Google Analytics 4




พจนานุกรมพุทธศาสน์ สันตาปทุกข์-ไสยาวสาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์

สันตาปทุกข์ ทุกข์คือความร้อนรุ่ม, ทุกข์ร้อนได้แก่ความกระวนกระวายใจ เพราะถูกไฟกิเลสคือ ราคะ โทสะ และ โมหะแผดเผา

สันติ, สันติภาพ ความสงบ

สันติเกนิทาน เรื่องใกล้ชิด หมายถึงเรื่องราวหรือความเป็นมาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ตรัสรู้จนเสด็จปรินิพพาน

สันติวิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างสงบ

สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ (ข้อ ๒ ในกถาวัตถุ ๑๐)

สันถัต ผ้ารองนั่ง หล่อด้วยขนเจียม

สันทัด ถนัด, จัดเจน, ชำนาญ, ปานกลาง

สันทัสสนา การให้เห็นชัดแจ้ง หรือชี้ให้ชัด คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเรื่องราวและเหตุผลต่างๆ แจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นประจักษ์กับตา, เป็นลักษณะอย่างแรกของการสอนที่ดีตามแนวพุทธจริยา (ข้อต่อไปคือสมาทปนา)

สนฺทิฏฺฐิโก พระธรรมอันผู้ได้บรรลุย่อมเห็นเองรู้เอง ประจักษ์แจ้งกับตนไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อต่อถ้อยคำของใคร (ข้อ ๒ ในธรรมคุณ ๖ )

สันนิธิ การสั่งสม, ของที่สั่งสมไว้หมายถึงของเคี้ยวของฉันที่รับประเคนแล้วเก็บไว้ค้างคืนเพื่อจะฉันในวันรุ่งขึ้น ภิกษุฉันของนั้น เป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืน (สิกขาบทที่ ๘ แห่งโภชนวรรคปาจิตติยกัณฑ์)

สันนิบาติ การประชุม, ที่ประชุม

สันนิปาติกา อาพาธา ความเจ็บไข้เกิดจากสันนิบาต (คือประชุมกันแห่งสมุฏฐานทั้งสาม), ไข้สันนิบาต คือความเจ็บไข้ที่เกิดขึ้นแต่ดี เสมหะ และลม ทั้งสามเจือกัน

สันนิวาส ที่อยู่, ที่พัก; การอยู่ด้วยกัน, การอยู่ร่วมกัน

สันนิษฐาน ความตกลงใจ, ลงความเห็นในที่สุด; ไทยใช้ในความหมายว่า ลงความเห็นเป็นการคาดคะเนไว้ก่อน

สันยาสี ผู้สละโลกแล้วตามธรรมเนียมของศาสนาฮินดู ดู อาศรม

สันสกฤต ชื่อภาษาโบราณของอินเดียภาษาหนึ่ง ใช้ในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

สัปดาห์ ๗ วัน, ระยะ ๗ วัน

สัปบุรุษ ดู สัปปุรุษ

สัปปาณกวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องสัตว์มีชีวิตเป็นต้น, เป็นวรรคที่ ๗ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ในมหาวิภังค์แห่งพระวินัยปิฎก

สัปปายะ สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวย โดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การ บำเพ็ญและประดับประคองรักษาสมาธิ ท่านแสดงไว้ ๗ อย่าง คือ อาวาส (ที่อยู่) โคจร (ที่บิณฑบาตหรือแหล่ง อาหาร) ภัสสะ (เรื่องพูดคุยที่เสริมการปฏิบัติ) บุคคล (ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใสสงบมั่นคง) โภชนะ (อาหาร) อุตุ (สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ) อิริยาบถ; ทั้ง ๗ นี้ ที่เหมาะกันเป็นสัปปายะ ที่ไม่สบายเป็นอสัปปายะ

สัปปิโสณฑิกา ชื่อเงื้อมเขาแห่งหนึ่งอยู่ที่สีตวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระ อานนท์

สัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมของคนดี, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ อย่างคือ ๑. ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้ จักเหตุ ๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล ๓. อัตตัญญุตา รู้จักตน ๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ๕. กาลัญ- ญุตารู้จักกาล ๖. ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน ๗. ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล; อีกหมวดหนึ่งมี ๘ อย่าง คือ ๑. ประกอบด้วย สัทธรรม ๗ ประการ ๒. ภักดีสัตบุรุษ (คบหาผู้มีสัทธรรม ๗) ๓. คิดอย่างสัตบุรุษ ๔. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ ๕. พูด อย่างสัตบุรุษ ๖. ทำอย่างสัตบุรุษ (๓-๔-๕-๖ คือ คิดปรึกษา พูด ทำ มิใช่เพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น) ๗. มีความเห็น อย่างสัตบุรุษ (คือเห็นชอบว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่วเป็นต้น) ๘. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (คือให้โดยเคารพ เอื้อเฟื้อแก่ ของและผู้รับทาน เป็นต้น)

สัปปุริสบัญญัติ ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้, บัญญัติของคนดี มี ๓ คือ ๑. ทาน ปันสละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ๒. ปัพพัชชา ถือบวช เว้นจากการเบียดเบียนกัน ๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน บำรุงมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข

สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ, คบคนดี, ได้คนดีเป็นที่พึ่งอาศัย (ข้อ ๒ ในจักร ๔)

สัปปุริสูปสังเสวะ คบสัตบุรุษ, คบคนดี, คบท่านที่ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ (ข้อ ๑ ในวุฑฒิ ๔)

สัปปุรุษ เป็นคำเลือนปะปนระหว่างสัปปุริสที่เขียนอย่างบาลี กับสัตบุรุษที่เขียนอย่างสันสกฤต มีความหมายอย่างเดียวกัน (ดู สัตบุรุษ) แต่ในภาษาไทยเป็นคำอยู่ข้างโบราณ ใช้กันในความหมายว่า คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมทางบุญทางกุศล รักษาศีลฟังธรรมเป็นประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง บางทีเรียกตามความผูกพันกับวัดว่า สัปปุรุษวัดนั้น สัปปุรุษวัดนี้

สัพพกามี ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ เป็นผู้มีพรรษาสูงสุด และทำหน้าที่วิสัชนา

สัพพโลเกอนภิรตสัญญา กำหนดหมายถึงความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง (ข้อ ๘ ในสัญญา ๑๐)

สัพพสังขาเรสุอนิฏฐสัญญา กำหนดหมายถึงความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง (ข้อ ๙ ในสัญญา ๑๐)

สัพพัญญุตญาณ ญาณคือความเป็นพระสัพพัญญู, พระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

สัพพัญญู ผู้รู้หมด, ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง, พระนามของพระพุทธเจ้า

สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ทางที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือทั้งสุคติ ทุคติ และทางแห่งนิพพาน (ข้อ ๓ ในทศพลญาณ)

สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก, ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้; มักมาคู่กับสติ (ข้อ ๒ ในธรรมมีอุปการะมาก ๒)

สัมปชานมุสาวาท รู้ตัวอยู่กล่าวเท็จ, การพูดเท็จทั้งที่รู้ คือ รู้ความจริง แต่จงใจพูดให้คลาดจากความจริง เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเป็นอย่างอื่นจากความจริง (สิกขาบทที่ ๑ แห่งมุสาวาทวรรคปาจิตติยกัณฑ์)

สัมปยุต ประกอบด้วย; สัมปยุตต์ ก็เขียน

สัมปโยค การประกอบกัน

สัมประหาร การสู้รบกัน, การต่อสู้กัน

สัมปรายภพ ภพหน้า

สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่าและเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑. สัทธาสัมปทา ถึง พร้อมด้วยศรัทธา ๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล ๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อม ด้วยปัญญา ธรรม ๔ อย่างนี้เรียกเต็มว่า สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม

สัมปหังสนา การทำให้ร่าเริง หรือปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่นแจ่มใส เบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่นมี ความหวัง มองเห็นผลดีและทางสำเร็จ, เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการสอนที่ดีตามแนวพุทธจริย (ข้อก่อนคือสมุตเตชนา)

สัมปัตตวิรัติ ความเว้นจากวัตถุอันถึงเข้า, การเว้นเมื่อประสบซึ่งหน้าคือไม่ได้สมาทานศีล หรือตั้งใจละเว้นมาก่อน แต่เมื่อประสบเหตุอันจะทำให้ทำความชั่วหรือละเมิดศีลเข้าเฉพาะหน้า ก็ละเว้นได้ในขณะนั้นเอง ไม่ล่วงละเมิดศีล (ข้อ ๑ ในวิรัติ ๓)

สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ, พูดเหลวไหล, พูดไม่เป็นประโยชน์, ไม่มีเหตุผล,ไร้สาระ ไม่ถูกกาลถูกเวลา (ข้อ ๗ ใน อกุศลกรรมบถ ๑๐)

สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ, เว้นจากพูดเหลวไหลไม่เป็นประโยชน์, พูดคำจริง มีเหตุผล มีประโยชน์ ถูกกาละเทศะ (ข้อ ๗ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)

สัมผัส ความกระทบ,การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก,ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอกและ วิญญาณ มี ๖ เริ่มแต่จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา เป็นต้น จนถึง มโนสัมผัส สัมผัสทางใจ (เรียงตามอายตนะภายใน ๖); ผัสสะ ก็เรียก

สัมพันธ์ 1. เกี่ยวข้อง, ผูกพัน, เนื่องกัน 2. ในทางอักขรวิธีภาษาบาลี หมายถึงบทที่เชื่อมกับบทอื่น เช่น ตุณฺหสฺส หรือ ตุณฺหิสฺส (= ตุณฺหี + อัสฺส)

สัมพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้เอง, พระพุทธเจ้า

สัมภเวสี ผู้แสวงสมภพ, ดู ภูตะ

สัมภาระ สิ่งของต่างๆ วัตถุ, วัสดุ, เครื่องใช้, องค์, ส่วนประกอบ; การประชุมเข้า

สัมภูตสาณวาสี ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒

สัมโภคนาสนา ให้ฉิบหายเสียจากการกินร่วม, เป็นศัพท์ผูกใหม่ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโร รส ว่าน่าจะใช้แทนคำว่าทัณฑกรรมนาสนา (การให้ฉิบหายด้วยทัณฑกรรม คือ การลงโทษสามเณรผู้กล่าวตู่พระ ธรรมเทศนาโดยไล่จากสำนัก และไม่ให้ภิกษุทั้งหลายคบด้วยตามสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งสัปปาณกวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)

สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ คือกุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎีแล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม ดู กัปปิยภูมิ

สัมมสนญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยพิจาร ณานามรูปโดยไตรลักษณ์, ญาณที่พิจารณาหรือตรวจตรานามรูปหรือสังขาร มองเห็นตามแนวไตรักษณ์ คือ รู้ว่า ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน (ข้อ ๓ ในญาณ ๑๖)

สัมมัตตะ ความเป็นถูก, ภาวะที่ถูกมี ๑๐ อย่าง ๘ ข้อต้น ตรงกับองค์มรรคทั้ง ๘ ข้อ เพิ่ม ๒ ข้อท้าย คือ ๙. สัมมาญาณ รู้ชอบ ได้แก่ผลญาณและปัจจเวกขณญาณ ๑๐. สัมมาวิมุตติ พ้นชอบได้แก่อรหัตตผลวิมุตติ; เรียกอีกอย่างว่า อเสขธรรม ๑๐; ตรงข้ามกับมิจฉัตตะ ๑๐

สัมมา โดยชอบ, ดี, ถูกต้อง, ถูกถ้วน, สมบูรณ์, จริง, แท้

สัมมากัมมันตะ ทำการชอบ หรือการงานชอบ ได้แก่ การกระทำที่เว้นจากความประพฤติชั่วทางกายสามอย่าง คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม คือ เว้นจากกายทุจริต ๓ (ข้อ ๔ ในมรรค)

สัมมาญาณะ รู้ชอบ ได้แก่ผลญาณ คือญาณอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมรรคญาณ เช่น โสดาปัตติผล เป็นต้น และปัจจเวกขณญาณ (ข้อ ๙ ในสัมมัตตะ ๑๐)

สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔, เห็นชอบตามคลองธรรมว่าทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่ว มารดาบิดามี (คือมีคุณความดีควรแก่ฐานะหนึ่งที่เรียกว่ามารดาบิดา) ฯลฯ, เห็นถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงเป็นต้น (ข้อ ๑ ในมรรค)

สัมมาทิฏฐิสูตร พระสูตรแสดงความหมายต่างๆ แห่งสัมมาทิฏฐิ เป็นภาษิตของพระสารีบุตร (สูตรที่ ๙ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก)

สัมมาปฏิบัติ ปฏิบัติชอบ คือปฏิบัติชอบธรรม, ปฏิบัติถูกทำนองคลองธรรม, ดำเนินในมรรคามีองค์ ๘ ประการ (ปฏิบัติตามมรรค)

สัมมาปาสะ “บ่วงคล้องไว้มั่น”, ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุน ไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น (ข้อ ๓ ใน ราชสังคหวัตถุ ๔)

สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔ (ข้อ ๓ ในมรรค)

สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน ได้แก่ ๑. สังวรปธาน ๒. ปหานปธาน ๓. ภาวนาปธาน ๔. อนุรักข- นาปธาน (ข้อ ๖ ในมรรค); ดู ปธาน

สัมมาวิมุตติ พ้นชอบ ได้แก่อรหัตตผล วิมุตติ (ข้อ ๑๐ ในสัมมัตตะ ๑๐)

สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกใน สติปัฏฐาน ๔ (ข้อ ๗ ในมรรค)

สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ จิตมั่นชอบ คือสมาธิที่เจริญตามแนวของ ฌาณ ๔ (ข้อ ๘ ในมรรค)

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ๑. เนกขัมมสังกัปปะ ดำริจะออกจากกามหรือปลอดจากโลภะ ๒. อัพยาปาทสังกัปปะ ดำริในอันไม่พยาบาท ๓. อวิหิงสาสังกัปปะ ดำริในอันไม่เบียดเบียน (ข้อ ๒ ในมรรค)

สัมมาสัมพุทธเจดีย์ เจดีย์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, เจดีย์ที่เป็นเครื่องเตือนจิตให้ระลึกถึงสมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า ดู เจดีย์

สมฺมาสมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือรู้อริยสัจ ๔ โดยไม่เคยได้เรียนรู้จากผู้อื่น จึงทรงเป็นผู้เริ่มประกาศสัจธรรมแก่ผู้อื่น เป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา และจึงได้พระนามอย่างหนึ่งว่าธรรมสามี คือเป็นเจ้าของธรรม (ข้อ ๒ ในพุทธคุณ ๙)

สัมมาสัมโพธิญาณ ญาณเป็นเครื่องตรัสรู้เองโดยชอบ

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด เช่น โกงเขา หลอกลวง สอพลอ บีบบังคับขู่เข็ญ ค้าคน ค้ายาเสพติด ค้ายาพิษ เป็นต้น (ข้อ ๕ ในมรรค)

สัมมุขาวินัย ระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า, วิธีระงับต่อหน้า ได้แก่การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ (สังฆสัมมุขตา คือภิกษุเข้าประชุมครบองค์สงฆ์), ในที่พร้อมหน้าบุคคล (ปุคคลสัมมุขตา คือบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้า กัน), ในที่พร้อมหน้าวัตถุ (วัตถุสัมมุขตา คือยกเรื่องที่เกิดนั้นขึ้นวินิจฉัย), ในที่พร้อมหน้าธรรมวินัย (ธัมมสัมมุขตา และ วินยสัมมุขตา คือนำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมวินัยมาใช้ปฏิบัติ ได้แก่วินิจฉัยถูกธรรมถูกวินัย), สัมมุขาวินัย ใช้เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ได้ทุกอย่าง

สัมโมทนียกถา “ถ้อยคำเป็นที่บันเทิงใจ”, คำต้อนรับทักทาย, คำปราศรัย; ปัจจุบันนิยมเรียกสุนทรพจน์ที่พระสงฆ์ กล่าวว่า สัมโมทนียกถา

สัมฤทธิ์ ความสำเร็จ

สัลลวตี แม่น้ำที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบท ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่าอัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและ สัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิ ในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง ตรงข้ามกับอุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๒)

สัสสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงข้าวกล้า, พระปรีชาในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดม สมบูรณ์ เป็นสังคหวัตถุประการหนึ่งที่พระราชาจะพึงทรงบำเพ็ญ

สากัจฉา การพูดจา, การสนทนา

สากิยานี เจ้าหญิงวงศ์ศากยะ

สาเกต ชื่อมหานครแห่งหนึ่ง อยู่ในแคว้นโกศล ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์ ธนัญชัยเศรษฐี บิดาของนางวิสาขา ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้เข้าตั้งถิ่นฐานและสร้างขึ้น เมื่อคราวที่ท่านเศรษฐีอพยพจากเมือง ราชคฤห์มาอยู่ในแคว้นโกศลตามคำเชิญชวนของพระองค์

สาขนคร เมืองกิ่ง, เมืองเล็ก

สาคตะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดามี ความเลื่อมใส ขอบวชแล้วทำความเพียรเจริญสมาบัติ ๘ ประการ จนมีความชำนาญในสมาบัติ ท่านเป็นต้นบัญญัติสุราปานสิกขาบท และเพราะเกิดความสังเวชในเหตุการณ์ที่เกิดกับตนครั้งนี้ จึงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเตโชธาตุสมาบัติ

สาคร ทะเล

สาคละ ชื่อนครหลวงของแคว้น มัททะ และต่อมาภายหลังพุทธกาลได้เป็นราชธานีของพระเจ้ามิลินท์กษัตริย์นัก ปราชญ์ที่ได้โต้วาทะกับพระนาคเสน, ปัจจุบัน อยู่ในแคว้นปัญจาบ; แคว้นมัททะนั้นบางคราวถูกเข้าใจสับสนกับ แคว้น มัจฉะ ทำให้สาคละพลอยถูกเรียกเป็นเมืองหลวงหลวงของแคว้นมัจฉะไปก็มี

สาชีพ แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้มีชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน ได้แก่สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรง บัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลายผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่างๆ กัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน; มาคู่กับสิกขา

สาณะ ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน, ผ้าป่าน

สาณัตติกะ อาบัติที่ต้องเพราะสั่ง คือสั่งผู้อื่นทำ ตัวเองไม่ได้ทำ ก็ต้องอาบัติ เช่น สั่งให้ผู้อื่นลักทรัพย์ เป็นต้น

สาฎก ผ้า, ผ้าห่ม, ผ้าคลุม

สาตรูป รูปเป็นที่ชื่นใจ; ดู ปิยรูป

สาเถยยะ โอ้อวด, ความโอ้อวดหลอกเขา, เขียน สาไถย ก็ได้ (ข้อ ๖ ในมละ ๙, ข้อ ๑๐ ในอุปกิเลส ๑๖)

สาธก อ้างตัวอย่างให้เห็นสม, ยกตัวอย่างมาอ้างให้เห็น

สาธยาย การท่อง, การสวด

สาธารณ์ ทั่วไป, ทั่วไปแก่หมู่, ของส่วนรวม ไม่ใช่ของใครโดยเฉพาะ

สาธารณสถาน สถานที่สำหรับคนทั่วไป

สาธารณสิกขาบท สิกขาบทที่ทั่วไป,สิกขาบทที่ใช้บังคับทั่วกันหรือเสมอเหมือนกัน หมายถึง สิกขาบทสำหรับภิกษุณี ที่เหมือนกันกับสิกขาบทของภิกษุ เช่น ปาราชิก ๔ ข้อต้นในจำนวน ๘ ข้อของภิกษุณีเหมือนกันกับสิกขาบทของภิกษุ เทียบ อสาธารณสิกขาบท

สาธุการ การเปล่งวาจาว่า สาธุ (แปลว่าดีแล้ว ชอบแล้ว) เพื่อแสดงความเห็นชอบด้วย ชื่นชม หรือยกย่องสรรเสริญ

สาธุชน คนดี, คนมีศีลธรรม, คนมีสัมมาทิฏฐิ

สานต์ สงบ

สามเณร เหล่ากอแห่งสมณะ, บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้ยังมิได้อุปสมบท เพียงแต่รับบรรพชาด้วยไตรสรณคมน์ ถือสิกขาบท ๑๐ และกิจวัตรบางอย่างตามปกติ มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์, พระราหุลเป็นสามเณรองค์แรกใน พระพุทธศาสนา

สามเณรเปสกะ ภิกษุผู้ใด้รับสมมติคือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ใช้สามเณร (เป็นเจ้าอธิการแห่งอาราม ประเภทหนึ่ง)

สามเณรี สามเณรผู้หญิง, หญิงรับบรรพชาในสำนักภิกษุณี ถือสิกขาบท ๑๐ เหมือนสามเณร

สามเพท ชื่อคัมภีร์ที่ ๓ ของพระเวท; ดูไตรเพท

สามัคคีปวารณา กรณีอย่างสามัคคี อุโบสถนั่นเอง เมื่อทำปวารณา เรียกว่า สามัคคีปวารณา และวันที่ทำนั้นก็เรียก วัน สามัคคี

สามัคคีอุโบสถ อุโบสถที่ทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษเมื่อสงฆ์สองฝ่ายซึ่งแตกกันกลับมาปรองดองสมานกันเข้าได้สามัคคี อุโบสถไม่กำหนดด้วยวันที่ตายตัว สงฆ์พร้อมเพรียงกันเมื่อใด ก็ทำเมื่อนั้น เรียกวันนั้นว่า วันสามัคคี

สามัญ 1. ปรกติ, ธรรมดา, ทั่วๆ ไป 2. ความเป็นสมณะ, มักเขียนสามัญญะ

สามัญญผลสูตร สูตรที่ ๒ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยผลของความเป็นสมณะคือ ประโยชน์ที่จะได้จากการดำรงเพศเป็นสมณะ หรือบำเพ็ญสมณธรรม

สามัญญลักษณะ ดู สามัญลักษณะ

สามัญญสโมธาน ดู โอธานสโมธาน

สามัญผล ผลแห่งความเป็นสมณะ; ดู สามัญญผลสูตร

สามัญลักษณะ ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง ได้แก่ ๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ๒. ทุกขตา ความเป็น ทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้ ๓. อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวตนแสดงความตามบาลีดังนี้ ๑. สพฺเพ - สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ๒. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ๓. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงมิใช่ตัวตน; ลักษณะเหล่านี้มี ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์, ลักษณะเหล่านี้เป็นของแน่นอน เป็นกฏ ธรรมดา จึงเรียกว่าธรรมนิยาม

สามันตราช พระราชาแคว้นใกล้เคียง

สามิษ, สามิส เจือด้วยอามิษคือ เครื่องล่อ, ต้องขึ้นต่อวัตถุหรืออารมณ์ภายนอก

สามิสสุข สุขเจืออามิส,สุขที่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ ได้แก่สุขที่เกิดจากกามคุณ (ข้อ ๑ ในสุข ๒)

สามีจิกรรม การชอบ, กิจชอบ, การกระทำที่สมควร,การแสดงความเคารพ

สามีจิปฏิปนฺโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติชอบ, ปฏิบัติสมควรได้รับสามีจิกรรม คือ ปฏิบัติน่าเคารพนับถือ (ข้อ ๔ ใน สังฆคุณ ๙)

สามุกกังสิกา แปลตามอรรถกถาว่าพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นถือเอาเอง คือ ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ (ตรัสรู้เอง) ได้แก่อริยสัจจเทศนา, ตามแบบเรียน แปลว่า ธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง คือ ไม่ต้อง ปรารภคำถามเป็นต้นของผู้ฟัง ได้แก่เทศนาเรื่องอริยสัจ

สายโยค สายโยก, สายรัด ใช้กับถุงต่างๆ เช่น ที่ประกอบกับถุงบาตรแปลกันว่าสายโยกบาตร (บาลีว่า อํสวทฺธก); บาง แห่งแปล อาโยค คือผ้ารัดเข่า หรือ สายรัดเข่า ว่า สายโยคก็มี แต่ในพระวินัยปิฎก ไม่แปลเช่นนั้น

สายัณห์ เวลาเย็น

สารณา การให้ระลึก ได้แก่กิริยาที่สอบถามเพื่อฟังคำให้การของจำเลย, การสอบสอบสวน

สารท เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ เดิมเป็นฤดูทำบุญด้วยเอาข้าวที่กำลังท้อง (ข้าวรวงเป็นน้ำนม) มาทำยาคูและกวน ข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ อย่างนี้เรียกว่ากวนข้าวทิพย์ ส่วนผู้นับถือพุทธศาสนานำคตินั้นมาใช้ แต่เปลี่ยนเป็นถวาย แก่พระภิกษุสงฆ์อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติในปรโลก สำหรับชาวบ้านทั่วไปมักทำแต่กระยาสารท เป็นต้น (ต่างจาก ศราทธ์)

สารนาถ ชื่อปัจจุบันของอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เคยเจริญ รุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางการศึกษาทางพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีเจดีย์ใหญ่สูง ๒๐๐ ฟุต ถูกชาวฮินดูทำลาย ก่อน แล้วถูกนายทัพมุสลิมทำลายสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๑๗๓๘ (สารนาถมาจาก สารังคนาถ แปลว่า ที่พึ่งของเหล่ากวางเนื้อ)

สารัตถทีปนี ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายความในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก พระสารีบุตรเถระ แห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖-๑๗๒๙)

สารัตถปกาสินี ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในสังยุตตนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนาใน เกาะลังกา เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐

สารันทเจดีย์ เจดียสถานแห่งหนึ่งที่เมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่ พระอานนท์ บาลีเป็น สารันททเจดีย์

สารัมภะ แข่งดี (ข้อ ๑๒ ในอุปกิเลส ๑๖)

สาราค ราคะกล้า, ความกำหนัดย้อมใจ

สาราณียธรรม ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือ กัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มี ๖ อย่าง คือ ๑. ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๒. ตั้งวจี กรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๓. ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๔. แบ่ง ปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกับเพื่อนภิกษุสามเณร (มีสีลสามัญญตา) ๖. มีความเห็นร่วม กันได้กับภิกษุสามเณรอื่นๆ (มีทิษฐิสามัญญตา); สารณียธรรม ก็เขียน

