Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบเรื่องวิปัสสนา

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามคำตอบเกี่ยวกับเรื่องวิปัสสนากรรมฐานที่ผู้สนใจสอบถามเข้ามานะครับ



โพชฌงค์ 7

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: โพชฌงค์ 7

..... ดิฉันต้องการทราบความหมายของคำว่า " โพชฌงค์ 7 " คืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร และยกตัวอย่างอธิบายประกอบเพื่อให้เข้าใจถึงความหมายให้ดียิ่งขึ้น ต้องการคำตอบด่วนมาก

จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

โพชฌงค์ ๗ จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความหมายไว้ดังนี้ :

โพชฌงค์ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือองค์ของผู้ตรัสรู้มี ๗ อย่างคือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา

อธิบายเพิ่มเติม


โพชฌงค์ คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้การตรัสรู้ หรือโพธิจิต หรือการบรรลุธรรมเกิดขึ้นได้ มี 7 อย่างนะครับ คือ
  1. สติ - ความระลึกได้

  2. ธัมมวิจยะ - การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม การวิจัยธรรม ซึ่งเป็นตัวปัญญานั่นเองครับ

  3. วิริยะ - ความพากเพียร

  4. ปีติ - ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ ชนิด คือ

    1. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล
    2. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ รู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ
    3. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก รู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง
    4. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบา หรืออุทานออกมา
    5. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ เป็นของประกอบกับสมาธิ

      (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เช่นกันครับ)

  5. ปัสสัทธิ - ความสงบกายสงบใจ, ความสงบใจและอารมณ์, ความสงบเย็น, ความผ่อนคลายกายใจ (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เช่นกันครับ)

  6. สมาธิ - ความตั้งใจมั่น ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ

  7. อุเบกขา - ความที่จิตมีความสงบระงับเป็นอย่างยิ่ง ไม่กระเพื่อมไหวไปตามสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ รัก ชัง กล้า กลัว ยินดี ยินร้าย ฯลฯ ซึ่งจะเป็นจิตที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน ปลอดโปร่ง เบาสบาย เป็นอย่างยิ่งครับ

เมื่อธรรมทั้ง 7 อย่างนี้เกิดขึ้น จิตจะมีทั้งกำลัง (จากวิริยะและสมาธิ) ความเฉลียวฉลาด (จากธัมมวิจยะ) ความเบาสบาย (จากปีติ ปัสสัทธิ และอุเบกขา) ความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง (จากอุเบกขา) โดยมีสติและปัญญา (ธัมมวิจยะ) เป็นเครื่องนำทาง จึงเป็นฐานที่สำคัญของการบรรลุธรรม ซึ่งแน่นอนว่าจิตที่มีสภาพเช่นนี้ เมื่อจะน้อมไปเพื่อทำประโยชน์สิ่งใด ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเลยครับ

ธัมมโชติ


โยนิโสมนสิการ

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: ขอความกรุณาค่ะ

ต้องการทราบความหมายของคำว่าโยนิโสมนสิการ พร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วยค่ะ ช่วยเมลกลับมาด้วยนะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

คำว่าโยนิโสมนสิการ จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความหมายไว้ดังนี้ :

โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย, การพิจารณาโดยแยบคาย คือ พิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะ และความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา, ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี

อธิบายเพิ่มเติม


โดยหลักแล้วโยนิโสมนสิการก็คือหลักการสำคัญของการเจริญวิปัสสนา คือการมีสติเฝ้าสังเกตสภาวะที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะที่เป็นปัจจุบันนั้นของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ (โดยเน้นที่ร่างกายและจิตใจของตนเองเป็นหลักนะครับ) เพื่อให้เห็นความเป็นไปของรูปนามหรือร่างกายและจิตใจ โดยเป้าหมายขั้นสูงสุดก็เพื่อให้เห็นหรือให้รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ คือความที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวนไปตลอดเวลา ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ถ้าขืนไปยึดก็มีแต่ทุกข์ที่จะตามมา ฯลฯ

เมื่อเห็นความเป็นจริงมากขึ้น และชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ก็จะลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ จนถึงขั้นทำลายกิเลสได้ในที่สุด (อ่านรายละเอียดได้ในเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ตั้งแต่เรื่องแรกของหมวดเป็นต้นไปนะครับ)

