Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๒-๓ หน้า ๑๑๙ - ๑๗๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑๐. สุมังคลเถราปทาน
[๑๑๘] ข้าพเจ้าเสวยสมบัติทั้ง ๒ แล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน
มาถึงภพสุดท้ายได้เกิดในตระกูลพ่อครัว
[๑๑๙] ข้าพเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
มีอายุ ๗ ขวบก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๒๐] ข้าพเจ้าบำเพ็ญเพียรมีจิตเด็ดเดี่ยว ตั้งมั่นอยู่ในศีลด้วยดี
ให้พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐยิ่งทรงพอพระทัยแล้วได้อุปสมบท
[๑๒๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะดอกไม้
[๑๒๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เจริญสัญญาไว้ครั้งนั้น เมื่อเจริญสัญญานั้นอยู่
ข้าพเจ้าได้บรรลุความสิ้นอาสวะแล้ว
[๑๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสปากเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสปากเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. สุมังคลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมังคลเถระ
(พระสุมังคลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๔] ข้าพเจ้าประสงค์จะถวายเครื่องบูชาสักการะ
จึงให้จัดเตรียมโภชนาหาร
ยืนต้อนรับพราหมณ์ทั้งหลายอยู่ที่โรงกว้างใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑๐. สุมังคลเถราปทาน
[๑๒๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าปิยทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ผู้ทรงแนะนำสัตว์โลกทั้งปวงโดยวิเศษ
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ
[๑๒๖] ผู้โชติช่วง มีหมู่สาวกห้อมล้อม
รุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์เสด็จพุทธดำเนินไปที่ถนน
[๑๒๗] ข้าพเจ้าจึงประคองอัญชลี ทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ทูลนิมนต์ด้วยใจเท่านั้นว่า
ขอเชิญพระมหามุนีเสด็จมาเถิด
[๑๒๘] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
ได้เสด็จมายังประตูเรือนของข้าพเจ้า
พร้อมกับพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป
[๑๒๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ขอเชิญเสด็จขึ้นปราสาท
ประทับนั่งบนอาสนะสูงสุดเถิด พระพุทธเจ้าข้า
[๑๓๐] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีบริวารที่ฝึกแล้ว
ทรงข้ามพ้นแล้ว ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
เสด็จขึ้นปราสาทแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่ประเสริฐ
[๑๓๑] อามิสใดที่ข้าพเจ้าจัดเตรียมไว้ มีอยู่ในเรือนตน
ข้าพเจ้าเป็นผู้เลื่อมใสได้ถวายอามิสนั้น
แด่พระพุทธเจ้าด้วยมือทั้ง ๒ ของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑๐. สุมังคลเถราปทาน
[๑๓๒] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี เกิดโสมนัส
จึงประนมมือ นอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดว่า
โอหนอ พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่จริงหนอ
[๑๓๓] บรรดาพระอริยบุคคล ๘ ผู้นั่งฉันอยู่
มีพระขีณาสพจำนวนมาก นี้คืออานุภาพของพระองค์
ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์ว่าเป็นสรณะ
[๑๓๔] และพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๓๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้นิมนต์พระสงฆ์ผู้ซื่อตรง
มีจิตมั่นคงและพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ฉัน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๓๖] ผู้นั้นจักครองเทวสมบัติ ๒๗ ชาติ
เขาจักพอใจกรรมของตน รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก
[๑๓๗] ผู้นั้นจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๘ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๕๐๐ ชาติ
[๑๓๘] กิเลสทั้งหลายอันข้าพเจ้าเข้าไปยังป่าดงทึบ
ที่เสือโคร่งอาศัยอยู่ ตั้งความเพียร เผาได้แล้ว
[๑๓๙] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภัตตาหาร
[๑๔๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมังคลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุมังคลเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สีหาสนิยวรรคที่ ๒ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สีหาสนทายกเถราปทาน ๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
๓. นันทเถราปทาน ๔. จูฬปันถกเถราปทาน
๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน ๖. ราหุลเถราปทาน
๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน ๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
๙. โสปากเถราปทาน ๑๐. สุมังคลเถราปทาน

ในวรรคที่ ๒ มี ๑๐ เรื่องเท่านั้น
ในวรรคนี้ท่านประกาศคาถาไว้ ๑๓๘ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
๓. สุภูติวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระสุภูติเป็นต้น
๑. สุภูติเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุภูติเถระ
(พระสุภูติเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่านิสภะ
เขาสร้างอาศรมและบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นชฎิลมีนามว่าโกสิยะ
มีตบะแก่กล้า ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน อยู่ที่ภูเขานิสภะ
[๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามิได้เก็บผลไม้ เหง้า และใบไม้ มากิน
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าอาศัยใบไม้เป็นต้นที่หล่นเองเท่านั้นเลี้ยงชีวิต
[๔] ข้าพเจ้าแม้ถึงจะสละชีวิตก็ไม่ทำอาชีวะให้กำเริบ
ย่อมทำจิตของตนให้ยินดี งดเว้นการแสวงหาที่ไม่สมควรเสีย๑
[๕] เมื่อใดจิตของข้าพเจ้าเกิดความกำหนัด
เมื่อนั้นข้าพเจ้าย่อมพิจารณาด้วยตนเอง
ข้าพเจ้ามีใจเด็ดเดี่ยวข่มจิตนั้นเสียว่า
[๖] เจ้ากำหนัดในอารมณ์ที่ชวนให้กำหนัด
ขัดเคืองในอารมณ์ที่ชวนให้ขัดเคือง
และหลงในอารมณ์ที่ชวนให้หลง
เพราะฉะนั้น เจ้าจงออกจากป่าไปเสียเถิด
[๗] ที่อยู่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน มีตบะ
เจ้าอย่าประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์เลย จงออกจากป่าไปเสียเถิด

เชิงอรรถ :
๑ การแสวงหาที่ไม่สมควร หมายถึงการแสวงหาที่ไม่สมควรมีเวชกรรมและทูตกรรมเป็นต้น (ขุ.อป.อ.
๒/๔/๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๘] เจ้าจักเป็นผู้ครองเรือนได้บุตรในกาลใด
ในกาลนั้นเจ้าอย่าให้ล้มเหลวแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นเลย
จงออกจากป่าไปเสียเถิด
[๙] ฟืนเผาศพ ใช้ทำกิจอะไรในที่ไหน ๆ ก็ไม่ได้
ไม้นั้นเขาไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ในบ้านหรือเป็นไม้ในป่า
และไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ตามปกติ ฉันใด
[๑๐] เจ้าก็ฉันนั้น เปรียบเหมือนฟืนเผาศพ
ไม่ใช่คฤหัสถ์ ทั้งไม่ใช่สมณะ
วันนี้ เจ้าพ้นจากภาวะทั้ง ๒ จงออกจากป่าไปเสียเถิด
[๑๑] ข้อนี้พึงมีแก่เจ้าหรือหนอ
ใครจะรู้ข้อนี้ของเจ้า ใครจะนำธุระของเจ้าไปโดยเร็ว
เพราะเจ้ามากไปด้วยความเกียจคร้าน
[๑๒] วิญญูชนจักรังเกียจเจ้า
เหมือนชาวเมืองรังเกียจของไม่สะอาดฉะนั้น
ฤๅษีทั้งหลายจักฉุดเจ้ามาตักเตือนทุกเมื่อ
[๑๓] วิญญูชนจักประจานเจ้าว่า ล่วงละเมิดศาสนา
ก็เจ้าเมื่อไม่ได้การอยู่ร่วม จักเป็นอยู่อย่างไร
[๑๔] ช้างมีกำลัง เข้าไปหาช้างกุญชรซึ่งตกมัน ๓ แห่ง
เกิดในตระกูลช้างมาตังคะ เสื่อมกำลังในเวลามีอายุ ๖๐ ปีแล้ว
ขับออกจากโขลง
[๑๕] มันถูกขับออกจากโขลงแล้ว หาความสุขสำราญไม่ได้
เป็นสัตว์มีทุกข์ เศร้าใจ ซบเซา สั่นเทาอยู่ ฉันใด
[๑๖] ชฎิลทั้งหลายจักขับเจ้าผู้มีปัญญาทรามออก
เจ้าถูกชฎิลเหล่านั้นขับออกแล้ว
จักหาความสุขสำราญไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๑๗] เจ้าถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแล้ว
ทั้งกลางวันและกลางคืน จักถูกความเร่าร้อนแผดเผา
เหมือนช้างถูกขับออกจากโขลง ฉะนั้น
[๑๘] ทองเก๊ ย่อมใช้ไม่ได้ในที่ไหน ๆ ฉันใด
เจ้าเสื่อมแล้วจากศีลก็จักใช้ในที่ไหน ๆ ไม่ได้ ฉันนั้น
[๑๙] แม้เจ้าอยู่ครองเรือน จักเป็นอยู่ได้อย่างไร
ทรัพย์ทั้งที่เป็นของมารดาและบิดาของเจ้าที่เก็บไว้ก็ไม่มี
[๒๐] เจ้าจักต้องทำการงานของตน ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ
จักเป็นอยู่ในเรือนอย่างนี้ เป็นการดีแก่เจ้าที่จะไม่ชอบมัน
[๒๑] ข้าพเจ้าห้ามใจที่หมักหมมด้วยสังกิเลสอย่างนี้ในที่นั้น
ได้กล่าวธรรมกถาต่าง ๆ ห้ามจิตจากความชั่ว
[๒๒] เมื่อข้าพเจ้าเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้
ข้าพเจ้าอยู่ในป่าใหญ่ล่วงเลยมา ๓๐,๐๐๐ ปี
[๒๓] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเห็นข้าพเจ้าผู้ยินดีในความไม่ประมาท
ผู้แสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด
จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
[๒๔] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังสีทองชมพูนุท๑
ประมาณมิได้ ไม่มีใครเปรียบได้ ไม่มีใครเสมอด้วยพระรูป
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[๒๕] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอด้วยพระญาณ
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ ดังต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
เหมือนสายฟ้าในกลีบเมฆ

เชิงอรรถ :
๑ ทองชมพูนุท หมายถึงทองคำเนื้อบริสุทธิ์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๔/๑๙๑) ที่เรียกว่า ชมพูนุท เพราะเป็นทอง
ที่เกิดขึ้นในแควของแม่น้ำมหาชมพู (องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๖๔/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๒๖] ครั้งนั้น พระองค์เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
ดังพญาราชสีห์ผู้ไม่กลัว
ดุจพญาช้างคึกคะนอง
