Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๓-๔ หน้า ๒๐๑ - ๒๖๗

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๓-๔ วินัยปิฎกที่ ๐๓ ภิกขุนีวิภังค์



พระวินัยปิฎก
ภิกขุนีวิภังค์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค
สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการคัดค้านการแจกจีวรที่ชอบธรรม
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๑๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุณีสงฆ์
ลำดับนั้น ภิกษุณีสงฆ์ประสงค์จะแจกจีวรนั้น จึงประชุมกัน เวลานั้นพวกภิกษุณี
อันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทาหลีกไปแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณี
เหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลายหลีกไปแล้ว อย่าเพิ่งแจกจีวรเลย”
คัดค้านการแจกจีวร
พวกภิกษุณีกล่าวว่า “อย่าเพิ่งแจกจีวรเลย” แล้วแยกย้ายกันไป เมื่อเหล่า
ภิกษุณีอันเตวาสินีกลับมา ภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้แจกจีวรนั้น บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
คัดค้านการแจกจีวรที่ชอบธรรม๑เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาคัดค้านการ
แจกจีวรที่ชอบธรรม จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา

เชิงอรรถ :
๑ “การแจกจีวรที่ชอบธรรม” คือการแจกจีวรที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ประชุมกันแล้วดำเนินการร่วมกัน
(กงฺขา.อ. ๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๗ บทภาชนีย์
จึงคัดค้านการแจกจีวรที่ชอบธรรมเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๑๒] ก็ภิกษุณีใดคัดค้านการแจกจีวรที่ชอบธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๑๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
การแจกจีวรที่ชื่อว่า ชอบธรรม ได้แก่ ภิกษุณีสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน
ประชุมกันแจก
คำว่า คัดค้าน คือ คัดค้านว่า “จะแจกจีวรนี้อย่างไร” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๙๑๔] การแจกชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าชอบธรรม คัดค้าน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
การแจกชอบธรรม ภิกษุณีไม่แน่ใจ คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การแจกชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ชอบธรรม คัดค้าน ไม่ต้องอาบัติ
การแจกชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าชอบธรรม คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
การแจกไม่ชอบธรรม ภิกษุณีไม่แน่ใจ คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การแจกไม่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ชอบธรรม คัดค้าน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๑๕] ๑. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วคัดค้าน๑
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “แสดงอานิสงส์แล้วคัดค้าน” หมายถึงในกรณีที่จีวรมีไม่พอแบ่งกันให้ได้ครบทุกรูป จึงแสดงอานิสงส์
คือให้เหตุผลว่า ผ้าสาฎกไม่เพียงพอยังขาดอยู่ผืนหนึ่ง โปรดรอสัก ๒-๓ วันเถิด เมื่อผ้าสาฎกมีพอที่จะ
แจกกันครบทุกรูปแล้วจึงแจกกัน (วิ.อ. ๒/๙๑๕/๕๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค
สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการให้สมณจีวรแก่ผู้ไม่ใช่ภิกษุณี
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๑๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาให้สมณจีวร
แก่พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวกมายากลบ้าง
พวกตีกลองบ้าง กล่าวว่า “พวกท่านจงกล่าวพรรณนาคุณของดิฉันในชุมนุมชน”
พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวกมายากลบ้าง
พวกตีกลองบ้าง ต่างกล่าวพรรณนาคุณของภิกษุณีถุลลนันทาในชุมนุมชนว่า “แม่
เจ้าถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถา พวก
ท่านจงถวาย จงกระทำ(สักการะ)แก่เธอ”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้สมณจีวรแก่ชาวบ้านเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่อง
นี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้สมณจีวร
แก่ชาวบ้าน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้
สมณจีวรแก่ชาวบ้านเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๙๑๗] ก็ภิกษุณีใดให้สมณจีวรแก่ชาวบ้าน แก่ปริพาชก หรือปริพาชิกา
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๑๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชาวบ้าน ได้แก่ ผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ นักบวชชายคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชก ยก
เว้นภิกษุและสามเณร
ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ นักบวชหญิงคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชิกา
ยกเว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
ที่ชื่อว่า สมณจีวร พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผ้าที่ทำกัปปะแล้ว ภิกษุณี
ให้ผ้านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๑๙] ๑. ภิกษุณีให้แก่มารดาบิดา
๒. ภิกษุณีให้เป็นของยืม
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค
สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๒๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของภิกษุณี
ถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า ถ้าพวกเราสามารถ ก็จะ
ถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์” ครั้นภิกษุณีทั้งหลายจำพรรษาแล้วประชุมกันด้วยประสงค์
จะแจกจีวร ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
โปรดรอก่อน ภิกษุณีสงฆ์มีความหวังในจีวร”
ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า เชิญท่านไป
สืบดูจีวรนั้นให้รู้เรื่อง”
ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปถึงตระกูลนั้น ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับคนเหล่านั้นดังนี้
ว่า “ท่านทั้งหลายจงถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์”
คนเหล่านั้นกล่าวว่า “พวกเรายังไม่สามารถที่จะถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์”
ภิกษุณีถุลลนันทานำเรื่องนั้นไปบอกให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้
ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล๑ด้วยความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย๒เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ สมัยแห่งจีวรกาล คือในเมื่อไม่ได้กรานกฐินนับเอาตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
รวมเวลา ๑ เดือน ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว นับเอาตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
รวมเวลา ๕ เดือน ระยะเวลาในช่วงนี้เรียกว่า สมัยแห่งจีวรกาล
๒ “ความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย” หมายถึงความหวังที่ภิกษุณีตั้งไว้เพราะได้ฟังเพียงคำของทายกว่า “ถ้า
สามารถก็จะถวาย” เป็นความหวังที่เลื่อนลอย ไม่แน่นอน (กงฺขา.อ. ๓๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้ล่วงเลย
สมัยแห่งจีวรกาลผ่านไปด้วยความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลาย
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาลผ่านไปด้วยความ
หวังในจีวรที่เลื่อนลอยเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๒๑] ก็ภิกษุณีใดให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาลด้วยความหวังในจีวรที่เลื่อน
ลอย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๒๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย ได้แก่ ที่ทายกเปล่งวาจาปวารณาว่า
“ถ้าพวกเราสามารถ ก็จะถวาย จะทำ”
ที่ชื่อว่า สมัยแห่งจีวรกาล คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน มีกำหนด ๑ เดือน
ท้ายฤดูฝน เมื่อได้กรานกฐินแล้วมีกำหนด ๕ เดือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
คำว่า ให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล ความว่า เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน ให้
