Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๑๐ หน้า ๔๗๘ - ๕๓๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๓. สีวิราชชาดก (๔๙๙)
[๔๙] พระองค์ผู้มีพระหฤทัยเลื่อมใส
ทรงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
ทรงถวายและทรงเสวยตามความสามารถ จะไม่ถูกนินทา
ขอทรงเข้าถึงแดนสวรรค์เถิด
[๕๐] มหาบพิตร หากว่าความเมาพึงครอบงำพระองค์
ซึ่งมีหมู่นารีบำเรออยู่ ขอพระองค์ทรงมนสิการคาถานี้
และขอจงตรัสคาถานี้ในท่ามกลางบริษัท
[๕๑] สัตว์ผู้นอนอยู่กลางแจ้ง
มีหญิงจัณฑาลผู้เมื่อจะไปป่าให้ดื่มน้ำนม
แล้วคลุกคลีอยู่กับฝูงสุนัข
สัตว์นั้นวันนี้เขาเรียกกันว่า พระราชา
จิตตสัมภูตชาดกที่ ๒ จบ
๓. สีวิราชชาดก (๔๙๙)
ว่าด้วยพระเจ้าสีพี
(ท้าวสักกเทวราชทูลขอดวงพระเนตรกับพระราชาว่า)
[๕๒] ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนเฒ่า มองเห็นได้ไม่ไกล
มาเพื่อทูลขอพระจักษุ เราทั้ง ๒ จักมีนัยน์ตาคนละข้าง
ข้าพระพุทธเจ้าทูลขอแล้ว
ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระจักษุแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด
(พระโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้นทรงดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[๕๓] วณิพก ใครแนะนำเจ้าให้มาขอดวงตา ณ ที่นี้
เจ้าขอดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ ยากที่จะสละได้ง่าย ๆ
ที่บัณฑิตกล่าวไว้ว่า เป็นของที่คนสละได้ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๓. สีวิราชชาดก (๔๙๙)
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[๕๔] ท่านผู้ใด ในเทวโลกเขาเรียกกันว่า สุชัมบดี
ท่านผู้นั้น ในมนุษยโลกเขาเรียกกันว่า มัฆวาน
ข้าพระพุทธเจ้าเป็นวณิพก
ท่านผู้นั้นแนะนำให้มาขอพระราชทานดวงพระเนตรในที่นี้
[๕๕] เมื่อข้าพระพุทธเจ้าทูลวิงวอนขอพระราชทานอวัยวะอันสำคัญอยู่
ขอพระองค์ผู้ถูกขอโปรดพระราชทาน
ดวงพระเนตรแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด
ขอพระองค์โปรดพระราชทานดวงพระเนตรซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญ
ที่บัณฑิตกล่าวไว้ว่า คนสละได้ยาก แก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๖] เจ้ามาด้วยความประสงค์อันใด
ปรารถนาประโยชน์อันใดอยู่
ขอความดำริเหล่านั้นจงสำเร็จแก่เจ้า
พราหมณ์ เจ้าจงได้ดวงตาเถิด
[๕๗] เมื่อเจ้าขอข้างเดียว เราจะให้ทั้ง ๒ ข้าง
เมื่อประชาชนเพ่งดูอยู่ เจ้าจงเป็นผู้มีดวงตาไปเถิด
เจ้าปรารถนาสิ่งใด ขอสิ่งนั้นจงสำเร็จแก่เจ้า
(ข้าราชการมีเสนาบดีเป็นต้น ราชวัลลภ ชาวพระนคร และนางสนมกราบทูล
ทัดทานว่า)
[๕๘] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอพระองค์อย่าได้พระราชทานดวงพระเนตรเลย
อย่าทรงละทิ้งพวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเลย
ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์พระราชทานทรัพย์
แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์จำนวนมากไปเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๓. สีวิราชชาดก (๔๙๙)
[๕๙] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์จงพระราชทานราชรถ
ที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ซึ่งประดับตบแต่งแล้ว
ขอพระองค์จงพระราชทานพญาช้าง
และที่อยู่อาศัยที่ทำด้วยทองคำเถิด
[๖๐] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมทัพ
ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งของให้พราหมณ์
เหมือนกับชาวกรุงสีพีที่มียานพาหนะและรถ
พึงตามเสด็จแวดล้อมพระองค์ในกาลทุกเมื่อ
(ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัส ๓ คาถาว่า)
[๖๑] ผู้ใดพูดว่า เราจักให้แล้วกลับใจไม่ให้
ผู้นั้นชื่อว่าสวมบ่วงที่ตกไปบนพื้นดินไว้ที่คอ
[๖๒] ผู้ใดพูดว่า เราจักให้แล้วกลับใจไม่ให้
ผู้นั้นเป็นคนเลวกว่าคนที่เลว
ชื่อว่าเข้าถึงสถานที่ลงโทษแห่งพญายม
[๖๓] เขาขอสิ่งใด ควรให้สิ่งนั้น
เขาไม่ขอสิ่งใด ไม่ควรให้สิ่งนั้น
เราจักให้สิ่งที่พราหมณ์ขอกับเราเท่านั้น
(ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ทูลถามพระราชาว่า)
[๖๔] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
พระองค์ทรงปรารถนาอายุ วรรณะ สุข
หรือพละอะไรหรือ จึงได้พระราชทาน
พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งชาวสีพี
จะพึงพระราชทานดวงพระเนตร
เพราะเหตุแห่งปรโลกได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๓. สีวิราชชาดก (๔๙๙)
(พระราชาตรัสว่า)
[๖๕] เราบริจาคดวงตานั้นเพราะยศก็หามิได้
เราจะปรารถนาบุตร ทรัพย์ และแคว้นก็หาไม่
แต่นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษที่ท่านประพฤติมาแต่โบราณ
เพราะเหตุนั้นแล ใจของเราจึงยินดีในการให้ทาน
ดวงตาทั้ง ๒ ข้างเราจะเกลียดชังก็หาไม่
ตัวตนเราจะเกลียดชังก็หาไม่
แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะเหตุนั้น เราจึงได้บริจาคดวงตา
(พระโพธิสัตว์ได้กำชับนายแพทย์สีวิกะว่า)
[๖๖] นายแพทย์สีวิกะ ท่านเป็นเพื่อน เป็นมิตรของเรา
ศึกษามาดีแล้ว จงทำตามคำของเราโดยดี
เมื่อเรายังเห็นอยู่ ท่านจงควักดวงตา
แล้ววางไว้ในมือของวณิพก
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[๖๗] นายแพทย์สีวิกะถูกพระเจ้าสีพีทรงเตือน
จึงกระทำตามรับสั่ง ได้ควักดวงพระเนตรของพระราชาแล้ว
ได้น้อมเข้าไปให้แก่พราหมณ์ พราหมณ์เป็นคนมีตาดี
พระราชากลับกลายเป็นคนมีพระเนตรบอดไป
[๖๘] จากวันนั้น สองสามวันต่อมา
เมื่อดวงพระเนตรมีเนื้องอกขึ้นมา
พระราชาผู้ทรงบำรุงแคว้นแห่งชาวกรุงสีพี
ให้เจริญรุ่งเรืองพระองค์นั้นทรงรับสั่งหานายสารถีมาตรัสว่า
[๖๙] พ่อสารถี เจ้าจงจัดเทียมยาน
เทียมเสร็จแล้วจงบอกให้ทราบ
เราจะไปยังอุทยาน สระโบกขรณี และราวป่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๓. สีวิราชชาดก (๔๙๙)
[๗๐] ก็พระราชาได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งขัดสมาธิที่ริมฝั่งสระโบกขรณี
ท้าวสุชัมบดีสักกเทวราชได้ทรงปรากฏแก่ท้าวเธอ
(ฝ่ายท้าวสักกะซึ่งพระโพธิสัตว์ได้ยินเสียงฝีพระบาทแล้วทูลถาม จึงตรัสว่า)
[๗๑] ฤๅษีเจ้า หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ
ได้มาที่สำนักของพระองค์
ขอพระองค์จงขอพรที่พระองค์มีพระทัยปรารถนา
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๒] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ทรัพย์ของอาตมาก็มีเพียงพอ
พลนิกายและพระคลังก็มีมิใช่น้อย
แต่บัดนี้ อาตมาเป็นคนตาบอดจึงพอใจการตายเท่านั้น
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๗๓] พระมหากษัตริย์ผู้จอมมนุษย์ คำเหล่าใดเป็นคำสัตย์
ขอพระองค์จงตรัสคำเหล่านั้น
เมื่อพระองค์ตรัสคำสัตย์ ดวงพระเนตรจักปรากฏมีอีก
(พระโพธิสัตว์ผู้เป็นพระราชาได้ทำสัจจกิริยาว่า)
[๗๔] วณิพกมีโคตรต่าง ๆ กันเหล่าใดพากันมาเพื่อจะขอกับอาตมา
บรรดาวณิพกเหล่านั้น ผู้ใดย่อมขออาตมา
แม้ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักแห่งใจของอาตมา
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอดวงตาจงเกิดขึ้นแก่อาตมา
(ต่อมาไดัตรัสอีกว่า)
[๗๕] พราหมณ์ผู้มาขอกับอาตมาแล้วว่า
ขอพระองค์โปรดพระราชทานดวงตาข้างหนึ่งเถิด
อาตมาได้ประทานดวงตาให้พราหมณ์ซึ่งขออยู่นั้นไป ๒ ข้าง
[๗๖] ปีติและโสมนัสมิใช่น้อยได้ท่วมทับโดยยิ่ง
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอดวงตาดวงที่ ๒ จงเกิดขึ้นแก่อาตมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๓. สีวิราชชาดก (๔๙๙)
(ท้าวสักกะทรงชมเชยพระโพธิสัตว์ในท่ามกลางมหาชนว่า)
[๗๗] พระองค์ผู้ทรงผดุงแคว้นให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
พระองค์ตรัสคาถาโดยธรรม
ดวงพระเนตรของพระองค์เหล่านี้จะปรากฏเป็นทิพย์
[๗๘] จะให้พระองค์สำเร็จการเห็นทะลุผ่านภายนอกฝา
ภายนอกกำแพงศิลาและภูเขาไปได้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
(พระโพธิสัตว์แสดงธรรมว่า)
[๗๙] ในโลกนี้ ใครหนอถูกเขาขอแล้ว
ไม่พึงให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ
ทั้งวิเศษ ทั้งเป็นที่รักยิ่งของตน
เอาเถิด เราขอเตือนชาวสีพีทุกคนที่มาประชุมพร้อมกัน
ขอพวกท่านจงดูดวงตาทั้ง ๒ ซึ่งเป็นทิพย์ของเราในวันนี้
[๘๐] จะให้เราสำเร็จการเห็นทะลุผ่านภายนอกฝา
ภายนอกกำแพงศิลาและภูเขา
ไปได้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
[๘๑] ไม่มีอะไรของเหล่าสัตว์ในมนุษยโลกนี้
ที่จะยอดเยี่ยมไปกว่าการบริจาค
เราได้บริจาคดวงตาซึ่งเป็นของมนุษย์แล้ว
กลับได้ดวงตาอันยิ่งกว่าของมนุษย์
[๘๒] พี่น้องชาวกรุงสีพีทั้งหลาย
พวกท่านได้เห็นดวงตาทิพย์ ที่เราได้แล้วแม้นี้
จงให้ทาน จงบริโภคเถิด
คนที่ให้แล้วและบริโภคแล้วตามความสามารถ
ไม่พึงถูกนินทา พึงเข้าถึงแดนสวรรค์
สีวิราชชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)
๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)
ว่าด้วยปัญหาความมีสิริกับมีปัญญา
(พระราชาตรัสในสิริมันตปัญหาว่า)
[๘๓] ท่านอาจารย์เสนกะ เราขอถามเนื้อความนี้กับท่าน
ในคน ๒ ประเภทนี้ คือ คนที่มีปัญญาแต่ปราศจากสิริ
หรือคนที่มียศแต่ปราศจากปัญญา
ผู้ฉลาดกล่าวคนไหนว่าประเสริฐ
(เสนกบัณฑิตกราบทูลอย่างฉับพลันว่า)
[๘๔] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
คนทั้งหลายเป็นนักปราชญ์ก็ตาม เป็นคนโง่ก็ตาม
มีศิลปะก็ตาม ไม่มีศิลปะก็ตาม
แม้มีชาติสกุลสูง ก็เป็นคนรับใช้ของคนมียศถึงจะมีชาติสกุลต่ำ
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว
คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ
(พระราชาตรัสถามมโหสธบัณฑิตซึ่งนั่งเป็นคนใหม่ในหมู่บัณฑิตว่า)
[๘๕] เราขอถามท่านบ้าง พ่อมโหสธบัณฑิต
ผู้มีปัญญาไม่ทราม ผู้เห็นธรรมโดยสิ้นเชิง ในคน ๒ ประเภทนี้
