Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๓-๖ หน้า ๓๓๕ - ๔๐๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๓-๖ วินัยปิฎกที่ ๐๓ ภิกขุนีวิภังค์



พระวินัยปิฎก
ภิกขุนีวิภังค์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ เป็นปวัตตินีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายมีพรรษาครบ ๑๒
แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติบวชให้กุลธิดา พวกเธอเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควร
หรือไม่ควร แม้สัทธิวิหารินีก็เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติจึงบวชให้กุลธิดาเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒
แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติบวชให้กุลธิดา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ จึงบวชให้กุลธิดาเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วได้ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวุฏฐาปนสมมติ๑แก่ภิกษุณีผู้มีพรรษา
ครบ ๑๒ แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐาปนสมมติอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ “วุฏฐาปนสมมติ” แปลว่า สมมติให้เป็นผู้บวชให้กุลธิดา คือการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
วิธีขอวุฏฐาปนสมมติและกรรมวาจาให้วุฏฐาปนสมมติ
ภิกษุณีผู้มีพรรษาครบ ๑๒ นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้าง
หนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษาแล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
“แม่เจ้า ดิฉันมีชื่อนี้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว ขอวุฏฐาปนสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุณีนั้นสงฆ์พึงกำหนดได้ว่า “ภิกษุณีนี้เป็นคนฉลาด มีความละอาย” ถ้า
เธอเขลา ไม่มีความละอาย ก็ไม่ควรให้วุฏฐาปนสมมติ ถ้าเธอเขลาแต่มีความละอาย
ก็ไม่ควรให้ ถ้าเป็นคนฉลาดแต่ไม่มีความละอายก็ไม่ควรให้ แต่ถ้าเป็นทั้งคนฉลาด
และมีความละอายจึงควรให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐาปนสมมติอย่างนี้
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๑๔๑] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว
ขอวุฏฐาปนสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วพึงให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มี
พรรษาครบ ๑๒ แล้ว นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้วขอวุฏฐาปนสมมติ
ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แม่เจ้ารูป
ใดเห็นด้วยกับการให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แม่เจ้า
รูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
วุฏฐาปนสมมติสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว สงฆ์เห็น
ด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๕ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๑๑๔๒] ก็ภิกษุณีใดมีพรรษาครบ ๑๒ แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ บวช
ให้กุลธิดา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๔๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว คือ มีพรรษาถึง ๑๒
ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้สมมติ คือ สงฆ์ยังมิได้ให้วุฏฐาปนสมมติด้วยญัตติทุติย
กรรมวาจา
คำว่า บวชให้กุลธิดา คือ อุปสมบทให้กุลธิดา
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๔๔] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่ทำถูกต้อง หมายถึงกรรมวาจาให้วุฏฐาปนสมมติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๔๕] ๑. ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว และสงฆ์สมมติแล้ว จึงบวชให้
กุลธิดา
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการบ่นว่าภายหลัง
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๑๑๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีเข้าไปหา
ภิกษุณีสงฆ์ ขอวุฏฐาปนสมมติ ลำดับนั้น ภิกษุณีสงฆ์กำหนดพิจารณาเธอในขณะ
นั้นแล้วไม่ยอมให้วุฏฐาปนสมมติ ด้วยกล่าวว่า “แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย”
ภิกษุณีจัณฑกาลีก็รับคำของสงฆ์
ครั้นต่อมา ภิกษุณีสงฆ์ให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีจัณฑกาลีจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ดิฉันเท่านั้นเป็นคนเขลา
ดิฉันเท่านั้นไม่มีความละอาย ที่ทำให้สงฆ์ให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีเหล่าอื่น ไม่ให้
แก่ดิฉันเท่านั้น”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลีอันสงฆ์กล่าวอยู่ว่า ‘แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย’ รับคำแล้ว
ภายหลังกลับบ่นว่าเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีอันสงฆ์
กล่าวอยู่ว่า ‘แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย” รับคำแล้ว ภายหลังกลับบ่นว่า
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจัณฑกาลีอันสงฆ์กล่าวอยู่ว่า ‘แม่เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย’ รับคำแล้ว ภายหลังกลับบ่นว่าเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๑๔๗] ก็ภิกษุณีใดอันสงฆ์กล่าวอยู่ว่า “แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดา
เลย” รับคำแล้ว ภายหลังกลับบ่นว่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๔๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย ความว่า แม่เจ้า เธออย่าให้กุลธิดา
อุปสมบทเลย เธอรับคำแล้ว ภายหลังกลับบ่นว่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๔๙] ๑. ภิกษุณีผู้บ่นว่าภิกษุณีสงฆ์ที่มักกระทำไปด้วยความชอบ ด้วย
ความชัง ด้วยความหลง ด้วยความกลัว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการบอกสิกขมานาให้ถวายจีวรแล้วไม่บวชให้
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น สิกขมานารูปหนึ่งเข้าไปหา
ภิกษุณีถุลลนันทา ขออุปสมบท
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวกับสิกขมานานั้นว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา
เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ” แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ ลำดับ
นั้น สิกขมานานั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงกล่าวกับสิกขมานาว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อ
เป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ’ แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายเพื่อบวชให้เล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวกับ
สิกขมานาว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ’
แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงกล่าวกับสิกขมานาว่า ‘ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อเป็นอย่างนี้
เราก็จะบวชให้เธอ’ แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๑๕๑] ก็ภิกษุณีใดกล่าวกับสิกขมานาว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่
เรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ” ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย
ไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๕๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว
คำว่า แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ
ความว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะอุปสมบทให้เธอ
คำว่า ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่ออันตรายไม่มี
คำว่า ไม่บวชให้ คือ ไม่บวชให้ด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ คือ ไม่สั่งภิกษุณีรูปอื่น
พอทอดธุระว่า “จะไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๕๓] ๑. ภิกษุณีไม่บวชให้ในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้๑
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงไม่ได้ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์รูปอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการบอกสิกขมานาให้ติดตามตลอด ๒ ปีแล้วไม่บวชให้
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๕๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น สิกขมานารูปหนึ่งเข้าไปหา
ภิกษุณีถุลลนันทาขออุปสมบท
ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับสิกขมานานั้นดังนี้ว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตาม
ฉันตลอด ๒ ปี เมื่อเป็นอย่างนี้ ฉันจะบวชให้เธอ” แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวาย
ใช้ให้บวชให้ ลำดับนั้น สิกขมานานั้นบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลล นันทาพูดกับสิกขมานาแล้วว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตามฉันตลอด ๒
ปี เมื่อเป็นอย่างนี้ ฉันจะบวชให้เธอ’ ไม่บวชให้ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาพูดกับ
สิกขมานาแล้วว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตามฉันตลอด ๒ ปี เมื่อเป็นอย่างนั้น
ฉันจะบวชให้เธอ’ แล้วไม่บวชให้ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ จริงหรือ” พวก
ภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทากล่าวกับสิกขมานาแล้วว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอ
จักติดตามฉันตลอด ๒ ปี เมื่อเป็นอย่างนั้น ฉันจะบวชให้เธอ’ แล้วไม่บวชให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
ทั้งไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๑๕๕] ก็ภิกษุณีใดกล่าวกับสิกขมานาว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตามเรา
ตลอด ๒ ปี เมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็จะบวชให้เธอ’ ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มี
อันตรายไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๕๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
คำว่า แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตามเราตลอด ๒ ปี ความว่า เธอจักอุปัฏฐากเรา
ตลอด ๒ ปี
คำว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ ความว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะ
อุปสมบทให้เธอ
คำว่า ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่ออันตรายไม่มี
คำว่า ไม่บวชให้ คือ ไม่บวชให้ด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ คือ ไม่สั่งภิกษุณีรูปอื่น
พอทอดธุระว่า “จะไม่บวชให้ จะไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๕๗] ๑. ภิกษุณีผู้ไม่บวชให้ในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาผู้คลุกคลีกับชาย
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๕๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สิกขมานา
ชื่อจัณฑกาลีผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก ดุร้าย ผู้ทำชายให้ระทมโศก
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาชื่อจัณฑกาลีผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก
ดุร้าย ผู้ทำชายให้ระทมโศกเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สิกขมานาชื่อจัณฑกาลีผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก ดุร้าย ผู้ทำชายให้ระทมโศก
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาชื่อ
จัณฑกาลีผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก ดุร้าย ผู้ทำชายให้ระทมโศกเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๑๕๙] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก ดุร้าย
ผู้ทำชายให้ระทมโศก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๖๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ ชายผู้มีอายุถึง ๒๐ ปี
ที่ชื่อว่า เด็ก ได้แก่ ชายผู้มีอายุไม่ถึง ๒๐ ปี
ที่ชื่อว่า ผู้คลุกคลี คือ คลุกคลีด้วยกิริยาทางกายและวาจาที่ไม่เหมาะสม
ที่ชื่อว่า ดุร้าย พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้มักโกรธ
ที่ชื่อว่า ผู้ทำชายให้ระทมโศก คือ ผู้ก่อทุกข์ คือ นำความโศกให้แก่ชายอื่น
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือ สมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๖๑] ๑. ภิกษุณีไม่รู้จึงบวชให้
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๖๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สิกขมานาผู้ที่มารดาบิดาบ้าง สามีบ้างยังไม่ได้อนุญาต ต่อมา มารดาบิดาบ้าง
สามีบ้างตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานา
ที่พวกเรายังมิได้อนุญาตเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านี้ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
บวชให้สิกขมานาที่มารดาบิดาบ้าง สามีบ้างยังไม่ได้อนุญาตเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สิกขมานาที่มารดาบิดาบ้าง สามีบ้างยังไม่ได้อนุญาต จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลาย
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาที่มารดาบิดาบ้าง สามีบ้าง
ยังไม่ได้อนุญาตเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใสหรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๖๓] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาที่มารดาบิดาหรือสามียังไม่ได้อนุญาต
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๖๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มารดาบิดา พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้ให้กำเนิด
ที่ชื่อว่า สามี ได้แก่ ผู้ที่ครอบครองหญิง
คำว่า ยังไม่ได้อนุญาต คือ ยังมิได้บอกลา
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๖๕] ๑. ภิกษุณีไม่รู้จึงบวชให้
๒. ภิกษุณีขออนุญาตก่อนค่อยบวชให้
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๑๑
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๖๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทานิมนต์ภิกษุเถระทั้งหลาย
ให้ประชุมกันด้วยกล่าวว่า “ดิฉันจักบวชให้สิกขมานา” ครั้นเห็นของเคี้ยวของฉัน