เหมือนพญาเสือโคร่งผู้ไม่ครั่นคร้าม ฉะนั้น
[๒๗] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังแท่งทองสีสุก
เหมือนถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
มีพระรัศมีโชติช่วงดังแก้วมณี
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[๒๘] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมี
เหมือนภูเขาไกรลาสที่บริสุทธิ์
เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
เหมือนดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงวัน เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[๒๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์
เสด็จจงกรมอยู่ในท้องฟ้า
จึงคิดอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นเทวดาหรือมนุษย์
[๓๐] นรชนเช่นนี้เราไม่เคยได้ฟังหรือได้เห็นในแผ่นดิน
เออ บทมนต์ก็มีอยู่ ผู้นี้จักเป็นพระศาสดา
[๓๑] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้วได้ทำจิตของตนให้เลื่อมใส
รวบรวมดอกไม้และของหอมต่าง ๆ ไว้ในครั้งนั้น
[๓๒] ข้าพเจ้าได้ปูลาดอาสนะดอกไม้
ซึ่งวิจิตรดีเป็นที่รื่นรมย์ใจแล้ว
ได้กล่าวคำนี้กับพระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสารถีผู้ฝึกนรชนว่า
[๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
อาสนะนี้สมควรแก่พระองค์ ข้าพระองค์จัดถวายไว้แล้ว
ขอพระองค์เมื่อจะทำจิตของข้าพระองค์ให้ร่าเริง
โปรดประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๓๔] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เป็นดุจพญาไกรสร ผู้ไม่ครั่นคร้าม
ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้อันประเสริฐนั้นตลอด ๗ คืน ๗ วัน
[๓๕] ข้าพเจ้าได้ยืนนมัสการพระองค์อยู่ตลอด ๗ คืน ๗ วัน
พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก เสด็จออกจากสมาธิแล้ว
เมื่อจะทรงพยากรณ์กรรมของข้าพเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๓๖] บรรดาภาวนาทั้งหลาย เธอจงเจริญพุทธานุสสติที่ยอดเยี่ยม
ครั้นเจริญพุทธานุสสตินี้แล้ว จักทำใจให้บริบูรณ์ได้
[๓๗] เธอจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ
[๓๘] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
จักได้เสวยสมบัตินั้นทั้งหมด
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๓๙] เธอเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
จักได้โภคสมบัติเป็นอันมาก ความพร่องในโภคะของท่านจะไม่มี
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๔๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๑] เธอจักสละทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ
รวมทั้งทาสและกรรมกรจำนวนมากแล้ว
บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๔๒] ท่านจักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
เป็นสาวกมีนามว่าสุภูติ ของพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๔๓] พระศาสดาพระนามว่าโคดม
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
จักทรงแต่งตั้งท่านว่าเป็นผู้เลิศใน ๒ ตำแหน่ง
คือในพระทักขิไณยบุคคลผู้มีคุณ
และในความเป็นผู้มีธรรมเครื่องอยู่ซึ่งไม่มีข้าศึก
[๔๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ผู้เป็นนักปราชญ์ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว
ได้เสด็จเหาะขึ้นไปยังนภากาศดุจพญาหงส์ในท้องฟ้า ฉะนั้น
[๔๕] ข้าพเจ้าซึ่งพระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ทรงพร่ำสอนแล้ว
นอบน้อมพระตถาคตแล้วมีจิตเบิกบาน
เจริญพุทธานุสสติอันยอดเยี่ยมทุกเมื่อ
[๔๖] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๗] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๔๘] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
ข้าพเจ้าได้เสวยสมบัติอย่างดีนับไม่ถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๔๙] ข้าพเจ้าเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
จะได้โภคสมบัติเป็นอันมาก
ความบกพร่องในโภคะของข้าพเจ้าไม่มีเลย
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๕๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๕๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุภูติเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุภูติเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. อุปวาณเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปวาณเถระ
(พระอุปวาณเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๒] พระสัมพุทธชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จ๑แห่งธรรมทั้งปวง
รุ่งเรืองดังกองไฟ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๕๓] มหาชนมาประชุมกันบูชาพระตถาคต
สร้างจิตกาธานอย่างงดงามแล้วช่วยกันยกสรีระขึ้นวางไว้
[๕๔] ชนเหล่านั้นทั้งหมดพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์
ทำพระสรีรกิจแล้วได้รวบรวมพระธาตุ
พากันสร้างพระพุทธสถูปไว้ ณ ที่นั้น
[๕๕] สถูปชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองคำ
ชั้นที่ ๒ ทำด้วยแก้วมณี ชั้นที่ ๓ ทำด้วยเงิน
ชั้นที่ ๔ ทำด้วยแก้วผลึก

เชิงอรรถ :
๑ ถึงความสำเร็จ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๕๒/๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
[๕๖] ที่พระสถูปนั้น ชั้นที่ ๕ ทำด้วยแก้วทับทิม
ชั้นที่ ๖ ทำด้วยแก้วลาย ชั้นบนทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
[๕๗] ร่างร้านทำด้วยแก้วมณี แท่นไพทีทำด้วยรัตนะ
พระสถูปทำด้วยทองคำล้วนสูง ๑ โยชน์
[๕๘] ครั้งนั้น หมู่เทวดาได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นั้นว่า
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระโลกนาถผู้คงที่บ้าง
[๕๙] พระสารีริกธาตุ ไม่แยกกัน คือรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน
พวกเราจักสร้างพระสถูปครอบไว้ที่พระพุทธสถูปนี้
[๖๐] หมู่เทวดาได้ขยายพระสถูป
ให้สูงขึ้นไปอีกหนึ่งโยชน์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
พระสถูปนั้นจึงมีความสูง ๒ โยชน์
ซึ่งส่องแสงสว่างขจัดความมืดได้
[๖๑] พวกนาคได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นี้ว่า
มนุษย์และเทวดาเหล่านั้นได้สร้างพระพุทธสถูปแล้ว
[๖๒] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย
พวกมนุษย์กับเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระโลกนาถผู้คงที่บ้าง
[๖๓] พวกนาคเหล่านั้นพากันรวบรวมแก้วอินทนิล
แก้วมหานิล และแก้วมณีโชติ ช่วยกันประดับพระพุทธสถูปไว้
[๖๔] พระพุทธเจดีย์ประมาณเท่านั้น
สร้างด้วยแก้วมณีล้วนสูง ๓ โยชน์ ส่องแสงสว่างไสวในเวลานั้น
[๖๕] ฝูงครุฑได้มาร่วมประชุมปรึกษากันในครั้งนั้นว่า
มนุษย์ เทวดา และนาคเหล่านั้นได้สร้างพระพุทธสถูปแล้ว
[๖๖] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย
พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้คงที่บ้าง
[๖๗] ฝูงครุฑแม้เหล่านั้นได้สร้างพระสถูป
สำเร็จด้วยแก้วมณีล้วน และผ้าคลุมก็เหมือนกัน
ได้สร้างพระพุทธเจดีย์ต่อขึ้นไปให้สูงอีก ๑ โยชน์
[๖๘] พระพุทธสถูปสูงขึ้นไป ๔ โยชน์
รุ่งเรืองอยู่ ส่องทิศทั้งปวงให้สว่างไสว
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น
[๖๙] ครั้งนั้น พวกกุมภัณฑ์ได้มาร่วมประชุมปรึกษากันว่า
พวกมนุษย์ เทวดา นาค และครุฑก็เป็นเหมือนกันหมด
ต่างก็ได้พากันสร้างพระสถูปที่อุดม
บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๗๐] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย
พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว
ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง
จักใช้รัตนะทั้งหลายประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไป
[๗๑] พวกกุมภัณฑ์แม้เหล่านั้น
ได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก ๑ โยชน์
ในครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๕ โยชน์ สว่างไสวอยู่
[๗๒] ครั้งนั้น พวกยักษ์ได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นั้นว่า
พวกมนุษย์ เทวดา นาค กุมภัณฑ์ และครุฑ
[๗๓] ต่างได้พากันสร้างสถูปที่ประเสริฐที่สุด
บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พวกเราอย่าได้ประมาทเลย
พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
[๗๔] แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง
นำแก้วผลึกมาประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก
[๗๕] ยักษ์แม้เหล่านั้นได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก ๑ โยชน์
ครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๖ โยชน์ สว่างไสวอยู่
[๗๖] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์มาร่วมประชุมปรึกษากันว่า
พวกมนุษย์ เทวดา นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ และยักษ์ก็เหมือนกัน
[๗๗] พวกเขาทั้งหมดได้พากันสร้างพระพุทธสถูปแล้ว
ในเรื่องพระสถูปนี้ พวกเรายังไม่ได้สร้างเลย
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง
[๗๘] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์เหล่านั้น
ได้สร้างแท่นไพที ๗ แห่ง จนถึงทางเดิน
พวกคนธรรพ์สร้างพระสถูปด้วยทองคำล้วน
[๗๙] ในครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๗ โยชน์
ส่องแสงสว่างไสว จนไม่รู้กลางคืนหรือกลางวัน
เพราะมีแสงสว่างตลอดเวลา
[๘๐] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์พร้อมทั้งดวงดาว
ครอบงำรัศมีของพระสถูปนั้นไม่ได้
ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ แม้ประทีปก็ไม่โชติช่วง
[๘๑] โดยกาลนั้น มนุษย์พวกใดพวกหนึ่งจะบูชาพระสถูป
พวกเขาไม่ต้องขึ้นพระสถูป เพียงโยนเครื่องสักการะขึ้นไปบนอากาศ
[๘๒] ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าอภิสัมมตะ ที่พวกเทวดาแต่งตั้งไว้