สารี ชื่อนางพราหมณีผู้เป็นมารดาของพระสารีบุตร

สารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้งสองคนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก แต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมในติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอน ได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในทางมีปัญญามากและเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็นพระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็น มิจฉาทิฐิ ให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลักจากปลงศพแล้ว พระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (ถรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน) พระสารีบุตรมีคุณธรรมและจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างหลายประการเช่น เป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดงออกเกี่ยวกับพระอัสสชิ (นอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่) และราธพราหมณ์ (ระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่งทัพพีและรับเป็นอุปัชฌาย์แก่ราธะ) สมบูรณ์ด้วยขันติธรรมต่อคำว่ากล่าว (ยอมรับคำแนะนำแม้ของสามเณร ๗ ขวบ) เป็นผู้เอาใจใส่อนุเคราะห์เด็ก (เช่น ช่วยเอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแล ซึ่งเก่งกล้าสามารถหลายรูป) และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธ เป็นต้น

สารีริกธาตุ พระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า, กระดูกของพระพุทธเจ้า

สารูป เหมาะ, สมควร, ธรรมเนียมควรประพฤติในเวลาเข้าบ้าน, เป็นหมวดที่ ๑ แห่งเขสิยวัตร มี ๒๖ สิกขาบท

สาละ ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งของอินเดีย พระพุทธเจ้าประสูติและปรินิพพานใต้ร่มไม้สาละ (เคยแปลกันว่า ต้นรัง)

สาลคาม ชื่อตำบลหนึ่งในสักกชนบท

สาลพฤกษ์ ต้นสาละ

สาลวโนทยาน สวนป่าไม้สาละ

สาลวัน ป่าไม้สาละ

สาโลหิต สายโลหิต, ผู้ร่วมสายเลือด

สาวก ผู้ฟัง, ผู้ฟังคำสอน, ศิษย์

สาวนะ, สาวนมาส เดือน ๙

สาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศลแคว้นโกศลตั้งอยู่ระหว่างภูเขาหิมาลัยกับแม่น้ำคงคาตอนกลาง อาณาเขตทิศเหนือ จดเทือกเขาเนปาล ทิศตะวันออก จดแคว้นกาสี ต่อกับแคว้นมคธ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดแม่น้ำคงคา; พระนครสาวัตถี เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุด รวมถึง ๒๕ พรรษา บัดนี้เรียกสะเหตมะเหต (Sahet-Mahet)

สาวิกา หญิงผู้ฟังคำสอน, สาวกหญิง, ศิษย์ผู้หญิง คู่กับ สาวก

สาสวะ เป็นไปกับด้วยอาสวะ, ประกอบด้วยอาสวะ, ยังมีอาสวะ, เป็นโลกิยะ

สาหัตถิกะ ทำด้วยมือของตนเอง หมายถึงลักด้วยมือของตนเอง เป็นอวหารอย่างหนึ่งใน ๒๕ อย่าง ที่พระอรรถกถา- จารย์แสดงไว้ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๒

สาฬหะ ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒

สำนอง รับผิดชอบ, ต้องรับใช้, ตอบแทน

สำนัก อยู่, ที่อยู่, ที่พัก, ที่อาศัย, แหล่ง

สำรวม ระมัดระวัง, เหนี่ยวรั้ง, ระวังรักษาให้สงบเรียบร้อย เช่น สำรวมตา, สำรวมกาย, ครอง เช่นสำรวมสติ คือครอง สติ, ดู สังวร; รวม ประสม ปนกัน เช่น อาหารสำรวม

สำรวมอินทรีย์ ดู อินทรียสังวร

สำรอก ทำสิ่งที่ไม่ต้องการให้หลุดออกมา, นำออก, เอาออก เช่นสำรอกสี จิตสำรอกออกจากอาสวะ อวิชชาสำรอกไป (วิราคะ)

สำลาน สีเหลืองปนแดง

สำเหนียก กำหนด, จดจำ, คอยเอาใจใส่, ฟัง, ใส่ใจคิดที่จะนำไปปฏิบัติ, ใส่ใจสังเกตพิจารณาจับเอาสาระเพื่อจะนำไป ปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ (คำพระว่า สิกขา หรือ ศึกษา)

สิกขมานา นางผู้กำลังศึกษา, สามเณรี, ผู้มีอายุถึง ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ ปีจะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขา สมมติ คือ ตกลงให้สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึงวิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษา อย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลย ตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่ง ต้องสมาทานตั้งต้นไปใหม่อีก ๒ ปี) ครบ ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ อย่างเคร่งครัดนี้เรียกว่า นางสิกขมานา

สิกขา การศึกษา, การสำเหนียก, ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรม มี ๓ อย่างคือ ๑. อธิสีลสิกขา ฝึกอบรม ในเรื่องศีล ๒. อธิจิตตสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องจิต เรียกง่ายๆ ว่าสมาธิ ๓. อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา รวม เรียกว่า ไตรสิกขา

สิกขาคารวตา ดู คารวะ

สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันเยี่ยม ได้แก่ การฝึกอบรมในอธิศีล อธิจิตต์ และอธิปัญญา (ข้อ ๔ ในอนุตตริยะ ๖)

สิกขาบท ข้อที่ต้องศึกษา, ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติข้อหนึ่งๆ ในพระวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ, ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ๓๑๑ แต่ละข้อๆ เรียกว่าสิกขาบท เพราะเป็นข้อที่จะต้องศึกษา หรือเป็นบทฝึกฝนอบรมตนของ สาธุชน อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุ และภิกษุณี ตามลำดับ

สิกขาสมมติ ความตกลงยินยอมของภิกษุณีสงฆ์ที่จะให้สามเณรี ผู้มีอายุ ๑๘ ปีเต็มแล้ว เริ่มรักษาสิกขาบท ๖ ประการ ตลอดเวลา ๒ ปี ก่อนที่จะได้อุปสมบท, เมื่อภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติแล้ว สามเณรีนั้นได้ชื่อว่าเป็นสิกขามานา

สิขี พระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต, ดู พระพุทธเจ้า ๗

สิคาลมาตา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่งเป็นธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์เจริญวัยแล้ว แต่งงาน มีบุตรคนหนึ่งชื่อ สิงคาลกุมาร วันหนึ่งได้ฟังธรรมีกถาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส (คัมภีร์อปทานว่า ได้ฟังสิงคาลกสูตรที่พระ พุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุตรของนาง ซึ่งว่าด้วยเรื่องอบายมุข มิตรแท้ มิตรเทียม ทิศ ๖ เป็นต้น และได้บรรลุโสดาปัตติ ผล) ขอบวชเป็นภิกษุณี ต่อมาได้ไปฟังธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดง นางคอยตั้งตาดูพระพุทธสิริสมบัติด้วย ศรัทธาอันแรงกล้า พระพุทธองค์ทรงทราบดังนั้น ก็ทรงแสดงธรรมให้เหมาะกับอัธยาศัยของนาง นางส่งใจไปตาม กระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาธิมุต, สิคาลกมาตา หรือ สิงคาลมาตาก็เรียก

สิง อยู่,เข้าอยู่

สิงคิวรรณ ผ้าเนื้อเกลี้ยงสีดังทองสิงคี บุตรของมัลลกษัตริย์ ซื่อปุกกุสะถวายแด่พระพุทธเจ้าในวันที่จะปรินิพพาน

สิงหล, สิงหฬ, สีหฬ ชาวสิงหล, ชาวลังกา, ซึ่งมีหรือผู้อยู่ในประเทศลังกา, ชนเชื้อชาติสิงหลหรือเผ่าสิงหลที่ต่างจาก ชนเชื้อชาติอื่น มีทมิฬเป็นต้น ในประเทศลังกา

สิถิล พยัญชนะออกเสียงเพลา ได้แก่พยัญชนะที่ ๑ ที่ ๓ ในวรรคทั้ง ๕ คือ ก ค, จ ช, ฏ ฑ, ต ท, ป พ

สิทธัตถกุมาร พระนามเดิมของพระพุทธเจ้า ก่อนเสด็จออกบรรพชา ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา คำว่า สิทธัตถ แปลว่า มีความต้องการสำเร็จหรือสำเร็จตามที่ต้องการ คือสมประสงค์ จะต้อง การอะไรได้หมด ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา เมื่อ พระชนมายุ ๑๖ ปี เสด็จออกบรรพชาเมื่อพระชนมายุ ๒๙ ปี ได้ตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ ๓๕ ปี ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ ปี

