Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๘-๓ หน้า ๑๒๕ - ๑๘๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(อาสาเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๔๓] ข้าแต่ท่านโกสิยะ ในที่นี้ดิฉันไม่มีเพื่อน
ดิฉันเป็นเทพธิดาเกิดในดาวดึงสพิภพ ชื่อเทพธิดาอาสา
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะหวังจะได้อาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๔๔] พ่อค้าทั้งหลายผู้แสวงหาทรัพย์มีความหวังจึงจะไป
ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในท้องทะเล
บางครั้งพวกเขาย่อมจมลงในท้องทะเลนั้นบ้าง
บางคราวพวกเขาย่อมสูญสิ้นทรัพย์ขาดทุนกลับมาบ้าง
[๒๔๕] ชาวนาทั้งหลายมีความหวังจึงไถนา
หว่านพืช กระทำตามวิธีการ
แต่เพราะศัตรูพืชลงบ้าง ฝนแล้งบ้าง
พวกเขาจึงไม่ได้ประสบผลอะไร ๆ อันจะมีมาจากข้าวกล้านั้น
[๒๔๖] อนึ่ง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข
ตั้งความหวังไว้เบื้องหน้า
ย่อมทำการเยี่ยงบุรุษของตนในกิจหน้าที่ของเจ้านาย
แต่พวกเขากลับถูกบีบคั้นอย่างหนัก
ไม่ได้อะไร ๆ แม้แต่น้อยเลย
เตลิดหนีไปทั่วทิศเพื่อประโยชน์แก่เจ้านาย
[๒๔๗] นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข
มีใจมุ่งหวังที่จะไปสวรรค์
จึงสละธัญญชาติ ทรัพย์สมบัติ และเครือญาติ
บำเพ็ญตบะอันเศร้าหมองแม้ตลอดกาลนาน
ขึ้นสู่ทางผิด จึงแล่นไปสู่ทุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๔๘] ความหวังชื่อว่าก่อเรื่องคลาดเคลื่อน
นรชนเหล่านี้พากันตกนรกก็เพราะหวัง
แน่ะแม่อาสา เธอจงเลิกอาหารทิพย์ในตัวเธอเสีย
คนเช่นเธอไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางสัทธาเทพธิดาว่า)
[๒๔๙] เธอผู้มียศรุ่งเรือง อยู่ด้วยยศ เป็นเจ้าประจำทิศ
อาตมาขอถามเธอผู้มีนามอันน่าเกลียด
แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพชั้นไหน
(ต่อจากนั้น นางสัทธาเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๕๐] ดิฉันชื่อสัทธาเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๑] ก็ในกาลบางคราว มนุษย์ทั้งหลายยึดถือการให้ทานบ้าง
การฝึกฝนตนบ้าง การบริจาคบ้าง ความสำรวมบ้าง
กระทำไปด้วยศรัทธา แต่มนุษย์พวกหนึ่งกลับถูกเธอ
ชักนำผิดทาง จึงกระทำการขโมยบ้าง พูดเท็จบ้าง
คดโกงบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง
[๒๕๒] บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งภรรยาทั้งหลายของชายอื่น
ผู้เสมอเหมือนกัน ประกอบด้วยศีลบ้าง มีวัตรปฏิบัติต่อสามีบ้าง
กำจัดความพอใจแม้ในหญิงทั้งหลายที่เป็นกุลสตรีออกเสียแล้ว
กลับทำความศรัทธาในนางกุมภทาสี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๕๓] แม่นางสัทธาเทพธิดา เธอนั้นแหละประพฤตินอกใจ
กระทำความชั่ว ละทิ้งความดี
เทพธิดาเช่นเธอจึงไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางหิรีเทพธิดาว่า)
[๒๕๔] ในที่สุดแห่งราตรี เมื่อยามรุ่งอรุณ
เทพธิดาผู้ปรากฏรูปพรรณอันอุดม
เธอปรากฏกับอาตมาเปรียบได้กับเทพธิดาผู้นั้น
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพอัปสรชั้นไหน
[๒๕๕] เธอนั้นเป็นใคร เหมือนเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน
เหมือนเปลวเพลิง เหมือนดอกไม้มีกลีบสีแดง
ที่โอนเอนไปมาเพราะถูกลมพัด
คล้ายแม่เนื้อตัวเซื่องซึมกำลังชะเง้อมอง
ดูเหมือนมีความประสงค์จะกล่าว แต่ก็ไม่เปล่งวาจา
(หิรีเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๕๖] ดิฉันชื่อหิรีเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
ดิฉันไม่อาจจะขอแม้อาหารทิพย์ได้
สำหรับหญิง การขอเป็นเหมือนการเปิดเผยอวัยวะที่น่าละอาย
(โกสิยดาบสครั้นได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๕๗] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างอันงดงาม
เธอจักได้ตามธรรม ตามเหตุ เพราะว่าอาหารทิพย์
ใคร ๆ จะได้เพราะการขอหามิได้ นี้เป็นธรรมเนียม
เพราะฉะนั้น อาตมาพึงเชื่อเธอผู้ไม่ขอ
เธอปรารถนาอาหารทิพย์ใด
อาตมาจะให้แม้อาหารทิพย์นั้นแก่เธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๕๘] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
วันนี้ อาตมาขอเชิญเธอในอาศรมของอาตมา
ขอบูชาเธอด้วยรสทุกชนิด แม้อาหารทิพย์นั้น
อาตมาครั้นบูชาเธอแล้วจึงจักบริโภค
(พระบรมศาสดาตรัสพระคาถาต่อไปว่า)
[๒๕๙] หิรีเทวีเทพธิดานั้นได้รับอนุมัติอย่างแน่นอน
จากโกสิยดาบสผู้มีอานุภาพรุ่งเรือง
จึงได้เข้าไปยังอาศรมอันน่ารื่นรมย์
มีน้ำมีผลไม้อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว
เป็นสถานที่ที่สัตว์ผู้มีใจชั่วไม่เข้าไปคบหาทุกเมื่อ
[๒๖๐] ณ ที่ใกล้อาศรมนี้มีหมู่ไม้นานาชนิด
ผลิดอกออกผลจำนวนมาก คือ
มะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม
อีกทั้งโลดทะนง บัวบก การะเกด จันทน์กระพ้อ
และหมากหอมก็ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๖๑] ในป่านี้มีต้นไม้จำนวนมาก คือ
สาละ กุ่ม หว้า โพธิ ไทร มะซาง โศก
ราชพฤกษ์ แคฝอย ย่านทราย จิก และลำเจียก
มีกลิ่นหอมหวลน่ายวนใจ
[๒๖๒] ถั่วแระ อ้อยแขม ถั่วป่า มะพลับ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย
ถั่วเหลืองเมล็ดเล็ก กล้วยมีเมล็ด กล้วยไม่มีเมล็ด
ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด และข้าวสาร
ก็มีจำนวนมากในอาศรมนี้
[๒๖๓] อนึ่ง ด้านเหนือแห่งอาศรมนี้มีสระโบกขรณีเกิดขึ้นเอง
น่าเกษมสำราญ น้ำไม่ขุ่น มีท่าราบเรียบ
น้ำใสสะอาด จืดสนิทดี ไม่มีกลิ่นปฏิกูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๖๔] ในสระโบกขรณีนั้นมีปลานานาชนิด คือ
ปลาดุก ปลากระทุงเหว ปลากราย กุ้ง
ปลาตะเพียน ปลาสลาด และปลากา
ต่างพากันแหวกว่ายเกลื่อนกลาดอยู่ในสระที่มีขอบคัน
อย่างร่าเริงเกษมสำราญ ทั้งมีอาหารมากมาย
[๒๖๕] ที่สระโบกขรณีนั้นมีนกนานาชนิด คือ
หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจักรพราก
นกออก นกดุเหว่า นกที่มีปีกสวยงาม
นกมีหงอน และนกโพระดกจำนวนมากมาย
ต่างพากันร่าเริงเกษมสำราญ ทั้งมีอาหารมากมาย
[๒๖๖] ฝูงเนื้อนานาชนิดจำนวนมาก คือ
สิงโต เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาป่า และเสือดาว
ต่างพากันมาดื่มน้ำที่สระโบกขรณีนั้น
[๒๖๗] ณ ที่นั้นมีทั้งแรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง
เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน ชะมด เสือปลา
กระต่าย และวัวกระทิงเป็นจำนวนมาก
[๒๖๘] ภาคพื้นและขุนเขาดารดาษไปด้วยดอกไม้อันงามวิจิตร
กึกก้องระงมไปด้วยเสียงฝูงนกขานขัน
เป็นสถานที่ฝูงนกอยู่อาศัย
(พระบรมศาสดาเพื่อจะทรงแสดงอาการที่หิรีเทพธิดาเข้าไปในอาศรมนั้น จึง
ตรัสว่า)
[๒๖๙] เทพธิดานั้นผู้มีผิวพรรณงดงาม ทัดทรงดอกไม้สีเขียว
เยื้องกรายเข้าไปยังอาศรม
ประดุจสายฟ้าในระหว่างกลุ่มมหาเมฆ
โกสิยดาบสได้จัดตั้งเก้าอี้ที่ทำด้วยหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
มีพนักถักไว้อย่างดี สะอาด มีกลิ่นหอม
ปูลาดด้วยหนังสัตว์เพื่อเทพธิดานั้น
แล้วได้กล่าวคำนี้กับหิรีเทวีเทพธิดาว่า
เชิญนั่งให้สบายเถิด แม่โฉมงาม นี่อาสนะ
[๒๗๐] ในกาลนั้น เมื่อนางหิรีเทวีนั้นนั่งบนเก้าอี้แล้ว
โกสิยมหามุนีผู้สวมชฎาและหนังเสือเหลือง
ได้รีบนำอาหารทิพย์พร้อมกับใช้ใบบัวสดตักน้ำมา
เพื่อนางเทพธิดาผู้ปรารถนาตามความต้องการด้วยตนเอง
[๒๗๑] หิรีเทวีเทพธิดานั้นมีใจเบิกบาน
ประคองรับอาหารทิพย์นั้นด้วยมือทั้ง ๒
แล้วได้กล่าวกับโกสิยดาบสผู้เกล้าชฎาว่า
เอาเถิด พระมุนีผู้ประเสริฐ บัดนี้
ดิฉันเป็นผู้ที่พระคุณเจ้ายอมบูชา ได้รับชัยชนะแล้ว
จะพึงกลับไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[๒๗๒] เทพธิดานั้นผู้มัวเมาแล้วด้วยความมัวเมาในผิวพรรณ
อันโกสิยดาบสผู้มีอานุภาพรุ่งเรืองอนุญาตแล้ว
ได้ไปในสำนักของท้าวสหัสสนัยน์แล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่ท้าววาสวะ นี้อาหารทิพย์
ขอพระองค์ทรงประทานชัยชนะให้แก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า
[๒๗๓] แม้ท้าวสักกะก็ได้ทรงบูชาหิรีเทวีเทพธิดานั้น
ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์
ต่างพากันบูชานางสุรกัญญาผู้สูงสุด
เทพธิดานั้นเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประนมมือบูชา
ในกาลที่ตนเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวใหม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงทำข้อความนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า)
[๒๗๔] ท้าวสหัสสนัยน์ผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
ได้ตรัสกับมาตลีเทพสารถีนั้นอีกว่า
ท่านจงไปถามโกสิยฤๅษีตามคำของเราว่า
ข้าแต่ท่านโกสิยะ เว้นเทพธิดาอาสา เทพธิดาสัทธา
และเทพธิดาสิรีเสีย เทพธิดาหิรีผู้เดียว
ได้อาหารทิพย์แล้วเพราะเหตุไร
[๒๗๕] มาตลีเทพสารถีได้ขึ้นสู่เวชยันตราชรถอันรุ่งเรือง
เช่นกับเครื่องอุปกรณ์ มีหงอนอันสำเร็จด้วยทองชมพูนุท
โชติช่วงดุจดวงตะวัน ประดับตบแต่งอย่างงดงาม
มีประกายวิจิตรดังทองคำเลื่อนลอยไปได้โดยสะดวกสบาย
[๒๗๖] ณ ราชรถนี้มีรูปดวงจันทร์ รูปช้าง รูปโค รูปม้า รูปกินนร
รูปเสือโคร่ง รูปเสือเหลือง รูปเนื้อทรายทำด้วยทองคำ
ประชุมกันมากมาย มีรูปนกทำท่าทางโผบินอยู่ในราชรถนี้
รูปมฤคาทำด้วยแก้วไพฑูรย์ประชุมกันเป็นฝูง ๆ ในราชรถนี้
[๒๗๗] ที่ราชรถนั้น เทพบุตรทั้งหลายได้เทียมอัศวราชที่มีผิวกาย
คล้ายทองคำ มีพลังเช่นกับช้างหนุ่มประมาณ ๑,๐๐๐ เชือก
ประดับตบแต่งแล้ว มีเครื่องประดับอกคือข่ายทองคำ
มีพู่ห้อยหูทั้ง ๒ ข้าง วิ่งไปได้ด้วยเสียงรวดเร็วไม่ติดขัด
[๒๗๘] มาตลีเทพสารถีขึ้นสู่ราชยานอันประเสริฐนั้น
ได้บันลือไปตลอดทิศทั้ง ๑๐ เหล่านี้
ยังท้องฟ้า ภูเขา ต้นไม้ใหญ่อันเป็นเจ้าแห่งป่าในไพรสณฑ์
และแผ่นดินพร้อมทั้งสมุทรสาครให้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น
[๒๗๙] มาตลีเทพสารถีนั้นได้ไปถึงอาศรมโดยเร็วพลัน
กระทำผ้าปาวารเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ประนมมือแล้วได้กล่าวกับโกสิยเทวพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต
มีคุณอันเจริญ มีวัตรอันฝึกฝนดีแล้วว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๘๐] ท่านโกสิยะ ขอพระคุณเจ้าจงสดับถ้อยคำของพระอินทร์
ข้าพเจ้าเป็นทูต ท้าวปุรินททะตรัสถามพระคุณเจ้าว่า
(ท่านโกสิยะ) เว้นพระนางอาสาเทวี
พระนางสัทธาเทวี และพระนางสิรีเทวีเสีย
พระนางหิรีเทวีผู้เดียวได้อาหารทิพย์แล้วเพราะเหตุไร
(โกสิยดาบสฟังคำของมาตลีเทพบุตรนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๒๘๑] มาตลีเทพสารถี ก็พระนางสิรีเทวี
ปรากฏกับอาตมาว่าเป็นคนตาบอด
พระนางสัทธาเทวีเป็นคนไม่แน่นอน
ส่วนพระนางอาสาเทวีอาตมารู้ได้ว่าเป็นคนพูดจาเหลวไหล
แต่พระนางหิรีเทวีดำรงอยู่ในคุณอันประเสริฐ
(โกสิยดาบสเมื่อจะสรรเสริญคุณของหิรีเทพธิดานั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๘๒] หญิงใด ๆ บางพวก คือ ๑. หญิงสาว
๒. หญิงที่โคตรตระกูลรักษา ๓. หญิงหม้าย
๔. หญิงมีสามี เหล่านี้รู้ฉันทราคะของตนที่เกิดขึ้นอย่างแรงกล้า
ในบุรุษทั้งหลายแล้วหักห้ามจิตของตนเสียได้ด้วยหิริ
[๒๘๓] เมื่อเหล่านักรบผู้พ่ายแพ้ในสงคราม
ที่กำลังสู้รบด้วยลูกศรและหอก
บางพวกกำลังล้มตาย บางพวกกำลังหนีไป
นักรบเหล่าใดสละชีวิตแล้วย่อมหวนกลับมาด้วยความละอาย
นักรบผู้มีความละอายใจเหล่านั้น
จึงกลับมารับใช้เจ้านายได้อีก (กล้าสู้หน้าเจ้านาย)
[๒๘๔] ก็หิรีเทวีเทพธิดานี้มีปกติห้ามชนผู้มีใจบาปเพราะมีหิริ
เปรียบเหมือนทำนบมีปกติกั้นกระแสแห่งสาคร
เทพสารถี เพราะเหตุนั้น ท่านจงกราบทูลหิรีเทวีเทพธิดา
ซึ่งท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้วในโลกทั้งปวงนั้นให้พระอินทร์ทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(มาตลีเทพบุตรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๘๕] ท่านโกสิยดาบส พระพรหมก็ตาม
พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ก็ตาม ท้าวปชาบดีก็ตาม
ใครเล่าจะหยั่งถึงความเห็นของพระคุณเจ้านี้ได้
พระคุณเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ก็พระธิดาของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่เกิดได้รับยกย่องว่า
ประเสริฐสุดในหมู่เทพเพราะมีหิริ
(มาตลีเทพบุตรประสงค์จะนำโกสิยดาบสไปยังเทวโลก จึงกล่าวว่า)
[๒๘๖] เชิญเถิด เชิญพระคุณเจ้ามาขึ้นรถเหาะไป
สู่สวรรค์ชั้นไตรทศ ณ บัดนี้เถิด
รถคันนี้น่าพอใจพระคุณเจ้าผู้มีโคตรเสมอกับพระอินทร์
แม้พระอินทร์ก็ทรงจำนงหวังพระคุณเจ้าอยู่
ขอพระคุณเจ้าจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ในวันนี้เถิด
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๒๘๗] สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ทำบาปย่อมหมดจดด้วยอาการอย่างนี้
อนึ่ง ผลกรรมที่ประพฤติดีแล้วจะไม่สูญหาย
สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เห็นอาหารทิพย์
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดได้ถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์
[๒๘๘] หิรีเทวีเทพธิดาคือพระอุบลวรรณาเถรี
โกสิยฤๅษีคือภิกษุทานบดี
ปัญจสิขเทพบุตรคืออนุรุทธเถระ
ส่วนมาตลีเทพสารถีคือพระอานนทเถระ
[๒๘๙] สุริยเทพบุตรคือพระมหากัสสปเถระ
จันทเทพบุตรคือพระมหาโมคคัลลานเถระ
นารทดาบสคือพระสารีบุตรเถระ
ส่วนท้าวสักกะคือตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้แล
สุธาโภชนชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)
ว่าด้วยนกดุเหว่า
เล่ากันมาอย่างนี้ ได้ฟังตามกันมาอย่างนี้ว่า ที่ประเทศหิมพานต์อันทรงไว้ซึ่ง
แผ่นดินมีโอสถทุกชนิด ดารดาษไปด้วยดอกไม้และพวงดอกไม้มากมายหลายชนิด
เป็นที่สัญจรไปมาแห่งช้าง โคลาน กระบือ กวาง จามรี เนื้อฟาน แรด ระมาด สิงโต
เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า เสือดาว นาก ชะมด เสือปลา กระต่าย
วัวกระทิง เป็นที่อาศัยแห่งโขลงช้างใหญ่และช้างพลายตระกูลมหานาค เกลื่อนกล่น
อยู่ทั่วปริมณฑลอันราบเรียบ มีค่าง ลิง อีเห็น ละมั่ง เนื้อสมัน อีเก้ง ยักษิณี
หน้าลา กินนร ยักษ์ และรากษสอาศัยอยู่ร่วมกัน ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้มากมาย
หลายพันธุ์มีทั้งดอกยังตูม ทั้งกำลังออกช่อ ทั้งดอกที่บานสะพรั่ง และดอกที่บาน
ตลอดยอด มีฝูงนกเขา นกโพระดก นกหัสดีลิงค์ นกยูง นกดุเหว่า นกยาง นกกระสา
ส่งเสียงร้องกึกก้องระงมไพร เป็นภูมิประเทศประดับแน่นไปด้วยแร่ธาตุหลายร้อย
ชนิดเป็นต้นว่าอัญชัน มโนศิลา หรดาล มหาหิงคุ์ ทอง เงิน และทองคำ ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าตัวหนึ่งชื่อ
กุณาละ อาศัยอยู่ เป็นนกที่สวยงาม มีขนและปีกงดงามยิ่งนัก
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า นกดุเหว่าตัวนั้นมีนางนกดุเหว่าเป็นนางบำเรอ
ถึง ๓,๕๐๐ ตัว ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่า ๒ ตัวใช้
ปากคาบท่อนไม้ให้นกกุณาละนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความ
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนนกกุณาละนั้นเลย” นาง
นกดุเหว่า ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้านกกุณาละนี้พลัดตกจากคอน
พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้”
นางนก ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผานก
กุณาละนั้นเลย”
นางนกฝูงละ ๕๐๐ ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว
ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่า
ได้ถูกต้องนกกุณาละนั้นเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
นางนก ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง
สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้
ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวด ทำร้ายนก
กุณาละนั้นเลย นกกุณาละนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน
และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย”
นางนก ๕๐๐ ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน
เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้เงียบเหงาอยู่บนคอนเลย”
นางนก ๕๐๐ ตัวพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่าง ๆ จากต้นไม้
หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่าเหล่านั้นพาเอานกกุณาละ
นั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่าน้ำไปยังท่าน้ำ
จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวนต้นหว้าไปยัง
สวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวนมะพร้าวไปยัง
สวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นกกุณาละผู้มีนางนกเหล่านั้น
ห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน ก็ยังด่าอย่างนี้ว่า “ถอยออกไป พวกเจ้าอีนกถ่อย พวกเจ้า
จงฉิบหาย อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตน
เองเหมือนลม๑”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ด้านทิศตะวันออกแห่งภูเขาหิมพานต์
นั้นแล มีแม่น้ำที่เกิดแต่ภูเขาอันสุขุมละเอียดอ่อน มีสีเขียว ไหลบ่าออกมา เป็น

