Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๐-๘ หน้า ๒๙๐ - ๓๓๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐-๘ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค



พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย มหาวรรค
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ปาติโมกขสังวร
กล่าววจีสมาจาร(ความประพฤติทางวาจา)ไว้ ๒ อย่างคือ วจีสมาจารที่ควรเสพ
และวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ และกล่าวปริเยสนา(การแสวงหา)ไว้ ๒ อย่างคือ
ปริเยสนาที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ อย่างคือ
กายสมาจารที่ควรเสพ และกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดากายสมาจาร ๒ อย่างนั้น กายสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
กายสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’
กายสมาจารเช่นนี้เป็นกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
บรรดากายสมาจาร ๒ อย่างนั้น กายสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
กายสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’
กายสมาจารเช่นนี้เป็นกายสมาจารที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ กาย-
สมาจารที่ควรเสพและกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ วจี-
สมาจารที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาวจีสมาจาร ๒ อย่างนั้น วจีสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
วจีสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’
วจีสมาจารเช่นนี้เป็นวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ
บรรดาวจีสมาจาร ๒ อย่างนั้น วจีสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพวจี-
สมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’
วจีสมาจารเช่นนี้เป็นวจีสมาจารที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ วจีสมาจาร
ที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวปริเยสนาไว้ ๒ อย่าง คือ ปริเยสนา
ที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร
บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนั้น ปริเยสนาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพปริเยสนา
นี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ ปริเยสนานี้เป็น
ปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ
บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนั้น ปริเยสนาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพปริเยสนา
นี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ ปริเยสนาเช่นนี้
เป็นปริเยสนาที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวปริเยสนาไว้ ๒ อย่าง คือ ปริเยสนาที่
ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
จอมเทพ ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมในปาติโมกข์”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น’
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
อินทริยสังวร๑
(สำรวมอินทรีย์)
[๓๖๕] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติ
อย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้
๒ อย่าง คือ รูปที่ควรเสพ๒และรูปที่ไม่ควรเสพ กล่าวเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูไว้
๒ อย่าง คือ เสียงที่ควรเสพและเสียงที่ไม่ควรเสพ กล่าวกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๑๙/๑๐๕-๑๐๖
๒ คำว่า เสพ มีความหมายตามบริบท เช่น เสพรูป หมายถึงเห็นรูป เสพเสียง หมายถึงฟังเสียง เสพกลิ่น
หมายถึงดมกลิ่น เสพรส หมายถึงลิ้มรส เสพโผฏฐัพพะ หมายถึงถูกต้องโผฏฐัพพะ เสพธรรมารมณ์
หมายถึงนึกถึงธรรมารมณ์ (ที.ม.อ. ๓๖๕/๓๕๑-๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร
ไว้ ๒ อย่างคือ กลิ่นที่ควรเสพและกลิ่นที่ไม่ควรเสพ กล่าวรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
ไว้ ๒ อย่างคือ รสที่ควรเสพและรสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย
ไว้ ๒ อย่างคือ โผฏฐัพพะที่ควรเสพและโผฏฐัพพะที่ไม่ควรเสพ กล่าวธรรมารมณ์
ที่พึงรู้แจ้งทางใจไว้ ๒ อย่างคือ ธรรมารมณ์ที่ควรเสพและธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท้าวสักกะจอมเทพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้
แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง
รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ไม่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา
เช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น รูปที่พึงรู้แจ้ง
ทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นใด ฯลฯ เมื่อ
บุคคลเสพกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
เช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพ
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด’ อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรม
ทั้งหลายเสื่อมลง ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง
กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่
ควรเสพ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้แล จึงไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้
หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[๓๖๖] ท้าวสักกะจอมเทพชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์
ทั้งหมด มีวาทะ(หลักการ)อย่างเดียวกัน มีศีล(ข้อปฏิบัติ)อย่างเดียวกัน มีฉันทะ
(ลัทธิ) อย่างเดียวกัน มีอัชโฌสานะ๑(จุดหมาย)อย่างเดียวกัน หรือหนอ”