สินไถ่ เงินไถ่ค่าตัวทาส

สินธพ ม้าพันธุ์ดีเกิดที่ลุ่มน้ำสินธู

สิ้นพระชนม์ หมดอายุ, ตาย

สิเนรุ ชื่อภาษาบาลีของภูเขาเมรุ ดู เมรุ

สิลิฏฐพจน์ คำสละสลวย, คำไพเราะ, ได้แก่คำควบกับอีกคำหนึ่งเพื่อให้ฟังไพเราะในภาษา หาได้มีใจความพิเศษออก ไปไม่ เช่น คำว่าคณะสงฆ์ คณะก็คือสงฆ์ซึ่งแปลว่าหมู่ หมายถึงหมู่แห่งภิกษุจำนวนหนึ่ง “คณะ” คำนี้เรียกว่าเป็นสิ ลิฏฐพจน์ ในภาษาไทยเรียกว่าคำติดปาก ไม่ได้เพ่งเนื้อความ

สีกา คำที่พระภิกษุใช้เรียกผู้หญิงอย่างไม่เป็นทางการ เลือนมาจากอุบาสิกา บัดนี้ได้ยินใช้น้อย

สีต เย็น, หนาว

สีมันตริก เขตคั่นระหว่างมหาสีมา กับขัณฑสีมาเพื่อมิให้ระคนกัน เช่นเดียวกับชานที่กั้นเขตของกันและกันในระหว่าง

สีมา เขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์, เขตชุมนุมของสงฆ์, เขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายใน เขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่คือ ๑. พัทธสีมา แดนที่ผูก ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้น เอง ๒. อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่เขตที่ทางบ้านเมืองกำหนดไว้แล้วตามปกติของเขา หรือที่มีอย่างอื่นในทาง ธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด สงฆ์ถือเอาตามกำหนดนั้นไม่วางกำหนดขึ้นเองใหม่

สีมามีฉายาเป็นนิมิต สีมาที่ทำเงาอย่างใดอย่างหนึ่ง มีเงาภูเขาเป็นต้นเป็นนิมิต (มติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรสว่า สีมาที่ถือเงาเป็นแนวนิมิต) จัดเป็นสีมาวิบัติอย่างหนึ่ง

สีมาวิบัติ ความเสียโดยสีมา, เสียเพราะเขตชุมนุม (ไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์), สีมาใช้ไม่ได้ ทำให้สังฆกรรมซึ่งทำ ณ ที่นั้นวิบัติคือเสียหรือใช้ไม่ได้ (เป็นโมฆะ) ไปด้วย, คัมภีร์ปริวารแสดงเหตุให้กรรมเสียโดยสีมา ๑๑ อย่าง เช่น ๑. สมมติสีมาใหญ่เกินกำหนด (เกิน ๓ โยชน์) ๒. สมมติสีมาเล็กเกินกำหนด (จุไม่พอภิกษุ ๒๑ รูปนั่งเข้าหัตถบาสกัน) ๓. สมมติสีมามีนิมิตขาด ๔. สมมติสีมามีฉายาเป็นนิมิต ๕. สมมติสีมาไม่มีนิมิต ฯลฯ, สังฆกรรมที่ทำในที่เช่นนี้ก็เท่า กับทำในที่มิใช่สีมานั่นเอง จึงยอมใช้ไม่ได้ ดู วิบัติ (ของสังฆกรรม)

สีมาสมบัติ ความพร้อมมูลโดยสีมา, ความสมบูรณ์แห่งเขตชุมนุม, สีมาซึ่งสงฆ์สมมติแล้วโดยชอบ ไม่วิบัติ ทำให้ สังฆกรรมซึ่งทำในสีมานั้นมีผลสมบูรณ์ กล่าวคือ สีมาปราศจากข้อบกพร่องต่าง ที่เป็นเหตุให้สีมาวิบัติ (ดู สีมาวิบัติ) สังฆกรรมซึ่งทำ ณ ที่นั้นจึงชื่อว่าทำในสีมา จึงใช้ได้ในข้อนี้ ดู สมบัติ (ของสังฆกรรม)

สีมาสังกระ สีมาคาบเกี่ยวกัน, เป็นเหตุสีมาวิบัติอย่างหนึ่ง

สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล (ข้อ ๖ ในกถาวัตถุ ๑๐)

สีลขันธ์ กองศีล, หมวดธรรมว่าด้วยศีล เช่น กายสุจริต สัมมาอาชีวะ อินทรีย์สังวร โภชเนมัตตัญญุตา เป็นต้น (ข้อ ๑ ในธรรมขันธ์ ๕)

สีลขันธวรรค ตอนที่ ๑ ใน ๓ ตอนแห่งคัมภีร์ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก

สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล, ทำบุญด้วยการประพฤติดีงาม (ข้อ ๒ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)

สีลวิบัติ เสียศีล, สำหรับภิกษุ คือต้องอาบัติปาราชิกหรือสังฆาทิเสส (ข้อ ๑ ในวิบัติ ๔)

สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ตามภูมิของตน ซึ่งจะช่วยเป็นฐานให้เกิดสมาธิได้ (ข้อ ๑ ใน วิสุทธิ ๗)

สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็รักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติอยู่ในคลองธรรม ถ้าเป็นภิกษุก็ สำรวมในพระปาฏิโมกข์ มีมาร ยาทดีงาม เป็นต้น (ข้อ ๑ ในสัมปรายิกัตถะฯ, ข้อ ๑ ในจรณะ ๑๕)

สีลสามัญญตา ความสม่ำเสมอกันโดยศีล คือ รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณร ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารัง เกียจของหมู่คณะ (ข้อ ๕ ในสาราณียธรรม ๖)

สีลสิกขา ดู อธิสีลสิกขา

สีลัพพตปรามาส ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร (คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้ เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงามหรืออย่างงมงายก็ ตาม), ความถือศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมาย และความมุ่งหมายที่แท้จริง, ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่าจะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ล่วงธรรมดา วิสัย (ข้อ ๓ ในสังโยชน์ ๑๐)

สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นศีลและวัตรด้วยอำนาจกิเลส, ความถือมั่นศีลพรต คือธรรมเนียมที่ประพฤติกันมาจนชิน โดยเชื่อว่าขลังเป็นเหตุให้งมงาย, คัมภีร์ธัมมสังคณีแสดงความหมายอย่างเดียวกับ สีลัพพตปรามาส (ข้อ ๓ ในอุปา- ทาน ๔)

สีลานุสติ ระลึกถึงศีลของตนที่ได้ประพฤติมาด้วยดี บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย (ข้อ ๔ ในอนุสติ ๑๐)

สีวลี พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นพระโอรสของพระนางสุปปวาสา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ ปรากฏกว่าตั้งแต่ท่านปฏิสนธิในครรภ์ เกิดลาภสักการะแก่พระมารดาเป็นอันมาก ตามตำนานว่าอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี พระมารดาเจ็บพระครรภ์ถึง ๗ วัน ครั้นประสูติแล้วก็ทำกิจการต่างๆ ได้ทันที ต่อมาท่านบวชในสำนักของพระ สารีบุตร ในวันที่บวช พอมีดโกนตัดกลุ่มผมครั้งที่ ๑ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่ ๒ ได้บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่ ๓ ได้บรรลุอนาคามิผล พอปลงผมเสร็จก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านสมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภและทำให้ลาภเกิดแก่ภิกษุสงฆ์ เป็นอันมาก ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีลาภมาก

สีหล, สีหฬ ดู สิงหล

สีหลทวีป “เกาะของชาวสิงหล”, เกาะลังกา, ประเทศลังกา

สีหไสยา นอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดใจถึงการลุกขึ้นไว้ (มีคำ อธิบายเพิ่มอีกว่า มือซ้ายพาดไปตามลำตัว มือขวาช้อนศีรษะไม่พลิกกลับไปมา)

สีหหนุ กษัตริย์ศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าชยเสนะ เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระอัยกา ของพระพุทธเจ้า

สุกกะ น้ำกาม, น้ำอสุจิ

สุกโกทนะ กษัตริย์ศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระบิดาของพระอานนท์

สุกขวิปัสสก พระผู้เจริญวิปัสสนาล้วนสำเร็จพระอรหัต มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก เช่นไม่ได้ฌานสมบัติไม่ได้อภิญญา เป็นต้น ดู อรหันต์

สุกรขาตา ชื่อถ้ำ อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ พระนครราชคฤห์ ณ ที่นี้พระสารีบุตรได้สำเร็จพระอรหัต เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปริพาชกชื่อทีฆนขะ ดู ทีฆนขะ

สุข ความสบาย, ความสำราญ, มี ๒ ๑. กายิกสุข สุขทางกาย ๒. เจตสิกสุข สุขทางใจ, อีกหมวดหนึ่ง มี ๒ คือ ๑. สามิสสุข สุขอิงอามิส คืออาศัยกามคุณ ๒. นิรามิสสุข สุขไม่อิงอามิส คือ อิงเนกขัมมะ (ท่านแบ่งเป็นคู่ๆ อย่างนี้อีกหลายหมวด)