เชิงอรรถ :
๑ ถ่อย หมายถึงชั่ว เลว ทราม โจร ในที่นี้หมายถึงเป็นตัวล้างผลาญทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นในเรือน
นักเลง ในที่นี้หมายถึงเป็นสัตว์มีมายามาก เผอเรอ หมายถึงเสียสติ ใจเบา หมายถึงมีใจไม่มั่นคง
เนรคุณคน ในที่นี้หมายถึงเป็นส้ตว์ก่อความพินาศ เพราะประทุษร้ายมิตร ตามใจตนเองเหมือนลม
หมายถึงไปตามชอบใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๗-๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ภูมิประเทศที่สมควรรื่นรมย์ใจ ชื่นใจ ด้วยกลิ่นหอมแห่งดอกอุบล ดอกปทุม ดอกโกมุท
ดอกบัวขาว ดอกสัตบุศย์ ดอกจงกลนี และดอกบัวเผื่อน ซึ่งงอกงามขึ้นในบัดนั้น
เป็นดังป่าหมู่ไม้นานาพันธุ์ คือ ต้นโกฐคำ ต้นจิก ต้นลำเจียก ต้นย่านทราย
ต้นอ้อยช้าง ต้นบุนนาค ต้นพิกุล ต้นหมากหอม ต้นประดู่ ต้นขมิ้น ต้นรัง
ต้นสน ต้นจำปา ต้นอโศก ต้นกากะทิง ต้นหงอนไก่ ต้นเสม็ด ต้นโลดทะนง และต้น
จันทน์แดง เป็นป่าชัฏที่ดาษดื่นไปด้วยต้นกฤษณาดำ ต้นบัวบก ต้นประยงค์ ต้น
เทพพารุ และต้นกล้วย เป็นภูมิภาคที่สะพรั่งไปด้วยพวงช่อดอกไม้แห่งต้นรกฟ้า
ต้นอัญชัน ต้นปรู ต้นสัก ต้นคนทีสอ ต้นกรรณิการ์ ต้นหางช้าง ต้นคัดเค้า
ต้นทองหลาง ต้นทองกวาว ต้นโยธกา ต้นมะลิป่า ต้นหงอนไก่ อันปราศจากมลทิน
ไม่มีโทษ และต้นขานางอันสวยงามยิ่ง อันดารดาษไปด้วยพุ่มและกอแห่งต้นมะลิซ้อน
ต้นนมแมว ต้นแคธนู ต้นเปราะหอม ต้นกฤษณา และต้นแฝกหอม เป็นประเทศ
ที่ดารดาษประดับไปด้วยเครือเถาดอกไม้ที่เบ่งบานสวยงามน่าพอใจยิ่งนัก มีฝูงหงส์
นกนางนวล นกกาน้ำ และนกเป็ดน้ำส่งเสียงกึกก้องร้องระงม เป็นที่สถิตอยู่แห่ง
หมู่วิทยาธร นักสิทธิ์ สมณะ และดาบส เป็นประเทศที่สัญจรไปมาเป็นอาจิณแห่ง
หมู่เทพยดา ยักษ์ รากษส ทานพ คนธรรพ์ กินนร และพญานาค
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนก
ดุเหว่าขาวอีกตัวหนึ่งชื่อปุณณมุขะ อาศัยอยู่ มีสำเนียงไพเราะยิ่งนัก มีนัยน์ตางดงาม
มีดวงตาแดงเหมือนคนเมา
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นแลมีนางนก
เป็นบริวาร ๓๕๐ ตัว ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนก ๒ ตัวใช้ปากคาบท่อนไม้ให้
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความเหน็ด
เหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้าปุณณมุขนกดุเหว่าขาวน
ี้พลัดตกจากคอน พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผา
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
นางนกฝูงละ ๕๐ ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว
ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่าได้
ถูกต้องปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง
สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้
ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวดทำร้าย
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์
ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน
เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ อย่าเงียบเหงาอยู่
บนคอนเลย”
นางนก ๕๐ ตัวพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่าง ๆ จากต้นไม้
หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้อย่าได้ลำบากเพราะความ
หิวเลย”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกเหล่านั้นพาเอาปุณณมุขนก
ดุเหว่าขาวนั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่า
น้ำไปยังท่าน้ำ จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวน
ต้นหว้าไปยังสวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวน
มะพร้าวไปยังสวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวผู้มีนางนก
เหล่านั้นห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน จึงสรรเสริญอย่างนี้ว่า “ดีละ ดีละ แม่น้องหญิง
ทั้งหลาย การที่พวกเธอพึงปฏิบัติบำเรอภัสดา นั่นเป็นการสมควรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เป็นกุลธิดา”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ในกาลต่อมา ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้เข้า
ไปหาพญานกกุณาละจนถึงที่อยู่ พวกนางนกผู้เป็นนางบำเรอของพญานกกุณาละ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ได้เห็นปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นกำลังบินมาแต่ไกล จึงพากันเข้าไปหาแล้ว
กล่าวว่า นกปุณณมุขะเพื่อนรัก นกกุณาละตัวนี้เป็นนกหยาบช้า มีวาจาหยาบ
คายเหลือเกิน ไฉนพวกข้าพเจ้าจะพึงได้วาจาอันน่ารักเพราะอาศัยท่านบ้าง นก
ปุณณมุขะจึงกล่าวตอบว่า “บางทีจะได้บ้าง น้องหญิงทั้งหลาย” แล้วจึงเข้าไปหา
นกกุณาละจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัมโมทนียกถากับนกกุณาละแล้ว
จับอยู่ ณ ที่สมควร ครั้นแล้วปุณณมุขนกดุเหว่าขาว จึงได้กล่าวกับนกกุณาละนั้นว่า
กุณาละเพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุไร เพื่อนจึงปฏิบัติอย่างผิด ๆ ต่อนางนกผู้มีชาติเสมอกัน
เป็นกุลธิดาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเล่า กุณาละเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลาย
แม้จะพูดถ้อยคำที่ไม่น่าพอใจ บุคคลก็ควรจะพูดถ้อยคำที่น่าพอใจแก่พวกเธอ จะ
กล่าวไปไยถึงพวกหญิงที่พูดถ้อยคำที่น่าพอใจเล่า”
เมื่อนกปุณณมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว นกกุณาละได้รุกรานปุณณมุขนกดุเหว่าขาว
นั้นอย่างนี้ว่า “จงฉิบหาย จงพินาศเสียเถิดเจ้า เจ้าเพื่อนลามก เจ้าเพื่อนถ่อย
จะมีใครที่ฉลาดเหมือนผู้ปราบเมียได้เล่า”
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวถูกรุกรานอย่างนี้แล้วจึงได้กลับจากที่นั้น
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า โดยสมัยอื่นต่อมา โดยการล่วงไปไม่นานนัก
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้เกิดความไม่สบายอย่างหนักขึ้น ถ่ายเป็นเลือด เกิดเวทนา
กล้าแข็งปางตาย
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกทั้งหลายผู้เป็นนางบำเรอของ
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ไม่สบาย
หนักนัก ไฉนจะพึงหายจากความไม่สบายนี้ได้ จึงพากันละทิ้งไว้ตัวเดียวไม่มีเพื่อน
แล้วเข้าไปหานกกุณาละจนถึงที่อยู่
นกกุณาละได้เห็นนางนกเหล่านั้นกำลังโผบินมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับนางนก
เหล่านั้นอย่างนี้ว่า “นางนกถ่อยทั้งหลาย ผัวของพวกเจ้าไปไหนเสียเล่า”
“กุณาละเพื่อนเอ๋ย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวไม่สบายหนักนัก ไฉนจะพึงหาย
จากความไม่สบายนั้นได้เล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
เมื่อนางนกเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นกกุณาละได้รุกรานนางนกเหล่านั้น
อย่างนี้ว่า “อีนกถ่อย พวกเจ้าจงฉิบหาย จงพินาศ อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ
อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตนเองเหมือนลม” ครั้นกล่าวแล้วจึงได้เข้าไปหา
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกับปุณณมุขนก
ดุเหว่าขาวตัวนั้นอย่างนี้ว่า “ยังอยู่ดีหรือ ปุณณมุขะเพื่อน”
“ยังอยู่ดี กุณาละเพื่อน”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ลำดับนั้น นกกุณาละได้ใช้ปีกทั้ง ๒ และจะงอย
ปากประคองให้ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นลุกขึ้นแล้วกรอกเภสัชต่างๆ ให้ดื่ม
ได้ยินว่า ครั้งนั้น ความไม่สบายของปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นก็ระงับไป
แล้วแล
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ลำดับนั้น นกกุณาละได้กล่าวกับปุณณมุข
นกดุเหว่าขาวตัวหายจากไข้ซึ่งหายจากความป่วยไข้ไม่นานนั้นอย่างนี้ว่า “เราได้เห็นมา
แล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย เราได้เห็นนางกัณหา มีบิดา ๒ คน๑ มีผัว ๕ คน๒ ยังมี
จิตปฏิพัทธ์ในชายคนที่ ๖ ซึ่งเป็นคนเปลี้ย เหมือนผีหัวขาด ก็แลในเรื่องนี้ ยังมี
คำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๐] ครั้งนั้น นางล่วงละเมิด (นอกใจ) สามีทั้ง ๕ คน
เหล่านี้ คือ ๑. ท้าวอัชชุนะ๓ ๒. ท้าวนกุละ
๓. ท้าวภีมเสน ๔. ท้าวยุธิฏฐิละ ๕. ท้าวสหเทพ
แล้วได้กระทำลามกกับชายเตี้ยค่อม

