พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์
หงายบาตร การระงับโทษอุบาสกซึ่งเคยปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย สงฆ์ประกาศ คว่ำบาตร ไว้มิให้ภิกษุทั้งหลายคบหาด้วย ต่อมาอุบาสกนั้นรู้สึกโทษตน กลับประพฤติดี สงฆ์จึงประกาศระงับโทษนั้น ให้ภิกษุทั้งหลายคบกับเขาได้อีก เช่น รับบิณฑบาต รับนิมนต์ รับไทยธรรมของเขาได้ เป็นต้น การที่สงฆ์ประกาศระงับการลงโทษนั้น เรียกว่า หงายบาตร
หทัย หัวใจ
หน ทิศ เช่น หนบูร (ทิศตะวันออก)
หฤทัย หัวใจ
หลักกำหนดธรรมวินัย หลักตัดสินธรรมวินัย หรือลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ อย่าง คือ
ก. ธรรมเหล่าใดเป็นไป
๑. เพื่อความย้อมใจติด
๒. เพื่อความประกอบทุกข์
๓. เพื่อความพอกพูนกิเลส
๔. เพื่อความมักมากอยากใหญ่
๕. เพื่อความไม่สันโดษ
๖. เพื่อความคลุกคลีในหมู่
๗. เพื่อความเกียจคร้าน
๘. เพื่อความเลี้ยงยาก,
ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่าไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์,
ข. ธรรมเหล่าใดเป็นไป
๑. เพื่อความคลายหายติด
๒. เพื่อความไม่ประกอบทุกข์
๓. เพื่อความไม่พอกพูนกิเลส
๔. เพื่อความมักน้อย
๕. เพื่อความสันโดษ
๖. เพื่อความสงัด
๗. เพื่อการประกอบความเพียร
๘. เพื่อความเลี้ยงง่าย,
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์
หลิททวสนนิคม นิคมหนึ่งอยู่ในโกลิยชนบท
หัตถ์ มือ
หัตถกรรม การทำด้วยฝีมือ, การช่าง
หัตถบาส บ่วงมือ คือที่ใกล้ตัวชั่วคนหนึ่ง (นั่งตัวตรง) เหยียดแขนออกไปจับตัวอีกคนหนึ่งได้ ท่านว่าเท่ากับช่วงสองศอกคืบ (สองศอกกับหนึ่งคืบหรือสองศอกครึ่ง) วัดจากส่วนสุดด้านหลังของผู้เหยียดมือออกไป (เช่นถ้ายืน วัดจากส้นเท้า, ถ้านั่ง วัดจากสุดหลังอวัยวะที่นั่ง) โดยนัยนี้ ท่านว่านั่งห่างกันได้ไม่เกิน ๑ ศอก
หายนะ ความเลื่อม
หิตานุหิต ประโยชน์เกื้อกูลน้อยใหญ่
หิมพานต์ มีหิมะ, ปกคลุมด้วยหิมะ, ชื่อภูเขาใหญ่ที่อยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย บัดนี้เรียกภูเขาหิมาลัย, ป่าที่อยู่รอบบริเวณภูเขานี้ ก็เรียกกันว่าป่าหิมพานต์, หิมวันต์ ก็เรียก
หิมวันต์ ดู หิมพานต์
หิรัญญวดี แม่น้ำสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าเสด็จข้าม เมื่อเสด็จไปเมืองกุสินาราในวันที่จะปรินิพพาน สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน อยู่ริมฝั่งแม่น้ำนี้, ปัจจุบันเรียกแม่น้ำคัณฑักน้อย (Little Gandak) อยู่ห่างจากแม่น้ำคัณฑักใหญ่ไปทางตะวันตกประมาณ ๑๓ กิโลเมตร และไหลลงไปบรรจบแม่น้ำสรภู ซึ่งปัจจุบันเรียก Gogra
หิริ ความละอายแก่ใจ คือละอายต่อความชั่ว (ข้อ ๑ ในธรรมคุ้มครองโลก ๒, ข้อ ๓ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๒ ในสัทธรรม ๗)
หีนยาน ยานเลว, ยานที่ด้อย, เป็นคำที่พวกอุตรนิกาย (พุทธศาสนาฝ่ายเหนือ) เรียกทักษิณนิกาย (พุทธศาสนาฝ่ายใต้อย่างที่นับถือกันในไทย พม่า ลังกา เป็นต้น) ปัจจุบันนิยมเรียกว่า เถรวาท
เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องต่ำ หมายถึงบ่าวคือคนรับใช้หรือคนงาน ดู ทิศหก
เหตุ สิ่งที่ให้เกิดผล, เค้ามูล, เรื่องราว, สิ่งที่ก่อเรื่อง
เหตุผลสนธิ หัวเงื่อนระหว่างเหตุในอดีตกับผลในปัจจุบัน หรือหัวเงื่อนระหว่างเหตุในปัจจุบันกับผลในอนาคตในวงจรปฏิจจสมุปบาท (เหตุในอดีตคืออวิชชาและสังขาร, ผลในปัจจุบันคือวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา, เหตุในปัจจุบัน คือตัณหา อุปาทาน ภพ, ผลในอนาคต คือชาติ ชรามรณะ)
เห็นชอบ ดู สัมมาทิฏฐิ
เหมกมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
เหมันตฤดู ฤดูหนาว
ให้กล่าวธรรมโดยบท สอนธรรมโดยให้ว่าพร้อมกันกับตน คือว่าขึ้นพร้อมกัน จบลงพร้อมกัน (สิกขาบทที่ ๓ แห่ง มุสาวาทวรรค ปาจิตติยภัณฑ์)
ให้ทานโดยเคารพ ตั้งใจให้อย่างดีเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวให้และผู้รับทานไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย
ให้นิสัย ดูความหมายของคำว่า นิสัย ด้านล่าง เพื่อทำความเข้าใจ