ล่วงเลย วันสุดท้ายฤดูฝน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อได้กรานกฐินแล้ว ให้ล่วงเลย
วันที่กฐินเดาะ๑ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๙๒๓] (ความหวังใน)จีวรที่เลื่อนลอย ภิกษุณีสำคัญว่า(เป็นความหวังใน)
จีวรที่เลื่อนลอย ให้ล่วงเลยสมัยจีวรกาลไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
(ความหวังใน)จีวรที่เลื่อนลอย ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล
ต้องอาบัติทุกกฏ
(ความหวังใน)จีวรที่เลื่อนลอย ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น(ความหวังใน)จีวรไม่เลื่อน
ลอย ให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล ไม่ต้องอาบัติ
(ความหวังใน)จีวรที่ไม่เลื่อนลอย ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น(ความหวังใน)จีวรที่
เลื่อนลอย ต้องอาบัติทุกกฏ
(ความหวังใน)จีวรที่ไม่เลื่อนลอย ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
(ความหวังใน)จีวรที่ไม่เลื่อนลอย ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น(ความหวังใน)จีวรที่ไม่
เลื่อนลอย ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๒๔] ๑. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วห้าม
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงยกเลิกอานิสงส์กฐินที่ภิกษุและภิกษุณีพึงได้รับ ดู เหตุให้กฐินเดาะ พระวินัยปิฎกแปล เล่ม ๒
ข้อ ๔๖๓ หน้า ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค
สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการห้ามการเดาะกฐินที่ชอบธรรม
เรื่องอุบาสกคนหนึ่ง
[๙๒๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งให้สร้างวิหาร
อุทิศ(ถวาย)สงฆ์ ในการฉลองวิหารนั้น อุบาสกนั้นประสงค์จะถวายอกาลจีวรแก่
สงฆ์ทั้งสองฝ่าย แต่เวลานั้นสงฆ์ทั้งสองฝ่ายกรานกฐินแล้ว ลำดับนั้น อุบาสกนั้น
เข้าไปหาสงฆ์ ขอการเดาะกฐิน๑ ภิกษุทั้งหลายจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระ
ภาคทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เดาะกฐินได้”
วิธีการเดาะกฐินและกรรมวาจาเดาะกฐิน
ภิกษุทั้งหลายพึงเดาะกฐินอย่างนี้ คือภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์
ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๙๒๖] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงเดาะ
กฐิน นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ย่อมเดาะกฐิน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับ
การเดาะกฐิน ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์เดาะกฐินแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่ง
นั้นเป็นมติอย่างนี้”

เชิงอรรถ :
๑ ขอการเดาะกฐิน ในที่นี้คือขอให้สงฆ์ยกเลิกอานิสงส์กฐินก่อนหมดเขตอานิสงส์กฐิน ด้วยต้องการจะถวาย
ผ้าเป็นอกาลจีวรในสมัยที่ยังเป็นจีวรกาล (ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๒ ข้อ ๕๐๐ หน้า ๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทวิภังค์
[๙๒๗] ต่อมา อุบาสกนั้นเข้าไปหาภิกษุณีสงฆ์ ขอเดาะกฐิน ภิกษุณีถุลล
นันทากล่าวว่า “พวกดิฉันจักมีจีวร” คัดค้านการเดาะกฐิน ครั้งนั้น อุบาสกนั้น
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงไม่ให้การเดาะกฐินแก่เราเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินอุบาสกตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
คัดค้านการเดาะกฐินที่ชอบธรรมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอก
ภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุณีถุลลนันทาคัดค้านการ
เดาะกฐินที่ชอบธรรม จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงคัดค้านการเดาะกฐินที่ชอบธรรมเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๒๘] ก็ภิกษุณีใดคัดค้านการเดาะกฐินที่ชอบธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องอุบาสกคนหนึ่ง จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๒๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
การเดาะกฐินที่ชื่อว่า ชอบธรรม คือ ภิกษุณีสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันประชุม
กันเดาะ
คำว่า คัดค้าน คือ คัดค้านว่า “จะเดาะกฐินได้อย่างไร” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๙๓๐] การเดาะที่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าชอบธรรม คัดค้าน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
การเดาะที่ชอบธรรม ภิกษุณีไม่แน่ใจ คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การเดาะที่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ชอบธรรม คัดค้าน ไม่ต้องอาบัติ
การเดาะที่ไม่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าชอบธรรม คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การเดาะที่ไม่ชอบธรรม ภิกษุณีไม่แน่ใจ คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การเดาะที่ไม่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ชอบธรรม คัดค้าน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๓๑] ๑. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วห้าม
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
นัคควรรคที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
หมวดว่าด้วยการนอนร่วมกัน
สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการนอนบนเตียงเดียวกัน
เรื่องภิกษุณีนอนร่วมกัน ๒ รูป
[๙๓๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณี ๒ รูปนอนบนเตียงเดียวกัน
คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณี ๒ รูปจึงนอนบนเตียงเดียวกันเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณี ๒ รูปจึง
นอนเตียงเดียวกันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณี ๒ รูปนอนบนเตียง
เดียวกัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณี ๒ รูปจึงนอนบนเตียง
เดียวกันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๓๓] ก็ภิกษุณีเหล่าใด ๒ รูปนอนบนเตียงเดียวกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีนอนร่วมกัน ๒ รูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๓๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงเหล่ามาตุคามที่อุปสมบทแล้ว
คำว่า ๒ รูป นอนบนเตียงเดียวกัน คือ เมื่อรูปหนึ่งนอน อีกรูปหนึ่งก็นอน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือนอนพร้อมกัน ๒ รูป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทั้ง ๒ รูป
ลุกขึ้นแล้วกลับนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๓๕] ๑. ภิกษุณีรูปหนึ่งนอน อีกรูปหนึ่งนั่ง หรือนั่งทั้ง ๒ รูป
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม
เรื่องภิกษุณีนอนร่วมกัน ๒ รูป
[๙๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุณี ๒ รูปใช้ผ้าผืนเดียวเป็น
ทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม นอนร่วมกัน คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วจึง
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณี ๒ รูปจึงใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอน
และผ้าห่ม นอนร่วมกันเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ภิกษุณี ๒ รูปจึงใช้
ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม นอนร่วมกันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณี ๒ รูปใช้ผ้าผืนเดียว
เป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนร่วมกัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณี ๒ รูปจึงใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนร่วมกันเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๙๓๗] ก็ภิกษุณีเหล่าใด ๒ รูปใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม
นอนร่วมกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีนอนร่วมกัน ๒ รูป จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๓๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงเหล่ามาตุคามที่อุปสมบทแล้ว
คำว่า ๒ รูปใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนร่วมกัน คือ ทั้ง
๒ รูปปูผ้าผืนนั้นแล้วห่มผ้าผืนนั้นแหละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๓๙] ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม ภิกษุณีสำคัญว่าผ้าผืนเดียว