เชิงอรรถ :
๑ อัชโฌสานะ ในที่นี้หมายถึงมีที่สุดอย่างเดียวกัน(เอกปริโยสานา) มีข้อตกลงร่วมกัน(สมานนิฏฐานา) (ที.ม.อ.
๓๖๖/๓๕๓, ที.ม.ฏีกา ๓๖๖/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีวาทะ
อย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะ
อย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน
ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ โลกมีธาตุหลากหลาย๑ มีธาตุต่างกัน
ในโลกที่มีธาตุหลากหลายมีธาตุต่างกันนั้น เหล่าสัตว์ยึดมั่นธาตุใด ๆ อยู่ ก็ย่อมยึด
มั่นธาตุนั้น ๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดมั่นอยู่ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่าง
เดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความ
สำเร็จสูงสุด๒มีความเกษมจากโยคะสูงสุด๓ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด๔ มีที่สุด
อันสูงสุด๕หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีความ
สำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มี
ที่สุดอันสูงสุด”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”

เชิงอรรถ :
๑ มีธาตุหลากหลาย ได้แก่ มีอัชฌาสัย คือนิสัยใจคอความนิยมต่างกัน เช่น เมื่อคนหนึ่งอยากเดิน อีกคนหนึ่ง
อยากยืน เมื่อคนหนึ่งอยากยืน อีกคนหนึ่งอยากนอน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๒ มีความสำเร็จสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพ้นความพินาศคือกิเลส (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๓ ความเกษมจากโยคะสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๔ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๕ ที่สุดอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ ภิกษุทั้งหลายผู้หลุดพ้นเพราะสิ้น
ตัณหาเท่านั้นจึงจะมีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมดจึงไม่มี
ความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด
ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[๓๖๗] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ความหวั่นไหวเป็นโรค ความหวั่นไหว
เป็นหัวฝี ความหวั่นไหวเป็นลูกศร ความหวั่นไหวฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดใน
ภพนั้น ๆ ฉะนั้น บุรุษนี้จึงถึงฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง๑
ปัญหาที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้โอกาสจะถามในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอก
พระธรรมวินัยนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์แล้ว และได้ทรงถอน
ลูกศรคือความสงสัยและความเคลือบแคลงที่นอนเนื่องมานานของข้าพระองค์ด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่าปัญหา
ข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นมาบ้างแล้ว”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย
เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาค หรือผู้เปรียบดังพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง ในที่นี้หมายถึงภพภูมิต่าง ๆ เช่น พรหมโลกสูงกว่าเทวโลก เทวโลกสูงกว่า
มนุษยโลก และมนุษยโลกสูงกว่าอบายภูมิ (ที.ม.อ. ๓๖๗/๓๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด จอมเทพ”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ที่เข้าใจว่า ‘เป็นผู้
อยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะอันสงัด’ แล้วถามปัญหาเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น เมื่อถูกถาม
