Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๒-๔ หน้า ๑๖๒ - ๒๑๕

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก ฉักกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๕. ภิกษุผู้เป็นเสขะได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง เป็นสัปปายะแห่ง
ความเป็นไปของจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา
อสังสัคคกถา วีริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา
วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความปรารถนา ได้โดย
ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ไม่ละการหลีกเร้น ประกอบความสงบใจ
ภายใน นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ผู้เป็นเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ผู้เป็นเสขะ
ทุติยเสขสูตรที่ ๑๐ จบ
เถรวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. รชนียสูตร ๒. วีตราคสูตร
๓. กุหกสูตร ๔. อัสสัทธสูตร
๕. อักขมสูตร ๖. ปฏิสัมภิทาปัตตสูตร
๗. สีลวันตสูตร ๘. เถรสูตร
๙. ปฐมเสขสูตร ๑๐. ทุติยเสขสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๒. ทุติยสัมปทาสูตร
๕. กกุธวรรค
หมวดว่าด้วยกกุธเทพบุตร
๑. ปฐมสัมปทาสูตร
ว่าด้วยสัมปทา สูตรที่ ๑
[๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา(ความถึงพร้อม)
๕ ประการนี้
สัมปทา ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)
๒. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)
๓. สุตสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยสุตะ)
๔. จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยจาคะ)
๕. ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้แล
ปฐมสัมปทาสูตรที่ ๑ จบ
๒. ทุติยสัมปทาสูตร
ว่าด้วยสัมปทา สูตรที่ ๒
[๙๒] ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้
สัมปทา ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)
๒. สมาธิสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยสมาธิ)
๓. ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)
๔. วิมุตติสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยวิมุตติ)
๕. วิมุตติญาณทัสสนสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ)
ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้แล
ทุติยสัมปทาสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๔. ผาสุวิหารสูตร
๓. พยากรณสูตร
ว่าด้วยการพยากรณ์อรหัตตผล
[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย การพยากรณ์อรหัตตผล๑ ๕ ประการนี้
การพยากรณ์อรหัตตผล ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พยากรณ์อรหัตตผล เพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย
๒. มีความปรารถนาชั่ว ถูกความปรารถนาครอบงำ จึงพยากรณ์
อรหัตตผล
๓. พยากรณ์อรหัตตผล เพราะความบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน
๔. พยากรณ์อรหัตตผล เพราะสำคัญว่าได้บรรลุ
๕. พยากรณ์อรหัตตผลโดยถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย การพยากรณ์อรหัตตผล ๕ ประการนี้แล
พยากรณสูตรที่ ๓ จบ
๔. ผาสุวิหารสูตร
ว่าด้วยผาสุวิหารธรรม๒
[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย ผาสุวิหารธรรม ๕ ประการนี้
ผาสุวิหารธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ๓ อยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไปมีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนาม
กายบรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่

เชิงอรรถ :
๑ พยากรณ์อรหัตตผล ในที่นี้หมายถึงการกล่าวอ้างว่าตนได้บรรลุอรหัตตผล (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๙๓/๔๔)
๒ ผาสุวิหารธรรม หมายถึงธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข (สุขวิหาระ) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๙๔-๙๕/๔๔)
๓ ฯลฯ ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มในข้อ ๒๘ (ปัญจังคิกสูตร) หน้า ๓๖-๓๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๕. อกุปปสูตร
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่
๕. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้น
ไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ผาสุวิหารธรรม ๕ ประการนี้แล
ผาสุวิหารสูตรที่ ๔ จบ
๕. อกุปปสูตร
ว่าด้วยอกุปปธรรม๑
[๙๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ไม่นานนักก็จะ
บรรลุอกุปปธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้บรรลุอัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ)
๒. เป็นผู้บรรลุธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม)
๓. เป็นผู้บรรลุนิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ)
๔. เป็นผู้บรรลุปฏิภาณปฏิสัมภิทา๒ (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ)
๕. พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ไม่นานนักก็จะบรรลุ
อกุปปธรรม
อกุปปสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อกุปปธรรม หมายถึงพระอรหัตตผล (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๙๔-๙๕/๔๔)
๒ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๒/๒๔๒-๒๔๓, ขุ.ป. ๓๑/๑๑๐/๑๒๓, ๓๐/๓๕๘, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๑๘/๔๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๖. สุตธรสูตร
๖. สุตธรสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ทรงสุตะ
[๙๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เสพ๑อานาปาน-
สติกัมมัฏฐานอยู่ ไม่นานนัก ย่อมบรรลุอกุปปธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษในบริขารแห่งชีวิต
๒. เป็นผู้มีอาหารน้อย หมั่นประกอบความไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
๓. เป็นผู้มีการหลับน้อย หมั่นประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
๔. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามใน
ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วน แล้วทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดี
ด้วยทิฏฐิ
๕. พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เสพอานาปานสติ-
กัมมัฏฐานอยู่ ไม่นานนัก ย่อมบรรลุอกุปปธรรม
สุตธรสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๗ (ฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๗. กถาสูตร
๗. กถาสูตร
ว่าด้วยกถาเครื่องขัดเกลากิเลส
[๙๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เจริญอานาปาน-
สติกัมมัฏฐานอยู่ ไม่นานนัก ย่อมบรรลุอกุปปธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษในบริขารแห่งชีวิต
๒. เป็นผู้มีอาหารน้อย หมั่นประกอบความไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
๓. เป็นผู้มีการหลับน้อย หมั่นประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
๔. เป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง เป็นสัปปายะแห่งความเป็น
ไปของจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา
วีริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติ-
ญาณทัสสนกถา ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก
๕. พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เจริญอานาปานสติ-
กัมมัฏฐานอยู่ ไม่นานนัก ย่อมบรรลุอกุปปธรรม
กถาสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๙. สีหสูตร
๘. อารัญญกสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
[๙๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ทำอานาปานสติ-
กัมมัฏฐานให้มากอยู่ ไม่นานนัก ย่อมบรรลุอกุปปธรรม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษในบริขารแห่งชีวิต
๒. เป็นผู้มีอาหารน้อย หมั่นประกอบความไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
๓. เป็นผู้มีการหลับน้อย หมั่นประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
๔. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ในเสนาสนะอันเงียบสงัด
๕. พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ทำอานาปานสติ-
กัมมัฏฐานให้มากอยู่ ไม่นานนัก ย่อมบรรลุอกุปปธรรม
อารัญญกสูตรที่ ๘ จบ
๙. สีหสูตร
ว่าด้วยพญาราชสีห์
[๙๙] ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาเย็น พญาราชสีห์ออกจากที่อาศัยแล้วบิดกาย
ชำเลืองดูรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ บรรลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วก็หลีกไปหากิน พญา-
ราชสีห์นั้น ถ้าแม้จะจับช้าง ก็จับได้แม่นยำ ไม่พลาด แม้จะจับกระบือ ก็จับได้
แม่นยำ ไม่พลาด แม้จะจับโค ก็จับได้แม่นยำ ไม่พลาด แม้จะจับเสือเหลือง ก็จับได้
แม่นยำ ไม่พลาด แม้จะจับพวกสัตว์เล็กๆ โดยที่สุดแม้กระต่ายและแมว ก็จับได้
แม่นยำ ไม่พลาดทีเดียว ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะพญาราชสีห์นั้นคิดว่า “ช่องทาง
หากินของเราอย่าเสียไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๙. สีหสูตร
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า สีหะ นี้เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
อาการที่ตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัท เป็นสีหนาท๑ของตถาคตแท้ คือ ตถาคต
๑. แม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ๒ ไม่แสดง
โดยไม่เคารพ
๒. แม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดง
โดยไม่เคารพ
๓. แม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดง
โดยไม่เคารพ
๔. แม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดง
โดยไม่เคารพ
๕. แม้จะแสดงธรรมแก่ปุถุชนทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดย
ไม่เคารพ โดยที่สุดแม้จะแสดงแก่คนขอทานและพรานนก๓ ก็แสดง
โดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้หนักในธรรม เคารพธรรม
สีหสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สีหนาท หมายถึงคำพูดที่ตรัสด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรงมั่นพระทัย
ในศีล สมาธิ และปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา ๔๐๓/๔๓๒)
๒ คำว่า โดยเคารพ แปลจากคำว่า “สกฺกจฺจํ” ในที่นี้หมายถึงความตั้งใจจริง เอาจริงเอาจังถือเป็นเรื่องสำคัญ
ดุจในประโยคว่า “วจฺฉกํ สกฺกจฺจํ อุปนิชฺฌายติ” แปลว่า “จ้องดูลูกวัวอย่างสนใจจริงจัง” (วิ.ม. ๕/๒๕๕/๑๙)
และเทียบ ที.ปา.อ. ๒๖๗/๑๔๗, องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๕๔/๕๙
๓ ตามนัย องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๙๙/๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๑๐. กกุธเถรสูตร
๑๐. กกุธเถรสูตร
ว่าด้วยกกุธเทพบุตรกับพระมหาโมคคัลลานะ
[๑๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
สมัยนั้นแล บุตรเจ้าโกลิยะนามว่ากกุธะเป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหาโมคคัลลานะ
สิ้นชีพิตักษัยได้ไม่นาน เข้าถึงชั้นกายมโนมัย๑ชั้นใดชั้นหนึ่ง เป็นผู้ได้อัตภาพใหญ่
เหมือนคามเขตในแคว้นมคธสองสามหมู่ เพราะการได้อัตภาพนั้น เขาจึงไม่ทำตนให้
เดือดร้อน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
ครั้งนั้น กกุธเทพบุตรได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเทวทัต
เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เราจักปกครองภิกษุสงฆ์ และพระเทวทัตได้เสื่อมจาก
ฤทธิ์นั้นพร้อมกับจิตตุปบาท’ กกุธเทพบุตรครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้ไหว้ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น นั่นเอง
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุตรของเจ้าโกลิยะนามว่ากกุธะเป็นอุปัฏฐากของ
ข้าพระองค์ สิ้นชีพิตักษัยได้ไม่นาน เข้าถึงชั้นกายมโนมัยชั้นใดชั้นหนึ่ง เป็นผู้
ได้อัตภาพใหญ่เหมือนคามเขตในแคว้นมคธสองสามหมู่ เพราะการได้อัตภาพนั้น
เขาจึงไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ต่อมากกุธเทพบุตรได้เข้าไป
หาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับข้าพระองค์
ดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเทวทัตเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักปกครอง


เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๔๔ (มนาปทายีสูตร) หน้า ๗๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๑๐. กกุธเถรสูตร
ภิกษุสงฆ์ และพระเทวทัตได้เสื่อมจากฤทธิ์นั้นพร้อมกับจิตตุปบาท’ กกุธเทพบุตร
ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้ไหว้ข้าพระองค์ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โมคคัลลานะ เธอกำหนดรู้กกุธเพพบุตรด้วย
ใจดีแล้วหรือว่า ‘กกุธเทพบุตรกล่าวสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมเป็นอย่างนั้น
ทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
กำหนดรู้กกุธเทพบุตรด้วยใจดีแล้วว่า ‘กกุธเทพบุตรกล่าวสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้น
ทั้งหมดย่อมเป็นอย่างนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โมคคัลลานะ เธอจงรักษาวาจานั้น โมคคัลลานะ
เธอจงรักษาวาจานั้น บัดนี้ โมฆบุรุษ๑นั้นจักทำตนให้ปรากฏด้วยตนเอง โมคคัลลานะ
ศาสดา ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
ศาสดา ๕ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. ศาสดาบางท่านในโลกนี้เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์แต่ปฏิญญาว่า “เรา
เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง”
พวกสาวกรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดาท่านนี้เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์
แต่ปฏิญญาว่า ‘เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว
ไม่เศร้าหมอง’ แต่ถ้าพวกเราจักบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่
พอใจของท่าน พวกเราจะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร
อนึ่ง มหาชนก็ยกย่องท่านด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารด้วยคิดว่า ‘ศาสดาท่านนี้จักทำกรรมใด
เขาเองก็จักปรากฏด้วยกรรมนั้น” พวกสาวกรักษาศาสดาเช่นนี้
โดยศีล และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยศีล

เชิงอรรถ :
๑ โมฆบุรุษ (บุรุษเปล่า) เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ (ตุจฺฉปุริโส) (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๑๐๐/๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๑๐. กกุธเถรสูตร
๒. ศาสดาบางท่านในโลกนี้เป็นผู้มีอาชีพไม่บริสุทธิ์แต่ปฏิญญาว่า
“เราเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ อาชีพของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้า
หมอง” พวกสาวกรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดาท่านนี้มีอาชีพไม่
บริสุทธิ์แต่ปฏิญญาว่า ‘เราเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ อาชีพของเรา
บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง’ แต่ถ้าพวกเราพึงบอกแก่พวก
คฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่พอใจของท่าน พวกเราจะกล่าวถ้อยคำที่ท่าน
ไม่พอใจได้อย่างไร อนึ่ง มหาชนก็ยกย่องท่านด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารด้วยคิดว่า ‘ศาสดาท่านนี้
จักทำกรรมใด เขาเองก็จักปรากฏด้วยกรรมนั้น” พวกสาวกรักษา
ศาสดาเช่นนี้โดยอาชีพ และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวก
สาวกโดยอาชีพ
๓. ศาสดาบางท่านในโลกนี้เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญญา
ว่า “เราเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์
ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดา
ท่านนี้เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์แต่ปฏิญญาว่า ‘เราเป็นผู้มี
ธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้า
หมอง’ แต่ถ้าพวกเราพึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่พอใจ
ของท่าน พวกเราจะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร อนึ่ง
มหาชนก็ยกย่องท่านด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชชบริขารด้วยคิดว่า ‘ศาสดาท่านนี้จักทำกรรมใด เขาเอง
ก็จักปรากฏด้วยกรรมนั้น” พวกสาวกรักษาศาสดาเช่นนี้โดยธรรม
เทศนา และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยธรรม-
เทศนา
๔. ศาสดาบางท่านในโลกนี้เป็นผู้มีเวยยากรณะไม่บริสุทธิ์แต่ปฏิญญา
ว่า “เราเป็นผู้มีเวยยากรณะบริสุทธิ์ เวยยากรณะของเราบริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค ๑๐. กกุธเถรสูตร
ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดา
ท่านนี้เป็นผู้มีเวยยากรณะไม่บริสุทธิ์แต่ปฏิญณาว่า ‘เราเป็นผู้มี
เวยยากรณะบริสุทธิ์ เวยยากรณะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้า
หมอง’ แต่ถ้าพวกเราพึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็นที่พอใจ
ของท่าน พวกเราจะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร อนึ่ง
มหาชนก็ยกย่องท่านด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย
เภสัชชบริขารด้วยคิดว่า ‘ศาสดาท่านนี้จักทำกรรมใด เขาเองก็จัก
ปรากฏด้วยกรรมนั้น” พวกสาวกรักษาศาสดาเช่นนี้โดยเวยยากรณะ
และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยเวยยากรณะ
๕. ศาสดาบางท่านในโลกนี้เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์แต่ปฏิญญา
ว่า “เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์
ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า “ศาสดา
ท่านนี้เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์แต่ปฏิญญาว่า ‘เราเป็นผู้
มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว
ไม่เศร้าหมอง’ แต่ถ้าพวกเราพึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ก็จะไม่เป็น
ที่พอใจของท่าน พวกเราจะกล่าวถ้อยคำที่ท่านไม่พอใจได้อย่างไร
อนึ่ง มหาชนก็ยกย่องท่านด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารด้วยคิดว่า ‘ศาสดาท่านนี้จักทำกรรมใด
เขาเองก็จักปรากฏด้วยกรรมนั้น” พวกสาวกรักษาศาสดาเช่นนี้โดย
ญาณทัสสนะ และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดย
ญาณทัสสนะ
โมคคัลลานะ ศาสดา ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
โมคคัลลานะ เรามีศีลบริสุทธิ์จึงปฏิญญาว่า“เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเรา
บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกไม่รักษาเราโดยศีล และเราก็ไม่หวังการ
รักษาจากพวกสาวกโดยศีล เรามีอาชีพบริสุทธิ์จึงปฏิญญาว่า “เราเป็นผู้มีอาชีพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. กกุธวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
บริสุทธิ์ อาชีพของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกไม่รักษาเราโดย
อาชีพ และเราก็ไม่หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยอาชีพ เรามีธรรมเทศนาบริสุทธิ์
จึงปฏิญญาว่า “เราเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์
ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวกสาวกไม่รักษาเราโดยธรรมเทศนา และเราก็ไม่หวัง
การรักษาจากพวกสาวกโดยธรรมเทศนา เรามีเวยยากรณะบริสุทธิ์จึงปฏิญญาว่า
“เราเป็นผู้มีเวยยากรณะบริสุทธิ์ เวยยากรณะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้า
หมอง” พวกสาวกไม่รักษาเราโดยเวยยากรณะ และเราก็ไม่หวังการรักษาจากพวก
สาวกโดยเวยยากรณะ เรามีญาณทัสสนะบริสุทธิ์จึงปฏิญาณว่า “เราเป็นผู้มีญาณ-
ทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง” พวก
สาวกไม่รักษาเราโดยญาณทัสสนะ และเราก็ไม่หวังการรักษาจากพวกสาวกโดย
ญาณทัสสนะ
กกุธเถรสูตรที่ ๑๐ จบ
กกุธวรรคที่ ๕ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมสัมปทาสูตร ๒. ทุติยสัมปทาสูตร
๓. พยากรณสูตร ๔. ผาสุวิหารสูตร
๕. อกุปปสูตร ๖. สุตธรสูตร
๗. กถาสูตร ๘. อารัญญกสูตร
๙. สีหสูตร ๑๐. กกุธเถรสูตร

