Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๒-๑ หน้า ๑ - ๖๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๒-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒



พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท นิทานวัตถุ

พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค ๒
___________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๔. นิสสัคคิยกัณฑ์
ท่านทั้งหลาย ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบทเหล่านี้ มาถึงวาระ
ที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ
๑. จีวรวรรค
หมวดว่าด้วยจีวร

๑. ปฐมกฐินสิกขาบท
ว่าด้วยกฐินเดาะข้อที่ ๑

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๕๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ เขต
กรุงเวสาลี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตไตรจีวรเพื่อภิกษุทั้งหลายแล้ว
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไตรจีวร๑แล้ว จึงเข้าหมู่บ้าน

เชิงอรรถ :
๑ ไตรจีวร คือ อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อนนอก) (วิ.อ. ๒/๔๕๙/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท พระบัญญัติ
โดยครองไตรจีวร ๑ไตร อยู่ในอารามอีก ๑ ไตร สรงน้ำอีก ๑ ไตร บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา พากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทรงอติเรกจีวร๑เล่า” ครั้นภิกษุ
เหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอทรงอติเรกจีวร
จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร ไม่คล้อย
ตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงทรงอติเรก
จีวรเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใส
ก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๖๐] ก็ ภิกษุใดทรงอติเรกจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์๒
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อติเรกจีวร คือผ้าส่วนเกินที่เขาถวายภิกษุเพิ่มเข้ามาจากผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร
๒ ที่แปลว่า “ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์” นี้เป็นไปตามนัยอธิบายแห่งอรรถกถาว่า “นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ,
ตญฺจ จีวรํ นิสฺสคฺคิยํ โหติ, ปาจิตฺติยาปตฺติ จสฺส โหติ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือจีวรเป็น
นิสสัคคีย์ต้องสละ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์” (วิ.อ. ๒/๔๖๒-๔๖๓/๑๔๒, กงฺขา.อ. ๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
เรื่องพระอานนท์
[๔๖๑] สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ ท่านต้องการจะถวาย
อติเรกจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่เมืองสาเกต ทีนั้น ท่าน
พระอานนท์ได้มีความคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุไม่
พึงทรงอติเรกจีวร’ ก็อติเรกจีวรนี้เกิดขึ้นแก่เรา เราต้องการจะถวายท่านพระสารีบุตร
แต่ท่านอยู่ที่เมืองสาเกต เราพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อีกนานเพียงไร สารีบุตรจะกลับมา”
พระอานนท์กราบทูลว่า “อีก ๙ หรือ ๑๐ วันจึงจะกลับมา พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงอนุญาตอติเรกจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็น
อย่างมาก” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๔๖๒] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว๑ ภิกษุพึงทรง
อติเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์๒
เรื่องพระอานนท์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “กฐินเดาะ” ในที่นี้ตามศัพท์แปลว่า รื้อไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงผ้า หมายถึงยกเลิกอานิสงส์
กฐินที่ภิกษุพึงได้รับ (ดูเหตุให้กฐินเดาะ เชิงอรรถข้อ ๔๖๓ หน้า ๔)
๒ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ คืออาบัติปาจิตตีย์ที่ภิกษุผู้ต้องแล้วเมื่อจะแสดงเทสนาบัติ จะต้องทำการสละวัตถุ
ก่อน จึงจะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัตินี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๔๖๓] คำว่า เมื่อจีวร...สำเร็จแล้ว หมายความว่า จีวรของภิกษุเสร็จแล้ว
สูญหายแล้ว ฉิบหายแล้ว ถูกไฟไหม้เสียแล้ว หรือภิกษุหมดหวังว่าจะได้ผ้ามาเย็บ
เป็นจีวร
คำว่า เมื่อกฐินเดาะแล้ว หมายความว่า กฐินเดาะด้วยมาติกาอย่างใด
อย่างหนึ่งในมาติกา ๘๑ หรือสงฆ์เดาะกฐินในระหว่าง๒
คำว่า ๑๐ วันเป็นอย่างมาก คือ ครอบครองไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างมาก
ชื่อว่า อติเรกจีวร ได้แก่ จีวรที่ไม่ได้อธิษฐาน๓ ไม่ได้วิกัป๔
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด๕ อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดพอที่จะทำ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ

เชิงอรรถ :
๑ มาติกา คือหัวข้อแห่งการเดาะกฐิน ๘ ประการ คือ (๑) ปักกมนันติกา กฐินเดาะกำหนดด้วยการที่ภิกษุ
หลีกไป ไม่คิดจะกลับ (๒) นิฏฐานันติกา กฐินเดาะกำหนดด้วยการที่ภิกษุนำผ้าไปนอกสีมาแล้วตัดเย็บ
จีวร ไม่คิดจะกลับ (๓) สันนิฏฐานันติกา กฐินเดาะกำหนดด้วยการที่ภิกษุนำผ้าไปนอกสีมาแล้วตกลงใจ
จะไม่ตัดเย็บจีวร และไม่คิดจะกลับ (๔) นาสนันติกา กฐินเดาะกำหนดด้วยการที่ภิกษุนำผ้าไปนอกสีมา
ตัดเย็บเป็นจีวร ไม่คิดจะกลับ ผ้าที่ตัดเย็บเป็นจีวรเสียหายไป (๕) สวนันติกา กฐินเดาะกำหนดด้วยการ
ที่ภิกษุนำผ้าไปนอกสีมา คิดว่าจะกลับ ตัดเย็บจีวรเสร็จแล้วได้ฟังข่าวว่า กฐินในวัดของตนเดาะเสียแล้ว
(๖) อาสาวัจเฉทิกา กฐินเดาะกำหนดด้วยการที่ภิกษุหลีกไปนอกสีมาด้วยหวังว่าจะได้ผ้า รอคอยผ้าจนหมด
หวัง (๗) สีมาติกกันติกา กฐินเดาะกำหนดด้วยการที่ภิกษุนำผ้าไปตัดเย็บจีวรอยู่นอกสีมา คิดจะกลับ แต่
อยู่นอกสีมาจนกระทั่งกฐินเดาะ (๘) สหุพภารา กฐินเดาะกำหนดด้วยการที่ภิกษุนำผ้าไปตัดเย็บจีวรอยู่
นอกสีมาคิดว่า จะกลับ จะกลับ แต่สงฆ์ในวัดของตนพร้อมใจกันเดาะกฐินเสียก่อน (วิ.ม. ๕/๓๑๐/๙๕)
๒ สงฆ์เดาะกฐินในระหว่าง คือสงฆ์กรานกฐินแล้ว ยังไม่พ้นเขตจีวรกาล มีทายกต้องการจะถวายอกาลจีวร
มาขอให้สงฆ์เดาะกฐิน คือยกเลิกอานิสงส์กฐินในระหว่างจีวรกาล (ก่อนหมดเขตอานิสงส์กฐิน) พระพุทธ
องค์ทรงอนุญาตให้เดาะกฐินได้ (วิ.ภิกขุนี. ๓/๙๒๕/๙๒๖/๑๒๑/๑๒๒)
๓ อธิษฐาน คือการตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ ได้แก่ ตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะเป็นของประจำตัวชนิด
นั้น ๆ เช่น ไตรจีวร บาตร วิธีอธิษฐาน ใช้กายคือมือสัมผัส หรือเปล่งวาจาก็ได้ (วิ.ป. ๘/๓๒๒/๒๖๑, วิ.อ.
๒/๔๖๙/๑๔๗)
๔ เรื่องเดียวกัน คำว่า วิกัป คือทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือขอให้ภิกษุสามเณรรูปอื่นร่วมเป็นเจ้าของสิ่งที่
วิกัปนั้น ทำให้ไม่ต้องอาบัติ แม้จะเก็บไว้เกินกำหนด
๕ จีวร ๖ ชนิด คือ โขมะ(จีวรผ้าเปลือกไม้) กัปปาสิกะ (จีวรผ้าฝ้าย) โกเสยยะ (จีวรผ้าไหม) กัมพละ (จีวร
ผ้าขนสัตว์) สาณะ (จีวรผ้าป่าน) ภังคะ (จีวรผ้าผสม) (วิ.อ. ๒/๔๖๒-๔๖๓/๑๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ความว่า เมื่อรุ่ง
อรุณวันที่ ๑๑ จีวรผืนนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ
หรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้ของกระผม
เกินกำหนด ๑๐ วัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึง
แสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ๑ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า
[๔๖๔] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์
เธอสละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
[๔๖๕] ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ
จีวรผืนนี้ของกระผมเกินกำหนด ๑๐ วัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน
ทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า
[๔๖๖] “ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอ
สละแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

