Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๗-๕ หน้า ๑๘๘ - ๒๓๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๗-๕ วินัยปิฎกที่ ๐๗ จุลวรรค ภาค ๒



พระวินัยปิฎก
จูฬวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
มาทางนี้” ซุ่มบุรุษไว้ริมทางอีก ๑๖ คนด้วยสั่งว่า “พวกท่านจงฆ่าคน ๘ คนที่เดิน
มาทางนี้ แล้วมาทางนี้”
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถา
ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งนั้นถือดาบและโล่ห์สะพายธนู เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ยืนกลัว หวาดหวั่น สะดุ้ง ตกใจจนตัวแข็งทื่อไม่ห่างจาก
พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกับบุรุษนั้นผู้ยืนกลัว หวาดหวั่น สะดุ้ง ตกใจ
จนตัวแข็งทื่อว่า “มาเถิด ท่านอย่ากลัวเลย”
ลำดับนั้น บุรุษนั้นวางดาบและโล่ห์ ปลดธนูวางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วเข้าไป
หาพระผู้มีพระภาค แล้วซบศีรษะแทบพระยุคลบาท ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้กระทำความผิด เพราะความโง่เขลา
เบาปัญญา ที่มีจิตคิดประทุษร้าย คิดจะปลงพระชนม์ จึงเข้ามาที่นี้ ขอพระองค์โปรด
ประทานอภัยโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพื่อสำรวมต่อไปเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เอาเถิด การที่ท่านได้ทำความผิดเพราะความโง่เขลา
เบาปัญญา ที่มีจิตคิดประทุษร้ายคิดจะปลงพระชนม์จึงเข้ามาที่นี้ เพราะเหตุที่ท่าน
เห็นความผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรายอมรับ เพราะการที่บุคคล
เห็นความผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัย
ของพระอริยะ” จากนั้นทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)แก่บุรุษนั้น

เชิงอรรถ :
๑ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๘๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
เมื่อทรงทราบว่าบุรุษนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่บุรุษนั้น ณ
ที่นั้นแลว่า “สิ่งใด สิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็น
ธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้นบุรุษนั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่
ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ
ต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือ
ตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้
ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับบุรุษนั้นดังนี้ว่า “ท่านอย่าไปทางนั้น จงไป
ทางนี้” แล้วส่งเขาไปทางอื่น
ครั้งนั้น บุรุษอีก ๒ คนนั้นปรึกษากันว่า “ทำไมหนอบุรุษคนหนึ่งนั้นจึงมาช้า”
แล้วเดินสวนทางไป ได้พบพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ ควงไม้แห่งหนึ่ง ครั้นแล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แลัวนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่เขาทั้งสอง ฯลฯ
ครั้งนั้น บุรุษ ๒ คนนั้นเห็นธรรมแล้ว ฯลฯ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำของสอนพระ
ศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์
ไพเราะชัดเจนยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๘๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับบุรุษเหล่านั้นดังนี้ว่า “พวกท่านอย่าไปทางนั้น
จงไปทางนี้” แล้วทรงส่งพวกเขาไปทางอื่น
ครั้งนั้น บุรุษอีก ๔ คน ฯลฯ ครั้งนั้น บุรุษอีก ๘ คน ฯลฯ
ครั้งนั้น บุรุษอีก ๑๖ คนปรึกษากันว่า “ทำไมหนอ บุรุษ ๘ คนนั้นจึงมาช้า”
แล้วเดินสวนทางไป ได้พบพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ ควงไม้แห่งหนึ่ง ครั้นแล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่บุรุษเหล่านั้น คือ
ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล) ฯลฯ
ครั้งนั้น บุรุษ ๑๖ คนนั้นเห็นธรรมแล้ว ฯลฯ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของ
พระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์
ไพเราะชัดเจนยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับบุรุษเหล่านั้นดังนี้ว่า “พวกท่านอย่าไปทางนั้น
จงไปทางนี้” แล้วทรงส่งพวกเขาไปทางอื่น
ต่อมา บุรุษคนหนึ่งนั้นเข้าไปหาพระเทวทัตถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกับพระ
เทวทัตดังนี้ว่า “กระผมไม่สามารถปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคได้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
พระเทวทัตตอบว่า “อย่าเลยท่าน ท่านอย่าปลงพระชนม์พระสมณโคดมเลย
เราจะลงมือปลงพระชนม์พระสมณโคดมเอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
โลหิตุปปาทกกัมมะ
ว่าด้วยพระเทวทัตทำร้ายพระศาสดาจนห้อพระโลหิต
[๓๔๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่ร่มเงาภูเขาคิชฌกูฏ
ครั้งนั้น พระเทวทัตขึ้นภูเขาคิชฌกูฏกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ ด้วยหมายใจว่า “เราจะปลง
พระชนม์พระผู้มีพระภาคด้วยก้อนศิลานี้” ยอดภูเขา ๒ ข้างมาบรรจบกันรับศิลา
ก้อนนั้นไว้ สะเก็ดศิลากระเด็นจากก้อนศิลานั้นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค
จนพระโลหิตห้อ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแหงนพระพักตร์ ได้ตรัสกับพระเทวทัตดังนี้ว่า
“โมฆบุรุษ เธอสั่งสมสิ่งที่มิใช่บุญไว้มากที่มีจิตคิดร้าย คิดฆ่า ทำโลหิตของตถาคต
ให้ห้อ” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่
เทวทัตผู้มีจิตคิดร้าย คิดฆ่า ทำโลหิตของตถาคตให้ห้อ นี้เป็นอนันตริยกรรมข้อที่ ๑
ที่เทวทัตสั่งสมไว้”
ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า “พระเทวทัตวางแผนปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค”
จึงพากันเดินจงกรมอยู่รอบ ๆ วิหารของพระผู้มีพระภาค กระทำการสาธยายเสียง
ดังอึกทึกกึกก้องเพื่ออารักขาป้องกันคุ้มครองพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียงสาธยายเสียงดังอึกทึกกึกก้อง จึงรับสั่งถามท่าน
พระอานนท์ว่า “อานนท์ เพราะเหตุไร เสียงสาธยายนั้นจึงดังอึกทึกกึกก้อง” ท่าน
พระอานนท์จึงกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า พระเทวทัต
วางแผนปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค จึงพากันเดินจงกรมอยู่รอบ ๆ วิหารของ
พระผู้มีพระภาคกระทำการสาธยายเสียงดังอึกทึกกึกก้องเพื่ออารักขาป้องกันคุ้มครอง
พระผู้มีพระภาค เสียงสาธยายนั้นจึงดังอึกทึกกึกก้อง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปบอกภิกษุเหล่านั้นว่า
พระศาสดารับสั่งหาพวกท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้น
แล้วแจ้งให้ทราบว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่าน
พระอานนท์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่
โอกาส ที่จะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น พระตถาคตทั้งหลายย่อม
ไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น”
เรื่องศาสดา ๕ จำพวก๑
ภิกษุทั้งหลาย ศาสดา ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คือ
๑. ศาสดาบางท่านในโลกนี้มีศีลไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญาว่า “เราเป็นผู้มี
ศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวก
รู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดาท่านนี้เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญา
ว่าเราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง
แต่ถ้าพวกเราพึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่พอใจของท่าน
พวกเราจะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร อนึ่ง ศาสดานั้น
ยกย่องพวกเราด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัช
บริขาร ท่านทำกรรมใดไว้ ก็จะปรากฏตัวออกมาด้วยกรรมนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้นี้โดยศีล และศาสดาเช่นนี้ก็หวัง
การรักษาโดยศีลจากพวกสาวก
๒. ศาสดาบางท่านในโลกนี้มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญาว่า “เราเป็น
ผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ อาชีพของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง”
พวกสาวกรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดาท่านนี้มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ แต่

เชิงอรรถ :
๑ อ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๐๐/๑๗๑-๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ปฏิญญาว่าเราเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ อาชีพของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว
ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่
พอใจของท่าน พวกเราจะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร อนึ่ง
ศาสดานั้นยกย่องพวกเราด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลาน
ปัจจัยเภสัชบริขาร ท่านทำกรรมใดไว้ ก็จะปรากฏตัวออกมาด้วย
กรรมนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้ไว้โดยอาชีพ ศาสดาเช่นนี้ก็หวัง
การรักษาโดยอาชีพจากพวกสาวก
๓. ศาสดาบางท่านในโลกนี้เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญาว่า
“เราเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว
ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดาท่านนี้เป็นผู้มี
ธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญาว่าธรรมเทศนาของตนบริสุทธิ์
ธรรมเทศนาของตนบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเรา
พึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่พอใจของท่าน พวกเรา
จะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร อนึ่ง ศาสดานั้นยกย่อง
พวกเราด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ท่านทำกรรมใดไว้ ก็จะปรากฏตัวออกมาด้วยกรรมนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้ไว้โดยธรรมเทศนา ศาสดา
เช่นนี้ก็หวังการรักษาโดยธรรมเทศนาจากพวกสาวก
๔. ศาสดาบางท่านในโลกนี้มีเวยยากรณะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญาว่า “เรา
เป็นผู้มีเวยยากรณะบริสุทธิ์ เวยยากรณะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว
ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดาท่านนี้เป็นผู้
มีเวยยากรณะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญาว่าเราเป็นผู้มี เวยยากรณะบริสุทธิ์
เวยยากรณะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอก
