระคายเคือง มีขนไม่ยาว
แต่มีเล็บยาว ปลายเล็บเป็นสีแดง
ชฎิลหนุ่มรูปงามกอดรัดลูกด้วยลำแขนทั้งหลาย อันอ่อนนุ่ม
บำรุงบำเรอให้รื่นรมย์
[๔๔] มือทั้งหลาย ของเธออ่อนนุ่ม คล้ายกับปุยนุ่น งามเปล่งปลั่ง
มีผิวพรรณงดงาม กลมกลึงเหมือนแผ่นทองคำอันงดงาม
เธอสัมผัสลูกด้วยมือเหล่านั้นแล้วไปจากที่นี่
เพราะสัมผัสนั้น มันจึงเผาลูกให้เร่าร้อนอยู่ นะท่านพ่อ
[๔๕] ชฎิลหนุ่มนั้นไม่ได้หาบคอนแน่นอน
มิได้หักฟืนเองแน่นอน มิได้โค่นต้นไม้ด้วยขวานแน่นอน
เพราะที่ฝ่ามือทั้งหลายของเธอไม่กระด้างเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔๖] ส่วนเจ้าหมีได้ทำให้ชฎิลหนุ่มนั้นเป็นแผล
ชฎิลหนุ่มนั้นได้กล่าวกับลูกว่า
ขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขด้วยเถิด
ลูกได้ช่วยทำให้เธอนั้นมีความสุข
เพราะการกระทำนั้น ความสุขก็มีแก่ลูกด้วย
ท่านผู้ประเสริฐ ก็เธอได้พูดกับลูกว่า ข้าพเจ้ามีความสุขแล้ว
[๔๗] เครื่องปูลาดใบเถาย่านทรายของท่านพ่อนี้
กระจัดกระจายไปเพราะลูกกับเธอ
เราทั้ง ๒ มีความเหน็ดเหนื่อย จึงรื่นรมย์กันในน้ำ
แล้วพากันเข้ากระท่อมใบไม้อยู่บ่อย ๆ
[๔๘] ท่านพ่อ วันนี้มนต์ทั้งหลายของลูกไม่แจ่มแจ้งเลย
การบูชาไฟและแม้การบูชายัญก็ไม่แจ่มแจ้ง
ตราบใดที่ลูกยังไม่พบพรหมจารีนั้น
ตราบนั้นลูกจะไม่ยอมบริโภคมูลผลาหารของท่านพ่อ
[๔๙] ท่านพ่อ ท่านต้องรู้จักแน่ว่า พรหมจารีอยู่ ณ ทิศใด
ขอท่านโปรดช่วยพาลูกไปให้ถึงทิศนั้นโดยเร็วเถิดพ่อ
ขอลูกอย่าได้ตายในอาศรมของท่านเลย
[๕๐] อนึ่ง ลูกได้ฟังมาว่า ป่าไม้ผลิดอกบานสะพรั่ง วิจิตรสวยงาม
กึกก้องไปด้วยเสียงนก มีฝูงนกอยู่อาศัย
ท่านพ่อ ขอท่านโปรดช่วยพาลูกไปให้ถึงป่านั้นโดยเร็วเถิด
ก่อนที่ลูกจะต้องละชีวิตทิ้งไว้ในอาศรมของท่าน
(พระดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๑] ในราวป่าที่มีรัศมีโชติช่วงนี้
ซึ่งมีหมู่คนธรรพ์และเทพอัปสรสถิตอยู่
เป็นที่อยู่ของฤๅษีทั้งหลาย
บุคคลผู้เป็นบัณฑิตไม่ควรถึงความไม่ยินดีเช่นนี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๕๒] สัตว์ทั้งหลายเป็นมิตรก็มี ไม่เป็นมิตรก็มี
พวกเขาทำความรักใคร่ในญาติและมิตรทั้งหลาย
ส่วนเจ้ามิคสิงคดาบสนี้จัดว่าเป็นคนเลว
เพราะตนเองยังไม่รู้เลยว่า “เรามาจากไหน”
กลับไว้ใจ(มาตุคามด้วยสำคัญว่าเป็นมิตร)เพราะเหตุไร
[๕๓] เพราะว่า ขึ้นชื่อว่ามิตรย่อมเชื่อมติดต่อกันได้
เพราะการอยู่ร่วมกันบ่อย ๆ
มิตรนั้นนั่นเองของบุคคลผู้ไม่สมาคมกัน
ย่อมเสื่อมไปเพราะการไม่ได้อยู่ร่วมกัน
[๕๔] หากลูกจะได้พบเห็นพรหมจารี
จะได้เจรจากับพรหมจารี
ลูกจะละทิ้งคุณคือตบะนี้โดยเร็วพลัน
ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป
[๕๕] หากลูกจะได้พบเห็นพรหมจารีอีก
ได้เจรจากับพรหมจารีอีก
ลูกก็จะละทิ้งเดชแห่งสมณะนี้โดยเร็วพลัน
ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป
[๕๖] ลูกเอ๋ย ก็ภูต๑เหล่านี้ท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลก
ด้วยการแปลงรูปต่าง ๆ
คนมีปัญญาไม่ควรคบหาภูตเหล่านั้น
พรหมจารีบุคคลย่อมพินาศไปเพราะเกี่ยวข้องกับภูตนั้น
นฬินิกาชาดกที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภูต ในที่นี้หมายถึงพวกนางยักษิณี ที่เที่ยวแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อหลอกจับมนุษย์กิน (ขุ.ชา.อ.
๘/๕๖/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
ว่าด้วยเสนาบดีถวายนางอุมมาทันตีแด่พระราชา
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๕๗] สุนันทะ นี้เป็นนิเวศน์ของใครหนอ
ล้อมด้วยกำแพงสีเหลือง
ใครหนอปรากฏอยู่ในที่ไกลประดุจเปลวไฟในอากาศ
และประดุจเปลวไฟบนยอดภูเขา
[๕๘] สุนันทะ หญิงนี้เป็นธิดาของใครหนอ
เป็นลูกสะใภ้หรือเป็นภรรยาของใคร
เป็นหญิงโสดหรือว่ามีภัสดาในนิเวศน์นี้
เราถามแล้ว ท่านจงบอกมาโดยเร็วเถิด
(สุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน หญิงคนนั้น
ข้าพระองค์รู้จักทั้งมารดาและบิดาของนาง
แม้สามีของนางข้าพระองค์ก็รู้จัก
ข้าแต่พระภูมิบาล บุรุษนั้นเป็นข้าราชบริพารของพระองค์เอง
เป็นผู้ไม่ประมาทในราชกิจอันเป็นประโยชน์ของพระองค์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
[๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ก็อำมาตย์คนหนึ่งของพระองค์
ผู้ประสบความสำเร็จ มั่งคั่ง และเจริญรุ่งเรือง
นางเป็นภรรยาของอภิปารกอำมาตย์นั้นเอง
ชื่อว่าอุมมาทันตี พระเจ้าข้า
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๖๑] พ่อมหาจำเริญ พ่อมหาจำเริญ ชื่อของนางนี้
มารดาและบิดาตั้งให้เหมาะสมดีจริง เป็นความจริงอย่างนั้น
เมื่อนางอุมมาทันตีมองดูเรา ได้ทำให้เราคล้ายจะเป็นบ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๖๒] ในคืนเดือนเพ็ญ นางมีนัยน์ตาชะม้ายคล้ายตานางเนื้อทราย
ร่างกายมีผิวพรรณดุจกลีบดอกบุณฑริก นั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง
ในคืนนั้น เราได้เห็นนางนุ่งผ้าสีแดงดุจสีเท้านกพิราบแล้ว
สำคัญว่าดวงจันทร์ขึ้น ๒ ดวง
[๖๓] คราวใดนางชมดชม้อยชำเลืองมองดูเราด้วยอาการ
อันอ่อนหวาน ด้วยใบหน้าอันเบิกบานงดงามบริสุทธิ์
ประดุจจะลักเอาดวงใจของเราไป ประหนึ่งนางกินนรี
เกิดที่ภูเขาในป่าลักเอาดวงใจของกินนรไป
[๖๔] คราวนั้นนางผู้เลอโฉม มีผิวกายสีทอง
ใส่ตุ้มหูแก้วมณี มีผ้านุ่งท่อนเดียว ชำเลืองดูเรา
ประดุจนางเนื้อทรายตื่นตกใจกลัวเมื่อเห็นนายพราน
[๖๕] เมื่อไรเล่า แม่นางผู้มีเล็บแดง มีขนงาม
แขนอ่อนนุ่ม ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
มีนิ้วกลมกลึง งามตั้งแต่ศีรษะ
จักบำเรอเราด้วยกิริยาอันชดช้อยชาญฉลาด
[๖๖] เมื่อไรเล่า ธิดาของท่านติรีฏิ
ผู้มีทับทรวงสังวาลทองคำ เอวเล็กเอวบาง
จักกอดเราด้วยแขนทั้ง ๒ อันอ่อนนุ่ม
ประดุจเถาย่านทรายรึงรัดต้นไม้ที่เกิดในป่าใหญ่
[๖๗] เมื่อไรเล่า นางผู้มีผิวพรรณงามแดงดังน้ำครั่ง
มีเต้าถันกลมกลึงประดุจฟองน้ำ
ร่างกายมีผิวพรรณดังกลีบดอกบุณฑริก
จักโน้มปากเข้าจุมพิตปากเรา
เหมือนดังนักเลงสุรายื่นจอกสุราให้นักเลงสุราด้วยกัน
[๖๘] เมื่อใด เราได้เห็นนางผู้มีสรรพางค์กาย
อันเจริญ น่ารื่นรมย์ใจ ยืนอยู่
เมื่อนั้น เราไม่รู้สึกตัวเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๖๙] เราได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้ใส่ตุ้มหูแก้วมณีแล้ว
นอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืน
เหมือนปราชัยต่อข้าศึกมาแล้วตั้งพันครั้ง
[๗๐] หากท้าวสักกะจะพึงประทานพรแก่เราไซร้
ขอเราพึงได้พรนั้นเถิด
อภิปารกเสนาบดีพึงอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี
ตลอดคืนหนึ่งหรือสองคืน
จากนั้นพระเจ้ากรุงสีพีพึงได้อภิรมย์กับนางบ้าง
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๑] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งภูต
เมื่อข้าพระองค์นมัสการอยู่ซึ่งภูตทั้งหลาย
เทวดาตนหนึ่งได้มากล่าวเนื้อความนี้กับข้าพระองค์ว่า
พระทัยของพระราชาจดจ่ออยู่เฉพาะนางอุมมาทันตี
ข้าพระองค์ขอถวายนางแด่พระองค์
ขอพระองค์ทรงให้นางบำเรอเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๒] เราจะพึงคลาดไปจากบุญ และมิใช่เราจะไม่ตาย
ทั้งประชาชนจะพึงรู้ความชั่วของเรานี้
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นอกจากพระองค์และข้าพระองค์แล้ว
ประชาชนแม้ทั้งหมดไม่พึงรู้กรรมที่ทำแล้วได้
ข้าพระองค์ทูลถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์
โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า๑
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๔] คนผู้ทำกรรมชั่วย่อมคิดว่า
คนเหล่าอื่นอย่ารู้การกระทำนี้เลย
แต่ว่า คนบนพื้นปฐพีที่ประกอบด้วยฤทธิ์๒ ยังมีอยู่
ย่อมจะเห็นเขาผู้กระทำกรรมชั่วนั้น
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๕] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้
เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระเจริญ
ขอพระองค์เสด็จไปหานางอุมมาทันตีทันที
ดุจราชสีห์เข้าไปยังถ้ำศิลา

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า หมายถึงการร่วมอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี (ภรรยาผู้อื่น) เป็นการทำกรรมหยาบ
ช้า คือ ตัณหาดุจต้นไม้ที่เจริญงอกงามอยู่ในป่า (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๒/๔๔)
๒ นรชนผู้ประกอบด้วยฤทธิ์ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรผู้มีฤทธิ์ (ขุ.ชา.อ.
