Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๑-๑ หน้า ๑ - ๕๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๑-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑



พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เวรัญชกัณฑ์
เรื่องเวรัญชพราหมณ์

[๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็น
ที่อยู่ของนเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป
เวรัญชพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า ท่านพระสมณโคดม เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่ของนเฬรุยักษ์ เขตเมือง
เวรัญชา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น
มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๑

เชิงอรรถ :
๑ พระพุทธคุณ ทั้ง ๙ บทนี้ แต่ละบทมีอรรถอเนกประการ คือ
๑. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะห่างไกลจากกิเลส, เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส, เพราะหักซี่กำแห่ง
สังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิด, เพราะเป็นผู้ควรรับไทยธรรม, เพราะไม่ทำบาปในที่ลับ
๒. ชื่อว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง
๓. ชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะมีวิชชา ๓ และวิชชา ๘ ดังนี้ วิชชา ๓ คือ :-
(๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (๒) จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติ (ตาย) และอุบัติ (เกิด)
ของสัตว์ (๓) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ วิชชา ๘ คือ (๑) วิปัสสนาญาณ ญาณที่เป็นวิปัสสนา
(๒) มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ (๓) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ (๔) ทิพพโสต หูทิพย์ (๕) เจโตปริยญาณ
รู้จักกำหนดจิตผู้อื่นได้ (๖) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (๗) ทิพพจักขุ ตาทิพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้
อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ
งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง
เวรัญชพราหมณ์กล่าวตำหนิพระผู้มีพระภาค
[๒] ๑ต่อมา เวรัญชพราหมณ์เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันและกัน

เชิงอรรถ :
(= จุตูปปาตญาณ) (๘) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ จรณะ ๑๕ คือ (๑) สีลสัมปทา ความถึง
พร้อมด้วยศีล (๒) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ (๓) โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
บริโภค (๔) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น (๕) มีศรัทธา (๖) มีหิริ (๗) มี
โอตตัปปะ (๘) เป็นพหูสูต (๙) วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร (๑๐) มีสติมั่นคง (๑๑) มีปัญญา (๑๒)ปฐมฌาน
(๑๓) ทุติยฌาน (๑๔) ตติยฌาน (๑๕) จตุตถฌาน
๔. ชื่อว่า เสด็จไปดี เพราะมีการเสด็จไปงาม เพราะเสด็จไปสู่ฐานะที่ดี เพราะเสด็จไปโดยชอบ และ
เพราะตรัสไว้โดยชอบ
๕. ชื่อว่า รู้แจ้งโลก เพราะทรงรู้แจ้งโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึงความดับโลก (ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค) และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก
๖. ชื่อว่า เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะทรงฝึกฝนคนที่ควรฝึกฝน ทั้งเทวดา มนุษย์
อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ด้วยอุบายต่างๆ
๗. ชื่อว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะทรงสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ด้วยประโยชน์
ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ตามสมควรแก่ประโยชน์ที่เทวดาและ
มนุษย์จะพึงได้รับ และเพราะทรงช่วยพาหมู่สัตว์ให้พ้นความกันดารคือความเกิด ดุจสัตถวาหะคือหัวหน้า
กองเกวียนพาบริวารข้ามทางกันดาร
๘. ชื่อว่า เป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เองและทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๙. ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบ
ด้วยภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จ
ประโยชน์ตามต้องการ และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคาย
ตัณหาในภพทั้งสาม (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย
๔ เป็นต้น (ตามนัย วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘, สารตฺถ.ฏีกา. ๑/๒๗๐-๔๐๐)
อนึ่ง พุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกพุทธคุณข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็นผู้ยอดเยี่ยม
(๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๖๕, วิ.อ ๑/๑/๑๑๒-๑๑๓)
๑ องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๑/๑๔๓-๑๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระ
สมณโคดมไม่ยอมไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย
หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง เรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมานั้นจริงทีเดียว การที่ท่านพระโคดม
ทำเช่นนั้นไม่สมควรเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรายังไม่เห็นใครไม่ว่าในโลกไหนๆ
ในบริษัทไหนๆ ที่เราควรจะไหว้ ลุกรับหรือเชื้อเชิญให้นั่ง เพราะว่าตถาคตไหว้ ลุกรับ
หรือเชื้อเชิญผู้ใดให้นั่ง ศีรษะของผู้นั้นจะต้องขาดตกไป”
[๓] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีรส๑”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะตถาคตละรส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๔] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีสมบัติ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะตถาคตละสมบัติคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๕] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม สอนไม่ให้ทำ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอดถึงการไม่ให้ทำบาป
อกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”

เชิงอรรถ :
๑ ข้อที่พราหมณ์ตำหนิพระผู้มีพระภาคว่า เป็นคนไม่มีรส ในที่นี้ หมายถึงเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ
เช่น การกราบไหว้ การต้อนรับ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ละรสได้แล้ว หมายถึงพระองค์ละ
อัสสาทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้แล้ว จึงเป็นคนไม่มีรส คือไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส (วิ.อ. ๑/๓/๑๒๕-๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
[๖] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม สอนให้ทำลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ โมหะ ตลอดถึงให้ทำลายบาปอกุศลธรรมต่างๆ
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๗] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนช่างรังเกียจ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อ
ที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๘] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนช่างกำจัด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ และบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่
เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๙] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนช่างเผาผลาญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตว่า
เป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ พราหมณ์ เราเรียกคนที่ละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่ควร
เผาผลาญ ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า เป็นคนช่างเผาผลาญ ตถาคตละบาปอกุศลธรรมต่างๆ
ที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๑๐] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมด ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ว่า เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด ตถาคตละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้นแล้ว
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่
[๑๑] “พราหมณ์ ไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่กกหรือฟัก
ดีแล้ว ลูกไก่ตัวที่ใช้เล็บหรือจะงอยปากทำลายกระเปาะ๑ ไข่ออกมาได้ก่อน ควร
เรียกมันว่า เป็นตัวพี่ หรือตัวน้อง” “ควรเรียกว่า พี่ เพราะมันแก่กว่าเขา”
“เช่นเดียวกันนั่นแหละพราหมณ์ ในขณะที่หมู่สัตว์ ถูกกระเปาะไข่คืออวิชชา
ห่อหุ้มอยู่ เราได้ทำลายกระเปาะไข่คืออวิชชา ผู้เดียวเท่านั้นสำเร็จอนุตตรสัมมา
สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม จึงเป็นพี่ใหญ่ผู้ประเสริฐที่สุดของโลก
ฌาน ๔
พราหมณ์ เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มี
กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ
ปฐมฌาน
เราสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร
ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
ทุติยฌาน
เพราะวิตก วิจารสงบระงับไปแล้ว เราบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสภายใน มี
ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น๒ ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิเท่านั้นอยู่
ตติยฌาน
เพราะปีติจางคลายไปแล้ว เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนาม
กาย ได้บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

เชิงอรรถ :
๑ กระเปาะ คือ เปลือกไข่ส่วนที่มีสัณฐานนูนกลม คำว่า “กระเปาะ” คือ รูปนูนกลม สิ่งต่างๆ ที่มี
สัณฐานคล้ายคลึงเช่นนั้น เรียกว่า กระเปาะ เช่น กระเปาะไข่ กระเปาะดอกไม้
๒ เจตโส เอโกทิภาวํ ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น คำว่า “เอโกทิ” เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌาน ชื่อว่า
เอโกทิภาวะ เพราะทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดเจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุด
ขึ้น” เพราะสมาธิชื่อเอโกทินี้มีแก่จิตเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ ไม่มีแก่ชีวะ (วิ.อ. ๑/๑๑/๑๔๓-๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

จตุตถฌาน
เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราได้
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่”
วิชชา ๓
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
[๑๒] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น ได้
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒
ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง
๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐,๐๐๐ ชาติบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง หลาย
กัปว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี
อายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น มีชื่อ มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้ เราระลึกชาติ
ก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ ในยามแรกแห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๑ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”
จุตูปปาตญาณ
[๑๓] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุบัติ ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
และไม่งาม เกิดดีและไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เรารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้
เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ
มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตาย
แล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตาม
ความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ ในยามที่ ๒ แห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๒ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”
อาสวักขยญาณ
[๑๔] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๓ ในยามที่ ๓ แห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “พรหมจรรย์” ในที่นี้หมายเอาอริยมรรค คือ พระอรหันต์อยู่ประพฤติอริยมรรคจบแล้ว ส่วน
กัลยาณปุถุชนและพระเสขะ ๗ พวก ยังต้องอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ต่อไป (วิ.อ. ๑/๑๔/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๓ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”
เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
[๑๕] เมื่อตรัสอย่างนี้ เวรัญชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดมเป็นพี่ใหญ่ ผู้ประเสริฐที่สุด ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมี
ตาดีจักเห็นรูป ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต และขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับคำนิมนต์
ของข้าพระองค์ อยู่จำพรรษาที่เมืองเวรัญชาด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับคำนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบ
ว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกขึ้นจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วจากไป๑
เมืองเวรัญชาเกิดข้าวยากหมากแพง
[๑๖] สมัยนั้น เมืองเวรัญชาเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็น
อยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระ
อริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้

เชิงอรรถ :
๑ กระทำประทักษิณ คือ เดินเวียนขวา พราหมณ์เดินประนมมือเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา ๓ รอบ
โดยมีพระผู้มีพระภาคอยู่ทางขวา เสร็จแล้วหันหน้าไปทางพระผู้มีพระภาค เดินถอยหลังจนสุดสายตา คือ
จนมองไม่เห็นพระผู้มีพระภาค คุกเข่าลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วเดินจากไป (วิ.อ. ๑/๑๕/๑๗๖-๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
ต่อมา พวกพ่อค้าม้าชาวเมืองอุตตราบถ มีม้าอยู่ประมาณ ๕๐๐ ตัว เข้าพัก
แรมช่วงฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาตระเตรียมข้าวนึ่ง๑ เพื่อถวายพระภิกษุรูปละ
ประมาณ ๑ ทะนานไว้ที่คอกม้า รุ่งเช้า ภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา บิณฑบาตไม่ได้เลย จึงไปที่คอกม้า รับข้าวนึ่งรูป
ละประมาณ ๑ ทะนาน นำไปตำให้ละเอียดแล้วฉัน ส่วนพระอานนท์บดข้าวนึ่งประมาณ
๑ ทะนานบนหินบดแล้วน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค พระองค์เสวยข้าวนั้น
พุทธประเพณี
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงครก พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่อง
ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัส
ถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัสถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้า
ทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทั้งหลายสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ จะทรงแสดงธรรม
อย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระอานนท์มารับสั่งถามว่า “นั่นเสียง
ครกใช่ไหม อานนท์”
พระอานนท์จึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
“อานนท์ ดีแล้วๆ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะได้เด็ดขาดแล้ว ข้าวสาลีเจือ
ด้วยเนื้อเพื่อนพรหมจารีในภายหลังจะพากันดูหมิ่น”๒