แก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่พอใจของท่าน พวกเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
จะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร อนึ่ง ศาสดานั้นยกย่อง
พวกเราด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ท่านทำกรรมใดไว้ ก็จะปรากฏตัวออกมาด้วยกรรมนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้ไว้โดยเวยยากรณะ ศาสดา
เช่นนี้ก็หวังการรักษาโดยเวยยากรณะจากพวกสาวก
๕. ศาสดาบางท่านในโลกนี้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญาว่า
“เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์
ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” สาวกรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดาท่านนี้
เป็นผู้มีญาณสสนะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญาว่าเราเป็นผู้มีญาณ-
ทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง
แต่ถ้าพวกเราพึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่พอใจของท่าน
พวกเราจะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร อนึ่ง ศาสดานั้น
ยกย่องพวกเราด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัช
บริขาร ท่านทำกรรมใดไว้ ก็จะปรากฏตัวออกมาด้วยกรรมนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้ไว้โดยญาณทัสสนะ และ
ศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาโดยญาณทัสสนะจากพวกสาวก
ภิกษุทั้งหลาย ศาสดา ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย เรามีศีลบริสุทธิ์ จึงปฏิญญาว่า “เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของ
เราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยศีล และเราก็
ไม่หวังการรักษาโดยศีลจากพวกสาวก
ภิกษุทั้งหลาย เรามีอาชีพบริสุทธิ์ ฯลฯ เรามีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ฯลฯ เรา
มีเวยยากรณะบริสุทธิ์ ฯลฯ เรามีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ จึงปฏิญญาว่า “เราเป็นผู้มี
ญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวก
สาวกย่อมไม่รักษาเราไว้โดยญาณทัสสนะ และเราก็ไม่หวังการรักษาโดยญาณทัสสนะ
จากพวกสาวก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๔ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ที่จะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายาม
ของผู้อื่น พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธอจงไปอยู่ตามที่เดิม พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้ที่ไม่ต้องอารักขา”
นาฬาคิริเปสนะ
ว่าด้วยพระเทวทัตปล่อยช้างนาฬาคิรี
[๓๔๒] สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีช้างชื่อนาฬาคิรีดุร้าย ชอบฆ่าคน ครั้งนั้น
พระเทวทัตเข้าไปในกรุงราชคฤห์แล้วไปที่โรงช้าง ได้กล่าวกับพวกนายควาญช้างดังนี้
ว่า “พวกเราเป็นพระญาติของพระราชา สามารถจะแต่งตั้งผู้อยู่ในตำแหน่งต่ำไว้ใน
ตำแหน่งสูง สามารถเพิ่มเบี้ยเลี้ยงบ้าง เงินเดือนบ้าง ท่านทั้งหลาย เอาอย่างนี้
เวลาพระสมณโคดมเสด็จมาทางตรอกนี้ พวกท่านจงปล่อยช้างนาฬาคิรีนี้เข้าไป”
พวกนายควาญช้างรับคำพระเทวทัตแล้ว
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ
เข้าไปในกรุงราชคฤห์พร้อมภิกษุหลายรูป เสด็จดำเนินถึงตรอกนั้น พวกควาญช้าง
แลเห็นพระผู้มีพระภาคทรงดำเนินถึงตรอกนั้น ครั้นแล้วจึงปล่อยช้างนาฬาคิรีเข้าไป
ช้างนาฬาคิรีมองเห็นพระผู้มีพระภาคทรงดำเนินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงชูงวง
หูชัน หางชี้ วิ่งตรงไปที่พระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้นเห็นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาแต่ไกล
จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ช้างนาฬาคิรีนี้ดุร้ายหยาบคายนัก ชอบฆ่าคน
กำลังตรงมาทางตรอกนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดเสด็จกลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า
ขอพระสุคตโปรดเสด็จกลับเถิด”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธออย่ากลัวไปเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสที่จะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลายจะไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๕ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ช้างนาฬาคิรีนี้
ดุร้ายหยาบคายนัก ชอบฆ่าคน กำลังตรงมาทางตรอกนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จ
กลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรดเสด็จกลับเถิด”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธออย่ากลัวไปเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสที่จะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลายจะไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น”
เวลานั้น คนทั้งหลายหนีขึ้นไปบนปราสาทบ้าง เรือนโล้นบ้าง บนหลังคาบ้าง
ในกลุ่มคนพวกนั้น บรรดาคนที่ไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใส มีความรู้ไม่ดี กล่าวอย่างนี้ว่า
“พวกเราเอ๋ย พระมหาสมณโคดมรูปงามจะถูกช้างฆ่า” ส่วนบรรดาคนที่มีศรัทธา เลื่อมใส
เป็นบัณฑิต มีความรู้ กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกเราเอ๋ย ประเดี๋ยวคอยดูสงครามระหว่าง
พระพุทธเจ้ากับช้าง”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปที่ช้างนาฬาคิรี ลำดับนั้น ช้าง
นาฬาคิรีได้สัมผัสกระแสเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงลดงวงลงแล้วเข้าไปหา
พระผู้มีพระภาค ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบ
กระพองช้างนาฬาคิรี พลางตรัสสอนช้างนาฬาคิรีด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า
กุญชรเอ๋ย เจ้าอย่าคิดเข้ามาทำร้ายพระพุทธเจ้า
กุญชรเอ๋ย การคิดเข้ามาทำร้ายพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นเหตุแห่งความทุกข์
กุญชรเอ๋ย ผู้ฆ่าพระพุทธเจ้า
จากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้าจะไม่มีสุคติภูมิเลย
เจ้าอย่ามัวเมา อย่าประมาท
เพราะคนผู้ประมาทแล้วย่อมไม่ไปสุคติ
เจ้านี่แหละจักกระทำเหตุให้เจ้าเดินทางไปสุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๖ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ทันใดนั้น ช้างนาฬาคิรีเอางวงสูบละอองธุลีที่ใกล้พระบาทของพระผู้มีพระภาค
แล้วพ่นลงบนกระหม่อม(ของตน) ย่อตัวถอยออกไปชั่วระยะเห็นพระองค์ ลำดับนั้น
ช้างนาฬาคิรีได้กลับไปที่โรงช้างยืนอยู่ที่เดิม ก็ช้างนาฬาคิรีได้รับการฝึกแล้วอย่างนั้น
สมัยนั้น คนทั้งหลายพากันขับร้องคาถานี้ว่า
คนฝึกช้างและคนฝึกม้าบางพวก
มีท่อนไม้ ขอและแส้จึงจะฝึกได้
พระพุทธเจ้าผู้ประสบพระคุณยิ่งใหญ่
ไม่ต้องใช้ท่อนไม้ ไม่ต้องใช้ศัสตราทรงฝึกช้างได้เลย๑
คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระเทวทัตนี้เป็นคนบาป
เป็นคนไม่มีบุญ เพราะได้พยายามปลงพระชนม์พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้
มีอานุภาพมากอย่างนี้” ลาภสักการะของพระเทวทัตจึงเสื่อมสิ้นไป ส่วนลาภสักการะ
ของพระผู้มีพระภาคกลับเจริญยิ่งขึ้น

ปัญจวัตถุยาจนกา๒
ว่าด้วยพระเทวทัตกราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการ
[๓๔๓] สมัยนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเสื่อมลาภสักการะ จึงพากันออก
ปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า ภัตตาหารที่ดี
ใครจะไม่พอใจ ภัตตาหารอร่อยใครจะไม่ชอบเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๑, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๘/๔๘๔
๒ วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๐๙/๔๔๑-๔๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๗ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัต
พร้อมกับบริษัทจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า” จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระเทวทัตว่า “เทวทัต ทราบว่า เธอพร้อมกับ
บริษัทเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันจริงหรือ”
พระเทวทัตทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติโภชนะที่คน ๓ คน
พึงบริโภคในตระกูลทั้งหลายแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ประการ
คือ
๑. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
๒. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
๓. เพื่ออนุเคราะห์ตระกูล
ด้วยหวังว่า ‘ภิกษุที่ปรารถนาชั่วอย่าอาศัยพรรคพวกทำสงฆ์ให้แตกกัน’ (ภิกษุ)
ฉันคณโภชนะ พึงปรับอาบัติตามธรรม”๑
ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปหาพระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวี
บุตร พระสมุททัตตะ ถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นดังนี้ว่า “มาเถิด
ท่านทั้งหลาย พวกเราจะทำลายสงฆ์ ทำลายจักร๒ของพระสมณโคดม”
เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้ พระโกกาลิกะได้กล่าวกับพระเทวทัตดังนี้ว่า
“ท่าน พระสมณโคดมมีฤทธานุภาพมาก พวกเราจะทำลายสงฆ์ ทำลายจักรของ
พระสมณโคดม ได้อย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ พึงปรับอาบัติตามธรรม คือ พึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะ ตามความแห่งสิกขาบทที่ ๒
แห่งโภชนวรรคที่ ๔ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๐๙-๒๑๗/๓๗๐-๓๗๖)
๒ ทำลายสงฆ์ คือทำสงฆ์ให้แตกจากกัน
ทำลายจักร คือทำลายหลักคำสอน (วิ.อ. ๒/๔๑๐/๑๐๘, วชิร.ฏีกา ๓๔๓/๖๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
พระเทวทัตกล่าวว่า “มาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจะเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม
แล้วทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่า ‘พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียร โดยประการต่าง ๆ วัตถุ ๕ ประการเหล่านี้ก็เป็นไป เพื่อความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียร โดยประการต่าง ๆ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทาน วโรกาสดังนี้
๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดเข้าบ้าน ภิกษุรูปนั้น
มีโทษ
๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีกิจนิมนต์
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีผ้าคหบดี
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดอาศัยที่มุงที่บัง ภิกษุ
รูปนั้นมีโทษ
๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดฉันปลา
และเนื้อ ภิกษุรูปนั้นมีโทษ”
พระสมณโคดมจะไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการนี้แน่ พวกเราจะใช้วัตถุ ๕
ประการนี้ชักชวนให้ประชาชนเชื่อถือ” ท่านเหล่านั้นปรึกษากันว่า “พวกเราสามารถ
ที่จะใช้วัตถุ ๕ ประการเหล่านั้นทำลายสงฆ์ ทำลายจักรของพระสมณโคดมได้ เพราะ
ยังมีพวกมนุษย์ที่เลื่อมใสในการปฏิบัติปอน ๆ”
ครั้งนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้น
แล้วได้ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี
พระภาคตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด
อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ วัตถุ ๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ประการเหล่านี้ก็เป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด
อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานวโรกาส ดังนี้
๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดเข้าบ้าน ภิกษุรูปนั้น
มีโทษ
๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีกิจนิมนต์
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีผ้าคหบดี
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดอาศัยที่มุงที่บัง
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดฉันปลา
และเนื้อ ภิกษุรูปนั้นมีโทษ”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลยเทวทัต ภิกษุรูปใดปรารถนาก็จงอยู่ป่าเถิด
ภิกษุรูปใดปรารถนาก็จงอยู่ในละแวกบ้านเถิด ภิกษุรูปใดปรารถนาก็จงเที่ยวบิณฑ-
บาตเถิด ภิกษุรูปใดปรารถนาก็จงยินดีกิจนิมนต์เถิด ภิกษุรูปใดปรารถนาก็จงถือผ้า
บังสุกุลเถิด ภิกษุรูปใดปรารถนาก็จงยินดีผ้าคหบดีเถิด เทวทัต เราอนุญาตถือ
เสนาสนะตามโคนไม้ ๘ เดือนเท่านั้น เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ
๓ อย่าง คือ
๑. ไม่ได้เห็น ๒. ไม่ได้ยิน
๓. ไม่ได้นึกสงสัย”
ครั้งนั้น พระเทวทัตร่าเริงดีใจว่า “พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการ
เหล่านี้” พร้อมกับบริษัทลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ
แล้วจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
พระเทวทัตโฆษณาวัตถุ ๕ ประการ
สมัยนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ ใช้วัตถุ ๕ ประการ
ชักชวนให้ประชาชนเชื่อถือด้วยกล่าวว่า “พวกเราเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ทูลขอวัตถุ
๕ อย่างนี้ว่า ‘พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความ
สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียร โดยประการต่าง ๆ วัตถุ ๕ ประการเหล่านี้ ก็เป็นไปเพื่อความมักน้อย
ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียร โดยประการต่าง ๆ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานวโรกาส ดังนี้
๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดเข้าบ้าน ภิกษุรูปนั้น
มีโทษ
๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีกิจนิมนต์
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีผ้าคหบดี
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดอาศัยที่มุงที่บัง ภิกษุ
รูปนั้นมีโทษ
๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดฉันปลา
และเนื้อ ภิกษุรูปนั้นมีโทษ”
แต่พระสมณโคดมไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการเหล่านั้น พวกเราจงสมาทาน
ประพฤติตามวัตถุ ๕ ประการเหล่านี้เถิด”
บรรดาประชาชนเหล่านั้น พวกที่ไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใส มีความรู้ไม่ดี กล่าวว่า
“พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ ประพฤติกำจัดกิเลส ประพฤติเคร่งครัด ส่วน
พระสมณโคดมมักมาก ดำริเพื่อความมักมาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ส่วนพวกมีศรัทธา เลื่อมใส เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีความรู้ดี ก็ตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัตจึงเพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลาย
จักรของพระผู้มีพระภาคเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มัก
น้อยฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัตจึงเพียรพยายาม
เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักรเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระเทวทัตว่า “เทวทัต ทราบว่า เธอ
เพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักรจริงหรือ”
พระเทวทัตทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “อย่าเลยเทวทัต เธออย่าพอใจการทำลายสงฆ์
เพราะการทำลายสงฆ์ มีโทษหนัก รูปใดทำลายสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน ผู้นั้นจะประสบ
โทษนานตลอดกัป ถูกไฟไหม้ในนรกนานตลอดกัป ส่วนรูปใดทำสงฆ์ผู้แตกกันแล้ว
ให้พร้อมเพรียงกัน ย่อมประสบบุญอันประเสริฐ ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป อย่า
เลยเทวทัต เธออย่าชอบใจการทำลายสงฆ์ เพราะการทำลายสงฆ์ มีโทษหนัก”
ต่อมาเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตพบท่านพระอานนท์กำลังเที่ยวบิณฑบาตจึงเข้า
ไปหา ครั้นแล้วได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เราจะทำอุโบสถ จะทำสังฆกรรม แยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์”
ครั้นพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตฉันเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉัน
ภัตตาหารแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ขอ
ประทานวโรกาส ในเวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตพบข้าพระองค์กำลังเที่ยวบิณฑบาตจึงเข้ามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
หาข้าพระองค์ ครั้นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า ‘ท่านอานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะทำ
อุโบสถ จะทำสังฆกรรม แยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์’ วันนี้พระ
เทวทัตจะทำลายสงฆ์ พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงทราบเรื่องนั้น จึงทรงเปล่งพระอุทานในเวลานั้นว่า
“กรรมดี คนดีทำได้ง่าย
กรรมดี คนชั่วทำได้ยาก
กรรมชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย
กรรมชั่ว พระอริยะทั้งหลายทำได้ยาก๑
ทุติยภาณวาร จบ
๓. ตติยภาณวาร
สังฆเภทกถา
ว่าด้วยการทำลายสงฆ์
พระเทวทัตชักชวนพระวัชชีบุตร ๕๐๐ รูป
เข้าเป็นพรรคพวก
[๓๔๔] ครั้นถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตลุกจากอาสนะ ประกาศให้ภิกษุจับสลาก
ด้วยกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเราเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ
ว่า ‘พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญความมักน้อย ฯลฯ การ ปรารภ
ความเพียรโดยประการต่าง ๆ พระองค์ผู้เจริญ วัตถุ ๕ ประการเหล่านี้ ก็เป็นไป

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. (แปล) ๒๕/๔๘/๒๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
เพื่อความมักน้อย ฯลฯ การปรารภความเพียร พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานวโรกาส ดังนี้
๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดเข้าบ้าน ภิกษุรูปนั้น
มีโทษ
๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีกิจนิมนต์
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีผ้าคหบดี
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดอาศัยที่มุงที่บัง ภิกษุ
รูปนั้นมีโทษ
๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดฉันปลา
และเนื้อ ภิกษุรูปนั้นมีโทษ’
แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการเหล่านั้น ก็พวกเราจง
สมาทานประพฤติตามวัตถุ ๕ ประการเหล่านั้น ท่านรูปใดเห็นด้วยกับวัตถุ ๕
ประการเหล่านี้ ท่านรูปนั้นจงจับสลาก”
สมัยนั้น พวกภิกษุวัชชีบุตรชาวกรุงเวสาลีประมาณ ๕๐๐ รูป เป็นพระบวชใหม่
ไม่รอบรู้พระธรรมวินัย ภิกษุเหล่านั้นจับสลากเพราะเข้าใจว่า “นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย
นี้เป็นสัตถุศาสน์” ครั้งนั้นแล พระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้วพาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เดินทางไปทางคยาสีสประเทศ
ต่อมา พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วท่าน
พระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระเทวทัตทำลายสงฆ์
พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเดินทางไปทางคยาสีสประเทศแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตรโมคคัลลานะ พวกเธอจะต้องมีความกรุณา
ภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้นบ้างมิใช่หรือ พวกเธอจงไปเถิดก่อนที่ภิกษุเหล่านั้นจะเสื่อมเสีย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๔ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ภิกษุผู้เถระทั้งสองทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ลุกจากอาสนะถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเดินทางไปคยาสีสประเทศ
เรื่องภิกษุรูปหนึ่งเข้าใจผิด
ขณะนั้น ภิกษุรูปหนึ่งยืนร้องไห้อยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุนั้นดังนี้ว่า “ภิกษุ เธอร้องไห้ทำไม”
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะผู้เป็น
พระอัครสาวกของพระองค์ไปสำนักพระเทวทัต ชอบใจคำสอนของพระเทวทัต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ที่สารีบุตรและโมคคัลลานะ
จะชอบใจคำสอนของเทวทัต สารีบุตรและโมคคัลลานะนั้นไปเพื่อแนะนำภิกษุทั้งหลาย
ให้เข้าใจ”
พระอัครสาวกพาภิกษุ ๕๐๐ รูปกลับ
[๓๔๕] ครั้งนั้น พระเทวทัตมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่ มอง
เห็นพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงกล่าวกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านเห็นไหม ธรรมอันเรากล่าวดีแล้วถึงขนาดพระสารีบุตร
และพระโมคคัลลานะอัครสาวกของพระสมณโคดมยังพากันมาหาเรา ชอบใจธรรม
ของเรา”
เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้ พระโกกาลิกะได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่านเทวทัต ท่าน
อย่าเพิ่งวางใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
มีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจความปรารถนาชั่ว”
พระเทวทัตกล่าวว่า “ท่านอย่าคิดเช่นนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
นั้นมาดี เพราะชอบใจธรรมของเรา”
ทีนั้น พระเทวทัตเชื้อเชิญท่านพระสารีบุตรด้วยอาสนะครึ่งหนึ่งว่า “มาเถิด ท่าน