๘/๗๔/๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๗] ปราชญ์ทั้งหลายถึงจะถูกความทุกข์ของตนบีบคั้นแล้ว
ก็จะไม่สละกรรมที่มีผลเป็นสุข
หรือแม้ลุ่มหลงมัวเมาด้วยความสุข
ก็จะไม่ประพฤติกรรมชั่ว
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๘] ก็พระองค์ทรงเป็นทั้งมารดาและบิดา เป็นภัสดา เป็นนาย
เป็นผู้ชุบเลี้ยง และเป็นเทวดาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์พร้อมทั้งบุตรและภรรยาเป็นทาสของพระองค์
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกาม
ตามความสำราญเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๙] ผู้ใดกระทำความชั่วด้วยสำคัญว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่
ครั้นกระทำแล้ว ผู้นั้นก็ไม่หวั่นเกรงต่อชนเหล่าอื่น
เพราะกรรมนั้น เขาย่อมมีอายุอยู่ได้ไม่ยืนยาว
แม้เทพทั้งหลายก็มองเขาด้วยสายตาอันเหยียดหยาม
[๘๐] ชนเหล่าใดผู้ดำรงอยู่ในธรรม
รับทานที่เป็นของชนเหล่าอื่น อันเจ้าของมอบให้แล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นทั้งผู้รับ เป็นทั้งผู้ให้ในทานนั้นแม้ทั้งหมด
ย่อมทำกรรมอันมีผลเป็นสุขทีเดียว
[๘๑] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้
เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ข้าพระองค์ขอถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๓] ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน
หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น๑
(ผู้นั้นชื่อว่า ไม่รู้ธรรม) ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า
ความทุกข์ ความสุขนี้ของเราเป็นอย่างไร
ของคนเหล่าอื่นก็เป็นอย่างนั้น
ผู้นั้นชื่อว่า รู้ธรรม
[๘๔] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน หมายถึงผู้ที่ถูกทุกข์บีบคั้นแล้วใส่ทุกข์ให้แก่คนอื่นคือ
นำทุกข์ออกจากสรีระของตัวแล้วใส่ในสรีระของผู้อื่น หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น
หมายถึงผู้ที่ถือเอาความสุขของคนอื่นมาใส่ไว้ในตน ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า “เราจัก
นำความทุกข์ออกจากตน” ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า “เราจักทำตนให้มีความสุข
สบาย” ชื่อว่าทำความสุขของคนอื่นให้พินาศเพราะเข้าใจว่า “เราจักทำตนให้มีความสุข” คนนั้นชื่อว่า
ไม่รู้ธรรม
ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า “ความสุขและความทุกข์ของเรานั้นเป็นอย่างไร ของคนอื่นก็เป็นอย่างนั้น”
ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม คือ รู้จักธรรม (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๓/๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน พระองค์ทรงทราบว่า
นางอุมมาทันตีนี้เป็นที่รักของข้าพระองค์
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ด้วยความจงรักภักดีต่อพระองค์
ข้าพระองค์ขอถวายนางผู้เป็นที่รักแด่พระองค์
ขอเดชะสมมติเทพ บุคคลให้สิ่งของอันเป็นที่รัก
ย่อมได้สิ่งของอันเป็นที่รัก
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๖] เราจักฆ่าตนอันมีกามเป็นเหตุแน่
เพราะเราไม่สามารถจะฆ่าธรรมด้วยอธรรมได้
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๗] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
ผู้ประเสริฐแกล้วกล้ากว่านรชน
ถ้าพระองค์ไม่ทรงประสงค์นางอุมมาทันตี
ผู้เป็นสมบัติของข้าพระองค์
ข้าพระองค์จะสละนางในท่ามกลางประชาชนทั้งปวง
พระองค์พึงนำนางผู้พ้นขาดจากข้าพระองค์แล้วมาจากที่นั้นเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๘] นี่แน่ะท่านอภิปารกะ ผู้บำเพ็ญประโยชน์
หากท่านสละนางอุมมาทันตีผู้ไม่ประทุษร้ายต่อท่าน
ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ท่าน
อนึ่ง การกล่าวโทษอย่างใหญ่หลวงก็จะพึงมีแก่ท่าน
แม้คนผู้เป็นฝักฝ่ายของท่านในเมืองก็จะไม่พึงมีอีกด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๙] ข้าแต่พระภูมิบาล ข้าพระองค์จักอดกลั้นคำกล่าวโทษ
คำนินทา คำสรรเสริญ และคำติเตียนนั้นทุกอย่าง
ขอคำนั้นทั้งหมดจงมาตกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตามความสำราญเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๐] ผู้ใดไม่ยึดถือคำนินทา ไม่ยึดถือคำสรรเสริญ
ไม่ยึดถือคำติเตียน ทั้งไม่ยึดถือการบูชา
สิริและปัญญาย่อมปราศจากผู้นั้น
เหมือนน้ำฝนที่ตกจนโชกย่อมไหลไปจากที่ดอน
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๑] ความทุกข์ ความสุข อกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม
และความคับแค้นใจจากการเสียสละนี้ทั้งหมด
ข้าพระองค์จักรับไว้ด้วยอกประดุจพื้นปฐพีรับไว้ได้ทุกอย่าง
ทั้งของบุคคลผู้มั่นคงและผู้หวาดสะดุ้ง
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๒] เราไม่ปรารถนาอกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม
ความคับแค้นใจ และความทุกข์ของบุคคลเหล่าอื่น
เราผู้ดำรงอยู่ในธรรมจะไม่ทำประโยชน์อะไร ๆ ให้เสื่อมเสียไป
เราจักนำภาระนี้ไปเพียงผู้เดียวเท่านั้น
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน บุญกรรมอันนำให้ถึง
โลกสวรรค์ของข้าพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงทำอันตรายเลย
ข้าพระองค์มีใจเลื่อมใส จะถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เหมือนกับพระราชาพระราชทานทรัพย์
แก่พวกพราหมณ์ในการบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๔] ท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
ทั้งนางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
เทวดา บิดา๑ และประชาชนทั้งปวงจะพึงนินทาได้
อนึ่ง เราก็ได้เห็นบาปในสัมปรายภพ
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๕] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ชาวชนบทพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งปวง
จะพึงกล่าวข้อนั้นว่าไม่เป็นธรรมหาได้ไม่
ข้าพระองค์ถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เพราะนางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ถวายพระองค์แล้ว
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๖] นี่แน่ะท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
นางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
ก็ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายที่ประกาศไว้ดีแล้ว
ยากที่จะก้าวล่วงได้ เหมือนฝั่งสมุทร
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๗] พระองค์ทรงเป็นอาหุเนยยบุคคล๒
ทรงอนุเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทรงเป็นผู้ปกป้อง
คุ้มครอง และทรงรักษาความประสงค์ของข้าพระองค์
ข้าแต่พระราชา ก็ยัญที่บูชาแล้วในพระองค์มีผลมาก
ขอพระองค์ทรงรับนางอุมมาทันตี
ตามความประสงค์ของข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ บิดา ในที่นี้หมายถึงพรหม (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๔/๔๗)
๒ อาหุเนยยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาคำนับ (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๗/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๘] อภิปารกกัตตุบุตร ก็ท่านได้ประพฤติธรรมทุกอย่างแก่เราโดยแท้
คนสองเท้าของท่าน คนอื่นใครเล่าหนอ
จะกระทำความสวัสดีให้แก่ท่านในเวลารุ่งอรุณ ในชีวโลกนี้
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๙] พระองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม
พระองค์ทรงมีธรรมคุ้มครอง เป็นผู้ถึงธรรม ทรงรู้แจ้งธรรม
ทรงมีปัญญาดี พระองค์ผู้ทรงรักษาธรรม
ขอพระองค์ผู้มีธรรมคุ้มครองแล้วนั้น
จงดำรงพระชนม์ยั่งยืนนาน
และโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๑๐๐] เชิญเถิด อภิปารกะ ท่านจงฟังคำของเรา
