Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๒-๔ หน้า ๑๗๗ - ๒๓๕

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๕. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
[๗๓] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายผลแฟงและน้ำฉันแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้ซื่อตรงด้วยทั้งจิตที่ผ่องใส
[๗๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลแฟง
[๗๕] ในกัปที่ ๔๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าอรินทมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๗๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสันนิฏฐาปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สันนิฏฐาปกเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจหัตถิยเถระ
(พระปัญจหัตถิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้มีจักษุทอดลง ตรัสพอประมาณ มีสติ
ทรงสำรวมอินทรีย์ เสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
[๗๘] ชนทั้งหลายได้ใช้ดอกบัว ๕ กำ ทำเป็นพวงมาลัยให้แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเลื่อมใสจึงได้ใช้ดอกบัวนั้นบูชาพระพุทธเจ้าด้วยมือของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๖. ปทุมฉทนิยเถราปทาน
[๗๙] ข้าพเจ้ายกดอกไม้เหล่านั้นขึ้นเป็นหลังคา
เพื่อพระศาสดาพระองค์นั้น
ดอกไม้ทั้งหลายตั้งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคผู้มหานาค
ดังศิษย์ทั้งหลายแวดล้อมอาจารย์ ฉะนั้น
[๘๐] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๑] ในกัปที่ ๒,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ
มีพระนามว่าหัตถิยะ มีพลานุภาพมาก
[๘๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจหัตถิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจหัตถิยเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. ปทุมฉทนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมฉทนิยเถระ
(พระปทุมฉทนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกพระนามว่าวิปัสสี
เป็นบุคคลผู้เลิศ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าถือดอกปทุมที่บานดีแล้ว บูชาที่จิตกาธาน
[๘๔] เมื่อมหาชนยกพระพุทธสรีระขึ้นบนจิตกาธาน
จิตกาธานสูงขึ้นไปจรดนภากาศ
ข้าพเจ้าได้ทำหลังคากั้นไว้ในอากาศเหนือจิตกาธาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๗. สยนทายกเถราปทาน
[๘๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๖] ในกัปที่ ๔๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าปทุมิสสระ
ทรงเป็นใหญ่มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔ มีพลานุภาพมาก
[๘๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมฉทนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมฉทนิยเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. สยนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสยนทายกเถระ
(พระสยนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๘] ข้าพเจ้าได้ถวายที่นอนอันเลิศ
ปูลาดด้วยผ้าแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้มีพระทัยประกอบด้วยเมตตา ผู้คงที่
[๘๙] พระผู้มีพระภาคชินเจ้า ทรงรับที่นอน
และที่นั่งอันเป็นกัปปิยะแล้ว
เสด็จลุกจากที่นอนนั้น เหาะขึ้นสู่เวหาส
[๙๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายที่นอนไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๘. จังกมทายกเถราปทาน
[๙๑] ในกัปที่ ๕๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวรุณเทพ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสยนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สยนทายกเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. จังกมทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจังกมทายกเถระ
(พระจังกมทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๓] ข้าพเจ้าให้สร้างที่จงกรมก่อด้วยอิฐ
ถวายพระมุนีพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๙๔] ที่จงกรมสร้างสำเร็จดีแล้ว สูง ๕ ศอก ยาว ๑๐๐ ศอก
ควรเป็นที่เจริญภาวนา น่ารื่นรมย์ใจ
[๙๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน ทรงรับแล้ว
ทรงใช้พระหัตถ์กอบทรายแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๙๖] ด้วยการถวายทรายนี้ และด้วยการสร้างที่จงกรมถวายดีแล้ว
ผู้นั้นจักได้ครองทรายที่สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๙๗] เขาจักครองเทวสมบัติ มีเหล่านางเทพอัปสรแวดล้อม
เสวยสมบัติในเทวดาทั้งหลายถึง ๓ กัป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๙. สุภัททเถราปทาน
[๙๘] เขามาเกิดยังมนุษยโลกแล้ว
จักเป็นพระราชาในแว่นแคว้น
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแผ่นดิน ๓ ชาติ
[๙๙] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่จงกรม
[๑๐๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจังกมทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จังกมทายกเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. สุภัททเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุภัททเถระ
(พระสุภัททเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ทรงพระยศยิ่งใหญ่
รื้อถอนหมู่ชน(ออกจากสังสารวัฏ) แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
[๑๐๒] ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน
โลกธาตุมีหมื่นจักรวาลหวั่นไหวแล้ว
หมู่ชนและเทวดาจำนวนมากประชุมกันแล้ว ในครั้งนั้น
[๑๐๓] ข้าพเจ้าบรรจุกฤษณาและดอกมะลิ
จนเต็มผอบไม้จันทน์ แล้วมีจิตร่าเริงเบิกบาน
บูชาพระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๙. สุภัททเถราปทาน
[๑๐๔] พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
บรรทมอยู่นั่นแลได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๐๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ใช้มาลัยของหอม
บังร่มให้เราในกาลสุดท้าย
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๐๖] บุคคลผู้นี้จุติจากโลกนี้แล้ว จักไปเกิดยังหมู่เทวดาชั้นดุสิต
ได้ครองราชสมบัติในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้ว
จักไปเกิดยังสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
[๑๐๗] เขาถวายมาลัยที่ประเสริฐด้วยอุบายนี้นั่นเอง
จักพอใจกรรมของตน เสวยสมบัติ
[๑๐๘] บุคคลผู้นี้จักเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นอีก
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วจักไปเกิดเป็นมนุษย์
[๑๐๙] พระผู้มีพระภาคผู้มหานาคศากยบุตร
ผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ทรงมีพระจักษุ
ทรงให้หมู่สัตว์จำนวนมากตรัสรู้แล้วจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน
[๑๑๐] ครั้งนั้น เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักเข้าเฝ้า
ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจักทูลถามปัญหาในครั้งนั้น
[๑๑๑] พระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงให้เขาร่าเริงแล้ว ทรงทราบบุพกรรม
จักทรงเปิดเผยสัจจะทั้งหลาย
[๑๑๒] ปัญหานี้เขาพอใจแล้ว เขายินดี มีใจแน่วแน่
จักถวายอภิวาทพระศาสดาแล้วทูลขอบวช
[๑๑๓] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงฉลาดในธรรมอันเลิศ ทรงเห็นเขามีใจเลื่อมใส
ยินดีด้วยกรรมของตน จึงยอมให้บวช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๙. สุภัททเถราปทาน
[๑๑๔] บุคคลผู้นี้เพียรพยายามในศาสนา
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
ภาณวารที่ ๕ จบ
[๑๑๕] เราประกอบด้วยบุพกรรม
มีใจแน่วแน่ มีจิตตั้งมั่น เป็นโอรสของพระพุทธเจ้า
เป็นบุตรผู้เกิดแต่ธรรมซึ่งธรรมเนรมิตไว้ดีแล้ว
[๑๑๖] ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นธรรมราชาแล้วได้ทูลถามปัญหาสูงสุด
และพระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงพยากรณ์ปัญหาของข้าพเจ้า
จึงทรงนำเข้าไปสู่กระแสธรรม
[๑๑๗] ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์แล้ว
ยินดีในศาสนาอยู่
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๑๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ผู้ไม่มีอุปาทาน เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ดังประทีปดับไปเพราะหมดน้ำมัน ฉะนั้น
[๑๑๙] พระสถูปแก้วของพระผู้มีพระภาค สูงประมาณ ๗ โยชน์
ข้าพเจ้าได้นำธงที่สวยงามกว่าธงทั้งปวง
น่ารื่นรมย์ใจ บูชาไว้ที่พระสถูปนั้น
