Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๓-๑ หน้า ๑ - ๖๕

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๕ ขุททกนิกาย
อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ จริยาปิฎก



พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๑. ภัททาลิเถราปทาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๔๒. ภัททาลิวรรค
หมวดว่าด้วยพระภัททาลิเป็นต้น
๑. ภัททาลิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภัททาลิเถระ
(พระภัททาลิเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้เลิศ
ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา ทรงเป็นผู้เลิศในโลก
ทรงเป็นมุนี เมื่อประสงค์วิเวก๑
จึงได้เสด็จไปยังภูเขาหิมพานต์
[๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงองอาจกว่าบุรุษ
ครั้นเสด็จไปยังภูเขาหิมพานต์แล้ว ได้ประทับนั่งขัดสมาธิ
[๓] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก

เชิงอรรถ :
๑ วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(ความสงัดกาย)และจิตตวิเวก(ความสงัดจิต) (ขุ.อป.อ. ๒/๔๓/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๑. ภัททาลิเถราปทาน
ผู้เป็นบุรุษสูงสุด๑ พระองค์นั้น
ประทับนั่งเข้าสมาบัติตลอด ๗ วัน ๗ คืน
[๔] ข้าพเจ้าคอนหาบเข้าไปถึงกลางป่า
ณ ที่นั้นได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้ข้ามโอฆะ๒ ได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้หยิบไม้กวาดมากวาดอาศรม
ปักไม้เป็น ๔ เส้า ทำเป็นมณฑป
[๖] ข้าพเจ้าเก็บดอกสาละมามุงเป็นหลังคามณฑป
เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ไหว้พระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว
[๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ที่ชนทั้งหลายสรรเสริญกันว่า
มีพระปัญญาดังแผ่นดิน มีพระปัญญาดี
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ กำลังจะตรัสพระคาถาเหล่านี้
[๘] เทวดาทั้งปวงทราบว่า พระพุทธเจ้าจะทรงเปล่งวาจา
จึงพากันมาประชุมด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ผู้มีพระจักษุ จะทรงแสดงธรรมโดยแน่แท้
[๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่เทวดา
ได้ตรัสพระคาถาดังต่อไปนี้ว่า
[๑๐] เราจักพยากรณ์ผู้ตั้งมณฑป
มีดอกสาละเป็นเครื่องมุงสำหรับเราตลอด ๗ วัน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ผู้เป็นบุรุษสูงสุด หมายถึงผู้สูงกว่ามนุษย์ด้วยคุณธรรม (ขุ.อป.อ. ๒/๑๒๙/๓๕)
๒ โอฆะ หมายถึงกิเลสท่วมทับใจสัตว์มี ๔ คือ (๑) กาโมฆะ โอฆะคือกาม (๒) ภโวฆะ โอฆะคือภพ
(๓) ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ (๔) อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๕/๑๐๐, ที.ปา. (แปล)
๑๑/๓๑๒/๒๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๑. ภัททาลิเถราปทาน
[๑๑] ผู้นี้จักเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
จักเป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ
จักเสวยกามสุข มีโภคะล้นเหลือ
[๑๒] ช้างมาตังคะ ๖๐,๐๐๐ เชือก
ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
รัดประโคนพานหน้าและพานหลังที่ทำด้วยทอง
ประกอบด้วยเครื่องประดับศีรษะและข่ายทอง
[๑๓] มีนายควาญช้างผู้ถือหอกซัดและขอขึ้นขี่บังคับประจำ
จักมาสู่ที่บำรุงของผู้นี้ ทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น
ผู้นี้จักเป็นผู้ที่ช้างเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว รื่นรมย์อยู่
[๑๔] ม้าสินธพชาติอาชาไนย ๖๐,๐๐๐ ตัว
ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง เป็นพาหนะที่มีฝีเท้าเร็ว
[๑๕] มีทหารม้าผู้เหน็บมีดสั้น ถือธนูขึ้นขี่บังคับประจำ
จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๖] รถ ๖๐,๐๐๐ คัน ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
หุ้มหนังเสือเหลืองบ้าง หนังเสือโคร่งบ้าง มีธงปักหน้ารถ
[๑๗] มีพลขับถือธนูสวมเกราะประจำรถ
จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๘] หมู่บ้าน ๖๐,๐๐๐ หมู่ บริบูรณ์ด้วยเครื่องใช้ทุกอย่าง
มีทรัพย์และข้าวเปลือกล้นเหลือ บริบูรณ์ดีทุกประการ
จักปรากฏอยู่ทุกเมื่อ
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๙] กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ
และพลเดินเท้า จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๑. ภัททาลิเถราปทาน
[๒๐] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๑๘ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๒๑] และจักครองเทวสมบัติตลอด ๓๐๐ ชาติ
จักเป็นเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๒๒] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๓] ผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๔] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เห็นพระศาสดา ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
และได้แสวงหาอมตบท๑ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
[๒๕] การที่ข้าพเจ้ารู้ศาสนธรรมนี้
เป็นลาภที่ข้าพเจ้าได้ดีแล้ว
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าพระองค์ได้บรรลุอมตบทแล้ว
เพราะกล่าวสดุดีพระพุทธญาณ

เชิงอรรถ :
๑ อมตบท หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๖๗/๒๗๖, ขุ.อป.อ. ๒/๖๗/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๑. ภัททาลิเถราปทาน
[๒๗] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมเป็นผู้มีความสุขในที่ทุกสถาน
นี้เป็นผลที่ข้าพเจ้ากล่าวสดุดีพระพุทธญาณ
[๒๘] ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพัน๑ ได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๙] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๐] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓๒ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔๓ วิโมกข์ ๘๔
และอภิญญา ๖๕ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภัททาลิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภัททาลิเถราปทานที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องผูกพัน หมายถึงสังโยชน์ ๑๐ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒/๒๕๓)
๒ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๗๕, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๐๒/๒๔๓-๒๔๔
๓ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๒/๒๔๒-๒๔๓
๔ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๓๙/๓๕๐-๓๕๑
๕ อภิญญา ๖ หมายถึงญาณพิเศษมี ๖ คือ (๑) อิทธิวิธิ(แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ) (๒) ทิพพโสต(หูทิพย์)
(๓) เจโตปริยญาณ(ญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้) (๔) ปุพเพนิวาสญาณ(ญาณเป็นเครื่องระลึกชาติได้)
(๕) ทิพพจักขุญาณ(ญาณคือตาทิพย์เห็นสัตว์ที่กำลังจุติและอุบัติได้) (๖) อาสวักขยญาณ(ญาณคือการ
ทำลายกิเลสให้สิ้นไป) (ขุ.อป.อ. ๑/๓๒/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกฉัตติยเถระ
(พระเอกฉัตติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๒] ข้าพเจ้าได้สร้างอาศรม เกลื่อนกล่นด้วยทรายขาวสะอาด
ใกล้แม่น้ำจันทภาคา และได้สร้างบรรณศาลาไว้
[๓๓] แม่น้ำจันทภาคานั้น เป็นแม่น้ำสายเล็กที่มีฝั่งลาด
และมีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ มีปลาและเต่าชุกชุม
ทั้งยังเป็นที่อาศัยของจระเข้
[๓๔] หมี นกยูง เสือเหลือง นกการเวก และนกสาลิกา
ร่ำร้องระงมอยู่ทุกเวลา ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๕] นกดุเหว่ามีเสียงไพเราะ และหงส์มีเสียงเสนาะ
ก็ส่งเสียงร้องอยู่ใกล้อาศรมนั้น
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๖] ราชสีห์ เสือโคร่ง หมูป่า หมี หมาป่า และหมาใน
เที่ยวส่งเสียงคำรนอยู่ตามซอกเขา
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๗] เนื้อทราย กวาง สุนัขจิ้งจอก สุกร ก็มีมาก
ต่างส่งเสียงร้องอยู่ตามซอกเขา
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๘] ต้นราชพฤกษ์ ต้นจำปา ต้นแคฝอย
ต้นย่านทราย ต้นอุโลก๑ และต้นอโศก
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

