Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๒-๑ หน้า ๑ - ๕๙

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. พุทธวรรค
หมวดว่าด้วยพระพุทธเจ้าเป็นต้น
๑. พุทธาปทาน
พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
[๑] พระอานนทเถระ ผู้เป็นมุนีชาวแคว้นวิเทหะ
น้อมกายลงทูลถามพระตถาคตผู้ประทับอยู่
ณ พระเชตวันมหาวิหารว่า
ได้ทราบว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้ามีอยู่
พระสัพพัญญูพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้เป็นนักปราชญ์
ทรงอุบัติขึ้นเพราะเหตุอะไร
[๒] ลำดับนั้น พระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้เจริญด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะว่า
ธีรชนเหล่าใดได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ
ยังไม่ได้ความหลุดพ้นจากกิเลสในศาสนาของพระชินเจ้าทั้งหลาย
[๓] เพราะมุ่งหน้าต่อสัมโพธิญาณนั้นแล
ธีรชนผู้มีปัญญาแก่กล้าดี
จึงได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญู
ด้วยอัธยาศัยที่เข้มแข็งและด้วยอำนาจแห่งปัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๔] ถึงเราก็ได้เป็นผู้มีใจปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า
ในสำนักของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ หลายพระองค์
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงเป็นพระธรรมราชา นับไม่ถ้วน
[๕] ต่อไปนี้ ขอให้เธอทั้งหลายผู้มีใจหมดจด
จงฟังประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา
สมบูรณ์ด้วยบารมี ๓๐ ประการ๑นับไม่ถ้วน
[๖] เรายกนิ้วมือทั้ง ๑๐ นิ้วขึ้น
นอบน้อมพระโพธิญาณของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
อภิวาทพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมด้วยพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า
[๗] ในพุทธเขต๒ มีรัตนะที่อยู่ในอากาศ
ที่อยู่บนภาคพื้นดิน นับจำนวนไม่ถ้วนอยู่เท่าใด
เราพึงนึกนำรัตนะเท่านั้นทั้งหมดมาได้
[๘] ณ พื้นที่อันเป็นเงินนั้น
เราได้เนรมิตปราสาทแก้วหลายร้อยชั้น
สูงตระหง่านโชติช่วงในท้องฟ้า

เชิงอรรถ :
๑ บารมี ๓๐ ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา,
ทานอุปบารมี ฯลฯ อุเบกขาอุปบารมี, ทานปรมัตถบารมี ฯลฯ อุเบกขาปรมัตถบารมี ทานบารมี การ
บำเพ็ญทานตามปกติ ทานอุปบารมี การบำเพ็ญทานยิ่งกว่าปกติ ทานปรมัตถบารมี การบำเพ็ญทาน
ระดับสูงสุด เช่น สละทรัพย์ภายนอกเป็นทานบารมี สละอวัยวะเป็นทานอุปบารมี สละชีวิตเป็นทาน
เป็นปรมัตถบารมี (ขุ.พุทธ. ๓๓/๗๖/๔๔๖, ขุ.จริยา. (แปล) ๓๓/๗๗๖-๗๗๗)
๒ พุทธเขต (เขตแดนของพระพุทธเจ้า) มี ๓ คือ ชาติเขต อาณาเขต วิสัยเขต ชาติเขตมีขอบเขตหนึ่ง
หมื่นจักรวาลจะเกิดการหวั่นไหวทั่วถึงกันในคราวพระพุทธเจ้าถือปฏิสนธิเป็นต้น อาณาเขตมีขอบเขตถึง
หนึ่งแสนโกฏิจักรวาล เป็นสถานที่ที่อานุภาพแห่งพระปริตรแผ่ไปถึง วิสัยเขตไม่มีขอบเขตที่จะกำหนดได้
(วิสุทธิ. ๒/๔๙-๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๙] มีเสาวิจิตรงดงาม มีค่ามาก
ตั้งอยู่เรียงราย มีขื่อทำด้วยทองคำ
(ติดคู่ห่วงทองคำที่ขื่อหรือจันทัน)
ประดับด้วยนกกระเรียนและฉัตร
[๑๐] พื้นชั้นแรกทำด้วยแก้วไพฑูรย์
งดงามดังก้อนเมฆปราศจากมลทิน
มีภาพฝูงปลาและดอกบัวอยู่เกลื่อนกลาด
ย่อมงามด้วยพื้นทองคำอย่างดี
[๑๑] (ที่ปราสาทนั้น) พื้นบางชั้นมีภาพกิ่งไม้อ่อนช้อย
มีสีเหมือนสีแก้วประพาฬ
บางชั้นมีสีแดงสด บางชั้นงดงามเปล่งรัศมีดังสีแมลงค่อมทอง๑
บางชั้นสว่างไสวไปทั่วทิศ
[๑๒] (ที่ปราสาทนั้น) แบ่งพื้นที่เป็นหน้ามุข
ระเบียง หน้าต่าง ไว้อย่างดี
มีพวงอุบะหอม๒ที่น่ารื่นรมย์ใจ
ห้อยย้อยจากวลัยไพที๓และบานประตูข่ายทั้ง ๔ ด้าน
[๑๓] (ที่ปราสาทนั้น) ประกอบด้วยเรือนยอดชั้นเยี่ยม
ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ
มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีดำล้วน
[๑๔] (ที่ปราสาทนั้น) มีดอกปทุมชูก้านบานสะพรั่ง
งดงามด้วยภาพหมู่เนื้อร้ายและฝูงนก

เชิงอรรถ :
๑ แมลงค่อมทอง หมายถึงแมลงปีกแข็ง ตัวเล็กกว่าแมลงทับปีกสีเขียวเหลืองทอง
๒ พวงอุบะหอม ในที่นี้หมายถึงพวงของหอม (ดอกไม้ร้อยเป็นพวงอย่างพู่สำหรับห้อยระหว่างเฟื่องเป็นต้น
(ขุ.อป.อ ๑/๑๒/๑๒๕)
๓ ไพที ในที่นี้หมายถึงแท่นที่รองเครื่องบูชา (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
ดารดาษด้วยดวงดาวพราวพรายระยิบระยับ
ประดับด้วยรูปดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
[๑๕] (ปราสาทนั้น) ใช้ตาข่ายทองคำปกคลุม
ติดข่ายกระดิ่งทองคำ พวงดอกไม้ทองคำ น่ารื่นรมย์ใจ
ลมพัดมากระทบเข้าก็เกิดเสียงดังกังวาน
[๑๖] (ที่ปราสาทนั้น) ขึงธงทิวซึ่งย้อมด้วยสีนานาชนิด
คือ ธงสีหงสบาท สีแดง สีเหลือง สีทองชมพูนุท
[๑๗] (ที่ปราสาทนั้น) มีที่นอนต่างๆ งดงาม มากมายหลายร้อยชนิด
ทำด้วยแก้วผลึก เงิน แก้วมณี ทับทิม แก้วลาย
ปูด้วยผ้าแคว้นกาสีเนื้อละเอียดอ่อน
[๑๘] ผ้าห่มสีเหลือง ทอด้วยด้ายขนสัตว์
ทอด้วยผ้าเปลือกไม้ ทอด้วยฝ้ายเมืองจีน
ทอด้วยฝ้ายเมืองปัตตุณณะ
เครื่องปูลาดต่าง ๆ ทั้งหมดเราอธิษฐานใจปูลาดไว้
[๑๙] แต่ละชั้นประดับด้วยช่อฟ้าซึ่งทำด้วยรัตนะ
มีคนยืนถือประทีปดวงแก้วสว่างไสวอยู่เรียงราย
[๒๐] มีเสาระเนียด (เสาปักเรียงรายตลอดรั้ว)
และเสาค่ายทองคำ เสาค่ายทองชมพูนุท เสาค่ายไม้แก่น
(และ)เสาค่ายเงินที่งดงาม ย่อมทำปราสาทนั้นให้งดงาม
[๒๑] (ที่ปราสาทนั้น) มีที่ต่อ(ช่อง)หลายแห่งจัดไว้เรียบร้อยดี
มีบานประตูและลูกดาลงดงาม มีกระถางบัวหลวง
บัวขาบเรียงรายอยู่ทั้ง ๒ ด้าน
[๒๒] เราเนรมิตพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกในอดีตทุกพระองค์
พร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกด้วยวรรณะและรูปตามปกติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๒๓] พระพุทธเจ้าทุกพระองค์พร้อมด้วยสาวก
เป็นหมู่พระอริยะ เสด็จเข้าไปทางประตูนั้น
ประทับนั่งบนตั่งทองคำล้วน
[๒๔] พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบันทุกพระองค์
ได้เสด็จขึ้นสู่ปราสาทของเราแล้ว
[๒๕] พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายร้อยพระองค์
ผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้๑
ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบันทั้งหมด
ได้เสด็จขึ้นสู่ปราสาทของเราแล้ว
[๒๖] ต้นกัลปพฤกษ์ทิพย์๒และต้นกัลปพฤกษ์มนุษย์ มีมากมาย
เราได้นำผ้าทุกอย่างมาจากต้นกัลปพฤกษ์เหล่านั้น
ตัดเย็บเป็นไตรจีวรถวายให้นุ่งห่ม
[๒๗] ของเคี้ยว ของฉัน ของลิ้ม น้ำปานะ
รวมทั้งอาหารมีอยู่อย่างเพียบพร้อม
เราถวายบรรจุจนเต็มบาตรแก้วมณีลูกงามทุกลูก
[๒๘- หมู่พระอริยะเหล่านั้น เป็นผู้หมดจดจากกิเลส
ครองจีวรผ้าทิพย์เสมอกัน
อันข้าพเจ้านิมนต์ฉันจนอิ่มหนำ ด้วยน้ำตาลกรวด
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และข้าวอย่างดี
๒๙-] ทั้งหมดได้เข้าไปสู่ห้องแก้ว
เหมือนไกรสรราชสีห์เข้าไปสู่ถ้ำ

เชิงอรรถ :
๑ พระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ หมายถึง ไม่พ่ายแพ้แก่มาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร
และเทวปุตตมาร (ขุ.อป.ป. ๑/๒๕/๑๒๗)
๒ ต้นกัลปพฤกษ์ทิพย์ หมายถึงต้นไม้ที่เกิดในเทวโลก (ขุ.อป.อ. ๑/๒๖/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๓๐] สำเร็จสีหไสยาสน์บนที่นอนมีค่ามาก
มีสติสัมปชัญญะ ลุกขึ้นแล้ว นั่งขัดสมาธิบนที่นอน
[๓๑] ซึ่งเป็นอารมณ์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
แนบแน่นด้วยความยินดีในฌาน
หมู่หนึ่งแสดงธรรม หมู่หนึ่งยินดีด้วยฤทธิ์
[๓๒] หมู่หนึ่งเข้าอัปปนาฌาน
หมู่หนึ่งเจริญอภิญญาวสี๑
แสดงฤทธิ์ได้หลายร้อยหลายพันประการ
[๓๓] ฝ่ายพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ถามพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ถึงปัญหาอันเป็นวิสัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณ
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ทรงรู้แจ้งเหตุอันลึกซึ้งละเอียดอ่อนด้วยปัญญา
[๓๔] สาวกทั้งหลายก็ทูลถามพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ตรัสถามสาวกทั้งหลาย
ทั้งพระพุทธเจ้าและสาวกเหล่านั้นต่างก็ถามตอบกันและกัน
[๓๕] พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกผู้ปรนนิบัติเหล่านั้น
ต่างรื่นรมย์ยินดีในปราสาทด้วยความยินดีด้วยประการฉะนี้
[๓๖] (พระเจ้าติโลกวิชัยทรงดำริว่า) ฉัตรตั้งซ้อนกัน
มีรัศมีเปล่งปลั่งดังแก้วไพฑูรย์
ขอให้ทุกคนจงกั้นฉัตร มีตาข่ายทองคำห้อยระย้า
ประดับด้วยตาข่ายเงิน
แวดล้อมด้วยตาข่ายแก้วมุกดาไว้เหนือศีรษะข้าพเจ้า
[๓๗] มีเพดานผ้าติดดวงดาวทองมีแสงแวววาว
มีพวงมาลัยห้อยอยู่ทั่วงดงามตระการตา
เพดานผ้าทั้งหมด จงดาดอยู่เหนือศีรษะ

