Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๘-๒ หน้า ๖๓ - ๑๒๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๔๔] ทูลกระหม่อมแม่ ขอเสด็จแม่โปรดให้สร้างเป็นสวน
แล้วให้ปลูกต้นกรรณิการ์ไว้ในเขตนี้
เมื่อใด ต้นกรรณิการ์เหล่านั้นมีดอกบานสะพรั่ง
ในคราวหิมะตกแห่งฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น เสด็จแม่พึงรำลึกถึงหม่อมฉันว่า
ลูกประภาวดีของแม่มีผิวพรรณอย่างนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๕] นางกษัตริย์ผู้มีผิวพรรณดังเทพอัปสร
ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าหญิงประภาวดีนั้น
ทอดพระเนตรเห็นดาบและเขียง
ภายในบุรีของพระเจ้ามัททะ จึงเสด็จลุกขึ้น
(พระมารดาของพระนางประภาวดี ทรงรำพันว่า)
[๔๖] ข้าแต่เสด็จพี่มัททะ พระองค์จักทรงประหาร
พระธิดาเอวบางร่างน้อยซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
ด้วยพระแสงดาบนี้แล้วประทานให้แก่กษัตริย์ทั้งหลายแน่ละหรือ
[๔๗] ลูกหญิง ลูกไม่ทำตามคำของแม่ผู้หวังประโยชน์
ลูกนั้นจะมีเลือดโซมกายไปสู่สำนักพญายมในวันนี้
[๔๘] คนใดแลไม่ทำตามคำของผู้หวังเกื้อกูล
และบ่งชี้ประโยชน์ทั้งหลาย
คนนั้นย่อมต้องลำบากอย่างนี้
และต้องประสบความชั่วร้ายยิ่งกว่า
[๔๙] ก็ถ้าวันนี้ลูกหญิงมีพระกุมารทรงโฉมงดงาม
ประดุจฉาบไว้ด้วยทอง เป็นกษัตริย์ทรงกำเนิดกับพระเจ้ากุสะ
สวมใส่สร้อยสังวาลทองคำประดับแก้วมณี
ที่หมู่พระญาติทรงบูชาแล้ว
ก็จะไม่ต้องไปสู่นิเวศน์พญายม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๕๐] กลองบันลือเสียงสนั่น
ช้างก็ร้องเสียงดังกึกก้อง
ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
[๕๑] ม้าศึกคะนองร้องคำรามอยู่ที่พระทวาร
กุมารร้องรำทำเพลงอยู่
ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
[๕๒] ตระกูลของกษัตริย์ทั้งหลาย
มีเสียงร้องดังกึกก้องของเหล่านกยูงและนกกระเรียน
และมีเสียงร้องเสนาะไพเราะแห่งเหล่านกดุเหว่า
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
(พระมารดาของพระนางประภาวดี ตรัสกับพระนางประภาวดีแล้วตรัสว่า)
[๕๓] พระเจ้ากุสะพระองค์ใดทรงมีพระปรีชาอันโอฬาร
ย่ำยีศัตรูปราบปรามแคว้นของพระราชาพระองค์อื่น
จะพึงปลดเปลื้องพวกเราจากความทุกข์ได้
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๔] พระเจ้ากุสะพระองค์ใดทรงมีพระปรีชาอันโอฬาร
ย่ำยีศัตรู ปราบปรามแคว้นของพระราชาพระองค์อื่น
จักทรงกำจัดกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า
(พระมารดาตรัสว่า)
[๕๕] เจ้าเป็นบ้าหรือ จึงพูดออกมาเหมือนเด็กไร้เดียงสาพูด
ถ้าพระเจ้ากุสะพึงเสด็จมา ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระองค์เล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๖] พระเจ้ากุสะคือคนครัวนั่น ทรงหยักรั้งอย่างมั่นคง
กำลังก้มล้างหม้ออยู่ระหว่างตำหนักเจ้าหญิงทั้งหลาย
(พระมารดาตรัสบริภาษว่า)
[๕๗] เจ้าเป็นช่างถาก เป็นหญิงจัณฑาล
หรือเป็นคนทำลายวงศ์ตระกูล
เจ้าเกิดในวงศ์ตระกูลของพระเจ้ามัททะ
ไฉนจึงทำพระสวามีให้เป็นทาส
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๘] หม่อมฉันมิใช่ช่างถาก มิใช่หญิงจัณฑาล
และมิใช่คนทำลายวงศ์ตระกูล ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระเจ้ากุสะนั้นคือพระราชบุตรของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
(พระนางประภาวดีทรงสรรเสริญพระเกียรติยศของพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า)
[๕๙] พระราชาพระองค์ใดทรงเชื้อเชิญพราหมณ์ ๒๐,๐๐๐ คน
ให้บริโภคทุกเมื่อ ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๐] เจ้าพนักงานตระเตรียมช้าง ๒๐,๐๐๐ เชือกไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๑] เจ้าพนักงานตระเตรียมม้า ๒๐,๐๐๐ ตัวไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๖๒] เจ้าพนักงานตระเตรียมราชรถ ๒๐,๐๐๐ คันไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๓] เจ้าพนักงานรีดน้ำนมแม่โค ๒๐,๐๐๐ ตัวไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
(พระเจ้ามัททะทรงตำหนิพระธิดาว่า)
[๖๔] โอ ลูกหญิงผู้โง่เขลา เจ้านั้นชั่วช้าเหลือเกิน
ที่ไม่บอกถึงองค์กษัตริย์ผู้ทรงพลังมหาศาลดุจพญาช้าง
แปลงเป็นกบเสด็จมา ณ ที่นี้
(พระเจ้ามัททะทรงแสดงโทษของพระองค์ว่า)
[๖๕] ข้าแต่มหาราชผู้จอมทัพ
ขอพระองค์โปรดงดโทษแก่หม่อมฉัน
ที่ไม่ทราบว่าทรงปลอมพระองค์เสด็จมา ณ ที่นี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๖๖] การที่หม่อมฉันเป็นคนครัวนั้นไม่เป็นการปกปิด
สำหรับคนเช่นหม่อมฉันเลย ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
พระองค์ทรงเลื่อมใสหม่อมฉันต่างหาก
การกระทำผิดของพระองค์ไม่มี
(พระเจ้ามัททะส่งพระนางประภาวดีไปขอโทษว่า)
[๖๗] นี่ลูกหญิงผู้โง่เขลา เจ้าจงไปขอให้พระเจ้ากุสะ
ผู้ทรงพลังมหาศาลทรงงดโทษเสีย
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นผู้ที่เจ้าให้งดโทษแล้ว
จะประทานชีวิตให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๘] เจ้าหญิงประภาวดีผู้มีผิวพรรณดุจเทพอัปสร
ทรงสดับพระดำรัสของพระปิตุราชแล้วทรงซบพระเศียร
กอดพระบาทพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๖๙] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
ราตรีทั้งหลายเหล่านี้ใดล่วงเลยไป
ราตรีทั้งหลายเหล่านี้นั้นเว้นจากพระองค์ล่วงเลยไปแล้ว
หม่อมฉันขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า
ข้าแต่พระจอมทัพ ขอพระองค์โปรด
อย่าทรงกริ้วหม่อมฉันเลย พระเจ้าข้า
[๗๐] หม่อมฉันขอถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระองค์
ขอเดชะมหาราช โปรดสดับคำของหม่อมฉัน
หม่อมฉันจะไม่กระทำความชิงชังต่อพระองค์อีกต่อไป
[๗๑] ถ้าพระองค์ไม่ทรงโปรดกระทำตาม
คำของหม่อมฉันผู้ทูลวิงวอนอยู่อย่างนี้
พระราชบิดาก็จักทรงเข่นฆ่าหม่อมฉัน
แล้วประทานให้แก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๒] เมื่อพระน้องนางอ้อนวอนอยู่อย่างนี้
ไฉนพี่จะไม่กระทำตามคำของพระน้องนางเล่า
แม่ประภาวดีผู้เลอโฉม พระน้องนางอย่าทรงกลัวไปเลย
พี่ไม่โกรธพระน้องนางหรอก
[๗๓] พี่ขอให้สัตย์ปฏิญาณต่อพระน้องนาง
พระราชบุตรีโปรดทรงสดับคำของพี่เถิด
พี่จะไม่กระทำความชิงชังต่อพระน้องนางอีกต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๗๔] แม่ประภาวดีผู้มีสะโพกผึ่งผาย
ความจริง พี่สามารถที่จะย่ำยีตระกูลกษัตริย์มัททราชมากมาย
ให้ย่อยยับแล้วนำพระนางไป แต่เพราะความรักพระนาง
จึงยอมสู้ทนอดกลั้นความทุกข์อย่างล้นเหลือ
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ให้ขัตติยมานะเกิดขึ้น แล้วตรัสว่า)
[๗๕] ข้าหลวงทั้งหลาย จงตระเตรียมราชรถ
ที่วิจิตรไปด้วยเครื่องอลังการต่าง ๆ และม้าที่ฝึกฝนดีแล้ว
ต่อแต่นั้น ท่านทั้งหลายจงดูความเร็วของเรา
ผู้กำลังกำจัดศัตรูเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๖] หญิงทั้งหลายภายในบุรีของพระเจ้ามัททะ
พากันมองดูพระเจ้ากุสะนั้น
กำลังทรงเยื้องกรายดุจราชสีห์ ปรบพระหัตถ์
เสวยพระกระยาหารเป็นสองเท่า ณ ที่นั้น
[๗๗] พระเจ้ากุสะเสด็จขึ้นทรงคอช้าง
และโปรดให้พระนางประภาวดีขึ้นประทับด้วย
ทรงหยั่งลงสู่สงครามบันลือสีหนาท
[๗๘] กษัตริย์ทั้งหลายนอกนี้ทรงสดับพระสุรสีหนาท
ของท้าวเธอผู้ทรงบันลืออยู่
ถูกความหวาดกลัวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้ากุสะคุกคาม
จึงพากันเสด็จหนีไป
เหมือนหมู่เนื้อหวาดกลัวต่อเสียงราชสีห์แล้วพากันหนีไป
[๗๙] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ถูกความหวาดกลัวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้ากุสะคุกคาม
ต่างพากันฟาดฟันกันเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๘๐] ในสงครามสำคัญครั้งนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ทรงมีพระหฤทัยร่าเริงชื่นชมยินดี
จึงได้พระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์ดวงหนึ่งแด่พระเจ้ากุสะ
[๘๑] พระราชาพระองค์นั้นครั้นทรงชนะสงครามนั้นแล้ว
ได้รับพระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์
ประทับบนคอช้าง เสด็จเลียบบุรีนคร
[๘๒] ทรงจับเป็นกษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ แล้วทรงพันธนาการ
ให้น้อมนำเข้าไปถวายต่อพระสัสสุระ (พ่อตา) ด้วยพระดำรัสว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์
[๘๓] พวกศัตรูทั้งหมดที่จะกำจัดพระองค์
ก็ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว
ขอพระองค์ทรงทำตามพระประสงค์เถิด
จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้นก็ตามพระทัยเถิด
(พระเจ้ามัททะตรัสว่า)
[๘๔] กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ต่างหาก
มิใช่เป็นศัตรูของหม่อมฉันเลย
ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน
จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้น
ก็ตามพระทัยเถิด
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๕] พระธิดาทั้ง ๗ ของพระองค์เหล่านี้ ทรงเลอโฉม
อุปมาดังเทพกัญญา ขอพระองค์โปรดพระราชทาน
พระราชธิดาแต่ละพระองค์แด่กษัตริย์เหล่านั้น
ขอกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นพระราชบุตรเขยของพระองค์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระเจ้ามัททะตรัสกับพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า)
[๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน
กว่าธิดาของหม่อมฉันเหล่านั้น และกว่าหม่อมฉันทั้งปวง
ขอพระองค์ทรงพระราชทานธิดาทั้งหลายของหม่อมฉัน
แด่กษัตริย์เหล่านั้นตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๗] ในกาลนั้น พระเจ้ากุสะ
ผู้ทรงมีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์
ได้พระราชทานพระธิดาของพระเจ้ามัททะ
แด่กษัตริย์เหล่านั้นพระนางละองค์
[๘๘] กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ต่างพากันเอิบอิ่มพระทัย
ด้วยการได้นั้น ทรงมีพระทัยยินดีในพระเจ้ากุสะ
ผู้มีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์
ต่างฝ่ายต่างเสด็จกลับสู่แคว้นของตนทันที
[๘๙] ส่วนพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล
ทรงพาเจ้าหญิงประภาวดีและแก้วมณี
อันไพโรจน์งดงามเสด็จกลับยังกรุงกุสาวดี
[๙๐] เมื่อพระราชาและพระราชเทวีทั้ง ๒ พระองค์นั้น
เสด็จไปในราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้าไปยังกรุงกุสาวดี
ทรงมีพระฉวีวรรณและพระรูปโฉมทัดเทียมกัน
มิได้ทรงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่ากันและกันเลย
[๙๑] ในกาลนั้น พระราชมารดาได้ทรงพบ
พระราชบุตรและพระชายา
พระบิดาและพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงสมัครสมานกัน
ครอบครองแผ่นดินกุสาวดีให้รุ่งเรืองแผ่ไพศาลสืบมา
กุสชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
ว่าด้วยโสณนันทดาบส
(พระเจ้ามโนชะเมื่อทรงพิจารณาดาบสนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๙๒] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์ เป็นท้าวสักกปุรินททะ
หรือเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์กันแน่หนอ พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า)
[๙๓] อาตมภาพไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