เชิงอรรถ :
๑ คือรับการแสดงอาบัติ เพื่อให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติพ้นจากอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท บทภาชนีย์
สละแก่บุคคล
[๔๖๗] ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้ของกระผมเกินกำหนด
๑๐ วัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน
จีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๔๖๘] จีวรเกินกำหนด ๑๐ วัน ภิกษุสำคัญว่าเกินกำหนดแล้ว ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรเกินกำหนด ๑๐ วัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรเกินกำหนด ๑๐ วัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกินกำหนด ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุสำคัญว่าวิกัปแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้สละ ภิกษุสำคัญว่าสละแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่สูญหาย ภิกษุสำคัญว่าสูญหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรที่ยังไม่ถูกโจรชิงเอาไป ภิกษุสำคัญว่าถูกโจรชิงเอาไปแล้ว ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
จีวรที่เป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่ได้สละ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรยังไม่เกินกำหนด ๑๐ วัน ภิกษุสำคัญว่าเกินกำหนดแล้ว ใช้สอย ต้อง
อาบัติทุกกฏ
จีวรยังไม่เกินกำหนด ๑๐ วัน ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรยังไม่เกินกำหนด ๑๐ วัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกินกำหนด ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๖๙] ๑. ภิกษุผู้อธิษฐานภายใน ๑๐ วัน
๒. ภิกษุผู้วิกัปไว้ภายใน ๑๐ วัน
๓. ภิกษุผู้สละให้ไปภายใน ๑๐ วัน
๔. ภิกษุผู้มีจีวรสูญหายภายใน ๑๐ วัน
๕. ภิกษุผู้มีจีวรฉิบหายภายใน ๑๐ วัน
๖. ภิกษุผู้มีจีวรถูกไฟไหม้ภายใน ๑๐ วัน
๗. ภิกษุผู้มีจีวรถูกโจรชิงเอาไปภายใน ๑๐ วัน
๘. ภิกษุผู้มีจีวรถูกถือเอาไปโดยวิสาสะภายใน ๑๐ วัน
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
[๔๗๐] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ยอมคืนจีวรที่มีผู้สละให้ บรรดาภิกษุ
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
จึงไม่ยอมคืนจีวรที่มีผู้สละให้เล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๑.ปฐมกฐินสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทรงสอบถามแล้วอนุญาตให้คืนจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ทราบว่า
พวกเธอไม่ยอมคืนจีวรที่มีผู้สละให้ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ไฉนพวกเธอจึงไม่
ยอมคืนจีวรที่มีผู้สละให้เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับ
จะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลาย
เป็นอื่นไป ฯลฯ” ดังนี้ แล้วทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมกับ
เรื่องนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย จีวรที่ภิกษุสละแก่สงฆ์ แก่
คณะหรือแก่บุคคล จะไม่คืนไม่ได้ ภิกษุใดไม่คืนให้ ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ”
ปฐมกฐินสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. จีวรวรรค
๒. อุทโทสิตสิกขาบท
ว่าด้วยภิกษุเก็บจีวรไว้ในโรงเก็บของ
(ว่าด้วยกฐินเดาะข้อที่ ๒)
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๔๗๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายฝากสังฆาฏิไว้กับ
พวกภิกษุมีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสกออกจาริกไปสู่ชนบท สังฆาฏิเหล่านั้นเก็บ
ไว้นานจึงขึ้นรา ภิกษุทั้งหลายจึงนำออกมาผึ่งแดด
ท่านพระอานนท์เที่ยวไปตามเสนาสนะ เห็นภิกษุกำลังผึ่งสังฆาฏิอยู่จึงเข้าไป
ถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลาย สังฆาฏิที่ขึ้นราเหล่านี้เป็นของใคร” ลำดับนั้น
ภิกษุเหล่านั้นบอกเรื่องนั้นให้พระอานนท์ทราบ
ท่านพระอานนท์ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงฝาก
สังฆาฏิไว้กับพวกภิกษุ มีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสกออกจาริกไปสู่ชนบทเล่า”
ครั้นท่านตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ทราบว่า พวกภิกษุฝากสังฆาฏิไว้กับพวกภิกษุ มีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสก
ออกจาริกไปสู่ชนบท จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกโมฆบุรุษเหล่านั้นจึง
ฝากจีวรไว้กับพวกภิกษุ มีเพียงอุตตราสงค์และอันตรวาสกออกจาริกไปสู่ชนบทเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท พระบัญญัติ
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ดังนี้แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๗๒] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว ถ้าภิกษุอยู่
ปราศจากไตรจีวรแม้สิ้นราตรีหนึ่ง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ
เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๔๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้อยู่กรุงโกสัมพี พวกญาติส่งทูตไปสำนัก
ของภิกษุนั้นให้แจ้งข่าวว่า “นิมนต์พระคุณท่านมาเถิด พวกเราจะอุปัฏฐาก” ภิกษุ
ทั้งหลายก็กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปเถิด พวกญาติจะอุปัฏฐากท่านเอง” ภิกษุนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุไม่
พึงอยู่ปราศจากไตรจีวร’ กระผมเป็นไข้ไม่สามารถนำไตรจีวรไปได้ กระผมจะไม่ไป”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้สมมติติจีวราวิปวาส
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “เราอนุญาตให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวร เพื่อ
ภิกษุผู้เป็นไข้”
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้สมมติอย่างนี้
วิธีสมมติติจีวราวิปวาส
ภิกษุผู้เป็นไข้นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมเป็นไข้ไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สามารถนำไตรจีวรไปได้ กระผมขอให้สงฆ์สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวร
พึงกล่าวขออย่างนี้เป็นครั้งที่ ๒ พึงกล่าวขออย่างนี้เป็นครั้งที่ ๓
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๔๗๔] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้เป็นไข้ ไม่สามารถนำไตร
จีวรไปได้เธอขอให้สงฆ์สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรถ้าสงฆ์พร้อมกัน
แล้วพึงให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้เป็นไข้ไม่สามารถนำไตรจีวรไปได้
เธอขอให้สงฆ์สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวร สงฆ์ให้สมมติเพื่อไม่เป็น
การอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้สมมติเพื่อไม่
เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
การสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวร สงฆ์ให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์
เห็นชอบ เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๔๗๕] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว ถ้าภิกษุอยู่
ปราศจากไตรจีวรแม้สิ้นราตรีหนึ่ง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นแต่ภิกษุ
ได้รับสมมติ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๗๖] คำว่า เมื่อจีวร...สำเร็จแล้ว หมายความว่า จีวรของภิกษุทำเสร็จ
แล้ว สูญหายแล้ว ฉิบหายแล้ว ถูกไฟไหม้แล้ว หรือภิกษุหมดหวังว่าจะได้ผ้ามา
เย็บเป็นจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คำว่า เมื่อกฐินเดาะแล้ว หมายความว่า กฐินเดาะด้วยมาติกาอย่างใดอย่าง
หนึ่งในมาติกา ๘ หรือสงฆ์เดาะภายในระหว่าง
คำว่า ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้สิ้นราตรีหนึ่ง ความว่า ภิกษุอยู่
ปราศจากสังฆาฏิ อุตตราสงค์หรืออันตรวาสกผืนใดผืนหนึ่ง แม้คืนเดียว
คำว่า เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ คือ ยกเว้นภิกษุผู้ได้รับสมมติ
คำว่า ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือ จีวรเป็นนิสสัคคีย์พร้อมกับอรุณขึ้น
คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้ของกระผม
อยู่ปราศแล้วล่วงราตรี เว้นจากได้รับการสมมติ เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้
แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้
ของกระผมอยู่ปราศแล้วล่วงราตรี เว้นจากได้รับการสมมติ เป็นนิสสัคคีย์ กระผม
สละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่านทั้งหลาย
ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท บทภาชนีย์
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้ของกระผมอยู่ปราศแล้ว
ล่วงราตรี เว้นจากได้รับการสมมติ เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วพึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผม
คืนจีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
มาติกา
[๔๗๗] หมู่บ้าน มีอุปจารเดียวกัน๑ หมู่บ้าน มีอุปจารแยกกัน
เรือน มีอุปจารเดียวกัน เรือน มีอุปจารแยกกัน
โรงเก็บของ มีอุปจารเดียวกัน โรงเก็บของ มีอุปจารแยกกัน
ป้อม มีอุปจารเดียวกัน ป้อม มีอุปจารแยกกัน
เรือนยอดเดียว มีอุปจารเดียวกัน เรือนยอดเดียว มีอุปจารแยกกัน
ปราสาท มีอุปจารเดียวกัน ปราสาท มีอุปจารแยกกัน
เรือนโล้น๒ มีอุปจารเดียวกัน เรือนโล้น มีอุปจารแยกกัน
เรือ มีอุปจารเดียวกัน เรือ มีอุปจารแยกกัน
หมู่เกวียน มีอุปจารเดียวกัน หมู่เกวียน มีอุปจารแยกกัน

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “อุปจาร” คือที่ใกล้เคียงกันบริเวณรอบ ๆ ชานเช่นอุปจารเรือนคือบริเวณรอบ ๆ เรือนซึ่ง
กำหนดจุดที่อยู่นอกบริเวณชายคาของตัวเรือนออกไปถึงจุดที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือนสาดน้ำล้างภาชนะ
ออกไปตก (วิ.อ. ๑/๙๒/๓๒๒)
๒ หัมมิยะ เรือนโล้น ได้แก่ ปราสาทหลังคาโล้น มีเรือนยอดตั้งอยู่ที่ดาดฟ้า มีชานชมแสงจันทร์ (วิ.อ.
๒/๔๘๒-๗/๑๕๙, วิ.อ. ๓/๒๙๔/๓๑๙, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗๑-๗๓/๒๘๕, วิมติ.ฏีกา ๒/๗๑-๗๓/๑๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท บทภาชนีย์
นา มีอุปจารเดียวกัน นา มีอุปจารแยกกัน
ลานนวดข้าว มีอุปจารเดียวกัน ลานนวดข้าว มีอุปจารแยกกัน
สวน มีอุปจารเดียวกัน สวน มีอุปจารแยกกัน
วิหาร มีอุปจารเดียวกัน วิหาร มีอุปจารแยกกัน
โคนไม้ มีอุปจารเดียวกัน โคนไม้ มีอุปจารแยกกัน
ที่กลางแจ้ง มีอุปจารเดียวกัน ที่กลางแจ้ง มีอุปจารแยกกัน
[๔๗๘] ที่ชื่อว่า หมู่บ้านมีอุปจารเดียวกัน คือ หมู่บ้านของตระกูลหนึ่งล้อม
รั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในหมู่บ้าน แล้วพึงอยู่ภายในหมู่บ้าน ที่ชื่อว่า หมู่
บ้านมีอุปจารแยกกัน๑ คือ หมู่บ้านของตระกูลหนึ่งไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ใน
เรือนที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส
[๔๗๙] หมู่บ้านของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุต้องอยู่ในเรือนที่
ตนเก็บจีวรไว้ ในหอประชุมหรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส เมื่อไปหอประชุม
ต้องเก็บจีวรไว้ในหัตถบาสแล้วอยู่ในหอประชุมหรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส
ภิกษุเก็บจีวรในหอประชุมต้องอยู่ในหอประชุมหรือที่ริมประตูหรือไม่ละหัตถบาส
หมู่บ้านไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ในเรือนที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส
[๔๘๐] เรือน ของตระกูลหนึ่งล้อมรั้วไว้ด้วยกัน มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลายห้อง
ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในเรือน ต้องอยู่ภายในเรือน
เรือนไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส
[๔๘๑] เรือน ของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลาย
ห้อง ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส
เรือนไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส

เชิงอรรถ :
๑ หมู่บ้านที่จัดว่ามีอุปจารเดียวกัน ท่านกำหนดด้วยล้อมรั้วไว้ด้วยกัน, ที่จัดว่า มีอุปจารแยกกัน ท่าน
กำหนดด้วยไม่มีรั้วล้อม (ปริกฺขิตฺโตติ... เอตฺตาวตา เอกกุลคามสฺส เอกูปจารตา ทสฺสิตา. ฯเปฯ
อปริกฺขิตฺโตติ อิมินา ตสฺเสว คามสฺส นานูปจารตา ทสฺสิตา - วิ.อ. ๒/๔๗๘/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท บทภาชนีย์
[๔๘๒] โรงเก็บของ ของตระกูลหนึ่งล้อมรั้วไว้ด้วยกัน มีห้องใหญ่ห้องเล็ก
หลายห้อง ภิกษุต้องอยู่ในโรงเก็บของที่ตนเก็บจีวรไว้
โรงเก็บของไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ในห้องเก็บของที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละ
หัตถบาส
[๔๘๓] โรงเก็บของ ของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน มีห้องใหญ่ห้อง
เล็กหลายห้อง ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส
โรงเก็บของไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือไม่ละหัตถบาส
[๔๘๔] ป้อม ของตระกูลหนึ่ง ภิกษุต้องอยู่ภายในป้อมที่ตนเก็บจีวรไว้
ป้อมของต่างตระกูล มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลายห้อง ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตน
เก็บจีวรไว้หรือที่ริมประตูหรือไม่ละหัตถบาส
[๔๘๕] เรือนยอดเดียว ของตระกูลหนึ่ง ภิกษุต้องอยู่ภายในเรือนยอดเดียว
ที่ตนเก็บจีวรไว้
เรือนยอดเดียวของต่างตระกูล มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลายห้อง ภิกษุต้องอยู่ใน
ห้องที่ตนเก็บจีวรไว้หรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส
[๔๘๖] ปราสาท ของตระกูลหนึ่ง ภิกษุต้องอยู่ในปราสาทที่ตนเก็บจีวรไว้
ปราสาทของต่างตระกูล มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลายห้อง ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่
ตนเก็บจีวรไว้หรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส
[๔๘๗] เรือนโล้น ของตระกูลหนึ่ง ภิกษุต้องอยู่ภายในเรือนโล้นที่ตนเก็บ
จีวรไว้
เรือนโล้นของต่างตระกูล มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลายห้อง ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่
ตนเก็บจีวรไว้หรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส
[๔๘๘] เรือ ของตระกูลหนึ่ง ภิกษุต้องอยู่ภายในเรือที่ตนเก็บจีวรไว้
เรือของต่างตระกูล มีห้องใหญ่ห้องเล็กหลายห้อง ภิกษุต้องอยู่ในห้องที่ตน
เก็บจีวรไว้หรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท บทภาชนีย์
[๔๘๙] หมู่เกวียน ของตระกูลหนึ่ง ภิกษุต้องไม่ละอัพภันดร๑ ด้านหน้า
หรือด้านหลัง ข้างละ ๗ อัพภันดร ด้านข้างด้านละ ๑ อัพภันดร
หมู่เกวียนของต่างตระกูล ภิกษุเก็บจีวรไว้ในหมู่เกวียน ต้องไม่ละหัตถบาส
[๔๙๐] นา ของตระกูลหนึ่งและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุต้องอยู่ภายในนาที่
ตนเก็บจีวรไว้ นาไม่มีรั้วล้อม ภิกษุต้องไม่ละหัตถบาส
นาของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในนา ต้องอยู่ที่ริม
ประตูหรือไม่ละหัตถบาส นาที่ไม่มีรั้วล้อม ต้องไม่ละหัตถบาส
[๔๙๑] ลานนวดข้าว ของตระกูลหนึ่งและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุต้องอยู่
ภายในลานนวดข้าวที่ตนเก็บจีวรไว้ ลานนวดข้าวของตระกูลหนึ่งไม่มีรั้วล้อม ต้องไม่
ละหัตถบาส
ลานนวดข้าวของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในลาน
นวดข้าว ต้องอยู่ที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส ลานนวดข้าวของต่างตระกูลไม่มีรั้ว
ล้อม ต้องไม่ละหัตถบาส
[๔๙๒] สวน ของตระกูลหนึ่งและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในสวน
ต้องอยู่ภายในสวน สวนที่ไม่มีรั้วล้อม ต้องไม่ละหัตถบาส
สวนของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในสวน ต้องอยู่
ที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส สวนที่ไม่มีรั้วล้อม ต้องไม่ละหัตถบาส
[๔๙๓] วิหาร ของตระกูลหนึ่งและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุเก็บจีวรไว้ในวิหาร
ต้องอยู่ภายในวิหาร วิหารของตระกูลหนึ่งไม่มีรั้วล้อม ต้องอยู่ในวิหารที่ตนเก็บจีวร
ไว้หรือไม่ละหัตถบาส
วิหารของต่างตระกูลและล้อมรั้วไว้ด้วยกัน ภิกษุต้องอยู่ในวิหารที่ตนเก็บจีวรไว้
หรือที่ริมประตู หรือไม่ละหัตถบาส วิหารของต่างตระกูลไม่มีรั้วล้อม ต้องอยู่ในวิหาร
ที่ตนเก็บจีวรไว้ หรือไม่ละหัตถบาส

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “อัพภันดร” เป็นมาตราวัดในภาษามคธ เทียบเท่า ๒๘ ศอก หรือ ๗ วา (เอตํ อพฺภนฺตรํ
อฏฺฐวีสติหตฺถํ โหติ - วิ.อ. ๒/๔๘๙/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒.อุทโทสิตสิกขาบท บทภาชนีย์
[๔๙๔] โคนไม้ ของตระกูลหนึ่ง กำหนดเขตที่เงาแผ่ไปรอบ ๆ เวลาเที่ยงวัน
ภิกษุเก็บจีวรภายในเขตเงา ต้องอยู่ในเขตเงา
โคนไม้ของต่างตระกูล ต้องไม่ละหัตถบาส
ที่ชื่อว่าที่กลางแจ้งมีอุปจารเดียวกัน คือ ป่าไม่มีบ้าน กำหนด ๗ อัพภันดร
โดยรอบ เป็นอุปจารเดียว พ้นกำหนดนั้นเป็นอุปจารแยกกัน
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๔๙๕] จีวรอยู่ปราศแล้ว ภิกษุสำคัญว่าอยู่ปราศแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์ เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ
จีวรอยู่ปราศแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นแต่ภิกษุได้
รับสมมติ
จีวรอยู่ปราศแล้ว ภิกษุสำคัญว่าไม่อยู่ปราศแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ
จีวรยังไม่ได้ถอน ภิกษุสำคัญว่าถอนแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นแต่
ภิกษุได้รับสมมติ
จีวรยังไม่ได้สละให้ ภิกษุสำคัญว่าสละให้แล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ
จีวรยังไม่สูญหาย ภิกษุสำคัญว่าสูญหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ
จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ
จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์ เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ
จีวรยังไม่ถูกโจรชิง ภิกษุสำคัญว่าถูกโจรชิงไปแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๒. อุทโทสิตสิกขาบท อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่สละ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรไม่อยู่ปราศ ภิกษุสำคัญว่าอยู่ปราศแล้ว ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรไม่อยู่ปราศ ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรไม่อยู่ปราศ ภิกษุสำคัญว่าไม่อยู่ปราศ ใช้สอย ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๙๖] ๑. ภิกษุผู้ถอนภายในอรุณ
๒. ภิกษุผู้สละให้ไป
๓. ภิกษุผู้มีจีวรสูญหาย
๔. ภิกษุผู้มีจีวรฉิบหาย
๕. ภิกษุผู้มีจีวรถูกไฟไหม้
๖. ภิกษุผู้มีจีวรถูกโจรชิงเอาไป
๗. ภิกษุผู้มีจีวรถูกถือเอาไปโดยวิสาสะ
๘. ภิกษุได้รับสมมติ
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุทโทสิตสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๓.ตติยกฐินสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. จีวรวรรค
๓. ตติยกฐินสิกขาบท
ว่าด้วยกฐินเดาะข้อที่ ๓
เรื่องภิกษุรับอกาลจีวร
[๔๙๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อกาลจีวร๑ ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุรูป
หนึ่ง ท่านจะทำจีวรแต่ผ้าไม่พอ จึงพยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นเธอพยายามดึงผ้านั้นให้
ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น ครั้นถึงแล้วตรัสถามว่า “เธอ
พยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง เพื่ออะไร”
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ผ้าที่เป็นอกาลจีวร ครั้นจะทำจีวรผ้าไม่พอ
ดังนั้นจึงพยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอมีความหวังจะได้ผ้าสำหรับทำจีวร
อีกหรือ”
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “มีความหวัง พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงอนุญาตอกาลจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “เราอนุญาตให้รับผ้าที่เป็นอกาลจีวรแล้วเก็บไว้โดยมีความหวัง
ว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม”

