Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๔-๙ หน้า ๓๔๑ - ๓๘๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔-๙ สุตตันตปิฎกที่ ๐๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร โดยพิสดารอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย
เมื่อหวัง พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแแล้วทูลถามเนื้อความนั้น พระองค์ทรง
ตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด”
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่าน
พระมหากัจจานะแล้ว ลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายว่า
‘บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ฯลฯ
พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคล
ฯลฯ
นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ’
แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่
ประทับ
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เกิดความ
สงสัยว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า
‘บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่มาถึง
ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ
บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ’
แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่
ประทับ
ใครเล่าหนอ จะพึงชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
ไม่ทรงชี้แจงไว้โดยพิสดารให้พิสดารได้ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้คิดว่า ‘ท่านพระ
มหากัจจานะนี้แล เป็นผู้ที่พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็
สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทส
โดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงไว้โดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี
เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้
กับท่านพระมหากัจจานะ’ ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พากันเข้าไปหาท่าน
พระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ ท่าน
พระมหากัจจานะได้ชี้แจงเนื้อความแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยอาการเหล่านี้ ด้วย
บทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นบัณฑิต ภิกษุ
ทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นผู้มีปัญญามาก แม้ว่าเธอทั้งหลายจะพึงสอบถาม
เนื้อความนี้กับเรา เราก็จะพึงตอบเนื้อความนั้นเหมือนกับที่มหากัจจานะตอบ
เรื่องนี้มีเนื้อความดังนี้แล เธอทั้งหลายจงทรงจำเรื่องนั้นไว้อย่างนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร

๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
ว่าด้วยทรงแสดงเรื่องผู้มีราตรีเดียวเจริญแก่พระโลมสกังคิยะ
[๒๘๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระโลมสกังคิยะ อยู่ที่
นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ขณะนั้น เมื่อราตรีผ่านไป
จันทนเทพบุตร มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วนิโครธาราม เข้าไปหา
ท่านพระโลมสกังคิยะถึงที่อยู่ แล้วยืน ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระ
โลมสกังคิยะอย่างนี้ว่า “ภิกษุ ท่านจำอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียว
เจริญได้ไหม”
ท่านพระโลมสกังคิยะกล่าวว่า “อาตมภาพจำไม่ได้ ส่วนท่านจำอุทเทส
และวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญได้ไหม”
“แม้ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ อนึ่ง ท่านจำคาถาที่แสดงถึงบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ
ได้ไหม”
“อาตมภาพจำไม่ได้ ส่วนท่านจำได้ไหม”
“ข้าพเจ้าจำได้”
“ก็ท่านจำได้อย่างไรเล่า”
“ภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ที่
ควงไม้ปาริฉัตตกะ ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้นเอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
อุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญแก่เทพชั้นดาวดึงส์ว่า
‘บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่มาถึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ
บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง
บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ’
ภิกษุ ข้าพเจ้าจำคาถาที่แสดงถึงบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญได้อย่างนี้ ขอท่าน
จงศึกษา เล่าเรียน และจำอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญเถิด
เพราะว่าอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์
เป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์”
จันทนเทพบุตรกล่าวดังนี้แล้ว ก็หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
[๒๘๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระโลมสกังคิยะ เมื่อล่วงราตรีนั้นไป จึงเก็บงำ
เสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เมื่อจาริกไปโดยลำดับ
ได้เข้าไปยังพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า
“สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์อยู่ที่นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
ขณะนั้น เมื่อราตรีผ่านไป เทพบุตรองค์หนึ่ง มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างทั่วนิโครธาราม เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ แล้วยืน ณ ที่สมควร ได้
กล่าวกับข้าพระองค์ว่า ‘ภิกษุ ท่านจำอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียว
เจริญได้ไหม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทพบุตรนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าว
กับเทพบุตรนั้นว่า ‘ผู้มีอายุ อาตมภาพจำไม่ได้ ส่วนท่านจำได้ไหม’
เทพบุตรกล่าวว่า ‘แม้ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ อนึ่ง ท่านจำคาถาที่แสดงถึงบุคคล
ผู้มีราตรีเดียวเจริญได้ไหม’
ข้าพระองค์ตอบว่า ‘อาตมภาพจำไม่ได้ ส่วนท่านจำได้ไหม’
‘ข้าพเจ้าจำได้’
‘ผู้มีอายุ ก็ท่านจำได้อย่างไรเล่า’
‘ภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ที่
ควงไม้ปาริฉัตตกะ ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุทเทส
และวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญแก่เทพชั้นดาวดึงส์ว่า
‘บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ฯลฯ
พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคล
ฯลฯ
นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ’
ภิกษุ ข้าพเจ้าจำคาถาที่แสดงถึงบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญได้อย่างนี้แล ขอ
ท่านจงศึกษา เล่าเรียน และทรงจำอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียว
เจริญเถิด เพราะว่าอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ ประกอบด้วย
ประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์’
เทพบุตรนั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงอุทเทสและวิภังค์ของ
บุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญแก่ข้าพระองค์เถิด”
[๒๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ก็เธอรู้จักเทพบุตรนั้นไหม”
ท่านพระโลมสกังคิยะกราบทูลว่า “ไม่รู้จัก พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
“ภิกษุ เทพบุตรนั้นชื่อจันทนะ จันทนเทพบุตรสนใจ ใส่ใจ กำหนดด้วยจิต
ทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตสดับธรรม ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุนั้นรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์นี้ว่า
“บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่มาถึง
ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ
บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง
บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ’
บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า ‘ในอดีต เรา
ได้มีรูปอย่างนี้’
ในอดีต เราได้มีเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ
ในอดีต เราได้มีสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ
ในอดีต เราได้มีสังขารอย่างนี้ ฯลฯ
ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า ‘ในอดีต เราได้มี
วิญญาณอย่างนี้’
ภิกษุ บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เรา
ได้มีรูปอย่างนี้”
ในอดีต เราได้มีเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ
ในอดีต เราได้มีสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ
ในอดีต เราได้มีสังขารอย่างนี้ ฯลฯ
ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มี
วิญญาณอย่างนี้”
ภิกษุ บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอนาคต
เราพึงมีรูปอย่างนี้”
ในอนาคต เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ
ในอนาคต เราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ
ในอนาคต เราพึงมีสังขารอย่างนี้ ฯลฯ
ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอนาคต เราพึงมี
วิญญาณอย่างนี้”