คอยรับธงหรือพวงดอกไม้ไปบูชาให้ยิ่งขึ้น
[๘๓] ชนเหล่านั้นมองไม่เห็นยักษ์ตนนั้น
เห็นแต่พวงดอกไม้ของยักษ์ที่ลอยไปอยู่
ครั้นเห็นเช่นนี้แล้วจึงไป มนุษย์ทั้งหมดย่อมไปเกิดยังสุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
[๘๔] พวกมนุษย์ที่ไม่เฃื่อในคำสอน
และพวกที่เลื่อมใสในศาสนา
มีความต้องการจะเห็นปาฏิหาริย์ จึงพากันบูชาพระสถูป
[๘๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างอยู่ในกรุงหงสวดี
เห็นชนพากันรื่นเริงบันเทิงใจ จึงคิดอย่างนี้ในครั้งนั้นว่า
[๘๖] ชุมชนเหล่านี้ พากันดีใจ ไม่อิ่มถึงสักการะที่ควรทำ
ซึ่งปรากฏที่เรือนแห่งพระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้ยิ่งใหญ่
[๘๗] แม้เราก็จักทำสักการะแด่พระโลกนาถ ผู้คงที่
จักเป็นธรรมทายาทของพระองค์ในอนาคต
[๘๘] ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าห่มของข้าพเจ้าที่ช่างย้อมซักไว้อย่างดี
คล้องไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วยกเป็นธงไว้ในท้องฟ้า
[๘๙] ยักษ์อภิสัมมตะจับธงของข้าพเจ้านำไปในท้องฟ้า
ข้าพเจ้าเห็นแต่ธงถูกลมสะบัดได้ทำให้เกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง
[๙๐] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในธงนั้นแล้ว
เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นสมณะรูปหนึ่ง
อภิวาทท่านแล้วได้สอบถามถึงผลในการถวายธง
[๙๑] ภิกษุรูปนั้นกล่าวถึงการที่ข้าพเจ้า
เกิดความเอิบอิ่มใจในการถวายธงให้ข้าพเจ้าฟังว่า
ท่านจักได้เสวยวิบากแห่งการถวายธงนั้นในกาลทุกเมื่อ
[๙๒] กองทัพ ๔ เหล่า
คือพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๙๓] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
[๙๔] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง
ล้วนประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อันงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๙๕] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง
จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๙๖] ท่านจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเกิดเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ
[๙๗] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๙๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๙๙] ท่านจุติจากเทวโลกแล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน
ประกอบด้วยบุญกรรม
จักเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์
[๑๐๐] ท่านจักละสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ
ทั้งทาสและกรรมกรจำนวนมาก
บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๑๐๑] ท่านจักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
เป็นสาวกมีนามว่าอุปวาณะ ของพระศาสดา
[๑๐๒] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐
ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้
ข้าพเจ้าพ้นดีแล้ว (จากกิเลส)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่หลุดจากแล่งไปดีแล้ว ฉะนั้น
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๑๐๓] เมื่อข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
ธงทั้งหลายจักตั้งขึ้นรอบ ๆ ตลอด ๓ โยชน์ ในกาลทุกเมื่อ
[๑๐๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๑๐๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปวาณเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปวาณเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติสรณคมนิยเถระ
(พระติสรณคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๖] ข้าพเจ้าเป็นคนเลี้ยงดูมารดาและบิดาอยู่ในกรุงจันทวดี
มารดาและบิดาของข้าพเจ้าเป็นคนตาบอด
ข้าพเจ้าเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ อยู่ในครั้งนั้น
[๑๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในที่สงัดจึงคิดอย่างนี้ว่า
เราเลี้ยงดูมารดาและบิดาอยู่ จึงไม่ได้บวช
[๑๐๘] มวลมนุษย์ถูกความมืดมนอนธการปิดบังไว้แล้ว
ถูกไฟ ๓ กองแผดเผาอยู่
เมื่อเกิดความเป็นเช่นนี้ขึ้นแล้ว ไม่มีใครจะเป็นผู้แนะนำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
[๑๐๙] บัดนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
ประกาศคำสั่งสอนให้รุ่งเรือง
สัตว์ผู้ใคร่บุญอาจเพื่อจะถอนตนขึ้นได้
[๑๑๐] ข้าพเจ้ารับสรณะ ๓ แล้ว รักษาให้บริบูรณ์
ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงพ้นทุคติได้
[๑๑๑] ข้าพเจ้าได้เข้าไปหาสมณะนามว่านิสภะ
ผู้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วรับสรณคมน์
[๑๑๒] ครั้งนั้น เหล่าสัตว์มีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
ข้าพเจ้าได้รักษาสรณคมน์ให้บริบูรณ์ตลอดระยะเวลาเท่านั้น
[๑๑๓] เมื่อจิตดวงสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าระลึกถึงสรณคมน์นั้นได้แล้ว
ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๑๔] เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในเทวโลกได้ประกอบแต่บุญกรรม
ไปถึงภูมิประเทศใด ๆ
ย่อมได้เหตุ ๘ ประการ ในภูมิประเทศนั้น ๆ
[๑๑๕] คือ (๑) ข้าพเจ้าได้รับการบูชาทุกทิศ
(๒) เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม
(๓) เทวดาทั้งปวงย่อมประพฤติตาม
(๔) ได้โภคสมบัตินับไม่ถ้วน
[๑๑๖] (๕) เป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ
(๖) เป็นผู้มีไหวพริบในทุกเรื่อง
(๗) เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อมิตร
(๘) มียศฟุ้งขจรไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
[๑๑๗] ข้าพเจ้าเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม ได้เสวยทิพยสุข
[๑๑๘] ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๑๑๙] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าประกอบแต่บุญกรรม
ได้เกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลมั่งคั่งที่สุดในกรุงสาวัตถี
[๑๒๐] เวลาเย็น (วันหนึ่ง) ข้าพเจ้าต้องการจะเล่น
จึงออกจากนคร มีพวกเด็ก ๆ ห้อมล้อม เข้าไปยังสังฆาราม
[๑๒๑] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้พบสมณะรูปหนึ่งผู้หลุดพ้น ไม่มีอุปธิ
ท่านแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า และได้ให้สรณะแก่ข้าพเจ้า
[๑๒๒] ข้าพเจ้านั้นฟังสรณะแล้ว ระลึกถึงสรณะของข้าพเจ้าได้
นั่งอยู่บนอาสนะเดียวได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว
[๑๒๓] ข้าพเจ้าเกิดได้ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงรู้คุณสมบัติของข้าพเจ้าแล้ว จึงประทานอุปสมบทให้
[๑๒๔] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถึงสรณะทั้งหลาย
กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วเพียงนั้น
แสดงผลแก่ข้าพเจ้าในอัตภาพสุดท้ายนี้
[๑๒๕] สรณะข้าพเจ้า ก็รักษาไว้ดีแล้ว
ใจข้าพเจ้า ก็ได้ตั้งไว้มั่นแล้ว
ข้าพเจ้าจึงเสวยยศทุกอย่างแล้ว
ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว(คือนิพพาน)
[๑๒๖] บรรดาท่านที่ต้องการจะฟังจงฟังข้าพเจ้ากล่าว
ข้าพเจ้าจักบอกบทอันเป็นประโยชน์ที่ข้าพเจ้าเห็นเองแก่ท่านทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
[๑๒๗] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
ศาสนาของพระชินเจ้าแผ่ไปอยู่
พระองค์ทรงลั่นอมตเภรีบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกได้
[๑๒๘] ท่านทั้งหลายควรทำอธิการ๑
ในนาบุญที่ยอดเยี่ยมตามกำลังของตน
ท่านทั้งหลายจักพบพระนิพพาน
[๑๒๙] ท่านทั้งหลายจงรับสรณะ ๓ จงรักษาศีล ๕
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้
[๑๓๐] พวกท่านทุกคนจงถือข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง
รักษาศีลแล้วก็จักบรรลุอรหัตตผลได้โดยไม่นานเลย
[๑๓๑] (พระติสรณคมนิยเถระกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์เป็นผู้ได้วิชชา ๓ มีฤทธิ์
ฉลาดในเจโตปริยญาณ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา
[๑๓๒] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพระองค์ได้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถึงสรณะ
[๑๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติสรณคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติสรณคมนิยเถราปทานที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อธิการ หมายถึงการสะสมบุญอันเป็นการทำที่ยิ่ง (ขุ.อป.อ. ๒/๕/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจสีลสมาทานิยเถระ
(พระปัญจสีลสมาทานิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๑๓๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างอยู่ในกรุงจันทวดี
มัวขวนขวายในการงานของผู้อื่น จึงไม่ได้บวช
[๑๓๕] (ข้าพเจ้าคิดว่า) มวลมนุษย์ถูกความมืดมนอนธการปิดบังไว้แล้ว
ถูกไฟ ๓๑ กองแผดเผาอยู่
เราจะพรากจากไปได้ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
[๑๓๖] ไทยธรรม๒ของเราก็ไม่มี
เราช่างเป็นคนน่าสงสาร เป็นลูกจ้างอยู่
ทางที่ดี เราพึงรักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์
[๑๓๗] ข้าพเจ้าจึงเข้าไปหาภิกษุชื่อว่านิสภะ
ผู้เป็นสาวกของพระมุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
แล้วรับสิกขาบท ๕ ข้อ
[๑๓๘] ครั้งนั้น หมู่สัตว์มีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
ข้าพเจ้าได้รักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์ตลอดระยะเวลาเท่านั้น
[๑๓๙] เมื่อเวลาใกล้ตายมาถึงเข้า เหล่าเทวดาย่อมให้ข้าพเจ้าดีใจว่า
ท่านผู้นิรทุกข์ รถเทียมม้า ๑,๐๐๐ ตัวคันนี้ปรากฏแล้วเพื่อท่าน
[๑๔๐] เมื่อจิตดวงสุดท้ายยังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงศีลของตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ ไฟ ๓ กอง ในที่นี้หมายถึงไฟในนรก ไฟในเปรตวิสัย และ ไฟในวัฏสงสาร (ขุ.อป.อ. ๒/๑๓๕/๔๘)