จำนวนมาก จึงนิมนต์พระเถระทั้งหลายให้กลับไปด้วยกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ดิฉัน
จะยังไม่บวชสิกขมานา” แล้วนิมนต์พระเทวทัต พระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสะ
พระขัณฑเทวีบุตร และพระสมุทททัตตะให้ประชุมกันบวชให้สิกขมานา
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะเล่า๑” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สิกขมานาด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุ
ถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาด้วยปาริวาสิกฉันทะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ “ด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ” ด้วยให้ความเห็นชอบของภิกษุค้าง หมายถึงภิกษุณีเป็นเจ้ากี้เจ้าการให้
ภิกษุสละฉันทะโดยยินยอมบ้าง ไม่ยินยอมบ้าง แล้วนิมนต์ภิกษุกลุ่มอื่นมาทำกรรมนั้นใหม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๑๑๖๗] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ๑ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๖๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ คือ เมื่อที่ประชุมเลิกไปแล้ว๒
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ ตลอด
๒ ปี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ การให้ปาริวาสิกฉันทะ ให้ฉันทะค้าง คือภิกษุทั้งหลายประชุมกันทำสังฆกรรมแต่ล้มเลิกสละฉันทะ
เสียเพราะเหตุบางอย่าง ถ้าจะทำสังฆกรรมนั้นใหม่ ต้องนำฉันทปาริสุทธิของภิกษุผู้ควรให้ฉันทปาริสุทธิมา
จึงควรทำสังฆกรรมนั้น ถ้าภิกษุทั้งหลายล้มเลิกสละฉันทะในสังฆกรรมแล้วภิกษุณีจัดการให้ทำสังฆกรรม
นั้นใหม่ โดยไม่นำฉันทปาริสุทธิมา ชื่อว่าให้ทำไปด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ (กงฺขา.อ. ๔๐๓-๔๐๔)
๒ เมื่อสมาชิกที่ประชุมสละฉันทะล้มเลิก หรือลุกขึ้นด้วยเพียงแต่สละฉันทะด้วยกายหรือวาจา ชื่อว่าให้
ปาริวาสิกฉันทะ (วิ.อ. ๒/๑๑๖๘/๕๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๖๙] ๑. ภิกษุณีผู้บวชให้เมื่อบริษัทยังไม่เลิก๑
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงยังไม่สละฉันทะ ยังไม่เลิกประชุม (วิ.อ. ๒/๑๑๖๙/๕๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๑๒
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาทุก ๆ ปี
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๗๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สิกขมานา
ทุก ๆ ปี ที่อยู่จึงไม่เพียงพอ คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานาทุก ๆ ปี (ทำให้)ที่อยู่ไม่เพียงพอเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้
สิกขมานาทุก ๆ ปีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ทุก ๆ ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้
สิกขมานาทุก ๆ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๑๗๑] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาทุก ๆ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๗๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ทุก ๆ ปี คือ ในทุก ๆ ปี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๗๓] ๑. ภิกษุณีบวชให้เว้นระยะ ๑ ปี
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๓ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
สิกขาบทที่ ๑๓
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาปีละ ๒ รูป
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๗๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สิกขมานา
ปีละ ๒ รูป๑ (ทำให้)ที่อยู่ไม่เพียงพอเหมือนดังที่เป็นมานั่นแหละ คนทั้งหลายก็
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาอย่างนั้นแหละว่า “ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ปีละ ๒ รูปเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้
สิกขมานาปีละ ๒ รูปเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ปีละ ๒ รูป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ปีละ ๒ รูปเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุณีเหล่านั้นบวชให้สิกขามานา เว้นระยะ ๑ ปี เพื่อไม่ให้เป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๑๒ แห่งวรรคนี้
แต่บวชให้คราวละ ๒ รูป จึงเป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทที่ ๑๓ นี้ขึ้นมาอีก (วิ.อ. ๒/๑๑๗๕/๕๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๓ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๗๕] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานา ๒ รูป ใน ๑ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๗๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ใน ๑ ปี คือ ในปีเดียวกัน
คำว่า บวชให้สิกขมานา ๒ รูป คือ อุปสมบทให้สิกขมานา ๒ รูป
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้สิกขมานา ๒ รูป” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์
บาตรหรือจีวร หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบ
กรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณี
ผู้เป็นอุปัชฌาย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๗๗] ๑. ภิกษุณีเว้นระยะ ๑ ปี บวชให้สิกขมานารูปเดียว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๓ จบ
กุมารีภูตวรรคที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
หมวดว่าด้วยร่มและรองเท้า
สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยภิกษุณีผู้ไม่เป็นไข้กั้นร่มและสวมรองเท้า
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๑๗๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กั้นร่มและ
สวมรองเท้า คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงกั้น
ร่มและสวมรองเท้าเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงกั้นร่มและสวมรองเท้าเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กั้นร่ม
และสวมรองเท้า จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้
มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงกั้นร่มและสวมรองเท้าเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดกั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[๑๑๗๙] สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดร่มและรองเท้าแล้ว เธอจะไม่
มีความผาสุก พวกภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ฯลฯ
ทรงอนุญาตร่มและรองเท้า
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตร่มและรองเท้าแก่
ภิกษุณีผู้เป็นไข้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๑๑๘๐] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ย์
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๘๑] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ที่ขาดร่มและรองเท้าก็ยังมีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ขาดร่มและรองเท้าย่อมไม่มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ร่ม ได้แก่ร่ม ๓ ชนิด คือ (๑) ร่มขาว (๒) ร่มลำแพน (๓) ร่มใบไม้