ภิกษุ บุคคลหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างนี้แล
บุคคลไม่หวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอนาคต
เราพึงมีรูปอย่างนี้”
ในอนาคต เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ
ในอนาคต เราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ
ในอนาคต เราพึงมีสังขารอย่างนี้ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอนาคต เราพึงมี
วิญญาณอย่างนี้”
ภิกษุ บุคคลไม่หวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างนี้แล
บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของ
พระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาด
ในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดย
ความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตามีรูปบ้าง พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง
พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง
พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ
พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ
พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ
พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตามีวิญญาณ
บ้าง พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง
ภิกษุ บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของ
พระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรม
ของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความ
เป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตามีรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง
ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง
ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตามี
วิญญาณบ้าง ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาใน
วิญญาณบ้าง
ภิกษุ บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ฯลฯ
พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคล
ฯลฯ
นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระโลมสกังคิยะมีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรเล็ก
[๒๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล สุภมาณพโตเทยยบุตร เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอ
เป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์ที่เกิดเป็นมนุษย์
ปรากฏเป็นคนเลวและคนดี คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏว่ามีอายุสั้น มีอายุยืน
มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณดี มีอำนาจน้อย มีอำนาจมาก
มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในตระกูลต่ำ เกิดในตระกูลสูง มีปัญญาน้อย
มีปัญญามาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
ท่านพระโคดม อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดเป็น
มนุษย์ปรากฏเป็นคนเลวและคนดี”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรม
เป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวและดีต่างกัน”
“ข้าพระองค์ ไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระภาษิตนี้ที่ท่านพระโคดมตรัสไว้โดย
ย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดม
โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่ง
พระภาษิตนี้ที่ท่านพระโคดมตรัสไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารเถิด”
[๒๙๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจะกล่าว”
สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม
เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ฝักใฝ่ในการ
ประหัตประหาร ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์
ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑
หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็น
มนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นคนมีอายุสั้น
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ฝักใฝ่
ในการประหัตประหาร ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย นี้เป็นปฏิปทา(ข้อปฏิบัติ)
ที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้น (๑)
มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้
ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
เอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลในสรรพสัตว์ เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่น
ไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว
ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นคนมี
อายุยืน
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลในสรรพสัตว์
นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน (๑)
[๒๙๑] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น
ผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วย
ศัสตราบ้าง เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นผู้มีโรคมาก
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อน
ดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรค
มาก (๒)
มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้
ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วย
ศัสตราบ้าง เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นผู้มีโรคน้อย
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วย
ก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมี
โรคน้อย (๒)
[๒๙๒] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
เป็นผู้มักโกรธ มากด้วยความคับแค้น ถูกผู้อื่นว่ากล่าวแม้เล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
พยาบาท ปองร้าย แสดงความโกรธความปองร้ายและโทษเล็กน้อยให้ปรากฏ
เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นผู้มีผิวพรรณทราม
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้มักโกรธ มากด้วยความคับแค้น ถูกผู้อื่นว่ากล่าว
แม้เล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธ พยาบาท ปองร้าย แสดงความโกรธความปองร้ายและ
โทษเล็กน้อยให้ปรากฏ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทราม (๓)
มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้
ไม่โกรธ ไม่มากด้วยความคับแค้น ถูกผู้อื่นว่ากล่าวแม้มากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ
ไม่พยาบาท ไม่ปองร้าย ไม่แสดงความโกรธ ความปองร้ายและโทษเล็กน้อยให้
ปรากฏ เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขา
จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มากด้วยความคับแค้น ถูกผู้อื่นว่า
กล่าวแม้มากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่ปองร้าย ไม่แสดงความโกรธ
ความปองร้ายและโทษเล็กน้อยให้ปรากฏ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มี
ผิวพรรณผ่องใส (๓)
[๒๙๓] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น
ผู้มีใจริษยา ย่อมริษยา ประทุษร้าย ผูกความริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ
ความนับถือ การกราบไหว้ และการบูชาของบุคคลอื่น เพราะกรรมนั้นที่เขาให้
บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิด
เป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นผู้มีอำนาจน้อย
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้มีใจริษยา ย่อมริษยา ประทุษร้าย ผูกความ
ริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ และการบูชาของ
บุคคลอื่น นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอำนาจน้อย (๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น
ผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่ประทุษร้าย ไม่ผูกความริษยาในลาภสักการะ
ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ และการบูชาของบุคคลอื่น เพราะกรรม
นั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็น
มนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นผู้มีอำนาจมาก
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่ประทุษร้าย ไม่ผูก
ความริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ และการ
บูชาของบุคคลอื่น นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอำนาจมาก (๔)
[๒๙๔] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น
ผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่อง
ประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เพราะกรรมนั้น๑ที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น
หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว
ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขา
ก็จะเป็นผู้มีโภคะน้อย
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ นี้เป็นปฏิปทา
ที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีโภคะน้อย (๕)
มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น
ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่อง
ประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น
หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาก็จะเป็นผู้มีโภคะมาก

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ นี้เป็นปฏิปทา
ที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีโภคะมาก (๕)
[๒๙๕] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
เป็นผู้กระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้๑ ไม่ลุกรับผู้ที่ควรลุกรับ
ไม่ให้อาสนะแก่ผู้ที่ควรให้อาสนะ ไม่ให้ทางแก่ผู้ที่ควรให้ทาง ไม่สักการะผู้ที่ควร
สักการะ ไม่เคารพผู้ที่ควรเคารพ ไม่นับถือผู้ที่ควรนับถือ ไม่บูชาผู้ที่ควรบูชา
เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาจะเป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้กระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้
ไม่ลุกรับผู้ที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่ผู้ที่ควรให้อาสนะ ไม่ให้ทางแก่ผู้ที่ควรให้ทาง
ไม่สักการะผู้ที่ควรสักการะ ไม่เคารพผู้ที่ควรเคารพ ไม่นับถือผู้ที่ควรนับถือ ไม่
บูชาผู้ที่ควรบูชา นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ (๖)
มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้
ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้ ลุกรับผู้ที่ควรลุกรับ ให้
อาสนะแก่ผู้ที่ควรให้อาสนะ ให้ทางแก่ผู้ที่ควรให้ทาง สักการะผู้ที่ควรสักการะ
เคารพผู้ที่ควรเคารพ นับถือผู้ที่ควรนับถือ บูชาผู้ที่ควรบูชา เพราะกรรมนั้นที่เขา
ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ
เขาจะเป็นผู้เกิดในตระกูลสูง
มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้ผู้ที่ควร
กราบไหว้ ลุกรับผู้ที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่ผู้ที่ควรให้อาสนะ ให้ทางแก่ผู้ที่ควร
ให้ทาง สักการะผู้ที่ควรสักการะ เคารพผู้ที่ควรเคารพ นับถือผู้ที่ควรนับถือ บูชา
ผู้ที่ควรบูชา นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูง (๖)

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
[๒๙๖] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
ไม่เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไร
เป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไร
ที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่า
กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’
เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ เขาจะเป็นผู้มีปัญญาทราม
มาณพ การที่บุคคลไม่เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า ‘ท่าน
ขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ
อะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาทราม (๗)
มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เข้าไป
หาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล
อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำ
จึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่
ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ เพราะกรรมนั้น
ที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ
เขาจะเป็นผู้มีปัญญามาก
มาณพ การที่บุคคลเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า ‘ท่าน
ขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ
อะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก (๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
[๒๙๗] มาณพ รวมความว่า ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้นย่อมนำ
เข้าไปสู่ความมีอายุสั้น
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืนย่อมนำเข้าไปสู่ความมีอายุยืน
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคมากย่อมนำเข้าไปสู่ความมีโรคมาก
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อยย่อมนำเข้าไปสู่ความมีโรคน้อย
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทรามย่อมนำเข้าไปสู่ความมีผิวพรรณทราม
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณผ่องใสย่อมนำเข้าไปสู่ความมีผิวพรรณผ่องใส
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอำนาจน้อยย่อมนำเข้าไปสู่ความมีอำนาจน้อย
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอำนาจมากย่อมนำเข้าไปสู่ความมีอำนาจมาก
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อยย่อมนำเข้าไปสู่ความมีโภคะน้อย
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมากย่อมนำเข้าไปสู่ความมีโภคะมาก
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในตระกูลต่ำย่อมนำเข้าไปสู่ความเกิดในตระกูลต่ำ
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในตระกูลสูงย่อมนำเข้าไปสู่ความเกิดในตระกูลสูง
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทรามย่อมนำเข้าไปสู่ความมีปัญญาทราม
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามากย่อมนำเข้าไปสู่ความมีปัญญามาก
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มี
กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลว
และดีต่างกัน ด้วยประการฉะนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภมาณพโตเทยยบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้า
แต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระ
สงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
จูฬกัมมวิภังคสูตรที่ ๕ จบ

๖. มหากัมมวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรใหญ่
[๒๙๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อ
กระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสมิทธิอยู่ในกระท่อมป่า ครั้งนั้น
ปริพาชกชื่อโปตลิบุตรเที่ยวเดินเล่นอยู่ เข้าไปหาท่านพระสมิทธิถึงที่อยู่ แล้วได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิว่า
“ท่านพระสมิทธิ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระสมณโคดมว่า
‘กายกรรมไม่จริง วจีกรรมไม่จริง มโนกรรมเท่านั้นจริง’ และว่า ‘สมาบัติที่บุคคล
เข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไร ๆ นั้นก็มีอยู่’
ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า “ท่านโปตลิบุตร ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่
พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้
ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมไม่จริง วจีกรรมไม่จริง มโนกรรมเท่านั้นจริง’ และว่า
‘สมาบัติที่บุคคลเข้าแล้วไม่เสวยเวทนาอะไร ๆ นั้นก็มีอยู่’
“ท่านพระสมิทธิ ท่านบวชมานานเท่าไรแล้ว”
“ท่านผู้มีอายุ อาตมภาพบวชได้ไม่นาน เพียง ๓ พรรษา”
“บัดนี้ ในเมื่อภิกษุใหม่ยังคิดปกป้องพระศาสดาถึงเพียงนี้ เราทั้งหลายจะ
พูดอะไรกับภิกษุผู้เป็นพระเถระได้เล่า ท่านพระสมิทธิ บุคคลทำกรรมที่ประกอบ
ด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจแล้ว จะเสวยผลอะไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
“ท่านโปตลิบุตร บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา
และทางใจแล้ว จะเสวยทุกข์”
ลำดับนั้น ปริพาชกชื่อโปตลิบุตรไม่ยินดีไม่คัดค้านภาษิตของท่านพระสมิทธิ
ลุกจากที่นั่งแล้วจากไป
[๒๙๙] ครั้งนั้นแล เมื่อปริพาชกชื่อโปตลิบุตรจากไปไม่นาน ท่านพระสมิทธิ
เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอ
เป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร เล่าเรื่องที่ตนได้สนทนาปราศัยกับ
ปริพาชกชื่อโปตลิบุตรทั้งหมดแก่ท่านพระอานนทเถระ
เมื่อท่านพระสมิทธิเล่าเรื่องอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวกับท่าน
พระสมิทธิว่า “ท่านสมิทธิ เรื่องนี้มีมูลเหตุพอที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ มาเถิด
เราทั้งสอง พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ พึงกราบทูลเนื้อความนี้แด่
พระองค์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงตอบอย่างใด เราทั้งหลายควรทรง
จำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น” ท่านพระสมิทธิรับคำแล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระสมิทธิและท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องที่
ท่านพระสมิทธิได้สนทนาปราศัยกับปริพาชกชื่อโปตลิบุตรทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค
เมื่อพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระ
อานนท์ว่า “อานนท์ เราไม่รู้แม้ความเห็นของปริพาชกชื่อโปตลิบุตรเลย จะรู้การ
สนทนาปราศัยกันเห็นปานนี้ได้อย่างไร โมฆบุรุษผู้มีนามว่าสมิทธินี้ได้ตอบปัญหา
ที่ควรจำแนกตอบแก่ปริพาชกชื่อโปตลิบุตรโดยแง่เดียว”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ก็ถ้าท่านพระสมิทธิกล่าวหมายเอาทุกข์นี้แล้ว อารมณ์อย่างใดอย่าง
หนึ่งที่สัตว์เสวยแล้ว อารมณ์นั้นต้องจัดเข้าในทุกข์หรือ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
[๓๐๐] เมื่อท่านพระอุทายีกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่ง
เรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงเห็นความนอกลู่นอกทางของ