เราจักแสดงธรรมที่พวกสัตบุรุษส้องเสพแล้วแก่ท่าน
[๑๐๑] พระราชาทรงพอพระทัยในธรรมเป็นพระราชาที่ดี
คนมีความรู้รอบคอบเป็นคนดี
ความไม่ประทุษร้ายมิตรเป็นความดี
การไม่กระทำบาปเป็นเหตุนำสุขมาให้
[๑๐๒] ในแคว้นของพระราชาผู้ไม่กริ้ว ผู้ดำรงอยู่ในธรรม
มนุษย์ทั้งหลายพึงหวังความสุขในเรือนของตน
ภายใต้ร่มเงาอันร่มเย็น
[๑๐๓] กรรมใดที่มิได้พิจารณาแล้วกระทำลงไป
เป็นกรรมไม่ชอบ เราไม่ชอบกรรมนั้นเลย
ฝ่ายพระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้ว
จึงทรงกระทำลงไปด้วยพระองค์เอง
เราชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น
ขอท่านจงฟังข้ออุปมาเหล่านี้ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๐๔] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
[๑๐๕] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[๑๐๖] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[๑๐๗] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑
[๑๐๘] อภิปารกะ เราไม่ปรารถนาความเป็นเทวดา
หรือเพื่อจะชนะแผ่นดินทั้งปวงนี้โดยอธรรมเลย
[๑๐๙] แท้จริง รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ โค ทาส เงิน ผ้า และจันทน์เหลือง
ก็มีอยู่ในหมู่มนุษย์ในโลกนี้

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๑๐] อนึ่ง แม้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ก็รักษา ม้า หญิง และแก้วมณีไว้เพื่อเรา
เราไม่พึงประพฤติธรรมไม่สม่ำเสมอเพราะเหตุแห่งรัตนะนั้นเลย
เพราะเราเกิดเป็นพระราชาผู้เจริญที่สุดท่ามกลางชาวกรุงสีพี
[๑๑๑] เราเป็นผู้นำ เป็นผู้เกื้อกูล มีชื่อเสียง ปกครองแคว้น
ประพฤตินอบน้อมธรรมเพื่อชาวกรุงสีพีอยู่
เรานั้นคิดถึงธรรมนั้นอยู่เนือง ๆ
เพราะเหตุนั้น จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจจิตของตน
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๑๑๒] ข้าแต่มหาราช
พระองค์จักทรงปกครองราชสมบัติมิให้พินาศ
ให้ปลอดภัยอยู่เป็นนิตย์ตลอดกาลนานแน่แท้
เพราะพระปรีชาของพระองค์เป็นเช่นนั้น
[๑๑๓] พระองค์ไม่ทรงประมาทธรรมใด
ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์
กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ ทรงประมาทธรรมแล้ว
ย่อมเคลื่อนจากแคว้น
[๑๑๔] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระชนกและพระชนนีเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๕] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระชายาเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๑๖] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๗] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในพาหนะและพลนิกายเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๙] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในแคว้นและชนบทเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๐] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในสมณะและพราหมณ์เถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๑] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในหมู่เนื้อและหมู่นกเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๒๒] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด
ธรรมที่พระองค์ประพฤติแล้วนำสุขมาให้
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๓] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด
เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหม
บรรลุถึงโลกทิพย์ด้วยธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว
ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทธรรมเลย พระเจ้าข้า
อุมมาทันตีชาดกที่ ๒ จบ
๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
ว่าด้วยโพธิกุมารโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๔] ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงรีบร้อนฉวยเอาไม้เท้า หนังเสือ
ร่ม รองเท้า ไม้ตะขอ บาตร และผ้าพาด
ท่านปรารถนาจะไปยังทิศไหนหนอ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๕] ตลอด ๑๒ ปีนี้ที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของมหาบพิตร
อาตมภาพไม่ได้รู้จักเสียงสุนัขสีน้ำตาลเห่าคำรามเลย
[๑๒๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่
สุนัขตัวนี้นั้น มันแยกเขี้ยวสีขาว เห่าคำรามอย่างร้อนรน
เพราะได้ยินพระดำรัสของพระองค์
พร้อมทั้งพระมเหสีผู้สิ้นศรัทธาอาตมภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต] ๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๗] ท่านพราหมณ์ โทษนั้นเป็นความผิด
ที่โยมกระทำแล้วจริงตามที่ท่านกล่าว
โยมนั้นเลื่อมใสท่านอย่างยิ่ง
ขอนิมนต์อยู่เถิด อย่าไปเลย ท่านพราหมณ์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๘] เมื่อแรก ข้าวสุกสีขาวล้วน ต่อมาก็กระดำกระด่าง
บัดนี้กลายเป็นสีแดงล้วน
จึงเป็นกาลสมควรที่อาตมภาพจะหลีกไป
[๑๒๙] เมื่อแรก อาสนะอยู่ภายใน
ต่อมาอยู่ท่ามกลาง ต่อมาอยู่ภายนอก
อาตมภาพขอไปเองก่อนที่จะถูกขับจากเมือง
[๑๓๐] บุคคลไม่พึงคบหาคนผู้สิ้นศรัทธาเหมือนบ่อน้ำที่ไม่มีน้ำ
ถึงแม้จะพยายามขุดมันขึ้น น้ำก็จะพึงมีกลิ่นโคลนตม
[๑๓๑] บุคคลพึงคบหาผู้ที่เลื่อมใสเท่านั้น
พึงเว้นคนผู้ไม่เลื่อมใส พึงเข้าไปใกล้คนผู้เลื่อมใส
เหมือนคนต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำ
[๑๓๒] บุคคลพึงคบหาคนที่คบด้วย
ไม่พึงคบหาคนที่ไม่คบด้วย
บุคคลใดไม่คบหาคนที่คบด้วย
บุคคลนั้นชื่อว่ามีธรรมของอสัตบุรุษ
[๑๓๓] ผู้ใดไม่คบหาคนที่คบด้วย
ไม่เสวนาคนที่เสวนาด้วย
ผู้นั้นแลเป็นคนชั่วช้าที่สุด
เหมือนลิงที่อาศัยอยู่ตามกิ่งไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๓๔] มิตรทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกัน
เพราะเหตุ ๓ ประการนี้ คือ
๑. เพราะการคลุกคลีกันพร่ำเพรื่อเกินไป
๒. เพราะการไม่ร่วมสโมสรกัน
๓. เพราะขอในเวลาอันไม่สมควร
[๑๓๕] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงไปมาหาสู่กันจนพร่ำเพรื่อ
ไม่ควรเหินห่างกันไปจนเนิ่นนาน
และพึงขอสิ่งที่ควรขอตามกาลอันสมควร
เมื่อเป็นเช่นนี้ มิตรทั้งหลายย่อมจะไม่แหนงหน่ายกัน
[๑๓๖] คนผู้เป็นที่รักย่อมกลับกลายไม่เป็นที่รัก
เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป
อาตมภาพขอถวายพระพรลามหาบพิตรไป
ก่อนที่อาตมาจะไม่เป็นที่รักของมหาบพิตร
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๓๗] หากพระคุณเจ้าไม่ยอมรับรู้
การอัญชลีของปริจารชนสัตบุรุษผู้อ้อนวอนอยู่อย่างนี้
และไม่ยอมกระทำตามคำขอร้องของโยม
โยมขอวิงวอนพระคุณเจ้าอย่างนี้ว่า
พระคุณเจ้าพึงแวะมาอีก
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๓๘] ขอถวายพระพร มหาราชผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ
หากว่าเมื่อเรายังคงเป็นอยู่อย่างนี้
อันตรายจักไม่มีแก่มหาบพิตรหรือแก่อาตมาไซร้
เมื่อวันคืนล่วงไป เราคงจะได้พบกันบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๓๙] หากถ้อยคำของมหาบพิตรเป็นไปตามคติของตน
และตามสภาวะที่เป็นจริงไซร้
เพราะไม่มีความประสงค์ สัตว์จึงทำกรรมที่ไม่ควรทำบ้าง
ที่ควรทำบ้าง เมื่อกระทำโดยไม่มีความประสงค์
ใครเล่าในโลกนี้ จะแปดเปื้อนบาป
[๑๔๐] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๑] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๔๒] ถ้าพระผู้เป็นใหญ่๑กำหนดชีวิต จัดสรรฤทธิ์
ความหายนะ และกรรมดีกรรมชั่วแก่ชาวโลกทั้งปวงไซร้
คนผู้ทำตามคำสั่งทำบาป
พระผู้เป็นใหญ่ย่อมแปดเปื้อนบาปนั้นเอง
[๑๔๓] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๔] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้เป็นใหญ่ หมายถึงพระพรหมหรือพระเป็นเจ้าองค์อื่นจัดแจงตรวจตราชีวิตแก่ชาวโลกทั้งหมด (ขุ.ชา.อ.