ที่เย็บเป็นวงกลม เย็บเข้ากับซี่
คำว่า กั้น ... สวม คือ ภิกษุณีกั้นสวมแม้ครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๘๒] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุณีกั้นร่ม แต่ไม่สวมรองเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีสวมรองเท้า แต่ไม่กั้นร่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๘๓] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีใช้ร่มอยู่ในอารามหรืออุปจารแห่งอาราม
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการเดินทางด้วยยานพาหนะ
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๑๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์โดยสาร
ยานไป คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
โดยสารยานไปเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงโดยสารยานไปเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์โดย
สารยานไป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงโดยสาร
ยานไปเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดโดยสารยานไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[๑๑๘๕] สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นไข้ ไม่สามารถจะเดินเท้าไปได้ พวก
ภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ฯลฯ
ทรงอนุญาตยานพาหนะ
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานแก่ภิกษุณี
ผู้เป็นไข้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๑๑๘๖] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ โดยสารยานไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๘๗] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้สามารถเดินเท้าไปได้
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ไม่สามารถเดินเท้าไปได้
ที่ชื่อว่า ยาน ได้แก่ วอ รถ เกวียน คานหาม แคร่ เปลหาม
คำว่า โดยสาร...ไป คือ ไปด้วยยานแม้ครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๘๘] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ โดยสารยานไป ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ โดยสารยานไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ โดยสารยานไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ โดยสารยานไป ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ โดยสารยานไป ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ โดยสารยานไป ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๘๙] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการใช้เครื่องประดับเอว
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๑๑๙๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นภิกษุณีประจำ
ตระกูลของหญิงคนหนึ่ง สมัยนั้น หญิงนั้นได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า
ท่านโปรดนำเครื่องประดับเอวนี้ไปให้หญิงชื่อโน้น” ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นคิดว่า “ถ้า
เราจะใส่บาตรเดินไป เราต้องเสียหายแน่” จึงสวมเครื่องประดับเดินไป เมื่อด้ายขาด
เครื่องประดับเอวตกเรี่ยราดลงบนถนน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้เครื่องประดับเอวเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงใช้เครื่อง
ประดับเอวเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีใช้เครื่องประดับเอว
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงใช้เครื่องประดับเอวเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๙๑] ก็ภิกษุณีใดใช้เครื่องประดับเอว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๙๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่าชื่อว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เครื่องประดับเอว ได้แก่ เครื่องประดับที่สวมเอวชนิดใดชนิดหนึ่ง
คำว่า ใช้ คือ ภิกษุณีใช้แม้ครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๙๓] ๑. ภิกษุณีใช้สายรัดเอวเพราะมีเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการใช้เครื่องประดับของสตรี
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๑๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ใช้เครื่อง
ประดับของหญิง คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
ใช้เครื่องประดับของสตรีเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
ใช้เครื่องประดับของสตรีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบสวนภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ใช้เครื่อง
ประดับของสตรี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงใช้เครื่องประดับของสตรีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๑๙๕] ก็ภิกษุณีใดใช้เครื่องประดับของสตรี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๙๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เครื่องประดับของสตรี ได้แก่ เครื่องประดับศีรษะ เครื่องประดับ
ลำคอ เครื่องประดับมือ เครื่องประดับเท้า เครื่องประดับสะเอว
คำว่า ใช้ คือ ภิกษุณีใช้แม้ครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๙๗] ๑. ภิกษุณีใช้เครื่องประดับของสตรีเพราะมีเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๕
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการใช้ของหอมเครื่องย้อมผิว
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๑๙๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สรงสนาน
ด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิว คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีทั้งหลายจึงสรงสนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิวเหมือนหญิงคฤหัสถ์
ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงได้สรงสนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิวเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สรง
สนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิว จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงสรงสนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๙๙] ก็ภิกษุณีใดสรงสนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิว ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๐๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ของหอม ได้แก่ ของที่มีกลิ่นหอมชนิดใดชนิดหนึ่ง
ที่ชื่อว่า เครื่องย้อมผิว ได้แก่ เครื่องย้อมผิวชนิดใดชนิดหนึ่ง
คำว่า สรงสนาน คือ ภิกษุณีสรงสนาน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่สรงสนาน
สรงสนานเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๐๑] ๑. ภิกษุณีสรงสนานเพราะมีเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการใช้ผงแป้งอบกลิ่น
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สรงสนาน
