Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบหมวดธรรมทั่วไป

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามคำตอบในหมวดธรรมทั่วไป ที่มีผู้สนใจถามเข้ามานะครับ



เรื่องเกี่ยวกับพระศรีอารย์

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ

คำถาม

Subject: พุทธทำนาย

สวัสดีครับ

ผมขอรบกวนถามเรื่องพุทธทำนายเกี่ยวกับเรื่องพระศรีอาริยะเมตตรัย ว่าความเป็นจริงนั้น มีต้นตอเป็นมาอย่างไร ผมจะหาอ่านได้ที่ไหน ผมเคยได้ยินพ่อแม่และผู้สูงอายุสนทนากันเมื่อผมยังเล็กอยู่ จึงไม่ได้สนใจจดจำ กรุณาผมด้วยครับ

ขอบคุณครับ

ตอบ

สวัสดีครับ คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องพระศรีอารยเมตไตรย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพระศรีอารย์นั้น มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกครับ โดยในพระไตรปิฎกจะใช้ชื่อว่าเมตไตรย ลองใช้เครื่องมือค้นหาที่ด้านบนค้นโดยใช้ Key Word ว่า เมตไตรย ดูนะครับ

ขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้ครับ

โลกเกิดขึ้นและถูกทำลายไปนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ระยะเวลา 1 คาบของโลก คืออายุขัยของโลกตั้งแต่โลกเริ่มก่อตัวใหม่ๆ ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อยู่เลย จนเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมา จนกระทั่งโลกถูกทำลายไป แล้วเริ่มก่อตัวขึ้นมาใหม่ จนอยู่ในสภาพเดิมอีกครั้ง 1 รอบเช่นนี้เรียกว่า 1 กัปของโลกนะครับ

(คำว่า 1 กัป คือระยะเวลา 1 ชั่วอายุขัย เช่น 1 กัปของมนุษย์สมัยพุทธกาล = 100 ปี
1 กัปของมนุษย์สมัยปัจจุบัน ประมาณ 70 - 75 ปี
1 กัปของยุง = เวลาไม่กี่วันนะครับ)

ในบางกัปของโลกก็ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาเลย บางกัปก็มีพระพุทธเจ้า 1, 2, ..., 5 พระองค์เป็นอย่างมากครับ โดยที่คำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนสิ้นสูญไปแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่จึงจะอุบัติขึ้น (ในที่นี้หมายถึงพระสัพพัญญูพุทธเจ้านะครับ ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเกิดได้พร้อมกันหลายพระองค์ครับ)

พระพุทธเจ้ามี 2 ประเภทคือ

  1. พระปัจเจกพุทธเจ้า - ตรัสรู้สัจธรรมได้เองโดยไม่ได้ฟังคำสอนจากใคร แต่สอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่ได้ จะอุบัติขึ้นในช่วงที่โลกว่างเปล่าจากพุทธศาสนานะครับ
  2. พระสัพพัญญูพุทธเจ้า - ตรัสรู้สัจธรรมได้เองโดยไม่ได้ฟังคำสอนจากใคร และสามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ด้วย เช่น พระพุทธเจ้าที่เรารู้จักกันทั่วไปครับ
พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันได้ตรัสเอาไว้ว่า ในกัปนี้จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นทั้งหมด 5 พระองค์ (เพราะฉะนั้นกัปนี้จึงได้ชื่อว่าภัทรกัปนะครับ) คือ
  1. พระกุกกุสันธะพุทธเจ้า
  2. พระโกนาคมนะพุทธเจ้า
  3. พระกัสสปะพุทธเจ้า
  4. พระโคตมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน)
  5. พระเมตไตรย์พุทธเจ้า

สำหรับรายละเอียดก็ลองอ่านดูในพระไตรปิฎกก็แล้วกันนะครับ โดยเฉพาะใน 2 สูตรนี้คือ
  1. พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตร
  2. พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ พุทธปกิณณกกัณฑ์

เมื่อเปิดลิ้งค์ข้างบนขึ้นมาแล้ว กด <ctrl>+<f> เพื่อค้นคำว่า เมตไตรย นะครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

คำถาม

Subject: Re: ถามเรื่องพุทธทำนาย เพิ่มเติม

สวัสดีครับ คุณธัมมโชติ

ผมขอรบกวนอีกที คืออย่างนี้ครับ ที่คุณแนะนำมาให้เข้าเว็บ "พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ พุทธปกิรณกกัณฑ์" นี้ ผมพยายามหาแต่ไม่เจอเลยครับไม่รู้ว่าผมทำถูกหรือเปล่า แต่อีกข้อหนึ่งที่คุณแนะนำมานั้นผมเข้าไปได้และได้อ่านดูแล้ว ผมก็ยังอยากจะอ่านดูอีกต่อไปถ้ามี

เมื่ออาทิตย์ก่อนผมได้พบท่านผู้เคยบวชเรียนมา ท่านผู้นี้เป็นคนลาวท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่า พระศรีอารย์นั้นมีบุคคลิกอย่างไร พระพุทธองค์ทรงตอบว่า มีรูปรอยกรงจักรทีฝ่ามือและเท้า มีรอยแผลที่สีข้าง และมีรอยแผลตำหนิที่หน้าผาก ผมได้ฟังแล้วก็ไม่อยากเชื่อ แต่ก็เพราะเคยได้ยินพ่อแม่คุยกันกับเพื่อนของท่านสมัยที่ผมยังเด็กอยู่ ข้อนี้ผมจำได้แน่ แต่ตอนนั้นท่านเหล่านั้นเพียงแต่กล่าวถึงว่ามีรอยตำหนิที่มือและเท้าเท่านั้น คราวนี้ท่านผู้นี้เพิ่มรายการมาอีก และที่สำคัญท่านว่า ท่านได้มาจากตำรา พุทธทำนายจากวัดพระสิงห์ ทางเหนือของไทย

ถ้าท่านธัมมโชติมีข้อมูลเพิ่มเติมก็กรุณาผมด้วย

ขอบพระคุณครับ

ตอบ

สวัสดีครับ คุณ .....

ขอตอบคำถามดังนี้นะครับ
  1. พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ พุทธปกิณณกกัณฑ์ ดูได้จาก link นี้ครับ
    พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ พุทธปกิณณกกัณฑ์
    กด <ctrl>+<f> ค้นคำว่า พุทธปกิณณกกัณฑ์นะครับ

  2. เรื่องลักษณะของพระศรีอารย์นั้น ข้อที่ว่ามีรูปรอยกงจักรทีฝ่ามือและเท้านั้น เป็นลักษณะปรกติของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ ซึ่งมีรายละเอียดในพระไตรปิฎก ดูได้จาก link นี้ครับ
    พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
    กด <ctrl>+<f> ค้นคำว่า ลักษณะมหาบุรุษนะครับ

    และในลักขณสูตร ที่ link
    พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๐๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
    กด <ctrl>+<f> ค้นคำว่า ลักขณสูตรนะครับ

    ส่วนเรื่องมีรอยแผลที่สีข้าง และมีรอยแผลตำหนิที่หน้าผากนั้น ผมระลึกไม่ได้ว่าเคยอ่านหรือเคยฟังมาหรือไม่ แต่ถ้าไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือ (เช่นพระไตรปิฎก) ผมก็คงได้แค่รับฟังไว้เท่านั้นครับ ไม่ขอวิจารณ์
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ขันธ์ 5 (เพิ่มเติม)

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: ขันธ์ 5

อ่านขันธ์ 5 ไม่เข้าใจค่ะ โดยเฉพาะ "วิญญาณขันธ์" สมมุติเหตุการณ์ว่าอ่านหนังสือ ตามที่ดิฉันเข้าใจเอง ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่นะคะ
  1. รูป คือ หนังสือ และตัวหนังสือ
  2. เวทนา คือ กลางๆ (สมมุติว่าไม่รู้สึกทุกข์สุข)
  3. สัญญา คือ จำได้ว่านี่หนังสือ บนนั้นเป็นตัวหนังสือ ภาษา ...ฯลฯ
  4. สังขาร คือ ... เช่น เพียร ปิติ ง่วง ท้อถอย ฯลฯ
  5. วิญญาณ คือ อะไรคะ ?