เชิงอรรถ :
๑ อภิญญาวสี หมายถึงความชำนาญในอภิญญา ๕ ประการ คือ (๑) อาวัชชนวสี ชำนาญในการคำนึงถึง
(๒) สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้า (๓) วุฏฐานวสี ชำนาญในการออก (๔) อธิฏฐานวสี ชำนาญ
ในการอธิษฐาน (๕) ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการ พิจารณา (ขุ.อป.อ. ๑/๓๒/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๓๘] สระที่ดารดาษด้วยพวงมาลัย
งดงามด้วยพวงของหอม๑ มีพวงผ้าห้อยระย้า
ประดับประดาด้วยพวงรัตนะ
[๓๙] มีดอกไม้เรียงราย งดงามนัก
อบด้วยของหอมกลิ่นฟุ้งขจายไป
ใช้นิ้วมือทั้ง ๕ เจิมด้วยของหอม
มุงด้วยหลังคาทองคำ
[๔๐] ทั้ง ๔ ทิศ (แห่งปราสาท) ดารดาษด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
ปรากฏเป็นสีทอง หอมฟุ้งด้วยละอองเกสรดอกปทุม
[๔๑] รอบ ๆ ปราสาท ต้นไม้ทุกต้นจงออกดอกบานสะพรั่ง
ดอกไม้หล่นเอง ปลิวไปโปรยปราสาท
[๔๒] ใกล้ ๆ ปราสาทนั้น ขอฝูงนกยูงจงรำแพน (หาง)
ฝูงหงส์ทิพย์จงส่งเสียงร้อง ฝูงนกการเวกจงร้องขับขาน
วิหคก็จงส่งเสียงขับขานอยู่รอบ ๆ ปราสาท
[๔๓] กลองทุกชนิดจงดังขึ้น พิณทุกชนิดจงบรรเลง
เครื่องสังคีตทุกชนิดจงบรรเลงขับกล่อมอยู่รอบ ๆ ปราสาท
[๔๔-๔๕] ตลอดพุทธเขตและในจักรวาล
ต่อจากนั้นจงมีบัลลังก์ทองขนาดใหญ่ เรืองรองด้วยรัศมี
ไม่มีช่องว่าง ขลิบด้วยรัตนะ ตั้งอยู่ (รอบ ๆ ปราสาท)
ขอต้นพฤกษาประทีป๒ จงส่องสว่าง
มีแสงโชติช่วงติดต่อเป็นอันเดียวกันทั้ง ๑๐,๐๐๐ ดวง

เชิงอรรถ :
๑ พวงของหอม หมายถึงจันทน์ ดอกบัวบก หรือหญ้าฝรั่นและกฤษณา เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๘/๑๓๐)
๒ พฤกษาประทีป หมายถึงต้นไม้ที่แขวนตะเกียง, โคมไฟ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕/๒๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๔๖] หญิงนักฟ้อนก็จงฟ้อน หญิงนักร้องก็จงขับร้อง
หมู่นางอัปสรก็จงร่ายรำ สนามเต้นรำต่าง ๆ
จงปรากฏอยู่รอบ ๆ ปราสาท
[๔๗] เรา(ผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีนามว่าติโลกวิชัยในครั้งนั้น)
สั่งให้ยกธงทุกชนิด วิจิตรงดงาม ๕ สี๑
ไว้บนยอดไม้ บนยอดภูเขา และบนยอดภูเขาสิเนรุ
[๔๘] หมู่มนุษย์ หมู่นาค หมู่คนธรรพ์ และหมู่เทวดา ทั้งหมดนั้น
จงเข้ามาประนมมือนอบน้อมแวดล้อมปราสาทของเรา
[๔๙] กุศลกรรมใด ๆ ควรเพื่อบังเกิดในสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
ที่ข้าพเจ้าพึงกระทำด้วยกาย วาจา ใจ
กุศลกรรมนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว
[๕๐] สัตว์เหล่าใดมีสัญญาก็ตาม
และสัตว์เหล่าใดไม่มีสัญญาก็ตามมีอยู่
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นผู้มีส่วนเสวยผลบุญที่เราทำแล้ว
[๕๑] สัตว์เหล่าใดรู้ว่าเราทำบุญ
ขอสัตว์เหล่านั้น จงมีส่วนเสวยผลบุญที่เราให้แล้ว
ก็ในบรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดไม่รู้
ขอเทวดาจงไปประกาศให้สัตว์เหล่านั้นทราบ
[๕๒] เหล่าสัตว์ในโลกผู้อาศัยอาหารเลี้ยงชีวิตทุกจำพวก
ขอจงได้โภชนาหารที่น่าพอใจ ตามเจตนาของเรา

เชิงอรรถ :
๑ วิจิตรงดงาม ๕ สี หมายถึงสีมีสีเขียวและสีแดงเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๔๗/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๕๓] เราให้ทานด้วยใจ ยึดถือความเลื่อมใสด้วยใจ
เรา๑ได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
พร้อมทั้งพระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกของพระชินเจ้าแล้ว
[๕๔] ด้วยกรรมที่เราทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
เราละร่างกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๕๕] เรารู้จักแต่ภพทั้ง ๒
คือความเป็นเทวดาหรือความเป็นมนุษย์
มิได้รู้จักคติอื่นเลย
นี้เป็นผลแห่งความปรารถนาด้วยใจ
[๕๖] (เมื่อเราเกิดเป็นเทวดา) เราก็ยิ่งใหญ่กว่าพวกเทวดา
(เมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์) เราก็ยิ่งใหญ่กว่าพวกมนุษย์
เราสมบูรณ์ด้วยรูปลักษณะ ไม่มีใครเสมอด้วยปัญญา
[๕๗] โภชนะมีรสอร่อยหลายชนิด รัตนะมิใช่น้อย
ผ้าชนิดต่าง ๆ จากฟากฟ้า ย่อมเข้ามาหาเราเร็วพลัน
[๕๘] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ภักษาหารอันเป็นทิพย์ (อาหารทิพย์)
จากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๕๙] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
รัตนะทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๐] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ของหอมทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา

เชิงอรรถ :
๑ เรา ในที่นี้หมายถึงพระเจ้าจักรพรรดิ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓/๑๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๖๑] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ยานพาหนะทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๒] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ดอกไม้ทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๓] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
เครื่องประดับทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๔] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
หญิงสาวทั้งมวลจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๕] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๖] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ของขบเคี้ยวทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๗] เราให้ทานอย่างดีแก่คนไร้ทรัพย์
คนเดินทางไกล คนขอทาน และคนหลงทาง
เพื่อต้องการจะบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ
[๖๘] เราทำให้ภูเขาศิลาล้วนบันลือ
ทำให้ภูเขาหนาทึบกระหึ่ม
ทำให้มนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกร่าเริง
จะเป็นพระพุทธเจ้าในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๖๙] ทิศทั้ง ๑๐ ในโลก เมื่อคนเดินไป
ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ในส่วนแห่งทิศนั้น
พุทธเขตก็นับจำนวนไม่ถ้วน(เหมือนกัน)
[๗๐] แสงสว่างตามปกติของเรา(ในสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ)
ปรากฏเปล่งรังสีออกมาเป็นคู่ ๆ
ข่ายรัศมีมีอยู่ในระหว่างนี้ แสงสว่างมีอย่างไพบูลย์
[๗๑] ขอประชาชนทั้งหมดในโลกธาตุประมาณเท่านี้
จงมองเห็นเรา ทั้งหมดจงดีใจ ทั้งหมดจงคล้อยตามเรา
[๗๒] เราตีกลองอมฤต๑ มีเสียงไพเราะกังวาน
ขอประชาชนในระหว่างนี้ จงฟังเสียงที่ไพเราะ(ของเรา)
[๗๓] เมื่อตถาคตบันดาลเมฆฝนคือพระธรรมให้ตกลง
ขอชนทั้งหมดจงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ
บรรดาผู้ที่ประชุมกันอยู่ในที่นี้
ผู้มีคุณต่ำสุด จงเป็นพระโสดาบัน
[๗๔] เราให้ทานที่ควรให้แล้ว บำเพ็ญศีลบารมีอย่างเต็มเปี่ยม
สำเร็จเนกขัมมบารมีแล้วบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด๒
[๗๕] เราสอบถามบัณฑิตทั้งหลาย (บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้ว)
บำเพ็ญวิริยบารมีแล้ว
สำเร็จขันติบารมีแล้วบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[๗๖] เราบำเพ็ญอธิษฐานบารมีแล้ว
บำเพ็ญสัจจบารมีแล้ว สำเร็จเมตตาบารมีแล้ว
บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[๗๗] เรามีใจสม่ำเสมอในอารมณ์ทั้งปวง
คือทั้งในลาภ ในความเสื่อมลาภ ในความสุข ในความทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ กลองอมฤต หมายถึงกลองสวรรค์ (ขุ.อป.อ. ๑/๗๒/๑๓๔)
๒ สัมโพธิญาณอันสูงสุด หมายถึงมรรคญาณ ๔ (ขุ.อป.อ. ๑/๗๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
ในการนับถือและในการถูกดูหมิ่น (บำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้ว)
บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[๗๘] ท่านทั้งหลาย จงเห็นความเกียจคร้านเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นความเพียรเป็นสิ่งปลอดภัย
จงบำเพ็ญเพียรกันเถิด
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[๗๙] ท่านทั้งหลาย จงเห็นการวิวาทกันเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นการไม่วิวาทกันเป็นสิ่งปลอดภัย
จงสมัครสมานสามัคคีกัน พูดจาไพเราะกันเถิด
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[๘๐] ท่านทั้งหลาย จงเห็นความประมาทเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นความไม่ประมาทเป็นสิ่งปลอดภัย
จงเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เถิด๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[๘๑] พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์จำนวนมากมาประชุมพร้อมกัน
ท่านทั้งหลายจงกราบไหว้พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์เถิด
[๘๒] ตามที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย๒
ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย
สำหรับผู้ที่เลื่อมใสในอจินไตย ย่อมมีวิบากเป็นอจินไตย ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงให้พระอานนทเถระทราบพุทธจริตของ
พระองค์จึงได้ตรัสธรรมบรรยายชื่อว่าพุทธาปทานิยะ (การประกาศประวัติในอดีต-
ชาติของพระพุทธเจ้า) ด้วยประการฉะนี้
พุทธาปทานจบ

เชิงอรรถ :
๑ มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (ขุ.อป.อ. ๑/๘๐/๑๓๕)
๒ อจินไตย หมายถึงสภาวะที่พ้นความคิดของตนที่จะคิดได้ คือไม่อยู่ในวิสัยที่จะคิดได้ (ขุ.อป.อ. ๑/๘๒/๑๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกพุทธเจ้า
(ต่อไปนี้ ขอให้ท่านทั้งหลาย จงฟังประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกพุทธเจ้า)
[๘๓] พระอานนทเถระ ผู้เป็นมุนีชาวแคว้นวิเทหะ
น้อมกายลง ทูลถามพระตถาคตผู้ประทับอยู่
ณ พระเชตวันมหาวิหารว่า ข้าแต่พระธีรเจ้า
ได้ทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นนักปราชญ์ อุบัติขึ้นเพราะเหตุอะไร
[๘๔] ลำดับนั้น พระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้เจริญด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะว่า
ธีรชนเหล่าใดได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ
ยังไม่ได้ความหลุดพ้นจากกิเลสในศาสนาของพระชินเจ้าทั้งหลาย
[๘๕] เพราะมีความสลดใจนั้นแลเป็นตัวนำ
ธีรชนเหล่านั้นผู้มีปัญญาแก่กล้าดี ถึงจะเว้นจากพระพุทธเจ้า๑
ก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้ แม้ด้วยอารมณ์เพียงนิดหน่อย
[๘๖] ในโลกทั้งปวง๒ ยกเว้นเราเสียแล้ว
ไม่มีใครเสมอกับพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย
เราจักบอกคุณเพียงสังเขปนี้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้เป็นมหามุนีเหล่านั้นอย่างชัดเจน
[๘๗] เธอทุกรูปเมื่อปรารถนาพระนิพพานอันเป็นโอสถวิเศษ
มีใจผ่องใสดีแล้ว ก็จงตั้งใจฟังถ้อยคำที่ไพเราะ
ดุจน้ำผึ้งหยาดน้อย ๆ (เกี่ยวกับประวัติ)