๒/๑๔๒/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๔๕] ถ้าว่าสัตว์ย่อมเข้าถึงความสุขและความทุกข์
เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนกระทำไว้ในชาติปางก่อน
เขาย่อมเปลื้องหนี้คือบาปกรรมเก่าที่ตนทำไว้นั้นได้
เมื่อความพ้นหนี้คือบาปกรรมเก่ามีอยู่
ใครเล่าในโลกนี้จะแปดเปื้อนบาป
[๑๔๖] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๗] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๔๘] รูปของสัตว์ย่อมเกิดมีได้
เพราะอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เท่านั้น
ก็รูปย่อมเกิดมีได้เพราะมหาภูตรูปใด
ก็คล้อยไปตามมหาภูตรูป๑นั่นเอง
[๑๔๙] ชีวะย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น
ละไปแล้ว ละทิ้งไปแล้ว ย่อมพินาศ
โลกนี้ย่อมขาดสูญ ทั้งคนพาลและบัณฑิตก็ขาดสูญ
เมื่อโลกขาดสูญอยู่ ใครเล่าในโลกนี้ย่อมแปดเปื้อนบาป

เชิงอรรถ :
๑ คล้อยไปตามมหาภูตรูป หมายถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยมหาภูตทั้ง ๔ นี้ (คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม) ตาย
ลงในเวลาใด ร่างกายส่วนที่เป็นดินก็กลับกลายเป็นดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับกลายเป็นน้ำ ส่วนที่เป็นไฟ
ก็กลับกลายเป็นไฟ ส่วนที่เป็นลมก็กลับกลายเป็นลมในเวลานั้น (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๘/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๕๐] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๑] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๕๒] นักปกครองทั้งหลายที่เป็นคนพาล
สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ได้กล่าวไว้ในโลกว่า
“บุคคลพึงฆ่ามารดาบิดา พี่ชาย น้องชาย
และบุตรภรรยา ถ้าพึงมีความประสงค์เช่นนั้น”
[๑๕๓] บุคคลพึงนั่งหรือนอนใต้ร่มต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งต้นไม้นั้น
เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่ว
[๑๕๔] ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็พึงถอนแม้ทั้งราก
อาตมภาพมีความต้องการอาหาร
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๕] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๖] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๕๗] คนผู้มีวาทะว่าไม่มีเหตุ ๑
คนผู้มีวาทะว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก ๑
คนผู้มีวาทะว่าสุขทุกข์เกิดมีเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน ๑
คนผู้มีวาทะว่าโลกนี้ขาดสูญ ๑
คนผู้เป็นนักปกครองที่เป็นพาล ๑
[๑๕๘] คนเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร
[๑๕๙] ในปางก่อน หมาป่าตัวหนึ่งปลอมตัวเป็นแพะ
ไม่ถูกระแวงสงสัยจึงเข้าไปหาฝูงแพะ
ฆ่าทั้งแม่แพะ แพะตัวเมีย และแพะตัวผู้
ทำให้เกิดความสะดุ้งกลัวแล้วจึงไปตามความปรารถนา
[๑๖๐] สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งก็มีวิธีการอย่างนั้น
กระทำการปิดบังตน หลอกลวงมนุษย์ทั้งหลาย
บางพวกไม่บริโภคอาหาร บางพวกนอนบนแผ่นดิน
บางพวกทำการฉาบทาเถ้าธุลีที่ร่างกาย
บางพวกทำความเพียรโดยการเดินกระโหย่ง
บางพวกบริโภคอาหารเป็นครั้งคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำ
เป็นผู้มีอาจาระเลวทราม เที่ยวพูดอวดอ้างว่าเป็นพระอรหันต์
[๑๖๑] สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๖๒] คนเหล่าใดกล่าวว่า
ความเพียรไม่มี ๑ ประกาศความไม่มีเหตุ ๑
พรรณนาการกระทำของผู้อื่นและการกระทำของตน
ว่าเป็นการสูญเปล่า ๑
[๑๖๓] คนเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด
มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร
[๑๖๔] ก็ถ้าว่าความเพียรไม่พึงมี กรรมดีกรรมชั่วไม่พึงมี
พระราชาก็จะไม่ทรงชุบเลี้ยงช่างไม้
แม้เครื่องยนต์ทั้งหลายก็จะไม่พึงให้สร้าง
[๑๖๕] แต่เพราะความเพียรมีอยู่ กรรมดีกรรมชั่วก็มีอยู่
ฉะนั้น พระราชาจึงทรงให้สร้างเครื่องยนต์
และทรงชุบเลี้ยงช่างไม้ไว้
[๑๖๖] หากฝนไม่พึงตก หิมะไม่พึงตกตลอด ๑๐๐ ปี
โลกนี้ก็พึงขาดสูญ หมู่สัตว์นี้พึงพินาศไป
[๑๖๗] แต่เพราะฝนยังตกอยู่ และหิมะยังโปรยปรายอยู่เนือง ๆ
ฉะนั้น ข้าวกล้าจึงเผล็ดผล
และทำให้พระราชาปกครองแคว้นได้ยั่งยืน
[๑๖๘] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๖๙] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[๑๗๐] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[๑๗๑] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑
[๑๗๒] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล
คนใดปลิดเอาผลดิบ คนนั้นจะไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น
ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักพินาศไปด้วย
[๑๗๓] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม
พระราชาพระองค์นั้นจะไม่ทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น
ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักพินาศไปด้วย
[๑๗๔] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล
คนใดปลิดเอาผลสุก คนนั้นจึงจะรู้รสแห่งผลไม้นั้น
ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๗๕] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองแคว้นโดยธรรม
พระราชาพระองค์นั้นจึงจะทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น
ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย
[๑๗๖] ส่วนขัตติยราชพระองค์ใด
ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงเป็นผู้คลาดจากโอสถ๑ทั้งปวง
[๑๗๗] ขัตติยราชพระองค์ใดทรงเบียดเบียนชาวนิคม
ผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและราชพลี๒
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาด
จากพระคลังสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน
[๑๗๘] พระราชาพระองค์ใดทรงเบียดเบียน
นายขมังธนูผู้รู้เขตแห่งการประหารเป็นอย่างดี ๑
ทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม ๑ มหาอำมาตย์ผู้เลื่องลือ ๑
พระราชาพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากกำลังพล
[๑๗๙] พระราชาผู้เป็นกษัตริย์พระองค์ใดผู้ไม่ประพฤติธรรม
ทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษีผู้มีความสำรวม ประพฤติพรหมจรรย์
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากสวรรค์เช่นนั้นเหมือนกัน
[๑๘๐] อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ทรงประหารพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย
ย่อมทรงประสบฐานะอันหยาบช้า
และคลาดจากพระโอรสทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ โอสถ หมายถึงรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เป็นต้น ที่เป็นยา รวมถึงเนยใส เนยข้น
ที่เป็นยาด้วย (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๖/๗๓)
๒ โอชะและราชพลี หมายถึงรสที่ได้จากสิ่งของต่าง ๆ ที่ชาวชนบทถวายพร้อมทั้งการเสียภาษีอากรด้วย
(ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๗/๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] รวมชาดกที่มีในวรรค
[๑๘๑] พระราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท
ในชาวนิคม และในกำลังพล
ไม่พึงทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษี
และพึงประพฤติให้สม่ำเสมอ
ในพระโอรสและพระชายา
[๑๘๒] พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทรงปกครองแคว้น
ไม่ทรงเกรี้ยวกราดเช่นนั้น
ท้าวเธอย่อมทรงทำศัตรูให้หวั่นไหว
ประดุจพระอินทร์ผู้เป็นอธิบดีแห่งอสูรฉะนั้นแล
มหาโพธิชาดกที่ ๓ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้
๑. นฬินิกาชาดก ๒. อุมมาทันตีชาดก
๓. มหาโพธิชาดก
ปัญญาสนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
๑๙. สัฏฐินิบาต
๑. โสณกชาดก (๕๒๙)
ว่าด้วยพระราชาพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร
(พระเจ้าอรินทมะตรัสว่า)
[๑] โสณกะสหายเล่นฝุ่นของเรา
ใครได้สดับข่าวแล้วมาบอก เราจะให้ทรัพย์หนึ่งร้อย
ใครได้พบเห็นแล้วมาบอก เราจะให้ทรัพย์หนึ่งพัน
(พระศาสดาได้ตรัสหนึ่งคาถาครึ่งว่า)
[๒] ลำดับนั้น เด็กน้อยไว้ผม ๕ แหยม ได้กราบทูลว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงประทานทรัพย์หนึ่งร้อย
แก่ข้าพระองค์ผู้สดับข่าวแล้วมากราบทูล
และขอทรงประทานทรัพย์หนึ่งพัน
แก่ข้าพระองค์ผู้ได้พบเห็นโสณกะ
ข้าพระองค์จักกราบทูลถึงโสณกะพระสหายเล่นฝุ่นแก่พระองค์
(พระราชาสดับดังนั้นแล้วตรัสถามว่า)
[๓] เขาอยู่ในชนบท แคว้น และนิคมไหน
พ่อได้พบโสณกะ ณ ที่ไหน
พ่อจงตอบเนื้อความที่เราถามนั้นเถิด
(เด็กน้อยกราบทูลว่า)
[๔] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
ในแคว้นของพระองค์นั่นเอง
ณ ภาคพื้นแห่งพระอุทยานของพระองค์นั่นแหละ
มีต้นรังใหญ่หลายต้น ซึ่งมีลำต้นตรง
มีสีเขียวชะอุ่ม น่ารื่นรมย์ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๕] ยืนต้นประสานอาศัยกันและกัน
เสมอเหมือนกลุ่มเมฆ น่ารื่นรมย์
เมื่อชาวโลกมีความยึดมั่น ถูกแผดเผาอยู่
