ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
หน้านี้เป็นการรวมคำถามคำตอบเกี่ยวกับเรื่องวิปัสสนากรรมฐานที่ผู้สนใจสอบถามเข้ามาเป็นตอนที่ 2 นะครับ
สมถะกับวิปัสสนา
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับเนื้อความ
เคยอ่านเจอจากที่ใดไม่ทราบ ลืมแหล่งไปแล้วค่ะ บอกว่าวิปัสสนาเป็นทางตรง สมถะทำให้แวะ
ตอบ
สวัสดีครับ
ขออธิบายเพิ่มเติมเรื่องสมถะ (สมาธิ) กับวิปัสสนา อีกนิดนะครับ (ป้องกันการเข้าใจผิด)
ที่บางท่านกล่าวว่าสมถะเป็นทางอ้อม หรือเป็นการแวะพักผ่อนข้างทางนั้น ความจริงแล้วขึ้นกับการนำไปใช้ครับ (สังเกตได้ว่าไม่เคยเจอตรงไหนที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามการทำสมาธิเลยนะครับ) ขอแยกอธิบายเป็นกรณีดังนี้ครับ
-
ถ้าทำสมาธิแล้วมัวหลงใหล เพลิดเพลินอยู่กับสมาธิ ไม่กระตือรือร้นที่จะเจริญวิปัสสนา
อย่างนั้นก็เป็นทางอ้อมอย่างมากครับ หรืออาจเรียกว่าผิดทางเลยก็ได้ บางสำนักกลัวเกิดกรณีนี้ขึ้นจนถึงกับห้ามนั่งสมาธิเลยก็มีครับ
หรือบางคนอาจถึงขั้นหลงผิด คือด้วยอำนาจของสมาธิที่สามารถข่มกิเลสบางตัวได้ชั่วคราวนั้น ทำให้เข้าใจผิดคิดว่ากิเลสตัวนั้นๆ หมดไปแล้วจริงๆ เลยคิดว่าตนได้บรรลุมรรค/ผล ขั้นนั้นขั้นนี้แล้วก็มี กรณีนี้ก็คงต้องเรียกว่าหลงทางนะครับ
-
การทำสมาธิไปด้วย พร้อมกับเจริญวิปัสสนาไปด้วยควบคู่กันไป อย่างนี้ก็จะเกื้อหนุนกันครับ
คือผลของสมาธิก็ทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้ง่ายขึ้น และผลของวิปัสสนา (ความปล่อยวาง,
ความไม่ยึดมั่น) ก็ทำให้นิวรณ์ (สิ่งขวางกั้นสมาธิ) เกิดน้อยลง หรือลดกำลังลงไป
ทำให้สมาธิเกิดได้ง่ายขึ้นเช่นกันครับ อย่างนี้ก็คงไม่น่าเรียกว่าเป็นทางอ้อมนะครับ
โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานทางสมาธิอยู่ก่อนแล้ว
-
การใช้สมาธิให้เป็นฐานของวิปัสสนาโดยตรง วิธีที่ 1.
คือ การพิจารณาธรรมชาติของสมาธิ คือความไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา ไม่อยู่ในอำนาจ
เสื่อมได้ง่าย เอาแน่อะไรไม่ได้ ยึดมั่นอะไรไม่ได้ ฯลฯ (คือคนที่ได้สมาธิขั้นสูงนั้น
ก็มักจะยึดมั่นในสมาธิ เหมือนกับว่าสมาธิเป็นที่พึ่งพิงทั้งหมดของชีวิต เห็นสมาธิเป็นสรณะ
พอใช้วิธีนี้แล้วทำให้หมดความยึดมั่นในสมาธิไปได้ ก็จะส่งผลให้หมดความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปด้วยเช่นกันครับ)
-
การใช้สมาธิให้เป็นฐานของวิปัสสนาโดยตรง วิธีที่ 2.