สารีบุตร นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๕ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ท่านพระสารีบุตรห้ามว่า “อย่าเลย ท่าน” แล้วถือเอาอาสนะหนึ่งนั่ง ณ ที่
สมควร แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ถือเอาอาสนะหนึ่งนั่ง ณ ที่สมควร
ครั้งนั้น พระเทวทัตชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นรื่นเริงด้วยธรรมีกถาสิ้นราตรีไป
เป็นอันมาก ได้เชื้อเชิญท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ยังไม่ง่วง
ท่านสารีบุตร ธรรมีกถาของท่านภิกษุทั้งหลายเข้าใจง่าย แต่เราเมื่อยหลัง เราจัก
เอนพัก”
ท่านพระสารีบุตรรับคำพระเทวทัต จากนั้นพระเทวทัตปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น จำวัด
โดยข้างเบื้องขวา พระเทวทัตนั้นเหน็ดเหนื่อยจนเผลอสติไม่รู้สึกตัว ครู่เดียวก็หลับไป
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวตักเตือนพร่ำสอนภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมีกถา
ที่เป็นอนุศาสนีประกอบด้วยอาเทสนาปาฏิหาริย์๑ ท่านพระโมคคัลลานะกล่าวตักเตือน
พร่ำสอนด้วยธรรมีกถาที่เป็นอนุศาสนีประกอบด้วยอิทธิปาฏิหาริย์
ครั้งนั้นแล ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ภิกษุ
ทั้งหลายผู้ได้รับการกล่าวตักเตือนพร่ำสอนด้วยธรรมีกถาที่เป็นอนุศาสนีประกอบด้วย
อาเทสนาปาฏิหาริย์จากพระสารีบุตรและด้วยธรรมีกถาที่เป็นอนุศาสนีประกอบด้วย
อิทธิปาฏิหาริย์จากพระโมคคัลลานะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”
ต่อมา ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวก
เราจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้ชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นจงมา”
ลำดับนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปไป
พระเวฬุวัน
เวลานั้น พระโกกาลิกะปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้นด้วยคำว่า “ท่านเทวทัต ลุกขึ้น
เถอะ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะพาภิกษุไปหมดแล้ว ท่านเทวทัต เราบอก

เชิงอรรถ :
๑ คือรู้ว่า ภิกษุรูปนี้มีความคิดอย่างไร ภิกษุรูปนั้นมีความคิดอย่างนั้นแล้วแสดงธรรมให้เหมาะแก่ความคิด
ของภิกษุนั้น ๆ (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๓๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๖ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าไว้ใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรและ
พระโมคคัลลานะมีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจความปรารถนาชั่ว”
ขณะนั้นโลหิตอุ่น ๆ ก็พุ่งออกจากปากพระเทวทัตในที่นั้นเอง
ต่อมา พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส พวก
ภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ พึงอุปสมบทใหม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย สารีบุตร เธออย่าพอใจให้ภิกษุที่ประพฤติ
ตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์อุปสมบทใหม่เลย สารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้ภิกษุที่
ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์แสดงอาบัติถุลลัจจัย สารีบุตร ก็เทวทัตปฏิบัติต่อ
เธออย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระเทวทัตปฏิบัติเหมือนพระผู้มี
พระภาค คือ ชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นรื่นเริงด้วยธรรมีกถาสิ้นราตรีเป็นอันมากแล้ว ได้
เชื้อเชิญข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ยังไม่ง่วง ท่านสารีบุตร ธรรมีกถา
ของท่านภิกษุทั้งหลายเข้าใจง่าย แต่เราเมื่อยหลัง เราจักเอนพัก”
[๓๔๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรื่อง
เคยมีมาแล้ว มีสระใหญ่แห่งหนึ่งอยู่ชายป่า โขลงช้างอาศัยอยู่ใกล้ ๆ สระนั้น ช้าง
เหล่านั้นลงไปในสระเอางวงถอนเหง้าและรากบัว ล้างให้สะอาดจนไม่มีโคลนตมแล้ว
เคี้ยวกินเหง้าและรากบัว เหง้าและรากบัวเป็นอาหารบำรุงพรรณและกำลังของ
ช้างเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ช้างเหล่านั้นจึงไม่ล้มหรือไม่ได้รับทุกข์ปางตาย ภิกษุ
ทั้งหลาย ส่วนลูกช้างทั้งหลายเอาอย่างช้างใหญ่พากันลงสระนั้น เอางวงถอนเหง้า
และรากบัวแล้วไม่ล้างให้สะอาดเคี้ยวกินทั้งที่มีโคลนตม เหง้าและรากบัวจึงไม่บำรุง
ผิวพรรณและกำลังของลูกช้างเหล่านั้น ลูกช้างเหล่านั้นจึงล้มและได้รับทุกข์ปางตาย
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตทำเลียนแบบเรา จะเสียชีวิตอย่างน่าสมเพช” แล้วได้ตรัส
ประพันธ์คาถาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๗ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
“เทวทัตทำเลียนแบบเราจะเสียชีวิต อย่างน่าสมเพช
เหมือนลูกช้างเคี้ยวกินเหง้าบัวเปื้อนโคลนตมแล้วจึงล้มไป
เพราะทำเลียนแบบช้างใหญ่ที่ขุดดินเคี้ยวกินเหง้าบัว
เล่นอยู่ในสระใหญ่ ฉะนั้น
คุณสมบัติของทูต๑
[๓๔๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง ควรทำ
หน้าที่ทูตได้ คุณสมบัติ ๘ อย่าง คือ

๑. รู้จักฟัง ๒. สามารถพูดให้ผู้อื่นฟังได้
๓. ใฝ่ศึกษา ๔. ทรงจำได้ดี
๕. เป็นผู้รู้ได้เข้าใจชัด ๖. สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
๗. ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท
ไม่เป็นประโยชน์

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง ควรทำหน้าที่ทูตได้
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง คือ

๑. รู้จักฟัง ๒. สามารถพูดให้ผู้อื่นฟังได้
๓. ใฝ่ศึกษา ๔. ทรงจำได้ดี
๕. เป็นผู้รู้ได้เข้าใจชัด ๖. สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
๗. ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท
ไม่เป็นประโยชน์

ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง ควรทำหน้าที่ทูตได้
ภิกษุผู้เข้าสู่ชุมชนที่โต้เถียงกันอย่างรุนแรงก็ไม่สะทกสะท้าน
ไม่ทำคำพูดให้เสียหาย ไม่ปกปิดข่าวสาส์น

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๖/๒๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ชี้แจงอย่างไม่มีข้อสงสัย ถูกย้อนถามก็ไม่โกรธ
ภิกษุผู้มีลักษณะเช่นนั้นแลควรทำหน้าที่ทูตได้
พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ อย่างครอบงำ๑
[๓๔๘] ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ อย่างครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป
เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ อย่าง คือ
๑. เทวทัตถูกลาภครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก
ดำรงชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๒. เทวทัตถูกความเสื่อมลาภครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง
ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๓. เทวทัตถูกยศครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก
ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๔. เทวทัตถูกความเสื่อมยศครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง
ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๕. เทวทัตถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิด
ในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๖. เทวทัตถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต จักไปเกิดในอบาย จัก
ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๗. เทวทัตถูกความปรารถนาชั่วครอบงำย่ำยีจิต จักไปเกิดในอบาย จัก
ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๘. เทวทัตถูกความที่มีมิตรชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง
ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ อย่างเหล่านี้แลครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป
เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗/๒๐๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
[๓๔๙] ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ พึงครอบงำ
ความเลื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะ
ที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความ
ที่มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่
พึงครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ...
สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ...
ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความ
เร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นทั้งหลายพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อภิกษุนั้นครอบงำลาภที่เกิดขึ้น
อยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่
เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น .... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะ
ที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและ
ความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นทั้งหลายพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อภิกษุนั้นครอบงำความที่
มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นทั้งหลายย่อมไม่มี
แก่ภิกษุนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่
... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะ
ที่เกิดขึ้น ...ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความที่
มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ อาสวะทั้งหลาย ใรที่นี้หมายถึงอาสวะทั้ง ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฎฐาสวะ อวิชชาสวะ
ความเร่าร้อนที่ก่อให้เกิดความคับแค้นทั้งหลาย หมายถึงความเร่าร้อนคือกิเลส ความเร่าร้อนคือวิบาก
ซึ่วก่อความทุกข์ทางกายและใจ เป็นผลที่เกิดจากอาสวะ (สํ.สฬา.อ. ๓/๕๓-๖๒/๑๔, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/
๕๘/๑๔๐, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๕๘/๑๕๔-๑๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจะครอบงำลาภ
ที่เกิดขึ้นอยู่ ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น
... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น
... ความที่มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ อย่างครอบงำ
[๓๕๐] ๑ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ อย่างครอบงำย่ำยีจิต ต้อง
ไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
อสัทธรรม ๓ อย่าง คือ
๑. ความปรารถนาชั่ว ๒. ความมีมิตรชั่ว
๓. การได้บรรลุคุณวิเศษขั้นต่ำแล้วเลิกเสียกลางคัน
นิคมคาถา
ใคร ๆ อย่าได้เกิดเป็นคนปรารถนาชั่ว
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ ในโลก