เชิงอรรถ :
๑ ปูลกํ นาม นิตฺถุสํ กตฺวา ฯเปฯ ที่ชื่อว่า ข้าวนึ่ง ได้แก่ ข้าวสารเหนียวที่เอาแกลบออกแล้วนึ่งเก็บไว้ จะ
เรียกว่า ข้าวตาก ก็ได้ พวกพ่อค้านิยมนำติดตัวไปในเวลาเดินทางไปค้าขายยังต่างเมือง เพื่อเป็นอาหารม้า
ในถิ่นที่อาหารม้าหายาก (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๗๙)
๒ ในอนาคต เพื่อนพรหมจารีในภายหลัง เช่นพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จักดูหมิ่นข้าวสุกเจือด้วยเนื้อที่
เขาถวายเพราะความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติของพวกเธอ ซึ่งทำได้ยากที่เมืองเวรัญชา (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๔-๕,
สารตฺถ.ฏีกา ๑/๑๖/๕๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท
[๑๗] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร ท่าน
พระมหาโมคคัลลานะผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“เวลานี้เมืองเวรัญชาเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้
สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาต
ยังชีพได้ พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินใต้มหาปฐพีนี้มีโอชะ มีรสอร่อย เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่
ไม่มีตัวอ่อน ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพลิกแผ่นดิน เพื่อให้ภิกษุ
ทั้งหลายได้ฉันง้วนดิน”
“ในแผ่นดินมีสัตว์อาศัยอยู่ เธอจักทำอย่างไรกับสัตว์เหล่านั้น โมคคัลลานะ”
“ข้าพระพุทธเจ้าจักเนรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นเช่นแผ่นดินใหญ่ ย้ายเหล่า
สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินอยู่ไปรวมกันที่ฝ่ามือนั้น แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งพลิกแผ่นดิน
พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่าเลย โมคคัลลานะ เธออย่าพอใจที่จะพลิกแผ่นดินเลย หมู่สัตว์จะเข้าใจ
ผิดได้”
“ขอประทานพระวโรกาสให้ภิกษุสงฆ์ทุกรูปไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีปเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอจักทำอย่างไรกับภิกษุที่ไม่มีฤทธิ์”
“ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุสงฆ์ทุกรูปไปได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่าเลย โมคคัลลานะ เธออย่าพอใจการที่จะพาภิกษุสงฆ์ทุกรูปไป
บิณฑบาตที่อุตตรกุรุทวีปเลย”
พระสารีบุตรทูลถามถึงเหตุที่ทำให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นานและไม่นาน
[๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด รำพึงขึ้นมาอย่างนี้ว่า
“พรหมจรรย์๑ ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่ไม่นาน ของพระ

เชิงอรรถ :
๑ “พรหมจรรย์” ในที่นี้หมายถึง ศาสนา (วิ.อ. ๑/๑๘/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน” ครั้นเวลาเย็นจึงออกจากที่พักเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง
ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความรำพึง
ขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่ไม่
นาน ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน’ พรหมจรรย์ของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่ไม่นาน ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระ
องค์ไหนดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี
พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภู ดำรงอยู่ไม่นาน พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้า
กกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะ ดำรงอยู่นาน”
[๑๙] “อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี
พระพุทธเจ้าสิขี และพระพุทธเจ้าเวสสภู ดำรงอยู่ไม่นาน พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร พระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภู ทรงผ่อน
คลายที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ๑ ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์จึงมีน้อย
มิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก ไม่มีการแสดงปาติโมกข์ เมื่อหมดพระพุทธเจ้า
และสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลัง ๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติวรรณะ ได้เข้า
มาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์สูญสิ้นไปเร็วพลัน เหมือนดอก
ไม้นานาพรรณกองอยู่บนแผ่นกระดาน ยังไม่ร้อยด้วยด้าย ย่อมถูกลมพัด
กระจัดกระจายไป เพราะเหตุไร เพราะไม่ได้เอาด้ายร้อยไว้ ข้อนี้ฉันใด เมื่อหมด
พระพุทธเจ้าและสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ
วรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์สูญสิ้นไปเร็ว
พลันฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ รวมเรียกว่า “นวังค
สัตถุศาสน์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่ทรงผ่อนคลายที่จะกำหนดจิตของสาวกด้วย
พระทัยแล้วทรงสั่งสอน สารีบุตร เรื่องเคยเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าเวสสภู ทรง
กำหนดจิตภิกษุสงฆ์แล้วทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป ในราวป่าน่าสะพึงกลัว
แห่งหนึ่งว่า “เธอทั้งหลายจงพิจารณาเช่นนี้ อย่าพิจารณาอย่างนั้น จงตั้งใจอย่างนี้
อย่าตั้งใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด” จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ที่พระ
พุทธเจ้าเวสสภูทรงสั่งสอน หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีความถือมั่น สารีบุตร
เพราะราวป่าน่าสะพึงกลัว น่าสยดสยอง จึงมีเรื่องดังนี้ คือ ภิกษุผู้ไม่ปราศจาก
ราคะ เข้าไปราวป่า ส่วนมากเกิดความกลัวขนลุกขนพอง
สารีบุตร นี้คือเหตุปัจจัยที่ทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี พระ
พุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภูดำรงอยู่ไม่นาน”
[๒๐] “อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ
พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้า
กัสสปะ ไม่ทรงผ่อนคลายที่จะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละของพระพุทธเจ้า ๓
พระองค์จึงมีมาก ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก มีการแสดงปาติโมกข์ เมื่อหมด
พระพุทธเจ้าและสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ
วรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นาน
เหมือนดอกไม้นานาพรรณกองอยู่บนแผ่นกระดานเอาด้ายร้อยไว้ ย่อมไม่ถูกลมพัด
กระจัดกระจายไป เพราะเหตุไร เพราะเอาด้ายร้อยไว้ ข้อนี้ฉันใด เมื่อหมดพระพุทธเจ้า
และสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติวรรณะ ได้เข้า
มาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นานฉันนั้น
สารีบุตร นี้คือเหตุปัจจัยที่ทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระ
พุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะ ดำรงอยู่นาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

ทรงปรารภเหตุที่จะบัญญัติสิกขาบท
[๒๑] ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นห่มผ้าเฉวียงบ่าประนมมือไปทาง
พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ที่พระผู้มีพระภาคจะ
ทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่พระสาวกอันจะเป็นเหตุให้
พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้ยืนนาน”
“จงรอไปก่อนเถิดสารีบุตร ตถาคตรู้เวลาในเรื่องที่จะบัญญัติสิกขาบทนั้น
ศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวก ไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ตลอดเวลาที่ยัง
ไม่เกิดอาสวัฏฐานิยธรรม๑ บางอย่างในสงฆ์ เมื่อเกิดอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างใน
สงฆ์ ตถาคตจึงจะบัญญัติสิกขาบท จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัด
ธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่
เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีภิกษุบวชนาน เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีภิกษุบวชนาน และ
มีอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยัง
ไม่เป็นหมู่ใหญ่เพราะแพร่หลาย เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะแพร่หลาย และมี
อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยัง
ไม่เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีลาภสักการะมาก เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีลาภสักการะ
มาก และมีอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตตฺถ อาสวา ติฏฺฐนฺติ เอเตสูติ อาสเวหิ ฐาตพฺพา น โวกฺกมิตพฺพาติ วา อาสวฏฐานียา แปล
สรุปความว่า ธรรมเป็นที่ตั้งอาสวะ ความชั่วต่างๆ เช่น การกล่าวให้ร้ายคนอื่น ความเดือดร้อน และการ
จองจำ (วิ.อ. ๑/๒๑/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่
เป็นหมู่ใหญ่เพราะความเป็นพหูสูต เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะความเป็นพหูสูต
และมีอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร ก็ภิกษุสงฆ์ยังไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ไม่มีสิ่งมัวหมอง บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ดำรงอยู่ในสารคุณ แท้จริงในภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ผู้มีคุณธรรมอย่างต่ำก็ชั้น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๑”
เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์
[๒๒] ต่อมา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
“อานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษา จะไม่จากไป
เรื่องนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย เราจะไปลาเวรัญชพราหมณ์” พระ
อานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร๒ มีพระ
อานนท์ตามเสด็จ เสด็จพระพุทธดำเนินไปถึงนิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึง
แล้วจึงประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ทรงบอกเวรัญชพราหมณ์ผู้มาเฝ้าว่า
“ท่านนิมนต์เราอยู่จำพรรษา เราขอลาท่าน ต้องการจะจาริกไปในชนบท”
เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า “เป็นความจริง ข้าพระพุทธเจ้านิมนต์ท่านพระ
โคดมอยู่จำพรรษา แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ถวายไทยธรรมที่ได้ตั้งใจเอาไว้ สิ่งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิปรายณะ จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า คือ อุปริ มคฺคตฺตยํ อวสฺสํ สมฺปาปโก... ปฏิลทฺธ-
ปฐมมคฺคตฺตา จะบรรลุมรรค ๓ ชั้นสูงขึ้นไปแน่นอน เพราะได้ปฐมมรรค(คือโสดาปัตติมรรค)แล้ว (วิ.อ. ๑/๒๑/
๒๐๓); อุปริมคฺคตฺตยสงฺขาตา สมฺโพธิ สัมโพธิ คือ มรรค ๓ (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค)
ที่สูงขึ้นไป (สารตฺถ.ฏีกา. ๑/๒๑/๕๕๙).
๒ คำว่า “ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร” นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง
มิใช่ว่าพระองค์ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยพระกายส่วนบน คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมายถึงพระองค์
ผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” หมายถึงถือบาตรด้วยมือ ถือจีวร
ด้วยกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓, ม.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, อุทาน.อ. ๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์
มิใช่จะไม่มีและมิใช่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจะไม่เต็มใจถวาย ไตรมาสที่ผ่านมา พระองค์ยัง
มิได้รับไทยธรรมนั้น เพราะผู้ครองเรือนมีกิจมาก มีธุระมาก ขอท่านพระโคดม
พร้อมกับภิกษุสงฆ์จงรับอาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับคำนิมนต์โดยดุษณีภาพ ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์
เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป
เมื่อผ่านราตรีนั้นไป เวรัญชพราหมณ์สั่งให้เตรียมของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีตไว้ในบ้านแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม
ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
[๒๓] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังนิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ประทับนั่งเหนือพระ
พุทธอาสน์พร้อมภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วเวรัญชพราหมณ์ประเคนของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีตด้วยตัวเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึง
ทูลถวายไตรจีวรให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครองรูปละสำรับ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
เสด็จจากไป
พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เมืองเวรัญชาตามพระอัธยาศัยแล้วได้เสด็จพระ
พุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมือง
กัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดำเนินถึงกรุง
พาราณสี ครั้นประทับที่กรุงพาราณสีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปโดยลำดับ
จนถึงกรุงเวสาลี ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขต
กรุงเวสาลีนั้น
เวรัญชภาณวาร จบ


