Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

วิปัสสนา-ข้อควรระวัง

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

ในหน้านี้จะเป็นเรื่องของข้อควรระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนะครับ

ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณคือปัญญา ความรู้ ความเห็นแจ้งด้วยตนเองถึงธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม (ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ) อันเป็นผลจากการเจริญวิปัสสนานะครับ

เมื่อความรู้ ความเห็นแจ้งนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ความรู้สึกนึกคิดตลอดจนการมองโลกของผู้ปฏิบัติเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้นของปัญญานั้น ทีละมากบ้างน้อยบ้าง จนในที่สุดก็จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ อันเป็นต้นเหตุแห่งกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงลงไปอย่างถาวรในขณะแห่งมรรคญาณ และจะเห็นผลของการทำลายนั้นได้อย่างชัดเจนในขณะแห่งผลญาณครับ

ลำดับขั้นของพัฒนาการเหล่านี้ได้รับการแบ่งเป็นขั้นย่อยๆ เอาไว้หลายแนวทางนะครับ เช่น
  • แบ่งตามแนวของวิสุทธิคุณ 7 ได้เป็น 7 ขั้น
  • แบ่งตามแนวโสฬสญาณหรือญาณ 16 ได้เป็น 16 ขั้น

แต่ถ้าสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นว่าผู้ดำเนินการไม่เคยเขียนรายละเอียดของเรื่องเหล่านี้เอาไว้เลยนะครับ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ขออธิบายถึงข้อดีข้อเสียของเรื่องเหล่านี้ ดังนี้ครับ :

ถึงแม้ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้เกี่ยวกับลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณเลย แต่ถ้าปฏิบัติถูกทางแล้ววิปัสสนาญาณก็ย่อมจะเกิดขึ้นมาเองโดยลำดับอยู่แล้วครับ และแน่นอนว่าผลอันสืบเนื่องจากวิปัสสนาญาณนั้นก็ย่อมจะเกิดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย และพัฒนาการต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นไปตามขั้นตอน ตามวาสนาบารมีและอุปนิสัยอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลนะครับ เพราะต้นเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็คือความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นแจ้งในธรรมชาติของรูปนามด้วยปัญญาของตนเองอันเกิดจากการเจริญวิปัสสนานั่นเองครับ ไม่ใช่เกิดจากระเบียบกฎเกณฑ์ที่ใครวางเอาไว้เลย จะมีก็แต่กฎเกณฑ์ของธรรมชาติเท่านั้นนะครับ

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติรู้เรื่องรายละเอียดของวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ล่วงหน้า ก่อนที่ความเห็นแจ้งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นด้วยปัญญาของตนเองจริงๆ แล้ว ผลเสียที่อาจจะเกิดตามมาก็คือ
  1. การปฏิบัติจะก้าวหน้าได้ช้า เพราะผู้ปฏิบัติมัวแต่คอยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติของตนกับทฤษฎีอยู่ และอาจถึงขั้นทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่อยู่กับสภาวะอันเป็นปัจจุบันเฉพาะหน้าจนปัญญาไม่เกิดเลยก็ได้ครับ

  2. ผู้ปฏิบัติอาจเกิดอติมานะ คือความเย่อหยิ่งถือตนว่าปฏิบัติได้สูงกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นกิเลสชนิดหนึ่งและอาจมีผลสืบเนื่องให้กิเลสตัวอื่นๆ เกิดตามมาด้วยครับ

  3. อาจเกิดญาณเทียมขึ้นมาได้ เพราะผู้ปฏิบัติรู้ล่วงหน้าแล้วว่าต่อไปควรเกิดความรู้และความรู้สึกอย่างไรขึ้นมาบ้าง และด้วยความที่อยากจะก้าวหน้าไปเร็วๆ จึงเกิดการน้อมใจไปสู่ความรู้สึกเช่นนั้น หรือเกิดการสะกดจิตตนเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ปัญญาเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้นจริงแต่อาศัยสัญญาคือการจำมาจากตำราหรือจากผู้อื่นครับ

    (ซึ่งสัญญาคือความจำได้หมายรู้นั้นจะทำได้ก็เพียงข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้นครับ ไม่สามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่นและกิเลสต่างๆ ได้อย่างแท้จริง เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมกิเลสก็จะแสดงตัวออกมาใหม่ครับ)

