Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๘-๔ หน้า ๑๘๗ - ๒๔๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(สุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๒๔] ข้าแต่พระราชโอรส พระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว
ทำให้ข้าพระองค์ได้รับรางวัล เมื่อพระองค์เสด็จกลับไป
พระบิดาและพระมารดาพึงพระราชทานรางวัลให้แก่ข้าพระองค์
[๒๕] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์เหล่านั้น
จะพึงดีใจ ให้รางวัลแก่ข้าพระองค์
[๒๖] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
แม้เหล่านั้นจะพากันดีใจ ให้รางวัลแก่ข้าพระองค์
[๒๗] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
ชาวชนบทและชาวนิคมผู้มีธัญญาหารมาก
จะมาประชุมกัน ให้เครื่องบรรณาการแก่ข้าพระองค์
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘] เราเป็นผู้อันพระบิดาและพระมารดา
ชาวแคว้น ชาวนิคม และกุมารทั้งปวงสละแล้ว
เราไม่มีเรือนของตน
[๒๙] เราเป็นผู้อันพระมารดาทรงอนุญาตแล้ว
และพระบิดาก็ทรงสละขาดแล้ว
ออกไปบวชอยู่ในป่าแต่ลำพัง
เราไม่พึงปรารถนากามทั้งหลาย
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติ จึงตรัสว่า)
[๓๐] ความหวังผลของเหล่าชนผู้ไม่รีบร้อนย่อมสำเร็จแน่
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
นายสารถี ท่านจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๓๑] อนึ่ง ประโยชน์โดยชอบของเหล่าชน
ผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเผล็ดผลโดยแท้
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
ออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
(นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๓๒] พระองค์เป็นผู้มีพระวาจาไพเราะ
มีพระดำรัสสละสลวยอย่างนี้
เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนัก
ของพระบิดาและพระมารดาในเวลานั้น
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๓๓] เราเป็นคนง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีข้อต่อก็หามิได้
เป็นคนหนวก เพราะไม่มีโสตประสาทก็หามิได้
เป็นคนใบ้ เพราะไม่มีชิวหาประสาทก็หามิได้
ท่านอย่าเข้าใจว่า เราเป็นใบ้
[๓๔] เราระลึกชาติก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้
เราได้เสวยราชสมบัติในครั้งนั้นแล้ว
ต้องไปตกนรกอันแสนสาหัส
[๓๕] เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี
แล้วต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
[๓๖] เรากลัวจะต้องได้เสวยราชสมบัตินั้น
จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า
ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราไว้ในราชสมบัติเลย
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่พูดในสำนัก
ในสำนักของพระบิดาและพระมารดาในกาลนั้น
[๓๗] พระบิดาทรงอุ้มเราให้นั่งบนพระเพลาแล้ว
ตรัสพิพากษาว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่าโจรคนหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
จงจองจำโจรอีกคนหนึ่งไว้ในเรือนจำ
จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่งแล้ว ราดด้วยน้ำกรด
จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว
พระบิดาตรัสพิพากษาอรรถคดีแก่มหาชนนั้นด้วยประการฉะนี้
[๓๘] เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคายที่พระบิดาตรัสนั้น
จึงกลัวต่อการเสวยราชสมบัติ
เรามิได้เป็นคนใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นคนใบ้
มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย ก็ทำเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย
เรากลิ้งเกลือกนอนจมอยู่ในอุจจาระและปัสสาวะของตน
[๓๙] ชีวิตเป็นของยาก เป็นของเล็กน้อย๑
ซ้ำประกอบไปด้วยทุกข์
ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้วพึงก่อเวรกับใคร ๆ
[๔๐] ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้วพึงก่อเวรกับใคร ๆ
เพราะไม่ได้ปัญญาและเพราะไม่ได้เห็นธรรม
[๔๑] ความหวังผลของเหล่าคนผู้ไม่รีบร้อนย่อมสำเร็จแน่
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
นายสารถี ท่านจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด
[๔๒] อนึ่ง ประโยชน์โดยชอบของเหล่าชน
ผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเผล็ดผลโดยแท้
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
ออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ชีวิตเป็นของเล็กน้อย หมายความว่า หากชีวิตของสัตว์ทั้งหลายได้รับความลำบาก ก็จะดำรงอยู่ได้นาน
มาก แต่หากได้รับความสบาย ก็จะดำรงอยู่ได้ชั่วเวลานิดหน่อย และชีวิตนี้ยากเข็ญ เป็นของเล็กน้อย คือ
มีประมาณน้อยนิด อีกทั้งเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยความสั่งสมทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๓๙/๒๗-๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(นายสุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๓] ข้าแต่พระราชโอรส
แม้ข้าพระองค์ก็จักบวชในสำนักของพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสอนุญาตให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด
ข้าพระองค์พอใจจะบวช พระเจ้าข้า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๔] นายสารถี เรามอบรถให้ท่านแล้ว ท่านจงเป็นผู้ไม่มีหนี้
มาเถิด เพราะคนที่ไม่มีหนี้ จึงจะบวชได้
พวกฤๅษีทั้งหลายกล่าวสรรเสริญการบวชนั้น
(สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๕] ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
ข้าพระองค์ได้ทำตามพระดำรัสที่พระองค์ได้ตรัสไว้แล้ว
ข้าพระองค์ทูลวิงวอนแล้ว
ขอพระองค์ควรทรงโปรดกระทำตามคำของข้าพระองค์เถิด
[๔๖] ขอพระองค์จงประทับอยู่ ณ ที่นี้
จนกว่าข้าพระองค์จะทูลเชิญเสด็จพระราชามา
พระบิดาของพระองค์ทอดพระเนตรแล้ว
จะพึงมีพระทัยเอิบอิ่มเป็นแน่
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๗] นายสารถี เราจะทำตามคำของท่านที่กล่าวกับเรา
แม้เราก็ปรารถนาจะเฝ้าพระบิดาของเราซึ่งเสด็จมา ณ ที่นี้
[๔๘] ท่านจงกลับไปเถิด สหาย
การที่ท่านได้ทูลพระญาติทั้งหลายด้วยเป็นการดี
ท่านรับคำสั่งเราแล้ว
พึงกราบทูลการถวายบังคมพระมารดาและพระบิดาของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๙] นายสารถีจับพระบาททั้ง ๒ ของพระโพธิสัตว์นั้น
และทำประทักษิณพระองค์แล้ว
ก็ขึ้นรถบ่ายหน้าเข้าไปยังทวารพระราชวัง
[๕๐] พระมารดาทอดพระเนตรเห็นรถว่างเปล่า
กลับมาแต่นายสารถีคนเดียว
จึงทรงกันแสง มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
ทอดพระเนตรดูนายสารถีนั้นอยู่
[๕๑] พระนางทรงเข้าพระทัยว่า
นายสารถีฝังลูกของเราแล้วจึงกลับมา
ลูกของเราถูกนายสารถีฝังไว้ในแผ่นดิน
กลบดินแล้วเป็นแน่
[๕๒] พวกศัตรูย่อมพากันยินดี
พวกคนจองเวรต่างก็เอิบอิ่มเป็นแน่
เพราะเห็นนายสารถีฝังลูกของเรากลับมาแล้ว
[๕๓] พระมารดาทอดพระเนตรเห็นรถอันว่างเปล่า
กลับมาแต่นายสารถีคนเดียว
มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
ทรงกันแสงอยู่ ตรัสถามนายสารถีนั้นว่า
[๕๔] ลูกของเราเป็นคนใบ้จริงหรือ เป็นคนง่อยเปลี้ยจริงหรือ
ลูกของเราขณะที่ท่านจะฝังดิน พูดอะไรบ้างหรือเปล่า
นายสารถี ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เราด้วยเถิด
[๕๕] ลูกของเราเป็นคนใบ้ เป็นคนง่อยเปลี้ย
เมื่อท่านจะฝังลงดิน กระดิกมือและเท้าอย่างไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๖] ข้าแต่พระแม่เจ้า
ขอได้โปรดพระราชทานอภัยโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด
ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูล
ตามที่ได้ยินและได้เห็นมาในสำนักของพระราชโอรส
(พระนางจันทาเทวีตรัสกับนายสุนันทสารถีนั้นว่า)
[๕๗] นายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยโทษแก่ท่าน
อย่าได้กลัวเลย จงพูดไปเถิด
ตามที่ท่านได้ยินหรือได้เห็นมาในสำนักของพระราชโอรส
(นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๘] พระราชโอรสนั้นมิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย
ยังมีพระดำรัสสละสลวยไพเราะ ได้ทราบว่า
พระองค์ทรงกลัวต่อการครองราชสมบัติ
จึงได้ทำการลวงอย่างมากมาย
[๕๙] พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อน
ที่พระองค์เคยได้เสวยราชสมบัติ
ครั้นได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว
ต้องไปตกนรกอย่างแสนสาหัส
[๖๐] พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี
แล้วต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
[๖๑] พระองค์ทรงกลัวต่อการเสวยราชสมบัติ
จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า
ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัส
ในสำนักของพระบิดาและพระมารดาในกาลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๖๒] พระราชโอรสทรงถึงพร้อมด้วยองคาพยพ
มีพระรูปสมบัติงดงามสมส่วน
มีพระวาจาสละสลวย มีพระปัญญา
ทรงดำรงอยู่ในทางสวรรค์
[๖๓] ถ้าพระแม่เจ้าทรงพระประสงค์จะทอดพระเนตร
พระราชโอรสของพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลเชิญเสด็จพระแม่เจ้าไปให้ถึงสถานที่
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเตมีย์
(ฝ่ายพระเจ้ากาสีทรงสดับคำของนายสุนันทสารถี จึงดำรัสสั่งให้เรียกมหา-
เสนคุตมา รีบให้ตระเตรียมเสด็จ ตรัสว่า)
[๖๔] เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมรถ เทียมม้า
ผูกเครื่องประคับช้าง จงประโคมสังข์และบัณเฑาะว์
ตีกลองหน้าเดียวเถิด
[๖๕] จงตีกลองสองหน้าและรำมะนาอันไพเราะ
ขอชาวนิคมจงตามเรามา
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๖] ขอพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์
และพราหมณ์ทั้งหลายจงรีบเทียมยาน
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๗] ขอพวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
และกองพลราบจงรีบเทียมยาน
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๘] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
จงรีบเทียมยานเถิด
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๙] พวกนายสารถีจูงม้าสินธพที่มีฝีเท้าเร็ว
เทียมเข้ากับราชรถขับมายังทวารพระราชวัง
และกราบทูลว่า ม้าเหล่านี้เทียมแล้ว พระเจ้าข้า
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๐] ม้าอ้วนก็ไม่มีฝีเท้าเร็ว ม้าผอมก็ไม่มีเรี่ยวแรง
จงเว้นทั้งม้าผอมและม้าอ้วนเสีย
เลือกเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๑] ลำดับนั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับม้าสินธพที่เทียมแล้ว
ได้ตรัสกับนางชาววังว่า พวกเจ้าทั้งหมดจงตามเรามาเถิด
[๗๒] พระราชาตรัสสั่งว่า จงตระเตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง
คือ พัดวาลวีชนี อุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตร
และฉลองพระบาทที่ประดับตกแต่งด้วยทองคำขึ้นรถไปด้วย