[๑๒๐] อัครสาวกชื่อว่าติสสะ ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
เป็นบุตรเป็นโอรสของข้าพเจ้า เป็นทายาทในศาสนาของพระชินเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑๐. จุนทเถราปทาน
[๑๒๑] ข้าพเจ้ามีใจเลวทราม กล่าววาจาไม่ไพเราะแก่อัครสาวกนั้น
ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น
ความเจริญจึงได้มีแก่ข้าพเจ้าในภายหลัง
[๑๒๒] พระชินมุนีผู้ทรงมีความเพียรมาก
ทรงเกื้อกูลประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงประทานบรรพชาแก่ข้าพเจ้าบนที่บรรทมครั้งสุดท้าย ณ สาลวัน
ซึ่งเป็นที่แวะเวียนมาแห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย
[๑๒๓] บัดนี้ การบรรพชาอุปสมบท มีแก่ข้าพเจ้า ในวันนี้
การปรินิพพานของพระพุทธชินเจ้าผู้สูงสุด
กว่าเทวดาและมนุษย์ได้มีเฉพาะหน้า
[๑๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุภัททเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุภัททเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. จุนทเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจุนทเถระ
(พระจุนทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๕] ข้าพเจ้าให้ทำวัตถุควรบูชา
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่ แล้วใช้ดอกมะลิปกปิดไว้
[๑๒๖] ข้าพเจ้าให้ทำดอกไม้นั้นเสร็จแล้ว
น้อมเข้าไปถวายพระพุทธเจ้า
และได้ประคองดอกไม้ที่เหลือบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑๐. จุนทเถราปทาน
[๑๒๗] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
นำดอกไม้ซึ่งเป็นวัตถุควรบูชา
ไปบูชาพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับทองคำมีค่า
ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
[๑๒๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว
มีพระขีณาสพแวดล้อม
ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว๑ ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๒๙] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ถวายดอกไม้ซึ่งเป็นวัตถุควรบูชา
ส่งกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๓๐] บุคคลผู้นี้จุติจากโลกนี้แล้วจักไปเกิดยังเทวโลก
มีหมู่เทวดาแวดล้อม มีดอกมะลิโปรยปราย
[๑๓๑] เขาจักมีภพที่สูงและวิมาน
ที่สำเร็จด้วยทองคำและแก้วมณี
ที่เกิดด้วยบุญกรรมปรากฏขึ้น
[๑๓๒] เขาจักครองเทวสมบัติ มีเหล่านางเทพอัปสรแวดล้อม
ได้เสวยสมบัติอยู่ ๗๔ ชาติ
[๑๓๓] เขาจักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๓๐๐ ชาติ
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
[๑๓๔] จักเป็นใหญ่กว่ามนุษย์มีนามว่าทุชชัย
เสวยบุญนั้น ประกอบด้วยกรรมของตน

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงกิเลสดุจห้วงน้ำท่วมทับสัตว์ให้พินาศมี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.อป.อ.
๒/๑๒๘/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑๐. จุนทเถราปทาน
[๑๓๕] จักไม่ตกวินิบาตนรก ไปเกิดเป็นมนุษย์
เขามีเงินที่สั่งสมไว้ตั้งร้อยโกฏิมิใช่น้อย
[๑๓๖] เขาจักบังเกิดในกำเนิด(มนุษย์)เป็นพราหมณ์
มีการศึกษามีปัญญาเป็นบุตรสุดที่รักของวังคันตพราหมณ์
กับนางสารีพราหมณี
[๑๓๗] และภายหลังเขาจักบวช
ในศาสนาของพระอังคีรสพุทธเจ้า
มีนามว่าจุนทะ เป็นสาวกของพระศาสดา
[๑๓๘] เขาจักได้เป็นพระขีณาสพ(สิ้นอาสวกิเลส)
ขณะเป็นสามเณรทีเดียว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๑๓๙] ข้าพเจ้าได้บำรุงพระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
และสาวกอื่น ๆ ผู้มีศีลเป็นที่รักจำนวนมาก
และบำรุงพระเถระ(สารีบุตร)ผู้เป็นพี่ชายของข้าพเจ้า
เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
[๑๔๐] ข้าพเจ้าครั้นบำรุงพี่ชายของข้าพเจ้าแล้ว
ได้เก็บพระธาตุใส่ไว้ในบาตร
น้อมเข้าไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
[๑๔๑] พระพุทธเจ้าทรงประคองพระธาตุด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒
เมื่อจะทรงทำพระธาตุนั้นให้ปรากฏในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
จึงทรงประกาศว่าเป็นพระธาตุอัครสาวก(พระสารีบุตรเถระ)
[๑๔๒] จิตของข้าพเจ้าหลุดพ้นอย่างวิเศษแล้ว
และศรัทธาของข้าพเจ้าก็มั่นคงแล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๑๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจุนทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จุนทเถราปทานที่ ๑๐ จบ
อุปาลิวรรคที่ ๕ จบบริบูรณ์
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุปาลีเถราปทาน ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน ๔. สันนิฏฐาปกเถราปทาน
๕. ปัญจหัตถิยเถราปทาน ๖. ปทุมฉทนิยเถราปทาน
๗. สยนทายกเถราปทาน ๘. จังกมทายกเถราปทาน
๙. สุภัททเถราปทาน ๑๐. จุนทเถราปทาน

และมีคาถา ๑๔๔ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๑. วิธูปนทายกเถราปทาน
๖. วีชนีวรรค
หมวดว่าด้วยพัดวีชนีเป็นต้น
๑. วิธูปนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวิธูปนทายกเถระ
(พระวิธูปนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้ถวายพัดวีชนีเล่มหนึ่งแด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่เช่นนั้น
[๒] ข้าพเจ้าทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ประนมมืออภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
มุ่งหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๓] พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงจับพัดวีชนีแล้ว ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๔] ด้วยการถวายพัดวีชนีเล่มนี้และด้วยการตั้งจิตไว้มั่น
ผู้นี้จักไม่ตกวินิบาตนรกถึง ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๕] ข้าพเจ้าบำเพ็ญเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว
มีใจตั้งมั่นในเจโตคุณ มีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๖] ในกัปที่ ๖๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่าพีชมานะ มีพลานุภาพมาก
[๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวิธูปนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วิธูปนทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๒. สตรังสิยเถราปทาน
๒. สตรังสิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสตรังสิยเถระ
(พระสตรังสิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
เสด็จขึ้นภูเขาสูงแล้วประทับนั่งอยู่
ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้จบมนตร์
อยู่ในที่ไม่ไกลจากภูเขา
[๙] ข้าพเจ้าได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ผู้องอาจกว่านรชน ประนมมือแล้ว
ชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๑๐] พระมหาวีรพุทธเจ้าพระองค์นี้
ทรงประกาศธรรมอันประเสริฐ
มีหมู่ภิกษุแวดล้อม รุ่งเรืองดังกองไฟ
[๑๑] พระผู้มีพระภาคทรงเป็นดุจมหาสมุทรที่หวั่นไหวได้ยาก
ทรงเป็นดุจห้วงน้ำที่ข้ามได้ยาก
ทรงเป็นดุจราชสีห์ที่ไม่ครั่นคร้าม
มีพระจักษุแสดงธรรมอยู่
[๑๒] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๓] ผู้ใดได้ถวายอัญชลีและชมเชยพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ผู้นั้นจักได้ครองเทวสมบัติ ๓๐,๐๐๐ กัป
[๑๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าอังคีรส
ผู้ทรงทำลายกิเลสเครื่องห่อหุ้มได้แล้ว
จักเสด็จอุบัติขึ้นในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๓. สยนทายกเถราปทาน
[๑๕] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระองค์
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นพระอรหันต์มีนามว่าสตรังสี
[๑๖] ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้บวชเป็นบรรพชิต
มีนามว่าสตรังสี ข้าพเจ้ามีรัศมีแผ่ออกไป
[๑๗] ข้าพเจ้ามีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
อยู่ที่มณฑปหรือโคนต้นไม้
ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๘] ตลอด ๖๐,๐๐๐ กัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มีนามเหมือนกันว่าราม
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสตรังสิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สตรังสิยเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. สยนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสยนทายกเถระ
(พระสยนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส
ได้ถวายที่นอนแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวงพระองค์นั้น