หน้าว่าง

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

๑. ปาราชิกกัณฑ์
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการเสพเมถุนธรรม
สุทินภาณวาร
[๒๔] สมัยนั้น ที่หมู่บ้านกลันทคามไม่ห่างจากกรุงเวสาลี มีบุตรชายเศรษฐี
ชาวกลันทคาม ชื่อสุทิน วันหนึ่ง เขามีธุระบางอย่างจึงเดินทางไปในกรุงเวสาลีกับเพื่อนๆ
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังประทับนั่งแสดงธรรมห้อมล้อมด้วยบริษัทจำนวนมาก
เขาได้เห็นแล้ว มีความคิดว่า “ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะได้ฟังธรรมบ้าง” จึงเข้าไปยัง
บริษัทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงนั้น เราเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะ
ปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริก” ต่อจากนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว บริษัทก็ลุกขึ้น
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
[๒๕] หลังจากบริษัทจากไปไม่นาน สุทินกลันทบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ
ภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร สุทินกลันทบุตรผู้นั่ง ณ ที่
สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ธรรมตามที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’
ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนมา
บวช เป็นอนาคาริก ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณาให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชด้วยเถิด”
“สุทิน มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริกแล้วหรือ”
“ยังมิได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
“สุทิน พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่บวชให้กุลบุตรที่มารดาบิดายังไม่อนุญาต”
“ข้าพระพุทธเจ้า จักหาวิธีให้มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจาก
เรือนมาบวชเป็นอนาคาริก พระพุทธเจ้าข้า”
ขออนุญาตออกบวช
[๒๖] ต่อมา สุทินกลันทบุตรทำธุระในกรุงเวสาลีเสร็จแล้ว กลับไปหา
มารดาบิดาที่กลันทคาม ครั้นถึงแล้วจึงกล่าวกับมารดาบิดาดังนี้ว่า “คุณพ่อคุณแม่
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ลูกเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้วนี้มิใช่ทำได้ง่าย’
ลูกปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนไปบวชเป็น
อนาคาริก คุณพ่อคุณแม่โปรดอนุญาตให้ลูกออกไปบวชเป็นอนาคาริกเถิด”
เมื่อสุทินกลันทบุตรกล่าวอย่างนี้ มารดาบิดาตอบว่า “ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูก
คนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการ
เลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิดหนึ่งลูกก็ยังไม่รู้จัก ถึงลูกจะตายไป พ่อแม่
ก็ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉน พ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือน
ไปบวชเป็นอนาคาริกเล่า”
สุทินกลันทบุตรได้กล่าวกับมารดาบิดาดังนี้เป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓
ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ มารดาบิดาก็ตอบว่า “ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคนเดียว ฯลฯ เหตุไฉน
พ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริกเล่า”
[๒๗] ลำดับนั้น สุทินกลันทบุตรวิตกว่า มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เราบวชแน่
จึงนอนบนพื้นที่ไม่มีเครื่องปูลาด ณ ที่นั้นเอง ตัดสินใจว่า เราจักตาย หรือจักได้บวช
ก็ที่ตรงนี้แหละ และแล้วเขาก็อดอาหารไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ ๑ มื้อ ๒ มื้อ ๓ มื้อ ๔ มื้อ ๕
มื้อ ๖ มื้อ จนถึง ๗ มื้อ
มารดาบิดาไม่อนุญาต
[๒๘] ถึงกระนั้น มารดาบิดาของเขาก็คงยืนยันว่า “ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคน
เดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
เลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิดหนึ่ง ลูกก็ยังไม่รู้จัก ถึงลูกจะตายไป พ่อแม่ก็
ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉนพ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไป
บวชเป็นอนาคาริกได้เล่า ลุกขึ้นเถิด ลูกสุทิน จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงพอใจกิน
ดื่ม รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญเถิด ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็จะไม่อนุญาตให้ลูก
บวชแน่”
เมื่อมารดาบิดากล่าวอย่างนี้ สุทินกลันทบุตรได้นิ่งเฉยเสีย มารดาบิดาได้
ยืนยันกะสุทินกลันทบุตรแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯแม้ครั้งที่ ๓ ว่า “ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคนเดียว
เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ ฯลฯ ลูกสุทิน จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงพอใจกิน ดื่ม
รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญเถิด ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็จะไม่อนุญาตให้ลูกบวชแน่”
สุทินกลันทบุตรก็ได้นิ่งเป็นครั้งที่ ๓
พวกเพื่อนช่วยเจรจา
ต่อมา พวกเพื่อนของสุทินกลันทบุตร พากันเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้
ปลอบใจว่า “สุทินเพื่อนรัก เพื่อนเป็นลูกคนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่
เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิด
หนึ่ง เพื่อนก็ยังไม่รู้จัก ถึงเพื่อนจะตายไป พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉน
พ่อแม่จะยอมให้เพื่อนผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริกได้เล่า ลุกขึ้นเถิด
เพื่อนรัก เพื่อนจงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง พอใจกิน ดื่ม รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญ
เถิด ถึงจะอย่างไร พ่อแม่ก็ไม่อนุญาตให้เพื่อนบวชแน่”
เมื่อพวกเพื่อนกล่าวอย่างนี้ สุทินกลันทบุตรก็ได้แต่นิ่งเฉย พวกเพื่อนได้
ปลอบใจสุทินกลันทบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓ ว่า “สุทินเพื่อนรัก เพื่อน
เป็นลูกคนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ ฯลฯ พ่อแม่ก็ไม่อนุญาตให้เพื่อนบวช
แน่” สุทินกลันทบุตรก็ได้นิ่งเฉยเป็นครั้งที่ ๓
[๒๙] ต่อมา พวกสหายพากันเข้าไปหามารดาบิดาของสุทินกลันทบุตรถึง
ที่อยู่ กล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ครับ สุทินนอนบนพื้นที่ไม่มีเครื่องปูลาดตัดสินใจว่า
เราจักตาย หรือจักได้บวชก็ที่ตรงนี้แหละ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมให้เขาบวช เขาจัก

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
ตาย ณ ที่ตรงนั้นแน่ แต่ถ้ายอมให้เขาออกบวช คุณพ่อคุณแม่ ก็ยังจะได้พบเห็น
เขาแม้บวชแล้ว ถ้าไม่ยินดีจะบวชอยู่ต่อไป เขาจะมีทางไปที่ไหนอื่นเล่า จะต้องกลับ
มาที่นี้แหละ อนุญาตให้เขาบวชเถิดขอรับ” มารดาบิดาของสุทินจึงกล่าวว่า “ลูก
ทั้งหลาย พ่อและแม่อนุญาตให้เขาบวชได้”
สุทินกลันทบุตรออกบวช
ต่อมา พวกเพื่อนพากันเข้าไปหาเขาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับสุทิน
กลันทบุตรดังนี้ว่า “ลุกขึ้นเถิดสุทินเพื่อนรัก มารดาบิดาอนุญาตให้เพื่อนบวชแล้ว”
[๓๐] ทันใดนั้น พอสุทินกลันทบุตรได้ทราบว่า มารดาบิดาอนุญาตให้บวช
ก็ร่าเริงดีใจมาก ลุกขึ้นมาใช้ฝ่ามือเช็ดตัว บำรุงกำลังอยู่ ๒-๓ วัน แล้วไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่
สมควร สุทินกลันทบุตรผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจากเรือนมาบวชเป็นอนาคาริกแล้ว ขอ
พระผู้มีพระภาคได้โปรดบวชให้ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
สุทินกลันทบุตรได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระพุทธเจ้า เมื่อ
บวชได้ไม่นาน ท่านพระสุทินได้ถือธุดงควัตรดังนี้ คือ อยู่ป่าเป็นวัตร ๑ เที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร ๑ ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๑ เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน
เป็นวัตร ๑ พักอาศัยอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง
พระสุทินกลันทบุตรไปเยี่ยมบ้าน
สมัยนั้น แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น
ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาต
ยังชีพได้
ท่านพระสุทินได้มีความคิดดังนี้ว่า บัดนี้ แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง
ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาว
เกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้ แต่ในกรุงเวสาลี เรามีญาติอยู่จำนวน