อันนี้เป็นตัวคำถาม หาที่อยู่ให้เขาไม่ได้ค่ะ ถ้าจำได้ ก็เหมือนสัญญาขันธ์

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะที่กรุณาให้ความกระจ่าง


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

1. รูป คือ หนังสือ และตัวหนังสือ นอกจากนี้ยังรวมถึงแสงสีต่างๆ ที่สะท้อนจากหนังสือมาเข้าตาเราด้วยครับ ซึ่งเป็นเหตุให้เราเห็นภาพนั้น

2. - 3. ใช่แล้วครับ

4. ถูกแล้วครับ รวมถึงการปรุงแต่งของจิต ด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นด้วย (สังขารขันธ์เป็นผู้ปรุงแต่ง จิตเป็นผู้รับรู้การปรุงแต่งนั้น)

5. วิญญาณ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่รับรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่ 1. ถึง 4. ครับ

คือสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ข้อ 1. - 4. นั้น เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นมา ถ้าไม่มีวิญญาณก็จะไม่มีสิ่งที่รับรู้สภาวะเหล่านั้นเลย ลองสังเกตให้ดีนะครับ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ามีการรู้สึกถึงสิ่งเหล่านั้น ก็แสดงว่าจะต้องมีผู้ที่เข้าไปรับรู้สิ่งเหล่านั้นเสมอ ถ้าไม่มีผู้ที่เข้าไปรับรู้แล้วก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย

ต้องทำใจให้สงบแล้วลองสังเกตดูนะครับ จะเห็นว่ามีส่วนที่เป็นผู้รู้ (วิญญาณ หรือ จิต) และส่วนที่ถูกรู้ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร รวมทั้งตัววิญญาณเองที่ถูกรับรู้โดยวิญญาณด้วย) อยู่ด้วยกันเสมอ เรื่องนี้อธิบายให้เข้าใจได้ยาก ต้องสังเกตจนรับรู้ได้เองถึงจะเข้าใจได้ชัดเจนจริงๆ

ไม่ทราบว่าเข้าใจหรือเปล่านะครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ขันธ์ 5 (เพิ่มเติม 2)

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: พอเข้าใจ แต่ยังแยกไม่ออกค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับคำอธิบาย

ตอนนี้เข้าใจมากขึ้นตอนคำว่า "ส่วนส่ง" กับ "ส่วนรับ" นี่แหละค่ะ แต่ยังแยกไม่ออก มันเหมือนกับวิญญาณขันธ์ผสมเป็นเนื้อเดียวกับสี่ส่วนข้างหน้าเลยหน่ะค่ะ

จะลองไปปฏิบัติ (สังเกตอย่างละเอียด) ทุกครั้งที่รู้ตัวค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

การแยกขันธ์ต่างๆ ออกจากกันได้ด้วยปัญญาของตนเองอย่างแท้จริงนั้น (คือด้วยความรู้สึกของเราเอง) จัดเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ ด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการสังเกตที่ละเอียดซักหน่อย


แผนภูมิแสดงขันธ์ 5


โดยความเป็นจริงแล้วนามขันธ์ทั้ง 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้น จะเจือกันอยู่ แต่แยกกันทำหน้าที่ครับ โดยวิญญาณขันธ์จะทำหน้าที่เป็นตัวรู้ ถ้าจับความรู้สึกไปที่ตัวผู้รู้ได้ ก็จะแยกส่วนที่เป็นตัวถูกรู้ออกได้ครับ

หมายถึงแยกให้เห็นการทำหน้าที่ที่แตกต่างกันนะครับ ไม่ใช่แยกส่วนเอาไว้คนละกองจริงๆ เพราะทั้ง 4 ขันธ์จะเจือกันอยู่เสมอครับ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน อยู่ในที่เดียวกันตลอดครับ เพียงแต่ว่าในเวลานั้นตัวไหนจะแสดงบทบาทเด่นกว่ากันเท่านั้น

ขั้นแรกลองแยกระหว่างรูปกับนามดูก่อนนะครับ เช่น เวลาได้ยินเสียง ลองเพ่งความรู้สึกไปที่แก้วหู สังเกตดูจะรู้สึกได้ว่ามีเสียงมากระทบแก้วหู (ทั้งเสียงและแก้วหู รวมทั้งเส้นประสาทรับเสียงเป็นรูป) และมีผู้รับรู้เสียงนั้น (โสตวิญญาณ คือวิญญาณในขณะทำหน้าที่รับรู้เสียง) เกิดขึ้นที่ระบบประสาทรับเสียงที่แก้วหูนั้น พร้อมกับนามขันธ์อื่นๆ คือ เวทนา สัญญา และสังขารขันธ์

เมื่อแยกรูปออกจากนามได้แล้ว ก็ลองแยกเวทนา สัญญา และสังขารขันธ์ ออกจากวิญญาณขันธ์ (ผู้รู้) ต่อไป โดยพยายามหาความรู้สึกที่เป็นผู้รู้ให้เจอ แล้วสังเกตผู้รู้นั้นให้ดี ก็จะแยกนามขันธ์อื่นที่เป็นผู้ถูกรู้ออกมาได้

คำว่า "ส่วนส่ง" กับ "ส่วนรับ" นี่ไม่ทราบว่าหมายถึงผู้ถูกรู้ กับผู้รู้หรือเปล่าครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ



เรียนคุณธัมมโชติ

ขออภัยเรื่องใช้ศัพท์ตามอำเภอใจไปนิดนึงนะคะ แต่ก็หมายความเช่นนั้นค่ะ คือ "ตัวส่ง" ก็ตั้งใจหมายถึง "ผู้ถูกรู้" "ตัวรับ" ก็ตั้งใจว่าจะพูดถึง "ผู้รู้" นั่นแหละค่ะ



การกล่าวตู่พระอรหันต์

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ได้อ่านมาว่า นกที่ถ่ายอุจจาระรดหลังคาโบสถ์ แม้ทำไปโดยไม่รู้ตามประสาสัตว์ แต่ก็เป็นบาป ต้องรับวิบากกรรมหนักหรือครับ

และหากเราไม่เจตนา แต่เพราะไม่รู้หรือเข้าใจผิด พลั้งสงสัยในพระธรรม หรือในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบ เป็นบาปหนักไหมครับ และมีวิธีแก้บาปอย่างไร

ขอบคุณมากครับ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องนกถ่ายรดหลังคาโบสถ์นี่ผมไม่ทราบนะครับ ไม่ทราบว่ามีที่มายังไง เพราะปรกติกรรมนั้นจะเน้นที่เจตนา ถ้านกมีเจตนาลบหลู่ก็เป็นบาปแน่ครับ แต่ถ้ามันไม่รู้คือมีเจตนาเพียงแค่จะปลดทุกข์ตามธรรมชาติของมัน โดยไม่รู้ว่าโบสถ์คืออะไร อันนี้ก็ไม่ทราบนะครับว่าจะเป็นบาปหรือเปล่า ไม่กล้ายืนยันครับ

แต่กรณีที่เราไม่เจตนา แต่เพราะไม่รู้หรือเข้าใจผิด พลั้งสงสัยในพระธรรม หรือในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบ เรื่องนี้มีในพระไตรปิฎกครับ เป็นบาปมากน้อยขึ้นกับผู้ที่ถูกเราสงสัยหรือตู่ด้วยคำไม่จริงนั้น คือถ้าผู้นั้นเป็นพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าก็บาปมาก ถ้าเป็นปุถุชนก็บาปน้อยลงไปครับ

ถ้าสงสัยในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็คงเทียบเท่ากับสงสัยพระพุทธเจ้านะครับ ถ้าแค่สงสัยพระธรรมว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่ (คือไม่เข้าใจ เลยยังไม่รับ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ) ไม่ได้คิดว่าสอนผิดก็คงไม่เป็นอะไรมาก ที่เห็นผลได้ชัดเจนก็คือ ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น