เชิงอรรถ :
๑ มีบิดา ๒ คน คือพระเจ้ากาสีและพระเจ้าโกศล พระเจ้ากาสีรบชนะพระเจ้าโกศล ได้ราชสมบัติและมเหสี
ผู้ทรงครรภ์มาด้วย พระองค์ได้ตั้งพระมเหสีนั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ต่อมา พระนางประสูติพระ
ราชธิดาให้ชื่อว่า กัณหา (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๙-๓๒๘)
๒ มีผัว ๕ คน คือ ท้าวอัชชุนะเป็นต้น พระราชกุมารทั้ง ๕ เป็นโอรสของพระเจ้าปัณฑุราช จบการศึกษา
จากเมืองตักกสิลา เดินทางผ่านมาทางเมืองพาราณสี ถูกพระราชธิดากัณหาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกเป็น
พระสวามีทั้ง ๕ พระองค์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๘)
๓ ท้าวอัชชุนะ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (๘/๒๙๐/๓๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย นางสมณีชื่อปัญจตปาวี อาศัยอยู่
ท่ามกลางป่าช้า ยังพรตคือการอดอาหาร ๔ วันแล้วจึงจะบริโภคให้ผันแปรไป ได้
กระทำลามกกับนักเลงสุรา๑
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย พระเทวีนามว่ากากวดี อยู่ ณ ท่าม
กลางมหาสมุทร เป็นภรรยาของพญาครุฑนามว่าเวนเตยยะ๒ ได้กระทำลามกกับ
คนธรรพ์นามว่านฏกุเวร
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย เจ้าหญิงขนงามนามว่ากุรุงคเทวี
ผู้ทำให้เอฬิกกุมาร๓ มีความรักใคร่ ได้กระทำลามกกับฉฬังคกุมารเสนาบดีและ
ธนันเตวาสี
ความจริง เรื่องนั้นเราได้รู้มาอย่างนี้ พระมารดาของพระเจ้าพรหมทัตทรง
ทอดทิ้งพระเจ้าโกศลแล้วได้ทรงกระทำลามกกับปัญจาลจัณฑพราหมณ์๔
[๒๙๑] หญิงทั้ง ๕ คนเหล่านี้ก็ดี หญิงเหล่าอื่นก็ดี
ได้กระทำกรรมอันลามกแล้ว
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจ ไม่สรรเสริญหญิงทั้งหลาย
แผ่นดินคือภูมิเป็นที่เป็นไปแห่งเหล่าสัตว์
อันทรงไว้ซึ่งรัตนะต่าง ๆ
เป็นที่รองรับทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี มีความยินดีเสมอกัน
ทนทานได้ทุกอย่าง ไม่ดิ้นรน ไม่โกรธ ฉันใด
หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรวางใจหญิงทั้งหลายเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ นักเลงสุรา เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๒)
๒ พญาครุฑ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับกากวตีชาดก ชาดกที่ ๓๒๗ ใน
จตุกกนิบาต (เล่ม ๒๗/๑๐๕/๑๐๙) (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๒)
๓ เอฬิกกุมาร เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๕)
๔ ปัญจาลจัณฑพราหมณ์ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๒] สิงโตซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย กินเลือดและเนื้อเป็นอาหาร
มีอาวุธ ๕ อย่าง๑ เป็นสัตว์หยาบช้า
ชอบในการเบียดเบียนสัตว์อื่น ข่มขี่สัตว์ทั้งหลายกินฉันใด
หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน๒
เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรวางใจหญิงทั้งหลายเหล่านั้น
ปุณณมุขะผู้สหาย นัยว่า หญิงทั้งหลายไม่ใช่หญิงแพศยา ไม่ใช่หญิงงามเมือง
ไม่ใช่หญิงคณิกา เพราะหญิงเหล่านั้นจะชื่อว่าเป็นหญิงบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ที่แท้ หญิง
เหล่านี้เป็นหญิงเพชฌฆาต
หญิงทั้งหลายโพกผมเหมือนพวกโจร มีพิษร้ายเหมือนสุราเจือยาพิษ พูด
โอ้อวดเหมือนพ่อค้า กลับกลอกบิดพลิ้วเหมือนนอแรด ลิ้นมีสองแฉกเหมือนงู
ปกปิดความชั่วเหมือนหลุมคูถ ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล ให้ยินดีได้ยากเหมือน
นางรากษส นำไปส่วนเดียวเหมือนพญายม กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพา
ไปทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตามใจตนเองเหมือนลม ไม่กระทำอะไรให้วิเศษ
เหมือนภูเขาสิเนรุ ผลิตผลอยู่เป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ ก็ในเรื่องนี้ยังมีคำกล่าว
เป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๓] หญิงทั้งหลายเหมือนโจร เหมือนสุรามีพิษร้าย
พูดโอ้อวดเหมือนพ่อค้า กลับกลอกบิดพลิ้วเหมือนนอแรด
มีลิ้นสองแฉกเหมือนงู
[๒๙๔] ปกปิดความชั่วเหมือนหลุมคูถ
ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล
ให้ยินดีได้ยากเหมือนนางรากษส
นำไปส่วนเดียวเหมือนพญายม

เชิงอรรถ :
๑ อาวุธ ๕ อย่าง ได้แก่ ปาก ๑ และเท้าทั้ง ๔ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๒/๓๓๗)
๒ หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมายถึงใช้อาวุธ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จับ
บุรุษให้อยู่ในอำนาจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๒/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๕] กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพาไปเหมือนแม่น้ำ
มีความประพฤติตามขอบเขตแห่งความใคร่เหมือนลม
ไม่มีความวิเศษอะไรเหมือนภูเขาสิเนรุ
ผลิตผลอยู่เป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ
หญิงทั้งหลายมักกระทำอันตรายแก่รัตนะทั้งหลาย
ยังโภคสมบัติในเรือนให้พินาศ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ทรัพย์ ๔ อย่างเหล่านี้บัณฑิตไม่ควรให้อยู่ในสกุลอื่น คือ
๑. โคผู้ ๒. แม่โคนม ๓. ยานพาหนะ ๔. ภรรยา บัณฑิตไม่ควรให้ทรัพย์ทั้ง ๔
อย่างเหล่านี้พลัดพรากไปจากเรือน
[๒๙๖] ๑. โคผู้ ๒. แม่โคนม
๓. ยานพาหนะ ๔. ภรรยา
บัณฑิตไม่ควรให้อยู่ในสกุลแห่งญาติ
เพราะญาติทั้งหลายผู้ไม่มียานพาหนะจะใช้สอยรถ
จะฆ่าโคตัวผู้เพราะการใช้ลากเข็นจนเกินกำลัง
จะฆ่าลูกโคเพราะการรีดนมโค
และภรรยาจะประทุษร้าย (นอกใจ) ในสกุลแห่งญาติ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ของ ๖ อย่างเหล่านี้ เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้นแล้ว ย่อมใช้
ประโยชน์อะไรไม่ได้ คือ

[๒๙๗] ๑. ธนูไม่มีสาย ๒. ภรรยาอยู่ในสกุลแห่งญาติ
๓. เรืออยู่ฝั่งโน้น ๔. ยานเพลาหัก
๕. มิตรอยู่แดนไกล ๖. เพื่อนชั่ว

เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้นแล้ว ย่อมใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘
ประการ คือ
๑. เพราะความเป็นคนจน
๒. เพราะความเป็นคนป่วยกระเสาะกระแสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
๓. เพราะความเป็นคนแก่ชรา
๔. เพราะความเป็นนักเลงสุรา
๕. เพราะความเป็นคนโง่เซอะ
๖. เพราะความเป็นคนมัวเมาในกามคุณ
๗. เพราะคล้อยตามกิจการงานทั้งปวง
๘. เพราะหาทรัพย์ทั้งปวงเพิ่มเติมไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการ
เหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๘] หญิงย่อมดูหมิ่นสามี ๑. ผู้ยากจน
๒. ผู้ป่วยกระเสาะกระแสะ ๓. ผู้แก่ชรา
๔. ผู้เป็นนักเลงสุรา ๕. ผู้มัวเมาในกามคุณ
๖. ผู้เป็นคนโง่เซอะ ๗. ผู้โง่เขลาในกิจการงานทั้งปวง
๘. ผู้ย่อหย่อนเพราะหาทรัพย์ที่ให้ความใคร่ทั้งปวงเพิ่มเติมไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีด้วยเหตุ
๙ ประการ คือ
๑. ไปสวนดอกไม้เป็นประจำ
๒. ไปอุทยานเป็นประจำ
๓. ไปท่าน้ำเป็นประจำ
๔. ไปตระกูลญาติเป็นประจำ
๕. ไปตระกูลคนอื่นเป็นประจำ
๖. ส่องกระจกและประกอบการตบแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าเป็น
ประจำ
๗. ชอบดื่มน้ำเมาเป็นประจำ
๘. เยื้องมองทางหน้าต่างเป็นประจำ
๙. ชอบยืนอวดทรวดทรงอยู่ที่ประตูเป็นประจำ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีด้วย
เหตุ ๙ ประการเหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๙] ก็หญิงใด ๑. ไปสวนดอกไม้ ๒. ไปอุทยาน ๓. ไปท่าน้ำ
๔. ไปตระกูลญาติ ๕. ไปตระกูลคนอื่นเป็นประจำ
๖. ส่องกระจกและประกอบการตบแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าเป็นประจำ
๗. ชอบดื่มน้ำเมาเป็นประจำ
[๓๐๐] ๘. เยื้องมองทางหน้าต่างเป็นประจำ
๙. ชอบยืนอวดทรวดทรงอยู่ที่ประตูเป็นประจำ
หญิงทั้งหลายเหล่านั้นย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามี
ด้วยเหตุ ๙ ประการเหล่านี้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการ คือ