[๗๓] และต่อจากนั้น พระราชาตรัสสั่งให้นายสารถีนำทาง
เสด็จเคลื่อนขบวนเข้าไปถึงสถานที่
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเตมีย์
[๗๔] ส่วนพระเตมีย์ทอดพระเนตรเห็นพระบิดา
กำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ
ทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ จึงถวายพระพรว่า
[๗๕] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
พระองค์ทรงสุขสบายดีหรือ ทรงพระสำราญดีหรือ
ราชกัญญาทั้งปวงและพระมารดาของอาตมภาพ
ไม่มีพระโรคาพาธหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๗๖] ลูกรัก โยมสุขสบายดี
ไม่มีโรคเบียดเบียน
พระราชกัญญาทั้งปวงและพระมารดา
ของลูกรักก็ไม่มีโรคาพาธ
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามพระราชาว่า)
[๗๗] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
มหาบพิตรไม่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์หรือ
ไม่ทรงโปรดปรานการเสวยน้ำจัณฑ์หรือ
พระทัยของพระองค์ทรงยินดีในสัจจะ
ในธรรม และในทานหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๗๘] ลูกรัก โยมไม่ดื่มน้ำจัณฑ์
และไม่โปรดปรานการดื่มน้ำจัณฑ์
ใจของโยมยังยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทาน
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๗๙] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
ราชพาหนะของพระองค์ที่เขาเทียมแล้วมั่นคงหรือ
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้ดีอยู่หรือ
มหาบพิตร พยาธิที่จะเข้าไปแผดเผาพระสรีระของพระองค์ไม่มีหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๘๐] พาหนะมีม้าและโคเป็นต้นของโยมที่เทียมแล้วมั่นคง
ราชพาหนะก็ยังนำภาระไปได้
พยาธิที่เข้าไปแผดเผาสรีระของโยมก็ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๘๑] ชุมชนแถบชายแดนของพระองค์ยังมั่งคั่งหรือ
คามนิคมในท่ามกลางรัฐของพระองค์
ยังเป็นที่อยู่แน่นหนามั่งคั่งอยู่หรือ
ฉางหลวงและท้องพระคลังของพระองค์ยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๘๒] ชุมชนแถบชายแดนของโยมยังมั่งคั่ง
คามนิคมในท่ามกลางแคว้นก็ยังอยู่แน่นหนาดี
ฉางหลวงและท้องพระคลังของโยม
ก็ยังคงบริบูรณ์ดีทุกอย่าง
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๓] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
ขอมหาดเล็กทั้งหลายจงจัดตั้งบัลลังก์
ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งถวายพระราชาเถิด
[๘๔] เชิญประทับนั่ง ณ เครื่องลาดใบไม้ที่เขาปูไว้เรียบร้อย
ถวายมหาบพิตร ณ ที่นี้เถิด
จงทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของพระองค์เถิด
[๘๕] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้เป็นของสุกไม่เค็ม
พระองค์มาเป็นแขกของอาตมภาพแล้ว เชิญเสวยเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๘๖] โยมไม่บริโภคใบหมากเม่า
เพราะใบหมากเม่านี้มิใช่อาหารของโยม
โยมบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระราชาตรัสกับพระเตมีย์โพธิสัตว์แล้ว จึงตรัสคาถาว่า)
[๘๗] ความน่าอัศจรรย์ปรากฏชัดเจนกับโยม
เพราะได้เห็นลูกรักอยู่ในที่ลับแต่ผู้เดียว
เพราะเหตุไร ผิวพรรณของผู้บริโภคอาหารเช่นนี้จึงผ่องใสเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะทูลพระราชานั้น จึงตรัสว่า)
[๘๘] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
อาตมภาพจำวัดตามลำพังบนเครื่องลาดใบไม้
เพราะการจำวัดตามลำพังนั้น
ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส
[๘๙] อนึ่ง อาตมภาพไม่มีราชองครักษ์คาดกระบี่คอยป้องกัน
เพราะการจำวัดตามลำพังของอาตมภาพนั้น
ผิวพรรณจึงผ่องใส ขอถวายพระพร
[๙๐] อาตมภาพมิได้เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
มิได้ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
เพราะฉะนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส
[๙๑] เพราะการปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง
เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
ทั้ง ๒ อย่างนี้ พวกคนพาลซูบซีดเหี่ยวแห้ง
เหมือนไม้อ้อที่เขียวสดถูกถอนทิ้งไว้
(ลำดับนั้น พระราชาทรงเชิญพระเตมีย์โพธิสัตว์ให้ครองราชสมบัติ จึงตรัสว่า)
[๙๒] ลูกรัก โยมขอมอบกองพลช้าง๑ กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ เหล่าทหารผูกโล่
และพระนิเวศน์ที่น่ารื่นรมย์แก่ลูก

เชิงอรรถ :
๑ กองพลช้าง หมายถึงกองทัพที่จัดขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ นับช้างตั้งแต่สิบเชือกขึ้นไป ที่ชื่อว่ากองพลรถก็เช่น
เดียวกัน (ขุ.ชา.อ. ๙/๙๒/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๙๓] โยมขอมอบพระสนมกำนัลในผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ลูกรักจงปกครองพระสนมกำนัลในเหล่านั้น
จงเป็นพระราชาของโยมทั้งหลาย
[๙๔] หญิงทั้ง ๔ คนผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง
ศึกษาดีแล้วในหน้าที่ของหญิงแม้อื่น ๆ
จักทำลูกรักให้รื่นรมย์ในกามได้ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
[๙๕] โยมจักนำราชกัญญาจากพระราชาอื่น ๆ ผู้ประดับดีแล้วมา
ขอลูกรักให้กำเนิดพระโอรสในหญิงเหล่านั้นแล้ว
จึงบวชในภายหลังเถิด
[๙๖] ลูกรักยังหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผมดำสนิท
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์แสดงธรรมโปรดพระราชาว่า)
[๙๗] คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม
เพราะการบวชของคนหนุ่ม ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
[๙๘] คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม
อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์
อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ
[๙๙] อาตมภาพเห็นเด็กหนุ่มของท่านทั้งหลาย
ผู้เรียกมารดาและบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักได้มาโดยยาก
ยังไม่ทันถึงความแก่เลยก็ตายเสียแล้ว
[๑๐๐] อาตมภาพเห็นเด็กสาวของท่านทั้งหลาย
ที่สวยสดงดงาม สิ้นชีวิต เหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ถูกถอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐๑] จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม
แม้ยังหนุ่มสาวก็ตาย เพราะฉะนั้น
ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตนั้นได้ว่า เรายังเป็นหนุ่มสาว
[๑๐๒] อายุของคนเป็นของน้อย เพราะวันคืนล่วงไป ๆ
เปรียบเหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย
ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้
[๑๐๓] สัตวโลกถูกครอบงำและถูกรุมล้อมอยู่เป็นนิตย์
เมื่อราตรีทั้งหลายทำอายุ วรรณะ และกำลัง
ของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปเป็นไปอยู่
มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๔] สัตวโลกถูกอะไรครอบงำ และถูกอะไรรุมล้อมไว้
อะไรชื่อว่าราตรีที่ทำอายุ วรรณะ
และกำลังของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปเป็นไปอยู่
โยมถามแล้ว ขอลูกรักจงบอกข้อนั้นแก่โยมเถิด
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลว่า)
[๑๐๕] สัตวโลกถูกความตายครอบงำ
และถูกความแก่รุมล้อมไว้
วันคืนที่ชื่อว่าทำอายุ วรรณะ
และกำลังของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปก็เป็นไปอยู่
มหาบพิตร ขอจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร
[๑๐๖] เมื่อเส้นด้ายที่เขากำลังทอ
ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่ต้องทอต่อไป
โยมก็พึงทราบว่า เหลืออยู่น้อยเท่านั้นฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐๗] ห้วงน้ำที่เต็มฝั่งเมื่อไหลไปย่อมไม่ไหลกลับฉันใด
อายุของมนุษย์ทั้งหลายเมื่อผ่านไป
ก็ย่อมไม่หวนกลับคืนฉันนั้น
[๑๐๘] ห้วงน้ำที่เต็มฝั่งย่อมพัดพาเอาต้นไม้
ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไปฉันใด
สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไปฉันนั้น
(พระราชาสดับธรรมกถาของพระเตมีย์โพธิสัตว์แล้ว จะเชิญให้ครองราชสมบัติอีก จึงตรัสว่า)
[๑๐๙] ลูกเอ๋ย โยมขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ เหล่าทหารผูกโล่
และพระราชนิเวศน์ที่น่ารื่นรมย์แก่ลูก
[๑๑๐] อนึ่ง โยมขอมอบพระสนมกำนัลใน
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ลูกเอ๋ย จงปกครองพระสนมกำนัลในเหล่านั้น
ลูกจักเป็นพระราชาของโยมทั้งหลาย
[๑๑๑] หญิงทั้ง ๔ คนผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง
ศึกษาดีแล้วในหน้าที่ของหญิงอื่น ๆ
จักทำลูกรักให้รื่นรมย์ในกามได้ ลูกจะทำอะไรในป่าเล่า
[๑๑๒] โยมจักนำราชกัญญาจากพระราชาอื่น ๆ
ผู้ประดับแล้วมาให้แก่ลูก
ลูกให้หญิงเหล่านั้นกำเนิดพระโอรสแล้ว
จึงบวชในภายหลังเถิด
[๑๑๓] ลูกยังหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย มีผมดำสนิท
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๑๔] ลูกเอ๋ย โยมขอมอบฉางหลวง พระคลัง พาหนะ
พลนิกาย และพระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์แก่ลูก
[๑๑๕] ลูกจงแวดล้อมด้วยแวดวงราชกัญญาที่งามพร้อม
จงแวดล้อมด้วยหมู่พระสนมกำนัลใน
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะประกาศความที่ตนไม่ปรารถนาราชสมบัติ จึงทูลว่า)
[๑๑๖] มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม
บุคคลจักตายเพราะภรรยาทำไม
ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวที่แก่เฒ่า
เพราะถูกชราครอบงำ
[๑๑๗] ในโลกสันนิวาสที่มีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น
จะเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม
จะยินดีไปทำไม จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไม
จะมีประโยชน์อะไรด้วยลูกและเมียแก่อาตมภาพ
อาตมภาพเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร
[๑๑๘] มัจจุราชย่อมไม่ย่ำยีอาตมภาพผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว
จะยินดีไปทำไม จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไม
[๑๑๙] ภัยของผลไม้ที่สุกแล้วทั้งหลาย
ย่อมมีเพราะหล่นลงเป็นนิตย์ฉันใด
ภัยของเหล่าสัตว์ผู้เกิดมาแล้ว
ย่อมมีเพราะความตายอยู่เป็นนิตย์ฉันนั้น
[๑๒๐] คนเป็นจำนวนมากที่ได้พบกันในตอนเช้า
ตกตอนเย็นบางพวกก็ไม่เห็นกัน
คนเป็นจำนวนมากที่ได้พบกันในตอนเย็น
ตกตอนเช้าบางพวกก็ไม่เห็นกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๒๑] ควรรีบทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้
ใครเล่าจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจะมีในวันพรุ่งนี้
เพราะความผ่อนผันกับมัจจุราชที่มีเสนาหมู่ใหญ่นั้น
ไม่มีแก่เราทั้งหลายเลย
[๑๒๒] พวกโจรย่อมปรารถนาทรัพย์
มหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก
เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับไปเถิด
อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ ขอถวายพระพร
เตมิยชาดกที่ ๑ จบ
๒. มหาชนกชาดก๑ (๕๓๙)