ก็ตอบไม่ได้กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า ‘ท่านชื่ออะไร’ เมื่อถูกย้อนถาม ข้าพระองค์
จึงตอบว่า ‘เราชื่อท้าวสักกะจอมเทพ’ ท่านเหล่านั้นก็ยังถามต่อไปอีกว่า ‘ท่านทำ
กรรมอะไรจึงถึงฐานะอันนี้เล่า’ ข้าพระองค์จึงแสดงธรรม๑ตามที่ได้ฟังที่ได้เรียนมา
ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า ‘พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และท้าวเธอได้ตรัสตอบปัญหาที่พวกเราถาม’ ท่านเหล่านั้นยอมเป็นสาวกของ
ข้าพระองค์ ส่วนข้าพระองค์ไม่ยอมเป็นสาวกของท่านเหล่านั้น แต่(บัดนี้)ข้าพระองค์
เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๒”
เรื่องการได้โสมนัส
[๓๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ยังทรงจำการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้หรือไม่”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ก่อนแต่นี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พระองค์ยังทรงจำการได้ความยินดี การได้โสมนัส
เช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้ว่าอย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงวัตตบท ได้แก่ ข้อที่ถือปฏิบัติประจำที่ทำให้มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มี ๗ อย่าง คือ (๑) มาตาเปติภโร (เลี้ยงมารดาบิดา) (๒) กุเลเชฏฺฐาปจายี (เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล)
(๓) สณฺหวาโจ (พูดคำสุภาพอ่อนหวาน) (๔) อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี (ไม่พูดส่อเสียด
พูดสมานสามัคคี) (๕) ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินโย (ยินดีในการแจกทาน ปราศจากความตระหนี่)
(๖) สจฺจวาโจ (มีวาจาสัตย์) (๗) อโกธโน หรือ โกธาภิภู (ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้) (ที.ม.อ. ๓๖๓/๓๔๘)
๒ ดูคำอธิบายใน สกฺกวตฺถุ ธมฺมปทฏฺฐกถา ฉฏฺโฐ ภาโค สุขวคฺควณฺณนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส
ท้าวเธอกราบทูลว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อครั้งเกิด
สงครามระหว่างเทพกับอสูรถึงขั้นรบประชิด ในสงครามนั้นพวกเทพชนะ พวกอสูร
พ่ายแพ้ เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามจึงมีความคิดว่า ‘บัดนี้พวกเทพในเทวโลกจะ
บริโภคโอชา (รส) ๒ ประการ คือ ทิพยโอชาและอสูรโอชา’ การได้ความยินดี
การได้โสมนัสของข้าพระองค์นั้นเป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็น
ไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนการได้ความยินดี การได้โสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มี
พระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ ไม่เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”
[๓๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงพิจารณาเห็น
อำนาจประโยชน์๑อะไร จึงทรงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการ
จึงได้ประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๑ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์เกิดเป็นเทพดำรงอยู่ในที่นี้๒
ข้าพระองค์กลับได้อายุเพิ่มขึ้นอีก
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๒ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายทิพย์
ละอายุของอมนุษย์ เป็นผู้ไม่หลง
จะเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลที่ข้าพระองค์มีใจยินดี’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