สุขของคฤหัสถ์ สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี และควรขวนขวายให้มีอยู่เสมอมี ๔ อย่างคือ ๑. สุขเกิดจาก ความมีทรัพย์ (ที่ได้มาด้วยเรี่ยวแรงของตน โดยทางชอบธรรม) ๒. สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ (เลี้ยงตนเลี้ยงคนควร เลี้ยง และทำประโยชน์) ๓. สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ๔. สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ (มีสุจริตทั้ง กาย วาจา และใจ), เฉพาะข้อ ๔ ตามแบบเรียนว่า สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

สุขสมบัติ สมบัติคือความสุข, ความถึงพร้อมความสุข

สุขาวดี แดนที่มีความสุข, เป็นชื่อสวรรค์ของพระอมิตาภพุทธ ฝ่ายมหายาน

สุขุม ละเอียด, ละเอียดอ่อน, นิ่มนวล, ซึ้ง

สุขุมาลชาติ มีพระชาติละเอียดอ่อน, มีตระกูลสูง

สุคต ผู้เสด็จไปดีแล้ว, เป็นพระนามพระพุทธเจ้า ดู สุคโต ด้วย

สุคตประมาณ ขนาดหรือประมาณของพระสุคต คือ พระพุทธเจ้า, เกณฑ์หรือมาตราวัดของพระสุคต

สุคตาณัตติพจน์ พระดำรัสสั่งของพระสุคต

สุคติ คติดี, ทางดำเนินที่ดี, สถานที่ที่ดีที่สัตว์โลกซึ่งทำกรรมดีตายแล้วไปเกิด ได้แก่มนุษย์และเทพ ดู คติ, ทุคติ

สุคโต “เสด็จไปดีแล้ว” คือทรงมีทางเสด็จที่ดีงามอันได้แก่อริยมรรค, เสด็จไปสู่ที่ดีงามกล่าวคือพระนิพพาน, เสด็จ ไปได้ด้วยดีโดยชอบ กล่าวคือ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับคืนมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่ ถอยหลัง ไม่กลับตกจากฐานะที่ลุถึงทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เฉเชือนไปในทางผิดคือ กาม สุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค เสด็จไปดี เสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัส ดีและนำให้เกิดความสวัสดี แม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้าย ก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัยเสด็จผ่านไป แล้วด้วยดี ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อชาวโลก ให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์ แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาในภายหลัง, ทรงมีพระวาจาดี หรือตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่คำจริงแท้ประกอบด้วย ประโยชน์ ในกาลที่ควรตรัส และแก่บุคคลที่ควรตรัส (ข้อ ๔ ในพุทธคุณ ๙)

สุคนธชาติ ของหอม, เครื่องหอม

สุคนธวารี น้ำหอม

สุงกฆาตะ ด่านภาษี

สุงสุมารคีระ ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นภัคคะ ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๘; สุงสุมารคีรี ก็เรียก

สุจริต ประพฤติดี, ประพฤติชอบ, ประพฤติถูกต้องตามคลองธรรม มี ๓ คือ ๑. กายสุจริต ประพฤติชอบด้วยกาย ๒. วจี สุจริต ประพฤติชอบด้วยวาจา ๓. มโนสุจริต ประพฤติชอบด้วยใจ เทียบ ทุจริต

สุชาดา อุบาสิกาสำคัญคนหนึ่ง เป็นธิดาของผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ได้ถวาย ข้าวปายาสแก่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าของวันที่ตรัสรู้ มีบุตร ชื่อยส ซึ่งต่อมาออกบวชเป็นพระอรหันต์ นางสุชาดาได้ เป็นปฐมอุบาสิกา พร้อมกับภรรยาเก่าของยสะและได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาอุบาสิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม

สุญญตา “ความเป็นสภาพสูญ”, ความว่าง 1. ความเป็นสภาพที่วางจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เฉพาะ อย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา คือ ไร้ตัวมิใช่ตน ว่างจากความเป็นตน ตลอดจนว่างจากสาระต่างๆ เช่น สาระคือ ความเที่ยง สาระคือความสวยงาม สาระคือความสุข เป็นต้น, โดยปริยาย หมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ดังเช่น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท) ที่แสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่า ปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมสั้นๆ 2. ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน 3. โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญญตา ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นภาวะที่สังขารเป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน) เพราะว่างจากกิเลสมีราคะ เป็นต้น และเพราะมีสุญญตา คือนิพพาน เป็นอารมณ์ 4. ความว่าง ที่เกิดจาก ความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิตในการเจริญสมาบัติ เช่น ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ กำหนดใจถึงภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย; สุญตา ก็เขียน

สุญญตวิโมกข์ ความหลุดพ้นโดยว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ หมายถึงมองเห็นความว่าง หมดความยึดมั่น คือพิจารณา เห็นนามรูปโดยความเป็นอนัตตา พูดสั้นๆ ว่า หลุดพ้นเพราะเห็นอนัตตา (ข้อ ๑ ในวิโมกข์ ๓)

สุญญตสมาธิ สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนัตตลักษณะ (ข้อ ๑ ในสมาธิ ๓)

สุตตนิบาต ชื่อคัมภีร์ที่ ๕ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก

สุตตันตปิฎก ดู ไตรปิฎก

สุตบท คำว่า “สุต” “สุตา” ดู ปาฏิโมกข์ย่อ

สุตพุทธะ ผู้รู้เพราะได้ฟัง, ผู้รู้โดยสุตะ หมายถึง บุคคลที่เป็นพหูสูต ดู พุทธะ

สุทธันตปริวาส ปริวาสที่ภิกษุผู้ต้อง การจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสอยู่ไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ หมายความว่า ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปิดไว้หลายคราวจนจำจำนวนอาบัติและจำนวนวันที่ปิดไม่ได้ หรือจำได้แต่บาง จำนวน ท่านให้ขอปริวาสประมวลจำนวนอาบัติและจำนวนวันที่ปิดเข้าด้วยกันแล้วอยู่ใช้ไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ มี ๒ อย่างคือ จูฬสุทธันตปริวาสและมหาสุทธันตปริวาส

สุทธาวาส ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์คือที่เกิดของพระอนาคามี ได้แก่ พรหม ๕ ชั้นที่สูงสุดในขั้นรูปาวจร คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา

สุทธิ ความบริสุทธิ์, ความสะอาดหมดจดมี ๒ คือ ๑. ปริยายสุทธิ บริสุทธิ์โดยเอกเทศ (คือเพียงบางส่วนบางแง่) ๒. นิปปริยายสุทธิ บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง (ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์)

สุทธิกปาจิตติยะ อาบัติปาจิตตีย์ล้วน คืออาบัติปาจิตตีย์ ที่ไม่ต้องให้เสียสละสิ่งของ มี ๙๒ สิกขาบท ตามปกติเรียกกันเพียงว่า ปาจิตติยะหรือปาจิตตีย์

สุทโธทนะ กษัตริย์ศากยวงศ์ซึ่งเป็นราชาผู้ครองแคว้นศากยะ หรือสักกชนบท ณ นครกบิลพัสดุ์ มีพระมเหสี พระนามว่าพระนางสิริมหามายา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มายา เมื่อพระนางมายาสวรรคตแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้เป็นพระมเหสีต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๑ ของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระราชบิดาของพระสิทธัตถะ เป็นพระอัยกาของพระราหุล และเป็นพระพุทธบิดาพระองค์สวรรคตในปีที่ ๕ แห่งพุทธกิจก่อนสวรรคต พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดให้ได้ทรงบรรลุอรหัตตผล และได้เสวยวิมุตติสุข ๗ วันก่อนปรินิพพาน

สุธรรมภิกษุ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งมีความมักใหญ่ ได้ด่าจิตตคฤหบดีและถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม ให้ไปขอขมาคฤหบดีนั้น นับเป็นต้นบัญญัติในเรื่องนี้

สุนทร ดี, งาม, ไพเราะ

สุนทรพจน์ คำพูดที่ไพเราะ, คำพูดที่ดี; คำพูดอันเป็นพิธีการ, คำกล่าวแสดงความรู้สึกที่ดีอย่างเป็นพิธีการในที่ ประชุม

สุนาปรันตะ ดู ปุณณสุนาปรันตะ

สุเนตตะ นามของพระศาสดาองค์หนึ่งในอดีต มีคุณสมบัติคือ กาเมสุ วีตราโค (มีราคะไปปราศแล้วในกามทั้งหลาย) มีศิษย์จำนวนมาก ได้เจริญเมตตาจิตถึง ๗ ปี แต่ก็ไม่อาจพ้นจากชาติ ชรามรณะ เพราะไม่รู้อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา และอริยวิมุตติ

สุปฏิปนฺโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี คือปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติสอดคล้องกับคำ สอนของพระพุทธเจ้า ดำรงอยู่ในธรรมวินัย (ข้อ ๑ ในสังฆคุณ ๙)

สุปปพุทธะ กษัตริย์โกลิยวงศ์ เป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๑ ของพระเจ้าอัญชนะ เป็นพระบิดาของพระเทวทัตและพระ นางยโสธราพิมพา