ว่าด้วยพระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๓] ใครกันนี่ ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง
ก็ยังเพียรพยายาม(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร
ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร
จึงพยายามเต็มที่อยู่อย่างนี้
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๔] เทพธิดา เราพิเคราะห์เห็นธรรมเนียมของโลก
และอานิสงส์ของความพยายาม
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง
เราจึงเพียรพยายาม(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร

เชิงอรรถ :
๑ มหาชนกชาดก เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภการเสด็จออก
บรรพชาครั้งใหญ่ (ในอดีต) จึงได้ตรัสเรื่องพระมหาชนกนี้โดยทรงยกคาถาแรกของเรื่องที่นางเทพธิดา
กล่าวกับพระมหาชนกที่กำลังว่ายน้ำข้ามทะเลอยู่ว่า “ใครกันนี่ ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่งก็ยังพยายาม
(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร ” เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๕] ฝั่งสมุทรอันลึกประมาณไม่ได้ยังไม่ปรากฏ
ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่านย่อมเปล่าประโยชน์
ยังไม่ทันจะถึงฝั่งเลย ท่านก็จักตายแน่
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๖] บุคคลผู้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอยู่
จะไม่ถูกหมู่ญาติ เทวดา และพรหมทั้งหลายนินทา
ทั้งจะไม่เดือดร้อนในภายหลัง
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๗] การงานที่ให้ถึงฝั่งไม่ได้
ปราศจากผล ก่อให้เกิดความลำบาก
และความตาย ย่อมมีได้เพราะทำการงานใด
ประโยชน์อะไรด้วยความพยายาม ในการงานนั้น
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๘] เทพธิดา บุคคลใดรู้ว่า
งานสุดวิสัยเกินตัวแล้ว ไม่รักษาชีวิตของตน
ถ้าผู้นั้นคลายความเพียรเสีย ก็จะพึงรู้ผลของงานนั้น
[๑๒๙] เทพธิดา คนบางพวกในโลกนี้
พิจารณาเห็นผลแห่งความมุ่งประสงค์ของตน
จึงประกอบการงานทั้งหลาย
การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที
[๑๓๐] เทพธิดา ท่านกำลังเห็นผลงานที่ประจักษ์แก่ตนเองแล้วมิใช่หรือ
คนอื่น ๆ พากันจมน้ำแล้ว
เราคนเดียวเท่านั้นพยายามข้ามอยู่
และยังเห็นท่านอยู่ใกล้เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๓๑] เรานั้นจักพยายามตามกำลังความสามารถ
จักไปให้ถึงฝั่งสมุทร
จักทำความเพียรอย่างลูกผู้ชาย
(ต่อมา พระโพธิสัตว์ได้ครองราชสมบัติในเมืองมิถิลาแล้ว ทรงระลึกถึงผลแห่ง
ความเพียรชอบของพระองค์ ทรงเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติว่า)
[๑๓๒] ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม
ไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่หาประมาณมิได้เห็นปานนี้ด้วยการกระทำ
ท่านนั้นจงไปในสถานที่ที่ท่านชอบใจเถิด
ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุม๑นี้ คือ
๑. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ขึ้น
๒. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ตก
๓. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน
๔. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก
๕. ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่ภายในภายนอก
๖. ขุมทรัพย์ที่ทางขึ้น
๗. ขุมทรัพย์ที่ทางลง

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุมที่พระเจ้าโปลชนกทรงฝังไว้ อธิบายโดยย่อ ดังนี้
๑. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ขึ้น หมายถึงที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า
๒. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ตก หมายถึงที่ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับ
๓. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน หมายถึงขุมทรัพย์ที่อยู่ภายในประตูใหญ่พระราชวัง
๔. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก หมายถึงขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอกประตูใหญ่พระราชวัง
๕. ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่ภายในภายนอก หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ภายใต้ธรณีประตู
๖. ขุมทรัพย์ที่ทางขึ้น หมายถึงขุมทรัพย์ตรงที่ลาดบันได เวลาเสด็จขึ้นช้างมงคล
๗. ขุมทรัพย์ที่ทางลง หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงที่เสด็จลงจากคอช้าง
๘.-๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้สาละทั้ง ๔ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ที่เท้าพระแท่นบรรทมทั้ง ๔
๑๒. ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ชั่วแอก (หนึ่งวา) รอบที่บรรทม
๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้ง ๒ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงปลายงาทั้ง ๒ ของช้างมงคลในโรงช้างมงคล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
๘.-๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้สาละทั้ง ๔
๑๒. ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ
๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้ง ๒
๑๔. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง
๑๕. ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ
๑๖. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ ธนูหนักหนึ่งพันแรงคน
บัลลังก์สี่เหลี่ยม ผู้ทำเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี
[๑๓๓] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองได้เป็นพระราชาตามที่ตนปรารถนา
[๑๓๔] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองถูกอุ้มจากน้ำขึ้นบกแล้ว
[๑๓๕] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองได้เป็นพระราชาตามที่ตนปรารถนา
[๑๓๖] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองถูกอุ้มจากน้ำขึ้นบกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑๔. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงปลายหางของช้างมงคลในโรงช้างมงคล
๑๕. ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในสระโบกขรณีมงคล
๑๖. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้ต้นรังใหญ่ในพระราชอุทยาน เวลาเที่ยงวันเงาจะอยู่
ที่โคนต้น จึงให้ขุดทรัพย์ที่นั้น ธนูหนักหนึ่งพันแรงคน หมายถึงธนูที่ใช้แรงคนโก่งหนึ่งพันคน แต่
พระมหาชนกโก่งได้โดยง่ายเหมือนธนูดีดฝ้ายของสตรี บัลลังก์สี่เหลี่ยม ก็ทรงทราบด้านศีรษะของ
บัลลังก์ให้พระนางสีวลีเอาปิ่นปักพระเกศาวาง ผู้ทำเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี หมายถึงพระนางสีวลี
ยินดีกับชายใด ชายนั้นจะได้ครองราชย์ พระมหาชนกเป็นที่โปรดปรานของพระนางสีวลีตั้งแต่แรกพบ
ถึงกับยื่นพระหัตถ์ให้เกาะ ท้าวเธอก็ทรงเกาะพระหัตถ์พระนางขึ้นสู่ปราสาท
(ขุ.ชา.อ. ๙/๑๓๒/๑๖๔-๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๓๗] คนมีปัญญาแม้ถูกทุกข์กระทบแล้ว
ก็ไม่พึงทำลายความหวัง เพื่อการมาถึงแห่งความสุข
เพราะสัมผัสมีมากอย่างทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
ผู้ไม่นึกถึงประโยชน์ย่อมเข้าถึงความตาย
[๑๓๘] สิ่งที่ไม่ได้คิดกลับเป็นไปได้ สิ่งที่คิดแล้วกลับพินาศไป
ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของหญิงหรือชาย
หาได้สำเร็จด้วยความคิดไม่
(ชาวเมืองกล่าวกันว่า)
[๑๓๙] ท่านผู้เจริญ พระราชาผู้ครอบครองพื้นที่ทั้งปวง
เป็นใหญ่ในทิศ ไม่เป็นเหมือนแต่ก่อนหนอ
วันนี้ ไม่ทอดพระเนตรการฟ้อนรำ
ไม่ทรงใส่พระทัยในการขับร้อง
[๑๔๐] ไม่ทอดพระเนตรฝูงเนื้อ ไม่เสด็จประพาสพระราชอุทยาน
ไม่ทอดพระเนตรฝูงหงส์
พระองค์ทรงประทับนิ่งเฉยเหมือนคนใบ้
ไม่ทรงว่าราชการเลย
(พระโพธิสัตว์ทรงระลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงเปล่งอุทานว่า)
[๑๔๑] นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข
มีปกติหลีกเร้น ปราศจากเครื่องผูกคือกิเลส
ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ก้าวล่วงตัณหาเสียได้
ย่อมอยู่ ณ อารามของใครหนอในวันนี้
[๑๔๒] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนักปราชญ์เหล่านั้นผู้แสวงหาคุณใหญ่
นักปราชญ์เหล่าใดเป็นผู้ไม่ขวนขวายอยู่ในโลกที่ถึงความขวนขวาย
[๑๔๓] นักปราชญ์เหล่านั้นตัดข่ายคือตัณหาอันมั่นคงแห่งมฤตยู
ที่มีมายาอย่างยิ่งทำลายด้วยญาณไปอยู่
ใครเล่าจะพึงนำเราไปให้ถึงสถานที่อยู่ของนักปราชญ์เหล่านี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๔๔] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ที่นายช่างผู้ฉลาดได้จัดจำแนกไว้
สร้างไว้เป็นสัดส่วนออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๕] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรืองกว้างขวาง
สว่างไสวทั่วทุกทิศ ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๖] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ซึ่งมีปราการและเสาค่ายเป็นอันมาก ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๗] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีป้อมคูและซุ้มประตูมั่นคง ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๘] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีถนนหลวงตัดไว้อย่างดี ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๙] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีร้านตลาดที่จัดแยกไว้สวยงาม ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๐] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ซึ่งมีโค ม้า และรถเบียดเสียดกัน ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๑] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีสวนสาธารณะมีระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๕๒] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ที่มีวนอุทยาน มีระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๓] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีปราสาทราชมณเฑียร สถานที่และอุทยาน
เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๔] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีปราการ ๓ ชั้น
คับคั่งด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ที่พระเจ้าวิเทหะ
ผู้เรืองยศพระนามว่าโสมนัสได้ทรงสร้างไว้ ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๕] เมื่อไร เราจักละแคว้นวิเทหะอันรุ่งเรือง
พรั่งพร้อมด้วยการสะสมเสบียง เช่น
สะสมทรัพย์และธัญญาหารเป็นต้น
ที่พระเจ้าวิเทหะทรงปกครองโดยชอบธรรม ออกบวชได้
การละแคว้นเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๖] เมื่อไร เราจักละแคว้นวิเทหะอันรุ่งเรือง
ที่พวกปรปักษ์ผจญไม่ได้
ซึ่งพระเจ้าวิเทหะทรงปกครองโดยธรรม ออกบวชได้
การละแคว้นเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๗] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ที่นายช่างผู้ฉลาดได้จัดจำแนกไว้