เธอทั้งหลายจงรู้จักเทวทัตว่ามีคติเหมือนกับคนปรารถนาชั่ว
เทวทัตเป็นที่ยกย่องกันว่าเป็นบัณฑิต
เป็นที่รู้กันว่า ได้อบรมตนแล้ว เราได้ฟังมาว่า
เทวทัตดุจรุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ เทวทัตนั้นสั่งสมความประมาท
เบียดเบียนตถาคตนั้น จึงต้องไปเกิดในนรกอเวจี
มีประตู ๔ ด้าน น่ากลัว
ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ
ผู้ไม่ทำกรรมชั่ว บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้นเท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อิติ. (แปล) ๒๕/๘๙/๔๕๘-๔๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
รูปใดเบียดเบียนตถาคตผู้เสด็จไปดี มีพระทัยสงบ
ด้วยการกล่าวตำหนิ การตำหนิพระองค์ย่อมฟังไม่ขึ้น
เปรียบเหมือนผู้ที่ตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทร
ด้วยยาพิษจำนวนเป็นหม้อ เขาไม่อาจประทุษร้ายได้
เพราะมหาสมุทรน่ากลัว
ภิกษุผู้ดำเนินตามมรรคาของพระพุทธเจ้า
หรือพระสาวกพึงถึงความสิ้นทุกข์ได้
บัณฑิตทำพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก
ให้เป็นกัลยาณมิตรและคบหาท่านเหล่านั้น”
อุปาลิปัญหา
ว่าด้วยปัญหาของพระอุบาลี
สังฆราชี
[๓๕๑] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
ที่เรียกว่า ‘สังฆราชี สังฆราชี(ความร้าวรานแห่งสงฆ์)’ ด้วยอาการเพียงไรจึงเป็น
สังฆราชี แต่ไม่เป็นสังฆเภท(ความแตกแยกแห่งสงฆ์)ก็และด้วยอาการเพียงไร จึงเป็นทั้ง
สังฆราชีและสังฆเภท”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๑. อุบาลี ฝ่ายหนึ่ง มีภิกษุ ๑ รูป อีกฝ่ายหนึ่ง มีภิกษุ ๒ รูป
รูปที่ ๔ ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
สัตถุศาสน์ พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อย่างนี้
จัดเป็นสังฆราชี แต่ไม่เป็นสังฆเภท
๒. อุบาลี ฝ่ายหนึ่ง มีภิกษุ ๒ รูป อีกฝ่ายหนึ่ง ก็มี ๒ รูป รูปที่
๕ ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อย่างนี้ก็จัดเป็นสังฆราชี
แต่ไม่เป็นสังฆเภท
๓. อุบาลี ฝ่ายหนึ่ง มีภิกษุ ๒ รูป อีกฝ่ายหนึ่งมี ๓ รูป รูปที่ ๖
ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อย่างนี้ก็จัดเป็นสังฆราชี
แต่ไม่เป็นสังฆเภท
๔. อุบาลี ฝ่ายหนึ่ง มีภิกษุ ๓ รูป อีกฝ่ายหนึ่งก็มี ๓ รูป รูปที่ ๗
ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อย่างนี้ก็จัดเป็นสังฆราชี
แต่ไม่เป็นสังฆเภท
๕. อุบาลี ฝ่ายหนึ่ง มีภิกษุ ๓ รูป อีกฝ่ายหนึ่งมี ๔ รูป รูปที่ ๘
ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อย่างนี้ก็จัดเป็นสังฆราชี
แต่ไม่เป็นสังฆเภท
๖. อุบาลี ฝ่ายหนึ่ง มีภิกษุ ๔ รูป อีกฝ่ายหนึ่งก็มี ๔ รูป รูปที่ ๙
ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อย่างนี้จัดเป็นทั้งสังฆราชี
และสังฆเภท
๗. ภิกษุ ๙ รูป หรือมากกว่า ๙ รูป จัดเป็นทั้งสังฆราชีและสังฆเภท
อุบาลี ภิกษุณีทำลายสงฆ์ไม่ได้ ได้แต่พยายามทำลาย สิกขมานา
ทำลายสงฆ์ไม่ได้ ... สามเณรทำลายสงฆ์ไม่ได้ ... สามเณรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ทำลายสงฆ์ไม่ได้ ... อุบาสกทำลายสงฆ์ไม่ได้ ... อุบาสิกาก็ทำลาย
สงฆ์ไม่ได้ ได้แต่พยายามทำลาย
อุบาลี ปกตัตตภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสมานสีมาย่อมทำลายสงฆ์ได้
สังฆเภท
เรื่องที่ทำให้สงฆ์แตกกัน ๑๘ ประการ๑
[๓๕๒] พระอุบาลีทูลถามว่า “ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สังฆเภท สังฆเภท’ สงฆ์
จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุเท่าไรหนอ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า เป็นธรรม
๒. แสดงธรรมว่า เป็นอธรรม
๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า เป็นวินัย
๔. แสดงวินัยว่า มิใช่วินัย
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ไม่ได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตได้ภาษิตไว้
ได้ตรัสไว้
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ไม่ได้
ตรัสไว้
๗. แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ตถาคตได้ประพฤติมา
๘. แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตได้บัญญัติไว้
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้
๑๑. แสดงอนาบัติว่า เป็นอาบัติ
๑๒. แสดงอาบัติว่า เป็นอนาบัติ
๑๓. แสดงอาบัติเบาว่า เป็นอาบัติหนัก

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๘/๓๖๒-๓๖๓, วิ.ป. (แปล) ๘/๒๗๕/๒๑๐, ๓๗๙/๕๕๗, องฺทสก. (แปล) ๒๔/๓๘/๘๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๔ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
๑๔. แสดงอาบัติหนักว่า เป็นอาบัติเบา
๑๕. แสดงอาบัติที่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ
๑๖. แสดงอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติที่มีส่วนเหลือ
๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ
๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติชั่วหยาบ๑
ภิกษุเหล่านั้นย่อมแยกพวกออกมา ประกาศตัวด้วยเหตุ ๑๘ อย่างนี้ แยก
กันทำอุโบสถ แยกกันทำปวารณา แยกกันทำสังฆกรรม
อุบาลี สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุเท่านี้แล
สังฆสามัคคี
[๓๕๓] พระอุบาลีทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สังฆสามัคคี
สังฆสามัคคี’ สงฆ์จะเป็นผู้สามัคคีกันด้วยเหตุเท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า เป็นอธรรม
๒. แสดงธรรมว่า เป็นธรรม
๓. แสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัยว่า มิใช่วินัย
๔. แสดงวินัยว่า เป็นวินัย
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ไม่ได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้
ไม่ได้กล่าวไว้
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตได้ภาษิตไว้ได้ตรัสไว้
๗. แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา
๘. แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ตถาคตได้ประพฤติมา
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตได้บัญญัติไว้

เชิงอรรถ :
๑ อาบัติชั่วหยาบ คืออาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๕ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
๑๑. แสดงอนาบัติว่า เป็นอนาบัติ
๑๒. แสดงอาบัติว่า เป็นอาบัติ
๑๓. แสดงอาบัติเบาว่า เป็นอาบัติเบา
๑๔. แสดงอาบัติหนักว่า เป็นอาบัติหนัก
๑๕. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ
๑๖. แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ
๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติชั่วหยาบ
๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ
ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่แยกพวกออกมาประกาศตัวด้วยเหตุ ๑๘ อย่างนี้ ไม่
แยกกัน ทำอุโบสถ ไม่แยกกันทำปวารณา ไม่แยกกันทำสังฆกรรม
อุบาลี สงฆ์จะเป็นผู้สามัคคีกันด้วยเหตุเท่านี้แล”
[๓๕๔] ๑พระอุบาลีกราบทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ผู้พร้อม
เพรียงกัน จะประสบผลอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น ย่อม
ประสบผลชั่วร้าย ชั่วกัป ถูกไฟไหม้ในนรกตลอดกัป”
นิคมคาถา
ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีการแตกกัน
ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย อยู่ในนรกตลอดกัป
พลาดจากนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ เสวยผลกรรม
อยู่ในนรกตลอดกัป เพราะทำลายสงฆ์ที่สามัคคีกันให้แตกแยกกัน
พระอุบาลีทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทำสงฆ์ที่แตกกันให้พร้อมเพรียงกัน
จะประสบผลอย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๓๙/๙๐, อภิ.ก. ๓๗/๖๕๗/๓๙๕-๓๙๖,๘๖๒/๔๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๖ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุทำสงฆ์ที่แตกกันให้พร้อมเพรียงกัน ย่อม
ประสบบุญอันประเสริฐ บันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป
นิคมคาถา
ความพร้อมเพรียงของสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดสุข
และบุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันแล้ว
ผู้ยินดีในความพร้อมเพรียงกัน ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมไม่พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป เพราะสมานสงฆ์ให้สามัคคีกัน”
ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ต้องไปเกิดในอบาย
[๓๕๕] พระอุบาลีทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า มีอยู่หรือที่ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์
ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี มีอยู่ที่ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ต้องไปเกิดในอบาย
ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้”
พระอุบาลีทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า มีอยู่หรือที่ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ไม่ต้องไป
เกิดในอบาย ไม่ต้องไปเกิดในนรก ไม่ต้องดำรงอยู่ชั่วกัป ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี มีอยู่ที่ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ไม่ต้องไปเกิดใน
อบาย ไม่ต้องไปเกิดในนรก ไม่ต้องดำรงอยู่ชั่วกัป ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้”
พระอุบาลีทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ ต้องไปเกิดในอบาย
ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ เป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม
มีความเห็นอธรรมนั้นว่าเป็นอธรรม มีความเห็นในความแตกกันว่าเป็นอธรรม อำพราง
ความเห็น อำพรางความเห็นชอบ อำพรางความพอใจ อำพรางความประสงค์
ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์ พวกท่านจงจับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๗ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
สลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อุบาลี ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นี้ ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง
ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
อุบาลี อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุแสดงอธรรมว่า เป็นธรรม มีความเห็นธรรมนั้นว่า
เป็นอธรรม มีความเห็นในความแตกกันว่าเป็นธรรม อำพรางความเห็น อำพราง
ความเห็นชอบ อำพรางความพอใจ อำพรางความประสงค์ ประกาศให้จับสลากว่า
‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์ พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’