คือ คนโง่แต่มียศ หรือบัณฑิตแต่มีโภคทรัพย์น้อย
ผู้ฉลาดกล่าวคนไหนว่าประเสริฐ
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๘๖] คนโง่ทำแต่กรรมชั่ว สำคัญอิสริยยศนี้เท่านั้นว่าประเสริฐ
คนโง่เห็นแต่โลกนี้ ไม่เห็นโลกหน้า
จึงยึดถือเอาแต่โทษในโลกทั้ง ๒
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ที่มียศหาประเสริฐไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)
(เสนกบัณฑิตกราบทูลคัดค้านแล้วว่า)
[๘๗] ศิลปะนี้ก็ดี เผ่าพันธุ์ก็ดี ส่วนแห่งร่างกายก็ดี
หาจัดแจงโภคะได้ไม่
โปรดทอดพระเนตรโควินทะผู้ใบ้เพราะน้ำลาย
ซึ่งไดัรับความสุขเพราะคนมีสิริย่อมคบหาเขา
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า)
[๘๘] คนมีปัญญาน้อยได้รับความสุขย่อมมัวเมา
แม้ถูกความทุกข์กระทบย่อมหลง
ถูกความสุขและความทุกข์จรมากระทบเข้า
ย่อมหวั่นไหวเหมือนปลาในฤดูร้อน
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่
(เสนกบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า)
[๘๙] ต้นไม้ในป่าที่มีผลดก ฝูงนกย่อมบินโฉบไปมาอยู่รอบต้นฉันใด
คนผู้มั่งคั่งมีทรัพย์ มีโภคะก็ฉันนั้น
คนเป็นจำนวนมากย่อมคบหาเพราะเหตุแห่งประโยชน์
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า)
[๙๐] คนโง่ถึงจะมีกำลังก็หายังประโยชน์ให้สำเร็จได้ไม่
นายนิรยบาลทั้งหลายย่อมฉุดคร่าคนมีปัญญาทราม
ผู้คร่ำครวญถึงทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยกรรมอันโหดร้าย
ไปสู่นรกที่มีเวทนาอันแรงกล้า
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๑] แม่น้ำบางสายย่อมไหลลงสู่แม่น้ำคงคา
แม่น้ำเหล่านั้นทุกสายย่อมละทิ้งชื่อและโคตร(ของตน)
แม่น้ำคงคาเมื่อไหลลงสู่ท้องทะเลก็ไม่ปรากฏชื่อฉันใด
แม้คนมีปัญญาในโลกก็ฉันนั้น ย่อมไม่ปรากฏความสำเร็จ
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๒] ทะเลใหญ่หลวงที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง
ซึ่งแม่น้ำน้อยใหญ่หลั่งไหลไป
นับไม่ถ้วนอยู่ตลอดกาลทั้งปวง
มีกำลังโอฬารอยู่เป็นนิตย์
มหาสมุทรย่อมไม่ล่วงเลยฝั่งไปได้ฉันใด
[๙๓] แม้ถ้อยคำของคนโง่ก็ฉันนั้น ในกาลบางครั้งบางคราว
ถึงคนมีสิริก็ไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาไปได้
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๔] ถึงแม้คนผู้ไม่สำรวมแต่มียศ
ดำรงอยู่ในฐานะผู้วินิจฉัย
ย่อมกล่าวเนื้อความแก่คนเหล่าอื่น
ถ้อยคำของเขานั้นนั่นแลย่อมงอกงามในท่ามกลางแห่งหมู่ญาติ
เพราะคนมีสิริยังคนเหล่าอื่นให้ทำตามถ้อยคำของตนนั้นได้
คนมีปัญญาหาทำได้ไม่
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๕] เพราะเหตุแห่งคนอื่นบ้าง หรือเพราะเหตุแห่งตนบ้าง
คนโง่มีปัญญาน้อยย่อมพูดเท็จได้
เขาย่อมถูกนินทาในท่ามกลางสภา แม้ในภายหลังเขาย่อมไปสู่ทุคติ
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๖] คนมีปัญญาดังแผ่นดินแต่ไม่มีที่อยู่อาศัย
มีทรัพย์น้อย ยากจน แม้หากจะกล่าวข้อความ
ถ้อยคำของเขานั้นหางอกงามในท่ามกลางหมู่ญาติไม่
ธรรมดาสิริไม่มีแก่คนมีปัญญา
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๗] เพราะเหตุแห่งคนอื่นบ้าง เพราะเหตุแห่งตนบ้าง
คนมีปัญญาดังแผ่นดินจะไม่พูดเหลาะแหละ
เขามีคนบูชาแล้วในท่ามกลางสภา แม้ในภายหลังเขาก็ไปสู่สุคติ
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้ จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๘] ช้าง โค ม้า ต่างหูแก้วมณี
และหญิงทั้งหลายเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง
ทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเป็นเครื่องอุปโภคของคนมั่งคั่ง
คนผู้ไม่มั่งคั่งก็เป็นเครื่องอุปโภคของคนมั่งคั่ง
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้ จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๕. โรหณมิคชาดก (๕๐๑)
(มโหสธบัณฑิตยกเหตุผลอย่างอื่นมาว่า)
[๙๙] สิริย่อมละคนโง่ผู้ไม่จัดแจงการงาน
มีความคิดเลวทราม มีปัญญาทรามไปเหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้ง
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่
(ต่อมาเสนกบัณฑิตคิดจะทำลายวาทะของมโหสธบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๑๐๐] ขอจงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๕ คนนี่แหละเป็นบัณฑิต
ทั้งหมดล้วนต้องประคองอัญชลีบำรุงพระองค์
พระองค์ทรงเป็นอิสระครอบงำข้าพระองค์ทั้งหลาย
ดุจท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งภูต
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตเมื่อจะทำลายวาทะของเสนกบัณฑิต จึงกราบทูล
พระราชาว่า)
[๑๐๑] คนโง่มียศ เมื่อมีเหตุต่าง ๆ เกิดขึ้น
ก็เป็นทาสคนมีปัญญา
บัณฑิตย่อมจัดการเหตุที่ละเอียดได้
คนโง่ย่อมถึงความงวยงงในเหตุนั้น
ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า
คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตสรรเสริญปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปว่า)
[๑๐๒] แท้จริง ปัญญาเท่านั้นสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ
สิริเป็นที่ต้องการของคนโง่ผู้ยินดีในโภคะ
ส่วนญาณของท่านผู้รู้ทั้งหลายชั่งไม่ได้
คนมีสิริล่วงเลยคนมีปัญญาไปไม่ได้ไม่ว่าในกาลไหน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๕. โรหณมิคชาดก (๕๐๑)
(พระราชาสดับดังนั้นทรงยินดีต่อการแก้ปัญหาของพระโพธิสัตว์มโหสธ จึงตรัสว่า)
[๑๐๓] พ่อมโหสธบัณฑิตผู้เห็นธรรมโดยสิ้นเชิง
เราได้ถามปัญหาใดกับเจ้า เจ้าก็ได้แก้ปัญหานั้นแก่เรา
เราพอใจการแก้ปัญหา จึงให้โคแก่เจ้า ๑,๐๐๐ ตัว
โคอุสภะและช้าง รถเทียมม้าอาชาไนยเหล่านี้ ๑๐ คัน
และบ้านส่วย ๑๖ ตำบล
สิรีมันตชาดกที่ ๔ จบ
๕. โรหณมิคชาดก (๕๐๑)
ว่าด้วยพญาเนื้อชื่อโรหณะ
(พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาเนื้อโรหณะพบเนื้อจิตตกะตัวน้อง จึงกล่าวว่า)
[๑๐๔] พ่อจิตตกะ ฝูงเนื้อเหล่านั้นกลัวตายจึงพากันหลบหนีไป
ถึงเจ้าก็จงหนีไปเถิด อย่าห่วงใยพี่เลย
ฝูงเนื้อเหล่านั้นจักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเจ้า
(เนื้อจิตตกะตอบว่า)
[๑๐๕] พี่โรหณะ ฉันไม่ไป ถึงใครจักควักดวงใจฉันไป
ฉันก็จักไม่ละทิ้งพี่ไป ฉันจักสละชีวิตทิ้งไว้ ณ ที่นี่
(พญาเนื้อโรหณะกล่าวว่า)
[๑๐๖] ก็บิดามารดาผู้ตาบอดของพวกเรา
ท่านทั้ง ๒ นั้นไม่มีผู้นำจักต้องตายแน่
ถึงเจ้าก็จงหนีไปเถิด อย่าห่วงใยพี่เลย
ท่านทั้ง ๒ นั้นจักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเจ้า
(เนื้อจิตตกะกล่าวว่า)
[๑๐๗] พี่โรหณะ ฉันไม่ไป ถึงใครจักควักดวงใจฉันไป
ฉันก็จักไม่ละทิ้งพี่ผู้ติดบ่วงไป ฉันจักสละชีวิตทิ้งไว้ ณ ที่นี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๕. โรหณมิคชาดก (๕๐๑)
(พระโพธิสัตว์โรหณะเห็นน้องสุตนากลับมา จึงกล่าวว่า)
[๑๐๘] หนีไปเถิด น้องหญิงผู้มีความกลัว เจ้าจงหนีไป
พี่ติดบ่วงที่ล่ามติดกับเหล็ก ถึงเจ้าก็จงหนีไปเถิด
อย่าห่วงใยพี่เลย ฝูงเนื้อเหล่านั้นจักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเจ้า
(เนื้อสุตนากล่าวว่า)
[๑๐๙] พี่โรหณะ ฉันไม่ไป ถึงใครจักควักดวงใจฉันไป
ฉันก็จักไม่ละทิ้งพี่ไป ฉันจักสละชีวิตทิ้งไว้ ณ ที่นี่
(พญาเนื้อโพธิสัตว์โรหณะกล่าวว่า)
[๑๑๐] ก็บิดามารดาผู้ตาบอดของพวกเรา
ท่านทั้ง ๒ นั้นไม่มีผู้นำจักต้องตายแน่
ถึงเจ้าก็จงหนีไปเถิด อย่าห่วงใยพี่เลย
ท่านทั้ง ๒ นั้นจักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเจ้า
(เนื้อสุตนาตอบว่า)
[๑๑๑] พี่โรหณะ ฉันไม่ไป ถึงใครจักควักดวงใจฉันไป
ฉันก็จักไม่ละทิ้งพี่ผู้ติดบ่วงไป ฉันจักสละชีวิตทิ้งไว้ ณ ที่นี่
(พญาเนื้อโพธิสัตว์โรหณะเห็นนายพรานกำลังเดินมา จึงกล่าวว่า)
[๑๑๒] นั่นไง นายพรานผู้โหดร้ายพร้อมทั้งอาวุธ
ผู้จักใช้ลูกศรหรือหอกฆ่าพวกเราในวันนี้กำลังเดินมา
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[๑๑๓] นางลูกเนื้อนั้น ถูกภัยบีบคั้นคุกคามวิ่งหนีไปครู่หนึ่ง
ถึงจะมีความกลัวแต่ก็ได้ทำสิ่งที่ทำได้แสนยาก
ได้กลับมาเผชิญหน้าต่อความตาย
(นายพรานถามเหตุผลที่เนื้อ ๒ ตัวเป็นอะไรกับพญาเนื้อว่า)
[๑๑๔] เนื้อทั้ง ๒ นี้เป็นอะไรกับเจ้าหนอ
พ้นไปแล้วยังกลับมาหาเจ้าผู้ติดบ่วงอีก
พวกเขาไม่ปรารถนาจะทิ้งเจ้าไปแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๕. โรหณมิคชาดก (๕๐๑)
[๑๑๔] เนื้อทั้ง ๒ นี้เป็นอะไรกับเจ้าหนอ
พ้นไปแล้วยังกลับมาหาเจ้าผู้ติดบ่วงอีก
พวกเขาไม่ปรารถนาจะทิ้งเจ้าไปแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้บอกแก่นายพรานนั้นว่า)
[๑๑๕] นายพราน เขาทั้ง ๒ เป็นพี่น้อง
ร่วมท้องมารดาเดียวกันกับข้าพเจ้า
พวกเขาจึงไม่ปรารถนาจะทิ้งข้าพเจ้าไปแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
(พญาเนื้อจิตตกะรู้ว่านายพรานมีจิตอ่อนโยนจึงกล่าวเหตุผลต่าง ๆ ว่า)
[๑๑๖] ก็บิดามารดาผู้ตาบอดของพวกเรา
ท่านทั้ง ๒ นั้นไม่มีผู้นำจักต้องตายแน่
ขอท่านจงให้ชีวิตแก่พวกเราทั้ง ๕
โปรดปล่อยพี่ชายของพวกเราเถิด พ่อพราน
(นายพรานนั้นฟังธรรมของเนื้อจิตตกะแล้วมีจิตเลื่อมใส จึงกล่าวปลอบโยนว่า)
[๑๑๗] เรานั้นจะปล่อยเนื้อที่เลี้ยงบิดามารดา
ขอบิดามารดาของพวกเจ้าจงรื่นเริงบันเทิงใจ
เพราะได้เห็นพญาเนื้อหลุดพ้นจากบ่วงแล้วเถิด
(เนื้อจิตตกะพบพระโพธิสัตว์แล้วดีใจจึงอนุโมทนาแก่นายพรานว่า)
[๑๑๘] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้าเห็นพญาเนื้อ
พ้นจากอันตรายแล้วย่อมร่าเริงฉันใด
ขอท่านพร้อมกับญาติทั้งหมดจงร่าเริงฉันนั้นเถิด
(บิดามารดาถามถึงเหตุที่พญาเนื้อโรหณะหลุดจากบ่วงว่า)
[๑๑๙] เมื่อชีวิตเข้ามาใกล้ความตาย เจ้าหลุดพ้นมาได้อย่างไร
ลูกรัก ทำไมนายพรานจึงได้ปลดปล่อยเจ้าออกจากบ่วงเสียเล่า