เป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม ภิกษุณีไม่แน่ใจ นอน ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม ภิกษุณีสำคัญว่าผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้า
ปูนอนและผ้าห่ม นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ผ้าปูนอนผืนหนึ่ง ผ้าห่มนอนต่างผืน ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าปูนอนต่างผืน ผ้าห่มนอนผืนเดียวกัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
ผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนต่างผืนกัน ภิกษุณีสำคัญว่าผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปู
นอนและผ้าห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนต่างผืนกัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนต่างผืนกัน ภิกษุณีสำคัญว่าผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปู
นอนและผ้าห่ม ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๔๐] ๑. ภิกษุณีแสดงเครื่องกำหนดแล้วนอน
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการจงใจก่อความรำคาญ
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๔๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็น
นักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถาได้ แม้พระภัททกาปิลานีก็เป็นพหูสูต
เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถาได้ ทั้งเธอก็ได้รับสรรเสริญว่ามี
คุณสมบัติยิ่งกว่า๑
คนทั้งหลายทราบว่า “แม่เจ้าภัททกาปิลานีเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า
สามารถกล่าวธรรมีกถา ทั้งได้รับสรรเสริญว่ามีคุณสมบัติยิ่งกว่า” จึงเข้าไปหาพระ
ภัททกาปิลานีก่อนแล้วไปหาภิกษุณีถุลลนันทาภายหลัง
ภิกษุณีถุลลนันทาถูกความริษยาครอบงำ คิดว่า “ทราบมาว่า ธรรมดาภิกษุณี
ผู้สาละวนอยู่กับการอภิปรายเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจ ย่อมมักน้อย สันโดษ ชอบสงัด
ไม่คลุกคลี” จึงจงกรมบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ยกขึ้นแสดงเองบ้าง ใช้ผู้อื่น
ให้ยกขึ้นแสดงบ้าง ท่องบ่นบ้าง ต่อหน้าพระภัททกาปิลานี
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่แม่เจ้าภัททกาปิลานีเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ “มีคุณสมบัติยิ่งกว่า” คือบวชจากตระกูลที่ใหญ่หรือประเสริฐกว่าและเป็นผู้ประเสริฐกว่าโดยคุณทั้งหลาย
(วิ.อ. ๒/๙๔๑/๕๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาจงใจก่อความ
ไม่ผาสุกแก่ภัททกาปิลานี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่ภัททกาปิลานีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๔๒] ก็ภิกษุณีใดจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่ภิกษุณี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๔๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า แก่ภิกษุณี คือ แก่ภิกษุณีรูปอื่น
คำว่า จงใจ คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ฝ่าฝืน ล่วงละเมิด
คำว่า ก่อความไม่ผาสุก คือ ภิกษุณีผู้ก่อความไม่ผาสุกนั้นคิดว่า “วิธีนี้จะ
ทำให้ภิกษุณีนี้ไม่ผาสุก” ไม่ขอโอกาส จงกรมบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง
ยกขึ้นแสดงเองบ้าง ใช้ผู้อื่นให้ยกขึ้นแสดงบ้าง ท่องบ่นบ้าง อยู่ข้างหน้า ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๔๔] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน จงใจก่อความไม่ผาสุก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ จงใจก่อความไม่ผาสุก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน จงใจก่อความไม่ผาสุก ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุณีจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๔๕] ๑. ภิกษุณีไม่ประสงค์ก่อความไม่ผาสุก ขอโอกาส จงกรม ยืน นั่ง
นอน ยกขึ้นแสดงเอง ใช้ผู้อื่นให้ยกขึ้นแสดง หรือท่องบ่นข้างหน้า
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๔.ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการไม่ใส่ใจดูแลเพื่อนภิกษุณี
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาไม่ดูแลช่วยเหลือ
สหชีวินี๑ผู้ได้รับความลำบาก ทั้งไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงไม่ดูแลช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความลำบาก ทั้งไม่ใส่ใจมอบหมาย
ให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาไม่ดูแลช่วย
เหลือสหชีวินีผู้เดือดร้อน ทั้งไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือ จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงไม่ดูแลช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความ
ลำบาก ทั้งไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๔๗] ก็ภิกษุณีใดไม่ดูแลช่วยเหลือ หรือไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดู
แลช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความลำบาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

เชิงอรรถ :
๑ สหชีวินี คือภิกษุณีผู้ที่ตนเป็นอุปัชฌาย์บวชให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๔๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ได้รับความลำบาก พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้เป็นไข้
ที่ชื่อว่า สหชีวินี ตรัสหมายถึงสัทธิวิหารินี
คำว่า ไม่ดูแลช่วยเหลือ คือ ไม่ดูแลช่วยเหลือด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือ คือ ไม่สั่งผู้อื่น
ภิกษุณีทอดธุระว่า “จะไม่ดูแลช่วยเหลือ จะไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแล
ช่วยเหลือ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุณีไม่ดูแลช่วยเหลือ ไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลืออันเตวาสินี
หรืออนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๔๙] ๑. ภิกษุณีผู้ทอดธุระเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีหาผู้ช่วยไม่ได้
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑สหชีวินี คือภิกษุณีผู้ที่ตนเป็นอุปัชฌาย์บวชให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการฉุดลากออก
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระภัททกาปิลานีจำพรรษาที่
เมืองสาเกต เธอส่งทูตไปสำนักของภิกษุณีถุลลนันทาด้วยธุระบางอย่าง ให้แจ้งว่า
“ถ้าแม่เจ้าถุลลนันทาให้ที่พัก ดิฉันจะมากรุงสาวัตถี”
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “เชิญมาเถิด ดิฉันจะให้”
ลำดับนั้น พระภัททกาปิลานีเดินทางจากเมืองสาเกตไปถึงกรุงสาวัตถี ภิกษุณี
ถุลลนันทาได้ให้ที่พักแก่พระภัททกาปิลานี
สมัยนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา แม้พระภัททกาปิลานีก็เป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา ทั้งเธอก็ได้รับสรรเสริญว่า มีคุณสมบัติยิ่งกว่า
คนทั้งหลายเห็นว่า ภิกษุณีภัททกาปิลานีเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า
สามารถกล่าวธรรมีกถา ทั้งเธอก็ได้รับสรรเสริญว่ามีคุณสมบัติยิ่งกว่า จึงเข้าไปหา
พระเถรีก่อนแล้วไปหาภิกษุณีถุลลนันทาภายหลัง ภิกษุณีถุลลนันทารู้ว่า “ธรรมดา
ภิกษุณีผู้สาละวนอยู่กับการอภิปรายเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจ ย่อมมักน้อย สันโดษ
ชอบสงัด ไม่คลุกคลี” จึงโกรธ ขัดใจ ฉุดลากพระภัททกาปิลานีออกจากห้อง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
เจ้าถุลลนันทาให้ที่พักแก่แม่เจ้าภัททกาปิลานีแล้วโกรธ ขัดใจ ฉุดลากออกไปเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้ที่พักแก่
ภัททกาปิลานีแล้วโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากออกไป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาให้ที่พักแก่ภัททกาปิลานีแล้วโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากออกไปเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๕๑] ก็ภิกษุณีใดให้ที่พักแก่ภิกษุณีแล้ว โกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากออกไป
หรือใช้ให้ฉุดลากออกไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๕๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า แก่ภิกษุณี คือ ภิกษุณีรูปอื่น