สร้างไว้เป็นส่วนสัด ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๕๘] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ที่โบกฉาบด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๙] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
มีกลิ่นหอมสดชื่นรื่นรมย์ใจ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๐] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่นายช่างผู้ชาญฉลาดจัดจำแนก
สร้างไว้เป็นสัดส่วน ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๑] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่โบกฉาบด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๒] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่มีกลิ่นหอมสดชื่นรื่นรมย์ใจ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๓] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่นายช่างผู้ชาญฉลาดฉาบทา
และประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๖๔] เมื่อไร เราจึงจักละบัลลังก์ทอง
ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อันวิจิตร ออกบวชได้
การละบัลลังก์ทองเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๕] เมื่อไร เราจักละบัลลังก์แก้วมณี
ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อันวิจิตร ออกบวชได้
การละบัลลังก์แก้วมณีเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๖] เมื่อไร เราจักละผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าป่าน
และผ้าขนสัตว์อย่างละเอียด ออกบวชได้
การละผ้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๗] เมื่อไร เราจักละสระโบกขรณีอันรื่นรมย์
มีนกจักรพากส่งเสียงร่ำร้องอยู่
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ดอกปทุม
และดอกอุบล ออกบวชได้
การละสระโบกขรณีเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๘] เมื่อไร เราจักละกองช้างพลาย
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
มีสายรัดทองคำ มีเครื่องปกกระพองและข่ายทองคำ
[๑๖๙] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองช้างเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๐] เมื่อไร กองม้าสินธพชาติอาชาไนย๑
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ เป็นพาหนะเร็ว

เชิงอรรถ :
๑ ม้าสินธพชาติอาชาไนย หมายถึงฝูงม้าที่มีชื่อว่าอาชาไนย เพราะเป็นม้าที่รู้จักเหตุและมิใช่เหตุ (ฝึกง่าย)
โดยกำเนิด (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๗๐/๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๗๑] มีนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๒] เมื่อไร เราจักละกองรถที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๓] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองรถเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๔] เมื่อไร เราจักละรถทองคำที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๕] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถทองคำเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๖] เมื่อไร เราจักละรถเงินที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๗] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเงินเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๘] เมื่อไร เราจักละรถม้าที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๙] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๐] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยอูฐที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๘๑] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยอูฐเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๒] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยโคที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๓] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยโคเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๔] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยแพะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๕] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยแพะเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๖] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยแกะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๗] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยแกะเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๘] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยเนื้อที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๙] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยเนื้อเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๙๐] เมื่อไร เราจักละกองช้างที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า ถือโตมรและขอ ออกบวชได้
การละกองช้างเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๑] เมื่อไร เราจักละกองม้าที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า สะพายธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๒] เมื่อไร เราจึงจักละกองรถที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า สะพายธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองรถเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๓] เมื่อไร เราจักละกองธนูที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองธนูเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๔] เมื่อไร เราจักละพวกราชบุรุษผู้ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะอันวิจิตร
แกล้วกล้า เหน็บกฤชทองคำ ออกบวชได้
การละพวกราชบุรุษเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๕] เมื่อไร เราจักละหมู่พราหมณ์ผู้บำเพ็ญพรต
ประดับตกแต่งแล้ว ทาตัวด้วยกระแจะจันทน์เหลือง
ครองผ้ากาสิกพัสตร์เนื้อดี ออกบวชได้
การละหมู่พราหมณ์เห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๙๖] เมื่อไร เราจักละหมู่อำมาตย์ผู้ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเหลือง แกล้วกล้า
เดินไปข้างหน้ามีระเบียบเรียบร้อยดี ออกบวชได้
การละหมู่อำมาตย์เห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๗] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๘] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไมสะโอดสะอง ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๙] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้เชื่อฟัง พูดไพเราะ ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในผู้น่ารักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๐] เมื่อไร เราจักละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
จำหลักลวดลายเป็นร้อย ออกบวชได้
การละถาดทองคำเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๑] เมื่อไร กองช้างพลายที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ มีสายรัดทองคำ
มีเครื่องปกกระพองและข่ายทองคำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๐๒] มีนายคราญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ
ที่เคยขี่ติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๓] เมื่อไร กองม้าสินธพชาติอาชาไนย
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ เป็นพาหนะเร็ว
[๒๐๔] มีนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๕] เมื่อไร กองรถที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๐๖] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๗] เมื่อไร รถทองคำที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๐๘] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๙] เมื่อไร รถเงินที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๐] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๑๑] เมื่อไร รถม้าที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๒] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๓] เมื่อไร รถเทียมด้วยอูฐที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๔] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๕] เมื่อไร รถเทียมด้วยโคที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๖] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๗] เมื่อไร รถเทียมด้วยแพะที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๘] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๑๙] เมื่อไร รถเทียมด้วยแกะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๒๐] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๑] เมื่อไร รถเทียมด้วยเนื้อที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๒๒] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๓] เมื่อไร กองช้างที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือโตมรและของ้าว
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๔] เมื่อไร กองม้าที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือแส้และธนู
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๕] เมื่อไร กองรถที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๒๖] เมื่อไร กองธนูที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๗] เมื่อไร พวกราชบุตรผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะอันวิจิตร แกล้วกล้า เหน็บกฤชทองคำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๘] เมื่อไร หมู่พราหมณ์ผู้มีพรตประดับแล้ว
ทาตัวด้วยจุรณจันทน์เหลือง ใช้ผ้าเนื้อดีจากแคว้นกาสี
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๙] เมื่อไร หมู่อำมาตย์ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเหลือง แกล้วกล้า
เดินนำไปข้างหน้าอย่างเป็นระเบียบ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๐] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๑] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๓๒] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๓] เมื่อไร เราจักได้ปลงผม ห่มผ้าสังฆาฏิ
อุ้มบาตรเที่ยวบิณฑบาต
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๔] เมื่อไร เราจักทรงผ้าสังฆาฏิที่ทำด้วยผ้าบังสุกุล
ที่เขาทิ้งไว้ที่หนทางใหญ่
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๕] เมื่อไร เมื่อมีฝนตกพรำตลอด ๗ วัน
เราจึงมีจีวรเปียกชุ่มเที่ยวไปบิณฑบาต
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๖] เมื่อไร เราจักได้เที่ยวจาริกไปตามต้นไม้น้อยใหญ่
ตามป่าน้อยใหญ่ตลอดทั้งคืนและวัน
โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๗] เมื่อไร เราจักละความกลัวและความขลาดเสียได้