[๒๑] ด้วยผลแห่งการถวายที่นอนนั้น
โภคสมบัติจึงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๔. คันโธทกทายกเถราปทาน
เปรียบเหมือนพืชที่มีความสมบูรณ์ในนาดี
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอนนั้น
[๒๒] ข้าพเจ้านอนในอากาศได้
ทรงแผ่นดินนี้ไว้ได้ เป็นใหญ่ในสัตว์ทั้งหลาย
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน
[๒๓] ในกัปที่ ๕,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ มีความเพียรมาก
ในกัปที่ ๓,๔๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ มีพลานุภาพมาก
[๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสยนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สยนทายกเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. คันโธทกทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคันโธทกทายกเถระ
(พระคันโธทกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ครั้งนั้น ได้มีการฉลองต้นมหาโพธิ์ของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ข้าพเจ้าได้ถือหม้อน้ำอันวิจิตร
ได้ถวายน้ำหอมรดต้นมหาโพธิ์
[๒๖] ก็ในเวลาที่รดต้นมหาโพธิ์
เมฆฝนเป็นอันมากได้ตกลงมาและได้มีเสียงบันลือดังลั่น
ในเมื่อสายฟ้าฟาดลงมา
[๒๗] ด้วยกำลังแห่งสายฟ้าฟาดลงมานั้นแล
ข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิต ณ ที่นั้น
ไปเกิดบนเทวโลก ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๕. โอปวุยหเถราปทาน
[๒๘] ช่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้า
ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรม
ช่างน่าอัศจรรย์ การที่ข้าพเจ้าได้ประจวบกับพระศาสดา
ร่างกายของข้าพเจ้าล้มตายลงไปแล้ว
ข้าพเจ้าได้รื่นรมย์ในเทวโลก
[๒๙] วิมานของข้าพเจ้ามี ๗ ชั้น สูงตระหง่าน
นางเทพกัญญา ๑๐๐,๐๐๐ นาง แวดล้อมข้าพเจ้าทุกเมื่อ
[๓๐] ข้าพเจ้าไม่มีความเจ็บไข้
ไม่มีความเศร้าโศก ไม่ประสบความเร่าร้อนเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๓๑] ในกัปที่ ๒,๘๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสังวสิตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคันโธทกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คันโธทกทายกเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. โอปวุยหเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโอปวุยหเถระ
(พระโอปวุยหเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓] ข้าพเจ้าได้ถวายม้าอาชาไนยแด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ครั้นมอบถวายแด่พระสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้กลับไปยังเรือนของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๕. โอปวุยหเถราปทาน
[๓๔] พระอัครสาวกมีนามว่าเทวิละ ของพระศาสดา
ผู้เป็นธรรมทายาทที่ล้ำเลิศ ได้มายังสำนักของข้าพเจ้า(กล่าวว่า)
[๓๕] พระผู้มีพระภาค ผู้นำประโยชน์ทั้งปวง
ม้าอาชาไนยไม่สมควรแก่พระองค์ พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ทรงทราบความดำริของท่านแล้ว จึงทรงรับไว้แล้ว
[๓๖] ข้าพเจ้าจึงตีราคาม้าสินธพ ซึ่งมีกำลังวิ่งเร็วดังลม
เป็นพาหนะที่รวดเร็วแล้วได้ถวายของที่ควร
แด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[๓๗] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ม้าอาชาไนยมีกำลังวิ่งเร็วดังลม
เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ย่อมบังเกิดแก่ข้าพเจ้า
[๓๘] ชนเหล่าใดได้อุปสมบท ชนเหล่านั้นได้ลาภดีแล้ว
ถ้าว่าพระพุทธเจ้าจะพึงมีในโลก ข้าพเจ้าก็จะพึงเข้าไปเฝ้าบ่อย ๆ
[๓๙] ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชาผู้มีพลานุภาพมาก
เป็นใหญ่มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔
เป็นใหญ่แห่งชนชาวชมพูทวีป ๒๘ ชาติ
[๔๐] อัตภาพนี้เป็นอัตภาพสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าละความชนะและความแพ้ได้แล้ว๑
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒
[๔๑] ในกัปที่ ๓๔,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีเดชมาก
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๖. สปริวาราสนเถราปทาน
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโอปวุยหเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โอปวุยหเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. สปริวาราสนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสปริวาราสนเถระ
(พระสปริวาราสนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] ข้าพเจ้าไปยังสถานที่ทรุดโทรมแห่งหนึ่ง
ที่ข้าพเจ้าประดับด้วยดอกมะลิซ้อน
ได้ถวายบิณฑบาตแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[๔๔] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงเป็นผู้ตรง มีพระหฤทัยตั้งมั่น
ประทับนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว
ได้ทรงประกาศอานิสงส์บิณฑบาตว่า
[๔๕] พืชแม้จะมีประมาณน้อยที่ชาวนาปลูกลงในนาดี
เมฆฝนเป็นอันมากโปรยลงมาอย่างพอเหมาะ
ผลย่อมให้ชาวนายินดีได้ ฉันใด
[๔๖] บิณฑบาตนี้ก็ฉันนั้น ท่านปลูกแล้วในนาดี
ผลจักให้ท่านยินดีในภพที่ท่านเกิด
[๔๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงรับบิณฑบาต
บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศเหนือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๗. ปัญจทีปกเถราปทาน
[๔๘] ข้าพเจ้าสำรวมในพระปาติโมกข์และในอินทรีย์ ๕
หมั่นประกอบวิเวกอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสปริวาราสนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สปริวาราสนเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. ปัญจทีปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจทีปกเถระ
(พระปัญจทีปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๐] ข้าพเจ้าเชื่อสนิทในพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง
จึงได้เป็นผู้มีความเห็นตรง
[๕๑] ข้าพเจ้าได้ถวายประทีป แวดล้อมไว้ที่ต้นโพธิ์
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเชื่ออยู่ จึงทำการบูชาด้วยประทีปไว้
[๕๒] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ เทวดาย่อมถือดวงไฟไว้ในอากาศ
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยประทีป
[๕๓] ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นได้ทะลุฝา ทะลุกำแพงศิลา
ทะลุภูเขาได้ร้อยโยชน์โดยรอบ
[๕๔] ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น
ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรลุความสิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๘. ธชทายกเถราปทาน
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
[๕๕] ในกัปที่ ๓,๔๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสตจักษุ
มีเดชมาก มีพลานุภาพมาก
[๕๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจทีปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจทีปกเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. ธชทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธชทายกเถระ
(พระธชทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๗] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน
ได้ยกธงขึ้นปักไว้ที่โคนต้นโพธิ์
ซึ่งเป็นต้นไม้ประเสริฐของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[๕๘] ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ที่หล่นนำไปทิ้งภายนอก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หมดจดทั้งภายในทั้งภายนอก
ผู้หลุดพ้นดีแล้ว หาอาสวะมิได้
[๕๙] ข้าพเจ้าได้ไหว้ต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ
เหมือนได้อภิวาท พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เฉพาะพระพักตร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๘. ธชทายกเถราปทาน
[๖๐] ผู้เป็นพระศาสดาประทับยืนในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
ด้วยการถวายธงและด้วยการบำรุงทั้ง ๒ อย่างนี้
[๖๑] เขาจะไม่ไปเกิดยังทุคติตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
จักเสวยทิพยสมบัติมิใช่น้อยในหมู่เทวดา
[๖๒] และเขาจักได้เป็นพระราชาในแว่นแคว้นหลายร้อยชาติ
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าอุคคตะ
[๖๓] เขาครั้นเสวยสมบัติแล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน
จักยินดียิ่งในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๖๔] ข้าพเจ้ามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
