Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๒-๕ หน้า ๒๑๖ - ๒๖๙

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒-๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก ฉักกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๔. ยัสสังทิสังสูตร
ภิกษุ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ทรงธรรม เป็น
ธรรมราชา ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ครั้นทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง
ภิกษุทั้งหลายโดยธรรม ภิกษุณีทั้งหลาย ... อุบาสกทั้งหลาย ... อุบาสิกาทั้งหลาย
โดยธรรมแล้ว จึงทรงให้ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมหมุนไปโดยธรรมเท่านั้น จักร๑นั้นอัน
สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”
ธัมมราชาสูตรที่ ๓ จบ
๔. ยัสสังทิสังสูตร
ว่าด้วยทิศที่กษัตริย์ใช้ประทับ
[๑๓๔] ภิกษุทั้งหลาย กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว๒ ทรงประกอบ
ด้วยองค์ ๕ ประการ จะประทับอยู่ ณ ทิศใด ๆ ก็เหมือนกับประทับอยู่ในแคว้น
ของพระองค์เอง
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
กษัตราธิราชในโลกนี้
๑. ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงมีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระมารดาและฝ่าย
พระบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ๓ ไม่มีใคร
จะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติมาก มี
พระฉางและพระคลัง๔บริบูรณ์

เชิงอรรถ :
๑ จักร ในที่นี้หมายถึงธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่พระพุทธองค์ทรงให้หมุนไปด้วยนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
อันใคร ๆ ไม่สามารถให้หมุนกลับได้ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๙)
๒ มูรธาภิเษก หมายถึงน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ (พจนานุกรม ฉบับ
ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)
๓ เจ็ดชั่วบรรพบุรุษ หมายถึงวิธีนับลำดับบรรพบุรุษแบบหนึ่ง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของวงศ์ตระกูลโดย
นับจากปัจจุบันขึ้นไป ๗ ชั้น (ที.สี.อ. ๓๐๓/๒๕๒-๒๕๓)
๔ พระฉาง (โกสะ) ในที่นี้หมายถึงกองกำลัง ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลคนเดินเท้า (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๑๓๔/๕๒, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๓๔/๕๖)
พระคลัง (โกฏฐาคาร) หมายถึงพระคลัง ๓ ชนิด คือ พระคลังเก็บทรัพย์ พระคลังเก็บข้าวเปลือก และ
พระคลังเก็บผ้า (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๔/๕๒, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๓๔/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๔. ยัสสังทิสังสูตร
๓. ทรงมีกำลังพล ประกอบด้วยกองทัพทั้ง ๔ เหล่า เชื่อฟังและ
ทำตามที่ทรงรับสั่ง
๔. ทรงเป็นปริณายก เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา สามารถคิด
เหตุการณ์ได้ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
๕. ทรงประกอบด้วยยศที่มีธรรม ๔ ประการ นี้ทำให้เจริญ
กษัตราธิราชพระองค์นั้นจะประทับอยู่ ณ ทิศใด ๆ ก็เหมือนกับประทับอยู่ใน
แคว้นของพระองค์เอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระองค์ทรงชนะได้เด็ดขาดแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะอยู่
ณ ทิศใด ๆ ก็เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอยู่
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เหมือน
กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสมบูรณ์ด้วยชาติ
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ เหมือนกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้วทรงมั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติ
มาก มีพระฉางและพระคลังบริบูรณ์
๓. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่ เหมือนกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสมบูรณ์
ด้วยกำลัง
๔. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้ง
ความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ เหมือนกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงเป็น
ปริณายก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๕. ปฐมปัตถนาสูตร
๕. ประกอบด้วยวิมุตติที่มีธรรม ๔ ประการนี้ทำให้เจริญ เธอจะอยู่
ณ ทิศใด ๆ ก็เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
เธอมีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนั้น
ยัสสังทิสังสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปฐมปัตถนาสูตร
ว่าด้วยความปรารถนา สูตรที่ ๑
[๑๓๕] ภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธา-
ภิเษกแล้ว ทรงประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมปรารถนาราชสมบัติ
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
พระราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วในโลกนี้
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะ
อ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก๑
๓. เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัยของพระมารดาและพระบิดา
๔. เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของชาวนิคมและชาวชนบท
๕. เป็นผู้ได้ศึกษาสำเร็จดีในศิลปศาสตร์แห่งกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธา-
ภิเษกแล้ว เช่น ศิลปศาสตร์เรื่องช้าง ม้า รถ ธนู หรือดาบ
พระราชโอรสองค์ใหญ่นั้น ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า ‘เรามีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่าย
พระมารดาและฝ่ายพระบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใคร

เชิงอรรถ :
๑ ฉวีวรรณผุดผ่อง หมายถึงมีผิวพรรณดีและมีทรวดทรงดี (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๗๕/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๕. ปฐมปัตถนาสูตร
จะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ไฉนเราจะไม่ปรารถนาราชสมบัติเล่า
เราเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ไฉนเราจะไม่ปรารถนา
ราชสมบัติเล่า เราเป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัยของพระมารดาและพระบิดา ไฉนเราจะ
ไม่ปรารถนาราชสมบัติเล่า เราเป็นที่รักเป็นที่พอใจของชาวนิคมและชาวชนบท ไฉน
เราจะไม่ปรารถนาราชสมบัติเล่า เราเป็นผู้ได้ศึกษาสำเร็จดีในศิลปศาสตร์ของ
กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่นศิลปศาสตร์เรื่องช้าง ม้า รถ ธนู หรือดาบ
ไฉนเราจะไม่ปรารถนาราชสมบัติเล่า’
พระราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ประกอบด้วย
องค์ ๕ ประการนี้แล ย่อมปรารถนาราชสมบัติ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ปรารถนาความสิ้น
อาสวะ ฉันนั้น เหมือนกัน
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค’
๒. เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อย
อาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะแก่การ
บำเพ็ญเพียร
๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน
ศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้ง
หลายอยู่
๕. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็น
ทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๖. ทุติยปัตถนาสูตร
เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของ
พระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า เราเป็นผู้มีอาพาธ
น้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก
ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้น
อาสวะเล่า เราเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน
ศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะ
เล่า เราเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความ
เข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ไฉนเราจะไม่
ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า เราเป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้น
ทุกข์โดยชอบ ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมปรารถนาความ
สิ้นอาสวะ
ปฐมปัตถนาสูตรที่ ๕ จบ
๖. ทุติยปัตถนาสูตร
ว่าด้วยความปรารถนา สูตรที่ ๒
[๑๓๖] ภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบด้วย องค์ ๕ ประการ ย่อมปรารถนาความเป็นอุปราช
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
พระราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วในโลกนี้
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะ
อ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๖. ทุติยปัตถนาสูตร
๓. เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัยของพระมารดาและพระบิดา
๔. เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของกองทัพ
๕. เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญาสามารถคิดเหตุการณ์ทั้งอดีต อนาคต
และปัจจุบันได้
พระราชโอรสพระองค์นั้น มีดำริอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีชาติดีทั้งฝ่ายพระมารดา
และฝ่ายพระบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน
ตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ไฉนเราจะไม่ปรารถนาเป็นอุปราชเล่า เราเป็นผู้มี
รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ไฉนเราจะไม่ปรารถนาเป็น
อุปราชเล่า เราเป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัยของพระมารดาและพระบิดา ไฉนเราจะ
ไม่ปรารถนาเป็นอุปราชเล่า เราเป็นที่รักเป็นที่พอใจแห่งกองทัพ ไฉนเราจะไม่
ปรารถนาเป็นอุปราชเล่า เราเป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา สามารถคิดเหตุการณ์
ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความเป็นอุปราชเล่า’
ภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล ย่อมปรารถนาความเป็นอุปราช ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ปรารถนาความสิ้น
อาสวะ ฉันนั้นเหมือนกัน
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔๑
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม ฯลฯ ไม่ทอดธุระใน
กุศลธรรมทั้งหลายอยู่
๕. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้ง
ความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้น
ทุกข์โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๓๗๒-๓๗๔/๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๗. อัปปังสุปติสูตร
เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลาย ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสม
สุตะ ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า เราเป็น
ผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า เรา
เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม ฯลฯ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า เราเป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ ให้ถึงความสิ้น
ทุกข์โดยชอบ ไฉนเราจะไม่ปรารถนาความสิ้นอาสวะเล่า’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมปรารถนาความ
สิ้นอาสวะ
ทุติยปัตถนาสูตรที่ ๖ จบ
๗. อัปปังสุปติสูตร
ว่าด้วยคนหลับน้อย ตื่นมาก
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้ หลับน้อย ตื่นมากในราตรี
บุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. สตรีหลับน้อยตื่นมากเพราะประสงค์บุรุษ
๒. บุรุษหลับน้อยตื่นมากเพราะประสงค์สตรี
๓. โจรหลับน้อยตื่นมากเพราะประสงค์จะลักทรัพย์
๔. พระราชาผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทรงหลับน้อยตื่นมาก
๕. ภิกษุผู้มุ่งถึงธรรมที่ปราศจากสังโยชน์๑หลับน้อยตื่นมาก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้แล หลับน้อย ตื่นมากในราตรี
อัปปังสุปติสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ปราศจากสังโยชน์ หมายถึงนิพพาน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๗/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๘. ภัตตาทกสูตร
๘. ภัตตาทกสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของช้างต้นกินจุ
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ
เป็นช้างกินจุ ขวางที่ ขี้เรี่ยราด พอถือเป็นเครื่องหมายได้ว่าช้าง นับว่าเป็นช้างต้น
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ช้างของพระราชาในโลกนี้
๑. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรูป
๒. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อเสียง
๓. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อกลิ่น
๔. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรส
๕. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นช้าง
กินจุ ขวางที่ ขี้เรี่ยราด พอถือเป็นเครื่องหมายได้ว่าช้าง นับว่าเป็นช้างต้น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้
ฉันจุ ขวางที่ ย่ำยีเตียงตั่ง๑ พอถือเป็นเครื่องหมายได้ว่าภิกษุ นับว่าเป็นภิกษุ
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูป
๒. เป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียง
๓. เป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่น
๔. เป็นผู้ไม่อดทนต่อรส
๕. เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ฉันจุ ขวางที่
ย่ำยีเตียงตั่ง พอถือเป็นเครื่องหมายได้ว่าภิกษุ นับว่าเป็นภิกษุ
ภัตตาทกสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ย่ำยีเตียงตั่ง ในที่นี้หมายถึงนั่งมาก นอนมาก (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๘/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร
๙. อักขมสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของช้างต้นที่ไม่อดทน
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ
เป็นช้างไม่ควรแก่พระราชา ไม่ควรเป็นช้างต้น ไม่นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ช้างของพระราชา
๑. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรูป
๒. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อเสียง
๓. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อกลิ่น
๔. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรส
๕. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรูป เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ เข้าสู่สมรภูมิแล้ว เห็นกองทัพช้าง กองทัพม้า
กองทัพรถ หรือกองทัพพลเดินเท้า ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรูป เป็นอย่างนี้แล (๑)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อเสียง เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ได้ยินเสียงกองทัพช้าง
กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า หรือเสียงกลอง บัณเฑาะว์๑ สังข์
มโหระทึก๒ที่กระหึ่ม ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระ
ราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อเสียง เป็นอย่างนี้ (๒)

เชิงอรรถ :
๑ บัณเฑาะว์ หมายถึงกลองสองหน้าขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีหลักอยู่ตอนบน ผูกตุ้มห้อยลงมาทางหน้ากลอง
ใช้ให้ตุ้มแกว่งกระทบหน้ากลองทั้ง ๒ ข้าง (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)
๒ มโหระทึก หมายถึงกลองโลหะชนิดหนึ่งของชนชาติที่อยู่ตอนใต้ประเทศจีน ใช้ตีเป็นสัญญาณ และประโคม
(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ได้กลิ่นมูตรและคูถของช้าง
พระราชา(ฝ่ายข้าศึก)ที่ใหญ่กว่าซึ่งเข้ามาสู่สมรภูมิ ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถ
เข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างนี้แล (๓)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรส เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ไม่ได้กินอาหารเพียง ๑ คืน
๒ คืน ๓ คืน ๔ คืน หรือ ๕ คืน ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรส เป็นอย่างนี้แล (๔)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ถูกเขายิงด้วยลูกศร ๑ ครั้ง
๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง หรือ ๕ ครั้งแล้ว ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถเข้าสู่
สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างนี้แล (๕)
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้ เป็นช้าง
ไม่ควรแก่พระราชา ไม่ควรเป็นช้างต้น ไม่นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้
ไม่ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ทักษิณา ไม่ควรแก่
การทำอัญชลี ไม่เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูป
๒. เป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียง
๓. เป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่น
๔. เป็นผู้ไม่อดทนต่อรส
๕. เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร
ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว กำหนัดในรูปที่เป็นเหตุให้กำหนัด
ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรูป เป็นอย่างนี้แล (๑)
ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังเสียงทางหูแล้ว กำหนัดในเสียงที่เป็นเหตุให้กำหนัด
ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียง เป็นอย่างนี้แล (๒)
ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว กำหนัดในกลิ่นที่เป็นเหตุให้
กำหนัด ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่าง
นี้แล (๓)
ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรส เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว กำหนัดในรสที่เป็นเหตุให้กำหนัด
ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรส เป็นอย่างนี้แล (๔)
ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว กำหนัดในโผฏฐัพพะที่
เป็นเหตุให้กำหนัด ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ
เป็นอย่างนี้แล (๕)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ทักษิณา ไม่ควรแก่การทำอัญชลี
ไม่เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นช้าง
ควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ช้างของพระราชา
๑. เป็นสัตว์อดทนต่อรูป
๒. เป็นสัตว์อดทนต่อเสียง
๓. เป็นสัตว์อดทนต่อกลิ่น
๔. เป็นสัตว์อดทนต่อรส
๕. เป็นสัตว์อดทนต่อโผฏฐัพพะ
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรูป เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว เห็นกองทัพช้าง กองทัพม้า
กองทัพรถ หรือกองทัพพลเดินเท้า ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรูป เป็นอย่างนี้แล (๑)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อเสียง เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ได้ยินเสียงกองทัพช้าง กอง
ทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า หรือเสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ มโหระทึก
ที่กระหึ่ม ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็น
สัตว์อดทนต่อเสียง เป็นอย่างนี้แล (๒)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ได้กลิ่นมูตรและคูถของช้าง
พระราชา (ฝ่ายข้าศึก) ที่ใหญ่กว่าซึ่งเข้ามาสู่สมรภูมิ ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว
สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างนี้แล (๓)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรส เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ไม่ได้กินอาหารแม้เพียง
๑ คืน ๒ คืน ๓ คืน ๔ คืน หรือ ๕ คืน ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้า
สู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรส เป็นอย่างนี้แล (๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ถูกเขายิงด้วยลูกศร ๑ ครั้ง
๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง หรือ ๕ ครั้ง ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างนี้แล (๕)
ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นช้างควรแก่พระราชา
ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้
ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำ
อัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้อดทนต่อรูป
๒. เป็นผู้อดทนต่อเสียง
๓. เป็นผู้อดทนต่อกลิ่น
๔. เป็นผู้อดทนต่อรส
๕. เป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะ
ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่กำหนัดในรูปที่เป็นเหตุให้กำหนัด
สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรูป เป็นอย่างนี้แล (๑)
ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อเสียง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังเสียงทางหูแล้ว ไม่กำหนัดในเสียงที่เป็นเหตุให้
กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อเสียง เป็นอย่างนี้แล (๒)
ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ไม่กำหนัดในกลิ่นที่เป็นเหตุให้
กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างนี้แล (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๑๐. โสตสูตร
ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรส เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ไม่กำหนัดในรสที่เป็นเหตุให้กำหนัด
สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรส เป็นอย่างนี้แล (๔)
ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ไม่กำหนัดในโผฏฐัพพะ
ที่เป็นเหตุให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะ
เป็นอย่างนี้แล (๕)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อักขมสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. โสตสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของช้างต้นที่เชื่อฟัง
[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ
เป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ช้างของพระราชาในโลกนี้
๑. เป็นสัตว์เชื่อฟัง
๒. เป็นสัตว์ฆ่าได้
๓. เป็นสัตว์รักษาได้
๔. เป็นสัตว์อดทนได้
๕. เป็นสัตว์ไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๑๐. โสตสูตร
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์เชื่อฟัง เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยหูฟังเหตุการณ์ที่
ควาญช้างให้ทำ คือเหตุการณ์ที่เคยทำหรือไม่เคยทำ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์
เชื่อฟัง เป็นอย่างนี้แล (๑)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ฆ่าช้างบ้าง ฆ่าควาญช้างบ้าง ฆ่าม้าบ้าง
ฆ่าคนขี่ม้าบ้าง ทำลายรถบ้าง ฆ่าพลรถบ้าง ฆ่าพลเดินเท้าบ้าง ช้างของ
พระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล (๒)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์รักษาได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว รักษากายส่วนหน้า รักษากาย
ส่วนหลัง รักษาเท้าหน้า รักษาเท้าหลัง รักษาศีรษะ รักษาหู รักษางา รักษางวง
รักษาหาง รักษาควาญช้าง ช้างของพระราชาเป็นสัตว์รักษาได้ เป็นอย่างนี้แล (๓)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว อดทนต่อการประหาร
ด้วยหอก ดาบ ลูกศร ง้าว เสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และมโหระทึกที่กระหึ่ม
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล (๔)
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ไปสู่ทิศที่ควาญช้างไสไป คือทิศที่เคยไป หรือ
ทิศที่ยังไม่เคยไปได้โดยเร็วพลัน ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างนี้แล (๕)
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นช้างควร
แก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้
ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำ
อัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๑๐. โสตสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้เชื่อฟัง
๒. เป็นผู้ฆ่าได้
๓. เป็นผู้รักษาได้
๔. เป็นผู้อดทนได้
๕. เป็นผู้ไปได้
ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยโสตสดับธรรมในเมื่อผู้อื่น
แสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างนี้แล (๑)
ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ฯลฯ ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับ
วิหึงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา
ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป๑ ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล (๒)
ภิกษุเป็นผู้รักษาได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อ
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมใน
มนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม คืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุเป็นผู้รักษาได้
เป็นอย่างนี้แล (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๗/๔๓๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว
กระหาย อดทนต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน
อดทนต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ เป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่าง
กายที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ
พรากชีวิต ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล (๔)
ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้
คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา
ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างนี้แล (๕)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็น
นาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
โสตสูตรที่ ๑๐ จบ
ราชวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมจักกานุวัตตนสูตร ๒. ทุติยจักกานุวัตตนสูตร
๓. ธัมมราชาสูตร ๔. ยัสสังทิสังสูตร
๕. ปฐมปัตถนาสูตร ๖. ทุติยปัตถนาสูตร
๗. อัปปังสุปติสูตร ๘. ภัตตาทกสูตร
๙. อักขมสูตร ๑๐. โสตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๑. อวชนาติสูตร
๕. ติกัณฑกีวรรค
หมวดว่าด้วยป่าติกัณฑกี
๑. อวชานาติสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ให้แล้วดูหมิ่น
[๑๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลให้แล้วดูหมิ่น
๒. บุคคลดูหมิ่น เพราะอยู่ร่วมกัน
๓. บุคคลผู้เชื่อง่าย
๔. บุคคลผู้โลเล
๕. บุคคลผู้เขลา หลงงมงาย
บุคคลให้แล้วดูหมิ่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้ให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารแก่บุคคลใด เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘เราให้ ผู้นี้รับ’ ให้แล้ว ดูหมิ่นบุคคลนั้น บุคคล
ให้แล้วดูหมิ่น เป็นอย่างนี้แล
บุคคลดูหมิ่น เพราะอยู่ร่วมกัน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้อยู่ร่วมกับบุคคลเป็นเวลา ๒ ปี หรือ ๓ ปี ดูหมิ่นผู้นั้น
เพราะอยู่ร่วมกัน บุคคลดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้เชื่อง่าย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เมื่อเขากล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่นอยู่ ก็น้อมใจเชื่อ
โดยพลันทีเดียว บุคคลผู้เชื่อง่าย เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้โลเล เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธาน้อย มีความภักดีน้อย มีความรัก
น้อย มีความเลื่อมใสน้อย บุคคลผู้โลเล เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๒. อารภติสูตร
บุคคลผู้เขลา หลงงมงาย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่รู้กุศลธรรมและอกุศลธรรม ไม่รู้ธรรมที่มีโทษ
และธรรมที่ไม่มีโทษ ไม่รู้ธรรมที่เลวและธรรมที่ประณีต ไม่รู้ธรรมดำและธรรมขาว๑
บุคคลผู้เขลาหลงงมงาย เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
อวชานาติสูตรที่ ๑ จบ
๒. อารภติสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ต้องอาบัติ
[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ต้องอาบัติ๒ มีวิปปฏิสาร (ความร้อนใจ)
และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติ๓ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมดำ หมายถึงกายทุจริตเป็นต้น ธรรมขาว หมายถึงกายสุจริตเป็นต้น (สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๓๔/๑๙๖,
ขุ.ธ.อ. ๔/๔๕-๔๗)
๒ ต้องอาบัติ (อารภติ) ฎีกาอธิบายว่า อารมฺภ ศัพท์ มีความหมายหลายนัยดังนี้ คือ (๑) มีความหมายว่า
กรรม เช่น ประโยคว่า “ยํ กิญฺจิ ทุกฺขํ สมฺโภติ สพฺพํ อารมฺภปจฺจยา” แปลว่า “ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง
เกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย” (ขุ.สุ. ๒๕/๗๕๐/๔๘๑) (๒) มีความหมายว่า
กิริยา เช่น ประโยคว่า “มหารมฺภา มหายญฺญา น เต โหนฺติ มหปฺผลา” แปลว่า “มหายัญที่มีกิริยา
มากเหล่านั้น ย่อมไม่มีผลมาก” (สํ.ส. ๑๕/๑๒๐/๙๒, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๙/๖๔) (๓) มีความหมายว่า
เบียดเบียน เช่น ประโยคว่า “สมณํ โคตมํ อุทฺทิสฺส ปาณํ อารภนฺติ” แปลว่า “ย่อมเบียดเบียนสัตว์อุทิศ
พระสมณโคดม” (ม.ม. ๑๓/๕๒/๓๔) (๔) มีความหมายว่า เพียร เช่น ประโยคว่า “อารมฺภถ นิกฺขมถ, ยุญฺชถ
พุทฺธสาสเน” แปลว่า “ท่านทั้งหลายจงเพียร จงออก จงประกอบในพระพุทธศาสนา” (สํ.ส. ๑๕/๑๘๕/๑๘๘)
(๕) มีความหมายว่า พราก เช่น ประโยคว่า “พีชคามภูตคามสมารมฺภา ปฏิวิรโต โหติ” แปลว่า “เว้นขาด
จากการพรากพืชคาม และภูตคาม” (ที.สี. (แปล) ๙/๑๐/๔, ม.มู. ๑๒/๒๙๓/๒๕๗) (๖) มีความหมายว่า
ต้องอาบัติ เช่น ประโยคว่า “อารภติ จ วิปฺปฏิสารี จ โหติ” แปลว่า “บุคคลต้องอาบัติและมีวิปปฏิสาร”
(องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๔๒/๒๓๔, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๙๑/๒๑๘)
เพราะฉะนั้นในที่นี้ จึงแปลว่า ต้องอาบัติ (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๔๒-๑๔๓/๕๙)
๓ เจโตวิมุตติ หมายถึงอรหัตตสมาธิ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลญาณ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๒/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๒. อารภติสูตร
๒. บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ต้องอาบัติ แต่ไม่มีวิปปฏิสาร ไม่รู้ชัด
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
๓. บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ไม่ต้องอาบัติ แต่มีวิปปฏิสาร และไม่รู้
ชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
๔. บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ไม่ต้องอาบัติ และไม่มีวิปปฏิสาร แต่ไม่
รู้ชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
๕. บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ไม่ต้องอาบัติ ไม่มีวิปปฏิสาร และรู้ชัด
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๕ จำพวกนั้น๑ บุคคลใดต้องอาบัติ มีวิปปฏิสาร
และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น
แล้วตามความเป็นจริง บุคคลนั้นพึงเป็นผู้ควรถูกกล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ‘อาสวะที่
เกิดเพราะความการต้องอาบัติของท่านยังมีอยู่ อาสวะที่เกิดเพราะวิปปฏิสารของท่าน
ยังเจริญอยู่ ขอท่านจงละอาสวะที่เกิดเพราะการต้องอาบัติ๒ จงบรรเทาอาสวะที่เกิด
เพราะวิปปฏิสารแล้วจึงเจริญจิตและปัญญา๓ เพราะการเจริญ อย่างนี้ ท่านก็จักเป็น
ผู้ทัดเทียมกับบุคคลจำพวกที่ ๕๔ โน้น’ (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๙๑/๒๑๘
๒ ละอาสวะที่เกิดเพราะการต้องอาบัติ หมายถึงละอาสวะทั้งหลายที่เกิดเพราะการล่วงละเมิดสิกขาบทที่
ทรงบัญญัติไว้ ด้วยการแสดงอาบัติเบา (เทสนาวิธี) หรือวิธีปฏิบัติเพื่อเปลื้องตนจากอาบัติหนักขั้นสังฆาทิเสส
(วุฏฐานวิธี) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๒/๕๖)
๓ เจริญจิตและปัญญา หมายถึงเพิ่มพูนวิปัสสนาจิต และเพิ่มพูนปัญญาที่ประกอบด้วยวิปัสสนาจิต (องฺ.
ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๒/๕๖)
๔ บุคคลจำพวกที่ ๕ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๒/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๒. อารภติสูตร
บุคคลใดต้องอาบัติ แต่ไม่มีวิปปฏิสาร ไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็น
ที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง บุคคลนั้นพึงเป็นผู้
ควรถูกกล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ‘อาสวะที่เกิดเพราะการต้องอาบัติของท่านยังมีอยู่
อาสวะที่เกิดเพราะวิปปฏิสารของท่านไม่เจริญ ขอท่านจงละอาสวะที่เกิดเพราะการ
ต้องอาบัติแล้วจึงเจริญจิตและปัญญา เพราะการเจริญอย่างนี้ ท่านก็จักเป็นผู้
ทัดเทียมกับบุคคลจำพวกที่ ๕ โน้น’ (๒)
บุคคลใดไม่ต้องอาบัติ แต่มีวิปปฏิสาร และไม่รู้ชัดเจโตวุมิตติ ปัญญาวิมุตติอัน
เป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง บุคคลนั้นพึง
เป็นผู้ควรถูกกล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ‘อาสวะที่เกิดเพราะการต้องอาบัติของท่านไม่มี
แต่อาสวะที่เกิดเพราะวิปปฏิสารของท่านยังเจริญอยู่ ขอท่านจงบรรเทาอาสวะที่เกิด
เพราะวิปปฏิสารแล้วจึงเจริญจิตและปัญญา เพราะการเจริญอย่างนี้ ท่านก็จักเป็นผู้
ทัดเทียมกับบุคคลจำพวกที่ ๕ โน้น’ (๓)
บุคคลใดไม่ต้องอาบัติ และไม่มีวิปปฏิสาร แต่ไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
บุคคลนั้นพึงเป็นผู้ควรถูกกล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ‘อาสวะที่เกิดเพราะการต้องอาบัติ
ของท่านไม่มี อาสวะที่เกิดเพราะวิปปฏิสารของท่านก็ไม่เจริญ ขอท่านจงเจริญจิต
และปัญญา เพราะการเจริญอย่างนี้ ท่านก็จักเป็นผู้ทัดเทียมกับบุคคลจำพวกที่ ๕
โน้น’ (๔)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล ถูกตักเตือนพร่ำสอนโดยเทียบกับบุคคล
จำพวกที่ ๕ โน้น อย่างนี้ ย่อมบรรลุความสิ้นอาสวะโดยลำดับ
อารภติสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๓. สารันททสูตร
๓. สารันททสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่สารันททเจดีย์
[๑๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี สมัยนั้นเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์
นั่งประชุมกันอยู่ที่สารันททเจดีย์ ได้สนทนากันว่า
ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการ หาได้ยากในโลก
ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความปรากฏแห่งช้างแก้ว หาได้ยากในโลก
๒. ความปรากฏแห่งม้าแก้ว หาได้ยากในโลก
๓. ความปรากฏแห่งมณีแก้ว หาได้ยากในโลก
๔. ความปรากฏแห่งนางแก้ว หาได้ยากในโลก
๕. ความปรากฏแห่งคหบดีแก้ว หาได้ยากในโลก
ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการนี้ หาได้ยากในโลก
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้ส่งคนไปคอยดักทางโดยรับสั่งว่า “พ่อผู้เจริญ
เมื่อท่านเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมา พึงมาบอกแก่พวกเรา”
บุรุษนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงเข้าไปหาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น
ถึงที่อยู่ แล้วทูลว่า “ขอเดชะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กำลังเสด็จมา พระเจ้าข้า ขอพระองค์จงทราบกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณา
เสด็จเข้าไปยังสารันททเจดีย์เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๓. สารันททสูตร
พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพแล้วได้เสด็จเข้าไปยังสารันททเจดีย์
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า
“เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย เวลานี้ พวกท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่อง
อะไรค้างไว้”
เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลาย
นั่งประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ได้สนทนากันว่า ‘ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการ หาได้
ยากในโลก
ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความปรากฏแห่งช้างแก้ว หาได้ยากในโลก
๒. ความปรากฏแห่งม้าแก้ว หาได้ยากในโลก
๓. ความปรากฏแห่งมณีแก้ว หาได้ยากในโลก
๔. ความปรากฏแห่งนางแก้ว หาได้ยากในโลก
๕. ความปรากฏแห่งคหบดีแก้ว หาได้ยากในโลก
ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการนี้ หาได้ยากในโลก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เจ้าลิจฉวีทั้งหลายเป็นผู้มุ่งกาม๑จริงหนอ สนทนากัน
แต่เรื่องกาม เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการ หาได้ยากในโลก
ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความปรากฏแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หาได้ยากในโลก
๒. บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ หาได้ยากในโลก
๓. บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ซึ่งผู้อื่นแสดงแล้ว หาได้
ยากในโลก

เชิงอรรถ :
๑ กาม ในทีนี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๓/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๔. ติกัณฑกีสูตร
๔. บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ซึ่งผู้อื่นแสดงแล้ว เป็นผู้
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม๑หาได้ยากในโลก
๕. กตัญญูกตเวทีบุคคล๒หาได้ยากในโลก
เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ความปรากฏแห่งแก้ว ๕ ประการนี้แล หาได้ยากในโลก
สารันททสูตรที่ ๓ จบ
๔. ติกัณฑกีสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่ป่าติกัณฑกีวัน
[๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าติกัณฑกีวัน เขตเมือง
สาเกต ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงมีสัญญาว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูล๓ตามกาลอันควร
๒. ภิกษุพึงมีสัญญาว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูล๔ตามกาลอันควร
๓. ภิกษุพึงมีสัญญาว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูล ตามกาลอันควร
๔. ภิกษุพึงมีสัญญาว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูล ตามกาล
อันควร

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงปฏิบัติข้อปฏิบัติเบื้องต้นพร้อมทั้งศีล เพื่อบรรลุโลกุตตรธรรม ๙
ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๓/๕๖)
๒ กตัญญูกตเวทีบุคคล หมายถึงบุคคลที่รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแก่ตนแล้วกระทำปฏิการคุณตอบแทน
พร้อมทั้งประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๑๕/๒๖๑)
๓ มีสัญญาว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูล หมายถึงมีความกำหนดหมายในอารมณ์ที่น่าปรารถนาว่าเป็นสิ่งไม่งาม
หรือพิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง (ตามนัย องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๔/๕๖)
๔ มีสัญญาว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูล หมายถึงมีความกำหนดหมายในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาว่าเป็นสิ่งที่
ควรแผ่เมตตา และพิจารณาเห็นว่าเป็นเพียงธาตุ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๔/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๔. ติกัณฑกีสูตร
๕. ภิกษุพึงเว้นสิ่งทั้งสองนั้น คือสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มี
อุเบกขา๑ มีสติสัมปชัญญะอยู่ตามกาลอันควร
ภิกษุพึงมีสัญญาว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
ภิกษุพึงมีสัญญาว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า
“ความกำหนัดในธรรมที่เป็นเหตุให้กำหนัด อย่าเกิดขึ้นแก่เรา”
ภิกษุพึงมีสัญญาว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
ภิกษุพึงมีสัญญาว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า
“ความขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุให้ขัดเคือง อย่าเกิดขึ้นแก่เรา”
ภิกษุพึงมีสัญญาว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจ
ประโยชน์อะไร
ภิกษุพึงมีสัญญาว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจ
ประโยชน์นี้ว่า “ความกำหนัดในธรรมที่เป็นเหตุให้กำหนัดอย่าเกิดขึ้นแก่เรา ความ
ขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุให้ขัดเคือง อย่าเกิดขึ้นแก่เรา”
ภิกษุพึงมีสัญญาว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจ
ประโยชน์อะไร
ภิกษุพึงมีสัญญาว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจ
ประโยชน์นี้ว่า “ความขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุให้ขัดเคือง อย่าเกิดขึ้นแก่เรา
ความกำหนัดในธรรมเป็นเหตุให้กำหนัด อย่าเกิดขึ้นแก่เรา”

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้มีอุเบกขา ในที่นี้หมายถึงดำรงอยู่ในสภาวะที่เป็นกลาง กล่าวคือมีปกติภาวะที่บริสุทธิ์ไม่ดีใจไม่เสีย
ใจในอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่
น่าปรารถนา) และที่เป็นอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) อุเบกขานี้เรียกว่า ฉฬังคุเบกขา เป็น
เหมือนอุเบกขาของพระขีณาสพ แต่มิใช่อุเบกขาของพระขีณาสพ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๔/๕๖, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา
๓/๑๔๔-๖/๖๑, วิสุทธิ. ๑/๘๔/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๕. นิรยสูตร
ภิกษุพึงเว้นสิ่งทั้งสองนั้น คือ สิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
ภิกษุพึงเว้นสิ่งทั้งสองนั้น คือสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า “ความกำหนัดในธรรมที่เป็น
เหตุให้กำหนัดในอารมณ์ไหน ๆ ในส่วนไหน ๆ แม้มีประมาณน้อย อย่าเกิดขึ้นแก่เรา
ความขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุให้ขัดเคือง ในอารมณ์ไหน ๆ ในส่วนไหน ๆ แม้มี
ประมาณน้อย อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ความหลงในธรรมที่เป็นเหตุให้หลง ในอารมณ์ไหน ๆ
ในส่วนไหน ๆ แม้มีประมาณน้อย อย่าเกิดขึ้นแก่เรา”
ติกัณฑกีสูตรที่ ๔ จบ
๕. นิรยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้ตกนรก
[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่ใน
นรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้พูดเท็จ
๕. เป็นผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๖. มิตตสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๕. เป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง
ความประมาท
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
นิรยสูตรที่ ๕ จบ
๖. มิตตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ควรคบเป็นมิตร
[๑๔๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ไม่ควรคบ