ที่ชื่อว่า ที่พัก พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงที่พักที่มีประตู
คำว่า ให้ คือ ให้ด้วยตนเอง
คำว่า โกรธ ไม่พอใจ คือ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ บทภาชนีย์
คำว่า ฉุดลาก ความว่า จับในห้องแล้วฉุดลากออกมาหน้าห้อง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ จับที่หน้าห้องแล้วฉุดลากออกข้างนอก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุณีฉุด
ลากพ้นประตูหลายประตูด้วยความพยายามครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้ฉุดลาก คือ ภิกษุณีสั่งผู้อื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ผู้รับคำสั่ง
ครั้งเดียวแต่ฉุดออกไปพ้นหลายประตู ภิกษุณีผู้สั่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๕๓] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ให้ที่พักแล้วโกรธ ไม่พอใจ
ฉุดลากหรือใช้ให้ฉุดลาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้ที่พักแล้วโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากหรือใช้ให้ฉุดลาก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ให้ที่พักแล้วโกรธ ไม่พอใจ ฉุด
ลากหรือใช้ให้ฉุดลาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ขน หรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของเธอ ต้องอาบัติทุกกฏ
ฉุดลาก หรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากจากสถานที่ไม่มีประตู ต้องอาบัติทุกกฏ
ขน หรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของเธอ ต้องอาบัติทุกกฏ
ฉุดลาก หรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากอนุปสัมบัน จากที่มีประตูหรือไม่มีประตู ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ขน หรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของเธอ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๕๔] ๑. ภิกษุณีฉุดลากหรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากภิกษุณีไม่มีความละอาย
๒. ภิกษุณีขนหรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของภิกษุณีไม่มีความละอายนั้น
๓. ภิกษุณีฉุดลากหรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีขน หรือใช้ผู้อื่นขนบริขารของภิกษุณีวิกลจริตนั้น
๕. ภิกษุณีฉุดลากหรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากภิกษุณีผู้ก่อความบาดหมาง ...
ก่อการทะเลาะ ... ก่อการวิวาท... ก่อความอื้อฉาว ... ก่อ
อธิกรณ์ในสงฆ์
๖. ภิกษุณีขนหรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของภิกษุณีผู้ก่อความบาดหมาง
... ก่อการทะเลาะ ... ก่อการวิวาท ... ก่อความอื้อฉาว ...
ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์นั้น
๗. ภิกษุณีฉุดลากหรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากอันเตวาสินีหรือสัทธิวิหารินี
ผู้ประพฤติไม่ชอบ
๘. ภิกษุณีขนหรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของภิกษุณีอันเตวาสินีหรือ
สัทธิวิหารินีผู้ประพฤติไม่ชอบนั้น
๙. ภิกษุณีวิกลจริต
๑๐. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๖ พระบัญญัติ
๔. ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการอยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๙๕๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีอยู่คลุกคลีกับ
คหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าจัณฑกาลีจึงอยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้างเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีอยู่คลุกคลีกับ
คหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจัณฑกาลี
จึงอยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๕๖] ก็ภิกษุณีใดอยู่คลุกคลีกับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี ภิกษุณีนั้นอัน
ภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ‘น้องหญิง ท่านอย่าอยู่คลุกคลี
กับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี น้องหญิงจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการ
แยกกันอยู่ของน้องหญิง’ ก็ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
นี้ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ
๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้ง
สละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๕๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า คลุกคลี คือ คลุกคลีกันทางกายและวาจาที่ไม่สมควร
ที่ชื่อว่า คหบดี ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า บุตรคหบดี ได้แก่ บุตรและพี่ชายน้องชายคนใดคนหนึ่ง
คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้อยู่คลุกคลีคนใดคนหนึ่ง
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีพวกอื่น
ภิกษุณีผู้ได้เห็นได้ทราบพึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุณีผู้คลุกคลีว่า “น้องหญิง
ท่านอย่าอยู่คลุกคลีกับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี น้องหญิงจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์
ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงเท่านั้น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่
๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุณีผู้ทราบเรื่องแล้วไม่ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณี
นั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงนำตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “น้องหญิง
เธออย่าอยู่คลุกคลีกับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี น้องหญิงจงแยกกันอยู่ สงฆ์ย่อม
สรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงเท่านั้น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒
พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๖ บทภาชนีย์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์อย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถ
พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๙๕๘] แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้อยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง
กับบุตรคหบดีบ้าง เธอยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงสวดสมนุภาสน์
ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้อยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง กับบุตร
คหบดีบ้าง เธอยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น
แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้า
รูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๓
ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๕๙] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่ทำถูกต้อง หมายถึงกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์ดังกล่าวข้างต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๖๐] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณียอมสละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการเที่ยวจาริกไปในที่ที่น่าหวาดระแวงภายในรัฐ
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๖๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายเที่ยวจาริกไปไม่มี
กองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายในรัฐ พวกนักเลง
ข่มขืน(ภิกษุณีเหล่านั้น)
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัย
น่ากลัวภายในรัฐเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเที่ยวจาริกไปไม่
มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายในรัฐ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อน
ในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายในรัฐเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๖๒] ก็ภิกษุณีใดเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่า
น่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายในรัฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๖๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภายในรัฐ คือ ในรัฐที่ตนอาศัยอยู่
ที่ชื่อว่า น่าหวาดระแวง คือ ในหนทางนั้น ปรากฏที่อยู่ ปรากฏที่กิน ปรากฏ