ซึ่งการมีสติเฝ้าสังเกตนี้จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประกอบด้วย (ความจริงแล้วโยนิโสมนสิการก็คือตัวสำคัญที่ทำให้ปัญญาเกิดขึ้นนั่นเองนะครับ) และเมื่อสังเกตไปมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็จะได้ข้อมูล (ตามความเป็นจริง) มากขึ้นเรื่อยๆ การพิจารณาโดยแยบคายก็จะตามมานะครับ ทำให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ นอกจากจะเห็นสภาวะที่แท้จริงในแต่ละขณะแล้ว ยังสามารถเห็นความสัมพันธ์ของสภาวะอันนั้นกับเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาวะอันนั้นเกิดขึ้นอีกด้วยครับ ยิ่งสังเกตมากขึ้นเท่าใด ปัญญา ความรู้แจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจก็จะมากขึ้นเท่านั้นครับ

ถ้าเป็นการดูแบบไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีโยนิโสมนสิการประกอบ ก็จะเป็นเหมือนการเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเลยครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


อาจารย์และศีลจำเป็นหรือไม่

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ

คำถาม

การนั่งวิปัสนา ต้องมีอาจารย์หรือเปล่าน้อ และต้องถือศีลด้วยหรือเปล่า แล้วจะทำให้จิตใจที่หมกมุ่น ที่สกปรก ใสสะอาดได้ไหมน้า บอกหน่อยนะคะ


ตอบ

เรียน คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ผมขอเรียนให้ทราบดังนี้นะครับ
  1. การเจริญวิปัสสนานั้นจำเป็นต้องรู้แนวทางที่ถูกต้องครับ ซึ่งอาจจะรู้ได้จากการอ่าน หรือการฟัง หรือด้วยวิธีอื่นใดก็แล้วแต่ เพราะผู้ที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้อื่นแนะนำ ก็มีอยู่ 2 จำพวกคือ พระพุทธเจ้า (พระสัพพัญญูพุทธเจ้า) กับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น (ดูรายละเอียดเรื่องพระพุทธเจ้าได้ในเรื่องเวลามสูตร : เปรียบเทียบผลบุญชนิดต่างๆ ในหมวดธรรมทั่วไปนะครับ) ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ จะไม่มาตรัสรู้ในช่วงที่คำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนยังไม่เลือนหายไปจากโลกครับ

    ในสมัยพุทธกาลนั้น เท่าที่สังเกตจากในพระไตรปิฎกจะเห็นว่าภิกษุส่วนใหญ่จะฟังคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า หรือจากอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ แล้วก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติตามป่า ตามถ้ำ หรือในท้องถิ่นอื่น จนกระทั่งบรรลุมรรคผลโดยไม่ได้ฟังคำแนะนำเพิ่มเติมเป็นระยะๆ อย่างเช่นในปัจจุบันนะครับ

    คือพอรู้ทางที่ถูกแล้วก็ไม่ต้องฟังอะไรเพิ่มเติมอีกเลยครับ จะมีบ้างก็เพียงบางรูปเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำเพิ่มเติมให้อีกในภายหลัง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าอินทรีย์ของคนในสมัยนั้นกล้าแข็งกว่าคนสมัยนี้เป็นส่วนใหญ่

    เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เหมาะสมกับคนสมัยนี้ ก็น่าจะใช้วิธีศึกษาหลักการให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน (จะด้วยวิธีใดๆ ก็ตามนะครับ) แล้วก็ปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างจริงจัง เมื่อติดขัดหรือไม่แน่ใจตรงส่วนไหนก็ศึกษาเพิ่มเติม หรือถามผู้รู้เป็นระยะๆ แล้วก็ปฏิบัติต่อไป ก็น่าจะเป็นทางที่เหมาะสมที่สุดนะครับ

  2. เรื่องที่ว่าต้องถือศีลด้วยหรือเปล่า และจะทำให้จิตใจที่หมกมุ่น ที่สกปรก ใสสะอาดได้ไหมนั้น คิดว่าถ้าอ่านเรื่องลำดับขั้นของจิต และเรื่องพุทธวิธีพัฒนาจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ของเว็บไซต์ธัมมโชติ ก็น่าจะเข้าใจได้ชัดเจนนะครับ

    เพราะไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิ การเจริญวิปัสสนา ก็ล้วนมีส่วนในการซักฟอกจิตให้ใสสะอาด เบาสบายด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ช่วยกันคนละแง่มุมเท่านั้นเองครับ

    ดังนั้นทุกอย่างก็จะมีผลที่คอยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันไปในตัวอยู่แล้วครับ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป อย่างอื่นก็ต้องเพิ่มกำลังให้แรงขึ้นอีกเพื่อชดเชยกันนะครับ ซึ่งบางกรณีก็อาจชดเชยกันไม่ได้หรือได้ก็ลำบากมาก เช่น การผิดศีลจะทำให้จิตใจหยาบกระด้างขึ้น ถ้าผิดศีลอยู่เป็นประจำแล้ว การจะให้ทาน ทำสมาธิ หรือเจริญวิปัสสนา ให้หนักขึ้นเพื่อชดเชยกันก็จะทำได้ลำบาก เพราะการผิดศีลจะคอยดึงจิตลงอยู่เรื่อยๆ ครับ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ตอนนีผมได้ปฏิบัติถึงขั้นที่ว่าไม่สามารถจับความเคลื่อนไหวของท้องได้ เพราะว่ามันนิ่งมาก จากในตอนแรกที่พองยุบสังเกตได้อย่างชัดเจน


ตอบ

เรียน คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ขอเรียนให้ทราบดังนี้ครับ

การเจริญวิปัสสนานั้น ก็คือการศึกษาธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ เพื่อให้รู้จักและเข้าใจรูปนามตามความเป็นจริงนะครับ ซึ่งเมื่อเราดูรูปนามมากขึ้นเรื่อยๆ รูปนามก็จะแสดงธรรมชาติของมันให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ (ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวนไปตลอดเวลา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา เป็นเพียงผลของเหตุปัจจัย ยึดมั่นถือมั่นอะไรไม่ได้ เพราะถ้าขืนไปยึดเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น (ก็ไปยึดเอาสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจนี่น้า !) คาดหวังอะไรไม่ได้เลย ฯลฯ)

เมื่อเห็นธรรมชาติที่แท้จริงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ก็จะลดน้อยถอยลงไป กิเลสต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปเช่นกัน จนถึงที่สุดกิเลสก็จะถูกทำลายลงไปได้อย่างถาวรครับ (อ่านรายละเอียดได้จากเรื่องต่างๆ ในหมวดบทวิเคราะห์ และหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) นะครับ)

อาการที่คุณ ..... บอกมานั้น ก็เป็นธรรมชาติที่รูปนามแสดงให้เห็นนั่นเองครับ มันกำลังแสดงให้เห็นความไม่เที่ยง ความแปรปรวนไป ความไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ ของการเคลื่อนตัวของท้อง

สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ รับรู้ตามสภาพที่ปรากฏในขณะนั้นครับ ถ้าคุณใช้คำบริกรรมว่า "พองหนอ ยุบหนอ" อยู่ เมื่อมันไม่พองไม่ยุบแล้ว ก็เปลี่ยนเป็น "นิ่งหนอ" หรือ "รู้หนอ" แทน คือรู้ว่าตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ (อาการเป็นยังไงก็บริกรรมไปอย่างนั้นครับ) แล้วก็คอยดูคอยสังเกตมันต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะแสดงธรรมชาติของมันออกมาเรื่อยๆ เองครับ แล้วคุณก็จะรู้และเข้าใจธรรมชาติของรูปนามมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

ในขณะที่สังเกตอาการทางกาย ก็คอยสังเกตอาการทางใจประกอบไปด้วยนะครับ เช่น สงบนิ่ง ฟุ้งซ่าน สบายใจ กลุ้มใจ กังวล สงสัย ตกใจ กลัว แล้วก็บริกรรมตามสภาพที่ปรากฏนั้นประกอบไปด้วย เช่นเดียวกับอาการทางกายนะครับ

ในขณะเดียวกันก็พยายามหา "เรา" ให้เจอ (คือหาว่าสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเป็นเรานั้นอยู่ตรงไหน หรือคืออะไร เช่น อาจจะรู้สึกว่า สมอง หรือ หัวใจ กระดูก ร่างกายทั้งหมด จิต ความรู้สึก ความคิด ความจำ ฯลฯ คือเรา หรือ เป็นเรา)