ทุติยปัณณาสก์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๑. สารัชชสูตร
๓. ตติยปัณณาสก์
๑. ผาสุวิหารวรรค
หมวดว่าด้วยผาสุวิหารธรรม
๑. สารัชชสูตร
ว่าด้วยความแกล้วกล้าและความครั่นคร้าม๑
[๑๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องทำความแกล้วกล้า
สำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ ๕ ประการนี้
ธรรมเครื่องทำความแกล้วกล้าสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา
๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นพหูสูต
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีปัญญา
ผู้ไม่มีศรัทธามีความครั่นคร้ามใด แต่ผู้มีศรัทธาหามีความครั่นคร้ามนั้นไม่ ฉะนั้น
ธรรมนี้จึงชื่อว่าเครื่องทำความแกล้วกล้าสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ
ผู้ทุศีลมีความครั่นคร้ามใด แต่ผู้มีศีลหามีความครั่นคร้ามนั้นไม่ ฉะนั้น ธรรมนี้
จึงชื่อว่าเครื่องทำความแกล้วกล้าสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ

เชิงอรรถ :
๑ ความครั่นคร้าม ในที่นี้หมายถึงโทมนัส(ความทุกข์ใจ) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๐๑/๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๒. อุสสังกิตสูตร
ผู้มีสุตะน้อยมีความครั่นคร้ามใด แต่ผู้เป็นพหูสูตหามีความครั่นคร้ามนั้นไม่ ฉะนั้น
ธรรมนี้จึงชื่อว่าเครื่องทำความแกล้วกล้าสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ
ผู้เกียจคร้านมีความครั่นคร้ามใด แต่ผู้ปรารภความเพียรหามีความครั่นคร้าม
นั้นไม่ ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเครื่องทำความแกล้วกล้าสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ
ผู้มีปัญญาทรามมีความครั่นคร้ามใด แต่ผู้มีปัญญาหามีความครั่นคร้ามนั้นไม่
ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเครื่องทำความแกล้วกล้าสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องทำความแกล้วกล้าสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ ๕ ประการ
นี้แล
สารัชชสูตรที่ ๑ จบ
๒. อุสสังกิตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ทำให้น่ารังเกียจ
[๑๐๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่
รังเกียจสงสัยว่า ‘เป็นภิกษุชั่ว’ แม้จะเป็นผู้มีอกุปปธรรม๑ก็ตาม
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีหญิงแพศยา๒เป็นโคจร๓
๒. เป็นผู้มีหญิงหม้ายเป็นโคจร

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีอกุปปธรรม ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๐๒/๔๖)
๒ หญิงแพศยา หมายถึงหญิงที่เลี้ยงชีพด้วยอาศัยเรือนร่างของตน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๐๒/๔๖)
๓ โคจร ในที่นี้หมายถึงการไปมาหาสู่บ่อย ๆ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๐๓/๔๖) อีกนัยหยึ่ง หมายถึงสถานที่
สำหรับเข้าไปเพื่อบิณฑบาต หรือเข้าไปเพื่อสร้างความคุ้นเคยฉันมิตร หญิงเหล่านี้ ภิกษุไม่ควรเข้าไปหา
เพื่อสร้างความคุ้นเคยฉันมิตร เพราะจะเป็นเหตุก่ออันตรายแก่สมณภาวะและก่อคำติเตียนแก่ภิกษุผู้บริสุทธิ์ได้
(องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๐๑-๑๐๔/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๓. มหาโจรสูตร
๓. เป็นผู้มีสาวเทื้อ๑เป็นโคจร
๔. เป็นผู้มีบัณเฑาะก์๒เป็นโคจร
๕. เป็นผู้มีภิกษุณีเป็นโคจร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รังเกียจ
สงสัยว่า ‘เป็นภิกษุชั่ว’ แม้จะเป็นผู้มีอกุปปธรรมก็ตาม
อุสสังกิตสูตรที่ ๒ จบ
๓. มหาโจรสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของมหาโจร๓
[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมงัดแงะบ้าง
ทำการปล้นบ้าง ล้อมปล้นเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในทางเปลี่ยวบ้าง
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
มหาโจรในโลกนี้
๑. อาศัยที่ขรุขระ ๒. อาศัยป่ารก
๓. อาศัยผู้มีอิทธิพล ๔. แจกจ่ายโภคทรัพย์
๕. เที่ยวไปคนเดียว
มหาโจรอาศัยที่ขรุขระ เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้อาศัยเกาะแก่งแห่งแม่น้ำ หรือที่ขรุขระแห่งภูเขา มหาโจร
อาศัยที่ขรุขระเป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ สาวเทื้อ หมายถึงสาวแก่ (มหลฺลิกกุมารี) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๐๒/๔๖)
๒ บัณเฑาะก์ หมายถึงขันที ชายที่ถูกตอน พจนานุกรมบาลีสันกฤต แปลว่า กระเทย มี ๓ จำพวก คือ
บัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์ บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๕๖/๔๓
๓ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๕๑/๒๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๓. มหาโจรสูตร
มหาโจรอาศัยป่ารก เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้อาศัยป่ารกด้วยหญ้าบ้าง ป่ารกด้วยต้นไม้บ้าง ป่าที่มี
แนวป้องกันบ้าง แนวป่าใหญ่บ้าง มหาโจรอาศัยป่ารก เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรอาศัยผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้อาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา เขาคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา
เหล่านี้ ก็จักว่าคดีความช่วยปกป้องเรา’ ถ้าใครกล่าวหาอะไรมหาโจรนั้น พระราชา
หรือมหาอำมาตย์ของพระราชานั้น ต่างก็ว่าคดีความช่วยปกป้องเขา มหาโจรอาศัย
ผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรแจกจ่ายโภคทรัพย์ เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก เขาคิดอย่างนี้ว่า
‘ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา เราก็จักจ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่องนั้น’ ถ้าใคร
กล่าวหาอะไรมหาโจรนั้น เขาก็จ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่องนั้น มหาโจรแจกจ่าย
โภคทรัพย์ เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรเที่ยวไปคนเดียว เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้เป็นผู้ทำโจรกรรมคนเดียว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขา
ย่อมปรารถนาว่า ‘เรื่องลับของเราอย่าได้แพร่งพรายออกไปภายนอก’ มหาโจรเที่ยว
ไปคนเดียว เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล ย่อมงัดแงะบ้าง ทำการปล้นบ้าง
ล้อมปล้นเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในทางเปลี่ยวบ้าง ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพ๑
สิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ ประสพ (ปสวติ) ในที่นี้หมายถึงได้ผลสะท้อนหรือผลย้อนกลับ(ปฏิลภติ) (องฺ.ติก.อ. ๒/๔๑/๑๔๘, องฺ.จตุกฺก.
อ. ๒/๔/๒๘๑ )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๓. มหาโจรสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้
๑. อาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา ๒. อาศัยที่เร้นลับ
๓. อาศัยผู้มีอิทธิพล ๔. แจกจ่ายโภคทรัพย์
๕. เที่ยวไปรูปเดียว
ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้ประกอบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ไม่ตรงไป
ตรงมา ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่เร้นลับ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ๑ ภิกษุ
ชั่วอาศัยกรรมที่เร้นลับ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชั่วอาศัยผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้อาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา
ภิกษุนั้นคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของ
พระราชาเหล่านี้ ก็จักว่าคดีความช่วยปกป้องเรา’ ถ้าใครว่ากล่าวอะไรภิกษุนั้น
พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชานั้น ต่างก็ว่าคดีความช่วยปกป้องเธอ ภิกษุ
ชั่วอาศัยผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ อันตคาหิกทิฏฐิ หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี ๑๐ ประการ คือ เห็นว่า (๑) โลก
เที่ยง (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน (๖) ชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน (๗) หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก (๘) หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก
(๙) หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี (๑๐) หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่
ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ (องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๓/๒๑๗, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๗๒/๖๒๑, องฺ.ติก.อ. ๒/๕๑/๑๕๖)
ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรือ อาตมัน (Soul) (ตามนัย อภิ.ปญฺจ.อ. ๑/๑/๑๒๙)
ตถาคต ในที่นี้ เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใชักันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึง
พระพุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่าหมายถึงสัตว์ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๔. สมณสุขุมาลสูตร
ภิกษุชั่วแจกจ่ายโภคทรัพย์ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชชบริขาร เธอคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา เราจักแจกจ่ายลาภ
กลบเกลื่อนเรื่องนั้น’ ถ้าใครกล่าวหาอะไรเธอ เธอก็แจกจ่ายลาภกลบเกลื่อนเรื่องนั้น
ภิกษุชั่วแจกจ่ายโภคทรัพย์ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชั่วเที่ยวไปรูปเดียว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้อยู่ที่ชนบทชายแดนรูปเดียว เธอเข้าไปสู่ตระกูลใน
ชนบทนั้นย่อมได้ลาภ ภิกษุชั่วเที่ยวไปรูปเดียวเป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมบริหารตน
ให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญ
เป็นอันมาก
มหาโจรสูตรที่ ๓ จบ
๔. สมณสุขุมาลสูตร
ว่าด้วยธรรมของสมณะผู้ละเอียดอ่อน
[๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ชื่อว่าเป็นสมณะ
ผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยจีวรมาก เมื่อเขาไม่
ขอร้องจึงใช้สอยน้อย เมื่อเขาขอร้องจึงฉันบิณฑบาตมาก เมื่อเขา
ไม่ขอร้องจึงฉันน้อย เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยเสนาสนะมาก เมื่อ
เขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยคิลานปัจจัย
เภสัชชบริขารมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๔. สมณสุขุมาลสูตร
๒. เธออยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจารีเหล่าใด เพื่อนพรหมจารีเหล่านั้น ก็
ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรมเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจ
เป็นส่วนน้อย ประพฤติต่อเธอด้วยวจีกรรมเป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก
ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย ประพฤติต่อเธอด้วยมโนกรรมเป็นที่พอใจ
เป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย นำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็น
ส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย
๓. เวทนาที่เกิดจากดี เวทนาที่เกิดจากเสมหะ เวทนาที่เกิดจากลม
เวทนาที่เกิดจากไข้สันนิบาต เวทนาที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล
เวทนาที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน เวทนาที่
เกิดจากการพากเพียรเกินกำลัง เวทนาที่เกิดจากผลกรรม ส่วน
มากไม่เกิดแก่เธอ เธอจึงมีความเจ็บไข้น้อย
๔. เธอเป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง๑ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขใน
ปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๕. เธอทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นสมณะผู้
ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ
บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงผู้ใดว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนใน
หมู่สมณะ’ บุคคลนั้นคือเรานั่นเอง ที่บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวว่า ‘เป็น
สมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ เพราะเราเมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยจีวรมาก เมื่อ
เขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย เมื่อเขาขอร้องจึงฉันบิณฑบาตมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึง
ฉันน้อย เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยเสนาสนะมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย เมื่อ
เขาขอร้องจึงใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารมาก เมื่อเขาไม่ของร้องจึงใช้สอยน้อย

