Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๕-๔ หน้า ๑๒๖ - ๑๖๗

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๕-๔ วินัยปิฎกที่ ๐๕ มหาวรรค ภาค ๒



พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่นิเวศน์ของเมณฑกคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้นภรรยา บุตร สะใภ้ และทาสของคหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
นั่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่คนเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าคนเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่คนเหล่านั้น ณ
อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับ
ไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็น
อย่างดี
ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่ง
ลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้ว
กล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักมองเห็นรูป’ พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า
พระองค์ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้าม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ตลอดเวลาที่พระองค์ยังประทับอยู่ในเมืองภัททิยะ ข้าพระ
องค์ขอถวายภัตตาหารเป็นประจำแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี
กถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตปัญจโครสเป็นต้น
[๒๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองภัททิยะตามพระอัธยาศัย
แล้ว ไม่ทรงบอกเมณฑกคหบดี เสด็จจาริกไปทางอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
เมณฑกคหบดีได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่อังคุตตราปะพร้อม
กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ลำดับนั้น จึงสั่งทาสและกรรมกรไปว่า
“ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง
ของฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มาก ๆ พวกคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงต้อนแม่โค
๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจะเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ที่ยังอุ่นในที่ที่เราได้
เฝ้าพระผู้มีพระภาค”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาคระหว่างทางกันดาร จึงเข้าไป
เฝ้าถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ
ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุก
จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป โดยล่วงไป
แห่งราตรีนั้นเขาให้จัดเตรียมโภชนาหารอันประณีตแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มี
พระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปที่จัดเลี้ยง
ของคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
คหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนไปว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงช่วยกัน
จับแม่โคนมคนละตัวแล้วยืนใกล้ภิกษุรูปละคน ๆ เราจะเลี้ยงพระด้วยนมสดรีดใหม่
ที่ยังอุ่น” แล้วนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีดด้วยตนเอง
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเองกระทั่งอิ่มหนำ
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีด
ด้วยมือตนเอง ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึง
ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ในหนทางกันดาร
อัตคัดน้ำอัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไปต้องลำบาก ขอประทานวโรกาส
เถิด พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุด้วยเถิด พระพุทธ-
เจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยากรับ
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ ชนิด คือ นมสด นมเปรี้ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
เปรียง เนยข้น และเนยใส ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัดคัต
อาหารมีอยู่ ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไป ต้องลำบาก เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้
คือ ผู้ต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ผู้ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว
ผู้ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ผู้ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ผู้
ต้องการน้ำอ้อยงบพึงแสวงหาน้ำอ้อยงบ ผู้ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ผู้
ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ศรัทธาเลื่อมใส
มอบเงินและทองไว้แก่กัปปิยการกกล่าวว่า ‘สิ่งใดควรแก่พระคุณเจ้า จงถวายสิ่งนั้น
จากกัปปิยภัณฑ์นี้’ ดังนี้ก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดควรจากกัปปิยภัณฑ์นั้น เรา
อนุญาตให้ยินดีสิ่งนั้นได้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงิน
ไม่ว่ากรณีใด ๆ”
๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
ว่าด้วยเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน๑
[๓๐๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงอาปณนิคม
เกณิยชฎิลได้ทราบข่าวว่า “พระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวชจาก
ศากยตระกูล เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์
อันงามขจรไป อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วย พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถี ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค‘๒ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วย
พระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น

เชิงอรรถ :
๑ อัฏฐบาน คือ น้ำดื่ม ๘ ชนิด (ดูหน้า ๑๓๑)
๒ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑/๑-๒(เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อม
ทั้งอรรถและพยัญชนะบริบูรณ์ บริสุทธิ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลาย
เช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราจะนำอะไรหนอไปถวายพระสมณ
โคดม” ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ
ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตตะ ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส
ฤๅษีภารทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ สอนมนต์
ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้สวด สอนซึ่งบทมนต์เก่าที่ท่านสวด สอนรวบรวมไว้
สอนได้ถูกต้องตามที่ท่านสอนไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้๑ ฤๅษีเหล่านั้น
เป็นผู้ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ฤๅษีเหล่านั้นยินดีน้ำดื่มอย่างนี้
แม้พระสมณโคดมก็ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ก็น่าจะยินดีน้ำดื่มอย่าง
นี้บ้าง” แล้วสั่งให้เตรียมน้ำดื่มเป็นอันมากให้คนหาบไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่
ประทับ ครั้นถึงแล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น
ที่ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร เกณิยชฎิลผู้ยืน ณ ที่สมควรได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม โปรดรับน้ำดื่มของข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้นำน้ำดื่มมากมายประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น
ประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ห้ามภัตตาหารแล้ว
ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.สี. (แปล) ๙/๕๒๖/๒๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น เกณิยชฎิลผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับ
ภัตตาหารของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
และท่านเองก็เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์”
แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็กราบทูลนิมนต์ว่า “พระโคดมผู้เจริญ แม้ภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระองค์ เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์
ก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุกจาก
อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
ทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอัฏฐบาน คือ

๑. น้ำมะม่วง ๒. น้ำหว้า
๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
๕. น้ำมะซาง ๖. น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
๗. น้ำเหง้าบัว ๘. น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด”
คืนนั้น เกณิยชฎิลให้เตรียมโภชนาหารอันประณีตที่อาศรมของตนแล้วให้คนไป
กราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตร
และจีวร เสด็จไปที่อาศรมของเกณิยชฎิล ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์ เกณิยชฎิลได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยมือของตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถานี้ว่า
ยัญพิธีมีการบูชาไฟเป็นประธาน
สาวิตตีฉันท์เป็นประธานของพระเวท๑
พระเจ้าแผ่นดินเป็นประธานของประชาราษฎร์
มหาสมุทรเป็นประธานของแม่น้ำ
ดวงจันทร์เป็นประธานแห่งดาวนักษัตร
ดวงอาทิตย์เป็นประธานแห่งสิ่งที่ร้อน ฉันใด
พระสงฆ์ก็เป็นประธานของทายกผู้มุ่งบุญถวายทานอยู่ ฉันนั้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลเสร็จ จึงทรงลุกจาก
อาสนะแล้วเสด็จกลับ

เชิงอรรถ :
๑ พวกพราหมณ์เมื่อจะสวดสาธยายพระเวท ย่อมสวดสาวิตตีฉันท์ก่อน ฉันท์นี้จึงชื่อว่าเป็นบทนำ เป็นบท
เริ่มต้นแห่งพระเวท (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๐/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
ว่าด้วยเจ้ามัลละชื่อโรชะถวายผักกาดสดและของฉันทำด้วยแป้ง
[๓๐๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาปณนิคมตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางเมืองกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
พวกมัลลกษัตริย์ชาวกรุงกุสินาราได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จมา
กรุงกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ได้ทำกติกา
กันว่า “ผู้ไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคจะถูกปรับสินไหม มีจำนวน ๕๐๐ กหาปณะ”
สมัยนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะเป็นสหายของท่านพระอานนท์ ครั้งนั้นพระผู้มี
พระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงกุสินารา ลำดับนั้น พวกมัลลกษัตริย์
ชาวกรุงกุสินาราได้ต้อนรับพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะรับเสด็จ
พระผู้มีพระภาคแล้วได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ณ ที่พัก ทรงอภิวาทแล้วประทับยืน
อยู่ ณ ที่สมควร
ท่านพระอานนท์กล่าวกับมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะผู้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรว่า
“โรชะ ท่านรับเสด็จพระผู้มีพระภาคได้สมพระเกียรติจริง ๆ”
มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ต้อนรับพระพุทธ พระธรรม พระ
สงฆ์ให้ใหญ่โตเลย แต่พวกญาติได้ทำกติกากันว่า ‘ผู้ไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคจะ
ถูกปรับสินไหม ๕๐๐ กหาปณะ’ ข้าพเจ้ารับเสด็จพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ก็เพราะ
กลัวพวกญาติจะปรับสินไหม”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ไม่พอใจว่า “ไฉนมัลลกษัตริย์โรชะจึงตรัสอย่างนี้เล่า”
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระ
ภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์ผู้นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “มัลลกษัตริย์โรชะผู้นี้เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก และความ
เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของคนเช่นนี้มีประโยชน์มาก พระองค์โปรดทรงกระทำให้
มัลลกษัตริย์โรชะเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “การที่จะกระทำให้มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะเลื่อมใสใน
พระธรรมวินัย ทำได้ไม่ยาก”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแผ่พระเมตตาจิตไปยังมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะแล้ว
เสด็จลุกจากอาสนะเข้าพระวิหาร มัลลกษัตริย์โรชะพอได้รับกระแสพระเมตตาจิต
ของพระผู้มีพระภาคถูกต้องจึงเที่ยวค้นหาตามพระวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง
ดุจโคแม่ลูกอ่อน ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “เวลานี้ พระผู้มีพระภาคอรหันต
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน เจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องการพบพระองค์”
ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า “ท่านโรชะ พระวิหารหลังนั้นเขาปิดประตูเสียแล้ว
โปรดสงบเสียง ท่านจงเสด็จเข้าไปทางพระวิหารหลังนั้นแล้วค่อย ๆ เสด็จดำเนินไป
ที่หน้ามุข กระแอมแล้วเคาะประตูเถิด พระองค์จะทรงเปิดประตูรับท่าน”
ขณะนั้น มัลลกษัตริย์โรชะทรงสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารซึ่งปิดอยู่
ค่อย ๆ เสด็จดำเนินไปที่หน้ามุข กระแอมแล้วเคาะประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิด
ประตูรับ๑ มัลลกษัตริย์โรชะจึงเสด็จเข้าพระวิหาร ถวายบังคมแล้วประทับนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มัลลกษัตริย์โรชะผู้นั่ง ณ ที่สมควร
เมื่อทรงทราบว่ามัลลกษัตริย์โรชะนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่มัลล

เชิงอรรถ :
๑ ทรงเปิดประตูรับ ไม่ได้หมายถึงว่า พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นมาเปิดประตูด้วยพระองค์เอง แต่ทรงเหยียด
พระหัตถ์ออกพร้อมกับตรัสว่า “จงเปิด” ประตูก็เปิดเอง เป็นการเปิดด้วยพระทัย (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๑/
๔๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
กษัตริย์โรชะ ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์โรชะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว
หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้
แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานวโรกาส ภิกษุทั้งหลายโปรดรับจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของข้าพระพุทธเจ้าเพียงคนเดียว อย่ารับ
ของคนอื่นเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรชะ แม้อริยบุคคลอื่น ๆ ผู้ได้เห็นธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนอย่างท่านก็คงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุ
จงรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเราเท่านั้น
อย่ารับของคนอื่นเลย’ ดังนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงรับทั้งของท่านและของคนอื่น”
[๓๐๒] สมัยนั้น ชาวบ้านจัดเตรียมภัตตาหารอันประณีตไว้ที่กรุงกุสินารา
เมื่อมัลลกษัตริย์โรชะไม่มีโอกาสถวายภัตตาหาร จึงได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “อย่า
กระนั้นเลย เราพึงตรวจดูโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งที่ไม่มีในโรงอาหารไว้” แล้วตรวจดู
โรงอาหาร ไม่ทรงเห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสดและของฉันทำด้วยแป้ง จึงเสด็จเข้าไป
หาท่านพระอานนท์ตรัสว่า “เมื่อข้าพเจ้าไม่มีโอกาสจะถวายภัตตาหารในที่นี้จึงคิดว่า
‘เราควรตรวจดูโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งที่ไม่มีในโรงอาหารไว้’ แล้วตรวจดูโรงอาหาร
ไม่เห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสดและของฉันทำด้วยแป้ง ถ้าข้าพเจ้าเตรียมผักสดและ
ของฉันทำด้วยแป้งถวาย พระผู้มีพระภาคจะทรงรับสิ่งนั้นหรือ พระคุณเจ้า”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “อาตมาจะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค” แล้วได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เขาจงจัดเตรียมเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
พระอานนท์ถวายพระพรว่า “โรชะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงจัดเตรียมเถิด”
คืนนั้นมัลลกษัตริย์โรชะให้จัดเตรียมผักสดและของฉันทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก
น้อมถวายพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรด
ทรงรับผักสดและของฉันทำด้วยแป้งของข้าพระองค์เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรชะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย”
พวกภิกษุยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์โรชะทรงนำผักสดและของฉันทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึง
ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มัลลกษัตริย์โรชะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรง
ลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผักสดทุกชนิดและของฉันทำด้วย
แป้งทุกชนิด”
๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุเฒ่าเคยเป็นช่างกัลบกในเมืองอาตุมา
[๓๐๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงกุสินาราตามพระอัยธาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางเมืองอาตุมา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
สมัยนั้น มีพระหลวงตารูปหนึ่งเคยเป็นช่างกัลบก๑ อาศัยอยู่ในเมืองอาตุมา
พระหลวงตานั้นมีบุตรชาย ๒ คน๒ เป็นเด็กพูดจาไพเราะอ่อนหวาน มีไหวพริบ
ขยันขันแข็ง ฝีมือเยี่ยมในงานกัลบกของตนเทียบเท่าระดับอาจารย์
พระหลวงตานั้นได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาเมืองอาตุมา
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ลำดับนั้น พระหลวงตานั้น
ได้กล่าวกับบุตรทั้งสองดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาเมืองอาตุมาพร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ลูกทั้งสองจงถือเครื่องมือตัดผม
และโกนผมพร้อมกับทะนานและถุงเที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือน รวบรวม
เกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างไว้ พ่อจะหุงข้าวต้มถวายพระผู้มี
พระภาคผู้เสด็จมาถึง”
บุตรชายทั้งสองรับคำสั่งของพระหลวงตาผู้เป็นพ่อแล้วถือเครื่องมือตัดผมพร้อม
กับทะนานและถุงเที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือน รวบรวมแลกเกลือบ้าง
น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้าง คนทั้งหลายเห็นเด็กทั้งสองคนพูดจาไพเราะ
อ่อนหวานมีไหวพริบ แม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะให้ตัด ก็ให้ตัด ถึงให้ตัดแล้วก็ให้ค่าแรงมาก
ดังนั้น เด็กทั้งสองจึงรวบรวมเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างได้
เป็นจำนวนมาก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมืองอาตุมา ทราบ
ว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูสาคาร คืนนั้นพระหลวงตารูปนั้นสั่งคนให้จัด
เตรียมข้าวต้มเป็นอันมากแล้วน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคว่า “พระผู้มี
พระภาคโปรดรับข้าวต้มของข้าพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควรตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัสถาม

เชิงอรรถ :
๑ ช่างกัลบก คือ ช่างตัดผม ช่างโกนผม
๒ บุตรชาย ๒ คนของพระหลวงตานั้น เป็นสามเณร (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๓/๔๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย สอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามพระหลวงตานั้นว่า “ข้าวต้มนี้เธอได้
มาจากไหน”
พระหลวงตานั้นจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่
คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอบวชแล้ว
จึงได้ชักจูงทายกในสิ่งอันไม่ควรเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บรรพชิตไม่พึงชักชวนทายกในสิ่งไม่ควร รูปใดชักชวน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องมือตัดผม รูปใด
เก็บรักษาไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องผลไม้ดาษดื่นในกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองอาตุมาตามพระอัธยาศัยแล้วเสด็จ
จาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในกรุง
สาวัตถีนั้น
เวลานั้น ในกรุงสาวัตถี มีของฉันคือผลไม้ดาษดื่น ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้
สนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตของฉันคือผลไม้หรือหนอแล” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตของฉันคือผลไม้ทุกชนิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
เรื่องปลูกพืช
[๓๐๔] สมัยนั้น เขาปลูกพืชของสงฆ์ในที่ของบุคคล ปลูกพืชของบุคคลในที่
ของสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่ปลูกในที่ของบุคคล
พึงให้ส่วนแบ่งแล้วบริโภคได้ พืชของบุคคลที่ปลูกในที่ของสงฆ์พึงให้ส่วนแบ่งแล้ว
บริโภคได้”
๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
ว่าด้วยมหาปเทส ๔
[๓๐๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเกิดความยำเกรงอยู่ในข้อบัญญัติบางอย่างว่า
“สิ่งใดหนอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งใดหนอไม่ทรงอนุญาตไว้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคได้ประทานมหาปเทสไว้ ๔ ข้อ คือ
๑. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑

เชิงอรรถ :
๑ ตัวอย่างเช่น ธัญชาติ ๗ อย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หญ้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวเหนียว
ข้าวฟ่าง (วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘) เป็นสิ่งที่ทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวันใหม่ ส่วนมหาผล
๙ อย่าง คือ ตาล มะพร้าว ผลขนุน ขนุนสำปะลอ บวบ ฟักเขียว แตงกวา แตงโม ฟักทอง
รวมทั้งอปรัณณชาติทั้งหมด เช่น ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังภัตตาหาร แม้จะไม่ได้ทรงห้ามไว้
แต่อนุโลมเข้ากับธัญชาติ ๗ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวัน
ใหม่เช่นกัน เข้ากับหลักมหาประเทสข้อ ๑ และข้อ ๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
๒. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑
๓. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
๔. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร
เรื่องทรงอนุญาตกาลิกระคนกัน