อุบาลี ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นี้ ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป
แก้ไขไม่ได้
อุบาลี อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุแสดงอธรรมว่า เป็นธรรม มีความเห็นอธรรมนั้น
ว่าเป็นอธรรม ไม่แน่ใจความแตกกัน อำพรางความเห็น อำพรางความเห็นชอบ
อำพรางความพอใจ อำพรางความประสงค์ ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม
นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์ พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อุบาลี
ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นี้ ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
อุบาลี อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม มีความเห็นอธรรมนั้น
ว่าเป็นธรรม มีความเห็นความแตกกันว่าเป็นอธรรม ... มีความเห็นอธรรมนั้นว่า
เป็นธรรม ไม่แน่ใจในความแตกกัน ... ไม่แน่ใจในอธรรมนั้น มีความเห็นความ
แตกกันว่าเป็นอธรรม ... ไม่แน่ใจในอธรรมนั้น มีความเห็นความแตกกันว่าเป็น
ธรรม ... ไม่แน่ใจในอธรรมนั้น ไม่แน่ใจในความแตกกัน อำพรางความเห็น อำพราง
ความเห็นชอบ อำพรางความพอใจ อำพรางความประสงค์ ประกาศให้จับสลากว่า
‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์ พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้
อุบาลี ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นี้ ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป
แก้ไขไม่ได้
อุบาลี อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุแสดงธรรมว่า เป็นอธรรม ... แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า
เป็นวินัย แสดงวินัยว่า มิใช่วินัย แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้ตรัสไว้ว่า
ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้ตรัสไว้ แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตไม่ประพฤติมาว่า ตถาคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ได้ประพฤติมา ... แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตประพฤติมาว่า ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา
แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตได้บัญญัติไว้ แสดงสิ่งที่ตถาคต บัญญัติไว้
ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ แสดงอนาบัติว่า เป็นอาบัติ แสดงอาบัติว่า เป็นอนาบัติ
แสดงอาบัติเบาว่า เป็นอาบัติหนัก แสดงอาบัติหนักว่า เป็นอาบัติเบา แสดงอาบัติ
มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติ
มีส่วนเหลือ แสดงอาบัติชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ
ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ มีความเห็นในธรรมนั้นว่าเป็นอธรรม มีความเห็นความแตก
กันว่าเป็นอธรรม ... มีความเห็นธรรมนั้นว่าเป็นอธรรม มีความเห็นความแตกกันว่า
เป็นธรรม มีความเห็นในธรรมนั้นว่า เป็นอธรรม ไม่แน่ใจความแตกกัน มีความเห็น
ในอธรรมนั้นว่าเป็นธรรม มีความเห็นความแตกกันว่า เป็นอธรรม มีความเห็นธรรม
นั้นว่าเป็นอธรรม ไม่แน่ใจความแตกกัน ไม่แน่ใจ ธรรมนั้น มีความเห็น ความแตก
กันว่าเป็นอธรรม ไม่แน่ใจอธรรมนั้น มีความเห็นความแตกกันว่า เป็นอธรรม ไม่
แน่ใจในอธรรมนั้น ไม่แน่ใจความแตกกัน อำพรางความเห็น อำพรางความเห็นชอบ
อำพรางความพอใจ อำพรางความประสงค์ ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม
นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์ พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อุบาลี
ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นี้ ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไข
ไม่ได้”
ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ไม่ต้องไปเกิดในอบาย
พระอุบาลีกราบทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ไม่ต้องไปเกิด
ในอบาย ไม่ต้องไปเกิดในนรก ไม่ต้องดำรงอยู่ชั่วกัป ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ เป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ แสดงอธรรมว่าเป็น
ธรรมมีความเห็นในอธรรมนั้นว่าเป็นธรรม มีความเห็นความแตกกันว่าเป็นธรรม ไม่
อำพรางความเห็น ไม่อำพรางความเห็นชอบ ไม่อำพรางความพอใจ ไม่อำพราง
ความประสงค์ ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในสังฆเภทขันธกะ
พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’ อุบาลี ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นี้ไม่ต้องไป
เกิดในอบาย ไม่ต้องไปเกิดในนรก ไม่ต้องดำรงอยู่ชั่วกัป ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้
อุบาลี อีกประการหนึ่ง ภิกษุแสดงธรรมว่าเป็นอธรรม ฯลฯ อาบัติชั่วหยาบ
ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ มีความเห็นธรรมนั้นว่าเป็นธรรม มีความเห็นความแตก
กันว่าเป็นธรรม ไม่อำพรางความเห็น ไม่อำพรางความเห็นชอบ ไม่อำพรางความ
พอใจ ไม่อำพรางความประสงค์ ประกาศให้จับสลากว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย
นี้เป็นสัตถุศาสน์ พวกท่านจงจับสลากนี้ จงชอบใจสลากนี้’
อุบาลี ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์อย่างนี้ ไม่ต้องไปเกิดในอบาย ไม่ต้องไปเกิดในนรก
ไม่ต้องดำรงอยู่ชั่วกัป ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้”
ตติยภาณวาร จบ
สังฆเภทขันธกะที่ ๗ จบ
รวมเรื่องที่มีในสังฆเภทขันธกะ
เรื่องเจ้าศากยะผู้มีชื่อเสียงออกบวชขณะที่พระผู้มีพระภาค
ประทับที่อนุปิยนิคม เจ้าอนุรุทธศากยะผู้สุขุมาลชาติ
ไม่ปรารถนาจะทรงผนวช เจ้ามหานามะผู้พี่จึงสอนวิธีไถนา
หว่านข้าว ไขน้ำเข้า ระบายน้ำออก ถอนหญ้า
เกี่ยวข้าว ขนข้าว ตั้งลอม นวดข้าว สางฟาง
ฝัดข้าวลีบ ฝัดละอองออก ขนขึ้นฉาง
เจ้าอนุรุทธะจึงตัดสินใจออกบวช เพราะทรงเห็นการงาน
ไม่มีที่จบสิ้น แม้มารดาบิดา ปู่ย่าตายายจะตายไปหมด
พระเจ้าภัททิยศากยะ เจ้าอนุรุทธศากยะ เจ้าอานนท์
เจ้าภคุ เจ้ากิมพิละ ถือตัวว่าเป็นศากยวงศ์
เพื่อจะตัดมานะจึงยอมให้อุบาลีบวชก่อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภท ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในสังฆเภทขันธกะ
พระผู้มีพระภาคประทับที่เมืองโกสัมพี
พระเทวทัตทำกรรมเลวทราม เสื่อมจากฤทธิ์
กกุธโกฬิยเทพบุตรเข้าไปแจ้งข่าวแก่พระมหาโมคคัลลานะ
สงฆ์ลงปกาสนียกรรมพระเทวทัต
อชาตศัตรูกุมารถูกพระเทวทัตยุยงให้ปลงพระชนม์พระชนก
พระเทวทัตส่งบุรุษไปลอบปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคแต่ไม่สำเร็จ
พระเทวทัตกลิ้งศิลาหวังจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคด้วยตนเอง
สั่งให้คนปล่อยช้างนาฬาคิรีเพื่อทำร้ายพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติโภชนะที่คน ๓ คนพึงบริโภค
เพราะอำนาจประโยชน์ ๓ อย่าง
ต่อจากนั้น พระเทวทัตทูลขอวัตถุ ๕ ประการ
พยายามทำลายสงฆ์ การทำลายสงฆ์มีโทษหนัก
พระเทวทัตทำลายสงฆ์ ชักชวนภิกษุ ๕๐๐ รูปเข้าเป็นพรรค
พวกพาหนีไปอยู่ที่คยาสีสประเทศ พระผู้มีพระภาครับสั่งให้
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไปตามภิกษุ ๕๐๐ รูปกลับ
ให้พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์แสดงอาบัติถุลลัจจัย
เรื่ององค์ ๘ มี ๓ เรื่อง คือ
๑. ภิกษุผู้ควรเป็นทูตมีคุณสมบัติ ๘ อย่าง
๒. พระสารีบุตรประกอบด้วยคุณสมบัติของทูต ๘ อย่าง
๓. พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ อย่างครอบงำ
พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ อย่างครอบงำ
เรื่องอาการที่เรียกว่า “สังฆราชี” “สังฆเภท”
สังฆเภทขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๑. อาคันตุกวัตตกถา
๘. วัตตขันธกะ
๑. อาคันตุกวัตตกถา
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติของภิกษุผู้จรมา
[๓๕๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะสวมรองเท้าเข้าสู่
อารามบ้าง กั้นร่มเข้าสู่อารามบ้าง คลุมศีรษะเข้าสู่อารามบ้าง พาดจีวรบนศีรษะเข้า
สู่อารามบ้าง ใช้น้ำดื่มล้างเท้าบ้าง ไม่ยอมไหว้ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษา
กว่าบ้าง ไม่ต้อนรับด้วยเสนาสนะบ้าง
ภิกษุอาคันตุกะรูปหนึ่ง ถอดลิ่มวิหารที่ไม่มีคนอยู่แล้วผลักบานประตูเข้าไปอย่าง
รวดเร็ว งูตกจากเบื้องบนลงมาที่คอของภิกษุนั้น ท่านตกใจกลัวร้องขึ้นสุดเสียง ภิกษุ
ทั้งหลายรีบเข้าไปถามภิกษุนั้นดังนี้ว่า “ท่าน ท่านร้องทำไม”
ภิกษุนั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
อาคันตุกะทั้งหลายจึงสวมรองเท้าเข้าสู่อารามบ้าง กั้นร่มเข้าสู่อารามบ้าง คลุมศีรษะเข้า
สู่อารามบ้าง พาดจีวรบนศีรษะเข้าสู่อารามบ้าง ใช้น้ำดื่มล้างเท้าบ้าง ไม่ยอมไหว้
ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษากว่าบ้าง ไม่ต้อนรับด้วยเสนาสนะบ้างเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุ
อาคันตุกะทั้งหลายสวมรองเท้าเข้าสู่อารามบ้าง กั้นร่มเข้าสู่อารามบ้าง คลุมศีรษะเข้า
สู่อารามบ้าง พาดจีวรบนศีรษะเข้าสู่อารามบ้าง ใช้น้ำดื่มล้างเท้าบ้าง ไม่ยอมไหว้ภิกษุ
ผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษากว่าบ้าง ไม่ถามถึงเสนาสนะบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๑. อาคันตุกวัตตกถา
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุอาคันตุกะ
ทั้งหลายจึงสวมรองเท้าเข้าสู่อารามบ้าง กั้นร่มเข้าสู่อารามบ้าง คลุมศีรษะเข้าสู่อาราม
บ้าง พาดจีวรบนศีรษะเข้าสู่อารามบ้าง ใช้น้ำดื่มล้างเท้าบ้าง ไม่ยอมไหว้ภิกษุผู้อยู่
ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษากว่าบ้าง ไม่ถามถึงเสนาสนะบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ
ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[๓๕๗] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรแก่ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย
โดยที่ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายจะต้องประพฤติชอบ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาคันตุกะคิดว่า “เราจะเข้าไปสู่อารามเดี๋ยวนี้” พึงถอด
รองเท้าเคาะแล้วถือไปอย่างระมัดระวัง ลดร่ม เปิดศีรษะ ลดจีวรบนศีรษะลงบนบ่า
ไม่ต้องรีบร้อนเข้าสู่อารามตามปกติ เมื่อเข้าสู่อารามก็พึงสังเกตว่า “ภิกษุผู้อยู่ประจำ
ในอาวาสทั้งหลายประชุมกันที่ไหน” พึงไปที่ที่ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสประชุมกัน
ไม่ว่าจะเป็นโรงฉัน มณฑปหรือโคนไม้ แล้วเก็บบาตรไว้ ณ ที่สมควร เก็บจีวรไว้ ณ
ที่สมควร จองอาสนะที่เหมาะสมแล้วนั่ง ถามถึงน้ำดื่มน้ำใช้ว่า “อย่างไหนน้ำดื่ม