เชิงอรรถ :
๑ อำนาจประโยชน์ หมายถึงเหตุ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐๑/๗๔)
๒ ในที่นี หมายถึงในถ้ำอินทสาละ (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๓ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์นั้นยินดีในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาไม่ลุ่มหลง
ข้าพระองค์มีสัมปชัญญะ
มีสติอยู่โดยชอบธรรม๑’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๔ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์ประพฤติโดยชอบธรรมก็จักมีสัมโพธิ๒
ข้าพระองค์จะรู้ทั่วถึง๓อยู่
นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์๔’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๕ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายมนุษย์
ละอายุของมนุษย์แล้ว จักเกิดเป็นเทพอีก
ข้าพระองค์จะเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๖ นี้แลว่า
‘เทพเหล่านั้นชั้นอกนิฏฐภพ
เป็นผู้ประณีตกว่า เป็นผู้มียศ

เชิงอรรถ :
๑ โดยชอบธรรม หมายถึงโดยสมควรแก่ความเป็นพระอริยสาวก (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๑๔๔)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงสกทาคามิมรรค (ที.ม.อ. ๓๖๙/๓๕๕)
๓ จะรู้ทั่วถึง หมายถึงปรารถนาจะบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่บรรลุ (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)
๔ นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์ หมายถึงไม่มีการเกิดในมนุษยโลกอีกต่อไป (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส
ในภพสุดท้ายที่ดำเนินไปอยู่
อกนิฏฐภพนั้นจะเป็นที่อยู่ของข้าพระองค์’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการนี้แล จึงประกาศการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
[๓๗๐] ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด
มีความสงสัยเคลือบแคลง
เที่ยวแสวงหาพระตถาคตอยู่สิ้นกาลนาน
ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณะ
ที่เข้าใจว่าเป็นผู้อยู่เงียบสงบ
สำคัญว่า ‘เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า’
ท่านเหล่านั้นเมื่อถูกถามว่า
ความสำเร็จเป็นอย่างไร
ความไม่สำเร็จเป็นอย่างไร
ก็ไม่สามารถตอบในเรื่องมรรคและปฏิปทาได้
เมื่อท่านเหล่านั้นรู้ว่า
ข้าพระองค์เป็นท้าวสักกะมาจากเทวโลก
ก็พากันถามข้าพระองค์ว่า
‘ท่านทำกรรมอะไรจึงถึงฐานะนี้เล่า’
ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมแก่ท่านเหล่านั้น
ตามที่ได้ฟังมาในหมู่ชน
ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านั้นว่า
พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส
เมื่อข้าพระองค์นั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามความสงสัยแล้ว
ข้าพระองค์นั้นหมดความหวาดกลัว
ในวันนี้ ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ข้าพระองค์ขอถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงกำจัดลูกศรคือตัณหาได้
ไม่มีบุคคลเปรียบเทียบได้ ทรงเป็นพระมหาวีระ
ทรงเป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทพ
กระทำความนอบน้อมอันใดแก่พระพรหม
ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์
จักถวายความนอบน้อมอันนั้นแด่พระองค์
ขอพระวโรกาสทำการนอบน้อมแด่พระองค์
พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ตรัสรู้
ทรงเป็นพระศาสดาที่ยอดเยี่ยม
ไม่มีบุคคลใดทั้งในโลกและเทวโลก
มาเปรียบเทียบกับพระองค์ได้”
[๓๗๑] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตร
มาตรัสว่า “พ่อปัญจสิขะ เธอมีคุณมากแก่เรา ที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงพอ
พระทัยก่อน เธอทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยก่อนแล้ว ภายหลัง พวกเราจึงได้
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะตั้งเธอไว้ในตำแหน่งของบิดา
เธอจะเป็นเจ้าแห่งคนธรรพ์ เราจะยกนางภัททาสุริยวัจฉสาให้เธอ เพราะว่านางเป็น
ผู้ที่เธอปรารถนาอย่างยิ่ง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ท้าวสักกะจอมเทพได้ธรรมจักษุ

ท้าวสักกะจอมเทพได้ธรรมจักษุ
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงใช้พระหัตถ์ตบปฐพี ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า
“ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
อนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ธรรมจักษุอันปราศจาก
ธุลีคือกิเลสปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพและแก่เทวดาอื่นอีก
๘๐,๐๐๐ องค์ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับ
ไปเป็นธรรมดา” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพอัญเชิญมาทูล
ถามแล้ว ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น เวยยากรณภาษิตนี้จึงมีชื่อว่า “สักกปัญหา”
สักกปัญหสูตรที่ ๘ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] อุทเทส

๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
การเจริญสติปัฏฐาน๑สูตรใหญ่
[๓๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อุทเทส
[๓๗๓] “ภิกษุทั้งหลาย ทาง๒นี้เป็นทางเดียว๓ เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม๔ เพื่อทำให้
แจ้งนิพพาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน๕ ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๐๕/๑๐๑, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖๗/๒๑๐-๒๑๑, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๓๕๕-๓๘๙/๓๐๖-๓๒๗
๒ ทาง หมายถึงทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน หรือ ทางที่ผู้ต้องการพระนิพพานควรดำเนินไป (ที.ม.อ.
๓๗๑/๓๖๑)
๓ ทางเดียว หมายถึง (๑) เป็นทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ไปประพฤติธรรมอยู่แต่ผู้เดียว
(๒) เป็นทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น เป็นทางของบุคคลผู้เดียว คือ พระผู้มีพระภาค
เพราะทรงทำให้เกิดขึ้น (๓) เป็นทางปฏิบัติในศาสนาเดียวคือพระพุทธศาสนา (๔) เป็นทางดำเนินไปสู่จุด
หมายเดียว คือพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๗๓/๓๕๙)
๔ ญายธรรม หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๒๑๔/๑๙๗)
๕ สติปัฏฐานแปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ หรือการปฏิบัติมีสติเป็นประธาน (ที.ม.อ. ๓๗๓/๓๖๘, ม.มู.อ.
๑/๑๐๖/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
อุทเทส จบ

กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก
[๓๗๔] ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง๑ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์๒
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’

เชิงอรรถ :
๑ เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือเสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา
(๓) ถ้ำ (๔) ป่าช้า (๕) ป่าชัฏ (๖) ที่แจ้ง (๗) ลอมฟาง ดูข้อ ๓๒๐ หน้า ๒๔๘ ในเล่มนี้
๒ นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งขัดสมาธิ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๘/๒๙๕)
๓ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๘/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร๑ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญ เมื่อชักเชือกยาว
ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกยาว’ เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกสั้น’ แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก‘๒
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๓อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๔อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิด (แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับ (แห่ง
ลมหายใจ) ในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับ
(แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ระงับการสังขาร หมายถึงผ่อนคลายลมหายใจหยาบให้ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับจนถึงขั้นที่จะต้องพิสูจน์ว่า
มีลมหายใจอยู่หรือไม่ เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังครั้งแรกจะมีเสียงดังกังวานแล้วแผ่วลงจนถึงเงียบหาย
ไปในที่สุด (วิสุทฺธิ. ๑/๒๒๐/๒๙๙-๓๐๒)
๒ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๕๕-๑๕๙/๑๓๘
๓ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของตน (ที.ม.อ. ๓๗๔/๓๗๙)
๔ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๔/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดลมหายใจเข้าออก จบ

กายานุปัสสนา
หมวดอิริยาบถ
[๓๗๕] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’
หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’
ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใด ๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้น ๆ
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็นกายใน
กายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือ
พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดอิริยาบถ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

กายานุปัสสนา
หมวดสัมปชัญญะ
[๓๗๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑ อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘การมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดสัมปชัญญะ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

กายานุปัสสนา
หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล
[๓๗๗] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่
ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไป
ด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้
ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า วักกะ โบราณแปลว่า “ม้าม” และแปล คำว่า ปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้ แปลคำวักกะ ว่า “ไต”
และแปลคำปิหกะ ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้า
ของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ
แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๔๓-๔๔) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แปล
“วักกะ” ว่า “ไต” และให้บทนิยามของ“ไต” ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูก
สันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” แปล “ปิหกะ” ว่า “ม้าม” และให้บทนิยามไว้ว่า
“อวัยวะภายในร่างกายริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและ
สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย”, Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary; Rhys
Davids. T.W. Pali-English Dictionary, ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า หมายถึง “ไต”
(Kidney)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้น มีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล จบ

กายานุปัสสนา
หมวดมนสิการธาตุ
[๓๗๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่
ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว
แบ่งอวัยวะออกเป็นส่วน ๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า
‘ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’

เชิงอรรถ :
๑ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของตน (ที.ม.อ. ๓๗๗/๓๘๔)
๒ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๗๗/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภาย
นอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดมนสิการธาตุ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดป่าช้า ๙ หมวด
[๓๗๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
๑. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตายแล้ว
๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ ศพมี
น้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๒. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน นกตะกรุม
จิกกิน แร้งทึ้งกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็ก ๆ
หลายชนิดกัดกินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบ
เทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น
ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๓. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกยังมีเนื้อ
และเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไป
เปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๔. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเนื้อ
แต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำ
กายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น
มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๕. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มี
เลือดและเนื้อ แต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำ
กายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น
มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๖. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเอ็น
รึงรัดแล้ว กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่ ทิศเฉียง คือ กระดูก
มืออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศ
หนึ่ง กระดูกหลังอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกหน้าอกอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูก
คางอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะ
อยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น
ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๗. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาว
เหมือนสีสังข์ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภาย
นอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๘. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกอง
อยู่ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไป
เปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๙. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นกระดูกผุป่นเป็นชิ้น
เล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] เวทนานุปัสสนา
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดป่าช้า ๙ หมวด จบ
กายานุปัสสนา จบ