เชิงอรรถ :
๑ อันมีในจิตยิ่ง (อภิเจตสิก) ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๖๖/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๕. ผาสุวิหารสูตร
และเราอยู่ร่วมกับภิกษุเหล่าใด ภิกษุเหล่านั้นประพฤติต่อเราด้วยกายกรรม
เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย ประพฤติต่อเราด้วยวจีกรรม เป็น
ที่พอใจเป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย ประพฤติต่อเราด้วยมโนกรรมเป็นที่พอใจ
เป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย นำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจ
เป็นส่วนน้อย และเวทนาที่เกิดจากดี เวทนาที่เกิดจากเสมหะ เวทนาที่เกิดจากลม
เวทนาที่เกิดจากไข้สันนิบาต เวทนาที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล เวทนาที่เกิดจาก
การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน เวทนาที่เกิดจากการพากเพียรเกินกำลัง และ
เวทนาที่เกิดจากผลกรรม ส่วนมากไม่เกิดแก่เรา เราจึงมีความเจ็บไข้น้อย เราเป็น
ผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงผู้ใดว่า ‘เป็นสมณะผู้
ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ บุคคลนั้นคือเรานั่นเอง ที่บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง
พึงกล่าวว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’
สมณสุขุมาลสูตรที่ ๔ จบ
๕. ผาสุวิหารสูตร
ว่าด้วยผาสุวิหารธรรม๑
[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ผาสุวิหารธรรม ๕ ประการนี้
ผาสุวิหารธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ตั้งมั่นกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๒. ตั้งมั่นวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๙๔ (ผาสุวิหารสูตร) หน้า ๑๖๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๖. อานันทสูตร
๓. ตั้งมั่นมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๔. มีศีล๑ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๕. มีอริยทิฏฐิ๒ อันเป็นธรรมเครื่องนำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
แก่ผู้ทำตามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง
ภิกษุทั้งหลาย ผาสุวิหารธรรม ๕ ประการนี้แล
ผาสุวิหารสูตรที่ ๕ จบ
๖. อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์
[๑๐๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุง
โกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
๑. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์พึงอยู่ผาสุกด้วยเหตุเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุ ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
และไม่ติเตียนผู้อื่นเพราะอธิศีล แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์ก็พึงอยู่ผาสุกได้”
๒. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เหตุอื่นที่ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์พึงอยู่ผาสุกก็มี
อยู่หรือ”
“มี อานนท์ ภิกษุ ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ไม่ติเตียนผู้อื่นเพราะอธิศีล
และเป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ใส่ใจผู้อื่น แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์ก็พึงอยู่
ผาสุกได้”

เชิงอรรถ :
๑ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๐๕/๔๗)
๒ อริยทิฏฐิ ในที่หมายถึงวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๐๕/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๖. อานันทสูตร
๓. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เหตุอื่นที่ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์พึงอยู่ผาสุกก็มี
อยู่หรือ”
“มี อานนท์ ภิกษุ ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ไม่ติเตียนผู้อื่นเพราะอธิศีล
เป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ใส่ใจผู้อื่น และเป็นผู้ไม่มีชื่อเสียง ไม่สะดุ้งเพราะความไม่มี
ชื่อเสียงนั้น แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์ก็พึงอยู่ผาสุกได้”
๔. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เหตุอื่นที่ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์พึงอยู่ผาสุกก็มี
อยู่หรือ”
“มี อานนท์ ภิกษุ ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ไม่ติเตียนผู้อื่นเพราะอธิศีล
เป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ใส่ใจผู้อื่น แม้เป็นผู้ไม่มีชื่อเสียงก็ไม่สะดุ้งเพราะความไม่มี
ชื่อเสียงนั้น และเป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ภิกษุผู้อยู่
ในสงฆ์ก็พึงอยู่ผาสุกได้”
๕. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้เหตุอื่นที่ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์พึงอยู่ผาสุก ก็มี
อยู่หรือ”
“มี อานนท์ ภิกษุ ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ไม่ติเตียนผู้อื่นเพราะอธิศีล
เป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ใส่ใจผู้อื่น แม้เป็นผู้ไม่มีชื่อเสียงก็ไม่สะดุ้งเพราะความไม่มี
ชื่อเสียงนั้น เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก และทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์ก็พึงอยู่ผาสุกได้’
อานนท์ เรากล่าวว่า ‘ผาสุวิหารธรรมอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่าผาสุวิหารธรรมนี้
ย่อมไม่มี”
อานันทสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๘. อเสขสูตร
๗. สีลสูตร
ว่าด้วยศีลที่เป็นองค์ประกอบของภิกษุ
[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้
ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำ
อัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ
๓. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา
๔. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ
๕. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควร
แก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
สีลสูตรที่ ๗ จบ
๘. อเสขสูตร
ว่าด้วยธรรมของพระอเสขะ
[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้
ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๙. จาตุททิสสูตร
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ
๔. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ
๕. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อเสขสูตรที่ ๘ จบ
๙. จาตุททิสสูตร
ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้เที่ยวไปในทิศทั้งสี่๑
[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้เที่ยวไป
ในทิศทั้งสี่
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่
ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงาม
ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ ครบถ้วน แล้วทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดี
ด้วยทิฏฐิ
๓. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชชบริขารตามแต่จะได้