อย่างไหนน้ำใช้” ถ้าต้องการน้ำดื่มก็ตักมาดื่ม ถ้าต้องการน้ำใช้ก็ตักมาล้างเท้า เมื่อ
จะล้างเท้า ควรใช้มือข้างหนึ่งรดน้ำ มืออีกข้างหนึ่งล้างเท้า ไม่พึงใช้มือข้างที่รดน้ำล้าง
เท้า ถามถึงผ้าเช็ดรองเท้าแล้วเช็ดรองเท้า เมื่อจะเช็ดรองเท้า พึงใช้ผ้าแห้งเช็ดก่อน
ใช้ผ้าเปียกเช็ดทีหลัง พึงซักผ้าเช็ดรองเท้าบิดแล้วผึ่งไว้ ณ ที่สมควร
ถ้าภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสแก่พรรษา พึงอภิวาท ถ้าเป็นพระนวกะ พึงให้
ท่านอภิวาท ถามถึงเสนาสนะว่า “ผมได้เสนาสนะแห่งไหน” ถามถึงเสนาสนะที่มีภิกษุ
หรือที่ไม่มีภิกษุอยู่ ถามถึงโคจรคามและอโคจรคาม ถามถึงตระกูลที่เป็นเสกขสมมติ๑

เชิงอรรถ :
๑ ตระกูลเสกขสมมติ คือ ตระกูลที่มีศรัทธามาก ให้ทานวัตถุมากจนหมดทุนทรัพย์ เพื่อไม่ให้ตระกูลเช่นนี้
เดือดร้อนจากการถวายสิ่งของแก่ภิกษุสงฆ์ หรือเพื่อไม่ให้ภิกษุสงฆ์รบกวนตระกูลเช่นนี้ สงฆ์จึงประกาศ
สมมติ(แต่งตั้ง)ตระกูลเช่นนี้ให้เป็น “เสกขสมมติ” (ดู วิ.อ.๒/๕๖๒/๔๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๑. อาคันตุกวัตตกถา
ถามถึงวัจกุฎี ถามถึงน้ำดื่มและน้ำใช้ ถามถึงไม้เท้า ถามถึงกติกาสงฆ์ที่ตั้งไว้ว่า
“ควรเข้าเวลาไหน ควรออกเวลาไหน” ถ้าวิหารไม่มีภิกษุอยู่ก็พึงเคาะประตูรอสัก
ครู่หนึ่งแล้วถอดลิ่มผลักบานประตู ยืนอยู่ข้างนอกมองดูให้ทั่ว
ถ้าวิหารรก มีเตียงวางซ้อนเตียงหรือตั่งวางซ้อนตั่ง เสนาสนะมีละอองจับเบื้องบน
ถ้าสามารถ ก็พึงชำระให้สะอาด เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนเครื่องลาดพื้น
ออกไปวางไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง ฟูก หมอน ผ้ารองนั่งและผ้าปูนอน พึงขน
ออกไปวางไว้ ณ ที่สมควร เตียง ตั่ง พึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน
พนักพิง พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขน
ออกมาวาง ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง
พึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาสีเหลืองหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมแล้วเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึงผึ่ง
แดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน
พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด เช็ดถู
ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง เมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๔ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๒. อาวาสิกวัตตกถา
จะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง เอา
ชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎี รก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวัตรของภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย โดยที่ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย
จะต้องประพฤติชอบ
๒. อาวาสิกวัตตกถา
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่ในอาวาส
[๓๕๘] สมัยนั้น ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสเห็นภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายแล้วไม่
ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร ไม่
นำน้ำดื่มมาต้อนรับ ไม่นำน้ำใช้มาต้อนรับ ไม่ไหว้ภิกษุอาคันตุกะผู้แก่พรรษากว่า ไม่จัด
เสนาสนะให้
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ผู้อยู่ประจำในอาวาสทั้งหลายเห็นภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายแล้วไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า
ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร ไม่นำน้ำดื่มมาต้อนรับ ไม่นำ
น้ำใช้มาต้อนรับ ไม่ไหว้ภิกษุอาคันตุกะผู้แก่พรรษากว่า ไม่จัดเสนาสนะให้เล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๕ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๒. อาวาสิกวัตตกถา
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่ประจำในอาวาสเห็นภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายแล้วไม่ปูอาสนะ ฯลฯ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[๓๕๙] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรแก่ภิกษุผู้อยู่ประจำใน
อาวาสทั้งหลาย โดยที่ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสทั้งหลายจะต้องประพฤติชอบ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสเห็นภิกษุอาคันตุกะผู้แก่พรรษากว่า
พึงปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ลุกรับบาตรและจีวร นำ
น้ำดื่มต้อนรับ นำน้ำใช้มาต้อนรับ ถ้าสามารถก็พึงเช็ดรองเท้า เมื่อจะเช็ดรองเท้า
ใช้ผ้าแห้งเช็ดก่อนแล้วใช้ผ้าเปียกเช็ดทีหลัง พึงซักผ้าเช็ดรองเท้าบิดแล้วผึ่งไว้ ณ ที่
สมควร
ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสพึงอภิวาทภิกษุอาคันตุกะผู้แก่พรรษากว่าจัดเสนาสนะ
ถวายว่า “เสนาสนะนั่นถึงแก่ท่าน” บอกเสนาสนะที่มีภิกษุอยู่หรือไม่มีภิกษุอยู่ บอก
โคจรคามและอโคจรคาม บอกตระกูลที่เป็นเสกขสมมติ บอกวัจกุฎี บอกน้ำดื่มน้ำใช้
บอกไม้เท้า บอกกติกาสงฆ์ที่ตั้งไว้ว่า “พึงเข้าเวลานี้ พึงออกเวลานี้”
ถ้าภิกษุอาคันตุกะเป็นพระนวกะ ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสพึงนั่งลงบอกว่า “ท่าน
จงวางบาตรที่นั่น วางจีวรที่นั่น นั่งบนอาสนะนี้” พึงบอกน้ำดื่ม พึงบอกน้ำใช้
บอกผ้าเช็ดรองเท้า พึงให้ภิกษุอาคันตุกะที่เป็นพระนวกะให้อภิวาท บอกเสนาสนะว่า
“เสนาสนะนั่นถึงแก่ท่าน” บอกเสนาสนะที่มีภิกษุอยู่หรือไม่มีภิกษุอยู่ บอกโคจรคาม
และอโคจรคาม บอกตระกูลที่เป็นเสกขสมมติ บอกวัจกุฎี บอกน้ำดื่ม บอกน้ำใช้
บอกไม้เท้า บอกกติกาที่สงฆ์ตั้งไว้ว่า “พึงเข้าเวลานี้ พึงออกเวลานี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๖ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๓. คมิกวัตตกถา
ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวัตรของภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสทั้งหลาย โดยที่ภิกษุผู้
อยู่ประจำในอาวาสทั้งหลายต้องประพฤติชอบ
๓. คมิกวัตตกถา
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติของภิกษุผู้ออกเดินทาง
[๓๖๐] สมัยนั้น ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางทั้งหลายไม่เก็บเครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดิน
เปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ ไม่บอกมอบหมายเสนาสนะแล้วพากันจากไป เครื่องใช้ไม้
เครื่องใช้ดินเสียหาย ไม่มีใครดูแลรักษาเสนาสนะ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ผู้เตรียมจะเดินทางทั้งหลายจึงไม่เก็บเครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดิน เปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้
ไม่บอกมอบหมายเสนาสนะแล้วพากันจากไปเล่า เครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดินเสียหาย
ไม่มีใครดูแลรักษาเสนาสนะ”
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุ
ผู้เตรียมจะเดินทางทั้งหลายไม่เก็บเครื่องใช้ไม้ ฯลฯ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า
[๓๖๑] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรแก่ภิกษุผู้เตรียมจะเดิน
ทางทั้งหลาย โดยที่ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางทั้งหลายต้องประพฤติชอบ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทาง พึงเก็บเครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดิน ปิด
ประตูหน้าต่าง บอกมอบหมายเสนาสนะแล้วพากันจากไป ถ้าไม่มีภิกษุ พึงบอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๗ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๔. อนุโมทนาวัตตกถา
มอบหมายแก่สามเณร ถ้าไม่มีสามเณร พึงบอกมอบหมายแก่คนวัด ถ้าไม่มีคนวัด
พึงบอกมอบหมายแก่อุบาสก ถ้าไม่มีภิกษุสามเณร คนวัดหรืออุบาสก พึงยกเตียง
ขึ้นวางไว้บนศิลา ๔ แผ่น ยกเตียงซ้อนเตียง ยกตั่งซ้อนตั่ง กองเครื่องเสนาสนะ
ไว้ข้างบนแล้วเก็บเครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้ดิน ปิดประตูหน้าต่าง แล้วจึงพากันจากไป
ถ้าวิหารฝนรั่ว ถ้าสามารถก็ควรมุงหรือขวนขวายว่า “จะมุงวิหารได้อย่างไร” ถ้าทำ
ได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าทำไม่ได้พึงยกเตียงขึ้น วางไว้บนศิลา ๔ แผ่นในที่ที่
ฝนไม่รั่ว ยกเตียงซ้อนเตียง ตั่งซ้อนตั่ง กองเครื่องเสนาสนะไว้ข้างบน เก็บเครื่อง
ใช้ไม้ เครื่องใช้ดิน ปิดประตูหน้าต่างแล้วจึงพากันจากไป ถ้าวิหารฝนรั่วทุกแห่ง ถ้า
สามารถก็พึงขนเครื่องเสนาสนะเข้าบ้านหรือขวนขวายว่า “จะขนเครื่องเสนาสนะเข้า
หมู่บ้านได้อย่างไร” ถ้าทำได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าทำไม่ได้ พึงยกเตียงขึ้นวาง
ไว้บนศิลา ๔ แผ่นในที่แจ้ง ยกเตียงซ้อนเตียง ตั่งซ้อนตั่ง กองเครื่องเสนาสนะไว้
ข้างบน เก็บเครื่องใช้ไม้เครื่องใช้ดิน แล้วใช้หญ้าหรือใบไม้คลุม พากันจากไปด้วยคิด
ว่า “อย่างไรเสีย ส่วนของเตียงตั่งคงจะเหลืออยู่บ้าง”
ภิกษุทั้งหลาย นี้ คือ วัตรของภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางทั้งหลาย โดยที่ภิกษุ
ผู้เตรียมจะเดินทางทั้งหลายต้องประพฤติชอบ
๔. อนุโมทนาวัตตกถา
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติในการอนุโมทนา
[๓๖๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่กล่าวอนุโมทนาในโรงอาหาร คนทั้งหลาย
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรทั้งหลายจึงไม่
กล่าวอนุโมทนาเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๔. อนุโมทนาวัตตกถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุรับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุกล่าวอนุโมทนาในโรงอาหาร”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นได้สนทนากันดังนี้ว่า “ใครควรกล่าวอนุโมทนาในโรงอาหาร”
แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระกล่าวอนุโมทนาในโรง
อาหาร”
ต่อมา สมาคมหนึ่งถวายสังฆภัต ท่านพระสารีบุตรเป็นพระสังฆเถระ ภิกษุ
ทั้งหลายคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระกล่าวอนุโมทนาในโรงอาหาร”
จึงปล่อยให้ท่านพระสารีบุตรอยู่รูปเดียว แล้วพากันจากไป
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวสัมโมทนียกถาแก่คนเหล่านั้น แล้วตามไป
ทีหลังเพียงรูปเดียว
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรกำลังเดินมาแต่ไกลรูปเดียว
ครั้นแล้วรับสั่งถามดังนี้ว่า “สารีบุตร อาหารคงมีมากกระมัง”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า อาหารมีมากจริง แต่ภิกษุ