แม้ท้าวสักกปุรินททะก็ไม่ใช่
อาตมภาพเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ขอถวายพระพร
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด ภารถมหาบพิตร๑
(พระเจ้ามโนชะได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๔] พระคุณเจ้าได้ทำการขวนขวายช่วยเหลือมิใช่น้อยเห็นปานนี้
เมื่อฝนตก พระคุณเจ้าก็ได้ทำให้ฝนหยุด
[๙๕] จากนั้นเมื่อลมแรง แดดกล้า พระคุณเจ้าก็ได้ทำเงาอันร่มเย็น
ต่อมาพระคุณเจ้าก็ได้ทำการป้องกันลูกศรในท่ามกลางศัตรู
[๙๖] ต่อมาพระคุณเจ้าก็ได้ทำแคว้นให้เจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาล
และได้นำประชาชนผู้อยู่ในแคว้นเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจของโยม
ต่อมาก็ได้ทำให้กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ให้เป็นผู้ติดตามโยม
[๙๗] โยมมีความพอใจต่อพระคุณเจ้าผู้เจริญ
พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งปลื้มใจอันใด คือ
ยานพาหนะที่เทียมด้วยช้าง รถเทียมด้วยม้า
นารีที่ประดับด้วยเครื่องอลังการ
และหรือนิเวศน์อันรื่นรมย์สำราญ
ขอพระคุณเจ้าออกปากขอมาเถิด
โยมขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ

เชิงอรรถ :
๑ ภารถมหาบพิตร หมายถึงพระราชาผู้รับภาระปกครองแคว้น, ผู้บริหารราชการแผ่นดิน (ขุ.ชา.อ.๗/๙๓/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๙๘] หรือว่าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดในแคว้นอังคะก็ตาม
มคธก็ตาม โยมขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
หรือพระคุณเจ้าประสงค์แคว้นอัสสกะหรือแคว้นอวันตี
โยมก็เต็มใจถวายสิ่งนั้นแด่พระคุณเจ้า
[๙๙] หรือแม้ราชสมบัติกึ่งหนึ่ง
โยมก็จะถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์ราชสมบัติ
นิมนต์แนะนำสิ่งที่พระคุณเจ้าประสงค์มาเถิด
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลชี้แจงความประสงค์ของตนว่า)
[๑๐๐] ราชสมบัติก็ตาม บ้านเมืองก็ตาม
ทรัพย์สมบัติก็ตาม อาตมภาพไม่ต้องการ
แม้ถึงชนบทอาตมภาพก็ไม่มีความต้องการ
[๑๐๑] ในพระราชอาณาจักรของมหาบพิตรผู้เจริญ
มีอาศรมหลังหนึ่งอยู่ ณ ราวป่า
บิดามารดาทั้ง ๒ ของอาตมภาพพำนักอยู่ ณ อาศรมนั้น
[๑๐๒] อาตมภาพไม่ได้ทำบุญในท่านทั้ง ๒
ผู้เป็นบุรพาจารย์นั้นเลย
อาตมภาพจะทำการทูลเชิญมหาบพิตรผู้ทรงพระเจริญ
แล้วจะขอการสังวร (ขอโทษ) กับโสณบัณฑิต
(พระเจ้ามโนชะตรัสกับนันทบัณฑิตดาบสนั้นว่า)
[๑๐๓] ท่านพราหมณ์ โยมจะทำตามคำของพระคุณเจ้า
ตามที่พระคุณเจ้าพูดกับโยม
แต่เรื่องนั้นพระคุณเจ้าบอกโยมมาเถิดว่า
ผู้วิงวอนขอร้องมีจำนวนเท่าไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า)
[๑๐๔] คหบดี ชาวชนบทและพราหมณ์มหาศาลกว่าร้อยขึ้นไป
กษัตริย์ผู้อภิชาติผู้ทรงมีพระอิสริยยศเหล่านี้ทั้งหมด
และพระองค์ผู้ทรงพระเจริญทรงพระนามว่า พระเจ้ามโนชะ
ผู้วิงวอนขอร้อง ก็จักเพียงพอ
(พระเจ้ามโนชะตรัสกับนันทบัณฑิตดาบสว่า)
[๑๐๕] พนักงานทั้งหลายจงตระเตรียมช้างและม้า
นายสารถีจงเทียมรถ ท่านทั้งหลายจงถือเอาเครื่องผูก
จงยกธงขึ้นปักที่แท่นปักธง
เราจักไปยังอาศรมที่โกสิยดาบสพำนักอยู่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๖] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปพร้อมกับจาตุรงคเสนา
ได้เสด็จถึงอาศรมอันน่ารื่นรมย์ที่โกสิยดาบสอยู่
(พระเจ้ามโนชะทรงเห็นโสณดาบสโพธิสัตว์มา จึงตรัสว่า)
[๑๐๗] หาบของใครผู้จะไปหาบน้ำ ทำด้วยไม้กระทุ่ม
ไม่ถูกต้องบ่า ลอยขึ้นสู่อากาศ
(ห่างบ่า)ประมาณ ๔ องคุลี
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๐๘] ข้าแต่มหาราช อาตมภาพคือโสณดาบส
ผู้อดกลั้นประพฤติวัตร ไม่เกียจคร้าน
เลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ทุกคืนวัน
[๑๐๙] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
อาตมภาพระลึกถึงอุปการะที่ท่านทั้งสอง
ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อนอยู่เนือง ๆ
จึงนำเอาผลไม้และเผือกมันในป่ามาเลี้ยงดูมารดาบิดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(พระเจ้ามโนชะทรงประสงค์จะทำความคุ้นเคยกับโสณบัณฑิตดาบส จึงตรัสว่า)
[๑๑๐] โยมทั้งหลายปรารถนาจะไปยังอาศรมที่โกสิยดาบสอยู่
พระคุณเจ้าโสณะ นิมนต์พระคุณเจ้า
กรุณาบอกหนทางแก่พวกโยมด้วย
พวกโยมจะไปถึงอาศรมได้โดยหนทางใด
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๑] ขอถวายพระพรพระราชา
หนทางนี้เป็นทางเดินเท้าสำหรับคนผู้เดียว
ณ ที่ใด มีป่าสีเขียวครามคล้ายเมฆ
ดารดาษไปด้วยต้นทองกวาว
ท่านโกสิยดาบสพำนักอยู่ ณ ป่าแห่งนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๒] มหาฤๅษี ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
จึงเหาะขึ้นในอากาศพร่ำสอนกษัตริย์ทั้งหลาย
แล้วรีบด่วนหลีกไปในอากาศ
[๑๑๓] ปัดกวาดอาศรม ปูลาดอาสนะแล้วเข้าไปยังบรรณศาลา
บอกกล่าวบิดาให้รู้ตัวว่า
[๑๑๔] ข้าแต่มหาฤๅษี กษัตริย์ผู้อภิชาติ
ทรงมีพระอิสริยยศทั้งหลายเหล่านี้
กำลังเสด็จมา ขอท่านพ่อจงออกไปนั่งนอกอาศรมเถิด
[๑๑๕] มหาฤๅษีสดับคำของโสณบัณฑิตนั้นแล้ว
รีบออกจากอาศรม นั่งอยู่ใกล้ประตูอาศรมของตน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๖] โกสิยดาบสได้เห็นพระเจ้ามโนชะนั้นมีหมู่กษัตริย์แวดล้อม
เป็นประดุจกองทัพรุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชานุภาพ
กำลังเสด็จมา จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๑๗] กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์
และมโหระทึกนำหน้าใครมา ยังพระราชาผู้จอมทัพให้ร่าเริง
[๑๑๘] ใครมีหน้าผากสวมกรอบอุณหิสทองคำอันหนา
มีวรรณะประดุจสายฟ้า
ใครหนอยังหนุ่มแน่นผูกสอดแล่งลูกศร
รุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๑๙] อนึ่ง ใบหน้าของใครงดงามผุดผ่อง
ดุจทองคำที่ละลายคว้างอยู่ปากเบ้า
มีสีดังถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๐] ฉัตรมีซี่น่ารื่นรมย์ใจ สำหรับกั้นบังแสงอาทิตย์
เขาประคองกั้นแล้วเพื่อใคร
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๑] ชนทั้งหลายถือพัดวาลวีชนีเครื่องสูง
เดินแวดล้อมเรือนร่างของใคร
ผู้มีบุญอันประเสริฐซึ่งกำลังมาบนคอช้าง
[๑๒๒] เศวตฉัตร ม้าอาชาไนย และทหารสวมเกราะ
ของใครเรียงรายอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๓] กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ผู้ทรงมีพระอิสริยยศ
กำลังแวดล้อมติดตามใครอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๔] อนึ่ง เสนา ๔ เหล่า คือ กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ และกองพลราบ แวดล้อมตามใครอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๒๕] เสนาหมู่ใหญ่นั่นของใคร นับไม่ถ้วน
แวดล้อมติดตามมาข้างหลังประดุจคลื่นแห่งสาคร
[๑๒๖] พระเจ้ามโนชะผู้เป็นราชาธิราช
เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งเทพทั้งหลาย
ผู้มีชัยกำลังเสด็จมาสู่อาศรมของท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทรงขอขมาโทษแทนนันทดาบส
[๑๒๗] นั้นเสนาหมู่ใหญ่ของพระองค์นับไม่ถ้วน
แวดล้อมติดตามมาข้างหลังประดุจคลื่นแห่งสาคร
[๑๒๘] พระราชาทั้งหลายมีพระวรกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ทรงพระภูษากาสิกพัสตร์อันอุดม
ทุกพระองค์ต่างประนมมือเสด็จเข้าไปหาพระฤๅษี
(ต่อแต่นั้น พระเจ้ามโนชะตรัสว่า)
[๑๒๙] พระคุณเจ้าผู้เจริญมีความสุขสำราญดี
ไม่มีโรคเบียดเ บียนหรือ
พระคุณเจ้ายังอัตภาพให้เป็นไป
ด้วยการแสวงหามูลผลาหารหรือ
เผือก มัน และผลไม้ยังมีอยู่มากหรือ
[๑๓๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๓๑] ข้าแต่พระราชา พวกอาตมภาพ
มีความสุขสำราญดี และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง อาตมภาพทั้งหลายยังอัตภาพ
ให้เป็นไปด้วยการแสวงหามูลผลาหาร
และเผือก มัน ผลไม้ก็ยังมีมากอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๓๒] อนึ่ง เหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
เนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านในป่าก็ไม่มาเบียดเบียนอาตมภาพเลย
[๑๓๓] หลายปีมาแล้ว อาตมาอยู่ในอาศรมนี้
ยังไม่รู้จักความอาพาธที่ไม่ทำใจให้รื่นรมย์ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว
[๑๓๔] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ทรงเป็นใหญ่ เสด็จมาถึงโดยลำดับ
สิ่งใดที่ทรงพอพระทัย โปรดตรัสบอกสิ่งนั้นเถิด
[๑๓๕] ข้าแต่พระราชา ผลมะพลับ ผลมะหาด
ผลมะซาง และผลหมากเม่า มีรสหวานเล็กน้อย
เชิญพระองค์เลือกเสวยผลดี ๆ เถิด
[๑๓๖] น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิท ตักมาจากซอกเขา
มหาบพิตรหากพระองค์ประสงค์ ขอทรงดื่มเถิด
(พระเจ้ามโนชะตรัสว่า)
[๑๓๗] สิ่งที่พระคุณเจ้าให้โยมก็รับไว้แล้ว
พระคุณเจ้าทำให้มีค่าสำหรับคนทุกคน
ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดเงี่ยโสตสดับ
คำของนันทดาบสเถิด ท่านจะกล่าว
[๑๓๘] พวกโยมเป็นบริษัทของนันทดาบส
พากันมายังสำนักของพระคุณเจ้าผู้เจริญ
เพื่อจะขอขมาโทษ ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญ
โปรดสดับฟังคำของนันทดาบสและของบริษัทเถิด
(นันทบัณฑิตเมื่อเจรจากับบริษัทของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓๙] ชาวชนบทและพราหมณ์มหาศาลกว่าร้อยขึ้นไป
กษัตริย์ผู้อภิชาติผู้ทรงมีพระอิสริยยศเหล่านี้ทั้งหมด
และพระราชาผู้เจริญทรงพระนามว่า มโนชะ
โปรดทรงสดับคำของอาตมภาพสักเล็กน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๔๐] อนึ่ง ยักษ์ ภูต และเทวดาทั้งหลายในป่า
ที่พากันมาประชุมอยู่ในอาศรมนี้
ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า
[๑๔๑] ข้าพเจ้าขอกระทำความนอบน้อมแก่ภูตทั้งหลาย
แล้วจะกล่าวกับโสณฤๅษีผู้มีวัตรดีงาม
ข้าพเจ้านั้นชาวโลกสมมติแล้วว่า
เป็นชาวโกสิยโคตรร่วมกับท่าน
จึงนับว่าเป็นแขนขวาของท่าน
[๑๔๒] ข้าแต่ท่านพี่โกสีย์ผู้กล้าหาญ
เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์
จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาบังเกิดเกล้าของข้าพเจ้า
ฐานะนี้ชื่อว่าเป็นบุญ ขอท่านพี่จงอย่าห้ามข้าพเจ้าเลย
[๑๔๓] แท้จริง การบำรุงมารดาและบิดานั้น
สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
ขอท่านพี่จงสละการบำรุงมารดาบิดานั้นให้ข้าพเจ้าเถิด
ท่านพี่ได้กระทำกุศลมานานแล้ว
ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวด
บัดนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะทำบุญในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง
ขอท่านพี่จงมอบโลกสวรรค์ให้แก่ข้าพเจ้าเถิด
[๑๔๔] ข้าแต่ท่านพี่ผู้เป็นฤๅษี มนุษย์ทั้งหลายผู้รู้บทแห่งธรรม
ในธรรมว่า เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์
เหมือนอย่างท่านพี่รู้ มีอยู่ในบริษัทนี้เหมือนกัน
[๑๔๕] ท่านโสณบัณฑิตผู้พี่ห้ามข้าพเจ้า
ผู้จะบำรุงมารดาและบิดาให้มีความสุขด้วยการอุปัฏฐาก
และการนวดเฟ้น จากบุญนั้น
ชื่อว่าเป็นคนปิดกั้นหนทางอันประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(เมื่อนันทบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศให้ทราบว่า)
[๑๔๖] ขอถวายพระพรมหาราช กษัตริย์ผู้เจริญทั้งหลาย
ผู้จะขอขมาโทษแทนน้องชายของอาตมภาพ ขอทรงสดับคำ
ของอาตมภาพ ผู้ใดยังสกุลวงศ์อันเก่าแก่ให้เสื่อมไป