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๒๐] น้องจิตตกะ เมื่อกล่าววาจาอันไพเราะหู จับจิตจับใจ
ซาบซึ้งตรึงใจ ช่วยให้ลูกหลุดพ้นมาได้ด้วยวาจาสุภาษิต
[๑๒๑] น้องสุตนา เมื่อกล่าววาจาอันไพเราะหู จับจิตจับใจ
ซาบซึ้งตรึงใจ ช่วยให้ลูกหลุดพ้นมาได้ด้วยวาจาสุภาษิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๖. จูฬหังสชาดก (๕๐๒)
[๑๒๒] เพราะฟังวาจาไพเราะหู จับจิตจับใจ ซาบซึ้งตรึงใจ
และเพราะได้ฟังวาจาสุภาษิต นายพรานจึงได้ปล่อยลูกมา
(บิดามารดาอนุโมทนาต่อนายพรานว่า)
[๑๒๓] ขอให้นายพรานจงรื่นเริงบันเทิงใจพร้อมกับบุตรและภรรยา
เหมือนพวกเรารื่นเริงบันเทิงใจในวันนี้
เพราะได้เห็นพ่อโรหณะกลับมา
(พระราชาทรงเห็นนายพรานมาเฝ้า จึงตรัสว่า)
[๑๒๔] นายพราน เจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า
จักนำตัวเนื้อหรือหนังมามิใช่หรือ
ก็เพราะเหตุอะไรเล่า เจ้าจึงไม่นำตัวเนื้อหรือหนังมาเลย
(นายพรานกราบทูลว่า)
[๑๒๕] พญาเนื้อได้มาสู่เงื้อมมือและได้ติดบ่วงแล้ว
แต่เนื้อที่ไม่ติดบ่วง ๒ ตัวได้เข้ามาหาพญาเนื้อนั้น
[๑๒๖] ข้าพระองค์นั้นได้มีความสังเวช
ขนพองสยองเกล้า ไม่เคยเป็นมาก่อนว่า
ถ้าเราฆ่าเนื้อตัวนี้ เราจักเสียชีวิตในวันนี้
(พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสว่า)
[๑๒๗] นายพราน เนื้อเหล่านั้นเป็นเช่นไร มีธรรมเช่นไร
มีสีสันอย่างไร มีปกติอย่างไร
เจ้าจึงสรรเสริญพวกมันเสียหนักหนา
(นายพรานกราบทูลว่า)
[๑๒๘] เนื้อเหล่านั้นมีเขาสีขาว ขนหางสะอาด
ผิวหนังประดุจทองคำ
เท้าแดง ดวงตาเยิ้ม เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๖. จูฬหังสชาดก (๕๐๒)
(นายพรานประกาศสีกายของเนื้อเหล่านั้นว่า)
[๑๒๙] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ เนื้อเหล่านั้นเป็นเช่นนี้
มีธรรมเช่นนี้ เป็นผู้เลี้ยงดูบิดามารดา
ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าจึงมิได้นำมาถวายพระองค์
(พระราชาทรงพอพระทัยแล้วทรงรับสั่งปูนบำเหน็จชุบเลี้ยงบุตรนายพรานด้วยยศ
ใหญ่โดยตรัสว่า)
[๑๓๐] พ่อพราน เราจะให้ทองคำแก่ท่าน ๑๐๐ แท่ง
ต่างหูแก้วมณีที่มีค่ามาก และบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม
มีสีอันเป็นสิริคล้ายดอกสามหาว
[๑๓๑] ภรรยาที่เหมาะสมกัน ๒ คน และโคอุสภะอีก ๑๐๐ ตัว
เราจักครอบครองราชสมบัติโดยธรรม
พ่อพราน ท่านมีอุปการะแก่เรามาก
[๑๓๒] พ่อพราน ท่านจงเลี้ยงดูภรรยาด้วยกสิกรรม พาณิชกรรม
การให้กู้หนี้ และการเที่ยวแสวงหาโดยธรรมเถิด
อย่าได้กระทำบาปอีกเลย
โรหณมิคชาดกที่ ๕ จบ
๖. จูฬหังสชาดก (๕๐๒)
ว่าด้วยหงส์สุมุขะผู้ภักดีต่อพญาหงส์จูฬหังสะ
(พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาหงส์ทองเมื่อจะทดลองใจหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๑๓๓] ฝูงหงส์เหล่านั้นถูกภัยคุกคาม
มีความกลัวจนต้องบินหนีไป
ท่านสุมุขะผู้มีผิวพรรณเหลืองอร่ามดังทองคำ
ท่านจงบินหนีไปตามความประสงค์เถิด
[๑๓๔] เราผู้เดียวติดบ่วงอยู่ หมู่ญาติทั้งหลายไม่เหลียวแล
พากันละทิ้งบินหนีไป ไยเล่ายังเหลือเจ้าอยู่แต่ตัวเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๖. จูฬหังสชาดก (๕๐๒)
[๑๓๕] ท่านสุมุขะผู้ประเสริฐโผบินไปเถอะ
เพราะความเป็นสหายไม่มีในผู้ติดบ่วงหรอก
ท่านอย่าทำความเพียรเพื่อความไม่มีทุกข์ให้เสื่อมเสียไปเลย
จงบินหนีไปตามความประสงค์เถิด
(หงส์สุมุขะเสนาบดีจับที่หลังเปือกตมกล่าวว่า)
[๑๓๖] ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์จะไม่ละทิ้งพระองค์ไป
เพราะเหตุเพียงเท่านี้ว่า พระองค์ต้องประสบทุกข์
ข้าพระองค์จะอยู่จะตายกับพระองค์
(พญาหงส์ธตรัฏฐะกล่าวว่า)
[๑๓๗] ท่านสุมุขะ คำใดที่ท่านกล่าวออกมา
คำนั้นเป็นคำอันดีงามของอริยชน
แต่เราเมื่อจะทดลองท่าน จึงได้กล่าวคำนั้นออกไปว่า
จงบินหนีไปเสียเถิด
(ฝ่ายบุตรนายพรานเข้าไปหาพญาหงส์แล้วกล่าวว่า)
[๑๓๘] ท่านผู้ประเสริฐอุดมกว่าหงส์ทั้งหลาย
วิสัยปักษาทิชาชาติตัวผงาดสัญจรไปในอากาศ
ย่อมทำอากาศที่ไม่ใช่ทางให้เป็นทางบินไปได้
ท่านไม่ทราบว่ามีบ่วงแต่ที่ไกลหรือ
(พญาหงส์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๓๙] เมื่อใดสัตว์มีความเสื่อมในขณะจะสิ้นชีวิต
เมื่อนั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
(นายพรานชื่นชมถ้อยคำของพญาหงส์ จึงสนทนากับพญาหงส์สุมุขะว่า)
[๑๔๐] ฝูงหงส์เหล่านั้นถูกภัยคุกคาม มีความกลัวจนต้องบินหนีไป
ท่านผู้มีผิวพรรณเหลืองอร่ามดังทองคำ ท่านเท่านั้นยังเหลืออยู่
[๑๔๑] นกทั้งหลายเหล่านั้นกินดื่มแล้วก็บินไป
ไม่เหลียวแล ท่านผู้เดียวเท่านั้นยังอยู่ใกล้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๖. จูฬหังสชาดก (๕๐๒)
[๑๔๒] นกตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้าหนอ
พ้นไปแล้วยังเข้าไปใกล้นกตัวติดบ่วง
นกทั้งหลายพากันทอดทิ้งบินหนีไป
ไยเล่ายังเหลือเจ้าอยู่แต่ตัวเดียว
(หงส์สุมุขะเสนาบดีกล่าวว่า)
[๑๔๓] นกตัวนั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
เป็นทั้งมิตรเป็นทั้งเพื่อนเสมอด้วยชีวิตของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักไม่ละทิ้งท่านไปตราบจนวันตาย
(นายพรานฟังดังนั้นแล้วมีจิตเลื่อมใส คิดจะปล่อยพญาหงส์ที่ติดบ่วง จึง
กล่าวว่า)
[๑๔๔] ก็เจ้าประสงค์จะสละชีวิตเพราะเหตุแห่งเพื่อน
เรายอมปล่อยสหายของเจ้า ขอพญาหงส์จงตามเจ้าไปเถิด
(หงส์สุมุขะเสนาบดีมองดูพระโพธิสัตว์มีจิตยินดี จึงอนุโมทนาแก่นายพรานว่า)
[๑๔๕] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้าเห็นพญาหงส์ผู้เป็นใหญ่กว่านก
พ้นจากอันตรายแล้วย่อมร่าเริงฉันใด
ขอท่านพร้อมกับญาติทั้งหมดจงร่าเริงฉันนั้นเถิด
(พญาหงส์ทูลถามพระราชาว่า)
[๑๔๖] พระองค์ทรงพระเกษมสำราญแลหรือ
มีพระอนามัยสมบูรณ์แลหรือ รัฐสีมารุ่งเรืองแลหรือ
พระองค์ทรงอนุศาสน์พร่ำสอนพสกนิกรโดยธรรมแลหรือ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๗] พญาหงส์ เราสุขเกษมสำราญดี
อนามัยก็สมบูรณ์ดี อนึ่ง รัฐสีมาก็รุ่งเรือง
และเราก็อนุศาสน์พร่ำสอนพสกนิกรโดยธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๗. สัตติคุมพชาดก (๕๐๓)
(พญาหงส์ทูลถามว่า)
[๑๔๘] โทษบางประการในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีแลหรือ
อนึ่ง พระองค์มีศัตรูหมู่อมิตรอยู่ห่างไกล
ดุจพระฉายาด้านทิศทักษิณแลหรือ
(พระราชาตอบว่า)
[๑๔๙] แม้โทษบางประการในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี
อนึ่ง เรามีศัตรูหมู่อมิตรอยู่ห่างไกลดุจเงาด้านทิศทักษิณ
(พญาหงส์ทูลถามว่า)
[๑๕๐] พระองค์ทรงมีพระมเหสีที่เหมาะสมอยู่ในพระโอวาท
มีพระเสาวนีย์ที่น่ารัก ถึงพร้อมด้วยพระโอรส
พระรูป และพระยศ อยู่ในพระอำนาจตามความพอพระทัย
ของพระองค์แลหรือ
(พระราชาตอบว่า)
[๑๕๑] ถูกแล้ว เรามีมเหสีที่เหมาะสมอยู่ในโอวาท มีดำรัสที่น่ารัก
ถึงพร้อมด้วยปุตตสมบัติ รูปสมบัติ และยศสมบัติ
อยู่ในอำนาจตามความพอใจของเรา
(พญาหงส์ทูลถามว่า)
[๑๕๒] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
พระราชบุตรจำนวนมากของพระองค์ ทรงสมภพมาดีแล้ว
ถึงพร้อมด้วยพระปรีชาเฉลียวฉลาด
ยังทรงพากันรื่นเริงบันเทิงพระทัยอยู่ ณ สถานที่นั้น ๆ แลหรือ
(พระราชาตอบว่า)
[๑๕๓] ท้าวธตรัฏฐะ บุตรของเรา ๑๐๑ พระองค์ปรากฏแล้วเพราะเรา
ขอท่านโปรดชี้แจงกิจที่พึงกระทำแก่พวกเขาด้วยเถิด
พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนคำของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๗. สัตติคุมพชาดก (๕๐๓)
(พญาหงส์พระโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสแล้วได้ถวายโอวาทแก่พระราชบุตร
เหล่านั้นว่า)
[๑๕๔] แม้ถ้าว่ากุลบุตรผู้เข้าถึงโดยชาติกำเนิดหรือโดยวินัย
แต่ประกอบความเพียรในภายหลัง
เขาย่อมตกอยู่ในห้วงแห่งอันตรายที่แก้ไขได้ยาก
[๑๕๕] ช่องโหว่อันใหญ่หลวงย่อมเกิดแก่เขาผู้มีปัญญาง่อนแง่น
เหมือนคนผู้ตกอยู่ในความมืดแห่งราตรี
ย่อมเห็นได้แต่รูปหยาบ ๆ เท่านั้น
[๑๕๖] ส่วนกุลบุตรผู้รู้แต่การประกอบความเพียร
ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เขาจะไม่ประสบความรู้เลย
ย่อมตกอยู่ในห้วงอันตรายอย่างเดียวเหมือนกวางที่ตกอยู่ที่ซอกเขา
[๑๕๗] แม้หากว่าคนผู้มีชาติสกุลต่ำ
แต่เป็นคนมีความขยันหมั่นเพียร
มีปัญญา สมบูรณ์ด้วยอาจาระและศีล
ก็ย่อมรุ่งเรืองเหมือนไฟในราตรี
[๑๕๘] ขอพระองค์ทรงทำข้อที่ข้าพระองค์กล่าวแล้วนั้น
ให้เป็นข้อเปรียบเทียบ แล้วทรงให้พระราชบุตรดำรงอยู่ในวิชา
กุลบุตรผู้มีปัญญาย่อมงอกงามเหมือนพืชในนางอกงามเพราะน้ำฝน
จูฬหังสชาดกที่ ๖ จบ
๗. สัตติคุมพชาดก (๕๐๓)
ว่าด้วยนกแขกเต้าชื่อว่าสัตติคุมพะ
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า)
[๑๕๙] พระมหาราชผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวแคว้นปัญจาละ
ทรงเป็นดุจนายพรานเนื้อ เสด็จออกพร้อมกับเสนา
ทรงพลัดกับหมู่คณะ เสด็จมายังราวป่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๗. สัตติคุมพชาดก (๕๐๓)
[๑๖๐] ทอดพระเนตรเห็นกระท่อมที่พวกโจรสร้างไว้ในป่านั้น
นกแขกเต้าได้บินออกจากกระท่อมไป กล่าวถ้อยคำที่หยาบช้าว่า
[๑๖๑] มีกษัตริย์หนุ่มน้อยพร้อมทั้งพาหนะ
มีพระกุณฑลงามเกลี้ยงเกลาดี
มีกรอบพระพักตร์แดงงาม
เหมือนดวงอาทิตย์ส่องแสงสว่างในกลางวัน
[๑๖๒] พระราชาบรรทมหลับพร้อมกับนายสารถี
เอาเถิด พวกเราจะรีบช่วยกัน
แย่งชิงอาภรณ์ของท้าวเธอเสียทั้งหมด
[๑๖๓] แม้เวลานี้ก็เงียบสงัดเหมือนเวลาเที่ยงวัน
พระราชาบรรทมหลับอยู่พร้อมกับนายสารถี
พวกเราช่วยกันแย่งชิงพระภูษาและพระกุณฑลแก้วมณี
ปลงพระชนม์แล้วกลบพระศพด้วยกิ่งไม้
(พ่อครัวปติโกลัมพะได้ฟังคำพูดของลูกนกแขกเต้านั้น จึงออกไปดู รู้ว่าเป็น
พระราชา ตกใจกลัว จึงกล่าวว่า)
[๑๖๔] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรืออย่างไร สัตติคุมพะ พูดออกมาได้
ธรรมดาพระราชาทั้งหลายยากที่จะเข้าถึงพระองค์ได้