แต่ถ้าถึงขั้นคิดว่าสอนผิดไปเลยก็คงหนักหน่อย (ถ้าเรื่องนั้นเป็นพุทธพจน์จริงๆ ไม่ใช่มีการคลาดเคลื่อน หรือบิดเบือนนะครับ) ตัวอย่างเช่น
  1. ตอนที่พระสารีบุตรเข้าเฝ้าและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าครั้งแรกนั้น พอทรงแสดงธรรมเสร็จพระพุทธเจ้าถามว่าเชื่อหรือเปล่า คนอื่นๆ บอกว่าเชื่อกันหมด แต่พระสารีบุตรกลับตอบว่าไม่เชื่อ คนอื่นก็มองพระสารีบุตรในทางที่ไม่ดี พระสารีบุตรให้เหตุผลว่าขอนำไปพิจารณาให้ดีซะก่อน ถ้าเห็นว่าสมควรเชื่อก็ถึงจะเชื่อ พระพุทธเจ้าก็ให้สาธุการในเรื่องนี้ ตรัสทำนองว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา ไม่ได้ตรัสว่าเป็นบาปกรรมแต่อย่างใด

  2. ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าพระองค์ที่แล้ว) พระโพธิสัตว์ ซึ่งตอนนั้นมีชื่อว่าโชติปาละ (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน) เคยกล่าวตู่พระกัสสปพุทธเจ้าเอาไว้ ด้วยกรรมนั้น (การกล่าวตู่พระอรหันต์ด้วยคำไม่จริง เป็นกรรมที่ขัดขวางต่อสวรรค์ และมรรคผลนิพพาน) ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะต้องทำความเพียรอยู่ถึง 6 ปี ถึงได้ตรัสรู้ ทั้งๆ ที่บารมีเต็มรอบแล้ว ดังความในพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ 214 (ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏฯ - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๗๗ ข้อ : ๙๒) ดังนี้

    ก็ในกาลนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อโชติปาละ ได้กล่าวกะพระกัสสปสุคตเจ้าว่า การตรัสรู้ของสมณะโล้น (หมายถึงพระกัสสปพุทธเจ้านะครับ - ธัมมโชติ) จักมีมาแต่ไหน การตรัสรู้เป็นของได้ยากยิ่ง. เพราะวิบากของกรรมนั้น เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมาย อยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง ๖ ปี จากนั้นจึงได้บรรลุพระโพธิญาณ.

    เราไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุดโดยหนทางนั้น (หมายถึงไม่ได้บรรลุเพราะการทำทุกรกิริยาอันเป็นทางผิดนั้นนะครับ - ธัมมโชติ) เราถูกกรรมเก่าห้ามไว้ จึงได้แสวงหาโดยทางผิด.


  3. ในพระไตรปิฎก (อาจอยู่ในส่วนของอรรถกถานะครับ) มีกล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งได้คิดในใจถึงพระอรหันต์รูปหนึ่ง (เดินไปด้วยกัน) ทำนองว่าได้ทำอะไรอย่างหนึ่งด้วยอำนาจของกิเลส (ขออภัยที่ผมจำรายละเอียดไม่ได้แล้วครับ) พระอรหันต์รูปนั้นรู้วาระจิต ต้องการจะสงเคราะห์ภิกษุรูปนั้น จึงได้ถามทำนองว่าท่านบวชมานี่มีอะไรเป็นที่พึ่งหรือยัง

    ภิกษุรูปนั้นตอบว่า ผมเป็นโสดาบันครับ พระอรหันต์จึงถามทำนองว่า ท่านไม่ต้องการมรรคผลขั้นสูงขึ้นไปหรือ (โปรดสังเกตว่าแม้ว่าเป็นโสดาบันแล้ว และเพียงแค่คิด ก็ยังเป็นบาปขวางมรรคผลเลยนะครับ) ภิกษุรูปนั้นจึงรู้ได้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ จึงได้รีบขอขมา และขอให้ท่านยกโทษให้ครับ

วิธีแก้ไข

ถ้าท่านผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่ ก็ไปสารภาพผิดกับท่าน (ต้องสำนึกผิดด้วยใจจริงนะครับ) แล้วขอให้ท่านยกโทษให้ เมื่อท่านยกโทษให้แล้วก็พ้นผิด (ถ้าจะยังมีบาปเหลืออยู่ก็น้อยมากครับ) ดังเช่นตัวอย่างข้างต้น

ถ้าท่านผู้นั้นมรณภาพไปแล้ว ขั้นแรกก็ต้องสำนึกผิดจากใจจริงซะก่อน จากนั้นก็อธิษฐานจิตขอขมาท่าน ขอให้ท่านยกโทษให้ ถ้ามีสิ่งแทนท่านอยู่ เช่น อัฐิธาตุ เจดีย์ รูปภาพ ฯลฯ ก็ควรทำต่อหน้าสิ่งเหล่านั้นนะครับ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นก็ควรมีดอกไม้ ธูป เทียน ประกอบด้วยครับ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการสำนึกผิดอย่างแท้จริง

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

23 ความคิดเห็น :

  1. เรียน ท่านอาจารย์ธรรมโชติ
    ผมเกิดความสับสนที่อาจารย์ได้ตอบคำถามในเรื่องขันธ์ 5 ว่า "ทั้งเสียงและแก้วหู รวมทั้งเส้นประสาทรับเสียงเป็นรูป"
    เท่าที่ผมเข้าใจ อายตะ 12 แบ่งออกเป็น 6 คู่ โดยอายตนะภายนอกนั้นได้แยกรูปกับเสียงออกจากกัน จึงไม่เข้าใจที่อาจารย์กล่าวว่า "เสียงเป็นรูป"
    รบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายให้ผมด้วยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      คำว่า "รูป" ในที่นี้หมายถึงรูปขันธ์หรือรูปธรรมนะครับ ไม่ใช่รูปารมณ์หรือรูปายตนะ

      สรรพสิ่งทั้งหลายในอนันตจักรวาลนั้น แยกประเภทได้เป็น 3 ส่วน คือ รูปขันธ์, นามขันธ์ และนิพพาน

      รูปขันธ์ คือส่วนที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ได้แก่ สสารทั้งหลาย แสง สีทั้งหลาย เสียง กลิ่น รส ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความหย่อน ความตึง อาการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ช่องว่างต่างๆ อากาศ ดิน น้ำ ไฟ ลม สภาพแห่งความเป็นหญิง เป็นชาย เนื้อสมองและระบบของเส้นประสาททั้งหลาย อันเป็นฐานให้จิตเกิด รวมทั้งอาการแห่งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของวัตถุทั้งหลายด้วยครับ

      นามขันธ์ คือส่วนที่เป็นความรู้สึกนึกคิด และความคิดทั้งหลายครับ ได้แก่ เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ หรือจิต

      นิพพาน คือสภาวะที่พ้นจากรูปขันธ์และนามขันธ์ทั้งปวง

      คือ อายตนะภายนอก 6 อย่างนั้น 5 อย่างแรกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่มาสัมผัสทางกาย) ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์ครับ ส่วนอายตนะภายนอกอันสุดท้ายคือ ธัมมายตนะ จะมีทั้งส่วนที่เป็นรูปขันธ์และส่วนที่เป็นนามขันธ์ครับ

      ส่วนอายตนะภายใน 5 อย่างแรกคือ จักขายตนะ (ประสาทตา), โสตายตนะ (ประสาทหู), ฆานายตนะ (ประสาทรับกลิ่น), ชิวหายตนะ (ประสาทรับรส) และกายายตนะ (ประสาทตามผิวกาย) ก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์เช่นกันครับ

      คำว่าประสาทตา ... จนถึง ... ประสาทตามผิวกาย ในที่นี้หมายถึงระบบของเส้นประสาท ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายจริงๆ นะครับ ไม่ใช่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ จุดของประสาทส่วนนั้นๆ ซึ่งเป็นส่วนของจิตใจ (ประสาทเป็นรูปขันธ์ ส่วนความรู้สึกที่เกิดที่ระบบประสาทนั้นเป็นนามขันธ์ครับ)

      อายตนะภายในอันสุดท้ายคือ มนายตนะ (จิตหรือใจ ซึ่งเป็นผู้สัมผัสกับความคิด ความรู้สึกต่างๆ) เป็นนามขันธ์ครับ

      อ่านรายละเอียดได้ที่ 2 ลิ้งค์นี้นะครับ

      1. ขันธ์ 5
      2. อายตนะ 12

      ลบ
  2. เป็นความสับสนของผมเองในเรื่องรูปขันธ์และรูปายตนะ ตอนนี้เข้าใจแล้ว ขอบคุณมากครับอาจารย์