ไม่ประพฤติธรรมในบุคคลผู้เจริญในสกุลทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก
[๑๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
ก็ชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเก่าแก่
ถึงพร้อมด้วยจารีต
ชนเหล่านั้นจะไม่ไปสู่ทุคติ
[๑๔๘] มารดาและบิดา พี่ชายน้องชาย
พี่สาวน้องสาว เครือญาติและพวกพ้อง
ชนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นภาระของพี่ชายใหญ่
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด ท่านภารถ
[๑๔๙] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
อาตมภาพต้องรับภาระอันหนักและไม่ละเลยธรรม
เหมือนนายเรือต้องรับภาระอันหนัก พยายามนำเรือไป
เพราะว่าอาตมภาพเป็นพี่ชายใหญ่
(พระราชาทุกพระองค์ทรงพอพระทัย ทรงชมเชยโสณดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕๐] เราทั้งหลายได้บรรลุญาณคือปัญญาในความมืด
ท่านโสณโกสิยฤๅษีผู้เจริญได้แสดงธรรมอย่างชัดแจ้ง
แก่เราทั้งหลายเหมือนเปลวเพลิงจากไฟป่าในเวลามืดมิด
[๑๕๑] ดวงอาทิตย์เหล่ากอแห่งวาสุเทพเปล่งรัศมีอุทัยอยู่
ย่อมส่องแสงให้เห็นรูปทั้งดีทั้งชั่วอย่างแจ่มแจ้งแก่เหล่าสัตว์ฉันใด
ท่านโสณโกสิยฤๅษีผู้เจริญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ได้แสดงธรรมอย่างชัดแจ้งแก่เราทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(ลำดับนั้น นันทบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๒] ถ้าท่านพี่ไม่ยอมรับรู้
ถึงการประคองอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้
ข้าพเจ้าจักประพฤติตามท่านพี่ จักตั้งใจปฏิบัติบำรุงท่านพี่
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศคุณของนันทบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๑๕๓] นันทะ เธอรู้แจ้งชัดถึงสัทธรรม
ที่สัตบุรุษทั้งหลายแสดงไว้แล้วอย่างแท้จริง
เธอเป็นผู้ประเสริฐ มีมารยาทงาม พี่พอใจเธอยิ่งนัก
[๑๕๔] พี่จะบอกท่านพ่อท่านแม่
ขอท่านทั้ง ๒ จงฟังคำของข้าพเจ้า
ภาระนี้เป็นเพียงภาระชั่วครั้งชั่วคราวของข้าพเจ้าหามิได้
[๑๕๕] นันทดาบส กระทำการขอขมาโทษอ้อนวอนขอกับข้าพเจ้า
เพื่อบำรุงท่านทั้ง ๒ อันเป็นการอุปัฏฐาก
ที่นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดานั้นบ้าง
[๑๕๖] บรรดาท่านทั้ง ๒ ผู้สงบ ประพฤติพรหมจรรย์
ท่านผู้ใดปรารถนา ขอท่านคนหนึ่งจงปรารถนานันทะเถิด
ขอนันทะจงบำรุงใครคนหนึ่งในท่านทั้ง ๒ ตามต้องการเถิด
(มารดาของโสณดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕๗] โสณะ แม่และพ่ออาศัยเธอ เธออนุญาตแล้ว
แม่พึงได้จุมพิตนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่กระหม่อมเถิด
[๑๕๘] เพราะนานเหลือเกินจึงได้เห็นนันทะ
หัวใจของแม่ย่อมหวั่นไหว
เหมือนใบอ่อนของต้นโพธิ์ถูกลมพัดไหวไปมา
[๑๕๙] เมื่อใดแม่หลับลงฝันเห็นนันทะมา
แม่ก็เบิกบานดีใจว่า ลูกนันทะของแม่มาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๖๐] แต่เมื่อใดแม่ตื่นขึ้นแล้วไม่เห็นนันทะมา
ความเศร้าโศกและความเสียใจมิใช่น้อยกลับทับถมโดยยิ่ง
[๑๖๑] แม่เห็นนันทะกลับมาในวันนี้
ขอนันทะผู้เป็นที่รักของพ่อแม่จงเข้าไปยังเรือนของพวกเราเถิด
[๑๖๒] นันทะเป็นลูกสุดที่รักแม้ของบิดา
นันทะไม่ควรจากเรือนนี้ไปอีก
พ่อโสณะ ขอนันทะจงได้สิ่งที่ตนปรารถนาเถิด
ขอนันทะจงบำรุงแม่เถิด
(โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศพระคุณของมารดาว่า)
[๑๖๓] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่ง
และเป็นผู้ให้รส (คือ น้ำนม) แก่พวกเรามาก่อน
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
[๑๖๔] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้ให้รสมาก่อน
เป็นผู้คุ้มครอง เป็นที่เข้าไปประกอบบุญกุศล
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศว่ามารดาเป็นผู้ทำกิจที่ทำได้ยากที่บุคคล
อื่นจะทำได้ จึงกล่าวว่า)
[๑๖๕] มารดาเมื่อหวังผลคือบุตรจึงนอบน้อมเทวดา
และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย๑
[๑๖๖] เมื่อมารดานั้นมีระดู การตั้งครรภ์จึงมีได้
เพราะการตั้งครรภ์นั้น มารดาจึงมีการแพ้ท้อง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า สุหทา หญิงผู้มีใจดี๒

เชิงอรรถ :
๑ มารดานอบน้อมเทวดา หมายถึงทำการนอบน้อมคือบนบานต่อเทวดาว่า “ขอลูกจงเกิดขึ้นแก่เรา”
ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย หมายถึงมารดาต้องการทราบว่าบุตรเกิดในฤกษ์ ฤดู และปีใด จะ
มีอายุยืน อายุสั้นอย่างไร (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๖๕/๑๙๕-๑๙๖)
๒ เมื่อมารดานั้นมีระดู หมายถึงเมื่อต่อมเลือด(ไข่สุก)เกิดแล้ว ระดูไม่มาตามกำหนด มารดาได้ชื่อว่า สุหทา
หญิงผู้มีใจดี (เพราะในเวลานั้นมารดาจะเกิดความรักในบุตรที่เกิดในท้องของตน) (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๖๖/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๖๗] มารดาประคับประคองครรภ์อยู่หนึ่งปีหรือหย่อนกว่าบ้าง
แล้วจึงคลอดบุตร เพราะเหตุนั้น มารดานั้นจึงชื่อว่า
หญิงผู้ให้กำเนิดบุตร เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
ชเนตตี หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด
[๑๖๘] เมื่อบุตรร้องไห้ มารดาก็ปลอบโยนให้ยินดีได้
ด้วยน้ำนมบ้าง ด้วยการร้องเพลงกล่อมบ้าง
ด้วยการกอดไว้แนบอกบ้าง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
โตเสนตี หญิงผู้ยังบุตรให้ร่าเริงยินดี
[๑๖๙] จากนั้น เมื่อลมแรงและแดดกล้า
มารดาก็กระทำความรักอย่างจับใจ
มองดูบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อนไร้เดียงสาอยู่
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า
โปเสนตี หญิงผู้เลี้ยงดูบุตร
[๑๗๐] ทรัพย์อันใดที่เป็นทรัพย์ของมารดาก็ดี
เป็นทรัพย์ของบิดาก็ดี
แม้ทรัพย์ทั้ง ๒ มารดาก็คุ้มครองรักษาไว้เพื่อบุตรนั้น
ด้วยหมายใจว่า แม้ทรัพย์ทั้ง ๒ นี้พึงเป็นของบุตรของเรา
[๑๗๑] มารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า
อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก
และทราบว่าบุตรของตนเมื่อถึงคราวเป็นหนุ่ม
ลุ่มหลงมัวเมาในภรรยาของผู้อื่นอยู่จนดึกดื่นเที่ยงคืน
ไม่กลับมาในเวลาเย็น ก็ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้
[๑๗๒] บุตรที่มารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงมารดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๗๓] บุตรที่บิดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงบิดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก
[๑๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงมารดา
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงบิดา
[๑๗๖] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงมารดา
[๑๗๗] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงบิดา
[๑๗๘] สังคหวัตถุ๑ทั้งหลาย คือ
๑. ทาน (การให้) ๒. ปิยวาจา (การเจรจาถ้อยคำที่น่ารัก)
๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
๔. สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตาม
สมควรในที่นั้น ๆ)
ทั้ง ๔ ประการนี้ยังมีอยู่ในโลกนี้
เหมือนเพลารถยังมีแก่รถที่กำลังแล่นไป

เชิงอรรถ :
๑ สังคหวัตถุ หมายถึงหลักการสงเคราะห์หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ ในที่นี้หมายถึงบุตรพึง
ปรนนิบัติมารดาบิดาด้วยหลัก ๔ ประการ คือ (๑) ทาน การให้(สิ่งของ)แก่มารดาบิดา (๒) เปยยวัชชะ
พึงเจรจาแต่คำที่น่ารัก (๓) อัตถจริยา พึงประพฤติประโยชน์ด้วยการทำหน้าที่(ของท่าน)ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ
(๔) สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควร หมายถึงความประพฤติยำเกรงต่อผู้
ใหญ่ทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๘/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] รวมชาดกที่มีในนิบาต
[๑๗๙] หากว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้
มารดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
หรือบิดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
[๑๘๐] ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นสังคหวัตถุเหล่านี้โดยชอบ
เพราะฉะนั้น จึงบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่
ทั้งบัณฑิตเหล่านั้นยังเป็นผู้น่าสรรเสริญอีกด้วย
[๑๘๑] มารดาและบิดาทั้งหลายบัณฑิตกล่าวว่า
๑. เป็นพรหมของบุตร
๒. เป็นบุรพาจารย์ของบุตร
๓. เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชาของบุตร๑
๔. เป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์คือบุตร
[๑๘๒] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงนอบน้อมและพึงสักการะ
มารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้นด้วยข้าวและน้ำ
ด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและที่นอน ด้วยการอบตัวและอาบน้ำให้
และด้วยการล้างเท้าทั้ง ๒ ให้ท่าน
[๑๘๓] เพราะการบำรุงมารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้น
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว
เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ดังนี้แล
โสณนันทชาดกที่ ๒ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
๑. กุสชาดก ๒. โสณนันทชาดก
สัตตตินิบาตจบ

เชิงอรรถ :
๑ มารดาและบิดาเป็นพรหมของบุตร เพราะเป็นผู้เสมอด้วยพรหม คือ สูงสุด ประเสริฐสุดของบุตร เป็น
บุรพาจารย์ คือ เป็นอาจารย์คนแรกของบุตร เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชา คือ สมควรแก่สักการะ
อย่างใดอย่างหนึ่งของบุตร (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๘๑/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
๒๑. อสีตินิบาต
๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะทดลองใจหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๑] ท่านสุมุขะ ฝูงหงส์ไม่เหลียวแล พากันบินหนีไป
แม้ท่านก็จงหนีไปเถิด อย่ามัวกังวลอยู่เลย
ความเป็นสหายไม่มีอยู่ในผู้ติดบ่วง
(หงส์สุมุขะกล่าวว่า)
[๒] ข้าพระองค์จะหนีไปหรือไม่หนีไปก็ตาม
เพราะการหนีไปและไม่หนีไปนั้น ข้าพระองค์จะไม่ตายก็หามิได้
เมื่อพระองค์มีความสุข ข้าพระองค์ได้พึ่งพาอาศัย
เมื่อพระองค์มีความทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงละทิ้งไปได้อย่างไร
[๓] การตายพร้อมกับพระองค์เท่านั้น
ประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพระองค์
การมีชีวิตโดยปราศจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๔] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์
ผู้ถึงความทุกข์อย่างนี้ไป นั่นไม่เป็นธรรมเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งหมู่วิหค
ข้าพระองค์ชอบใจคติของพระองค์
(พญาหงส์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕] คติของเราผู้ติดบ่วงจะเป็นอย่างอื่นไป
จากโรงครัวใหญ่ได้อย่างไรเล่า
ท่านมีปัญญาคือความคิดพ้นบ่วงมาแล้ว
จะพอใจคตินั้นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๖] นี่แน่ะพ่อปักษี ท่านเห็นประโยชน์ของเรา ของท่าน
หรือของญาติทั้งหลายที่เหลืออย่างไร
ในเมื่อเราทั้ง ๒ จะสิ้นชีวิต
[๗] พ่อปักษีผู้มีปีกทั้ง ๒ ประดุจทองคำ
เมื่อท่านสละชีวิต ในเพราะคุณอันประจักษ์เช่นนี้
