Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

สุญญตาแนวเถรวาท

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นพระสูตรจากพระไตรปิฎกที่แสดงเรื่องสุญญตาในแนวทางแบบเถรวาทนะครับ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทางฝ่ายเถรวาทจะเน้นที่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นหลัก ในขณะที่ทางมหายานโดยเฉพาะในสายศูนยตวาทิน เช่นนิกายมาธยมิกจะเน้นเรื่องสุญญตาเป็นหลักนะครับ

ในพระไตรปิฎกฉบับที่นำมาลงนี้เป็นพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งใช้คำว่า "ว่างเปล่า" หรือ "ว่าง" เป็นคำแปลแทนคำว่า "สูญ" นะครับ ในขณะที่พระไตรปิฎกบางฉบับจะใช้คำว่า "สูญ" ตรงๆ เลยครับ

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๖

ว่าด้วยอิทัปปัจจยตา

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย กายนี้มิใช่ของพวกเธอ ทั้งมิใช่ของคนอื่น ภิกษุทั้งหลาย กายนี้กรรมเก่าควบคุมไว้ จิตประมวลไว้ พึงเห็นว่าเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมนสิการปฏิจจสมุปบาทอย่างดี โดยแยบคายในกายนั้นว่า “เพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมีเพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงมี... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้นมีได้ด้วยประการอย่างนี้

เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการอย่างนี้” รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่นย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า (พระไตรปิฎกบางฉบับแปลว่าท่านจงมีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ นะครับ - ธัมมโชติ) เป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงถอนความตามเห็นว่ามีตัวตนเสีย เป็นผู้ข้ามมัจจุราช (ความตาย - ธัมมโชติ) เสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลพิจารณาโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น (คือเมื่อเห็นว่าโลกว่างเปล่าจากตัวตน หรือของๆ ตน ก็ย่อมพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง จึงพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปได้ เพราะไม่มีกิเลสคอยดึงจิตให้ต้องเกิดอีก ดูเรื่องปฏิจจสมุปบาท ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ)

รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดอย่างนี้บ้าง

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสียเถิด สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นแลจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสียเถิด รูปที่พวกเธอละได้แล้วนั้นแลจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณที่พวกเธอละได้แล้วนั้นแล จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน

ภิกษุทั้งหลายพวกเธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คนพึงเอาหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันวิหารนี้ไปเผา หรือจัดการไปตามรูปเรื่อง พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้บ้างไหมว่า “คนย่อมเอาพวกเราไปเผาหรือจัดการไปตามรูปเรื่อง”

ความดำริเช่นนั้นไม่มีเลย พระเจ้าข้า
ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร
เพราะนั่นมิใช่ตน หรือของเนื่องด้วยตนของพวกข้าพระองค์เลย พระเจ้าข้า

อย่างเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสียเถิด รูปที่พวกเธอละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณที่พวกเธอละได้แล้วจักมีเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง สมจริงดังภาษิตนี้ว่า

คามณี ภัยย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มองเห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมล้วนๆ และความสืบต่อแห่งสังขารล้วน ๆ ตามเป็นจริง เมื่อใดบุคคลมองเห็นขันธโลกว่าเสมอด้วยหญ้าและท่อนไม้ ด้วยปัญญา เมื่อนั้น เขาย่อมไม่ปรารถนาอะไรอื่น นอกจากความไม่ปฏิสนธิ
รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
อย่างนี้บ้าง
...............

ว่าด้วยโลกว่าง

ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ตรัสว่าโลกว่าง โลกว่าง” ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุแค่ไหนหนอแล จึงตรัสว่า “โลกว่าง” (พระไตรปิฎกบางฉบับแปลว่าพระองค์ตรัสว่าโลกสูญ โลกสูญ ดังนี้ ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล พระองค์จึงตรัสว่าโลกสูญ โลกสูญ นะครับ - ธัมมโชติ)

อานนท์ เพราะโลกว่างจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า “โลกว่าง” (พระไตรปิฎกบางฉบับแปลว่าดูกรอานนท์ เพราะสูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่าโลกสูญ นะครับ - ธัมมโชติ) อานนท์ อะไรเล่าที่ว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน อานนท์ ตาว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน รูปว่าง... จักขุวิญญาณว่าง... จักขุสัมผัสว่าง คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่าง... หู... เสียง... จมูก... กลิ่น... ลิ้น... รส... กาย... โผฏฐัพพะ... ใจ... ธรรมารมณ์... มโนวิญญาณ... มโนสัมผัส ก็ว่าง คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน อานนท์ เพราะโลกว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า “โลกว่าง” รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง

คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ในคำว่า ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ

ผู้นั้นละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว จึงไม่พบ ไม่ได้ คือ ไม่สมหวัง ไม่ได้เฉพาะความยึดถือว่าเป็นของเรา รวมความว่า ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือว่าเป็นของเรา

คำว่า ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของๆ เราไม่มี อธิบายว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่แปรผันไปแล้ว หรือ เมื่อสิ่งนั้นแปรผันไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก คือ ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ตาของเราแปรผันไป”... หูของเรา... ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า... “ผู้ร่วมสายโลหิตของเราแปรผันไป” รวมความว่า ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของๆ เราไม่มี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่ากิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความถือว่าเป็นของเราย่อมไม่เศร้าโศกว่าของๆ เราไม่มี

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น