ไปที่ซอกเขาและลำธารได้ตามลำพัง
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๘] เมื่อไร เราจักทำจิตให้ตรงได้เหมือนคนดีดพิณ
ดีดพิณทั้ง ๗ สายให้มีเสียงน่ารื่นรมย์จับใจ
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๙] เมื่อไร เราจักตัดกามสังโยชน์ทั้งที่เป็นของทิพย์
และของมนุษย์ได้เหมือนช่างหนังตัดรองเท้าโดยรอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เมื่อพระมหาชนกทรงรำพึงอย่างนี้แล้ว ทรงถือเพศบรรพชา เสด็จลงจาก
ปราสาทไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเสียงคร่ำครวญของสตรีเหล่านั้นว่า)
[๒๔๐] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ต่างประคองแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉัน
[๒๔๑] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง
ต่างพากันประคองแขนทั้ง ๒ ร้องคร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉัน
[๒๔๒] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ล้วนเป็นผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
ต่างพากันประคองแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉันเสีย
[๒๔๓] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ถูกพระราชาทรงละทิ้งไว้แล้ว เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๔] พระราชาทรงละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๕] พระราชาทรงละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ล้วนแต่เป็นผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๖] ทรงละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
จำหลักลวดลายตั้งร้อย ทรงอุ้มบาตรดิน
นั้นเป็นการอภิเษกครั้งที่ ๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(พระนางสีวลีกราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า)
[๒๔๗] เปลวไฟน่ากลัว ไหม้ท้องพระคลังตามลำดับ
คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์มากมาย
[๒๔๘] แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ผ้า จันทน์เหลือง
หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง
และเหล็กเป็นอันมากที่ไฟไหม้
ข้าแต่พระราชา มาเถิดพระเจ้าข้า
เชิญพระองค์เสด็จกลับก่อนเถิด
พระราชทรัพย์ของพระองค์อย่าได้พินาศเสียหายเลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๔๙] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญ
เรามิได้มีอะไรจะไหม้
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๕๐] พวกโจรป่าเกิดขึ้น ปล้นแคว้นของพระองค์
มาเถิดพระเจ้าค่ะ ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับเถิด
แคว้นนี้อย่าได้พินาศเสียหายเลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๑] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เมื่อแคว้นถูกพวกโจรปล้น
เรามิได้มีอะไรจะให้ปล้นเลย
[๒๕๒] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เราจักมีปีติเป็นอาหารเหมือนเหล่าเทพชั้นอาภัสสรพรหม๑

เชิงอรรถ :
๑ เหล่าเทพชั้นอาภัสสรพรหมมีปีติเป็นอาหารให้เวลาผ่านไปด้วยความสุขในฌาน (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๕๑/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๓] เสียงอึกทึกกึกก้องอะไรกันนั่น
ใครกันหนอเล่นกันเหมือนอยู่ในบ้าน
ท่านสมณะ อาตมภาพขอถาม
มหาชนนั้นติดตามท่านมาเพื่อประโยชน์อะไร
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๔] มหาชนนี้ติดตามข้าพเจ้าผู้ละทิ้งพวกเขามาในที่นี้
ผู้ล่วงเขตแดนคือกิเลสไป
เพื่อบรรลุถึงโมเนยยธรรม คือญาณของพระมุนี
แต่ยังเจือปนด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลายอยู่
พระคุณเจ้าก็รู้อยู่จะถามไปทำไม
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๕] พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระ (เพศนักบวช) นี้
อย่าได้เข้าพระทัยว่า “เราข้ามเขตแดนคือกิเลสแล้ว”
กรรมคือกิเลสนี้จะพึงข้ามได้ด้วยเพศแห่งบรรพชิตก็หาไม่
เพราะอันตรายทั้งหลายยังมีอยู่มาก
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๖] อันตรายอะไรหนอ
จะพึงมีแก่ข้าพเจ้าผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้
ข้าพเจ้าไม่ปรารถนากามทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๗] อันตรายเป็นอันมากทีเดียว
คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน
ความบิดกาย ความเหนื่อยหน่าย
ความเมาอาหารที่มีอยู่ในสรีระของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๘] ท่านพราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีหนอ
ท่านพราหมณ์ผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้าขอถามท่าน ท่านเป็นใครหนอ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๙] ชนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยชื่อว่า นารทะ
โดยโคตรว่า กัสสปะ
อาตมภาพมาในสำนักของพระองค์ด้วยเข้าใจว่า
การสมาคมกับสัตบุรุษเป็นการดี
[๒๖๐] ขอความเพลิดเพลินและวิหารธรรมทั้งปวงจงมีแก่พระองค์เท่านั้น
พระองค์จงบำเพ็ญสิ่งที่บกพร่องให้บริบูรณ์เถิด
จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบเถิด
[๒๖๑] จงทรงคลี่คลายความยุบลงและฟูขึ้น
จงสักการะกรรม วิชชา ธรรม๑
และสมณธรรมแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์เถิด
[๒๖๒] ข้าแต่พระชนก พระองค์ทรงละทิ้งช้าง ม้า
ชาวพระนคร และชนบทเป็นอันมาก
เสด็จออกผนวช ทรงยินดีในบาตรดิน
[๒๖๓] ชาวชนบท มิตร อำมาตย์ และพระญาติเหล่านั้น
ได้ทำความผิดอะไรให้แก่พระองค์หรือหนอ
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงชอบพระทัยบาตรดินนั้น
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๖๔] ท่านฤๅษี ข้าพเจ้ามิได้เคยเอาชนะ
พระญาติอะไร ๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหน ๆ โดยอธรรมเลย
แม้พระญาติทั้งหลายก็มิเคยได้เอาชนะข้าพเจ้าโดยอธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า กรรม ได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐, คำว่า วิชชา ได้แก่ญาณในอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ คำว่า กรรม
ได้แก่สมณธรรมกล่าวคือการบำเพ็ญกสิณ (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๖๑/๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๖๕] ข้าพเจ้าได้เห็นประเพณีของโลก
เห็นโลกถูกกิเลสกัดกร่อน ถูกกิเลสทำให้เป็นดุจเปือกตม
จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า
ปุถุชนจมอยู่ในกิเลสวัตถุใด
สัตว์เป็นจำนวนมากย่อมเดือดร้อน
และย่อมถูกฆ่า ในกิเลสวัตถุนั้น
ดังนี้แล้ว จึงได้บวชเป็นภิกษุ นะท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๖๖] ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกธรรมคำสั่งสอนพระองค์
คำอันสะอาดนี้เป็นคำของใคร
ท่านผู้เป็นจอมทัพ เพราะบอกเจาะจงถึงดาบสผู้เป็นกรรมวาที
หรือสมณะคือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชา
นักปราชญ์ไม่เรียกผู้ประพฤติวัตรว่า เป็นสมณะ
เหมือนการก้าวล่วงทุกข์ได้เลย
[๒๖๗] ท่านผู้ครองหนังสัตว์
แม้ข้าพเจ้าจะสักการะสมณะหรือพราหมณ์โดยส่วนเดียว
แต่ไม่เคยเข้าไปใกล้ไต่ถามอะไร ๆ ในกาลไหน ๆ เลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๖๘] ข้าพเจ้ารุ่งเรืองด้วยสิริไปยังพระราชอุทยาน
ด้วยอานุภาพใหญ่ ขณะที่เพลงขับที่เขาขับร้อง
ดนตรีที่ไพเราะกำลังบรรเลงอยู่
[๒๖๙] ข้าพเจ้านั้นได้เห็นต้นมะม่วงที่กำลังมีผลอยู่ภายนอกกำแพง
ถูกพวกมนุษย์ผู้ที่ต้องการผลฟาดอยู่
ในพระราชอุทยานอันกึกก้องด้วยการประโคมดนตรี
ประกอบด้วยคนขับและคนประโคม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๗๐] ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์
ข้าพเจ้านั้นละทิ้งสิรินั้นเสียแล้วลงจากยาน
เข้าไปใกล้ต้นมะม่วงทั้งที่มีผลและไม่มีผล
[๒๗๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นมะม่วง
อันมีผลถูกฟาดกระจัดกระจายย่อยยับ
ส่วนมะม่วงอีกต้นหนึ่งสีเขียวชะอุ่มน่าพอใจ
[๒๗๒] ศัตรูทั้งหลายจักกำจัดแม้พวกเรา
ผู้เป็นอิสระ ผู้มีเสี้ยนหนามมาก
เหมือนต้นมะม่วงที่มีผลถูกมนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว
[๒๗๓] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา
คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์
ใครเล่าจักฆ่าคนที่ไม่มีที่อยู่ ที่ไม่มีความคุ้นเคย
ต้นมะม่วงที่มีผลและไม่มีผลทั้ง ๒ ต้นนั้นเป็นครูของข้าพเจ้า
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๗๔] ชนทั้งปวง คือ กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ ต่างก็ตกใจว่า
พระราชาทรงผนวชเสียแล้ว
[๒๗๕] ขอพระองค์ได้ทรงปลอบชุมชนให้เบาใจ
ทรงวางหลักปกครอง
ทรงอภิเษกพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติแล้ว
จึงจักทรงผนวชในภายหลัง
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๗๖] เราได้สละชาวชนบท มิตร อำมาตย์
และพระญาติทั้งหลายแล้ว พระราชโอรสของชาวแคว้นวิเทหะ
และคนผู้มีอายุยืน ผู้จักผดุงรัฐให้เจริญก็มีอยู่
เธอเหล่านั้นจักครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา นะปชาบดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๗๗] จงมาเถิด เราจะตามสอนเธอด้วยวาจาที่ชอบ
เธอจะไปสู่ทุคติด้วยกาย วาจา และใจ เพราะบาปใด
เมื่อเธอครองราชสมบัติก็จักทำบาปทุจริตนั้นเป็นอันมาก
[๒๗๘] ผู้ที่ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้
ซึ่งสำเร็จมาแต่ผู้อื่นนี้ นั่นเป็นธรรมของนักปราชญ์
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๗๙] กุลบุตรผู้ฉลาดแม้คนใดไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ ๔๑
จะพึงตายอย่างน่าอนาถเพราะความหิว
กุลบุตรผู้ฉลาดนั้นก็ไม่พึงบริโภคก้อนข้าว
ที่เปื้อนฝุ่น ซึ่งไม่ดีมิใช่หรือ
กิริยาของพระองค์นี้ไม่ดี ไม่งามเลย
ข้าแต่พระชนก พระองค์พึงเสวยก้อนเนื้อที่เป็นเดนสุนัข
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘๐] พระนางสีวลี บิณฑบาตใด
เป็นของอันบุคคลผู้ครองเรือน หรือสุนัขสละแล้ว
บิณฑบาตนั้นชื่อว่าไม่เป็นอาหารของอาตมภาพก็หามิได้
ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ได้มาโดยธรรม
ของบริโภคทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่า ไม่มีโทษ
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับเด็กหญิงว่า)
[๒๘๑] กุมาริกาผู้นอนแนบมารดา ผู้ประดับอยู่เป็นนิตย์
เพราะเหตุไร กำไลมือข้างหนึ่งของเธอจึงมีเสียงดัง
อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ ๔ พระนางสีวลีตรัสหมายถึงว่า ถ้าบุคคลเราไม่บริโภคอาหาร
มื้อสุดท้าย จะพึงตายไปเพราะความหิว ผู้นั้นพึงเป็นสัตบุรุษเชื้อสายกุลบุตร จึงไม่พึงเสวยอาหารนั้น
เพราะทรงรังเกียจเนื้อที่เป็นเดนสุนัขที่พระมหาชนกนำมาย่างเสวย (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๗๙/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เด็กหญิงกราบทูลว่า)