คือ วิธีที่เรียกว่าวิชชา 3 (วิธีเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านะครับ)
คือเมื่อทำสมาธิจนถึงขั้นจตุตถฌาน (ฌานที่ 4.) ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของรูปฌานแล้ว
ก็ฝึกอภิญญาต่อไป จนกระทั่งได้วิชชา 3 คือ
- ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติได้
- จุตูปปาตญาณ คือได้ตาทิพย์มองเห็นสัตว์กำลังตายบ้าง กำลังเกิดบ้าง มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง ตามกรรมของตน
- อาสวักขยญาณ คือปัญญาที่ทำให้กิเลสทั้งหลายสิ้นไป
ธัมมโชติ
พิจารณาแล้วไม่เกิดปัญญาเสียที
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับคำถาม
ผมพยายามที่ทำวิปัสสนา โดยการพิจารณา อนัตตา ทุกขัง อนิจจัง แต่พิจารณาทีไรก็ไม่เกิดปัญญาเสียที เป็นเพราะอะไรครับ ต้องมีอะไรเพิ่มเติมหรือป่าว แม้ผมพยายามจะใช้สมาธิเป็นกำลังก็ได้แค่อุปจารสมาธิ ไม่ทราบว่าจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้างครับ
สงสัยมาก รบกวนให้ความกระจ่างด้วยครับ
ตอบ
สวัสดีครับ
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
สำหรับปัญหาที่ถามมานั้น ผมขอตอบดังนี้ครับ
-
เนื่องจากไม่ทราบว่าคุณ ..... ได้เคยปรารถนาพุทธภูมิเอาไว้หรือไม่ (ในอดีตชาติ)
ถ้าคิดว่าตอนนี้อยากจะก้าวหน้าให้ได้มากที่สุด ก็ควรอธิษฐานยกเลิกคำอธิษฐานเก่าๆ
ทั้งหมด ที่เป็นตัวขวางมรรคผล แล้วอธิษฐานจิตใหม่ ปรารถนามรรคผลโดยเร็วที่สุดแทนนะครับ
-
การตั้งใจพิจารณาให้เกิดปัญญานั้นปัญญามักจะไม่ค่อยเกิดหรอกครับ นอกจากจะมีพื้นฐานเก่าอยู่มากพอ
ที่ควรทำก็คือ ตามรู้ตามสังเกตรูปนาม หรือร่างกายจิตใจไปเรื่อยๆ เพื่อศึกษาธรรมชาติของมัน (ใจเย็นๆ ต้องใช้เวลาครับ) เมื่อเห็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาเองครับ คือจะเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของมันด้วยปัญญาของเราเอง (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) แล้วความคลายจากความยึดมั่นถือมั่นก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ
เหมือนกับมีคนบอกเราว่าอย่าไปโดนไฟเพราะไฟมันร้อน แล้วเรามานั่งคิดพิจารณาเอาว่าไฟมันร้อน เราก็ไม่รู้จริงๆ หรอกครับว่าไฟมันร้อน เมื่อไม่รู้ด้วยปัญญาของเราเองความระมัดระวังก็ไม่เกิดขึ้น
แต่ถ้าเราได้มีโอกาสไปสัมผัสไฟด้วยตัวของเราเองเมื่อไหร่ ก็จะรู้ด้วยปัญญาของเราเองว่าไฟมันร้อนจริงๆ คือจะเกิดปัญญาขึ้นมาว่าไฟมันร้อน แล้วความระมัดระวังก็จะตามมาโดยอัตโนมัติครับ (ดูเรื่องวิปัสสนา-หลักการพื้นฐานประกอบนะครับ โดยเฉพาะในหัวข้อวิปัสสนาคืออะไร และเรื่องการเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน)
สรุปก็คือตามดูตามสังเกตรูปนามไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ ทำใจให้ผ่อนคลาย สบายๆ ไม่ต้องไปคาดหวังว่าปัญญาจะเกิดหรือไม่นะครับ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมแล้วจิตก็จะแล่นไปเองครับ คือเมื่อสั่งสมข้อมูลจากการสังเกตมากขึ้นเรื่อยๆ จนมากพอแล้ว และในขณะนั้นจิตอยู่ในสภาวะที่ประณีตมากพอ ก็จะเกิดอาการปิ๊ง คือปัญญาเกิดขึ้นมาเองครับ