เวทนานุปัสสนา
(การพิจารณาเวทนา)
[๓๘๐] ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนา’
เมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา’
เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส’
เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส’
เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่
มีอามิส’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา
ที่ไม่มีอามิส’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] จิตตานุปัสสนา
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
เวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘เวทนามีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล
เวทนานุปัสสนา จบ

จิตตานุปัสสนา
(การพิจารณาจิต)
[๓๘๑] ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

จิตมีราคะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’
จิตปราศจากราคะ ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากราคะ’
จิตมีโทสะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’
จิตปราศจากโทสะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’
จิตมีโมหะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโมหะ’
จิตปราศจากโมหะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’

เชิงอรรถ :
๑ เวทนาทั้งหลายภายใน หมายถึงสุขเวทนาเป็นต้นของตน (ที.ม.อ. ๓๘๐/๓๙๐, ม.มู.อ. ๑/๑๑๓/๒๙๖)
๒ เวทนาทั้งหลายภายนอก หมายถึงสุขเวทนาเป็นต้นของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๐/๓๙๐, ม.มู.อ. ๑/๑๑๓/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] จิตตานุปัสสนา
จิตหดหู่___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’
จิตฟุ้งซ่าน___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
จิตเป็นมหัคคตะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’
จิตไม่เป็นมหัคคตะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’
จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’
จิตเป็นสมาธิ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’
จิตไม่เป็นสมาธิ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’
จิตหลุดพ้นแล้ว___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหลุดพ้นแล้ว’
จิตไม่หลุดพ้น___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิต
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘จิตมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล
จิตตานุปัสสนา จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
(การพิจารณาธรรม)
หมวดนิวรณ์
[๓๘๒] ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อกามฉันทะ (ความพอใจในกาม) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘กามฉันทะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อกามฉันทะภายใน
ไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และกามฉันทะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๒. เมื่อพยาบาท (ความคิดร้าย) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาท
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘พยาบาทภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยัง
ไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละพยาบาทที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และพยาบาทที่ละ
ได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. เมื่อถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง
ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละ
ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๔. เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเราไม่มีอยู่’
การเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้น
ต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉา
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘วิจิกิจฉาภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่
เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้น
แล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และวิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่
อย่างนี้แล
หมวดนิวรณ์ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
หมวดขันธ์
[๓๘๓] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์๑ ๕ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕
อยู่ว่า
๑. ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูป
เป็นอย่างนี้
๒. เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
๓. สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
๔. สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสังขารเป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทานขันธ์ มาจากอุปาทาน + ขันธ์ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (๑) อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น
(อุป=มั่น+อาทาน=ถือ) มีความหมายหลายนัย เช่น หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕
(ปญฺจกามคุณิกราคสฺเสตํ อธิวจนํ -สํ.ข.อ. ๒/๑/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) บ้าง หมายถึงความถือมั่น
ด้วยอำนาจตัณหามานะและทิฏฐิ (ตามนัย สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) บ้าง (๒) ขันธ์ แปลว่า กอง (ตสฺส ขนฺธสฺส)
ราสิอาทิวเสน อตฺโถ เวทิตพฺโพ -อภิ. สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึง กองอันเป็น
อารมณ์แห่งความถือมั่น (อุปาทานานํ อารมฺมณภูตา ขนฺธา = อุปาทานกฺขนฺธา) (สํ.ข. ฏีกา ๒๒/๒๕๔)
และดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔,๓๑๕/๒๐๘, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๘/๓๔๖, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๗๙/๑๐๕
เมื่อนำองค์ธรรม คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มารวมกับอุปาทานขันธ์ เช่น วิญฺญาณู-
ปาทานกฺขนฺโธ จึงแปลได้ว่า “กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่นคือวิญญาณ” ตามนัย อภิ.สงฺ.อ.
๕/๑๙๒ ว่า วิญฺญาณเมว ขนฺโธ = วิญฺญาณกฺขนฺโธ (กองวิญญาณ)
อนึ่ง เมื่อกล่าวโดยสรุป อุปาทานขันธ์ หมายถึงทุกข์ ตามบาลีว่า “สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา
ทุกฺขา” แปลว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ (ม.อุ.๑๔/๓๗๓/๓๑๙,ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๓,
อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๗๗, วิสุทฺธิ. ๒/๕๐๕/๑๒๒) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
๕. วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความ
ดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้ง
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕
อยู่ อย่างนี้แล
หมวดขันธ์ จบ