[๒๘๒] ท่านสมณะ กำไลมือ ๒ วงที่สวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉันนี้
เพราะทั้ง ๒ วงกระทบกัน จึงเกิดเสียงดัง
คติของคน ๒ คนก็เป็นเช่นนี้
[๒๘๓] ท่านสมณะ กำไลมือวงหนึ่งที่สวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉันนี้
ไม่มีอันที่ ๒ จึงไม่มีเสียงดังเหมือนมุนีสงบนิ่งอยู่
[๒๘๔] คนมีคู่จึงถึงความวิวาทกัน บุคคลคนเดียวจักวิวาทกับใคร
ท่านนั้นเป็นผู้ปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า)
[๒๘๕] พระนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่นางกุมาริกากล่าวแล้วหรือ
นางกุมาริกาเป็นสาวใช้มาติเตียนเรา มันเป็นคติของคนคู่เท่านั้น
[๒๘๖] พระนางผู้เจริญ ทาง ๒ แพร่งนี้
เราทั้ง ๒ ผู้เดินทางได้สัญจรมาแล้ว
บรรดาทางทั้ง ๒ แพร่งนั้น เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง
อาตมภาพก็จักเลือกเอาอีกทางหนึ่ง
[๒๘๗] เธออย่าเรียกอาตมภาพว่าเป็นพระสวามีของเธอ
และอาตมภาพก็จะไม่เรียกเธอว่าเป็นพระมเหสีของอาตมภาพต่อไป
เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๒ ตรัสข้อความนี้แล้วต่างก็เสด็จเข้าไปยังถูณนคร
[๒๘๘] เมื่อจวนเวลาอาหาร พระโพธิสัตว์ประทับอยู่
ณ ซุ้มประตูของช่างศร และ ณ ที่นั้น
ช่างศรนั้นหลับตาลงข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรที่คด
ซึ่งตนดัดให้ตรงด้วยตาอีกข้างหนึ่ง
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘๙] ช่างศร ท่านจงฟังอาตมภาพ
ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์หรือหนอ
ที่ท่านหลับตาข้างหนึ่งลง เล็งดูลูกศรที่คดด้วยตาอีกข้างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(ช่างศรกราบทูลว่า)
[๒๙๐] ท่านสมณะ การเล็งดูด้วยตาทั้ง ๒ ย่อมปรากฏกว้างไป
เพราะเห็นไม่ถึงส่วนที่คดข้างหนึ่ง การดัดให้ตรงจึงไม่สำเร็จ
[๒๙๑] แต่เมื่อหลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูส่วนที่คดด้วยตาข้างหนึ่ง
เพราะเห็นส่วนที่คดข้างหน้า การดัดให้ตรงจึงสำเร็จได้
[๒๙๒] คนที่มีคู่จึงวิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใคร
ท่านนั้นปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า)
[๒๙๓] พระนางสีวลี เธอได้ยินคำที่ช่างศรกล่าวแล้วหรือยัง
คนใช้มาติเตียนเรา นั้นเป็นคติของคนคู่เท่านั้น
[๒๙๔] พระนางผู้เจริญ ทาง ๒ แพร่งนี้
เราทั้ง ๒ ผู้เดินทางได้สัญจรมาแล้ว
บรรดาทาง ๒ แพร่งนั้น เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง
อาตมภาพก็จักเลือกเอาอีกทางหนึ่ง
[๒๙๕] เธออย่าเรียกอาตมภาพว่าเป็นพระสวามีของเธอ
และอาตมภาพก็จะไม่เรียกเธอว่า
เป็นพระมเหสีของอาตมภาพต่อไป
หญ้ามุงกระต่ายเล็กน้อยขาดไปแล้ว๑
เธอจงอยู่คนเดียวเถิด พระนางสีวลี
มหาชนกชาดกที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หญ้ามุงกระต่ายเล็กน้อยขาดไปแล้ว พระโพธิสัตว์ตรัสหมายถึงหญ้ามุงกระต่ายเส้นเล็ก ๆ ที่พระองค์
ถอนขึ้นมาแล้วดึงให้ขาดจากกัน ใคร ๆ ไม่สามารถต่อกันได้ เป็นการเตือนว่า พระองค์ไม่ปรารถนาจะ
อยู่ร่วมกับพระเทวีอีก เป็นการห้ามไม่ให้ตามไป (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๙๕/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
๓. สุวัณณสามชาดก๑ (๕๔๐)
ว่าด้วยสุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ไม่ทันเห็นพระราชา จึงตรัสว่า)
[๒๙๖] ใครกันหนอใช้ลูกศรยิงเรา
ผู้ประมาท๒กำลังนำน้ำไปอยู่
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์คนไหนแอบซุ่มยิงเรา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงว่า เนื้อที่ร่างกายของตนไม่เป็นอาหาร จึง
ตรัสว่า)
[๒๙๗] เนื้อของเราก็ไม่ควรจะกิน
หนังของเราก็ไม่มีประโยชน์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ
เขาจึงเข้าใจว่า เราเป็นผู้ควรยิง
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ตรัสถามชื่อพระราชานั้นว่า)
[๒๙๘] ท่านเป็นใคร เป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
สหาย เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเถิด
ทำไมท่านจึงซุ่มยิงเรา
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสตอบว่า)
[๒๙๙] เราเป็นพระราชาของชาวกาสี
คนทั้งหลายรู้จักเราว่า พระเจ้าปิลยักษ์
เพราะความโลภ เราจึงละทิ้งแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ

เชิงอรรถ :
๑ พระบรมศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุเลี้ยงดูมารดารูปหนึ่ง ตรัสสุวัณณสามชาดก
ซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า ใครกันหนอใช้ลูกศรยิงเราผู้ประมาทกำลังนำน้ำไปอยู่ ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๐๘)
๒ ประมาท หมายถึงยังมิได้คุมสติด้วยเมตตาภาวนา (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๙๖/๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๐๐] เราเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู
เลื่องลือว่า เป็นผู้มีความสามารถยิงธนู
ที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
แม้ช้างที่มาถึงระยะที่ลูกศรยิงก็ไม่พึงพ้นเราไปได้
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสถามชื่อและโคตรของสุวรรณสามโพธิสัตว์ว่า)
[๓๐๑] ท่านเป็นใคร เป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
ท่านจงประกาศชื่อและโคตรของบิดา
และตัวของท่านเองให้ทราบด้วย
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรของนายพราน๑
พวกญาติต่างเรียกข้าพระองค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ว่า สาม
วันนี้ ข้าพระองค์นั้นเข้าไปในปากแห่งความตาย
จึงนอนอยู่อย่างนี้
[๓๐๓] ข้าพระองค์ถูกพระองค์ยิงด้วยศรลูกใหญ่
อาบยาพิษเหมือนยิงเนื้อ
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทอดพระเนตรข้าพระองค์
ผู้นอนเปื้อนเลือดของตน
[๓๐๔] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรลูกศรที่ทะลุออกข้างซ้าย
ข้าพระองค์บ้วนโลหิต เป็นผู้กระสับกระส่าย
ขอทูลถามพระองค์ว่า ทำไมจึงซุ่มยิงข้าพระองค์
[๓๐๕] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ
พระองค์จึงเข้าพระทัยว่า ข้าพระองค์เป็นผู้ที่ควรยิง

เชิงอรรถ :
๑ บุตรของนายพราน หมายถึงเป็นบุตรฤๅษี (ขุ.ชา.อ. ๙/๓๐๒/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสแก้ตัวว่า)
[๓๐๖] เนื้อปรากฏมาถึงระยะลูกศรแล้ว
ท่านสาม มันเห็นท่านแล้วจึงแตกหนีไป
เพราะฉะนั้น เราจึงโกรธ
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๐๗] ตั้งแต่ข้าพระองค์จำความได้
ตั้งแต่ข้าพระองค์รู้จักรับผิดชอบ
ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย
ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
[๓๐๘] ตั้งแต่ข้าพระองค์นุ่งเปลือกไม้อยู่ในปฐมวัย
ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย
แต่ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
[๓๐๙] ข้าแต่พระราชา ฝูงกินนรผู้ขลาดกลัวที่ภูเขาคันธมาทน์
เราทั้งหลายต่างเพลิดเพลินพากันไปสู่ภูเขาและป่า
[๓๑๐] ฝูงเนื้อแม้จะเป็นเนื้อร้ายในป่า
ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
ฝูงเนื้อจึงจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์เล่า
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๑๑] ท่านสาม เนื้อหาได้สะดุ้งกลัวท่านไม่
เรากล่าวเท็จแก่ท่านต่างหาก
เราถูกความโกรธและความโลภครอบงำ
จึงได้ปล่อยลูกศรนั้นไปถึงท่าน
[๓๑๒] สาม ท่านมาจากไหน ใครใช้ท่านมาว่า
ท่านจงไปยังแม่น้ำมิคสัมมตาแล้วตักน้ำมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้อดกลั้นทุกขเวทนาแสนสาหัส กราบทูลว่า)
[๓๑๓] มารดาบิดาของข้าพระองค์เป็นคนตาบอด
ข้าพระองค์เลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ นั้นอยู่ในป่าใหญ่
ข้าพระองค์จะไปตักน้ำมาให้ท่านทั้ง ๒ นั้น
จึงมายังแม่น้ำมิคสัมมตา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวบ่นเพ้อรำพันถึงมารดาบิดาว่า)
[๓๑๔] ท่านทั้ง ๒ นั้นมีเพียงอาหารเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น จะพึงมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๖ วัน
เพราะไม่ได้น้ำ ท่านผู้ตาบอดทั้ง ๒ เห็นจักตายแน่
[๓๑๕] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดา
เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน
[๓๑๖] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบบิดา
เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน
[๓๑๗] มารดานั้น จะร้องไห้อย่างน่าสงสารเป็นเวลานาน
จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง
เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป
[๓๑๘] บิดานั้นจักเป็นทุกข์ลำบากแน่เป็นเวลานาน
จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง
เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป
[๓๑๙] มารดาและบิดาทั้ง ๒ จักเที่ยวบ่นเรียกหาข้าพระองค์ว่า
พ่อสาม ๆ ในป่าใหญ่ เพื่อต้องการปรนนิบัติเท้า
และเพื่อต้องการบีบนวดมือและเท้าด้วยความพยายาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๒๐] ถึงความโศกนี้เป็นลูกศรที่ ๒
ทำหัวใจของข้าพระองค์ให้สะท้านหวั่นไหว
ความโศกใดที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดาและบิดาทั้ง ๒ ผู้ตาบอด
เพราะความโศกนั้น ข้าพระองค์เห็นจะต้องเสียชีวิตไป
(พระเจ้าปิลยักษ์ทรงฟังคำเพ้อรำพันของสุวรรณสามโพธิสัตว์ ทรงสันนิษฐาน
แล้ว ตรัสว่า)
[๓๒๑] ท่านสามผู้เห็นกัลยาณธรรม
ท่านอย่าคร่ำครวญไปนักเลย
เราจะทำการงานเลี้ยงดูมารดาและบิดาของท่านในป่าใหญ่
[๓๒๒] เราเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
เราจะทำการงานเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๒๓] เราจักแสวงหาของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อและมูลผลาผลในป่า
จะทำงานเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๒๔] ท่านสาม มารดาและบิดาของท่านอยู่ป่าไหน
เราจะเลี้ยงดูมารดาและบิดาของท่าน
ให้เหมือนอย่างที่ท่านได้เลี้ยงดูมา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลบอกหนทางว่า)
[๓๒๕] ขอเดชะ หนทางที่เดินไปได้คนเดียว
ที่มีอยู่ทางศีรษะของข้าพระองค์นี้
พระองค์เสด็จไปจากที่นี้สิ้นระยะทางประมาณกึ่งโกสะ๑
ก็จะเสด็จถึงเรือนหลังเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่
ของมารดาและบิดาทั้ง ๒ ของข้าพระองค์
ขอพระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว
จงเลี้ยงดูมารดาและบิดาของข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ โกสะ เป็นชื่อมาตราวัดระยะ ๑ โกสะ เท่ากับ ๕๐๐ ชั่วธนู อัฑฒโกสะ = ๒๕๐ ชั่วธนู (๒๕๐ วา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๒๖] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐกาสีให้เจริญ
ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้ตาบอด
ของข้าพระองค์ในป่าใหญ่ด้วยเถิด
[๓๒๗] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระองค์ขอประคองอัญชลี
ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์กราบทูลพระองค์แล้ว
ขอได้โปรดทรงพระกรุณาตรัสบอกการกราบลา
กับมารดาและบิดาของข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๒๘] สุวรรณสามผู้หนุ่มแน่นเห็นแก่กัลยาณธรรม
ครั้นได้กราบทูลคำนี้แล้ว ถึงกับสลบแน่นิ่งไปเพราะกำลังยาพิษ
[๓๒๙] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญเป็นที่น่าสงสารอย่างมากว่า
เราเข้าใจว่าจะเป็นผู้ไม่แก่และไม่ตาย
เราได้เห็นสามบัณฑิตตาย
วันนี้ จึงได้รู้ความแก่และความตาย แต่ก่อนหาได้รู้ไม่
ความตายจะไม่มาถึงเป็นไม่มี
[๓๓๐] สามบัณฑิตถูกลูกศรอาบยาพิษเสียบแทงแล้ว
ตอบโต้กับเราอยู่แท้ ๆ ครั้นกาลล่วงเลยไปวันนี้เอง
เขาพูดอะไร ๆ ไม่ได้เลย
[๓๓๑] เราจะต้องตกนรกเป็นแน่
ในข้อนี้เราไม่มีความสงสัย เพราะในเวลานั้น
เราได้ทำบาปอันหยาบช้าไว้ตลอดราตรีนาน
[๓๓๒] เมื่อเรานั้นอยู่ในบ้านเมืองกระทำกรรมชั่ว
ก็จะมีคนกล่าวติเตียน
แต่ในป่าหาผู้คนมิได้ ใครเล่าควรจะกล่าวติเตียนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๓๓] คนทั้งหลายประชุมกันในบ้าน
ต่างก็เตือนกันและกันให้ระลึกถึงกรรม
ส่วนในป่าที่หาคนมิได้ ใครหนอจะเตือนเราให้ระลึกถึงกรรม
[๓๓๔] นางเทพธิดาที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นได้อันตรธานไป
เพื่ออนุเคราะห์พระราชา จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๓๕] ข้าแต่มหาราช
พระองค์ได้ทรงทำกรรมชั่วอย่างใหญ่หลวงแล้ว
มารดาและบิดา และบุตรรวม ๓ คนผู้หาความผิดมิได้
พระองค์ทรงฆ่าแล้วด้วยลูกศรลูกเดียว
[๓๓๖] เชิญเสด็จมาเถิด หม่อมฉันจะแนะนำถวายพระองค์
โดยประการที่พระองค์จะพึงมีสุคติ คือ
พระองค์จงทรงเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ผู้ตาบอดในป่าโดยธรรมเถิด
ดิฉันเข้าใจว่า พระองค์จักพึงไปสุคติ
[๓๓๗] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก
จึงทรงถือเอาหม้อน้ำ บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศทักษิณ
(ทุกูลบัณฑิตไดัยินเสียงฝีพระบาทแห่งพระเจ้าปิลยักษ์ จึงถามว่า)
[๓๓๘] นั่นเสียงใครเดินมา นั่นไม่ใช่เสียงฝีเท้าของพ่อสาม
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครกันหนอ
[๓๓๙] เพราะพ่อสามเดินเงียบกริบ วางเท้าเรียบ
นั่นไม่ใช่เสียงฝีเท้าของพ่อสาม
ท่านนิรทุกข์ ท่านเป็นใครกันหนอ
(พระเจ้าปิลยักษ์ประทับยืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ตรัสว่า)
[๓๔๐] ข้าพเจ้าเป็นพระราชาของชาวกาสี
คนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า พระเจ้าปิลยักษ์
เพราะความโลภ ข้าพเจ้าจึงละทิ้งแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๔๑] ทั้งข้าพเจ้าเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
แม้ช้างที่มาถึงระยะลูกศรยิงก็ไม่พึงรอดพ้นไปได้
(ฝ่ายทุกูลบัณฑิตเมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระเจ้าปิลยักษ์ จึงทูลว่า)
[๓๔๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้เป็นใหญ่ได้เสด็จมาถึงแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งมีอยู่ในที่นี้เถิด
[๓๔๓] ข้าแต่มหาราช ผลมะพลับ ผลมะหาด
ผลมะซาง และผลหมากเม่าซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อย
ขอพระองค์ทรงเลือกเสวยแต่ที่ดี ๆ เถิด
[๓๔๔] ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์ทรงดื่มน้ำเย็นนี้
ที่ข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาเถิด
ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสว่า)
[๓๔๕] ท่านทั้ง ๒ ตาบอดไม่สามารถจะเห็นอะไร ๆ ในป่าได้
ใครเล่าหนอนำผลไม้มาให้ท่านทั้ง ๒
การเก็บสะสมผลาผลที่ทำไว้อย่างเรียบร้อยนี้
ย่อมปรากฏแก่เราเหมือนการเก็บสะสมของคนตาไม่บอด
(ทุกูลบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสนั้น เมื่อจะแสดงธรรม จึงกราบทูลว่า)
[๓๔๖] สามหนุ่มน้อยร่างสันทัด ผู้เห็นแก่กัลยาณธรรม
มีผมยาวดำสนิท มีปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน
[๓๔๗] เธอนั่นแหละนำผลไม้มา
บัดนี้ ถือหม้อน้ำจากที่นี้ไปตักน้ำยังแม่น้ำ
เข้าใจว่าใกล้จะกลับแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระเจ้าปิลยักษ์ครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๔๘] ข้าพเจ้าได้ฆ่าสามกุมารผู้บำรุงบำเรอท่าน
ผู้เห็นแก่กัลยาณธรรมที่ท่านกล่าวถึงแล้ว
[๓๔๙] เขามีผมยาวดำสนิท
มีปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน
ถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
นอนอยู่ที่หาดทรายที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด
(นางปาริกาได้ฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว ประสงค์จะทราบเหตุ จึงถามว่า)
[๓๕๐] ท่านทุกูลบัณฑิต ท่านปรึกษากับใครที่บอกว่า
พ่อสามถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า
พ่อสามถูกฆ่าแล้ว
[๓๕๑] เพราะได้ยินว่า พ่อสามถูกฆ่า
ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหว
เหมือนใบอ่อนของต้นอัสสัตถพฤกษ์ถูกลมพัดไหวไปมา
(ทุกูลบัณฑิตให้โอวาทนางปาริกาว่า)
[๓๕๒] ปาริกา ท่านผู้นี้คือพระเจ้ากรุงกาสี
พระองค์ทรงยิงพ่อสามด้วยลูกศร
เพราะความโกรธ ที่ฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา
เราทั้ง ๒ อย่าได้มุ่งร้ายต่อพระองค์เลย
(นางปาริกากล่าวว่า)
[๓๕๓] บุตรที่น่ารักผู้ซึ่งได้เลี้ยงดูเราทั้ง ๒ คน
ผู้ตาบอดในป่า เราได้มาโดยยาก
ไฉนจะไม่พึงทำจิตให้โกรธ
ในคนผู้ฆ่าบุตรคนเดียวนั้นเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ทุกูลบัณฑิตกล่าวว่า)
[๓๕๔] บุตรที่น่ารักผู้เลี้ยงดูเราทั้ง ๒ คน
ผู้ตาบอดในป่า เราได้มาโดยยาก
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
ไม่ควรโกรธในคนผู้มีบุตรคนเดียวนั้น
(ลำดับนั้น พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสปลอบโยนท่านทั้ง ๒ นั้นว่า)
[๓๕๕] พระคุณท่านทั้ง ๒ อย่าคร่ำครวญให้มากนัก
เพราะข้าพเจ้ากล่าวว่า สามกุมารถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
ข้าพเจ้าจะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๕๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
จะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๕๗] ข้าพเจ้าจักแสวงหาของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อ
และมูลผลาผลในป่า
จะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
(ดาบสทั้ง ๒ กราบทูลว่า)
[๓๕๘] ข้าแต่มหาราช นั่นมิใช่ธรรม
ไม่สมควรในอาตมภาพทั้ง ๒
พระองค์เป็นพระราชาของอาตมภาพทั้ง ๒
อาตมภาพทั้งหลายขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง จึงตรัสว่า)
[๓๕๙] ท่านผู้มีเชื้อชาติเป็นพราน
ท่านกล่าวเป็นธรรม ท่านได้ประพฤติอ่อนน้อม
ขอพระคุณท่านจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า
ข้าแต่นางปาริกา ขอพระคุณท่านจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ดาบสทั้ง ๒ นั้นประคองอัญชลี กราบทูลว่า)
[๓๖๐] ข้าแต่พระเจ้ากาสี อาตมภาพทั้ง ๒ ขอถวายบังคมแด่พระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
อาตมภาพทั้งหลายขอถวายบังคมแด่พระองค์
อาตมภาพทั้งหลายขอประคองอัญชลีแด่พระองค์จนกว่าพระองค์
ทรงพาอาตมภาพทั้งหลายไปให้ถึงสถานที่ซึ่งสามกุมารอยู่
[๓๖๑] อาตมภาพทั้ง ๒ เมื่อได้ลูบคลำเท้าทั้ง ๒
และใบหน้าอันงดงามของเขา จักทุบตีตนให้ถึงความตาย
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้ตรัสว่า)
[๓๖๒] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่เหมือนดวงจันทร์ตกดิน
ในป่าที่เกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๓] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่เหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน
ในป่าที่เกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๔] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่ เปื้อนเปรอะด้วยฝุ่น
ในป่าที่เกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๕] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่
ในป่าที่กลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูงปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
ขอพระคุณท่านทั้ง ๒ จงอยู่ในอาศรมที่พักนี้เท่านั้นเถิด
(ลำดับนั้น ดาบสทั้ง ๒ นั้นเมื่อแสดงว่าตนไม่กลัวต่อสัตว์ร้าย จึงกราบทูลว่า)
[๓๖๖] ถ้าในป่านั้น จะมีเนื้อร้ายตั้งร้อย ตั้งพัน และตั้งหมื่น
อาตมภาพทั้ง ๒ ไม่มีความกลัว
ในสัตว์ร้ายทั้งหลายในป่าไหน ๆ เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๖๗] ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีทรงพาฤๅษีทั้ง ๒
ผู้ตาบอดไปในป่าใหญ่
จูงมือฤๅษีทั้ง ๒ ไปในที่ที่สามกุมารถูกฆ่าแล้ว
[๓๖๘] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่เหมือนดวงจันทร์ตกดิน
[๓๖๙] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่เหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน
[๓๗๐] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่ ก็คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
[๓๗๑] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
จึงประคองแขนทั้ง ๒ ข้าง คร่ำครวญว่า ชาวเราเอ๋ย
ได้ทราบว่า วันนี้ ความไม่เป็นธรรมกำลังเป็นไปในโลกนี้
[๓๗๒] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าประมาทนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๓] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าโง่ไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๔] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าโกรธเคืองไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๕] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าเป็นผู้มักหลับไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๖] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าช่างเป็นคนปราศจากน้ำใจจริง
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๗] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายเสียแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักชำระชฎาที่หม่นหมองเปื้อนฝุ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๗๘] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักจับไม้กวาดแล้วกวาดอาศรมของเราทั้ง ๒
[๓๗๙] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักนำน้ำเย็นน้ำร้อนมาให้เราทั้ง ๒ อาบ
[๓๘๐] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักให้เราทั้ง ๒ บริโภคมูลผลาผลไม้ในป่า
[๓๘๑] มารดาได้เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรล้มคลุกฝุ่นอยู่
เป็นผู้อึดอัดเพราะความโศกถึงบุตร จึงได้กล่าวสัจวาจาว่า