โสณกะไม่มีความยึดมั่น เป็นผู้ดับแล้ว
เพ่งฌานอยู่ ณ โคนต้นรังเหล่านั้น
[๖] ลำดับนั้นแล พระราชาได้เสด็จไปพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า
ตรัสสั่งให้ปรับหนทางให้เรียบเสมอแล้ว
ได้เสด็จไปจนถึงที่อยู่ของโสณกปัจเจกพุทธะ
[๗] ครั้นเสด็จถึงภูมิภาคพระอุทยาน
จึงเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่
ทอดพระเนตรเห็นโสณกปัจเจกพุทธะ
ผู้นั่งสงบเย็น ในเมื่อชาวโลกเร่าร้อนอยู่
(พระราชาตรัสว่า)
[๘] ภิกษุนี้เป็นคนเข็ญใจหนอ มีศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ
ไม่มีแม่ ไม่มีพ่อ เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๙] พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้าสดับพระดำรัสนี้แล้ว
จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร
บุคคลผู้สัมผัสธรรมด้วยกายไม่จัดว่าเป็นคนเข็ญใจ
[๑๐] บุคคลใดในโลกนี้รังเกียจธรรม ประพฤติตามอธรรม
บุคคลนั้นจัดว่าเป็นคนเข็ญใจ เป็นคนชั่ว
มีบาปติดตามไปในภายหน้า
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๑] โยมมีชื่อว่าอรินทมะ มหาชนรู้จักโยมว่าพระเจ้ากาสี
พระคุณเจ้าโสณกะ พระคุณเจ้าผู้เจริญ
มาถึงสถานที่นี้ จำวัดสบายหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า แสดงความเจริญของสมณะแด่พระราชาว่า)
[๑๒] ความเจริญข้อที่ ๑ ย่อมมีแม้ในกาลทุกเมื่อ
แก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน
คือ ข้าวเปลือกไม่เข้าไป(มี)อยู่ในฉาง
ในหม้อ ในกระเช้าของภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้นแสวงหาอาหารสำเร็จ
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารนั้น เป็นผู้มีวัตรดีงาม
[๑๓] ความเจริญข้อที่ ๒ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่ไม่มีโทษ
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[๑๔] ความเจริญข้อที่ ๓ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่เย็น
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[๑๕] ความเจริญข้อที่ ๔ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ความเกี่ยวข้องย่อมไม่มี
แก่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวจาริกไปในแคว้น
[๑๖] ความเจริญข้อที่ ๕ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อบ้านเมืองถูกไฟไหม้
ท่านไม่มีอะไรจะถูกเผาไหม้
[๑๗] ความเจริญข้อที่ ๖ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อแคว้นถูกโจรปล้น
ท่านก็ไม่มีอะไรจะให้โจรปล้น
[๑๘] ความเจริญข้อที่ ๗ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ หนทางใดที่พวกโจรยึดครองก็ดี
หนทางอื่นใดที่มีอันตรายก็ดี
ภิกษุผู้มีวัตรดีงาม ถือบาตรและจีวรไปได้อย่างปลอดภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๑๙] ความเจริญข้อที่ ๘ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ จะหลีกไปยังทิศใด ๆ
ก็ไปยังทิศนั้น ๆ ได้อย่างไม่ต้องห่วงใย
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๐] พระคุณเจ้าโสณกะผู้เห็นภัย
พระคุณเจ้าสรรเสริญความเจริญของภิกษุเหล่านั้นมากมาย
แต่โยมยังติดอยู่ในกามทั้งหลาย จะทำอย่างไรได้เล่า
[๒๑] กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ โยมก็พึงพอใจ
ถึงแม้กามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ โยมก็พึงพอใจ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำอย่างไรหนอโยมจึงจะได้กามทั้ง ๒ ในโลก
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากราบทูลว่า)
[๒๒] คนทั้งหลายผู้ติดอยู่ในกาม ยินดีในกาม
หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
กระทำบาปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ
[๒๓] ส่วนคนเหล่าใดละกามทั้งหลาย
เป็นผู้ออกแล้วจากกาม ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
บรรลุถึงความเป็นสมาธิอันแน่วแน่
คนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
[๒๔] ขอถวายพระพร พระเจ้าอรินทมะ
อาตมภาพจักยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
โปรดสดับข้ออุปมานั้น
บัณฑิตบางพวกในโลกนี้
ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยการเปรียบเทียบ
[๒๕] กาตัวหนึ่งมีปัญญาน้อยเพราะไม่มีความคิด
เห็นซากศพถูกแม่น้ำคงคาพัดลอยไปในห้วงน้ำใหญ่ จึงคิดว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๒๖] “ยานนี้เราได้แล้วหนอ และซากศพนี้จักเป็นอาหารมิใช่น้อย
ได้เป็นผู้มีใจยินดีไม่เสื่อมคลายในซากศพนั้นเท่านั้น
ตลอดคืนตลอดวัน
[๒๗] เมื่อกาจิกกินเนื้อช้าง ดื่มน้ำในแม่น้ำคงคาอยู่
เมื่อเห็นต้นไม้ใหญ่ ๆ ในป่า ก็ไม่โผบินขึ้นไป
[๒๘] ก็แม่น้ำคงคาได้ไหลพัดพาเอากาตัวประมาท
ยินดีในซากศพตัวนั้นไปยังสมุทร
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝูงนกบินไปไม่ได้
[๒๙] ก็กาตัวนั้นสิ้นอาหารแล้วจึงตกลงไปในน้ำ
จะบินไปข้างหลังก็ไม่ได้ ข้างหน้าก็ไม่ได้
ด้านเหนือก็ไม่ได้ ด้านใต้ก็ไม่ได้
[๓๐] มันบินไปไม่ถึงเกาะซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝูงนกบินไปไม่ได้
และมันก็ตกลงไปในสมุทรนั้นเองโดยอาการหมดกำลัง
[๓๑] อนึ่ง ฝูงปลา จระเข้ มังกร ปลาร้ายชื่อสุสุ
ที่อยู่ในสมุทรก็พากันข่มเหงฮุบกินกานั้น
ซึ่งกำลังดิ้นรนจนขนปีกขาด
[๓๒] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
พระองค์ก็ดี คนเหล่าอื่นที่ยังบริโภคกามก็ดี
ถ้าจักยังกำหนัดไม่คายกามเสียก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ชนเหล่านั้นบัณฑิตทั้งหลายรู้ว่า มีปัญญาเพียงดังกา
[๓๓] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
นี้เป็นอุปมาที่แสดงเนื้อความอย่างชัดเจน
ซึ่งอาตมภาพกล่าวถวายแด่มหาบพิตร
มหาบพิตรจะทรงกระทำหรือไม่ก็ตาม
มหาบพิตรก็จักปรากฏตามเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวสรุปว่า)
[๓๔] บุคคลผู้มีความเอ็นดู
พึงกล่าวเพียงคำเดียวหรือสองคำเท่านั้น
ไม่กล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้นเหมือนทาสในสำนักของนาย
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๓๕] พระโสณกปัจเจกพุทธะผู้มีความรู้อันนับมิได้
ครั้นกล่าวคำนี้แล้วจึงเหาะขึ้นไปในอากาศ
พร่ำสอนบรมกษัตริย์แล้วเหาะไปในอากาศ
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๖] บุคคลผู้ได้รับการศึกษา ถึงพร้อมด้วยความเฉียบแหลม
ที่จะครอบครองราชสมบัติเหล่านี้มีอยู่ที่ไหนหนอ
เราจักมอบราชสมบัติให้ เราไม่มีความต้องการราชสมบัติ
[๓๗] เราจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอเราอย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
(พวกอำมาตย์ได้ฟังแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๓๘] พระราชบุตรองค์น้อยของพระองค์ทรงพระนามว่า
ทีฆาวุกุมาร ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมีอยู่
ขอพระองค์ทรงอภิเษกพระราชบุตรพระองค์นั้นในราชสมบัติเถิด
ท้าวเธอจักเป็นพระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๙] จงรีบนำทีฆาวุกุมารผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมาเถิด
เราจักอภิเษกในราชสมบัติ
เธอจักเป็นพระราชาของท่านทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๔๐] ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายได้เชิญเสด็จทีฆาวุกุมาร
ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมาเฝ้า
พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ได้ตรัสกับพระโอรสพระองค์เดียว
ผู้เป็นที่โปรดปรานพระองค์นั้นว่า
[๔๑] มีบ้านอยู่หกหมื่นหมู่บ้านสมบูรณ์ทุกอย่าง
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลหมู่บ้านเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๔๒] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๓] มีช้างอยู่หกหมื่นเชือก เป็นช้างพลาย
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
มีสัปคับทองคำ ปกคลุมด้วยเครื่องปกคลุมทองคำ
[๔๔] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลช้างเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๔๕] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๖] มีม้าอยู่หกหมื่นตัวประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
คือ ม้าสินธพซึ่งเป็นม้าพาหนะที่มีฝีเท้าเร็ว ชาติอาชาไนย
[๔๗] มีนายสารถีผู้สวมเกราะ ถือแล่งธนูขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลม้าเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๔๘] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๙] มีรถอยู่หกหมื่นคัน เป็นรถมีหนังเสือเหลืองหุ้มก็มี
มีหนังเสือโคร่งหุ้มก็มี ยกธงขึ้นปักแล้ว
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
[๕๐] มีนายสารถีผู้สวมเกราะ ถือแล่งธนูขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลรถเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๕๑] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๕๒] มีแม่โคนมอยู่หกหมื่นตัว เป็นแม่โคสีแดง