๑. บิดกาย ๒. ก้มลง
๓. เยื้องกราย ๔. ทำละอาย
๕. เอาเล็บถูกัน ๖. เอาเท้าเหยียบกัน
๗. เอาไม้ขีดแผ่นดิน ๘. ให้เด็กกระโดด
๙. เล่นเอง ให้เด็กเล่น ๑๐. จูบเด็ก ให้เด็กจูบ
๑๑. บริโภคเอง ให้เด็กบริโภค ๑๒. ให้ของเด็ก
๑๓. ขอของเด็ก ๑๔. ทำตามที่เด็กกระทำ
๑๕. ทำเสียงสูง ๑๖. ทำเสียงต่ำ
๑๗. พูดเปิดเผย ๑๘. พูดปกปิด
๑๙. ทำซิกซี้ด้วยการฟ้อนรำ ๒๐. ด้วยการขับร้อง
๒๑. ด้วยการประโคมดนตรี ๒๒. ด้วยการร้องไห้
๒๓. ด้วยการกรีดกราย ๒๔. ด้วยการแต่งกาย
๒๕. จ้องมอง ๒๖. ส่ายสะเอว
๒๗. ส่ายของลับ ๒๘. เปิดขาอ่อน
๒๙. ปิดขาอ่อน ๓๐. เปิดถันให้ดู
๓๑. เปิดรักแร้ให้ดู ๓๒. เปิดสะดือให้ดู
๓๓. หลิ่วตา ๓๔. ยักคิ้ว
๓๕. เม้มปาก ๓๖. แลบลิ้น
๓๗. ทำผ้านุ่งหลุด ๓๘. กลับนุ่งผ้า
๓๙. สยายผม ๔๐. เกล้าผม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการ
เหล่านี้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงประทุษร้ายสามี บัณฑิตพึงทราบได้ด้วย
เหตุ ๒๕ ประการ คือ
๑. สรรเสริญการจากไปของสามี
๒. สามีจากไปแล้วไม่ระลึกถึง
๓. สามีกลับมาก็ไม่ยินดี
๔. พูดติเตียนสามี
๕. ไม่พูดสรรเสริญสามี
๖. ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๗. ไม่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๘. กระทำกิจอันไม่สมควรต่อสามี
๙. ไม่กระทำกิจอันสมควรต่อสามี
๑๐. นอนคลุมโปง
๑๑. นอนหันหลังให้
๑๒. นอนพลิกไปพลิกมาเป็นโกลาหล
๑๓. ทอดถอนหายใจยาว
๑๔. นอนกระสับกระส่ายเป็นทุกข์
๑๕. ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ่อย ๆ
๑๖. ประพฤติตรงข้าม
๑๗. ได้ยินเสียงชายอื่นเงี่ยหูฟัง
๑๘. ล้างผลาญโภคทรัพย์
๑๙. ทำความสนิทสนมกับชายบ้านใกล้เรือนเคียง
๒๐. ชอบออกนอกบ้าน
๒๑. ชอบเที่ยวตามตรอกซอกซอย
๒๒. ประพฤตินอกใจ ไม่เคารพสามี คิดประทุษร้ายอยู่เป็นนิตย์
๒๓. ยืนอยู่ที่ประตูเนือง ๆ
๒๔. เปิดรักแร้ อวัยวะและถันให้ดู
๒๕. เที่ยวสอดส่องเพ่งมองไปยังทิศต่าง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงประทุษร้ายสามี บัณฑิตพึงทราบได้ด้วย
เหตุ ๒๕ ประการเหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๓๐๑] ๑. สรรเสริญการจากไปของสามี
๒. ไม่โศกเศร้าถึงการจากไปของสามี
๓. เห็นสามีกลับมาไม่ยินดี
๔. ไม่เคยกล่าวคำสรรเสริญสามีสักคราวเดียว
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๒] ๕. ไม่มีความสำรวม ประพฤติแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๖. ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสามีให้เสื่อมสูญ
๗. กระทำกิจอันไม่สมควรต่อสามี
๘. นอนคลุมโปง ๙. นอนหันหลังให้
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๓] ๑๐. นอนพลิกไปพลิกมาเป็นโกลาหล
๑๑. ถอนหายใจยาว
๑๒. นอนกระสับกระส่ายเป็นทุกข์
๑๓. ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ่อย ๆ
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๔] ๑๔. ประพฤติตรงข้าม
๑๕. ไม่กระทำกิจอันสมควรต่อสามี
๑๖. เมื่อชายอื่นพูดเงี่ยหูฟัง
๑๗. ล้างผลาญโภคทรัพย์
๑๘. กระทำความเชยชมกับชายชู้
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๕] ๑๙. ทำทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่สามีหามาได้ด้วยความลำบาก
หามาได้ด้วยความฝืดเคือง
เก็บรวบรวมสะสมไว้ด้วยความยากให้พินาศ
๒๐. ทำความสนิทสนมกับชายบ้านใกล้เรือนเคียง
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๐๖] ๒๑. ชอบออกนอกบ้าน ชอบเที่ยวตามตรอกซอกซอย
๒๒. ประพฤตินอกใจ ไม่เคารพสามี คิดประทุษร้ายอยู่เป็นนิตย์
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๗] ๒๓. ยืนอยู่ใกล้ประตูเนือง ๆ
๒๔. เปิดถันและรักแร้ให้เห็น
๒๕. มีจิตพลุกพล่านเพ่งมองไปยังทิศต่าง ๆ
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๘] แม่น้ำทุกสายไหลไปคดเคี้ยว
ป่าไม้ทุกแห่งล้วนดาษดื่นไปด้วยต้นไม้
หญิงทั้งปวงพึงกระทำความชั่ว
เมื่อได้โอกาสหรือที่ลับ
[๓๐๙] ถ้าว่า พึงได้โอกาสหรือที่ลับ
หรือว่าพึงได้สถานที่ปิดบังเช่นนั้น
หญิงทั้งปวงพึงกระทำความชั่วแน่นอน
ไม่ได้ชายอื่นที่สมบูรณ์
ก็พึงกระทำกับชายง่อยเปลี้ย
[๓๑๐] ก็ในบรรดานารีที่หลายใจ ไม่มีใครข่มขี่ได้
ผู้สร้างความอภิรมย์ยินดีให้แก่ชายทั้งหลาย
แม้หากเธอผู้ใดจะไม่พึงกระทำความปลื้มใจในที่ทั้งปวง
บัณฑิตก็ไม่ควรวางใจ เพราะนารีเปรียบเสมอท่าน้ำ
[๓๑๑] ก็บัณฑิตเห็นเหตุการณ์ของเจ้ากินนรี
และพระนางกินนราเทวีแล้วพึงทราบเถิดว่า
หญิงทั้งปวงจะยินดีในเรือนของสามีเท่านั้นก็หาไม่
พระนางกินนราเทวีได้เห็นชายอื่น ถึงเป็นคนง่อยเปลี้ย
ก็ยังทรงทอดทิ้งคนเช่นกับเจ้ากินนรีนั้นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๑๒] พระมเหสีของพระเจ้าพกะและพระเจ้าพาวริยะ
ผู้ทรงหมกมุ่นในกามจนเกินไป
ได้ทรงประพฤติอนาจารกับคนใช้ใกล้ชิด
ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนา
ชายคนอื่นนั้น ใครหรือหญิงจะไม่พึงประพฤตินอกใจด้วย
[๓๑๓] พระนางปิงคิยานี ผู้เป็นพระมเหสีสุดที่รัก
ของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
ได้ทรงประพฤติอนาจารกับคนเลี้ยงม้า
ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนา
นางผู้มีความใคร่ในกามไม่ได้ประสบความใคร่ทั้ง ๒ แม้นั้น
[๓๑๔] บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิง ไม่ควรจะเชื่อถือหญิงทั้งหลาย
ผู้หยาบช้า ใจเบา ไม่รู้คุณคน มักประทุษร้ายมิตรเลย
[๓๑๕] หญิงเหล่านั้นไม่รู้อุปการะที่คนอื่นกระทำแล้วแก่ตน
ไม่รู้กิจที่ตนควรกระทำ ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง
เป็นผู้ไม่ประเสริฐ ล่วงละเมิดธรรมอยู่เสมอ
เป็นไปตามอำนาจจิตของตนอย่างเดียว
[๓๑๖] สามีสุดที่รัก ที่น่าพอใจ แม้อยู่ด้วยกันมานาน
เป็นผู้อนุเคราะห์ แม้เสมอเหมือนกับชีวิต
พวกนางยังพากันทอดทิ้งไปได้ในคราวเกิดอันตราย
และในคราวมีกิจจะต้องกระทำ
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
[๓๑๗] เพราะว่าจิตของหญิงทั้งหลายเหมือนจิตของวานร
ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนเงาต้นไม้
ดวงใจของหญิงทั้งหลายนั้นหวั่นไหวไปมา
กลับกลอกเหมือนกงล้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๑๘] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งเห็นทรัพย์
ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้
เมื่อนั้น พวกเธอจะใช้วาจาอันอ่อนหวานชักพาเอาบุรุษนั้นไป
เหมือนชาวกัมโพชะใช้สำรับลวงม้า๑
[๓๑๙] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งไม่เห็นทรัพย์
ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้
เมื่อนั้น พวกเธอจะเหินห่างทอดทิ้งบุรุษนั้นไปทุกด้าน
เหมือนคนข้ามฝั่งพอถึงฝั่งแม่น้ำแล้ว
ก็ละทิ้งแพสำหรับข้ามไป
[๓๒๐] จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นอุปมาได้กับสิ่งผูกพัน
กินทุกอย่างเหมือนไฟ
มีมายากล้าแข็งเหมือนแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว
ย่อมคบหาได้ทั้งชายที่เป็นคนรัก และไม่ใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๒๑] หญิงเหล่านั้นมิใช่เป็นสมบัติชายคนเดียวหรือสองคน
เหมือนร้านตลาดที่แบของวางขาย
ชายใดพึงสำคัญหญิงเหล่านั้นว่าเป็นของเรา
ชายนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย
[๓๒๒] ๑. แม่น้ำ ๒. ทางเดิน ๓. ร้านเครื่องดื่ม
๔. สภา ๕. บ่อน้ำ เป็นฉันใด
ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลกนี้ก็ฉันนั้น
ขอบเขตย่อมไม่มีสำหรับพวกเธอ

เชิงอรรถ :
๑ ใช้สำรับลวงม้า หมายถึงชาวกัมโพชะต้องการม้าป่า เขาจะกั้นคอกแห่งหนึ่งแล้วทำประตูให้ดี เอาน้ำผึ้งทา
สาหร่ายที่ลอยอยู่บนน้ำที่พวกม้าป่าเคยกิน แล้วทอดสาหร่ายจนถึงประตูคอก ทาน้ำผึ้งตลอด ม้าป่ามา
กินน้ำ กินหญ้า กินสาหร่ายที่มีรสหวาน ติดใจในรสก็จะเดินเข้าคอกไปโดยไม่รู้ตัว (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๘/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๒๓] หญิงทั้งหลายเหล่านี้เสมอกับไฟที่กินเปรียง
อุปมาได้กับหัวงูเห่า๑ ย่อมเลือกกินแต่ของดี ๆ
เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดี ๆ ในภายนอกเท่านั้น

[๓๒๔] ๑. ไฟกินเปรียง ๒. ช้างสาร
๓. งูเห่า ๔. พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
๕. หญิงทั้งปวง

บุคคลทั้ง ๕ เหล่านี้ นรชนพึงคบหาโดยความระมัดระวังเป็นนิตย์
เพราะว่าภาวะที่เป็นจริงของบุคคลเหล่านั้นรู้ได้ยากนัก
[๓๒๕] ชายไม่พึงคบหา
๑. หญิงผู้มีผิวพรรณงดงามนัก
๒. หญิงผู้ที่ชายหมู่มากรักใคร่
๓. หญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง
๔. หญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น
๕. หญิงผู้คบหาเพราะเหตุแห่งทรัพย์
หญิงทั้ง ๕ ประเภทเหล่านี้ชายไม่พึงคบหาเลย
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกแร้งชื่ออานนท์ รู้แจ้งชัด
ซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของนกกุณาละ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
[๓๒๖] ถ้าบุรุษจะพึงยกแผ่นดินแม้ที่เต็มไปด้วยทรัพย์ผืนนี้
ให้แก่หญิงผู้ที่ตนยกย่องไซร้
หญิงนั้นได้โอกาสแล้วก็จะพึงดูหมิ่นบุรุษแม้นั้น เพราะเหตุนั้น
เราจึงไม่ยอมตกไปสู่อำนาจของหญิงเหล่านั้นผู้ที่ไม่ใช่คนดี