เชิงอรรถ :
๑ ต้นอุโลก เป็นไม้ชนิดหนึ่ง เนื้อไม้สีขาว (ใช้ทำยาได้) เวลามีดอกส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ (ขุ.อิติ.อ.
๖๘๕/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
[๓๙] ต้นปรู ต้นคัดเค้า ต้นตีนเป็ด ต้นมะกล่ำหลวง
ต้นคนทีสอ และต้นกรรณิการ์
ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง อยู่ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๔๐] ต้นกากะทิง ต้นสาละ และต้นสน
รวมทั้งต้นมะม่วงป่า ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
งดงามอยู่ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๔๑] และที่ใกล้อาศรมนั้น มีต้นโพธิ์ ต้นประดู่
ต้นกระท้อน ต้นสาละ และต้นประยงค์
ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง งดงามอยู่ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๔๒] ต้นมะม่วง ต้นหว้า ต้นหมากหอมควาย
ต้นกระทุ่ม ต้นขานาง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๔๓] ต้นอโศก ต้นมะขวิด และต้นกุหลาบ
ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๔๔] ต้นกระทุ่ม ต้นกล้วย ถั่วเหลือง
และต้นมะกล่ำดำ ล้วนผลิผลอยู่เนืองนิตย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๔๕] ต้นสมอ ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง
ต้นหว้า ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า
ต้นมะตูม ก็ผลิผลอยู่ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๔๖] ในที่ไม่ไกลจากอาศรม มีสระโบกขรณี
ซึ่งมีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ
ดารดาษด้วยดอกบัวเผื่อน ดอกบัวหลวง และดอกบัวเขียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
[๔๗] ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม บางกอกำลังมีดอกบาน
บางกอก็มีกลีบและเกสร หลุดร่วง
อยู่ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๔๘] ปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย
ฝูงปลาเค้า และฝูงปลาตะเพียน ต่างว่ายวนอยู่ในน้ำใส
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๔๙] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี
และต้นลำเจียกซึ่งขึ้นอยู่ที่ริมฝั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๕๐] น้ำหวานไหลออกจากเหง้าบัว
นมสดและเนยใสไหลออกจากก้านบัว
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๕๑] ใกล้อาศรมนั้น มีเนินทรายที่สวยงามดาษดื่น
มีไม้ดอกที่อาศัยน้ำเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
ผลิดอกขาวบานสะพรั่ง
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๕๒] ฤๅษีทั้งหลายผู้สวมชฎาและเครื่องบริขาร
นุ่งห่มผ้าหนังสัตว์ ทรงผ้าเปลือกไม้
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๕๓] ฤๅษีทั้งหลายมีปกติทอดสายตาดูประมาณชั่วแอก
มีปัญญารักษาตน มีความประพฤติสงบ ไม่มีความยินดี
ไม่มีความกำหนัดในกาม อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๕๔] ฤๅษีทั้งหลายผู้มีขนรักแร้ เล็บ และมีขนงอกยาว
มีฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ คลุกฝุ่นและละออง
ล้วนอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
[๕๕] ฤๅษีเหล่านั้นล้วนเชี่ยวชาญอภิญญา
เหาะไปในท้องฟ้าได้ เมื่อเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๕๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อมอยู่ในป่าใหญ่
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความยินดีในฌาน
จนไม่รู้จักกลางคืนและกลางวัน
[๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้ทรงเป็นมหามุนี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จอุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนคือโมหะให้พินาศไป
[๕๘] ครั้งนั้น ศิษย์บางรูปประสงค์จะเล่าเรียนคัมภีร์ลักษณะ
อันมีองค์ ๖๑ ในคัมภีร์พระเวท๒ ได้มายังสำนักของข้าพเจ้า
[๕๙] พระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้ทรงเป็นมหามุนี
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เมื่อจะทรงประกาศสัจจะ ๔๓
จึงได้ทรงแสดงอมตบท๔

เชิงอรรถ :
๑ ลักษณะมีองค์ ๖ ในที่นี้หมายถึงมนตร์พรหมจินดามีองค์ ๖ คือ (๑) กัปปศาสตร์ (ว่าด้วยวิธีเกี่ยวกับ
การบูชายัญ) (๒) พยากรณ์ศาสตร์ (แสดงการแยกปกติ) (๓) นิรุตติศาสตร์ (แสดงศัพท์ เติมปัจจัย)
(๔) สิกขาศาสตร์ (แสดงฐานกรณ์และปตยนะของอักษร) (๕) ฉันโทวิจิติศาสตร์ (แสดงลักษณะของฉันท์)
(๖) โชติสัตถศาสตร์ (แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์) (ขุ.วิ.อ.
๙๙๖/๓๐๙)
ดูเทียบเวทางคศาสตร์ของพราหมณ์ มี ๖ อย่างคือ (๑) ศึกษา คือ วิธีออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง
(๒) ไวยากรณ์ (๓) ฉันท์ (๔) เชยติส คือดาราศาสตร์ (๕) นิรุกติ คือกำเนิดของคำ และ (๖) กัลปะคือ
วิธีจัดทำพิธี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๗๓)
๒ คัมภีร์พระเวท หมายถึงคัมภีร์ของพราหมณ์ คัมภีร์ที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤตของชาวฮินดู (ที.สี.อ.
๑/๒๕๖/๒๒๓)
๓ สัจจะ ๔ ได้แก่ (๑) ทุกข์ (๒) สมุทัย (๓) นิโรธ (๔) มรรค (ขุ.อป.อ. ๒/๗/๑๐๗)
๔ ดูเชิงอรรถหน้า ๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
[๖๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความยินดี ร่าเริงบันเทิงใจ
มุ่งหวังกองธรรมอันวิเศษ ออกจากอาศรมแล้วพูดดังนี้ว่า
[๖๑] พระพุทธเจ้าผู้ทรงลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก มาเถิด ท่านทั้งหลาย
เราทุกคนจักไปยังสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๒] ศิษย์เหล่านั้นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนบรรลุบารมีในพระสัทธรรม
แสวงหาประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม ต่างรับว่า สาธุ
[๖๓] ครั้งนั้น พวกเขาสวมชฎาและทรงบริขาร
นุ่งห่มผ้าหนังสัตว์
แสวงหาประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมได้ออกไปจากป่า

เชิงอรรถ :
๑ ลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ คือ (๑) มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน (๒) พื้นใต้พระบาททั้ง ๒ มีจักร
ปรากฏข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกงและดุม มีส่วนประกอบครบบริบูรณ์ทุกอย่าง (๓) ทรงมีส้นพระบาทยาว
(๔) มีองคุลียาว (๕) ทรงมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม (๖) ทรงมีลายดุจตาข่ายที่ฝ่าพระหัตถ์
และฝ่าพระบาท (๗) ทรงมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ (๘) ทรงมีพระชงฆ์เรียว ดุจแข้งเนื้อทราย (๙) เมื่อ
ประทับยืน ไม่ต้องทรงก้มก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุได้ด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒ (๑๐) ทรงมีพระคุยหฐานเร้น
อยู่ในฝัก (๑๑) ทรงมีพระฉวีวรรณงดงามดุจหุ้มด้วยทองคำ (๑๒) ทรงมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลี
ไม่เกาะติดพระวรกาย (๑๓) ทรงมีพระโลมชาติงอกเส้นเดียวในแต่ละขุม (๑๔) ทรงมีพระโลมชาติสีเข้ม
เหมือนดอกอัญชันขดเป็นลอนเวียนขวามีปลายตั้งขึ้น (๑๕) ทรงมีพระวรกายตรงดุจกายพรหม (๑๖) ทรง
มีพระมังสะพูนเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ หลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสะทั้ง ๒ และ
ลำพระศอ) (๑๗) ทรงมีส่วนพระวรกายบริบูรณ์ดุจกึ่งกายท่อนหน้าของพญาราชสีห์ (๑๘) ทรงมีพระ
ปฤษฎางค์เต็มเรียบเสมอกัน (๑๙) ทรงมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลต้นไทร พระวรกายสูง
เท่ากับวาของพระองค์ (๒๐) ทรงมีพระศอกลมงามเต็มเสมอ (๒๑) ทรงมีเส้นประสาทสำหรับรับรส
พระกระยาหารได้อย่างดี (๒๒) ทรงมีพระหนุดุจคางราชสีห์ (๒๓) ทรงมีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (๒๔) ทรง
มีพระทนต์เรียบเสมอกัน (๒๕) ทรงมีพระทนต์ไม่ห่างกัน (๒๖) ทรงมีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม (๒๗) ทรง
มีพระชิวหาใหญ่ (๒๘) ทรงมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหมตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก (๒๙) ทรงมีพระเนตร
ดำสนิท (๓๐) ทรงมีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด (๓๑) ทรงมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง
สีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น (๓๒) ทรงมีพระเศียรงดงามดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (ที.ปา. (แปล)
๑๑/๒๐๐/๑๕๙-๑๖๓, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๘๖/๔๗๔-๔๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
[๖๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
มีพระยศยิ่งใหญ่๑ เมื่อจะทรงประกาศสัจจะ ๔
จึงได้ทรงแสดงอมตบท
[๖๕] ข้าพเจ้ายืนถือเศวตฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ครั้นกั้นถวายตลอดวันหนึ่งแล้ว
ได้กราบไหว้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๖๖] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๗] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีจิตเลื่อมใส
ซึ่งได้กั้นเศวตฉัตรให้เราด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๘] เมื่อผู้นี้เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ประชาชนจักคอยกั้นฉัตรให้ทุกเมื่อ
นี้เป็นผลแห่งการกั้นฉัตรถวาย
[๖๙] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๗๗ กัป
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๗๐] และจักครองเทวสมบัติตลอด ๗๗ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๗๑] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดมศากยะ ผู้ประเสริฐ
ผู้มีพระจักษุ จักเสด็จอุบัติขึ้น
กำจัดความมืดมนให้พินาศไป