[๓๘๒] ลูกสามนี้ได้เคยมีปกติประพฤติธรรมมาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๓] ลูกสามนี้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๔] ลูกสามนี้ได้เคยมีปกติกล่าวคำสัตย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๕] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๖] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๗] ลูกสามนี้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๘] บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามทำแล้วแก่เราและบิดาของเขา
ด้วยกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๙] บิดาได้เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรล้มคลุกฝุ่นอยู่
เป็นผู้อึดอัดเพราะความโศกถึงบุตร จึงได้กล่าวสัจวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๙๐] ลูกสามนี้ได้เคยเป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมมาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๑] ลูกสามนี้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๒] ลูกสามนี้มีปกติกล่าวคำสัตย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๓] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๔] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๕] ลูกสามนี้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๖] บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามทำแล้วแก่เราและมารดาของเขา
ด้วยกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๗] นางเทพธิดาที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นได้อันตรธานไป
ด้วยความอนุเคราะห์สามกุมาร จึงได้กล่าวสัจวาจานี้ว่า
[๓๙๘] เราอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มานาน
ไม่มีคนอื่น จะเป็นใครก็ตาม
เป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสามกุมาร
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงเสื่อมหายไป
[๓๙๙] ต้นไม้ทั้งหมดที่ภูเขาคันธมาทน์ล้วนแต่เป็นไม้หอม
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงเสื่อมหายไป
[๔๐๐] เมื่อดาบสทั้ง ๒ กำลังบ่นพร่ำรำพันอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก
สามกุมารผู้ยังเป็นหนุ่มแน่นมีรูปสง่างาม ก็ได้ลุกขึ้นทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า)
[๔๐๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้ชื่อว่าสาม
ขอความสุขความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ข้าพเจ้าลุกขึ้นได้แล้วโดยความสวัสดี
ขอท่านทั้งหลายจงอย่าคร่ำครวญไปนักเลย
จงพูดกับข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์เห็นพระราชา จึงกราบทูลว่า)
[๔๐๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้เป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว
ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้เถิด
[๔๐๓] ข้าแต่พระราชา ขอเชิญเลือกเสวยผลมะพลับ
ผลมะซาง และผลหมากเม่า
ซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อยแต่ผลที่ดี ๆ เถิด
[๔๐๔] น้ำใสเย็นข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาก็มีอยู่
จงโปรดเสวยจากนั้นเถิด พระเจ้าข้า
ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ทรงเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๐๕] เรางุนงงไปหมด หลงไปทั่วทุกทิศ
เราได้เห็นสามตายไปแล้ว
ท่านสาม ทำไมหนอ ท่านจึงกลับฟื้นชีวิตคืนมาได้
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ทูลว่า)
[๔๐๖] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่
แต่มีเวทนามาก ปราศจากความรู้สึก๑
แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ปราศจากความรู้สึก หมายถึงวาระจิตที่หยั่งลงสู่ภวังค์ (ความอยู่โดยไม่รู้สึกตัว, สลบ) (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๐๖/๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๔๐๗] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่
แต่มีเวทนามาก ถึงความดับสนิท
แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว
(สุวรรณสามโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พระเจ้าปิลยักษ์ว่า)
[๔๐๘] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม
แม้เทวดาก็เยียวยารักษาบุคคลผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดานั้น
[๔๐๙] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม
แม้นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้
บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงประคองอัญชลี ขอร้องอยู่ว่า)
[๔๑๐] เรายิ่งงุนงงหนักขึ้น หลงไปทั่วทุกทิศ
ท่านสาม เราขอถึงท่านว่าเป็นที่พึ่ง
และท่านก็จงเป็นที่พึ่งของเรา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวทศพิธราชธรรมถวายว่า)
[๔๑๑] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระมารดาและพระบิดาเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๒] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระมเหสีเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๓] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๔๑๔] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพาหนะและพลนิกายเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๕] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๖] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชาวแคว้นและชาวชนบทเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๗] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์เถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๘] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในฝูงเนื้อและฝูงนกเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๙] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด
ธรรมที่พระองค์ทรงประพฤติแล้วย่อมนำสุขมาให้
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๒๐] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด
พระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งพรหมเข้าถึงทิพยสถานได้
เพราะธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลย
สุวัณณสามชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
๔. เนมิราชชาดก๑ (๕๔๑)
ว่าด้วยพระเจ้าเนมิทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๑] น่าอัศจรรย์หนอ
การที่พระเจ้าเนมิผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์ด้วยกุศล
ทรงเกิดขึ้นในคราวที่บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายเกิดขึ้นในโลก
[๔๒๒] พระเจ้าเนมิผู้ทรงทรมานอริราชศัตรู
ของชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวงได้บริจาคแล้ว
เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานอยู่นั้น
ก็เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก
[๔๒๓] ท้าวมฆวานเทพกุญชรสหัสสเนตร
ทรงทราบพระดำริของพระเจ้าเนมิแล้ว ปรากฏพระองค์
ทรงกำจัดความมืดด้วยพระรัศมีแล้ว
[๔๒๔] พระเจ้าเนมิจอมมนุษย์ทรงมีพระโลมชาติชูชัน
ได้ตรัสถามท้าววาสวะว่า ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์
หรือเป็นท้าวสักกะผู้บำเพ็ญทานในภพก่อนกันแน่
[๔๒๕] รัศมีเช่นนั้นข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็น
หรือไม่เคยได้ยินมาเลย
แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ เนมิราชชาดก เป็นเรื่องที่พระบรมศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยเมืองมิถิลา ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง
ของพระราชามฆเทพ ทรงปรารภการกระทำการแย้มสรวลให้ปรากฏ ตรัสเรื่องเนมิราชชาดกนี้ เริ่มต้น
ด้วยคำว่า น่าอัศจรรย์หนอ...ในโลก ดังนี้ (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๒๖] ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิมีพระโลมชาติชูชัน
ได้ตรัสตอบว่า หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มาในสำนักของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์
พระองค์อย่าทรงมีพระโลมชาติชูชัน
เชิญตรัสถามปัญหาที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด
[๔๒๗] พระเจ้าเนมินั้นเมื่อท้าวเธอทรงถวายโอกาส
จึงได้ตรัสกับท้าววาสวะว่า ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
ข้าพเจ้าขอถามพระองค์ ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนมีผลมากกว่ากันเล่า
[๔๒๘] ท้าววาสวะถูกพระเจ้าเนมิผู้เป็นเทพแห่งนรชนตรัสถามแล้ว
เมื่อจะตรัสตอบพระเจ้าเนมิ
ท้าวเธอทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์อยู่
จึงได้ตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๒๙] บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ
เข้าถึงความเป็นเทวดาได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง
ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง
[๔๓๐] เพราะพรหมจรรย์เหล่านี้มิใช่จะหาได้ง่าย ๆ
ด้วยการประกอบพิธีวิงวอนขอร้องอะไร ๆ
บุคคลผู้ที่เกิดในหมู่พรหมได้ต้องออกบวชบำเพ็ญตบะ
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเรื่องที่พระราชาทั้งหลายในอดีต ผู้บริจาค
มหาทานแล้วไม่สามารถพ้นไปจากกามาวจรภพได้ จึงได้ตรัสว่า)

[๔๓๑] ๑. พระเจ้าทุทีปะ ๒. พระเจ้าสาคระ
๓. พระเจ้าเสละ ๔. พระเจ้ามุจลินท์
๕. พระเจ้าภคีรสะ ๖. พระเจ้าอุสินนะ
๗. พระเจ้าอัตถกะ ๘. พระเจ้าปุถุทธนะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๓๒] พระราชาเหล่านั้น พระราชามหากษัตริย์เหล่าอื่น
และพวกพราหมณ์เป็นอันมาก
ต่างก็บูชายัญเป็นอันมากแล้วก็ยังไม่ล่วงพ้นภพแห่งเปรตได้
ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อน อยู่คนเดียว
ไม่ยินดีกับใคร ย่อมไม่ได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก
ชนเหล่านั้นถึงจะมีสมบัติเสมอกับทิพยสมบัติของพระอินทร์ก็จริง
ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นแลยังชื่อว่า ผู้ตกยาก
เพราะมีความสุขเนื่องด้วยผู้อื่น
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเหล่าดาบสผู้ล่วงภพแห่งเปรตได้แล้วบังเกิด
ในพรหมโลกด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า)
[๔๓๓] ฤๅษีทั้ง ๗ เหล่านี้ คือ
๑. ยานหนฤๅษี ๒. โสมยาคฤๅษี ๓. มโนชวฤๅษี
[๔๓๔] ๔. สมุททฤๅษี ๕. มาฆฤๅษี
๖. ภรตฤๅษี ๗. กาลปุรักขิตฤๅษี
กับฤๅษีอีก ๔ ตน คือ
๑. อังคีรสฤๅษี ๒. กัสสปฤๅษี
๓. กีสวัจฉฤๅษี ๔. อกัตติฤๅษี
ออกบวชบำเพ็ญตบะ ล่วงพ้นกามาวจรภพได้แน่นอน
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงเล่าเรื่องที่ตนเคยเห็นมา จึงตรัสว่า)
[๔๓๕] แม่น้ำที่ชื่อสีทามีอยู่ทางทิศเหนือ
เป็นแม่น้ำลึก ข้ามได้ยาก
ภูเขาทองมีสีดังไฟไหม้ต้นอ้อ โชติช่วงอยู่ทุกเมื่อ
[๔๓๖] ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น มีต้นกฤษณาขึ้นงอกงาม
มีภูเขาซึ่งมีป่าไม้ขึ้นงอกงาม
ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์อย่างนี้นั้น
มีฤๅษีรุ่นเก่าประมาณหมื่นตนอาศัยอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น