ที่ยืน ปรากฏที่นั่ง ปรากฏที่นอนของพวกโจร
ที่ชื่อว่า มีภัยน่ากลัว คือ ในหนทางนั้น ปรากฏมีมนุษย์ถูกพวกโจรฆ่า
ปรากฏมีมนุษย์ถูกปล้น ปรากฏมีมนุษย์ถูกทุบตี
ที่ชื่อว่า ไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อน คือ เว้นกองเกวียน
คำว่า เที่ยวจาริกไป คือ เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้านมีกำหนดระยะชั่วไก่บินตก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน เที่ยวจาริกไปในป่าไม่มีหมู่บ้าน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ กึ่งโยชน์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๖๔] ๑. ภิกษุณีไปกับกองเกวียน
๒. ภิกษุณีไปในสถานที่ปลอดภัย
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการเที่ยวจาริกไปในที่ที่น่าหวาดระแวงภายนอกรัฐ
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๖๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีเที่ยวจาริกไปไม่มีกอง
เกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายนอกรัฐ พวกนักเลง
ข่มขืน(ภิกษุณีเหล่านั้น)
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มี
ภัยน่ากลัวภายนอกรัฐเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเที่ยวจาริกไปไม่มี
กองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายนอกรัฐ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่
ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายนอกรัฐเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๖๖] ก็ภิกษุณีใดเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่า
น่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายนอกรัฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๖๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภายนอกรัฐ คือ ในรัฐของฝ่ายอื่นนอกจากรัฐที่ตนอาศัยอยู่
ที่ชื่อว่า น่าหวาดระแวง คือ ในหนทางนั้น ปรากฏที่อยู่ ปรากฏที่กิน ปรากฏ
ที่ยืน ปรากฏที่นั่ง ปรากฏที่นอนของพวกโจร
ที่ชื่อว่า มีภัยน่ากลัว คือ ในหนทางนั้น ปรากฏมีคนทั้งหลายถูกพวกโจรฆ่า
ปรากฏมีคนถูกปล้น ปรากฏมีคนถูกทุบตี
ที่ชื่อว่า ไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อน คือ เว้นกองเกวียน
คำว่า เที่ยวจาริกไป คือ เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้านมีกำหนดระยะชั่วไก่บินตก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน เที่ยวจาริกไปในป่าไม่มีหมู่บ้าน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ กึ่งโยชน์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๖๘] ๑. ภิกษุณีไปกับกองเกวียน
๒. ภิกษุณีไปในสถานที่ปลอดภัย ไม่มีภัยน่ากลัว
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการเที่ยวจาริกไปภายในพรรษา
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๖๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกภิกษุณีพากันเที่ยวจาริกไปภายใน
พรรษา คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวไป
ภายในพรรษาเหยียบย่ำของเขียวและหญ้า เบียดเบียนชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว ทำลาย
สัตว์เล็กน้อยเป็นจำนวนมากเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวจาริก
ไปภายในพรรษาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเที่ยวจาริกไป
ภายในพรรษา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวไป
ภายในพรรษาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๗๐] ก็ภิกษุณีใดเที่ยวจาริกไปภายในพรรษา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๗๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภายในพรรษา คือ ไม่อยู่ตลอดพรรษาต้น ๓ เดือน หรือตลอดพรรษา
หลัง ๓ เดือน
คำว่า เที่ยวจาริกไป คือ เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้านมีกำหนดระยะชั่วไก่บินตก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน เที่ยวจาริกไปในป่าไม่มีหมู่บ้าน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ครึ่งโยชน์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๗๒] ๑. ภิกษุณีไปด้วยสัตตาหกรณียะ๑
๒. ภิกษุณีถูกรบกวนจึงไป
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “สัตตาหกรณียะ” คือธุระที่พึงทำเสร็จได้ในเวลา ๗ วัน หมายถึงธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดไปค้าง
คืนที่อื่นได้ แต่ต้องกลับมาภายในเวลา ๗ วัน เป็นธุระที่ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี
อุบาสก อุบาสิกาส่งข่าวมานิมนต์ไป เช่นไปเพื่อพยาบาลภิกษุและภิกษุณีเป็นต้น(สหธรรมิก) หรือมารดาบิดา
ไปเพื่อระงับเพื่อนภิกษุเป็นต้นผู้กระสันจะสึก ไปเพื่อกิจของสงฆ์ เช่นสร้างวิหารหรือซ่อมวิหารที่ชำรุด ไป
กิจนิมนต์ (ดู.วิ.ม. ๔/๑๘๗-๒๐๒/๒๐๕-๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการไม่หลีกจาริกไป
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๗๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกภิกษุณีอยู่จำพรรษาในเมือง
ราชคฤห์นั่นแหละตลอดฤดูฝน อยู่ในเมืองราชคฤห์นั้นตลอดฤดูหนาว อยู่ในเมือง
ราชคฤห์นั้นตลอดฤดูร้อน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทิศทั้งหลาย
คงคับแคบมืดมนสำหรับภิกษุณี ภิกษุณีเหล่านี้จึงมองไม่เห็นทิศทาง”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา ลำดับนั้น
ภิกษุณีเหล่านั้นจึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่
ภิกษุณีทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุณีทั้งหลายพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๙๗๔] ก็ภิกษุณีใดจำพรรษาแล้ว ไม่หลีกจาริกไป โดยที่สุดแม้สิ้นระยะ
ทาง ๕-๖ โยชน์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์๑
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๗๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า จำพรรษาแล้ว คือ อยู่จำพรรษาต้น ๓ เดือน หรือตลอด
พรรษาหลัง ๓ เดือน พอทอดธุระว่า “เราจะไม่หลีกจาริกไปโดยที่สุดแม้สิ้นระยะ
ทาง ๕-๖ โยชน์” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๗๖] ๑. ภิกษุณีไม่จาริกไปเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนไม่ได้
๓. ภิกษุณีเป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
ตุวัฏฏวรรคที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุณีออกพรรษาแล้ว เดินทางไปได้เพียง ๓ โยชน์แล้วกลับสำนักเดิมโดยใช้เส้นทางใหม่ นับว่าได้หลีก
จาริกไปสิ้นระยะทาง ๖ โยชน์ (กงฺขา.อ. ๓๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค
หมวดว่าด้วยหอจิตรกรรม
สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการไปดูโรงละครหลวง
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๙๗๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ที่พระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล
มีการแสดงภาพจิตรกรรม ณ หอจิตรกรรม ครั้งนั้น คนทั้งหลายพากันไปดู
หอจิตรกรรม แม้พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ก็ไปดูหอจิตรกรรม คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงไปดูหอจิตรกรรมเหมือนหญิงคฤหัสถ์
ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงไปดูหอ
จิตรกรรมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ไปดูหอ
จิตรกรรม จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
ไปดูหอจิตรกรรมเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๙๗๘] ก็ภิกษุณีใดไปดูโรงละครหลวง หอจิตรกรรม สวนสาธารณะ อุทยาน
หรือสระโบกขรณี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๗๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า โรงละครหลวง ได้แก่ สถานที่ที่เขาสร้างขึ้นไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อ
ถวายพระราชาทรงกีฬา เพื่อให้ทรงสำราญพระทัย
ที่ชื่อว่า หอจิตรกรรม ได้แก่ หอที่สร้างขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้คนทั้งหลาย
ชมเล่น รื่นเริง
ที่ชื่อว่า สวนสาธารณะ ได้แก่ สวนที่สร้างขึ้นให้คนทั้งหลายชมเล่น รื่นเริง
ที่ชื่อว่า อุทยาน ได้แก่ อุทยานที่สร้างขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้คนทั้งหลาย
ชมเล่น รื่นเริง
ที่ชื่อว่า สระโบกขรณี ได้แก่ สระน้ำที่ขุดไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้คนทั้งหลาย