พร้อมทั้งโคผู้ตัวประเสริฐ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลโคเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๕๓] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๕๔] มีหญิงอยู่หนึ่งหมื่นหกพันนาง
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
มีเสื้อผ้าอาภรณ์อันวิจิตร สวมใส่ตุ้มหูแก้วมณี
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลหญิงเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๕๕] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
[๕๖] เสด็จพ่อ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กอยู่
หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระมารดาสวรรคตแล้ว
เสด็จพ่อ หม่อมฉันเว้นจากเสด็จพ่อแล้ว
ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้
[๕๗] ลูกช้างย่อมติดตามไปข้างหลังช้างป่า
ที่เที่ยวไปในซอกเขาที่เสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด
[๕๘] หม่อมฉันก็จะพาเอาบุตรติดตามเสด็จพ่อไปข้างหลังฉันนั้น
จักเป็นลูกที่เลี้ยงง่ายของเสด็จพ่อ
จักไม่เป็นลูกที่เลี้ยงยากของเสด็จพ่อ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๕๙] อันตรายพึงยึดเรือที่แล่นไปในสมุทร
ของพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ไว้ในสมุทรนั้น
พ่อค้าพึงพินาศฉันใด
[๖๐] ลูกกาลีคนนี้พึงเป็นคนกระทำอันตรายแก่เราฉันนั้นเหมือนกัน
พวกท่านจงส่งกุมารนี้ไปให้ถึงปราสาท
อันเจริญไปด้วยความยินดีเถิด
[๖๑] ณ ปราสาทนั้น เหล่าหญิงสาว
ผู้มีมือประดับด้วยเครื่องประดับทองคำ
จักยังกุมารนั้นให้รื่นรมย์ในปราสาทนั้น
เหมือนนางอัปสรให้ท้าวสักกะรื่นรมย์
และกุมารนั้นก็จักรื่นรมย์ด้วยหญิงสาวทั้งหลายเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๖๒] ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้ส่งเสด็จพระกุมาร
จนถึงปราสาทอันเจริญไปด้วยความยินดี
เหล่าหญิงสาวเห็นทีฆาวุกุมารผู้ผดุงรัฐให้เจริญนั้นแล้ว
จึงได้กราบทูลถามว่า
[๖๓] พระองค์เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
พระองค์เป็นใครหรือเป็นพระราชบุตรของใคร
หม่อมฉันทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร
(พระราชกุมารตรัสตอบว่า)
[๖๔] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์ ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ
เราเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสีพระนามว่าทีฆาวุกุมาร
ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญ พวกเธอจงเลี้ยงดูบำเรอเรา
ขอพวกเธอจงมีความเจริญเถิด เราจะเป็นภัสดาของพวกเธอ
[๖๕] เหล่าหญิงสาวได้กราบทูลถามทีฆาวุกุมาร
ผู้ผดุงรัฐให้เจริญพระองค์นั้น ณ ที่นั้นว่า
พระราชาเสด็จถึงไหนแล้ว พระราชาจากที่นี้ไป ณ ที่ไหน
[๖๖] พระราชาเสด็จล่วงเลยเปือกตมแล้วดำรงอยู่บนบก
ทรงดำเนินสู่ทางใหญ่อันปราศจากหนามไม่รกชัฏ
[๖๗] ส่วนเราดำเนินไปยังหนทางของคนผู้ไปสู่ทุคติ
มีทั้งหนามและรกชัฏซึ่งเป็นหนทางไปสู่ทุคติ
(เหล่าหญิงสาวกราบทูลว่า)
[๖๘] ข้าแต่พระราชา พระองค์นั้นเสด็จมาดีแล้ว
เหมือนราชสีห์คืนสู่ถ้ำ ณ ซอกเขา
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์โปรดทรงอนุศาสน์พร่ำสอน
และทรงเป็นใหญ่แห่งหม่อมฉันทั้งปวงเถิด
โสณกชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)
ว่าด้วยสังกิจจฤๅษี
(พระศาสดาทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ทำปิตุฆาต จึงตรัสสังกิจจชาดก
นี้ว่า)
[๖๙] ลำดับนั้น คนเฝ้าสวนเห็นพระเจ้าพรหมทัต
ผู้ทรงเป็นจอมทัพประทับนั่งอยู่
จึงได้กราบทูลท้าวเธอให้ทรงทราบว่า
“พระองค์ทรงเอ็นดูท่านผู้ใด
[๗๐] ท่านผู้นี้ คือ สังกิจจฤๅษี ผู้ได้รับสมมติว่า
เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลาย ได้มาถึงแล้ว
ขอเชิญพระองค์รีบเสด็จออกไปพบ
ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่โดยด่วนเถิด พระเจ้าข้า”
[๗๑] ลำดับนั้น พระราชาผู้จอมทัพ
รีบเสด็จขึ้นประทับราชรถที่เทียมไว้แล้ว
มีหมู่มิตรและอำมาตย์ห้อมล้อมได้เสด็จไปแล้ว
[๗๒] พระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
ทรงเก็บราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการ คือ
๑. พัดวาลวีชนี ๒. กรอบพระพักตร์ ๓. พระขรรค์
๔. เศวตฉัตร ๕. ฉลองพระบาท
[๗๓] พระราชาทรงวางเบญจกกุธภัณฑ์ไว้อย่างปกปิดแล้ว
เสด็จลงจากราชยาน ทรงดำเนินเข้าไปหาสังกิจจฤๅษี
ซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน
[๗๔] พระราชาพระองค์นั้นครั้นเสด็จเข้าไปหาแล้ว
ทรงบันเทิงอยู่กับฤๅษีสนทนาปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันและกันแล้วเสด็จเข้าไป ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๗๕] ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงเห็นว่าเป็นกาลอันสมควร
จึงทรงสอบถามถึงกรรมอันเป็นบาปว่า
[๗๖] โยมขอถามท่านสังกิจจฤๅษีผู้ได้รับสมมติว่า
เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลายซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน
ห้อมล้อมไปด้วยหมู่ฤๅษีว่า
[๗๗] คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย
เหมือนโยมผู้ประพฤติล่วงธรรม ละไปแล้วจะไปสู่คติอะไร
ขอพระคุณเจ้าจงตอบเนื้อความที่โยมถามเถิด
[๗๘] สังกิจจฤๅษีได้กราบทูลพระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
ซึ่งประทับนั่ง ณ ทายปัสสอุทยานว่า
ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับคำของอาตมภาพ
[๗๙] ผู้ใดพร่ำสอนบอกหนทางแก่คนเดินทางผิด
ถ้าเขาพึงทำตามคำของผู้นั้น เขาก็ไม่พึงถูกหนามตำฉันใด
[๘๐] ผู้ใดพร่ำสอนธรรมแก่ผู้ปฏิบัติผิดธรรม
ถ้าเขาพึงทำตามคำสอนของท่านผู้นั้น
เขาจะไม่พึงไปสู่ทุคติฉันนั้นเหมือนกัน
(ฤๅษีโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาต่อไปว่า)
[๘๑] ข้าแต่มหาราช ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย๑
ส่วนอธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ไม่ปลอดภัย
เพราะว่าอธรรมนำสัตว์ไปสู่นรก ส่วนธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (กายกรรม ๓ คือ เว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม ๔ คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูด
ส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ, มโนกรรม ๓ คือไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่คิดปองร้ายเขา
เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) เป็นทางเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า ดำเนินไปสู่สุคติ (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๑/๑๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๘๒] ข้าแต่มหาบพิตร คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย
มีชีวิตไม่ราบรื่น ตายไปแล้วจะไปสู่คติใดในนรก
ขอพระองค์ทรงสดับการกล่าวถึงนรกเหล่านั้นของอาตมภาพเถิด
[๘๓] คือ ๑. สัญชีวนรก ๒. กาฬสุตตนรก ๓. สังฆาฏนรก
โรรุวนรก ๒ คือ (๔. ชาลโรรุวนรก ๕. ธูมโรรุวนรก)
๖. ตาปนนรก ๗. ปตาปนนรก ๘. อเวจีมหานรก๑
[๘๔] นรก ๘ ขุมเหล่านี้บัณฑิตกล่าวว่า ก้าวพ้นได้โดยยาก
เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า
แต่ละขุม ๆ มีอุสสทนรก ๑๖ ขุมเป็นบริวาร

เชิงอรรถ :
๑ มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้มีคำแปลและความหมาย ดังนี้
๑. สัญชีวนรก นรกที่ตายแล้วฟื้น หมายถึงสัตว์นรกในนรกนี้ถูกสับถูกฟันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว
กลับฟื้นขึ้นมาบ่อย ๆ
๒. กาฬสุตตนรก นรกสายบรรทัดเหล็ก หมายถึงสัตว์นรกวิ่งไปบนแผ่นเหล็กแดง ถ้าล้มลง จะถูก
ดีดด้วยสายบรรทัดเหล็กแดง
๓. สังฆาฏนรก นรกที่ถูกบดหรือหนีบ หมายถึงมีภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟกลิ้งมาบดขยี้สัตว์ในนรกนี้
๔. ชาลโรรุวนรก นรกที่สัตว์ร้องไห้เพราะเปลวไฟ หมายถึงนรกที่มีเปลวไฟพุ่งวูบเข้าทางทวารทั้ง ๙
เผาสัตว์นรกตลอดเวลา
๕ ธูมโรรุวนรก นรกที่สัตว์ร้องไห้เพราะควันไฟ หมายถึงนรกที่มีควันไฟรมสัตว์นรกทางทวารทั้ง ๙
อยู่ตลอดเวลา
๖. ตาปนนรก นรกที่ทำให้ร้อน หมายถึงพวกสัตว์นรกในนรกนี้จะถูกแทงด้วยหลาวเหล็กเท่า
ลำตาลลุกเป็นไฟ
๗. ปตาปนนรก นรกที่ทำให้ร้อนมาก หมายถึงสัตว์นรกในนรกนี้ถูกไล่ตีหนีขึ้นไปบนภูเขา บนกำแพง
ที่ร้อน ตกลงมาถูกหลาวเหล็กเสียบแทง
๘. อเวจีมหานรก นรกที่ไม่มีเวลาว่าง หมายถึงนรกที่มีเปลวไฟพลุ่งออกมาจากทิศทั้ง ๔ เผาสัตว์นรก
อยู่ตลอดเวลา
มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้แต่ละขุมมีประตู ๔ ด้าน ประตูหนึ่ง ๆ มีอุสสุทนรก (นรกบริวาร) ด้านละ ๔
มหานรกขุมหนึ่ง ๆ จึงมีอุสสทนรก ๑๖ แห่ง มหานรก ๘ ขุมมีอุสสทนรก ๑๒๘ รวมกับมหานรก ๘
เป็น ๑๓๖ ขุม (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๓-๘๔/๑๑๑-๑๑๔) ดูการทำกรรมและวิธีเสวยผลกรรมต่าง ๆ จากเนมิราช-
ชาดก ชาดกที่ ๔ ในมหานิบาต (ข้างหน้า) (ขุ.ชา. ๒๘/๔๒๑-๕๘๙/๑๖๖-๑๘๗) (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๒๑-๕๘๙/