เชิงอรรถ :
๑ เว้นจากพระพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงเว้นจากคำกล่าวสอนและคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ.
๑/๘๕/๑๕๒)
๒ โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงโลกทั้ง ๓ คือมนุษยโลก เทวโลก และ พรหมโลก (ขุ.อป.อ. ๑/๘๖/๑๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้เป็นมหาฤๅษี ผู้ตรัสรู้ได้เองเถิด
[๘๘] ประวัติในอดีต การพยากรณ์ โทษ
เหตุปราศจากความกำหนัดอันใด
ของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้อุบัติขึ้นแต่ละองค์ ๆ
และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายได้บรรลุพระโพธิญาณด้วยเหตุอันใด
[๘๙] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีการกำหนดหมาย
ในวัตถุที่น่ารักใคร่๑ว่าปราศจากความน่ารักใคร่
มีจิตคลายกำหนัดในโลกที่มีสภาวะน่ากำหนัด
ละกิเลสที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ชนะทิฏฐิ๒ที่เป็นเหตุให้ดิ้นรนแล้ว
ได้บรรลุพระโพธิญาณเพราะเหตุอันนั้นนั่นเอง
[๙๐] บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
มีจิตเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ก็ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก

เชิงอรรถ :
๑ วัตถุที่น่าใคร่ ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.อป.อ. ๑/๘๙/๑๕๓)
๒ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.อป.อ. ๑/๘๙/๑๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมประโยชน์ไปได้
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ
ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้ย่อมเที่ยวหาอาหารได้
ตามความพอใจฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน
ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งการบวชที่ให้ถึงความเสรี๑ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ การบวชที่ให้ถึงความเสรี ในที่นี้หมายถึงเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุปัจเจกโพธิญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๙๖/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๙๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหายย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำอันตรายทั้งหลายและไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่งและคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
ก็สงเคราะห์ยาก
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๐๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
เหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
[๑๐๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบหาสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้
พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เพราะกามทั้งหลาย๑ สวยงาม มีรสอร่อย
น่ารื่นเริงใจ ยั่วยวนจิตด่วยอารมณ์หลายรูปแบบ

เชิงอรรถ :
๑ กามทั้งหลาย หมายถึงกาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกามและกิเลสกาม วัตถุกาม ได้แก่ วัตถุภายนอกที่
มองเห็นได้มีรูปสวย ๆ งาม ๆ เป็นต้น กิเลสกาม ได้แก่ ความปรารถนาแห่งกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.อป.อ.
๑/๑๐๖/๒๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
คำว่า กาม นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี
เป็นอุปัททวะ เป็นโรค เป็นดุจลูกศร เป็นภัย๑
บุคคลเห็นภัยในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลพึงครอบงำภัยทั้งปวงแม้เหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลาน
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่อยู่ในป่าตามความชอบใจได้
เหมือนนาคะละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามความชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า กาม ชื่อว่าเป็นอันตราย เพราะนำมาซึ่งความฉิบหาย ชื่อว่าเป็นดุจฝี เพราะหลั่งกิเลสออกมา ชื่อ
ว่าเป็นอุปัททวะ เพราะรบกวน ชื่อว่าเป็นโรค เพราะปล้นเอาความไม่มีโรคไป ชื่อว่าเป็นดุจลูกศร เพราะเสียดแทง
จิตใจและถอนยาก ชื่อว่าเป็นภัย เพราะนำมาซึ่งภัยในภพนี้และภพหน้า (ขุ.อป.อ.๑/๑๐๗/๒๑๔.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งกิดขึ้นตามสมัย ๑
วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผ้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ดังนี้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฎฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม๒
ถึงนิยาม๓ ได้เฉพาะมรรคแล้ว๔
เป็นผู้มีญาณอันเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเกจพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย
ไม่มีความลบหลู่ กำจัดสภาวะ (กิเลสดุจนำย้อม) และโมหะได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีความหวังในโลกทั้งปวง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง สามยิกวิมุตติ ความหลุดพ้นเฉพาะสมัยที่จิตแน่วแน่ สา หิ (โลกิยสมาปตฺติ) เอว ปจฺจตฺถิเกหิ
วิมุจฺจนโต สามยิกา วิมุตฺตีติ วุจฺจติ ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๐/๒๑๘-๒๑๑๙, สามยิกํ เจโตวิมุตฺตินฺติ
อปฺปิตปฺปิตกฺขเณ ปจฺจนีกธมฺเมหิ วิมุจฺจติ.... โลกิยสมาปตฺติ สามยิกา เจโตวิมุตฺติ นาม สํ.ส.อ. ๑๑/๕๙/
๑๗๔, ลทฺธตฺตา สามยิกํ ชื่อว่าสามยิกะ เพราะได้เฉพาะสมัย), เป็นคุณที่เสื่อมได้ (อายสฺมา โคธิโก
อปฺปมตฺโต อาตาปี ปหิตตฺโต วิหรนฺโต สามยิกํ เจโตวิมุตฺตึ ผุสิ... สามยิกาย เจโตวิมุตฺติยา หริหายิ
ท่านโคธิกะ ไม่ประมาท มีความเพียรในความหลุดพ้น ๖๘ อย่าง (ดู ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๒๐๙/๓๔๖)
เป็นโลกิยสมาบัติ พระอรรถกถาจารย์กล่าวตามภาษิตของพระสารีบุตรเถระ (กตโม สามยิโก วิโมกฺโข
จตฺตาริ จ ฌานานิ จตสฺโส จ อรูปสมาปตฺติโย อยฺ สามยิโก วิโมกฺโข) ความหลุดพ้นเฉพาะสมัย คือ
รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (สามบัติ ๘ ก็เรียก)
๒ ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๑/๒๑๙)
๓ ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุโสดาปัตติมรรค (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๑/๒๑๙)
๔ ได้มรรคแล้ว หมายถึงได้มรรคที่เหลือ (คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ขุ.อป.อ.
๑/๑๑๑/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๑๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลพึงละเว้นสหายชั่ว
ผู้ไม่เห็นประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่ผิด
ไม่พึงคบผู้ขวนขวาย และผู้ประมาทด้วยตนเอง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลพึงคบมิตรผู้ได้ศึกษามาก๑ ทรงธรรม
ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว
พึงกำจัดความสงสัยได้
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้าฉ ไม่ชื่นชมการเล่น
ความยินดีแลัะความสุขในโลก ไม่ใส่ใจ
งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละทิ้งบุตร ภรรยา
บิดา มารดา ทรัพย์ ธัญชาติ
พวกพ้องและกามตามส่วนแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
กามนี้เป็นเครื่องข้อง
มีความสุขน้อย

เชิงอรรถ :
๑ ศึกษามาก หมายถึงศึกษา ๒ อย่าง คือ ศึกษาในปริยัติอันมั่นคงคือพระไตรปิฎก และศึกษาในปฏิเวธ
อันเป็นเครื่องรู้แจ้งมรรค ผล วิชชา และอภิญญา (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๔/๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ในกามนี้ มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก
ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์นำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหนดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คุ้มครองอินทรีย์ ๑ รักษาใจได้แล้ว
ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ครองผ้ากาสาวะออกบวช
เหมือนต้นทองหลางมีใบทึบ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล
ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ ๖ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๙/๒๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๒๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละเครื่องกั้นทางใจ ๕ ประการ๑
ขจัดอุปกิเลส๒ แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัยเครื่องอาศัยคือทิฏฐิ
ตัดความรักและความชังด้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละสุข และทุกข์
โสมนัส โทมนัส ก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงยและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ไม่ละการหลีกเร้น๓ และฌาน๔
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องกั้นทางใจ ๕ ประการ ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๒/๒๓๒)
๒ อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต (มี ๑๖ คือ อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ
อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ)
(ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๒/๒๓๒)
๓ การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก สงัดกาย (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๕/๒๓๖)
๔ ฌาน ในที่นี้หมายถึงจิตตวิเวก สงัดจิต (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๕/๒๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๒๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเกจพุทธเจ้า) เมื่อปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา
คงแก่เรียน มีสติ ผู้มีสังขตธรรม
ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียงเหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่ายเหมือนลม
ไม่เปียกนำเหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่
ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเกจพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา
กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๓๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ
และโมหะ ทำลายสังโยชน์ได้เสีย
ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๓๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ทุกวันนี้ มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จงคบและเสพด้วย มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปํญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด ๑
พระปัจเกจพุทธเจ้า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๓๒] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย๒ มีศีลบริสุทธิ์ (ด้วยปาริสุทธิศีล ๔)
มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น
หมั่นประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น
เห็นแจ้ง(ไตรลักษณ์) เห็นธรรมวิเศษ๓
รู้อยู่โดยพิเศษซึ่งอริยธรรมที่ประกอบด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์
[๑๓๓] ธีรชนเหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์
และอัปปณิหิตวิโมกข์แล้ว
ยังไม่บรรลุความเป็นสาวกในศาสนาพระชินเจ้า
ธีรชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกชินเจ้า
[๑๓๔] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีธรรมยิ่งใหญ่
มีธรรมกายมาก๔ มีจิตเป็นอิสระ
ข้ามห้วงแห่งทุกข์ทั้งมวลได้แล้ว มีจิตเบิกบาน
มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เหมือนราชสีห์ เหมือนนอแรด
[๑๓๕] พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้มีอินทรีย์สงบแล้ว มีจิตสงบแล้ว
มีจิตเป็นสมาธิ ประพฤติตอบแทน(ด้วยความเอ็นดูและความกรุณา)

เชิงอรรถ :
๑ ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยการกระทำทางกาย วาจา และใจ ในทางไม่ดี (ขุ.อป.อ.
๑/๑๓๑/๒๔๔)
๒ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวคาถาเฉพาะคาถาที่ ๙๑-๑๓๑ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๕๘-๑๖๕) ตั้งแต่คาถาที่
๑๓๒ นี้เป็นต้นไป พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าให้พระอานนทเถระฟังต่อ
๓ เห็นธรรมวิเศษ หมายถึงมีปกติเห็นกุศลธรรม ๑๐ สัจจธรรม ๔ หรือโลกุตตรธรรม ๙ (คือ มรรค ๔
ผล ๔ นิพพาน ๑) โดยวิเศษ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๒/๒๔๔)
๔ มีธรรมกายมาก ในที่นี้หมายถึงมีกายคือสภาวธรรมมาก (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๔/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ในเหล่าสัตว์ที่อยู่ตามชายแดน
เหมือนดวงประทีปส่องสว่างอยู่ในโลกนี้
และในโลกหน้า เกื้อกูลสัตว์โลกเป็นนิตย์
[๑๓๖] พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้เป็นผู้สูงสุดในหมู่ชน
ละเครื่องกั้นทั้งปวงได้แล้ว เป็นดวงประทีปของโลก
มีรัศมีเช่นกับประกายแสงแห่งทองแท่ง
เป็นผู้สมควรรับทักษิณาอย่างดีของชาวโลกอย่างแน่นอน
พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้เป็นผู้แนบแน่นอยู่เป็นนิตย์๑
[๑๓๗] ถ้อยคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวไว้ดีแล้ว
ย่อมแผ่ไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ชนพาลเหล่าใดได้ฟังแล้ว
ไม่ใส่ใจถึงคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนั้น
ชนพาลเหล่านั้นย่อมแล่นไปในกองทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีก
[๑๓๘] ถ้อยคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวไว้ดีแล้ว
เป็นถ้อยคำไพเราะ ดุจน้ำผึ้งหยาดน้อย ๆ ไหลหยดลงฉะนั้น
ชนเหล่าใดได้ฟังแล้วปฏิบัติตามอย่างนั้น
ชนเหล่านั้น เป็นผู้เห็นสัจจะ มีปัญญา
[๑๓๙] คาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวไว้แล้ว เป็นคาถาที่โอฬาร
ถ้อยคำเหล่านั้นเป็นคำที่พระศากยสีหะผู้สูงสุดในนรชน
เสด็จออกผนวชประกาศไว้แล้วเพื่อให้เวไนยสัตว์ได้รู้ธรรม
[๑๔๐] ถ้อยคำเหล่านี้ ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น
กล่าวไว้แล้วเพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก ซึ่งพระสยัมภูผู้สีหะ(นำมา)
ประกาศไว้เพื่อเพิ่มพูนความสลดสังเวช
ความไม่คลุกคลี และปัญญา
ปัจเจกพุทธาปทาน จบ