    จนทำให้เข้าใจผิดได้ว่าตนเองก้าวหน้าไปถึงขั้นนั้นแล้วจริงๆ และอาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อเนื่องไปจนถึงขั้นเกิดมรรคผลเทียมขึ้นมาเลยก็ได้ครับ (ดูเรื่องสมัยพุทธกาลยังมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผลในหัวข้อถัดไปประกอบนะครับ)
การเข้าใจผิดเรื่องผลของการเจริญวิปัสสนานั้นเกิดขึ้นได้ง่ายครับ เพราะธรรมดากิเลสนั้นนอกจากจะถูกทำลายอย่างถาวรด้วยวิปัสสนาปัญญาแล้ว ยังอาจถูกกด หรือข่มเอาไว้ได้หลายวิธี เช่น ด้วยอำนาจของสมาธิ การพิจารณาแล้วข่มเอาไว้ การข่มด้วยสติ การน้อมใจแล้วข่มเอาไว้ ฯลฯ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะซ่อนกิเลสเอาไว้ได้ชั่วคราวเท่านั้นครับ เมื่อสบโอกาสที่เหมาะสมกิเลสเหล่านั้นก็จะแผลงฤทธิ์ออกมาได้ใหม่

ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องระวังให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วญาณเทียมจะเกิดขึ้นได้ครับ การปฏิบัติโดยการรับรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ไม่ต้องสนใจผลที่จะเกิดในอนาคต และไม่ต้องไปเทียบชั้นญาณกับทฤษฎีจะปลอดภัยกว่านะครับ ขอให้ศึกษาวิธีการปฏิบัติให้เข้าใจอย่างชัดเจนเป็นใช้ได้ หลังจากนั้นก็คอยดู คอยสังเกตสภาวะที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ ในขณะนั้น แล้ววิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นเองครับ อย่าใจร้อน ถ้ามีกัลยาณมิตรคอยแนะนำตามสมควรก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีกครับ

สมัยพุทธกาลยังมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผล

อรรถกถาธรรมบท : ชราวรรควรรณนา เรื่องพระอธิมานิกภิกษุ


(เนื้อเรื่องที่เป็นเรื่องราวรายละเอียดนี้นำมาจากคัมภีร์ชั้นอรรถกถาซึ่งขยายความพระไตรปิฎกอีกทีนะครับ ในพระไตรปิฎกจะมีเฉพาะข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ตอนท้ายเรื่องเท่านั้น ซึ่งสามารถดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๘ ข้อ : ๑๔๙)


ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุผู้มีความสำคัญว่า ตนได้บรรลุพระอรหัตผลหลายรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยานิมานิ" เป็นต้น.

พวกภิกษุสำคัญผิด

ดังได้สดับมา ภิกษุ ๕๐๐ รูปเรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดา แล้วเข้าไปสู่ป่า พากเพียรพยายามอยู่ ยังฌานให้เกิดขึ้นแล้ว สำคัญว่า "กิจบรรพชิตของพวกเราสำเร็จแล้ว" เพราะกิเลสทั้งหลายไม่ฟุ้งขึ้น (คือภิกษุเหล่านั้นทำกรรมฐานจนสมาธิเกิดขึ้นถึงขั้นได้ฌาน และด้วยอำนาจของสมาธิในขั้นฌานนั้นข่มกิเลสทั้งหลายเอาไว้ จึงเข้าใจผิดคิดว่าตนบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วครับ ดูเรื่องพุทธวิธีพัฒนาจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ) จึง(กลับ)มาด้วยหวังว่า "จักกราบทูลคุณที่ตนได้แล้วแด่พระศาสดา."

พระศาสดาจึงแก้ความสำคัญผิดนั้น

ในเวลาที่พวกเธอถึงซุ้มประตูชั้นนอกเท่านั้น พระศาสดาตรัสกะพระอานนทเถระว่า "อานนท์ การงาน (เกี่ยว) ด้วยเราผู้อันภิกษุเหล่านี้เข้ามาเฝ้า ยังไม่มี. ภิกษุเหล่านี้จงไปป่าช้าผีดิบ (เสียก่อน) กลับมาจากที่นั้นแล้วจึงค่อยเฝ้าเรา."

พระเถระไปแจ้งความนั้นแก่พวกเธอแล้ว. พวกเธอไม่พูดเลยว่า "พวกเราจะได้ประโยชน์อะไรด้วยป่าช้าผีดิบ" คิดเสียว่า "พระพุทธเจ้าทรงเห็นการณ์ไกล จักทรงเห็น (เหตุ) การณ์" ดังนี้แล้ว ไปสู่ป่าช้าผีดิบแล้ว เมื่อเห็นศพในที่นั้น กลับได้ความเกลียดชังในซากศพที่เขาทิ้งไว้ ๑ วัน ๒ วัน ยังความกำหนัดให้เกิดในสรีระอันสดซึ่งเขาทิ้งไว้ในขณะนั้น. ในขณะนั้นก็รู้ว่าตนยังมีกิเลส.