อุทายีผู้เป็นโมฆบุรุษนี้เถิด เราได้รู้บัดนี้เอง โมฆบุรุษอุทายีนี้เมื่อจะพูด ก็พูดโพล่ง
ออกมาโดยไม่แยบคาย เบื้องต้นทีเดียวปริพาชกชื่อโปตลิบุตรถามถึงเวทนา ๓
ถ้าโมฆบุรุษสมิทธิผู้ถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านโปตลิบุตร บุคคลทำ
กรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจอันให้ผลเป็นสุข๑
ย่อมเสวยสุข บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และ
ทางใจอันให้ผลเป็นทุกข์๒ ย่อมเสวยทุกข์ บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความ
จงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจอันให้ผลเป็นอทุกขมสุข๓ ย่อมเสวยผลเป็น
อทุกขมสุข
อานนท์ โมฆบุรุษสมิทธิเมื่อตอบอย่างนี้ ชื่อว่าตอบโดยชอบแก่ปริพาชกชื่อ
โปตลิบุตร แต่ว่าอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น เป็นคนโง่ ไม่ฉลาด จะเข้าใจ
มหากัมมวิภังค์ของตถาคตได้อย่างไรเล่า ถ้าตถาคตจำแนกมหากัมมวิภังค์อยู่ เธอ
ทั้งหลายควรฟัง”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควร
ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลสมควร ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกมหากัมมวิภังค์
ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องนี้ว่า
“อานนท์ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด
ในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็น
ผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตพยาบาท เป็น
มิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด
ในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก
การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจาก
การพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูด
คำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้
สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้
หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก
การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจาก
การพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูด
คำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่เพ็งเล็งอยากได้
สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้
หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
[๓๐๑] อานนท์
๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผา
กิเลส ความเพียรยิ่ง ความพยายาม ความไม่ประมาท ความ
ใส่ใจโดยชอบ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิโดยประการที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว
ย่อมเห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้
สิ่งของของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจาก
ตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยตาทิพย์
อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า กรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี ข้าพเจ้าได้
เห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ
เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก’ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า
บุคคลใดมักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้น
ทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป
ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด’
สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง
เห็นเอง ทราบเอง ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นดังนี้ว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๒. ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่อง
เผากิเลส ความเพียรยิ่ง ความพยายาม ความไม่ประมาท
ความใส่ใจโดยชอบ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิโดยประการที่เมื่อจิต
ตั้งมั่นแล้ว ย่อมเห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ
เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า กรรมชั่วไม่มี วิบากของ
ทุจริตไม่มี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ
เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลก
สวรรค์’ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดมัก
ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลัง
จากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชน
เหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้
ผิด’
สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง
ทราบเอง ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นดังนี้ว่า ‘นี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๓. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผา
กิเลส ความเพียรยิ่ง ความพยายาม ความไม่ประมาท ความ
ใส่ใจโดยชอบ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิโดยประการที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว
ย่อมเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการ
ลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา มี
จิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้
ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า
กรรมดีมีจริง วิบากของสุจริตมีจริง ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น
ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็น
สัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’
แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดเว้นขาด
จากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิ
บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ชน
เหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป
ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง
ทราบเอง ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นดังนี้ว่า ‘นี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๔. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผา
กิเลส ความเพียรยิ่ง ความพยายาม ความไม่ประมาท ความ
ใส่ใจโดยชอบ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิโดยประการที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว
ย่อมเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการ
ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ
มนุษย์ สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ได้ยินว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคล
โน้น ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ
เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก’ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า
บุคคลใดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ
เป็นสัมมาทิฏฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้น
ชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด’
สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง
เห็นเอง ทราบเอง ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นดังนี้ว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
[๓๐๒] อานนท์
๑. บรรดาสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราคล้อยตามวาทะ
ของสมณะหรือพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า
กรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี’ เราคล้อยตามแม้วาทะของเขาผู้
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก’ แต่เราไม่คล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขา
ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ
ชนเหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด’ เราไม่คล้อยตาม
แม้วาทะของเขาที่พูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง
ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตถาคตมีความรู้ในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น
๒. บรรดาสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราไม่คล้อยตามวาทะ
ของสมณะหรือพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า
กรรมชั่วไม่มี วิบากของทุจริตไม่มี’ เราคล้อยตามวาทะของเขา
ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้มักฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วได้ไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์’ แต่เราไม่คล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใดมักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในสุคติโลกสรรค์’ เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า
‘ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอก
เหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด’ เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขา
ที่พูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง ตามแรงจูงใจ