เชิงอรรถ :
๑ อกาลจีวร หมายถึงผ้าสำหรับทำจีวรที่เกิดขึ้นนอกฤดูกาล คือนอกกาลที่ภิกษุจะพึงรับผ้าผืนที่ ๔ นอก
จากไตรจีวรเก็บไว้ได้ (ดูเชิงอรรถ ข้อ ๕๐๐ หน้า ๒๑ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๑๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๓.ตติยกฐินสิกขาบท พระบัญญัติ
[๔๙๘] ต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้รับผ้า
ที่เป็นอกาลจีวรเก็บไว้ได้โดยมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม จึงรับผ้าที่เป็นอกาลจีวร
เก็บไว้เกิน ๑ เดือน ผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อ ๆ แขวนไว้ที่ราว
ท่านพระอานนท์เที่ยวไปตามเสนาสนะ เห็นผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อ ๆ
แขวนไว้ที่ราว จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า “ผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อ ๆ แขวนไว้ที่
ราว เป็นของใคร”
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “ผ้าเหล่านี้เป็นอกาลจีวร พวกกระผมเก็บไว้โดยความ
หวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม”
พระอานนท์ถามว่า “เก็บไว้นานเท่าไร”
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “เก็บไว้เกิน ๑ เดือน ขอรับ”
พระอานนท์ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงรับผ้าที่เป็น
อกาลจีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือนเล่า” ครั้นท่านตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ
แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายรับผ้าที่เป็น
อกาลจีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
จึงรับผ้าที่เป็นอกาลจีวรแล้วเก็บไว้เกิน ๑ เดือนเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๙๙] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว อกาลจีวรเกิดขึ้น
แก่ภิกษุ ภิกษุต้องการก็พึงรับไว้ได้ ครั้นรับแล้วพึงรีบให้ทำเป็นจีวร ถ้าผ้านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๓.ตติยกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
มีไม่พอ เมื่อมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม ภิกษุนั้นพึงเก็บผ้าสำหรับทำจีวรนั้น
ไว้ไม่เกิน ๑ เดือน เพื่อเพิ่มผ้าสำหรับทำจีวรที่ยังขาดให้ครบ ถ้าเก็บเกินกำหนด
นั้น แม้มีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรับอกาลจีวร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๕๐๐] คำว่า เมื่อจีวร...สำเร็จแล้ว หมายความว่า จีวรของภิกษุทำเสร็จ
แล้ว สูญหายแล้ว ฉิบหายแล้ว ถูกไฟไหม้เสียแล้ว หรือภิกษุหมดหวังว่าจะได้ผ้ามา
เย็บเป็นจีวร
คำว่า เมื่อกฐินเดาะแล้ว หมายความว่า กฐินเดาะด้วยมาติกาอย่างใดอย่าง
หนึ่งในมาติกา ๘ หรือสงฆ์เดาะกฐินในระหว่าง
ที่ชื่อว่า อกาลจีวร ได้แก่ ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด ๑๑ เดือน ในเมื่อไม่ได้กรานกฐิน
ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด ๗ เดือน ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว แม้ผ้าที่เขาถวายเจาะจงในกาล
นี้ชื่อว่า อกาลจีวร๑
คำว่า เกิดขึ้น คือ เกิดจากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร หรือที่เป็นผ้า
บังสุกุล หรือที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน
คำว่า ต้องการ คือ เมื่อต้องการก็รับไว้
คำว่า ครั้นรับแล้วพึงรีบให้ทำ คือ พึงให้ทำเสร็จภายใน ๑๐ วัน
คำว่า ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ คือ ผ้าไม่เพียงพอที่จะทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง
คำว่า ภิกษุนั้นพึงเก็บผ้าสำหรับทำจีวรนั้นไว้ไม่เกิน ๑ เดือน คือ เก็บไว้ได้
๑ เดือนเป็นอย่างมาก

เชิงอรรถ :
๑ คือ (๑) ตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของปีถัดไปสำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐิน
รวมเป็น ๑๑ เดือน (๒) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในปีเดียวกัน สำหรับผู้ได้
กรานกฐิน รวมเป็น ๗ เดือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๓.ตติยกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คำว่า เพื่อเพิ่มผ้าสำหรับทำจีวรที่ยังขาดให้ครบ คือ เพื่อจะให้ผ้าที่ยังขาด
ครบบริบูรณ์
คำว่า เมื่อมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม คือ มีความหวังว่าจะได้จากสงฆ์
จากคณะ จากญาติ จากมิตร หรือที่เป็นผ้าบังสุกุล หรือที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน
จีวรที่มีความหวังว่าจะได้มา
คำว่า ถ้าเก็บเกินกำหนดนั้น แม้มีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม อธิบายว่า
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในวันที่จีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้ว พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม
เกิดขึ้นแล้วได้ ๓ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๔ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม
เกิดขึ้นแล้วได้ ๕ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๖ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม
เกิดขึ้นแล้วได้ ๗ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๘ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม
เกิดขึ้นแล้วได้ ๙ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๐ วัน พึงทำให้เสร็จใน
๑๐ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๑ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม
เกิดขึ้นแล้วได้ ๑๒ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๓ วัน ... ในเมื่อจีวรผืน
เดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๔ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๕ วัน ... ในเมื่อจีวร
ผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๖ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๗ วัน ... ในเมื่อ
จีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๘ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๙ วัน ... ใน
เมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๐ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๑ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๙ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๒ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๘ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๓ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๗ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๔ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๖ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๕ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๕ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๖ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๔ วัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๓.ตติยกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๗ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๓ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๘ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๒ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๙ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๑ วัน
จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๓๐ วัน พึงอธิษฐาน วิกัป
สละให้ผู้อื่นในวันนั้น ถ้าไม่อธิษฐาน ไม่วิกัปหรือไม่สละให้ผู้อื่น เมื่อรุ่งอรุณวันที่ ๓๑
จีวรเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ อกาลจีวรผืนนี้ของ
กระผมเกิน ๑ เดือน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละอกาลจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้ว
พึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ อกาลจีวร
ผืนนี้ของกระผมเกิน ๑ เดือน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละอกาลจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้ง
หลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๓.ตติยกฐินสิกขาบท บทภาชนีย์
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ อกาลจีวรผืนนี้ของกระผมเกิน ๑
เดือน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละอกาลจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดง
อาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผม
คืนจีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
จีวรที่หวังเกิดขึ้น เนื้อผ้าไม่เหมือนกับจีวรเดิมที่เกิดขึ้นแล้ว และวันคืนก็ยัง
เหลืออยู่ เมื่อไม่ต้องการจะทำ ก็ไม่ต้องทำ
บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๐๑] จีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
จีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกิน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุสำคัญว่าวิกัปแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้สละให้ ภิกษุสำคัญว่าสละให้แล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่สูญหาย ภิกษุสำคัญว่าสูญหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ถูกโจรชิง ภิกษุสำคัญว่าถูกโจรชิงแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๓.ตติยกฐินสิกขาบท อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุไม่สละ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรยังไม่เกิน ๑ เดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินแล้ว ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรที่ยังไม่เกิน ๑ เดือน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรยังไม่เกิน ๑ เดือน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกิน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๕๐๒] ๑. ภิกษุอธิษฐานภายใน ๑ เดือน
๒. ภิกษุผู้วิกัปไว้
๓. ภิกษุผู้สละให้ไป
๔. ภิกษุผู้มีจีวรสูญหาย
๕. ภิกษุผู้มีจีวรฉิบหาย
๖. ภิกษุผู้มีจีวรถูกไฟไหม้
๗. ภิกษุผู้มีจีวรถูกโจรชิงเอาไป
๘. ภิกษุผู้มีจีวรถูกถือเอาไปโดยวิสาสะ
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
ตติยกฐินสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๔.ปุราณจีวรสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. จีวรวรรค
๔. ปุราณจีวรสิกขาบท
ว่าด้วยการให้ซักจีวรเก่า
เรื่องพระอุทายีกับอดีตภรรยา
[๕๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อดีตภรรยาของท่านพระอุทายีบวช
อยู่ในสำนักภิกษุณี นางมาหาท่านพระอุทายีอยู่เสมอ แม้ท่านพระอุทายีก็ไปหา
นางอยู่เสมอ ก็ในสมัยนั้น ท่านพระอุทายีกระทำภัตกิจในที่อยู่ของนาง
เช้าวันหนึ่ง ท่านพระอุทายีครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรไปหานางถึงที่อยู่
เมื่อเข้าไปถึงแล้วก็นั่งบนอาสนะเปิดองคชาตต่อหน้าภิกษุณีนั้น แม้ภิกษุณีนั้นก็นั่งบน
อาสนะเปิดองค์กำเนิดต่อหน้าท่านพระอุทายีเช่นกัน ท่านพระอุทายีเกิดความ
กำหนัดเพ่งมององค์กำเนิดของนาง น้ำอสุจิของท่านพระอุทายีนั้นเคลื่อน ครั้นแล้ว
ท่านพระอุทายีจึงกล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “น้องหญิง เธอจงไปหาน้ำมา ฉันจะ
ซักอันตรวาสก”
นางตอบว่า “โปรดส่งมาเถิด ดิฉันจะซักให้”
ครั้นแล้วนางใช้ปากดูดอสุจิส่วนหนึ่ง และสอดอสุจิอีกส่วนหนึ่งเข้าในองค์
กำเนิด เพราะเหตุนั้นนางจึงได้ตั้งครรภ์
พวกภิกษุณีพูดว่า “ภิกษุณีนั้นไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์จึงตั้งครรภ์”
นางตอบว่า “แม่เจ้า ไม่ใช่ว่าดิฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์” แล้วบอกเรื่อง
นั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
พวกภิกษุณีพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงให้
ภิกษุณีซักจีวรเก่าให้เล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไปบอกให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ท่านพระอุทายีจึงให้ภิกษุณีซักจีวรเก่าให้เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพระอุทายี
โดยประการ ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๔.ปุราณจีวรสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอใช้ภิกษุณีซักจีวรเก่า จริงหรือ”
พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์ทรงถามว่า “อุทายี นางเป็น
ญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ” พระอุทายีทูลตอบว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ชายผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสม
หรือไม่เหมาะสม ความน่าเลื่อมใสหรือไม่น่าเลื่อมใสของหญิงผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ
เธอนั้น๑ ใช้ภิกษุณีผู้ที่ไม่ใช่ญาติให้ซักจีวรเก่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๐๔] ก็ ภิกษุใดใช้ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติให้ซัก ให้ย้อม หรือให้ทุบจีวรเก่า
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุทายีกับอดีตภรรยา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๕๐๕] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน๒

