Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

ในสมัยโบราณก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น มีเจ้าลัทธิต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมากนะครับ เจ้าลัทธิเหล่านั้นต่างก็สอนแนวทางปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์แตกต่างกันไปตามความเชื่อของตน ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 2 แนวทางคือ
  1. อัตตกิลมถานุโยค คือใช้วิธีการทรมานร่างกายของตนเองด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีความเชื่อว่าเมื่อได้รับความทุกข์จนถึงที่สุดแล้วก็จะสามารถพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงไปได้เอง หรือจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ไปได้เองนะครับ การปฏิบัติแนวนี้มีหลายรูปแบบ เช่น การอดอาหาร การไว้เล็บยาว การยืนขาเดียว การไม่นุ่งผ้า ที่เรียกว่าอเจลกะ การใช้ชีวิตและท่าทางต่างๆ เหมือนวัว ที่เรียกว่าโควัตร การใช้ชีวิตและท่าทางต่างๆ เหมือนสุนัข ที่เรียกว่าสุนัขวัตร การสมาทานบริโภคเฉพาะลูกเดือย ฯลฯ

  2. กามสุขัลลิกานุโยค คือการส้องเสพ บำรุงบำเรอตนเองด้วยกามคุณทั้ง 5 อย่างเต็มที่ (การสัมผัสกับสิ่งที่น่ารื่นรมย์ ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย) เพราะมีความเชื่อว่าตายแล้วสูญนะครับ จึงคิดว่าการใช้วิธีตามแนวทางที่ 1. ก็มีแต่จะเป็นทุกข์ไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นจึงพยายามหาความสุขให้ได้มากที่สุดตลอดช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่โดยเรียกว่านิพพานปัจจุบัน

เจ้าชายสิทธัตถะนั้น เมื่อก่อนจะออกบวช ก็ทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยกามคุณทั้ง 5 อย่างเต็มที่มาแล้วอย่างที่ทราบกันนะครับ จึงได้ทรงทราบอย่างชัดเจนด้วยพระองค์เองมาแล้วว่าวิธีการเช่นนั้นทำให้มีความสุขได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานวันเข้าก็รู้สึกจืดชืดและเบื่อได้ในที่สุด ไม่สามารถทำให้พ้นจากความทุกข์ต่างๆ ไปได้จริงนะครับ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรัก ความโกรธ เร่าร้อนใจ ความกังวลใจ ความเครียด ความกลัว ความร้อน ความหนาว และทุกข์อื่นๆ อีกสารพัดอย่าง

เมื่อออกบวชแล้วก็ได้ทรงทดลองใช้วิธีการทรมานร่างกายในรูปแบบต่างๆ อยู่เป็นเวลานาน ที่เรียกกันทั่วไปว่าทุกกรกิริยานะครับ จนกระทั่งทรงแน่พระทัยว่าวิธีนี้ไม่สามารถทำให้พ้นจากความทุกข์ไปได้เช่นกัน จึงได้ทรงพิจารณาว่าการใช้วิธีทรมานร่างกายนั้นเป็นทางที่ตึงเกินไป ทำแล้วก็มีแต่จะได้รับทุกข์ ไม่มีประโยชน์อะไร ส่วนการบำเรอตนด้วยกามนั้นก็เป็นทางที่หย่อนเกินไป ไม่ใช่ทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้จริง จึงทรงหันมาพิจารณาถึงทางสายกลาง

ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นก็คือ การบำรุงรักษาร่างกายตามที่จำเป็นจริงๆ ทั้งในเรื่องของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปรกติสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะร่างกายเป็นเหตุ แต่ก็ไม่ต้องไปเสียเวลากับร่างกายจนเกินจำเป็น และไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะการแสวงหา ในสิ่งที่เกินจำเป็น แล้วหันมาทำความเพียรทางจิตแทนครับ

การทำความเพียรทางจิตก็คือ การปฏิบัติตามทางที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเองครับ อันได้แก่
  1. สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ คือมีความเห็นที่ถูกต้องว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) อะไรคือนิโรธ (ความดับไปแห่งทุกข์ = นิพพาน) อะไรคือมรรค (ทางปฏิบัติเพื่อความดับไปแห่งทุกข์)