๒ ไทยธรรม หมายถึงวัตถุที่ควรให้มีข้าวและน้ำเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๑๓๖/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๔๑] และข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพ
ครองเทวสมบัติถึง ๓๐ ชาติ
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม ได้เสวยทิพยสุข
[๑๔๒] อนึ่ง ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๑๔๓] ข้าพเจ้าถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วได้จุติจากเทวโลก
มาเกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลมั่งคั่งที่สุดในกรุงเวสาลี
[๑๔๔] เมื่อศาสนาของพระชินเจ้ายังรุ่งเรืองอยู่
มารดาและบิดาของข้าพเจ้าได้รับสิกขาบท ๕ ข้อ
ในเวลาใกล้เข้าพรรษา
[๑๔๕] ข้าพเจ้าร่วมรับศีลกับมารดาและบิดา
หวนระลึกถึงศีลของตนเอง
นั่งบนอาสนะเดียว ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว
[๑๔๖] ข้าพเจ้ามีอายุ ๕ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระจักษุ
ทรงทราบคุณสมบัติของข้าพเจ้าแล้ว
ได้ประทานอุปสมบทให้
[๑๔๗] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้ารักษาสิกขาบท ๕ ข้อให้บริบูรณ์แล้ว
จึงไม่ตกวินิบาตนรกเลย
[๑๔๘] ข้าพเจ้านั้นได้เสวยยศเพราะอานุภาพแห่งศีลเหล่านั้น
ข้าพเจ้าเมื่อจะประกาศผลของศีล
ตลอดทั้งโกฏิกัปก็คงจะประกาศได้เพียงส่วนเดียวเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
[๑๔๙] ข้าพเจ้ารักษาศีล ๕ แล้ว ย่อมได้เหตุ ๓ ประการ
คือเป็นผู้มีอายุยืน มีโภคสมบัติมาก และมีปัญญาเฉียบแหลม
[๑๕๐] เมื่อข้าพเจ้าท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่
ประกาศคุณของศีลทั้งปวง
และความเพียรเยี่ยงบุรุษที่มีประมาณยิ่ง
ข้าพเจ้าจึงได้ฐานะเหล่านี้
[๑๕๑] สาวกของพระชินเจ้า
ประพฤติอยู่ในศีลมีอานิสงส์นับมิได้
ถ้าจะพึงยินดีในภพ พึงมีผลเช่นไร
[๑๕๒] ศีล ๕ ข้าพเจ้าผู้เป็นลูกจ้าง
มีความเพียรบำเพ็ญดีแล้ว
ข้าพเจ้าจึงพ้นจากเครื่องผูกทั้งปวงได้ในวันนี้เพราะศีลนั้น
[๑๕๓] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้ารักษาศีล ๕ แล้ว
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลของศีล ๕
[๑๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจสีลสมาทานิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๕. อันนสังสาวกเถราปทาน
๕. อันนสังสาวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอันนสังสาวกเถระ
(พระอันนสังสาวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๕๕] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
กำลังเสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
มีลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑ คล้ายแท่งทองคำ
[๑๕๖] พระนามว่าสิทธัตถะ ดังดวงประทีปส่องโลกให้สว่างโชติช่วง
ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้
หาใครเปรียบเทียบมิได้ ทรงฝึกฝนพระองค์แล้ว
ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง
ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ได้ปีติอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ คือ (๑) มีพระบาทราบเสมอกัน (๒) พื้นใต้พระบาททั้ง ๒ มีจักร
ปรากฏข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกงและดุม มีส่วนประกอบครบบริบูรณ์ทุกอย่าง (๓) ทรงมีส้นพระบาทยาว
(๔) มีองคุลียาว (๕) ทรงมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม (๖) ทรงมีลายดุจตาข่ายที่ฝ่าพระหัตถ์
และฝ่าพระบาท (๗) ทรงมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ (๘) ทรงมีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย (๙) เมื่อ
ประทับยืน ไม่ต้องทรงก้มก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุได้ด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒ ได้ (๑๐) ทรงมีพระคุยหฐาน
เร้นอยู่ในฝัก (๑๑) ทรงมีพระฉวีรรณงดงามดุจหุ้มด้วยทองคำ (๑๒) ทรงมีพระฉวีวรรณละเอียดจน
ละอองธุลีไม่เกาะติดพระวรกาย (๑๓) ทรงมีพระโลมชาติงอกเส้นเดียวในแต่ละขุม (๑๔) ทรงมีพระโลม
ชาติสีเข้มเหมือนดอกอัญชันขดเป็นลอนเวียนขวามีปลายตั้งขึ้น (๑๕) ทรงมีพระวรกายตรงดุจกายพรหม
(๑๖) ทรง มีพระมังสะพูนเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ หลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสะทั้ง
๒ และ ลำพระศอ) (๑๗) ทรงมีส่วนพระวรกายบริบูรณ์ดุจกึ่งกายท่อนหน้าของพญาราชสีห์ (๑๘) ทรงมี
พระปฤษฎางค์เต็มเรียบเสมอกัน (๑๙) ทรงมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลต้นไทร พระกายสูง
เท่ากับวาของพระองค์ (๒๐) ทรงมีพระศอกลมงามเต็มเสมอ (๒๑) ทรงมีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระ
กระยาหารได้อย่างดี (๒๒) ทรงมีพระหนุดุจคางราชสีห์ (๒๓) ทรงมีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (๒๔) ทรงมีพระทนต์
เรียบเสมอกัน (๒๕) ทรงมีพระทนต์ไม่ห่างกัน (๒๖) ทรงมีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม (๒๗) ทรงมีพระทนต์
เรียบเสมอกัน (๒๘) ทรงมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก (๒๙) ทรงมีพระเนตร
ดำสนิท (๓๐) ทรงมีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจลูกโคเพิ่งคลอด (๓๑) ทรงมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง
สีขาวอ่อนเหมือนนุ่น (๓๒) ทรงมีพระเศียรงดงามดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (ที.ปา. ๑๑/๑๙๙/
๑๒๓-๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๖. ธูปทายกเถราปทาน
[๑๕๗] ข้าพเจ้าถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
นิมนต์พระองค์ผู้เป็นมหามุนีให้เสวยแล้ว
พระมุนีทรงประกอบด้วยพระกรุณาในโลก
ทรงอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าในครั้งนั้น
[๑๕๘] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ผู้ทรงก่อให้เกิดความชื่นชมอย่างยิ่ง
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
[๑๕๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษา
[๑๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอันนสังสาวกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อันนสังสาวกเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. ธูปทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธูปทายกเถระ
(พระธูปทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๑] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใสได้ถวายธูปประจำพระกุฎี
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๗. อุตติยเถราปทาน
[๑๖๒] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ข้าพเจ้าย่อมเป็นที่รักของพวกเขาแม้ทั้งหมด
นี้เป็นผลแห่งการถวายธูป
[๑๖๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายธูปไว้ครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายธูป
[๑๖๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธูปทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธูปทายกเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. ปุฬินปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุฬินปูชกเถระ
(พระปุฬินปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๕] ข้าพเจ้าขนทรายเก่าที่ลานโพธิ์อันประเสริฐ
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ทิ้งแล้วขนทรายสะอาดมาเกลี่ยไว้แทน
[๑๖๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทรายไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายทราย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๘. อุตติยเถราปทาน
[๑๖๗] ในกัปที่ ๕๓ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่ามหาปุฬินะ
ปกครองคน มีพลานุภาพมาก
[๑๖๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุฬินปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุฬินปูชกเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. อุตติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุตติยเถระ
(พระอุตติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นจระเข้อาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ข้าพเจ้าขวนขวายหาเหยื่อของตนจึงได้ไปยังท่าน้ำ
[๑๗๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู
ผู้ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ พระนามว่าสิทธัตถะ
พระองค์ประสงค์จะเสด็จข้ามแม่น้ำ จึงเสด็จเข้ามายังท่าน้ำ
[๑๗๑] เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงแล้ว
แม้ข้าพเจ้าก็เข้าไปถึงที่ท่าน้ำนั้น
ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[๑๗๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้น(หลังข้าพระองค์)เถิด
ข้าพระองค์จักพาพระองค์ข้าม
นั้นเป็นวิสัยของบิดาและปู่ของข้าพระองค์
ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์ทรงอนุเคราะห์ด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๘. อุตติยเถราปทาน
[๑๗๓] พระผู้มีพระภาคผู้มหามุนี
ทรงสดับคำทูลเชิญของข้าพเจ้าแล้วเสด็จขึ้น(หลัง)
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบาน
จึงพาพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกข้ามไป
[๑๗๔] ที่ฝั่งแม่น้ำฝั่งโน้น พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงทำให้ข้าพเจ้าพอใจ ณ ที่นั้นว่า
ท่านจักได้บรรลุอมตธรรม
[๑๗๕] ข้าพเจ้าจุติจากกายนั้นแล้วได้ไปเกิดยังเทวโลก
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม ได้เสวยทิพยสุข
[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพ ได้ครองเทวสมบัติ ๗ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ๓ ชาติ