เป็นมิตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ใช้ให้ทำการงาน๑
๒. ก่ออธิกรณ์๒
๓. โกรธต่อภิกษุผู้เป็นประธาน

เชิงอรรถ :
๑ การงาน ในที่นี้หมายถึงการทำนาเป็นต้น (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๖/๕๗)
๒ อธิกรณ์ ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี ๔ อย่าง คือ
(๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับธรรมวินัย (๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือการกล่าวหากัน
ด้วยอาบัติ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ
(๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๖/๕๗)
และดู วิ.จู. ๖/๒๑๙-๒๒๗/๒๕๐-๒๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๗. อสัปปุริสทานสูตร
๔. เที่ยวจาริกไปในสถานที่ไม่สมควรตลอดกาลนาน
๕. ไม่สามารถชี้แจงให้ภิกษุเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาตามกาลอันควร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ไม่ควรคบเป็นมิตร
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ควรคบเป็นมิตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ใช้ให้ทำการงาน
๒. ไม่ก่ออธิกรณ์
๓. ไม่โกรธต่อภิกษุผู้เป็นประธาน
๔. ไม่เที่ยวจาริกไปในสถานที่ไม่สมควรตลอดกาลนาน
๕. สามารถชี้แจงให้ภิกษุเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาตามกาลอันควร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ควรคบเป็นมิตร
มิตตสูตรที่ ๖ จบ
๗. อสัปปุริสทานสูตร
ว่าด้วยอสัปปุริสทาน
[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน (ทานของอสัตบุรุษ) ๕ ประการนี้
อสัปปุริสทาน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ให้โดยไม่เคารพ๑
๒. ให้โดยความไม่อ่อนน้อม๒

เชิงอรรถ :
๑ ให้โดยไม่เคารพ หมายถึงให้ทานโดยมิได้ทำเครื่องไทยธรรมให้สะอาดเสียก่อน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๗/๕๗)
๒ ให้โดยความไม่อ่อนน้อม หมายถึงให้ทานด้วยความไม่เคารพ ไม่ยำเกรง (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๗/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๘. สัปปุริสทานสูตร
๓. ไม่ให้ด้วยมือตนเอง
๔. ให้ของที่เป็นเดน
๕. ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึงก็ให้
ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน(ทานของสัตบุรุษ) ๕ ประการนี้
สัปปุริสทาน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ให้โดยเคารพ๑
๒. ให้โดยความอ่อนน้อม
๓. ให้ด้วยมือตนเอง
๔. ให้ของที่ไม่เป็นเดน
๕. เห็นผลที่จะพึงมาถึงจึงให้๒
ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล
อสัปปุริสทานสูตรที่ ๗ จบ
๘. สัปปุริสทานสูตร
ว่าด้วยสัปปุริสทาน
[๑๔๘] ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้
สัปปุริสทาน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ให้ทานด้วยศรัทธา
๒. ให้ทานโดยเคารพ

เชิงอรรถ :
๑ ให้โดยเคารพ หมายถึงให้โดยเคารพทั้งในไทยธรรมและในพระทักขิไณยบุคคล (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๗/๕๗)
๒ เห็นผลที่จะพึงมาถึงจึงให้ หมายถึงเชื่อกรรมและผลของกรรมแล้วให้ทานด้วยคิดว่า “ทานนี้จักเป็นปัจจัย
แห่งความมีในอนาคต” (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๗/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๘. สัปปุริสทานสูตร
๓. ให้ทานตามกาลอันควร
๔. เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน
๕. ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น๑
ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักในที่
ที่ทานนั้นเผล็ดผล
ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และ
เป็นผู้ที่บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ และกรรมกรตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจใฝ่รู้
ครั้นให้ทานตามกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
และเป็นผู้มีความปรารถนาที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะ
มาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้นในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะ
มาก และเป็นผู้มีโภคทรัพย์ ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหน ๆ คือ จากไฟ จากน้ำ
จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาทในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล
สัปปุริสทานสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น หมายถึงให้ทานโดยไม่ลบหลู่คุณของตนและผู้อื่น (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๘/
๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๙. ปฐมสมยวิมุตตสูตร
๙. ปฐมสมยวิมุตตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นสมยวิมุต๑ สูตรที่ ๑
[๑๔๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ
ผู้เป็นสมยวิมุต
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน๒
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ไม่พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็น
สมยวิมุต
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็น
สมยวิมุต
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุผู้เป็นสมยวิมุต หมายถึงภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นด้วยสมยวิมุตติ (ความหลุดพ้นชั่วคราว) ซึ่งหมายถึง
สมาบัติ ๘ เป็นโลกิยวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายที่ข่มได้ในขณะที่จิตแน่วแน่เป็นครั้งคราวตรง
ข้ามกับภิกษุผู้เป็นอสมยวิมุตคือ ภิกษุขีณาสพผู้หลุดพ้นด้วยอสมยวิมุตติ (ความหลุดพ้นที่ไม่ขึ้นต่อสมัย
คือยั่งยืนเรื่อยไป) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔๙/๕๘) และดู ม.มู. ๑๒/๓๑๑/๒๗๘-๒๘๐, องฺ.เอกาทสก. (แปล)
๒๔/๑๓/๔๒๐
๒ การงาน ในที่นี้หมายถึงงานนวกรรม คือ การก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างวิหารเป็นต้น ความเป็นผู้
ยินดีแต่การก่อสร้างที่ถือว่าเป็นความเสื่อมเพราะทำให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๔/๑๐๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘) และดู อภิ.ก. ๓๗/๒๖๗/๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค ๑๐. ทุติยสมยวิมุตตสูตร
๓. ความเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็น
สมยวิมุต
ปฐมสมยวิมุตตสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ทุติยสมยวิมุตตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นสมยวิมุต สูตรที่ ๒
[๑๕๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ
ผู้เป็นสมยวิมุต
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๕. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็น
สมยวิมุต
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็น
สมยวิมุต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. ติกัณฑกีวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๕. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็น
สมยวิมุต
ทุติยสมยวิมุตตสูตรที่ ๑๐ จบ
ติกัณฑกีวรรคที่ ๕ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อวชานาติสูตร ๒. อารภติสูตร
๓. สารันททสูตร ๔. ติกัณฑกีสูตร
๕. นิรยสูตร ๖. มิตตสูตร
๗. อสัปปุริสทานสูตร ๘. สัปปุริสทานสูตร
๙. ปฐมสมยวิมุตตสูตร ๑๐. ทุติยสมยวิมุตตสูตร

ตติยปัณณาสก์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๑. ปฐมสัมมัตตนิยามสูตร
๔. จตุตถปัณณาสก์
๑. สัทธัมมวรรค
หมวดว่าด้วยพระสัทธรรม
๑. ปฐมสัมมัตตนิยามสูตร
ว่าด้วยสัมมัตตนิยาม๑ สูตรที่ ๑
[๑๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕
ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. วิพากษ์วิจารณ์คำพูด๒
๒. วิพากษ์วิจารณ์ผู้พูด๓
๓. วิพากษ์วิจารณ์ตน๔
๔. เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน คือมีจิตไม่แน่วแน่ฟังธรรม
๕. มนสิการโดยไม่แยบคาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่
ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ฟังสัทธรรมอยู่
เป็นผู้อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ สัมมัตตนิยาม ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๕๑/๕๙, สํ.ข.อ. ๒/๓๐๒-๓๑๑/๓๗๘)
และดู สํ.ข. ๑๗/๓๐๒-๓๑๑/๑๘๗-๑๙๑ ประกอบ
๒ วิพากษ์วิจารณ์คำพูด หมายถึงพูดว่า “นั่นเรื่องอะไร” (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๕๑/๕๙)
๓ วิพากษ์วิจารณ์ผู้พูด หมายถึงพูดว่า “ผู้นั้นพูดเรื่องอะไร ผู้นี้จะรู้อะไร” (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๕๑/๕๙)
๔ วิพากษ์วิจารณ์ตน หมายถึงพูดว่า “เรารู้หรือว่า คำพูดนั้นของเรามีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือได้แค่ไหนกัน”
(องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๕๑/๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๒. ทุติยสัมมัตตนิยามสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่วิพากษ์วิจารณ์คำพูด
๒. ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้พูด
๓. ไม่วิพากษ์วิจารณ์ตน
๔. เป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน คือมีจิตแน่วแน่ฟังธรรม
๕. มนสิการโดยแยบคาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ฟังสัทธรรมอยู่
เป็นผู้อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ปฐมสัมมัตตนิยามสูตรที่ ๑ จบ
๒. ทุติยสัมมัตตนิยามสูตร
ว่าด้วยสัมมัตตนิยาม สูตรที่ ๒
[๑๕๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ แม้ฟัง
สัทธรรมอยู่ ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. วิพากษ์วิจารณ์คำพูด
๒. วิพากษ์วิจารณ์ผู้พูด
๓. วิพากษ์วิจารณ์ตน
๔. มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นคนเซอะ๑
๕. ถือตัวว่ารู้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่
ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ฟังสัทธรรมอยู่ เป็นผู้
อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑๑๒ (ปัจฉาสมณสูตร) หน้า ๑๙๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๓. ตติยสัมมัตตนิยามสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่วิพากษ์วิจารณ์คำพูด
๒. ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้พูด
๓. ไม่วิพากษ์วิจารณ์ตน
๔. มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ
๕. ไม่ถือตัวว่ารู้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ฟังสัทธรรมอยู่
เป็นผู้อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ทุติยสัมมัตตนิยามสูตรที่ ๒ จบ
๓. ตติยสัมมัตตนิยามสูตร
ว่าด้วยสัมมัตตนิยาม สูตรที่ ๓
[๑๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕
ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ลบหลู่คุณท่านฟังธรรม ถูกความลบหลู่คุณท่านกลุ้มรุมฟังธรรม
๒. มีจิตแข่งดี คอยจับผิดฟังธรรม
๓. มีจิตกระทบ มีจิตกระด้างในผู้แสดงธรรม
๔. มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นคนเซอะ
๕. ถือตัวว่ารู้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล แม้ฟังธรรมอยู่ก็ไม่
อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ฟังสัทธรรมอยู่
เป็นผู้อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๔. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ลบหลู่คุณท่าน ไม่ถูกความลบหลู่คุณท่านกลุ้มรุมฟังธรรม
๒. ไม่มีจิตแข่งดี ไม่คอยจับผิดฟังธรรม
๓. ไม่มีจิตกระทบ ไม่มีจิตกระด้างในผู้ฟังธรรม
๔. มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ
๕. ไม่ถือตัวว่ารู้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ฟังธรรมอยู่ เป็นผู้
อาจหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ตติยสัมมัตตนิยามสูตรที่ ๓ จบ
๔. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร
ว่าด้วยเหตุเสื่อมแห่งพระสัทธรรม สูตรที่ ๑
[๑๕๔] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ
หายไปแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ
๒. ไม่เรียนธรรมโดยเคารพ
๓. ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ
๔. ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้วโดยเคารพ
๕. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไป
แห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ
ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๕. ทุติยสัมธัมมสัมโมสสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ฟังธรรมโดยเคารพ
๒. เรียนธรรมโดยเคารพ
๓. ทรงจำธรรมโดยเคารพ
๔. ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้วโดยเคารพ
๕. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ
ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๔ จบ
๕. ทุติยสัทธัมมสัมโมสสูตร
ว่าด้วยเหตุเสื่อมแห่งพระสัทธรรม สูตรที่ ๒
[๑๕๕] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ
หายไปแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ นี้เป็นธรรมประการ
ที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อสูญหายไปแห่งสัทธรรม
๒. ไม่แสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดย
พิสดาร นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ
หายไปแห่งสัทธรรม
๓. ไม่บอกธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดย
พิสดาร นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ
หายไปแห่งสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๕. ทุติยสัทธัมมสัมโมสสูตร
๔. ไม่ทำการสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาโดย
พิสดาร นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ
หายไปแห่งสัทธรรม
๕. ไม่ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา
ตามที่ตนได้เรียนมา นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไป
แห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่ง
สัทธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ
ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อม
เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๒. แสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดย
พิสดาร นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น
ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๓. บอกธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ
ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๔. ทำการสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาโดย
พิสดาร นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น
ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๖. ตติยสัมธัมมสัมโมสสูตร
๕. ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา
ตามที่ตนได้เรียนมา นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
ดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น
ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ทุติยสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๕ จบ
๖. ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร
ว่าด้วยเหตุเสื่อมแห่งพระสัทธรรม สูตรที่ ๓
[๑๕๖] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ
หายไปแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เล่าเรียนพระสูตรที่เล่าเรียนกันมาไม่ดี ด้วยบท
พยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดี๑ แม้อรรถ๒แห่งบทพยัญชนะที่สืบ
ทอดกันมาไม่ดีก็ชื่อว่าเป็นการสืบทอดขยายความไม่ดี นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้
เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทนรับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ บทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดี หมายถึงบทบาลีที่สืบทอดกันมาผิดระเบียบ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐/๒๘)
และดู องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๒๐/๗๒
๒ อรรถ ในที่นี้หมายถึงอรรถกถาที่สวดสืบทอดกันมาผิดระเบียบ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐/๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๖. ตติยสัมธัมมสัมโมสสูตร
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา๑ ไม่ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้น
ล่วงลับไป สูตรก็ขาดรากฐาน ไม่มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการ
ที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นเถระ ผู้มักมาก ย่อหย่อน๒ เป็นผู้นำใน
โอกกมนธรรม๓ ทอดธุระในปวิเวก๔ ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึง
ธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่
ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุเถระเหล่านั้น
แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำใน
โอกกมนธรรมทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม
ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่
ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม
สูญหายไปแห่ง สัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ เป็นพหูสูต หมายถึงได้สดับพระพุทธพจน์ หรือได้เล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์(คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙)
เรียนจบคัมภีร์ หมายถึงเรียนจบพระพุทธพจน์คือ พระไตรปิฎก ๕ นิกาย ได้แก่ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย
สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย
ทรงธรรม หมายถึงทรงจำพระสุตตันตปิฎก
ทรงวินัย หมายถึงทรงจำพระวินัยปิฎก
ทรงมาติกา หมายถึงทรงจำพระปาติโมกข์ทั้งสอง คือ ภิกขุปาติโมกข์ และภิกขุณีปาติโมกข์ (องฺ.ติก.อ.
๒/๒๐/๙๗-๙๘)
๒ ย่อหย่อน ในที่นี้หมายถึงยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนโดยไม่เคร่งครัด (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๓ โอกกมนธรรม หมายถึงนิวรณ์ ๕ คือ (๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท (ความคิดร้าย)
(๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๔ ปวิเวก หมายถึงอุปธิวิเวก คือความสงัดจากอุปธิ (สภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ได้แก่ กาม กิเลส
เบญจขันธ์ และอภิสังขาร) อีกนัยหนึ่ง หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๖. ตติยสัมธัมมสัมโมสสูตร
๕. สงฆ์แตกแยกกัน เมื่อสงฆ์แตกแยกกัน จึงมีการด่ากัน มีการ
บริภาษกัน มีการใส่ร้ายกัน มีการทอดทิ้งกัน หมู่คนที่ยังไม่เลื่อมใส
ในสงฆ์นั้น ก็ไม่เลื่อมใส และหมู่คนที่เลื่อมใสแล้วก็กลายเป็นอื่นไป นี้
เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่ง
สัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไป
แห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ
ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุเล่าเรียนพระสูตรที่เล่าเรียนมาดี ด้วยบทพยัญชนะที่สืบทอด
กันมาดี แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี ก็ชื่อว่า
เป็นการสืบทอดขยายความดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๒. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
อดทนรับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อม
เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๓. ภิกษุเป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตร
ไม่ขาดรากฐาน มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๔. ภิกษุเป็นเถระ ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม
เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อ
บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุเถระเหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลัง
นั้นก็ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๗. ทุกกถาสูตร
ในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่
ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หาย
ไปแห่งสัทธรรม
๕. สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน มีอุทเทสที่สวด
ร่วมกัน๑อยู่ผาสุก เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกัน จึงไม่มีการด่ากัน
ไม่มีการบริภาษกัน ไม่มีการใส้ร้ายกัน ไม่มีการทอดทิ้งกัน
หมู่คนที่ยังไม่เลื่อมใสในสงฆ์นั้นก็เลื่อมใส และหมู่คนที่เลื่อมใสแล้ว
ก็เลื่อมใสยิ่งขึ้น นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
ดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่
เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๖ จบ
๗. ทุกกถาสูตร
ว่าด้วยการพูดเป็นเรื่องไม่ดีและเรื่องดีสำหรับผู้อื่น
[๑๕๗] ภิกษุทั้งหลาย การพูด เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคล ๕ จำพวก เมื่อ
เทียบบุคคลกับบุคคล
การพูด เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. การพูดเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
๒. การพูดเรื่องศีล เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้ทุศีล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๔ (สมยสูตร) หน้า ๙๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๗. ทุกกถาสูตร
๓. การพูดเรื่องพาหุสัจจะ๑ เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้มีสุตะ๒น้อย
๔. การพูดเรื่องจาคะ เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้ตระหนี่
๕. การพูดเรื่องปัญญา เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้มีปัญญาทราม
การพูดเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา ก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท
ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล
ผู้ไม่มีศรัทธานั้น ไม่พิจารณาเห็นสัทธาสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)ในตน
และไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีสัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องศรัทธา จึงเป็น
เรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
การพูดเรื่องศีล เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้ทุศีล เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้ทุศีล เมื่อพูดเรื่องศีล ก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด
แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ทุศีลนั้น ไม่เห็น
สีลสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยศีล)ในตน และไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีสีลสัมปทานั้น
เป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องศีลจึงเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้ทุศีล
การพูดเรื่องพาหุสัจจะ เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้มีสุตะน้อย เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้มีสุตะน้อย เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท
ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้
มีสุตะน้อยนั้น ไม่พิจารณาเห็นสุตสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยสุตะ)ในตน และไม่ได้
ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องพาหุสัจจะ จึงเป็นเรื่อง
ไม่ดีสำหรับบุคคลผู้มีสุตะน้อย

เชิงอรรถ :
๑ ดูความหมายของพหูสูตในเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๕๖ หน้า ๒๕๖ ในเล่มนี้
๒ สุตะ ในที่นี้หมายถึงนวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙) คือ (๑) สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย
รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส) (๒) เคยยะ (ข้อความร้อยแก้วผสมร้อยกรอง ได้แก่พระสูตรที่มีคาถา
ทั้งหมด) (๓) เวยยากรณะ (ข้อความร้อยแก้ว) (๔) คาถา (ข้อความร้อยกรอง) (๕) อุทาน (พระคาถา
พุทธอุทาน) (๖) อิติวุตตกะ (พระสูตรที่ตรัสอ้างอิง) (๗) ชาตกะ (ชาดก ๕๕๐ เรื่อง) (๘) อัพภูตธรรม
(เรื่องอัศจรรย์) (๙) เวทัลละ (พระสูตรแบบถาม-ตอบ) (องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖/๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๗. ทุกกถาสูตร
การพูดเรื่องจาคะ เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้ตระหนี่ เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้ตระหนี่ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด
แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้ตระหนี่นั้น
ไม่พิจารณาเห็นจาคสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยจาคะ)ในตน และไม่ได้ปีติปราโมทย์
ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องจาคะจึงเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้
ตระหนี่
การพูดเรื่องปัญญา เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้มีปัญญาทราม เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้มีปัญญาทราม เมื่อพูดเรื่องปัญญา ก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท
ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้
มีปัญญาทรามนั้นไม่พิจารณาเห็นปัญญาสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)ในตน
และไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องปัญญา จึง
เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคลผู้มีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย การพูด เป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบุคคล ๕ จำพวกนี้แล เมื่อเทียบ
บุคคลกับบุคคล
ภิกษุทั้งหลาย การพูด เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคล ๕ จำพวก เมื่อเทียบบุคคล
กับบุคคล
การพูด เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. การพูดเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีศรัทธา
๒. การพูดเรื่องศีล เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีศีล
๓. การพูดเรื่องพาหุสัจจะ เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้เป็นพหูสูต
๔. การพูดเรื่องจาคะ เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีจาคะ
๕. การพูดเรื่องปัญญา เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีปัญญา
การพูดเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีศรัทธา เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา ก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท
ไม่ขึ้งเคียด ไม่แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๗. ทุกกถาสูตร
บุคคลผู้มีศรัทธานั้น พิจารณาเห็นสัทธาสัมปทาในตน และได้ปีติปราโมทย์ที่มีสัทธา-
สัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องศรัทธา จึงเป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีศรัทธา
การพูดเรื่องศีล เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีศีล เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้มีศีล เมื่อพูดเรื่องศีล ก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท
ไม่ขึ้งเคียด ไม่แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้มีศีลนั้นพิจารณาเห็นสีลสัมปทาในตน และได้ปีติปราโมทย์ที่มี
สีลสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องศีล จึงเป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีศีล
การพูดเรื่องพาหุสัจจะ เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้เป็นพหูสูต เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้เป็นพหูสูต เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง
ไม่พยาบาท ไม่ขึ้งเคียด ไม่แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะบุคคลผู้เป็นพหูสูตนั้น พิจารณาเห็นสุตสัมปทาในตน และได้ปีติ-
ปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องพาหุสัจจะ จึงเป็นเรื่องดี
สำหรับบุคคลผู้เป็นพหูสูต
การพูดเรื่องจาคะ เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีจาคะ เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้มีจาคะ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท
ไม่ขึ้งเคียด ไม่แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้มีจาคะนั้นพิจารณาเห็นจาคสัมปทาในตน และได้ปีติปราโมทย์ที่มี
จาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องจาคะ จึงเป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีจาคะ
การพูดเรื่องปัญญา เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มีปัญญา เพราะเหตุไร
เพราะบุคคลผู้มีปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญา ก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท
ไม่ขึ้งเคียด ไม่แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลผู้มีปัญญานั้นพิจารณาเห็นปัญญาสัมปทาในตน และได้ปีติปราโมทย์ที่มี
ปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น การพูดเรื่องปัญญา จึงเป็นเรื่องดีสำหรับบุคคลผู้มี
ปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย การพูด เป็นเรื่องดีสำหรับบุคคล ๕ จำพวกนี้แล เมื่อเทียบ
บุคคลกับบุคคล
ทุกกถาสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๘. สารัชชสูตร
๘. สารัชชสูตร
ว่าด้วยความครั่นคร้ามและความแกล้วกล้า
[๑๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมถึงความ
ครั่นคร้าม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา
๒. เป็นผู้ทุศีล
๓. เป็นผู้มีสุตะน้อย
๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมถึงความ
ครั่นคร้าม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา
๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นพหูสูต
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า
สารัชชสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค ๙. อุทายีสูตร
๙. อุทายีสูตร
ว่าด้วยพระอุทายี
[๑๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
สมัยนั้นแล ท่านพระอุทายีมีคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่ ท่าน
พระอานนท์ได้เห็นท่านพระอุทายีมีคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่
จึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร๑
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอุทายีมีคฤหัสถ์
บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นมิใช่ทำได้ง่าย ภิกษุ
เมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตนแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุพึงตั้งใจว่า
๑. เราจักแสดงธรรมไปตามลำดับ๒
๒. เราจักแสดงอ้างเหตุ
๓. เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู๓
๔. เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิส๔แสดงธรรม
๕. เราจักไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น๕
อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่
คนอื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตนแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
อุทายีสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๓๑ (สุมนสูตร) หน้า ๔๕ ในเล่มนี้
๒ แสดงธรรมไปตามลำดับ หมายถึงแสดงธรรมให้มีลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ เช่น แสดงเรื่องทานเป็น
ลำดับที่ ๑ แสดงเรื่องศีลเป็นลำดับที่ ๒ แสดงเรื่องสวรรค์เป็นลำดับที่ ๓
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงแสดงธรรมให้ครอบคลุมเนื้อหาสาระตามที่ตั้งสุตตบท หรือคาถาบทไว้ (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๑๕๙/๖๐)
๓ อาศัยความเอ็นดู หมายถึงการอนุเคราะห์ด้วยคิดว่า “จักเปลื้องเหล่าสัตว์ผู้มีความคับแค้นมากให้พ้น
จากความคับแค้น” (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๕๙/๖๐)
๔ ไม่เพ่งอามิส หมายถึงไม่มุ่งหวังลาภคือปัจจัย ๔ เพื่อตน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๕๙/๖๐)
๕ ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น หมายถึงไม่แสดงธรรมยกตนข่มท่าน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๕๙/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. สัทธัมมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๐. ทุปปฏิวิโนทยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่บรรเทาได้ยาก