แต่ถ้าพยายามไปเร่งอยากให้ปัญญาเกิดขึ้นเร็วๆ จิตจะดิ้นรน แข็งกระด้าง ทำให้ปัญญาเกิดได้ยากขึ้นไปโดยไม่รู้ตัวครับ
-
สมาธิขั้นนี้ก็มากพอสำหรับการทำวิปัสสนาแล้วครับ
-
การที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างฆราวาสทั่วไปนั้น ได้สมาธิขั้นอุปจาระก็นับว่าสูงมากแล้วครับ
ถ้าจะให้ได้ถึงขั้นฌานก็ควรจะต้องหาที่สงบๆ แล้วให้เวลาอย่างจริงจังมากกว่านี้
ฌานนั้นไม่ใช่ได้ง่ายๆ เลยนะครับ
ธัมมโชติ
การฝึกสติในชีวิตประจำวัน
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับคำถาม
Subject: ขณะที่เราทำงานอยู่ในทางโลกเราจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร
หนู ... ชอบในเรื่องการปฏิบัติธรรมมากค่ะ หนูได้เข้าใจมาว่าวิธีการที่จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ และสามารถที่จะดับทุกข์ได้จริงๆ ผู้ฝึกสติให้รู้เท่าทันกับอารมณ์ที่มากระทบ
แล้วขณะที่เราทำงานเราต้องยุ่งกับงาน เราจะมีวิธีการฝึกตรงนี้ได้อย่างไรคะ
ตอบ
สวัสดีครับ
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
การฝึกสติในขณะทำงานนั้น ทำได้โดยคอยสังเกตสภาวะจิตที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ ไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน คือไม่ว่าเราจะกำลังทำอะไรอยู่ ก็คอยสังเกตจิตไปเรื่อยๆ ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เช่น โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ เฉยๆ ผ่องใส เบิกบาน เป็นกุศล เป็นสมาธิ ฟุ้งซ่าน ฯลฯ
แรกๆ อาจจะรู้สึกว่ายากสักหน่อย และลืมกำหนดรู้อยู่เรื่อยๆ ก็ไม่ต้องกังวลอะไรนะครับ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา ใจเย็นๆ ค่อยๆ ฝึกไป พอชินจนเป็นนิสัยแล้วก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ เอง จะเห็นรายละเอียดของจิตมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้ต่อเนื่องมากขึ้น รู้เท่าทันจิตมากขึ้น
และที่สำคัญคือจะเข้าใจธรรมชาติของจิตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้หวั่นไหวต่อโลกน้อยลง ปล่อยวางได้มากขึ้น ยึดมั่นถือมั่นน้อยลง เพราะเห็นความจริงด้วยปัญญาของตนเองแล้วว่า ไม่ว่าจิต หรือสิ่งใดก็ตาม ล้วนยึดมั่นถือมั่นอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีอะไรอยู่ในอำนาจ หรือเป็นไปตามที่ใจเราปรารถนาได้อย่างแท้จริงเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจิตใจก็จะประณีต ผ่องใสขึ้นเรื่อยๆ และมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เองครับ (กรุณาอ่านเรื่องต่างๆ ในหมวดบทวิเคราะห์ และหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ)
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ
ธัมมโชติ
อริยบุคคลที่ต้องรีบบวช
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับคำถาม
อยากทราบว่าในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้หรือไม่ว่า อริยบุคคลระดับใด ที่จะอยู่ในเพศฆราวาสไม่ได้ จะต้องบวชทันที หรือภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะต้องละจากโลกนี้ไปทันที จะต้องเป็นระดับ อรหัตตมรรคขึ้นไปใช่หรือไม่
ได้ลองตั้งกระทู้ผ่านบาง web มีผู้ให้คำตอบว่า................