ชมเล่น รื่นเริง
[๙๘๐] ภิกษุณีเดินไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนดู ต้องอาบัติปาจิตตีย์๑
พ้นสายตาไปแล้วเหลียวกลับมาดูอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เดินเพื่อจะไปดูแต่ละแห่ง
ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนดู ต้องอาบัติปาจิตตีย์ พ้นสายตาไปแล้วเหลียวกลับมาดูอีก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ ยืนอยู่ในที่แห่งเดียว มองดูสถานที่ทั้ง ๕ แห่งมีโรงละครหลวงเป็นต้น โดยไม่ก้าวเดินไปไหน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ ๑ ตัว ถ้าหันไปมองดูสถานที่เหล่านั้นซึ่งตั้งอยู่ในที่ต่าง ๆ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ตามจำนวนสถาน
ที่มองดู (วิ.อ. ๒/๙๗๘/๕๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๘๑] ๑. ภิกษุณียืนอยู่ที่สวนสาธารณะมองเห็น
๒. ภิกษุณีเดินไปเดินมามองเห็น
๓. ภิกษุณีมีธุระเดินไปเห็น
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๕.จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการใช้ตั่งหรือแท่น
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๘๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายใช้ตั่งยาวบ้าง แท่น
บ้าง คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้ตั่งยาวบ้าง แท่นบ้าง เหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้ตั่งยาว
บ้าง แท่นบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้
ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีใช้ตั่งยาวบ้าง แท่น
บ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้เตียงบ้าง ตั่งบ้าง
เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๘๓] ก็ภิกษุณีใดใช้ตั่งยาวหรือแท่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๘๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ตั่งยาว พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงตั่งที่เกินขนาด
ที่ชื่อว่า แท่น ได้แก่ แท่นที่ถักด้วยขนสัตว์ที่ตนหามา
คำว่า ใช้ คือ นั่งหรือนอนบนตั่งยาว หรือบนแท่นนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๘๕] ๑. ภิกษุณีตัดเท้าตั่งยาวแล้วจึงใช้
๒. ภิกษุณีรื้อขนสัตว์ของแท่นแล้วจึงใช้
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๓ พระบัญญัติ
๕. จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการกรอด้าย
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๙๘๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กรอด้าย
อยู่ คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงกรอด้ายเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงกรอด้ายเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กรอด้าย
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงกรอด้ายเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๘๗] ก็ภิกษุณีใดกรอด้าย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๘๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ด้าย ได้แก่ด้าย ๖ ชนิด คือ ด้ายเปลือกไม้ ด้ายฝ้าย ด้ายไหม
ด้ายขนสัตว์ ด้ายป่าน ด้ายที่ใช้วัตถุเจือกัน
คำว่า กรอ คือ กรอเอง ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่กรอ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุก ๆ ขณะที่ม้วนเข้ามา
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๘๙] ๑. ภิกษุณีกรอด้ายที่ผู้อื่นกรอไว้
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๙๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีช่วยทำการ
ขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์เล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีช่วยทำการ
ขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีช่วย
ทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๙๑] ก็ภิกษุณีใดช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๙๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ คือ ต้มข้าวต้ม หุงภัตตาหาร
หรือทำของเคี้ยว ซักผ้านุ่งหรือผ้าโพกเพื่อคฤหัสถ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๙๓] ๑. ภิกษุณีต้มข้าวต้ม จัดน้ำปานะถวายสงฆ์
๒. ภิกษุณีหุงข้าวถวายสงฆ์
๓. ภิกษุณีทำการบูชาเจดีย์
๔. ภิกษุณีต้มข้าวต้ม หุงภัตตาหารหรือทำของเคี้ยว ซักผ้านุ่งผ้าห่ม
หรือผ้าโพกให้ไวยาวัจกรของตน
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการไม่ช่วยระงับอธิกรณ์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุณี
ถุลลนันทากล่าวว่า “แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด” ภิกษุณีถุลลนันทา
รับปากแต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นได้
บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาอันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’
รับปากแล้วแต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาอันภิกษุณี
ขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้วแต่ไม่ช่วยระงับ
ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
อันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้ว
แต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๙๙๕] ก็ภิกษุณีใดอันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับ
อธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้ว ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย ไม่ช่วยระงับ
ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๙๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า อันภิกษุณี คือ ภิกษุณีรูปอื่น
ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ อย่าง๑ คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์
(๒) อนุวาทาธิกรณ์ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ (๔) กิจจาธิกรณ์
คำว่า แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด ความว่า เชิญแม่เจ้าไป
ช่วยวินิจฉัยคดีนี้ด้วยเถิด
คำว่า ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่อไม่มีอันตราย
คำว่า ไม่ช่วยระงับ คือ ไม่ระงับด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ คือ ไม่สั่งผู้อื่น เมื่อทอดธุระว่า
“เราจักไม่ระงับ จักไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ อธิกรณ์ ๔ อย่าง คือ
๑. วิวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การเถียงกันว่า นี้เป็นธรรมวินัย นี้ไม่ใช่ธรรมวินัยเป็นต้น
๒. อนุวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การโจทกันด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ
๓. อาปัตตาธิกรณ์ ได้แก่ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติและแก้ต่างให้พ้นอาบัติ
๔. กิจจาธิกรณ์ ได้แก่ กิจธุระของสงฆ์ เช่น อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม
ญัตติจตุตถกรรม มีการสวดปาติโมกข์เป็นต้น (ดู วิ.ป. ๘/๓๔๘-๒๙๑/๒๒๒-๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๙๗] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ไม่ช่วยระงับ ไม่
ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับอธิกรณ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับอธิกรณ์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้
อื่นช่วยระงับอธิกรณ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุณีไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายเพื่อการระงับอธิกรณ์ของอนุปสัมบัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๙๘] ๑. ภิกษุณีไม่ระงับในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหา(คณะผู้วินิจฉัยอธิกรณ์)ไม่ได้
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการให้ของเคี้ยวของฉันแก่นักฟ้อนเป็นต้น
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๙๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาให้ของเคี้ยวของ
ฉันด้วยมือตนแก่พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวก
มายากลบ้าง พวกตีกลองบ้าง กล่าวว่า “พวกท่านจงกล่าวพรรณนาคุณของดิฉัน
ในที่ชุมนุมชน” พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวก
มายากลบ้าง พวกตีกลองบ้าง ต่างพากันกล่าวพรรณนาคุณของภิกษุณีถุลลนันทา
ในชุมนุมชนว่า “ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา พวกท่านจงถวาย จงกระทำ(สักการะ)แก่เธอ”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้ของเคี้ยวของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้านเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้ของเคี้ยว
ของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้าน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงให้ของเคี้ยวของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้านเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๐๐๐] ก็ภิกษุณีใดให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้าน แก่
ปริพาชก หรือแก่ปริพาชิกา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๐๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชาวบ้าน ได้แก่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่อยู่ครองเรือน
ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ นักบวชชายคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชก ยก
เว้นภิกษุและสามเณร
ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ นักบวชหญิงคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชิกา
ยกเว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว ได้แก่ เว้นโภชนะ ๕ น้ำและไม้สีฟัน ที่เหลือชื่อว่า ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา
เนื้อ
คำว่า ให้ คือ ให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยการโยนให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้น้ำและไม้สีฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
[๑๐๐๒] ๑. ภิกษุณีใช้ให้ผู้อื่นให้
๒. ภิกษุณีมิได้ให้เอง
๓. ภิกษุณีให้โดยวางไว้ใกล้ ๆ
๔. ภิกษุณีให้ของไล้ทาภายนอก
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการใช้ผ้าซับระดูแล้วไม่สละ
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๐๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาใช้ผ้าซับระดู
คนเดียวไม่ยอมสละ ภิกษุณีอื่นที่มีประจำเดือนไม่มีโอกาสได้ใช้
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้า
ถุลลนันทาจึงใช้ผ้าซับระดูไม่ยอมสละเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาใช้ผ้าซับระดู
ไม่ยอมสละ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงใช้
ผ้าซับระดูไม่ยอมสละเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๐๐๔] ก็ภิกษุณีใดใช้ผ้าซับระดูแล้วไม่ยอมสละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๐๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผ้าซับระดู ได้แก่ ผ้าที่เขาถวายไว้ให้ภิกษุณีผู้มีประจำเดือนใช้
คำว่า ไม่ยอมสละ คือ ใช้ ๒-๓ คืนแล้ว ซักในวันที่ ๔ ยังใช้อีก ไม่
ยอมสละให้แก่ภิกษุณี สิกขมานา หรือสามเณรีรูปอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๐๖] ผ้าที่ยังไม่สละ ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่สละ ใช้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ผ้าที่ยังไม่สละ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ใช้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ผ้าที่ยังไม่สละ ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว ใช้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ผ้าที่สละแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่สละ ใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าที่สละแล้ว ภิกษุณีสงสัย ใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าที่สละแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว ใช้ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๐๗] ๑. ภิกษุณีใช้สอยแล้วสละ
๒. ภิกษุณีใช้ผ้าที่สละแล้วอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
๓. ภิกษุณีใช้สอยในเมื่อไม่มีภิกษุณีอื่นผู้มีประจำเดือน
๔. ภิกษุณีถูกแย่งชิงผ้าเอาไป
๕. ภิกษุณีผ้าหาย
๖. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๗. ภิกษุณีวิกลจริต
๘. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการไม่สละที่พัก
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๐๐๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาไม่สละที่พัก
แล้วหลีกจาริกไป ต่อมาที่พักนั้นถูกไฟไหม้ ภิกษุณีทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
พวกเราจงช่วยกันขนของออกมา” ภิกษุณีบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า พวก
ดิฉันไม่ขนของออกมา สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหายไป แม่เจ้าจักทวงพวกดิฉัน”
เมื่อภิกษุณีถุลลนันทากลับมาสู่ที่พักนั้นอีก ถามภิกษุณีทั้งหลายว่า “แม่เจ้า
พวกท่านช่วยขนของออกบ้างหรือเปล่า”
ภิกษุณีตอบว่า “แม่เจ้า พวกดิฉันไม่ได้ช่วยขน”
ภิกษณีถุลลนันทาตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี เมื่อที่
พักถูกไฟไหม้ จึงไม่ช่วยกันขนของออกมาเล่า”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาไม่สละที่พักแล้วหลีกจาริกไปเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาไม่สละที่
พักแล้วหลีกจาริกไป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๘ บทภาชนีย์
ไม่สละที่พักแล้วหลีกจาริกไปเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๐๐๙] ก็ภิกษุณีใดไม่สละที่พักแล้วหลีกจาริกไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๑๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ที่พัก พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงที่พักที่ติดบานประตู
คำว่า ไม่สละ ... หลีกจาริกไป ความว่า ไม่สละแก่ภิกษุณี สิกขมานา
หรือสามเณรี
เมื่อเดินพ้นเขตที่พักมีรั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เดินพ้นบริเวณที่พักที่ไม่มี
รั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๑๑] ที่พักที่ยังไม่สละ ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้สละ หลีกไป ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ที่พักที่ยังไม่สละ ภิกษุณีไม่แน่ใจ หลีกไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่พักที่ยังไม่สละ ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว หลีกไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
ภิกษุณีไม่สละห้องพักไม่ได้ติดประตู หลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
ที่พักที่สละแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่สละ หลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
ที่พักที่สละแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ หลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
ที่พักที่สละแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว หลีกไป ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๑๒] ๑. ภิกษุณีสละแล้วหลีกไป
๒. ภิกษุณีหลีกไปเมื่อมีอันตราย
๓. ภิกษุณีแสวงหา(ผู้ดูแลแทน)แล้วไม่ได้
๔. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการเรียนดิรัจฉานวิชา
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๐๑๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์เรียน
ดิรัจฉานวิชา๑ ชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงเรียนดิรัจฉาน
วิชาเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงเรียนดิรัจฉานวิชาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์เรียน

เชิงอรรถ :
๑ ในวินัยปิฎกนี้ ดิรัจฉานวิชา คือวิชาที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นวิชาที่เบียดเบียน
ผู้อื่น เช่น (๑) วิชาฝึกช้าง, ขี่ช้าง (๒) วิชาฝึกม้า, ขี่ม้า (๓) วิชาการขับรถ (๔) วิชายิงธนู (๕) วิชาฟันดาบ
(๖) ร่ายมนตร์ทำร้ายผู้อื่นด้วยพิธีอาถรรพณ์ (๗) ร่ายมนตร์เสกตะปูฝังดินฆ่าคนหรือเสกเข้าท้อง (๘) ร่าย
มนตร์ทำผู้อื่นให้อยู่ในอำนาจ หรือให้เป็นบ้า (๙) ร่ายมนตร์ทำผู้อื่นให้เนื้อเลือดเหือดแห้ง (๑๐) ปล่อยสัตว์มี
พิษ (วิ.อ. ๒/๑๐๑๕/๕๑๑, กงฺขา.อ. ๓๘๘, สารตฺถฏีกา ๓/๑๐๑๕/๑๕๕, กงฺขา.ฏีกา ๕๐๓, ปาจิตฺยาทิโยชนา