เชิงอรรถ :
๑ ผู้เที่ยวไปในทิศทั้งสี่ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๐๙-๑๑๐/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค ๑๐. อรัญญสูตร
๔. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๕. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้เที่ยวไปใน
ทิศทั้งสี่
จาตุททิสสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. อรัญญสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้ควรอยู่ในป่า
[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้ควรอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่าโปร่ง และป่าทึบ๑
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. เป็นผู้ปรารภความเพียร มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง
ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ควรอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพ (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๑๐๙-๑๑๐/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. ผาสุวิหารวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๔. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๕. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่าโปร่ง และป่าทึบ
อรัญญสูตรที่ ๑๐ จบ
ผาสุวิหารวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สารัชชสูตร ๒. อุสสังกิตสูตร
๓. มหาโจรสูตร ๔. สมณสุขุมาลสูตร
๕. ผาสุวิหารสูตร ๖. อานันทสูตร
๗. สีลสูตร ๘. อเสขสูตร
๙. จาตุททิสสูตร ๑๐. อรัญญสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๑. กุลูปกสูตร
๒. อันธกวินทวรรค
หมวดว่าด้วยหมู่บ้านอันธกวินทะ
๑. กุลูปกสูตร
ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล
[๑๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูลประกอบ
ด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็น
ที่ยกย่องในตระกูลทั้งหลาย
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทำความคุ้นเคยกับผู้ไม่คุ้นเคย ๒. สั่งการทั้งที่ตนไม่ได้เป็นใหญ่
๓. คบหาตระกูลที่แตกแยกกัน ๔. พูดกระซิบที่หู
๕. ขอมากเกินไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อม
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องในตระกูลทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม
เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องในตระกูลทั้งหลาย
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ทำความคุ้นเคยกับผู้ไม่คุ้นเคย ๒. ไม่สั่งการทั้งที่ตนไม่ได้เป็นใหญ่
๓. ไม่คบตระกูลที่แตกแยกกัน ๔. ไม่พูดกระซิบที่หู
๕. ไม่ขอมากเกินไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูลประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อม
เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องในตระกูลทั้งหลาย
กุลูปกสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๒. ปัจฉาสมณสูตร
๒. ปัจฉาสมณสูตร
ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะ๑
[๑๑๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ไม่ควรพาไป
เป็นปัจฉาสมณะ
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เดินห่างนัก หรือใกล้นัก
๒. ไม่รับบาตรหรือของในบาตร๒
๓. เมื่อพระอุปัชฌาย์พูดใกล้อาบัติก็ไม่ห้าม๓
๔. เมื่อพระอุปัชฌาย์กำลังพูดอยู่ก็พูดแทรกขึ้น
๕. มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นคนเซอะ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ไม่ควรพาไปเป็น
ปัจฉาสมณะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จึงควรพาไปเป็น
ปัจฉาสมณะ

เชิงอรรถ :
๑ ปัจฉาสมณะ หมายถึงพระผู้ติดตาม เช่น พระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะของพระพุทธเจ้า ดู วิ.มหา. (แปล)
๒/๒๒๖/๓๙๓
๒ หมายถึงเมื่ออุปัชฌาย์บิณฑบาตกลับมา ก็ไม่ให้บาตรเปล่าของตนแล้วรับบาตรของท่าน หรือไม่รับสิ่งของ
ที่ท่านให้จากบาตรนั้น (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๑๒/๔๘)
๓ หมายถึงไม่รู้ว่า คำพูดนี้ทำให้ต้องอาบัติ หรือแม้รู้ก็ไม่ห้ามว่า ไม่ควรพูดอย่างนี้ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/
๑๑๒/๔๘)
๔ เป็นคนเซอะ แปลจากบาลีว่า ‘เอฬมูโค’ อรรถกถาอธิบายว่า ‘ปคฺฆริตเขฬมูโค’ แปลว่าเป็นใบ้มีน้ำลายไหล
(องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๑๒/๔๘) แต่ในฎีกาอภิธานัปปทีปิกา อธิบายว่า หมายถึงผู้ไม่ฉลาดพูดและไม่ฉลาดฟัง
(วตฺตุํ โสตุญฺจ อกุสโล, วจเน สวเน จ อกุสโล) และแยกอธิบายอีกว่า เอโฬ หมายถึง พธิโร (คนหูหนวก)
มูโค หมายถึง อวจโน (พูดไม่ได้) หรือหมายถึงคนโอ้อวด (สเ�ปิ เอฬมูโค) (อภิธา.ฏีกา คาถา ๗๓๔)
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉบับ “PALI TEXT SOCIETY” ให้ความหมายว่า idiot (โง่, บ้า,
จิตทราม) หรือ lack-wit (ขาดสติ) (The Book of the Gradual Sayings, VOL.III, PP. 106,132)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๓. สัมมาสมาธิสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เดินไม่ห่างนัก ไม่ใกล้นัก
๒. รับบาตรหรือของในบาตร
๓. เมื่อพระอุปัชฌาย์พูดใกล้อาบัติก็ห้ามเสีย
๔. เมื่อพระอุปัชฌาย์กำลังพูดอยู่ก็ไม่พูดแทรกขึ้น
๕. มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล จึงควรพาไปเป็น
ปัจฉาสมณะ
ปัจฉาสมณสูตรที่ ๒ จบ
๓. สัมมาสมาธิสูตร
ว่าด้วยสัมมาสมาธิ
[๑๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้ไม่อาจ
บรรลุสัมมาสมาธิอยู่ได้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูป
๒. เป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียง
๓. เป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่น
๔. เป็นผู้ไม่อดทนต่อรส
๕. เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ เป็นผู้ไม่อาจบรรลุ
สัมมาสมาธิอยู่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๔. อันธกวินทสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้อาจบรรลุสัมมา-
สมาธิอยู่ได้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้อดทนต่อรูป
๒. เป็นผู้อดทนต่อเสียง
๓. เป็นผู้อดทนต่อกลิ่น
๔. เป็นผู้อดทนต่อรส
๕. เป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้อาจบรรลุ
สัมมาสมาธิอยู่ได้
สัมมาสมาธิสูตรที่ ๓ จบ
๔. อันธกวินทสูตร
ว่าด้วยหมู่บ้านอันธกวินทะ
[๑๑๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่หมู่บ้านอันธกวินทะ แคว้น
มคธ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อานนท์ เธอทั้งหลายพึงยังพวกภิกษุใหม่ บวชได้ไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยให้
สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการ
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่
ในปาติโมกขสังวรศีลว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่านทั้งหลาย
จงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๔. อันธกวินทสูตร
๒. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่
ในอินทรีย์สังวรศีลว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่านทั้งหลาย
จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย มีสติเป็นเครื่องรักษา๑
มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน๒ มีใจรักษาดีแล้ว ประกอบด้วยจิต
ที่มีสติเป็นเครื่องรักษาอยู่’
๓. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ใน
การพูดมีที่จบว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่านทั้งหลายจงเป็น
ผู้พูดน้อย พูดให้มีที่จบ’
๔. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่
ในความสงบกายว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่านทั้งหลาย
จงอยู่ป่าเป็นวัตร จงอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ’
๕. เธอทั้งหลายพึงยังภิกษุเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ใน
สัมมาทัสสนะ(ความเห็นชอบ)ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ขอท่าน
ทั้งหลายจงเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ๓ ประกอบด้วยสัมมาทัสสนะ’
อานนท์ เธอทั้งหลายพึงยังพวกภิกษุใหม่ บวชได้ไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัย
นี้ให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล
อันธกวินทสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สติเป็นเครื่องรักษา หมายถึงสติเป็นเครื่องรักษาทวาร (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๑๔/๔๘)
๒ สติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน ในที่นี้หมายถึงสติที่ประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องคุ้มครองทวาร (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๑๑๔/๔๘)
๓ สัมมาทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงมีสัมมาทิฏฐิ ๕ ประการ คือ (๑) กัมมัสสกตสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบว่าสัตว์มี
กรรมเป็นของตน) (๒) ฌานสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบในขั้นฌาน) (๓) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบในขั้น
วิปัสสนา) (๔) มัคคสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบในขั้นอริยมรรค) (๕) ผลสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบในขั้นอริยผล)
(องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๑๔/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๕. มัจฉรินีสูตร
๕. มัจฉรินีสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีผู้ตระหนี่
[๑๑๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรง
อยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตระหนี่ที่อยู่
๒. ตระหนี่ตระกูล
๓. ตระหนี่ลาภ
๔. ตระหนี่วรรณะ
๕. ตระหนี่ธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ตระหนี่ที่อยู่
๒. ไม่ตระหนี่ตระกูล
๓. ไม่ตระหนี่ลาภ
๔. ไม่ตระหนี่วรรณะ
๕. ไม่ตระหนี่ธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
มัจฉรินีสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๖. วัณณนาสูตร
๖. วัณณนาสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีผู้สรรเสริญ
[๑๑๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรง
อยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง สรรเสริญคนที่ควรติเตียน
๒. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
๓. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง แสดงความเลื่อมใสในฐานะไม่เป็นที่ตั้งแห่ง
ความเลื่อมใส
๔. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะเป็นที่ตั้งแห่ง
ความเลื่อมใส
๕. ทำศรัทธาไทยให้ตกไป๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว ติเตียนคนที่ควรติเตียน
๒. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว สรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ
๓. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะไม่เป็นที่ตั้ง
แห่งความเลื่อมใส