เมื่อเจอ "เรา" แล้ว ก็คอยดู คอยสังเกต "เรา" นั้นไปเรื่อยๆ นะครับ ทั้งเวลาที่ทำกรรมฐาน และเวลาที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน จนกระทั่งหลับไปในที่สุด คือรู้ตัวเมื่อไหร่ก็สังเกตเมื่อนั้น แล้วสิ่งที่คุณคิดว่าคือ "เรา" นั้นก็จะแสดงธรรมชาติที่แท้จริงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

แล้วคุณก็จะรู้ได้ด้วยตนเองครับว่าสิ่งนั้นสมควรจะถูกเรียกว่า "เรา" หรือ "ของๆ เรา" หรือ "ตัวตนของเรา" หรือไม่ สิ่งนั้นควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่นหรือไม่

เมื่อสังเกตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว บางครั้ง "เรา" ก็อาจจะย้ายจุดไปอยู่ที่อื่นได้นะครับ   (เช่น เดิมรู้สึกว่าจิตคือเรา ต่อมากลับรู้สึกว่าความจำต่างหากที่เป็นเรา ต่อมาก็อาจย้ายไปที่จุดอื่นอีก ฯลฯ) ถ้าความรู้สึกว่าเป็น "เรา" ย้ายไปอยู่ที่จุดอื่น ก็ย้ายจุดในการดู ในการสังเกต ตาม "เรา" นั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหา "เรา" ไม่เจอในที่สุดนะครับ

ลองคิดดูให้ดีนะครับว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา นำทุกข์มาให้สารพัดอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา เอาแน่อะไรไม่ได้ คาดหวังอะไรไม่ได้เลย ฯลฯ นั้นสมควรหรือที่จะเรียกว่าเป็น "เรา" หรือ "ของๆ เรา" หรือ "ตัวตนของเรา"

ถ้าจะถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น "เรา" แล้ว อย่างน้อยสิ่งนั้นก็ควรจะอยู่ในอำนาจ และเป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้ตลอดเวลาไม่ใช่หรือ

ไม่ใช่แค่บางครั้งก็บังเอิญได้เหตุปัจจัยที่เหมาะสมก็เป็นอย่างที่ต้องการ แต่ถ้าไม่บังเอิญอย่างนั้นก็กลับกลายเป็นอย่างอื่น เช่น เมื่อมีเหตุให้สุขก็สุข มีเหตุให้ทุกข์ก็ทุกข์ มีเหตุให้โกรธก็โกรธ มีเหตุให้ดีใจก็ดีใจ มีเหตุให้เสียใจก็เสียใจ มีเหตุให้ป่วยก็ป่วย ฯลฯ ทั้งที่ไม่ได้อยากจะให้ทุกข์ ให้โกรธ ให้เสียใจ ให้เจ็บป่วย ฯลฯ เลยสักนิดเดียวนะครับ

เมื่อรู้และเข้าใจธรรมชาติของรูปนามมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว อานิสงส์ของมันก็จะปรากฏให้เห็นเองครับ คุณก็จะสัมผัสได้ถึงความปลอดโปร่ง โล่งใจ เบาสบาย เหมือนยกภูเขาออกจากอกครับ (ภูเขาคือสิ่งต่างๆ ที่เคยยึดมั่นถือมั่นเอาไว้)

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

4 ความคิดเห็น :

  1. ขอสอบถามค่ะ เวลานั่งมีอาการแปลกๆค่ะ ปกตินั่งสมาธิแบบอานาฯ
    หลังไหว้พระและเริ่มนั่งสมาธิเพียงเอามือวางซ้อนกันปั๊ป คอก็จะหันขวาควับทันทีและหันจนสุดและรู้สึกเจ็บ(เวลาออกสมาธิลองหันสุดแต่ไม่เจ็บค่ะ) หลังจากคอหัน ก็จะมีอาการต่างๆทั้งเหยียดมือ ยกมือ ปากอ้า ปากจู๋ หรือ บิดมือไปข้างหลััง และ หนักสุดคือ การเอียงจนล้มตัวนอน และ ไม่สามารถลุกได้จนกว่าร่างกายจะลุกขึ้นเอง หาก ฝืนลุกนั่งก็จะล้มตัวนอนใหม่อีกรอบ ทุกขณะที่มีอาการจะรู้สึกตัวตลอดแต่ไม่สามารถบังคับได้ เพราะถ้าฝืนก็จะเด้งกลับเหมือนเดิม ล่าสุด ที่ท้องที่หน้าอก ที่หัวเหมือนมีเครื่องมาดูดด้วยค่ะ พยายามหาคำตอบแต่ยังหาคำตอบไม่เจอ อยากทราบว่าเกิดจากอะไร เราควรจะพิจารณาอย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะก้าวข้ามไปได้ จะคิดอย่างไรให้เป็นวิปัสนนานะคะ ขอบคุณมากค่ะ (รบกวนด้วยนะคะเป็นแบบนี้มาหลายเดือนแล้วค่ะ ไม่อยากหยุดนั่ง แต่ยิ่งนั่งก็ยิ่งมีอาการแตกต่างไป อยากก้าวข้ามให้ได้นะคะ)