เชิงอรรถ :
๑ ตตฺถ เธอนั้น นี้เป็น ปจฺจตฺตกตฺวตฺถ หรือ กรณกตฺวตฺถ คือมีอรรถเป็นปฐมาวิภัตติ หรือตติยาวิภัตติ (ตตฺถ
นาม ตฺวนฺติ โส นาม ตฺวํ, ตาย นาม ตฺวนฺติ วา อตฺโถ - วิมติ. ฏีกา ๑/๕๐๓-๕/๔๑๗ แปลว่า เธอนั้น
หรือภิกษุณีนั้น ก็ได้)
๒ เจ็ดชั่วคน คือวงศ์สกุลที่สืบสายโลหิตกันมา นับตั้งแต่ตัวภิกษุขึ้นไป ๓ ชั้น คือชั้นพ่อ ชั้นปู่ และชั้นทวด
กับนับจากตัวภิกษุลงมาอีก ๓ ชั้น คือชั้นลูก ชั้นหลาน และชั้นเหลน รวมเป็นเจ็ดชั่วคน (วิ.อ. ๒/๕๐๓-๕/
๑๖๕-๑๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๔.ปุราณจีวรสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
ที่ชื่อว่า จีวรเก่า ได้แก่ ผ้าที่นุ่งแล้วแม้เพียง ๑ ครั้ง ผ้าที่ห่มแล้วแม้เพียง ๑
ครั้ง
ภิกษุสั่งว่า “จงซัก” ต้องอาบัติทุกกฏ จีวรที่ภิกษุณีซักแล้วเป็นนิสสัคคีย์
ภิกษุสั่งว่า “จงย้อม” ต้องอาบัติทุกกฏ จีวรที่ภิกษุณีย้อมแล้วเป็นนิสสัคคีย์
ภิกษุสั่งว่า “จงทุบ” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อภิกษุณีใช้มือหรือตะลุมพุกทุบเพียง
๑ ครั้ง จีวรเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุ
ผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรเก่าผืนนี้
กระผมใช้ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติให้ซัก เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้น
สละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรเก่า
ผืนนี้กระผมใช้ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติให้ซัก เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรเก่าผืนนี้แก่
ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๔.ปุราณจีวรสิกขาบท บทภาชนีย์
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรเก่าผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง
ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรเก่าผืนนี้กระผมใช้ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติให้
ซัก เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน
จีวรเก่าผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
สำคัญว่าไม่ใช่ญาติ จตุกกะที่ ๑
[๕๐๖] ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ซักจีวรเก่า ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ซัก ใช้ให้ย้อมจีวรเก่า ต้อง
อาบัติทุกกฏกับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ซัก ใช้ให้ทุบจีวรเก่า ต้อง
อาบัติทุกกฏกับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ซัก ใช้ให้ย้อม ใช้ให้ทุบจีวร
เก่า ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว กับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
สำคัญว่าไม่ใช่ญาติ จตุกกะที่ ๒
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ย้อมจีวรเก่า ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๔.ปุราณจีวรสิกขาบท บทภาชนีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ย้อม ใช้ให้ทุบจีวรเก่า ต้อง
อาบัติทุกกฏกับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ย้อม ใช้ให้ซักจีวรเก่า ต้อง
อาบัติทุกกฏกับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ย้อม ใช้ให้ทุบ ใช้ให้ซัก
จีวรเก่า ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว กับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
สำคัญว่าไม่ใช่ญาติ จตุกกะที่ ๓
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ทุบจีวรเก่า ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ทุบ ใช้ให้ซักจีวรเก่า ต้อง
อาบัติทุกกฏกับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ทุบ ใช้ให้ย้อมจีวรเก่า ต้อง
อาบัติทุกกฏกับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ทุบ ใช้ให้ซัก ใช้ให้ย้อมจีวร
เก่า ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว กับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ ฯลฯ
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ฯลฯ
ทุกกฏ
ภิกษุใช้ภิกษุณีให้ซักจีวรเก่าของภิกษุรูปอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ภิกษุณีให้ซักผ้าปูนั่งและผ้าปูนอน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ภิกษุณีผู้อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียวให้ซัก ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๔.ปุราณจีวรสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๕๐๗] ๑. ภิกษุผู้เป็นเจ้าของจีวรที่ภิกษุณีผู้เป็นญาติซักให้เอง โดยมีภิกษุณี
สหายผู้ไม่ใช่ญาติคอยช่วยเหลือ
๒. ภิกษุไม่ได้ใช้ ภิกษุณีไม่ใช่ญาติซักให้เอง
๓. ภิกษุใช้ซักจีวรที่ยังไม่ได้ใช้สอย
๔. ภิกษุใช้ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติให้ซักบริขารอย่างอื่น นอกจากจีวร
๕. ภิกษุใช้สิกขมานาให้ซัก
๖. ภิกษุใช้สามเณรีให้ซัก
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปุราณจีวรสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑.จีวรวรรค
๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท
ว่าด้วยการรับจีวร
เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา
[๕๐๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุณีอุบลวรรณาพักอยู่ ณ กรุงสาวัตถี
เวลาเช้า ภิกษุณีอุบลวรรณาครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร๑ เข้าไปบิณฑบาต
ในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันเสร็จแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อ
พักผ่อนกลางวัน นั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
สมัยนั้น พวกโจรขโมยแม่โคมาฆ่าแล้วถือเอาเนื้อเข้าป่าอันธวัน หัวหน้าโจร
มองเห็นภิกษุณีอุบลวรรณานั่งพักกลางวัน ครั้นเห็นแล้วจึงคิดว่า “หากพวกลูกน้อง
เราพบเข้า จะประทุษร้ายนาง” จึงเลี่ยงเดินไปทางอื่น เมื่อปิ้งเนื้อสุก หัวหน้าโจร
เลือกเนื้อดี ๆ เอาใบไม้ห่อแขวนไว้ที่ต้นไม้ใกล้ภิกษุณีแล้วกล่าวว่า “เนื้อห่อนี้เรา
ให้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เห็นแล้วจงถือเอาไปเถิด”
ภิกษุณีออกจากสมาธิ ได้ยินคำที่หัวหน้าโจรพูด จึงถือเอาเนื้อไปที่พัก ครั้น
ราตรีผ่านไป นางจัดเนื้อชิ้นนั้นให้เรียบร้อยแล้วใช้อุตตราสงค์ห่อเหาะไปยังพระเวฬุวัน
วิหาร

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร” นี้ มิใช่ว่า ก่อนหน้านี้ภิกษุณีมิได้นุ่งอันตรวาสก มิใช่ว่า ท่าน
ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมายถึงท่านผลัดเปลี่ยนสบง
หรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” คือ ถือบาตรด้วยมือ ถือจีวรด้วยกาย หมาย
ความว่า “ห่มจีวรอุ้มบาตร” นั่นเอง (นิวาเสตฺวาติ ปริทหิตฺวา, วิหารนิวาสนปริวตฺตนวเสเนตํ เวทิตพฺพํ.
น หิ เต ตโต ปุพฺเพ อนิวตฺถา อเหสุํ. ปตฺตจีวรมาทายาติ ปตฺตํ หตฺเถหิ, จีวรํ กาเยน อาทิยิตฺวา,
สมฺปฏิจฺฉาเทตฺวา ธาเรตฺวาติ อตฺโถ- วิ. อ. ๑/๑๖/๑๘๐, วิหารนิวาสนปริวตฺตนวเสน นิวาสนํ ทฬฺหํ
นิวาเสตฺวา. ... จีวรํ ปารุปิตฺวา ปตฺตํ หตฺเถน คเหตฺวา - อุทาน. อ. ๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท นิทานวัตถุ
เช้าวันนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เหลือท่านพระอุทายี
อยู่เฝ้าพระวิหาร ภิกษุณีอุบลวรรณาเข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน”
ท่านพระอุทายีตอบว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน”
ภิกษุณีกล่าวว่า “โปรดถวายเนื้อชิ้นนี้แด่พระผู้มีพระภาค”
ท่านพระอุทายีกล่าวว่า “น้องหญิง พระผู้มีพระภาคจะทรงอิ่มหนำด้วยเนื้อที่
ถวาย ถ้าเธอถวายอันตรวาสกแก่อาตมา อาตมาก็จะอิ่มหนำด้วยอันตรวาสกเช่นกัน”
ภิกษุณีกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ความจริง ดิฉันเป็นมาตุคามหาลาภได้ยาก
ทั้งผ้าผืนนี้ก็เป็นจีวรผืนสุดท้ายที่จะครบ ๕ ผืน๑ ดิฉันถวายไม่ได้”
ท่านพระอุทายีกล่าวว่า “น้องหญิง เปรียบเหมือนบุรุษให้ช้างแล้วก็ควรสละ
สัปคับสำหรับช้างด้วย เธอก็เหมือนกัน ถวายชิ้นเนื้อแด่พระผู้มีพระภาคแล้วก็จงสละ
อันตรวาสกแก่อาตมาเถิด”
ครั้นถูกท่านพระอุทายีพูดรบเร้า นางจึงถวายอันตรวาสกแล้วกลับที่พัก
พวกภิกษุณีผู้คอยรับบาตรและจีวรถามนางว่า “อันตรวาสกของคุณแม่อยู่ที่
ไหน”
นางจึงบอกเรื่องนั้นให้ทราบ
ภิกษุณีทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงรับ
จีวรจากมือภิกษุณีเล่า มาตุคามมีลาภน้อย” แล้วบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ท่านพระอุทายีจึงรับจีวรจากมือภิกษุณีเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุทายี
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุณีใช้ผ้ากาสายะ ๕ ผืน คือ (๑) สังฆาฏิ ผ้าห่มซ้อนนอก (๒) อุตตราสงค์ ผ้าห่ม (๓) อันตรวาสก ผ้านุ่ง
(๔) อุทกสาฏิกา ผ้าอาบน้ำ (๕) สังกัจจิกา ผ้ารัดถัน (กงฺขา.อ. ๓๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท พระบัญญัติ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอรับจีวรจากมือภิกษุณี จริงหรือ”
ท่านพระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้า” พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “อุทายี
นางเป็นญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ” พระอุทายีทูลรับว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “โมฆบุรุษ บุรุษผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสมหรือไม่
เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของสตรีผู้ไม่ใช่ญาติ เธอนั้นรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้
ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใส อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๐๙] ก็ ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา จบ
เรื่องแลกเปลี่ยนจีวร
[๕๑๐] สมัยนั้น พวกภิกษุรังเกียจไม่ยอมรับจีวรแลกเปลี่ยนของพวกภิกษุณี
พวกภิกษุณีตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระคุณเจ้าจึงไม่ยอมรับจีวร
แลกเปลี่ยนของพวกเราเล่า” พวกภิกษุได้ยินคำตำหนิประณามโพนทะนาของพวก
ภิกษุณีจึงนำความนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงอนุญาตให้รับจีวรแลกเปลี่ยนได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สหธรรมิก ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี
สิกขมานา สามเณร และสามเณรี แลกเปลี่ยนจีวรกันได้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้รับสิ่งของแลกเปลี่ยนของสหธรรมิก ๕ เหล่านี้ได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๕๑๑] อนึ่ง ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน
เรื่องแลกเปลี่ยนจีวร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๕๑๒] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขนาดพอที่จะทำ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ
คำว่า เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน คือ ยกเว้นแลกเปลี่ยนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุรับ ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะพยายาม๑ จีวรเป็นนิสสัคคีย์ เพราะได้มา คือ
เป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้กระผมรับ
มาจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ โดยมิได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวร
ผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวร
ผืนนี้กระผมรับมาจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ โดยมิได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์
กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