เชิงอรรถ :
๑ ทำศรัทธาไทยให้ตกไป หมายถึงการที่ภิกษุไม่ถือเอาส่วนเลิศจากบิณฑบาตที่คนเหล่าอื่นถวายด้วยศรัทธา
เสียก่อนแล้วจึงให้แก่คนอื่นในภายหลัง (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๑๖-๑๑๗/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๗. อิสสุกินีสูตร
๔. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว แสดงความเลื่อมใสในฐานะเป็นที่ตั้งแห่ง
ความเลื่อมใส
๕. ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
วัณณนาสูตรที่ ๖ จบ
๗. อิสสุกินีสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีผู้มีความริษยา
[๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรง
อยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง สรรเสริญคนที่ควรติเตียน
๒. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
๓. มีความริษยา
๔. มีความตระหนี่
๕. ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๘. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว ติเตียนคนที่ควรติเตียน
๒. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว สรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ
๓. ไม่มีความริษยา
๔. ไม่มีความตระหนี่
๕. ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
อิสสุกินีสูตรที่ ๗ จบ
๘. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีผู้มีความเห็นผิด
[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง สรรเสริญคนที่ควรติเตียน
๒. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
๓. มีความเห็นผิด
๔. มีความดำริผิด
๕. ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๙. มิจฉาวาจาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว ติเตียนคนที่ควรติเตียน
๒. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว สรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ
๓. มีความเห็นชอบ
๔. มีความดำริชอบ
๕. ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
มิจฉาทิฏฐิกสูตรที่ ๘ จบ
๙. มิจฉาวาจาสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีผู้มีการเจรจาผิด
[๑๑๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง สรรเสริญคนที่ควรติเตียน
๒. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
๓. มีการเจรจาผิด
๔. มีการกระทำผิด
๕. ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค ๑๐. มิจฉาวายามสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว ติเตียนคนที่ควรติเตียน
๒. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว สรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ
๓. มีการเจรจาชอบ
๔. มีการกระทำชอบ
๕. ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
มิจฉาวาจาสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. มิจฉาวายามสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีผู้มีความพยายามผิด
[๑๒๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรง
อยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง สรรเสริญคนที่ควรติเตียน
๒. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
๓. มีความพยายามผิด
๔. มีความระลึกผิด
๕. ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อันธกวินทวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว ติเตียนคนที่ควรติเตียน
๒. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว สรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ
๓. มีความพยายามชอบ
๔. มีความระลึกชอบ
๕. ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
มิจฉาวายามสูตรที่ ๑๐ จบ
อันธกวินทวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุลูปกสูตร ๒. ปัจฉาสมณสูตร
๓. สัมมาสมาธิสูตร ๔. อันธกวินทสูตร
๕. มัจฉรินีสูตร ๖. วัณณนาสูตร
๗. อิสสุกินีสูตร ๘. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
๙. มิจฉาวาจาสูตร ๑๐. มิจฉาวายามสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๑. คิลานสูตร
๑. คิลานวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมสำหรับภิกษุไข้
๑. คิลานสูตร
ว่าด้วยธรรมสำหรับภิกษุไข้
[๑๒๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา๑ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี๒ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เสด็จ
เข้าไปที่ศาลาบำรุงภิกษุไข้ ได้ทรงเห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้ทุพพลภาพ เป็นไข้ แล้วประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่ละภิกษุบางรูปผู้ทุพพลภาพ เป็นไข้
เธอพึงหวังได้ผลนี้คือ ‘ไม่นานนักจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มี
อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่
๒. กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร
๓. กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง

เชิงอรรถ :
๑ กูฏาคารศาลา (ศาลาเรือนยอด) หมายถึงพระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคที่พรั่งพร้อมด้วยศิลปะ ถูกสร้าง
หลังคาทรงกลมงามสง่าคล้ายหงส์ มีเรือนยอดกล่าวคือเรือนที่มีหลังคาทรงสูงอยู่ภายในอีกชั้นหนึ่ง (วิ.อ.
๑/๑๖๒/๔๓๐, องฺ.ติก.อ. ๒/๓๕/๑๓๑)
๒ ที่ชื่อว่า เวสาลี เพราะเป็นเมืองที่กว้างใหญ่ไพศาล มีการสร้างกำแพงรอบเมืองถึง ๓ ชั้น เมืองนี้เจริญ
รุ่งเรืองมากในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ (วิ.อ. ๑/๑๖๒/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๒. สติสุปัฏฐิตสูตร
๔. พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
๕. เข้าไปตั้งมรณสัญญา(กำหนดหมายความตาย)ไว้ในภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมไม่ละภิกษุบางรูปผู้ทุพพลภาพ เป็นไข้
เธอพึงหวังได้ผลนี้คือ ‘ไม่นานนักจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มี
อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
คิลานสูตรที่ ๑ จบ
๒. สติสุปัฏฐิตสูตร
ว่าด้วยผู้มีสติตั้งไว้ดี
[๑๒๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง เจริญ ทำให้มากซึ่ง
ธรรม ๕ ประการ เธอพึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน
๒. พิจารณาเห็นกายว่าเป็นของไม่งาม ด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
เห็นทั้งความเกิดและความดับแห่งธรรมทั้งหลาย
๓. กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร
๔. กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง
๕. พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง เจริญ ทำให้มากซึ่งธรรม ๕
ประการนี้ เธอพึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือ
เมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
สติสุปัฏฐิตสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๓. ปฐมอุปัฏฐากสูตร
๓. ปฐมอุปัฏฐากสูตร
ว่าด้วยภิกษุไข้ที่พยาบาลได้ยากและง่าย สูตรที่ ๑
[๑๒๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้
พยาบาลได้ยาก
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๓. ไม่ฉันยา
๔. ไม่บอกอาพาธที่มีอยู่ตามความเป็นจริงแก่ผู้พยาบาลที่ปรารถนา
ประโยชน์ เช่น ไม่บอกอาพาธที่กำเริบว่า ‘กำเริบ’ ไม่บอกอาพาธ
ที่ทุเลาว่า ‘ทุเลา’ ไม่บอกอาพาธที่ยังทรงอยู่ว่า ‘ทรงอยู่’
๕. ไม่อดกลั้นต่อเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์
กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้พยาบาลได้ยาก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๒. รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๓. ฉันยา
๔. บอกอาพาธที่มีอยู่ตามความเป็นจริงแก่ผู้พยาบาลที่ปรารถนา
ประโยชน์ เช่น บอกอาพาธที่กำเริบว่า ‘กำเริบ’ บอกอาพาธที่
ทุเลาว่า ‘ทุเลา’ บอกอาพาธที่ยังทรงอยู่ว่า ‘ทรงอยู่’
๕. เป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์
กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้พยาบาล
ได้ง่าย
ปฐมอุปัฏฐากสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๔. ทุติยอุปัฏฐากสูตร
๔. ทุติยอุปัฏฐากสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ควรและไม่ควรพยาบาลภิกษุไข้ สูตรที่ ๒
[๑๒๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ไม่ควรพยาบาลภิกษุไข้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่สามารถ๑จัดยา
๒. ไม่ทราบสิ่งที่เป็นสัปปายะและสิ่งที่ไม่เป็นสัปปายะ นำสิ่งที่ไม่เป็น
สัปปายะเข้ามา นำสิ่งที่เป็นสัปปายะออกไป
๓. เห็นแก่อามิส๒พยาบาล ไม่มีจิตเมตตาพยาบาล
๔. รังเกียจที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน หรือน้ำลายออกไปทิ้ง
๕. ไม่สามารถชี้แจงให้ภิกษุไข้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ตามกาลอันควร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
ไม่ควรพยาบาลภิกษุไข้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ควร
พยาบาลภิกษุไข้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สามารถจัดยา
๒. ทราบสิ่งที่เป็นสัปปายะ และสิ่งที่ไม่เป็นสัปปายะ นำสิ่งที่ไม่เป็น
สัปปายะออกไป นำสิ่งที่เป็นสัปปายะเข้ามา