[๑๖๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ราคะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
๒. โทสะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
๓. โมหะที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
๔. ปฏิภาณ๑ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
๕. จิตคิดจะไปที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยาก
ทุปปฏิวิโนทยสูตรที่ ๑๐ จบ
สัทธัมมวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมสัมมัตตนิยามสูตร ๒. ทุติยสัมมัตตนิยามสูตร
๓. ตติยสัมมัตตนิยามสูตร ๔. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตร
๕. ทุติยสัทธัมมสัมโมสสูตร ๖. ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร
๗. ทุกกถาสูตร ๘. สารัชชสูตร
๙. อุทายีสูตร ๑๐. ทุปปฏิวิโนทยสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ปฏิภาณ ในที่นี้หมายถึงความมุ่งหวังที่จะพูด (กเถตุกามตา) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๖๐/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. อาฆาตวรรค ๑. ปฐมอาฆาตปฏิวินยสูตร
๒. อาฆาตวรรค
หมวดว่าด้วยอาฆาต๑
๑. ปฐมอาฆาตปฏิวินยสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาฆาต สูตรที่ ๑
[๑๖๑] ภิกษุทั้งหลาย อุบายกำจัดอาฆาต ๕ ประการนี้ เป็นเครื่องกำจัด
อาฆาตที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุได้อย่างสิ้นเชิง
อุบายกำจัดอาฆาต ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุพึงเจริญเมตตาในบุคคลผู้ที่ตนเกิดอาฆาต๒ ภิกษุพึงกำจัดอาฆาต
ในบุคคลนั้นอย่างนี้
๒. ภิกษุพึงเจริญกรุณาในบุคคลผู้ที่ตนเกิดอาฆาต ภิกษุพึงกำจัดอาฆาต
ในบุคคลนั้นอย่างนี้
๓. ภิกษุพึงเจริญอุเบกขาในบุคคลผู้ที่ตนเกิดอาฆาต ภิกษุพึงกำจัดอาฆาต
ในบุคคลนั้นอย่างนี้
๔. ภิกษุไม่พึงระลึกถึง ไม่พึงมนสิการถึงบุคคลผู้ที่ตนเกิดอาฆาต ภิกษุ
พึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้
๕. ภิกษุพึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนให้มั่นในบุคคลผู้ที่ตน
เกิดอาฆาตนั้น ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับ
ผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม

เชิงอรรถ :
๑ อาฆาต หมายถึงความโกรธเคือง (องฺ.นวก.อ. ๓/๒๙/๓๐๗)
๒ เมตตาและกรุณา ต้องเจริญด้วยฌานที่ ๓ และฌานที่ ๔ ส่วนอุเบกขา ต้องเจริญด้วยฌานที่ ๔ และฌานที่ ๕
(องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๖๑/๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. อาฆาตวรรค ๒. ทุติยอาฆาตปฏิวินยสูตร
เป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม
ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น’ ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้น
อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย อุบายกำจัดอาฆาต ๕ ประการนี้แล เป็นเครื่องกำจัดอาฆาต
ที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุได้อย่างสิ้นเชิง
ปฐมอาฆาตปฏิวินยสูตรที่ ๑ จบ
๒. ทุติยอาฆาตปฏิวินยสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาฆาต สูตรที่ ๒
[๑๖๒] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มี
อายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้
กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย อุบายกำจัดอาฆาต ๕ ประการนี้ เป็นเครื่องกำจัดอาฆาตที่
เกิดขึ้นแก่ภิกษุได้อย่างสิ้นเชิง
อุบายกำจัดอาฆาต ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์
แต่มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์
๒. ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์
แต่มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์
๓. ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์
มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ได้ช่องแห่งใจ๑ได้ความ
เลื่อมใสทางใจตามกาลอันควร


เชิงอรรถ :
๑ ได้ช่องแห่งใจ หมายถึงได้โอกาสให้วิปัสสนาจิตเกิดขึ้น (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๖๒/๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. อาฆาตวรรค ๒. ทุติยอาฆาตปฏิวินยสูตร
๔. ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์
มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และไม่ได้ช่องแห่งใจ ไม่ได้
ความเลื่อมใสทางใจตามกาลอันควร
๕. ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มี
ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ และได้ช่องแห่งใจ ได้ความเลื่อมใส
ทางใจตามกาลอันควร
บรรดาบุคคล ๕ จำพวกนั้น
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่มี
ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ อย่างไร
คือ บุคคลใดมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่มีความประพฤติทาง
วาจาบริสุทธิ์ ความประพฤติทางกายที่ไม่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด ภิกษุไม่พึงใส่ใจ
ส่วนนั้นในเวลานั้น ส่วนความประพฤติทางวาจาที่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด ภิกษุก็พึง
ใส่ใจแต่ส่วนนั้นในเวลานั้น เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร พบผ้าเก่า
ที่ถนน เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดยังใช้ได้ก็เลือกถือ
เอาส่วนนั้นแล้วจากไป
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่มี
ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ อย่างไร
คือ บุคคลใดมีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่มีความประพฤติทางกาย
บริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาที่ไม่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้น
ในเวลานั้น ส่วนความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด ภิกษุก็พึงใส่ใจแต่
ส่วนนั้นในเวลานั้น เปรียบเหมือนสระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ คนเดินทาง
มาถูกความร้อนกระทบ ร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาจึงลงสระน้ำนั้น
แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้วกอบน้ำขึ้นดื่มแล้วจึงจากไป
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. อาฆาตวรรค ๒. ทุติยอาฆาตปฏิวินยสูตร
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความ
ประพฤติทางวาจาก็ไม่บริสุทธิ์ แต่ได้ช่องแห่งใจ ได้ความเลื่อมใสทางใจตาม
กาลอันควร อย่างไร
คือ บุคคลใดมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่
บริสุทธิ์ แต่ได้ช่องแห่งใจ ได้ความเลื่อมใสทางใจตามกาลอันควร ความประพฤติ
ทางกายที่ไม่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในเวลานั้น แม้ความ
ประพฤติทางวาจาที่ไม่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด ภิกษุก็ไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในเวลานั้น
แต่การได้ช่องแห่งใจ ได้ความเลื่อมใสทางใจตามกาลอันควรของเขาส่วนใด ภิกษุพึง
ใส่ใจแต่ส่วนนั้นในเวลานั้น เปรียบเหมือนน้ำเล็กน้อยในรอยเท้าโค คนเดินทางมา
ถูกความร้อนกระทบ ร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาเกิดความคิด
อย่างนี้ว่า “น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยเท้าโคนี้ ถ้าเราจักกอบขึ้นดื่ม หรือใช้ภาชนะ
ตักดื่ม ก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่ควรดื่มบ้าง ทางที่ดี เราควรจะ
คุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคแล้วจึงค่อยไปเถิด” เขาจึงคุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคแล้วจึงจากไป
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความ
ประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และไม่ได้ช่องแห่งใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสทางใจ
ตามกาลอันควร อย่างไร
คือ บุคคลใดมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจา
ไม่บริสุทธิ์ และไม่ได้ช่องแห่งใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสทางใจตามกาลอันควร ภิกษุพึง
เข้าไปตั้งความกรุณา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในบุคคลแม้เช่นนี้ว่า “โอ ท่านผู้นี้
พึงละกายทุจริตแล้วเจริญกายสุจริต พึงละวจีทุจริตแล้วเจริญวจีสุจริต พึงละ
มโนทุจริตแล้วเจริญมโนสุจริต” ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้หลังจากตายแล้ว
อย่าไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก” เปรียบเหมือนคนเจ็บป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก
เดินทางไกล แม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ห่างไกล แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ห่างไกล
เขาไม่ได้อาหารที่เป็นสัปปายะ ยาที่ตรงกับโรค คนพยาบาลที่เหมาะสม และผู้ที่จะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. อาฆาตวรรค ๒. ทุติยอาฆาตปฏิวินยสูตร
นำทางไปสู่บ้าน คนบางคนที่เดินทางไกลพึงเห็นเขา จึงเข้าไปตั้งความกรุณา ความ
เอ็นดู ความอนุเคราะห์ในเขาว่า “โอ ท่านผู้นี้ควรจะได้อาหารที่เป็นสัปปายะ ยาที่ตรง
กับโรค คนพยาบาลที่เหมาะสม และผู้นำทางไปสู่บ้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า
ท่านผู้นี้อย่าถึงความพินาศเสียหาย ณ ที่นี้เลย”
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความ
ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ และได้ช่องแห่งใจ ได้ความเลื่อมใสทางใจตามกาล
อันควร อย่างไร
คือ บุคคลใดมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจา
บริสุทธิ์ ได้ช่องแห่งใจและได้ความเลื่อมใสทางใจตามกาลอันควร แม้ความประพฤติ
ทางกายที่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด ภิกษุพึงใสใจส่วนนั้นในเวลานั้น แม้ความ
ประพฤติทางวาจาที่บริสุทธิ์ของเขาส่วนใด ภิกษุก็พึงใส่ใจส่วนนั้นในเวลานั้น แม้การ
ได้ช่องแห่งใจ ได้ความเลื่อมใสทางใจตามกาลอันควรของเขาส่วนใด ภิกษุก็พึงใส่ใจ
ส่วนนั้นในเวลานั้น เปรียบเหมือนสระน้ำที่ใส จืดสนิท เย็น สะอาด มีท่าเทียบ
น่ารื่นรมย์ ดาดาษไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ คนเดินทางมา ถูกความร้อนกระทบ
ร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาพึงลงสระน้ำนั้น อาบบ้าง ดื่มบ้าง
แล้วขึ้นมา นั่งบ้าง นอนบ้าง ที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้น
ภิกษุพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้
ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะอาศัยบุคคลที่น่าเลื่อมใส จิตจึงเลื่อมใส
อุบายกำจัดอาฆาต ๕ ประการนี้แล เป็นเครื่องกำจัดอาฆาตที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุ
ได้อย่างสิ้นเชิง
ทุติยอาฆาตปฏิวินยสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๖๙ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น