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
มาก ซึ่งล้วนแต่เป็นครอบครัวมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มี
เครื่องประดับมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก๑ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะไปอาศัย
พวกญาติอยู่ ถึงพวกญาติก็จะอาศัยเราทำบุญถวายทาน ภิกษุทั้งหลายจักมีลาภ
และเราก็ไม่เดือดร้อนเรื่องบิณฑบาต
ครั้งนั้น ท่านพระสุทินจึงเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวรแล้วจาริกไปทางกรุง
เวสาลี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงเวสาลี ทราบว่า ท่านพระสุทินพักอยู่ ณ
กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีนั้น
บรรดาญาติของท่านพอทราบข่าวว่า พระสุทินกลันทบุตรกลับมากรุงเวสาลี
จึงนำอาหาร ๖๐ สำรับไปถวาย ท่านสละอาหารทั้งหมดถวายภิกษุทั้งหลายแล้ว
ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านกลันทคามในตอนเช้า
เที่ยวบิณฑบาตไปในหมู่บ้านกลันทคามตามลำดับเรือน เดินตรงไปทางบ้านโยมบิดา
[๓๑] พอดีขณะนั้น ทาสหญิงของญาติกำลังจะทิ้งขนมกุมมาสค้างคืน ท่าน
บอกทาสหญิงว่า “ถ้าจะทิ้งสิ่งนั้น ก็จงใส่บาตรของอาตมาเถิด” ขณะที่ทาสหญิง
กำลังเกลี่ยขนมกุมมาสค้างคืนลงบาตร นางจำเค้ามือ เท้า และน้ำเสียงของพระสุทิน
ได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาของท่านแล้วกล่าวว่า “คุณนายเจ้าขา โปรดทราบเถิดว่า
พระสุทินบุตรคุณนายกลับมาแล้ว เจ้าค่ะ”
มารดาของพระสุทินกล่าวว่า “ถ้าเธอพูดจริง เราจะปลดปล่อยเธอให้เป็นไท”
[๓๒] ขณะที่ท่านพระสุทินกำลังนั่งพิงฝาเรือนแห่งหนึ่งฉันขนมกุมมาสค้าง
คืนอยู่ พอดีโยมบิดาของท่านเดินกลับจากทำงาน ได้เห็นท่านกำลังนั่งฉันขนมกุม
มาสค้างคืนอยู่ ครั้นเห็นแล้วจึงตรงเข้าไปหาถึงที่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับท่านพระ
สุทินดังนี้ว่า “อะไรกันลูกสุทิน ลูกฉันขนมกุมมาสค้างคืนหรือ ลูกควรไปบ้านของลูก
มิใช่หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ โคธนาทีนญฺจ สตฺตวิธธญฺญานญฺจ ปหูตตาย ปหูตธนธญฺญา มีทรัพย์คือโคเป็นต้น และมีข้าวเจ็ด
ชนิดมาก (สํ.อ. ๑/๑๑๔/๑๓๑), มีทรัพย์คือรัตนะ ๗ และข้าวเปลือกอันสงเคราะห์ด้วยบุพพัณชาติและ
อปรัณชาติมาก (สารตฺถ.ฏีกา ๒/๓๐/๘), ดูข้อ ๑๐๔ หน้า ๘๗
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
ท่านพระสุทินตอบว่า “อาตมาไปที่บ้านของโยมมาแล้ว ขนมกุมมาสค้างคืน
นี้ก็ได้มาจากที่บ้านนั้น”
ทันใดนั้น บิดาจับแขนท่านพระสุทินกล่าวว่า “มาเถิดลูกสุทินไปบ้านด้วยกัน”
ท่านพระสุทินจึงเดินตรงไปบ้านของโยมบิดา ครั้นถึงแล้ว ได้นั่งบนอาสนะที่
เขาจัดถวาย
บิดาของท่านสุทินกล่าวว่า “นิมนต์ท่านฉันเถิด”
“ไม่ละโยม วันนี้อาตมาฉันอิ่มแล้ว”
“ขอนิมนต์รับฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้เถิด”
ท่านพระสุทินรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ แล้วก็ลุกจากอาสนะหลีกไป
บิดาวิงวอนให้ลาสิกขา
[๓๓] ในคืนนั้น มารดาของพระสุทินสั่งให้เอามูลโคสดมาฉาบทาพื้นดินแล้ว
แบ่งทรัพย์ออกเป็น ๒ กอง คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง เป็นกองใหญ่เท่าๆ กัน
สูงท่วมศีรษะ คนยืนอยู่ข้างนี้จะมองไม่เห็นคนยืนอยู่ข้างโน้น คนยืนอยู่ข้างโน้นจะ
มองไม่เห็นคนยืนอยู่ข้างนี้ ใช้เสื่อลำแพนปิดกองทรัพย์ไว้ ตรงกลางจัดอาสนะใช้ม่าน
ล้อมเป็นวงเสร็จแล้วเรียกอดีตภรรยาของท่านพระสุทินมาสั่งว่า “ลูกหญิง เธอจง
แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ลูกสุทินเคยรักใคร่ชอบใจ” ลูกสะใภ้รับคำสั่งแม่ผัวแล้ว
[๓๔] พอรุ่งเช้า ท่านพระสุทินครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปถึง
เรือนโยมบิดา ครั้นถึงแล้ว ได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น โยมบิดาของท่านเข้าไปหาแล้วให้คนเปิดกองทรัพย์ออก กล่าวว่า
“ลูกสุทิน นี่คือทรัพย์ฝ่ายมารดาเป็นสมบัติฝ่ายหญิงที่ได้รับมาทางฝ่ายมารดา ของ
พ่อมีอีกต่างหาก ส่วนของปู่อีกต่างหาก ลูกสุทินจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้ใช้
สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ”
ท่านพระสุทินตอบว่า “โยม อาตมาไม่อาจไม่สามารถ อาตมายังพอใจ
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่”
โยมบิดาของพระสุทินวิงวอนเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓ ว่า “ลูกสุทิน นี่
คือทรัพย์ฝ่ายมารดาเป็นสมบัติฝ่ายหญิงที่ได้รับมาทางฝ่ายมารดา ของพ่อมีอีกต่าง

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
หาก ส่วนของปู่อีกต่างหาก ลูกสุทินจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้ใช้สอยทรัพย์
สมบัติและทำบุญ”
ท่านพระสุทินตอบว่า “อาตมาขอพูดบ้าง ถ้าโยมไม่ขัดข้อง”
บิดาของท่านตอบว่า “นิมนต์พูดเถิด ลูกสุทิน”
ท่านพระสุทินกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น โยมพ่อจงสั่งให้ทำกระสอบป่านใบใหญ่ๆ
บรรจุเงินทองให้เต็ม บรรทุกเกวียนไปแล้วโยนลงกลางแม่น้ำคงคา เพราะอะไร
เพราะโยมพ่อจะไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่ต้องขนพองสยองเกล้า ไม่ต้องมี
การดูแลรักษาซึ่งมีสาเหตุมาจากทรัพย์นั้นเลย”
เมื่อท่านพระสุทินกล่าวอย่างนี้ โยมบิดาของท่านเสียใจด้วยคิดว่า ลูกสุทิน
กล่าวอย่างนี้ได้อย่างไร
[๓๕] ต่อมา บิดาของพระสุทินเรียกอดีตภรรยาของท่านมาสั่งว่า “ลูกหญิง
เจ้าเป็นที่รักใคร่พอใจ บางทีลูกสุทินจะเชื่อเจ้าบ้าง”
ทันใดนั้น นางจึงจับเท้าทั้ง ๒ ของพระสุทินพลางถามว่า “หลวงพี่ นางอัปสร
พวกไหนเล่าผู้เป็นต้นเหตุให้หลวงพี่ประพฤติพรหมจรรย์”
ท่านพระสุทินตอบว่า “น้องหญิง อาตมาไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะ
นางอัปสรเป็นเหตุ” นางเสียใจด้วยคิดว่า วันนี้ เป็นวันแรกที่หลวงพี่สุทินเรียกเราว่า
‘น้องหญิง’ จึงล้มสลบลงตรงนั้นเอง
ท่านพระสุทินบอกโยมบิดาว่า “โยมพ่อ ถ้าโยมจะถวายโภชนะก็จงถวาย
อย่าทำให้อาตมาลำบากใจเลย” บิดาของท่านจึงนิมนต์ให้ฉัน จากนั้นมารดาบิดา
ของท่านประเคนของเคี้ยวของฉันอันประณีต จนกระทั่งอิ่มหนำ จากนั้นมารดาบอก
พระสุทินผู้ฉันเสร็จว่า “ลูกสุทิน ตระกูลเรานี้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมี
ทองมาก มีเครื่องประดับมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ท่านควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์
จะได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ มาเถิดลูกสุทิน กลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้
ใช้สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ”
ท่านพระสุทินตอบว่า “โยมแม่ อาตมาไม่อาจไม่สามารถ อาตมายังพอใจ
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
มารดาพระสุทินวิงวอนแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ นางกล่าวว่า “ลูกสุทิน
ตระกูลเรานี้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มีเครื่องประดับมาก มี
ทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกจงให้ผู้สืบเชื้อสายไว้ เจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบมรดกของ
เราที่ขาดผู้สืบสกุล”
“คุณโยม เรื่องนี้อาตมาพอจะทำได้”
“เวลานี้ ลูกพักอยู่ที่ไหน”
“อาตมาพักอยู่ที่ป่ามหาวัน” พระสุทินตอบแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป
พระสุทินเสพเมถุนธรรม
[๓๖] หลังจากนั้น มารดาของท่านพระสุทินเรียกอดีตภรรยาพระสุทินมาสั่ง
ว่า ลูกหญิง เมื่อถึงเวลาที่เจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เจ้าต้องบอกแม่”
นางรับคำ ต่อมาเมื่อนางมีระดู ต่อมโลหิตเกิดขึ้นจึงบอกแม่ผัวว่า “ดิฉันมีระดู
ต่อมโลหิตเกิดแล้ว”
มารดากล่าวว่า “ลูกหญิง ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ลูกสุทิน
เคยรักใคร่ชอบใจเถิด” นางก็ปฏิบัติตามคำของแม่ผัว
ต่อมา มารดาพาสะใภ้ไปหาท่านพระสุทินที่ป่ามหาวัน กล่าวว่า “ลูกสุทิน
ตระกูลเรามั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มีเครื่องประดับมาก มี
ทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติและ
ทำบุญ”
พระสุทินตอบว่า “อาตมาไม่อาจ ไม่สามารถ อาตมายังพอใจประพฤติ
พรหมจรรย์อยู่”
มารดาพระสุทินวิงวอนเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ นางกล่าวว่า “ลูก
สุทิน ตระกูลเรานี้มั่งคั่ง ฯลฯ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกจงให้ผู้สืบเชื้อสายไว้
เจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบมรดกของเราที่ขาดผู้สืบสกุล”
พระสุทินตอบว่า “โยม เรื่องนี้อาตมาพอจะทำได้” แล้วจับแขนอดีตภรรยา
พาเข้าป่ามหาวัน เพราะยังมิได้บัญญัติสิกขาบท จึงเห็นว่าไม่มีโทษ ได้เสพเมถุน
ธรรมกับอดีตภรรยา ถึง ๓ ครั้ง นางตั้งครรภ์เพราะเหตุนี้

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

ทวยเทพกระจายข่าว
ทวยเทพชั้นภุมมะ กระจายข่าวว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ไม่เคยมีเสนียดไม่
เคยมีโทษ พระสุทินกลันทบุตร ก่อเสนียด ก่อโทษขึ้นแล้ว
ทวยเทพชั้นจาตุมมหาราชสดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจาย
ข่าวต่อไป ฯลฯ ทวยเทพชั้นดาวดึงษ์ ฯลฯ ทวยเทพชั้นยามา ฯลฯ ทวยเทพชั้นดุสิต
ฯลฯ ทวยเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ ทวยเทพที่
นับเนื่องในหมู่พรหมสดับเสียงแล้วก็กระจายข่าวกันต่อไปว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์
ไม่เคยมีเสนียด ไม่เคยมีโทษ พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียด ก่อโทษขึ้นแล้ว
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วย
ประการฉะนี้
ต่อมา อดีตภรรยาของพระสุทินครรภ์แก่จึงคลอดบุตร พวกเพื่อนของ
พระสุทินตั้งชื่อเด็กคนนั้นว่า เด็กชายพีชกะ๑ เรียกอดีตภรรยาของพระสุทินว่า
พีชกมารดา เรียกพระสุทินว่าพีชกบิดา ต่อมาทั้งมารดาทั้งบุตรได้ออกจากเรือนไป
บวชเป็นอนาคาริก ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
พระสุทินเกิดความเดือดร้อนใจ
[๓๗] ต่อมา พระสุทินเกิดความกลุ้มใจเดือดร้อนใจว่า “ไม่ใช่ลาภของเรา
หนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ ถึงจะเข้ามาบวชใน
พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต” เพราะความกลุ้มใจ เดือดร้อนใจนั้น ท่านจึงซูบผอม
หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง มีเรื่องในใจ ใจหดหู่ เป็นทุกข์ เสียใจ
เดือดร้อนใจ เศร้าซึม