ตามความปักใจในเรื่องนั้นว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตถาคตมีความรู้ในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น
๓. บรรดาสมณะหรือพราหมณ์ทั้ง ๔ จำพวกนั้น เราคล้อยตามวาทะ
ของสมณะหรือพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า
กรรมดีมี วิบากของสุจริตมี’ เราคล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลัง
จากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ และเราก็คล้อยตามวาทะ
ของเขา ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า บุคคลใด
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็น
สัมมาทิฏฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์’ แต่เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า
‘ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้นอก
เหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด’ เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขา
ที่พูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง ตามแรงจูงใจ
ตามความปักใจในเรื่องนั้นว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตถาคตมีความรู้ในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น
๔. บรรดาสมณะหรือพราหมณ์ทั้ง ๔ จำพวกนั้น เราไม่คล้อยตาม
วาทะของสมณะหรือพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้
ยินว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี’ เราคล้อยตามวาทะของ
เขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้นผู้เว้นขาดจากการ
ฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้
หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ แต่เรา
ไม่คล้อยตามวาทะของเขาผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
บุคคลใดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ
เป็นสัมมาทิฏฐิ บุคคลนั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ เราไม่คล้อยตามแม้วาทะของเขา
ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชน
เหล่าใดรู้นอกเหนือไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ผิด’ เราไม่คล้อยตาม
แม้วาทะของเขาที่พูดปักใจลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบ
เอง ตามแรงจูงใจ ตามความปักใจในเรื่องนั้นว่า ‘นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตถาคตมีความรู้ในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น
[๓๐๓] อานนท์
๑. บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลนั้นหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เพราะบาปกรรมที่เขาทำไว้ในชาติก่อน ให้
ผลเป็นทุกข์ บาปกรรมที่เขาทำไว้ในภายหลังให้ผลเป็นทุกข์ หรือ
ในเวลาจะตาย เขามีมิจฉาทิฏฐิที่ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้ แต่การที่
บุคคลเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้
เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้นในชาตินี้บ้าง ในชาติหน้าบ้าง
ในชาติต่อ ๆ ไปบ้าง
๒. บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ บุคคลนั้นหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เพราะกรรมดีที่เขาทำไว้ในชาติก่อนให้ผลเป็นสุข กรรมดีที่เขาทำ
ไว้ในภายหลังให้ผลเป็นสุข หรือในเวลาจะตาย เขามีสัมมาทิฏฐิที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๖. มหากัมมวิภังคสูตร
ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้ แต่การที่บุคคลเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น
ในชาตินี้บ้าง ในชาติหน้าบ้าง ในชาติต่อ ๆ ไปบ้าง
๓. บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลัง
จากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลนั้นหลังจากตาย
แล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมดีที่เขาทำไว้ในชาติก่อน
ให้ผลเป็นสุข กรรมดีที่เขาทำไว้ในภายหลังให้ผลเป็นสุข หรือใน
เวลาจะตาย เขามีสัมมาทิฏฐิที่ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้ แต่การที่
บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ
เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ เขาเสวยวิบากแห่งกรรมนั้นในชาตินี้
บ้าง ในชาติหน้าบ้าง ในชาติต่อ ๆ ไปบ้าง
๔. บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลัง
จากตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลนั้น
หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะ
บาปกรรมที่เขาทำไว้ในชาติก่อนให้ผลเป็นทุกข์ บาปกรรมที่เขาทำ
ไว้ในภายหลังให้ผลเป็นทุกข์ หรือในเวลาจะตาย มีมิจฉาทิฏฐิที่เขา
ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้ แต่การที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ เขาย่อม
เสวยวิบากแห่งกรรมนั้นในชาตินี้บ้าง ในชาติหน้าบ้าง ในชาติต่อ ๆ
ไปบ้าง
อานนท์ กรรมที่ไม่ควร ส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มีอยู่ กรรมที่ไม่ควร ส่องให้
เห็นว่าควรก็มีอยู่ กรรมที่ควร ส่องให้เห็นว่าควรก็มีอยู่ และกรรมที่ควร ส่องให้
เห็นว่าไม่ควรก็มีอยู่ ดังพรรณนามาฉะนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหากัมมวิภังคสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร

๗. สฬายตนวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกอายตนะ ๖ ประการ
[๓๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสฬายตนวิภังค์แก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังสฬายตนวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“เธอทั้งหลายพึงทราบอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวด
วิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ มโนปวิจาร๑ ๑๘ สัตตบท๒ ๓๖ ในธรรมเหล่านั้น
เธอทั้งหลายอาศัยธรรมนี้แล้ว จงละธรรมนี้เสีย และพึงทราบสติปัฏฐาน ๓ ที่
พระอริยะเสพซึ่งเมื่อเสพอยู่ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ พระอริยศาสดา
นั้นอันเราเรียกว่าเป็นสารถีผู้สามารถฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์
ผู้ฝึกทั้งหลาย นี้เป็นอุทเทสแห่งสฬายตนวิภังค์
[๓๐๕] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายใน ๖’ เพราะอาศัยเหตุ
อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ

๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา)
๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู)
๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก)

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น)
๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย)
๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ)๑
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายใน ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้
เราจึงกล่าวไว้ (๑)
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายนอก ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ
๑. รูปายตนะ (อายตนะคือรูป)
๒. สัททายตนะ (อายตนะคือเสียง)
๓. คันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น)
๔. รสายตนะ (อายตนะคือรส)
๕. โผฏฐัพพายตนะ (อายตนะคือสัมผัส)
๖. ธัมมายตนะ (อายตนะคือธรรมารมณ์)
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายนอก ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้
เราจึงกล่าวไว้ (๒)
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา
จึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ
๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา)
๒. โสตวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู)
๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก)
๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น)
๕. กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย)
๖. มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ)
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้
เราจึงกล่าวไว้ (๓)

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดผัสสะ ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น คือ

๑. จักขุสัมผัส (สัมผัสทางตา)
๒. โสตสัมผัส (สัมผัสทางหู)
๓. ฆานสัมผัส (สัมผัสทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัส (สัมผัสทางลิ้น)
๕. กายสัมผัส (สัมผัสทางกาย)
๖. มโนสัมผัส (สัมผัสทางใจ)

คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดผัสสะ ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เรา
จึงกล่าวไว้ (๔)
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบมโนปวิจาร ๑๘’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา
จึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลเห็นรูปทางตาแล้ว ย่อมนึกหน่วงรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ย่อม
นึกหน่วงรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ย่อมนึกหน่วงรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาไว้
ฟังเสียงทางหูแล้ว ...
ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ...
ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ย่อมนึกหน่วงธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส
ย่อมนึกหน่วงธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ย่อมนึกหน่วงธรรมารมณ์อันเป็น
ที่ตั้งแห่งอุเบกขาไว้
ความนึกหน่วงฝ่ายโสมนัส ๖ ฝ่ายโทมนัส ๖ ฝ่ายอุเบกขา ๖ ย่อมมีด้วย
ประการฉะนี้
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบมโนปวิจาร ๑๘’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เรา
จึงกล่าวไว้ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
[๓๐๖] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบสัตตบท ๓๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ โสมนัสอาศัยเรือน๑ ๖ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ๒ ๖
โทมนัสอาศัยเรือน ๖ โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ อุเบกขา
อาศัยเนกขัมมะ ๖
ในสัตตบท ๓๖ นั้น โสมนัสอาศัยเรือน ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นการได้เฉพาะซึ่งรูป
ที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือหวน
ระลึกถึงรูปที่ตนเคยได้มาก่อน อันล่วงลับ ดับ แปรผันไปแล้ว
โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน
๒. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นการได้เฉพาะซึ่งเสียงที่
พึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นการได้เฉพาะซึ่งกลิ่นที่พึงรู้แจ้ง
ทางจมูก ...
๔. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นการได้เฉพาะซึ่งรสที่พึง
รู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นการได้เฉพาะซึ่ง
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ...
๖. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นการได้เฉพาะซึ่ง
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ
หรือหวนระลึกถึงธรรมารมณ์ที่ตนเคยได้มาก่อน อันล่วงลับ ดับ
แปรผันไปแล้ว โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน
โสมนัสอาศัยเรือน ๖ ประการนี้

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
ในสัตตบท ๓๖ นั้น โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่รูปทั้งหลายนั่นแลไม่เที่ยง
เห็นความแปรผัน ความคลายกำหนัด และความดับนั่นตามความ
เป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ๑อย่างนี้ว่า ‘รูปในกาลก่อนและใน
บัดนี้ทั้งหมดนั้น ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา’
โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ
๒. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่เสียงทั้งหลายนั่นแล ...
๓. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่กลิ่นทั้งหลายนั่นแล ...
๔. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่รสทั้งหลายนั่นแล ...
๕. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่โผฏฐัพพะทั้งหลาย
นั่นแล ...
๖. โสมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่ธรรมารมณ์ทั้งหลายนั่น
แลไม่เที่ยง เห็นความแปรผัน ความคลายกำหนัด และความดับ
นั่นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘ธรรมารมณ์
ในกาลก่อนและในบัดนี้ทั้งหมดนั้น ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี
ความแปรผันเป็นธรรมดา’ โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัย
เนกขัมมะ
โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ ประการนี้
[๓๐๗] ในสัตตบท ๓๖ นั้น โทมนัสอาศัยเรือน ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรูปที่พึงรู้แจ้ง
ทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ประกอบ
ด้วยโลกามิส โดยความเป็นของอันตนไม่ได้เฉพาะ หรือหวนระลึก
ถึงรูปที่ตนไม่เคยได้มาก่อน อันล่วงลับ ดับ แปรผันไปแล้ว
โทมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเรือน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
๒. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งเสียงที่พึงรู้
แจ้งทางหู ...
๓. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งกลิ่นที่พึงรู้
แจ้งทางจมูก ...
๔. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรสที่พึงรู้แจ้ง
ทางลิ้น ...
๕. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งโผฏฐัพพะที่
พึงรู้แจ้งทางกาย ...
๖. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งธรรมารมณ์
ที่พึงรู้แจ้งทางใจ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ประกอบด้วยโลกามิส โดยความเป็นของอันตนไม่ได้เฉพาะ หรือ
หวนระลึกถึงธรรมารมณ์ที่ตนไม่เคยได้มาก่อน อันล่วงลับ ดับ
แปรผันไปแล้ว โทมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเรือน
โทมนัสอาศัยเรือน ๖ ประการนี้
ในสัตตบท ๓๖ นั้น โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่รูปทั้งหลายนั่นแลไม่เที่ยง
เห็นความแปรผัน ความคลายกำหนัด และความดับนั่นตามความ
เป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘รูปในกาลก่อนและใน
บัดนี้ทั้งหมดนั้น ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็น
ธรรมดา’ แล้วตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์๑ว่า ‘ในกาลไร
เราจักบรรลุอายตนะ๒ที่พระอริยะทั้งหลายได้บรรลุอยู่ในบัดนี้’
เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย โทมนัสจึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ตั้ง
ความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ด้วยประการฉะนี้ โทมนัสเช่นนี้
เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
๒. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่เสียงทั้งหลายนั่นแล ...
๓. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่กลิ่นทั้งหลายนั่นแล ...
๔. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่รสทั้งหลายนั่นแล ...
๕. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่โผฏฐัพพะทั้งหลาย
นั่นแล ...
๖. โทมนัสย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่ธรรมารมณ์ทั้งหลายนั่น
แลไม่เที่ยง เห็นความแปรผัน ความคลายกำหนัด และความดับ
นั่นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘ธรรมารมณ์
ในกาลก่อนและในบัดนี้ทั้งหมดนั้น ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี
ความแปรผันเป็นธรรมดา’ แล้วตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์
ว่า ‘ในกาลไร เราจักบรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายได้บรรลุ
อยู่ในบัดนี้’ เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย โทมนัสจึงเกิดขึ้นแก่
เขาผู้ตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ด้วยประการฉะนี้ โทมนัส
เช่นนี้เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ
โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ ประการนี้
[๓๐๘] ในสัตตบท ๓๖ นั้น อุเบกขาอาศัยเรือน๑ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะเห็นรูปทางตา อุเบกขา๒จึงเกิดขึ้นแก่ปุถุชน ผู้โง่เขลา งมงาย
ผู้ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ผู้ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ
เป็นคนกิเลสหนา อุเบกขาเช่นนี้ยังล่วงพ้นรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้น
เราจึงเรียกอุเบกขานั้นว่า อุเบกขาอาศัยเรือน
๒. เพราะฟังเสียงทางหู ...
๓. เพราะดมกลิ่นทางจมูก ...
๔. เพราะลิ้มรสทางลิ้น ...