    ตอบลบ
  3. หมอฉัตร เนติฯ15 ตุลาคม 2562 เวลา 08:02

    เทวดาก็เจ็บป่วยได้ด้วยหรือครับ
    เพราะคาถาสักกัตวา พระพุทธเจ้าประทานให้เทพบุตรอุณหิสวิช้ยให้หายเจ็บป่วย มีชีวิตอยู่บนสวรรค์ได้ต่อไปอีก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      เรื่องนี้เป็นเรื่องของสุปติฏฐิตเทพบุตรซึ่งกำลังจะหมดบุญ แล้วจะต้องไปเกิดในอบายภูมิเพื่อใช้กรรมเก่าน่ะครับ

      ใน ปัญจปุพพนิมิตตสูตร พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๔๗
      พระพุทธเจ้าทรงแสดงบุพพนิมิต ๕ ประการ ของเทวดาที่กำลังจะหมดบุญ (สิ้นชีวิต) เอาไว้ดังนี้ครับ

      ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
      ว่าด้วยบุพพนิมิต ๕ ประการ
      [๘๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
      กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
      “ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่เทพบุตรจะจุติจากหมู่เทพ ย่อมปรากฏบุพพนิมิต
      ๕ ประการ คือ
      ๑. ดอกไม้ที่ประดับเหี่ยวแห้ง
      ๒. พัสตราภรณ์ที่สวมใส่หมองจางลง
      ๓. เหงื่อไหลออกจากรักแร้
      ๔. ผิวพรรณเศร้าหมองปรากฏที่กาย
      ๕. เทพบุตรนั้นจะหมดความยินดีในทิพยสมบัติของตน

      สิ่งเหล่านี้คืออาการที่เกิดกับสุปติฏฐิตเทพบุตรในขณะนั้นครับ

      เมื่อสุปติฏฐิตเทพบุตรได้ฟังบทสักกัตวาแล้ว ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านจึงจุติ (สิ้นชีวิต) จากอัตตภาพเดิมที่กำลังจะหมดบุญ แล้วเกิดใหม่ในที่นั้น คือได้ร่างที่ผ่องใสกลับมาเช่นเดิม และจะมีอายุต่อไปอีกยาวนานครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  4. หมอฉัตร เนติฯ19 ตุลาคม 2562 เวลา 19:44

    กราบเรียนถามว่า
    ก. บทสวดมนต์สัมพุทเธเป็นบทสรรเสริญพระพุทธเจ้า 3,585,192 พระองค์ ทำไมในบทสวดมนต์ ต้องแบ่งสรรเสริญเป็น 3 ช่วงครับ
    ข. พระพุทธเจ้ามีเพียง 3,585,192 องค์หรือครับ
    ค. สัมพุทเธมีที่มาจากไหนครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขออภัยด้วยครับ ผมไม่มีข้อมูลเรื่องนี้เลยครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  5. หมอฉัตร เนติ22 ตุลาคม 2563 เวลา 17:08

    ทานที่หวังในอามิส ผลของทานจะถูกตัด
    มีเกณฑ์ใดว่า สิ่งใดเป็นอามิสบ้างครับ
    เช่น 1. ถ้าก่อนใส่บาตรพระ อธิษฐานว่าขอให้รวย อย่างนี้ ผลของทานที่ตักบาตรก็จะไม่ได้บุญเลย ใช่ไหมครับ
    2. ถ้าก่อนใส่บาตรพระ อธิษฐานให้อยู่เย็นเป็นสุข หรือให้ถึงซึ่งพระนิพพาน อย่างนี้อธิษฐานได้ใช่ไหมครับ
    หรือทำทานแล้ว ไม่ควรอธิษฐานใด ๆ เลยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. ขออธิบายหลักการพื้นฐานก่อนนะครับ

      ทาน คือการสละออก คือสภาวจิตที่ประกอบด้วยอโลภะ (ตรงข้ามกับโลภะ) ผลของทานโดยตรงคือการขัดเกลากิเลสประเภทโลภะ คือความโลภ ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดเอาไว้ ความเกาะเกี่ยวติดข้องของจิต ความทะยานอยาก

      ทานเป็นจิตที่เป็นมหากุศล ส่วนโลภะเป็นอกุศล

      บุญคือธรรมชาติที่ทำให้จิตผ่องใส

      เครื่องเศร้าหมองของจิตก็คือกิเลสทั้งหลาย หลักๆ ก็ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ดังนั้น การทำบุญก็คือการกำจัด ขัดเกลา หรือลดละโลภะ โทสะ โมหะ นั่นเองครับ ผลที่ได้คือความผ่องใสของจิต

      การให้ทานโดยหวังสิ่งต่างๆ เช่น ความร่ำรวย การเกิดในสวรรค์ ฯลฯ ซึ่งเป็นโลภะ ผลก็คือจิตจะเป็นมหากุศลสลับกับอกุศล ผลของทานที่ได้ย่อมไม่เต็มที่ครับ คือในขณะที่จิตน้อมไปในการสละออกก็จะได้บุญ แต่ในขณะที่จิตน้อมไปในความอยากก็จะเป็นอกุศล เป็นความเศร้าหมอง

      คือไม่ถึงกับไม่ได้บุญเลย เพียงแต่ได้บุญไม่เต็มที่เท่านั้นครับ เรียกว่าอกุศล (คือความอยากได้) เป็นปัจจัยให้เกิดมหากุศล (คือการให้ทาน) ยังไงก็ยังดีกว่าไม่ให้ทานเลยครับ และเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ทานที่สูงขึ้นไปในอนาคตด้วยครับ ส่วนจะได้บุญมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นกับว่าจิตน้อมไปในการสละออก หรือในโลภะมากน้อยเท่าไหร่ครับ

      ส่วนการอธิษฐานให้อยู่เย็นเป็นสุข หรือให้ถึงซึ่งพระนิพพานนั้น เป็นความรู้สึกที่ต้องแยกแยะให้ดีครับว่าเป็นกุศลหรืออกุศล

      ถ้าอธิษฐานให้อยู่เย็นเป็นสุขโดยน้อมไปในลักษณะโลภะ เช่น อยากได้หรืออยากอยู่ในสภาวะเช่นนั้น (จิตประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในสภาวะนั้น) อย่างนี้เป็นอกุศลนะครับ

      แต่ถ้าเป็นการน้อมจิตไปในความอยู่เย็นเป็นสุขที่เกิดจากการปล่อยวาง คลายความยึดมั่นจากสิ่งทั้งปวง น้อมจิตไปในการสละคืนสิ่งทั้งปวงออกไป โดยไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในสภาวะใดๆ เลย เหมือนเราแบกของหนักอยู่ แล้วคิดว่าจะแบกให้หนักอยู่ทำไม แล้ววางของนั้นลง แล้วย่อมได้รับความรู้สึกเบาสบาย แต่ไม่ยึดมั่นกับความเบาสบายนั้น แต่ก็รู้ว่าวางลงก็เบา แบกไว้ก็หนัก เป็นเหตุเป็นผลกันอยู่เช่นนี้ อย่างนี้จิตย่อมไม่ประกอบด้วยโลภะครับ

      การอธิษฐานให้ถึงซึ่งพระนิพพานก็เช่นเดียวกันครับ ถ้าน้อมจิตไปในลักษณะโลภะ เช่น อยากได้พระนิพพาน อยากนิพพาน ยึดมั่นถือมั่นในพระนิพพาน อย่างนี้ก็เป็นอกุศลครับ

      แต่ถ้าให้ทานเพื่อฝึกจิตให้คลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป ซึ่งเป็นสภาวะของพระนิพพาน (นิพพาน = นิ+วานะ, นิ = ออกจาก, วานะ = เครื่องร้อยรัดคือตัณหา, นิพพาน = ออกจากตัณหา คือพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง) โดยไม่ยึดมั่นแม้ในพระนิพพาน อย่างนี้จิตย่อมไม่ประกอบด้วยโลภะเช่นกันครับ

      อธิษฐานในลักษณะเป็นจุดหมายในการเดินทาง คือพิจารณาว่าทางนี้เป็นทางที่ดี ที่เหมาะสม แล้วก็สร้างเหตุสร้างปัจจัยไปในทางนั้นนะครับ คือเดินทางด้วยเหตุด้วยผล ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยความโลภ ความอยากได้นะครับ บุญกุศลที่ได้ก็จะไม่ถูกอกุศลมาลดทอนขณะแห่งมหากุศลลงไปครับ