เชิงอรรถ :
๑ พีชกะ หมายถึง ผู้สืบเชื้อสาย ที่ตั้งชื่อให้ว่า “พีชกะ” เพราะย่าได้เคยกล่าวว่า “พีชกํปิ เทหิ จงให้ผู้สืบ
เชื้อสาย” (วิ.อ. ๑/๓๖/๒๒๔).
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
[๓๘] ฝ่ายภิกษุผู้เป็นเพื่อนของพระสุทิน กล่าวกับท่านสุทินว่า “ท่านสุทิน
เมื่อก่อนท่านมีผิวพรรณเปล่งปลั่งกระชุ่มกระชวย หน้าตาสดใส มีน้ำมีนวล แต่บัดนี้
ดูท่านซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง มีเรื่องในใจ ใจหดหู่ เป็นทุกข์
เสียใจ เดือดร้อนใจ เศร้าซึม ท่านไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์กระมัง”
พระสุทินตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ความจริงไม่ใช่กระผมจะไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ กระผมมีบาปกรรมที่ทำไว้ คือ ได้เสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา
กระผมจึงเกิดความกลุ้มใจเดือดร้อนใจว่า มิใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ
เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีหนอ ถึงจะเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
ตลอดชีวิต”
ภิกษุผู้เป็นเพื่อนกล่าวว่า “จริงทีเดียวท่านสุทิน การที่ท่านเข้ามาบวชในพระ
ธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วแต่ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ให้
บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต ก็พอที่จะทำให้กลุ้มใจ เดือดร้อนใจได้ พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงธรรมไว้โดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อความกำหนัด
เพื่อความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่เพื่อความถือมั่น
มิใช่หรือ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อคลายความกำหนัด ท่านก็ยังจะ
คิดเพื่อความกำหนัด ทรงแสดงธรรมเพื่อความพราก ท่านก็ยังจะคิดเพื่อความประกอบ
ไว้ ทรงแสดงธรรมเพื่อความไม่ถือมั่น ท่านก็ยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับ
ความกระหาย เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลาย
ความกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกการละ
กาม การกำหนดรู้ความสำคัญในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอน
ความตรึกในกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ
การกระทำของท่านนั้น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใส
อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
[๓๙] ครั้นภิกษุผู้เป็นเพื่อนเหล่านั้นตำหนิพระสุทินโดยประการต่าง ๆ แล้ว
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระสุทินว่า “สุทิน ทราบว่า เธอเสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา
จริงหรือ” พระสุทินทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่
คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย เธอบวชในธรรม
วินัยที่เรากล่าวดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
ตลอดชีวิตเล่า เราแสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อ
ความกำหนัด เพื่อความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่
เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อคลายความกำหนัด เธอก็ยังจะคิด
เพื่อความกำหนัด เราแสดงธรรมเพื่อความพราก เธอก็ยังจะคิดเพื่อความประกอบไว้
เราแสดงธรรมเพื่อความไม่ถือมั่น เธอก็ยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น เราแสดงธรรม
โดยประการต่าง ๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับความกระหาย
เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด
เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ เราบอกการละกาม การกำหนดรู้ความสำคัญ
ในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกในกาม การระงับ
ความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ
โมฆบุรุษ เธอสอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้า
องค์กำเนิดสตรี สอดองคชาตเข้าปากงูเห่าเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิด
สตรี สอดองคชาตเข้าหลุมถ่านไฟเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดสตรี
เพราะอะไรเล่า เพราะผู้สอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเป็นต้น พึงถึงความตาย
หรือทุกข์ปางตายเพราะการกระทำนั้นเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วก็ไม่ต้องไปบังเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนผู้สอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดสตรี หลังจากตาย
แล้วต้องไปบังเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
โมฆบุรุษ ในการที่เธอเสพอสัทธรรม ซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาท
ของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ ต้องทำกัน
สอง ต่อสองนี้มีโทษมาก เธอเป็นคนแรกที่ก่ออกุศลธรรมก่อนใครๆ การทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น
ได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
บางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระสุทินโดยประการต่าง ๆ แล้ว ได้ตรัสโทษ
แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความ
เกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ ความ
ขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร
โดยประการต่าง ๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้น แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดย
อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
๖. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระบัญญัติ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก๒ หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
สุทินภาณวาร จบ
เรื่องลิงตัวเมีย
[๔๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งให้อาหารเลี้ยงลิงตัวเมียในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี
แล้วเสพเมถุนธรรมกับนางลิงนั้น ครั้นเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ต่อมาภิกษุหลายรูปจาริกไปตามเสนาสนะ เดินผ่าน
ไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น นางลิงเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกลจึงตรงเข้าไปหา
แล้วส่ายสะเอว แกว่งหาง โก่งตะโพกขึ้น ทำท่าทางต่างๆ ต่อหน้าภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันสันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นคงจะเสพเมถุนธรรมกับนางลิงตัว
นี้แน่ แล้วแอบอยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่งจนกระทั่งภิกษุเจ้าถิ่นเที่ยวบิณฑบาตในกรุง
เวสาลี แล้วถืออาหารบิณฑบาตกลับมา

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๑,๒ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือสงฆ์
ข้อ ๓,๔ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล
ข้อ ๕,๖ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต
ข้อ ๗,๘ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
ข้อ ๙,๑๐ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา
ข้อ ๑๐ คำว่า “เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย” หมายถึง เพื่อเชิดชู ค้ำจุน ประคับประคองพระวินัย ๔ อย่าง คือ
สังวรวินัย ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๖-๒๓๗)
๒ เป็นผู้พ่ายแพ้ ถึงความพ่ายแพ้ คือ เป็นผู้เคลื่อน พลัดตก เหินห่างจากพระสัทธรรม (สารตฺถ.ฏีกา. ๒/
๕๕/๑๐๓-๑๐๔), ปาราชิกศัพท์นั้น หมายถึงตัวสิกขาบท หมายถึงตัวอาบัติ หมายถึงบุคคล ในที่นี้หมายถึง
บุคคล (วิ.อ. ๑/๕๕/๒๗๗).
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระบัญญัติ
[๔๑] ขณะนั้น นางลิงได้เข้าไปหาภิกษุเจ้าถิ่นนั้น ครั้นภิกษุเจ้าถิ่นฉัน
บิณฑบาตนั้นส่วนหนึ่งแล้ว ได้แบ่งอีกส่วนหนึ่งให้แก่นางลิง เมื่อมันกินอาหารแล้วได้
โก่งตะโพกให้ ภิกษุเจ้าถิ่นจึงเสพเมถุนธรรมกับมัน
ทันใดนั้น ภิกษุเหล่านั้นออกจากที่ซ่อน กล่าวกับภิกษุเจ้าถิ่นว่า “ท่าน พระผู้
มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไร ท่านจึงเสพเมถุนธรรมกับนาง
ลิงนี้เล่า”
ท่านกล่าวแย้งว่า “จริงท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้น ใช้เฉพาะหญิงมนุษย์ ไม่ใช้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “พระบัญญัตินั้นใช้ได้เหมือนกันทั้งในหญิงมนุษย์และ
ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมิใช่หรือ การกระทำของท่านไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม
ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ท่านบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอด
ชีวิตเล่า พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด
มิใช่เพื่อความกำหนัด ฯลฯ ตรัสบอกการระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดย
ประการต่างๆ มิใช่หรือ การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่
เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่างๆ แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติอนุบัญญัติ
[๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอเสพเมถุนธรรมกับนางลิง จริงหรือ”
เธอ ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของ
สมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิตเล่า เราแสดงธรรมโดยประการ
ต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด ฯลฯ เราบอกการระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้
โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระอนุบัญญัติ
โมฆบุรุษ เธอสอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้า
องค์กำเนิดนางลิง สอดองคชาตเข้าปากงูเห่าเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิด
นางลิง สอดองคชาตเข้าหลุมถ่านไฟเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดนางลิง
เพราะอะไรเล่า เพราะผู้สอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเป็นต้น พึงถึงความตาย
หรือทุกข์ปางตายเพราะการกระทำนั้นเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วก็ไม่ต้องไปบังเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนผู้สอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดนางลิง หลังจาก
ตายแล้วต้องไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
โมฆบุรุษ ในการที่เธอเสพอสัทธรรมซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาท
ของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ ต้องทำกัน
สองต่อสองนี้มีโทษมาก
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่
เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุ
นั้นเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องลิงตัวเมีย จบ

สันถตภาณวาร
เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร
[๔๓] สมัยนั้น พวกภิกษุวัชชีบุตรชาวกรุงเวสาลีหลายรูปฉันอาหาร จำวัด
และสรงน้ำพอแก่ความต้องการ มนสิการโดยไม่แยบคาย ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิด
เผยความท้อแท้ พากันเสพเมถุนธรรม

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระอนุบัญญัติ
ต่อมา พวกเธอถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคะและโรคกลุ้มรุม จึง
เข้าไปหาท่านพระอานนท์เรียนว่า “ท่านพระอานนท์ พวกกระผมไม่ติเตียนพระพุทธ
ไม่ติเตียนพระธรรม ไม่ติเตียนพระสงฆ์ พวกกระผมติเตียนตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่น
พวกกระผมไม่มีวาสนา มีบุญน้อย บวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดี
แล้ว ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต บัดนี้ ถ้า
พวกกระผมได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคอีก พวกกระผมพึงเห็น
แจ้งกุศลธรรม หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรมตั้งแต่หัวค่ำจน
รุ่งสาง พวกกระผมขอโอกาส ท่านพระอานนท์ ได้โปรดกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มี
พระภาคเถิด”
พระอานนท์รับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่ตถาคตจะถอน
ปาราชิกสิกขาบทที่บัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพราะพวกวัชชีหรือวัชชีบุตรเป็นเหตุ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเป็นภิกษุ ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผย
ความท้อแท้ เสพเมถุนธรรมทั้งที่ยังเป็นภิกษุ ผู้นั้นมาแล้ว สงฆ์ไม่พึงให้อุปสมบท
แต่ผู้ใดเป็นภิกษุ บอกคืนสิกขา เปิดเผยความท้อแท้ แล้วเสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมา
แล้ว สงฆ์พึงให้อุปสมบท” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๔๔] อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ไม่
บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้ เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้กับสัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร จบ

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์

สิกขาบทวิภังค์
[๔๕] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด มีการงาน มีชาติวรรณะ มีชื่อ มี
ตระกูล มีลักษณนิสัย มีคุณธรรมมีอารมณ์อย่างไร เป็นเถระ นวกะหรือมัชฌิมะ๑ นี้
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อาศัยการเที่ยวขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะใช้ผืนผ้าที่ถูกทำให้เสียราคา๒ ชื่อว่า ภิกษุ
เพราะเรียกกันโดยโวหาร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะการปฏิญญาตน ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า
ภิกษุ เพราะเป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้มีสาระ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ยัง
ต้องศึกษา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ไม่ต้องศึกษา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ที่สงฆ์
พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง สมควรแก่เหตุ ในภิกษุที่
กล่าวมานั้น ภิกษุผู้ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง
สมควรแก่เหตุนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า สิกขา ได้แก่ สิกขา ๓ อย่าง คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และ
อธิปัญญาสิกขา ในสิกขา ๓ นั้น อธิสีลสิกขานี้ที่ทรงประสงค์เอาในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สาชีพ หมายถึง สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ ภิกษุ
ศึกษาสาชีพนั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยสาชีพ
คำว่า ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้ มีพุทธาธิบายว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการบอกคืนสิกขาก็มี การเปิดเผยความ
ท้อแท้ และเป็นการบอกคืนสิกขาก็มี