สุพาหุ บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี เป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วย สหายอีก ๓ คน คือ วิมละ ปุณณชิ และควัมปติ ได้เป็นสาวกรุ่นแรกที่พระพุทธเจ้าส่งไปประกาศพระศาสนา

สุภัททะ ปัจฉิมสักขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้าเรียกสั้น ๆ ว่า ปัจฉิมสาวก เดิมเป็น พราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ ปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้วคิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดง ธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระ ภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่าสุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้วทูลถามว่า สมณพรามหณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใดสมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่น ๆ ว่างจากสมณะ และตรัสสรุปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้ บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก

สุภัททะ วุฒบรรพชิต  “พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการปรารภที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก่อนบวช เป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมามีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้วคราวหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่ จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้งสองเอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเอาเครื่องปรุงยาคูมาได้มากมาย แล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้เป็นอันมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็นำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความว่าพระสุภัททะ ได้ข้าวนั้นมาอย่างไรแล้ว ไม่ทรงรับ และทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อคือ บรรพชิตไม่พึงชักชวนคนทำในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ และภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้ประจำตัว จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจในเหตุ การณ์ครั้งนั้น พระสุภัททะก็ได้ผูกอาฆาตไว้ ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะร่วมอยู่ในคณะของพระมหากัสสปเถระ ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองปาวาสู่เมืองกุสินารา ระหว่างทางนั้น คณะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกผู้หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะ (คือพระปุถุชน โสดาบัน และสกทาคามี) พากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ในขณะนั้นเองพระสุภัททะวุฒบรรพชิต ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่าสิ่งนี้ควรแก่ เธอสิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่กระทำสิ่งนั้น” พระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้วเกิดธรรมสังเวช ดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็ยังเกิดเสี้ยนหนามขึ้นแล้วในพระศาสนา หากต่อไปคนชั่วได้พวกพ้องมีกำลังเติบกล้าขึ้น ก็จะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอย ดังนั้น หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านจึงได้ยกถ้อยคำสุภัททะวุฒบรรพชิตนี้ขึ้นเป็นข้อปรารภ ชักชวนพระเถระทั้งหลายร่วมกันทำสังคายนาครั้งแรก

สุภาพ เรียบร้อย, อ่อนโยน, ละมุนละม่อม

สุภาษิต ถ้อยคำที่กล่าวดีแล้ว, คำพูดที่ถือเป็นคติได้

สุภูติ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรสุมนเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ได้ไปร่วมงานฉลองวัดเชตวันของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีความเลื่อมใสบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเจริญวิปัสสนา ทำเมตตาฌานให้เป็นบาทได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ๒ ทาง คือในทางอรณวิหาร (เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา) และเป็นทักขิไณยบุคคล

สุมนะ ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒

สุมังคลวิลาสินี ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในทีฆนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงขึ้น โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหฬ เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐

สุเมรุ ชื่อหนึ่งของภูเขาเมรุ ดู เมรุ

สุรนาทโวหาร ถ้อยคำที่ฮึกห้าว

สุรสิงหนาท การเปล่งเสียงพูดอย่างองอาจกล้าหาญ หรือพระดำรัสที่เร้าใจ ปลุกให้ตื่นฟื้นสติขึ้น เหมือนดั่งเสียงบันลือของราชสีห์ เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “กิจอย่างใด อันพระศาสดาผู้เอ็นดู แสวงประโยชน์ เพื่อสาวกทั้งหลายจะพึงทำ กิจนั้นอันเราทำแล้วแก่พวกเธอทุกอย่าง”

สุรเสนะ ชื่อแคว้นหนึ่งในมัชฌิมชนบทในชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางใต้ของแคว้นกุรุในระหว่างแม่น้ำสินธูกับแม่น้ำยมุนา ตอนล่าง นครหลวงชื่อมถุรา

สุรา เหล้า, น้ำเมาที่กลั่นแล้ว

สุราบาน การดื่มเหล้า, น้ำเหล้า

สุราปานวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องดื่ม น้ำเมา เป็นต้น เป็นวรรคที่ ๖ ในปาจิตติยกัณฑ์

สุรามฤต น้ำที่ทำผู้ดื่มให้ไม่ตายของเทวดา, น้ำอมฤตของเทวดา

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (ข้อที่ ๕ ในศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐)

สุริยคติ การนับวันโดยถือเอาการเดินของพระอาทิตย์เป็นหลัก เช่นวันที่ ๑-๒-๓ เดือนเมษายน เป็นต้น

สุริยุปราคา การจับอาทิตย์ คือเงาดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์

สุวรรณภูมิ “แผ่นดินทอง”, “แหลมทอง”, ดินแดนที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระโสณะและพระอุตตระ หัวหน้าพระ ศาสนทูตสายที่แปด (ใน ๙ สาย) ไปประกาศพระศาสนา ปราชญ์หลายท่านสันนิษฐานว่าได้แก่ดินแดนบริเวณจังหวัด นครปฐม (พม่าว่าได้แก่เมืองสะเทิมในประเทศพม่า)

สู ท่าน

สูญ ว่างเปล่า, หายสิ้นไป

สูตร พระธรรมเทศนาหรือธรรมกถาเรื่องหนึ่งๆ ในพระสุตตันตปิฎก แสดงเจือด้วยบุคคลาธิษฐาน, ถ้าพูดว่าพระสูตร มักหมายถึงพระสุตตันตปิฎกทั้งหมด

สูปะ แกง

เสกขสมมต ผู้ได้รับสมมติเป็นเสขะ หมายถึงครอบครัวที่สงฆ์ประชุมตกลงแต่งตั้งให้เป็นเสขะ ภิกษุใดไม่เจ็บไข้และ เขาไม่ได้นิมนต์ไว้ ไปรับเอาอาหารจากครอบครัวนั้นมาขบฉัน ต้องอาบัติเป็นปาฏิเทสนียะสิกขาบทที่ ๓

เสขะ ผู้ยังต้องศึกษา ได้แก่ พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล โดยพิสดารมี ๗ คือ ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติ มรรค ในโสดาปัตติผล ในสกทาคามิมรรค ในสกทาคามิผล ในอนาคามิมรรค ในอนาคามิผล และในอรหัตตมรรค, พูดเอาแต่ระดับเป็น ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี

เสขบุคคล บุคคลที่ยังต้องศึกษาอยู่ ดู เสขะ

เสขปฏิปทา ทางดำเนินของพระเสขะ, ข้อปฏิบัติของพระเสขะ ได้แก่ จรณะ ๑๕

เสขภูมิ ภูมิของพระเสขะ, ระดับจิตใจและคุณธรรมของพระอริยบุคคลที่ยังต้องศึกษา

เสขิยวัตร วัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษา, ธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียกหรือพึงฝึกปฏิบัติ มี ๗๕ สิกขาบท จำแนกเป็น สารูป ๒๖ โภชนปฏิสังยุต ๓๐ ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ๑๖ และปกิรณะคือเบ็ดเตล็ด ๓,เป็นหมวดที่ ๗ แห่ง สิกขาบทในบรรดาสิกขาบท ๒๒๗ ของพระภิกษุ ท่านให้สามเณรถือปฏิบัติด้วย

เสตกัณณิกนิคม นิคมที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบท ด้านทิศใต้

เสโท, เสท น้ำเหงื่อ, ไคล

เสนา กองทัพ ในครั้งโบราณหมายถึงพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า เรียกว่าจตุรงคินีเสนา (เสนามีองค์ ๔ หรือ เสนาสี่เหล่า)

เสนานิคม ชื่อหมู่บ้านในตำบลอุรุเวลา นางสุชาดาผู้ถวายข้าวปายาสแด่พระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ อยู่ที่หมู่บ้านนี้

เสนามาตย์ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน

เสนามาร กองทัพมาร, ทหารของพระยามาร

เสนาสนะ เสนะ ที่นอน อาสนะ ที่นั่งหมายเอาที่อยู่อาศัย เช่น กุฏิ วิหาร และเครื่องใช้เกี่ยวกับสถานที่ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แม้โคนไม้ เมื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ก็เรียกเสนาสนะ

เสนาสนขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๖ แห่งจุลวรรคในพระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ

เสนาสนคาหาปกะ ผู้ให้ถือเสนาสนะ หมายถึงภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้ทำหน้าที่จัดแจก เสนาสนะของสงฆ์

เสนาสนปัจจัย ปัจจัยคือเสนาสนะ, เครื่องอาศัยของชีวิตคือที่อยู่ เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัยสี่

เสนาสนปัญญาปกะ ผู้แต่งตั้งเสนาสนะหมายถึงภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดแจงแต่งตั้ง ดูแลความเรียบร้อยแห่งเสนาสนะ สำหรับภิกษุทั้งหลายจะได้เข้าพักอาศัย