เหมือนดังไฟที่ลุกโพลง
(นกแขกเต้าสัตติคุมพะกล่าวโต้ตอบพ่อครัวว่า)
[๑๖๕] ปติโกลัมพะ เมื่อท่านเมาคุยคำโต ๆ ออกมา
เมื่อมารดาของเราเปลือยกาย ท่านจึงรังเกียจโจรกรรมหรือหนอ
(พระราชาตื่นบรรทมได้ยินคำพูดของนกแขกเต้าสัตติคุมพะพูดกับพ่อครัวด้วย
ภาษามนุษย์ ปลุกนายสารถีให้ลุกขึ้น ตรัสว่า)
[๑๖๖] ลุกขึ้นเถิด พ่อสารถีเพื่อนยาก เจ้าจงรีบเทียมรถ
เราไม่ชอบใจนกนี้เลย เราไปยังอาศรมอื่นกันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๗. สัตติคุมพชาดก (๕๐๓)
(นายสารถีลุกขึ้นเทียมรถแล้วกราบทูลว่า)
[๑๖๗] ขอเดชะพระมหาราช ราชรถเทียมไว้แล้ว
พาหนะอันทรงกำลังก็พร้อมแล้ว เชิญเสด็จขึ้นประทับเถิดพะย่ะค่ะ
พวกเราจะพากันไปยังอาศรมอื่น
(นกแขกเต้าสัตติคุมพะเห็นราชรถแล่นไปอยู่ถึงความสลดใจ จึงกล่าวว่า)
[๑๖๘] พวกโจรในค่ายนี้พากันไปไหนหมดหนอ
นั่นพระเจ้าปัญจาละกำลังเสด็จหนีไป
พ้นสายตาพวกโจรไปแล้ว
[๑๖๙] พวกท่านจงถือเอาเกาทัณฑ์ หอก และโตมร
นั่นพระเจ้าปัญจาละกำลังเสด็จหนีไป
พวกท่านอย่าปล่อยให้พระองค์มีชีวิตอยู่
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนี้ว่า)
[๑๗๐] ครั้งนั้น นกแขกเต้าอีกตัวหนึ่งซึ่งมีจะงอยปากแดง
ยินดีต้อนรับด้วยกล่าวว่า
พระมหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้ทรงเป็นใหญ่ เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ
สิ่งของที่มีอยู่ในอาศรมนี้ ขอพระองค์เสวยเถิด
[๑๗๑] คือ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง ผลหมากเม่า
และผลไม้ทั้งหลายที่มีรสพอสมควร
ขอพระองค์เสวยผลไม้ที่ดี ๆ เถิดพระเจ้าข้า
[๑๗๒] นี้น้ำเย็นนำมาจากซอกเขา พระมหาราช
ขอพระองค์ทรงดื่มเถิด ถ้าพระองค์ทรงประสงค์
[๑๗๓] ฤๅษีทั้งหลายในอาศรมนี้พากันไปป่าเพื่อแสวงหามูลผลาหาร
ขอพระองค์เสด็จลุกขึ้นหยิบเอาเองเถิด
ข้าพระองค์ไม่มีมือจะทูลถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๗. สัตติคุมพชาดก (๕๐๓)
ขอพระองค์เสด็จลุกขึ้นหยิบเอาเองเถิด
ข้าพระองค์ไม่มีมือจะทูลถวาย
(พระราชาทรงเลื่อมใสการปฏิสันถารของนกปุปผกะ จึงทรงชมเชยว่า)
[๑๗๔] ปักษีตัวนี้ดีจริงหนอ เป็นนกแต่ทรงธรรมอย่างยอดเยี่ยม
ส่วนเจ้านกแขกเต้าตัวหนึ่งนั้นพูดแต่คำหยาบช้าว่า
[๑๗๕] จงฆ่ามัน จงมัดมัน อย่าปล่อยให้มันมีชีวิตอยู่
เมื่อมันบ่นพร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้แล
เราได้ถึงอาศรมนี้โดยความสวัสดี
(นกปุปผกะครั้นได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๑๗๖] พระมหาราช ข้าพระองค์ทั้ง ๒
เป็นพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน
เจริญเติบโตอยู่ที่ต้นไม้ต้นเดียวกัน
แต่พลัดตกไปอยู่ต่างเขตแดนกัน
[๑๗๗] นกสัตติคุมพะเจริญเติบโตในแดนโจร
ส่วนข้าพระองค์เจริญเติบโตอยู่ในสำนักของฤๅษี ณ ที่นี้
นกสัตติคุมพะนั้นอยู่ใกล้อสัตบุรุษ
ข้าพระองค์อยู่ใกล้สัตบุรุษ
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้ง ๒ จึงแตกต่างกันโดยธรรม
(นกปุปผกะจำแนกธรรมนั้นว่า)
[๑๗๘] ที่ใดมีแต่การฆ่า การจองจำ การหลอกลวงด้วยของปลอม
การหลอกลวงซึ่ง ๆ หน้า การปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์
และการข่มขู่กระทำทารุณอย่างแสนสาหัส
นกสัตติคุมพะนั้นสำเหนียกแต่การกระทำเหล่านั้นในที่นั้น
[๑๗๙] ที่นี้มีแต่ความจริง สุจริตธรรม ความไม่เบียดเบียน
ความสำรวม และการฝึกฝนอินทรีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๗. สัตติคุมพชาดก (๕๐๓)
พระองค์ผู้ทรงเป็นหน่อเนื้อแห่งภารตวงศ์
ข้าพระองค์เจริญเติบโตอยู่บนตักของฤๅษีผู้มีปกติให้อาสนะและน้ำ
(บัดนี้เมื่อจะแสดงธรรมถวายพระราชา จึงกล่าวว่า)
[๑๘๐] ขอเดชะพระราชา ธรรมดาบุคคลคบหาคนใด ๆ
เป็นสัตบุรุษก็ตาม อสัตบุรุษก็ตาม มีศีลก็ตาม ไม่มีศีลก็ตาม
ย่อมเป็นไปตามอำนาจของคนนั้นนั่นเอง
[๑๘๑] บุคคลทำคนเช่นไรให้เป็นมิตร
และคบหาจนสนิทกับคนเช่นไร
ถึงเขาก็เป็นเช่นคนนั้น
เพราะการอยู่ร่วมกันเป็นเช่นนั้น
[๑๘๒] คนชั่วใครคบเข้าย่อมเปื้อนคนคบ ซึ่งมิได้เปื้อนมาแต่เดิม
คนชั่วใครสัมผัสถูกต้อง หรือเมื่อสัมผัสถูกต้องคนอื่น
ก็ย่อมเปื้อนคนที่ตนสัมผัสถูกต้อง ซึ่งมิได้เปื้อนมาแต่เดิม
ดุจลูกศรที่กำซาบด้วยยาพิษก็พลอยแปดเปื้อนแล่งไปด้วย
เพราะกลัวแต่การแปดเปื้อน
นักปราชญ์จึงไม่ควรมีคนชั่วเป็นเพื่อน
[๑๘๓] คนใดห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา
แม้ใบหญ้าคาก็พลอยมีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไปด้วย
การคบหาคนพาลก็เป็นฉันนั้น
[๑๘๔] ส่วนคนใดห่อกฤษณาด้วยใบไม้
แม้ใบไม้ก็พลอยมีกลิ่นหอมฟุ้งไปด้วย
การคบหากับนักปราชญ์ก็เป็นฉันนั้น
[๑๘๕] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตรู้การคบของตน
เหมือนกับใบไม้ห่อสิ่งของแล้ว
ไม่พึงเข้าไปคบหาอสัตบุรุษ พึงคบหาแต่สัตบุรุษ
เพราะอสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก
ส่วนสัตบุรุษย่อมช่วยให้ไปถึงสุคติ
สัตติคุมพชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)
๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)
ว่าด้วยพระราชาพระนามว่าภัลลาติยะ
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า)
[๑๘๖] ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าภัลลาติยะ
ท้าวเธอทรงละรัฐสีมา ได้เสด็จประพาสป่า ล่าเนื้อ
เสด็จถึงภูเขาคันธมาทน์วรคีรีซึ่งมีบุปผชาตินานาพันธุ์บานสะพรั่ง
เป็นแดนที่พวกกินนรสัญจรไปมา
[๑๘๗] ท้าวเธอทรงประสงค์จะตรัสถาม
จึงทรงห้ามฝูงสุนัข
ทรงเก็บลูกธนูและแล่ง
เสด็จเข้าไปใกล้สถานที่ที่กินนร ๒ ผัวเมียอยู่
[๑๘๘] ล่วงฤดูเหมันต์ไปแล้ว ที่ริมฝั่งแม่น้ำเหมวดีแห่งนี้
ไยเจ้าทั้ง ๒ ยังปรึกษากันเนือง ๆ อยู่เล่า
เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์
ในมนุษยโลกเขารู้จักเจ้าทั้ง ๒ ว่าอย่างไร
(ฝ่ายกินนรีได้ฟังพระดำรัสจึงสนทนากับพระราชาว่า)
[๑๘๙] พวกเราเป็นมฤคมีร่างกายคล้ายมนุษย์
ท่องเที่ยวไปตามแม่น้ำทั้งหลาย
คือ มัลลคีรีนที ปัณฑรกนที ตรีกูฏนที ซึ่งมีน้ำเย็น
พ่อพราน ชาวโลกเขารู้จักพวกเราว่า กินนร
(ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสว่า)
[๑๙๐] เจ้าทั้ง ๒ เหมือนคนมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส
พากันคร่ำครวญอยู่
สวมกอดกันเหมือนคนรักกับคนรัก
เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์
เหตุไร เจ้าทั้ง ๒ จึงพากันร้องไห้ไม่สร่างซาอยู่ในป่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)
[๑๙๑] เจ้าทั้ง ๒ เหมือนคนมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส
พากันคร่ำครวญอยู่ สวมกอดกันเหมือนคนรักกับคนรัก
เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์
เหตุไร เจ้าทั้ง ๒ จึงพากันเพ้อรำพันไม่สร่างซาอยู่ในป่านี้
[๑๙๒] เจ้าทั้ง ๒ เหมือนคนมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส
พากันคร่ำครวญอยู่ สวมกอดกันเหมือนคนรักกับคนรัก
เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์
เหตุไร เจ้าทั้ง ๒ จึงพากันเศร้าโศกไม่สร่างซาอยู่ในป่านี้
(กินนรีกราบทูลว่า)
[๑๙๓] พ่อพราน เราทั้ง ๒ พลัดพรากกันอยู่หนึ่งราตรี
ไม่อยากจะพลัดพรากจากกัน เมื่อระลึกถึงกันและกัน
จึงพากันเดือดร้อนเศร้าโศกอยู่ตลอดราตรีหนึ่งนั้น
ราตรีนั้นจักไม่มีอีก
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๙๔] เจ้าทั้ง ๒ คิดถึงทรัพย์ที่พินาศไปแล้วหรือ
หรือคิดถึงบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว
จึงพากันเดือดร้อนตลอดทั้งราตรีหนึ่งนั้น เราขอถามเจ้าทั้ง ๒
ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์ เพราะเหตุไร เจ้าจึงแยกกันอยู่
(กินนรีกราบทูลว่า)
[๑๙๕] แม่น้ำสายนี้ใดมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก
ปกคลุมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ไหลผ่านภูผาหิน ท่านเห็นอยู่
แม่น้ำสายนั้น สามีที่รักของดิฉันสำคัญดิฉันว่า
จะติดตามไปจึงได้ข้ามไปในฤดูฝน
[๑๙๖] ส่วนดิฉันมัวเลือกเก็บดอกปรู ดอกลำดวน
ดอกมะลิซ้อน และดอกคัดเค้า ด้วยหวังว่า
สามีที่รักของดิฉันจักได้ประดับดอกไม้
และดิฉันจักประดับดอกไม้ นอนแนบข้างสามีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)
[๑๙๗] อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกบานไม่รู้โรย
ดอกราชพฤกษ์ ดอกแคฝอย
และดอกย่านทราย ด้วยหวังว่า
สามีที่รักของดิฉันจักได้ประดับดอกไม้
และดิฉันจักประดับดอกไม้นอนแนบข้างสามีนั้น
[๑๙๘] อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาละที่กำลังเบ่งบาน
แล้วร้อยเป็นพวงมาลัย ด้วยหวังว่า
สามีที่รักของดิฉันจักสวมพวงมาลัย
และดิฉันจักสวมพวงมาลัยนอนแนบข้างสามีนั้น
[๑๙๙] อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาละที่กำลังเบ่งบาน
แล้วร้อยเป็นเครื่องรองรับ ด้วยหวังว่า
ดอกไม้ที่ร้อยแล้วนี่แหละ จักเป็นเครื่องปูลาดสำหรับเราทั้ง ๒
ณ สถานที่ที่เราทั้ง ๒ จักอยู่ร่วมกันตลอดคืนในวันนี้
[๒๐๐] อนึ่ง ดิฉันมัวเลินเล่อบดไม้กฤษณาและไม้จันทน์ที่ศิลา
ด้วยหวังว่า สามีที่รักของดิฉันจักใช้ชโลมกาย
และดิฉันก็จักใช้ชโลมกายนอนแนบข้างสามี
[๒๐๑] ครั้งนั้น น้ำซึ่งมีกระแสเชี่ยวกรากได้ไหลบ่ามา
พัดพาเอาดอกสาละ ดอกสน
และดอกกรรณิการ์ไป โดยครู่เดียวนั้นน้ำก็เต็มฝั่ง
จึงเป็นการยากยิ่งที่ดิฉันจะข้ามแม่น้ำสายนี้ไปได้
[๒๐๒] คราวนั้น เราทั้ง ๒ ยืนมองกันและกันอยู่ที่ริมฝั่งทั้ง ๒
บางคราวก็ร้องไห้ บางคราวก็ร่าเริงยินดี
ราตรีนั้นได้ผ่านไปอย่างยากเย็นสำหรับเราทั้ง ๒
[๒๐๓] พ่อพราน พอดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าตรู่ แม่น้ำแห้ง
เราทั้ง ๒ จึงข้ามไปได้ สวมกอดกันและกัน
ทั้งร้องไห้ ทั้งร่าเริงยินดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)
[๒๐๔] พ่อพราน ๖๙๗ ปี เมื่อก่อน