เชิงอรรถ :
๑ แนบแน่นอยู่ป็นนิตย์ ในที่นี้หมายถึงอิ่มหนำบริบูรณ์เป็นนิตย์ แม้ต้องอดอาหารถึง ๗ วัน ก็บริบูรณ์
อยู่ได้ด้วยอำนาจสมาบัติ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๖/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
๓. เถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถระ
๑. สารีปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระ
(พระอานนทเถระกล่าวว่า)๑ ต่อไปนี้ ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังประวัติ ในอดีต
ชาติของพระเถระทั้งหลาย (ต่อไป)
(พระสารีบุตรเถระบรรลุสาวกบารมีญาณแล้วได้อุทานขึ้นว่า)
[๑๔๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อลัมพกะ
(ใกล้ ๆ ภูเขาลัมพกะนั้น) เขาสร้างอาศรม
และสร้างบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า
[๑๔๒] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า มีแม่น้ำสายหนึ่งมีฝั่งตื้น
ท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ
มีทรายสะอาดเรี่ยรายกระจายอยู่ทั่ว
[๑๔๓] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้านั้น
มีแม่น้ำไม่มีก้อนกรวด ไม่มีเงื้อมยื่นง้ำออกมา
น้ำมีรสดี ไม่มีกลิ่น ไหลไป
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๔๔] ในแม่น้ำ มีฝูงจระเข้ ฝูงมังกร
ฝูงตะโขง และฝูงเต่า แหวกว่ายไปมา
ในแม่น้ำสายนั้น ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๔๕] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก
ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน
ฝูงปลานกกระจอก ว่ายเวียนไปมา
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

เชิงอรรถ :
๑ พระอานนทเถระบอกให้พระเถระทั้งหลายผู้ร่วมทำปฐมสังคายนาตั้งใจฟัง (แปลเพิ่มตาม ขุ.อป.อ. ๑/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๔๖] ที่ฝั่งทั้ง ๒ ของแม่น้ำ หมู่ไม้ดอก ไม้ผล
ห้อยระย้าอยู่ทั้ง ๒ ฝั่ง
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๔๗] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า
ต้นแคฝอย ต้นย่านทราย มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์อยู่รอบ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๔๘] ต้นจำปา ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นกากะทิง
ต้นบุนนาค และต้นการะเกด มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์อยู่รอบ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๔๙] ต้นลำดวน ต้นอโศก ต้นกุหลาบ
มีดอกบานสะพรั่ง ต้นปรู และต้นมะกล่ำหลวง
ก็มีดอกบานสะพรั่งอยู่รอบ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๕๐] ต้นลำเจียก ต้นกล้วย ต้นพิกุล และต้นมะลิซ้อน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๕๑] ต้นกรรณิการ์ ต้นกรรณิการ์เขา
ต้นประดู่ ต้นอัญชัน มากมาย
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๕๒] ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา ต้นแคฝอย
มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๕๓] ต้นราชพฤกษ์ ต้นอัญชันเขียว
ต้นกระทุ่ม และต้นพิกุล มากมาย
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๕๔] ถั่วดำ ถั่วเหลือง ต้นกล้วย
ต้นมะงั่ว งอกงามด้วยน้ำหอม
ออกฝัก ออกผล(เป็นทองคำ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม)
[๑๕๕] (ในบึงใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม
บางกอมีเกสรกำลังแย้ม บางกอมีเกสร(ในกลีบ)ร่วงหล่น
บางกอมีดอกบานสะพรั่งอยู่ในบึง ในครั้งนั้น
[๑๕๖] ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม
เหง้าบัวเลื้อยไปทั่ว กอกระจับมีใบดารดาษ
งดงามอยู่ในบึง ในครั้งนั้น
[๑๕๗] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี ต้นอุตตลี และต้นชบา
มีดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
อยู่ใกล้ ๆ บึง ในครั้งนั้น
[๑๕๘] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก
ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน
ฝูงปลาสังกุลา(ปลาลูกดอก) และฝูงปลาทอง
อาศัยอยู่ในบึง ในครั้งนั้น
[๑๕๙] (ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) มีฝูงจระเข้ ฝูงตะโขง๑
ฝูงปลาฉนาก๒ ฝูงผีเสื้อน้ำ(ยักษ์ร้าย)ฝูงงูหลาม
ฝูงงูเหลือมอาศัยอยู่ในบึง ในครั้งนั้น
[๑๖๐] (ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) มีฝูงนกพิราบ ฝูงนกเป็ดน้ำ
ฝูงนกจักรพาก๓ ฝูงนกกาน้ำ ฝูงนกดุเหว่า
ฝูงนกแก้ว และนกสาลิกา อาศัยสระนั้นหากิน

เชิงอรรถ :
๑ ตะโขง มีลักษณะคล้ายจระเข้แต่ปากเรียวและยาวกว่า อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ปลาร้าย
๒ ปลาฉนาก ได้แก่ปลามีปากมีลักษณะเป็นกระดูกแข็งยื่นออกไปเป็นก้านยาวมีฟันทั้ง ๒ ข้างคล้ายฟันเลื่อย
๓ จักรพาก หรือ จักรวาก คู่ของนกนี้ต้องพรากจากกันครวญถึงกัน ในเวลากลางคืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๖๑] ฝูงนกกวัก (ไก่เถื่อน ไก่ป่า) ฝูงไก่ป่า
ฝูงนกนางนวล ฝูงนกต้อยตีวิด
ฝูงนกแขกเต้า อาศัยสระนั้นหากิน (ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า)
[๑๖๒] ฝูงหงส์ ฝูงนกกระเรียน ฝูงนกยูง
ฝูงนกดุเหว่า ฝูงไก่งวง ฝูงนกช้อนหอย๑
ฝูงนกโพระดก (นกกระจอก นกออก) อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๓] ฝูงนกแสก (นกเค้าแมว นกทึดทือ) ฝูงนกหัวขวาน
ฝูงนกออกขาว (นกเขา) ฝูงนกเหยี่ยวดำ
ฝูงนกกาน้ำ มากมาย อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๔] ฝูงเนื้อฟาน (อีเก้ง) ฝูงหมูป่า ฝูงสุนัขจิ้งจอก
(หมาป่า หมาใน) ฝูงแรด ฝูงละมั่ง
ฝูงเนื้อทราย อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๕] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง
หมี หมาใน เสือดาว
ช้างตระกูลมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง๒(ไม่ทำอันตราย)
อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๖] เหล่ากินนร (สัตว์ครึ่งคนครึ่งนก) ฝูงวานร
คนทำงานในป่า สุนัขไล่เนื้อ
นายพราน อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๗] ต้นมะพลับ ต้นมะหาด๓ ต้นมะซาง
ต้นหมากเม่า เผล็ดผลทุกฤดูกาล
อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ นกช้อนหอย นกกินปลา ปมฺปกา ลิงลม ก็แปล
๒ ตกมัน ๓ แห่ง คือ นัยน์ตา ใบหู และลูกอัณฑะ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๖๐/๒๖๐,๖๕๗/๓๗๗
๓ ต้นไม้ขนาดใหญ่ มีผลคล้ายมะปราง รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๖๕/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๖๘] ต้นคำ๑ ต้นสน ต้นกระทุ่ม
สะพรั่งด้วยผลมีรสหวาน เผล็ดผลเป็นประจำ
อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๖๙] ต้นสมอไทย ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า
ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า
ต้นมะตูม เหล่านั้น เผล็ดผลเป็นนิตย์
[๑๗๐] มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ หัวหอม หัวกระเทียม๒
ต้นกะเม็ง๓ ต้นขัดมอน๔
มีอยู่มากมายใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๗๑] ใกล้ ๆ อาศรม(ของข้าพเจ้า)มีบึงน้ำที่บุญกรรมเนรมิตไว้อย่างดี
มีน้ำใสเย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๑๗๒] (สระน้ำเหล่านั้น) ดารดาษด้วยดอกบัวหลวง ดอกบัวขาบ๕
สะพรั่งด้วยบัวขาว ดารดาษด้วยบัวเฝื่อน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
[๑๗๓] ครั้งนั้น๖ ข้าพเจ้าอยู่ในอาศรม
ซึ่งสร้างไว้อย่างดี น่ารื่นรมย์ ในป่ามีไม้ดอกไม้ผล
สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทุกอย่าง ดังกล่าวมานี้
[๑๗๔] ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่อสุรุจิ มีศีล๗
สมบูรณ์ด้วยข้อวัตร มีปกติเพ่งฌาน

เชิงอรรถ :
๑ ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ต้นแสด หรือต้นคำแสด ก็เรียก
๒ ต้นดอกซ่อนกลิ่น
๓ ต้นไม้ขนาดเล็ก ต้นสีม่วง ใบเขียวขนคาย ดอกขาว ใช้ทำยารักษาโรคเด็ก
๔ ต้นข้าวต้ม ต้นขัดมอน ก็เรียก เปลือกเหนียว ดอกเหลือง เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่ง ใช้ทำไม้กวาดได้
๕ บัวสีน้ำเงินแก่อมม่วง
๖ ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงในครั้งที่ข้าพเจ้าเป็นดาบส (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๓/๒๖๒)
๗ มีศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๔/๒๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
ยินดีในฌานในกาลทุกเมื่อ
สำเร็จอภิญญาพละ ๕๑ ประการ
[๑๗๕] ข้าพเจ้ามีศิษย์ ๑,๐๒๔ คน ทั้งหมดนั้น
เป็นพราหมณ์ มีชาติตระกูล มียศ
ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่
[๑๗๖] ศิษย์ของข้าพเจ้าเข้าใจตัวบท(หลักไวยากรณ์)
ฉลาดในการพยากรณ์ สำเร็จวิชาทำนายลักษณะ
วิชาอิติหาสศาสตร์ และไตรเพทอันเป็นธรรมของตน
พร้อมทั้งวิชานิฆัณฑุศาสตร์ และวิชาเกฏุภศาสตร์๒
[๑๗๗] ศิษย์ของข้าพเจ้าฉลาดในลางบอกเหตุ
ในนิมิตร และในลักษณะ
เป็นผู้ศึกษาดีแล้วในเรื่องดิน
ในภาคพื้นดิน และในอากาศ
[๑๗๘] ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้มักน้อย
มีปัญญารักษาตน บริโภคแต่น้อย ไม่โลภ
สันโดษตามมีตามได้ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๑๗๙] ศิษย์ของข้าพเจ้ามีปกติเพ่งฌาน ยินดีในฌาน
เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น
ปรารถนาความหมดกังวล ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ อภิญญาพละ ๕ คือ แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ รู้ใจผู้อื่น ระลึกชาติได้ และตาทิพย์ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๔/๒๖๓)
๒ วิชาทำนายลักษณะ หมายถึงคัมภีร์ประกาศลักษณะของหญิงและบุรุษชาวโลกทั้งหมดมีทุกข์และสุข
อิติหาสศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ชี้แจงคำพูดที่ท่านกล่าวว่า อิติห อาสา
นิฆัณฑุศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ประกาศชื่อต้นไม้และภูเขาเป็นต้น
เกฏุภศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ว่าด้วยวิชาการกวี (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๖/๒๖๓, ดูเชิงอรรถเล่ม ๙ ข้อ ๒๕๖)
ไตรเพท หมายถึงพระเวท ๓ คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๘๐] ศิษย์ของข้าพเจ้าสำเร็จอภิญญา
ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา๑
เหาะไปมาทางอากาศได้
เป็นนักปราชญ์ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๑๘๑] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น สำรวมทวารทั้ง ๖
ไม่หวั่นไหว๒ รักษาอินทรีย์ และไม่คลุกคลี
เป็นนักปราชญ์๓ หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[๑๘๒] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ให้เวลาผ่านไปด้วยการนั่งขัดสมาธิ
การยืน และการจงกรม ตลอดคืน
[๑๘๓] ศิษย์ของข้าพเจ้าไม่กำหนัดในวัตถุที่น่ากำหนัด
ไม่ขัดเคืองในวัตถุที่น่าขัดเคือง
ไม่ลุ่มหลงในวัตถุที่น่าลุ่มหลง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[๑๘๔] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ด้วยการแข่งดีทดลองแสดงฤทธิ์อยู่เป็นนิตย์
บันดาลให้แผ่นดินไหวได้
[๑๘๕] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เมื่อจะเล่น ก็เล่นฌาน(เข้าฌาน)
ไปนำผลหว้ามาได้
[๑๘๖] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป
พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป

เชิงอรรถ :
๑ บาลี เปตฺติเก โคจเร รตา ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา หมายถึงยินดีในอาหารที่ได้ไม่ใช่ออกปากขอ
(ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๐/๒๖๔)
๒ ไม่หวั่นไหว ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาเป็นเหตุให้หวั่นไหว (ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๑/๒๖๕)
๓ เป็นนักปราชญ์ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มั่นคง ไม่สะทกสะท้านถึงอันตรายที่เกิดจากสัตว์มีราชสีห์และเสือ
เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๐/๒๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๘๗] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น ส่งหาบ(บริขารดาบส)
ไปข้างหน้า ส่วนตนเองไปทีหลัง
ท้องฟ้าถูกดาบส ๑,๐๒๔ รูป ปิดบังไว้แล้ว
[๑๘๘] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งเผา(ผลไม้น้อยใหญ่และผัก)ไฟฉัน
พวกหนึ่งไม่เผาไฟฉันดิบ ๆ พวกหนึ่งกระแทะเปลือกออกฉัน
พวกหนึ่งตำฉัน พวกหนึ่งเอาหินทุบฉัน
พวกหนึ่งฉันผลไม้ที่หล่นเอง
[๑๘๙] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
พวกหนึ่งรักความสะอาดลงอาบน้ำทั้งเช้าทั้งเย็น
พวกหนึ่งตักน้ำอาบ
[๑๙๐] ศิษย์ของข้าพเจ้า(ประพฤติวัตร)
ปล่อยเล็บมือเล็บเท้าและขนรักแร้ยาว
ขี้ฟันเขลอะ ศีรษะเปื้อนธุลี
แต่หอมด้วยกลิ่นศีล หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[๑๙๑] ดาบสทั้งหลายผู้ทรงชฎา
มีตบะแก่กล้า ประชุมกันแต่เช้าแล้ว
ประกาศลาภน้อย ลาภใหญ่ให้ทราบแล้ว เหาะไปในท้องฟ้า
[๑๙๒] เมื่อดาบสเหล่านั้นเหาะไป เสียงดังย่อมสะพัดไป
ทวยเทพย่อมยินดีเพราะได้ยินเสียงหนังสัตว์
[๑๙๓] ฤๅษีผู้เหาะไปทางอากาศไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ฤๅษีเหล่านั้นมีกำลังของตนอุปถัมภ์ จึงไปได้ตามปรารถนา
[๑๙๔] ฤๅษีเหล่านั้นทั้งหมดทำแผ่นดินให้ไหว
เที่ยวไปในอากาศ มีเดชแผ่ไป
ใคร ๆ ไม่อาจข่มได้ ผู้อื่นไม่อาจให้หวั่นไหวได้
ดังสมุทรสาครที่ใครอื่นให้กระเพื่อมไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๙๕] ฤๅษีผู้เป็นศิษย์ของข้าพเจ้า
บางพวกยืนและเดินจงกรม บางพวกถือการนั่งเป็นวัตร
บางพวกฉันใบไม้ที่หล่นเอง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[๑๙๖] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นมีปกติอยู่ด้วยการแผ่เมตตา
แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
ไม่ยกตน ไม่ข่มใคร ๆ
[๑๙๗] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นไม่สะดุ้งกลัวอะไร
เหมือนราชสีห์ มีกำลังเหมือนพญาคชสาร
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เหมือนพญาเสือโคร่ง ย่อมมาอยู่ใกล้ข้าพเจ้า
[๑๙๘] พวกวิทยาธร พวกเทวดา นาค
คนธรรพ์ ผีเสื้อน้ำ กุมภัณฑ์ ทานพ(อสูร)
ครุฑ อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๙๙] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นเกล้าชฎา
คอนบริขาร นุ่งห่มหนังสัตว์
เที่ยวไปในอากาศได้ทุกตน อาศัยสระนั้นหากิน
[๒๐๐] ครั้งนั้น ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้เหมาะสมกันและกัน
มีความเคารพต่อกันและกัน
ศิษย์ ๑,๐๒๔ คน ไม่มีเสียงไอเสียงจามเลย
[๒๐๑] ศิษย์เหล่านั้นเดินเข้าแถวกัน เงียบเสียง
สำรวมดี ทั้งหมดเข้ามากราบข้าพเจ้าด้วยเศียรเกล้า
[๒๐๒] ข้าพเจ้ามีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
อยู่ในอาศรมแห่งนั้นมีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม
ซึ่งเป็นผู้สงบ มีตบะ
[๒๐๓] อาศรมของข้าพเจ้าหอมด้วยกลิ่น ๒ อย่าง
คือกลิ่นศีลของเหล่าฤๅษีและกลิ่นดอกไม้
ผลไม้ของต้นไม้ที่ผลิดอกออกผล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๐๔] ข้าพเจ้าไม่รู้คืนและวัน
ความไม่พอใจมิได้มีแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าสั่งสอนศิษย์ของตนได้ความร่าเริงอย่างยิ่ง
[๒๐๕] เมื่อดอกไม้บานและผลไม้สุก
มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไป
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๒๐๖] ข้าพเจ้าออกจากสมาธิแล้ว
มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญารักษาตน
คอนหาบบริขาร(ดาบส)เข้าป่าไป
[๒๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ศึกษาจนชำนาญ
ในลางบอกเหตุ ในความฝันและในลักษณะทั้งหลาย
ทรงจำบทแห่งมนตร์ที่แพร่หลายอยู่
[๒๐๘] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงประสงค์วิเวก ตรัสรู้เองโดยชอบ
จึงเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์
[๒๐๙] พระองค์ผู้เป็นมุนีผู้เลิศ
ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
เสด็จถึงป่าหิมพานต์แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ
[๒๑๐] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงมีแสงสว่างเจิดจ้า น่ารื่นรมย์ใจ
ทรงรุ่งเรืองดังดอกบัวเขียว
เป็นดุจแท่นบูชาไฟ สว่างเจิดจ้า
[๒๑๑] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงรุ่งเรืองดุจต้นพฤกษาประทีป๑

เชิงอรรถ :
๑ ต้นพฤกษาประทีป หมายถึงดอกไม้ไฟ โคมไฟ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๔-๕๕/๑๓๑, ขุ.พุทฺธ.อ. ๔๕/๗๙,๓๐/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
ดุจสายฟ้าสว่างจ้ากลางอากาศ
ดุจต้นพญาไม้สาละ มีดอกบานสะพรั่งอยู่
[๒๑๒] พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงเป็นผู้ประเสริฐ
มีความเพียรมาก เป็นพระมุนีผู้กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว
เวไนยสัตว์ได้อาศัยการพบเห็นนี้แล้ว
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
[๒๑๓] ครั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพแล้ว
จึงได้ตรวจดูลักษณะว่า เป็นพระพุทธเจ้าหรือมิใช่
เอาละ เราจะดูพระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ๑
[๒๑๔] ที่พื้นฝ่าพระบาทอันยอดเยี่ยมปรากฏมีจักรมีกำตั้งพัน
ข้าพเจ้าได้เห็นลักษณะทั้งหลายของพระองค์แล้ว
จึงถึงความแน่ใจในพระตถาคต
[๒๑๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้หยิบไม้กวาดมากวาดสถานที่นั้นแล้ว
ได้นำดอกไม้มา ๘ ดอก บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๒๑๖] ครั้นข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ข้ามพ้นโอฆะได้แล้ว
ไม่มีอาสวะ พระองค์นั้นแล้ว
จึงห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า
นมัสการพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๒๑๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ
ประทับอยู่ด้วยพระญาณอันใด
ข้าพเจ้าจักประกาศพระญาณอันนั้น
ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าวเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีพระจักษุ หมายถึงทรงมีจักษุ ๕ (คือ มังสจักษุ ตาเนื้อ มีพระเนตรงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว
และเห็นไกล ทิพยจักษุ ตาทิพย์ ปัญญาจักษุ ตาปัญญา พุทธจักษุ ตาพระพุทธเจ้า คือทรงทราบ
อัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ สมันตจักษุ ตาเห็นรอบ
ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณหยั่งรู้ธรรมทุกประการ) (ขุ.อป.อ. ๑/๒๑๓/๒๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๑๘] (ดาบสสุรุจิกล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคอโนมทัสสีว่า)๑
ข้าแต่พระสยัมภู ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้
ขอพระองค์จงทรงช่วยสัตว์โลกนี้ให้พ้นจากสังสารวัฏเถิด๒
สัตว์เหล่านั้นอาศัยการพบเห็นพระองค์แล้ว
จะข้ามกระแสแห่งความสงสัยได้
[๒๑๙] พระองค์ทรงเป็นศาสดา เป็นยอด
เป็นธงชัย เป็นเสาหลัก เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่พึ่ง
เป็นดุจดวงประทีปของเหล่าสัตว์
เป็นผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๒๒๐] ข้าแต่พระสัพพัญญู
น้ำในมหาสมุทรสามารถที่จะประมาณได้ด้วยมาตราตวง
แต่พระญาณของพระองค์ไม่มีใครสามารถจะประมาณได้เลย
[๒๒๑] ข้าแต่พระสัพพัญญู
แผ่นดินยังสามารถที่จะนำมาวางไว้บนตราชั่งแล้วชั่งดูได้
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะชั่งดูได้
[๒๒๒] ข้าแต่พระสัพพัญญู
อากาศยังสามารถที่จะใช้เชือกหรือนิ้วมือวัดดูได้
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะวัดดูได้
[๒๒๓] น้ำในมหาสมุทรทั้งหมดและแผ่นดินทั้งสิ้น
บุคคลก็ยังข้ามได้ แต่พระพุทธญาณ
ไม่ควรโดยการนำมาเปรียบเทียบ

เชิงอรรถ :
๑ พระดาบสสุรุจิเป็นอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระได้พบพระพุทธเจ้าอโนมทัสสี ตามข้อความในคาถาข้างต้น
ได้กล่าวชมเชยพระองค์
๒ พ้นจากสังสารวัฏ หมายถึงให้สิ้นจากสงสารแล้วให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๑๘/๒๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ๑
จิตของสัตว์เหล่าใดแล่นไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
สัตว์ผู้มีจิตเหล่านั้นได้อยู่ในข่ายคือญาณของพระองค์
[๒๒๕] ข้าแต่พระสัพพัญญู
พระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณ๒อย่างสูงสุดทั้งสิ้นด้วยพระญาณใด
พระองค์ทรงย่ำยีอัญเดียรถีย์ทั้งหลายด้วยพระญาณนั้น
[๒๒๖] (พระเถระทั้งหลายผู้ทำสังคายนากล่าวว่า)
ท่านสุรุจิดาบสนั้น ครั้นกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว
จึงปูลาดหนังสัตว์นั่งลงบนแผ่นดิน
[๒๒๗] (ดาบสสุรุจินั่งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วกล่าวว่า)
ผู้คนกล่าวกันในบัดนี้ว่า
ขุนเขา๓หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๘๔,๐๐๐ โยชน์
สูงขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์เช่นกัน
[๒๒๘] ภูเขาสิเนรุก็สูงสุดเท่านั้น ภูเขาสิเนรุนั้น
ทั้งด้านยาว ทั้งด้านกว้างถึงเพียงนั้น
ก็ยังถูกบดให้ละเอียดเป็นแสนโกฏิด้วยการนับ
[๒๒๙] ข้าแต่พระสัพพัญญู เมื่อตั้งคะแนนไว้๔
ผงแห่งภูเขาสิเนรุก็จะพึงหมดสิ้นไปก่อน
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะนับได้
[๒๓๐] ผู้ใดพึงเอาข่ายตาถี่ ๆ ขึงล้อมน้ำไว้
สัตว์น้ำทั้งหมดที่มีอยู่ก็จะพึงเข้าไปอยู่ภายในข่าย ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถ หน้าที่ ๓๖ ในเล่มนี้
๒ พระโพธิญาณ หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๕/๒๗๑)
๓ ขุนเขา หมายถึงขุนเขาพระสุเมรุ (ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแผ่นดินของสวรรค์ดาวดึงส์ซึ่งมี
พระอินทร์อยู่) (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๗/๒๗๑)
๔ ตั้งคะแนน หมายถึงนับพระญาณของพระองค์ (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๙/๒๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
เดียรถีย์มากมายบางพวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเข้าไปสู่ป่าทึบคือทิฏฐิ ถูกความยึดถือทำให้ลุ่มหลง
[๒๓๒] เดียรถีย์เหล่านั้นเข้าไปภายในข่าย๑
เพราะพระญาณอันบริสุทธิ์ของพระองค์
ซึ่งมีปกติเห็นสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรขัดขวาง
เดียรถีย์เหล่านั้นหาล่วงเลยพระญาณของพระองค์ไปไม่
[๒๓๓] ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ออกจากสมาธิแล้วตรวจดูทิศ
[๒๓๔] พระสาวกนามว่านิสภะ ของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เป็นมุนี มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
เป็นผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่ แวดล้อมแล้ว๒
[๒๓๕] ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้บริสุทธิ์ ผู้ได้อภิญญา ๖๓
ผู้คงที่ ทราบพระดำริของพระพุทธเจ้าแล้ว
จึงเข้าเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๒๓๖] สาวกเหล่านั้นยืนกลางอากาศ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคนั้น
ได้กระทำประทักษิณ ประนมมือ
นมัสการแล้วลงมาเฝ้า ณ สำนักพระพุทธเจ้า
[๒๓๗] พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ

เชิงอรรถ :
๑ ข่าย ในที่นี้หมายถึงข่ายคือพระญาณของพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๒๓๒/๒๗๓)
๒ ผู้คงที่ หมายถึงผู้ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา (ขุ.อป.อ. ๑/๒๓๔/๓๗๓)
๓ อภิญญา ๖ หมายถึงความรู้ยิ่งคือ อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้, ทิพพโสต หูทิพย์, เจโตปริยญาณ
ทายใจคนอื่นได้, ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้, ทิพพจักขุ ตาทิพย์, อาสวักขยญาณ ญาณ
ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป (องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒/๔๑๒-๔๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑.พุทธวรรค] ๓.เถราปทาน ๑.สารีปุตตเถราปทาน
[๒๓๘] พระสาวกนามว่าวรุณะ
ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี
ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วทูลถามพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๒๓๙] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อะไรหนอ
เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงแย้มพระโอษฐ์
ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นจะไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์ โดยไม่มีเหตุ
[๒๔๐] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
[๒๔๑] เราจักพยากรณ์ดาบสผู้ที่ใช้ดอกไม้บูชาเรา
และชมเชยญาณของเราเนือง ๆ
ขอท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๒๔๒] เทวดาทั้งปวง ทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้วมาประชุมกัน
เทวดาเหล่านั้น ประสงค์จะฟังพระสัทธรรม
จึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๒๔๓] หมู่เทวดาผู้มีฤทธิ์มากทั้ง ๑๐ โลกธาตุ๑เหล่านั้น
ประสงค์จะฟังพระสัทธรรมจึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๒๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) กองทัพ ๔ เหล่า
คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า
จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๔๕] เครื่องดนตรี ๑,๐๖๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม
จักบำรุงบำเรอผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ๑๐ โลกธาตุ หมายถึง หมื่นจักรวาล (ที.ม.อ. ๒/๓๓๑/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๔๖] สตรีสาวล้วน ๑๖,๐๐๐ นาง ประดับตกแต่งสวยงาม
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๒๔๗] มีหน้ากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม
เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๔๘] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ
[๒๔๙] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ
จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๒๕๐] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ผู้นี้จักไปเกิดเป็นมนุษย์
นางพราหมณีชื่อสารี จักตั้งครรภ์
[๒๕๑] ผู้นี้จักปรากฏนามว่าสารีบุตร
ตามชื่อและโคตรของมารดา จักเป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม
[๒๕๒] จักเป็นผู้ไม่มีความกังวล
ละทิ้งทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิแล้วออกบวช
เที่ยวแสวงหาทางแห่งความสงบทั่วแผ่นดินนี้
[๒๕๓] ในกัปที่นับมิได้นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๕๔] ดาบสนี้จักมีนามว่าสารีบุตร
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นอัครสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๒๕๕] แม่น้ำภาคีรถีนี้ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์
ไหลลงสู่มหาสมุทร ทำมหาสมุทรให้เต็ม ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๕๖] สารีบุตรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จักเป็นผู้สามารถแกล้วกล้าในไตรเพท
จักสำเร็จปัญญาบารมี แล้วให้หมู่สัตว์อิ่มเอิบได้
[๒๕๗] ตั้งแต่ป่าหิมพานต์จนถึงทะเลมีห้วงน้ำกว้างใหญ่
ในช่วงระหว่างนี้ มีกองทรายอยู่ขนาดเท่าใด
คำนวณนับไม่ได้
[๒๕๘] แม้กองทรายขนาดเท่านั้นสามารถจะคำนวณนับได้
โดยไม่มีเหลือด้วยการนับวิธีใด
แต่ปัญญาของสารีบุตรจะมีที่สุดโดยวิธีนับนั้น ๆ ก็หามิได้
[๒๕๙] เมื่อตั้งคะแนนไว้
บรรดาทรายในแม่น้ำคงคาก็จะพึงหมดสิ้นไป
แต่ปัญญาของสารีบุตรหาหมดสิ้นไปไม่
[๒๖๐] คลื่นในมหาสมุทรคำนวณนับไม่ได้
ปัญญาของสารีบุตร จักไม่มีที่สุดอย่างนั้นเหมือนกัน
[๒๖๑] สารีบุตรนั้นจักทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงโปรดปรานแล้ว
สำเร็จปัญญาบารมีเป็นอัครสาวก(ของพระองค์)
[๒๖๒] สารีบุตรนั้น จักประพฤติตามพระธรรมจักร
ที่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร
ผู้คงที่ ทรงประกาศไว้แล้ว
บันดาลเม็ดฝนคือธรรมให้ตกลงโดยชอบ
[๒๖๓] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
จักทรงตั้ง(สารีบุตร)ไว้ในตำแหน่งอัครสาวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๖๔] โอ ! กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญญาธิการ
แด่พระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสีแล้ว
สำเร็จบารมีในจำนวนคุณทั้งสิ้น
ชื่อว่าเป็นกรรมที่ทำไว้ดีแล้วหนอ
[๒๖๕] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้
แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว ดุจความเร็วแห่งลูกศรพ้นไปจากแล่ง
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๒๖๖] ข้าพเจ้านั้น เมื่อเที่ยวแสวงหาทาง
ที่ไม่หวั่นไหวคือนิพพาน อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
เลือกเฟ้นเจ้าลัทธิทั้งปวงจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
[๒๖๗] คนเป็นไข้พึงแสวงหายารักษา
พึงสะสมทรัพย์ทั้งปวงไว้เพื่อพ้นจากความเจ็บไข้ ฉันใด
[๒๖๘] ข้าพเจ้าก็ฉันนั้น เมื่อเที่ยวแสวงหาทาง
คืออมตนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
จึงได้บวชเป็นฤๅษี ๕๐๐ ชาติ ติดต่อกัน
[๒๖๙] ข้าพเจ้าเพียบพร้อมด้วยชฎาและภาระ(บริขาร)
นุ่งห่มหนังสัตว์ สำเร็จอภิญญา ได้ไป(เกิด)ยังพรหมโลก
[๒๗๐] เว้นศาสนาของพระชินเจ้าเสียแล้ว
ก็หาความบริสุทธิ์ในลัทธิภายนอกไม่ได้
เหล่าสัตว์ผู้มีปัญญาย่อมบริสุทธิ์ได้ในศาสนาของพระชินเจ้า
[๒๗๑] สิ่งที่สำเร็จด้วยการทำของตนนั้น
ไม่เป็นดังที่ได้ยินกันต่อ ๆ มาว่า เป็นอย่างนี้ ๆ
ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาทางที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
จึงเที่ยวไปในลัทธิที่ผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๗๒] คนที่ต้องการแก่นไม้ตัดต้นกล้วยแล้วผ่า
ก็จะไม่พึงได้แก่นไม้ในต้นกล้วยนั้น
เขาย่อมเป็นผู้ไร้แก่นไม้ ฉันใด
[๒๗๓] เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น
มีทิฏฐิต่างกัน ถึงจะมีจำนวนมาก
ก็เป็นผู้ว่างเปล่าจากนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
ดุจต้นกล้วยว่างเปล่าจากแก่นไม้ ฉะนั้น
[๒๗๔] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ข้าพเจ้าเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์
ได้ละทิ้งโภคสมบัติมากมายแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต
ภาณวารที่ ๑ จบ
[๒๗๕] (พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า)๑
ข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพราหมณ์นามว่าสัญชัย
ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท
[๒๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พราหมณ์นามว่าอัสสชิ
สาวกของพระองค์ ซึ่งหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
มีเดชแผ่ไป เที่ยวบิณฑบาตในครั้งนั้น
[๒๗๗] ข้าพระองค์ได้เห็นท่านผู้ประเสริฐนั้น ผู้มีปัญญา
เป็นมุนี มีจิตตั้งมั่นในความเป็นมุนี
มีจิตสงบ เบิกบานดุจดอกปทุมที่แย้มบาน
[๒๗๘] เพราะเห็นท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว
มีจิตบริสุทธิ์ องอาจ ประเสริฐ มีความเพียร
ความคิดของข้าพเจ้าจึงเกิดขึ้นว่า
ท่านผู้นี้คงจะเป็นพระอรหันต์

เชิงอรรถ :
๑ ตั้งแต่คาถานี้ไปพระเถระได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทราบเรื่องราวของท่าน สมตามข้อความในธรรม
บทอรรถกถาด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๗๙] ท่านผู้นี้ เคลื่อนไหวกิริยาท่าทางน่าเลื่อมใส
รูปงาม สำรวมดี ฝึกฝนแล้วในอุบายเครื่องฝึกอย่างสูงสุด
คงจะเป็นผู้เห็นทางอมตะ
[๒๘๐] ทางที่ดี เราควรจะถามท่านผู้มีประโยชน์อย่างสูงสุด
ผู้มีจิตยินดี หากท่านถูกเราถามแล้วจักตอบ
เราก็จะย้อนถามท่านอีก ในครั้งนั้น
[๒๘๑] ข้าพระองค์ได้เดินตามไปข้างหลังท่านผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาต
รอคอยโอกาสอยู่เพื่อจะสอบถามทางอมตะ
[๒๘๒] จึงเข้าไปหาท่านซึ่งอยู่ในระหว่างถนนแล้วถามว่า
ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้มีความเพียร
ท่านมีโคตรตระกูลอย่างไร เป็นศิษย์ของใคร
[๒๘๓] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้วก็ไม่ครั่นคร้าม
เป็นดังพญาไกรสรราชสีห์ตอบว่า
ท่านผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
อาตมาเป็นศิษย์ของพระองค์
[๒๘๔] (ข้าพระองค์ได้ถามต่อไปว่า)
ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ท่านผู้มียศยิ่งใหญ่เกิดตามมา
ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าของท่านเป็นเช่นไร
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอโอกาส
ขอท่านโปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๒๘๕] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้ว
จึงแสดงบททุกบทที่ลึกซึ้งละเอียด
สำหรับกำจัดลูกศรคือตัณหา
สำหรับเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงว่า
[๒๘๖] ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติตรัสสอนอย่างนี้
[๒๘๗] เมื่อพระอัสสชิเถระแก้ปัญหาแล้ว
ข้าพระองค์นั้นได้บรรลุผลที่หนึ่ง(โสดาปัตติผล)
เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ปราศจากมลทินคือกิเลส เพราะได้ฟังคำสอนของพระชินเจ้า
[๒๘๘] ข้าพระองค์ได้ฟังคำของพระมุนีแล้ว
ได้เห็นธรรมอันสูงสุด หยั่งรู้พระสัทธรรมจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
[๒๘๙] ถ้ามีเพียงเท่านั้น ธรรมนี้นั่นแหละ(ที่ข้าพเจ้าพึงบรรลุ)
ท่านรู้แจ้งทางที่ไม่เศร้าโศก๑
ซึ่งข้าพเจ้าไม่เห็นแล้ว ล่วงเลยมาหลายหมื่นกัป
[๒๙๐] ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาธรรม ได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด
(บัดนี้)ได้บรรลุความประสงค์นั้นแล้ว
จึงมิใช่เวลาที่ข้าพเจ้าจะประมาท
[๒๙๑] ข้าพระองค์ที่พระอัสสชิเถระให้ยินดีแล้ว
บรรลุทางที่ไม่หวั่นไหว๒ เมื่อจะไปเสาะหาสหาย
จึงได้ไปยังอาศรม
[๒๙๒] สหายของข้าพระองค์ ผู้ได้ศึกษามาดี
เพียบพร้อมด้วยอิริยาบถ เห็นข้าพระองค์แต่ไกลเทียว
จึงได้กล่าวคำนี้ว่า
[๒๙๓] ท่านมีหน้าตาผ่องใส ปรากฏประหนึ่งว่าจะเป็นมุนี
ท่านได้บรรลุอมตนิพพานหรือได้บรรลุบทคือพระนิพพานอันไม่จุติ