เสนาสนวัตร ธรรมเนียมหรือข้อที่ภิกษุควรปฏิบัติเกี่ยวกับเสนาสนะ เช่น ไม่ทำเปรอะเปื้อน รักษาความสะอาด จัด วางของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้สอยระวังไม่ทำให้ชำรุด และเก็บของใช้ไม่ให้กระจัดกระจายสับสนกับที่อื่น เป็นต้น

เสนาสนะป่า เสนาสนะอันอยู่ไกลจากบ้านคนอย่างน้อย ๒๕ เส้น

เสพ บริโภค, ใช้สอย, อยู่อาศัย, คบหา

เสพเมถุน ร่วมประเวณี, ร่วมสังวาส

เสมหะ เสลด, เมือกที่ออกจากลำคอ หรือลำไส้

เสมฺหสมุฏฺฐานา อาพาธา ความเจ็บไข้ มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน

เสละ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในอังคุตตราปะ เรียนจบไตรเพท เป็นคณาจารย์สอนศิษย์ ๓๐๐ คน ได้พบพระพุทธเจ้าที่อาปณนิคม เห็นว่าพระองค์สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะครบถ้วนและได้ทูลถามปัญหาต่าง ๆ เมื่อฟังพระดำรัสตอบแล้ว มีความเลื่อมใส ขอบวช ต่อมาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต

แส่โทษ หาความผิดใส่, หาเรื่องผิดให้

แสนยากร หมู่ทหาร, กองทัพ

โสกาดูร เดือนร้อนด้วยความโศก, ร้องไห้สะอึกสะอื้น

โสณะ, โสณกะ พระเถระรูปหนึ่งในจำนวน ๒ รูป (อีกรูปหนึ่งคือพระอุตตรเถระ) ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ส่งเป็นพระศาสนทูตมาประกาศพระศาสนา ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่ ๓ (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๔) นับเป็นสายหนึ่งในพระศาสนทูต ๙ สาย

โสณกุฏิกัณณะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรของอุบาสิกา ชื่อกาฬี ซึ่งเป็นพระโสดาบัน เกิดที่บ้านเดิมของมารดา ในเมืองราชคฤห์แล้วกลับไปอยู่ในตระกูลบิดาที่แคว้นอวันตี ทักขิณาบถ พระมหากัจจายนะให้บรรพชาเป็นสามเณร แล้วรอต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อท่านหาภิกษุได้ครบ ๑๐ รูปแล้ว จึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ บวชแล้วไม่นานก็สำเร็จพระอรหัต ต่อมาท่านได้เดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่เมืองสาวัตถี พร้อมทั้งนำความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมากราบทูลขอพระ พุทธานุญาตด้วยรวม ๘ ข้อ ทำให้เกิดมีพระพุทธานุญาตพิเศษสำหรับปัจจันตชนบท เช่น ให้สงฆ์มีภิกษุ ๕ รูปให้อุปสมบทได้ ให้ใช้รองเท้าหนาหลายชั้นได้ ให้อาบน้ำได้ตลอดทุกเวลา เป็นต้น ท่านแสดงธรรมมีเสียงไพเราะแจ่มใสชัดเจนจึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในทางกล่าวกัลยาณพจน์

โสณโกฬิวิสะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเดิมเป็นกุลบุตรชื่อโสณะ ตระกูล โกฬิวิสะ เป็นบุตรของอุสภเศรษฐีแห่งวรรณะแพศย์ ในเมืองกาฬจัมปากแคว้นอังคะ โสณกุลบุตรมีลักษณะพิเศษในร่างกาย คือ มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม และมีขนอ่อนข้นภายใน อีกทั้งมีความเป็นอยู่อย่างดี ได้รับการบำรุงบำเรอทุกประการ อยู่ในปราสาท ๓ ฤดู จึงได้สมญาว่าเป็น สุขุมาลโสณะ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับกิติศัพท์ จึงรับสั่งให้โสณะเดินทานไปเฝ้าและให้แสดงขนที่ฝ่า มือฝ่าเท้าให้ทอดพระเนตร คราวนั้นโสณะมีโอกาสได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้สดับพระธรรมเทศนา เกิดความเลื่อมใสขอบวช ท่านทำความเพียรอย่างแรงกล้าจนเท้าแตกและเริ่มท้อแท้ใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานโอวาทด้วยข้ออุปมา เรื่องพิณสามสาย ท่านปฏิบัติตาม ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปรารภ ความเพียร

โสณทัณฑพราหมณ์ พราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะ เป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารให้ปกครองนครจัมปา

โสณทัณฑสูตร สูตรที่ ๔ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระสุตตันต ปิฎก ทรงแสดงแก่โสณทัณฑพราหมณ์

โสณา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของผู้มีตระกูลในพระนครสาวัตถี นางมีสามีแล้ว มีบุตร ๑๔ คน เป็นชาย ๗ คนหญิง ๗ คน ภายหลังสามีถึงแก่กรรม ลูกชายหญิงก็แต่งงานไปหมด จึงออกบวชเป็นภิกษุณี มีความเพียรอย่างแรงกล้า เจริญวิปัสสนาอยู่ในเรือนไฟ ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาได้บรรลุพระอรหัต ไดรับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปรารภความเพียร

โสดาบัน ผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่นิพพาน, พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผล มี ๓ ประเภทคือ ๑. เอกพีชี เกิดอีกครั้งเดียว ๒. โกลังโกละ เกิดอีก ๒-๓ ครั้ง ๓. สัตตักขัตตุปรมะ เกิดอีก ๗ ครั้ง เป็นอย่างมาก

โสดาปัตติผล ผลคือการถึงกระแสสู่นิพพาน, ผลที่ได้รับจากการละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ด้วยโสดาปัตติมรรค ทำให้ได้เป็นพระโสดาบัน

โสดาปัตติมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผล คือความเป็นพระโสดาบัน, ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

โสต หู, ช่องหู

โสตถิยะ ชื่อคนหาบหญ้าที่ถวายหญ้าแด่พระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์รับหญ้าจากโสตถิยะแล้วนำไปลาดต่างบัลลังก์ ณ ควงต้นพระศรีมหาโพธิ ด้านทิศตะวันออก แล้วประทับนั่งขัดสมาธิผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก จนกระทั่งตรัสรู้

โสตถิวดี ชื่อนครหลวงของแคว้นเจตี

โสตวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะเสียงกระทบหู, เสียกระทบหู, เกิดความรู้ขึ้น, การได้ยิน

โสตสัมผัส อาการที่หู เสียง และโสตวิญญาณประจวบกัน เกิดการได้ยิน

โสตสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะการที่หู เสียง และโสตวิญญาณ กระทบกัน

โสภณเจตสิก เจตสิกฝ่ายดีงามมี ๒๕ แบ่งเป็น ก. โสภณสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตดีงามทุกดวง) ๑๙ คือ สัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ ตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ = อุเบกขา) กายปัส สัทธิ (ความคลายสงบแห่งกองเจตสิก) จิตติปัสสัทธิ (แห่งจิต) กายลหุตา (ความเบาแห่งกองเจตสิก) จิตตลหุตา (แห่งจิต) กายมุทุตา (ความนุ่มนวลแห่งกองเจตสิก) จิตตมุทุตา (แห่งจิต) กายกัมมัญญตา (ความควรแก่งานแห่งกองเจตสิก) จิตตกัมมัญญตา (แห่งจิต) กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก) จิตตปาคุญญตา (แห่งจิต) กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก) จิตตุชุกตา (แห่งจิต) ข. วีรตีเจตสิก (เจตสิกที่เป็นตัวงดเว้น) ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ค. อัปปมัญญาเจตสิก (เจตสิกคืออัปปมัญญา) ๒ คือ กรุณา มุทิตา (อีก ๒ ซ้ำกับอโทสะ และตัตรมัชฌัตตตา) ง. ปัญญินทรียเจตสิก ๑ คือ ปัญญินทรีย์ หรือ อโมหะ

โสภิตะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถีต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระ ศาสดา มีความเลื่อมใส ขอบวช ไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

โสมนัส ความดีใจ, ความสุขใจ, ความปลาบปลื้ม ดู เวทนา

โสรัจจะ ความเสงี่ยม, ความมีอัธยาศัยงาม รักความประณีตหมดจดและสงบเรียบร้อย (ข้อ ๒ ในธรรมทำให้งาม ๒)

โสวจัสสตา ความเป็นบุคคลที่พูดด้วยง่าย, ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย รู้จักรับฟังเหตุผล (ข้อ ๔ ในนาถกรณธรรม ๑๐)

โสสานิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร คืออยู่แรมคืนในป่าช้าเป็นประจำ (ข้อ ๑๑ ในธุดงค์ ๑๓)

โสโส โรคมองคร่อ (มีเสมหะแห้งอยู่ในลำหลอดปอด)

ไสยา การนอน

ไสยาวสาน การนอนครั้งสุดท้าย, การนอนครั้งที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น