[๑๗๗] ข้าพเจ้าประกอบวิเวกอยู่เนือง ๆ
มีปัญญารักษาตนและสำรวมดีแล้ว
ทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่ในศาสนา
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๗๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้พาพระผู้มีพระภาคผู้องอาจกว่านรชนข้ามแล้ว
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการพาพระผู้มีพระภาคข้าม
[๑๗๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุตติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุตติยเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๙. เอกัญชลิกเถราปทาน
๙. เอกัญชลิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกัญชลิกเถระ
(พระเอกัญชลิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
พระนามว่าวิปัสสี ทรงเปรียบด้วยนายเกวียนผู้เลิศ
ผู้เป็นนรชนผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
กำลังเสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
[๑๘๑] ทรงฝึกผู้ที่ยังไม่ได้รับการฝึก ผู้คงที่
เป็นเจ้าลัทธิใหญ่ มีปัญญามาก
ข้าพระองค์ได้เห็นแล้วจึงเป็นผู้เลื่อมใส
มีใจยินดีแล้วได้ประคองอัญชลี
[๑๘๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ประคองอัญชลีไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการประคองอัญชลี
[๑๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกัญชลิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกัญชลิกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑๐. โขมทายกเถราปทาน
๑๐. โขมทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโขมทายกเถระ
(พระโขมทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพ่อค้าอาศัยอยู่ในกรุงพันธุมดี
ได้เลี้ยงดูภรรยาด้วยการค้าขายนั้น และปลูกพืชสมบัติ๑
[๑๘๕] ข้าพเจ้าต้องการบุญกุศล
จึงได้ถวายผ้าเปลือกไม้ผืนหนึ่ง
แด่พระศาสดาทรงพระนามว่าวิปัสสี
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเสด็จดำเนินอยู่ที่ถนน
[๑๘๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าเปลือกไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าเปลือกไม้
[๑๘๗] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง
พระนามว่าสินธวสันทนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
[๑๘๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโขมทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โขมทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สุภูติวรรคที่ ๓ จบบริบูรณ์
ภาณวารที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พืชสมบัติ หมายถึงบุญมีทานและศีลเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๑๘๔/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สุภูติเถราปทาน ๒. อุปวาณเถราปทาน
๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน ๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
๕. อันนสังสาวกเถราปทาน ๖. ธูปทายกเถราปทาน
๗. ปุฬินปูชกเถราปทาน ๘. อุตติยเถราปทาน
๙. เอกัญชลิกเถราปทาน ๑๐. โขมทายกเถราปทาน

ในวรรคที่ ๓ มี ๑๐ เรื่องดังว่ามานี้
รวมคาถาทั้งหมดที่ท่านกล่าวไว้มี ๑๘๕ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๑. กุณฑธานเถราปทาน
๔. กุณฑธานวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระกุณฑธานะเป็นต้น
๑. กุณฑธานเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุณฑธานเถระ
(พระกุณฑธานเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
มีใจยินดีได้บำรุงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ทรงเป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ
เสด็จหลีกเร้น๑อยู่ ๗ วัน
[๒] ข้าพเจ้ารู้เวลาที่พระองค์จะเสด็จออกจากสมาบัติ
จึงได้ถือกล้วยหวีใหญ่เข้าไปถวาย
แด่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
[๓] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นสัพพัญญู
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นมหามุนี
เมื่อจะทำจิตของข้าพเจ้าให้เลื่อมใส จึงทรงรับแล้วเสวย
[๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบด้วยนายเกวียนผู้ยอดเยี่ยม
เสวยแล้วประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๕] เหล่ายักษ์ที่ประชุมกันอยู่ที่ภูเขานี้
และคณะภูตในป่าทั้งหมดจงฟังคำของเรา
[๖] เราจักพยากรณ์ผู้ที่บำรุงพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดังพญาเนื้อชาติไกรสร
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

เชิงอรรถ :
๑ เสด็จหลีกเล้น หมายถึงอยู่โดยการเข้านิโรธสมาบัติ (ขุ.อป.อ. ๒/๑/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๑. กุณฑธานเถราปทาน
[๗] ผู้นั้นจักเป็นเทวราช ๑๑ ชาติ
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ชาติ
[๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๙] ผู้นั้นจักด่าสมณะทั้งหลายผู้มีศีล ผู้ไม่มีอาสวะ
จักได้การขนานนามเพราะวิบากแห่งบาปกรรม
[๑๐] เขาจักมีนามว่ากุณฑธานะ
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
[๑๑] ข้าพเจ้าขวนขวายวิเวกอยู่เนือง ๆ
มีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
ให้พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว
อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๒] พระผู้มีพระภาคชินเจ้ามีเหล่าสาวกแวดล้อม
มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงให้ข้าพเจ้าจับสลาก
[๑๓] ข้าพเจ้าห่มผ้าเฉวียงบ่า
อภิวาทพระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่ได้จับสลากเป็นครั้งแรก
ต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ
[๑๔] ด้วยกรรมนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงทำหมื่นจักรวาลให้หวั่นไหว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๒. สาคตเถราปทาน
[๑๕] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระ
เป็นความเพียรที่นำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุณฑธานเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุณฑธานเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. สาคตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสาคตเถระ
(พระสาคตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นพราหมณ์มีนามว่าโสภิตะ
ห้อมล้อมด้วยศิษย์ของตนได้ไปยังอาราม
[๑๘] ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม เสด็จออกจากประตูอารามแล้วประทับยืนอยู่
[๑๙] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ฝึกพระองค์แล้วมีหมู่ภิกษุผู้ฝึกตนห้อมล้อมแล้ว
จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ชมเชยพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๒๐] ต้นไม้ทุกชนิดนั้นขึ้นงอกงามบนแผ่นดินได้ ฉันใด
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความรู้ ก็ฉันนั้น
ย่อมงอกงามในศาสนาของพระชินเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๒. สาคตเถราปทาน
[๒๑] แม้พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู
เปรียบด้วยนายเกวียนทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทรงชักนำชนจำนวนมากออกจากทางผิดแล้วตรัสบอกทางถูก๑
[๒๒] ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีหมู่ภิกษุผู้ฝึกตนห้อมล้อมแล้ว
มีปกติเข้าฌาน มีหมู่ภิกษุห้อมล้อมผู้ยินดีในฌาน
มีความเพียร ห้อมล้อมด้วยผู้มีจิตเด็ดเดี่ยว
สงบระงับ ผู้คงที่
[๒๓] พระองค์ประดับด้วยสาวกบริษัท
ทรงงดงามด้วยพระญาณที่เกิดจากบุญ
พระองค์มีพระรัศมีพวยพุ่งดังดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น
[๒๔] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทอดพระเนตรเห็นข้าพเจ้าผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว
ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๕] พราหมณ์ใดเกิดความร่าเริงแล้วสรรเสริญเรา
พราหมณ์นั้นจักรื่นรมย์ในเทวโลก ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๖] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
จักบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๒๗] ครั้นบวชในศาสนาแล้วจักได้ความยินดีและความร่าเริง
มีนามว่าสาคตะ เป็นสาวกของพระศาสดา”
[๒๘] ข้าพเจ้าครั้นบวชแล้ว เว้นกายทุจริต
ละวจีทุจริต ชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์
[๒๙] ข้าพเจ้าอยู่อย่างนี้ เป็นผู้ฉลาดในเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ ทางถูก ในที่นี้หมายถึงอุบายเครื่องบรรลุนิพพานซึ่งเป็นทางของสัตบุรุษ (ขุ.อป.อ. ๒/๒๑/๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๓. มหากัจจายนเถราปทาน
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสาคตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สาคตเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. มหากัจจายนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัจจายนเถระ
(พระมหากัจจายนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] พระเจดีย์(วิหารที่ประทับ)ชื่อว่าปทุมะ
ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นที่พึ่งพระนามว่าปทุมุตตระ
ข้าพเจ้าให้ทำแผ่นศิลาไว้ภายใต้แล้วใช้ทองคำไล้ทาแผ่นศิลานั้น
[๓๒] และได้กั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะแล้ว
ถือพัดวาลวีชนีพัดถวายพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของสัตว์โลก ผู้คงที่
[๓๓] ภุมมเทวดา(เทวดาผู้อาศัยอยู่บนแผ่นดิน)
มาประชุมกันทั้งหมดเท่าที่มีในครั้งนั้น
ด้วยหวังว่า พระศาสดาจักตรัสผลแห่งการกั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะ
[๓๔] พวกเราจักฟังพระศาสดาตรัสเรื่องทั้งหมดนั้น