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      เป็นอาการที่เกิดจากการที่จิตมีความประณีตจากสมาธิเกินกำลังของสติครับ เมื่อจิตมีความประณีตเพิ่มขึ้น จิตจะมีความเบาสบายมากขึ้น ถ้าสติมีกำลังไม่พอจะทำให้รู้สึกเคลิ้มๆ ลอยๆ จนบางครั้งถึงขั้นควบคุมร่างกายไม่ได้ครับ

      ต้องทำ 2 อย่างประกอบกันครับ คือ

      1. เพิ่มกำลังของสติ โดยการเดินจงกรมให้มาก รวมถึงการกำหนดรู้อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อยในขณะใช้ชีวิตประจำวันตามปกติและในขณะทำกรรมฐาน (อิริยาปถบรรพและสัมปชัญญบรรพในมหาสติปัฏฐานสูตร ดูรายละเอียดได้ในข้อ ๒๗๕ และ ๒๗๖ ตามลิ้งค์นี้ครับ มหาสติปัฏฐานสูตร)
      โดยสรุปก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตั้งสติกำหนดรู้ตัวทั่วพร้อมถึงลักษณะท่าทางหรือการเคลื่อนไหวในขณะนั้นให้มากที่สุดนะครับ แล้วสติจะมีกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เองครับ

      2. หลังสวดมนต์เสร็จควรเดินจงกรมก่อนนั่งสมาธิเพื่อเพิ่มกำลังของสติก่อนครับ และในขณะที่นั่งสมาธิก็ลดความเบา/ความประณีตของจิตลงโดยการบริกรรมให้หนักแน่นขึ้น ถ้าเกิดอาการขึ้นมาอีกก็หายใจให้แรงขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังของสติและลดความประณีตของจิต แต่ถ้าเอาไม่อยู่ก็ควรพักจากการนั่งสมาธิแล้วลุกไปเดินจงกรมก่อนครับ

      เมื่อฝึกจนสติมีกำลังมากพอแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มความประณีต/ความเบาสบายของจิตขึ้นทีละนิดให้สมดุลกับสตินะครับ สมาธิจะได้ก้าวหน้าขึ้น เรียกว่าเป็นการปรับอินทรีย์ให้สมดุลกันครับ

      ไม่ต้องกังวลนะครับ เป็นธรรมชาติของรูปนามที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาของใครครับ ทำได้ก็เพียงการสร้างเหตุปัจจัยต่างๆ ให้เหมาะสม/สมดุล แล้วผลก็จะเป็นไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ที่กระทำเองครับ (เหตุปัจจัยต่างๆ ที่ผู้ปฏิบัติสร้างขึ้น ก็เป็นเพียงเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งในหลายๆ เหตุปัจจัยทั้งภายนอกและภายในที่กระทำกับรูปนามอยู่เท่านั้นครับ)

      ที่มีอาการเจ็บคอเกิดขึ้นน่าจะเกิดจากการพยายามฝืนการบิดคอนะครับ กล้ามเนื้อคอจึงเกร็งจนเจ็บ ต่างจากการตั้งใจหันเองที่ไม่มีความรู้สึกต้านการบิดจึงไม่เจ็บ

      ค่อยๆ เรียนรู้ธรรมชาติของรูปนามไปเรื่อยๆ นะครับ จะเกิดวิปัสสนาปัญญาเห็นความไม่เที่ยง แปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจของใคร พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงได้ในที่สุดครับ