เราทั้ง ๒ พลัดพรากกันอยู่ในที่นี้
ข้าแต่พระภูมิบาล ชีวิตนี้เพียง ๑๐๐ ปีเท่านั้น
ใครหนอจะพึงเว้นจากภรรยาที่น่ารักใคร่ อยู่ในที่นี้ได้เล่า
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๒๐๕] ก็อายุของพวกเจ้ามีประมาณเท่าไรหนอ เพื่อนรัก
หากพวกเจ้ารู้ก็จงบอก
เจ้าทั้ง ๒ อย่าได้หวั่นไหว จงบอกอายุแก่เรา
ตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากวุฑฒบุคคล หรือจากตำรา
(กินนรีกราบทูลว่า)
[๒๐๖] พ่อพราน ก็อายุของพวกเรามีประมาณ ๑,๐๐๐ ปี
โรคอันร้ายแรงก็ไม่มีในระหว่าง
ความทุกข์ก็มีน้อย มีแต่ความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เราทั้ง ๒ ยังรักใคร่กันไม่จืดจางจะต้องพากันละชีวิตไป
(พระศาสดาทรงประกาศความข้อนี้ว่า)
[๒๐๗] ก็พระเจ้าภัลลาติยะทรงสดับถ้อยคำของอมนุษย์ทั้งหลาย
ทรงดำริว่า ชีวิตเป็นของน้อยนัก จึงเสด็จกลับ ไม่เสด็จไปล่าเนื้อ
ทรงบำเพ็ญทาน เสวยโภคะ
(พระศาสดาครั้นตรัสพระคาถานี้แล้ว ทรงโอวาทพระเจ้าโกศลกับพระนาง
มัลลิกาเทวีว่า)
[๒๐๘] ก็มหาบพิตรทั้ง ๒ ทรงสดับถ้อยคำของอมนุษย์ทั้งหลาย
จงทรงเบิกบานพระทัยเถิด อย่าทรงทะเลาะกันเลย
ความผิดเพราะการกระทำของตน
อย่าทำให้มหาบพิตรทั้ง ๒ ต้องเดือดร้อน
เหมือนความผิดเพราะการกระทำของตน
ทำให้กินนรทั้ง ๒ ต้องเดือดร้อนตลอดราตรีหนึ่งเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)
[๒๐๙] อนึ่ง พระองค์ทั้ง ๒ ทรงสดับถ้อยคำของอมนุษย์ทั้งหลายแล้ว
จงทรงเบิกบานพระทัยเถิด อย่าทรงวิวาทกันเลย
ความผิดเพราะการกระทำของตน
อย่าทำให้มหาบพิตรทั้ง ๒ ต้องเดือดร้อน
เหมือนความผิดเพราะการกระทำของตน
ทำให้กินนรทั้ง ๒ ต้องเดือดร้อนตลอดราตรีหนึ่งเลย
(พระนางมัลลิกาเทวีสดับพระธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว เสด็จลุกจาก
อาสนะ ประคองอัญชลี ทรงชมเชยพระทศพลว่า)
[๒๑๐] หม่อมฉันสดับพระธรรมเทศนามีประการต่าง ๆ มีใจชื่นชมยินดี
พระดำรัสต่าง ๆ ของพระองค์ประกอบไปด้วยประโยชน์
พระองค์เมื่อทรงเปล่งพระวาจาออกมา
ย่อมบรรเทาความกระวนกระวายใจของหม่อมฉันเสียได้
พระมหาสมณะผู้นำความสุขมาให้หม่อมฉัน
ขอพระองค์ทรงเจริญพระชนม์ชีพยั่งยืนนานเถิด
ภัลลาติยชาดกที่ ๘ จบ
๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)
ว่าด้วยโสมนัสกุมาร
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๑๑] ใครมาเบียดเบียนข่มเหงท่าน
ทำไมท่านจึงเสียใจ เศร้าโศก ไม่ชื่นบานเลย
วันนี้ มารดาบิดาของท่านมาร้องไห้หรือ
หรือว่า ใครมารังแก ทำให้ท่านต้องนอนที่พื้นดิน
(ชฎิลโกงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๑๒] ขอถวายพระพร อาตมามีความยินดีที่ได้พบเห็นพระองค์
ขอถวายพระพรพระภูมิบาล ต่อกาลนานจึงได้พบพระองค์
ขอถวายพระพรพระเจ้าเรณู อาตมามิได้เบียดเบียนผู้ใด
แต่ถูกพระโอรสของพระองค์เข้ามาเบียดเบียน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๑๓] ไปเหวย พนักงานเฝ้าประตูที่ติดตาม และเหล่าเพชฌฆาต
จงไปยังภายในพระราชฐาน
จงฆ่าเจ้าโสมนัสกุมารนั้นแล้วตัดศีรษะนำมา
(พึงทราบคาถาประพันธ์ดังต่อไปนี้)
[๒๑๔] ราชทูตทั้งหลายที่ทรงส่งไปได้กราบทูล
พระราชกุมารนั้นว่า ขอเดชะพระขัตติยกุมาร
พระองค์ถูกพระราชบิดาผู้เป็นอิสสราธิบดีตัดขาดแล้ว
ต้องโทษประหารชีวิต
[๒๑๕] พระราชบุตรนั้นทรงกันแสงคร่ำครวญ
ยกนิ้วทั้ง ๑๐ ประคองอัญชลี อ้อนวอนว่า
ข้าพเจ้าปรารถนาจะเฝ้าพระจอมชน
ขอพวกท่านจงนำข้าพเจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่แสดงต่อพระองค์เถิด
[๒๑๖] ราชทูตเหล่านั้นฟังพระดำรัสของพระราชกุมารนั้นแล้ว
ได้แสดงพระราชบุตรต่อพระราชา
ส่วนพระราชบุตรทรงเห็นพระบิดาแล้ว กราบทูลแต่ไกลว่า
[๒๑๗] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน พนักงานเฝ้าประตูที่ติดดาบ
และเหล่าเพชฌฆาตมาเพื่อจะฆ่าหม่อมฉัน
หม่อมฉันขอกราบทูลถาม ขอพระองค์โปรดบอกเนื้อความนั้น
วันนี้หม่อมฉันมีความผิดอะไรหนอในเรื่องนี้
(พระราชาตรัสบอกความผิดว่า)
[๒๑๘] ดาบสผู้ไม่ประมาท ทำการรดน้ำ
และบำเรอไฟทั้งเย็นและเช้าในกาลทุกเมื่อ
ทำไมเจ้าจึงร้องเรียกท่านผู้สำรวม
ซึ่งประพฤติพรหมจรรย์เช่นนั้นว่าเป็นคหบดีเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
[๒๑๙] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ดาบสผู้นี้มีของเก็บรวบรวมไว้หลายชนิด
เช่น สมอพิเภก รากไม้ และผลไม้นานาชนิด
เธอไม่ประมาท เฝ้ารักษาคุ้มครองสิ่งของเหล่านั้นไว้
เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงร้องเรียกเธอว่าเป็นคหบดี
(พระราชาทรงทราบว่าพระโพธิสัตว์ไม่มีความผิดจึงตรัสว่า)
[๒๒๐] พ่อกุมาร คำที่เจ้าพูดเป็นความจริง
ดาบสผู้นี้มีของเก็บรวบรวมไว้หลายชนิด
เธอไม่ประมาท เฝ้ารักษาคุ้มครองสิ่งของเหล่านั้นไว้
เพราะเหตุนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี
(พระโพธิสัตว์นอบน้อมบริษัทแล้วตรัสว่า)
[๒๒๑] ขอบริษัททั้งหลายพร้อมทั้งชาวนิคมและชาวชนบททั้งปวง
ที่มาประชุมพร้อมกันจงฟังข้าพเจ้า
พระราชาผู้จอมชนพระองค์นี้เป็นพาล
ทรงฟังคำของดาบสผู้เป็นพาลแล้ว
รับสั่งให้ประหารข้าพเจ้าโดยมิใช่เหตุ
(ต่อมาพระโพธิสัตว์ทูลขอบรมราชานุญาตบวชว่า)
[๒๒๒] เมื่อรากยังมั่นคงเจริญงอกงามแผ่ไพศาลอยู่
กอไผ่ที่แตกกิ่งก้านสาขาก็ยากที่จะถอนให้หมดสิ้นได้
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
หม่อมฉันขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หม่อมฉันบวช
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๒๓] เจ้าจงเสวยโภคะอันไพบูลย์เถิด พ่อกุมาร
พ่อจะมอบความเป็นใหญ่ให้เจ้าทุกอย่าง
เจ้าจงเป็นพระราชาของชนชาวกุรุในวันนี้เถิด
อย่าบวชเลย เพราะการบวชเป็นทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)
(พระโพธิสัตว์ผู้เป็นพระโอรสกราบทูลว่า)
[๒๒๔] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
โภคะทั้งหลายของพระองค์ในพระนครนี้
ที่หม่อมฉันควรจะบริโภคใช้สอยมีอยู่หรือหนอ
ในชาติก่อน หม่อมฉันได้รื่นรมย์ด้วย รูป เสียง กลิ่น รส
และผัสสะ อันน่ารื่นรมย์ใจอยู่ในเทวโลก
[๒๒๕] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ โภคะทั้งหลาย
ในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ หม่อมฉันก็บริโภคใช้สอยมาแล้ว
และหม่อมฉันก็มีหมู่เทพอัปสรแวดล้อมบำเรอแล้ว
อนึ่ง หม่อมฉันทราบว่า พระองค์เป็นพาล ถูกผู้อื่นแนะนำ
จึงไม่ควรอยู่ในราชสกุลเช่นนั้น
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๒๖] หากพ่อเป็นคนพาล ถูกผู้อื่นแนะนำไซร้
ลูกรัก เจ้าจงอดโทษให้พ่อสักครั้งเถิด ถ้าพ่อเป็นเช่นนี้อีก
จงทำตามความคิดของเจ้าเถิด พ่อโสมนัส
(พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชบิดาว่า)
[๒๒๗] การงานที่บุคคลไม่ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ไม่ไตร่ตรองก่อนคิด ผลย่อมเลวทรามเหมือนยาเสื่อมคุณภาพ
[๒๒๘] การงานที่บุคคลใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ไตร่ตรองโดยชอบก่อนแล้วคิด
ผลย่อมเจริญเหมือนยาไม่เสื่อมคุณภาพ
[๒๒๙] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)
[๒๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
[๒๓๑] ขอเดชะพระภูมิบาล
คนผู้เป็นใหญ่ควรใคร่ครวญก่อนแล้วจึงลงอาชญา
การงานที่ทำเพราะความรีบร้อนย่อมเดือดร้อน
ส่วนประโยชน์ทั้งหลายของนรชนที่ทำด้วยจิตที่ตั้งมั่นโดยชอบ
ย่อมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนในภายหลัง
[๒๓๒] อนึ่ง ชนเหล่าใดจัดแจงบ่อเกิดแห่งการงานในโลก
แล้วทำการงานที่ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนในภายหลัง
การงานของพวกเขาวิญญูชนสรรเสริญ
มีความสุขเป็นกำไรที่ผู้รู้ทั้งหลายมีความเห็นคล้อยตาม
[๒๓๓] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน พนักงานเฝ้าประตูที่ติดดาบ
และเพชฌฆาตมาเพื่อจะฆ่าหม่อมฉัน
อนึ่ง หม่อมฉันนั่งอยู่บนพระเพลาของพระราชมารดา
ถูกพวกเขาฉุดคร่ามาโดยทารุณ
[๒๓๔] ขอเดชะพระมหาราช หม่อมฉันประสบภัยคือความตาย
อันเผ็ดร้อนคับแคบและลำบาก
วันนี้ชีวิตอันเป็นที่รักปานดังมธุรสหม่อมฉันได้แล้ว
พ้นแล้วจากการถูกประหารได้โดยยาก
จึงมีใจมุ่งต่อการบวชอย่างเดียว
(พระราชาทรงรับสั่งเรียกพระราชเทวีมาตรัสว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)
[๒๓๕] แม่สุธัมมา โสมนัสกุมารบุตรของเธอนี้ยังหนุ่มอยู่ น่าเอ็นดู
วันนี้ฉันขอร้องเขาไม่สำเร็จ แม้เธอก็ควรจะขอร้องเขาดูบ้าง
(พระราชเทวีนั้นเมื่อจะส่งเสริมให้บวชจึงตรัสว่า)
[๒๓๖] ลูกรัก เจ้าจงยินดีในภิกขาจาร
จงใคร่ครวญแล้วบวชในธรรมทั้งหลาย
จงวางอาชญาในเหล่าสัตว์ทั้งปวง
เป็นผู้ไม่ถูกนินทา เข้าถึงพรหมสถานเถิด
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า)
[๒๓๗] แม่สุธัมมา คำที่เจ้ากล่าวน่าอัศจรรย์จริงหนอ
ทำเราผู้มีทุกข์อยู่แล้วให้มีทุกข์ยิ่งขึ้น
เรากล่าวแก่เธอว่า เจ้าจงขอร้องลูก
กลับทำให้พ่อกุมารมีอุตสาหะยิ่งขึ้น
(พระราชเทวีตรัสต่อไปว่า)
[๒๓๘] พระอริยะเหล่าใดผู้หลุดพ้นแล้ว
บริโภคปัจจัยอันหาโทษมิได้
ผู้ดับกิเลสแล้ว ท่องเที่ยวไปอยู่ในโลกนี้
หม่อมฉันไม่อาจจะห้ามพ่อกุมาร
ผู้ดำเนินไปสู่ทางแห่งพระอริยะเหล่านั้นได้
(พระราชาทรงสดับพระราชเสาวนีย์นั้นแล้วจึงตรัสว่า)
[๒๓๙] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก
พระนางสุธัมมานี้สดับคำอันเป็นสุภาษิตของชนเหล่าใด
แล้วเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย
ปราศจากความเศร้าโศก
ชนเหล่านั้นเราควรคบโดยแท้
โสมนัสสชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
ว่าด้วยพญานาคจัมเปยยะ
(พระราชาทรงเห็นนางนาคสุมนาอยู่ในอากาศ จึงตรัสว่า)
[๒๔๐] เธอเป็นใครกันหนอ รัศมีช่างงามผ่องใสดุจสายฟ้า
อุปมาเหมือนดาวประกายพรึก ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเธอว่า