เชิงอรรถ :
๑ ทางที่ไม่เศร้าโศก หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๘๙/๒๗๘)
๒ ทางที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงการถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๙๑/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๙๔] ท่านเป็นผู้สมควรแก่ความงาม เป็นเหมือนผู้ฝึกฝนตนมาแล้ว
เหมือนช้างถูกแทงด้วยหอก ไม่หวั่นไหว
พราหมณ์ ท่านเป็นผู้มีการฝึกฝนมาดี
จึงสงบระงับแล้ว ในทางเป็นที่ฝึก
[๒๙๕] ข้าพระองค์ตอบว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุอมตธรรม
ซึ่งเป็นเครื่องบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกแล้ว
ถึงตัวท่านก็จะบรรลุอมตธรรมนั้นได้
พวกเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด
[๒๙๖] สหายนั้นอันข้าพระองค์ให้ศึกษาอย่างดีแล้ว
จึงรับคำว่า ดีละ แล้วได้จูงมือกันมายังสำนักของพระองค์
[๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร ข้าพระองค์ทั้ง ๒
จักบวชในสำนักของพระองค์
อาศัยคำสอนของพระองค์อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๙๘] ท่านโกลิตะเป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ ข้าพระองค์เลิศด้วยปัญญา
ข้าพระองค์ทั้ง ๒ จะร่วมมือกันทำศาสนาให้งดงาม
[๒๙๙] (เมื่อก่อน) ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด
จึงได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด
(แต่บัดนี้)เพราะได้อาศัยทัศนะของพระองค์
ความดำริของข้าพระองค์จึงเต็ม
[๓๐๐] หมู่ไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมแย้มบานในฤดูกาล
กลิ่นทิพย์หอมอบอวลไปทำให้สรรพสัตว์ยินดี (ฉันใด)
[๓๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้เป็นศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว
ย่อมแสวงหากาลเวลาเพื่อจะแย้มบาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๐๒] ข้าพระองค์แสวงหาดอกไม้คือวิมุตติ๑
ซึ่งเป็นเหตุหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
ให้สรรพสัตว์ยินดีด้วยการได้ดอกไม้คือวิมุตติ
[๓๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ตลอดพุทธเขต๒
ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีเสีย
ก็ไม่มีใครจะมีปัญญาเหมือนกับข้าพระองค์ผู้เป็นบุตรของพระองค์เลย
[๓๐๔] ศิษย์และชุมนุมชนของพระองค์ที่พระองค์ทรงแนะนำดีแล้ว
ให้ศึกษาดีแล้ว ฝึกฝนในอุบายเครื่องฝึกอันสูงสุด
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๐๕] ท่านเหล่านั้นมีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น เป็นมุนี
สมบูรณ์ด้วยความเป็นมุนี แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๐๖] ท่านเหล่านั้นมักน้อย มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ ฉันอาหารแต่น้อย ไม่โลภ
สันโดษตามมีตามได้ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๐๗] ท่านเหล่านั้นถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีในธุดงค์
เข้าฌาน ใช้จีวรเศร้าหมอง ยินดียิ่งในความสงัด
เป็นนักปราชญ์ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๐๘] ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติ(พรั่งพร้อมด้วยมรรค)
ดำรงอยู่ในผล และเป็นพระเสขะพรั่งพร้อมด้วยผล๓
มุ่งหวังประโยชน์อย่างสูงสุด(คือพระนิพพาน)
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ดอกไม้คือวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๒/๒๗๙)
๒ พุทธเขต หมายถึงมีแสนโกฏิจักรวาล (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๓/๒๘๐)
๓ ผล ในที่นี้หมายถึงผลเบื้องต่ำ ๓ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๘/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๐๙] ท่านเหล่านั้นทั้งที่เป็นพระโสดาบัน ทั้งที่เป็นพระสกทาคามี
ทั้งที่เป็นพระอนาคามี และที่เป็นพระอรหันต์
เป็นผู้ปราศจากมลทิน(คือกิเลส) แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๐] สาวกของพระองค์จำนวนมาก
ฉลาดในสติปัฏฐาน๑ ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
ทุกท่านแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๑] ท่านเหล่านั้นฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในการเจริญสมาธิ
หมั่นประกอบสัมมัปปธาน แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๒] ท่านเหล่านั้นได้วิชชา ๓๒ ได้อภิญญา ๖
ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
ถึงความสำเร็จแห่งปัญญา
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ศิษย์ของพระองค์เป็นเช่นนี้
เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
มีเดชแผ่ไป แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๔] พระองค์มีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม
ผู้สำรวมแล้ว ผู้มีตบะ เป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามดังราชสีห์
ย่อมทรงงดงามดังดวงจันทร์
[๓๑๕] ต้นไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมงอกงามไพบูลย์บนแผ่นดิน
ต้นไม้เหล่านั้นย่อมเผล็ดผล (โดยลำดับ)

เชิงอรรถ :
๑ สติปัฏฐาน หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุ-
ปัสสนา (ขุ.อป.อ. ๑/๓๑๐/๒๘๐)
๒ วิชชา ๓ หมายถึง (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ ระลึกชาติได้
(๒) จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม (๓) อาสวักขยญาณ
ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ความตรัสรู้ (ที.ปา. ๑๑/๓๐๕,๓๕๓/๑๙๗,๒๔๕, องฺ.ทสก.
(แปล) ๒๔/๑๐๒/๒๔๓-๒๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
พระองค์ทรงเป็นเช่นกับแผ่นดิน ศิษย์ (เป็นเช่นกับต้นไม้)
ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมได้ผลเป็นอมตะ
[๓๑๗] แม่น้ำสินธุ แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำจันทภาคา
แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำสรภู และแม่น้ำมหี
[๓๑๘] เมื่อแม่น้ำหลายสายนั้นไหลไป(ถึงทะเล)ทะเลย่อมรองรับไว้
แม่น้ำเหล่านั้นย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าทะเล ฉันใด
[๓๑๙] วรรณะทั้ง ๔๑ เหล่านี้ก็ฉันนั้น
มาบวชในสำนักของพระองค์แล้ว
ก็ย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าพุทธบุตร
[๓๒๐] ดวงจันทร์ปราศจากมลทินโคจรอยู่ในอากาศ
มีแสงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่ดาวในโลกทั้งหมด ฉันใด
[๓๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศิษย์แวดล้อม
ก็ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นทั้งหมดในกาลทุกเมื่อ
[๓๒๒] คลื่นเกิดขึ้นในน้ำลึกย่อมไม่ล่วงเลยล้นฝั่งไปได้
คลื่นเหล่านั้นกระทบฝั่งเป็นระลอก
กระจายหายไปหมด ฉันใด
[๓๒๓] เดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น
มีทิฏฐิต่างกัน เป็นชนจำนวนมาก
พวกเขาต้องการจะกล่าวธรรม
แต่ก็ไม่ล่วงเลยพระองค์ผู้เป็นมุนีไปได้
[๓๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ก็ถ้าเดียรถีย์เหล่านั้น
เข้ามาหาพระองค์ด้วยความประสงค์จะคัดค้าน
ครั้นมาถึงสำนักของพระองค์แล้ว ก็จะกลายเป็นจุรณไป

เชิงอรรถ :
๑ วรรณะทั้ง ๔ หมายถึงตระกูล ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร (ขุ.อป.อ. ๑/๓๑๗-๙/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๒๕] ดอกโกมุท ดอกบัวเผื่อน จำนวนมาก
เกิดในน้ำแล้วติดอยู่กับน้ำและเปือกตม ฉันใด
[๓๒๖] เหล่าสัตว์จำนวนมากก็ฉันนั้น เกิดมาในโลกแล้ว
ถูกราคะและโทสะเบียดเบียน ย่อมงอกงาม(ในวัฏฏสงสาร)
ดุจดอกโกมุทงอกงามในเปือกตม ฉะนั้น
[๓๒๗] ดอกบัวหลวงเกิดในน้ำ งดงามอยู่กลางน้ำ
(แต่)ดอกบัวหลวงนั้นยังคงบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันใด
[๓๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น
เป็นมหามุนี เกิดมาแล้วในโลก (แต่)ไม่ทรงติดอยู่กับโลก
ดุจดอกบัวหลวงไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉะนั้น
[๓๒๙] ดอกไม้หลายชนิดที่เกิดในน้ำ
ย่อมแย้มบานในเดือน ๑๒ ไม่ล่วงเลยเดือน ๑๒ นั้นไป
เพราะเดือน ๑๒ นั้นเป็นกาลสมัยที่ดอกไม้จะบาน ฉันใด
[๓๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร พระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้ว ฉันนั้น
เหล่าศิษย์ของพระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้วด้วยวิมุตติ
ไม่ล่วงเลยคำสั่งสอนของพระองค์ไปได้
ดุจดอกบัวหลวงซึ่งแย้มบานด้วยน้ำ
ไม่ล่วงเลยกาลสมัยเป็นที่แย้มบานไปได้ ฉะนั้น
[๓๓๑] ต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปคล้ายกลิ่นทิพย์
แวดล้อมด้วยไม้สาละชนิดอื่น ย่อมงดงาม ฉันใด
[๓๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ทรงแย้มบานด้วยพระพุทธญาณ มีหมู่ภิกษุแวดล้อม
ย่อมงดงาม ดุจพญาไม้สาละ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๓๓] เปรียบเหมือนภูเขาศิลาล้วนชื่อหิมวา
เป็นภูเขาที่มีโอสถสำหรับสรรพสัตว์
เป็นที่อยู่ของพวกนาค อสูร และเทวดาทั้งหลาย
[๓๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น
ทรงเป็นดุจโอสถของสรรพสัตว์๑ ทรงได้วิชชา ๓
ได้อภิญญา ๖ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
[๓๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาพร่ำสอนแล้วนั้น
ย่อมยินดีในธรรม อยู่ในศาสนาของพระองค์
[๓๓๖] ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อพอออกจากถ้ำที่อาศัยแล้ว
เหลียวดูทิศทั้ง ๔ จึงบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง
[๓๓๗] เมื่อราชสีห์ผู้พญาเนื้อคำราม
สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัว อันที่จริง ชาติราชสีห์นี้
ย่อมทำให้เหล่าสัตว์สะดุ้งกลัวทุกเมื่อ ฉันใด
[๓๓๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่
พื้นพสุธานี้ย่อมหวั่นไหว เหล่าสัตว์ผู้ควรตรัสรู้ก็ย่อมตรัสรู้
เหล่าสัตว์ผู้อยู่ในหมู่มารย่อมสะดุ้ง ฉันนั้น
[๓๓๙] ข้าแต่พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่
เหล่าเดียรถีย์ทั้งปวงย่อมสะดุ้ง ดุจฝูงกา ฝูงเหยี่ยวบินกระเจิงไป
ดุจฝูงสัตว์แตกกระเจิงไปเพราะราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อ ฉะนั้น
[๓๔๐] เหล่าคณาจารย์บางพวกประชาชนเรียกกันว่า เป็นศาสดาในโลก
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมที่สืบ ๆ กันมาแก่ชุมนุมชน
[๓๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แต่พระองค์หาเป็นอย่างนั้นไม่
ครั้นทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองแล้ว
จึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมทั้งมวลแก่เหล่าสัตว์