จะพึงเกิดความร่าเริงอย่างยิ่งในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๓๕] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู
เป็นบุคคลผู้เลิศประทับนั่งบนอาสนะทองแล้ว
มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๖] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายอาสนะซึ่งทำด้วยทอง
และกั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะนี้
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๓. มหากัจจายนเถราปทาน
[๓๗] ผู้นั้นจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๐ กัป
จักแผ่รัศมีไป ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
[๓๘] ผู้นั้นจักมาเกิดยังมนุษยโลก เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
มีพระนามว่าปภัสสระ จักเป็นผู้มีเดชแผ่ไป
[๓๙] ผู้นั้นจักได้เป็นกษัตริย์
ส่องสว่างไป ๘ ศอก โดยรอบทั้งกลางวันกลางคืน
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น
[๔๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๑] ผู้นั้นถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
มาเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่ากัจจานะ ตามโคตร
[๔๒] ภายหลังเขาออกบวชแล้วจักสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอาสวะ
พระโคดมผู้ส่องโลกให้โชติช่วงจักตั้งเขาไว้ในอตทัคคะ
[๔๓] เขาจักตอบปัญหาที่ถูกถามอย่างย่อได้โดยพิสดาร
และเมื่อตอบปัญหานั้น จักทำอัธยาศัยให้เต็มได้
[๔๔] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้อภิชาตบุตรในตระกูลที่มั่งคั่ง
จบมนตร์ สละทรัพย์และข้าวเปลือกแล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๔๕] เมื่อถูกถามปัญหาแม้โดยย่อ
ข้าพเจ้าก็กล่าวแก้ได้โดยพิสดาร
ทำอัธยาศัยของชนเหล่านั้นให้เต็ม
ให้พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทรงพอพระทัยได้
[๔๖] พระมหาวีระผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ
ข้าพเจ้าทำให้ทรงพอพระทัยแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๔. กาฬุทายีเถราปทาน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในเอตทัคคะ
[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหากัจจายนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มหากัจจายนเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. กาฬุทายีเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกาฬุทายีเถระ
(พระกาฬุทายีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
เสด็จดำเนินทางไกลเที่ยวจาริกไปในครั้งนั้น
[๔๙] ข้าพเจ้าได้ถือดอกปทุม ดอกอุบล
และดอกมะลิซ้อน ที่บานสะพรั่ง
และถือข้าว(สุก)ชั้นดีมาถวายพระศาสดา
[๕๐] พระมหาวีระเสวยข้าวสุกชั้นดี โภชนะอย่างดี
อนึ่ง กาฬุทายีรับดอกไม้นั้นแล้ว มอบถวายแก่พระชินเจ้า
[๕๑] ผู้ที่ได้ถวายดอกปทุมชั้นดีเยี่ยม
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่นี้แก่เรา ชื่อว่าทำสิ่งที่ทำได้ยาก
[๕๒] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ใช้ดอกไม้บูชา
และได้ถวายข้าวสุกชั้นดีแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๔. กาฬุทายีเถราปทาน
[๕๓] ผู้นั้นจักครองเทวสมบัติ ๑๘ ชาติ
ดอกอุบล ดอกปทุม และดอกมะลิซ้อน จะมีในเบื้องบนผู้นั้น
[๕๔] ด้วยผลบุญของเขา ผู้คนจักสร้างหลังคา
ประกอบด้วยของหอมที่เป็นทิพย์กั้นไว้ในอากาศ ในเวลานั้น
[๕๕] เขาจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๕๐๐ ชาติ
[๕๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๕๗] เขายินดียิ่งในกรรมของตน
ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักเกิดเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระญาติ
ที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินแก่พวกเจ้าศากยะ
[๕๘] และภายหลังเขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วบวช
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๕๙] พระโคดมผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
จักทรงตั้งเขา ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะไว้ในเอตทัคคะ
[๖๐] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ มีนามว่าอุทายี ตามโคตร
จักเป็นสาวกของพระศาสดา
[๖๑] ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะอันข้าพเจ้ากำจัดได้แล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๖๒] ข้าพเจ้ามีความเพียร มีปัญญารักษาตน
ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพอพระทัยแล้ว
และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงยินดี
ได้ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๕. โมฆราชเถราปทาน
[๖๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกาฬุทายีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กาฬุทายีเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. โมฆราชเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโมฆราชเถระ
(พระโมฆราชเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๔] พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระสยัมภูพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
เสด็จดำเนินไปที่ถนน
[๖๕] ข้าพเจ้าก็มีศิษย์ทั้งหลายแวดล้อม ออกจากเรือนไป
ครั้นออกไปแล้วได้พบพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกที่ถนนนั้น
[๖๖] ข้าพเจ้าประคองอัญชลีเหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว
ชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๖๗] สัตว์ทั้งที่มีรูปก็ตาม ไม่มีรูปก็ตาม ที่มีสัญญาก็ตาม
ไม่มีสัญญาก็ตาม มีจำนวนเท่าใด สัตว์จำนวนเท่านั้นทั้งหมด
ย่อมเข้าไปปรากฏภายในพระญาณของพระองค์
[๖๘] เปรียบเหมือนสัตว์น้ำเหล่าใดเหล่าหนึ่งบรรดามี
สัตว์เหล่านั้นย่อมตกอยู่ภายในแหของคนที่เอาแหตาถี่ ๆ
เหวี่ยงคลุมน้ำ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๕. โมฆราชเถราปทาน
[๖๙] อนึ่ง สัตว์เหล่าใดมีเจตนา
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ทั้งที่มีรูป และไม่มีรูป
ย่อมเข้าไปปรากฏภายในพระญาณของพระองค์
[๗๐] พระองค์ทรงช่วยเหลือสัตว์โลกที่อากูลด้วยความมืดนี้ได้
สัตว์เหล่านั้นได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ย่อมข้ามกระแสความสงสัยได้
[๗๑] สัตว์โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้แล้ว
ถูกความมืดปกคลุมแล้ว
เมื่อพระญาณของพระองค์โชติช่วงอยู่ ความมืดก็ถูกขจัดแล้ว
[๗๒] พระองค์เป็นผู้มีพระจักษุ
บรรเทาความมืดที่ใหญ่หลวงของสัตว์ทั้งปวงได้
ชนจำนวนมากฟังธรรมของพระองค์แล้วจักนิพพาน
[๗๓] ข้าพเจ้านำน้ำผึ้งรวงที่ไม่มีโทษ
ใส่เต็มหม้อแล้ว ใช้มือทั้ง ๒ ข้างประคอง
น้อมถวายพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๗๔] พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมาก
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทรงรับด้วยพระหัตถ์ของพระองค์
พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญู ครั้นเสวยน้ำผึ้งนั้นแล้ว
เสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ
[๗๕] พระศาสดาพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้องอาจกว่านรชน ประทับยืนอยู่ในอากาศ
เมื่อจะทรงทำจิตของข้าพเจ้าให้เลื่อมใสได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๗๖] ผู้ใดชมเชยพระญาณนี้และชมเชยพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ผู้นั้นจะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๕. โมฆราชเถราปทาน
[๗๗] และผู้นั้นจักครองเทวสมบัติ ๖๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชครองแผ่นดิน ๑๐๘ ชาติ
[๗๘] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๕ ชาติ
จักครองประเทศราชในแผ่นดินนับชาติไม่ถ้วน
[๗๙] เขาจักเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท
จักบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๘๐] เขาจักพิจารณาเนื้อความที่ลึกซึ้งละเอียดได้ด้วยญาณ
จักมีนามว่าโมฆราช เป็นสาวกของพระศาสดา
[๘๑] เขาจักสมบูรณ์ด้วยวิชชา ๓
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม
ทรงเปรียบด้วยนายเกวียนผู้เลิศ
จักทรงตั้งเขาไว้ในเอตทัคคะ
[๘๒] ข้าพเจ้าละโยคะที่เป็นของมนุษย์ได้แล้ว
ตัดกิเลสเครื่องผูกพันคือภพได้แล้ว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโมฆราชเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โมฆราชเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๖. อธิมุตตเถราปทาน
๖. อธิมุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอธิมุตตเถระ
(พระอธิมุตตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
ของสัตว์โลกพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้สูงสุดแห่งนรชน เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ได้บำรุงภิกษุสงฆ์
[๘๕] ครั้นนิมนต์พระสังฆรัตนะ ผู้ซื่อตรง ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว
ข้าพเจ้าจึงใช้ต้นอ้อยทำมณฑป
นิมนต์สงฆ์ผู้สูงสุดให้ฉันแล้ว
[๘๖] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ข้าพเจ้าย่อมปกครองสัตว์ทั้งปวง
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๘๗] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอ้อย
[๘๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอธิมุตตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อธิมุตตเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๗. ลสุณทายกเถราปทาน
๗. ลสุณทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระลสุณทายกเถระ
(พระลสุณทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชเป็นดาบส
อาศัยอยู่ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าอาศัยกระเทียมเลี้ยงชีวิต