เป็นเทพธิดา หญิงคนธรรพ์ หรือหญิงมนุษย์หนอ
(นางนาคสุมนาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงตรัสตอบว่า)
[๒๔๑] ขอเดชะพระมหาราช หม่อมฉันมิใช่เทพธิดา
มิใช่หญิงคนธรรพ์ มิใช่หญิงมนุษย์
หม่อมฉันเป็นนางนาคกัญญา มาที่นี้เพราะเหตุอย่างหนึ่ง
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๒๔๒] เธอมีจิตกระวนกระวาย อินทรีย์เศร้าหมอง
มีหยาดน้ำตาไหลนองหน้า แม่นาง เชิญบอกมาเถิด
อะไรของเธอหาย หรือเธอปรารถนาสิ่งใด จึงมาที่นี้
(นางนาคสุมนาตอบว่า)
[๒๔๓] ก็ชาวโลกร้องเรียกสัตว์ใดว่า อุรคชาติ ผู้มีเดชยิ่งใหญ่
ขอเดชะ พระองค์ผู้จอมชน ชนทั้งหลายเรียกสัตว์นั้นว่า นาค
ชายผู้ต้องการเลี้ยงชีพได้จับนาคนั้นมา
นาคนั้นเป็นสามีหม่อมฉัน
ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยนาคนั้นจากเครื่องผูกเถิดเพคะ
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๒๔๔] นาคราชนี้ประกอบด้วยกำลังและความเพียร
กลับมาตกอยู่ในเงื้อมมือของคนวณิพกได้อย่างไร
แม่นางนาคกัญญา ขอแม่นางจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา
เราจะรู้ว่า นาคราชถูกจับมาได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
(นางนาคสุมนาตอบว่า)
[๒๔๕] แท้จริง นาคราชนั้นประกอบด้วยกำลังและความเพียร
พึงกระทำแม้พระนครให้เป็นเถ้าธุลีได้
แต่เพราะนาคราชเป็นผู้นบนอบพระธรรม
ฉะนั้น จึงบากบั่นบำเพ็ญตบะ
[๒๔๖] ขอเดชะพระมหาราช นาคราชอธิษฐานจาตุททสีอุโบสถ
และปัณณรสีอุโบสถ นอนรักษาอุโบสถอยู่ใกล้หนทางสี่แพร่ง
ชายผู้ต้องการเลี้ยงชีพได้จับนาคราชนั้นมา
นาคราชนั้นเป็นสามีหม่อมฉัน
ขอพระองค์โปรดปล่อยนาคราชนั้น
จากเครื่องพันธนาการเถิด เพคะ
(และนางอ้อนวอนพระราชานั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า)
[๒๔๗] นางนาค ๑๖,๐๐๐ นางสวมใส่กุณฑลแก้วมณี
นอนอยู่ในห้องใต้น้ำ
นางนาคแม้เหล่านั้นยึดเอานาคราชนั้นเป็นที่พึ่ง
[๒๔๘] ขอพระองค์โปรดปล่อยนาคราชไปโดยธรรม
ด้วยความไม่ผลุนผลัน ด้วยบ้านส่วย ๑๐๐ หลัง
ทองคำ ๑๐๐ แท่ง และโค ๑๐๐ ตัว
ขออุรคชาติผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วจงท่องเที่ยวไป
ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงพ้นจากเครื่องผูก
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๔๙] เราจะปล่อยนาคราชไปโดยธรรม
ด้วยความไม่ผลุนผลัน ด้วยบ้านส่วย ๑๐๐ หลัง
ทองคำ ๑๐๐ แท่ง และโค ๑๐๐ ตัว
ขออุรคชาติผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วจงท่องเที่ยวไป
ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงพ้นจากเครื่องผูก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
[๒๕๐] พ่อพราน เราจะให้ทองคำแก่ท่าน ๑๐๐ แท่ง
ต่างหูแก้วมณีมีค่ามาก และบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม
มีสีอันเป็นสิริคล้ายดอกสามหาว
[๒๕๑] ภรรยาที่เหมาะสมกัน ๒ คน และโคอุสภะอีก ๑๐๐ ตัว
ขออุรคชาติผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วจงท่องเที่ยวไป
ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงพ้นจากเครื่องผูก
(นายพรานกราบทูลพระราชาว่า)
[๒๕๒] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน แม้จะทรงเว้นการพระราชทาน
เพียงพระดำรัสของพระองค์เท่านั้น
ข้าพระพุทธเจ้าก็จะปล่อยอุรคชาตินั้นจากเครื่องผูก
ขออุรคชาติผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วจงท่องเที่ยวไป
ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงพ้นจากเครื่องผูก
(พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า)
[๒๕๓] พญานาคจัมเปยยะหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการแล้ว
ได้กราบทูลพระราชานั้นว่า ขอเดชะพระเจ้ากาสี
ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์
ขอเดชะ พระองค์ผู้ผดุงแคว้นกาสีให้เจริญ
ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์
ขอประคองอัญชลีต่อพระองค์
ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิเวศน์ของข้าพระองค์
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๕๔] นาคราช แน่นอนทีเดียวที่เขาพูดกันว่า
มนุษย์กับอมนุษย์จะพึงคุ้นเคยกัน
เป็นเรื่องคุ้นเคยกันได้ยาก
แต่ถ้าท่านขอร้องเราเกี่ยวกับเรื่องนั้น
เราก็จะไปเยี่ยมที่อยู่ของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
(ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะปฏิญญาให้พระราชาทรงเชื่อ จึงกราบทูลว่า)
[๒๕๕] ขอเดชะพระมหาราช ถึงลมจะพัดพาเอาภูเขาไปได้ก็ดี
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะพึงแผดเผาแผ่นดินก็ดี
แม่น้ำทุกสายจะพึงไหลทวนกระแสก็ดี
ถึงอย่างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่พึงพูดเท็จแน่นอน
[๒๕๖] ขอเดชะพระมหาราช ถึงท้องฟ้าจะพึงถล่มทะลาย
น้ำทะเลจะพึงเหือดแห้ง
แผ่นดินซึ่งมีนามว่าภูตธาราและวสุนธราจะพึงม้วนเข้า
และภูเขาสิเนรุศิลาล้วนจะพึงถอนขึ้นทั้งรากก็ดี
ถึงอย่างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่พึงพูดเท็จ
(พระราชาไม่ทรงเชื่อจึงตรัสซ้ำอีกว่า)
[๒๕๗] นาคราช แน่นอนทีเดียวที่เขาพูดกันว่า
มนุษย์กับอมนุษย์จะพึงคุ้นเคยกัน
เป็นเรื่องคุ้นเคยกันได้ยาก
แต่ถ้าท่านขอร้องเราเกี่ยวกับเรื่องนั้น
เราก็จะไปเยี่ยมที่อยู่ของท่าน
(และตรัสคาถาต่อไปว่า)
[๒๕๘] พวกท่านเป็นผู้มีพิษร้ายแรงยิ่งนัก
มีเดชมาก และก็โกรธง่าย
ท่านหลุดพ้นจากเครื่องผูกเพราะเรา
ควรจะรู้คุณที่เรากระทำแล้ว
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะทำปฏิญญาอีก จึงกราบทูลว่า)
[๒๕๙] ผู้ใดถูกขังติดอยู่ในกระชังใกล้จะตาย
ยังไม่รู้จักบุญคุณที่พระองค์ทรงทำแล้วเช่นนั้น
ขอผู้นั้นจงหมกไหม้อยู่ในนรกที่โหดร้าย
อย่าได้ความสำราญทางกายอย่างใดอย่างหนึ่งเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
(พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์นั้นว่า)
[๒๖๐] ขอปฏิญญาของท่านจงเป็นสัตย์จริงเถิด
ขอท่านอย่าเป็นผู้มีนิสัยมักโกรธและผูกโกรธ
ขอครุฑทั้งหลายจงงดเว้นตระกูลนาคของท่านทั้งมวล
เหมือนบุคคลงดเว้นไฟในคิมหันตฤดู
(ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ได้ชมเชยพระราชาว่า)
[๒๖๑] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
พระองค์ทรงอนุเคราะห์ตระกูลนาค
เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรสุดที่รักคนเดียว
ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับตระกูลนาค
จะทำการขวนขวายตอบแทนพระองค์อย่างโอฬาร
(พระราชาทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปยังภพนาค จึงรับสั่งว่า)
[๒๖๒] เจ้าพนักงานทั้งหลายจงเทียมราชรถที่งามวิจิตร
จงเทียมม้าอัสดรที่ฝึกดีแล้ว ซึ่งเกิดในแคว้นกัมโพชะ
อนึ่ง จงผูกช้างตัวประเสริฐ
ซึ่งประดับด้วยสุวรรณวัตถาภรณ์
เราจะไปเยี่ยมนิเวศน์ของนาคราช
(พระศาสดาตรัสพระคาถาว่า)
[๒๖๓] เจ้าพนักงานตีกลอง ตะโพน แกว่งบัณเฑาะว์ เป่าสังข์
ต่อพระเจ้าอุคคเสน พระราชามีหมู่นารีแวดล้อม
เสด็จไปท่ามกลางหมู่นารีงดงามยิ่งนัก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเรื่องนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๖๔] พระราชาผู้ผดุงแคว้นกาสีให้เจริญ
ได้ทอดพระเนตรภูมิภาคที่วิจิตรด้วยทรายทอง
และปราสาททอง ซึ่งปูด้วยแผ่นกระดานแก้วไพฑูรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
[๒๖๕] พระราชาพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพญานาคจัมเปยยะ
ซึ่งประดับตบแต่งไว้แล้ว อันมีรัศมีโอภาสเปล่งปลั่ง
ดุจดังแสงอาทิตย์แรกอุทัย และประดุจดังสายฟ้าในกลุ่มเมฆ
[๒๖๖] พระเจ้ากาสีพระองค์นั้น
เสด็จทอดพระเนตรจนทั่วพระนิเวศน์ของพญานาคจัมเปยยะ
ที่ดารดาษด้วยพฤกษชาตินานาพันธุ์
ซึ่งอบอวลด้วยกลิ่นหอมนานาประการ
[๒๖๗] เมื่อพระเจ้ากาสีเสด็จไปยังนิเวศน์ของพญานาคจัมเปยยะ
เหล่าทิพย์ดนตรีก็บรรเลง ทั้งเหล่านางนาคกัญญาก็ฟ้อนรำ
[๒๖๘] พระเจ้ากาสีเสด็จขึ้นสู่นาคนิเวศน์
ซึ่งมีหมู่นางนาคกัญญาตามเสด็จ
ทรงพอพระทัย ประทับนั่งบนภัทรบิฐทองคำ
มีพนักอิงฉาบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์หอมซึ่งเป็นทิพย์
[๒๖๙] พระองค์เสวยและทรงรื่นรมย์อยู่ในนาคพิภพนั้นแล้ว
ได้ตรัสกับพญานาคจัมเปยยะว่า ท่านมีวิมานอันประเสริฐเหล่านี้
ซึ่งรัศมีเปล่งปลั่งดังรัศมีดวงอาทิตย์ วิมานเช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี
นาคราช เพื่อประสงค์อะไรอีก ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่
[๒๗๐] นางนาคกัญญาเหล่านั้นสวมสังวาลทองคำ
ใส่เสื้อผ้าสวยงาม มีองคุลีกลมกลึง มีฝ่ามือฝ่าเท้าแดง
ผิวพรรณไม่ทรามเลย คอยประคองให้ท่านดื่มน้ำทิพย์
ความงามเช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี
นาคราช เพื่อประสงค์อะไร ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่
[๒๗๑] อนึ่ง ในพิภพของท่าน แม่น้ำเหล่านี้
ดาษดื่นด้วยฝูงปลามีเกล็ดหนานานาชนิด
มีนกเงือกเปล่งสำเนียงเสียงร้องอยู่ระงมไพร มีท่าน้ำที่สวยงาม
นทีทิพย์เช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี
นาคราช เพื่อประสงค์อะไรอีก ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
[๒๗๒] ฝูงนกกระเรียน นกยูง หงส์ และนกดุเหว่าทิพย์
ต่างพากันเปล่งสำเนียงประสานเสียงอย่างไพเราะ โผผินไปมา
ปักษีทิพย์เช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี
นาคราช เพื่อประสงค์อะไร ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่
[๒๗๓] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า ต้นหว้า
ต้นราชพฤกษ์ และต้นแคฝอย ผลิดอกออกผลบานสะพรั่ง
รุกขชาติอันเป็นทิพย์เช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี
นาคราช เพื่อประสงค์อะไร ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่