เชิงอรรถ :
๑ ไม่สามารถ ในที่นี้หมายถึงไม่มีกำลังกายที่จะปรุงยา และไม่มีความรู้ที่จะจัดยา (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๒๔/๔๙)
๒ เห็นแก่อามิส หมายถึงหวังลาภสักการะมีจีวรเป็นต้น (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๒๔/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๕. ปฐมอนายุสสาสูตร
๓. มีจิตเมตตาพยาบาล ไม่เห็นแก่อามิสพยาบาล
๔. ไม่รังเกียจที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน หรือน้ำลายออกไปทิ้ง
๕. สามารถชี้แจงให้ภิกษุไข้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ตามกาลอันควร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
ควรพยาบาลภิกษุไข้
ทุติยอุปัฏฐากสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปฐมอนายุสสาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้อายุสั้นและอายุยืน สูตรที่ ๑
[๑๒๕] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุสั้น
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ ๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๔. เที่ยวในเวลาไม่สมควร
๕. ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุสั้น
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืน
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ ๒. รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย ๔. เที่ยวในเวลาที่สมควร
๕. ประพฤติพรหมจรรย์
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุยืน
ปฐมอนายุสสาสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๖. ทุติยอนายุสสาสูตร
๖. ทุติยอนายุสสาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้อายุสั้นและอายุยืน สูตรที่ ๒
[๑๒๖] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุสั้น
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก
๔. ทุศีล
๕. มีปาปมิตร(มิตรชั่ว)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุสั้น
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืน
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๒. รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะ
๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย
๔. มีศีล
๕. มีกัลยาณมิตร(มิตรดี)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุยืน
ทุติยอนายุสสาสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๗. วปกาสสูตร
๗. วปกาสสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ควรหลีกออกจากหมู่
[๑๒๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ไม่ควรหลีกออก
จากหมู่อยู่ผู้เดียว
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่สันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้
๒. ไม่สันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้
๓. ไม่สันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้
๔. ไม่สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้
๕. มากด้วยความดำริในกาม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบธรรม ๕ ประการนี้แล ไม่ควรหลีกออกจากหมู่
อยู่ผู้เดียว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ควรหลีกออกจากหมู่
อยู่ผู้เดียว
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้
๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้
๓. สันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้
๔. สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้
๕. มากด้วยความดำริในการออกจากกาม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบธรรม ๕ ประการนี้แล ควรหลีกออกจากหมู่
อยู่ผู้ดียว
วปกาสสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๘. สมณสุขสูตร
๘. สมณสุขสูตร
ว่าด้วยสุขของสมณะ
[๑๒๘] ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของสมณะ ๕ ประการ
ทุกข์ของสมณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่สันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้
๒. ไม่สันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้
๓. ไม่สันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้
๔. ไม่สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้
๕. ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของสมณะ ๕ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สุขของสมณะ ๕ ประการ
สุขของสมณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้
๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้
๓. สันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้
๔. สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้
๕. ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
ภิกษุทั้งหลาย สุขของสมณะ ๕ ประการนี้แล
สมณสุขสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค ๑๐. พยสนสูตร
๙. ปริกุปปสูตร
ว่าด้วยบุคคลที่ต้องเดือดร้อน
[๑๒๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้เป็นผู้ไปอบาย เป็นผู้ไปนรก เป็น
ผู้เดือดร้อน เป็นผู้แก้ไขไม่ได้
บุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ฆ่ามารดา
๒. บุคคลผู้ฆ่าบิดา
๓. บุคคลผู้ฆ่าพระอรหันต์
๔. บุคคลผู้มีจิตคิดประทุษร้ายทำพระโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น
๕. บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้แล เป็นผู้ไปอบาย เป็นผู้ไปนรก เป็นผู้
เดือดร้อน เป็นผู้แก้ไขไม่ได้
ปริกุปปสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. พยสนสูตร
ว่าด้วยความวิบัติ
[๑๓๐] ภิกษุทั้งหลาย วิบัติ ๕ ประการนี้
วิบัติ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. วิบัติแห่งญาติ
๒. วิบัติแห่งโภคะ
๓. วิบัติเพราะโรค
๔. วิบัติแห่งศีล
๕. วิบัติแห่งทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้ว จะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก เพราะความวิบัติแห่งญาติเป็นเหตุ เพราะความวิบัติแห่งโภคะเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. คิลานวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เพราะความวิบัติเพราะโรคเป็นเหตุ แต่สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความวิบัติแห่งศีลเป็นเหตุ หรือเพราะความวิบัติ
แห่งทิฏฐิเป็นเหตุ
ภิกษุทั้งหลาย วิบัติ ๕ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สมบัติ ๕ ประการนี้
สมบัติ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมบัติคือญาติ
๒. สมบัติคือโภคะ
๓. สมบัติคือความไม่มีโรค
๔. สมบัติคือศีล
๕. สมบัติคือทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้ว จะไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เพราะสมบัติคือญาติเป็นเหตุ เพราะสมบัติคือโภคะเป็นเหตุ เพราะสมบัติคือความไม่
มีโรคเป็นเหตุ แต่สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะ
สมบัติคือศีลเป็นเหตุ หรือเพราะสมบัติคือทิฏฐิเป็นเหตุ
ภิกษุทั้งหลาย สมบัติ ๕ ประการนี้แล
พยสนสูตรที่ ๑๐ จบ
คิลานวรรคที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. คิลานสูตร ๒. สติสุปัฏฐิตสูตร
๓. ปฐมอุปัฏฐากสูตร ๔. ทุติยอุปัฏฐากสูตร
๕. ปฐมอนายุสสาสูตร ๖. ทุติยอนายุสสาสูตร
๗. วปกาสสูตร ๘. สมณสุขสูตร
๙. ปริกุปปสูตร ๑๐. พยสนสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๑. ปฐมจักกานุวัตตนสูตร
๔. ราชวรรค
หมวดว่าด้วยพระราชา
๑. ปฐมจักกานุวัตตนสูตร
ว่าด้วยการให้จักรหมุนไป สูตรที่ ๑
[๑๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิประกอบ
ด้วยองค์ ๕ ประการ จึงทรงให้จักรหมุนไปโดยธรรม๑เท่านั้น จักรนั้นอันใคร ๆ ที่เป็น
มนุษย์ เป็นข้าศึก และเป็นสัตว์มีชีวิตให้หมุนกลับไม่ได้
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้
๑. เป็นผู้รู้ประโยชน์๒
๒. เป็นผู้รู้ธรรม๓
๓. เป็นผู้รู้ประมาณ๔
๔. เป็นผู้รู้กาล๕
๕. เป็นผู้รู้บริษัท๖