" เท่าที่ทราบ ก็บอกว่า ระดับพระอเสกขะเท่านั้น ที่ต้อง ห่มจีวร เป็นภิกษุ เพราะ
-
ในความเห็นของผมนะ เนื่องจากการเพ่งโทษ พระอรหันต์ นั้น ผลคือบาปหนัก ท่านจึงเมตตา
ท่านจึงต้องเปลี่ยนเป็นห่มจีวร คนทั่วไปจะได้ไม่บาป
- ว่ากันว่า กายปุถุชนไม่บริสุทธิ์พอ ท่านจึง ห่มจีวร หรือไม่ก็ ละสังขาร ไป "
ช่วยตอบข้อสงสัยนี้ให้ด้วยนะคะ
ตอบ
สวัสดีครับ
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
ผู้ที่ต้องรีบบวชทันทีนั้นก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นครับ สำหรับอรหัตตมรรคบุคคลนั้นยังจัดเป็นเสกขบุคคลอยู่ และเนื่องจากว่าเป็นอยู่เพียงแค่ขณะจิตเดียวก็เข้าสู่อรหัตตผล คือเป็นพระอรหันต์ ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว คงกล่าวไม่ได้ว่าอรหัตตมรรคบุคคลต้องรีบบวชนะครับ เพราะเวลาเพียงแค่ขณะจิตเดียวนั้นบวชไม่ทันอยู่แล้ว
ในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็เช่น เมื่อภัททชิกุมารบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามบิดาของภัททชิกุมารว่า วันนี้บุตรของท่านควรจะบรรพชา หรือควรจะปรินิพพาน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่างของเรื่องนี้ครับ)
ส่วนอนาคามีบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องบวชครับ ตัวอย่างในพระไตรปิฎกเช่น จิตตคฤหบดี ก็เป็นอนาคามีบุคคล แต่ก็ยังถือเพศเป็นคฤหัสถ์ ไม่ได้บวชเป็นภิกษุนะครับ (มีรายละเอียดอยู่ในอรรถกถานิคัณฐสูตรที่ ๘ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ ว่า "จิตตคฤหบดี เป็นอริยสาวกชั้นอนาคามีบุคคล" ครับ)
ส่วนเหตุผลที่พระอรหันต์ต้องรีบบวชนั้น ตามความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเป็นเพราะท่านไม่มีความยึดมั่นสิ่งใดแล้ว จึงไม่มีแรงกระตุ้นอะไรให้ท่านอยู่ในทางโลกอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือญาติพี่น้อง ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ ฯลฯ ท่านมองเห็นแต่ทุกข์โทษ ที่เกิดจากการครอบครองสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ และจากการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ
ดังนั้น ชีวิตทางโลกซึ่งท่านมองไม่เห็นประโยชน์สำหรับตัวท่านเอง และทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น (เผยแพร่ศาสนา) ได้น้อย จึงเป็นสิ่งที่คับแคบสำหรับท่านมาก ดังนั้น การปรินิพพานจึงประเสริฐกว่า ดังนั้น พระอรหันต์ที่ไม่ได้บวชจึงปรินิพพาน อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ
รายละเอียดเรื่องที่พระอรหันต์ครองเพศฆราวาสไม่ได้ ต้องรีบบวชมีดังนี้ครับ
อรรถกถามหาปนาทชาดกที่ ๔ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 115 (ข้อความจากหน้าที่ 117)
..... ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันสดับพระธรรมกถาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น. ภัททชิกุมารนั้นกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงมา แม้เราก็จักฟังธรรม แล้วประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงเข้าไปพร้อมด้วยบริวารใหญ่ ยืนฟังพระธรรมกถาอยู่ท้ายบริษัท ยังสรรพกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไป. บรรลุพระอรหัต (เป็นพระอรหันต์ - ธัมมโชติ) อันเป็นผลชั้นเลิศ.
พระศาสดาตรัสเรียกภัททิยเศรษฐีมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนมหาเศรษฐี บุตรของท่านประดับประดาตกแต่งแล้วฟังธรรมกถาได้ดำรงอยู่ในพระอรหัต เพราะฉะนั้น วันนี้ บุตรของท่านควรจะบรรพชา หรือควรจะปรินิพพาน.
ภัททิยเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจด้วยการปรินิพพานแห่งบุตรของข้าพระองค์ย่อมไม่มี ขอพระองค์จงให้บุตรของข้าพระองค์นั้นบรรพชาเถิด พระเจ้าข้า .....