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงหญิงอุปมาได้กับหัวงูเห่า เพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ คือ (๑) เพราะเป็นสัตว์มักโกรธ (๒) เพราะเป็น
สัตว์มีพิษร้าย (๓) เพราะเป็นสัตว์มีลิ้นสองแฉก (๔) เพราะเป็นสัตว์ผูกโกรธ (๕) เพราะเป็นสัตว์ประทุษ-
ร้ายมิตร ในเหตุ ๕ อย่างที่สตรีชื่อว่ามีพิษร้าย พึงทราบได้เพราะความที่เธอมีราคะมาก ชื่อว่ามีลิ้นสองแฉก
เพราะเธอมักพูดส่อเสียด ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร เพราะเธอมักประพฤตินอกใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๓/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๒๗] สามีหนุ่มผู้มีความหมั่นขยัน มีพฤติการณ์ไม่หดหู่
น่ารัก และน่าพอใจ
พวกเธอยังพากันทอดทิ้งเขาไปได้ในคราวเกิดอันตราย
และในคราวมีกิจที่ต้องกระทำ
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
[๓๒๘] บุรุษไม่พึงวางใจว่า หญิงนี้ต้องการเรา
ไม่พึงวางใจว่า หญิงนี้ร้องไห้อยู่ในที่อยู่ของเรา
จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นย่อมคบหาได้
ทั้งชายที่เป็นคนรักและมิใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๒๙] ๑. บุคคลไม่พึงวางใจเครื่องลาดที่ทำด้วยกิ่งไม้เก่า
๒. ไม่พึงวางใจโจรผู้เคยเป็นมิตรเก่าแก่
๓. ไม่พึงวางใจพระราชาว่า เป็นเพื่อนของเรา
๔. ไม่พึงวางใจหญิงซึ่งเป็นแม่ของลูกตั้ง ๑๐ คน
[๓๓๐] ไม่พึงวางใจในนารีทั้งหลาย ผู้สร้างความรื่นรมย์ยินดีให้
ผู้ล่วงละเมิดศีล ไม่มีความสำรวม
ถึงภรรยาจะพึงมีความรักอย่างแน่นแฟ้น ก็ไม่พึงวางใจ
เพราะว่านารีทั้งหลายเสมอเหมือนกับท่าน้ำ
[๓๓๑] หญิงทั้งหลายพึงฆ่าชายเสียเองก็มี
ตัดอวัยวะของชายเสียเองก็มี
ให้ผู้อื่นตัดก็มี เชือดลำคอแล้วดื่มเลือดกินก็มี
เพราะเหตุนั้น ชายอย่าพึงทำความสนิทสนมในหญิงทั้งหลาย
ผู้มีความใคร่อันเลวทราม ผู้ไม่สำรวม
เปรียบได้กับท่าน้ำที่แม่น้ำคงคา
[๓๓๒] หญิงเหล่านั้นกล่าวคำเท็จเหมือนกับคำสัตย์
กล่าวคำสัตย์เหมือนกับคำเท็จ พวกเธอเลือกกินแต่ของดี ๆ
เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดี ๆ ในภายนอกเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๓๓] พวกหล่อนประเล้าประโลมชาย
ด้วยการเดินบ้าง ด้วยการจ้องมองบ้าง
ด้วยการหัวเราะบ้าง ด้วยการนุ่งห่มไม่เรียบร้อยบ้าง
และด้วยการกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานบ้าง
[๓๓๔] เพราะว่าหญิงทั้งหลายเหล่านั้น
เป็นนางโจร มีจิตใจหยาบกระด้าง
โหดร้าย เจรจาอ่อนหวานเหมือนน้ำตาลกรวด
การล่อลวงอย่างใดอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์
พวกเธอจะไม่รู้ไม่มีเลย
[๓๓๕] ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลก
เป็นคนชั่วร้าย ไม่มีขอบเขต กำหนัดจัด
และคึกคะนอง กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
[๓๓๖] ธรรมดาว่าบุรุษเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี
เพราะว่าหญิงทั้งหลายย่อมคบบุรุษได้
ทั้งที่เป็นคนรักและมิใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๓๗] ธรรมดาว่าบุรุษเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี
เพราะว่าหญิงทั้งหลายมีความต้องการทรัพย์
จึงยอมพัวพันด้วย เหมือนเถาวัลย์ที่เกี่ยวพันต้นไม้
[๓๓๘] ชายที่มีทรัพย์จะเป็นควาญช้าง คนเลี้ยงม้า
คนเลี้ยงโค คนจัณฑาล สัปเหร่อ
หรือคนล้างส้วมก็ตาม นารีทั้งหลายจะติดตามเขาไป
[๓๓๙] หญิงสาวทั้งหลายย่อมทอดทิ้งชาย
แม้ที่เป็นบุตรคนมีตระกูล
ซึ่งไม่มีทรัพย์อะไรๆ ไป เหมือนเช่นกับซากศพ
แต่กลับคอยติดตามชายไปเนือง ๆ เพราะเหตุแห่งทรัพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นารทเทวพราหมณ์รู้แจ้งชัดซึ่งคาถา
ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของอานนท์พญาแร้ง จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
[๓๔๐] นี่แน่ะ พญานก ท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า
ผู้จะกล่าวถึงสิ่ง ๔ อย่าง ที่ไม่รู้จักเต็มเหล่านี้ คือ
๑. ทะเล ๒. พราหมณ์
๓. พระราชา ๔. หญิง
[๓๔๑] แม่น้ำสายใดสายหนึ่งซึ่งอาศัยแผ่นดิน
ย่อมไหลไปสู่สาคร
แม่น้ำเหล่านั้นก็ทำสมุทรให้เต็มไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๒] ส่วนพราหมณ์สาธยายพระเวท
มีประวัติศาสตร์เป็นที่ ๕ ได้แล้ว
ก็ยังปรารถนาการศึกษาแม้ให้ยิ่งขึ้นไป
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๓] ส่วนพระราชาเล่าทรงชนะแล้ว
ครอบครองแผ่นดินทั้งหมดพร้อมทั้งสมุทร
และภูเขาอันสั่งสมรัตนะไว้หาที่สุดมิได้
ก็ยังทรงปรารถนาสมุทรฝั่งโน้น
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๔] แต่หญิงถึงแม้จะพึงมีสามีคนละ ๘ คน
ซึ่งเป็นคนแกล้วกล้ามีพลัง
สามารถนำรสแห่งความใคร่ทั้งปวงมาให้ได้
เธอก็ยังคงทำความพอใจในชายคนที่ ๙
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๔๕] หญิงทั้งปวงกินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
พัดพาเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปเหมือนแม่น้ำ
เกาะเกี่ยวเหมือนเรียวหนาม
ย่อมคบหาชายเพราะเหตุแห่งทรัพย์
[๓๔๖] ก็นรชนใดปลงใจเชื่อหญิงทุกสิ่งทุกอย่าง
นรชนนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย
วิดน้ำทะเลด้วยฝ่ามือข้างเดียว
ปรบมือข้างเดียวของตนให้เกิดเสียง ก็รู้ได้ยาก
[๓๔๗] ภาวะของหญิงที่เป็นนางโจร
รู้มาก หาความจริงได้ยาก
เป็นการลำบากที่จะหยั่งรู้เหมือนรอยทางปลาในน้ำ
[๓๔๘] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้จักพอ
พูดจาไพเราะอ่อนหวาน เต็มได้ยาก
เหมือนแม่น้ำย่อมทำให้ล่มจม
ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล
[๓๔๙] หญิงทั้งหลายยั่วยวนให้ลุ่มหลง
มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ
ย่อมทำให้ล่มจมเสียหาย
ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล
[๓๕๐] ก็หญิงทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ก็ติดตามเผาผลาญชายนั้นโดยทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญสถานที่ของตน
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกกุณาละรู้แจ้งชัดซึ่งคาถาทั้ง
เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของนารทเทวพราหมณ์ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ใน
เวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๕๑] บัณฑิตพึงเจรจากับคนผู้ถือดาบอันคมกริบ
พึงเจรจาแม้กับปีศาจผู้ดุร้าย
พึงเข้าไปนั่งใกล้งูตัวที่มีพิษร้ายแรง
แต่อย่าพึงเจรจากับหญิงตัวต่อตัว
[๓๕๒] เพราะว่านารีทั้งหลายเป็นผู้ย่ำยีจิตของชาวโลก
มีการฟ้อนรำขับร้อง เจรจา
และการแย้มยิ้มเป็นอาวุธ
ย่อมเบียดเบียนชายผู้มีสติไม่มั่นคง
เหมือนหมู่นางรากษสบนเกาะเบียดเบียนพวกพ่อค้า
[๓๕๓] หญิงเหล่านั้นไม่มีวินัย ไม่สังวร
พวกเธอยินดีในน้ำเมาและเนื้อสัตว์ ไม่มีความสำรวม
ย่อมฮุบเอาทรัพย์ที่ชายหามาได้
เหมือนปลาติมิงคละกลืนกินมังกรในสาคร
[๓๕๔] หญิงทั้งหลายมีกามคุณทั้ง ๕ อันน่าพอใจเป็นเหยื่อล่อ
มีจิตฟุ้งซ่านไม่แน่นอน ไม่มีความสำรวม
ย่อมแล่นเข้าไปหาชายผู้มีความมัวเมา
เหมือนแม่น้ำทั้งหลายย่อมไหลไปสู่ทะเล
[๓๕๕] หญิงทั้งหลายประเล้าประโลมชายใดเพราะความพอใจ
เพราะความยินดีหรือเพราะทรัพย์ก็ตาม
ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าชายนั้นด้วยราคะ โทสะ
ย่อมเผาผลาญชายเช่นนั้นให้เป็นแม้ดังเช่นไฟ
[๓๕๖] หญิงทั้งหลายรู้ว่า ชายใดเป็นผู้มั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก ย่อมแล่นเข้าไปหา
ย่อมผูกมัดชายนั้นผู้มีจิตกำหนัดยินดีไว้ด้วยเรือนร่างของตน
เหมือนเถาย่านทรายรัดรึงต้นสาละในป่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๕๗] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นประดับร่างกายและใบหน้า
จนงามวิจิตรแล้วเข้าไปหาชาย
ด้วยความพอใจมีประการต่าง ๆ ทำยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
มีความฉลาดในมายาตั้งร้อยเหมือนนักมายากล
[๓๕๘] หญิงทั้งหลายประดับสวมใส่ทองคำ แก้วมณี
แก้วมุกดา มีคนสักการะและรักษาอยู่แล้วในตระกูลสามี
ก็ยังประพฤตินอกใจสามี
เหมือนหญิงผู้ซบอยู่แนบทรวงอกประพฤตินอกใจอสูร
[๓๕๙] จริงอยู่ นรชนถึงจะมีเดช มีปัญญาเห็นประจักษ์
เป็นที่สักการะบูชาของชนเป็นอันมาก
ตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย
ก็จะไม่รุ่งเรือง เหมือนดวงจันทร์ที่ถูกราหูเข้าไปบดบัง
[๓๖๐] จอมโจรผู้มีจิตโหดร้าย โกรธขึ้นแล้ว พึงกระทำ
ความพินาศอันใดให้จอมโจรผู้เป็นคู่อริ ซึ่งมาประจันหน้ากัน
นรชนผู้ยังมีการเพ่งเล็ง มีตัณหา
ตกอยู่ในอำนาจหญิงทั้งหลาย
ย่อมประสบความพินาศยิ่งกว่านั้น
[๓๖๑] จริงอยู่ หญิงเหล่านั้นถึงจะถูกชายที่เลวทราม
คุกคามด้วยการจิกผมจนยุ่งเหยิง
และการหยิกข่วนด้วยเล็บ ทุบตีด้วยเท้า ฝ่ามือ และท่อนไม้
ก็ยังเข้าไปหาชายคนเลวทรามนั่นแหละ
เหมือนหมู่แมลงวันย่อมยินดีในซากศพ
[๓๖๒] นรชนผู้มีดวงตาคือปัญญา ปรารถนาความสุข
พึงเว้นหญิงเหล่านั้นซึ่งเป็นประดุจบ่วงและข่ายของมาร
ที่เขาขึงดักไว้ในตระกูลในระหว่างทางเดิน
ในราชธานีหรือว่าในนิคมทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๖๓] ผู้ใดสลัดทิ้งคุณคือตบะอันเป็นกุศลแล้ว
ประพฤติการประพฤติอันมิใช่ของพระอริยะ
ผู้นั้นจากเทวโลกย่อมเข้าถึงนรก เหมือนพ่อค้าถือหม้อแตก
[๓๖๔] เขาผู้นั้นถูกติเตียนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
มีความคิดที่ชั่ว ถูกกรรมของตนเข้าไปบั่นทอน
ย่อมพลัดพรากจากเทวโลกบ้าง
มนุษยโลกบ้าง โดยไม่แน่นอน
เหมือนรถที่เทียมด้วยลาโกงย่อมพาไปนอกทาง
[๓๖๕] เขาผู้นั้นจึงเข้าถึงนรกอันเร่าร้อนและนรกป่าไม้งิ้ว
มีหนามแหลมเหมือนหอกเป็นหลักแล้ว
มาอยู่ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน และไม่พ้นเปรตและจอมอสูร
[๓๖๖] หญิงทั้งหลายย่อมทำลายการเล่นหัว
และความรื่นรมย์ยินดีอันเป็นทิพย์ในนันทวันเทวอุทยาน
และจักรพรรดิสมบัติในหมู่มนุษย์ของชายผู้มัวเมาทั้งหลาย
ให้พินาศและยังเขาให้ถึงทุคติอีกด้วย
[๓๖๗] การเล่นหัวและความรื่นรมย์ยินดีก็ดี
จักรพรรดิสมบัติในมนุษย์ก็ดี
นางเทพอัปสรผู้อยู่วิมานทองก็ดี
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
หาได้ไม่ยากเลย
[๓๖๘] คติที่ล่วงเลยกามภูมิก็ดี
การสมภพในรูปภูมิก็ดี
การเข้าถึงวิสัยแห่งผู้ปราศจากราคะก็ดี
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
หาได้ไม่ยากเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๓๖๙] นิพพานอันปลอดโปร่งพ้นทุกข์ทั้งปวง
ไม่หวั่นไหวอย่างแท้จริง ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
มีกิเลสอันตนดับได้แล้ว เป็นผู้สะอาด
หาได้ไม่ยากเลย ดังนี้
(พระศาสดาทรงประมวลธรรมเทศนา ได้ตรัสพระคาถาประชุมชาดกว่า)
[๓๗๐] ในกาลนั้น เราผู้ตถาคตได้เป็นพญานกกุณาละ
อุทายีได้เป็นพญานกดุเหว่าขาว
อานนท์ได้เป็นพญานกแร้ง
สารีบุตรได้เป็นนารทดาบส
และพุทธบริษัทได้เป็นบริษัทนกทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล
กุณาลชาดกที่ ๔ จบ
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
ว่าด้วยพระเจ้ามหาสุตโสมทรงทรมานโจรโปริสาท๑
(กาฬหัตถีเสนาบดีถามพ่อครัวว่า)
[๓๗๑] พ่อครัว เพราะเหตุไร
ท่านจึงทำกรรมทารุณโหดร้ายเช่นนี้
ท่านหลงฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย
เพราะเหตุแห่งเนื้อหรือแห่งทรัพย์