เชิงอรรถ :
๑ มีพระยศใหญ่ หมายถึงมียศแผ่ไปในโลก ๓ คือ มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก (ขุ.อป.อ. ๑/๖๑๔/๓๖๔,
ขุ.อป.อ. ๒/๓๕๑/๓๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
[๗๒] ผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๗๓] นับแต่กาลที่ข้าพเจ้าได้ทำกรรม
คือการได้กั้นฉัตรถวายพระพุทธเจ้าเป็นต้นมา
ในระหว่างนี้ข้าพเจ้าไม่รู้ภาวะที่ตนไม่เคยได้รับการกั้นเศวตฉัตรให้
[๗๔] ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ทุกวันนี้เหนือศีรษะของข้าพเจ้า
ก็ได้มีการกั้นฉัตรตลอดกาลเป็นนิตย์
[๗๕] โอหนอ กรรมข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้ว
ในสำนักพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้มั่นคง
อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๗๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๗๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๗๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกฉัตติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกฉัตติยเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๓. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน
๓. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติณสูลกฉาทนิยเถระ
(พระติณสูลกฉาทนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้พิจารณาความเกิด ความแก่
และความตายแล้วปลีกตัวออกบวชเป็นบรรพชิตแต่ผู้เดียว
[๘๐] เมื่อข้าพเจ้าเที่ยวไปโดยลำดับ ได้ไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา
เห็นพื้นดินที่ฝั่งแม่น้ำคงคานั้นราบเรียบ
[๘๑] จึงได้สร้างอาศรมที่ฝั่งแม่น้ำคงคานั้น
อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้านั้น
ที่จงกรมซึ่งประกอบด้วยหมู่นกนานาชนิด
ซึ่งข้าพเจ้าสร้างไว้ดีแล้ว
[๘๒] สัตว์ทั้งหลายอยู่ใกล้ข้าพเจ้า ก็ส่งเสียงน่ารื่นรมย์ใจ
ข้าพเจ้ารื่นรมย์กับสัตว์เหล่านั้นอยู่ในอาศรม
[๘๓] ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้ามีราชสีห์สามารถก้าวไปได้โดยทิศทั้ง ๔
ออกจากที่อยู่แล้ว คำรามเหมือนเสียงอสนีบาต
[๘๔] ก็เมื่อราชสีห์คำรน ข้าพเจ้าเกิดความร่าเริง
ค้นหาราชสีห์อยู่ จึงได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๘๕] ครั้นได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
พระนามว่าติสสะ ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง บันเทิงใจ จึงบูชาพระองค์
ด้วยเกสรดอกกากะทิง
[๘๖] ได้ชื่นชมพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้เหมือนดวงอาทิตย์กำลังอุทัย
เหมือนต้นพญาไม้สาละซึ่งมีดอกเบ่งบาน
เหมือนดาวประกายพรึกกำลังทอแสงสว่างไสวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๓. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน
[๘๗] พระสัพพัญญู พระองค์ทรงยังโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
ให้สว่างด้วยพระญาณของพระองค์
เขาเหล่านั้นทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยจึงพ้นจากชาติได้
[๘๘] เพราะไม่ได้เฝ้าพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้เห็นธรรมทั้งปวง
สัตว์ทั้งหลายจึงถูกราคะและโทสะครอบงำ
แล้วพากันตกไปในนรกอเวจี
[๘๙] เพราะอาศัยการได้เข้าเฝ้าพระองค์
ผู้สัพพัญญู ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
สัตว์ทั้งปวงจึงหลุดพ้นจากภพแล้วบรรลุอมตบท
[๙๐] เมื่อใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีพระจักษุ
มีพระรัศมี เสด็จอุบัติขึ้น
เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นจะทรงแผ่พระรัศมีมีแสงสว่าง
แผดเผากิเลส(ของเหล่าสัตว์) ให้สิ้นไป
[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดุดีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของสัตว์โลกแล้ว มีจิตร่าเริง
บันเทิงใจ ได้บูชาพระองค์ด้วยดอกมะลิซ้อน
[๙๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๙๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใส ถือดอกไม้กั้น(แดด)ให้เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๙๔] ผู้นั้นจักครองเทวสมบัติในเทวโลกตลอด ๒๕ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๓. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน
[๙๕] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการกระทำการบูชาด้วยดอกไม้
[๙๖] ก็คนที่ใช้ดอกไม้กั้น(แดด)ให้เราตั้งแต่เช้าจดเย็น
จักเป็นผู้ประกอบด้วยกรรมดีปรากฏต่อไปในภายภาคหน้า
[๙๗] เขาปรารถนาสิ่งใด ๆ
สิ่งนั้น ๆ จักปรากฏตามความประสงค์
เขาทำความดำริชอบให้บริบูรณ์
จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
ภาณวารที่ ๑๘ จบ
[๙๘] ข้าพเจ้านั่งบนอาสนะเดียว มีสติสัมปชัญญะ
เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ได้บรรลุพระอรหัต
[๙๙] ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่ก็ตาม
ย่อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดอยู่ทุกขณะ
[๑๐๐] ความพร่องในปัจจัยนั้น ๆ
คือจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจยเภสัชบริขาร ที่นอน ที่นั่ง
มิได้มีแก่ข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๐๑] บัดนี้ ข้าพเจ้าบรรลุอมตบทที่สงบระงับอย่างยอดเยี่ยม
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๐๒] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๔. มธุมังสทายกเถราปทาน
[๑๐๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวง๑ ข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๐๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๐๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติณสูลกฉาทนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติณสูลกฉาทนิยเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. มธุมังสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมธุมังสทายกเถระ
(พระมธุมังสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๖] ข้าพเจ้าเป็นคนฆ่าสุกรอยู่ในกรุงพันธุมดี
ได้ต้มเครื่องในแล้วใส่ผสมลงในเนื้อชั้นดี
[๑๐๗] ข้าพเจ้าได้ไปยังที่ประชุมสงฆ์ รับบาตรมาใบหนึ่ง
บรรจุบาตรนั้นจนเต็มแล้ว ได้ถวายภิกษุสงฆ์

เชิงอรรถ :
๑ ภพทั้งปวง ได้แก่ กรรมภพ อุปัตติภพ, กามภพ รูปภพ อรูปภพ, สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนา-
สัญญีภพ, เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๒๑/๓๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๓. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน
[๑๐๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ถวายพระสังฆเถระด้วยคิดว่า
ด้วยผลแห่งการถวายบาตรที่บรรจุเนื้อจนเต็มนี้
ข้าพเจ้าจักได้สุขอันไพบูลย์
[๑๐๙] เขาเสวยสมบัติ ๒ อย่างแล้ว
ถูกมูลกุศลกรรมเก่าชักให้
มาถึงภพสุดท้ายแล้วจักเผากิเลสได้
[๑๑๐] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในทานนั้น
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ณ ที่นั้น ข้าพเจ้ากิน ดื่ม ได้สุขอันไพบูลย์
[๑๑๑] ไม่ว่าข้าพเจ้าจะอยู่ที่มณฑปหรือที่โคนไม้
ข้าพเจ้าก็จักนึกถึงบุพกรรมเสมอ
ในขณะที่ข้าพเจ้านึกถึงบุพกรรมอยู่นั้น
ห่าฝนแห่งข้าวและน้ำตกลงมาเพื่อข้าพเจ้า
[๑๑๒] นี้เป็นภพสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ถึงในภพนี้ข้าวและน้ำก็ตกลงมาเพื่อข้าพเจ้าตลอดกาลทุกเมื่อ
[๑๑๓] ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายเนื้อชั้นดีนั้นนั่นแหละ
เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพแล้ว
จึงกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๑๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ให้ทานไว้ในครั้งนั้น
ไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนื้อชั้นดี
[๑๑๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๕. นาคปัลลวกเถราปทาน
[๑๑๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๑๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมธุมังสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มธุมังสทายกเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. นาคปัลลวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนาคปัลลวกเถระ
(พระนาคปัลลวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑๘] ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่พระราชอุทยานในกรุงพันธุมดี
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ได้ประทับนั่งอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๑๙] ข้าพเจ้าได้ถือยอดอ่อนไม้กากะทิงบูชาพระพุทธเจ้า
มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ถวายอภิวาทพระสุคตแล้ว
[๑๒๐] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ยอดอ่อนบูชา(พระพุทธเจ้า)ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๒๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๖. เอกทีปิยเถราปทาน
[๑๒๒] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนาคปัลลวกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นาคปัลลวกเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. เอกทีปิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกทีปิยเถระ
(พระเอกทีปิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๔] เมื่อพระสุคตพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ปรินิพพานแล้ว
มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาทั้งปวง
ต่างก็บูชาพระองค์ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์๑ทั้งหลาย
[๑๒๕] และเมื่อเขาช่วยกันยกพระสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกขึ้นบนจิตกาธานแล้ว
ต่างก็บูชาจิตกาธานของพระศาสดาตามกำลังของตน
[๑๒๖] ข้าพเจ้าได้ตามประทีปให้ลุกโพลงไว้ใกล้จิตกาธาน
ประทีปของข้าพเจ้าลุกโพลงอยู่จนถึงเวลาดวงอาทิตย์อุทัย
[๑๒๗] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น