๑๕๑-๒๐๙) และดูเทวทูตสูตรใน ม.อุ.๑๔/๒๖๑-๒๗๑/๒๓๐-๒๔๐, ม.อุ.อ.๓/๒๖๑-๒๗๑/๑๖๗-๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๘๕] เป็นนรกที่โหดร้าย เผาผลาญเหล่าสัตว์
ผู้ตระหนี่เหนียวแน่นให้เร่าร้อน
เป็นมหาภัย มีเปลวไฟลุกโพลง น่าขนพองสยองเกล้า
น่าสะพรึงกลัว มีภัยเฉพาะหน้า มีแต่ทุกข์
[๘๖] มี ๔ มุม มีประตู ๔ ด้าน จัดไว้เหมาะสมตามสัดส่วน
มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ มีเหล็กครอบไว้ด้วย
[๘๗] ภาคพื้นของนรกเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นเหล็ก มีไฟลุกโชน
มีความร้อนแผ่ซ่านไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
ตั้งอยู่ในกาลทุกเมื่อ
[๘๘] คนผู้กล่าวล่วงเกินฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวม ผู้มีตบะเหล่านั้น
ย่อมตกนรก มีเท้าชี้ขึ้นเบื้องบน มีศีรษะปักลงเบื้องล่าง
[๘๙] คนเหล่านั้นผู้มีปกติกระทำกรรมหยาบช้า
มีความเจริญถูกขจัดแล้ว เหมือนปลาที่ถูกเฉือนออกเป็นชิ้น ๆ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีนับไม่ถ้วน
[๙๐] มีกายถูกไฟเผาไหม้ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่เป็นนิตย์
แสวงหาทางออกจากนรก ก็ไม่พบประตูที่จะออก
[๙๑] จึงวิ่งไปทางประตูด้านทิศตะวันออก
จากนั้นก็วิ่งกลับไปทางประตูด้านทิศตะวันตก
วิ่งไปแม้ทางประตูด้านทิศเหนือ
จากนั้นจึงวิ่งกลับไปยังประตูด้านทิศใต้
วิ่งไปถึงประตูใด ๆ ประตูนั้น ๆ ก็ปิดทันที
[๙๒] นับเป็นเวลาหลายพันปี ชนทั้งหลายที่ตกนรก
ต้องประคองแขนคร่ำครวญ เสวยทุกข์มิใช่น้อย
[๙๓] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควรระรานคนดี
เพราะท่านมีความสำรวม มีตบะ
ประดุจอสรพิษมีพิษกล้าที่โกรธแล้วหลีกเลี่ยงได้ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๙๔] พระเจ้าอัชชุนะทรงเป็นใหญ่ในแคว้นเกตกะ
มีพระวรกายกำยำล่ำสัน
ทรงเป็นนายขมังธนูผู้ยิ่งใหญ่ มีพระพาหาตั้งพัน
ก็หายสาบสูญไปเพราะระรานโคตมฤๅษี
[๙๕] พระเจ้าทัณฑกีได้ทรงเอาธุลีโปรยใส่กีสวัจฉฤๅษี
ผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังธุลี
พระองค์ทรงถึงความพินาศเหมือนต้นตาลถูกตัดราก
[๙๖] พระเจ้ามัชฌะคิดร้ายมาตังคฤๅษีผู้เรืองยศ
จึงได้หายสาบสูญไปพร้อมทั้งบริษัท
แคว้นของพระองค์ก็กลายเป็นป่าไม้ในกาลนั้น
[๙๗] ชาวเมืองอันธกเวณฑยะระรานกัณหทีปายนฤๅษี
ต่างถือไม้พลองตีกันและกัน
ก็พากันไปถึงสถานที่ชำระโทษของพญายม
[๙๘] ส่วนพระเจ้าเจจจะพระองค์นี้
เมื่อก่อนทรงเหาะไปในอากาศได้
ถูกกบิลดาบสสาปมีอัตภาพเสื่อมสิ้นฤทธิ์แล้ว
ถูกแผ่นดินสูบถึงสิ้นพระชนม์
[๙๙] เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ
การถึงความลำเอียงเพราะความชอบ
บุคคลไม่พึงมีจิตคิดประทุษร้าย
พึงกล่าววาจาที่ประกอบด้วยความจริง
[๑๐๐] ถ้าว่าคนใดมีใจประทุษร้าย
เพ่งเล็งมุนีผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เขาก็จะไปสู่นรกเบื้องต่ำ
[๑๐๑] ชนเหล่าใดพยายามพูดคำหยาบคาย ด่าว่าผู้เฒ่า
ชนเหล่านั้นจะไม่มีที่พึ่ง ไม่มีทายาท
เป็นเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๐๒] อนึ่ง คนใดฆ่าบรรพชิตผู้ทำกิจเสร็จแล้ว
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คนนั้นย่อมหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกตลอดราตรีนาน
[๑๐๓] อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ทรงมีอคติ เที่ยวกำจัดแคว้น ทำชนบทให้เดือดร้อน
สิ้นพระชนม์แล้วจะหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก
[๑๐๔] และท้าวเธอจะต้องหมกไหม้อยู่ตลอดแสนปีทิพย์๑
จะถูกกลุ่มเปลวเพลิงห้อมล้อมเสวยทุกขเวทนา
[๑๐๕] เปลวเพลิงจะเปล่งรัศมีพวยพุ่งออกจากพระกายของท้าวเธอ
สรรพางค์กายพร้อมทั้งขนและเล็บทั้งหลายของสัตว์
ผู้มีไฟเป็นอาหารจะลุกโชนเป็นอันเดียวกัน
[๑๐๖] สัตว์นรกมีกายถูกไฟครอกทั้งภายในและภายนอกอยู่เป็นนิตย์
ถูกความทุกข์ย่ำยีร้องครวญครางอยู่เหมือนช้างถูกสับด้วยตะขอ
[๑๐๗] คนใดเป็นคนต่ำช้า ฆ่าบิดาเพราะความโลภหรือความโกรธ
คนนั้นย่อมหมกไหม้ในกาฬสุตตนรกตลอดราตรีนาน
[๑๐๘] คนผู้ฆ่าบิดาเช่นนั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ในโลหกุมภีนรก
และนายนิรยบาลทั้งหลายจะใช้หอกแทงเขาผู้ถูกต้มจนไม่มีหนัง
ทำให้ตาบอด ให้กินปัสสาวะและอุจจาระเป็นอาหาร
แล้วกดคนเช่นนั้นให้จมลงในน้ำกรด
[๑๐๙] นายนิรยบาลบังคับให้สัตว์นรกกินน้ำอุจจาระ
ที่ร้อนจนเดือดพล่าน และก้อนเหล็กแดงที่มีไฟลุกโชน
ถือเอาผาลที่ยาวและร้อนอยู่ตลอดราตรีนาน
งัดปาก เมื่อปากเปิดอ้าจึงใช้เบ็ด
ที่ผูกสายเชือก(ดึงลิ้นออกมา) แล้วจึงยัด(เหล็กแดง)เข้าไป

เชิงอรรถ :
๑ หนึ่งแสนปีทิพย์ ประมาณ ๕๕,๘๗๒ ล้านปีมนุษย์ (คำนวนตามประมาณอายุ)(อภิ.วิ.อ. ๑/๑๐๒๓/๕๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๑๐] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงนกแร้ง ฝูงกาป่า
และฝูงนกปากเหล็ก
พากันรุมจิกกัดสัตว์นรกผู้กำลังดิ้นทุรนทุราย
แบ่งกันกินเป็นอาหารพร้อมทั้งเลือด
[๑๑๑] สัตว์นรกผู้ฆ่าบิดานั้นมีร่างกายแตกปริไปทั่ว
เหมือนต้นตาลที่ถูกไฟไหม้
นายนิรยบาลทั้งหลายจะเที่ยวติดตามทุบตี
จริงอยู่ นายนิรยบาลเหล่านั้นมีความยินดี
แต่พวกสัตว์นรกนอกนี้ได้รับทุกข์ทรมาน
คนผู้ฆ่าบิดาทุกจำพวกในโลกนี้ต้องตกอยู่ในนรกเช่นนั้น
[๑๑๒] อนึ่ง บุตรฆ่ามารดา ตายจากโลกนี้ไปแล้ว
เข้าถึงที่อยู่ของพญายม
ต้องเสวยทุกข์อย่างร้ายแรงด้วยผลกรรมของตน
[๑๑๓] นายนิรยบาลทั้งหลายที่มีพละกำลังอย่างยิ่ง
จะใช้ขนหางสัตว์ที่เป็นลวดเหล็กแดง
มัดบีบคั้นสัตว์นรกที่ฆ่ามารดาผู้ให้กำเนิดอยู่เสมอ ๆ
[๑๑๔] บังคับให้สัตว์นรกนั้นผู้ฆ่ามารดาดื่มเลือดที่มีอยู่ในตน
ที่ไหลออกจากร่างกายของตน
ซึ่งร้อนปานประหนึ่งน้ำทองแดงที่ละลายคว้าง
[๑๑๕] สัตว์นรกนั้นลงสู่ห้วงน้ำที่คล้ายน้ำหนองน้ำเลือด
มีโคลนตม คูถอันน่าเกลียด
มีกลิ่นเหม็นเน่าดุจซากศพ แล้วยืนอยู่
[๑๑๖] ณ ห้วงน้ำนั้น หมู่หนอนปากเหล็ก
มีร่างกายใหญ่โตเหลือประมาณทำลายผิวหนัง
ชอนไชเข้าไปในเนื้อและเลือด กัดกินสัตว์นรกนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๑๗] ก็สัตว์นรกนั้นตกถึงนรกแล้ว
ก็จมลงไปประมาณ ๑๐๐ ช่วงคน
ซากศพอันเน่าก็เหม็นฟุ้งตลบไปโดยรอบตลอด ๑๐๐ โยชน์
[๑๑๘] จริงอยู่ แม้คนที่มีจักษุ
ก็จะเสื่อมจากจักษุทั้ง ๒ ได้เพราะกลิ่นนั้น
ขอถวายพระพรพระเจ้าพรหมทัต
คนฆ่ามารดาย่อมได้รับความทุกข์เช่นนั้นแหละ
[๑๑๙] หญิงที่รีดลูกทั้งหลายจะต้องย่างเหยียบนรก
บนคมมีดโกนอันคมกริบที่ไม่น่ารื่นรมย์
แล้วตกไปยังแม่น้ำเวตตรณีซึ่งข้ามไปได้ยาก
[๑๒๐] ต้นงิ้วทั้งหลายล้วนแต่เป็นเหล็ก มีหนามยาว ๑๖ องคุลี
ห้อยย้อยปกคลุมแม่น้ำเวตตรณีซึ่งข้ามไปได้ยากทั้ง ๒ ฝั่ง
[๑๒๑] สัตว์นรกเหล่านั้นมีเปลวเพลิงลุกโชนขึ้นไปเบื้องบนหนึ่งโยชน์
มีกายเร่าร้อนด้วยไฟที่เกิดเอง
ยืนอยู่เหมือนกองไฟที่ตั้งอยู่ในที่ไกล
[๑๒๒] หญิงผู้ประพฤตินอกใจสามีก็ดี
ชายผู้คบชู้กับภรรยาคนอื่นก็ดี
พวกเขาเหล่านั้นต้องตกอยู่ในนรกอันเร่าร้อนมีหนามแหลมคม
[๑๒๓] สัตว์นรกเหล่านั้นถูกอาวุธทิ่มแทง
ก็กลิ้งกลับเอาศีรษะลงเบื้องล่าง ตกลงไปเป็นจำนวนมาก
ถูกหลาวเหล็กทิ่มแทงร่างกายจนนอน
ตื่นอยู่ตลอดกาลอันยาวนาน
[๑๒๔] ต่อแต่นั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
สัตว์นรกทั้งหลายก็ถูกนายนิรยบาลซัดเข้าไปยังโลหกุมภีอันใหญ่
อุปมาดังภูเขามีน้ำร้อนอันเปรียบได้กับไฟ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๒๕] บุคคลผู้ทุศีลถูกโมหะครอบงำ
ย่อมเสวยกรรมของตนหมกไหม้อยู่
ที่ตนกระทำชั่วไว้แล้วในปางก่อนตลอดวันตลอดคืนอย่างนี้
[๑๒๖] อนึ่ง ภรรยาที่เขาไถ่มาด้วยทรัพย์
ดูหมิ่นสามี หรือแม่ผัว พ่อผัว
หรือแม้พี่ชาย พี่สาวของสามี
[๑๒๗] นายนิรยบาลทั้งหลายจะเอาเบ็ดเกี่ยวปลายลิ้นของเธอ
ดึงออกมาพร้อมทั้งสายเบ็ด
เธอเห็นลิ้นของตนยาวประมาณ ๑ วา เต็มไปด้วยหนอน
ไม่อาจจะบอกใครให้ทราบได้
จึงตายไปหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก
[๑๒๘] พวกคนฆ่าแกะ ฆ่าสุกร จับปลา ดักสัตว์
พวกโจร พวกคนฆ่าวัว พวกนายพราน
และพวกที่กล่าวอ้างโทษว่าเป็นคุณ
[๑๒๙] พวกเขาจะถูกนายนิรยบาลทั้งหลายเข่นฆ่าด้วยหอก
ด้วยค้อนเหล็ก ด้วยดาบ ด้วยลูกศร
และศีรษะจะปักดิ่งลงไปยังแม่น้ำกรด
[๑๓๐] ส่วนคนผู้ตัดสินคดีไม่เป็นธรรม
จะถูกพวกนายนิรยบาลทุบตีด้วยค้อนเหล็กทุกเย็นทุกเช้า
ต่อแต่นั้นจะต้องกินอาเจียนที่สัตว์นรกเหล่าอื่นคายออก
ที่มีอัตภาพลำบากทุกเมื่อ
[๑๓๑] ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอก ฝูงแร้ง
และฝูงกาป่าปากเหล็ก
ก็พากันรุมจิกกัดกินสัตว์นรก
ผู้กระทำกรรมหยาบช้าซึ่งกำลังดิ้นรนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] รวมชาดกที่มีในนิบาต
[๑๓๒] เหล่าชนผู้เป็นอสัตบุรุษใช้ธุลีฉาบปกปิดร่างกาย
ฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อหรือฆ่านกด้วยนกต่อ
ชนเหล่านั้นต้องไปตกอุสสทนรก
[๑๓๓] ส่วนสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่เทวโลกเบื้องบน
เพราะกรรมที่ตนประพฤติดีแล้วในโลกนี้
ขอมหาบพิตรโปรดทอดพระเนตร
ผลกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วเถิด
เทพเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหมก็มีอยู่