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันดังนี้ว่า “ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิก
ควรหรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิก
ระคนกับยามกาลิกควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกควรหรือไม่
ควรหนอ”๒
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับ
ประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในเวลาวิกาล

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน (น้ำดื่ม ๘ ชนิด) ส่วนน้ำดื่มที่นับเนื่องในน้ำอัฏฐบาน ๘ ชนิดนั้น
เช่น น้ำหวาย น้ำผลมะงั่ว น้ำต้นเล็บเหยี่ยว และน้ำผลไม้เล็กเป็นต้น แม้จะไม่ได้ทรงอนุญาตไว้แต่อนุโลม
เข้ากับน้ำอัฏฐบาน เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันอนุญาตด้วย (วิ.อ. ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙)
๒ กาลิก แปลว่า เนื่องด้วยกาล ขึ้นกับกาล เป็นชื่อของสิ่งที่จะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติ
ให้ภิกษุรับประเคนเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. ยาวกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้
ขนมต่าง ๆ
๒. ยามกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ปานะ (น้ำดื่ม) ๘ ชนิด หรือ
น้ำอัฏฐบาน ได้แก่ (๑) น้ำมะม่วง (๒) น้ำหว้า (๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด (๕) น้ำมะซาง
(๖) น้ำลูกจันทน์ (หรือองุ่น) (๗) น้ำเหง้าอุบล (๘) น้ำมะปราง (หรือลิ้นจี่)
๓. สัตตาหกาลิก ของรับประเคนไว้แล้ว ฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน คือ เภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ (๑) เนยใส
(๒) เนยข้น (๓) น้ำมัน (๔) น้ำผึ้ง (๕) น้ำอ้อย
๔. ยาวชีวิก ของรับประเคนแล้วฉันได้ตลอด ไม่จำกัดเวลา คือ สิ่งของที่เป็นยารักษาโรค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
ภิกษุทั้งหลาย สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรใน
กาล ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล
ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรใน
กาล ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม
ล่วงยามแล้วไม่ควร
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควร
ตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วันแล้วไม่ควร
เภสัชชขันธกะที่ ๖ จบ
ในขันธกะนี้มี ๑๐๖ เรื่อง
๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องภิกษุอาพาธในฤดูสารท เรื่องเภสัช ๕ ในเวลาวิกาล
เรื่องน้ำมันเหลวที่เป็นยา เรื่องรากไม้ที่เป็นยา
เรื่องรากไม้บดที่เป็นยา เรื่องน้ำฝาดที่เป็นยา เรื่องใบไม้ที่เป็นยา
เรื่องผลไม้ที่เป็นยา เรื่องยางไม้ที่เป็นยา เรื่องเกลือที่เป็นยา
เรื่องมูลโคดับกลิ่นตัว
เรื่องยาผงและเครื่องร่อนยา เรื่องเนื้อดิบและเลือดสด
เรื่องยาหยอดตา เรื่องเครื่องบดยาผสมยาตา
เรื่องกลักยาตา เรื่องกลักยาตาชนิดต่าง ๆ เรื่องกลักยาตา
ไม่มีฝาปิด เรื่องไม้ป้ายยาตา เรื่องที่เก็บไม้ป้ายยาตา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องถุงกลักยาตา เรื่องเชือกผูกเป็นสายสะพาย
เรื่องน้ำมันทาศีรษะ เรื่องนัตถุ์ยา เรื่องกล้องยานัตถุ์
เรื่องสูดควัน กล้องสูดควัน และฝาปิดกล้องสูดควัน
เรื่องถุงกล้องสูดควัน
เรื่องน้ำมันหุง เรื่องน้ำเมาเจือในน้ำมันหุง
เรื่องน้ำมันเจือด้วยน้ำเมามากเกินไป เรื่องทรงอนุญาตน้ำมัน
เจือน้ำเมามากใช้เป็นยาทา เรื่องลักจั่น เรื่องการรมเหงื่อ
เรื่องรมด้วยใบไม้ เรื่องการรมใหญ่ เรื่องการรมด้วยใบไม้ต่าง ๆ
เรื่องอ่างน้ำ เรื่องระบายโลหิตออก เรื่องใช้เขาสัตว์กอก
ระบายโลหิตออก เรื่องยาทาเท้า เรื่องปรุงน้ำมันทาเท้า
เรื่องผ่าฝี เรื่องน้ำฝาด เรื่องงาบด เรื่องยาพอก
เรื่องผ้าพันแผล เรื่องชะแผลด้วยน้ำแป้งเมล็ดผักกาด
เรื่องรมแผลด้วยควัน เรื่องใช้ก้อนเกลือตัดเนื้องอก
เรื่องน้ำมันทาแผล เรื่องผ้าปิดกันน้ำมันไหลเยิ้ม
เรื่องยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง เรื่องรับประเคน
เรื่องดื่มน้ำเจือคูถ เรื่องภิกษุโดนยาแฝดดื่มน้ำที่ละลายจาก
ดินติดผาลไถ เรื่องดื่มน้ำด่างดิบ เรื่องดื่มน้ำสมอดองมูตรโค
เรื่องไล้ทาของหอม เรื่องดื่มยาถ่าย เรื่องน้ำข้าวใส
เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวข้น
เรื่องน้ำต้มเนื้อ เรื่องพระปิลินทวัจฉะทำความสะอาด
เงื้อมเขาและพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานคนงานวัด
เรื่องฉันเภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน เรื่องน้ำอ้อยงบ เรื่องถั่วเขียว
เรื่องยาดองโลณโสวีรกะ เรื่องอาหารที่หุงต้มเอง
เรื่องอุ่นภัตตาหาร
เรื่องให้เก็บอาหารไว้ภายในและหุงต้มเองเมื่อคราวจำเป็น
เรื่องรับประเคนผลไม้ที่จับต้องแล้ว เรื่องพราหมณ์ถวายงาและน้ำผึ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องของฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า
เรื่องพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย
เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก เรื่องริดสีดวงทวาร
เรื่องทรงห้ามทำวัตถิกรรม เรื่องอุบาสิกาสุปปิยาเชือดเนื้อขาอ่อนถวาย
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว
เรื่องพราหมณ์คอยโอกาสถวายภัตตาหาร
เรื่องมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่
เรื่องรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไม่พึงไปฉันอีกที่หนึ่ง
เรื่องพราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะถวายน้ำอ้อยงบ
เรื่องทรงรับอาคารพักแรม
เรื่องมหาอมาตย์สุนีธะและวัสสการะ
