Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เกณฑ์วินิจฉัยพระธรรมวินัย

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

ยิ่งศาสนามีอายุยืนนานมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่คำสอนจะถูกบิดเบือนก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้นนะครับ พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นนี้ จึงได้ทรงประทานหลักเกณฑ์เพื่อใช้ตัดสินว่าอะไรคือคำสอนที่แท้จริงของพระองค์ และอะไรคือสิ่งที่ถูกบิดเบือน หรือสอดแทรกเข้ามา

ดังปรากฎใน พระไตรปิฎก หมวดวินัยปิฎก จุลลวรรค ภาค ๒ ดังนี้ครับ

(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๗ หน้า : ๓๒๓ ข้อ : ๔๐๖)

ลักษณะวินิจฉัยพระธรรมวินัย

[๕๒๓] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อ ที่หม่อมฉันฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว เป็นผู้เดียวจะพึงหลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโคตมี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อคลายความกำหนัด
เป็นไปเพื่อความประกอบ ไม่ใช่เพื่อความพราก
เป็นไปเพื่อความสะสม ไม่ใช่เพื่อความไม่สะสม
เป็นไปเพื่อความมักมาก ไม่ใช่เพื่อความมักน้อย
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่ใช่เพื่อความสันโดษ
เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ใช่เพื่อความสงัด
เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่ใช่เพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงง่าย

ดูกรโคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า
นั่นไม่ใช่ธรรม นั่นไม่ใช่วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์ (ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า - ธัมมโชติ)

ดูกรโคตมี อนึ่ง เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด
เป็นไปเพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ
เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่ใช่เพื่อความสะสม
เป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่ใช่เพื่อความมักมาก
เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่ใช่เพื่อความไม่สันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่ใช่เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่ใช่เพื่อความเกียจคร้าน
เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

ดูกรโคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า
นั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย นั่นเป็นสัตถุศาสน์ ฯ (เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า - ธัมมโชติ)


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น