[๑๓๔] ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุนั้น
อาตมภาพขอถวายพระพร
ขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้น
จงทรงประพฤติธรรม
โดยประการที่บุคคลประพฤติธรรมดีแล้ว
ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลังเถิด
สังกิจจชาดกที่ ๒ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
๑. โสณกชาดก ๒. สังกิจจชาดก
สัฏฐินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
๒๐. สัตตตินิบาต
๑. กุสชาดก (๕๓๑)
ว่าด้วยพระเจ้ากุสะหลงรูปโฉมนางประภาวดี
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์กราบทูลพระมารดาว่า)
[๑] เสด็จแม่ นี้แคว้นของเสด็จแม่
มีทรัพย์สมบัติ ยานพาหนะ เครื่องประดับ
สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง
ขอเสด็จแม่ทรงปกครองราชสมบัติของเสด็จแม่นี้เถิด
หม่อมฉันจะไปยังนครที่พระนางประภาวดี
ผู้เป็นที่รักประทับอยู่
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๒] พระองค์มีพระทัยไม่ซื่อตรง
ทรงหาบคอนหาบใหญ่ จักทรงเหน็ดเหนื่อย
ทั้งกลางวัน กลางคืน และดึกดื่นเที่ยงคืน
ข้าแต่พระเจ้ากุสะ ขอเชิญพระองค์
รีบเสด็จกลับกรุงกุสาวดีโดยพลันเถิด
หม่อมฉันไม่ประสงค์จะให้พระองค์
ผู้ทรงมีผิวพรรณทรามประทับอยู่ ณ ที่นี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๓] พี่จะไม่จากที่นี้ไปกรุงกุสาวดี
น้องประภาวดี พี่ลุ่มหลงในความงามของเธอ
จึงยินดีอยู่ในที่ประทับอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้ามัททะ
พี่ยินดีพอใจที่จะเห็นเธอ จึงละทิ้งแคว้นมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๔] น้องประภาวดี พี่ลุ่มหลงในผิวพรรณของเธอ
จึงซมซานท่องเที่ยวไปสู่เมทนีดล
ไม่รู้จักทิศว่า เรามาจากไหน
มัวแต่มัวเมาหลงใหลในตัวเธอ
ผู้มีดวงตาประดุจตาลูกน้อยเนื้อทราย
[๕] น้องนางผู้มีสะโพกอันผึ่งผาย
ทรงผ้าขลิบทอง
เครื่องประดับทองคำ
พี่ไม่มีความต้องการราชสมบัติ
เพราะปรารถนาตัวเธอ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๖] ข้าแต่พระราชาผู้เจริญ
ผู้ใดปรารถนาบุคคลที่เขาไม่ปรารถนา
ผู้นั้นย่อมไม่มีความเจริญ
พระองค์ต้องการบุคคลที่เขาไม่ต้องการ
ปรารถนารักใคร่บุคคลที่เขาไม่รักใคร่
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๗] คนใดได้คนที่ไม่ต้องการตนก็ตาม
ที่ต้องการตนก็ตามมาเป็นคนรัก
เราสรรเสริญการได้ในความรักนี้ของคนนั้น
การไม่ได้ในความรักนั้นซิเป็นความโชคร้าย
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๘] พระองค์ทรงปรารถนาหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนาพระองค์
เปรียบเสมือนพระองค์ทรงใช้ไม้กรรณิการ์ขุดเพชร
(หรือ) ทรงใช้ตาข่ายดักลม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๙] หินคงถูกฝังไว้ในพระหทัยอันมีลักษณะ
อ่อนละมุนละไมของพระนางเป็นแน่
เพราะหม่อมฉันมาจากชนบทบ้านนอก
ยังมิได้ประสบความแช่มชื่นจากพระนางเลย
[๑๐] เมื่อใด พระราชบุตรีหน้านิ่ว
ทอดพระเนตรหม่อมฉัน
เมื่อนั้นหม่อมฉันก็ยังคงเป็นคนครัวภายในเมืองของพระเจ้ามัททะ
[๑๑] เมื่อใด พระราชบุตรีทรงแย้มสรวลทอดพระเนตรหม่อมฉัน
เมื่อนั้น หม่อมฉันไม่ใช่คนครัว
เมื่อนั้น หม่อมฉันเป็นพระเจ้ากุสะ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๑๒] ก็ถ้าว่า คำทำนายของโหรทั้งหลายจักเป็นความจริงว่า
พระองค์ไม่ใช่พระสวามีของหม่อนฉันแน่นอน
ขอชนทั้งหลายจงสับหม่อมฉันให้เป็น ๗ ท่อนเถิด
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๓] ก็ถ้าว่า คำทำนายของพวกโหรอื่น
หรือของหม่อนฉันจักเป็นความจริงไซร้
คนอื่นนอกจากพระเจ้ากุสะผู้มีพระสุรเสียงดังราชสีห์
ไม่ใช่พระสวามีของพระนางแน่นอน
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ทรงหยอกล้อหญิงค่อม พระพี่เลี้ยงพระนางประภาวดีว่า)
[๑๔] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงเหลียวมองดูเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๑๕] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงเจรจากับเรา
[๑๖] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงยิ้มแย้มให้เรา
[๑๗] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงพระสรวลกับเรา
[๑๘] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงจับต้องเราด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒
(นางค่อมไปกราบทูลพระนางประภาวดีว่า)
[๑๙] ก็พระราชบุตรีพระองค์นี้คงจะไม่ประสบ
แม้ความสำราญพระทัยในพระเจ้ากุสะ
ผู้เป็นคนครัว คนรับใช้ คนเลี้ยงดู
ซึ่งไม่ทรงประสงค์ค่าจ้างอย่างแน่แท้
(พระนางประภาวดีตรัสว่า)
[๒๐] ก็นางค่อมคนนี้คงยังไม่ได้ถูกมีดคมตัดลิ้นแน่นอน
จึงยังกล่าวชั่วช้าอย่างนี้อยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(นางค่อมประกาศความดีของพระโพธิสัตว์ว่า)
[๒๑] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระยศใหญ่
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๒] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีทรัพย์มากมาย
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๓] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระกำลังมาก
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๔] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระราชอาณาจักรกว้างใหญ่
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๕] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงเป็นมหาราช
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๖] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระสุรเสียงดังราชสีห์
แล้วทำความรักในความงามเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๒๗] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๘] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงหยดย้อย
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๙] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงหวานจับใจ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๐] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะอ่อนหวาน
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๑] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีศิลปะนับเป็นร้อย ๆ อย่าง
แล้วทำความรักในความงามเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๓๒] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๓] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงพระนามว่าพระเจ้ากุสะ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
(เหล่าอำมาตย์กราบทูลพระเจ้ามัททะว่า)
[๓๔] พระราชาผู้ประเสริฐเหล่านี้ทรงกระด้างยิ่งนัก
ทั้งหมดสวมเกราะประทับยืนตระหง่านอยู่
ก่อนที่พระราชาเหล่านั้นจะทรงทำลายกำแพง
ขอพระองค์จงทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า
ขอพระราชาทั้งหลายจงนำเอาพระธิดาประภาวดีไปเถิด
(พระเจ้ามัททะตรัสว่า)
[๓๕] เราจักสับลูกหญิงประภาวดีนั้นให้เป็น ๗ ท่อนแล้ว
ถวายให้แก่พระราชาทั้งหลายที่เสด็จมาเพื่อฆ่าเรา ณ ที่นี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๖] พระราชบุตรีผู้มีผิวพรรณดุจทอง ทรงผ้าไหมสีขลิบทอง
พระเนตรทั้ง ๒ นองไปด้วยพระอัสสุชล
มีหมู่นางทาสีห้อมล้อมได้เสด็จลุกขึ้นแล้ว
(พระนางประภาวดีทรงคร่ำครวญว่า)
[๓๗] ดวงหน้าหม่อมฉันที่ลูบไล้ด้วยแป้ง
ส่องดูที่กระจกเงาด้ามงาอันงดงาม
มีดวงตาคมคายผุดผ่องเป็นยองใยไม่มีไฝฝ้านั้น
จักถูกพวกกษัตริย์โยนทิ้งไว้ในป่าเป็นแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๓๘] เส้นผมทั้งหลายของหม่อมฉันที่ดำสนิท
มีปลายงอน อ่อนละมุนละไม
ที่ลูบไล้ด้วยน้ำมันแก่นจันทน์เหล่านั้น
นกแร้งทั้งหลายจะพากันใช้เท้าทั้ง ๒ ตะกุยคุ้ยเขี่ย
ให้ยุ่งเหยิงในท่ามกลางป่าช้าเป็นแน่
[๓๙] แขนทั้ง ๒ ของหม่อมฉันอ่อนนุ่ม มีเล็บมือแดง
มีขนละเอียดอ่อนซึ่งลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์เหล่านั้น
จะถูกพวกกษัตริย์ตัดทิ้งไว้ในป่า
นกกาก็จะคาบเอาไปตามความต้องการเป็นแน่
[๔๐] ถันทั้ง ๒ ของหม่อมฉันยังไม่หย่อนยาน
เปรียบปานได้กับผลตาล
ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์แดงจากแคว้นกาสีเหล่านั้น
สุนัขจิ้งจอกเห็นเข้าแล้วจักยื้อดึงถันทั้ง ๒ ของหม่อมฉัน
เหมือนลูกอ่อนอันเกิดแต่ตนยื้อดึงถันทั้ง ๒ ของมารดาเป็นแน่
[๔๑] สะโพกอันกลมกลึงผึ่งผาย ที่ผูกห้อยประดับ
ด้วยสายสร้อยรัดเอวทองคำของหม่อมฉันซึ่งถูกตัด
ที่พวกกษัตริย์โยนทิ้งไว้ในป่านั้น
ฝูงสุนัขจิ้งจอกจะยื้อแย่งเป็นแน่แท้
[๔๒] ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอก
และสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่นใดที่มีอยู่
พวกมันได้กัดกินเจ้าหญิงประภาวดีเป็นภักษาหารแล้ว
คงจักไม่แก่ชราเป็นแน่
[๔๓] ข้าแต่ทูลกระหม่อมแม่
หากกษัตริย์ทั้งหลายผู้เสด็จไปสู่หนทางไกล
ได้ทรงนำเอาชิ้นเนื้อของหม่อมฉันไป
ขอเสด็จแม่โปรดทรงขอกระดูกไว้แล้วเผามันทิ้งเสียในระหว่างทาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น