[๒๗๔] อนึ่ง รอบ ๆ สระโบกขรณีของท่าน
ทิพยสุคนธ์เหล่านี้หอมฟุ้งตลบอบอวล ไม่ขาดสาย
ทิพยสุคนธ์เช่นนี้ในมนุษยโลกไม่มี
นาคราช เพื่อประสงค์อะไร ท่านจึงยังบำเพ็ญตบะอยู่
(นาคราชกราบทูลว่า)
[๒๗๕] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะ
เพราะเหตุแห่งบุตร เพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติ
หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่
แต่เพราะข้าพระพุทธเจ้าปรารถนากำเนิดแห่งมนุษย์
เพราะเหตุนั้น จึงบากบั่นบำเพ็ญตบะอยู่
(พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์ว่า)
[๒๗๖] ท่านมีดวงเนตรแดง มีรัศมีเปล่งปลั่ง
ประดับตบแต่งอย่างสวยงาม
ตัดผมโกนหนวดเรียบร้อย ชโลมลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง
เปล่งรัศมีไปทั่วทิศ ดุจราชาแห่งคนธรรพ์
[๒๗๗] ท่านถึงพร้อมด้วยเทพฤทธิ์ มีอานุภาพยิ่งใหญ่
เพียบพร้อมด้วยกามทั้งสิ้น
นาคราช เราขอถามเนื้อความนั้นกับท่าน
มนุษยโลกมีอะไรประเสริฐกว่านาคพิภพนี้หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๐. จัมเปยยชาดก (๕๐๖)
เพียบพร้อมด้วยกามทั้งสิ้น
นาคราช เราขอถามเนื้อความนั้นกับท่าน
มนุษยโลกมีอะไรประเสริฐกว่านาคพิภพนี้หรือ
(นาคราชกราบทูลว่า)
[๒๗๘] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน นอกจากมนุษยโลกแล้ว
ความบริสุทธิ์หรือความสำรวมย่อมไม่มี
ข้าพระพุทธเจ้าได้กำเนิดมนุษย์แล้ว
จะทำที่สุดแห่งการเกิดและการตาย
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๗๙] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้
ข้าพเจ้าเห็นนางนาคกัญญาและตัวท่านแล้ว
จะทำบุญให้มาก นะนาคราช
(นาคราชกราบทูลว่า)
[๒๘๐] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้
ขอเดชะพระมหาราช พระองค์เห็นนางนาคกัญญา
และข้าพระพุทธเจ้าแล้ว
โปรดทรงทำบุญให้มากเถิด
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงทรัพย์จึงกราบทูลว่า)
[๒๘๑] ก็เงินทองของข้าพระพุทธเจ้านี้มีอยู่เพียงพอ
กองทองคำสูงประมาณชั่วลำตาล
พระองค์โปรดให้ขนไปจากที่นี่แล้วจงให้สร้างพระตำหนักทองคำ
และสร้างกำแพงเงินเถิด
[๒๘๒] อนึ่ง แก้วมุกดาประมาณ ๕,๐๐๐ เล่มเกวียน
ที่ปนกับแก้วไพฑูรย์
พระองค์โปรดให้ขนไปจากที่นี่แล้วจงลาดลงบนภาคพื้นภายในบุรี
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาคพื้นจักไม่เป็นโคลนตม
และจะไม่มีฝุ่นละออง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๑. มหาปโลภนชาดก (๕๐๗)
[๒๘๓] ขอเดชะพระมหาราชผู้ประเสริฐ ทรงมีพระปรีชาอันล้ำเลิศ
ขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติ
ครอบครองกรุงพาราณสีซึ่งมั่งคั่งสมบูรณ์
สง่างามล้ำเลิศดุจทิพยวิมานเห็นปานนี้เถิด
จัมเปยยชาดกที่ ๑๐ จบ
๑๑. มหาปโลภนชาดก (๕๐๗)
ว่าด้วยการประเล้าประโลมให้หลง
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า)
[๒๘๔] เทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก จุติจากพรหมโลก
บังเกิดเป็นพระโอรสของพระราชาผู้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ
ซึ่งให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการ
[๒๘๕] กามก็ดี ความสำคัญในกามก็ดี ไม่มีในพรหมโลก
พระกุมารนั้นทรงรังเกียจกามทั้งหลาย
เพราะสัญญานั้นนั่นเอง
[๒๘๖] ก็ภายในเมือง ได้มีเรือนสำหรับบำเพ็ญฌาน
ที่พระราชบิดาโปรดให้สร้างไว้อย่างดีเพื่อพระกุมารนั้น
พระกุมารทรงหลีกเร้นบำเพ็ญฌานอยู่พระองค์เดียว
ในที่ลับในเรือนสำหรับบำเพ็ญฌานนั้น
[๒๘๗] พระราชาพระองค์นั้นทรงอัดอั้นตันพระทัย
ด้วยความโศกเพราะพระโอรส ได้ทรงบ่นเพ้อรำพันว่า
ก็โอรสองค์เดียวของเรานี้ช่างไม่บริโภคกามเสียเลย
(พระราชาทรงบ่นเพ้อรำพันว่า)
[๒๘๘] ผู้ใดพึงเล้าโลมโอรสของเราโดยที่เขาพึงปรารถนากามได้บ้าง
อุบายในข้อนี้นั้นเป็นอย่างไรหนอ
หรือใครรู้เหตุที่จะทำให้โอรสของเรานั้นเกี่ยวข้องกามได้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๑. มหาปโลภนชาดก (๕๐๗)
(พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องว่า)
[๒๘๙] ภายในเมืองนั้นเอง ได้มีกุมารีแรกรุ่นนางหนึ่ง
มีผิวพรรณรูปร่างงดงาม เป็นหญิงฉลาดการฟ้อนรำขับร้อง
และได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีในการบรรเลงดนตรี
[๒๙๐] นางได้เข้าไปภายในพระราชฐาน
ได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
ถ้าหม่อมฉันจักได้พระกุมารเป็นภัสดา
หม่อมฉันก็พึงประเล้าประโลมพระกุมารนั้น
[๒๙๑] พระราชาได้ตรัสกับนางผู้กราบทูลอย่างนั้นดังนี้ว่า
เธอประเล้าประโลมเขาได้ เธอจักได้เขาเป็นภัสดา
(พระศาสดาทรงประกาศความข้อนั้นว่า)
[๒๙๒] ก็นางครั้นไปถึงภายในพระราชฐาน
ได้บรรเลงดนตรียั่วยวนความใคร่นานับประการ
ขับกล่อมคาถาอันไพเราะจับใจ น่ารักใคร่
[๒๙๓] ก็เพราะทรงสดับเสียงขับกล่อมแห่งนารีนั้นขับกล่อมอยู่
กามฉันทะได้เกิดขึ้นแก่พระกุมารนั้น
พระองค์จึงทรงสอบถามชนผู้อยู่รอบ ๆ ข้างว่า
[๒๙๔] นั่นเสียงใครกัน ใครกันนั่นขับร้องสำเนียงเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ
ได้อย่างไพเราะ จับใจ น่ารักใคร่นักหนา เสนาะหูเราเหลือเกิน
(ข้าราชบริพารกราบทูลว่า)
[๒๙๕] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ นั่นเป็นเสียงสตรี
น่าเพลิดเพลินมิใช่น้อย ถ้าพระองค์พึงบริโภคกาม
กามทั้งหลายจะพึงทำพระองค์ให้พอพระทัยยิ่งขึ้น
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[๒๙๖] เชิญนางมาทางนี้ ทำไมขับร้องอยู่ห่างไกลนัก
จงขับร้องอยู่ใกล้ ๆ ตำหนักของเรา และใกล้ ๆ เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๑. มหาปโลภนชาดก (๕๐๗)
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[๒๙๗] นางขับร้องอยู่ภายนอกฝาห้องพระบรรทม
แล้วได้เลื่อนเข้าไปในเรือนสำหรับบำเพ็ญฌานโดยลำดับ
เพื่อจะผูกมัดพระกุมารเหมือนการจับช้างป่า
[๒๙๘] เพราะทรงรู้รสแห่งกาม ความริษยาได้เกิดแก่พระกุมารว่า
เราเท่านั้นพึงบริโภคกาม อย่าพึงมีชายอื่นอยู่เลย
[๒๙๙] ต่อแต่นั้น ทรงจับพระแสงดาบ เสด็จเข้าไปหาชายทั้งหลาย
เพื่อจะทรงฆ่าทิ้งเสีย ด้วยพระดำริว่า
เราคนเดียวเท่านั้นจักบริโภคกาม อย่าพึงมีชายอื่นอยู่เลย
[๓๐๐] แต่นั้น ชาวชนบททั้งปวงได้มาพร้อมกันคร่ำครวญร้องทุกข์ว่า
ขอเดชะมหาราช พระราชโอรสพระองค์นี้
ทรงเบียดเบียนชนผู้ไม่ประทุษร้าย พระเจ้าข้า
[๓๐๑] ก็ขัตติยราชาทรงเนรเทศพระราชโอรสพระองค์นั้น
จากรัฐสีมาของพระองค์ด้วยพระบรมราชโองการว่า
แว่นแคว้นพ่อมีอยู่ประมาณเพียงใด
เจ้าไม่ควรอยู่ในเขตมีประมาณเพียงนั้น
[๓๐๒] ครั้งนั้น พระราชโอรสนั้นทรงพาพระชายา
เสด็จไปถึงฝั่งสมุทรแห่งหนึ่ง
ทรงสร้างบรรณศาลาแล้วเสด็จเข้าป่าเพื่อทรงแสวงหาผลาผล
[๓๐๓] ครั้งนั้น ฤๅษีตนหนึ่งได้เหาะมาเหนือสมุทรถึงบรรณศาลานั้น
ท่านได้เข้าไปยังบรรณศาลาของพระกุมารนั้น
ในเวลาที่นางกุมาริกาจัดแจงพระกระยาหาร
[๓๐๔] ส่วนพระชายาได้ประเล้าประโลมฤๅษีนั้น
ดูเอาเถิด กรรมที่นางทำแสนจะหยาบช้าเพียงไร
ที่ฤๅษีตนนั้นเคลื่อนจากพรหมจรรย์และเสื่อมจากฤทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๑. มหาปโลภนชาดก (๕๐๗)
[๓๐๕] ฝ่ายพระราชบุตรแสวงหามูลผลาผลในป่าได้เป็นจำนวนมาก
ทรงหาบมาในเวลาใกล้เที่ยงวัน เสด็จเข้าไปยังพระอาศรม
[๓๐๖] ก็แลฤๅษีพอเห็นขัตติยกุมาร จึงหลบไปยังฝั่งสมุทร
ด้วยดำริว่า เราจักเหาะไป แต่ท่านก็จมลงในห้วงน้ำใหญ่
[๓๐๗] ฝ่ายขัตติยกุมารทอดพระเนตรเห็นฤๅษีจมอยู่ในห่วงน้ำใหญ่
เพื่อจะทรงช่วยเหลือท่าน จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๐๘] ตัวท่านเองเดินมาได้บนผิวน้ำไม่แตกแยกด้วยฤทธิ์
ครั้นถึงความคลุกคลีกับหญิงแล้ว จึงจมลงในห้วงน้ำใหญ่
[๓๐๙] ธรรมดาหญิงทั้งหลายมีความหมุนเวียนเปลี่ยนอยู่เสมอ
มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ
ย่อมจมลง(ในนรก)
บุคคลรู้ชัดเนื้อความข้อนั้นแล้ว พึงเว้นให้ห่างไกล
[๓๑๐] หญิงเหล่านั้นพูดจาอ่อนหวาน ไม่รู้จักพอ
ให้เต็มได้ยากเหมือนกับแม่น้ำ ย่อมจมลง(ในนรก)
บุคคลรู้ชัดเนื้อความข้อนั้นแล้ว พึงเว้นให้ห่างไกล
[๓๑๑] หญิงเหล่านั้นคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ย่อมตามเผาผลาญชายนั้นทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของตนเอง
[๓๑๒] ความเบื่อหน่ายได้มีแก่ฤๅษีเพราะฟังพระดำรัสของขัตติยกุมาร
ฤๅษีนั้นกลับได้ทางที่ได้บรรลุมาก่อน จึงเหาะกลับไป
[๓๑๓] ฝ่ายขัตติยกุมารผู้ทรงพระปรีชา
ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีกำลังเหาะไป
ทรงได้ความสังเวช จึงน้อมพระทัยสู่บรรพชา
[๓๑๔] ต่อแต่นั้น พระองค์ทรงบรรพชา
สำรอกกามราคะได้แล้ว ทรงเข้าถึงพรหมโลก ดังนี้
มหาปโลภนชาดกที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๒. ปัญจปัณฑิตชาดก (๕๐๘)
๑๒. ปัญจปัณฑิตชาดก (๕๐๘)
ว่าด้วยบัณฑิต ๕ คน
(พระราชาทรงรับที่จะทดลองมโหสธบัณฑิต จึงตรัสสั่งว่า)
[๓๑๕] ท่านบัณฑิตทั้ง ๕ มากันพร้อมแล้ว
ปัญหาแจ่มแจ้งแก่เรา ขอพวกท่านจงสดับ
เรื่องที่ควรติเตียนก็ดี เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี
ซึ่งเป็นความลับของเรา ควรเปิดเผยแก่ใครดี
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๓๑๖] ขอเดชะพระภูมิบาล ขอพระองค์ทรงเปิดเผยก่อน
พระองค์ทรงชุบเลี้ยงข้าพระพุทธเจ้า
ทรงอดกลั้นต่อภาระอันหนัก โปรดแถลงเนื้อความก่อน
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน นักปราชญ์ทั้ง ๕ พิจารณา
สิ่งที่พอพระทัยและสิ่งที่ถูกพระอัธยาศัยของพระองค์แล้ว
จะกราบทูลต่อภายหลัง
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสคาถานี้ด้วยความที่พระองค์ทรงตกอยู่ในอำนาจ
กิเลสว่า)
[๓๑๗] บุคคลควรเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่ภรรยาผู้มีศีล ไม่นอกใจสามี
คล้อยตามอำนาจความพอใจของสามี
เป็นที่รักที่โปรดปรานของสามี