สงบระงับ ไม่มีอุปธิ ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๕] ในกัปที่ ๑,๐๕๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นกษัตริย์หลายพระองค์ มีพระนามว่าอุคคตะ
ในกัปที่ ๑,๑๕๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นกษัตริย์หลายชาติมีพระนามว่าเขมะ
[๖๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธชทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธชทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๙. ปทุมเถราปทาน
๙. ปทุมเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมเถระ
(พระปทุมเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงประกาศสัจจะ ๔ ทรงประกาศธรรมอันประเสริฐให้เป็นไป
ทรงโปรยปรายหยาดฝนคืออมตธรรม ให้มหาชนสงบเย็น
[๖๘] ข้าพเจ้ายืนถือดอกปทุมพร้อมทั้งธงอยู่ในที่ไกล ๒๕๐ ชั่วคันธนู
มีใจร่าเริง ได้โยนดอกปทุมพร้อมด้วยธงขึ้นไปในอากาศ
เพื่อบูชาพระมุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
[๖๙] และเมื่อดอกปทุมกำลังลอยมา
ความอัศจรรย์ก็เกิดมีในขณะนั้น
พระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า ทรงรับไว้แล้ว
[๗๐] พระศาสดาทรงรับดอกปทุมชั้นดีเยี่ยมไว้
ด้วยพระหัตถ์ที่ประเสริฐ
ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๗๑] เราจักพยากรณ์ผู้ที่โยนดอกปทุมนี้
มาใกล้พระสัพพัญญูซึ่งเป็นผู้นำสูงสุด
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๗๒] เขาจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๐ กัป
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๗๐๐ กัป
[๗๓] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะถือเอากลีบบัวในดอกบัวนั้น
สายฝนดอกไม้จักตกลงมาจากอากาศในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๑๐. อสนโพธิยเถราปทาน
[๗๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๗๕] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๗๖] ข้าพเจ้าคลอดจากครรภ์แล้ว มีสติสัมปชัญญะ
มีอายุได้ ๕ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๗๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. อสนโพธิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอสนโพธิยเถระ
(พระอสนโพธิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๘] ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้พบพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
มีใจยินดี ได้เข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นนรผู้สูงสุด
[๗๙] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน ได้ปลูกต้นโพธิ์อันอุดม
ถวายพระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๑๐. อสนโพธิยเถราปทาน
[๘๐] ต้นไม้งอกขึ้นบนแผ่นดิน โดยนามบัญญัติว่าอสนะ
ข้าพเจ้าบำรุงต้นโพธิ์ชื่ออสนะอันอุดมนี้ตลอด ๕ ปี
[๘๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นไม้มีดอกบานสะพรั่งน่าอัศจรรย์
เป็นเหตุให้ขนพองสยองเกล้า เมื่อจะประกาศกรรมของตน
จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๘๒] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ พระองค์นั้น
ทรงเป็นพระสยัมภู ผู้เป็นบุคคลผู้เลิศ
ประทับนั่งอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๘๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ปลูกต้นโพธิ์นี้
และทำการบูชาพระพุทธเจ้าโดยเคารพ
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๘๔] เขาจักครองเทวสมบัติในหมู่เทวดา ๓๐ กัป
และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๖๔ ชาติ
[๘๕] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว
เสวยสมบัติทั้ง ๒ จักรื่นรมย์อยู่ในความเป็นมนุษย์
[๘๖] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๘๗] ข้าพเจ้าหมั่นประกอบวิเวก เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
ตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๘๘] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ปลูกต้นโพธิ์ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปลูกต้นโพธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๘๙] ในกัปที่ ๗๔ นับจากกัปนี้ไป
ในครั้งนั้น ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปรากฏพระนามว่าทัณฑเสน
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๙๐] ในกัปที่ ๗๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ๗ ชาติ
มีพระนามว่าสมันตเนมิ
[๙๑] ในกัปที่ ๒๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าปุณณกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอสนโพธิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อสนโพธิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
วีชนีวรรคที่ ๖ จบบริบูรณ์
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วิธูปนทายกเถราปทาน ๒. สตรังสิยเถราปทาน
๓. สยนทายกเถราปทาน ๔. คันโธทกทายกเถราปทาน
๕. โอปวุยหเถราปทาน ๖. สปริวาราสนเถราปทาน
๗. ปัญจทีปกเถราปทาน ๘. ธชทายกเถราปทาน
๙. ปทุมเถราปทาน ๑๐. อาสนโพธิยเถราปทาน

และมีคาถา ๙๒ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๑. สกจิตตนิยเถราปทาน
๗. สกจิตตนิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระสกจิตตนิยะเป็นต้น
๑. สกจิตตนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสกจิตตนิยเถระ
(พระสกจิตตนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้เห็นป่าใหญ่ดงทึบ
สงัดเงียบปราศจากอันตราย
เป็นที่อยู่ของพวกฤๅษี ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๒] ข้าพเจ้าจึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นสถูปแล้ว
โปรยดอกไม้ต่าง ๆ ลง
ได้ไหว้พระสถูปที่ข้าพเจ้าสร้างแล้ว
เหมือนได้อภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์
[๓] ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชาสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
เป็นใหญ่ในแว่นแคว้น พอใจกรรมของตน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๕] ในกัปที่ ๘๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าอนันตยสะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๒. อาโปปุปผิยเถราปทาน
[๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสกจิตตนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สกจิตตนิยเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. อาโปปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอาโปปุปผิยเถระ
(พระอาโปปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี
เสด็จออกจากวิหาร แล้วเสด็จขึ้นที่จงกรม
เมื่อประกาศสัจจะ ๔ ทรงแสดงอมตบท
[๘] ข้าพเจ้ารู้พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระนามว่าสิขี ผู้คงที่แล้ว
จึงจับดอกไม้ต่าง ๆ โยนขึ้นไปในอากาศ
[๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลกรรมนั้น ข้าพระองค์ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว๑
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒
[๑๐] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้

เชิงอรรถ :
๑ ความชนะ ในที่นี้หมายถึงทิพยสมบัติและมนุษยสมบัติ (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๑๐๗)
ความแพ้ ในที่นี้หมายถึงทุกข์ในอบาย ๔ (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๑๐๗)
๒ ฐานะที่ไม่หวั่นไหว ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๓. ปัจจาคมนิยเถราปทาน
[๑๑] ในกัปที่ ๒๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุเมธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอาโปปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อาโปปุปผิยเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. ปัจจาคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจจาคมนิยเถระ
(พระปัจจาคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนกจักรพาก อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสินธุ
ข้าพเจ้ากินสาหร่ายล้วน ๆ
และระมัดระวังอย่างดีในกรรมชั่วทั้งหลาย
[๑๔] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เสด็จไปในอากาศ จึงคาบดอกสาละ
บูชาพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
[๑๕] ผู้มีศรัทธาตั้งมั่นด้วยดีไม่หวั่นไหวไว้ในพระตถาคต
จะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๑๖] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