ด้วยแป้งที่อบกลิ่น คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี
จึงสรงสนานด้วยแป้งที่อบกลิ่นเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงสรงสนานด้วยแป้งที่อบกลิ่นเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่อง
นี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สรงสนาน
ด้วยแป้งที่อบกลิ่น จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า” พระผู้
มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงสรงสนานด้วยแป้งที่อบกลิ่นเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๒๐๓] ก็ภิกษุณีใดสรงสนานด้วยแป้งอบกลิ่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๐๔] คำว่า ก็ ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อบกลิ่น ได้แก่ อบด้วยกลิ่นหอมชนิดใดชนิดหนึ่ง
ที่ชื่อว่า แป้ง พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงแป้งงา
คำว่า สรงสนาน คือ ภิกษุณีสรงสนาน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่สรงสนาน
สรงสนานเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๐๕] ๑. ภิกษุณีสรงสนานเพราะมีเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีสรงสนานด้วยแป้งที่ใช้ตามปกติ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการให้บีบนวด
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๒๐๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายใช้ภิกษุณีให้บีบ
บ้าง ให้นวดบ้าง คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้ภิกษุณีให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง เหมือนหญิง
คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้
ภิกษุณีให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีใช้ภิกษุณีให้บีบบ้าง
ให้นวดบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้ภิกษุณีให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๒๐๗] ก็ภิกษุณีใดใช้ภิกษุณีให้บีบหรือให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๐๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ใช้ภิกษุณี ได้แก่ ใช้ภิกษุณีรูปอื่น
คำว่า ให้บีบ คือ ภิกษุณีใช้ให้บีบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือให้นวด คือ ใช้ให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๐๙] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐๑
ว่าด้วยการใช้(สิกขมานาฯลฯสามเณรีฯลฯ)คฤหัสถ์ให้บีบนวด
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๒๑๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลาย(ใช้สิกขมานาให้
บีบบ้าง ให้นวดบ้าง ฯลฯ ใช้สามเณรีให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง ฯลฯ) ใช้หญิงคฤหัสถ์
ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นจึงตำหนิประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้หญิงคฤหัสถ์ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเหมือน
หญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้หญิง
คฤหัสถ์ ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีใช้หญิงคฤหัสถ์
ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึง
ใช้หญิงคฤหัสถ์ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบทที่ ๘-๙ พึงทราบว่าละไว้ ที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นข้อความของสิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการใช้สิกขมานา สิกขาบทที่ ๙ ว่าด้วยการใช้สามเณรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๒๑๑] ก็ภิกษุณีใด(ใช้สิกขมานา ฯลฯ ใช้สามเณรีฯลฯ) ใช้หญิง
คฤหัสถ์ให้บีบหรือให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๑๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่สตรีผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
ชื่อว่า สามเณรี ได้แก่ สตรีผู้รักษาสิกขาบท ๑๐ ข้อ
ที่ชื่อว่า หญิงคฤหัสถ์ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสตรีผู้ครองเรือน
คำว่า ให้บีบ คือ ภิกษุณีใช้ให้บีบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือให้นวด คือ ใช้ให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๑๓] ๑. ภิกษุณีใช้ให้บีบหรือนวดเพราะอาพาธเป็นเหตุ
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๑๑
ว่าด้วยการนั่งบนอาสนะโดยไม่ขอโอกาสก่อน
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๒๑๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายไม่บอกก่อน
นั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุ๑ ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีไม่บอกก่อนนั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีไม่บอกก่อนนั่งบน
อาสนะข้างหน้าภิกษุ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีไม่
บอกก่อนนั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ข้างหน้าภิกษุ” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตรงหน้าภิกษุเท่านั้น แต่หมายรวมถึงบริเวณใกล้ ๆ ภิกษุ
บริเวณโดยรอบใกล้กับภิกษุ (กงฺขา.อ. ๔๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๑๒๑๕] ก็ภิกษุณีใดไม่บอกก่อนนั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๑๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ข้างหน้าภิกษุ คือ ข้างหน้าอุปสัมบัน
คำว่า ไม่บอกก่อน คือ ไม่ขอโอกาสก่อน
คำว่า นั่งบนอาสนะ คือ ภิกษุณีนั่งโดยที่สุดแม้บนพื้นดิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๒๑๗] ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีไม่แน่ใจ นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ อนาปัตติวาร
บอกแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว นั่งบนอาสนะ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
[๑๒๑๘] ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. ภิกษุณีบอกก่อนจึงนั่งบนอาสนะ
๒. ภิกษุณผู้เป็นไข้
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๑๒
ว่าด้วยการถามปัญหากะภิกษุโดยไม่ได้ขอโอกาส
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๒๑๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายถามปัญหาภิกษุ
ที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาส ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงถามปัญหาภิกษุที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาสเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีถามปัญหาภิกษุ
ที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาส จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณี จึง
ถามปัญหาภิกษุที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาสเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๒๒๐] ก็ภิกษุณีใดถามปัญหาภิกษุที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาส๑ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ยังไม่ได้ขอโอกาส” หมายถึงยังไม่ระบุเรื่องที่จะถาม เพราะฉะนั้น ขอโอกาสที่จะถามปัญหาในพระ