ก็เหมือนคนตาบอด ตกอยู่ในความมืดมิด
จะพึงทำประโยชน์อะไรให้โชติช่วงเล่า
(หงส์สุมุขะกล่าวตอบว่า)
[๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่หงส์
ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ทรงทราบประโยชน์ในธรรม
ธรรมที่มีคนบูชา ย่อมชี้ประโยชน์แก่เหล่าสัตว์
[๙] ข้าพระองค์นั้นมุ่งธรรมอยู่ ได้เห็นประโยชน์อันเกิดขึ้นจากธรรม
และความภักดีในพระองค์จึงไม่คำนึงถึงชีวิต
[๑๐] มิตรเมื่อระลึกถึงธรรม
ไม่พึงทอดทิ้งมิตรในยามอันตรายแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้
(พญาหงส์โพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า)
[๑๑] ธรรมนี้ท่านก็ประพฤติแล้ว
และความภักดีในเราก็ปรากฏชัดแล้ว
ขอท่านจงทำตามความต้องการของเราเถิด
เราอนุญาตท่านแล้วจงหนีไป
[๑๒] ก็แลเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแม้อย่างนี้
ส่วนที่บกพร่องอันใดที่เราได้ทำไว้แล้วแก่หมู่ญาติ
ส่วนที่บกพร่องนั้นท่านพึงสังวรอย่างยิ่ง
ให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๑๓] เมื่อพญาหงส์ ตัวประเสริฐ ผู้มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ
ปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
นายพรานก็ได้ปรากฏต่อหน้า
ประดุจพญามัจจุราชปรากฏแก่คนไข้
[๑๔] นกทั้ง ๒ ผู้เกื้อกูลกันและกันมาสิ้นกาลนานเหล่านั้น
เห็นศัตรูแล้วก็จับนิ่งเฉยอยู่
ไม่เคลื่อนไหวไปจากที่จับ
[๑๕] ส่วนนายพรานศัตรูของนกได้เห็นเหล่าพญาหงส์ธตรัฏฐะ
กำลังบินขึ้นไปจากที่นั้น ๆ
จึงได้รีบก้าวเท้าเข้าไปหาพญาหงส์ทั้ง ๒ โดยเร็ว
[๑๖] ก็นายพรานนั้นครั้นรีบก้าวเท้าเข้าไปใกล้พญาหงส์ทั้ง ๒
ก้าวเท้าไปก็คิดไปอยู่ว่า ติดหรือไม่ติด
[๑๗] เห็นหงส์ติดบ่วงจับอยู่เพียงตัวเดียว
อีกตัวหนึ่งไม่ติด จับอยู่ใกล้ ๆ
แต่เพ่งมองตัวที่เป็นทุกข์ซึ่งติดบ่วง
[๑๘] จากนั้น พรานนั้นก็เกิดความสงสัย
จึงได้ถามหงส์ทั้ง ๒ ตัวซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่นก
มีร่างกายเจริญเติบใหญ่ที่จับอยู่ว่า
[๑๙] หงส์ตัวที่ติดบ่วงใหญ่ไม่กำหนดทิศทางที่จะบินหนีไป
พ่อปักษี แต่เจ้าไม่ติดบ่วง
ยังมีกำลังอยู่ ทำไมจึงไม่บินหนีไป
[๒๐] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า
เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวที่ติดบ่วงอยู่ใกล้ ๆ
นกทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป
ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๒๑] นี่ท่านผู้เป็นศัตรูของนก พญาหงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
และเป็นเพื่อนเสมอด้วยชีวิตของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักไม่ละทิ้งพระองค์ไป
จนกว่าวาระแห่งความตายจะมาถึง
(นายพรานกล่าวว่า)
[๒๒] ก็ไฉนพญาหงส์นี้จึงไม่เห็นบ่วงที่ดักไว้แล้ว
ความจริงการรู้ถึงอันตรายเป็นเหตุของคนผู้เป็นใหญ่
เพราะเหตุนั้นผู้เป็นใหญ่เหล่านั้นควรจะรู้เท่าทันอันตราย
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๒๓] ในกาลใดความเสื่อมย่อมมีเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต
ในกาลนั้นแม้สัตว์จะเข้าใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
[๒๔] ท่านผู้มีปัญญามาก ก็แลบ่วงทั้งหลายที่เขาดักไว้
มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิตอย่างนี้
สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าไปติดบ่วงที่เขาอำพรางดักไว้
(หงส์สุมุขะเมื่อจะขอชีวิตของพญาหงส์โพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ก็การอยู่ร่วมกับท่านนี้พึงมีความสุขเป็นกำไรหนอ
อนึ่ง ขอท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไป
ขอท่านพึงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ด้วยเถิด
(นายพรานจึงกล่าวว่า)
[๒๖] ท่านไม่ได้ติดบ่วงของข้าพเจ้า
และข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะฆ่าท่าน
ท่านจงรีบไปจากที่นี้ตามความปรารถนา
และจงมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากความทุกข์ตลอดกาลนานเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะได้กล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าไม่ประสงค์อย่างนั้นเลย นอกจากชีวิตของพญาหงส์นี้
หากท่านยินดีหงส์ตัวเดียว ขอท่านจงปล่อยพญาหงส์นั้น
และจงกินข้าพเจ้าแทนเถิด
[๒๘] ข้าพเจ้าทั้ง ๒ มีทรวดทรงสัณฐานและวัยเสมอกัน
ท่านจะไม่มีรายได้ลดค่าลงเลย
ขอท่านจงพอใจด้วยการแลกเปลี่ยนอย่างนี้
[๒๙] เชิญเถิดเชิญท่านไตร่ตรองเรื่องนั้นดูให้ดี
บรรดาข้าพเจ้าทั้ง ๒ ขอท่านจงมีความพอใจ
ท่านจงใช้บ่วงผูกข้าพเจ้าไว้ก่อน
จงปล่อยพญานกไปในภายหลัง
[๓๐] อนึ่ง เมื่อท่านกระทำตามคำขอร้อง
รายได้ของท่านก็จะมีเท่าเดิมด้วย
และท่านจะพึงมีไมตรีกับเหล่าพญาหงส์ธตรัฏฐะไปตลอดชีวิต
(นายพรานเมื่อจะยกพญาหงส์โพธิสัตว์ให้เป็นรางวัลแก่หงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ขอมิตรอำมาตย์ข้าทาสบริวารบุตรภรรยา
และพวกพ้องเผ่าพันธุ์ทั้งหลายหมู่ใหญ่
จงเห็นพญาหงส์ผู้พ้นไปแล้วจากที่นี้เพราะท่านเถิด
[๓๒] ก็บรรดามิตรทั้งหลายเป็นอันมาก
มิตรทั้งหลายเช่นกับท่านผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิต
ของพญาหงส์ธตรัฏฐะเหล่านั้นไม่มีอยู่ในโลกนี้
[๓๓] ข้าพเจ้ายอมปล่อยสหายของท่าน
ขอพญาหงส์จงบินตามท่านไป
ท่านทั้ง ๒ จงรีบไปจากที่นี้ตามความปรารถนา
จงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางแห่งญาติเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๔] หงส์สุมุขะผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนายนั้น
มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วงแล้ว
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงกล่าวว่า
[๓๕] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ
เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด
ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด
(พญาหงส์สุมุขะกล่าวกับนายพรานว่า)
[๓๖] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ
พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย
[๓๗] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง ๒
ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด
ภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า
[๓๘] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ นี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
[๓๙] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว
จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย
จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน
เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๐] นายพรานได้สดับคำของหงส์สุมุขะนั้นแล้ว
ได้จัดแจงกิจการงานให้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว
รีบไปยังภายในเมือง ได้แสดงหงส์ทั้ง ๒ ซึ่งจับอยู่
ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัดแด่พระราชาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๔๑] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้งหลายเหล่านี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์ตัวนี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
(พระราชารับสั่งถามว่า)
[๔๒] ก็วิหคเหล่านี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าได้อย่างไร
เจ้าเป็นพรานจับวิหคที่เป็นใหญ่กว่าวิหคทั้งหลาย
มาในที่นี้ได้อย่างไร
(นายพรานกราบทูลว่า)
[๔๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน
บ่วงเหล่านี้ข้าพระองค์ได้วางไว้ที่เปือกตมทั้งหลาย
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข้าพระองค์เข้าใจว่า
เป็นสถานที่ประชุมแห่งนก
เป็นสถานที่ปลิดชีวิตนกทั้งหลาย
[๔๔] พญาหงส์เข้ามาใกล้บ่วงเช่นนั้นแล้วก็ไม่รู้
ส่วนนกตัวนี้ไม่ได้ติดบ่วง แต่จับอยู่ใกล้ ๆ พญาหงส์นั้น
ได้พูดกับข้าพระองค์
[๔๕] วิหคผู้ประกอบแล้วในธรรม
เมื่อบากบั่นในประโยชน์ของผู้เป็นนาย
ได้ประกาศภาวะอันอุดมซึ่งคนผู้มิใช่อริยะกระทำได้ยาก
[๔๖] วิหคนี้ยังควรที่จะมีชีวิตอยู่ แต่กลับสละชีวิตของตนเอง
จับอยู่อย่างไม่ทอดถอนท้อแท้ใจ
วิงวอนร้องขอชีวิตของผู้เป็นนาย
[๔๗] ข้าพระองค์สดับคำของวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส
จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยพญาหงส์จากบ่วง
และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๔๘] หงส์สุมุขะนั้นมีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงได้กล่าวว่า
[๔๙] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ
เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด
ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด
[๕๐] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ
พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย
[๕๑] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง ๒
ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด
ไปภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า
[๕๒] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ นี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
[๕๓] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว
จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย
จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน
เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย
[๕๔] หงส์ทั้ง ๒ เหล่านี้ข้าพระองค์นำมา
ตามคำของหงส์สุมุขะนั้น ด้วยประการฉะนี้
ความจริง ข้าพระองค์ได้อนุญาต
ให้หงส์ทั้ง ๒ เหล่านี้อยู่ที่สระนั้นตามเดิม
[๕๕] ก็สุมุขพญาปักษีทิชาชาติตัวนี้นั้น
เป็นหงส์ประกอบอยู่ในธรรมอย่างยิ่ง
แม้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูอย่างนี้
ก็ยังทำนายพรานเช่นข้าพระองค์ให้เกิดความอ่อนโยนได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ก็ในบ้านพรานนกทุกแห่งข้าพระองค์มิได้เห็น
เครื่องบรรณาการอย่างอื่นเหมือนเช่นนี้สำหรับพระองค์เลย
ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรเครื่องบรรณาการนั้นเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๗] พญาหงส์ครั้นเห็นพระราชาประทับนั่ง
บนตั่งทองคำอันสวยงาม
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงกล่าวว่า
[๕๘] พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ทรงสุขสำราญดีอยู่หรือ
ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
แคว้นอันมั่งคั่งนี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๕๙] เราสุขสำราญดีพญาหงส์ และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง แคว้นอันมั่งคั่งนี้เราก็ปกครองโดยธรรม
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๖๐] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีหรือ
อนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้นไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๖๑] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี
อนึ่ง แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็ไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อเราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๖๒] พระราชเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์
ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก
ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๖๓] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา
เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก
มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่
[๖๔] ท่านผู้เจริญตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูผู้ร้ายกาจนั้น
ถึงความลำบากมากเพราะอันตรายเบื้องต้นนั้นหรือ
[๖๕] นายพรานได้วิ่งเข้าไปใช้ท่อนไม้โบยตีท่านหรือ
เพราะคนต่ำทรามเหล่านี้จะมีปกติเป็นอย่างนี้ในขณะนั้น
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๖] ขอเดชะมหาราช ในคราวมีอันตรายอย่างนี้
ความปลอดภัยได้มีแล้ว ด้วยว่านายพรานผู้นี้
หาได้ดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง
ในข้าพระองค์ทั้ง ๒ เหมือนศัตรูไม่
[๖๗] นายพรานค่อย ๆ ก้าวเข้าไปหาและได้ปราศรัยขึ้นก่อน
ในกาลนั้นสุมุขบัณฑิตผู้นี้แหละได้กล่าวตอบ
[๖๘] นายพรานสดับคำของสุมุขวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส
จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยข้าพระองค์จากบ่วง
และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๖๙] ก็การมาสู่สำนักของพระองค์ผู้ทรงพระเจริญนี้
สุมุขวิหคนั่นแหละปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานผู้นี้
ได้คิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่เขา
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๐] ก็การมาของท่านผู้เจริญนี้เป็นการมาดีแล้วทีเดียว
และเราก็ยินดีเพราะได้เห็นท่าน
อนึ่ง แม้นายพรานนี้จะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจจำนวนมาก
ตามที่ตนปรารถนา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงเผยข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๑] พระราชาผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ทรงยังนายพรานให้อิ่มเอมใจด้วยโภคะทั้งหลายแล้ว
เมื่อจะตรัสวาจาอันระรื่นหู จึงตรัสกับพญาหงส์ว่า
[๗๒] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม
ย่อมเป็นไปในที่มีประมาณเล็กน้อย
ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน
ขอท่านจงปกครองตามความปรารถนาเถิด
[๗๓] อนึ่ง สิ่งอื่นใดย่อมเข้าไปสำเร็จเพื่อประโยชน์
แก่การต้านทานหรือเพื่อการเสวยราชสมบัติได้
สิ่งนั้นซึ่งเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจเราขอยกให้ท่าน
และขอสละอิสริยยศให้แก่ท่านด้วย
(พระราชาเมื่อจะทรงสนทนากับหงส์สุมุขะ จึงตรัสว่า)
[๗๔] ก็ถ้าว่าหงส์สุมุขะผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยปัญญานี้
จะพึงเจรจากับเราตามความปรารถนาบ้าง
ข้อนั้นจะพึงเป็นที่รักยิ่งแห่งเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะกราบทูลว่า)
[๗๕] ข้าแต่มหาราช นัยว่า
ข้าพระองค์เหมือนกับพญาช้างเข้าไประหว่างซอกหิน
ไม่อาจจะพูดสอดแทรกขึ้นได้ นั้นไม่ใช่วินัยของข้าพระองค์
[๗๖] พญาหงส์นั้นเป็นผู้ประเสริฐกว่าข้าพระองค์ทั้งหลาย
ส่วนพระองค์ก็เป็นผู้สูงสุด เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นยอดแห่งมนุษย์ พระองค์ทั้ง ๒
เป็นผู้อันข้าพระองค์พึงบูชาด้วยเหตุเป็นอันมาก
[๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
เมื่อพระองค์ทั้ง ๒ กำลังตรัสปราศรัยกันอยู่
เมื่อการวินิจฉัยกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระองค์ผู้เป็นคนรับใช้
จึงไม่ควรที่จะพูดสอดแทรกขึ้นในระหว่าง
(พระราชาสดับคำของหงส์สุมุขะแล้วดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[๗๘] ได้ยินว่า โดยธรรมดานายพรานกล่าวว่า
นกนี้เป็นบัณฑิต
ความจริง นัยเช่นนี้ไม่พึงมีแก่บุคคลผู้มิได้อบรมตนเลย
[๗๙] บุคคลผู้มีปกติเลิศอย่างนี้ เป็นสัตว์อุดมอย่างนี้
เท่าที่เราเห็นมามีอยู่ แต่เราหาเห็นสัตว์อื่นเช่นนี้ไม่
[๘๐] เรายินดีต่อท่านทั้ง ๒ โดยปกติ
และยินดีด้วยการกล่าวถ้อยคำอันไพเราะของท่านทั้งสอง
อนึ่ง ความพอใจของเราอีกอย่างหนึ่ง
นั่นคือการที่เราพึงเห็นท่านทั้ง ๒ เป็นเวลานาน
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญพระราชา จึงกราบทูลว่า)
[๘๑] กิจอันใดที่บุคคลพึงกระทำในมิตรผู้สูงศักดิ์
กิจอันนั้นพระองค์ทรงกระทำแล้วในข้าพระองค์ทั้ง ๒
เพราะความภักดีต่อพระองค์ที่มีอยู่ในข้าพระองค์ทั้งหลาย
ข้าพระองค์จึงมีความภักดีต่อพระองค์โดยไม่ต้องสงสัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๘๒] ส่วนทางโน้น ความทุกข์คงเกิดขึ้นแล้ว
ในหมู่หงส์จำนวนมากเป็นแน่
เพราะมิได้พบเห็นข้าพระองค์ทั้ง ๒
ในระหว่างแห่งหมู่ญาติเป็นอันมาก
[๘๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก
พวกข้าพระองค์ได้รับอนุมัติจากพระองค์แล้ว
จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วไปพบเห็นหมู่ญาติ
เพื่อกำจัดความโศกของหงส์เหล่านั้น
[๘๔] ข้าพระองค์ได้ประสบปีติอันไพบูลย์
เพราะได้มาเฝ้าพระองค์ผู้เจริญแน่แท้
อนึ่ง ความคุ้นกับหมู่ญาติแม้นี้ก็พึงมีประโยชน์ใหญ่หลวง
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๕] พญาหงส์ธตรัฏฐะครั้นกราบทูลคำนี้กับนราธิบดีแล้ว
อาศัยการบินเร็วอย่างสุดกำลัง ได้เข้าไปหาหมู่ญาติแล้ว
[๘๖] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง ๒ นั้น
มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย
ต่างพากันส่งเสียงว่าเกก ๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว
[๘๗] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว
(พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๘๘] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร
ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ
เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
จูฬหังสชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์ได้กล่าว ๓ คาถาว่า)
[๘๙] สุมุขะ พ่อเนื้อเหลือง ผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
หงส์ทั้งหลายหวั่นไหวต่อภัยอันตราย
จึงพากันบินหนีไป
ท่านจงหลีกหนีไปตามความปรารถนาเถิด
[๙๐] หมู่ญาติทั้งหลายละทิ้งเรา
ผู้ติดบ่วงไว้เพียงลำพัง
ไม่มีความเยื่อใย พากันบินหนีไป
ทำไมจึงเหลือท่านอยู่ตัวเดียวเล่า
[๙๑] บินขึ้นไปเถิด ท่านผู้ประเสริฐกว่าหมู่หงส์
ความเป็นสหายไม่มีในผู้ติดบ่วง
ท่านอย่าทำความไม่มีทุกข์ให้เสื่อมไปเลย
จงหนีไปตามความปรารถนาเถิด สุมุขะ
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๙๒] ข้าแต่ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์
แม้จะมีทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็ไม่ละทิ้งพระองค์ไป
ความเป็นหรือความตายของข้าพระองค์
จักมีพร้อมกับพระองค์
[๙๓] ข้าแต่ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์
แม้จะมีทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็ไม่ละทิ้งพระองค์ไป
พระองค์ไม่ควรจะชักชวนให้ข้าพระองค์
ประกอบกรรมที่บุคคลผู้ไม่ประเสริฐประกอบกันเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๙๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าฝูงหงส์
ข้าพระองค์เป็นเด็กรุ่นเดียวกับพระองค์๑
เป็นเพื่อนของพระองค์ ดำรงอยู่ในจิตใจของพระองค์
ข้าพระองค์เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเสนาบดีของพระองค์
[๙๕] ข้าพระองค์ไปจากที่นี้แล้ว
จักอธิบายในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์จากที่นี้ไปแล้ว
จะชี้แจงกับฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร
ข้าพระองค์ยอมสละชีวิตทิ้งไว้ในที่นี้
จะไม่พยายามทำกรรมอันไม่ประเสริฐ
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญคุณของหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๙๖] สุมุขะ การที่ท่านไม่พยายามที่จะทอดทิ้งเรา
ผู้เป็นทั้งนาย เป็นทั้งเพื่อน
ชื่อว่าดำรงอยู่ในทางของพระอริยะ
นั้นเป็นธรรมของโบราณกบัณฑิต
[๙๗] ก็แลเมื่อเราเห็นท่าน ก็ไม่เกิดความสะดุ้งกลัวเลย
แต่ท่านจะประสบอันตรายเหมือนชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๘] เมื่อพญาหงส์ทั้ง ๒ ผู้ประเสริฐมีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ
กล่าวปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
นายพรานถือท่อนไม้กระชับมั่นรีบด่วนเข้ามาถึงตัว

เชิงอรรถ :
๑ เด็กรุ่นเดียวกับพระองค์ หมายถึงถือปฏิสนธิวันเดียวกัน ออกจากไข่ในวันเดียวกัน และเจริญเติบโตมา
ด้วยกัน (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๔/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๙๙] หงส์สุมุขะครั้นเห็นนายพรานกำลังเดินเข้ามา
จึงจับอยู่เบื้องหน้าพญาหงส์
เมื่อจะปลอบพญาหงส์ผู้หวาดกลัวให้เบาใจ
จึงได้กล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า
[๑๐๐] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า คนทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๑๐๑] นายพรานได้สดับคำสุภาษิตของหงส์สุมุขะนั้น
ก็มีโลมชาติชูชัน จึงได้น้อมอัญชลีต่อหงส์สุมุขะนั้น
ด้วยกล่าวว่า
[๑๐๒] เราไม่เคยได้ยินหรือเคยได้เห็นนกพูดภาษาคนได้
นกพูดถ้อยคำอันประเสริฐ เปล่งวาจาภาษามนุษย์ได้
[๑๐๓] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า
เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวติดบ่วงอยู่ใกล้ ๆ
หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป
ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว
(หงส์สุมุขะถูกนายพรานถามแล้ว จึงตอบว่า)
[๑๐๔] ท่านผู้เป็นศัตรูของฝูงนก
หงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีของพระองค์
เมื่อมีภัยอันตราย ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์
ผู้เป็นอธิบดีแห่งฝูงวิหคไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๐๕] หงส์นั้นเป็นนายของหงส์ฝูงใหญ่และของข้าพเจ้า
ขอพระองค์อย่าถึงความพินาศพระองค์เดียวเลย
นายพรานเพื่อนเอ๋ย หงส์นี้เป็นนายอย่างแท้จริง
ข้าพเจ้าจึงพอใจที่จะอยู่ใกล้ ๆ พระองค์
(นายพรานถามว่า)
[๑๐๖] หงส์สุมุขะเอ๋ย ท่านนอบน้อมตำแหน่ง
ประดุจก้อนข้าวที่ได้รับ
ชื่อว่าประพฤติธรรมอันประเสริฐ
ข้าพเจ้ายอมปล่อยนายของท่าน
ท่านทั้ง ๒ จงไปตามสบายเถิด
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๑๐๗] เพื่อนเอ๋ย ถ้าท่านดักหงส์และนกทั้งหลาย
ด้วยความพยายามเพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้
ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ขอรับอภัยทานนั้นของท่าน
[๑๐๘] ถ้าท่านไม่ดักหงส์และนกทั้งหลายด้วยความพยายาม
เพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้ ท่านจะไม่มีอิสระ
เมื่อปล่อยเราทั้ง ๒ ไป จะพึงทำตนให้เป็นขโมยนะ นายพราน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า)
[๑๐๙] ท่านเป็นคนรับใช้ของพระราชาองค์ใด
จงนำข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไปให้ถึงพระราชาองค์นั้นตามพระประสงค์
พระเจ้าสัญญมนะจักทรงกระทำ
ตามพระประสงค์ในพระราชนิเวศน์นั้น
[๑๑๐] นายพรานถูกหงส์สุมุขะกล่าวอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว
จึงใช้มือประคองพญาหงส์เนื้อทอง