๑๗๓ ม.) ส่วนในพระสูตร หมายถึงการทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายโชคลาง ทำนายฝัน ทำนาย
ลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ พิธีเบิกแว่นเวียนเทียน พิธีซัดแกลบบูชาไฟ พิธีซัดรำบูชาไฟ
พิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ พิธีเติมเนยบูชาไฟ พิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ พิธีพ่นเครื่องเซ่นบูชาไฟ ฯลฯ (พระ
สุตตันตปิฎกแปล ที.สี. ๙/๒๑-๒๗/๘-๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
ดิรัจฉานวิชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
เรียนดิรัจฉานวิชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๐๑๔] ก็ภิกษุณีใดเรียนดิรัจฉานวิชา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๑๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ดิรัจฉานวิชา หมายถึง ศิลปวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่งภายนอกพระ
ศาสนาที่ไม่มีประโยชน์
คำว่า เรียน คือ เรียนเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ บท เรียนเป็นอักษร
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ตัวอักษร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๑๖] ๑. ภิกษุณีเรียนวิชาเขียนหนังสือ
๒. ภิกษุณีเรียนท่องจำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
๓. ภิกษุณีเรียนพระปริตรเพื่อคุ้มครองตน๑
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือท่องมนต์ป้องกันยักษ์ ท่องมนต์กะบริเวณกันไม่ให้งูเข้ามา (วิ.อ. ๒/๑๐๑๖/๕๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ พระบัญัติ
๕. จิตตาคารวรรค
สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการสอนดิรัจฉานวิชา
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๐๑๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สอน
ดิรัจฉานวิชา ชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงสอนดิรัจฉานวิชาเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงสอนดิรัจฉานวิชาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สอน
ดิรัจฉานวิชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงสอน
ดิรัจฉานวิชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๐๑๘] ก็ภิกษุณีใดสอนดิรัจฉานวิชา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๑๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ดิรัจฉานวิชา หมายถึง ศิลปวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่งนอกพระ
ศาสนาที่ไม่มีประโยชน์
คำว่า สอน คือ สอนเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ บท สอนเป็นอักษร
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ตัวอักษร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๒๐] ๑. ภิกษุณีสอนวิชาเขียนหนังสือ
๒. ภิกษุณีสอนการท่องจำ๑
๓. ภิกษุณีสอนพระปริตรเพื่อคุ้มครอง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
จิตตาคารวรรคที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ การท่องจำ คือศาสตร์ว่าด้วยการทรงจำ ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามที่กล่าวไว้ จะทรงจำคัมภีร์ได้มากมาย
(กงฺขา.ฏีกา ๕๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค
หมวดว่าด้วยอาราม
สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการเข้าอาราม โดยไม่บอก
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๒๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปมีจีวรผืนเดียว
กำลังตัดเย็บจีวรอยู่ในอาวาสใกล้หมู่บ้าน ภิกษุณีทั้งหลายเข้าไปสู่อาราม โดยไม่บอก
เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพวกภิกษุณีจึงเข้ามาสู่อารามโดยไม่บอกเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเข้าไปสู่อาราม
โดยไม่บอก จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเข้าไปสู่
อารามโดยไม่บอกเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดเข้าไปสู่อารามโดยไม่บอก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑ พระอนุบัญญัติ
เรื่องภิกษุณีไม่กวาดอาราม
[๑๐๒๒] สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นหลีกไปจากอาวาสนั้น ภิกษุณีทั้งหลายคิดว่า
“พระคุณเจ้าทั้งหลายจากไปแล้ว” จึงไม่ไปอาราม เมื่อภิกษุเหล่านั้นกลับมาสู่อาวาส
นั้นอีก ภิกษุณีทั้งหลายรู้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายมาแล้ว” บอกแล้วพากันเข้าไป
หาภิกษุเหล่านั้นกราบไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้นผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “น้อง
หญิงทั้งหลาย เพราะเหตุไร พวกเธอจึงไม่กวาดอาราม ไม่ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้เล่า”
ภิกษุณีเหล่านั้นตอบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุณีไม่
พึงเข้าอาราม’ ดังนั้น พวกดิฉันจึงไม่มา”
ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกภิกษุณีที่
มีอยู่แล้วเข้าอารามได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใดเข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่มีอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีไม่กวาดอาราม จบ
[๑๐๒๓] สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นหลีกไปจากอาวาสนั้นแล้วกลับมาสู่อาวาส
นั้นอีก ภิกษุณีทั้งหลายคิดว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายจากไปแล้ว” จึงไม่บอก เข้าไป
สู่อาราม พวกเธอได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
‘ภิกษุณีไม่บอกภิกษุที่มีอยู่ ไม่พึงเข้าอาราม ‘ พวกเรามิได้บอกภิกษุที่มีอยู่เข้าอาราม
ต้องอาบัติปาจิตตีย์แล้วกระมัง” ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาค
ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ฯลฯ แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
พระอนุบัญญัติ
[๑๐๒๔] อนึ่ง ภิกษุณีใดรู้อยู่ เข้าไปสู่อารามที่มีภิกษุโดยไม่บอก ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๒๕] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุณีรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกเธอ หรือภิกษุเหล่านั้นบอก
อารามที่ชื่อว่า มีภิกษุ คือ สถานที่มีภิกษุอาศัยอยู่แม้ที่โคนต้นไม้
คำว่า เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอก คือ ไม่บอกกล่าวภิกษุ สามเณร หรือ
คนวัด เมื่อล่วงเขตอารามที่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อล่วงสู่อุปจารแห่ง
อารามที่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๑๐๒๖] อารามที่มีภิกษุ ภิกษุณีสำคัญว่ามีภิกษุ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอก
ภิกษุที่มีอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อารามที่มีภิกษุ ภิกษุณีไม่แน่ใจ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่มีอยู่ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อารามที่มีภิกษุ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีภิกษุ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่
มีอยู่ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อารามที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณีสำคัญว่ามีภิกษุ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่
มีอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ
อารามที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณีไม่แน่ใจ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่มีอยู่
ต้องอาบัติทุกกฏ
อารามที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีภิกษุ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุ
ที่มีอยู่ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๒๗] ๑. ภิกษุณีเข้าไปโดยบอกภิกษุที่มีอยู่
๒. ภิกษุไม่มีอยู่ ภิกษุณีจึงเข้าไปโดยไม่บอก
๓. ภิกษุณีเข้าไปเดินมองศีรษะภิกษุณีผู้เข้าไปก่อน
๔. ภิกษุณีไป ณ สถานที่มีภิกษุณีกำลังประชุมกัน
๕. ภิกษุณีเดินตามทางที่ผ่านไปอาราม
๖. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๗. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๘. ภิกษุณีวิกลจริต
๙. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๗ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น