เชิงอรรถ :
๑ ทรงให้จักรหมุนไปโดยธรรม หมายถึงอาณาจักรที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงปกครองด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐
ประการ อันใคร ๆ จะให้หมุนกลับเป็นอื่นไปไม่ได้ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘, องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/๕๐)
๒ เป็นผู้รู้ประโยชน์ หมายถึงทรงครองราชย์ด้วยการทรงบำเพ็ญประโยชน์ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/๕๐,
องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๓๑/๕๓)
๓ เป็นผู้รู้ธรรม หมายถึงทรงรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/๕๐)
๔ เป็นผู้รู้ประมาณ หมายถึงทรงรู้จักประมาณในการลงอาชญาตามสมควรแก่ความผิด หรือในการทำพลีกรรม
(องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/๕๐, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๓๑/๕๓)
๕ เป็นผู้รู้กาล หมายถึงทรงรู้กาลที่จะเสวยความสุขในราชสมบัติ กาลเป็นที่วินิจฉัย และกาลที่เสด็จไปยัง
ชนบท (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/๕๐)
๖ เป็นผู้รู้บริษัท คือทรงรู้ว่า “นี้คือขัตติยบริษัท นี้คือพราหมณบริษัท นี้คือเวสสบริษัท นี้คือศุทรบริษัท
และนี้คือสมณบริษัท” (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๑. ปฐมจักกานุวัตตนสูตร
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล จึงทรงให้
จักรหมุนไปโดยธรรมเท่านั้น จักรนั้นอันใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ เป็นข้าศึก และเป็นสัตว์
มีชีวิตให้หมุนกลับไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยธรรม ๕
ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จึงทรงให้ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมหมุนไปโดยธรรม
เท่านั้น จักรนั้นอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุน
กลับไม่ได้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกนี้
๑. เป็นผู้รู้ประโยชน์๑
๒. เป็นผู้รู้ธรรม๒
๓. เป็นผู้รู้ประมาณ๓
๔. เป็นผู้รู้กาล๔
๕. เป็นผู้รู้บริษัท
ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยธรรม ๕
ประการนี้แล จึงทรงให้ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมหมุนไปโดยธรรมเท่านั้น จักรนั้นอัน
สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้
ปฐมจักกานุวัตตนสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้รู้ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงทรงรู้ประโยชน์ ๕ ประการ คือ (๑) ประโยชน์ตน (๒) ประโยชน์ผู้อื่น
(๓) ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น (๔) ประโยชน์ในภพนี้ (๕) ประโยชน์ในภพหน้า (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/
๕๑, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๓๑/๕๓)
๒ เป็นผู้รู้ธรรม ในที่นี้หมายถึงทรงรู้ธรรม คือ อริยสัจ ๔ หรือธรรม ๔ ประการ คือ กามาวจรธรรม
รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม และโลกุตตรธรรม (องฺ.ปญฺจ.อ. ๓/๑๓๑/๕๑, องฺ.ปญฺจ.ฏีกา ๓/๑๓๑/๕๓)
๓ เป็นผู้รู้ประมาณ ในที่นี้หมายถึงทรงรู้ประมาณในการรับปัจจัย ๔ การบริโภคปัจจัย ๔ การแสวงหาปัจจัย
๔ และการสละปัจจัย ๔ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/๕๑, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๓๑/๕๓)
๔ รู้กาล หมายถึงทรงรู้ว่า “นี้เป็นเวลาหลีกเร้น นี้เป็นเวลาเข้าสมาบัติ นี้เป็นเวเลาแสดงธรรม และนี้เป็น
เวลาเที่ยวจาริกในชนบท” (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๓๑/๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๒. ทุติยจักกานุวัตตนสูตร
๒. ทุติยจักกานุวัตตนสูตร
ว่าด้วยการให้จักรหมุนไป สูตรที่ ๒
[๑๓๒] ภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ประกอบ
ด้วยองค์ ๕ ประการ จึงทรงให้จักรที่พระราชบิดาให้หมุนไปแล้ว ให้หมุนไปโดย
ธรรมเท่านั้น จักรนั้นอันใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ เป็นข้าศึก และเป็นสัตว์มีชีวิตให้หมุน
กลับไม่ได้
องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้
๑. เป็นผู้รู้ประโยชน์
๒. เป็นผู้รู้ธรรม
๓. เป็นผู้รู้ประมาณ
๔. เป็นผู้รู้กาล
๕. เป็นผู้รู้บริษัท
ภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ประกอบด้วย
องค์ ๕ ประการนี้แล จึงทรงให้จักรที่พระราชบิดาให้หมุนไปแล้ว ให้หมุนไปโดยธรรม
เท่านั้น จักรนั้นอันใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ เป็นข้าศึก และเป็นสัตว์มีชีวิตให้หมุนกลับ
ไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จึงให้ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่ตถาคตให้หมุนไปแล้ว ให้หมุนไปโดยธรรมเท่านั้น
จักรนั้นอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
สารีบุตรในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้รู้ประโยชน์
๒. เป็นผู้รู้ธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๓. ธัมมราชาสูตร
๓. เป็นผู้รู้ประมาณ
๔. เป็นผู้รู้กาล
๕. เป็นผู้รู้บริษัท
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล จึงให้ธรรมจักร
อันยอดเยี่ยมที่ตถาคตให้หมุนไปแล้ว ให้หมุนไปโดยธรรมเท่านั้น จักรนั้นอันสมณะ
พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้
ทุติยจักกานุวัตตนสูตรที่ ๒ จบ
๓. ธัมมราชาสูตร
ว่าด้วยธรรมราชา
[๑๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา ย่อมไม่ทรงให้จักรที่มิใช่ของพระราชาหมุนไป”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไร เป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ธรรม๑ เป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิผู้
ทรงธรรม เป็นธรรมราชา” แล้วตรัสต่อไปว่า “พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็น
ธรรมราชาในโลกนี้ ทรงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อม
ธรรม เชิดชูธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกันและ
คุ้มครองชนภายใน๒โดยธรรม
อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ฯลฯ มีธรรม
เป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองพวกกษัตริย์ผู้ตามเสด็จ กำลังพล

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ จัดเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๗)
๒ ชนภายใน หมายถึงมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. ราชวรรค ๓. ธัมมราชาสูตร
พราหมณ์คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท สมณพราหมณ์ สัตว์จำพวกเนื้อและนก
โดยธรรม พระเจ้าจักรพรรดินั้นแลผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่
ครั้นทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองโดยธรรมแล้ว จึงให้จักรหมุนไปโดย
ธรรมเท่านั้น จักรนั้นอันใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ เป็นข้าศึก และเป็นสัตว์มีชีวิตให้หมุน
กลับไม่ได้
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา๑ ทรงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม
เชิดชูธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง
ภิกษุทั้งหลายโดยธรรมว่า
๑. กายกรรมเช่นนี้ควรประพฤติ กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรประพฤติ
๒. วจีกรรมเช่นนี้ควรประพฤติ วจีกรรมเช่นนี้ไม่ควรประพฤติ
๓. มโนกรรมเช่นนี้ควรประพฤติ มโนกรรมเช่นนี้ไม่ควรประพฤติ
๔. อาชีพเช่นนี้ควรประกอบ อาชีพเช่นนี้ไม่ควรประกอบ
๕. บ้านและนิคมเช่นนี้ควรอยู่อาศัย บ้านและนิคมเช่นนี้ไม่ควรอยู่อาศัย
อีกประการหนึ่ง ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงธรรม เป็นธรรม
ราชา ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองภิกษุณีทั้งหลาย
โดยธรรม ... อุบาสกทั้งหลาย ... อุบาสิกาทั้งหลายโดยธรรมว่า
๑. กายกรรมเช่นนี้ควรประพฤติ กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรประพฤติ
ฯลฯ
๕. บ้านและนิคมเช่นนี้ควรอยู่อาศัย บ้านและนิคมเช่นนี้ไม่ควรอยู่อาศัย

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมราชา เป็นพระนามของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึงพระผู้ทรงให้มหาชนยินดีด้วย
โลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑) (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๒๑๕ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น