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
๕. เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
๖. เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจ อุเบกขาจึงเกิดขึ้นแก่ปุถุชน ผู้โง่เขลา
งมงาย ผู้ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ผู้ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ
เป็นคนกิเลสหนา อุเบกขาเช่นนั้นยังล่วงพ้นธรรมารมณ์ไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกอุเบกขานั้นว่า อุเบกขาอาศัยเรือน
อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ ประการนี้
ในสัตตบท ๓๖ นั้น อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ๑ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่รูปทั้งหลายนั่นแลไม่เที่ยง
เห็นความแปรผัน ความคลายกำหนัด และความดับนั่นตามความ
เป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘รูปในกาลก่อนและใน
บัดนี้ทั้งหมดนั้น ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็น
ธรรมดา’ อุเบกขาเช่นนี้นั้นย่อมล่วงพ้นรูปได้ เพราะฉะนั้น เราจึง
เรียกอุเบกขานั้นว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ
๒. อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่เสียงทั้งหลายนั่นแล ...
๓. อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่กลิ่นทั้งหลายนั่นแล ...
๔. อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่รสทั้งหลายนั่นแล ...
๕. อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่โผฏฐัพพะทั้งหลาย
นั่นแล ...
๖. อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ทราบความที่ธรรมารมณ์ทั้งหลาย
นั่นแลไม่เที่ยง เห็นความแปรผัน ความคลายกำหนัด และ
ความดับนั่นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า
‘ธรรมารมณ์ในกาลก่อนและในบัดนี้ทั้งหมดนั้น ล้วนไม่เที่ยง เป็น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
ทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา’ อุเบกขาเช่นนี้นั้นย่อมล่วงพ้น
ธรรมารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกอุเบกขานั้นว่า อุเบกขา
อาศัยเนกขัมมะ
อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ ประการนี้
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบสัตตบท ๓๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึง
กล่าวไว้
[๓๐๙] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ในสัตตบท ๓๖ นั้น เธอทั้งหลายอาศัยธรรมนี้
แล้วจงละธรรมนี้เสีย’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในสัตตบท ๓๖ นั้น เธอทั้งหลายจงอาศัยพึ่งพิงโสมนัสอัน
อาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นแล้ว จงละ จงก้าวล่วงโสมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นเสีย การละ
ก้าวล่วงโสมนัสเหล่านั้นมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
ในสัตตบท ๓๖ นั้น เธอทั้งหลายอาศัยพึ่งพิงโทมนัสอันอาศัยเนกขัมมะ ๖
นั้นแล้ว จงละ จงก้าวล่วงโทมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นเสีย การละ การก้าวล่วง
โทมนัสเหล่านั้นมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
ในสัตตบท ๓๖ นั้น เธอทั้งหลายอาศัยพึ่งพิงอุเบกขาอันอาศัยเนกขัมมะ ๖
นั้นแล้ว จงละ จงก้าวล่วงอุเบกขาอาศัยเรือน ๖ นั้นเสีย การละ การก้าวล่วง
อุเบกขาเหล่านั้นมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
ในสัตตบท ๓๖ นั้น เธอทั้งหลายอาศัยพึ่งพิงโสมนัสอันอาศัยเนกขัมมะ ๖
นั้นแล้ว จงละ จงก้าวล่วงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นเสีย การละ การก้าวล่วง
โทมนัสเหล่านั้นมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในสัตตบท ๓๖ นั้น เธอทั้งหลายอาศัยพึ่งพิงอุเบกขาอัน
อาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นแล้ว จงละ จงก้าวล่วงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นเสีย
การละ การก้าวล่วงโสมนัสเหล่านั้นมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
[๓๑๐] ภิกษุทั้งหลาย อุเบกขาที่มีประเภทต่างกัน อาศัยอารมณ์ต่างกันก็มี
อุเบกขาที่เป็นประเภทเดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกันก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
อุเบกขาที่มีประเภทต่างกัน อาศัยอารมณ์ต่างกันก็มี เป็นอย่างไร
คือ อุเบกขาในรูปก็มี อุเบกขาในเสียงก็มี อุเบกขาในกลิ่นก็มี อุเบกขา
ในรสก็มี อุเบกขาในโผฏฐัพพะก็มี
นี้จัดเป็นอุเบกขาที่มีประเภทต่างกัน อาศัยอารมณ์ต่างกัน
อุเบกขาที่เป็นประเภทเดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกัน เป็นอย่างไร
คือ อุเบกขาที่อาศัยอากาสานัญจายตนฌานก็มี อุเบกขาที่อาศัยวิญญาณัญ-
จายตนฌานก็มี อุเบกขาที่อาศัยอากิญจัญญายตนฌานก็มี อุเบกขาที่อาศัย
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็มี
นี้จัดเป็นอุเบกขาที่เป็นประเภทเดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกัน
ในอุเบกขา ๒ ประการนั้น เธอทั้งหลายอาศัยพึ่งพิงอุเบกขาที่เป็นประเภท
เดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกันแล้ว จงละ จงก้าวล่วงอุเบกขาที่มีประเภทต่างกัน
อาศัยอารมณ์ต่างกันนั้นเสีย การละ การก้าวล่วงอุเบกขานี้มีได้ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอาศัยพึ่งพิงอตัมมยตา๑ แล้ว จงละ จงก้าวล่วง
อุเบกขาที่เป็นประเภทเดียวกัน อาศัยอารมณ์เดียวกันเสีย การละ การก้าวล่วง
อุเบกขานี้มีได้ด้วยอาการอย่างนี้
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ในสัตตบท ๓๖ นั้น ‘เธอทั้งหลายอาศัยธรรมนี้แล้ว
จงละธรรมนี้เสีย’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
[๓๑๑] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบสติปัฏฐาน ๓ ที่พระอริยเสพซึ่ง
เมื่อเสพ ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาในโลกนี้เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า ‘นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์
เกื้อกูลแก่เธอทั้งหลาย นี้เป็นไปเพื่อสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกทั้งหลายของศาสดา
นั้นย่อมไม่ฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของ
ศาสดา ในข้อนั้น ตถาคตไม่มีใจยินดี ไม่ชื่นชม และไม่ถูก(โทสะ) รั่วรด มี
สติสัมปชัญญะอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า สติปัฏฐานประการที่ ๑ ที่พระอริยเสพ ซึ่งเมื่อ
เสพ ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ
อีกประการหนึ่ง ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัย
ความเอ็นดูจึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า ‘นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอ
ทั้งหลาย นี้เป็นไปเพื่อสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกทั้งหลายของศาสดานั้น บางพวก
ไม่ฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา
บางพวกฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของ
ศาสดา ในข้อนั้น ตถาคตก็ไม่มีใจยินดี ไม่ชื่นชม ไม่มีใจยินดีก็มิใช่ ไม่ชื่นชม
ก็มิใช่ เว้นความมีใจยินดีและความไม่มีใจยินดีทั้ง ๒ อย่างนั้นแล้ว จึงเป็น
ผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า สติปัฏฐานประการที่ ๒ ที่พระอริยเสพ ซึ่ง
เมื่อเสพ ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ
อีกประการหนึ่ง ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัย
ความเอ็นดูจึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า ‘นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอ
ทั้งหลาย นี้เป็นไปเพื่อสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกทั้งหลายของศาสดานั้น ย่อมฟัง
ด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ในข้อนั้น