เชิงอรรถ :
๑ เถระ พระผู้ใหญ่ ตามวินัยกำหนดว่ามีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป นวกะ ภิกษุผู้มีพรรษายังไม่ครบ ๕
มัชฌิมะ ภิกษุผู้มีพรรษาครบ ๕ แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา(วิ.อ. ๑/๔๕/๒๕๓)
๒ เสียราคา เพราะทำให้เสียสี ๑ เพราะใช้ศัตราตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ๑ เพราะทำให้เป็นตำหนิด้วยการ
ทำพินทุกัปปะ ๑ (วิ.อ. ๑/๔๕/๒๕๓-๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

บทภาชนีย์
ลักษณะที่ไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุทั้งหลาย อย่างไร ชื่อว่าการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการบอกคืน
สิกขา
๑. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำรำพึง ๑๔ บท
(๑) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก
อึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ปรารถนาจะเป็นอุบาสก
ปรารถนาจะเป็นคนวัด ปรารถนาจะเป็นสามเณร ปรารถนาจะเป็นเดียรถีย์ ปรารถนา
จะเป็นสาวกเดียรถีย์ ปรารถนาจะไม่เป็นสมณะ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อสายพระ
ศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า “ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า”
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา
(๒) อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัย กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก
อึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่
เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระธรรม
(๓) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระสงฆ์ (๔) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนสิกขา (๕) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึง
บอกคืนพระวินัย (๖) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระปาติโมกข์
(๗) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนอุทเทส๑ (๘) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระอุปัชฌาย์ (๙) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ
ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระอาจารย์ (๑๐) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอก
คืนสัทธิวิหาริก (๑๑) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนอันเตวาสิก

เชิงอรรถ :
๑ อุทเทส ในที่นี้ คือ การยกภิกขุปาติโมกข์ ภิกขุนีปาติโมกข์ขึ้นสวด (วิ.อ. ๑/๕๓/๒๖๙)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
(๑๒) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์
(๑๓)... บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนภิกษุผู้ร่วมอาจารย์
(๑๔)... บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่งานี้ ก็ชื่อว่า เป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่
เป็นการบอกคืนสิกขา
๒. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำรำพึงกำหนดภาวะ ๘ บท
(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด เบื่อหน่าย
รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อสายพระ
ศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์ (๒) ...พึงเป็นอุบาสก
(๓) ...พึงเป็นคนวัด (๔) ...พึงเป็นสามเณร (๕) ...พึงเป็นเดียรถีย์ (๖) ...พึงเป็นสาวก
เดียรถีย์ (๗) ...พึงเป็นผู้มิใช่สมณะ (๘) ...พึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา
๓.-๑๐. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำปริกัป ๑๔ บทและ ๘ บท๑
[๔๖] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนา
จะสึก อึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนา
จะไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืน
พระพุทธเจ้า... (๘) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระ
ศากยบุตร... (๑) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า...
(๘) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร...
(๑) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า เอาเถอะ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า... (๘) ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า เอาเถอะ ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร... (๑) ภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ บทที่ ๑-๑๔ และบทที่ ๑-๘ ดูความพิสดารในข้อ ๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีความดำริว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า... (๘) ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีความดำริว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็น
การบอกคืนสิกขา
๑๑. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำอ้างวัตถุที่ระลึก ๑๗ บท
[๔๗] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อ
สายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงมารดา (๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้
อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงบิดา (๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงพี่ชายน้อง
ชาย (๔)...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงพี่สาวน้องสาว (๕) ...ภิกษุบอกให้
ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพ เจ้าระลึกถึงบุตร (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงธิดา
(๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงภรรยา (๘) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ข้าพเจ้าระลึกถึงหมู่ญาติ (๙) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงหมู่มิตร
(๑๐) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงบ้าน (๑๑) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงนิคม (๑๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงนา
(๑๓) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงสวน (๑๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงเงิน (๑๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงทอง
(๑๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงศิลปะ (๑๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ข้าพเจ้าระลึกถึงการหัวเราะ การเจรจา การเล่นในครั้งก่อน
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา
๑๒. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำแสดงความห่วงใย ๙ บท
[๔๘] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
สายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีมารดาที่ต้องเลี้ยงดู (๒) ...ภิกษุบอก
ให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีบิดาที่ต้องเลี้ยงดู (๓) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีพี่
ชายน้องชายที่ต้องเลี้ยงดู (๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีพี่สาวน้องสาวที่ต้อง
เลี้ยงดู (๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีบุตรที่ต้องเลี้ยงดู (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้
อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีธิดาที่ต้องเลี้ยงดู (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีภรรยาที่
ต้องเลี้ยงดู (๘) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีหมู่ญาติที่ต้องเลี้ยงดู (๙) ...ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีหมู่มิตรที่ต้องเลี้ยงดู
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา
๑๓. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำอ้างที่อยู่อาศัย ๑๖ บท
[๔๙] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็น
เชื้อสายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีมารดา ท่านจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า
(๒) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีบิดา ท่านจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๓) ...ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีพี่ชายน้องชาย เขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๔) ...ภิกษุบอกให้
ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีพี่สาวน้องสาว เธอจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า ข้าพเจ้ามีบุตร เขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๖)...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีธิดา
เธอจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีภรรยา เธอจักเลี้ยงดู
ข้าพเจ้า (๘) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีหมู่ญาติ พวกเขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า
(๙) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีหมู่มิตร พวกเขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า
(๑๐) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีบ้าน ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยบ้านนั้น
(๑๑) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีนิคม ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยนิคมนั้น
(๑๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีนา ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยนานั้น
(๑๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีสวน ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยสวนนั้น
(๑๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีเงิน ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยเงินนั้น
(๑๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีทอง ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยทองนั้น
(๑๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีศิลปะ ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยศิลปะนั้น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา
๑๔. การบอกคืนสิกขาด้วยการอ้างว่าพรหมจรรย์ทำได้ยาก ๘ บท
[๕๐] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อ
สายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า พรหมจรรย์ทำได้ยาก (๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า พรหมจรรย์ทำไม่ได้ง่าย (๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่าพรหมจรรย์ประพฤติได้ยาก
(๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า พรหมจรรย์ประพฤติไม่ได้ง่าย (๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า เราไม่อาจ (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า เราไม่สามารถ (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
เราไม่ยินดี (๘) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า เราไม่รื่นเริง
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา
ลักษณะที่จัดว่าเป็นการบอกคืนสิกขา
[๕๑] ภิกษุทั้งหลาย อย่างไร ชื่อว่าการเปิดเผยความท้อแท้และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
๑. การบอกคืนสิกขาด้วยคำเป็นปัจจุบัน ๑๔ บท
(๑) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อ
สายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
(๒) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด เบื่อหน่าย
รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อสายพระ
ศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระธรรม (๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
ข้าพเจ้าบอกคืนพระสงฆ์ (๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนสิกขา
(๕) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระวินัย (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ข้าพเจ้าบอกคืนพระปาติโมกข์ (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนอุทเทส
(๘) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระอุปัชฌาย์ (๙) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระอาจารย์ (๑๐) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืน
สัทธิวิหาริก (๑๑) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนอันเตวาสิก (๑๒) ...ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ (๑๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ข้าพเจ้าบอกคืนภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ (๑๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืน
เพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
๒. การบอกคืนสิกขาโดยการแสดงภาวะ ๘ บท
(๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด เบื่อหน่าย
รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อสายพระ
ศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นคฤหัสถ์ (๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้
อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก (๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำ
ข้าพเจ้าว่าเป็นคนวัด (๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นสามเณร
(๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นเดียรถีย์ (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้
อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นสาวกเดียรถีย์ (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจง
จำข้าพเจ้าว่าเป็นผู้มิใช่สมณะ (๘) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็น
ผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
๓. การบอกคืนสิกขาโดยใช้คำเป็นปัจจุบันว่าไม่เกี่ยวข้อง ๑๔ บท
[๕๒] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
เชื้อสายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าเลิกเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ฯลฯ
(๑๔) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าเลิกเกี่ยวข้องกับเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
๔. การบอกคืนสิกขาโดยใช้คำว่าจะมีอะไร ๑๔ บท
(๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าจะมีอะไร
กับพระพุทธเจ้า ฯลฯ (๑๔) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าจะมีอะไรกับเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
๕. การบอกคืนสิกขาโดยใช้คำว่าไม่ต้องการ ๑๔ บท
(๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าไม่ต้องการพระพุทธเจ้า
ฯลฯ (๑๔) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าไม่ต้องการเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
๖. การบอกคืนสิกขาโดยใช้คำว่าพ้นขาดแล้ว ๑๔ บท
(๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าพ้นขาดแล้วจากพระพุทธเจ้า
ฯลฯ (๑๔) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าพ้นขาดแล้วจากเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
บอกคืนสิกขาโดยการใช้คำไวพจน์
[๕๓] อีกประการหนึ่ง คำที่เป็นไวพจน์๑ ของพระพุทธ คำที่เป็นไวพจน์ของ
พระธรรม คำที่เป็นไวพจน์ของพระสงฆ์ คำที่เป็นไวพจน์ของสิกขา คำที่เป็นไวพจน์