เชิงอรรถ :
๑ เพราะเหยียดมือรับเป็นต้น (คหณตฺถาย หตฺถปฺปสารณาทีสุ ทุกฺกฏํ - วิ.อ. ๒/๕๑๒/๑๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๕.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท บทภาชนีย์
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้กระผมรับมาจากมือ
ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ โดยมิได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้
แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน
จีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๑๓] ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ รับจีวรจากมือ ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน
ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน
ติกทุกกฏ
ภิกษุณีผู้อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียว ภิกษุรับจีวรจากมือ ต้องอาบัติทุกกฏ เว้น
ไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน
ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ รับจีวรจากมือ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท นิทานวัตถุ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๕๑๔] ๑. ภิกษุรับจีวรของภิกษุณีผู้เป็นญาติ
๒. ภิกษุแลกเปลี่ยน คือ เอาของที่มีค่าน้อยแลกกับของมีค่ามาก
หรือเอาของที่มีค่ามากแลกกับของมีค่าน้อย
๓. ภิกษุถือวิสาสะเอามา
๔. ภิกษุขอยืมจีวร
๕. ภิกษุรับบริขารอื่นนอกจากจีวร
๖. ภิกษุรับจีวรของสิกขมานา
๗. ภิกษุรับจีวรของสามเณรี
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
จีวรปฏิคคหณสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๖.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. จีวรวรรค
๖. อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท
ว่าด้วยการออกปากขอคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๑๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
เชี่ยวชาญการแสดงธรรมีกถา บุตรเศรษฐีคนหนึ่งเข้าไปหาท่านถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว
จึงไหว้ท่าน นั่ง ณ ที่สมควร ลำดับนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ชี้แจงให้บุตร
เศรษฐีเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา๑
บุตรเศรษฐีนั้นอันท่านพระอุปนันทศากยบุตรชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับ
เอาไปปฏิบติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วจึงปวารณาท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าพึงบอก
ปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่ท่านต้องการ
ซึ่งกระผมพอจะจัดหามาถวายได้”