ข้าพเจ้าเป็นนกได้ปลูกพืช(กุศล)ที่ดีไว้แล้ว
[๑๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๔. ปรัปปสาทกเถราปทาน
[๑๘] ในกัปที่ ๑๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
พระนามว่าสุจารุทัสสนะ มีพลานุภาพมาก
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัจจาคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัจจาคมนิยเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. ปรัปปสาทกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปรัปปสาทกเถระ
(พระปรัปปสาทกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้องอาจ ประเสริฐที่สุด
มีความเพียร แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงชนะวิเศษ
มีพระฉวีวรรณดังทอง ใครเล่าเห็นแล้ว จะไม่เลื่อมใส
[๒๑] พระพุทธเจ้า ทรงมีพระคุณหาผู้เปรียบมิได้
เปรียบดังภูเขาหิมพานต์ (และ) เปรียบดังสาครที่ข้ามได้ยาก
ฌานของพระพุทธเจ้า ก็ฉันนั้น
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[๒๒] แผ่นดินที่หาประมาณมิได้
มาลัยประดับศีรษะอย่างวิจิตรฉันใด
ศีลของพระพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[๒๓] ลมที่ใคร ๆ ทำให้ปั่นป่วนไม่ได้
อากาศที่ใคร ๆ นับไม่ได้ ฉันใด
พระญาณของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๕. ภิสทายกเถราปทาน
[๒๔] พราหมณ์ชื่อว่าโสณะ ได้สรรเสริญพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด พระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ ด้วย ๔ คาถาเหล่านี้
[๒๕] ข้าพเจ้าไม่ไปเกิดยังทุคติ ๙๔ กัป
ได้เสวยสมบัติที่ดีงามมิใช่น้อย ในสุคติทั้งหลาย
[๒๖] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ
[๒๗] ในกัปที่ ๑๔ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ ผู้สูงศักดิ์
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปรัปปสาทกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปรัปปสาทกเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. ภิสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภิสทายกเถระ
(พระภิสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๙] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู
เป็นองค์ที่ ๓ แห่งพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระองค์เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ เสด็จเข้าป่าดงทึบ แล้วประทับอยู่
[๓๐] ข้าพเจ้าได้ถือเหง้าบัวและรากบัวไปในสำนักของพระพุทธเจ้า
ข้าพเจ้าเลื่อมใสแล้วได้ถวายเหง้าบัวและรากบัวนั้น
แด่พระพุทธเจ้า ด้วยมือของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๖. สุจินติตเถราปทาน
[๓๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู ผู้มีปัญญาประเสริฐ
ทรงแตะเหง้าบัวและรากบัวด้วยพระหัตถ์
ข้าพเจ้าไม่รู้จักความสุขที่เสมอด้วยความสุขนั้น
และความสุขที่ยิ่งไปกว่าความสุขนั้น แต่ที่ไหนเลย
[๓๒] อัตภาพสุดท้ายของข้าพเจ้ากำลังเป็นไปอยู่
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๓] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเหง้าบัวและรากบัว
[๓๔] ในกัปที่ ๑๓ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ มีพลานุภาพมาก
[๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภิสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภิสทายกเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. สุจินติตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุจินติตเถระ
(พระสุจินติตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๖] ข้าพเจ้าเป็นนายพรานผู้ท่องเที่ยวอยู่ที่ซอกภูเขา
ดุจพญาไกรสรมีชาติสูง
ฆ่าหมู่เนื้อเลี้ยงชีวิตอยู่ในระหว่างภูเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๖. สุจินติตเถราปทาน
[๓๗] ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ทรงเป็นสัพพัญญู ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า จึงเสด็จมายังภูเขาที่อุดม
[๓๘] ข้าพเจ้าฆ่าเนื้อฟานแล้วนำมากิน
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จภิกขาจารใกล้เข้ามา
[๓๙] ข้าพเจ้าได้เลือกหยิบเนื้ออย่างดีถวายพระศาสดาพระองค์นั้น
ในครั้งนั้น พระมหาวีรเจ้าทรงอนุโมทนาช่วยทำให้ข้าพเจ้าสงบเย็น
[๔๐] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปในซอกเขา
ยังปีติให้เกิดขึ้นแล้ว ได้สิ้นชีวิต ณ ที่นั้น
[๔๑] ด้วยการถวายเนื้อนั้นและด้วยการตั้งจิตไว้มั่น
ข้าพเจ้าได้รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ๑๑๕ กัป
[๔๒] ในกัปทั้งหลายที่เหลือ
ข้าพเจ้าทำกุศลไว้ ด้วยการถวายเนื้อนั่นเอง
และด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า
[๔๓] ในกัปที่ ๓๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ มีพระนามว่าทีฆายุ
ในกัปที่ ๑๖๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒ ชาติ มีพระนามว่าสรณะ
[๔๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุจินติตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุจินติตเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๗. วัตถทายกเถราปทาน
๗. วัตถทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวัตถทายกเถระ
(พระวัตถทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นพญาครุฑชาติปักษี มีปีกงาม
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เสด็จไปยังภูเขาคันธมาทน์
[๔๖] ข้าพเจ้าละเพศครุฑแล้ว แปลงร่างเป็นมาณพ
ถวายผ้าผืนหนึ่งแด่พระพุทธเจ้า
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๔๗] พระพุทธเจ้าผู้ศาสดาทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงรับผ้าผืนนั้นแล้ว ประทับยืนอยู่ในอากาศ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๔๘] ด้วยการถวายผ้านี้และด้วยการตั้งจิตไว้มั่น
ผู้นี้ละกำเนิดครุฑแล้ว จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก
[๔๙] ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงสรรเสริญการถวายผ้าเป็นทานแล้ว
บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศเหนือ
[๕๐] ในภพที่ข้าพเจ้าเกิด ข้าพเจ้ามีผ้าสมบูรณ์
ผ้าเป็นหลังคาอยู่ในอากาศ
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า
[๕๑] ในกัปที่ ๓๖ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ พระนามว่าอรุณสะ
มีพลานุภาพมาก เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๘. อัมพทายกเถราปทาน
[๕๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวัตถทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วัตถทายกเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. อัมพทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัมพทายกเถระ
(พระอัมพทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๓] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้ไม่มีอุปธิ ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
ได้ทรงแผ่เมตตาไปในสัตว์โลกหาประมาณมิได้
[๕๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นวานร อยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ที่สูงสุด
ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้มีพระคุณอันยิ่งไม่ต่ำทราม
จึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
[๕๕] เวลานั้น ต้นมะม่วงกำลังเผล็ดผล
มีอยู่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าได้ไปเก็บผลมะม่วงสุกจากต้นมะม่วงนั้นมาถวายพร้อมน้ำผึ้ง
[๕๖] พระพุทธเจ้าผู้มหามุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
ทรงพยากรณ์การถวายนั้นของข้าพเจ้าว่า
ด้วยการถวายน้ำผึ้งและน้ำมะม่วงทั้ง ๒ นี้
[๕๗] ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ๕๗ กัป
ในกัปทั้งหลายที่เหลือ จักเวียนว่ายตายเกิดสลับกันไป
[๕๘] เมื่อความเจริญเต็มที่แล้ว เขาทำบาปกรรมให้สิ้นไปแล้ว
จักไม่ไปตกวินิบาตนรก เผากิเลสให้มอดไหม้ไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๙. สุมนเถราปทาน
[๕๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงฝึกแล้ว
ด้วยการฝึกอย่างสูงสุด ข้าพเจ้าผู้ละความชนะ๑
และความแพ้ได้แล้ว๒บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว
[๖๐] ในกัปที่ ๑๗๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๔ ชาติ
มีพระนามว่าอัมพัฏฐชัย มีพลานุภาพมาก
[๖๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัมพทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัมพทายกเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. สุมนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมนเถระ
(พระสุมนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างดอกไม้ มีนามว่าสุมนะ
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้สมควรรับเครื่องบูชาของชาวโลก
[๖๓] จึงใช้มือทั้ง ๒ ประคองดอกมะลิชั้นดี
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๖๔] ด้วยการบูชาด้วยดอกไม้นี้
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๑๐. ปุปผจังโกฏิยเถราปทาน
ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๖๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๖๖] ในกัปที่ ๒๖ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มียศยิ่งใหญ่สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุมนเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. ปุปผจังโกฏิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุปผจังโกฏิยเถระ
(พระปุปผจังโกฏิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๘] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้ประเสริฐ
ทรงเป็นดุจราชสีห์ ตัวไม่ครั่นคร้าม
ดุจพญาครุฑเลิศกว่านกทั้งหลาย
ดุจพญาเสือโคร่งตัวองอาจ ดุจพญาไกรสรมีชาติสูง
[๖๙] พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของทั้ง ๓ โลก ไม่ทรงหวั่นไหว
ไม่ทรงพ่ายแพ้เลิศกว่าบรรดาสมณะ
ประทับนั่งมีหมู่ภิกษุห้อมล้อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๑๐. ปุปผจังโกฏิยเถราปทาน
[๗๐] ข้าพระองค์นำดอกอังกาบชั้นดีใส่ไว้ในผอบ
ได้บูชาพระพุทธเจ้าประเสริฐที่สุดด้วยทั้งผอบใหญ่นั่นเอง
[๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ทรงองอาจกว่านรชน
ข้าพระองค์ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว๑
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๗๒] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗๓] ในกัปที่ ๓๐ ถ้วน (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ
มีพระนามว่าเทวภูติ สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุปผจังโกฏิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุปผจังโกฏิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สกจิตตนิยวรรคที่ ๗ จบบริบูรณ์

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สกจิตตนิยเถราปทาน ๒. อาโปปุปผิยเถราปทาน
๓. ปัจจาคมนิยเถราปทาน ๔. ปรัปปสาทกเถราปทาน
๕. ภิสทายกเถราปทาน ๖. สุจินติตเถราปทาน
๗. วัตถทายกเถราปทาน ๘. อัมพทายกเถราปทาน
๙. สุมนเถราปทาน ๑๐. ปุปผจังโกฏิยเถราปทาน

คาถาอันแสดงอรรถที่ท่านกล่าวไว้แล้วนับได้ ๗๑ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑. นาคสมาลเถราปทาน
๘. นาคสมาลวรรค
หมวดว่าด้วยพระนาคสมาละเป็นต้น
๑. นาคสมาลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนาคสมาลเถระ
(พระนาคสมาลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าเก็บดอกแคฝอยไปบูชาที่พระสถูป
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
ซึ่งมหาชนสร้างไว้ที่หนทางใหญ่ โดยเอื้อเฟื้อ
[๒] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป
[๓] ในกัปที่ ๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าปุปผิยะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนาคสมาลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นาคสมาลเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๓. สุสัญญกเถราปทาน
๒. ปทสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทสัญญกเถระ
(พระปทสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] ข้าพเจ้าได้เห็นรอยพระบาทที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงประทับไว้แล้ว
จึงเป็นผู้มีจิตร่าเริงเบิกบาน ทำจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาท
[๖] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำในรอยพระบาทในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในรอยพระบาท
[๗] ในกัปที่ ๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุเมธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทสัญญกเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. สุสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุสัญญกเถระ
(พระสุสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙] ข้าพเจ้าได้เห็นผ้าบังสุกุลจีวรของพระศาสดา
แขวนอยู่บนยอดไม้ จึงได้ประนมมือไปทางนั้น
ไหว้ผ้าบังสุกุลจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๔. ภิสาลุวทายกเถราปทาน
[๑๐] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในผ้าบังสุกุลจีวร
[๑๑] ในกัปที่ ๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์จักรพรรดิพระนามว่าทุมหระ
ทรงเป็นใหญ่ มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔ มีพลานุภาพมาก
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุสัญญกเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. ภิสาลุวทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภิสาลุวทายกเถระ
(พระภิสาลุวทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ข้าพเจ้าเข้าไปยังป่าใหญ่ดงทึบ อยู่ในป่า
ได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๑๔] ข้าพเจ้าจึงได้ถวายเหง้าบัว หัวมัน
และน้ำสำหรับล้างพระหัตถ์
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าแล้ว
บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๑๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเหง้าบัวและหัวมันไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๕. เอกสัญญกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๖] และในกัปที่ ๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าภิสสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภิสาลุวทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภิสาลุวทายกเถราปทานที่ ๔ จบ
ภาณวาร ที่ ๖ จบ
๕. เอกสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกสัญญกเถระ
(พระเอกสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘] ได้มีอัครสาวกนามว่าขัณฑะ ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ผู้สมควรรับเครื่องบูชาของชาวโลก
ข้าพเจ้าถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแก่ท่าน
[๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้องอาจกว่านรชน ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง
[๒๐] ในกัปที่ ๔๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าวรุณ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๖. ติณสันถารทายกเถราปทาน
[๒๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกสัญญกเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. ติณสันถารทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติณสันถารทายกเถระ
(พระติณสันถารทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีสระธรรมชาติสระใหญ่อยู่สระหนึ่ง
ดารดาษไปด้วยดอกบัวสตบงกช
เป็นที่อาศัยของนกต่าง ๆ
[๒๓] ข้าพเจ้าอาบและดื่มน้ำในสระนั้นแล้ว พักอยู่ไม่ไกล
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสมณะ เสด็จเหาะไปในอากาศ
[๒๔] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว เสด็จลงจากอากาศ
ประทับยืนอยู่บนแผ่นดินในขณะนั้น
[๒๕] ข้าพเจ้าได้ใช้เคียวเกี่ยวหญ้ามาถวายทำเป็นที่ประทับนั่ง
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นใหญ่ในโลกทั้ง ๓
ทรงเป็นผู้นำ ได้ประทับนั่ง ณ ที่นั้น
[๒๖] ข้าพเจ้าทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ได้กราบไหว้พระองค์ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ย่อลงนั่งกระโหย่งเพ่งดูพระมหามุนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๗. สูจิทายกเถราปทาน
[๒๗] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเครื่องลาดหญ้า
[๒๘] ในกัปที่ ๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่ามิตตสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติณสันถารทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติณสันถารทายกเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. สูจิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสูจิทายกเถระ
(พระสูจิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พระนามว่าสุเมธะ ตามพระโคตร
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