พระศาสดา ..... ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเห็นร่างกระดูกเช่นนั้น ยังความยินดีด้วยอำนาจราคะให้เกิดขึ้น ควรละหรือ ?" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
ยานิมานิ อปตฺถานิ อลาปูเนว* สารเท
กาโปตกานิ อฏฺฐีนิ ตานิ ทิสฺวาน กา รติ.

"กระดูกนี้เหล่าใด อันเขาทิ้งเกลื่อนกลาด
ดุจน้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ
ความยินดีอะไรเล่า ? (จักมี) เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น."

* อรรถกถาว่า อลาพูเนว.
(หลังจากรู้ว่าตนยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อภิกษุเหล่านั้นทำวิปัสสนาต่อไป ในเวลาต่อมาภิกษุเหล่านั้นก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าตามที่ตั้งใจเอาไว้อีกครั้งครับ - ธัมมโชติ)

อย่าทำวิปัสสนาเพื่อหวังเกิดเป็นอะไร

ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เมื่อมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จิตใจก็จะมีความประณีตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกันนะครับ และเมื่อบรรลุมรรคผลในขั้นต่างๆ แล้ว ก็จะไม่มีโอกาสไปเกิดในภพภูมิต่ำๆ อีกต่อไป ตามคุณสมบัติของมรรคผลขั้นนั้นๆ (ดูเรื่องอริยบุคคล 8 ประเภทและการละกิเลส ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)

การได้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ เหล่านี้ ขอให้ถือว่าเป็นเพียงผลพลอยได้ของการทำวิปัสสนาเท่านั้นนะครับ อย่าได้ถือเป็นจุดมุ่งหมายของการเจริญวิปัสสนาเป็นอันขาด เช่น อย่าคิดว่าจะเจริญวิปัสสนาเพื่อจะได้ไปเกิดในดุสิตเทวโลก หรือเพื่อไปเกิดในสุทธาวาสภูมินะครับ เพราะความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้นจะเป็นตัวขวางกั้นมรรคผล ทำให้มรรคผลเกิดได้ยากหรือไม่สามารถเกิดได้เลยครับ

ทั้งนี้ก็เพราะความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้เป็นสภาวะจิตที่ประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในภพภูมิต่างๆ ประกอบไปด้วยตัณหาในภพ ซึ่งเป็นสภาวะจิตที่ตรงกันข้ามกับมรรคผลนิพพานอันเป็นสภาวะจิตที่พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ในภพภูมิทั้งปวง พ้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัดจิตทั้งปวงนะครับ ไม่ว่าจะเป็นตัณหาในการเกิด หรือตัณหาในการไม่เกิด คือไม่ยึดมั่นทั้งในการเกิดและการไม่เกิด แต่จะรับรู้ในสภาวะต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ทั้งในปัจจุบัน อดีต และที่จะปรากฏในอนาคต ตามสภาพความเป็นจริงโดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ปราศจากทั้งแรงดูดและแรงผลักทั้งปวง เป็นสภาวะที่เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงครับ

ดังนั้นความคาดหวังในภพภูมิต่างๆ หรือแม้แต่ความคาดหวังในมรรคผลขั้นต่างๆ (ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะหมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในมรรคผลขั้นนั้นๆ นะครับ) ย่อมจะเป็นตัวขัดขวางมรรคผลนิพพานทั้งสิ้น จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความรุนแรงของความรู้สึกนั้นๆ ครับ

เพื่อความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัตินั้น ผู้ปฏิบัติควรมีเป้าหมายที่ความหลุดพ้น จากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงนะครับ แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในเป้าหมายนั้นด้วย มีเพียงความรู้สึกที่เป็นกลางๆ อยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ทำได้ยากครับ ต้องวางใจให้ได้ว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด สร้างเหตุปัจจัยให้เหมาะสมแล้วดูผลที่เกิดขึ้นในขณะนั้นไปเรื่อยๆ มีสติอยู่กับปัจจุบันโดยไม่คาดหวังกับอนาคตครับ

ถ้าจะให้ง่ายกว่านั้น ก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายใดๆ เลยครับ เพียงแต่ทำวิปัสสนาเพื่อศึกษาธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือของร่างกายจิตใจเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ตามความเหมาะสมของความรู้และปัญญาที่เกิดขึ้นครับ


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น