สูตรแล้วไปถามพระวินัยหรือพระอภิธรรม หรือขอโอกาสในพระวินัยแล้วถามพระสูตรหรือพระอภิธรรม
หรือขอโอกาสในพระอภิธรรมแล้วถามพระสูตรหรือพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (กงฺขา.อ. ๔๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๒๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาส คือ ตนยังมิได้บอก
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ อุปสัมบัน
คำว่า ถามปัญหา คือ ภิกษุณีขอโอกาสในพระสูตรแต่ถามพระวินัยหรือ
พระอภิธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ขอโอกาสในพระวินัย แต่ถามพระสูตรหรือพระอภิธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ขอโอกาสในพระอภิธรรม แต่ถามพระสูตรหรือพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๒๒๒] ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก ถามปัญหา ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีไม่แน่ใจ ถามปัญหา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว ถามปัญหา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก ถามปัญหา ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ ถามปัญหา ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว ถามปัญหา ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๒๓] ๑. ภิกษุณีขอโอกาสแล้วจึงถาม
๒. ภิกษุณีขอโอกาสโดยมิได้เจาะจงแล้วจึงถามในปิฎกใดปิฎกหนึ่ง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๓ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
สิกขาบทที่ ๑๓
ว่าด้วยการเข้าหมู่บ้านโดยไม่มีผ้ารัดถัน
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๑๒๒๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งไม่มีผ้ารัดถัน
เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ขณะที่เธอเดินอยู่บนถนนลมบ้าหมูพัดเปิดสังฆาฏิเวิกขึ้น
คนทั้งหลายส่งเสียงว่า “ถันและท้องของแม่เจ้าสวยจริง” ภิกษุณีนั้นถูกคนทั้งหลาย
เยาะเย้าจึงเก้อเขิน ครั้นเธอไปถึงที่อยู่จึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีไม่มีผ้ารัดถันจึงเข้าไปหมู่บ้านเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีไม่มีผ้ารัดถันเข้าไป
หมู่บ้าน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีไม่มีผ้ารัดถันจึง
เข้าไปหมู่บ้านเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๒๒๕] ก็ภิกษุณีใดไม่มีผ้ารัดถันเข้าหมู่บ้าน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๓ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๒๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ไม่มีผ้ารัดถัน คือ เว้นผ้ารัดถัน
ที่ชื่อว่า ผ้ารัดถัน ได้แก่ ผ้าที่ใช้ปกปิดอวัยวะใต้รากขวัญลงมาถึงสะดือ
คำว่า เข้าหมู่บ้าน คือ สำหรับหมู่บ้านที่มีรั้วล้อม เดินเลยเขตรั้วล้อม
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สำหรับหมู่บ้านที่ไม่มีรั้วล้อม ก้าวพ้นอุปจารไป ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๒๗] ๑. ภิกษุณีถูกชิงจีวรไป
๒. ภิกษุณีจีวรหาย
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้หลงลืม
๕. ภิกษุณีไม่รู้ตัว
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๓ จบ
ฉัตตุปาหนวรรคที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] บทสรุป
บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาจิตตีย์ ๑๖๖ สิกขาบท๑ ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือปาจิตตีย์ ๑๖๖ สิกขาบทนั้นว่า
“ท่านทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือปาจิตตีย์ทั้ง ๑๖๖ สิกขาบทเหล่านี้
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
ขุททกสิกขาบท จบบริบูรณ์
ปาจิตติยกัณฑ์ในภิกขุนีวิภังค์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มุสาวรรค ๑๐ สิกขาบท มีเนื้อความเหมือนกับมุสาวาทวรรคของภิกษุสงฆ์
ภูตคามวรรค ๑๐ สิกขาบท มีเนื้อความเหมือนกับภูตคามวรรคของภิกษุสงฆ์
โภชนวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๖ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๑,๒,๔,๗,๘,๑๐ แห่ง
โภชนวรรคของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๗-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบท
ที่ ๒-๕ แห่งอเจลกวรรคของภิกษุสงฆ์
จาริตวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๕ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๖-๑๐ แห่งอเจลกวรรค
ของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๖-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๑-๕
แห่งสุราปานวรรคของภิกษุ
โชติวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๕ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๖-๑๐ แห่งสุราปานวรรค
ของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๖-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๑,๒,๓,๖,๘
แห่งสัปปาณกวรรคของภิกษุสงฆ์
ทิฏฐิวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๒ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๙-๑๐ แห่งสัปปาณก
วรรคของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๓-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่
๑-๘ แห่งสหธรรมิกวรรคของภิกษุสงฆ์
ธรรมิกวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๔ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๙-๑๒ แห่งสหธรรมิก
วรรคของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๕-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่
๒,๔,๕,๖,๘,๑๐ แห่งรตนวรรคของภิกษุสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบทเหล่านี้มาถึงวาระที่จะยก
ขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ
ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการออกปากขอเนยใส
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๒๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ออกปากขอ
เนยใสมาฉัน คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงออก
ปากขอเนยใสมาฉัน ใครเล่าจะไม่ชอบใจอาหารที่ปรุงดีพร้อม ใครเล่าจะไม่ชอบของ
เอร็ดอร่อย”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงออกปากขอเนยใสมาฉันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ออกปาก
ขอเนยใสมาฉัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงออกปากขอเนยใสมาฉันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดออกปากขอเนยใสมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า
ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะเป็นธรรมที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอ
แสดงคืนธรรมนั้น”
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[๑๒๒๙] สมัยนั้น ภิกษุณีทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุณีผู้ถามอาการไข้ได้กล่าว
กับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ”
พวกภิกษุณีผู้เป็นไข้กล่าวว่า “แม่เจ้า เมื่อก่อนพวกดิฉันออกปากขอเนยใสมา
ฉันได้ เพราะเหตุนั้น พวกดิฉันจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้พวกดิฉันยำเกรงอยู่ว่า
พระผู้มีพระภาคทรงห้าม จึงไม่กล้าออกปากขอ เพราะเหตุนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ
ทรงอนุญาตเนยใส
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีผู้เป็นไข้
ออกปากขอเนยใสมาฉันได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๑๒๓๐] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ออกปากขอเนยใสมาฉัน ภิกษุณีนั้น
พึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าติเตียน
ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอแสดงคืนธรรมนั้น”
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๓๑] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ขาดเนยใสก็ยังมีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ขาดเนยใสย่อมไม่มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่เกิดจากโค เนยใสจากแพะ เนยใสจากกระบือ
หรือเนยใสของสัตว์ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ขอเพื่อประโยชน์ตน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ รับ
ประเคนมาด้วยตั้งใจว่า “จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏเพราะได้มา เธอฉัน ต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ ทุกๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[๑๒๓๒] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ
ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๓๓] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีเป็นไข้ ออกปากขอมา หายแล้วฉัน
๓. ภิกษุณีฉันเนยใสที่เหลือเดนของภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีฉันเนยใสของญาติ
๕. ภิกษุณีฉันเนยใสของคนที่ปวารณาไว้
๖. ภิกษุณีออกปากขอเพื่อผู้อื่น
๗. ภิกษุณีจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๘. ภิกษุณีวิกลจริต
๙. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ๒-๘. ทุติยาทิปาฏิเทสนียสิกขาบท นิทานวัตถุ
ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๒-๘๑
ว่าด้วยการออกปากขอน้ำมันเป็นต้น
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๓๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์(ออกปาก
ขอน้ำมันมาฉัน ฯลฯ ออกปากขอน้ำผึ้งมาฉัน ฯลฯ ออกปากขอน้ำอ้อยมาฉัน ฯลฯ
ออกปากขอปลามาฉัน ฯลฯ ออกปากขอเนื้อมาฉัน ฯลฯ ออกปากขอนมสดมาฉัน
ฯลฯ) ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพวกภิกษุณีจึงออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉันเล่า ใครเล่าจะไม่ชอบใจอาหารที่ปรุง
ดีพร้อม ใครเล่าจะไม่ชอบใจของที่เอร็ดอร่อย”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ออกปาก
ขอนมเปรี้ยวมาฉัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงขอนมเปรี้ยวมาฉันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบทที่ ๒ ว่าด้วยการออกปากขอน้ำมัน สิกขาบทที่ ๓ ว่าด้วยการออกปากขอน้ำผึ้ง สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการออกปากขอน้ำอ้อย สิกขาบทที่ ๕ ว่าด้วยการออกปากขอปลา สิกขาบทที่ ๖ ว่าด้วยการ
ออกปากขอเนื้อ สิกขาบทที่ ๗ ว่าด้วยการออกปากขอนมสด พึงทราบว่าละข้อความเต็มไว้ ที่ปรากฏอยู่
นี้ เป็นข้อความของสิกขาบทที่ ๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๒-๘ พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า
ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอ
แสดงคืนธรรมนั้น”
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[๑๒๓๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ ภิกษุณีผู้ถามอาการไข้ได้กล่าวกับ
ภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ”
ภิกษุณีผู้เป็นไข้กล่าวว่า “แม่เจ้า เมื่อก่อนพวกดิฉันออกปากขอนมเปรี้ยว
มาฉันได้ เพราะเหตุนั้นพวกดิฉันจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้พวกดิฉันยำเกรงอยู่ว่า
‘พระผู้มีพระภาคทรงห้าม” จึงไม่กล้าออกปากขอ เพราะเหตุนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ฯลฯ
ทรงอนุญาตนมเปรี้ยว
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีเป็นไข้
ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉันได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๑๒๓๖] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ออกปากขอ (น้ำมัน ฯลฯ น้ำผึ้ง
ฯลฯ น้ำอ้อย ฯลฯ ปลา ฯลฯ เนื้อ ฯลฯ นมสด ฯลฯ) นมเปรี้ยวมาฉัน
ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรม
ที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอแสดงคืนธรรมนั้น”
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๒-๘ บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๓๗] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ขาดนมเปรี้ยวก็ยังมีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ขาดนมเปรี้ยวย่อมไม่มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันจากเมล็ดผักกาด
น้ำมันจากผลมะซาง น้ำมันจากเมล็ดละหุ่ง น้ำมันจากเปลวสัตว์
ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได้แก่ น้ำรสหวานที่ผึ้งทำ
ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำรสหวานที่เกิดจากอ้อย
ที่ชื่อว่า ปลา พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสัตว์ที่เกิดในน้ำ
ที่ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือ หรือน้ำนมสัตว์
ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมเปรี้ยว ได้แก่ นมเปรี้ยวของสัตว์มีโคเป็นต้นเหล่านั้นแหละ
ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ขอมาเพื่อตน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ รับประเคนไว้
ด้วยตั้งใจว่า “จักฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏเพราะได้มา เธอฉันต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ทุก ๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[๑๒๓๘] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๒-๘ อนาปัตติวาร
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ
ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๓๙] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีขอได้มาเมื่อตอนเป็นไข้ ฉันเมื่อไม่เป็นไข้
๓. ภิกษุณีฉันนมเปรี้ยวที่เหลือเดนของภิกษุณีไข้
๔. ภิกษุณีฉันนมเปรี้ยวของญาติ
๕. ภิกษุณีฉันนมเปรี้ยวของคนที่ปวารณาไว้
๖. ภิกษุณีออกปากขอเพื่อผู้อื่น
๗. ภิกษุณีจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๘. ภิกษุณีวิกลจริต
๙. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] บทสรุป
บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบทเหล่านั้น
ว่า “ท่านทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ” .