เชิงอรรถ :
๑ เรียกว่า ลีลาการสอน หรือ เทศนาวิธี ๔ คือ (๑) สันทัสสนา ชี้แจงให้เห็นชัด (๒) สมาทปนา ชวนให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ (๓) สมุตเตชนา เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า (๔) สัมปหังสนา ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริง (มาในบาลีมากแห่ง วิ.มหา. ๑/๒๒-๒๔,๒๙๐/๑๓-๔,๒๒๒, วิ.ภิกฺขุนี. ๓/๗๘๓/๗๒-๓,
วิ.ม. ๔/๒๙,๘๙-๙๐,๑๐๕,๑๓๒,๑๓๗/๒๕,๑๐๖-๗,๑๒๐,๑๔๖,๑๕๐, วิ.ม. ๕/๒๗๐,๒๗๖,๒๘๐-๑, ๒๘๘,
๒๙๔,๒๙๘,๓๓๗/๓๘,๔๕,๕๐,๕๒,๖๕,๗๔,๘๑,๑๓๙, วิ.จู. ๖/๓๓,๑๙๒/๔๓-๔,๒๒๕, วิ.จู. ๗/๒๖๐,
๒๖๘-๙,๔๐๔,๔๔๕/๒๑,๓๓-๔,๒๓๗,๒๘๒, ที.สี. ๙/๓๔๔,๓๕๘/๑๔๐,๑๕๐, ที.ม. ๑๐/๑๖๑-๒,
๑๙๔/๘๗-๙,๑๑๗-๘, ที.ปา. ๑๑/๓๔,๒๙๙/๒๒,๑๘๙, ม.มู. ๑๒/๒๕๒,๒๕๕-๖,๒๘๙/๒๑๕-๒๑๗,
๒๕๓-๔, ม.ม. ๑๓/๒๒,๒๘๕,๓๗๑/๑๘,๒๖๑,๓๕๕, สํ.ส. ๑๕/๑๕๒-๓,๑๕๕,๑๘๕,๒๔๑/๑๓๕-๘,๑๘๗,
๒๕๓, สํ.นิ. ๑๖/๒๔๑/๒๖๕, สํ.ข. ๑๗/๘๑/๗๗, สํ.สฬา. ๑๘/๑๓๓/๑๑๔, องฺ.อฏฺฐก-นวก. ๒๓/๑๒,๒๔,
๗๘,๔/๑๕๖,๑๘๐,๒๗๓,๒๙๖, องฺ.ทสก. ๒๔/๙๓/๑๕๒, ขุ.อุ. ๒๕/๖๑,๗๑-๕/๒๐๓,๒๑๒-๕, ขุ.อิติ.
๒๕/๑๐๔/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๖.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท นิทานวัตถุ
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า “ถ้าโยมต้องการถวายแก่อาตมา ก็
จงถวายผ้าผืนหนึ่งจากผ้าที่โยมนุ่งห่มอยู่นี้”
เขากล่าวว่า “กระผมเป็นกุลบุตร จะนุ่งผ้าผืนเดียวเดินกลับบ้าน ดูจะไม่เหมาะ
นิมนต์รอให้กระผมกลับไปถึงบ้านก่อน แล้วกระผมจะส่งผ้า ๑ ผืนจาก ๒ ผืนนี้
หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรพูดเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “ถ้าโยมต้องการถวายแก่
อาตมา ก็จงถวายผ้าผืนหนึ่งจากผ้าที่โยมนุ่งห่มอยู่นี้” บุตรเศรษฐีก็ยังกล่าวปฏิเสธ
อยู่เหมือนเดิมว่า “กระผมเป็นกุลบุตร จะนุ่งผ้าผืนเดียวเดินกลับบ้าน ดูจะไม่เหมาะ
นิมนต์ท่านรอให้กระผมกลับไปถึงบ้านก่อน แล้วกระผมจะส่งผ้า ๑ ผืนจาก ๒ ผืนนี้
หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรก็พูดรบเร้าเป็นครั้งที่ ๓ ว่า
“ถ้าโยมต้องการถวายแก่อาตมา ก็จงถวายผ้าผืนหนึ่งจากผ้าที่โยมนุ่งห่มอยู่นี้” แต่
เขาก็คงพูดบ่ายเบี่ยงอยู่เหมือนเดิมว่า “กระผมเป็นกุลบุตร จะนุ่งผ้าผืนเดียวเดินกลับ
บ้าน ดูจะไม่เหมาะ นิมนต์ท่านรอให้กระผมกลับไปถึงบ้านก่อน แล้วกระผมจะส่ง
ผ้า ๑ ผืนจาก ๒ ผืนนี้หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า “ท่านไม่ต้องการถวาย ก็จะปวารณาไป
ทำไม ปวารณาแล้วไม่ถวาย จะมีประโยชน์อะไร”
เมื่อถูกท่านพระอุปนันทศากยบุตรพูดรบเร้า เขาจึงถวายผ้า ๑ ผืน แล้วกลับไป
ถูกชาวบ้านถามว่า “นาย ทำไมนุ่งผ้าผืนเดียวกลับมาเล่า” บุตรเศรษฐีนั้นจึงบอก
เรื่องนั้นให้ชาวบ้านเหล่านั้นทราบ
ชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
มักมากไม่สันโดษ สมณะเหล่านี้แม้จะนิมนต์ตามธรรมเนียม ก็ไม่ใช่กระทำได้ง่าย
ไฉนเมื่อบุตรเศรษฐีทำการนิมนต์ตามธรรมเนียม พระสมณะทั้งหลายก็ยังจะรับเอา
ผ้าไปเล่า”
พวกภิกษุได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
สันโดษ ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระอุปนันทศากยบุตรจึง
ออกปากขอจีวรจากบุตรเศรษฐีเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากย
บุตร โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๖.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท พระบัญญัติ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอออกปากขอจีวรจาก
บุตรเศรษฐี จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุปนันทะ บุตรเศรษฐีเป็นญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลตอบว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์
ทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ คฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ เธอนั้นออกปากขอจีวรจากบุตร
เศรษฐีผู้ไม่ใช่ญาติเชียวหรือ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๑๖] ก็ ภิกษุใดออกปากขอจีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิง
ผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
เรื่องภิกษุถูกชิงจีวร
[๕๑๗] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลจากเมืองสาเกตไปกรุงสาวัตถี ใน
ระหว่างทาง พวกโจรออกมาปล้นภิกษุเหล่านั้น พวกเธอคิดว่า “การออกปากขอ
จีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิง พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้แล้ว” จึงรังเกียจ
ไม่ยอมออกปากขอจีวรเลย เปลือยกายไปถึงกรุงสาวัตถี ไหว้ภิกษุทั้งหลาย พวก
ภิกษุจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกอาชีวกที่พากันไหว้ภิกษุเหล่านี้ เป็นพวก
อาชีวกที่ดี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๖.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ภิกษุชาวเมืองสาเกตกล่าวอย่างนี้ว่า “พวกกระผมไม่ใช่อาชีวก พวกกระผม
เป็นภิกษุ”
ภิกษุชาวกรุงสาวัตถีได้กล่าวกับพระอุบาลีว่า “ท่านอุบาลี นิมนต์ท่านไต่สวน
ภิกษุเหล่านี้เถิด” เมื่อภิกษุเหล่านั้นถูกพระอุบาลีไต่สวน จึงเล่าเรื่องนั้นให้ทราบ
ครั้นไต่สวนแล้ว พระอุบาลีแจ้งว่า “พวกเปลือยกายเหล่านี้เป็นภิกษุ จงให้จีวร
แก่พวกเธอ”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจึงเปลือยกายเดินมาเล่า ตามธรรมดาภิกษุต้องใช้หญ้าหรือใบไม้ปกปิดเดิน
มา มิใช่หรือ” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้ขอจีวรได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ถูกโจรชิงจีวร หรือจีวรหาย
ออกปากขอจีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติได้ ถ้าวัดที่ภิกษุไปถึง
ก่อน มีจีวรประจำวิหาร ผ้าปูเตียง ผ้าปูพื้นหรือผ้าปลอกฟูกของสงฆ์ ก็พึงถือเอา
ผ้าของสงฆ์ไปห่มโดยตั้งใจว่า ‘เมื่อเราได้จีวรแล้วจะนำมาคืน’ ดังนี้ก็ควร ถ้าไม่มีจีวร
ประจำวิหาร ผ้าปูเตียง ผ้าปูพื้นหรือผ้าปลอกฟูกของสงฆ์ ควรใช้หญ้าหรือใบไม้
ปกปิดมา อนึ่ง ภิกษุไม่พึงเปลือยกายเดินมา ภิกษุใดเปลือยกายเดินมา ต้องอาบัติ
ทุกกฏ” แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๕๑๘] อนึ่ง ภิกษุใดออกปากขอจีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้
ไม่ใช่ญาติ นอกสมัย ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ ภิกษุถูก
ชิงจีวรไป หรือจีวรสูญหาย นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
เรื่องภิกษุถูกชิงจีวร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๖.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๕๑๙] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขนาดพอที่จะ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า ภิกษุถูกชิงจีวรไป ได้แก่ จีวรของภิกษุที่พระราชา โจร นักเลงหรือ
คนบางพวกชิงเอาไป
ที่ชื่อว่า จีวรสูญหาย ได้แก่ จีวรของภิกษุถูกไฟไหม้ น้ำพัด หนูหรือปลวกกัด
หรือที่ใช้สอยจนเก่า
ภิกษุออกปากขอนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏเพราะพยายาม จีวรเป็นนิสสัคคีย์
เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้กระผม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๖.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ออกปากขอจากคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ นอกสมัย เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้
แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้
กระผมออกปากขอจากคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ นอกสมัย เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวร
ผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่านทั้งหลาย
ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้กระผมออกปากขอ
จากคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ นอกสมัย เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้น
สละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผม
คืนจีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๖.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๒๐] คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ขอจีวรนอกสมัย ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ ขอจีวรนอกสมัย ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ขอจีวรนอกสมัย ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ขอจีวรนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ ขอจีวรนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ขอจีวรนอกสมัย ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๕๒๑] ๑. ภิกษุออกปากขอในสมัย
๒. ภิกษุออกปากขอจากญาติ
๓. ภิกษุออกปากขอจากคนปวารณา
๔. ภิกษุออกปากขอเพื่อภิกษุรูปอื่น
๕. ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๗.ตตุตตริสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. จีวรวรรค
๗. ตตุตตริสิกขาบท
ว่าด้วยการออกปากขอจีวรเกิน
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๕๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาภิกษุ
ที่ถูกโจรชิงจีวรไปแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้
ภิกษุที่ถูกโจรชิงจีวรไปหรือจีวรสูญหาย ออกปากขอจีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือ
คฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติได้ พวกท่านจงขอจีวรเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ไม่ล่ะ ขอรับ พวกกระผมได้จีวรครบแล้ว”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกเราจะออกปากขอเพื่อพวกท่าน”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “นิมนต์ออกปากขอเถิด ขอรับ”
ต่อจากนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาพวกคฤหัสถ์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย
พวกภิกษุที่ถูกโจรชิงจีวรไปมาถึงแล้ว พวกท่านจงถวายจีวรแก่พวกเธอ” แล้วออก
ปากขอจีวรเป็นอันมาก
ก็สมัยนั้น ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมบอกชายอีกคนหนึ่งว่า “พวกพระ
คุณเจ้าที่ถูกโจรชิงจีวรไปมาถึงแล้ว ข้าพเจ้าได้ถวายจีวรท่านเหล่านั้นไปแล้ว”
ชายแม้นั้นตอบว่า “ข้าพเจ้าก็ได้ถวายไปแล้ว”
ชายอีกคนหนึ่งก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “แม้ข้าพเจ้าก็ได้ถวายไปแล้ว”
พวกเขาตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึง
ไม่รู้จักประมาณ ออกปากขอจีวรมากมายเล่า พวกเธอจะค้าผ้าหรือจัดตั้งร้านขาย
ผ้ากระมัง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๗.ตตุตตริสิกขาบท พระบัญญัติ
พวกภิกษุได้ยินคำตำหนิ ประณาม โพนทะนาของชาวบ้าน บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงไม่รู้
จักประมาณ ออกปากขอจีวรเป็นอันมากเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไม่รู้จักประมาณ
ขอจีวรเป็นอันมาก จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงไม่
รู้จักประมาณขอจีวรจำนวนมากเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๒๓] ถ้าคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ นำจีวรจำนวนมากมา
ปวารณาภิกษุนั้น๑ ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์และอันตรวาสกเป็นอย่าง
มากจากจีวรที่เขานำมานั้น ถ้ายินดีเกินกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พหูหิ จีวเรหิ อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺย ที่แปลว่า “นำจีวรจำนวนมากมาปวารณา” เป็นไปตามกฎนี้ : อภิหฏฺฐุํ
อภิ+หร+ตฺวา (ตฺวาปัจจัย) โดยสูตรว่า กิจฺจตการตุํตฺวาทีนญฺจ รฏฺฐรฏฺฐุํรฏฺฐาเทสา - รูป. ๖๐๙ (แปลง
ต ในกิจจปัจจัยเป็น ฏฺฐ แปลง ตุํ-ตฺวา ปัจจัยเป็นต้นเป็น ฏฺฐุํ ฏฺฐ) อรรถกถาวินัยก็อธิบายทำนอง
นี้ว่า “อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺยา”ติ อภิหริตฺวา ปวาเรยฺยาติ อตฺโถ. (คำว่า อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺยา มีอธิบายว่า
นำมาปวารณา วิ.อ. ๒/๕๒๒-๔/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๗.ตตุตตริสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๕๒๔] คำว่า ถ้า...ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ถูกโจรชิงจีวรไป
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน
คำว่า จีวรจำนวนมาก คือ จีวรหลายผืน
คำว่า นำ...มาปวารณา คือ นำมาปวารณาว่า ท่านจงรับจีวรตามที่
ปรารถนาเถิด
คำว่า ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์และอันตรวาสกเป็นอย่างมากจาก
จีวรที่เขานำมานั้น ความว่า ถ้าจีวรหาย ๓ ผืน เธอพึงยินดี ๒ ผืน จีวรหาย
๒ ผืน พึงยินดี ๑ ผืน หายผืนเดียวไม่พึงยินดี
คำว่า ถ้ายินดีเกินกว่านั้น ความว่า ภิกษุออกปากขอเกินกว่านั้น ต้องอาบัติ
ทุกกฏเพราะพยายาม จีวรเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์
แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้กระผม
เข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ แล้วออกปากขอเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละ
จีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอ
สละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๗.ตตุตตริสิกขาบท บทภาชนีย์
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืน
นี้กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ แล้วออกปากขอเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์
กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์
ผู้ไม่ใช่ญาติ แล้วออกปากขอเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่
ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน
จีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๒๕] คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ขอจีวรเกินกำหนด
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๗.ตตุตตริสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ ขอจีวรเกินกำหนด ต้องอาบัติทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ขอจีวรเกินกำหนด ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๕๒๖] ๑. ภิกษุที่รับเอาไปเพราะคิดว่า จะนำจีวรที่เหลือมาคืน
๒. ภิกษุที่คฤหัสถ์ถวายด้วยถ้อยคำว่า “จีวรที่เหลือเป็นของท่าน
รูปเดียว”
๓. ภิกษุที่คฤหัสถ์ไม่ได้ถวายเพราะจีวรถูกชิงไป