เรื่องประตูโคดมและท่าโคดมที่แม่น้ำคงคา
เรื่องทรงแสดงอริยสัจที่โกฏิคาม เรื่องหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
เรื่องเจ้าลิจฉวี เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง
เรื่องกรุงเวสาลีหาอาหารได้ง่าย
เรื่องทรงห้ามอาหารที่หุงต้มภายในเป็นต้น
เรื่องฝนตั้งเค้า เรื่องพระยโสชะเป็นไข้
เรื่องเมณฑกคหบดีถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง
เรื่องเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน คือ (๑) น้ำมะม่วง
(๒) น้ำหว้า (๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
(๕) น้ำมะซาง (๖) น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น (๗) น้ำเหง้าบัว
(๘) น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องเจ้ามัลละชื่อโรชะถวายผักกาดสดและของฉันทำด้วยแป้ง
เรื่องภิกษุเฒ่าเคยเป็นช่างกัลบกในเมืองอาตุมา
เรื่องผลไม้ดาษดื่นในกรุงสาวัตถี เรื่องปลูกพืช
เรื่องภิกษุทั้งหลายเกิดความยำเกรงในข้อบัญญัติบางอย่าง
เรื่องทรงอนุญาตกาลิกระคนกัน
เภสัชชขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
๗. กฐินขันธกะ
๑๘๗. กฐินานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้กรานกฐิน
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ ๓๐ รูป
[๓๐๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ๑ จำนวน ๓๐
รูป ทั้งหมดถืออารัญญิกธุดงค์ ถือปิณฑปาติกธุดงค์และถือเตจีวริกธุดงค์ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้วันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางไปให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงเข้าพรรษาในเมืองสาเกตระหว่างทาง
ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะเหล่านั้นมีใจรัญจวน อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า “พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ พวกเราห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้า
พระองค์”
ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยัง
ตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดินชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน พวกเธอมีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ
เหน็ดเหนื่อย เดินทางเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่สมควร
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสนทนาปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะ
ทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี

เชิงอรรถ :
๑ เมืองปาเฐยยะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกแคว้นโกศล คำว่า “ปาเฐยยกะ” เป็นชื่อของพระภัททวัคคีย์เถระ
ทั้งหลายซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกับพระเจ้าโกศล ในบรรดาท่านเหล่านั้น ผู้เป็นพี่ใหญ่ เป็นพระอนาคามี
คนที่เป็นน้องสุดท้อง เป็นพระโสดาบัน ไม่มีใครเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชน (วิ.อ. ๓/๓๐๖/๑๙๑) ว่า
“ปาเวยยกะ” ก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกหรือ และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระองค์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน
อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ขอประทาน
วโรกาส พวกข้าพระองค์ มีประมาณ ๓๐ รูป เป็นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางมาให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงจำพรรษาที่เมืองสาเกตระหว่างทาง
พวกข้าพระองค์รัญจวนใจ อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า ‘พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ
พวกเราห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์’ ครั้นล่วงไตรมาส
พวกข้าพระองค์ออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยังตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดิน
เต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ เหน็ดเหนื่อย เดินทางไกลมา
พระพุทธเจ้าข้า”
เรื่องอานิสงส์กฐิน ๕ อย่าง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว
กรานกฐิน๑ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วจะได้อานิสงส์ ๕ อย่าง คือ

๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณโภชนะได้ ๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
๕. พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ กรานกฐิน เป็นวิธีการตัดเย็บจีวร โดยขึงไม้กฐิน(ไม้สะดึง) แล้วเอาผ้าที่เย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้กฐิน เย็บ
เสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
เรื่องวิธีกรานกฐินและญัตติทุติยกรรมวาจาสำหรับกรานกฐิน
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๓๐๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์
พร้อมกันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้
ผ้ากฐินนี้แก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่าน
รูปนั้นพึงทักท้วง
ผ้ากฐินนี้อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
เรื่องกฐินไม่เป็นอันกราน
[๓๐๘] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างนี้ ไม่เป็นอันกรานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ก็กฐินย่อมไม่เป็นอันกรานอย่างไร กฐินย่อมไม่เป็นอันกราน
อย่างนี้ คือ
๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงมีรอยขีด
๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงซักผ้า
๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงกะผ้า
๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงตัดผ้า
๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเนาผ้า
๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเย็บผ้า
๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำรังดุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
๙. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต๑
๑๐. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า
๑๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงดามผ้า
๑๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น
๑๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
๑๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา
๑๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ยืมเขามา
๑๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน
๑๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
๑๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ทำพินทุ๒
๑๙. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากสังฆาฏิ
๒๐. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอุตตราสงค์
๒๑. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอันตรวาสก
๒๒. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากจีวรมีขันธ์๓ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๒๓. กฐินไม่เป็นอันกรานเพราะเว้นจากบุคคลกราน
๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
ภิกษุทั้งหลาย กฐินชื่อว่าไม่เป็นอันภิกษุกรานอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ อนุวาต คือผ้าขอบจีวรทั้งด้านยาวทั้งด้านกว้าง (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๒๑๗)
๒ ทำพินทุ คือการทำจุดเป็นวงกลมอย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเลือด ที่มุมจีวรด้วยสีเขียว
สีตมหรือสีดำคล้ำ เพื่อทำให้จีวรเสียหรือทำตำหนิ (วิ.อ. ๒/๓๖๘-๓๖๙/๔๑๐) ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๓๖๘-
๓๖๙/๔๙๑
๓ จีวรมีขันธ์ ๕ คือจีวรที่ตัดเย็บปรากฏกระทง(ผ้าท่อนหนึ่ง ๆ มีลักษณะเหมือนกระทงนา มีรูปสี่เหลี่ยม)ใหญ่
กระทงเล็ก โดยมีเส้นคั่นดุจคันนา ยืนระหว่างกระทงจีวร แบ่งเป็น ๕ กระทง (ดู วิ.อ. ๓/๓๐๘,๓๔๕/๑๙๗,
๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
เรื่องกฐินเป็นอันกราน
[๓๐๙] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างไร
กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างนี้ คือ
๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าใหม่
๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเทียมใหม่
๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเก่า
๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าบังสุกุล
๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ตกตามร้าน๑
๖. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา
๗. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา
๘. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา
๙. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน
๑๐. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์
๑๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำพินทุ
๑๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยสังฆาฏิ
๑๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยอุตตราสงค์
๑๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยอันตรวาสก
๑๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ที่ตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๑๖. กฐินเป็นอันกรานเพราะมีบุคคลกราน
๑๗. กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
ภิกษุทั้งหลาย กฐินชื่อว่าเป็นอันกรานอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าที่ตกตามร้าน คือผ้าเก่าที่ตกอยู่ข้างประตูร้านตลาด ซึ่งมีผู้เก็บมาถวาย (วิ.อ. ๓/๓๐๙/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๘. อาทายสัตตกะ
เรื่องกฐินเดาะด้วยมาติกา ๘ ข้อ
[๓๑๐] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อเป็นอันเดาะได้อย่างไร๑ ภิกษุทั้งหลาย
มาตกาแห่งการเดาะกฐินมี ๘ ข้อ คือ

๑. กำหนดด้วยหลีกไป ๒. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๓. กำหนดด้วยตกลงใจ ๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย
๕. กำหนดด้วยได้ทราบข่าว ๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง
๗. กำหนดด้วยล่วงเขต ๘. กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน

๑๘๘. อาทายสัตตกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรหลีกไป ๗ กรณี
[๓๑๑] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป คิดว่า ‘จะไม่กลับ’
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยหลีกไป (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป๒ อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้ที่ภายนอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐิน ของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้ภายนอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำ
อยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๔)

เชิงอรรถ :
๑ กฐินเดาะ หมายถึงกฐินที่เสียหาย ไม่มีอานิสงส์ ใช้ไม่ได้ ภิกษุหมดโอกาสจะได้ประโยชน์จากกฐิน
๒ ถือเอาจีวรหลีกไป ในหมวดที่ ๒-๗ หมายถึง ผ้าสำหรับทำจีวร คือ จีวรที่ยังทำไม่เสร็จนั่นเอง (วิ.อ.