      ถ้าไม่อธิษฐานเลย ไม่ว่าอธิษฐานแบบเจาะจง (คืออธิษฐานในขณะให้ทานครั้งนั้น) หรืออธิษฐานแบบรวมๆ (คือการตั้งเป้าหมายในการใช้ชีวิตปกติ ระยะยาว) ก็จะเหมือนเรือที่ขาดหางเสือ ชีวิตก็จะดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะได้นะครับ

      การให้ทานที่เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว คือขัดเกลาทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ก็ทำได้นะครับ

      คือการให้ทานโดยไม่ประกอบด้วยโลภะ (อย่างที่อธิบายไปแล้ว) แต่เป็นการให้ทานเพื่อสละออกจริงๆ ไม่ยึดแม้กระทั่งว่าหลังจากให้ไปแล้วของสิ่งนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่คิดว่าเป็นบุญคุณ ไม่หวังการตอบแทนใดๆ จากใครๆ

      การให้ทานด้วยเมตตา เพื่อขัดเกลาโทสะ เป็นการให้ทานด้วยเจตนาเพื่อประโยชน์สุขของผู้รับอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ให้ คือน้อมใจไปที่ความสุขของผู้รับ ทำใจเหมือนการแผ่เมตตาว่าจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด

      การให้ทานด้วยการพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความไม่อยู่ในอำนาจ ความแปรผันไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ ทั้งตัวผู้ให้ ของที่ให้ ตัวผู้รับ และสิ่งอื่นๆ ทั้งหลาย แล้วน้อมใจไปที่ความพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง เพื่อขัดเกลาโมหะ

      ถ้าทำได้ครบถ้วนตามนี้อานิสงส์ย่อมไพบูลย์แน่นอนครับ

      ส่วนคำถามที่ว่า มีเกณฑ์ใดว่า สิ่งใดเป็นอามิสบ้างนั้น เกณฑ์ง่ายๆ ก็คืออย่าให้มีกิเลสใดๆ มาเจือปนการให้ทานนั้นนะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  6. หมอฉัตร เนติ23 ตุลาคม 2563 เวลา 07:33

    กราบสาธุในคำตอบและความกรุณาของท่านบรรณาธิการที่ให้ธรรมทานแก่ผมด้วยความกระจ่างทุกคำถามที่เรียนถามทุกครั้ง ซึ่งจะได้นำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธวจนะต่อไป
    ขอเรียนถามอีกเรื่องครับ
    ตามที่พุทธวจนะตรัสไว้ว่า ก่อนตาย ถ้าได้ฟังคำตถาคต จะละสังโยชน์๕ได้และได้ไปสู่สุคติ ไม่ไปสู่อบายภูมิ
    1. หมายถึงว่า คนใกล้ตายต้องมีความซาบซึ้งในพุทธวจนะนั้นด้วย ถึงบังเกิดผล ใช่ไหมครับ หรือว่า ได้ผลหมดทุกคน เพราะในพระไตรปิฏกพูดสั้น ๆ และตายไปหลังฟังคำตถาคตได้อานิสงค์เพียงใดครับ
    2. ถ้าเรานำเทปพุทธวจนะไปให้คนใกล้ตายฟัง ก็ได้ผลใช่ไหมครับ และพุทธวจนะบทใดที่สมควรนำไปให้คนใกล้ตายฟัง
    3. เห็นว่าเวลาคนใกล้ตาย ควรอยู่ในที่สงบ เพื่อเขาจะได้มีสมาธิน้อมจิตไปในทางกุศล เพื่อไปสู่คติ ญาติไม่ควรไปรบกวนเขา ไม่ควรไปพูดอาลัยอาวรณ์หรือไปพูดเรื่องใด ๆ ตอนเขาใกล้ตาย ไม่ควรแม้แต่ไปขออโหสิกรรม ควรให้เขาสงบ ๆ ก่อนตาย เพื่อจะได้ไม่มีจิตห่วงใยลูกหลานหรือกังวลเรื่องใด ๆ จะได้มีสมาธิน้อมจิตไปทางกุศลในช่วงนั้น ใช่ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เรื่องของสภาวจิตและคติหรือภพภูมิอันเป็นที่ไปเกิดนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ใน วัตถูปมสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๖๒ ดังนี้ครับ

      "ภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมผ้าจะพึงนำผ้าที่สกปรก เปรอะเปื้อน ใส่ลงในน้ำย้อมสี คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้าผืนนั้นจะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ไม่ดี มีสีไม่สดใส ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าที่ไม่สะอาด แม้ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

      ช่างย้อมผ้า จะพึงนำผ้าที่สะอาดหมดจด ใส่ลงในน้ำย้อมสี คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้าผืนนั้นจะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ดี มีสีสดใส ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าที่สะอาด แม้ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน"

      เครื่องเศร้าหมองของจิตก็คือโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าแยกย่อยก็ได้แก่อุปกิเลสแห่งจิต ๑๖ ชนิด นั่นเองครับ

      จากคำถามที่ว่า ตามที่พุทธวจนะตรัสไว้ว่า ก่อนตาย ถ้าได้ฟังคำตถาคต จะละสังโยชน์๕ได้และได้ไปสู่สุคติ ไม่ไปสู่อบายภูมิ
      1. หมายถึงว่า คนใกล้ตายต้องมีความซาบซึ้งในพุทธวจนะนั้นด้วย ถึงบังเกิดผล ใช่ไหมครับ หรือว่า ได้ผลหมดทุกคน เพราะในพระไตรปิฏกพูดสั้น ๆ และตายไปหลังฟังคำตถาคตได้อานิสงค์เพียงใดครับ

      >>> ตรงนี้ต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนนะครับ ว่าพระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของผู้ฟัง และทรงทราบว่าใครสร้างสมบุญบารมีมาทางไหน มากน้อยเพียงใด พร้อมที่จะบรรลุธรรมหรือยัง และควรแสดงธรรมอะไรโปรด หลายครั้งมากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นเนื้อหาที่ทรงแสดงก็จะตรงกับผู้ฟังท่านนั้นๆ แต่อาจจะให้ผลต่างออกไปสำหรับผู้ที่มีอินทรีย์อ่อนกว่า

      อย่างในประเด็นที่ว่า "ก่อนตาย ถ้าได้ฟังคำตถาคต จะละสังโยชน์ ๕ ได้" สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 อย่างนั้น จะถูกทำลายได้ด้วยอนาคามีมรรคนะครับ ถ้าคนที่สร้างสมบุญบารมีมายังไม่ถึงขั้นนั้น ถึงฟังพระไตรปิฎกจนจบทั้ง 3 ปิฎก ก็ยังไม่สามารถทำลายสังโยชน์ 5 ได้ครับ แต่ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้สามารถทำลายได้ในโอกาสต่อๆ ไป

      ประเด็นนี้น่าจะเป็นการแสดงธรรมโปรดคนที่บารมีเต็มรอบ พร้อมที่จะบรรลุอนาคามีมรรค อนาคามีผลแล้วนะครับ

      ส่วนประเด็นที่ว่า "ได้ไปสู่สุคติ ไม่ไปสู่อบายภูมิ" อันนี้จากวัตถูปมสูตร ก็จะชัดเจนนะครับว่า ถ้าผู้ฟังเกิดกุศลจิตขึ้นมาจากการฟังธรรมนั้น เช่น เกิดศรัทธา ปัญญา ปีติ ฯลฯ จิตในขณะใกล้ตายนั้นย่อมผ่องใส ปราศจากกิเลส เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติก็เป็นอันหวังได้ครับ

      แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้ฟังเกิดอกุศลจิตขึ้นมา เช่น ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ ลบหลู่ ฯลฯ เมื่อจิต
      เศร้าหมอง ทุคติก็เป็นอันหวังได้นะครับ

      ประเด็นที่ว่า "ตายไปหลังฟังคำตถาคตได้อานิสงค์เพียงใด" ก็ขึ้นกับว่าฟังแล้วสภาวจิตเป็นอย่างไรนะครับ