นิสัย 1. ที่พึ่ง, ที่อาศัย เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท (คือกล่าวคำขอร้องต่ออุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอนให้การศึกษาอบรมต่อไป) อาจารย์ผู้ให้นิสัย (อาจารย์ผู้รับที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ปกครองแนะนำในการศึกษาอบรม)
2. ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
3. ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทำจนเป็นนิสัย
การขอนิสัย (ขออยู่ในปกครอง หรือขอให้เป็นที่พึ่งในการศึกษา) สำเร็จด้วยการถืออุปัชฌาย์ (ขอให้เป็นอุปัชฌาย์) นั่นเอง ในพิธีอุปสมบทอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ การขอนิสัยถืออุปัชฌาย์เป็นบุพกิจตอนหนึ่งของการอุปสมบท ก่อนจะทำการสอนซ้อมถามตอบอันตรายิก ธรรม ผู้ขออุปสมบทเปล่งวาจาขอนิสัยถืออุปัชฌาย์ดังนี้ (เฉพาะข้อความในเครื่องหมาย “....” เท่านั้นเป็นวินัยบัญญัติ นอกนั้นท่านเสริมเข้ามาเพื่อให้หนักแน่น): อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ, ทุติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ, ตติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ, “อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ, อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ, อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ” ลำดับนั้นผู้จะเป็นอุปัชฌายะกล่าวตอบว่า “สาหุ” (ดีละ) “ลหุ” (เบาใจดอก) “โอปา ยิกํ” (ชอบแก่อุบาย) “ปฏิรูปํ” (สมควรอยู่) “ปาสาทิเกน สมฺปาเทหิ” (จงให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด) คำ ใดคำหนึ่ง หรือให้รู้เข้าใจด้วยอาการทางกายก็ตาม ก็เป็นอันได้ถืออุปัชฌาย์แล้ว แต่นิยมกันมาให้ผู้ขอกล่าวรับคำ ของท่านแต่ละคำว่า สาธุ ภนฺเต หรือ สมฺปฏิจฺฉามิ แล้วกล่าวต่อไปอีกว่า อชฺชตคฺเคทานิ เถโร มยฺหํ ภาโร, อหมฺปี เถรสฺ ส ภาโร (ว่า ๓ หน) (= ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปพระเถระเป็นภาระของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็เป็นภาระของพระเถระ) ภิกษุนวกะถ้าไม่ได้อยู่ในปกครองของอุปัชฌาย์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้นิสัยระงับ เช่น อุปัชฌาย์ไป อยู่เสียที่อื่น ต้องถือภิกษุอื่นเป็นอาจารย์และอาศัยท่านแทน วิธีถืออาจารย์ก็เหมือนกับวิธีถืออุปัชฌาย์เปลี่ยนแต่คำขอ ว่า “อาจริโย เม ภนฺเต โหหิ, อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ” (ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าๆ จักอยู่อาศัยท่าน)
ให้ลำบาก ดู วิเหสกกรรม
วิเหสกกรรม กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม นิ่งเฉยเสียไม่ตอบ เรียกว่าเป็นผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก, สงฆ์ยกวิเหสกกรรมขึ้น คือสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น ด้วยญัตติทุติยกรรม เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้วเธอยังขืนทำอย่างนั้นอยู่อีก ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ ในภูตคามวรรคที่ ๒) คู่กับ อัญญวาทกกรรม
ให้โอกาส ดูความหมายของคำว่า โอกาส ด้านล่าง เพื่อทำความเข้าใจ
โอกาส ช่อง, ที่ว่าง, ทาง, เวลาที่เหมาะ, จังหวะ; ในวิธีระงับอนุวาทาธิกรณ์ มีระเบียบว่า ก่อนจะกล่าวคำโจทนาคือคำฟ้องขึ้นต่อหน้าสงฆ์ โจทก์พึงขอโอกาสต่อจำเลย คำขอโอกาสว่า “กโรตุ เม อายสฺมา โอกาสํ, อหนฺตํ วตฺตุกาโม” แปลว่า “ขอท่านจงทำโอกาสแก่ข้าพเจ้า ๆ ใคร่จะกล่าวกะท่าน” ถ้าโจทโดยไม่ขอโอกาส ต้องอาบัติทุกกฎ คำให้โอกาส ท่านไม่ได้แสดงไว้ อาจใช้ว่า “กโรมิ อายสฺมโต โอกาสํ” แปลว่า “ข้าพเจ้าทำโอกาสแก่ท่าน”; ภิกษุพร้อมด้วยองค์ ๕ แม้จะขอให้ทำโอกาสก็ไม่ควรทำ (คือไม่ควรให้โอกาส) กล่าวคือ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ถูกซักเข้า ไม่อาจให้คำตอบข้อที่ซัก, องค์ ๕ อีกหมวดหนึ่งว่า เป็นอลัชชีเป็นพาลมิใช่ปกตัตตะ กล่าวด้วยปรารถนาจะกำจัด มิใช่เป็นผู้มีความปรารถนาในอันให้ออกจากอาบัติ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น