เชิงอรรถ :
๑ เพราะทรงปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นจากชรา พยาธิ และมรณะ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๓๓-๔/๒๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๔๒] พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยและอนุสัย
ทรงทราบว่าอินทรีย์มีกำลังแก่กล้าและไม่แก่กล้า
ทรงทราบบุคคลสมควรและไม่สมควร๑
จึงทรงบันลือดุจมหาเมฆ
[๓๔๓] เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของชุมนุมชนที่จะพึงนั่งรอบจักรวาล
ผู้มีทิฏฐิต่างกัน มีความคิดคิดต่างกัน
[๓๔๔] พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงรู้จิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวง
ทรงฉลาดในข้ออุปมา ตรัสแก้ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น
ก็ทรงตัดความสงสัยของเหล่าสัตว์เสียได้
[๓๔๕] พื้นแผ่นดินพึงเต็มด้วยมนุษย์ผู้เช่นกับจอกแหน
พวกเขาทั้งหมดพึงประคองอัญชลี
ประกาศคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๓๔๖] อีกอย่างหนึ่งเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
เมื่อประกาศคุณอยู่ตลอดกัปหนึ่ง๒
พึงประกาศคุณโดยประการต่าง ๆ
ก็ยังไม่สามารถจะประกาศคุณให้สิ้นสุดได้
พระตถาคตมีพระคุณหาประมาณมิได้
[๓๔๗] ก็ข้าพระองค์สรรเสริญพระชินเจ้าด้วยกำลังของตนอย่างไร
เหล่าเทวดาและมนุษย์เมื่อสรรเสริญอยู่ตลอดโกฏิกัป
ก็พึงสรรเสริญอย่างนั้นเหมือนกัน

เชิงอรรถ :
๑ สมควรและไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงผู้สามารถบรรลุธรรมและไม่สามารถบรรลุธรรม (ขุ.อป.อ.
๑/๓๔๒/๒๘๒)
๒ กัปหนึ่ง ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน กำหนดกันว่าโลกคือสากลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านเปรียบด้วย
อุปมาว่า เหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๆ ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อบาง
ละเอียดอย่างดีมาลูบเขานั้นครั้งหนึ่ง ๆ จนกว่าภูเขาลูกนั้น จะสึกหรอหมดสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่า
นั้นอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๔๘] ก็ถ้าใคร ๆ จะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
ได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว จะพึงกำหนดเพื่อจะประมาณ(คุณ)
ผู้นั้นจะพึงได้รับความลำบากเปล่า
[๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว
สำเร็จปัญญาบารมีอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๕๐] ข้าพระองค์จะย่ำยีเหล่าเดียรถีย์
วันนี้ ข้าพระองค์เป็นจอมทัพธรรมในศาสนาของพระศากยบุตร
ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า
[๓๕๑] กรรมที่ข้าพระองค์ได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้
แสดงผลแก่ข้าพระองค์แล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้
ข้าพระองค์หลุดพ้นดีแล้ว ดุจกำลังลูกศรหลุดพ้นไปจากแล่ง
เผากิเลสของข้าพระองค์ได้แล้ว
[๓๕๒] มนุษย์คนใดคนหนึ่งพึงทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา
เขาต้องลำบากเพราะของหนัก
เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักทั้งหลาย
[๓๕๓] ข้าพระองค์ถูกไฟ ๓ กอง๑ เผาไหม้อยู่
เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักคือภพ๒ โดยประการนั้น
ท่องเที่ยวไปแล้วในภพทั้งหลาย
ภูเขาสิเนรุอันบุคคลถอนขึ้นแล้วฉันใด
[๓๕๔] ก็ภาระอันหนักข้าพระองค์ยกลงแล้ว
ภพทั้งหลายข้าพระองค์ก็เพิกได้แล้ว ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๒/๒๘๓, ๔๘๙-๙๐/๓๓๖)
๒ ของหนักคือภพ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดในภพ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๒-๓/๒๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
กิจที่ควรทำทั้งหมด๑ในศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตร
ข้าพระองค์ก็ได้กระทำสำเร็จแล้ว
[๓๕๕] ตลอดพุทธเขตยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์
[๓๕๖] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
วันนี้ เมื่อต้องการจะเนรมิตคน ๑,๐๐๐ คนก็ได้
[๓๕๗] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหามุนี
เป็นผู้ชำนาญในอนุปุพพวิหารธรรม
ตรัสสอนแก่ข้าพระองค์ นิโรธสมาบัติเป็นที่นอนของข้าพระองค์
[๓๕๘] ข้าพระองค์มีทิพยจักษุบริสุทธิ์หมดจด
ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน๒
ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
[๓๕๙] ข้าพระองค์ได้ทำกิจทุกอย่างที่สาวกจะพึงบรรลุแล้ว
ยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกเสียแล้ว
ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์
[๓๖๐] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ
ได้ฌานและวิโมกข์๓ เร็วพลัน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
เป็นผู้บรรลุสาวกบารมีญาณ

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงกรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยลำดับแห่งมรรค (ขุ.อป.อ.
๑/๓๕๔/๒๘๔)
๒ สัมมัปปธานมี ๔ คือ (๑) เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น (๒) เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
(๓) เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (๔) เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว (ที.ปา. ๑๑/๓๑๐/๒๐๑)
๓ วิโมกข์ คือ ภาวะที่จิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้น ๆ อย่างปล่อยตัวเต็มที่
ในอรรถกถาหมายเอาโลกุตตรวิโมกข์ ๘ (อฏฺฐนฺนํ โลกุตฺตรวิโมกฺขานญฺจ ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๐/๒๘๔) คือ
๑-๒-๓. ผู้เจริญกสิณต่าง ๆ แล้วได้รูปฌาน ๔;๔-๖-๗. ผู้ได้อรูปฌาน ๔ ; ๘. ผู้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ
ดูอีก (สํ.นิ.อ. ๒/๗๐/๑๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๖๑] ข้าพระองค์เป็นคนมีคารวะอย่างสูงสุด๑
เพราะได้บรรลุสาวกบารมีญาณด้วยความรู้
ข้าพระองค์มีจิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี๒ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ
[๓๖๒] ข้าพระองค์ละทิ้งความถือตัวและความเย่อหยิ่งแล้ว
ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว๓ (หรือ) ดุจโคอุสภะตัวเขาหักเสียแล้ว
เข้าหาหมู่คณะด้วยความเคารพหนักแน่น
[๓๖๓] หากปัญญาของข้าพระองค์จะพึงมีรูปร่าง
ปัญญาของข้าพระองค์ก็จะต้องเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย
นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าอโนมทัสสี
[๓๖๔] ข้าพระองค์ประพฤติตามโดยชอบซึ่งพระธรรมจักร๔
นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณ
[๓๖๕] บุคคลผู้มีความปรารถนาเลวทราม เป็นคนเกียจคร้าน
ละความเพียร มีการศึกษาน้อย ไม่มีมารยาท๕
อย่าได้มาสมาคมกับข้าพระองค์ในที่ไหน ๆ สักคราวเลย

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ปุริสุตฺตมคารวา ในฉบับพม่า และ ขุ. เถร. อ. ๒/๔๓๓ (ซึ่งท่านยกคาถาจากอปทานไปกล่าวไว้)เป็น
ปุริสุตฺตมภารวา จึงแปลตามนั้น ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า เพราะคำว่า ปุริสุตฺตมคารวา เป็นพหูพจน์ ดูไม่สม
กับข้อความข้างต้นและข้างท้าย ซึ่งท่านกล่าวเป็นเอกพจน์ ส่วน ปุริสุตฺตมภารวา เป็นเอกพจน์ สมกับ
ข้างต้นและข้างท้าย ในอปทานอรรถกถาท่านมิได้แก้ไว้
๒ เพื่อนสพรหมจารี หมายถึงผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพื่อนบรรพชิต
๓ คำว่า อุทฺธฏทาโฒ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น อุทฺธตวิโส ถูกรีดพิษออกแล้ว (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๒/๒๘๔)
๔ ธรรมจักร ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม) (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๔/๒๘๕)
๕ หีน ใช้ในอรรถว่าละ หา จาเค อิโน ทีฆาทิ หีโน = หา ธาตุใช้ในอรรถว่าละ อินปัจจัย ทีฆะต้นธาตุ
สำเร็จรูปเป็นหีโน (อภิธา.ฏีกา ข้อ ๗๕๔), มีความปรารถนาเลวทราม หมายถึงมีความปรารถนาลามกแล้ว
ประพฤติชั่ว,
เป็นคนเกียจคร้าน หมายถึงเกียจคร้านในการทำวัตรปฏิบัติในอิริยาบถมีการยืนและนั่งเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๖๖] ส่วนบุคคลผู้มีการศึกษามาก มีปัญญา
มีจิตตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย หมั่นประกอบความสงบทางใจ
ขอจงมาดำรงอยู่บนศีรษะของข้าพระองค์เถิด
[๓๖๗] (เมื่อพระสารีบุตรเถระจะชักชวนภิกษุอื่น ๆ
ในคุณสมบัตินั้น จึงกล่าวว่า)
เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวกับท่านทั้งหลาย
ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ตามจำนวนที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มักน้อย สันโดษ
ยินดีให้ทานทุกเมื่อเถิด
[๓๖๘] ข้าพเจ้าพบสาวกรูปใดก่อนแล้ว
ได้เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทินคือกิเลส
สาวกรูปนั้นมีนามว่าอัสสชิ เป็นนักปราชญ์ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
[๓๖๙] ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระอัสสชิเถระนั้น
วันนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นธรรมเสนาบดีถึงความสำเร็จในคุณทั้งปวง
จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๗๐] พระสาวกรูปใดชื่อว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
อยู่ ณ ทิศใด ข้าพเจ้าจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น
[๓๗๑] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพเจ้าแล้ว
ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอัครสาวก
[๓๗๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
ละความเพียร หมายถึงละความเพียรในการเจริญฌาณ สมาธิและมรรคเป็นต้น
มีการศึกษาน้อย หมายถึงเว้นจากคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
ไม่มีมารยาท หมายถึงไม่มีมารยาทในบุคคลมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๕/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้อยู่อย่างอิสระ
[๓๗๓] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วหนอ
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔๑ วิโมกข์ ๘๒
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว๓ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สารีปุตตเถราปทานที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิสัมภิทา ๔ คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย (๒) ธัมมปฏิ-
สัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งในหลัก (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ
ปรีชาแจ้งในภาษา (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มี
ไหวพริบ (องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๒/๒๔๒-๒๔๓, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๑๐/๑๗๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๒๕/
๔๖๑)
๒ วิโมกข์ ๘ คือ (๑) ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย (ได้แก่รูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณที่กำหนด
วัตถุในกายของตน เช่น สีผม) (๒) ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก (ได้แก่ อรูปฌาน
๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณกำหนดอารมณ์ภายนอก) (๓) ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า “งาม” (ได้แก่ ฌานของ
ผู้เจริญวรรณกสิณกำหนดสีที่งาม หรือเจริญอัปปมัญญา) (๔) เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดย
ประการทั้งปวงเพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพระไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดย
มนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ (๕) เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึง
วิญญาณัญจายตนะโดยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ (๖) เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดย
ประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะโดยมนสิการว่าไม่มีอะไรเลย (๗) เพราะล่วงเสียซึ่ง
อากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ (๘) เพราะล่วงเสียซึ่งเนว-
สัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ (ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, องฺ.อฏฺฐก.
(แปล) ๒๓/๖๖/๒๕๓) หรือ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ หรือ รูปฌาน และอรูปฌาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๑/๒๘๖)
๓ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำให้สำเร็จแล้ว หมายถึงคำสั่งสอนเป็นอนุศาสนีและโอวาท
ของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าให้สำเร็จด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๗๔๑/๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าว
ว่า)
[๓๗๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
มีหมู่เทวดาห้อมล้อมประทับอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
[๓๗๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นพญานาคมีนามว่าวรุณ
เนรมิตรูปได้ตามที่ต้องการ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
อาศัยอยู่ในทะเลใหญ่
[๓๗๗] ข้าพเจ้าละหมู่นาคซึ่งเป็นบริวารประจำ ให้เริ่มบรรเลงดนตรี
ในครั้งนั้น หมู่นางนาคแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
พากันประโคมดนตรี
[๓๗๘] เมื่อดนตรีประโคมอยู่ เหล่าเทวดาก็ประโคมดนตรี
พระพุทธเจ้าได้ทรงสดับเสียงดนตรีของทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วก็ทรงทราบ
[๓๗๙] ข้าพเจ้านิมนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า๑ แล้วเข้าไปยังภพของตน
ปูลาดอาสนะ แล้วจึงกราบทูลเวลา
[๓๘๐] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป แวดล้อม (ทรงเปล่งรัศมี)
ทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว เสด็จเข้าไปยังภพของข้าพเจ้า
[๓๘๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าอังคาสพระผู้มีพระภาค
ผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ผู้องอาจกว่านรชน
และหมู่ภิกษุให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ

เชิงอรรถ :
๑ หมายรวมถึงหมู่พระสาวกด้วย เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๙/๒๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น