  2. สัมมาสังกัปปะ - ความดำริชอบ คือดำริที่จะออกจากกาม ออกจากความโกรธความพยาบาท ออกจากความเบียดเบียน ดำริที่จะปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8

  3. สัมมาวาจา - วาจาชอบ คือมีวาจาที่ไม่เป็นไปเพื่อความยินดีในกาม ไม่เป็นไปเพื่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความพยาบาท ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด (ยุยงให้เขาแตกแยกกัน) ไม่พูดคำหยาบ (พูดเพื่อให้เขาเจ็บใจ) ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ พูดแต่สิ่งที่มีสาระ เป็นไปเพื่อความเพียร เพื่อความหลุดพ้น

  4. สัมมากัมมันตะ - การงานชอบ คือการแสดงออกทางกายที่เหมาะสม ดีงาม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม (ล่วงเกินผู้ที่มีเจ้าของ ผู้ปกครองหวงอยู่) ไม่เสพของมึนเมาอันจะทำให้ขาดสติ

  5. สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีพชอบ คือการประกอบอาชีพสุจริต ถูกทำนองคลองธรรม ไม่คดโกง ไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ขายสุรา ไม่ขายอาวุธ ไม่ขายยาพิษ ไม่ขายมนุษย์ ไม่เลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าเอง หรือเพื่อให้เขาเอาไปฆ่า ถ้าเป็นนักบวชก็ยินดีเฉพาะของที่ได้มาโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัยนะครับ

  6. สัมมาวายามะ - ความเพียรชอบ คือมีความเพียรในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อันชอบ มีความเพียรในการประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว

  7. สัมมาสติ - ระลึกชอบ คือมีสติ (ความระลึกได้) ในฐานทั้ง 4 หรือสติปัฏฐาน 4 นั่นเองนะครับ (ดูรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)

  8. สัมมาสมาธิ - ความตั้งใจมั่นชอบ คือสมาธิที่เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง (ในสภาวะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจ) เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง เพื่อนิพพาน อันได้แก่ สมาธิอันเป็นฐานสำหรับการเจริญวิปัสสนา นั่นเองนะครับ

ข้อพึงสังเกต

  1. ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้มีการทำสมาธิกันอยู่ก่อนแล้ว ดังเช่น ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จไปเรียนที่สำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร และที่สำนักของอุทกดาบส รามบุตร เป็นต้น แต่สมาธิเหล่านั้น ติดอยู่เพียงแค่ความสงบเท่านั้นครับ ไม่ได้ใช้เป็นฐานสำหรับการเจริญวิปัสสนา เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะฝึกถึงขั้นสูงสุดแล้วจึงทรงเห็นว่าไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้อย่างแท้จริง จึงได้เสด็จออกมาจากสำนักเหล่านั้นนะครับ

  2. คนส่วนใหญ่นั้นมักจะชอบคิดอะไรโดยเอาตนเองเป็นหลักอยู่เสมอ เมื่อตนเองประพฤติปฏิบัติตัวในเรื่องไหนอยู่ในระดับใด ก็มักจะคิดว่านั่นแหละคือทางสายกลาง แล้วมองว่าคนที่ปฏิบัติเคร่งครัดกว่าตนนั้นปฏิบัติตึงเกินไป และมองว่า คนที่ย่อหย่อนกว่าตนนั้นปฏิบัติหย่อนเกินไป คือเอาตนเองเป็นมาตรฐาน แทนที่จะเอาหลักธรรมเป็นมาตรฐาน ท่านผู้อ่านคิดว่าจริงหรือไม่ครับ

ธัมมโชติ

1 ความคิดเห็น :

  1. จริงครับ การทำบุญบารมีมีไม่เท่ากันของแต่ละบุคคล การผ่านก็แบ่งออกได้ถึง ๓ ทาง ทางอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ตอบลบ