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ
ธัมมโชติ
ชอบการตอบและพิจารณาธรรมของท่านมากครับเป็นกลางและเป็นเหตุเป็นผลดีมาก อยากรบกวนของคำชี้แนะหน่อยครับ มักได้ยินว่าจะทำวิปัสนาต้องทำสมาธิให้ถึงระดับสูงก่อน ผมสงสัยว่าถ้าเรายังไม่สามารถทำสมาธิได้สูงพอคือแค่อุปจาระก็อาจจะยากสำหรับหลายคน เช่นนี้ก็จะไม่สามารถทำวิปัสนาได้ใช่หรือปล่าวครับ ยกตัวอย่างผมนั่งสมาธิไม่ได้สนใจว่าอยู่ในระดับไหนคิดเพียงว่าได้บุญได้กุศลและสะสมไปเรื่อยๆ แต่จากประสบการณ์ก็พบอารมณ์ปิติบ้าง(อันนี้จากที่อ่านหนังสือหรือฟังมา) บางทีก็สังเกตุตัวเองว่าลมหายใจแผ่วบางมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าได้ระดับไหนและไม่รู้ว่าเพียงพอกับการทำวิปัสสนาหรือยัง ตอนหลังผมก็เลยตัดสินใจว่าช่างมันไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนก็จะทำปัสสนาโดยพิจารณาธรรมซึ่งโดยมากมักจะใช้หลักของไตรลักษณ์มาพิจารณาโดยเฉพาะความตาย จากประสบการณ์ ระหว่างพิจารณาแบบนี้มันมีความรู้สึกซาบซึ้งในธรรมมากกว่าปรกติ ในบางครั้งเกิดปิติเช่นขนลุก จิตวูบวาบ เลยอยากถามท่านธรรมโชติว่า การพิจารณาแบบนี้จะถือว่าเป็นวิปัสสนาไหมครับ หรือจิตมันรู้ของมันเอง ไม่ใช่การพิจารณานำแบบที่ผมทำอยู่ และอีกเรื่องครับ เรา จะรู้ได้อย่างไรว่าปัญญานั้นเกิดแล้วแม้จะเพียงบางเรื่อง เพราะได้ยินมาว่าปัญญาต้องเกิดขึ้นเองจิตมันเห็นเอง ไม่ใช่คิด อันนี้สับสนมาก รบกวนชี้แนะด้วย ขอบพระคุณครับ
ตอบลบ
ลบสวัสดีครับ
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com
พระอรหันต์ที่ได้สมาธิขั้นสูงนั้นมีจำนวนไม่มากนะครับ พระอรหันต์ส่วนใหญ่จะเป็นพระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสโก คือเป็นพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้อภิญญา คือเป็นผู้ที่ไม่ได้ทำสมาธิมาก่อน หรือทำสมาธิมาไม่มาก (ไม่ถึงขั้นฌาน) แล้วมาปฏิบัติโดยมุ่งเน้นที่วิปัสสนาเป็นหลัก เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็เป็นสุกขวิปัสสโก
จะมีบางท่านที่ไม่ได้ทำสมาธิมาก่อน แล้วมุ่งปฏิบัติวิปัสสนา แต่พอบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วได้สมาธิขั้นสูง ได้อภิญญาด้วยโดยอัตโนมัติ นั่นเป็นเพราะในอดีตชาติอันใกล้ (ปกติแล้วไม่เกิน 2-3 ชาติ) ท่านได้สมาธิขั้นสูงมาก่อน แม้ในชาติที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ท่านจะไม่ได้ทำสมาธิ แต่เมื่อกิเลสทั้งหลายสิ้นไปแล้ว ด้วยสภาวจิตที่สงบระงับของท่านนั้น สมาธิเดิมที่ยังไม่เลือนหายไป ก็กลับคืนมาได้โดยอัตโนมัติครับ
ดังนั้น อย่าห่วงเรื่องสมาธิเลยครับ สามารถทำสมาธิและวิปัสสนาควบคู่กันไปได้เลย สมาธิตามธรรมชาติก็เพียงพอสำหรับการบรรลุธรรมแล้ว
แน่นอนว่าถ้ามีสมาธิมากเท่าไหร่ จิตก็จะยิ่งเบา ประณีต หมดจด ไม่ซัดส่าย เข้าถึงธรรมได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าต้องเสียเวลาทำสมาธิขั้นสูงให้ได้ก่อน แล้วถึงจะทำวิปัสสนา ก็ไม่รู้ว่าชาตินี้จะมีโอกาสได้ทำวิปัสสนาหรือเปล่านะครับ
การทำทั้งสมาธิและวิปัสสนาควบคู่กัน นอกจากจะทำให้ทำวิปัสสนาได้ทันทีแล้ว สมาธิและวิปัสสนาจะเกื้อหนุนกันและกันด้วยครับ คือผลของวิปัสสนา (ความเบาบางลงของกิเลส ความเบาบางลงของการยึดมั่นถือมั่น) ก็จะทำให้นิวรณ์เกิดน้อยลง สมาธิจึงเกิดง่ายขึ้น ผลของสมาธิ (ความที่จิตตั้งมั่น ประณีต ไม่ซัดส่าย) ก็จะทำให้เข้าถึงธรรมได้ง่ายขึ้น วิปัสสนาปัญญาจึงเกิดได้ง่ายขึ้น
วิปัสสนาปัญญานั้น ไม่ใช่ความจำ ไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่การวิเคราะห์ ไม่ใช่การพิจารณาครับ แต่เป็นความรู้แจ้งในสภาวะธรรมด้วยใจ ด้วยความรู้สึกของเราเอง
ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาอธิบายให้เราฟังถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง ว่ามีลักษณะอย่างนั้น มีรสอย่างนี้ หาได้จากที่นั้น ฯลฯ เมื่อเราได้ฟังแล้วจำได้นั่นคือความจำของเรา เมื่อเราคิด พิจารณา แล้วจินตนาการถึงผลไม้นั้นได้ นั่นคือความคิด การวิเคราะห์ และการพิจารณาของเรา แต่นั่นไม่ใช่ปัญญาของเราตามความหมายในทางธรรมครับ
ลบครั้นเมื่อเราแสวงหาผลไม้นั้นจนเจอ และได้ลิ้มรสผลไม้นั้นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า อ๋อ ผลไม้ชนิดนี้เป็นอย่างนี้นี่เอง เราย่อมรู้แจ้งด้วยใจเราเองว่า ผลไม้นั้นมีลักษณะอย่างไร มีรสอย่างไร ความรู้แจ้งด้วยใจนี้เปรียบได้กับวิปัสสนาปัญญาครับ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความจำ ไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่การวิเคราะห์ ไม่ใช่การพิจารณา แต่เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยจิตด้วยใจของเราเอง โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อผู้อื่นอีกต่อไป
การพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาความตาย เป็นบาทฐานให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้ครับ เป็นการทำให้จิตเราน้อมไปถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา เปรียบเหมือนกับการพิจารณาเรื่องผลไม้ ที่มีคนเล่าให้ฟัง ในตัวอย่างข้างบน แต่วิปัสสนาปัญญาจะเกิด เมื่อเรารู้สึกด้วยใจของเราขึ้นมาว่า อ้อ สิ่งต่างๆ ไม่เที่ยงจริงๆ หรือ สิ่งต่างๆ เป็นทุกข์จริงๆ หรือ สิ่งต่างๆ เป็นอนัตตาจริงๆ ยึดมั่นถือมั่นอะไรไม่ได้จริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความจำ ไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่การพิจารณา แต่เป็นความรู้สึกที่ประจักษ์แจ้งในใจของเราจริงๆ ครับ
ทางตรงของการเจริญวิปัสสนา ก็คือทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน อานาปานสติสูตร
และใน มหาสติปัฏฐานสูตร นะครับ
สรุปง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำสมาธิ กินข้าว ฯลฯ ก็ให้มีสติรู้ตัว คอยสังเกตสภาวะของร่างกาย ลมหายใจ หรือสภาวะของจิตใจขณะนั้นอยู่เสมอ เพื่อศึกษาธรรมชาติของชีวิตไปเรื่อยๆ ว่าสิ่งต่างๆ นั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาได้หรือไม่ เป็นไปตามที่ปรารถนาหรือไม่ (เป็นอัตตาหรืออนัตตา) เมื่อสะสมการสังเกตไปเรื่อยๆ จนมากพอแล้ว จะเกิดความประจักษ์แจ้งในใจขึ้นมาเองครับ ว่าสิ่งต่างๆ นั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นอัตตาหรืออนัตตา ยึดมั่นอะไรได้หรือไม่ นั่นคือวิปัสสนาปัญญาได้เกิดขึ้นแล้วครับ เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยใจจริงๆ โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อผู้อื่นอีกต่อไป
เหมือนมีบางคนมาบอกว่าเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนดี แต่ก็มีบางคนบอกว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนไม่ดี ทางที่เราจะรู้ว่าเพื่อนคนนี้เป็นอย่างไรกันแน่ ก็คือการคอยสังเกตพฤติกรรมของเขาไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจของเราเองว่า เพื่อนคนนี้เป็นคนอย่างไรกันแน่ โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อคนอื่นอีกต่อไป นั่นคือปัญญาได้เกิดขึ้นแล้วครับ
ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ
ธัมมโชติ
ขอบพระคุณมากครับ คำตอบของท่านธัมมโชติให้ความสว่างแก่ปัญญาของผมได้มากจริงๆ ขอให้เจริญในธรรมยิ่งขึ้นไปเช่นกันครับ
ตอบลบ