[๓๑] ข้าพเจ้าได้ถวายเข็ม ๕ เล่ม เพื่อประโยชน์แก่การเย็บจีวร
แด่พระองค์ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๘. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
[๓๒] ด้วยการถวายเข็มนั้นนั่นแล
ญาณเป็นเครื่องเห็นแจ้งอรรถที่ละเอียดคมกล้า
เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ารวดเร็วและโดยง่าย
[๓๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้ายอยู่
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๓๔] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
พระนามว่าทิปทาธิบดี
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสูจิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สูจิทายกเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปาฏลิปุปผิยเถระ
(พระปาฏลิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้เช่นกับทองคำมีค่า มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
ซึ่งกำลังเสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
[๓๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรเศรษฐีสุขุมาลชาติ
ดำรงอยู่ในความสุข ได้นำดอกแคฝอยที่ห่อใส่พก
ออกบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๙. ฐิตัญชลิยเถราปทาน
[๓๘] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบาน บูชาพระองค์ด้วยดอกไม้
นอบน้อมพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้รู้แจ้งโลก
ทรงเป็นที่พึ่ง เป็นเทพของนรชน
[๓๙] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๔๐] ในกัปที่ ๖๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าอภิสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปาฏลิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปาฏลิปุปผิยเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. ฐิตัญชลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระฐิตัญชลิยเถระ
(พระฐิตัญชลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๒] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้ออยู่ในป่าดงทึบ
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ ในป่านั้น
[๔๓] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้ากระทำอัญชลีแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ประทับนั่งอยู่บนเครื่องลาดใบไม้ประจำ ในที่ไม่ไกล
แล้วบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศตะวันออก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
[๔๔] ลำดับนั้น อสนีบาตได้ตกลงบนกระหม่อมของข้าพเจ้า
ในครั้งนั้น เวลาใกล้ตาย ข้าพเจ้านั้นได้กระทำอัญชลีอีกครั้งหนึ่ง
[๔๕] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้กระทำอัญชลีไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกระทำอัญชลี
[๔๖] ในกัปที่ ๕๔ (นัปจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่ามิคเกตุ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระฐิตัญชลียเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ฐิตัญชลิยเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติปทุมิยเถระ
(พระติปทุมิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง๑ ทรงฝึกพระองค์แล้ว
มีสาวกผู้ฝึกตนแวดล้อมแล้ว เสด็จออกจากนคร
[๔๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นช่างดอกไม้ อยู่ในกรุงหงสวดี
ได้ถือดอกปทุม ๓ ดอก ซึ่งเป็นดอกไม้ชั้นดีเยี่ยมในกรุงนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (ขุ.อป.อ. ๒/๔๘/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
[๕๐] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
กำลังเสด็จสวนทางมาในระหว่างร้านตลาด
พร้อมกับการได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงคิดอย่างนี้ในเวลานั้นว่า
[๕๑] ประโยชน์อะไรของเรากับดอกไม้เหล่านี้
ที่เราใช้บำรุงพระราชา
เราพึงได้บ้าน คามเขต หรือทรัพย์พันหนึ่งเท่านั้น
[๕๒] เราบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ฝึกคนที่มิได้ฝึกตน
ผู้มีความเพียร ทรงนำสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งปวง
ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกแล้ว จักได้ทรัพย์อันเป็นอมตะ
[๕๓] ข้าพเจ้าครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
จับดอกบัวแดง ๓ ดอกโยนขึ้นไปในอากาศ ในครั้งนั้น
[๕๔] พอข้าพเจ้าโยนขึ้นไป
ดอกบัวแดงเหล่านั้นก็แผ่(ขยายกลีบ)อยู่ในอากาศ
ขั้วชี้ขึ้นข้างบน ดอกย้อยลงข้างล่าง
กั้นอยู่เหนือพระเศียรในอากาศ
[๕๕] หมู่มนุษย์ที่เห็นแล้วพากันโห่ร้องเกรียวกราว
ทั้งเทวดาในอากาศก็พากันแซ่ซ้องสาธุการว่า
[๕๖] ความอัศจรรย์เกิดขึ้นแล้วในโลก
เพราะอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เราทั้งหมดจักฟังธรรม อานุภาพแห่งดอกไม้
[๕๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับยืนอยู่ที่ถนนนั่นเอง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๕๘] เราจักพยากรณ์มาณพผู้ที่ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกบัวแดง
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
[๕๙] มาณพนั้น จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
และจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๐ ชาติ
[๖๐] ครั้งนั้น จักมีวิมานชื่อมหาวิตถาริกะ
สูง ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๕๐ โยชน์
[๖๑] ป้อม ๔๐๐,๐๐๐ ป้อม ประกอบด้วยเรือนยอดชั้นดี
ประดับด้วยที่นอนใหญ่ ที่บุญกรรมสร้างไว้ดีแล้ว
[๖๒] นางเทพอัปสร ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ฉลาดในการฟ้อนรำ การขับร้อง
และชำนาญในการประโคม จักแวดล้อมเขา
[๖๓] ครั้งนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์สีแดง จักตกลงในวิมานที่ประเสริฐ
ซึ่งคับคั่งด้วยหมู่เทพนารี เช่นนั้น
[๖๔] ดอกบัวแดงโตประมาณเท่าล้อ จักแขวนอยู่
ที่ตะปูฝา ที่ไม้ฟันนาค ที่บานประตู
และที่เสาระเนียด ในครั้งนั้น
[๖๕] นางเทพอัปสรทั้งหลายใช้กลีบบัวปูลาดวิมานนี้แล้ว
จักนุ่งห่มกลีบบัว
นอนกลิ้งเกลือกอยู่ภายในวิมานที่ประเสริฐซึ่งลาดด้วยกลีบบัว
[๖๖] ดอกบัวแดงล้วนเหล่านั้น แวดล้อมวิมาน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ฟุ้งไป
ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
[๖๗] มาณพนี้ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๖๘] เขาได้เสวยสมบัติทั้ง ๒ แล้ว มีความสวัสดี ไม่มีอุปัทวะ
เมื่อภพสุดท้ายมาถึงแล้วจักบรรลุนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
[๖๙] พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้เห็นดีแล้วหนอ
พาณิชยกรรม ข้าพเจ้าก็ประกอบแล้ว
ข้าพเจ้าใช้ดอกบัว ๓ ดอกบูชาแล้ว ได้เสวยสมบัติ ๓ ประการ
[๗๐] ดอกบัวแดงบานงดงาม จักกั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า
ผู้ได้บรรลุธรรมแล้ว หลุดพ้นแล้วโดยประการทั้งปวง ในวันนี้
[๗๑] เมื่อพระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงแสดงผลกรรมของข้าพเจ้า
เหล่าสัตว์หลายร้อย หลายพันได้บรรลุธรรมแล้ว
[๗๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกบัว ๓ ดอก
[๗๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติปทุมิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติปทุมิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
นาคสมาลวรรคที่ ๘ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นาคสมาลเถราปทาน ๒. ปทสัญญกเถราปทาน
๓. สุสัญญกเถราปทาน ๔. ภิสาลุวทายกเถราปทาน
๕. เอกสัญญกเถราปทาน ๖. ติณสันถารทายกเถราปทาน
๗. สูจิทายกเถราปทาน ๘. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
๙. ฐิตัญชลิยเถราปทาน ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน

และมีคาถา ๗๕ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๑. ติมิรปุปผิยเถราปทาน
๙. ติมิรปุปผิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระติมิรปุปผิยะเป็นต้น
๑. ติมิรปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติมิรปุปผิยเถระ
(พระติมิรปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าเที่ยวไปตามกระแสน้ำ ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ได้เห็นพระสมณะ ผู้ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ประทับนั่งอยู่
[๒] ข้าพเจ้าจึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระสมณะนั้นแล้ว
จึงได้คิดอย่างนี้ในครั้งนั้นว่า พระผู้มีพระภาคนี้
ทรงข้ามเองแล้ว จักช่วยสรรพสัตว์ให้ข้าม(วัฏสงสาร)