เชิงอรรถ :
๑ พระเจ้ามหาสุตโสมโพธิสัตว์ทรงเป็นพระสหายร่วมสำนักเรียนกับพระเจ้าพรหมทัตและพระกุมารอื่น ๆ อีก
ประมาณ ๑๐๑ พระองค์ ต่อมาเมื่อแยกย้ายกลับบ้านเมืองของตนแล้ว พรหมทัตกุมารได้ครองเมือง
พาราณสี แต่หลงผิดไปติดใจบริโภคเนื้อมนุษย์ ทำให้ถูกเนรเทศ พระเจ้ามหาสุตโสมต้องไปทรมานจน
กลับใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๗๘-๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พ่อครัวจึงตอบเสนาบดีว่า)
[๓๗๒] ท่านผู้เจริญ มิใช่เพราะเหตุแห่งตน
มิใช่เพราะเหตุแห่งทรัพย์
มิใช่เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา
มิใช่เพราะเหตุแห่งสหายและญาติทั้งหลาย
แต่พระจอมภูมิบาลซึ่งเป็นนายของข้าพเจ้า
พระองค์เสวยมังสะเช่นนี้
(กาฬหัตถีเสนาบดีกล่าวว่า)
[๓๗๓] ถ้าท่านขวนขวายในกิจของเจ้านาย
ทำกรรมอันโหดร้ายทารุณเช่นนี้ได้
เวลาเช้าตรู่ ท่านควรจะเข้าไปในพระราชวัง
แล้วแถลงเหตุนั้นแก่เราต่อพระพักตร์พระราชา
(พ่อครัวกล่าวว่า)
[๓๗๔] ท่านกาฬหัตถี ข้าพเจ้าจักกระทำตามที่ท่านสั่ง
เวลาเช้าตรู่ ข้าพเจ้าจะเข้าไปในพระราชวัง
จะแถลงเหตุนั้นแก่ท่านต่อพระพักตร์พระราชา
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๗๕] ลำดับนั้น ครั้นราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์อุทัย
กาฬเสนาบดีได้พาคนทำครัวเข้าไปเฝ้าพระราชา
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
[๓๗๖] ข้าแต่มหาราช ได้ทราบด้วยเกล้าว่า
พระองค์ทรงใช้พ่อครัวให้ฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย
พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์จริงหรือ พระเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๗๗] แน่นอน เป็นความจริง ท่านกาฬะ
เราใช้พ่อครัว เมื่อเขาทำประโยชน์ให้แก่เรา
ท่านจะด่าเขาทำไม
(กาฬเสนาบดี เมื่อจะนำเรื่องมาแสดง จึงกราบทูลว่า)
[๓๗๘] ปลาใหญ่ชื่ออานนท์ ติดใจในรสปลาทุกชนิด
เมื่อฝูงปลาหมดสิ้นไป ก็กลับมากินตัวเองตาย
[๓๗๙] พระองค์ทรงประมาทไปแล้ว
มีพระทัยยินดียิ่งนักในรส(เนื้อมนุษย์)
ถ้าเป็นคนพาลต่อไป ยังไม่ทรงรู้สึกอย่างนี้
จะต้องมาละทิ้งพระโอรส พระมเหสี และพระญาติ
จะกลับมาเสวยตัวพระองค์เอง
[๓๘๐] เพราะได้ทรงสดับอุทาหรณ์ที่ข้าพระองค์นำมากราบทูลนี้
ขอความพอพระทัยที่จะเสวยเนื้อมนุษย์จงคลายไปเถิด
ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่มนุษย์
พระองค์อย่าได้เสวยเนื้อมนุษย์เลย
อย่าได้ทรงทำแคว้นนี้ให้ว่างเปล่า
เหมือนปลาอานนท์ทำมหาสมุทรให้ว่างเปล่า
(พระราชาได้สดับดังนั้น เมื่อจะนำเรื่องเก่ามาแสดง จึงตรัสว่า)
[๓๘๑] กุฎุมพีชื่อว่าสุชาตะ ลูกที่เกิดกับตัวเขา
ไม่ได้ชิ้นลูกหว้าเขาก็ตาย
เพราะชิ้นลูกหว้านั้นหมดสิ้นไป
[๓๘๒] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน
บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุด
ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พราหมณ์ได้กล่าวกับมาณพว่า)
[๓๘๓] มาณพ เจ้าเป็นผู้มีรูปงาม
เกิดในตระกูลโสตถิยพราหมณ์
เจ้าไม่ควรกินอาหารที่ไม่ควรกินนะ
(มาณพกล่าวว่า)
[๓๘๔] บรรดารสทั้งหลาย น้ำเมานี้มีรสอร่อยที่สุดอย่างหนึ่ง
เพราะเหตุไร พ่อจึงห้ามผม
ผมจักไปในสถานที่ที่ผมจักได้รสเช่นนี้
[๓๘๕] ผมจักออกไปละ จักไม่อยู่ในสำนักของพ่อ
เพราะพ่อไม่ยินดีที่จะได้เห็นผม
(ลำดับนั้น พราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[๓๘๖] มาณพ ข้าคงจะได้ลูกคนอื่น ๆ เป็นทายาทเป็นแน่
เจ้าคนต่ำทราม เจ้าจงฉิบหายเสียเถิด
จงไปในที่ที่ข้าจะไม่พึงได้ข่าวเจ้าผู้ไปแล้ว
(กาฬหัตถีเสนาบดีประมวลเหตุนี้มาแสดงแก่พระราชา แล้วกราบทูลว่า)
[๓๘๗] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์
พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์
พสกนิกรทั้งหลายจักพากันเนรเทศพระองค์ไปจากแคว้น
เหมือนพราหมณ์เนรเทศมาณพผู้เป็นนักเลงสุรา
(พระราชาเมื่อไม่อาจจะงดเนื้อนั้นได้ ตรัสแสดงเหตุแม้อย่างอื่นอีกว่า)
[๓๘๘] สาวกของพวกฤๅษีผู้อบรมแล้วชื่อว่าสุชาตะ
เขาต้องการนางอัปสรเท่านั้น จนไม่กินข้าวและไม่ดื่มน้ำ
[๓๘๙] บุคคลพึงเอาน้ำที่ติดอยู่กับปลายหญ้าคา
มานับเปรียบกันดูกับน้ำที่มีอยู่ในสมุทรฉันใด
กามทั้งหลายของพวกมนุษย์ในสำนักของกามทิพย์ก็ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๓๙๐] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน
บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุดแล้ว
ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่
(กาฬเสนาบดีครั้นได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๓๙๑] เปรียบเสมือนพวกหงส์ชื่อธตรัฏฐะ เหิรบินไปในท้องฟ้า
ถึงความตายไปจนหมดเพราะกินอาหารที่ไม่ควรกิน ฉันใด
[๓๙๒] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์
พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์
พระองค์เสวยเนื้อที่ไม่ควร
ฉะนั้น พสกนิกรทั้งหลายจึงพากันเนรเทศพระองค์
(โจรโปริสาท๑กล่าวกับรุกขเทวดานั้นว่า)
[๓๙๓] เราได้ห้ามท่านแล้วว่า จงหยุด ท่านนั้นก็ยังเดินดุ่ม ๆ ไป
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านไม่ได้หยุด
แต่บอกว่าหยุด ท่านสมณะ นี้ควรแก่ท่านแล้วหรือ
ท่านสำคัญดาบของเราว่าเป็นขนปีกนกตะกรุมหรือ
(ลำดับนั้น เทวดากล่าวว่า)
[๓๙๔] มหาบพิตร อาตมภาพหยุดแล้วในธรรมของตน
ไม่ได้เปลี่ยนชื่อและโคตร
ส่วนโจรบัณฑิตกล่าวว่า ไม่หยุดในโลก
จุติจากโลกนี้แล้วจะต้องไปเกิดในอบายหรือนรก
มหาบพิตร ถ้าทรงเชื่ออาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นกษัตริย์เถิด
มหาบพิตรทรงจับพระเจ้าสุตโสมนั้นบูชายัญแล้ว
จักเสด็จไปสวรรค์ได้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ โปริสาท แปลว่า มีคนเป็นอาหาร, คนกินคน เป็นชื่อของพระเจ้าพรหมทัต หลังจากถูกชาวเมืองเนรเทศแล้ว
ได้ไปอาศัยโคนต้นไทรอยู่ แล้วเที่ยวปล้นคนเดินทาง เพื่อฆ่าเอาเนื้อมาปรุงอาหาร จึงปรากฏชื่อเสียงว่า
โปริสาท (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๙๒/๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ยืนถวายพระพรอยู่ข้างทาง
จึงตรัสถามว่า)
[๓๙๖] ชาติภูมิของท่านอยู่ในแคว้นไหนหนอ
ท่านมาถึงนครนี้ได้ด้วยประโยชน์อะไร
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบอกประโยชน์นี้แก่ข้าพเจ้า
ท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะให้ตามที่ท่านต้องการ ณ วันนี้
(พราหมณ์ได้กราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์นั้นว่า)
[๓๙๗] พระภูมิบาล คาถาทั้ง ๔ มีอรรถที่ลึก
เปรียบด้วยสาครอันประเสริฐ
หม่อมฉันมานครนี้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เท่านั้น
ขอพระองค์โปรดสดับคาถา
ที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งเถิด
(โจรโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้แล้ว จึงทูลถามว่า)
[๓๙๘] ชนเหล่าใดมีความรู้ มีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้มาก ชนเหล่านั้นย่อมไม่ร้องไห้
การที่เหล่าบัณฑิตเป็นผู้บรรเทาความโศกได้
นี่แหละเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมของเหล่านรชน
[๓๙๙] ท่านสุตโสม พระองค์ทรงเศร้าโศกเพราะเหตุไร
เพราะเหตุแห่งพระองค์เอง พระญาติ พระโอรส
พระมเหสี ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน หรือว่าทองหรือ
ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐ หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๐๐] หม่อมฉันมิได้ทอดถอน มิได้เศร้าโศกเพื่อประโยชน์แก่ตน
แก่โอรส มเหสี ทรัพย์ และแคว้น
แต่ธรรมของเหล่าสัตบุรุษที่เคยประพฤติมาเก่าก่อน
หม่อมฉันนัดหมายไว้กับพราหมณ์
หม่อมฉันทอดถอนเศร้าโศกถึงการนัดหมายนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๐๑] หม่อมฉันดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตนเอง
ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๐๒] นรชนผู้มีความสุข หลุดพ้นไปจากปากของมฤตยูแล้ว
จะพึงกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก
ข้อนี้หม่อมฉันยังไม่เชื่อ ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐที่สุด
พระองค์ไม่เสด็จเข้าไปหาหม่อมฉันเลย
[๔๐๓] พระองค์ทรงหลุดพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
จะมัวทรงเพลิดเพลินในกามคุณ ข้าแต่พระราชา
พระองค์ทรงได้พระชนม์ชีพอันเป็นที่รักแสนหวานแล้ว
ไฉนจักเสด็จกลับมายังสำนักของหม่อมฉันเล่า
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น ไม่ทรงหวาดระแวง จึงตรัสว่า)
[๔๐๔] คนผู้มีศีลบริสุทธิ์พึงปรารถนาความตาย
ผู้มีธรรมลามกที่นักปราชญ์ติเตียนก็ไม่ปรารถนาชีวิต
นรชนใดพึงกล่าวเท็จเพราะเพื่อประโยชน์ของตนใดเป็นเหตุ
เหตุเพื่อประโยชน์ของตนนั้น
ย่อมป้องกันนรชนนั้นจากทุคติไม่ได้
[๔๐๕] แม้ถ้าลมจะพึงพัดพาภูเขามาได้
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็จะพึงตกลงบนแผ่นดินได้
และแม่น้ำทุกสายก็จะพึงไหลทวนกระแส
ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น
หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๐๖] ฟ้าพึงทลายรั่วได้ ทะเลก็พึงแห้งได้
แผ่นดินที่ทรงรองรับสัตว์ไว้ก็จะพึงพลิกกลับได้
ภูเขาพระสุเมรุก็จะพึงเพิกถอนขึ้นได้พร้อมทั้งเหง้า
ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น
หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสาบานว่า)
[๔๐๗] สหาย หม่อมฉันจะจับดาบและหอก
จะทำแม้แต่การสาบานต่อพระองค์ก็ได้
หม่อมฉันผู้ที่พระองค์ปล่อยแล้ว
จักเป็นผู้หมดหนี้ รักษาความสัตย์ หวนกลับมาอีก
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๐๘] ท่านผู้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นใหญ่ในแคว้นของพระองค์
ได้ทำการนัดหมายใดไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
พระองค์ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๐๙] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน
ได้ทำการนัดหมายใดไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๑๐] พระเจ้าสุตโสมนั้นทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
ได้เสด็จไปตรัสกับพราหมณ์นั้นดังนี้ว่า
ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอฟังสตารหคาถา
ที่ข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พราหมณ์ดูคัมภีร์ กราบทูลว่า)
[๔๑๑] ท่านสุตโสม การสมาคมกับสัตบุรุษ
ครั้งเดียวเท่านั้นก็คุ้มครองผู้นั้นได้
การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้งก็คุ้มครองไม่ได้
[๔๑๒] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษเท่านั้น
พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษทั้งหลาย
เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
บุคคลจึงมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย
[๔๑๓] ราชรถที่วิจิตรดีทั้งหลายยังทรุดโทรมได้
อนึ่ง แม้สรีระก็ยังเข้าถึงความแก่ชรา
ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า
สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้
[๔๑๔] ฟ้ากับแผ่นดินห่างไกลกัน
ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ของสมุทรก็กล่าวกันว่าไกลกัน
ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลยิ่งกว่านั้นโดยแท้
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับพราหมณ์นั้นว่า)
[๔๑๕] คาถาเหล่านี้มีค่า ๑,๐๐๐
ไม่ใช่มีค่าเพียง ๑๐๐
ท่านพราหมณ์ เชิญท่านรีบมารับเอาทรัพย์ ๔,๐๐๐ เถิด
(พระราชบิดาของพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๑๖] คาถามีค่า ๘๐ ๙๐ และ ๑๐๐ ก็ยังมี
พ่อสุตโสม พ่อจงเข้าใจเอาเองเถิด
มีคาถาอะไรที่ชื่อว่า มีค่าตั้ง ๑,๐๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์กราบทูลให้พระราชบิดายินยอมว่า)
[๔๑๗] หม่อมฉันย่อมปรารถนาความเจริญทางการศึกษาของตน
สัตบุรุษคือผู้สงบทั้งหลายพึงคบหาหม่อมฉัน
ข้าแต่ทูลกระหม่อมพ่อ หม่อมฉันไม่อิ่มด้วยสุภาษิต
เหมือนมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ
[๔๑๘] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม
สาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลายฉันใด
แม้บัณฑิตเหล่านั้นฟังแล้วก็ไม่อิ่มด้วยสุภาษิตฉันนั้น
[๔๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
เมื่อใด หม่อมฉันฟังคาถาที่มีประโยชน์ในสำนักแห่งทาสของตน
เมื่อนั้น หม่อมฉันย่อมตั้งใจฟังคาถานั้นเท่านั้นโดยเคารพ
ข้าแต่ทูลกระหม่อมพ่อ
เพราะหม่อมฉัน ไม่มีความอิ่มในธรรมเลย
[๔๒๐] แคว้นของทูลกระหม่อมนี้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
มีทั้งทรัพย์ ยวดยาน และเครื่องประดับ
ทูลกระหม่อมทรงบริภาษหม่อมฉันเพราะเหตุแห่งกามทำไม
หม่อมฉันขอทูลลาไปในสำนักของโปริสาท
(พระบิดาตรัสว่า)
[๔๒๑] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ล้วนแต่เชี่ยวชาญในการธนูพอที่จะปกป้องตัวเองได้
เราจะยกกองทัพไปฆ่าศัตรูเสีย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ฟังคำของพระราชบิดาและพระราชมารดาแล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๒๒] โจรโปริสาทได้ทำกิจที่ทำได้แสนยาก
จับหม่อมฉันได้ทั้งเป็นแล้วปล่อยมา
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันระลึกถึงอุปการะ
ที่มีมาก่อนเช่นนั้นที่โจรโปริสาทนั้นทำแล้ว
จะพึงประทุษร้ายต่อโปริสาทนั้นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๓] พระเจ้าสุตโสมนั้นถวายบังคมพระบิดา
และพระมารดาแล้ว
ทรงพร่ำสอนชาวนิคมและพลนิกาย
เป็นผู้ตรัสความสัตย์ และทรงรักษาคำสัตย์
ได้เสด็จไปยังที่เป็นที่อยู่ของโปริสาทแล้ว
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทว่า)
[๔๒๔] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน
ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์
เพื่อเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
จึงเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
ท่านโปริสาท ขอเชิญท่านบูชายัญกินเราเสียเถิด
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๔๒๕] การเคี้ยวกินท่านในภายหลัง
ไม่เสียหายสำหรับข้าพเจ้า
แท้จริงกองไฟนี้ก็ยังมีควัน
เนื้อที่ย่างในกองไฟอันไม่มีควันจะสุกดี
หม่อมฉันจะขอฟังคาถาซึ่งมีค่าตั้ง ๑๐๐
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๖] ท่านโปริสาท ท่านประพฤติไม่ชอบธรรม
ต้องพลัดพรากจากแคว้น เพราะเหตุแห่ง(ปาก)ท้อง
ส่วนคาถาเหล่านี้ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม
ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน๑