กระเทียมเป็นอาหารของข้าพเจ้า
[๙๐] ข้าพเจ้าใส่กระเทียมเต็มหาบแล้วหาบไปยังสังฆาราม
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบานได้ถวายกระเทียมแด่พระสงฆ์
[๙๑] เพราะถวายกระเทียมแด่พระสงฆ์
ผู้ยินดีในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เลิศกว่านรชน
ข้าพเจ้าจึงบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
[๙๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายกระเทียมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายกระเทียม
[๙๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระลสุณทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ลสุณทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๘. อายาคทายกเถราปทาน
๘. อายาคทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอายาคทายกเถระ
(พระอายาคทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกพระนามว่าสิขี
ผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบานได้ไหว้พระสถูปที่ประเสริฐ
[๙๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบาน
ได้ให้นายช่างประเมินราคาแล้วจึงจ่ายทรัพย์
จ้างก่อสร้างศาลาโรงฉัน
[๙๖] ข้าพเจ้าอยู่ในเทวโลกถึง ๘ กัป โดยไม่สับสนกันเลย
ในกัปที่เหลือ ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดสับสนกันไป
[๙๗] ยาพิษย่อมไม่กล้ำกรายในกายข้าพเจ้า
และศัสตราก็ไม่ทำร้ายข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าย่อมไม่ตายในน้ำ
นี้เป็นผลแห่งการสร้างศาลาโรงฉัน
[๙๘] ข้าพเจ้าปรารถนาฝนเมื่อใด
มหาเมฆย่อมโปรยปรายฝนตกลงเมื่อนั้น
แม้เทวดาทั้งหลายก็อยู่ในอำนาจของข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๙๙] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ๓๐ ชาติ
ใคร ๆ ก็ดูหมิ่นข้าพเจ้าไม่ได้
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๐๐] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ให้สร้างศาลาโรงฉันไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๙. ธัมมจักกิกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างศาลาโรงฉัน
[๑๐๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอายาคทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อายาคทายกเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. ธัมมจักกิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธัมมจักกิกเถระ
(พระธัมมจักกิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๒] ข้าพเจ้าได้ตั้งธรรมจักร ที่ทำอย่างสวยงามอันวิญญูชนชมเชยไว้
ข้างหน้าพุทธอาสน์ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
[๑๐๓] ข้าพเจ้ามียวดยาน กำลังพล และพาหนะ
ย่อมงดงามด้วยวรรณะทั้ง ๔๑
คนจำนวนมากย่อมติดตามแวดล้อมข้าพเจ้าเป็นนิตย์
[๑๐๔] ข้าพเจ้ามีดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
บำรุงบำเรออยู่ทุกเมื่อ ย่อมงดงามด้วยบริวาร
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๐๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ตั้งธรรมจักรไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการตั้งธรรมจักร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๕๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๑๐. กัปปรุกขิยเถราปทาน
[๑๐๖] ในกัปที่ ๑๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่าสหัสสราชา
ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๑๐๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธัมมจักกิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธัมมจักกิกเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. กัปปรุกขิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกัปปรุกขิยเถระ
(พระกัปปรุกขิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๘] ข้าพเจ้าได้ประดิษฐานต้นกัลปพฤกษ์คล้องผ้างดงามวิจิตรหลายผืน
ไว้ตรงหน้าพระสถูปอันประเสริฐที่สุดของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิทธัตถะ
[๑๐๙] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือ จะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ต้นกัลปพฤกษ์ประดิษฐาน
ส่องแสงงดงามที่ประตูของข้าพเจ้า
[๑๑๐] พวกข้าพเจ้า คือ ข้าพเจ้าเอง ชุมนุมชน
และคนบางเหล่าที่มีอายุเท่ากัน (เพื่อน)
ได้นำผ้าจากต้นกัลปพฤกษ์นั้นมานุ่งห่ม
[๑๑๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าประดิษฐานต้นกัลปพฤกษ์ไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการประดิษฐานต้นกัลปพฤกษ์ไว้
[๑๑๒] และในกัปที่ ๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่าสุเจละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกัปปรุกขิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กัปปรุกขิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
กุณฑธานวรรคที่ ๔ จบบริบูรณ์
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุณฑธานเถราปทาน ๒. สาคตเถราปทาน
๓. มหากัจจายนเถราปทาน ๔. กาฬุทายีเถราปทาน
๕. โมฆราชเถราปทาน ๖. อธิมุตตเถราปทาน
๗. ลสุณทายกเถราปทาน ๘. อายาคทายกเถราปทาน
๙. ธัมมจักกิกเถราปทาน ๑๐. กัปปรุกขิยเถราปทาน

และมีคาถา ๑๑๒ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑. อุปาลิเถราปทาน
๕. อุปาลิวรรค
หมวดว่าด้วยพระอุบาลีเป็นต้น
๑. อุปาลิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบาลีเถระ
(พระอุบาลีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ องค์แวดล้อม
พระองค์ผู้ขวนขวายวิเวก จึงเสด็จไปเพื่อหลีกเร้น
[๒] ข้าพเจ้านุ่งห่มหนังสัตว์
ถือไม้เท้า ๓ ง่ามเที่ยวไป ได้พบพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
[๓] ข้าพเจ้าจึงทำหนังสัตว์เฉวียงบ่า
ประคองอัญชลีไว้เหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๔] สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในไข่ เกิดในเถ้าไคล
เกิดผุดขึ้น เกิดในครรภ์ และนกมีกาเป็นต้นทั้งหมด
ได้เที่ยวไปในอากาศทุกเมื่อ ฉันใด
[๕] สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีสัญญาก็ตาม
ไม่มีสัญญาก็ตาม สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดก็ฉันนั้น
ย่อมเข้าไปปรากฏภายในพระญาณของพระองค์
[๖] อนึ่ง กลิ่นหอมเหล่าใดมีอยู่ที่ภูเขา
ณ ภูเขาหิมพานต์ซึ่งเป็นภูเขาสูงสุด
กลิ่นหอมเหล่านั้นทั้งหมด
ย่อมไม่ควรแม้ส่วนเสี้ยวในศีลของพระองค์เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑. อุปาลิเถราปทาน
[๗] โลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกแล่นเข้าไปสู่ความมืดคือโมหะ
เมื่อพระญาณของพระองค์ส่องแสงโชติช่วงอยู่ ความมืดก็ถูกกำจัดไป
[๘] เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้ว
สัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่ในความมืด ฉันใด
เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น
สัตว์โลกก็ตกอยู่ในความมืด ฉันนั้น
[๙] ดวงอาทิตย์เมื่ออุทัยขึ้น
ย่อมขจัดความมืดได้ทุกเมื่อ ฉันใด
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระองค์ก็ทรงขจัดความมืดได้ทุกเมื่อ ฉันนั้น
[๑๐] พระองค์ทรงมีพระทัยเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทรงทำหมู่ชนจำนวนมากให้ยินดี
ด้วยการปรารภการกระทำของพระองค์
[๑๑] พระผู้มีพระภาคผู้มหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นนักปราชญ์ ทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงอนุโมทนาแล้ว
เสด็จเหาะไปในท้องฟ้า
เหมือนพญาหงส์โผบินไปในท้องฟ้า ฉะนั้น
[๑๒] พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระนามว่าปทุมุตตระ
เสด็จเหาะขึ้นไปประทับอยู่ในอากาศได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ชมเชยญาณ
ซึ่งประกอบด้วยข้ออุปมาทั้งหลายนี้
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๔] เขาจักเป็นเทวราช ๑๘ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๓๐๐ ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑. อุปาลิเถราปทาน
[๑๕] เขาจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับชาติไม่ถ้วน
[๑๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๗] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว
จักเป็นคนต่ำต้อยโดยชาติกำเนิด ชื่อว่าอุบาลี
[๑๘] ภายหลัง เขาบวชแล้ว คลายบาปได้
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๑๙] อนึ่ง พระโคดมพุทธเจ้าผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ทรงยินดีแล้ว จักตั้งเขาไว้ในเอตทัคคะว่า
เป็นผู้เชี่ยวชาญทางพระวินัย
[๒๐] ข้าพเจ้าบวชด้วยศรัทธา
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๑] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางพระวินัย
และปรารภกรรมของตนอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๒] ข้าพเจ้าสำรวมในพระปาติโมกข์และในอินทรีย์ ๕
ทรงพระวินัยทั้งหมด ซึ่งเป็นบ่อเกิดรัตนะทั้งมวลไว้
[๒๓] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบคุณสมบัติของข้าพเจ้า
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปาลิเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสณโกฬิวิสเถระ
(พระโสณโกฬิวิสเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ข้าพเจ้าได้ให้ก่อสร้างที่จงกรมฉาบทาด้วยปูนขาว
ถวายพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระมุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๒๖] ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้สีต่าง ๆ ลาดที่จงกรม
และทำให้เป็นเพดานไว้ในอากาศ
แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดให้ทรงใช้สอย