๔. ภิกษุที่คฤหัสถ์ไม่ได้ถวายเพราะจีวรสูญหาย
๕. ภิกษุผู้ยินดีจีวรที่ญาติถวาย
๖. ภิกษุผู้ยินดีจีวรที่ทายกปวารณาถวาย
๗. ภิกษุผู้ยินดีจีวรที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
ตตุตตริสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๘.อุปักขฏสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. จีวรวรรค
๘. อุปักขฏสิกขาบท
ว่าด้วยคนตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวร
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๒๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ชายคนหนึ่งกล่าวกับภรรยาว่า
“ฉันจะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร”
ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งได้ยินชายคนนั้นกล่าว จึงเข้าไปหา
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านมีบุญมาก ชาย
คนหนึ่งในที่โน้นกล่าวกับภรรยาว่า ‘จะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “ใช่ ขอรับ เขาเป็นอุปัฏฐากของกระผมเอง” ต่อมา
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้เข้าไปหาผู้นั้นถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวว่า “ได้ทราบ
ว่า โยมต้องการจะนิมนต์อาตมาให้ครองจีวรจริงหรือ”
เขาตอบว่า “จริงครับท่าน กระผมมีความคิดว่าจะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะ
ให้ครองจีวร”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “หากท่านต้องการจะนิมนต์อาตมาให้ครองจีวร
ก็จงให้ครองจีวรชนิดนี้ จีวรที่อาตมาไม่ใช้ แม้นิมนต์อาตมาให้ครองก็จะมีประโยชน์
อะไร”
ทีนั้น บุรุษนั้นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
มักมาก ไม่สันโดษ จะนิมนต์ให้ครองจีวร มิใช่จะทำได้ง่าย ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันท
ศากยบุตรซึ่งเราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนจึงเข้ามากำหนดชนิดจีวรเล่า”
พวกภิกษุได้ยินคำตำหนิ ประณาม โพนทะนาของชาวบ้าน บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย สันโดษ ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันท
ศากยบุตรซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนจึงเข้าไปหาคฤหัสถ์กำหนดชนิดจีวรเล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๘.อุปักขฏสิกขาบท พระบัญญัติ
ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน
แต่เธอเข้าไปหาคฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร จริงหรือ” พระอุปนันทศากยบุตรทูลรับ
ว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุปนันทะ เขาเป็นญาติของ
เธอหรือไม่ใช่ญาติ”
ท่านพระอุปนันทะทูลตอบว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ คฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความ
เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ เธอนั้น
ซึ่งพวกเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติแล้วกำหนดชนิดจีวร
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๒๘] ก็ คฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ ตระเตรียมทรัพย์
เป็นค่าจีวร เจาะจงภิกษุว่า “เราจะซื้อจีวรด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้ว นิมนต์
ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร” ถ้าภิกษุนั้นซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปกำหนด
ชนิดจีวรในที่ที่เขาเตรียมจีวรไว้ เพราะต้องการจีวรดีว่า “ดีละ ท่านจงซื้อจีวรเช่น
นั้นเช่นนี้ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้วให้อาตมาครองเถิด” ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๘.อุปักขฏสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๕๒๙] คำว่า ก็...เจาะจงภิกษุ ได้แก่ เพื่อประโยชน์ของภิกษุ คือ มุ่ง
เฉพาะภิกษุ ปรารถนาจะให้ภิกษุครองจีวร
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า ทรัพย์เป็นค่าจีวร ได้แก่ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วตาแมว
แก้วผลึก ผ้า ด้ายหรือฝ้าย
คำว่า ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้ คือ ทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ
คำว่า ซื้อ ได้แก่ แลกเปลี่ยน
คำว่า ให้...ครอง คือ ถวาย
คำว่า ถ้าภิกษุนั้น...ในที่ที่เขาเตรียมจีวรไว้ ได้แก่ ภิกษุรูปที่เขาตระเตรียม
ทรัพย์เป็นค่าจีวรไว้ถวายโดยเฉพาะ
คำว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ ทายกไม่ได้กล่าวไว้ก่อนว่า “ท่านผู้เจริญ
ท่านต้องการจีวรชนิดไหน กระผมจะซื้อจีวรชนิดไหนถวายท่าน”
คำว่า เข้าไป คือ ไปถึงเรือนแล้วเข้าไปหาที่ใดที่หนึ่ง
คำว่า กำหนดชนิดจีวร คือ กำหนดว่า ขอให้เป็นผ้ายาว กว้าง เนื้อแน่นหรือ
เนื้อละเอียด
คำว่า ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้ คือ ทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ
คำว่า เช่นนั้นเช่นนี้ คือ ยาวหรือกว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อละเอียด
คำว่า ซื้อ ได้แก่ แลกเปลี่ยน
คำว่า จงให้ครอง คือ จงถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๘.อุปักขฏสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คำว่า เพราะต้องการจีวรดี คือ ต้องการผ้าเนื้อดีหรือผ้าที่มีราคาแพง เขาซื้อ
จีวรผืนยาว กว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อละเอียดตามคำของภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
เพราะพยายาม จีวรเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่
คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้เขาไม่ได้
ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็นนิสสัคคีย์
กระผมสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้
เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็น
นิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่านทั้งหลาย
ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๘.อุปักขฏสิกขาบท บทภาชนีย์
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน
กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวร
ผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน
จีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๓๐] คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้
ก่อน เข้าไปหาคฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาคฤหัสถ์
แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไป
หาคฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ต้อง
อาบัติทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัติทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๘.อุปักขฏสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๕๓๑] ๑. ภิกษุขอจากคฤหัสถ์ที่เป็นญาติ
๒. ภิกษุขอจากคฤหัสถ์ที่ปวารณา
๓. ภิกษุขอเพื่อภิกษุรูปอื่น
๔. ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน
๕. ภิกษุผู้เมื่อคฤหัสถ์ผู้ต้องการซื้อจีวรราคาแพง ตนเองกลับให้ซื้อ
จีวรราคาถูก
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุปักขฏสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๙.ทุติยอุปักขฏสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑.จีรวรรค
๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท
ว่าด้วยคนตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวร ข้อที่ ๒
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๓๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งกล่าวกับบุรุษอีกคน
หนึ่งว่า “กระผมจะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร” แม้บุรุษคนนั้นก็กล่าวว่า
“กระผมก็จะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร”
ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งได้ยินการสนทนาของบุรุษเหล่านั้น
จึงเข้าไปหาท่านพระอุปนันทะถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านมีบุญมาก
บุรุษคนหนึ่งในที่โน้นกล่าวกับบุรุษอีกคนหนึ่งว่า ‘จะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครอง
จีวร’ แม้บุรุษคนนั้นก็กล่าวว่า ‘กระผมก็จะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “ใช่ ขอรับ บุรุษทั้งสองเป็นอุปัฏฐากของกระผม
เอง” ต่อมา ท่านพระอุปนันทศากยบุตรไปหาบุรุษทั้งสองถึงที่อยู่ครั้นถึงแล้วจึงกล่าวว่า
“ได้ทราบว่า โยมทั้งสองต้องการจะนิมนต์อาตมาให้ครองจีวรหลายผืน จริงหรือ”
บุรุษทั้งสองตอบว่า “จริงครับท่าน พวกกระผมมีความคิดจะนิมนต์พระคุณเจ้า
อุปนันทะให้ครองจีวร”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “ถ้าท่านทั้งสองต้องการจะนิมนต์อาตมาให้ครองจีวร
ก็จงให้ครองจีวรชนิดนี้ จีวรที่อาตมาไม่ใช้แม้นิมนต์อาตมาให้ครองก็จะมีประโยชน์
อะไร”
บุรุษทั้งสองตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
มักมาก ไม่สันโดษ จะนิมนต์ให้ครองจีวร ก็ทำได้ยาก ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันทะ
ซึ่งพวกเราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนจึงมากำหนดชนิดจีวรเล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๙.ทุติยอุปักขฏสิกขาบท พระบัญญติ
พวกภิกษุได้ยินบุรุษทั้งสองตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรซึ่งเขา
ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนจึงเข้าไปหาพวกคฤหัสถ์กำหนดจีวรเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิท่านอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้
ก่อน แต่เธอไปกำหนดชนิดจีวร จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุปนันทะ คนเหล่านั้นเป็นญาติของ
เธอหรือไม่ใช่ญาติ” พระอุปนันทะทูลตอบว่า “คนเหล่านั้นไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ คฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความ
เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ เธอ
นั้นซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติแล้วกำหนดชนิดจีวร
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๕๓๓] ก็ คฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ ๒ คน ตระเตรียม
ทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืน เจาะจงภิกษุว่า “พวกเราจะซื้อจีวรคนละผืนด้วย
ทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้แล้วนิมนต์ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวรหลายผืน” ถ้า
ภิกษุนั้นซึ่งพวกเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปกำหนดชนิดจีวรในที่ที่เขา
เตรียมจีวรไว้ เพราะต้องการจีวรดีว่า “ดีละ ท่านทั้งสองจงรวมกันซื้อจีวรเช่น
นั้นเช่นนี้ ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้ แล้วนิมนต์อาตมาให้ครองเถิด” ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๙.ทุติยอุปักขฏสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๕๓๔] คำว่า ก็...เจาะจงภิกษุ ได้แก่ เพื่อประโยชน์ของภิกษุ คือ มุ่ง
เฉพาะภิกษุ ปรารถนาจะให้ภิกษุครองจีวร
คำว่า ๒ คน คือ มี ๒ คน
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดา หรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า ทรัพย์เป็นค่าจีวร ได้แก่ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วตาแมว
แก้วผลึก ผ้า ด้ายหรือฝ้าย
คำว่า ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้ คือ ทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ
คำว่า ซื้อ ได้แก่ แลกเปลี่ยน
คำว่า ให้...ครอง คือ ถวาย
คำว่า ถ้าภิกษุนั้น...ในที่ที่เขาเตรียมจีวรไว้ ได้แก่ ภิกษุรูปที่เขาทั้งสอง
ตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวรไว้ถวายโดยเฉพาะ
คำว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ ทายกทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ก่อนว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ท่านต้องการจีวรชนิดไหน พวกผมจะซื้อจีวรชนิดไหนถวายท่าน”
คำว่า เข้าไป คือ ไปถึงเรือนแล้วเข้าไปหาที่ใดที่หนึ่ง
คำว่า กำหนดชนิดจีวร คือ กำหนดว่า ขอให้เป็นผ้ายาว กว้าง เนื้อแน่น
หรือเนื้อละเอียด
คำว่า ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้ คือ ทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ
คำว่า เช่นนั้นเช่นนี้ คือ ยาวหรือกว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อละเอียด
คำว่า ซื้อ ได้แก่ แลกเปลี่ยน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๙.ทุติยอุปักขฏสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คำว่า จงให้ครอง คือ จงถวาย
คำว่า ท่านทั้งสองจงรวมกัน คือ คน ๒ คนร่วมกัน
คำว่า เพราะต้องการจีวรดี คือ ต้องการผ้าเนื้อดี หรือผ้าราคาแพง
เขาซื้อจีวรผืนยาว กว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อละเอียดตามคำภิกษุนั้น ต้องอาบัติ
ทุกกฏเพราะพยายาม จีวรเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์
แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้เขาไม่ได้
ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็น
นิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้
เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็น
นิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่านทั้งหลาย
ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๖๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔.นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑.จีรวรรค ๙.ทุติยอุปักขฏสิกขาบท บทภาชนีย์
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง
ประนมมือ กล่าวว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหา
คฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผมคืน
จีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๓๕] คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้
ก่อน เข้าไปหาพวกคฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาพวก
คฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไป
หาพวกคฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ต้อง
อาบัติทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัติทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๖๑ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น