เชิงอรรถ :
๑ เทวดาและมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงเทวดา พรหม และมนุษย์ (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๖. เอกทีปิยเถราปทาน
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๒๘] ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น
วิมานที่บุญกรรมได้ทำไว้เป็นอย่างดีเพื่อข้าพเจ้า
เรียกกันว่าเอกทีปิวิมาน
มีประทีป ๑๐๐,๐๐๐ ดวง
ส่องสว่างอยู่ในวิมานของข้าพเจ้า
[๑๒๙] ร่างกายของข้าพเจ้าสว่างไสวอยู่ทุกเมื่อ
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย
สรีระของข้าพเจ้ามีแสงสว่างด้วยรัศมีในกาลทุกเมื่อ
[๑๓๐] ข้าพเจ้ามีจักษุมองทะลุฝา กำแพง
และภูเขา โดยรอบ ๑๐๐ โยชน์
[๑๓๑] รื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๗๗ ชาติ
ได้ครองเทวสมบัติตลอด ๓๑ ชาติ
[๑๓๒] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๘ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๑๓๓] ข้าพเจ้าจุติจากเทวโลกแล้วเกิดในครรภ์มารดา
แม้อยู่ในครรภ์มารดาข้าพเจ้าก็ไม่หลับตา
[๑๓๔] ข้าพเจ้าเกิดได้ ๔ ขวบ ก็ออกบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่ถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๓๕] ข้าพเจ้าชำระทิพยจักษุให้หมดจดวิเศษแล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
กิเลสทั้งปวงข้าพเจ้าก็ตัดได้แล้ว
นี้เป็นผลแห่งประทีปดวงเดียว
[๑๓๖] ข้าพเจ้ามองทะลุฝา กำแพง และภูเขาทั้งสิ้นได้
นี้เป็นผลแห่งประทีปดวงเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๗. อุจฉังคปุปผิยเถราปทาน
[๑๓๗] สำหรับข้าพเจ้า ภูมิภาคที่ขรุขระย่อมเป็นสภาพที่ราบเรียบ
ความมืดย่อมไม่ปรากฏ ข้าพเจ้าไม่เห็นความมืด
นี้เป็นผลแห่งประทีปดวงเดียว
[๑๓๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายประทีปไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งประทีปดวงเดียว
[๑๓๙] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๔๐] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๔๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกทีปิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกทีปิยเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. อุจฉังคปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุจฉังคปุปผิยเถระ
(พระอุจฉังคปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างดอกไม้อยู่ในกรุงพันธุมดี
ข้าพเจ้าเก็บ(ดอกไม้)ใส่เต็มชายพก แล้วได้ไปในย่านตลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๗. อุจฉังคปุปผิยเถราปทาน
[๑๔๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้ว เสด็จออกไปด้วยอานุภาพใหญ่
[๑๔๔] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้ส่องโลกให้โพลงทั่ว ทรงช่วยสัตว์โลกให้ข้ามพ้น
จึงหยิบดอกไม้ออกจากชายพกบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๑๔๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
การที่ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๔๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๔๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๔๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุจฉังคปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุจฉังคปุปผิยเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๘. ยาคุทายกเถราปทาน
๘. ยาคุทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยาคุทายกเถระ
(พระยาคุทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้พาแขกมาบ้าน
เห็นแม่น้ำเต็มฝั่ง จึงเข้าไปยังสังฆาราม
[๑๕๐] ภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์ข้อการอยู่ป่าเป็นวัตร
เข้าฌาน มีจีวรเศร้าหมอง
ยินดีในความสงัด เป็นนักปราชญ์
อาศัยอยู่ในสังฆาราม
[๑๕๑] ทางไปบิณฑบาตของภิกษุผู้หลุดพ้นดีแล้ว
ผู้คงที่เหล่านั้น ถูกตัดขาดแล้ว
ในเวลาต่อมาเมื่อน้ำท่วม
ท่านไปบิณฑบาตไม่ได้
[๑๕๒] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
เกิดปีติปราโมทย์ ประนมมือ
ถือข้าวสาร (ต้ม) ข้าวยาคูแล้วถวาย
[๑๕๓] ข้าพเจ้าเลื่อมใส ถวายข้าวยาคูที่ต้มด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
เมื่อปรารภถึงกรรมของตนแล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๕๔] วิมานแก้วมณีได้เกิดแก่ข้าพเจ้าในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
ข้าพเจ้าประกอบด้วยหมู่เทพนารี บันเทิงอยู่ในวิมานที่อุดม
[๑๕๕] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๓๓ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครองมหาราชสมบัติ ๓๐ ชาติ
[๑๕๖] ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
เสวยยศในเทวโลกบ้าง ในมนุษยโลกบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๘. ยาคุทายกเถราปทาน
[๑๕๗] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าได้สละทรัพย์สมบัติทั้งปวง
ออกบวชเป็นบรรพชิต ขณะที่ปลงผมเสร็จ
[๑๕๘] ข้าพเจ้าพิจารณาร่างกายโดยความสิ้นไปและความเสื่อมไป
ก็ได้บรรลุอรหัตตผลก่อนการรับสิกขาบท
[๑๕๙] ทานอันประเสริฐที่เกิดจากมือเรา
ซึ่งเราประกอบดีแล้ว ชื่อว่าเป็นอันให้ดีแล้ว
เพราะการถวายข้าวยาคูนั้นเอง
ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว๑
[๑๖๐] ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่ามีความเศร้าโศก ความร่ำไร
ความป่วยไข้ ความกระวนกระวาย
ความเดือดร้อนใจเกิดขึ้นเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวยาคู
[๑๖๑] โอหนอ ข้าวยาคูข้าพเจ้าได้ถวายดีแล้วหนอ
ข้าพเจ้าได้ถวายข้าวยาคูแด่หมู่พระสงฆ์
ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม
จึงได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ
[๑๖๒] คือ (๑) ไม่มีความเจ็บไข้ (๒) มีรูปงาม
(๓) ตรัสรู้ธรรมเร็วพลัน (๔) ได้ข้าวและน้ำ (๕) มีอายุยืน
[๑๖๓] บุคคลใด ๆ ยังโสมนัสให้เกิดอยู่
ถวายข้าวยาคูแด่หมู่พระสงฆ์
บุคคลนั้นเป็นบัณฑิตพึงได้รับอานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้
[๑๖๔] กิจทุกอย่างที่ควรทำ๒ ข้าพเจ้าก็ได้ทำเสร็จแล้ว
ภพทั้งหลายข้าพเจ้าก็เพิกถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

เชิงอรรถ :
๑ บทที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๖๖/๒๗๖)
๒ กิจทุกอย่างที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงการกำจัดกิเลสให้สิ้นไป (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๔/๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๙. ปัตโถทนทายกเถราปทาน
[๑๖๕] ข้าพเจ้าจักเที่ยวไปนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระธรรมอันดี
จากบ้านหนึ่งไปยังบ้านหนึ่ง จากเมืองหนึ่งไปยังเมืองหนึ่ง
[๑๖๖] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
การที่ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวยาคู
[๑๖๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๖๘] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๖๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระยาคุทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ยาคุทายกเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. ปัตโถทนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัตโถทนทายกเถระ
(พระปัตโถทนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗๐] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าชอบเที่ยวไปในป่า เป็นคนทำงานในป่าเสมอ
ถือข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลีแล่งหนึ่งแล้วได้ไปทำงาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๙. ปัตโถทนทายกเถราปทาน
[๑๗๑] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้ตรัสรู้เอง ไม่ทรงพ่ายแพ้
เสด็จออกจากป่าเพื่อบิณฑบาต
ครั้นเห็นแล้วก็ทำจิตให้เลื่อมใส (คิดว่า)
[๑๗๒] เราทำการงานให้คนอื่น บุญเราก็ไม่มี
คงมีแต่ข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลีแล่งหนึ่งนี้
เราจะนิมนต์พระมุนีนี้ให้เสวย
[๑๗๓] ข้าพเจ้าจึงหยิบข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลีแล่งหนึ่ง
ถวายพระสยัมภู ฝ่ายพระมหามุนีก็ได้เสวย
ขณะที่ข้าพเจ้าจ้องดูอยู่(นั่นเอง)
[๑๗๔] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๓๒ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๓ ชาติ
[๑๗๖] ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข มียศ
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลีแล่งหนึ่ง
[๑๗๗] เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้ทรัพย์นับไม่ถ้วน ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลีแล่งหนึ่ง
[๑๗๘] โภคะทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าเหมือนกระแสน้ำ
ข้าพเจ้าไม่สามารถจะนับได้
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลีแล่งหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๙. ปัตโถทนทายกเถราปทาน
[๑๗๙] ด้วยกรรมนั้น ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญว่า เชิญเคี้ยวกินสิ่งนี้
เชิญบริโภคสิ่งนี้ เชิญนอนบนที่นอนนี้ ดังนี้แล
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีความสุข
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลีแล่งหนึ่ง
[๑๘๐] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลีแล่งหนึ่ง
[๑๘๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๘๒] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัตโถทนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปัตโถทนทายกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๑๐. มัญจทายกเถราปทาน
๑๐. มัญจทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัญจทายกเถระ
(พระมัญจทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘๔] เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้ประกอบด้วยพระกรุณา ปรินิพพานแล้ว
เมื่อปาพจน์๑กำลังแพร่หลายไป
เทวดาและมนุษย์พากันสักการะแล้ว
[๑๘๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนจัณฑาล
มีอาชีพทำเตียงนอนและตั่ง ข้าพเจ้าเลี้ยงชีพ
และ เลี้ยงดูบุตรภรรยาด้วยการงานนั้น
[๑๘๖] ข้าพเจ้าเลื่อมใส(ในพระศาสนา)
จึงทำเตียงนอนอย่างประณีตด้วยมือของตน
แล้วได้เข้าไปถวายแด่ภิกษุสงฆ์ด้วยตนเอง
[๑๘๗] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
เมื่อข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๘๘] ข้าพเจ้าถึงเทวโลก
ได้บันเทิงอยู่ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
ที่นอนซึ่งมีราคามากเกิดขึ้นตามความปรารถนา
[๑๘๙] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๕๐ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘๐ ชาติ

เชิงอรรถ :
๑ ปาพจน์ หมายถึงพระไตรปิฎกที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ (ขุ.อป.อ. ๑/๖๒๔/๓๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] ๑๐. มัญจทายกเถราปทาน
[๑๙๐] และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
เป็นผู้มีความสุข มียศ
นี้เป็นผลแห่งการถวายเตียงนอน
[๑๙๑] ครั้นข้าพเจ้าจุติจากเทวโลกมายังภพมนุษย์แล้ว
ที่นอนอย่างดี อันเหมาะสำหรับผู้สูงศักดิ์เกิดแก่ข้าพเจ้า
[๑๙๒] ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
แม้ในวันนี้ที่นอนก็ได้ปรากฏขึ้นในเวลาจะนอนเหมือนกัน
[๑๙๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเตียง
[๑๙๔] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๙๕] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๙๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมัญจทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มัญจทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ภัททาลิวรรคที่ ๔๒ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ภัททาลิเถราปทาน ๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
๓. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน ๔. มธุมังสทายกเถราปทาน
๕. นาคปัลลวกเถราปทาน ๖. เอกทีปิยเถราปทาน
๗. อุจฉังคปุปผิยเถราปทาน ๘. ยาคุทายกเถราปทาน
๙. ปัตโถทนทายกเถราปทาน ๑๐. มัญจทายกเถราปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับคาถาได้ ๒๐๑ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๑. สกิงสัมมัชชกเถราปทาน
๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค
หมวดว่าด้วยพระสกิงสัมมัชชกะเป็นต้น
๑. สกิงสัมมัชชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสกิงสัมมัชชกเถระ
(พระสกิงสัมมัชชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นไม้อันเลิศชื่อว่าปาฏลิ(แคฝอย)
ซึ่งเป็นต้นไม้เป็นสถานที่ตรัสรู้อันสูงสุด
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
แล้วทำใจให้เลื่อมใสในต้นไม้นั้น
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ถือเอาไม้กวาดมากวาดบริเวณที่ตรัสรู้
ครั้นแล้วได้ไหว้ต้นปาฏลิอันเป็นสถานที่ตรัสรู้นั้น
[๓] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในต้นปาฏลินั้น
ประนมมือเหนือศีรษะ
นมัสการต้นโพธิ์นั้นแล้วกลับไปยังกระท่อม
[๔] ข้าพเจ้าเดินนึกถึงต้นไม้เป็นสถานที่ตรัสรู้
อันสูงสุดไปตามหนทางสัญจร
งูเหลือมตัวร้ายกาจมีกำลังมากรัดข้าพเจ้า
[๕] กรรมที่ข้าพเจ้าทำในเวลาใกล้ตาย
ได้ทำให้ข้าพเจ้ายินดีด้วยผล(ของกรรมนั้น)
งูเหลือมกลืนกินร่างข้าพเจ้า
ข้าพเจ้า(ตายไปแล้ว)รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก
[๖] จิตของข้าพเจ้าไม่ขุ่นมัว บริสุทธิ์ผ่องใสในกาลทุกเมื่อ
ข้าพเจ้าไม่รู้จักลูกศรคือความเศร้าโศก
ที่เป็นเหตุทำจิตของข้าพเจ้าให้เร่าร้อนเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๑. สกิงสัมมัชชกเถราปทาน
[๗] ข้าพเจ้าไม่มีโรคเรื้อน ฝี โรคกลาก
โรคลมบ้าหมู คุดทะราด หิดเปื่อย และหิดด้าน
นี้เป็นผลแห่งการกวาด
[๘] ความเศร้าโศก ความเร่าร้อนไม่มีในหทัยของข้าพเจ้า
จิตของข้าพเจ้าเที่ยงตรง ไม่วอกแวก
นี้เป็นผลแห่งการกวาด
[๙] ข้าพเจ้าเข้าถึงสมาธิ ใจก็บริสุทธิ์
สมาธิที่ข้าพเจ้าปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ข้าพเจ้า
[๑๐] ข้าพเจ้าไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
และไม่ลุ่มหลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง
นี้เป็นผลแห่งการกวาด
[๑๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกวาด(บริเวณที่ตรัสรู้)
[๑๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[๑๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสกิงสัมมัชชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สกิงสัมมัชชกเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกทุสสทายกเถระ
(พระเอกทุสสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๕] ข้าพเจ้าเป็นคนหาบหญ้าขายอยู่ในกรุงหงสวดี
เลี้ยงชีพด้วยการหาบหญ้า เลี้ยงดูบุตรภรรยาด้วยการงานนั้น
[๑๖] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก กำจัดความมืดมนให้พินาศไป
เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในเรือนของตน
คิดอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
ไทยธรรมก็ไม่มี
[๑๘] ข้าพเจ้ามีแต่ผ้าสาฎกผืนเดียวนี้
ไม่มีใครให้ข้าพเจ้า การตกนรกเป็นทุกข์
ข้าพเจ้าจักปลูกทักษิณา
[๑๙] ครั้นคิดเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ได้ถือผ้าผืนเดียวไปถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[๒๐] ครั้นถวายแล้ว ได้ประกาศอย่างกึกก้องว่า
ข้าแต่พระมหามุนีผู้แกล้วกล้า
ถ้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า
ขอได้ทรงโปรดช่วยข้าพระองค์ให้ข้ามพ้น(จากนรก)ด้วยเถิด
[๒๑] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
เมื่อจะทรงประกาศทานของข้าพเจ้า
ได้ทรงกระทำอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าว่า
[๒๒] ด้วยการถวายผ้าผืนเดียวนี้
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
บุรุษนี้จะไม่ตกนรกเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๓] เขาจักได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๓๖ ชาติ
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๓ ชาติ
[๒๔] และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
เมื่อเธอเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
คือเทวโลกหรือมนุษยโลก
[๒๕] จักเป็นผู้มีรูปงาม สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม
มีร่างกายสมส่วน จักได้ผ้านับไม่ได้ ประมาณไม่ได้
ตามที่ปรารถนา
[๒๖] ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ๑
ผู้เป็นนักปราชญ์ตรัสดังนี้แล้ว
ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า
เหมือนพญาหงส์ในอากาศ

เชิงอรรถ :
๑ ปทุมุตตระ แปลจากศัพท์ว่า ชลชุตฺตมนายโก (ขุ.อป.อ. ๒/๒๘/๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[๒๗] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือ จะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว
[๒๘] ผ้าเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าทุกย่างก้าว
ข้างล่างข้าพเจ้าก็ยืนอยู่บนผ้า
ข้างบนก็มีผ้าเป็นเครื่องมุงบัง
[๒๙] ในวันนี้ จักรวาลพร้อมทั้งป่า ภูเขา
เมื่อข้าพเจ้าปรารถนาก็จะพึงคลุมด้วยผ้าได้
[๓๐] เพราะถวายผ้าผืนเดียวเท่านั้นแหละ
ข้าพเจ้าเมื่อยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่๑
เป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
[๓๑] ข้าพเจ้าได้ถึงความเป็นภิกษุ
เพราะผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว
ถึงชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้าย
ผ้าก็ยังให้ผลแก่ข้าพเจ้าอยู่ในขณะนี้
[๓๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว
[๓๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

เชิงอรรถ :
๑ ภพน้อยภพใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความเจริญและความเสื่อม หรือสมบัติและวิบัติ ความยั่งยืนและความ
ขาดสูญ บุญและบาป (ขุ.จริยา.อ. ๒/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๓. เอกาสนทายกเถราปทาน
[๓๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกทุสสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
เอกทุสสทายกเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. เอกาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกาสนทายกเถระ
(พระเอกาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๖] ในที่ไม่ไกลจากภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อกสิกะ
ข้าพเจ้าได้สร้างอาศรมและบรรณศาลาไว้อย่างสวยงาม
[๓๗] ข้าพเจ้ามีนามว่านารทะ
แต่คนทั้งหลายเรียกว่ากัสสปะ
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแสวงหาทางบริสุทธิ์อาศัยอยู่ที่ภูเขากสิกะ
[๓๘] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ทรงประสงค์วิเวก จึงเสด็จมาทางอากาศ
[๓๙] ข้าพเจ้าเห็นพระรัศมีของพระองค์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ซึ่งกำลังเสด็จมาเหนือยอดไม้
จึงจัดแจงเตียงไม้และปูลาดหนังสัตว์ไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[๔๐] ครั้นปูลาดอาสนะเสร็จแล้วประนมมือเหนือศีรษะ
ประกาศถึงความโสมนัสแล้ว ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า
[๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ขอพระองค์ผู้เป็นดังศัลยแพทย์ผู้ถอนลูกศร
ผู้เยียวยาความเดือดร้อน
ได้โปรดประทานการเยียวยาแก่ข้าพระองค์
ผู้ถูกความกำหนัดครอบงำด้วยเถิด
[๔๒] ข้าแต่พระมุนี ชนเหล่าใดมีความต้องการบุญ
พบเห็นพระองค์ผู้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ชนเหล่านั้นย่อมถึงความสำเร็จประโยชน์ที่ยั่งยืน
(และ)เขาเหล่านั้นจะพึงเป็นผู้ไม่แก่
[๔๓] ข้าพระองค์หาได้มีไทยธรรมถวายพระองค์ไม่
เพราะข้าพระองค์บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง
ข้าพระองค์มีแต่อาสนะนี้
โปรดประทับนั่งบนเตียงไม้เถิด
[๔๔] พระผู้มีพระภาค ผู้ไม่มีความสะดุ้ง ผู้เป็นดุจราชสีห์
ได้ประทับนั่งบนเตียงไม้แล้ว สักครู่จึงได้ตรัสคำนี้ว่า
[๔๕] ท่านจงเบาใจเถิด อย่าได้กลัวเลย
ท่านได้แก้วมณีโชติรสแล้ว
อาสนะที่ท่านปรารถนาทั้งหมด
จักสำเร็จบริบูรณ์แก่ท่าน
[๔๖] บุญที่บุคคลบำเพ็ญไว้ดีแล้วในเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม
เป็นบุญไม่น้อยเลย
ผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วสามารถจะถอนตนเองขึ้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๓. เอกาสนทายกเถราปทาน
[๔๗] ด้วยการถวายอาสนะนี้ และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
เขาจะไม่ตกนรกเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๔๘] เขาจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๕๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘๐ ชาติ
[๔๙] และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
จักมีความสุขในที่ทุกสถานเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ
[๕๐] ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นนักปราชญ์ตรัสดังนี้แล้ว
ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า
เหมือนพญาหงส์ในอากาศ
[๕๑] ยานคือช้าง ยานคือม้า
วอและคานหาม ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะที่เดียว
[๕๒] เมื่อข้าพเจ้าเข้าป่าแล้วต้องการอาสนะ
บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้าก็ปรากฏขึ้น
[๕๓] เมื่ออยู่ท่ามกลางน้ำต้องการที่นั่ง
บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้าก็ปรากฏขึ้น
[๕๔] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
บัลลังก์ ๑๐๐,๐๐๐ แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๕๕] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๒
คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์
เกิดในตระกูลเพียง ๒ ตระกูล
คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๓. เอกาสนทายกเถราปทาน
[๕๖] ข้าพเจ้าถวายอาสนะเพียงที่เดียวในเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม
รู้ทั่วถึงบัลลังก์คือธรรมแล้ว จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๕๗] ใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะที่เดียว
[๕๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๙] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
เอกาสนทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๔. สัตตกทัมพปุปผิยเถราปทาน
๔. สัตตกทัมพปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัตตกทัมพปุปผิยเถระ
(พระสัตตกทัมพปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าว
ว่า)
[๖๑] ในที่ไม่ไกลจากภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อกทัมพะ
พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์ อาศัยอยู่ที่ข้างภูเขานั้น
[๖๒] ข้าพเจ้าเห็นดอกกระทุ่ม
จึงเก็บมา ๗ ดอก แล้วประนมมือ
โปรยบูชาด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยกุศล
[๖๓] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๖๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๖๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๖๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๕. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน
[๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัตตกทัมพปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
สัตตกทัมพปุปผิยเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโกรัณฑปุปผิยเถระ
(พระโกรัณฑปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๘] เมื่อชาติปางก่อน ข้าพเจ้ากับบิดาและปู่เป็นคนทำงานในป่า
เลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ กุศลกรรมของเราไม่มี
[๖๙] ใกล้ที่อยู่ของข้าพเจ้า พระศาสดาพระนามว่าติสสะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก ผู้มีพระจักษุ
ได้ทรงแสดงรอยพระบาทไว้ ๓ รอย
เพื่ออนุเคราะห์(ข้าพเจ้า)
[๗๐] ข้าพเจ้าเห็นรอยพระบาทของพระศาสดาพระนามว่าติสสะ
ที่พระองค์ทรงประทับไว้
ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตร่าเริงบันเทิงใจ
ได้ทำจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาทนั้น
[๗๑] ข้าพเจ้าเห็นต้นอังกาบซึ่งงอกเลื้อยไปตามพื้นดิน
มีดอกบานสะพรั่ง จึงเด็ดมาพร้อมทั้งยอด
ได้บูชารอยพระบาทอันประเสริฐที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๕. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน
[๗๒] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๗๓] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
(ในกำเนิดนั้น ๆ )ข้าพเจ้ามีผิวพรรณดังดอกอังกาบ
มีรัศมีซ่านออกจากกาย
[๗๔] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชารอยพระบาท
[๗๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๗๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๗๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโกรัณฑปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
โกรัณฑปุปผิยเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๖. ฆฏมัณฆทายกเถราปทาน
๖. ฆฏมัณฑทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระฆฏมัณฑทายกเถระ
(พระฆฏมัณฑทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๘] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงดำริดีแล้ว
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
เสด็จเข้าไปยังป่าใหญ่ ทรงพระประชวรด้วยโรคลม
[๗๙] ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วจึงทำจิตให้เลื่อมใส นำหัวน้ำมันเนยเข้าไปถวาย
เพราะบุญกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้และได้สั่งสมไว้แล้ว
แม่น้ำคงคาภาคีรถี๑นี้
[๘๐] และมหาสมุทรทั้ง ๔ บันดาลเนยใสให้สำเร็จแก่ข้าพเจ้า
อนึ่ง พื้นปฐพีที่กว้างใหญ่ ประมาณมิได้ กำหนดนับมิได้นี้
[๘๑] ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้า
จึงกลายเป็นน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด
ต้นไม้ที่งอกขึ้นบนแผ่นดินในทิศทั้ง ๔
[๘๒] ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้า
จึงกลายเป็นต้นกัลปพฤกษ์ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๕๐ ชาติ
[๘๓] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๑ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๘๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายหัวน้ำมันเนย