      ขั้นสูงเลยก็คือฟังแล้วเกิดปัญญาเห็นแจ้งแทงตลอดในสัจจธรรม รู้ชัดตามความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่น เพราะความไม่เที่ยง แปรปรวน ไม่อยู่ในอำนาจ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทำลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงไปได้ กิเลสทั้งหลายไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกต่อไป ก็ย่อมบรรลุเป็นพระอรหันต์ไปพร้อมกับความตาย เป็นชีวิตสมสีสี เลยครับ

      ขั้นกลางๆ ฟังแล้วเกิดศรัทธา เลื่อมใส จิตใจผ่องใสปราศจากกิเลส ก็ย่อมไปเกิดในสุคติภูมินะครับ

      ขั้นต่ำๆ ฟังแล้วไม่เชื่อ ลบหลู่ โกรธ ขัดเคืองใจ ไม่พอใจ จิตใจพลุ่งพล่านไปด้วยกิเลส ก็ย่อมไปสู่ทุคติภูมิแทนครับ

      คนเราสร้างสมมาไม่เหมือนกัน ผ่านเหตุปัจจัยมาต่างกัน ถึงเจอเหตุการณ์อย่างเดียวกันก็อาจได้รับผลตรงกันข้ามกันได้ครับ

      ลบ
    2. 2. ถ้าเรานำเทปพุทธวจนะไปให้คนใกล้ตายฟัง ก็ได้ผลใช่ไหมครับ และพุทธวจนะบทใดที่สมควรนำไปให้คนใกล้ตายฟัง

      >>> จะใช้สื่ออะไรก็ได้ครับที่คนฟังรับได้ เข้าใจความหมาย ส่วนจะเป็นพุทธวจนะบทใดที่สมควรนำไปให้คนใกล้ตายฟังนั้น ความจริงก็ขึ้นกับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ จริต ลักษณะนิสัย อินทรีย์ ประสบการณ์ชีวิตของผู้ฟังนะครับ

      ถ้าคนฟังกำลังเป็นห่วง กังวลถึงลูกหลาน ก็อาจเลือกบทที่ทำให้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ในภพปัจจุบัน หรือบทที่แสดงให้เห็นว่าแต่ละชีวิตย่อมอยู่ได้ด้วยผลบุญของตน

      ถ้าคนฟังกลัวความตาย ก็อาจเลือกบทพวกวิมานวัตถุ (พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ) ที่แสดงถึงผลของบุญที่ทำให้ไปเกิดในวิมานต่างๆ ก็ได้ครับ

      ถ้าคนฟังปฏิบัติธรรมมามาก ก็อาจเลือกธรรมะที่สูงขึ้นไป เช่น โพชฌงค์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร ไปเลยก็ได้ครับ

      3. เห็นว่าเวลาคนใกล้ตาย ควรอยู่ในที่สงบ เพื่อเขาจะได้มีสมาธิน้อมจิตไปในทางกุศล เพื่อไปสู่คติ ญาติไม่ควรไปรบกวนเขา ไม่ควรไปพูดอาลัยอาวรณ์หรือไปพูดเรื่องใด ๆ ตอนเขาใกล้ตาย ไม่ควรแม้แต่ไปขออโหสิกรรม ควรให้เขาสงบ ๆ ก่อนตาย เพื่อจะได้ไม่มีจิตห่วงใยลูกหลานหรือกังวลเรื่องใด ๆ จะได้มีสมาธิน้อมจิตไปทางกุศลในช่วงนั้น ใช่ไหมครับ

      >>> ก็ขึ้นกับแต่ละบุคคลนะครับ ถ้าคนนั้นมีพื้นฐานที่ดีพอ รักษาจิตของตนได้ และเห็นว่าเขามีสมาธิน้อมจิตไปทางกุศลได้เองแล้ว ก็ควรปล่อยให้อยู่ในความสงบ ไม่ไปรบกวนเขาครับ

      แต่ถ้าเป็นคนที่รักษาจิตไม่ได้ ก็ควรจะช่วยให้จิตเขาเป็นกุศลให้มากที่สุดนะครับ ขืนปล่อยให้อกุศลเข้าครอบงำก็คงไม่พ้นอบายภูมินะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  7. หมอฉัตร เนติ29 ตุลาคม 2563 เวลา 16:17

    ในพระสูตรมีกล่าวถึงอิทธิปาฏิหาร์ยและหน้าที่ของเทวดาอย่างไรบ้างไหมครับ
    และการที่เทวดาปกปักรักษาเมืองหรือปกปักรักษาเรามีจริงหรือไม่ หรือเหตุการณ์ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎอิทัปปจัตตา

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. ตัวอย่างที่น่าจะครอบคลุมคำถามทั้งหมด (ผมไม่ค่อยเคลียร์ประเด็นที่ถาม) ก็มีเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐีนะครับ

      แต่เรื่องนี้ในพระไตรปิฎกมีเฉพาะคำสอนของพระพุทธเจ้านะครับ เรื่องราวรายละเอียดที่เกิดขึ้นจะอยู่ในอรรถกถา คือเป็นการอธิบายโดยอาจารย์รุ่นหลังอีกที รายละเอียดดังนี้ครับ

      อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
      พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘

      ๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
      เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี
      (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิต
      อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี ดังนี้)
      [๑๑๙] ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
      ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
      แต่เมื่อใด บาปให้ผล
      เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
      [๑๒๐] ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
      ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
      แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล
      เมื่อนั้นคนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้

      ลบ
    2. ส่วนอรรถกถานั้นอธิบายตามนี้ครับ

      อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙

      ๔. เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี [๙๘]
      ข้อความเบื้องต้น
      พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่ออนาถบิณฑิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ" เป็นต้น.

      ท่านเศรษฐีบำรุงภิกษุสามเณรเป็นนิตย์
      ความพิสดารว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีจ่ายทรัพย์ตั้ง ๕๔ โกฏิในพระพุทธศาสนาเฉพาะวิหารเท่านั้น, เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ไปสู่ที่บำรุงใหญ่ ๓ แห่งทุกวัน ก็เมื่อจะไป คิดว่า "สามเณรก็ดี ภิกษุหนุ่มก็ดี พึงแลดูแม้มือของเรา ด้วยการนึกว่า ‘เศรษฐีนั้นถืออะไรมาบ้าง’ ดังนี้ ไม่เคยเป็นผู้ชื่อว่ามีมือเปล่าไปเลย, เมื่อไปเวลาเช้าให้คนถือข้าวต้มไป บริโภคอาหารเช้าแล้วให้คนถือเภสัชทั้งหลาย มีเนยใส เนยข้นเป็นต้นไป, ในเวลาเย็น ให้ถือวัตถุต่างๆ มีระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้และผ้าเป็นต้น ไปสู่วิหาร ถวายทาน รักษาศีลอย่างนี้ทุกๆ วัน ตลอดกาลเป็นนิตย์ทีเดียว.

      การหมดสิ้นแห่งทรัพย์ของท่านเศรษฐี
      ในกาลต่อมา เศรษฐีย่อมถึงความสิ้นไปแห่งทรัพย์ ทั้งพวกพาณิชก็กู้หนี้เป็นทรัพย์ ๑๘ โกฏิจากมือเศรษฐีนั้น. เงิน ๑๘ โกฏิแม้เป็นสมบัติแห่งตระกูลของเศรษฐีที่ฝังตั้งไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำ เมื่อฝั่งพังลงเพราะน้ำ (เซาะ) ก็จมลงยังมหาสมุทร. ทรัพย์ของเศรษฐีนั้นได้ถึงความหมดสิ้นไปโดยลำดับ ด้วยประการอย่างนี้.

      เศรษฐีถวายทานตามมีตามได้
      เศรษฐีแม้เป็นผู้อย่างนั้นแล้ว ก็ยังถวายทานแก่สงฆ์เรื่อยไป, แต่ไม่อาจถวายทำให้ประณีตได้. ในวันหนึ่ง เศรษฐี เมื่อพระศาสดารับสั่งว่า "คฤหบดี ก็ทานในตระกูล ท่านยังให้อยู่หรือ?" กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ทานในตระกูล ข้าพระองค์ยังให้อยู่, ก็แลทานนั้น (ใช้) ข้าวปลายเกรียน มีน้ำส้มพะอูมเป็นที่ ๒."