ทั้งหลายปล่อยข้าพระพุทธเจ้าไว้ผู้เดียวแล้วพากันกลับ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พระเถรานุเถระ ๔-๕ รูปรออยู่
ในโรงฉัน”
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งปวดอุจจาระอยู่ในโรงฉัน กลั้นอุจจาระไว้จนสลบล้มลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีธุระ เราอนุญาตให้บอกลาภิกษุ
ผู้อยู่ถัดไปแล้วไปได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๕. ภัตตัคควัตตกถา
๕. ภัตตัคควัตตกถา
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติในโรงฉัน
[๓๖๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย ไม่มี
มารยาท ไปโรงฉัน เดินแซงไปข้างหน้าภิกษุผู้เถระบ้าง นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ
ทั้งหลายบ้าง กีดกันอาสนะภิกษุนวกะทั้งหลายบ้าง นั่งทับสังฆาฏิในละแวกบ้านบ้าง
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย ไม่มีมารยาท ไปโรงฉัน เดินแซงไป
ข้างหน้าภิกษุผู้เถระทั้งหลายบ้าง นั่งเบียดภิกษุผู้เถระทั้งหลายบ้าง กีดกันอาสนะ
ภิกษุนวกะทั้งหลายบ้าง นั่งทับสังฆาฏิในละแวกบ้านบ้างเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย ไม่มีมารยาท ไปโรงฉัน เดินแซงไป
ข้างหน้าภิกษุผู้เถระทั้งหลายบ้าง นั่งเบียดภิกษุผู้เถระทั้งหลายบ้าง กีดกันอาสนะ
ภิกษุนวกะทั้งหลายบ้าง นั่งทับสังฆาฏิในละแวกบ้านบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดง
ธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[๓๖๔] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรในโรงฉันแก่ภิกษุทั้งหลาย
โดยที่ภิกษุทั้งหลายจะต้องประพฤติชอบในโรงฉัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภัตตุทเทสก์บอกเวลาในอาราม ภิกษุพึงนุ่งปิดมณฑล ๓ ให้
เรียบร้อย คาดประคดเอว ห่มผ้าสังฆาฏิที่พับซ้อนกันไว้ กลัดลูกดุม ล้างบาตรแล้ว
ถือไปไม่ต้องรีบร้อนเข้าหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๓๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๕. ภัตตัคควัตตกถา
ไม่พึงเดินแซงไปข้างหน้าภิกษุผู้เถระทั้งหลาย พึงปกปิดกายให้ดีไปในละแวกบ้าน
พึงสำรวมดีไปในละแวกบ้าน พึงทอดจักษุลงไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเวิกผ้าไปในละแวก
บ้าน ไม่พึงหัวเราะดังไปในละแวกบ้าน พึงพูดเสียงเบาไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดิน
โคลงกายไปในละแวกบ้าน ไม่พึงแกว่งแขนไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินโคลงศีรษะไป
ในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินเท้าสะเอวไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน
ไม่พึงเดินกระโหย่งไปในละแวกบ้าน
พึงปกปิดกายให้ดีนั่งในละแวกบ้าน พึงสำรวมดีนั่งในละแวกบ้าน พึงทอดจักษุ
ลงนั่งในละแวกบ้าน ไม่พึงนั่งเวิกผ้าในละแวกบ้าน ไม่พึงนั่งหัวเราะดังในละแวกบ้าน
พึงนั่งพูดเสียงเบาในละแวกบ้าน ไม่พึงนั่งโคลงกายในละแวกบ้าน ไม่พึงนั่งแกว่งแขน
ในละแวกบ้าน ไม่พึงนั่งโคลงศีรษะในละแวกบ้าน ไม่พึงนั่งเท้าสะเอวในละแวกบ้าน
ไม่พึงนั่งคลุมศีรษะในละแวกบ้าน ไม่พึงนั่งรัดเข่าในละแวกบ้าน ไม่พึงนั่งเบียดภิกษุ
ผู้เถระทั้งหลาย ไม่พึงกีดกันอาสนะภิกษุนวกะทั้งหลาย ไม่พึงนั่งทับสังฆาฏิ
เมื่อเขาถวายน้ำ พึงใช้มือทั้ง ๒ ประคองบาตรรับน้ำ พึงถือบาตรล้างอย่าง
ไม่ให้ครูด ถ้ามีกระโถน พึงเทน้ำลงกระโถนอย่างระมัดระวัง ด้วยคิดว่า
“กระโถนอย่าเลอะน้ำ ภิกษุทั้งหลายที่อยู่ใกล้อย่าถูกน้ำกระเซ็น สังฆาฏิอย่าถูกน้ำ”
ถ้าไม่มีกระโถน พึงเทน้ำลงพื้นดินอย่างระมัดระวัง ด้วยคิดว่า “ภิกษุทั้งหลายที่อยู่
ใกล้ อย่าถูกน้ำกระเซ็น สังฆาฏิอย่าถูกน้ำ”
เมื่อเขาถวายข้าวสุก พึงใช้มือทั้ง ๒ ประคองบาตรรับข้าวสุก เว้นที่ว่างไว้
สำหรับแกง ถ้ามีเนยใส น้ำมัน หรือแกงอ่อม ภิกษุผู้เถระพึงบอกว่า “ท่านจงจัดถวาย
ภิกษุเท่ากันทุกรูป” พึงรับบิณฑบาตโดยเคารพ พึงให้ความสำคัญในบาตรขณะรับ
บิณฑบาต พึงรับบิณฑบาตพอเหมาะกับแกง พึงรับบิณฑบาตเสมอขอบปากบาตร
ภิกษุผู้เถระไม่พึงฉันก่อนจนกว่าข้าวสุกจะทั่วถึงภิกษุทุกรูป พึงฉันบิณฑบาต
โดยเคารพ พึงให้ความสำคัญในบาตรขณะฉันบิณฑบาต พึงฉันบิณฑบาตไปตาม
ลำดับ พึงฉันบิณฑบาตพอเหมาะกับแกง ไม่พึงฉันบิณฑบาตขยุ้มลงแต่ยอด ไม่พึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๓๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๕. ภัตตัคควัตตกถา
ใช้ข้าวสุกกลบแกงหรือกับข้าวเพราะอยากได้มาก ไม่เป็นไข้ไม่พึงออกปากขอแกงหรือ
ข้าวสุกมาฉันส่วนตัว ไม่พึงมุ่งตำหนิมองดูบาตรของภิกษุเหล่าอื่น ไม่พึงทำคำข้าว
ให้ใหญ่เกิน พึงทำคำข้าวให้กลมกล่อม ไม่พึงอ้าปากรอคำข้าวที่ยังไม่ถึงปาก ขณะ
กำลังฉัน ไม่พึงสอดมือทั้งหมดเข้าในปาก ขณะที่ในปากมีคำข้าว ไม่พึงพูดคุย ไม่
พึงฉันโยนคำข้าว ไม่พึงฉันกัดคำข้าว ไม่พึงฉันทำกระพุ้งแก้มตุ่ย ไม่พึงฉันสลัดมือ
ไม่พึงฉันโปรยเมล็ดข้าว ไม่พึงฉันแลบลิ้น ไม่พึงฉันทำเสียงดังจั๊บ ๆ ไม่พึงฉันทำ
เสียงดังซู้ด ๆ ไม่ พึงฉันเลียมือ ไม่พึงฉันขอดบาตร ไม่พึงฉันเลียริมฝีปาก ไม่พึงจับ
ภาชนะน้ำดื่มด้วยมือเปื้อนอาหาร
ภิกษุผู้เถระไม่พึงรับน้ำก่อนจนกว่าภิกษุทั้งหมดฉันเสร็จ เมื่อเขาถวายน้ำ พึงใช้
มือทั้ง ๒ ประคองบาตรรับน้ำ พึงถือล้างอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ถ้ามีกระโถน
พึงเทน้ำลงกระโถนอย่างระมัดระวัง ด้วยคิดว่า “กระโถนอย่าเลอะน้ำ ภิกษุทั้งหลาย
ที่อยู่ใกล้ อย่าถูกน้ำกระเซ็น สังฆาฏิอย่าถูกน้ำ” ถ้าไม่มีกระโถน พึงเทน้ำลงบน
พื้นดินอย่างระมัดระวัง ด้วยคิดว่า “ภิกษุทั้งหลายที่อยู่ใกล้ อย่าถูกน้ำกระเซ็น
สังฆาฏิอย่าถูกน้ำ” ไม่พึงเทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน
เมื่อจะกลับ ภิกษุนวกะทั้งหลายพึงกลับก่อน ภิกษุผู้เถระทั้งหลายกลับทีหลัง
พึงปกปิดกายให้ดีไปในละแวกบ้าน พึงสำรวมดีไปในละแวกบ้าน พึงทอดจักษุลงไป
ในละแวกบ้าน ไม่พึงเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินหัวเราะดังไปในละแวกบ้าน
พึงพูดเสียงเบา ไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินโคลงกายไปในละแวกบ้าน ไม่พึงแกว่ง
แขนไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินเท้าสะเอว
ไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินกระโหย่งไปใน
ละแวกบ้าน
ภิกษุทั้งหลาย นี้ คือวัตรในโรงฉัน โดยที่ภิกษุทั้งหลายพึงประพฤติชอบในโรงฉัน
ปฐมภาณวาร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๓๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๖. ปิณฑจาริกวัตตกถา
๖. ปิณฑจาริกวัตตกถา
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติของภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
[๓๖๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาตทั้งหลายนุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย
ไม่มีมารยาท เที่ยวบิณฑบาต ไม่สังเกตเข้าบ้านบ้าง ไม่สังเกตออกไปบ้าง รีบร้อน
เข้าไปบ้าง รีบร้อนออกไปบ้าง ยืนไกลเกินไปบ้าง ยืนใกล้เกินไปบ้าง ยืนนานเกินไปบ้าง
กลับเร็วเกินไปบ้าง
ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง ไม่ทันสังเกตเข้าไปบ้าน สำคัญว่าประตูบ้าน
เข้าไปยังห้องหนึ่งซึ่งมีหญิงเปลือยกายนอนหงายอยู่ ภิกษุนั้นได้เห็นหญิงเปลือยกาย
นอนหงายอยู่นั้น จึงรู้ว่า “นี้ไม่ใช่ประตู แต่เป็นห้องนอน” จึงออกจากห้องนั้นไป
สามีของหญิงนั้นเห็นนางเปลือยกายนอนหงายก็เข้าใจว่า “ภิกษุรูปนี้ทำมิดีมิร้าย
ภรรยาของเรา” จึงจับภิกษุนั้นทำร้าย
ลำดับนั้น หญิงนั้นตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น ได้ถามสามีดังนี้ว่า “พี่ ท่านทำร้าย
ภิกษุทำไม”
เขาตอบว่า “ภิกษุนี้ทำมิดีมิร้ายเธอ”
นางพูดว่า “ภิกษุนี้ไม่ได้ทำมิดีมิร้ายฉัน ภิกษุนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย” แล้วให้
ปล่อยภิกษุนั้นไป
ภิกษุนั้นกลับไปอารามแล้วบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุอื่นทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตรจึงนุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย ไม่มีมารยาท เที่ยวบิณฑบาตเล่า
ไม่สังเกตเข้าบ้านบ้าง ไม่สังเกตออกไปบ้าง รีบร้อนเข้าไปบ้าง รีบร้อนออกไปบ้าง
ยืนไกลเกินไปบ้าง ยืนใกล้เกินไปบ้าง ยืนนานเกินไปบ้าง กลับเร็วเกินไปบ้าง”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า ฯลฯ จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๓๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๘. วัตต ขันธกะ] ๖. ปิณฑจาริกวัตตกถา
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[๓๖๖] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
ทั้งหลาย โดยที่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตทั้งหลายต้องประพฤติชอบ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คิดว่า “เวลานี้ เราจักเข้าบ้าน”
พึงนุ่งปกปิดมณฑล ๓ ให้เรียบร้อย คาดประคดเอว ห่มผ้าสังฆาฏิที่พับซ้อนกันไว้
กลัดลูกดุมล้างบาตรแล้วถืออย่างสำรวมเข้าบ้าน โดยไม่รีบร้อน
พึงปกปิดกายให้ดีไปในละแวกบ้าน พึงสำรวมดีไปในละแวกบ้าน พึงทอดจักษุ
ลงไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน ไม่พึงหัวเราะดังไปในละแวกบ้าน
พึงพูดเสียงเบาไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินโคลงกายไปในละแวกบ้าน ไม่พึงแกว่งแขน
ไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินเท้าสะเอวไปใน
ละแวกบ้าน ไม่พึงเดินคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเดินกระโหย่งไปในละแวกบ้าน
เมื่อเข้าบ้านก็พึงสังเกตว่า “เราจะเข้าทางนี้ ออกทางนี้” ไม่พึงรีบร้อนเข้า ไม่
พึงรีบร้อนออกไป ไม่พึงยืนไกลนัก ไม่พึงยืนใกล้นัก ไม่พึงยืนนานนัก ไม่พึงกลับเร็วนัก
พึงยืนสังเกตว่า “เขาประสงค์จะถวายอาหารหรือไม่ประสงค์จะถวาย” ถ้าเขาหยุด
ทำงาน หรือลุกจากที่นั่ง หรือจับทัพพีหรือจับภาชนะ หรือตั้งภาชนะไว้ พึงยืน
กำหนดว่า “เขาประสงค์จะถวายหรือ“” เมื่อเขาถวายอาหารพึงใช้มือข้างซ้ายแหวก
ผ้าสังฆาฏิแล้วน้อมบาตรเข้าไปด้วยมือข้างขวา ใช้มือทั้ง ๒ ประคองบาตรรับอาหาร
ไม่มองดูหน้าผู้ถวายอาหาร พึงสังเกตว่า “เขาประสงค์จะถวายแกงหรือไม่ประสงค์
จะถวาย” ถ้าเขาจับทัพพี หรือจับภาชนะ หรือตั้งภาชนะไว้ พึงยืนกำหนดว่า “เขา
ประสงค์จะถวายหรือ” เมื่อเขาถวายแล้วใช้ผ้าสังฆาฏิคลุมบาตร ไม่ต้องรีบร้อน กลับ
อย่างสำรวม
พึงปกปิดกายให้ดีไปในละแวกบ้าน พึงสำรวมดีไปในละแวกบ้าน พึงทอดจักษุ
ลงไปในละแวกบ้าน ไม่พึงเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน ไม่พึงหัวเราะดังไปในละแวกบ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๓๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น