(แต่นั้น เสนกบัณฑิตยินดีแล้วเมื่อจะแสดงเหตุที่ตนทำไว้เอง จึงกราบทูลว่า)
[๓๑๘] บุคคลควรเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่เพื่อนผู้เป็นที่พึ่งที่พำนัก
และผู้เป็นทางดำเนินของเพื่อนผู้ตกยากทุรนทุรายได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๒. ปัญจปัณฑิตชาดก (๕๐๘)
(ปุกกุสบัณฑิตถูกพระราชาตรัสถาม จึงกราบทูลว่า)
[๓๑๙] บุคคลพึงเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่พี่ชายคนโต คนกลาง หรือแก่น้องชาย
ผู้มีศีลตั้งมั่น มีตนมั่นคง
(กามินทบัณฑิตถูกพระราชาตรัสถาม จึงกราบทูลว่า)
[๓๒๐] บุคคลพึงเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่บุตรผู้ปรนนิบัติรับใช้บิดา
ผู้เป็นอนุชาตบุตรคล้อยตามบิดา มีปัญญาไม่ต่ำทราม
(เทวินทบัณฑิตถูกพระราชาตรัสถาม จึงกราบทูลว่า)
[๓๒๑] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย
บุคคลพึงเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่มารดาผู้เลี้ยงดูบุตรด้วยความรักความพอใจ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลเหตุแห่งความลับว่า)
[๓๒๒] ธรรมดาความลับปกปิดไว้เท่านั้นเป็นการดี
การเปิดเผยความลับบัณฑิตไม่สรรเสริญ
เพราะเมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จ นักปราชญ์พึงอดกลั้นไว้ก่อน
ความปรารถนาสำเร็จแล้ว พึงพูดได้ตามสบาย
(ฝ่ายพระนางอุทุมพรเทวีทูลถามถึงเหตุแห่งความโศกของพระราชาว่า)
[๓๒๓] ขอเดชะพระราชาผู้ประเสริฐ เพราะเหตุไร
พระองค์ทรงมีพระทัยวิปริตไป ขอเดชะพระองค์ผู้จอมมนุษย์
หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์
พระองค์ทรงดำริอย่างไรหรือ จึงทรงโทมนัส
ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ หม่อมฉันไม่มีความผิดเลยหรือเพคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๒. ปัญจปัณฑิตชาดก (๕๐๘)
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสตอบพระนางว่า)
[๓๒๔] ในเพราะปัญหาว่า มโหสธบัณฑิตจะถูกฆ่า
มโหสธผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ถูกพี่สั่งฆ่า
พี่คิดถึงเรื่องนั้นจึงเสียใจ พระเทวี น้องไม่มีความผิดหรอก
(พระราชาทรงทำเหมือนไม่ทรงทราบอะไร ตรัสถามมโหสธบัณฑิตว่า)
[๓๒๕] เจ้าไปตั้งแต่พลบค่ำ เพิ่งจะมาเดี๋ยวนี้
เพราะได้ฟังเรื่องอะไรหรือ ใจของเจ้าจึงหวาดระแวง
เชิญเถิด เจ้าผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ใครได้เรียนอะไรให้เจ้าฟัง
เราขอฟังคำนั้น เจ้าจงเล่าเรื่องนั้นให้เราฟัง
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตทูลเตือนพระราชาว่า)
[๓๒๖] ในปัญหาว่า มโหสธจะถูกฆ่า
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ก็เพราะพระองค์เสด็จอยู่ในที่ลับ
ได้ตรัสบอกเรื่องที่พระองค์ทรงปรึกษาแล้วแก่พระเทวีตอนกลางคืน
ความลับนั้นพระเทวีทรงเปิดเผยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของเสนกบัณฑิตก่อนว่า)
[๓๒๗] ท่านเสนกบัณฑิตได้ทำกรรมชั่ว
เยี่ยงอสัตบุรุษอันใดไว้ที่ป่าไม้รัง
เขาอยู่ในที่ลับแล้วได้บอกแก่เพื่อนคนหนึ่ง
ความลับนั้นท่านเสนกบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของปุกกุสบัณฑิตว่า)
[๓๒๘] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน โรคอันไม่คู่ควรแก่พระราชา
เกิดขึ้นแล้วแก่ปุกกุสะบุรุษของพระองค์
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่พี่น้องชายคนหนึ่ง
ความลับนั้นท่านปุกกุสบุรุษได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๒. ปัญจปัณฑิตชาดก (๕๐๘)
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของกามินทบัณฑิตว่า)
[๓๒๙] กามินทบัณฑิตผู้นี้มีอาพาธเยี่ยงอสัตบุรุษ ถูกนรเทพเข้าสิง
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่บุตรชาย
ความลับนั้นกามินทบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตเมื่อจะกราบทูลความลับของเทวินทบัณฑิต จึง
กล่าวคาถานี้ว่า)
[๓๓๐] ท้าวสักกเทวราชได้ทรงประทานแก้วมณี ๘ เหลี่ยม
อันรุ่งเรืองยิ่งนักแด่พระอัยยกาของพระองค์
บัดนี้ แก้วมณีนั้นตกอยู่ในมือของเทวินทบัณฑิต
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่มารดา
ความลับนั้นท่านเทวินทบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาแล้วแสดงธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า)
[๓๓๑] ธรรมดาความลับปกปิดไว้เท่านั้นเป็นการดี
การเปิดเผยความลับบัณฑิตไม่สรรเสริญ
เพราะเมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จ
นักปราชญ์พึงอดกลั้นไว้ก่อน
ความปรารถนาสำเร็จแล้ว พึงพูดได้ตามสบาย
[๓๓๒] บัณฑิตไม่พึงเปิดเผยความลับ
พึงรักษาความลับนั้นไว้เหมือนรักษาขุมทรัพย์
เพราะว่าความลับบุคคลรู้อยู่ ไม่เปิดเผยได้เป็นการดี
[๓๓๓] บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี ๑ ศัตรู ๑
คนที่ใช้อามิสล่อ ๑ คนผู้ล้วงความลับ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)
[๓๓๔] คนผู้รู้ความลับที่ผู้อื่นไม่รู้
เพราะกลัวความลับที่ปรึกษาหารือกันไว้จะแตก
ย่อมอดกลั้นไว้ดุจบุคคลผู้เป็นทาสเขา
[๓๓๕] คนมีประมาณเท่าใดล่วงรู้ความลับที่เขาปรึกษากัน
คนมีประมาณเท่านั้นเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัวของเขา
เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับ
[๓๓๖] ในเวลากลางวันควรพูดความลับในที่สงัด
เวลากลางคืนไม่ควรพูดดังเกินไป
เพราะเหตุว่าคนแอบฟังได้ยินความลับที่ปรึกษากันเข้า
ความลับนั้นจะถึงการแพร่งพรายโดยเร็วพลัน
ปัญจปัณฑิตชาดกที่ ๑๒ จบ
๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)
ว่าด้วยหัตถิปาลกุมาร
(หัตถิปาลกุมารเห็นฤๅษีเหล่านั้นแล้วดีใจเลื่อมใส ได้กล่าว ๓ คาถาว่า)
[๓๓๗] นานแล้วหนอ ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้พบเห็นพราหมณ์
ผู้มีเพศดังเทพ มีชฎาใหญ่ ทรงไว้ซึ่งหาบคอน
มีขี้ฟันเขรอะ มีศีรษะหมักหมมด้วยธุลี
[๓๓๘] นานแล้วหนอ ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้พบเห็น
ฤๅษีผู้ยินดีในธรรมคุณ
นุ่งผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด มีผ้าคากรองปิดร่างกาย
[๓๓๙] ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงรับอาสนะ น้ำ
และผ้าเช็ดเท้าของข้าพเจ้าเถิด
ข้าพเจ้าขอถวายของมีค่าต้อนรับพระคุณเจ้าผู้เจริญ
ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงใช้สอยของมีค่าของข้าพเจ้าด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)
(ต่อมาพระราชบิดาเมื่อทรงพร่ำสอนพระกุมารตามอัธยาศัย จึงตรัสคาถาว่า)
[๓๔๐] หัตถิบาลลูกรัก เจ้าจงเล่าเรียนวิทยาแสวงหาทรัพย์
ปลูกฝังบุตรธิดาให้ดำรงอยู่ในเหย้าเรือน
แล้วจงเสวยคันธารมณ์ รสารมณ์ และวัตถุกาม๑ทั้งปวงเถิด
เป็นนักบวชได้ในเวลาแก่ เป็นการดี
พระอริยะสรรเสริญผู้บวชนั้นว่าเป็นมุนี
(หัตถิปาลกุมารได้กล่าวคาถาว่า)
[๓๔๑] เวทวิทยาเป็นของไม่จริง
ลาภคือทรัพย์มีสภาพเป็นอันเดียวก็หาไม่
ชนทั้งหลายห้ามความชราได้เพราะลาภคือบุตรก็หาไม่
สัตบุรุษกล่าวยกย่องการปล่อยวางคันธารมณ์และรสารมณ์
ผลสำเร็จย่อมมีได้ เพราะการกระทำของตน
(พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสคาถาว่า)
[๓๔๒] คำของเจ้านั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
ผลสำเร็จย่อมมีได้เพราะการกระทำของตน
แต่มารดาบิดาของเจ้าเหล่านี้แก่เฒ่าแล้ว
พึงเห็นเจ้ามีอายุ ๑๐๐ ปี ไม่มีโรค
(หัตถิปาลกุมารสดับดังนั้นแล้วจึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า)
[๓๔๓] ขอเดชะพระมหาราช ผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน
ความเป็นเพื่อนกับความตาย
ความเป็นมิตรไมตรีกับความแก่ พึงมีแก่ผู้ใด
และแม้ผู้ใดพึงรู้ในกาลบางคราวว่า เราจักไม่ตาย
มารดาบิดาพึงเห็นผู้นั้นมีอายุ ๑๐๐ ปี ไม่มีโรค

เชิงอรรถ :
๑ คันธารมณ์ อารมณ์ที่เกิดแต่กลิ่น รสารมณ์ อารมณ์ที่เกิดแต่รส วัตถุกาม วัตถุที่น่าใคร่ น่าปรารถนา
น่าอยากได้ โดยความได้แก่กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)
[๓๔๔] ถ้าคนยกเรือลงน้ำพายไป นำคนข้ามฟากไปยังฝั่งได้แม้ฉันใด
พยาธิและชราก็ฉันนั้น ย่อมนำสัตว์ไปสู่อำนาจ
ของมัจจุราชผู้ทำที่สุดแน่นอน
(อัสสปาลกุมารเมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชบิดา จึงตรัส ๒ คาถาว่า)
[๓๔๕] กามทั้งหลายเสมือนเปือกตม เสมือนหล่ม
เป็นเครื่องนำใจเหล่าสัตว์ไปได้ ข้ามได้ยาก
เป็นที่ตั้งแห่งพญามัจจุราช
สัตว์ทั้งหลายผู้จมอยู่ในเปือกตมและหล่มคือกามนั้น
เป็นผู้มีอัตภาพเลวทรามย่อมข้ามถึงฝั่งคือพระนิพพานหาได้ไม่
[๓๔๖] เมื่อก่อน อัตภาพนี้ได้กระทำกรรมอันหยาบช้าไว้
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับวิบากกรรมนั้นแล้ว
ความพ้นจากวิบากกรรมนี้ไม่มีแก่ข้าพระพุทธเจ้าเลย
ข้าพระพุทธเจ้าจะปิดกั้นปกปักรักษาอัตภาพนั้นไว้
ขออัตภาพนี้อย่าได้กระทำกรรมหยาบช้าอีกเลย
(โคปาลกุมารทรงปฏิเสธพระราชบิดาแล้ว จึงตรัสคาถาว่า)
[๓๔๗] ขอเดชะพระมหาราช นายโคบาลเมื่อไม่เห็นโคที่หายไปในป่า
ย่อมตามหาฉันใด ขอเดชะพระเจ้าเอสุการีมหาราช
ประโยชน์ของข้าพระพุทธเจ้าก็หายไปแล้วฉันนั้น
ไฉนเล่า ข้าพระพุทธเจ้านั้นจะไม่พึงแสวงหา
(และท่านได้ฟังพระดำรัสขอร้องของพระราชบิดาแล้ว จึงตรัสคาถาอีกว่า)
[๓๔๘] คนกล่าวผัดเพี้ยนว่า พรุ่งนี้ก็เสื่อม ว่า มะรืนนี้ก็ยิ่งเสื่อม
ธีรชนคนใดเล่าจะพึงรู้ว่า อนาคตนั้นไม่มี
แล้วบรรเทาความพอใจที่เกิดขึ้นได้
(อชปาลกุมารกราบทูลปฏิเสธพระราชบิดาแล้ว จึงตรัส ๒ คาถาว่า)
[๓๔๙] ข้าพระพุทธเจ้าเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง
ท่องเที่ยวไปเหมือนคนเมา มีดวงตาเหมือนดอกการะเกด
พญามัจจุราชได้คร่าชีวิตนางในปฐมวัยซึ่งยังมิได้บริโภคโภคะไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น