เชิงอรรถ :
๑ ไวพจน์ ในที่นี้ หมายเอาคำที่มีรูปต่างกัน มีความหมายต่างกัน แต่หมายถึงสิ่งเดียวกัน, หมายถึง คำ
ที่ใช้แทนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฯลฯ สมณะ เชื้อสายพระศากยบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
ของพระวินัย คำที่เป็นไวพจน์ของพระปาติโมกข์ คำที่เป็นไวพจน์ของอุทเทส คำที่
เป็นไวพจน์ของพระอุปัชฌาย์ คำที่เป็นไวพจน์ของพระอาจารย์ คำที่เป็นไวพจน์ของ
สัทธิวิหาริก คำที่เป็นไวพจน์ของอันเตวาสิก คำที่เป็นไวพจน์ของภิกษุผู้ร่วมพระ
อุปัชฌาย์ คำที่เป็นไวพจน์ของภิกษุผู้ร่วมพระอาจารย์ คำที่เป็นไวพจน์ของเพื่อน
พรหมจารี คำที่เป็นไวพจน์ของคฤหัสถ์ คำที่เป็นไวพจน์ของอุบาสก คำที่เป็นไวพจน์
ของคนวัด คำที่เป็นไวพจน์ของสามเณร คำที่เป็นไวพจน์ของเดียรถีย์ คำที่เป็น
ไวพจน์ของสาวกของเดียรถีย์ คำที่เป็นไวพจน์ของผู้มิใช่สมณะ คำที่เป็นไวพจน์ของ
ผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร แม้อื่นใดที่มีอยู่ ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ด้วยคำที่เป็นไวพจน์
เหล่านั้น อันเป็นอาการ เป็นลักษณะ เป็นสัญลักษณ์
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
ลักษณะที่บอกคืนสิกขาแล้วไม่เป็นอันบอกคืน
[๕๔] ภิกษุทั้งหลาย อย่างไร ชื่อว่าไม่เป็นการบอกคืนสิกขา คือ ภิกษุผู้
วิกลจริต บอกคืนสิกขาด้วยคำที่เป็นอาการ เป็นลักษณะ เป็นสัญลักษณ์ ตามที่ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้บอกคืนสิกขากัน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุปกติบอกคืนสิกขาต่อหน้าภิกษุผู้วิกลจริต ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่านบอกคืนสิกขา ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนาบอกคืนสิกขา ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ย่อมไม่เป็น
อันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าเทวดา ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าสัตว์ดิรัจฉาน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าชาวมิลักขะ ด้วยภาษาชาวอริยกะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ
ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าชาวอริยกะ ด้วยภาษาชาวมิลักขะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ
ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าชาวอริยกะ ด้วยภาษาชาวอริยกะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ
ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าชาวมิลักขะ ด้วยภาษาชาวมิลักขะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ
ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยพูดเล่น ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยพูดพลั้งพลาด ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุไม่ประสงค์จะประกาศ แต่ประกาศให้ได้ยิน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุประสงค์จะประกาศ แต่ไม่ประกาศให้ได้ยิน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุประกาศแก่ผู้ไม่เข้าใจความหมาย ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุไม่ประกาศแก่ผู้เข้าใจความหมาย ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุไม่ประกาศโดยประการทั้งปวง ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้ ชื่อว่าไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
สิกขาบทวิภังค์
[๕๕] ที่ชื่อว่า เมถุนธรรม ได้แก่ อสัทธรรม ซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน
มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ
ต้องทำกันสองต่อสอง นี้ชื่อว่าเมถุนธรรม
ที่ชื่อว่า เสพ ได้แก่ ภิกษุใด สอดเครื่องหมายเพศเข้าไปทางเครื่องหมายเพศ
สอดองคชาตเข้าไปทางองค์กำเนิด โดยที่สุดเข้าไปแม้เพียงเมล็ดงา ภิกษุนี้ชื่อว่า เสพ
คำว่า โดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ความว่า ภิกษุเสพเมถุนธรรมแม้
กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ก็ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร จะกล่าวไปใย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
ถึงการเสพกับหญิงมนุษย์เล่า ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า โดยที่สุดแม้กับสัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย
คำว่า เป็นปาราชิก ความว่า ภิกษุเสพเมถุนธรรม ย่อมไม่เป็นสมณะไม่เป็น
เชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนคนถูกตัดศีรษะ ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ โดยการต่อ
ศรีษะเข้ากับร่างกายนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุ
รูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้
บทภาชนีย์
มรรคภาณวาร
[๕๖] หญิง ๓ จำพวก คือ หญิงมนุษย์ หญิงอมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
อุภโตพยัญชนก๑ ๓ จำพวก คือ อุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์ อุภโตพยัญชนก
ที่เป็นอมนุษย์ และอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน
บัณเฑาะก์๒ ๓ จำพวก คือ บัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์
บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน
ชาย ๓ จำพวก คือ ชายที่เป็นมนุษย์ ชายที่เป็นอมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
หญิง ๓ จำพวก มีพวกละ ๓ ทวาร
ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับหญิงมนุษย์ ๓ ทาง คือ ทวารหนัก ทวารเบา ปาก
ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับหญิงอมนุษย์ ... กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ๓ ทาง คือ

เชิงอรรถ :
๑ อุภโตพยัญชนก แปลว่า คนมี ๒ เพศ คือมีสัญลักษณ์ทั้งที่เป็นเพศชายและเพศหญิง
๒ บัณเฑาะก์ หมายถึง ขันที ชายที่ถูกตอน พจนานุกรมบาลีสันสกฤตแปลว่า กะเทย
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
ทวารหนัก ทวารเบา ปาก ต้องอาบัติปาราชิก
อุภโตพยัญชนก ๓ จำพวก มีพวกละ ๓ ทวาร
ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับอุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์ ... กับอุภโตพยัญชนกที่
เป็นอมนุษย์ ... กับอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๓ ทาง คือ ทวารหนัก ทวารเบา
ปาก ต้องอาบัติปาราชิก
บัณเฑาะก์ ๓ จำพวก มีพวกละ ๒ ทวาร
ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับบัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ ... กับบัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์
... กับบัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๒ ทาง คือ ทวารหนัก ปาก ต้องอาบัติปาราชิก
ชาย ๓ จำพวก มีพวกละ ๒ ทวาร
ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับชายที่เป็นมนุษย์ ... กับชายที่เป็นอมนุษย์ ... กับ
สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ ๒ ทาง คือ ทวารหนัก ปาก ต้องอาบัติปาราชิก
ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๓ ทวาร
[๕๗] เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพเมถุนธรรม สอดองคชาตเข้าทางทวาร
หนักของหญิงมนุษย์ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพเมถุนธรรม
สอดองคชาตเข้าทางทวารเบา ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพ
เมถุนธรรม สอดองคชาตเข้าทางปากของหญิงมนุษย์ ต้องอาบัติปาราชิก
เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพเมถุนธรรม สอดองคชาตเข้าทางทวารหนัก...
ทวารเบา...ทางปากของหญิงอมนุษย์...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย...ของอุภโตพยัญชนก
ที่เป็นมนุษย์ ... ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์ ... ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉาน ต้องอาบัติปาราชิก
เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพเมถุนธรรม สอดองคชาตเข้าทางทวารหนัก ...
ทางปากของบัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ ... ของบัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์ ... ของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ของมนุษย์ผู้ชาย ... ของอมนุษย์ผู้ชาย...ของสัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้ ต้องอาบัติปาราชิก
ว่าด้วยเรื่องไม่มีเครื่องหุ้ม
[๕๘] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนัก๑
นั่งทับองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดี
ขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับ
องคชาต ถ้าภิกษุไม่ยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป แต่ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะ
หยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับ
องคชาต ถ้าภิกษุไม่ยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ไม่ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว แต่ยินดี
ขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับ
องคชาต ถ้าภิกษุไม่ยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ไม่ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ไม่ยินดี
ขณะหยุดอยู่ แต่ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับ
องคชาต ถ้าภิกษุไม่ยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ไม่ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ไม่ยินดี
ขณะหยุดอยู่ ไม่ยินดีขณะถอนออก ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารเบานั่งทับองค
ชาต... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว
ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
[๕๙] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์ตื่น ...หญิงมนุษย์หลับ...หญิง

เชิงอรรถ :
๑ อรรถกถาอธิบายว่า อิตฺถิยา วจฺจมคฺเคน ตสฺส ภิกฺขุโน องฺคชาตํ อภินิสีเทนฺติ แปลว่า ให้องคชาตของ
ภิกษุนั้น สอดเข้าไปทางทวารหนักของหญิง (วิ.อ. ๑/๕๘/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
มนุษย์เมา... หญิงมนุษย์วิกลจริต...หญิงมนุษย์เผลอสติ...หญิงมนุษย์ที่ตายแล้วแต่
ไม่ถูกสัตว์กัดกิน...หญิงมนุษย์ที่ตายแล้วแต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา แล้วใช้ทวาร
หนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดี
ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์ที่ตายแล้วซึ่งถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา
หาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ใช้ปากอม
องคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่
ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงอมนุษย์ ... สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ... อุภโต
พยัญชนกที่เป็นมนุษย์ ... อุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์ ... อุภโตพยัญชนกที่เป็น
สัตว์ดิรัจฉาน มาหาภิกษุ แล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับ
องคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอด
เข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี
ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตื่น...อุภโต
พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานหลับ...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานเมา...อุภโต
พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานวิกลจริต...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานเผลอ
สติ...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...อุภโต
พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตายแล้วแต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา ฯลฯ ถ้าภิกษุ
ยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตายแล้วถูกสัตว์
กัดกินโดยมากมาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับ
องคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว
ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาบัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์...บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์
... บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานมาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้
ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาบัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตื่น...บัณเฑาะก์ที่
เป็นสัตว์ดิรัจฉานหลับ...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานเมา...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานวิกลจริต...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานเผลอสติ...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานที่ตายแล้ว
แต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา...ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ พา
บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากมาหาภิกษุแล้วใช้ทวาร
หนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดี
ขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
[๖๐] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พามนุษย์ผู้ชาย ฯลฯ อมนุษย์ผู้ชาย ฯลฯ
สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต
ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดี
ขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตื่น...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้หลับ
...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เมา...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้วิกลจริต...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เผลอสติ
...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้ว
แต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี ... ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ
พาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากมาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนัก
นั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
ว่าด้วยเรื่องมีเครื่องหุ้ม
[๖๑] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนัก
นั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ของหญิงมีเครื่องหุ้ม

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
ของภิกษุไม่มี ...ของหญิงไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุมี...ของหญิงมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุ
ก็มี...ของหญิงไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดี
ขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์ตื่น...หญิงมนุษย์หลับ...หญิงมนุษย์
เมา...หญิงมนุษย์วิกลจริต...หญิงมนุษย์เผลอสติ...หญิงมนุษย์ที่ตายแล้วแต่ไม่ถูก
สัตว์กัดกิน...หญิงมนุษย์ที่ตายแล้วแต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา ฯลฯ ถ้าภิกษุ
ยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ พาหญิงมนุษย์ที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา
หาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอม
องคชาต ของหญิงมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุไม่มี...ของหญิงไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุ
มี...ของหญิงมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี...ของหญิงไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี
ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดี
ขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาอมนุษย์ผู้หญิง...สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย...
อุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์...อุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์...อุภโตพยัญชนกที่เป็น
สัตว์ดิรัจฉาน มาหาภิกษุแล้วให้ใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต
... ใช้ปากอมองคชาต ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุ
ไม่มี...ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุมี...ของ
อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี...ของอุภโตพยัญชนก
ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้าภิกษุนั้นยินดีขณะกำลังสอด
เข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติ
ปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตื่น...
อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานหลับ...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน
เมา...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานวิกลจริต...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานเผลอสติ...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัด
กิน...อุภโต พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี... ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ พาอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานตายแล้วถูกสัตว์กินโดยมากมาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ...
ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุไม่มี...ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มีเครื่อง
หุ้มของภิกษุมี... ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี ...
ของอุภโต พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้าภิกษุ
นั้นยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะ
ถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
[๖๒] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาบัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์... บัณเฑาะก์ที่
เป็นอมนุษย์... บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน...มนุษย์ผู้ชาย... อมนุษย์ผู้ชาย... สัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้มาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ของ
สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุไม่มี ...ของสัตวดิรัจฉานตัวผู้ไม่มีเครื่องหุ้ม
ของภิกษุมี...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี... ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
ไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้าภิกษุนั้นยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอด
เข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่
ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรู พาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตื่น...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้หลับ...สัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้เมา...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้วิกลจริต...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เผลอสติ...สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตายแล้วไม่ถูกสัตว์กัดกิน
โดยมากมา ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ บางพวกพาสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากมาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ...
ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดี
ขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
ว่าด้วยเรื่องไม่มีเครื่องหุ้ม
[๖๓] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรู พาภิกษุไปหาหญิงแล้ว ให้ใช้องคชาตสอดเข้า
ทางทวารหนัก ทางทวารเบา ทางปาก ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออกต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่
ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาหญิงตื่น ...หญิงหลับ ...หญิงเมา
...หญิงวิกลจริต ...หญิงเผลอสติ ...หญิงที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน ...หญิงที่
ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ
พาภิกษุไปหาหญิงที่ตายแล้ว ถูกสัตว์กัดกินโดยมากแล้วใช้องคชาตสอดเข้าทาง
ทวารหนัก ... ทางทวารเบา ... ทางปาก ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดี
ขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาอมนุษย์ผู้หญิง... สัตว์ดิรัจฉานตัว
เมีย... อุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์... อุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์... อุภโตพยัญชนก
ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... บัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ ... บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์ ...
บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... มนุษย์ผู้ชาย ... อมนุษย์ผู้ชาย ... พาไปหาสัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้แล้วใช้องคชาตสอดเข้าทางทวารหนัก ... ทางปาก ... ถ้าภิกษุยินดี
ขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก
ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตื่น ...สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้หลับ ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เมา...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้วิกลจริต...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
เผลอสติ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...พาไปหาสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมาก ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ
บางพวกพาภิกษุไปหาสัตว์ดิรัจฉานที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมาก แล้วใช้องคชาต
สอดเข้าทางทวารหนัก ... ทางปาก ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่
ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
ว่าด้วยเรื่องมีเครื่องหุ้ม
[๖๔] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกันพาภิกษุไปหาหญิงแล้วให้ใช้องคชาตสอดเข้า
ทางทวารหนัก ... ทางทวารเบา ... ทางปาก ของภิกษุมีเครื่องหุ้ม ของหญิงไม่