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือปาฏิเทสนียะทั้ง ๘ สิกขาบทเหล่านี้
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
ปาฏิเทสนียกัณฑ์ในภิกขุนีวิภังค์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๓ }


หน้าว่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] ๑. ปริมัญฑลวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๖. เสขิยกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือเสขิยะเหล่านี้มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ
ตามลำดับ
๑. ปริมัณฑลวรรค
หมวดว่าด้วยการนุ่งห่มเรียบร้อย
สิกขาบทที่ ๑
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ครอง
อันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีทั้งหลายจึงครองอันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ข้าง
หลังบ้างเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงครองอันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ย้อยข้างหลังบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ครอง
อันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงครองอันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้างเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] ๑. ปริมัญฑลวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
พึงทำความสำเหนียกว่า เราจักครองอันตรวาสกให้เรียบร้อย
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีพึงครองอันตรวาสกให้เรียบร้อย คือนุ่งปิดบริเวณสะดือ บริเวณเข่า
ภิกษุณีใดไม่เอื้อเฟื้อ ครองอันตรวาสกย้อยข้างหน้าหรือข้างหลัง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. ภิกษุณีไม่จงใจ
๒. ภิกษุณีไม่มีสติ
๓. ภิกษุณีผู้ไม่รู้
๔. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
เป็นข้อความที่ย่อไว้๑

เชิงอรรถ :
๑ เสขิยสิกขาบทที่เหลือเป็นสาธารณบัญญัติ คือสิกขาบทที่ทรงบัญญัติทั่วไปทั้งแก่ภิกษุและภิกษุณี พึงทราบ
โดยนัยที่แสดงไว้ในภิกขุวิภังค์ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ท่านละข้อความวรรคเหล่านี้ คือ (๒) อุชชัคฆิกวรรค
(๓) ขัมภกตวรรค (๔) สักกัจจวรรค (๕) กพฬวรรค (๖) สุรุสุรุวรรค พึงทราบว่า ในเสขิยกัณฑ์ทั้งของ
ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ มีจำนวนวรรคและสิกขาบทเท่ากัน (ดู วินัยปิฎกแปล ๒/๕๗๖-๖๕๔/๖๔๙-๗๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] ๗. ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๗. ปาทุกาวรรค
หมวดว่าด้วยรองเท้า
สิกขาบทที่ ๑
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๔๑] สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถ่ายอุจจาระ
บ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงในน้ำ พวกชาวบ้านจึงตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง
ลงในน้ำเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงในน้ำเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกให้ภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงน้ำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถ่าย
อุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้างลงในน้ำ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงใน
น้ำเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] ๗. ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
พึงทำความสำเหนียกว่า เราจักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลาย
ลงในน้ำ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
สมัยนั้น ภิกษุณีทั้งหลายผู้เป็นไข้ ยำเกรงอยู่ที่จะถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะ
บ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงในน้ำ พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาค
ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณี
ผู้เป็นไข้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงในน้ำได้” แล้วรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
พึงทำความสำเหนียกว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ
สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ไม่พึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ
ภิกษุณีใดไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เป็นไข้ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลาย ลงใน
น้ำ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] บทสรุป
๑. ภิกษุณีไม่จงใจ
๒. ภิกษุณีไม่มีสติ
๓. ภิกษุณีผู้ไม่รู้
๔. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุณีถ่ายบนบกแล้วไหลลงน้ำ
๖. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๗. ภิกษุณีวิกลจริต
๘. ภิกษุณีมีจิตฟุ้งซ่าน
๙. ภิกษุณีกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๑๐. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๕ จบ
ปาทุกาวรรคที่ ๗ จบ
บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือเสขิยทั้งหลายข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลาย ในธรรมคือเสขิยะเหล่านั้นว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือเสขิยะเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นไว้เป็นมติอย่างนี้
เสขิยกัณฑ์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๗. อธิกรณสมถะ] บทสรุป
๗. อธิกรณสมถะ
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ เหล่านี้มาถึงวาระที่จะยกขึ้น
แสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ
[๑๒๔๒] เพื่อระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ (๑) พึงให้สัมมุขาวินัย (๒) พึง
ให้สติวินัย (๓) พึงให้อมูฬหวินัย (๔) พึงให้ปฏิญญาตกรณะ (๕) พึงให้เยภุยยสิกา
(๖) พึงให้ตัสสปาปิยสิกา (๗) พึงให้ติณวัตถารกวินัย๑
บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ อย่าง ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคืออธิกรณสมถะเหล่านั้นว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
อธิกรณสมณะ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมมุขาวินัย วิธีตัดสินในที่พร้อมหน้าสงฆ์ พร้อมหน้าบุคคล พร้อมหน้าวัตถุ และพร้อมหน้าธรรม สติวินัย
วิธีตัดสินโดยประกาศสมมติให้ว่าเป็นพระอริยะผู้มีสติสมบูรณ์ อมูฬหวินัย วิธีตัดสินโดยยกประโยชน์ให้
ว่าต้องอาบัติในขณะเป็นบ้า ปฏิญญาตกรณะ วิธีตัดสินตามคำรับของจำเลย เยภุยยสิกา วิธีตัดสิน
ตามเสียงข้างมาก ตัสสปาปิยสิกา วิธีตัดสินโดยการลงโทษแก่ผู้ทำผิด ติณวัตถารกะ วิธีตัดสินโดยการ
ประนีประนอม
อธิกรณ์ ๔ ประการระงับด้วยอธิกรณสมณะแต่ละอย่าง คือ วิวาทาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัยและ
เยภุยยสิกา อนุวาทาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา อาปัตตาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัย
ปฏิญญาตกรณะ และติณวัตถารกะ กิจจาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัย (กงฺขา.อ. ๓๓๘-๓๓๙ ดู องฺ.ทุก.
๒๐/๒๐๒-๒๐๓/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๐๐ }

คำนิคม
คำนิคม
แม่เจ้าทั้งหลาย นิทาน ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว คือ
ธรรม คือ ปาราชิก ๘ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ สังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ ปาจิตตีย์ ๑๖๖ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ ปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ เสขิยะทั้งหลาย ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ อธิกรณสมถะ ๗ ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
สิกขาบทของพระผู้มีพระภาคนั้นมีเท่านี้มาในสูตร๑ นับเนื่องในพระสูตร มาสู่
วาระที่จะพึงยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับทุกกึ่งเดือน
พวกเราทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาในพระสูตร
นั้นเทอญ
ภิกษุนีวิภังค์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “พระสูตร” หมายถึงพระปาติโมกข์นั่นเอง (ดู วิ.อ. ๑/๔๕/๒๔๗-๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๐๑ }

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๓ วินัยปิฎกที่ ๐๓ ภิกขุนีวิภังค์ จบ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น