      มีอะไรก็ติดต่อเข้ามาได้ใหม่นะครับ

      ขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  2. ขอบพระคุณมากค่ะ ที่ตอบกลับเร็วมาก ขอสอบถามเพิ่มอีกนิดค่ะ
    1.บางคนว่าอาการที่เป็นคือกรรมเก่าที่เคยทำ จริงไหมคะ
    2.การเรียนรู้ของรูปนามหมายถึงอย่างไรคะ และ ทำอย่างไรคะ
    3.ที่ให้ละการนั่งไปเดินจงกลมนั้น ต้องรอให้ร่างกายพร้อมจริงๆถึงจะลุกเดินได้ค่ะ เพราะเคยลุกช่วงไม่พร้อมแล้วร่างกายเดินเหมือนคนไร้เรี่ยวแรงจนต้องหยุดทุกอย่างแล้วให้พร้อมจริงๆถึงจะลุกเดินได้นะคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. 1.บางคนว่าอาการที่เป็นคือกรรมเก่าที่เคยทำ จริงไหมคะ

      >>> เหตุปัจจัยต่างๆ ที่กระทำกับรูปนาม หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น (แต่ความหมายไม่ครอบคลุมเท่ารูปนาม) ก็คือร่างกายกับจิตใจนั้นมีหลายอย่างครับ กรรมเก่าก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่สาเหตุหลักของอาการนี้ก็ได้ครับ แต่ที่แน่ๆ คือกำลังของสติที่ไม่มากพอเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดอาการนี้ขึ้น (ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นกรรมเก่า หรือจิตใต้สำนึก หรือ ฯลฯ ก็ได้ครับ)

      แต่ปัจจัยอื่นๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก หรือควบคุมไม่ได้เลย สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญและควบคุม/สร้างได้ง่ายกว่าก็คือสติ จึงอยากให้เน้นไปที่การฝึกสติ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งกับการแก้อาการนี้ และเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติธรรมอื่นๆ รวมถึงประโยชน์ในชีวิตประจำวันด้วยครับ

      2.การเรียนรู้ของรูปนามหมายถึงอย่างไรคะ และ ทำอย่างไรคะ

      >>> การเรียนรู้ธรรมชาติของรูปนามหมายถึงการคอยสังเกต มีสติระลึกรู้สภาวะของรูปนามที่เกิดขึ้นในขณะนั้น (พูดง่ายๆ ก็คือสังเกตอาการที่เป็นอยู่ในขณะนั้นของร่างกายและจิตใจไปเรื่อยๆ นั่นเองครับ) เหมือนเราอยากรู้ว่าเพื่อนคนนึงมีนิสัยอย่างไรกันแน่ ก็ต้องคอยสังเกต ตามดูพฤติกรรมของเพื่อนคนนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปมากเท่าไหร่เราก็จะรู้นิสัยที่แท้จริงของเพื่อนคนนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็จะบอกได้ว่าเพื่อนคนนั้นน่าคบหรือไม่

      ในทำนองเดียวกันครับ เมื่อเราคอยสังเกต มีสติระลึกรู้สภาวะของรูปนามที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะไปเรื่อยๆ เราก็จะเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ารูปนามนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง ตั้งมั่นหรือแปรปรวนไปตลอดเวลา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อยู่ในอำนาจเป็นไปตามที่ปรารถนาหรือไม่ มีสาระแก่นสารหรือไม่ ยึดมั่นถือมั่นได้หรือไม่ จนในที่สุดก็จะเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนามได้ด้วยปัญญาของเราเองครับ ซึ่งวิปัสสนาปัญญานี้จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นและกิเลสทั้งปวงลงไปได้ครับ

      อ่านรายละเอียดได้ตามลิ้งค์นี้นะครับ วิปัสสนา-หลักการพื้นฐาน

      3.ที่ให้ละการนั่งไปเดินจงกลมนั้น ต้องรอให้ร่างกายพร้อมจริงๆถึงจะลุกเดินได้ค่ะ เพราะเคยลุกช่วงไม่พร้อมแล้วร่างกายเดินเหมือนคนไร้เรี่ยวแรงจนต้องหยุดทุกอย่างแล้วให้พร้อมจริงๆถึงจะลุกเดินได้นะคะ

      >>> ก็ทำเท่าที่จะทำได้นะครับ ก่อนลุกก็หายใจยาวๆ แรงๆ ก่อน ให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้นครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