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร
มี...ของภิกษุไม่มีเครื่องหุ้ม ของหญิงมี ...ของภิกษุมีเครื่องหุ้ม ของหญิงก็มี...ของ
ภิกษุไม่มีเครื่องหุ้ม ของหญิงก็ไม่มี ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอด
เข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี
ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาหญิงตื่น ...หญิงหลับ ...หญิงเมา
...หญิงวิกลจริต ...หญิงเผลอสติ...หญิงที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...หญิงที่
ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากแล้วใช้องคชาตสอดเข้าทางทวารหนัก ...
ทางทวารเบา ... ทางปาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ บางพวก
พาภิกษุไปหาหญิงที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากแล้วให้ใช้องคชาตสอดเข้าทาง
ทวารหนัก ... ทางทวารเบา ... ทางปาก ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดี
ขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาอมนุษย์ผู้หญิง... สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย...
อุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์... อุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์... อุภโตพยัญชนกที่
เป็นสัตว์ดิรัจฉาน... บัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์...บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์... บัณเฑาะก์
ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน... มนุษย์ผู้ชาย... อมนุษย์ผู้ชาย... พาไปหาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
แล้วใช้องคชาตสอดเข้าทางทวารหนัก... ทางปาก ของภิกษุมีเครื่องหุ้ม ของสัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้ไม่มี ... ของภิกษุไม่มีเครื่องหุ้ม ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มี ... ของภิกษุมี
เครื่องหุ้ม ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ก็มี...ของภิกษุไม่มีเครื่องหุ้ม ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
ก็ไม่มี ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่
ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
[๖๕] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกันพาภิกษุไปหาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตื่น...สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้หลับ ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เมา ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้วิกลจริต ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
เผลอสติ ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน ...พาไปหาสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก
ฯลฯ พาภิกษุไปหาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากแล้วใช้องคชาต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สัณถตภาณวาร
สอดเข้าทางทวารหนัก ... ทางปาก ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุไม่
มี...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุมี...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มี
เครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้า
ภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดี
ขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกพระราชาผู้เป็นศัตรู พวกโจรผู้เป็นศัตรู พวกนักเลงผู้เป็นศัตรู พวกควัก
หัวใจที่เป็นศัตรู๑ ก็พึงขยายให้พิสดารเหมือนพวกภิกษุผู้เป็นศัตรูที่ให้พิสดารมาแล้ว
ฉะนั้น
[๖๖] ภิกษุสอดองคชาตเข้ามรรคทางมรรค ต้องอาบัติปาราชิก๒
ภิกษุสอดองคชาตเข้าอมรรคทางมรรค ต้องอาบัติปาราชิก๓
ภิกษุสอดองคชาตเข้ามรรคทางอมรรค ต้องอาบัติปาราชิก๔
ภิกษุสอดองคชาตเข้าอมรรคทางอมรรค ต้องอาบัติถุลลัจจัย๕
ภิกษุลักหลับภิกษุที่กำลังหลับ เธอตื่นขึ้นยินดี พึงให้สึกเสียทั้งสองรูป หาก
เธอตื่นขึ้นแต่ไม่ยินดี ให้สึกเฉพาะภิกษุรูปที่ทำผิด
ภิกษุลักหลับสามเณรที่กำลังหลับ สามเณรตื่นขึ้นยินดี พึงให้สึกเสียทั้งสองรูป
หากสามเณรตื่นขึ้นแต่ไม่ยินดี พึงให้สึกเฉพาะภิกษุรูปที่ทำผิด
สามเณรลักหลับภิกษุที่กำลังหลับ เธอตื่นขึ้นยินดี พึงให้สึกเสียทั้งสองรูป
หากเธอตื่นขึ้นแต่ไม่ยินดี พึงให้สึกเฉพาะสามเณรรูปที่ทำผิด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า อุปฺปลคนฺธปจฺจตฺถิกา อรรถกถาอธิบายว่า คนฺธนฺติ หทยํ วุจฺจติ, ตํ อุปฺปาเฏนฺตีติ อุปฺปลคนฺธา,
อุปฺปลคนฺธา เอว ปจฺจตฺถิกา อุปฺปลนฺธปจฺจตฺถิกา. หทัย ท่านเรียกว่า คันธะ พวกศัตรูที่ชื่อว่า อุปปลคันธะ
เพราะหมายความว่า ชำแหละหทัยนั้น คือผู้ควักหัวใจ ชื่อว่า อุปปลคันธปัจจัตถิกา ( วิ.อ. ๑/๖๕/๒๘๘)
๒ สอดองคชาตเข้าทางใดทางหนึ่ง ใน ๓ ทาง (คือทวารเบา, ทวารหนัก, ปาก)
๓ สอดองคชาตเข้าทางทวารเบาเป็นต้น แล้วถอนออกทางแผลที่อยู่ใกล้ทวารเบาเป็นต้นนั้น
๔ สอดองคชาตเข้าทางแผลที่อยู่ใกล้ทวารเบาเป็นต้น แล้วถอนออกทางทวารเบาเป็นต้นนั้น
๕ ในจำนวน ๒ แผลที่ปะปนกันอยู่ ภิกษุสอดองคชาตเข้าทางแผลหนึ่ง แล้วถอนออกทางแผลที่สอง
(ดู วิ.อ. ๑/๖๖/๒๘๘-๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
สามเณรลักหลับสามเณรที่กำลังหลับ เธอตื่นขึ้นยินดี พึงให้สึกเสียทั้งสองรูป
หากเธอตื่นขึ้นแต่ไม่ยินดี พึงให้สึกเฉพาะสามเณรรูปที่ทำผิด
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. ภิกษุไม่รู้สึกตัว
๒. ภิกษุไม่ยินดี
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน
๕. ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
สันถตภาณวาร จบ

คาถารวมวินีตวัตถุ
เรื่องที่ทรงวินิจฉัยแล้ว
เรื่องลิงตัวเมีย ๑ เรื่อง___เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร ๑ เรื่อง
เรื่องปลอมเป็นคฤหัสถ์ ๑ เรื่อง___เรื่องเปลือยกาย ๑ เรื่อง
เรื่องปลอมเป็นเดียรถีย์ ๗ เรื่อง___เรื่องเด็กหญิง ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา ๑ เรื่อง___เรื่องเพศกลับ ๒ เรื่อง
เรื่องมารดา ๑ เรื่อง___เรื่องธิดา ๑ เรื่อง
เรื่องน้องสาว ๑ เรื่อง___เรื่องอดีตภรรยา ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุหลังอ่อน ๑ เรื่อง___เรื่องภิกษุองคชาตยาว ๑ เรื่อง
เรื่องบาดแผล ๒ เรื่อง___เรื่องรูปปั้น ๑ เรื่อง
เรื่องตุ๊กตาไม้ ๑ เรื่อง___เรื่องพระสุนทร ๑ เรื่อง
เรื่องหญิง ๔ เรื่อง___เรื่องป่าช้า ๕ เรื่อง
เรื่องกระดูก ๑ เรื่อง___เรื่องนางนาค ๑ เรื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ
เรื่องนางยักษิณี ๑ เรื่อง___เรื่องนางเปรต ๑ เรื่อง
เรื่องบัณเฑาะก์ ๑ เรื่อง___เรื่องภิกษุผู้มีกายประสาทพิการ ๑ เรื่อง
เรื่องจับต้อง ๑ เรื่อง___เรื่องพระอรหันต์ชาวเมืองภัททิยะหลับ ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุชาวกรุงสาวัตถี ๔ เรื่อง___เรื่องภิกษุชาวมัลละกรุงเวสาลี ๓ เรื่อง
เรื่องภิกษุเปิดประตูจำวัด ๑ เรื่อง___เรื่องภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะฝัน ๑ เรื่อง
เรื่องอุบาสิกาชื่อสุปัพพา ๙ เรื่อง___เรื่องอุบาสิกาชื่อสัทธา ๙ เรื่อง
เรื่องภิกษุณี ๑ เรื่อง___เรื่องสิกขมานา ๑ เรื่อง
เรื่องสามเณรี ๑ เรื่อง___เรื่องหญิงแพศยา ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุบัณเฑาะก์ ๑ เรื่อง
เรื่องหญิงคฤหัสถ์ ๑ เรื่อง___เรื่องให้ภิกษุผลัดกัน ๑ เรื่อง
เรื่องพระขรัวตา ๑ เรื่อง___เรื่องลูกเนื้อ ๑ เรื่อง

วินีตวัตถุ
เรื่องลิงตัวเมีย ๑ เรื่อง
[๖๗] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรมกับนางลิง เกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑)
เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร ๑ เรื่อง
สมัยนั้น พวกภิกษุวัชชีบุตรชาวกรุงเวสาลีหลายรูป ยังไม่บอกคืนสิกขา ไม่
เปิดเผยความท้อแท้ พากันเสพเมถุนธรรม เกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒)
เรื่องปลอมเป็นคฤหัสถ์ ๑ เรื่อง
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ปลอมเป็นคฤหัสถ์ไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า อย่างนี้
เราจะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๔ }

7 ความคิดเห็น :

  1. ครั้งหนึ่งในชีวิตได้อ่านศึกษาพระไตรปิฎกนับเป็นกุศลยิ่ง

    ตอบลบ
  2. กราบขอบพระคุณที่ให้ความรู้นะคะ ยิ่งอ่านก็ยิ่งอึ้งมากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  3. กราบสาธุในความรู้ ขออนุญาตทำการเผยแพร่ต่อไปค่ะ

    ตอบลบ
  4. มีประโยนช์ต่อ ผู้ใคร่รู้ มาก ๆ ครับ

    ตอบลบ