[๒๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าประคองอัญชลีถวายอภิวาทพระองค์
ผู้มีวัตรดีงาม แล้วมอบถวายศาลายาวแด่พระผู้มีพระภาค
[๒๘] พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดา ผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ผู้มีพระจักษุ ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
แล้วทรงรับไว้ด้วยความอนุเคราะห์
[๒๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ครั้นทรงรับแล้ว
จึงประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๐] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีจิตเบิกบาน ซึ่งได้ถวายศาลายาวแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[๓๑] รถเทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ ตัว จักปรากฏสำหรับผู้นี้
ซึ่งเพียบพร้อมด้วยบุญกรรม ในเวลาใกล้จะตาย
[๓๒] ผู้นี้จักไปยังเทวโลกโดยยานนั้น
เทวดาทั้งหลายจักพลอยบันเทิง ในเมื่อผู้นี้ถึงภพที่ดีแล้ว
[๓๓] เขาจักครองวิมานซึ่งมีค่ามาก ประเสริฐที่สุด
ฉาบทาด้วยดินคือแก้ว ประกอบด้วยเรือนยอดที่ล้ำเลิศ
[๓๔] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกถึง ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นเทวราชตลอด ๒๕ กัป
[๓๕] และจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๗ ชาติ
พระเจ้าจักรพรรดิเหล่านั้นแม้ทั้งหมด
มีพระนามว่ายโสธระ๑
[๓๖] ผู้นี้ได้เสวยสมบัติทั้ง ๒ แล้ว สร้างสั่งสมบุญ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในกัปที่ ๒๘
[๓๗] แม้ในภพนั้นจักมีวิมานอย่างประเสริฐ
ที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตให้
ผู้นี้จักครองบุรีนั้น ซึ่งไม่ว่างเว้นจากเสียง ๑๐ ประการ๒
[๓๘] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
เขาจักเป็นพระเจ้าแผ่นดินในแว่นแคว้น
มีฤทธิ์มาก มีพระนามว่าโอกกากราช โดยพระโคตร
[๓๙] นางกษัตริย์ ผู้มีวัยประเสริฐ๓
สูงชาติกว่าหญิงทั้งหมด ๑๖,๐๐๐ คน
จักประสูติพระราชบุตรและพระราชบุตรี ๙ พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า ยโสธระ เพราะทรงไว้ซึ่งยศคือบริวารสมบัติและทรัพย์สมบัติ (ขุ.อป.อ. ๒/๓๕/๘๑)
๒ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๑๓ ในเล่มนี้
๓ ฉบับพม่าและเถรคาถาอรรถกถาภาค ๒/๒๕๖ เป็น ปวรา จ สา นางนั้นประเสริฐ (ขุ.เถร.อ. ๒/๕๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[๔๐] นางกษัตริย์ ครั้นประสูติพระราชบุตร
และพระราชบุตรี ๙ พระองค์แล้วจักสวรรคต
และพระเจ้าโอกกากราชจักทรงอภิเษกนางกัญญา
ผู้เป็นที่รักแรกรุ่นดรุณีเป็นพระมเหสี
[๔๑] พระนางกัญญาจักทำให้พระเจ้าโอกกากราช
ทรงพอพระทัยแล้วได้พร
พระนางได้พรแล้วจักให้เนรเทศ
พระราชบุตรและพระราชบุตรี
[๔๒] พระราชบุตรและพระราชบุตรีทั้งหมดนั้น
ถูกเนรเทศแล้วจักไปยังภูเขาสูงสุด
พระราชบุตรทั้งหมดจักสมสู่กับพระกนิษฐภคินี
เพราะกลัวว่าชาติตระกูลจะระคนกัน
[๔๓] ส่วนพระเชษฐกัญญาพระองค์หนึ่งจักถูกพยาธิกลุ้มรุม
กษัตริย์ทั้งหลายจักซ่อนไว้ด้วยคิดว่า
ชาติตระกูลของพวกเราอย่าแตกสลายเลย
[๔๔] กษัตริย์องค์หนึ่งจึงนำพระเชษฐกัญญานั้นมาสมสู่อยู่ด้วยกัน
ความเกิดแห่งวงศ์โอกกากราชจักแยกกันในครั้งนั้น
[๔๕] โอรสของกษัตริย์เหล่านั้นจักมีพระนามว่าโกลิยะ โดยพระชาติ
จักได้เสวยโภคสมบัติ อันเป็นของมนุษย์มิใช่น้อยในภพนั้น
[๔๖] ผู้นี้จุติจากกายนั้นแล้วจักไปเกิดยังเทวโลก
แม้ในเทวโลกนั้นจักได้วิมานอย่างประเสริฐ น่ารื่นรมย์ใจ
[๔๗] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักจุติจากเทวโลก
มาเกิดเป็นมนุษย์ มีชื่อว่าโสณะ
[๔๘] จักบำเพ็ญเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว
บำเพ็ญเพียรในศาสนาของพระศาสดา
จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[๔๙] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงรู้วิเศษ มีความเพียรมาก ทรงเห็นคุณไม่มีที่สุด
จักทรงตั้งเขาไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
[๕๐] เมื่อฝนตกแล้ว หญ้ายาวประมาณ ๔ องคุลี
ยืนต้นอยู่ที่พื้นถูกลมพัดโชย
สำหรับพระโยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ผู้คงที่
ไม่มีอะไรจะยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่าต้นหญ้านั้น๑
[๕๑] ข้าพเจ้าได้ฝึกฝนตน ในการฝึกอย่างสูงสุด
จิตข้าพเจ้าก็ตั้งไว้ดีแล้ว
ภาระทั้งหมดข้าพเจ้าก็ปลงลงแล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีอาสวะ นิพพานแล้ว
[๕๒] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอังคีรสมหานาค๒
ทรงเป็นอภิชาตบุตร ผู้ดุจพญาราชสีห์
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
[๕๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสณโกฬิวิสเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสณโกฬิวิสเถราปทานที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เดิมแปลว่า “เมื่อฝนตกในที่ประชุม ๔ นิ้ว หญ้าประมาณหนึ่งองคุลีถูกซัดแล้ว พระผู้มีพระภาคผู้คงที่
ซึ่งประกอบความเพียร ความถึงที่สุด ไม่มียิ่งขึ้นไปกว่านั้น” คำว่า ...องฺคลุมฺห ประมาณหนึ่งองคุลี”
ฉบับพม่าและ ขุ.เถร.อ. ๒/๒๕๗ เป็น “...องฺคณมฺหิ ที่พื้น (เนิน)” คำว่า “ปารมตา เดิมแปลว่า
ความถึงที่สุด” แปลใหม่ว่า “ยอดเยี่ยม”
๒ ชื่อว่าอังคีรส เพราะมีรัศมีเปล่งออกจากพระสรีระ ชื่อว่านาค เพราะไม่ไปยังอบาย ๔ เพราะฉันทาคติ
โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ หรือเพราะประพฤติชั่ว ชื่อว่ามหานาค เพราะเป็นใหญ่อันบุคคลบูชา
แล้วและเป็นผู้ประเสริฐ (อังคีรสมหานาค จึงหมายถึงผู้มีรัศมีเปล่งออกจากพระสรีระเป็นผู้ไม่ไปในอบาย ๔
และเป็นผู้ประเสริฐ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน
๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภัททิยกาฬิโคธายบุตรเถระ
(พระภัททิยกาฬิโคธายบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๕๔] ประชุมชนทั้งปวงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีพระทัยประกอบด้วยเมตตา
เป็นพระมหามุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของสัตว์โลกทั้งปวง
[๕๕] ชนทั้งปวงย่อมถวายอามิส
คือสัตตุก้อน สัตตุผง น้ำ และข้าวแด่พระศาสดา
และในสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม
[๕๖] แม้ข้าพเจ้าก็จะนิมนต์พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
และสงฆ์ผู้ยอดเยี่ยม ถวายทานแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ๑ ผู้คงที่
[๕๗] และข้าพเจ้าส่งคนไปให้นิมนต์พระตถาคต
และภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นผู้เป็นนาบุญอย่างยอดเยี่ยม
[๕๘] ข้าพเจ้าจัดตั้งบัลลังก์ทอง ๑๐๐,๐๐๐ ตัว
ลาดด้วยเครื่องลาดผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่
มีขนยาว ด้วยเครื่องลาดลายดอกไม้ยัดด้วยนุ่น
และด้วยผ้าเปลือกไม้และผ้าฝ้าย
เป็นอาสนะที่ควรค่ามากสมควรแด่พระพุทธเจ้า
[๕๙] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ

เชิงอรรถ :
๑ เทพมีอยู่ ๓ จำพวก คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ ในที่นี้มีนัยว่า พระผู้มีพระภาคเป็น
ผู้ยิ่งใหญ่กว่าเทพทุกจำพวก (วิสุทฺธิ.ฏีกา. ๑/๑/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน
ผู้องอาจกว่านรชน มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
เสด็จเข้ามาใกล้ประตู(บ้าน)ของข้าพเจ้า
[๖๐] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
มีใจยินดีได้ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
มีพระยศแล้วนำเสด็จมาเรือนของตน
[๖๑] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้อังคาสภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
และพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก จนอิ่มหนำด้วยข้าวชั้นดี
[๖๒] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ถวายอาสนะทองคำ
ลาดด้วยผ้าขนสัตว์๑
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๔] เขาจักครองเทวสมบัติ มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม
เสวยสมบัติอยู่ ๗๔ ชาติ
[๖๕] เขาจักเป็นเจ้าประเทศราชครองแผ่นดิน ๑,๐๐๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๑ ชาติ
[๖๖] เขาจักเป็นผู้มีตระกูลสูง ในภพกำเนิดทั้งปวง
ภายหลังเขาถูกกุศลมูลตักเตือนจึงบวช
มีนามว่าภัททิยะ เป็นสาวกของพระศาสดา

เชิงอรรถ :
๑ โคนกตฺถตํ ปูผ้าโกเชาว์สีดำขนยาว ๔ องคุลี (โคนกตฺถโตติ จตุรงฺคุลาธิกโลเมน กาฬโกชเวน อตฺถโต.
องฺ.ติก.อ. ๒/๓๕/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕.อุปาลิวรรค] ๔. สันนิฏฐาปกเถราปทาน
[๖๗] ข้าพเจ้าเป็นผู้หมั่นประกอบวิเวก
อาศัยอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
ผลทั้งปวง ข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว
วันนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้สละกิเลสได้แล้ว
[๖๘] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นสัพพัญญูผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงทราบคุณสมบัติทั้งปวงของข้าพเจ้าแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๖๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการ ฉะนี้
ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. สันนิฏฐาปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสันนิฏฐาปกเถระ
(พระสันนิฏฐาปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๐] ข้าพเจ้าสร้างกระท่อมอยู่ในป่า ในระหว่างภูเขา
สันโดษตามมีตามได้ด้วยยศและความเสื่อมยศ
[๗๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
เสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
[๗๒] พระผู้มีพระภาคผู้มหานาคพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จเข้ามา
ข้าพเจ้าเห็นแล้วให้ปูลาดเครื่องลาดหญ้าถวายพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น