ทรงฝึกตนเองแล้ว จักทรงฝึกสรรพสัตว์
[๓] ทรงเบาพระทัยเองแล้ว จักทรงช่วยสรรพสัตว์ให้เบาใจ
ทรงสงบเองแล้ว จักทรงช่วยสรรพสัตว์ให้สงบ
ทรงพ้นเองแล้ว จักทรงช่วยสรรพสัตว์ให้พ้น
ทรงสงบเย็นเองแล้ว จักทรงช่วยสรรพสัตว์ให้สงบเย็น
[๔] ข้าพเจ้าครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ได้ถือดอกดีหมี
มาโปรยเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระนามว่าสิทธัตถะ ในครั้งนั้น
[๕] ข้าพเจ้าประคองอัญชลีและทำประทักษิณพระองค์
กราบพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้ว จึงหลีกไปยังทิศอื่น
[๖] พญาเนื้อได้เบียดเบียนข้าพเจ้า ผู้พอไปแล้วไม่นาน
ข้าพเจ้าเดินไปตามริมเหว ได้ตกลงไป(ตาย)ในเหวนั้นนั่นเอง
[๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๒. คตสัญญกเถราปทาน
[๘] ในกัปที่ ๕๖ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ พระนามว่ามหายสะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติมิรปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติมิรปุปผิยเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. คตสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคตสัญญกเถระ
(พระคตสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] ข้าพเจ้ามีอายุไว้ ๗ ขวบ ก็ได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
มีจิตผ่องใส ได้กราบพระยุคลบาทของพระศาสดา
[๑๑] ข้าพเจ้าได้โยนดอกดิน๑ ๗ ดอกไปในอากาศ
อุทิศเฉพาะพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ผู้ทรงพระคุณหาที่สุดมิได้ดังสาคร
[๑๒] ข้าพเจ้ามีใจร่าเริง เลื่อมใสแล้ว
บูชาหนทางที่พระสุคตเสด็จดำเนินไป
ได้ประนมมือทั้ง ๒ ของตนไหว้พระสุคต
[๑๓] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ดอกดิน หมายถึงดอกไม้ที่เกิดในพื้นที่นา (ขุ.อป.อ. ๒/๑๐/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๓. นิปันนัญชลิกเถราปทาน
[๑๔] ในกัปที่ ๘ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ พระนามว่าอัคคิสิขะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคตสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คตสัญญกเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. นิปันนัญชลิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนิปันนัญชลิกเถระ
(พระนิปันนัญชลิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖] ข้าพเจ้าเป็นไข้หนัก นั่งพักอยู่ที่โคนต้นไม้
ถึงอาการน่าสงสารอย่างยิ่ง อยู่ในป่าใหญ่ดงทึบ
[๑๗] พระศาสดาพระนามว่าติสสะ ทรงอาศัยความอนุเคราะห์
จึงเสด็จมาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั้นนอนอยู่
ได้ประนมมือไว้เหนือเศียรเกล้า
[๑๘] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดแห่งสรรพสัตว์
แล้วได้สิ้นชีวิตในที่นั้น
[๑๙] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้กราบไหว้พระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุรุษผู้สูงสุด
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกราบไหว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๔. อโธปุปผิยเถราปทาน
[๒๐] ในกัปที่ ๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ พระนามว่ามหาสิขะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนิปันนัญชลิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นิปันนัญชลิกเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. อโธปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอโธปุปผิยเถระ
(พระอโธปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒] ภิกษุชื่ออภิภูนั้น ได้วิชชา ๓ มีอานุภาพมาก
เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
เข้าไปยังภูเขาหิมพานต์
[๒๓] ครั้งนั้น แม้ข้าพเจ้าก็บวชเป็นฤๅษี
เป็นผู้ชำนาญในอัปปมัญญาและฤทธิ์
อาศัยอยู่ในอาศรมที่น่ารื่นรมย์ ใกล้ภูเขาหิมพานต์
[๒๔] ข้าพเจ้าปรารถนาภูเขาอย่างยิ่ง
เปรียบเหมือนนกในอากาศปรารถนาอากาศฉะนั้น
ข้าพเจ้าเก็บดอกไม้ที่เชิงภูเขาแล้วจึงมายังภูเขา
[๒๕] ข้าพเจ้าหยิบดอกไม้ ๗ ดอก
มาโปรยลงเหนือศีรษะ(ของพระเถระ)
ผู้อันพระภิกษุผู้มีความแกล้วกล้าแลดู
ก็บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศตะวันออก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๕. รังสิสัญญกเถราปทาน
[๒๖] ข้าพเจ้าถึงอาศรมแล้ว จัดแจงที่อยู่
คอนสาแหรกบริขาร เดินไปตามระหว่างภูเขา
[๒๗] งูเหลือมเป็นสัตว์ร้ายกาจ มีกำลังมาก ได้รัดข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าระลึกถึงบุพกรรม แล้วได้สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง
[๒๘] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอโธปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อโธปุปผิยเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. รังสิสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรังสิสัญญกเถระ
(พระรังสิสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
นุ่งห่มหนังสัตว์อยู่ในซอกภูเขา
[๓๑] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
มีพระรัศมีรุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์ เสด็จเข้าแนวป่า
งดงามเหมือนต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๖. ทุติยรังสิสัญญกเถราปทาน
[๓๒] ข้าพเจ้าจึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัศมี
ของพระวิปัสสีพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีเหนือศีรษะไหว้แล้ว
[๓๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในรัศมี
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรังสิสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รังสิสัญญกเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. ทุติยรังสิสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระทุติยรังสิสัญญกเถระ
(พระทุติยรังสิสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ข้าพเจ้านุ่งผ้าเปลือกไม้ อาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ขึ้นสู่ที่จงกรมแล้ว นั่งผินหน้าไปทางทิศตะวันออก
[๓๖] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสุคตพระนามว่าผุสสะ
ผู้ยินดีในฌานทุกเมื่อ บนภูเขา
จึงประนมมือแล้วทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัศมี
[๓๗] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในรัศมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๗. ผลทายกเถราปทาน
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระทุติยรังสิสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ทุติยรังสิสัญญกเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. ผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผลทายกเถระ
(พระผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] ข้าพเจ้านุ่งห่มหนังสัตว์ขรุขระ อาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ได้เห็นพระชินเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่าผุสสะ
จึงได้ถือผลไม้ไปถวาย
[๔๐] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ได้ถวายผลไม้ใดไว้
ผลไม้นั้นก็บังเกิดแก่ข้าพเจ้า ในภพที่ข้าพเจ้าบังเกิดแล้ว
[๔๑] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๙. โพธิสิญจกเถราปทาน
๘. สัททสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัททสัญญกเถระ
(พระสัททสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] ข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่ลาดด้วยใบไม้ ที่ภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าผุสสะ ซึ่งกำลังตรัสธรรมอยู่
[๔๔] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๔๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัททสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัททสัญญกเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. โพธิสิญจกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโพธิสิญจกเถระ
(พระโพธิสิญจกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๖] ได้มีการฉลองต้นมหาโพธิ์
แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชอยู่ จึงเข้าไปใกล้ ๆ
[๔๗] ข้าพเจ้าได้ถือดอกโกสุมและน้ำไปโปรยและรดที่ต้นโพธิ์
ด้วยกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงหลุดพ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๕ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น