      เมื่อมีจิตผ่องใสทานที่ถวายไม่เป็นของเลว
      ทีนั้น พระศาสดาตรัสกะเศรษฐีว่า
      "คฤหบดี ท่านอย่าคิดว่า ‘เราถวายทานเศร้าหมอง’ ด้วยว่าเมื่อจิตประณีตแล้ว ทานที่บุคคลถวายแด่พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าเศร้าหมองย่อมไม่มี,
      คฤหบดี อีกประการหนึ่ง ท่านได้ถวายทานแด่พระอริยบุคคลทั้ง ๘ แล้ว ส่วนเราในกาลเป็นเวลามพราหมณ์นั้น กระทำชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ให้พักไถนา ยังมหาทานให้เป็นไปอยู่ ไม่ได้ทักขิไณยบุคคลไรๆ แม้ผู้ถึงซึ่งไตรสรณะ ชื่อว่าทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย ยากที่บุคคลจะได้ด้วยประการฉะนี้, เพราะเหตุนั้น ท่านอย่าคิดเลยว่า ‘ทานของเราเศร้าหมอง’ ดังนี้แล้ว ได้ตรัสเวลามสูตร๑- แก่เศรษฐีนั้น.
      ____________________________
      ๑- องฺ. นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๒๔.

      ลบ

    3. เทวดาเตือนเศรษฐีให้เลิกการบริจาค
      ครั้งนั้น เทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูของเศรษฐี เมื่อพระศาสดาและสาวกทั้งหลายเข้าไปสู่เรือน ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้เพราะเดชแห่งพระศาสดาและพระสาวกเหล่านั้น คิดว่า "พระศาสดาและพระสาวกเหล่านี้จะไม่เข้าไปสู่เรือนนี้ได้ด้วยประการใด เราจะยุยงคฤหบดีด้วยประการนั้น" แม้ใคร่จะพูดกะเศรษฐีนั้น ก็ไม่ได้อาจเพื่อจะกล่าวอะไรๆ ในกาลที่เศรษฐีเป็นอิสระ คิดว่า "ก็บัดนี้เศรษฐีนี้เป็นผู้ยากจนแล้ว, คงจักเชื่อฟังคำของเรา" ในเวลาราตรี เข้าไปสู่ห้องอันเป็นสิริของเศรษฐี ได้ยืนอยู่ในอากาศ.
      ขณะนั้น เศรษฐีเห็นเทวดานั้นแล้วถามว่า "นั่นใคร?"
      เทวดา. มหาเศรษฐี ข้าพเจ้าเป็นเทวดาสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของท่าน มาเพื่อต้องการเตือนท่าน.
      เศรษฐี. เทวดา ถ้าเช่นนั้น เชิญท่านพูดเถิด.
      เทวดา. มหาเศรษฐี ท่านไม่เหลียวแลถึงกาลภายหลังเลย จ่ายทรัพย์เป็นอันมากในศาสนาของพระสมณโคดม, บัดนี้ ท่านแม้เป็นผู้ยากจนแล้ว ก็ยังไม่ละการจ่ายทรัพย์อีก เมื่อท่านประพฤติอย่างนี้ จักไม่ได้แม้วัตถุสักว่าอาหารและเครื่องนุ่งห่ม โดย ๒-๓ วันแน่แท้ ท่านจะต้องการอะไรด้วยพระสมณโคดม ท่านจงเลิกจากการบริจาคเกิน (กำลัง) เสีย แล้วประกอบการงานทั้งหลาย รวบรวมสมบัติไว้เถิด.
      เศรษฐี. นี้เป็นโอวาทที่ท่านให้แก่ข้าพเจ้าหรือ?
      เทวดา. จ้ะ มหาเศรษฐี.
      เศรษฐี. ไปเถิดท่าน, ข้าพเจ้าอันบุคคลผู้เช่นท่านแม้ตั้งร้อย ตั้งพัน ตั้งแสนคน ก็ไม่อาจให้หวั่นไหวได้ ท่านกล่าวคำไม่สมควร จะต้องการอะไรด้วยท่านผู้อยู่ในเรือนของข้าพเจ้า ท่านจงออกไปจากเรือนของข้าพเจ้าเร็วๆ.

      เทวดาถูกเศรษฐีขับไล่ไม่มีที่อาศัย
      เทวดานั้นฟังคำของเศรษฐีผู้เป็นโสดาบันอริยสาวกแล้ว ไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงพาทารกทั้งหลายออกไป, ก็แลครั้นออกไปแล้วไม่ได้ที่อยู่ในที่อื่น จึงคิดว่า "เราจักให้ท่านเศรษฐีอดโทษแล้วอยู่ในที่เดิมนั้น" เข้าไปหาเทพบุตรผู้รักษาพระนคร แจ้งความผิดที่ตนทำแล้ว กล่าวว่า "เชิญมาเถิดท่าน ขอท่านจงนำข้าพเจ้าไปยังสำนักของท่านเศรษฐี ให้ท่านเศรษฐีอดโทษแล้วให้ที่อยู่ (แก่ข้าพเจ้า)."
      เทพบุตรห้ามเทวดานั้นว่า "ท่านกล่าวคำไม่สมควร ข้าพเจ้าไม่อาจไปยังสำนักของเศรษฐีนั้นได้."
      เทวดานั้นจึงไปสู่สำนักของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ถูกท่านเหล่านั้นห้ามไว้ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช กราบทูลเรื่องนั้น (ให้ทรงทราบ) แล้วทูลวิงวอนอย่างน่าสงสารว่า "ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ไม่ได้ที่อยู่ ต้องจูงพวกทารกเที่ยวระหกระเหิน หาที่พึ่งมิได้ ขอได้โปรดให้เศรษฐีให้ที่อยู่แก่ข้าพระองค์เถิด."

      ท้าวสักกะทรงแนะนำอุบายให้เทวดา
      คราวนั้น ท้าวสักกะตรัสกะเทวดานั้นว่า "ถึงเราก็จักไม่อาจกล่าวกะเศรษฐี เพราะเหตุแห่งท่านได้ (เช่นเดียวกัน), แต่จักบอกอุบายให้แก่ท่านสักอย่างหนึ่ง."
      เทวดา. ดีละ เทพเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสบอกเถิด.
      ท้าวสักกะ. ไปเถิดท่าน จงแปลงเพศเป็นเสมียนของเศรษฐี ให้ใครนำหนังสือ (สัญญากู้เงิน) จากมือเศรษฐีมาแล้ว (นำไป) ให้เขาชำระทรัพย์ ๑๘ โกฏิที่พวกค้าขายถือเอาไป ด้วยอานุภาพของตนแล้ว บรรจุไว้ให้เต็มในห้องเปล่า, ทรัพย์ ๑๘ โกฏิที่จมลงยังมหาสมุทรมีอยู่ก็ดี, ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ส่วนอื่น ซึ่งหาเจ้าของมิได้ มีอยู่ในที่โน้นก็ดี, จงรวบรวมทรัพย์ทั้งหมดนั้น บรรจุไว้ให้เต็มในห้องเปล่าของเศรษฐี ครั้นทำกรรมชื่อนี้ให้เป็นทัณฑกรรมแล้ว จึงขอขมาโทษเศรษฐี.

      เศรษฐีกลับรวยอย่างเดิม
      เทวดานั้น รับว่า "ดีละ เทพเจ้า" แล้วทำกรรมทุกๆ อย่างตามนัยที่ท้าวสักกะตรัสบอกแล้วนั่นแล ยังห้องอันเป็นสิริของท่านเศรษฐีให้สว่างไสว ดำรงอยู่ในอากาศ เมื่อท่านเศรษฐีกล่าวว่า "นั่นใคร" จึงตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นเทวดาอันธพาล ซึ่งสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของท่าน, คำใดอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วในสำนักของท่านด้วยความเป็นอันธพาล ขอท่านจงอดโทษคำนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด เพราะข้าพเจ้าได้ทำทัณฑกรรมด้วยการรวบรวมทรัพย์ ๕๔ โกฏิ มาบรรจุไว้เต็มห้องเปล่า ตามบัญชาของท้าวสักกะ ข้าพเจ้าเมื่อไม่ได้ที่อยู่ ย่อมลำบาก."