ตัวมีผิวพรรณประดุจทองคำทั้ง ๒ ใส่ไว้ในกรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๑๑] นายพรานพาพญาหงส์ทั้ง ๒ ซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่อง
คือ หงส์สุมุขะและพญาหงส์ธตรัฏฐะซึ่งอยู่ในกรงหลีกไป
[๑๑๒] พญาหงส์ธตรัฏฐะถูกนายพรานนำไปอยู่
ได้กล่าวเนื้อความนี้กับหงส์สุมุขะว่า
เรากลัวนัก สุมุขะ
ด้วยนางพญาหงส์ตัวมีผิวพรรณดังทองคำ
มีลำขาอ่อนได้ลักษณะ
รู้ว่าเราถูกฆ่าแล้วจักฆ่าตัวตายตาม
[๑๑๓] สุมุขะ ก็สุเหมานางพญาหงส์ แม่เนื้อเหลือง
ผู้เป็นธิดาของพญาปากหงส์จักร่ำไห้อย่างแน่นอน
เสมือนนางนกกระเรียนผู้กำพร้าร่ำไห้อยู่ที่ริมฝั่งสมุทร
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า)
[๑๑๔] พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งสัตวโลกคือหมู่หงส์
มีคุณประมาณมิได้ เป็นครูแห่งหมู่คณะใหญ่
แต่กลับมัวเศร้าโศกรำพันถึงหญิงคนเดียวอย่างนี้
นี้เป็นเหมือนมิใช่การกระทำของคนมีปัญญาเลย
[๑๑๕] ลมย่อมพัดพาเอากลิ่นทั้ง ๒ อย่าง
คือ กลิ่นหอมและกลิ่นเหม็นไป
เด็กอ่อนย่อมเก็บเอาผลไม้ทั้งดิบและสุก
คนตาบอดที่โลเลย่อมรับอามิสฉันใด
ธรรมดาหญิงก็ฉันนั้น
[๑๑๖] พระองค์ไม่รู้จักวินิจฉัยในเหตุทั้งหลาย
ปรากฏกับข้าพระองค์เหมือนคนเขลา
ถึงเวลาจะตายอยู่แล้ว
ก็ยังไม่ทราบกิจที่ควรทำหรือไม่ควรทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๑๗] พระองค์สำคัญหญิงว่าเป็นผู้ประเสริฐ
เห็นจะเป็นคนกึ่งบ้า จึงบ่นเพ้อรำพันไป
ความจริง หญิงเหล่านี้สาธารณะทั่วไปแก่ชนเป็นอันมาก
เหมือนโรงสุราเป็นสถานที่ทั่วไปแก่นักเลงสุรา
[๑๑๘] อนึ่ง หญิงนี้มีมายาเหมือนพยับแดด
เป็นเหตุแห่งความเศร้าโศก
เป็นเหตุแห่งโรคและอันตราย
อนึ่ง หญิงเหล่านี้เป็นเครื่องผูกมัดอันกล้าแข็ง เป็นบ่วง
เป็นถ้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของมัจจุราช
บุรุษใดวางใจในหญิงเหล่านั้น
บุรุษนั้นชื่อว่าเป็นคนต่ำทรามในบรรดานรชนทั้งหลาย
(พญาหงส์ธตรัฏฐะเมื่อจะแสดงธรรมแก่หงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๑๑๙] สิ่งใดที่ท่านผู้เจริญรู้จักกันดี
ใครควรจะติเตียนสิ่งนั้นเล่า
ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายเป็นผู้มีคุณมาก เกิดขึ้นก่อนในโลก๑
[๑๒๐] การเล่นคะนองอันบุคคลตั้งไว้แล้วในหญิงเหล่านั้น
ความยินดีในหญิงเหล่านั้นบุคคลก็ตั้งไว้เฉพาะแล้ว
พืชทั้งหลายก็งอกงามในหญิงเหล่านั้น
คือสัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดในหญิงเหล่านั้น
ชีวิตกับชีวิตมาเกี่ยวข้องกันแล้ว
ใครเล่าจะพึงเบื่อหน่ายหญิงเหล่านั้น
[๑๒๑] สุมุขะ ท่านเองนั่นแหละไม่ใช่คนอื่น
ยังต้องประกอบความต้องการกับหญิงทั้งหลาย
วันนี้เมื่อเกิดภัย ความคิดจึงเกิดแก่ท่านเพราะความกลัว

เชิงอรรถ :
๑ เกิดขึ้นก่อนในโลก หมายถึงเพศหญิงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกาลปฐมกัลป์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๑๙/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๒๒] จริงอยู่ ผู้ถึงความสงสัยในชีวิตทั้งปวง
ถึงจะหวาดกลัวก็อดกลั้นความกลัวไว้
เพราะบัณฑิตทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่
ย่อมประกอบประโยชน์ที่ยากจะประกอบได้
[๑๒๓] พระราชาทั้งหลายทรงปรารถนาข้าราชการที่กล้าหาญ
เพื่อประสงค์ที่จะให้คนกล้าหาญ
ป้องกันอันตรายและเหตุรอบข้างพระองค์
[๑๒๔] วันนี้ ขอพ่อครัวของพระราชา
อย่าเชือดเราทั้ง ๒ ในห้องเครื่องใหญ่เลย
เพราะว่า สีขนปีกจะฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่
[๑๒๕] ท่านแม้พ้นแล้วก็ไม่ปรารถนาจะบินไป
ตนเองกลับเดินเข้ามาหาเครื่องดัก
วันนี้ แม้ท่านผู้ถึงความสงสัยในชีวิต
จงถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์เถิด
อย่ายื่นปากออกมาเลย
[๑๒๖] ท่านนั้นจงประกอบความเพียร
ที่เนื่องด้วยธรรมอันสมควรนั้นเถิด
จงเที่ยวแสวงหาหนทางรอดชีวิตให้แก่เรา
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของท่าน
(หงส์สุมุขะกล่าวว่า)
[๑๒๗] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า บุคคลทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า)
[๑๒๘] นายพรานนั้นเข้าไปยังประตูพระราชวังพร้อมทั้งหาบหงส์
ด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงกราบทูลถึงเรา
ให้พระราชาทรงทราบว่า พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มาแล้ว
[๑๒๙] ได้ยินว่า พระเจ้าสัญญมนะทอดพระเนตรเห็น
พญาหงส์ทั้ง ๒ นั้นเช่นกับผู้มีบุญ
รู้ได้ด้วยลักษณะ จึงได้รับสั่งกับพวกอำมาตย์ว่า
[๑๓๐] ท่านทั้งหลายจงให้ผ้า ข้าว น้ำ และของบริโภค
แก่นายพราน เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ๑ ให้เขา
จงให้แก่เขาตามที่เขาต้องการ
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๑๓๑] พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นนายพรานผู้มีอาการร่าเริง
จึงได้ตรัสคำนี้ว่า เขมกะ เพื่อนรัก
ผิว่าสระโบกขรณีนี้มีฝูงหงส์จับอยู่เต็มไปหมดไซร้
[๑๓๒] ทำไมท่านจึงถือบ่วงเข้าไปใกล้พญาหงส์
ผู้งดงามซึ่งอยู่ ณ ท่ามกลาง
ได้จับพญาหงส์ผู้มีหมู่ญาติเกลื่อนกล่น
ซึ่งมิใช่หงส์ชั้นกลางได้อย่างไร
(นายพรานเขมกะนั้นกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๓๓] วันนี้เป็นราตรีที่ ๗ ของข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่ประมาท แอบซ่อนอยู่ในตุ่ม
คอยแสวงหารอยเท้าของพญาหงส์ทองตัวนั้น
ตัวเข้าไปใกล้สถานที่ที่จับเหยื่อ

เชิงอรรถ :
๑ เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ หมายถึงเป็นกิริยาแสดงความใคร่ของเขา (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓๐/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๓๔] ต่อมาข้าพระองค์ได้เห็นรอยเท้าของพญาหงส์นั้น
ตัวกำลังเที่ยวแสวงหาเหยื่อ จึงได้ดักบ่วงลงไว้ ณ ที่นั้น
แล้วจับพญาหงส์นั้นได้ด้วยวิธีอย่างนี้
(พระราชาได้สดับดังนั้น จึงตรัสถามว่า)
[๑๓๕] พ่อพราน นกเหล่านี้มีอยู่ ๒ ตัว
แต่ทำไมท่านจึงกล่าวว่าตัวเดียว
จิตของท่านแปรปรวนแล้วหนอ
หรือว่าท่านปรารถนาประโยชน์อะไรกันหนอ
(นายพรานกราบทูลว่า)
[๑๓๖] หงส์ตัวที่มีลายสีแดงจรดถึงทรวงอก งดงามประดุจทองคำ
ที่กำลังถูกหล่อหลอมนั้น ได้เข้ามาติดบ่วงของข้าพระองค์
[๑๓๗] ส่วนหงส์ตัวมีผิวพรรณผ่องใสตัวนี้มิได้ติดบ่วง
ยืนเปล่งวาจาเป็นภาษามนุษย์ กล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ
กับพญาหงส์ตัวติดบ่วง ซึ่งกำลังกระสับกระส่ายอยู่
(พระราชาทรงประสงค์จะให้หงส์สุมุขะแสดงธรรม จึงตรัสว่า)
[๑๓๘] สุมุขะ ทำไมหนอเวลานี้ท่านจึงยืนหดคางอยู่
หรือท่านมาถึงบริษัทของเราแล้ว กลัวภัยจึงไม่พูด
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น เมื่อจะแสดงความที่ตนไม่กลัวภัย จึงกราบทูลว่า)
[๑๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์หยั่งลงสู่บริษัทของพระองค์แล้วจะเกรงกลัวหามิได้
ข้าพระองค์ไม่พูดเพราะความเกรงกลัวก็หามิได้
ข้าพระองค์จักกล่าวถ้อยคำในเมื่อมีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น
(พระราชาสดับดังนั้นแล้วทรงแย้มสรวล ตรัสว่า)
[๑๔๐] เราไม่เห็นบริษัทที่ถืออาวุธเลย ไม่เห็นพลรถ พลราบ
เกราะ หรือโล่หนัง และนายขมังธนูผู้สรวมเกราะของท่านเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๔๑] เงิน ทอง หรือนครที่สร้างไว้แล้วอย่างดี
มีคูเรียงราย ยากที่จะข้ามได้
มีหอรบและป้อมอันมั่นคง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านเข้าไป
ไม่กลัวสิ่งที่ควรกลัว เรายังไม่เห็นเลย สุมุขะ
(หงส์สุมุขะเมื่อจะทูลเหตุนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๔๒] ข้าพระองค์ไม่ต้องการบริวารที่ถืออาวุธ นคร หรือทรัพย์
เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายมีปกติเที่ยวไปในอากาศ
ย่อมไปยังหนทางอันเป็นสถานที่มิใช่หนทาง
[๑๔๓] ก็พระองค์ได้ทรงสดับมาว่า
ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
ข้าพระองค์จะกล่าววาจาที่มีประโยชน์
ขอพระองค์พึงดำรงอยู่ในความสัตย์เถิด
[๑๔๔] ด้วยว่าถ้อยคำที่พวกข้าพระองค์กล่าวแล้ว
แม้จะเป็นสุภาษิต จะกระทำอะไรแก่พระองค์ผู้หาความสัตย์มิได้
ผู้มิใช่คนประเสริฐมักกล่าวคำเท็จและหยาบช้า
[๑๔๕] พระองค์รับสั่งให้ขุดสระอันเกษมนี้ตามคำของพวกพราหมณ์
และพระองค์รับสั่งให้ประกาศอภัยทานไปทั่วทิศทั้ง ๑๐ นี้
[๑๔๖] นกทั้งหลายจึงลงสู่สระโบกขรณีของพระองค์
ซึ่งมีน้ำใสสะอาด ที่สระบัวนั้นมีของกินเพียงพอ
และไม่มีการเบียดเบียนนกทั้งหลายที่สระนั้น
[๑๔๗] พวกข้าพระองค์ได้ยินคำประกาศนี้แล้ว
จึงพากันมาใกล้สระโบกขรณีของพระองค์
พวกข้าพระองค์นั้นจึงถูกบ่วงของพระองค์รัด
คำประกาศนั้นเป็นภาษิตเท็จของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๔๘] บุคคลมุ่งการกล่าวเท็จและความโลภ
คือความต้องการอันชั่วช้าแล้วล่วงเลยสนธิทั้ง ๒๑ไป
ย่อมเข้าถึงนรกอันไม่มีความสำราญ
(พระราชาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๙] สุมุขะ เรามิได้ประพฤติผิดที่จับท่านมาที่นี้
เพราะความโลภก็หามิได้ เราทราบมาว่า ท่านทั้งหลาย
เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[๑๕๐] ทำอย่างไรพญาหงส์ทั้ง ๒
จึงจะมากล่าววาจาอันมีประโยชน์ ณ ที่นี้
สุมุขะเพื่อนรัก นายพรานถูกเราสั่ง
จึงได้จับท่านด้วยเหตุนั้น
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อชีวิตใกล้เข้ามาถึงคราวใกล้ตาย
จึงจะกล่าววาจาที่มีประโยชน์หามิได้เลย
[๑๕๒] ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ หรือว่าฆ่านกด้วยนกต่อ
หรือเบียดเบียนผู้เป็นพหูสูตด้วยสุตะ
จะมีอะไรเล่าเลวทรามไปกว่านั้น
[๑๕๓] ก็ผู้ใดกล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ
แต่อิงอาศัยธรรมอันไม่ประเสริฐ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมพลาดจากโลกทั้ง ๒
คือ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ สนธิทั้ง ๒ หมายถึงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลกทั้ง ๒ อธิบายว่า คนที่ทำบาปธรรมเหล่านี้ไว้
ต่อไปเบื้องหน้าก็จะล่วงเลยปฏิสนธิที่เป็นสุคติเข้าถึงนรกที่ไม่น่ายินดีไป (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๖/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๕๔] บุคคลได้ยศแล้วไม่พึงมัวเมา
ถึงความสงสัยในชีวิต๑แล้วไม่พึงเดือดร้อน
พึงพยายามในกิจการงานทั้งหลายร่ำไป
และพึงปิดช่องโหว่ทั้งหลาย๒เสีย
[๑๕๕] บัณฑิตผู้เจริญเหล่าใดผ่านชีวิตโลกนี้ไป
ถึงคราวใกล้ตาย ประพฤติธรรมในโลกนี้
บัณฑิตเหล่านั้นย่อมไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์แล้วด้วยประการฉะนี้
[๑๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
พระองค์ทรงสดับคำนี้แล้ว
ขอทรงรักษาธรรมไว้ในพระองค์เถิด
และขอทรงปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะ
ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลายเถิด
(พระราชาครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๕๗] พนักงานทั้งหลายจงนำน้ำมันทาเท้า
และอาสนะอันมีค่ามากมา
เราจะปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะผู้มียศออกจากกรง
[๑๕๘] และเราจะปล่อยพญาหงส์
ตัวที่เมื่อหงส์ผู้เป็นพระราชามีสุขก็เป็นสุขด้วย
เมื่อมีทุกข์ก็เป็นทุกข์ด้วย
ซึ่งเป็นหงส์เสนาบดี เป็นนักปราชญ์