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน หมายถึงรวมกันไม่ได้ เพราะว่าธรรมย่อมให้ถึงสุคติคือนิพพาน
ส่วนอธรรมให้ถึงทุคติ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๒๖/๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๒๗] คนผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม หยาบช้า
มีฝ่ามือเปื้อนเลือดเป็นนิตย์ ย่อมไม่มีสัจจะ
ธรรมจะมีได้แต่ที่ไหน
ท่านจักทรงทำประโยชน์อะไรด้วยการสดับ๑
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๔๒๘] ผู้ใดเที่ยวล่าเนื้อ (ล่าสัตว์) เพราะเหตุแห่งเนื้อ
หรือฆ่าคนเพราะเหตุแห่งตน
คนทั้ง ๒ นั้นละโลกนี้ไปแล้วก็เสมอกัน (พอกัน)
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงกล่าวหาหม่อมฉันว่า
เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแก้ลัทธิของโจรโปริสาท จึงตรัสว่า)
[๔๒๙] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทราบธรรมเนียมกษัตริย์
ไม่ควรเสวยเนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิดมีเนื้อช้างเป็นต้น
ข้าแต่พระราชา พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์ที่ไม่ควรเสวย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พระโพธิสัตว์รับบาปบ้าง จึงกราบทูลว่า)
[๔๓๐] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม
เสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก
พระองค์ช่างเป็นผู้ไม่ฉลาด
ในธรรมของกษัตริย์๒เลยนะ พระเจ้าข้า

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์อะไรด้วยการสดับ หมายความว่า ท่านจักทำอะไรกับการฟังนี้ เพราะท่านไม่ใช่ภาชนะรอง
รับธรรม เหมือนภาชนะที่ไม่ใช่ภาชนะรองรับเปลวมันราชสีห์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๒๗/๔๒๑)
๒ ธรรมของกษัตริย์ หมายถึงหลักนิติศาสตร์ ในที่นี้ โจรโปริสาทกล่าวว่า พระเจ้าสุตโสมไม่ฉลาดใน
นิติศาสตร์กล่าวคือธรรมของกษัตริย์ คือไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของตน (เพราะเห็น
พระราชากลับมาสู่สำนักของตนอีก) (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๓๐/๔๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๔๓๑] ชนเหล่าใดฉลาดในธรรมของกษัตริย์
ชนเหล่านั้นต้องตกนรกเสียโดยมาก
เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงละธรรมของกษัตริย์
แล้วเป็นผู้รักษาความสัตย์ หวนกลับมาอีก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๓๒] พระตำหนักที่ประทับ แผ่นดิน โค ม้า
สตรีผู้น่ารักใคร่ ผ้าแคว้นกาสี และแก่นจันทน์
พระองค์ทรงได้ทุกสิ่งในพระนครนั้น
ก็พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์อะไรด้วยความสัตย์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๓๓] รสเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ในแผ่นดิน
สัจจะเป็นรสดีกว่ารสเหล่านั้น
ก็เพราะสมณะและพราหมณ์ผู้ดำรงอยู่ในสัจจะ
ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติและมรณะได้
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๓๔] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม
ยังเสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
พระองค์ไม่ทรงกลัวความตายแน่นะ
และพระองค์เป็นผู้ตรัสคำสัตย์ไม่มีพระทัยท้อแท้เลยหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า)
[๔๓๕] หม่อมฉันได้บำเพ็ญความดีไว้มากมาย
ได้บูชายัญที่บัณฑิตสรรเสริญอย่างไพบูลย์
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะต้องกลัวตาย
[๔๓๖] หม่อมฉันได้บำเพ็ญความดีไว้มากมาย
ได้บูชายัญที่บัณฑิตสรรเสริญอย่างไพบูลย์ไว้แล้ว
จึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
[๔๓๗] หม่อมฉันได้บำรุงพระบิดาและพระมารดาแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๓๘] หม่อมฉันได้บำรุงพระบิดาและพระมารดาแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
จึงไม่เดือดเนื้อร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
[๔๓๙] หม่อมฉันได้ทำอุปการะไว้ในหมู่พระญาติ
และมิตรทั้งหลายแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๔๐] หม่อมฉันได้ทำอุปการะไว้ในหมู่พระญาติ
และมิตรทั้งหลายแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรมจึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาทขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๔๑] หม่อมฉันได้ให้ทานมากมายแก่คนเป็นอันมาก
และได้บำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำ
ได้ชำระทางไปสู่ปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๔๒] หม่อมฉันได้ให้ทานมากมายแก่คนเป็นอันมาก
และได้บำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำ
จึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๔๓] บุรุษใดพึงกินคนผู้มีวาจาสัตย์เช่นท่าน
บุรุษนั้นชื่อว่าบริโภคยาพิษทั้ง ๆ ที่รู้
ชื่อว่าจับอสรพิษที่ร้ายแรง มีเดชกล้า
แม้ศีรษะของเขาพึงแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๔๔๔] นรชนทั้งหลายได้ฟังธรรมแล้ว
ย่อมรู้แจ้งทั้งบุญและบาป
ใจของหม่อมฉันย่อมยินดีในธรรม เพราะได้ฟังคาถาบ้าง
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่โจรโปริสาทว่า)
[๔๔๕] ข้าแต่มหาราช
การสมาคมกับสัตบุรุษเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
การสมาคมนั้นย่อมคุ้มครองผู้นั้นได้
การสมาคมกับอสัตบุรุษมากครั้งก็คุ้มครองไม่ได้
[๔๔๖] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษเท่านั้น
พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ
เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
บุคคลจึงมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๔๗] ราชรถที่วิจิตรดีทั้งหลายยังทรุดโทรมได้
อนึ่ง แม้สรีระก็ยังเข้าถึงความแก่ชรา
ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า
สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้
[๔๔๘] ฟ้ากับแผ่นดินห่างไกลกัน
ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ของสมุทรก็กล่าวกันว่าไกลกัน
ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลยิ่งกว่านั้นโดยแท้
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน คาถาเหล่านี้มีอรรถและพยัญชนะดี
พระองค์ตรัสไว้ถูกต้องดีแล้ว
หม่อมฉันได้สดับแล้วเพลิดเพลิน ปลื้มใจ ดีใจ อิ่มใจ
ข้าแต่พระสหาย หม่อมฉันขอถวายพร ๔ ประการแด่พระองค์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะรุกต้อนโจรโปริสาท จึงตรัสว่า)
[๔๕๐] ท่านผู้มีบาปธรรม พระองค์ไม่รู้สึกว่าตนจะตาย
ไม่รู้สึกประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ วินิบาตและสวรรค์
เป็นผู้ติดใจในรส ตั้งมั่นในทุจริต จะประทานพรอะไรได้
[๔๕๑] หากหม่อมฉันจะกล่าวกับพระองค์ว่า โปรดให้พรเถิด
ฝ่ายพระองค์ครั้นประทานแล้วจะพึงกลับคำ
บัณฑิตคนไหนเล่ารู้อยู่จะพึงก่อการทะเลาะวิวาทนี้ที่เห็นอยู่ชัด ๆ
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๕๒] คนเราแม้ให้พรใดแล้วพึงกลับคำ
เขาไม่สมควรให้พรนั้น
สหาย ท่านจงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย
แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็ยอมสละถวายได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๔๕๓] มิตรธรรมของพระอริยะกับพระอริยะย่อมเสมอกัน
ของผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาก็เสมอกัน
หม่อมฉันพึงเห็นพระองค์เป็นผู้มีพลานามัยตลอด ๑๐๐ ปี
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๑ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๔] มิตรธรรมของพระอริยะกับพระอริยะย่อมเสมอกัน
ของผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาก็เสมอกัน
พระองค์จงเห็นหม่อมฉันผู้หาโรคมิได้ตลอด ๑๐๐ ปี
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๑ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๕] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษก
ทรงได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเหล่าใดในชมพูทวีปนี้
พระองค์อย่าได้เสวยกษัตริย์เหล่านั้นผู้เช่นนั้น
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๖] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษก
ทรงได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเหล่าใดในชมพูทวีปนี้
หม่อมฉันจะไม่กินกษัตริย์เหล่านั้นผู้เช่นนั้น
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๗] กษัตริย์เกินกว่า ๑๐๐ พระองค์ที่พระองค์จับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้
ทรงกันแสง พระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล
ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยกษัตริย์เหล่านั้น
ให้กลับไปในแคว้นของตน ๆ เถิด
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๓ ที่หม่อมฉันทูลขอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๘] กษัตริย์เกินกว่า ๑๐๐ พระองค์ที่หม่อมฉันจับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้
ทรงกันแสง มีพระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล
หม่อมฉันจะปล่อยกษัตริย์เหล่านั้นให้กลับไปในแคว้นของตน ๆ
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๓ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๙] แคว้นของพระองค์เป็นช่อง๑
เพราะชนเป็นอันมากหวาดหวั่นเพราะกลัว
จึงพากันหนีเข้าหาที่หลบซ่อน
ขอพระองค์โปรดทรงงดเว้นเนื้อมนุษย์เถิด พระเจ้าข้า
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๔ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๖๐] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน
หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
หม่อมฉันนั้นจะพึงงดอาหารนั้นได้อย่างไร
ขอพระองค์จงขอพรข้อที่ ๔ อย่างอื่นเถิด
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๑] พระองค์ผู้จอมชน คนเช่นกับพระองค์มัวพะวงอยู่ว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมไม่ประสบสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลาย
ตนนั่นแหละประเสริฐกว่า ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยมกว่า
เพราะบุคคลผู้อบรมตนแล้ว
พึงได้สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลายในภายหลัง

เชิงอรรถ :
๑ แคว้นของพระองค์เป็นช่อง หมายถึงไม่มีที่อยู่หนาแน่น คือ เกิดมีช่องว่าง เพราะเกิดหมู่บ้านขึ้นเฉพาะที่
(ขุ.ชา.อ. ๘/๔๕๙/๔๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทมีน้ำตานองหน้า กราบทูลว่า)
[๔๖๒] เนื้อมนุษย์เป็นที่พอใจของหม่อมฉัน พระเจ้าสุตโสม
โปรดทรงทราบอย่างนี้ หม่อมฉันไม่อาจจะงดเว้น
เชิญพระองค์เลือกพรอย่างอื่นเถิด พระสหาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๓] ผู้ใดมัวรักษาของซึ่งเป็นที่พอใจว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมประสบแต่ของซึ่งเป็นที่รักทั้งหลาย
เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราที่เจือยาพิษ
เพราะเหตุนั้นเอง เขาจึงได้รับทุกข์ในโลกหน้า
[๔๖๔] อนึ่ง ผู้ใดในโลกนี้ได้พิจารณาแล้ว
ละสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจเสียได้ ย่อมเสพอริยธรรมได้แสนยาก
เหมือนคนไข้ผู้ประสบทุกข์ดื่มยา
เพราะเหตุนั้นแหละ ผู้นั้นจึงเป็นผู้ได้รับความสุขในโลกหน้า
(โจรโปริสาทกล่าวคร่ำครวญว่า)
[๔๖๕] หม่อมฉันละทิ้งพระบิดาและพระมารดา
ทั้งเบญจกามคุณอันเป็นที่ชอบใจ
หนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
พรข้อนั้นหม่อมฉันจะถวายแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๖] บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็น ๒ ส่วน
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิญญาเป็นคำสัตย์โดยแท้
พระองค์ได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า เชิญขอพรเถิดนะ พระสหาย
พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น พระดำรัสที่พระองค์ตรัสจึงไม่สมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทร้องไห้อีก กราบทูลว่า)
[๔๖๗] หม่อนฉันเข้าถึงการไม่ได้บุญ
ความเสื่อมยศเสื่อมเกียรติ บาป ทุจริต
ความเศร้าหมองเป็นอันมาก เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ
หม่อมฉันจะพึงถวายพรนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นอีกว่า)
[๔๖๘] คำว่า คนเราให้พรใดแล้วกลับคำ เขาไม่สมควรให้พรนั้น
สหาย ขอพระองค์จงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย
แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็สละถวายพระองค์ได้
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสนับสนุนโจรโปริสาทนั้นให้อาจหาญในการให้พรว่า)
[๔๖๙] สัตบุรุษทั้งหลายยอมสละชีวิต แต่ไม่สละธรรม
สัตบุรุษมีปฏิญญาเป็นสัตย์อย่างเดียว
พรที่พระองค์ได้ประทานแล้ว ขอได้โปรดรีบประทานเสียเถิด
พระราชาผู้ประเสริฐสุด ขอพระองค์จงสมบูรณ์ด้วยธรรมนี้เถิด
[๔๗๐] นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะที่สำคัญ
เมื่อจะรักษาชีวิต ก็พึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ
ทรัพย์ และแม้แต่ชีวิตทั้งหมด
[๔๗๑] บุรุษรู้ธรรมจากผู้ใด
และเหล่าสัตบุรุษย่อมขจัดความสงสัยของบุรุษนั้นได้
ข้อนั้นเป็นที่พึ่งและเป็นจุดมุ่งหมายของบุรุษนั้น
ด้วยเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาไม่พึงทำลายไมตรี
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๗๒] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน
หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
สหาย ก็ถ้าพระองค์จะตรัสขอเรื่องนี้กับหม่อมฉัน
หม่อมฉันขอถวายพรนี้แด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๗๓] สหาย พระองค์เป็นทั้งครูและสหายของหม่อมฉัน
หม่อมฉันได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว
แม้พระองค์ก็ขอได้โปรดทำตามคำของหม่อมฉัน
เราแม้ทั้ง ๒ จะได้ไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นว่า)
[๔๗๔] สหาย หม่อมฉันเป็นทั้งครูและสหายของพระองค์
พระองค์ได้ทำตามคำของหม่อมฉันแล้ว
แม้หม่อมฉันก็จะทำตามพระดำรัสของพระองค์
เราแม้ทั้ง ๒ ก็จะได้พากันไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน
(ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปหากษัตริย์เหล่านั้น
แล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๗๕] พระองค์ทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้าย
ต่อพระราชานี้ด้วยความเคียดแค้นว่า
“เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน
ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา
ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงรับสัตย์ปฏิญาณของหม่อมฉัน”
(กษัตริย์เหล่านั้นตรัสตอบว่า)
[๔๗๖] พวกหม่อมฉันจะไม่ประทุษร้าย
ต่อพระราชาพระองค์นี้ด้วยความเคียดแค้นว่า
“เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน
ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา
หม่อมฉันทั้งหลายขอรับสัจจปฏิญญาของพระองค์”
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า)
[๔๗๗] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาฉันใด
ขอพระราชานี้จงเป็นเสมือนพระบิดาและพระมารดา
ของท่านทั้งหลาย
และขอท่านทั้งหลายจงเป็นเสมือนบุตรฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(กษัตริย์เหล่านั้นเมื่อรับปฎิญาณ จึงกราบทูลว่า)
[๔๗๘] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาทั้งหลายฉันใด
แม้พระราชานี้ก็จงเป็นเหมือนพระบิดา
และพระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย
แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็จะเป็นเหมือนโอรสฉันนั้น
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงพรรณนาถึงสมบัติของพระนคร จึงตรัสปลอบโจร
โปริสาทว่า)
[๔๗๙] พระองค์เคยเสวยกระยาหารเนื้อสัตว์ ๔ เท้า
และนกที่พวกพ่อครัวจัดปรุงให้สำเร็จอย่างดี
เหมือนพระอินทร์ทรงเสวยสุธาโภชน์
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
[๔๘๐] นางกษัตริย์เหล่านั้นล้วนแต่เอวบางร่างน้อยสะโอดสะอง
ประดับแวดล้อมบำรุงพระองค์ให้บันเทิงพระทัย
เหมือนนางเทพอัปสรแวดล้อมพระอินทร์ในเทวโลกฉะนั้น
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าตามลำพังเล่า
[๔๘๑] พระแท่นบรรทมมีพนักแดง โดยมากปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์
ล้วนแต่ปูลาดด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวงอันงดงาม
พระองค์เคยทรงบรรทมสุขสำราญ
ประทับบนท่ามกลางพระแท่นบรรทมเช่นนั้น
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
[๔๘๒] ในเวลาพลบค่ำ มีทั้งเสียงปรบมือ
เสียงตะโพน และเสียงดนตรี
รับประสานเสียงล้วนแต่สตรีไม่มีบุรุษเจือปน
การขับและการประโคมก็ล้วนไพเราะ
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๘๓] พระราชอุทยานชื่อมิคาชินวัน
สมบูรณ์ด้วยบุปผชาติหลากหลายชนิด
พระนครของพระองค์ประกอบด้วยพระราชอุทยานเช่นนี้
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก ประกอบด้วยม้า ช้าง และรถ
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๘๔] ข้าแต่พระราชา ในกาฬปักษ์
ดวงจันทร์ย่อมอ่อนแสงลงทุก ๆ วัน
การสมาคมคบหาอสัตบุรุษ
ย่อมเปรียบเสมือนดวงจันทร์ในข้างแรมฉันใด
[๔๘๕] หม่อมฉันก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อาศัยพ่อครัวซึ่งเป็นคนชั่วเลวทราม
ได้ทำแต่บาปกรรมที่จะเป็นเหตุให้ไปทุคติ
[๔๘๖] ในสุกกปักษ์
ดวงจันทร์ย่อมส่องแสงสว่างขึ้นทุก ๆ วันฉันใด
ข้าแต่พระราชา การสมาคมคบหาสัตบุรุษ
ก็เปรียบเสมือนดวงจันทร์ในข้างขึ้นฉันนั้น
[๔๘๗] ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอพระองค์ทรงทราบว่า
เหมือนหม่อมฉันได้อาศัยพระองค์แล้ว
จักทำกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ไปสุคติได้
[๔๘๘] พระองค์ผู้จอมชน เปรียบเสมือนน้ำฝนที่ตกลงบนที่ดอน
ไม่ควรยืดเยื้อขังอยู่ได้นานฉันใด
แม้การสมาคมคบหาอสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น
ไม่ควรจะยืดเยื้อยาวนานได้เหมือนน้ำบนที่ดอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้เป็นนรชน
ผู้แกล้วกล้า และประเสริฐสุด
น้ำฝนที่ตกลงในสระย่อมขังอยู่ได้นานฉันใด
แม้การสมาคมคบหาสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น
ย่อมตั้งอยู่ได้นานเหมือนน้ำในสระ
[๔๙๐] การสมาคมสัตบุรุษย่อมไม่รู้จักเสื่อมคลายไป
ย่อมเป็นอยู่เหมือนอย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตยังคงอยู่
ส่วนการสมาคมคบหาอสัตบุรุษย่อมเสื่อมไปอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงห่างไกลกันกับอสัตบุรุษ
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมเพื่อให้เนื้อความถึงที่สุด จึงตรัสว่า)
[๔๙๑] พระราชาผู้ชนะคนที่ไม่ควรชนะ๑ ไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา
เพื่อนผู้ชนะเพื่อน ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน
ภรรยาผู้ไม่เกรงกลัวสามี ก็ไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา
บุตรทั้งหลายผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่ชรา ก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุตร
[๔๙๒] ที่ประชุมที่ไม่มีสัตบุรุษ๒ ก็ไม่ชื่อว่าสภา
เหล่าชนผู้ไม่พูดคำที่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ
ชนทั้งหลายผู้ละราคะ โทสะ โมหะ
กล่าวคำที่เป็นธรรมเท่านั้น จึงชื่อว่า เป็นสัตบุรุษ
[๔๙๓] บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล
เมื่อไม่พูด ใคร ๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิต
แต่บัณฑิตเมื่อพูด เมื่อแสดงอมตบท จึงรู้ว่าเป็นบัณฑิต

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ไม่ควรชนะ หมายถึงมารดาบิดา เมื่อชนะมารดาบิดาไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา หากว่าท่านได้ราช
สมบัติจากพระราชบิดาแล้ว กลับเป็นปฐมกษัตริย์ต่อท่าน ชื่อว่าทำกิจไม่สมควร (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๙๑/๔๔๙)
๒ สัตบุรุษหมายถึงบัณฑิต สัตบุรุษทั้งหลายละกิเลสมีราคะเป็นต้นแล้ว เป็นผู้อนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์
พูดแต่ความจริง (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๙๒/๔๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาต
[๔๙๔] เพราะเหตุนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงกล่าวธรรม
พึงอธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง
พึงเชิดชูธงของฤๅษีทั้งหลาย
เพราะฤๅษีทั้งหลายมีธรรมที่เป็นสุภาษิตเป็นธงชัย
ธรรมนั่นแหละเป็นธงชัยของฤๅษีทั้งหลาย
มหาสุตโสมชาดกที่ ๕ จบ
รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาตนี้ คือ
๑. จูฬหังสชาดก ๒. มหาหังสชาดก
๓. สุธาโภชนชาดก ๔. กุณาลชาดก
๕. มหาสุตโสมชาดก
อสีตินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
๒๒. มหานิบาต
๑. เตมิยชาดก ๑ (๕๓๘)
ว่าด้วยพระเตมีย์โพธิสัตว์
(เทพธิดาผู้เคยเป็นมารดาพระโพธิสัตว์ในอัตภาพหนึ่ง ปลอบพระโพธิสัตว์ให้
สบายพระทัยแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑] ท่านจงอย่าเปิดเผยตนว่าเป็นบัณฑิต
จงให้คนทั้งปวงรู้ว่าเป็นคนโง่
ขอให้คนทั้งหมดจงดูหมิ่นท่านเถิด
ความประสงค์ของท่าน
จักสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้
(พระเตมีย์โพธิสัตว์กลับได้ความสบายพระทัยตามคำของเทพธิดานั้น จึงตรัส
ว่า)
[๒] แม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน
ที่ได้กล่าวกับข้าพเจ้า
แม่เทพธิดา ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า
(พระโพธิสัตว์ตรัสถามนายสารถีว่า)
[๓] นายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไมหนอ
สหายเอ๋ย เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกเรา
ท่านจักทำประโยชน์อะไรกับหลุมเล่า

เชิงอรรถ :
๑ เป็นชาดกที่พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการเสด็จออกบรรพชาอันยิ่งใหญ่(ในอดีต)
ได้ตรัสไว้โดยทรงเริ่มต้นด้วยคาถาแรกที่เทวดาผู้สถิตอยู่ที่เศวตฉัตรกล่าวสอนเตมิยกุมารว่า “ท่านจง
อย่าเปิดเผยตนว่าเป็นบัณฑิต” เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๑/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(สุนันทสารถีได้ฟังคำนั้น ขุดหลุมมิได้เงยหน้าดู จึงกราบทูลว่า)
[๔] พระโอรสของพระราชาเป็นใบ้
และเป็นง่อยเปลี้ยขาดความสำนึก
พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ควรฝังลูกเราไว้ในป่าช้า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ ตรัสกับสุนันทสารถีว่า)
[๕] นายสารถี เรามิได้เป็นคนหนวก
คนใบ้ คนเปลี้ย และมิได้เป็นคนบกพร่อง๑
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
[๖] ท่านจงดูขา แขน และฟังภาษิตของเรา
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(สุนันทสารถีไม่รู้ จึงกราบทูลว่า)
[๗] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์
หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
ท่านเป็นใครหรือเป็นบุตรของใคร
พวกเราจักรู้จักท่านได้อย่างไร
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อแสดงตนให้ปรากฏ แสดงธรรมแก่สุนันทสารถีนั้น จึง
ตรัสว่า)
[๘] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์
ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ
เราเป็นผู้ที่ท่านจะฝังในหลุม
เป็นโอรสของพระเจ้ากาสี
[๙] เราเป็นโอรสของพระราชา
องค์ที่ท่านเข้าไปพึ่งบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ
นายสารถี ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มิได้เป็นคนบกพร่อง หมายถึงเป็นผู้มีอินทรีย์สมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. ๙/๕/๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มแห่งต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
เพราะคนผู้ประทุษร้ายมิตร ชื่อว่าเป็นคนเลวทราม
[๑๑] พระราชาก็เหมือนต้นไม้ เราก็เป็นเหมือนกิ่งไม้
ข้าแต่มหาราช นายสารถีเป็นเหมือนคนผู้อาศัยร่มไม้
นายสารถี ถ้าท่านฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ปรารภคาถาบูชามิตร ๑๐ คาถาว่า)
[๑๒] ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร
ผู้นั้นพรากจากเรือนของตนแล้ว
ย่อมมีอาหารสมบูรณ์
คนเป็นอันมากย่อมเข้าไปพึ่งพาผู้นั้นเลี้ยงชีพ
[๑๓] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
จะไปสู่ชนบท นิคม และราชธานีใด ๆ
ก็เป็นผู้อันชนทั้งหลายในชนบท นิคม
และราชธานีนั้น ๆ บูชาไปทุกแห่งหน
[๑๔] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ไม่มีพวกโจรข่มเหง
พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงดูหมิ่น ย่อมข้าม(ชนะ)ศัตรูทั้งปวงได้
[๑๕] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
ไม่โกรธเคืองใคร ๆ มาสู่เรือนของตน
ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนยินดีต้อนรับในที่ประชุม
และเป็นคนชั้นสูงของหมู่ญาติ
[๑๖] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร สักการะคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้ที่คนอื่นสักการะตอบ
เคารพคนอื่นแล้วก็มีคนอื่นเคารพตอบ
เป็นผู้อันเขาสรรเสริญเกียรติคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๗] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
บูชาผู้อื่น ย่อมได้รับการบูชาตอบ
ไหว้ผู้อื่น ย่อมได้รับการไหว้ตอบ
ทั้งได้รับอิสริยยศและเกียรติ
[๑๘] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมรุ่งเรือง๑เหมือนไฟ
ย่อมรุ่งโรจน์เหมือนเทวดา เป็นผู้อันสิริไม่ทอดทิ้ง
[๑๙] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมมีโคทั้งหลายตกลูกมาก
พืชที่หว่านลงในนาย่อมงอกงาม
ย่อมได้บริโภคผลของพืชทั้งหลายที่หว่านไว้แล้ว
[๒๐] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร พลัดตกจากเหว ภูเขา
พลาดตกต้นไม้หรือเคลื่อนจากภพ ย่อมได้ที่พึ่ง
[๒๑] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ศัตรูทั้งหลายจะระรานไม่ได้
เหมือนลมระรานต้นไทรที่มีรากและลำต้นงอกงามแล้วไม่ได้
(สุนันทสารถีประคองอัญชลี ทูลวิงวอนว่า)
[๒๒] ข้าแต่พระราชโอรส เชิญเสด็จเถิด
กระหม่อมจักนำพระองค์เสด็จกลับ
ไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์
เชิญพระองค์เถลิงถวัลยราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า
พระองค์จักทรงทำอะไรในป่าได้เล่า
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์จึงตรัสกับนายสุนันทสารถีนั้นว่า)
[๒๓] นายสารถี พอทีสำหรับเราด้วยราชสมบัตินั้น
พระญาติทั้งหลายหรือทรัพย์ทั้งหลาย
ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติอันไม่ชอบธรรม

เชิงอรรถ :
๑ รุ่งเรือง ในที่นี้หมายถึงรุ่งเรืองด้วยอิสริยยศและบริวารยศ (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๘/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น