      ลบ

    4. เศรษฐีอดโทษแก่เทวดา
      อนาถบิณฑิกเศรษฐีจินตนาการว่า "เทวดานี้กล่าวว่า ‘ทัณฑกรรม อันข้าพเจ้ากระทำแล้ว’ ดังนี้ และรู้สึกโทษ (ความผิด) ของตน เราจักแสดงเทวดานั้นแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า." ท่านเศรษฐีนำเทวดานั้นไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลกรรมอันเทวดานั้นทำแล้วทั้งหมด.
      เทวดาหมอบลงด้วยเศียรเกล้า แทบพระบาทยุคลแห่งพระศาสดา กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบพระคุณทั้งหลายของพระองค์ ได้กล่าวคำใดอันชั่วช้า เพราะความเป็นอันธพาล, ขอพระองค์ทรงงดโทษคำนั้นแก่ข้าพระองค์" ให้พระศาสดาทรงอดโทษแล้ว จึงให้ท่านมหาเศรษฐีอดโทษให้ (ในภายหลัง).

      เมื่อกรรมให้ผล คนโง่จึงเห็นถูกต้อง
      พระศาสดา เมื่อจะทรงโอวาทเศรษฐีและเทวดา ด้วยสามารถวิบากแห่งกรรมดีและชั่วนั่นแล จึงตรัสว่า
      "ดูก่อนคฤหบดี แม้บุคคลผู้ทำบาปในโลกนี้ ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใด บาปของเขาเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วแท้ๆ, ฝ่ายบุคคลผู้ทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใด กรรมดีของเขาเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดีว่า ดีจริงๆ"
      ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
      ๔. ปาโปปิ ปสฺสติ ภทฺรํ ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
      ยทา จ ปจฺจติ ปาปํ อถ (ปาโป) ปาปานิ ปสฺสติ.
      ภโทฺรปิ ปสฺสติ ปาปํ ยาว ภทฺรํ น ปจฺจติ
      ยทา จ ปจฺจติ ภทฺรํ อถ (ภโทฺร) ภทฺรานิ ปสฺสติ.
      แม้คนผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล,
      แต่เมื่อใด บาปเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว,
      ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล,
      แต่เมื่อใด กรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี.

      ธัมมโชติ

      ลบ
  8. หมอฉัตร เนติฯ29 เมษายน 2564 เวลา 09:16

    เคยได้ยินว่าในพระไตรปิฎกมีพูดถึงยามหาวิกัฏ หมายถึงอะไรครับ ได้แก่อะไรบ้าง และใช้รักษาโรคอะไรบ้าง ใช้รักษาโรคได้อย่างไร
    เห็นหลวงปู่ท่านหนึ่งเคยทำนายไว้ 20 ปีที่แล้วว่า จะเกิดโรคระบาดที่คนไม่กล้าออกจากบ้าน ให้ใช้ยามมหาวิกัฏมูตรเน่าจะรักษาและป้องกันได้ รวมทั้งต้องมีศีลมีธรรมโดยเคร่งครัด ท่านคงหมายถึงรักษา covid นี้ มูตรเน่ารักษาโควิดได้อย่างไรครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ยามหาวิกัฏ เป็นยาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันได้โดยไม่ต้องรับประเคนครับ มี 4 อย่าง คือ คูถ (อุจจาระ) มูตร (น้ำปัสสาวะ) เถ้า (ขี้เถ้า) ดิน คือใช้รักษาโรคโดยการดื่มกินครับ

      ที่ปรากฎในพระไตรปิฎก โรคที่ใข้ยามหาวิกัฏรักษา เช่น

      พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖๐ - ๖๒

      1. ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น ถูกงูกัด ให้แก้โดยใช้ยามหาวิกัฏ 4 อย่าง (ดื่มกิน)

      2. ดื่มยาพิษ ให้แก้โดยการดื่มน้ำเจือคูถ (น่าจะทำให้อาเจียนออกมานะครับ)

      3. โดนยาแฝด (ยาที่หญิงให้ ซึ่งดื่มกินเข้าไปแล้วจะตกอยู่ในอำนาจของหญิงนั้น) แก้โดยให้ดื่มน้ำละลายดินรอยไถติดผาล

      4. เป็นโรคผอมเหลือง (โรคดีซ่าน) แก้โดยให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโค

      ยามมหาวิกัฏมูตรเน่าที่หลวงปู่ท่านแนะนำนั้น น่าจะหมายถึงการนำน้ำปัสสาวะของผู้ป่วยคนนั้นมาดองผลสมอ จนได้ที่แล้วจึงนำมาดื่มนะครับ เคยได้ฟังมาว่าน้ำปัสสาวะของแต่ละคนนั้นจะเป็นเหมือนยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาโรคของคนคนนั้นเองครับ เพราะเมื่อเป็นโรคอะไรแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานโรคนั้นขึ้นมา และภูมินั้นส่วนหนึ่งจะออกมากับน้ำปัสสาวะด้วย แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นจริงตามนั้นรึเปล่านะครับ แค่เคยได้ยินมาเท่านั้น

      ธัมมโชติ

      ลบ
  9. หมอฉัตร เนติ ฯ2 กันยายน 2564 เวลา 08:20

    ผมเลี้ยงปลาสอดอยู่ในอ่างปลาเล็กๆจะเป็นบาปไหมครับ ตายไปจะเป็นเปรตตามที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำสอนในคลิปนี้หรือเปล่าครับ
    https://youtu.be/UIwnVkX1fM0
    ที่นี้เลี้ยงแล้วควรทำอย่างไรดี ถ้าเอาไปปล่อยตามแม่น้ำ เดี๋ยวปลาใหญ่ก็จับปลาสอดของผมไปกินหมด

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. คำสอนในคลิปนั้นก็เป็นความเห็นของท่าน ซึ่งท่านก็สอนโดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง ผมขอไม่ก้าวล่วงในคำสอนของท่านนะครับ

      เรื่องปลาสอดนั้น เนื่องจากสัตว์แต่ละชนิดมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน บางชนิดคุ้นเคยกับการถูกเลี้ยงโดยมนุษย์มายาวนาน จนไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในธรรมชาติได้ ถ้าเอาไปปล่อยในธรรมชาติก็อาจกลายเป็นการทำร้ายสัตว์นั้นก็ได้นะครับ ข้อนี้ก็ควรพิจารณาให้ดีด้วยครับ ว่าอย่างไหนจะเหมาะสมกว่ากัน ไม่ใช่แค่ทำให้พ้นๆ ตัวไปเท่านั้น

      ดังนั้น ถ้าไม่สามารถหาสถานที่ที่เหมาะสมในการปล่อยได้ การทำที่เลี้ยงสัตว์นั้นให้เหมาะน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่านะครับ เช่น ขนาดของอ่างที่ใช้เลี้ยง สิ่งแวดล้อมต่างๆ อาหาร ฯลฯ

      ที่สำคัญที่สุดคือการวางจิตครับ ถ้าเราเลี้ยงด้วยจิตที่เป็นกุศล มีเมตตากับสัตว์นั้น เลี้ยงสัตว์นั้นให้ดีตามกำลังที่สมควรทำได้ เลี้ยงแล้วจิตเป็นกุศล ก็ย่อมจะดีกว่าการเลี้ยงแล้วจิตเป็นอกุศลแน่นอนครับ เช่น การทำร้าย ทรมาน สัตว์ที่เลี้ยงด้วยความโกรธ เป็นต้น

      พิจารณาเลือกทางที่เหมาะสมนะครับ

      ธัมมโชติ

      *** ขออภัยที่ตอบช้านะครับ เนื่องจากระบบไม่ส่งเมลแจ้งคำถามนี้มาเลยครับ

      ลบ
  10. หมอฉัตร เนติ ฯ14 กันยายน 2564 เวลา 08:04

    เคยได้ฟังมาว่า หลวงปู่เทพโลกอุดรได้รับพุทธพยากรณ์ว่าเป็นผู้ดูแลพระพุทธศาสนาตลอด 5,000 ปีไปศาสนาพระพุทธโคดมนี้ใช่ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. เรื่องหลวงปู่เทพโลกอุดรไม่มีปรากฎในพระไตรปิฎกนะครับ มีความเป็นมา และความจริงเป็นอย่างไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