มีปัญญาละเอียดอ่อน เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[๑๕๙] บุคคลเช่นนี้แลสมควรที่จะบริโภคก้อนข้าวของนายได้
เหมือนหงส์สุมุขะผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิตของพระราชา

เชิงอรรถ :
๑ ถึงความสงสัยในชีวิต หมายถึงประสบทุกข์แล้วไม่พึงลำบาก (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๔/๒๕๗)
๒ ปิดช่องโหว่ทั้งหลาย หมายถึงพึงปิด พึงกั้นช่องทะลุ (ข้อบกพร่อง) ของตน (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๔/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๐] ก็พญาหงส์ธตรัฏฐะได้บินเข้าไปจับตั่งทองคำล้วน
ซึ่งมีเท้า ๘ น่ารื่นรมย์ เกลี้ยงเกลา ปูลาดด้วยผ้าแคว้นกาสี
[๑๖๑] ส่วนหงส์สุมุขะได้บินเข้าไปเกาะเก้าอี้ทองคำล้วน
ซึ่งบุด้วยหนังเสือโคร่ง ถัดจากพญาหงส์ธตรัฏฐะ
[๑๖๒] ชาวแคว้นกาสีจำนวนมากพาเอาอาหารอันเลิศ
ที่พระเจ้ากาสีทรงส่งไปด้วยถาดทองคำให้แก่พญาหงส์เหล่านั้น
[๑๖๓] พญาหงส์ธตรัฏฐะผู้ฉลาดในธรรมเนียมการปฏิสันถาร
เห็นอาหารอันเลิศที่เขานำมาแล้ว
ซึ่งพระเจ้ากาสีทรงประทานส่งไป
ต่อจากนั้นจึงได้ทูลถามเป็นลำดับไปว่า
[๑๖๔] พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ทรงสุขสำราญดีอยู่หรือ
ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
แคว้นอันมั่งคั่งนี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๖๕] เราสุขสำราญดีพญาหงส์ และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง แคว้นอันมั่งคั่งนี้เราก็ปกครองโดยธรรม
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๖๖] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีหรือ
อนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้นไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๖๗] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี
อนึ่ง แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็ไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อเราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๖๘] พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์
ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก
ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๖๙] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา
เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก
มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่
(พญาหงส์โพธิสัตว์ ทูลถามว่า)
[๑๗๐] แคว้นมิได้ถูกเบียดเบียน
มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหน ๆ หรือ
พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ
โดยมิได้เกรี้ยวกราดหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๑] แคว้นก็มิได้ถูกเบียดเบียน
มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหน ๆ เลย
เราปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ
โดยมิได้เกรี้ยวกราดเลย
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๗๒] สัตบุรุษพระองค์ทรงยำเกรง
ทรงเว้นอสัตบุรุษเสียห่างไกลหรือ
พระองค์มิได้ทรงห่างเหินธรรม
ประพฤติคล้อยตามอธรรมหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๓] สัตบุรุษเราก็ยำเกรง
อสัตบุรุษเราก็เว้นห่างไกล
เราประพฤติคล้อยตามธรรมเหล่านั้น
ส่วนอธรรมเราได้ห่างเหินไปแล้ว
(พญาหงส์ทูลถามว่า)
[๑๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์
พระองค์มิได้ทรงพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานหรือ
ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ไม่ทรงสะดุ้งกลัวปรโลกหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๕] เราพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานก็หาไม่
พญาหงส์ เราดำรงอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ๑
จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก

[๑๗๖] คือ ๑. ทาน ๒. ศีล
๓. การบริจาค ๔. ความซื่อตรง
๕. ความอ่อนโยน ๖. ความเพียร
๗. ความไม่โกรธ ๘. ความไม่เบียดเบียน
๙. ความอดทน ๑๐. ความไม่คลาดธรรม๑


เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ๑๐ ประการ คือทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ คือ (๑) ทาน หมายถึงเจตนาให้วัตถุ ๑๐ ประการ
มีข้าวและน้ำเป็นต้น (๒) ศีล หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ (๓) การบริจาค หมายถึงการบริจาคไทยธรรม
(๔) ความซื่อตรง หมายถึงความเป็นคนตรง (๕) ความอ่อนโยน หมายถึงความเป็นคนอ่อนโยน
(๖) ความเพียร หมายถึงกรรมคือการรักษาอุโบสถ (๗) ความไม่โกรธ หมายถึงความมีเมตตาเป็นเบื้องต้น
(๘) ความไม่เบียดเบียน หมายถึงความมีกรุณาเป็นเบื้องต้น (๙) ความอดทน หมายถึงความอดกลั้น
(๑๐) ความไม่คลาดจากธรรม หมายถึงความไม่ขัดเคือง (ขุ.ชา.อ. ๒๘/๑๗๖/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๗๗] เราเห็นกุศลธรรมเหล่านี้ดำรงอยู่แล้วในตนด้วยประการฉะนี้
ต่อจากนั้นปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจึงเกิดแก่เรา
[๑๗๘] ส่วนหงส์สุมุขะนี้ไม่ทันคิด
ไม่ทราบความประทุษร้ายแห่งจิตต่อข้าพระองค์
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายออกมา
[๑๗๙] หงส์สุมุขะนั้นโกรธ
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายโดยไม่ไตร่ตรอง
กล่าวหาโทษที่ไม่มีอยู่ในข้าพระองค์
การเปล่งนี้ดูเหมือนไม่ใช่ของผู้มีปัญญา
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ความพลั้งพลาดนั้นย่อมมีแก่ข้าพระองค์เพราะความผลุนผลัน
อนึ่ง เมื่อพญาหงส์ธตรัฏฐะติดบ่วง
ข้าพระองค์จึงได้มีทุกข์มากกว่า
[๑๘๑] พระองค์เป็นเสมือนพระบิดาของพระโอรสทั้งหลาย
เป็นเหมือนแผ่นดินเป็นที่พึ่งของภูตทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจพญาช้าง ขอพระองค์โปรดทรงงดโทษ
แก่ข้าพระองค์ผู้ถูกความผิดครอบงำด้วยเถิด
(พระราชาทรงสรวมกอดหงส์สุมุขะนั้นเมื่อจะรับการขอโทษ จึงตรัสว่า)
[๑๘๒] เมื่อเป็นเช่นนี้ เราขออนุโมทนาต่อท่าน
เพราะท่านไม่ปกปิดความจริง
พญาหงส์ ท่านย่อมทำลายตะปูตรึงจิต๑
จึงนับได้ว่าท่านเป็นหงส์ผู้ซื่อตรง

เชิงอรรถ :
๑ ตะปูตรึงจิต หมายถึงเสาแห่งจิตหรือหลักตอแห่งจิต (ได้แก่ ความโกรธ ความไม่พอใจ จิตถูกโทษ
ครอบงำทำให้แข็งกระด้างต่อผู้อื่น) (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๘/๒๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๘๓] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่มากมาย
ในราชนิเวศน์แห่งแคว้นกาสี
คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์
[๑๘๔] แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์เหลือง
หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง และเหล็ก
เราขอมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจทุกชนิดนั้นให้แก่ท่านทั้ง ๒
และขอปล่อยท่านทั้ง ๒ ให้เป็นอิสระ
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้อันพระองค์ทรงยำเกรงและทรงสักการะแล้วโดยแน่แท้
ขอพระองค์โปรดทรงเป็นพระอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้ประพฤติในธรรมทั้งหลายเถิด
[๑๘๖] ข้าแต่พระอาจารย์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก ข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้อันพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ทรงอนุมัติแล้ว
จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วกลับไปพบญาติทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๗] พระเจ้ากาสีทรงดำริและทรงปรึกษา
อรรถคดีตามที่กล่าวมาตลอดราตรีทั้งปวงแล้ว
ทรงอนุญาตพญาหงส์ทั้ง ๒ ตัวประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย
[๑๘๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่าง ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา
ขณะพระเจ้ากาสีกำลังทอดพระเนตรอยู่
พญาหงส์ทั้ง ๒ ได้โผบินไปสู่อากาศจากพระราชมณเฑียร
[๑๘๙] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง ๒ นั้น
มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย
ต่างพากันส่งเสียงว่าเกก ๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๑๙๐] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว
[๑๙๑] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร
ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ
เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
มหาหังสชาดกที่ ๒ จบ
๓. สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
ว่าด้วยอาหารทิพย์
(โกสิยเศรษฐีกราบทูลท้าวสักกะว่า)
[๑๙๒] ของนี้ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ซื้อมา
ทั้งไม่ได้ขายและไม่ได้สะสมไว้ในที่นี้
มีอยู่เพียงนิดหน่อย ได้มาแสนยาก
ข้าวสุกแล่งหนึ่งไม่เพียงพอสำหรับคนสองคน
(ท้าวสักกะได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๓] บุคคลควรให้แต่น้อยจากของที่มีน้อย
ควรให้พอปานกลางจากของที่มีพอปานกลาง
ควรให้มากจากของที่มีมาก ชื่อว่าการไม่ให้ย่อมไม่ควร
[๑๙๔] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(เมื่อท้าวสักกะประทับนั่ง จันทเทพบุตรจึงเข้าไปหาโกสิยเศรษฐีแล้ว กล่าวว่า)
[๑๙๕] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วยังบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นเป็นโมฆะ
แม้ความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาก็เป็นโมฆะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๑๙๖] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้นสุริยเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๑๙๗] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นย่อมมีผล
แม้ความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาก็มีผล
[๑๙๘] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้น มาตลีเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๑๙๙] ก็บุคคลใดเข้าไปยังแหล่งน้ำบางแห่ง
แล้วบูชาที่แม่น้ำหลายสายบ้าง
ที่สระโบกขรณีชื่อว่าคยาบ้าง
ที่ท่าน้ำชื่อโทณะและท่าน้ำชื่อติมพรุบ้าง
ที่ห้วงน้ำใหญ่อันมีกระแสเชี่ยวบ้าง
[๒๐๐] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของเขาในที่นั้น
และความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาในที่นั้นย่อมมีผล
[๒๐๑] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้น ปัญจสิขเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๒๐๒] ส่วนผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วยังบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดพร้อมทั้งเหยื่อที่มีสายยาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๐๓] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(โกสิยเศรษฐีเห็นฤทธิ์ของพราหมณ์เหล่านั้น จึงถามว่า)
[๒๐๔] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ
เพราะเหตุอะไร สุนัขของพวกท่านจึงเปลี่ยนสีได้ต่าง ๆ นานา
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า พวกท่านเป็นใครกัน
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[๒๐๕] เหล่าเทพที่มา ณ ที่นี้ คือ จันทเทพบุตร
และสุริยเทพบุตรทั้ง ๒ ส่วนผู้นี้คือมาตลีเทพสารถี
เราคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