เชิงอรรถ :
๑ สาเหตุที่เรียกแม่น้ำคงคาว่าภาคีรถี เนื่องจากเป็นแม่น้ำที่ไหลแยกเป็นแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย เป็นเหตุให้
แผ่นดินชมพูทวีปแยกเป็น ๕ ส่วน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๗. เอกธัมมัสสวนิยเถราปทาน
[๘๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๘๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๘๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระฆฏมัณฑทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ฆฏมัณฑทายกเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. เอกธัมมัสสวนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกธัมมสวนิยเถระ
(พระเอกธัมมัสสวนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๘] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงฝั่งความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ประกาศสัจจะ ๔๑ ทรงช่วยชนจำนวนมากให้ข้ามพ้นดีแล้ว
[๘๙] สมัยนั้น ข้าพเจ้าเป็นชฎิล มีตบะแก่กล้า
สะบัดผ้าเปลือกไม้ เหาะไปในท้องฟ้า ในครั้งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สัจจะ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (ขุ.อป.อ. ๒/๖๗/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๗. เอกธัมมัสสวนิยเถราปทาน
[๙๐] ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเหาะผ่านไปเหนือพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุดได้ ข้าพเจ้าเหาะไปไม่ได้
เหมือนนกเข้าไปใกล้ภูเขาแล้วบินผ่านไปไม่ได้
[๙๑] ข้าพเจ้าพ่นลมหายใจออกเป็นไอน้ำลอยอยู่ในท้องฟ้าด้วยคิดว่า
เหตุที่ทำให้อิริยาบถของเราขัดข้องเช่นนี้ ไม่เคยมี
[๙๒] เอาละ เราจักค้นหาสาเหตุนั้น
เผื่อจักได้ผล จึงลงจากอากาศ
ก็ได้ฟังพระสุรเสียงของพระศาสดา
[๙๓] เมื่อพระศาสดาตรัสถึงสังขารไม่เที่ยง
ด้วยพระสุรเสียงที่น่ายินดี น่าฟัง ไพเราะ
ขณะนั้นข้าพเจ้าได้เรียนอนิจจลักษณะนั่นแหละ
ครั้นเรียนอนิจจลักษณะได้แล้ว ก็ได้ไปยังอาศรมของตน
[๙๔] ข้าพเจ้าอยู่ในอาศรมนั่นแหละตราบเท่าสิ้นอายุ จึงได้ตาย
เมื่อจุติจิตซึ่งเป็นจิตดวงสุดท้ายกำลังจะเป็นไป
ข้าพเจ้าก็ระลึกถึงการฟังพระสัทธรรมได้๑
[๙๕] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๙๖] รื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
ได้ครองเทวสมบัติตลอด ๕๑ ชาติ
[๙๗] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๑ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน

เชิงอรรถ :
๑ สัทธรรม หมายถึงธรรมอันดี หรือศาสนามี ๓ ประการ คือ (๑) ปริยัติสัทธรรม (๒) ปฏิปัตติสัทธรรม
(๓) อธิคมสัทธรรม (วิ.อ. ๒/๔๓๘/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๗. เอกธัมมัสสวนิยเถราปทาน
[๙๘] ข้าพเจ้าเสวยบุญของตน
มีความสุขในภพน้อยภพใหญ่
ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ก็ยังระลึกถึงสัญญานั้นได้
ข้าพเจ้าหาได้แทงตลอดบทอันไม่จุติ
คือพระนิพพานด้วยธรรมไร ๆ ไม่
[๙๙] ได้มีสมณะผู้อบรมอินทรีย์มานั่งที่เรือนบิดา
ท่านได้แสดงธรรมกถา
และยกอนิจจลักษณะในธรรมกถานั้นขึ้นว่า
[๑๐๐] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ภาวะที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นความสุข
[๑๐๑] ขณะที่สดับคาถา ข้าพเจ้าได้ระลึกถึงสัญญาทุกอย่าง
นั่ง ณ อาสนะเดียว ก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว
[๑๐๒] ข้าพเจ้าได้บรรลุอรหัตตผลตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบ
พระพุทธเจ้าจึงให้ข้าพเจ้าอุปสมบท
นี้เป็นผลแห่งการฟังธรรม
[๑๐๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการฟังธรรม
[๑๐๔] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๘. สุจินติตเถราปทาน
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๐๕] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๐๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกธัมมสวนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
เอกธัมมัสสวนิยเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. สุจินติตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุจินติตเถระ
(พระสุจินติตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นชาวนาอยู่ในกรุงหงสวดี
เลี้ยงชีพด้วยกสิกรรม เลี้ยงดูบุตรภรรยาด้วยกสิกรรมนั้น
[๑๐๘] ครั้งนั้น นาของข้าพเจ้าสมบูรณ์ดี
ข้าวของข้าพเจ้าออกรวงแล้ว
เมื่อถึงเวลาข้าวสุก บัดนั้น ข้าพเจ้าคิดอย่างนี้ว่า
[๑๐๙] การที่เรารู้คุณโทษอยู่ ไม่ได้ถวายสงฆ์
บริโภคส่วนเลิศด้วยตนเอง เป็นการไม่เหมาะ ไม่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๘. สุจินติตเถราปทาน
[๑๑๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน๑ ในโลก
ผู้ทรงพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๒
และพระสงฆ์ผู้ถือกำเนิด จากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม
[๑๑๑] เราจักถวายข้าวใหม่เป็นทาน แด่พระพุทธเจ้า
และพระสงฆ์เป็นปฐมฤกษ์ ครั้นคิดเช่นนี้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้มีใจร่าเริง ปลาบปลื้มด้วยปีติ
[๑๑๒] จึงนำข้าวเปลือกมาจากนา เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก
ผู้ทรงองอาจกว่านรชน
กราบพระยุคลบาทพระศาสดาแล้ว กราบทูลคำนี้ว่า
[๑๑๓] “ข้าแต่พระมุนี ข้าวใหม่สมบูรณ์แล้ว
ทั้งพระองค์ก็ยังประทับอยู่ ณ ที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์จงทรงพระกรุณารับเถิด”
[๑๑๔] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว ได้ตรัสคำนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน หมายถึงไม่มีใครเสมอเหมือนด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม
(ขุ.อป.อ. ๑/๕๖/๑๓๓)
๒ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๘. สุจินติตเถราปทาน
[๑๑๕] บุรุษบุคคลผู้กำลังปฏิบัติ ๔ จำพวก
และผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวกนี้
คือสงฆ์ เป็นผู้ซื่อตรง มีปัญญา
มีศีล และมีสมาธิ
[๑๑๖] มนุษย์ทั้งหลายผู้หวังบุญให้ทานอยู่
ทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด๑
ถวายทานแก่พระสงฆ์ใด จึงมีผลมาก
และข้าวของท่านก็ควรถวายพระสงฆ์นั้นจึงจะมีผลมากเช่นนั้น
[๑๑๗] ท่านจงนำภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้รับมอบหมายจากพระสงฆ์
ไปยังเรือนของตนแล้ว
ถวายสิ่งของที่มีอยู่ในเรือน
ซึ่งท่านตระเตรียมไว้แด่ภิกษุสงฆ์เถิด
[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้นำภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้รับมอบหมายจากพระสงฆ์
ไปยังเรือนของตนแล้ว
ถวายสิ่งของที่ข้าพเจ้าตระเตรียมไว้ในเรือนแด่ภิกษุสงฆ์
[๑๑๙] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๒๐] ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น
มีวิมานทองเปล่งปลั่งสูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
อันกรรมสร้างไว้อย่างสวยงามเพื่อข้าพเจ้า
ภาณวารที่ ๑๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.วิ. (แปล) ๒๖/๖๓๙/๗๐, ขุ.วิ.อ. ๖๓๘-๖๓๙/๑๗๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๘. สุจินติตเถราปทาน
[๑๒๑] วิมานของข้าพเจ้าเนืองแน่นไปด้วยหมู่เทพนารี
ข้าพเจ้ากิน ดื่ม และอยู่ในวิมานนั้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๒๒] ข้าพเจ้าได้ครองเทวสมบัติตลอด ๓,๐๐๐ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๑๒๓] เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้ทรัพย์นับไม่ถ้วน ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวใหม่
[๑๒๔] ยานคือช้าง ยานคือม้า วอและคานหาม
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวใหม่
[๑๒๕] ผ้าใหม่ ผลไม้ใหม่ โภชนะที่มีรสเลิศใหม่ ๆ
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวใหม่
[๑๒๖] ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวใหม่
[๑๒๗] หมู่ทาสหญิง ทาสชาย และเหล่านารี
ที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวใหม่
[๑๒๘] ความหนาว ความร้อนไม่เบียดเบียนข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่มีความเร่าร้อน
อนึ่ง ทุกข์ทางใจก็ไม่มีในหทัยของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๘. สุจินติตเถราปทาน
[๑๒๙] (คำเชื้อเชิญเช่นนี้ว่า) เชิญเคี้ยวกินสิ่งนี้ เชิญบริโภคสิ่งนี้
เชิญนอนบนที่นอนนี้ ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวใหม่
[๑๓๐] บัดนี้ ภพนี้เป็นภพสุดท้าย
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
แม้ในวันนี้ไทยธรรมของข้าพเจ้า
ก็เป็นผลทำให้ข้าพเจ้ายินดีอยู่ทุกเมื่อ
[๑๓๑] ข้าพเจ้าได้ถวายข้าวใหม่ในหมู่พระสงฆ์
ผู้เป็นคณะที่ประเสริฐสูงสุด
ย่อมได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ
[๑๓๒] คือ (๑) ข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง
(๒) มียศ (๓) มีโภคะมากมายซึ่งใคร ๆ ก็ลักไปไม่ได้
(๔) มีพรรคพวกมาก (๕) มีบริวารไม่แตกแยกกันทุกเมื่อ
[๑๓๓] (๖) สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินทุกจำพวกล้วนยำเกรงข้าพเจ้า
(๗) ข้าพเจ้าได้ไทยธรรมก่อนผู้อื่น
[๑๓๔] (๘) จะเป็นในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
หรือเฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดก็ตาม
พวกทายกจะล่วงเลยท่านเหล่านั้นทั้งหมด
มุ่งมาถวายข้าพเจ้าเท่านั้น
[๑๓๕] ข้าพเจ้าได้รับอานิสงส์เหล่านี้
เพราะได้ถวายข้าวใหม่ในหมู่พระสงฆ์
ผู้เป็นคณะที่ประเสริฐสูงสุดก่อน
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวใหม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๙. โสณณกิงกณิยเถราปทาน
[๑๓๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวใหม่
[๑๓๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๓๘] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๓๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุจินติตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุจินติตเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. โสณณกิงกณิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสณณกิงกณิยเถระ
(พระโสณณกิงกณิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔๐] ข้าพเจ้ามีศรัทธาได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
อาศัยการบำเพ็ญตบะ จึงได้นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๙. โสณณกิงกณิยเถราปทาน
[๑๔๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
เสด็จอุบัติขึ้น ทรงช่วยมหาชนให้ข้ามพ้น(วัฏฏสงสาร)
[๑๔๒] ข้าพเจ้าหมดกำลังเพราะป่วยหนัก
ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
จึงก่อพระสถูปที่อุดมไว้ที่หาดทราย
[๑๔๓] ครั้นแล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตร่าเริง
มีใจเบิกบาน โปรยดอกกระดิ่งทองโดยพลัน
[๑๔๔] ข้าพเจ้าปรนนิบัติพระสถูป
เหมือนกับปรนนิบัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์
อนึ่ง ด้วยจิตที่เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้า
พระนามว่าอัตถทัสสี ผู้คงที่นั้น
[๑๔๕] ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังเทวโลก
ได้ความสุขอันไพบูลย์ในเทวโลกนั้น
ข้าพเจ้ามีผิวพรรณเหมือนทองคำ
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๔๖] เทพนารีของข้าพเจ้ามีประมาณ ๘๐ โกฏิ
ประดับตกแต่งสวยงาม ต่างก็บำรุงข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๔๗] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น คือ กลอง
ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก กลองใหญ่
บรรเลงอย่างไพเราะในวิมานนั้น
[๑๔๘] ช้างกุญชรตระกูลมาตังคะตกมันสามแห่ง๑ อายุ ๖๐ ปี
จำนวน ๘๔,๐๐๐ เชือก ประดับตกแต่งสวยงาม
[๑๔๙] คลุมด้วยข่ายทองคำ บำรุงข้าพเจ้า
ความบกพร่องด้วยกำลังพลและที่อยู่ย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ สามแห่ง คือ (๑) ตา (๒) หู (๓) อวัยวะเพศ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๕๓/๓๔๘,๖๕๗/๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๙. โสณณกิงกณิยเถราปทาน
[๑๕๐] ข้าพเจ้าเสวยผลวิบากของดอกกระดิ่งทอง
ได้ครองเทวสมบัติตลอด ๕๘ ชาติ
[๑๕๑] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๑ ชาติ
และได้ครองสมบัติในมหาปฐพีตลอด ๑๐๑ ชาติ
[๑๕๒] บัดนี้ ข้าพเจ้าได้บรรลุอมตบทที่ลึกซึ้ง
เห็นได้ยาก สังโยชน์สิ้นแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๑๕๓] ในกัปที่ ๑,๘๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๕๔] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๕๕] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๕๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสณณกิงกณิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
โสณณกิงกณิยเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๑๐. โสวัณณโกตริกเถราปทาน
๑๐. โสวัณณโกนตริกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสวัณณโกนตริกเถระ
(พระโสวัณณโกนตริกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าว
ว่า)
[๑๕๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้
อบรมพระทัย ฝึกพระองค์แล้ว มีพระทัยตั้งมั่น
เสด็จดำเนินอยู่ในทางอันประเสริฐ
ทรงยินดีในการสงบระงับจิต
[๑๕๘] ผู้ทรงข้ามโอฆะ๑ ได้แล้ว มีปกติเพ่งพินิจ
ยินดีในฌาน เป็นมุนี เข้าสมาบัติ
ไม่ละการสำรวมอินทรีย์
[๑๕๙] ข้าพเจ้าเห็นแล้ว จึงใช้กะโหลกน้ำเต้าตักน้ำ
เข้าไปหาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ล้างพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้ว ถวายกะโหลกน้ำเต้า
[๑๖๐] ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ได้รับสั่งว่า
เธอจงใช้กะโหลกน้ำเต้านี้ตักน้ำมาวางไว้ใกล้ ๆ เท้าของเรา
[๑๖๑] เนื่องจาก ข้าพเจ้ามีความเคารพต่อพระศาสดา
จึงรับสนองพระพุทธดำรัสว่า ขอรับ
แล้วใช้กะโหลกน้ำเต้าไปตักน้ำมาถวาย
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๑๖๒] พระมหาวีรพุทธเจ้า
เมื่อจะทรงยังจิตของข้าพเจ้าให้สงบเย็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] ๑๐. โสวัณณโกตริกเถราปทาน
[๑๖๓] ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๑๕ กัป
และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๓ ชาติ
[๑๖๔] จะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม
เมื่อข้าพเจ้าเดินหรือยืนอยู่
คนทั้งหลายถือเอาธงชัยทองคำยืนอยู่ข้างหน้าข้าพเจ้า
[๑๖๕] ข้าพเจ้าได้ธงชัยทองคำมา
เพราะการถวายกะโหลกน้ำเต้าแด่พระพุทธเจ้า
สักการะที่ทำไว้ในท่านผู้คงที่ทั้งหลาย
ถึงจะน้อยก็ย่อมเป็นของไพบูลย์
[๑๖๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายกะโหลกน้ำเต้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายกะโหลกน้ำเต้า
[๑๖๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๖๘] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๑๖๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสวัณณโกนตริกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
โสวัณณโกนตริกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สกิงสัมมัชชกวรรคที่ ๔๓ จบบริบูรณ์
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สกิงสัมมัชชกเถราปทาน ๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน
๓. เอกาสนทายกเถราปทาน ๔. สัตตกทัมพปุปผิยเถราปทาน
๕. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน ๖. ฆฏมัณฑทายกเถราปทาน
๗. เอกธัมมสวนิยเถราปทาน ๘. สุจินติตเถราปทาน
๙. โสณณกิงกณิยเถราปทาน ๑๐. โสวัณณโกนตริกเถราปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับคาถาได้ ๑๗๑ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๔. เอกวิหาริวรรค] ๑. เอกวิหาริยเถราปทาน
๔๔. เอกวิหาริวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถระผู้อยู่ผู้เดียวเป็นต้น
๑. เอกวิหาริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกวิหาริยเถระ
(พระเอกวิหาริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของท้าวมหาพรหม มีพระยศยิ่งใหญ่
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๒] พระองค์ไม่มีธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า๑
ปราศจากธรรมเครื่องหน่วงเหนี่ยว
มีพระทัยเสมอด้วยอากาศ
มีปกติอยู่ในที่วิเวก เป็นผู้คงที่
ยินดีในอนิมิตตสมาธิ๒ มีความชำนาญ(ในญาณ)
[๓] มีพระทัยไม่เกี่ยวข้องในอารมณ์
ไม่มีตัณหาแปดเปื้อน
ไม่คลุกคลีในตระกูล ในหมู่คณะ
ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดในอุบายสำหรับแนะนำ
[๔] ทรงขวนขวายในกิจของผู้อื่น
ทรงแนะนำทั้งมนุษย์และเทวดา
ทรงแนะนำทางไปสู่พระนิพพาน
อันสามารถยังเปือกตมคือคติให้เหือดแห้ง