ตถาคตมีใจยินดี ชื่นชม และไม่ถูก(ราคะ) รั่วรด มีสติสัมปชัญญะอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า สติปัฏฐานประการที่ ๓ ที่พระอริยเสพ ซึ่งเมื่อเสพ
ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๗. สฬายตนวิภังคสูตร
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พระอริยะเสพธรรม คือ สติปัฏฐาน ๓ ซึ่งเมื่อเสพ
ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
[๓๑๒] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พระอริยศาสดานั้นอันเราเรียกว่า เป็นสารถีผู้
สามารถฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย’ เพราะอาศัย
เหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ช้างที่ควรฝึก อันควาญช้างบังคับให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปสู่ทิศเดียว
เท่านั้น คือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้
ม้าที่ควรฝึก อันคนฝึกม้าบังคับให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปสู่ทิศเดียวเท่านั้น คือ ทิศ
ตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้
โคที่ควรฝึก อันคนฝึกโคบังคับให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปสู่ทิศเดียวเท่านั้น คือทิศ
ตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้
แต่บุรุษที่ควรฝึก อันตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้วิ่ง ย่อมวิ่งไป
ได้ตลอดทิศทั้ง ๘ คือ
ผู้มีรูป ย่อมเห็นรูปทั้งหลายได้ นี้เป็นทิศที่ ๑
ผู้มีสัญญาในอรูปในภายใน ย่อมเห็นรูปทั้งหลายในภายนอกได้ นี้เป็นทิศที่ ๒
เป็นผู้น้อมใจว่างามทั้งนั้น นี้เป็นทิศที่ ๓
เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง จึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่ด้วยใส่ใจว่า ‘อากาศหา
ที่สุดมิได้’ นี้เป็นทิศที่ ๔
เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานได้โดยประการทั้งปวง จึงบรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานอยู่ด้วยใส่ใจว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ นี้เป็นทิศที่ ๕
เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานได้โดยประการทั้งปวง จึงบรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานอยู่ด้วยใส่ใจว่า ‘ไม่มีอะไรสักหน่อยหนึ่ง’ นี้เป็นทิศที่ ๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๘. อุทเทสวิภังคสูตร
เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานได้โดยประการทั้งปวง จึงบรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นทิศที่ ๗
เพราะก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานได้โดยประการทั้งปวง จึงบรรลุ
สัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นทิศที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ควรฝึกอันตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้วิ่ง
ย่อมวิ่งไปได้ตลอดทิศทั้ง ๘ นี้
คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พระอริยศาสดานั้นอันเราเรียกว่า เป็นสารถีผู้สามารถ
ฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้
เราจึงกล่าวไว้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
สฬายตนวิภังคสูตรที่ ๗ จบ

๘. อุทเทสวิภังคสูตร
ว่าด้วยอุทเทสและวิภังค์
[๓๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุทเทสและวิภังค์แก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังอุทเทสและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะ
ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น
เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะ
ไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๘. อุทเทสวิภังคสูตร
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ทรงลุกจากพุทธอาสน์
เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ
[๓๑๔] ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้มี
ความสงสัยว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อนี้แก่เรา
ทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะ
ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น
เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะ
ไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’
แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ
ใครเล่าหนอจะพึงชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้”
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเกิดความคิดขึ้นว่า “ท่านพระมหากัจจานะนี้ เป็นผู้ที่
พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่าน
พระมหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไป
หาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าว
กับท่านพระมหากัจจานะว่า
“ท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อนี้แก่เราทั้งหลายว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป
ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป
ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุ
เกิดหรือแดนเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจง
เนื้อความโดยพิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค] ๘. อุทเทสวิภังคสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน พวกกระผมได้มีความสงสัยว่า
‘พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสโดยย่อนี้แก่เราทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
พึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อพิจารณาอยู่ วิญญาณจะไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก
ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ยึดมั่น เมื่อวิญญาณไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปใน
ภายนอก ไม่ตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีเหตุเกิดหรือแดน
เกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ต่อไป’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความโดยพิสดาร
ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอจะพึงชี้แจงเนื้อความแห่ง
อุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้’
ท่านกัจจานะ เราทั้งหลายคิดว่า ‘ท่านมหากัจจานะนี้เป็นผู้ที่พระศาสดาทรง
ยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะ
ก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสโดยย่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่
ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่าน
พระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ’
ขอท่านมหากัจจานะโปรดชี้แจงเถิด”
พระมหากัจจานะอธิบายอุทเทส
[๓๑๕] ท่านพระมหากัจจานะจึงตอบว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ
เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ ละเลยโคนและลำต้น
ของต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นไป เขาเข้าใจว่าแก่นไม้ต้องแสวงหาที่กิ่งและใบ แม้
ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาทรงปรากฏเฉพาะหน้าท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายก็ละเลยพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไป และพึงเข้าใจเนื้อความนั้นว่า
ต้องสอบถามกับกระผม แท้จริง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้สิ่งที่ควรรู้
ทรงเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็น
ผู้เผยแผ่ ประกาศ ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็น
พระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่ท่านทั้งหลายจะทูลถามเนื้อความนี้
กับพระองค์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายพึง
ทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๓๘๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น