และผู้นี้ชื่อว่าปัญจสิขเทพบุตร
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงสรรเสริญยศของปัญจสิขเทพบุตรนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๐๖] เสียงปรบมือ ๑ ตะโพน ๑ กลอง ๑ เปิงมาง ๑
ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วนั้นให้ตื่นขึ้น
เทพบุตรผู้ตื่นขึ้นแล้วย่อมร่าเริงยินดี
[๒๐๗] คนผู้ตระหนี่เห็นแก่ตัวเหล่านี้
บางพวกมักด่าว่าสมณะและพราหมณ์
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้
หลังจากตายแล้วย่อมไปสู่นรก
[๒๐๘] คนผู้หวังสุคติเหล่านี้ บางพวกดำรงอยู่ในธรรม
คือ ความสำรวมและการจำแนกทาน
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้
หลังจากตายแล้วย่อมไปสู่สุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๐๙] ท่านเป็นญาติของพวกเราเมื่อชาติก่อน
แต่ท่านนั้นเป็นคนตระหนี่ มักโกรธ มีธรรมเลวทราม
พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
ท่านอย่ามีธรรมอันเลวทรามไปตกนรกเลย
(โกสิยเศรษฐีได้ฟังดังนั้นมีจิตยินดี จึงกล่าวว่า)
[๒๑๐] พวกท่านหวังเกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างแน่นอน
จึงได้พร่ำสอนข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั้น
จะทำตามที่พวกท่านผู้หวังเกื้อกูลกล่าวทุกประการ
[๒๑๑] ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้านั้นจะของดเว้น
จะไม่กระทำบาปอะไร ๆ อีก
อนึ่ง วัตถุอะไร ๆ ที่ไม่ให้จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า
แม้แต่น้ำข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้แล้ว ก็จะไม่ยอมดื่ม
[๒๑๒] ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่ตลอดกาลทั้งปวงอย่างนี้
ถึงโภคะทั้งหลายของข้าพเจ้าจักหมดสิ้นไป ข้าแต่ท้าวสักกะ
ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าจะละกามทั้งหลายตามที่มีอยู่แล้วจักบวช
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๓] เทพธิดาเหล่านั้นอันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ทรงอภิบาลแล้วบันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์
ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐสูงสุด
ครั้งนั้น ฤๅษีผู้ประเสริฐสามารถจะไปได้ทั่วโลก
ได้ถือเอาช่อดอกไม้อันประเสริฐมีดอกบานสะพรั่งเดินมา
[๒๑๔] ก็ดอกไม้นั้นสะอาด มีกลิ่นหอม
อันเหล่าเทพชั้นไตรทศสักการะ เป็นดอกไม้สูงสุด
อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าอมรเทพทรงใช้สอย
ซึ่งพวกมนุษย์หรือพวกอสูรไม่ได้แล้ว เว้นไว้แต่พวกเทวดา
เป็นดอกไม้ที่สมควรแก่เทวดาเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๑๕] ลำดับนั้น เทพนารีทั้ง ๔ นางผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
เป็นใหญ่กว่าเทพธิดาทั้งหลาย คือ ๑. เทพธิดาอาสา
๒. เทพธิดาสัทธา ๓. เทพธิดาสิรี ๔. เทพธิดาหิรี
ต่างลุกขึ้นกล่าวกับพระนารทมุนีเทวพราหมณ์ว่า
[๒๑๖] ข้าแต่พระมหามุนีผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตกะนี้
พระคุณเจ้ามิได้เจาะจงจะให้แก่ผู้ใด
ขอพระคุณเจ้าจงให้แก่พวกดิฉันเถิด
ขอคติทั้งปวงจงสำเร็จแด่พระคุณเจ้า
แม้พระคุณเจ้าก็จงให้แก่พวกดิฉันเหมือนท้าววาสวะเท่านั้นเถิด
[๒๑๗] นารทดาบสเพ่งดูเทพธิดาทั้ง ๔ นางพากันขอดอกไม้นั้นอยู่
จึงเปล่งถ้อยคำชวนทะเลาะแล้วกล่าวว่า
อาตมาหามีความต้องการดอกไม้เหล่านี้แม้สักน้อยหนึ่งไม่
บรรดาพวกเธอทั้ง ๔ ผู้ใดประเสริฐกว่า
ผู้นั้นจงประดับดอกไม้นั้นเถิด
(เทพธิดาทั้ง ๔ นางนั้นกล่าวว่า)
[๒๑๘] ข้าแต่ท่านนารทะผู้อุดม พระคุณเจ้านั้นแหละ
โปรดจงพิจารณาดูพวกดิฉัน
พระคุณเจ้าปรารถนาจะให้แก่นางใดก็จงให้แก่นางนั้น
ข้าแต่ท่านนารทะ ก็บรรดาดิฉันทั้งหลาย
พระคุณเจ้าจักมอบให้แก่นางใด
นางนั้นเท่านั้นจักเป็นผู้ที่พวกดิฉันยกย่องว่าประเสริฐที่สุด
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๑๙] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างอันงดงาม คำนั้นไม่สมควรเลย
พราหมณ์คนไหน ใครเล่าจะพึงเปล่งถ้อยคำชวนทะเลาะได้
จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตดูเถิด
ถ้าพวกเธอในที่นี้ไม่ทราบว่าตนสูงสุดหรือต่ำทราม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(ต่อจากนั้น พระศาสดาตรัสพระคาถาว่า)
[๒๒๐] เทพธิดาเหล่านั้นถูกนารทดาบสกล่าวแนะนำ
มีความโกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาแล้ว
ด้วยความมัวเมาในผิวพรรณ จึงไป ณ สำนักท้าวสหัสสนัยน์
แล้วทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตว่า
บรรดาหม่อมฉัน ใครหนอประเสริฐกว่า
(เทพธิดาทั้ง ๔ นางได้ยืนทูลถามอย่างนั้นแล้ว พระศาสดา จึงตรัสว่า)
[๒๒๑] ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ผู้อันเทพธิดาทั้ง ๔ กระทำอัญชลีแล้ว
ทอดพระเนตรเห็นเทพธิดาทั้ง ๔ ผู้กระตือรือร้น
จึงตรัสว่า ลูกหญิงมีความงามเป็นเลิศ มีใบหน้าผ่องใส
พวกเจ้าทั้งปวงล้วนทัดเทียมกัน
ใครเล่าหนอจะกล่าวถ้อยคำทะเลาะกันขึ้นได้
(ลำดับนั้น เทพธิดาเหล่านั้นเมื่อจะกราบทูลท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาว่า)
[๒๒๒] พระนารทมหามุนีองค์ใดผู้ท่องเที่ยวไปได้ทั่วโลก
ดำรงอยู่ในธรรม มีความบากบั่นอย่างจริงจัง
ท่านนั้นได้กล่าวแก่พวกหม่อมฉันที่ภูเขาคันธมาทน์
ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐว่า
จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตดูเถิด
ถ้าพวกเธอในที่นี้ไม่ทราบว่าตนสูงสุดหรือต่ำทราม
(ท้าวสักกะเมื่อจะตรัสบอกเหตุ จึงตรัสคาถาว่า)
[๒๒๓] ลูกหญิงผู้มีเรือนร่างอันงดงาม
มีมหามุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่นามว่าโกสิยะ
ท่านไม่ให้แล้วจะไม่ยอมบริโภคอาหาร
ท่านพิจารณาแล้วจึงจะให้ทาน ก็ท่านจักให้แก่ลูกหญิงผู้ใด
ผู้นั้นแหละประเสริฐกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(ท้าวสักกะเมื่อจะส่งเทพธิดาทั้ง ๔ ไปสำนักโกสิยดาบส ให้เรียกมาตลีเทพบุตร
มาแล้ว จึงตรัสคาถาว่า)
[๒๒๔] ก็โกสิยดาบสนั้นอยู่ ณ ทิศใต้ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ข้างหิมวันตบรรพต โกสิยดาบสนั้นมีน้ำและโภชนะหาได้ยาก
นี่แน่ะเทพสารถี ท่านจงนำอาหารทิพย์ไปถวายให้ถึงแก่ท่าน
(ต่อจากนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า)
[๒๒๕] มาตลีเทพบุตรนั้นถูกท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ทรงส่งไป จึงขึ้นรถเทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ ตัว
ได้ไปถึงอาศรมอย่างเร็วพลันนั่นแล ไม่ปรากฏกาย
ได้ถวายอาหารทิพย์แก่พระมุนีแล้ว
(โกสิยดาบสรับโภชนะแล้วยืนอยู่นั่นแหละ กล่าวว่า)
[๒๒๖] ก็เมื่อเรายืนบำเรอการบูชาไฟอยู่ต่อหน้าดวงอาทิตย์
ซึ่งบรรเทาความมืดในโลกอันอุดม
ท้าววาสวะผู้ทรงครอบงำภูตทั้งปวง
หรือใครกันแน่มาวางอาหารทิพย์ไว้ในฝ่ามือของเรา
[๒๒๗] อาหารทิพย์นี้ขาวอุปมาดังสังข์ ไม่มีสิ่งเปรียบปาน
น่าดู สะอาด มีกลิ่นหอม น่าพอใจ ไม่เคยมีมา
ยังไม่เคยได้เห็นด้วยตาของเราผู้เป็นคน
เทวดาตนใดวางอาหารทิพย์ไว้ในฝ่ามือของเราหรือ
(มาตลีเทพสารถีกล่าวว่า)
[๒๒๘] ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพเจ้าถูกท้าวสักกะ
ผู้เป็นจอมแห่งเทพ ผู้ยิ่งใหญ่ใช้มา
จึงได้รีบนำอาหารทิพย์มา ข้าแต่พระมหามุนี
ขอพระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้าว่า มาตลีเทพสารถี
ขอพระคุณเจ้าจงบริโภคภัตรอันอุดม อย่าห้ามเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๒๙] ก็อาหารทิพย์นั้นบุคคลผู้บริโภคแล้ว
ย่อมกำจัดบาปธรรมได้ ๑๒ ประการ คือ

๑. ความหิว ๒. ความกระหาย
๓. ความไม่ยินดี ๔. ความกระวนกระวาย
๕. ความเหน็ดเหนื่อย ๖. ความโกรธ
๗. ความผูกโกรธ ๘. ความวิวาท
๙. ความส่อเสียด ๑๐. ความหนาว
๑๑. ความร้อน ๑๒. ความเกียจคร้าน
อาหารทิพย์นี้รสยอดเยี่ยม

(โกสิยดาบสเมื่อจะเปิดเผยการสมาทานวัตรของตน จึงกล่าวคาถาว่า)
[๒๓๐] มาตลี การไม่ให้ก่อนแล้วบริโภคไม่สมควรแก่อาตมา
วัตรอันอุดมของอาตมาเป็นดังนี้
อนึ่ง การบริโภคคนเดียวพระอริยะหาบูชาไม่
และบุคคลผู้ไม่จำแนกแจกจ่ายย่อมไม่ประสบความสุข
(โกสิยดาบสถูกมาตลีเทพบุตรถาม จึงตอบว่า)
[๒๓๑] ชนทั้งหลายเหล่านี้ บางพวกเป็นผู้ฆ่าหญิง
คบชู้ภรรยาชายอื่น ประทุษร้ายมิตร
และด่าว่าสมณะและพราหมณ์ผู้มีวัตรดีงาม
ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีความตระหนี่เป็นประการที่ ๕
ชื่อว่าเป็นคนเลวทราม เพราะเหตุนั้น
แม้แต่น้ำอาตมาไม่ให้แล้วจะไม่ยอมดื่ม
[๒๓๒] อนึ่ง อาตมาจักให้ทานที่ท่านผู้รู้สรรเสริญแก่หญิงหรือชาย
เพราะว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา
รู้ถ้อยคำของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าสะอาดและซื่อสัตย์ในโลกนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๓] ลำดับนั้น เทพกัญญาทั้ง ๔ นางผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
ซึ่งท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทพทั้งหลาย
ทรงอนุมัติแล้ว ทรงส่งไปแล้ว คือ
๑. เทพธิดาอาสา ๒. เทพธิดาสัทธา
๓. เทพธิดาสิรี ๔. เทพธิดาหิรี
ได้มาถึงอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบสนั้น
[๒๓๔] โกสิยดาบสครั้นเห็นเทพกัญญาเหล่านั้น
มีความปราโมทย์อย่างยิ่ง จึงได้กล่าวกับเทพกัญญาทั้ง ๔
ผู้มีผิวพรรณงดงามประดุจเปลวเพลิงทั้ง ๔ ทิศ
ต่อหน้ามาตลีเทพบุตรว่า
[๒๓๕] แม่เทพธิดา เธอมีนามใด ประดับตบแต่งร่างกายงดงาม
ประดุจดาวประกายพรึกซึ่งประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย
มีผิวพรรณเปล่งปลั่งอยู่ ณ ทิศตะวันออก
อาตมาขอถามเธอผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพชั้นไหน
(สิรีเทพกัญญาตอบว่า)
[๒๓๖] ดิฉันชื่อสิรีเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
[๒๓๗] ท่านมหามุนี ดิฉันปรารถนาอาหารทิพย์ของนรชนใด
นรชนนั้นย่อมบันเทิงใจด้วยกามคุณทั้งปวง ข้าแต่พระคุณเจ้า
ผู้มีปัญญาอันประเสริฐ อุดมกว่าผู้บูชาไฟทั้งหลาย
พระคุณเจ้าจงรู้จักดิฉันว่า สิรีเทวี
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๓๘] นรชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศิลปวิทยา มารยาท
และความรู้ เป็นผู้ชำนาญการงานของตน
ถูกเธอทอดทิ้งให้เหินห่าง ย่อมไม่ได้อะไรแม้แต่น้อย
ความขาดแคลนที่เธอกระทำแล้วนั้นไม่ดีเลย
[๒๓๙] แม่นางสิรีเทวี อาตมาเห็นคนผู้เกียจคร้าน กินจุ
ทั้งเป็นคนมีตระกูลต่ำ มีรูปร่างแปลกประหลาด
คนนั้นผู้อันเธอเฝ้าคุ้มครองรักษา
กลับกลายเป็นคนมีโภคะ มีความสุข
แม้คนผู้สมบูรณ์ด้วยชาติตระกูล
ก็ใช้สอยได้เหมือนอย่างทาส
[๒๔๐] เพราะฉะนั้น อาตมาจึงรู้จักเธอว่า ไม่มีสัจจะ
ไม่แยกคบคน เป็นคนงมงาย ทำผู้รู้ให้ตกต่ำ
เทพธิดาเช่นเธอจึงไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด
อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางอาสาเทพธิดาว่า)
[๒๔๑] ใครกันนั่น มีฟันขาวสะอาด
สวมใส่ตุ้มหู มีเรือนร่างงามวิจิตร
ทรงเครื่องประดับทองคำเนื้อเกลี้ยง นุ่งห่มภูษาสีรดน้ำ
ประดับช่อดอกไม้สีแดงประดุจเปลวไฟที่ไหม้หญ้าคา
ดูช่างงดงาม
[๒๔๒] เธอเหมือนนางเนื้อทรายผู้ตื่นกลัว
ที่ถูกนายพรานยิงพลาดแล้วมองดูอย่างงุนงง
แม่เทพธิดาผู้มีดวงตาซื่อ ในที่นี้ใครเป็นเพื่อนของเธอ
เธอเที่ยวไปผู้เดียวในป่าใหญ่ ไม่กลัวหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น