๓/๓๑๑/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๙. สมาทายสัตตกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ครั้นทำเสร็จแล้วได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๗)
อาทายสัตตกะ ที่ ๑ จบ
๑๘๙. สมาทายสัตตกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรติดตัวหลีกไป ๗ กรณี
[๓๑๒] ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยหลีกไป (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้ที่นอกสีมานี่แหละ ไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้
ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๔)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๐. อาทายฉักกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะที่นอกสีมา การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๗)
สมาทายสัตตกะ ที่ ๒ จบ
๑๙๐. อาทายฉักกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ๖ กรณี
[๓๑๓] ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้ที่นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรผืนนั้น จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้ที่นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่
เธอให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๑. สมาทายฉักกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะ
เสียแล้ว” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ
นอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทัน
กฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๖)
อาทายฉักกะ ที่ ๓ จบ
๑๙๑. สมาทายฉักกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ๖ กรณี
[๓๑๔] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้ที่นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรผืนนั้น จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้
ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้ที่นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่
ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะ
เสียแล้ว” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราว
กฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทัน
กฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๖)
สมาทายฉักกะ ที่ ๔ จบ
๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรหลีกไป ๑๕ กรณี
[๓๑๕] ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้
ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำนั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ติกะที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำเสียหาย การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๖)
ติกะที่ ๒ จบ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ๑ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้
จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำนั้นเกิดเสียหาย
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๙)
ติกะที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ โดยไม่ตั้งใจ คือโดยมิได้กำหนดว่า “จะกลับ จะไม่กลับ” (สารตฺถ. ฏีกา ๓/๓๑๒/๔๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยตกลงใจ (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุ
นั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย
(๑๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๑๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวรผืนนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวรผืนนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๕)
ฉักกะ จบ
อาทายปัณณรสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
๑๙๓. สมาทายปัณณรสกาทิ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรติดตัวหลีกไป ๑๕ กรณีเป็นต้น
[๓๑๖] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ฯลฯ
(พระวินัยธรพึงขยายความให้พิสดารอย่างนี้ เหมือนวาระที่ว่าด้วยเรื่องการ
เดาะกฐินกำหนดด้วยถือจีวรหลีกไป)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ฯลฯ
(พระวินัยธรพึงขยายความให้พิสดารอย่างนี้ เหมือนวาระที่ว่าด้วยเรื่องการ
เดาะกฐินกำหนดด้วยถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป)
๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรที่ทำค้างไว้ติดตัวหลีกไป ๑๕ กรณี
[๓๑๗] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ให้ทำ
อยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ติกะที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่
ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๖)
ติกะที่ ๒ จบ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะ
กลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะ
กลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้
ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ คือ เธอไม่ได้คิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๙)
ติกะที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย (๑๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว”
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๑๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น เธอทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราว
กฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น เธอทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๕)
ฉักกะ จบ
สมาทายปัณณรสกะ จบ
อาทายภาณวาร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะความสิ้นหวัง ๑๒ กรณี
[๓๑๘] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไป
ยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิด
เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวรนั้น ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของเธอสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
คิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไปไม่กลับ” อยู่นอก
สีมาเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่
นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้ทำจีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้ทำจีวรนั้น ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของเธอสิ้นสุดลง การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
จะได้ทำจีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
จะได้ทำจีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำ
จีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
ว่าจะได้จีวรแต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิด
เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
ว่าจะได้จีวร ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๑๒)
อนาสาโทฬสกะ จบ
๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะความสมหวัง ๑๒ กรณี
[๓๑๙] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ”
อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ความหวังที่จะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้น
สุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้
ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้น
สิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะ
ไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้น
สิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น ทำจีวร
เสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” ล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” กลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๒)
อาสาโทฬสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะมีธุระจำเป็น ๑๒ กรณี
[๓๒๐] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา
เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่
ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำ
จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมาเกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง
ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ”
ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อ
ว่ากำหนดด้วยผ้าที่เสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ” เข้าไปยังที่ซึ่งหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้น
ของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า กำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอก
สีมานี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ความหวังว่า
จะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
สิ้นหวัง (๑๒)
กรณียโทฬสกะ จบ
๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะหวังได้ส่วนจีวร ๙ กรณี
[๓๒๑] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วน
จีวร พวกภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของ
ท่านอยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”
ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้
ท่านในที่นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๗ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น