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (ที.ม.อ. ๒/๓๕๘/๓๓๖)
๒ อนิมิตตสมาธิ ในที่นี้หมายถึงอนิมิตตวิโมกข์ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๓/๒๔๕,๕๑๖/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๔. เอกวิหาริวรรค] ๑. เอกวิหาริยเถราปทาน
[๕] และทรงแนะนำพระนิพพานอันเป็นอมตะ
มีความแช่มชื่นอย่างยิ่ง
เป็นธรรมเครื่องกั้นความแก่และความตาย
พระองค์ประทับนั่ง ท่ามกลางบริษัทใหญ่
ทรงช่วยสัตว์โลกให้ข้ามพ้น
[๖] ผู้ทรงเป็นที่พึ่ง มีพระสุรเสียงไพเราะ
เหมือนเสียงนกการเวก
มีพระสุรเสียงก้องดังเสียงพรหม
ทรงถอนเวไนยสัตว์ผู้จะฉิบหาย
เพราะขาดผู้แนะนำขึ้นจากมหันตทุกข์
[๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้ทรงแสดงธรรมที่ปราศจากธุลีคือกิเลส
ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว จึงออกบวชเป็นภิกษุ
[๘] ครั้นบวชแล้วในกาลนั้น
ข้าพเจ้าถูกความคลุกคลี๑ บีบคั้น
คิดถึงคำสอนของพระชินเจ้า
จึงได้ไปอยู่ในป่าที่น่ารื่นรมย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
[๙] การดับแห่งสักกายทิฏฐิอันเป็นเหตุแห่งความยึดมั่น
เกิดแก่ข้าพเจ้าผู้มีความวิเวกแห่งจิต
ผู้เห็นภัยในความเกี่ยวข้อง
[๑๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

เชิงอรรถ :
๑ ความคลุกคลี มี ๕ อย่าง คือ (๑) คลุกคลีด้วยการเห็น (๒) คลุกคลีด้วยการฟัง (๓) คลุกคลีด้วยการสัมผัส
ทางกาย (๔) คลุกคลีด้วยการเจรจาปราศรัย (๕) คลุกคลีด้วยการกินอยู่ร่วมกัน (ขุ.อป.อ. ๑/๙๒/๑๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๔. เอกวิหาริวรรค] ๒. เอกสังขิยเถราปทาน
[๑๒] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกวิหาริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกวิหาริยเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. เอกสังขิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกสังขิยเถระ
(พระเอกสังขิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ได้มีงานสมโภชต้นมหาโพธิ์
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
มหาชนมาชุมนุมกันบูชาต้นมหาโพธิ์ที่ประเสริฐ
[๑๔] (ข้าพเจ้าเกิดความดำริว่า)
ต้นมหาโพธิ์นี้ที่ควรบูชาเช่นนี้
ของพระศาสดาพระองค์ใด(ย่อมแสดงว่า)
พระศาสดาพระองค์นั้นจักเป็นผู้เว้นจากความเศร้าโศกมาก
ทรง มีปัญญา เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๑๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถือสังข์เป่าบูชาต้นโพธิ์ตลอดวัน
แล้วไหว้ต้นมหาโพธิ์ที่ประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๔. เอกวิหาริวรรค] ๒. เอกสังขิยเถราปทาน
[๑๖] เมื่อร่างกายข้าพเจ้าล้มตายลง
กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำในเวลาใกล้ตาย
ส่งผลให้ข้าพเจ้าถึงเทวโลก
และข้าพเจ้าได้รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก
[๑๗] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
มีเสียงน่ายินดี น่าร่าเริง บันเทิงใจ
ขับกล่อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๘] ในกัปที่ ๗๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชามีนามว่าสุทัสสนะ
มีชัยชนะเป็นใหญ่ในชมพูทวีป
มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
[๑๙] ครั้งนั้น เครื่องดนตรี ๘๐๐ ชิ้น
แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
ข้าพเจ้าได้รับผลบุญของตน
นี้เป็นผลแห่งการบำรุงต้นโพธิ์
[๒๐] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ถึงข้าพเจ้ายังอยู่ในครรภ์มารดา
กลองก็ประโคมอยู่ตลอดเวลา
[๒๑] เพราะอุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพเจ้าจึงได้เสวยสมบัติทั้งหลาย
และบรรลุนิพพานบทอันไม่หวั่นไหว
เป็นแดนเกษมจากภัย เป็นอมตธรรม และไม่มีมลทิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๔. เอกวิหาริวรรค] ๓. ปาฏิหีรสัญญกเถราปทาน
[๒๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกสังขิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกสังขิยเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. ปาฏิหีรสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปาฏิหีรสัญญกเถระ
(พระปาฏิหีรสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ได้เสด็จเข้าไปยังพระนคร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ผู้ได้วสี จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ รูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๔. เอกวิหาริวรรค] ๓. ปาฏิหีรสัญญกเถราปทาน
[๒๗] ทันทีที่พระพุทธเจ้า ผู้สงบ ผู้คงที่
เสด็จเข้าพระนคร ก็ได้มีเสียงกึกก้อง
ให้การต้อนรับตามถนน
[๒๘] เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าพระนคร
พิณที่ไม่มีคนดีดคนเคาะ ก็บรรเลงขึ้นเอง ด้วยพุทธานุภาพ
[๒๙] ข้าพเจ้านมัสการพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เป็นมหามุนี
และเห็นปาฏิหาริย์แล้ว ได้ทำจิตให้เลื่อมใสในปาฏิหาริย์นั้น
[๓๐] พระพุทธเจ้า ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรม ช่างน่าอัศจรรย์
การที่เรามาประจวบกับพระศาสดา ช่างน่าอัศจรรย์
เครื่องดนตรีแม้ปราศจากจิตวิญญาณก็ยังบรรเลงได้เอง
[๓๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
เพราะข้าพเจ้าได้ความประทับใจในพระพุทธเจ้า
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการประทับใจในพระพุทธเจ้า
[๓๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๔. เอกวิหาริวรรค] ๔. ญาณัตถวิกเถราปทาน
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปาฏิหีรสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปาฏิหีรสัญญกเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. ญาณัตถวิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระญาณัตถวิกเถระ
(พระญาณัตถวิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้สูงสุด
แห่งเทวดาและมนุษย์รุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์
โชติช่วงดังต้นพฤกษาประทีป๑ ไพโรจน์ดังทองคำ
[๓๖] ข้าพเจ้าวางคนโทน้ำ ผ้าเปลือกไม้
ธมกรก(กระบอกกรองน้ำ) ทำหนังเสือเฉวียงบ่า
แล้วก็สดุดีพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดว่า
[๓๗] ข้าแต่พระมุนี พระองค์ทรงขจัดความมืดมน
ซึ่งอากูลไปด้วยข่ายคือโมหะ
ทรงแสดงแสงสว่างคือญาณ แล้วเสด็จข้ามไป
[๓๘] พระองค์ทรงถอนสัตว์โลกนี้ขึ้น(จากวัฏฏสงสาร) แล้ว
พระญาณอันหยั่งรู้สรรพสิ่ง(ของพระองค์) เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม
คติทั่วหล้าก็มิอาจเปรียบได้กับพระญาณของพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ต้นพฤกษาประทีป หมายถึงดอกไม้ไฟ โคมไฟ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๔-๔๕/๑๓๑, ขุ.พุทฺธ.อ. ๔๕/๗๙,๓๐/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๔. เอกวิหาริวรรค] ๔. ญาณัตถวิกเถราปทาน
[๓๙] ด้วยพระญาณนั้น ชาวโลกจึงขนานพระนามพระองค์ว่า
สัพพัญญู สัพพัญญู
ข้าพระพุทธเจ้าไหว้พระองค์
ผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่
ทรงทราบธรรมทั้งปวง หาอาสวะมิได้
[๔๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สดุดีพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสดุดีพระพุทธญาณ
[๔๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๒] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระญาณัตถวิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ญาณัตถวิกเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๖๕ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น