ธัมมานุปัสสนา
หมวดอายตนะ
[๓๘๔] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และ
อายตนะภายนอก ๖ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตา รู้ชัดรูป สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลายภายใน หมายถึงขันธ์ ๕ ของตน (ที.ม.อ. ๓๘๓/๓๙๘)
๒ ธรรมทั้งหลายภายนอก หมายถึงขันธ์ ๕ ของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๓/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง สังโยชน์ใดอาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น สังโยชน์ใดอาศัยจมูกและกลิ่นทั้งสองนั้น
เกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่
เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิด
ขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๔. รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส สังโยชน์ใดอาศัยลิ้นและรสทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ สังโยชน์ใดอาศัยกายและโผฏฐัพพะ
ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่
ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิด
ขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๖. รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ สังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์
ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละ
ได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖
และอายตนะภายนอก ๖ อยู่ อย่างนี้แล
หมวดอายตนะ จบ

ธัมมานุปัสสนา
หมวดโพชฌงค์
[๓๘๕] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้
ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ธัมมวิจย-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในของเรา
ไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น
มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่ง
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิริยสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้
ชัดว่า ‘วิริยสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง
วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปีติสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘ปีติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปัสสัทธิ-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
ไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งปัสสัทธิ-
สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สมาธิสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘สมาธิสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขา-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่
มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งอุเบกขา-
สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่
อย่างนี้แล
หมวดโพชฌงค์ จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
หมวดสัจจะ
[๓๘๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ทุกขสัจจนิทเทส
[๓๘๗] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติ (ความเกิด) เป็นทุกข์ ชรา (ความแก่) เป็นทุกข์ มรณะ (ความตาย)
เป็นทุกข์ โสกะ (ความโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย)
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นทุกข์ การประสบกับ
อารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์
การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์๒

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๗๗
๒ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๔/๑๔, ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๑/๘๖, ม.อุ.๑๔/๓๗๓/๓๑๗, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์๒
[๓๘๘] ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิด
เฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ชาติ๑
[๓๘๙] ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่า
สัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ชรา๒
[๓๙๐] มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มรณะ๓
[๓๙๑] โสกะ เป็นอย่างไร
คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายใน ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่
ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๓/๘๘, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๗, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๒๓๕/๒๒๑
๒ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๒/๘๗, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๗, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔,๒๗/๕๓,๒๘/๕๕,๓๓/๗๐, ขุ.ป.
(แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๖/๒๒๒
๓ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๒/๘๘, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๘, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔,๒๗/๕๓,๒๘/๕๕,๓๓/๗๐, ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๔๑/๑๕๐, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๖/๒๒๒
๔ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๔/๑๕๕,๙๗/๒๙๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๖, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๒๓๗/๑๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
[๓๙๒] ปริเทวะ เป็นอย่างไร
คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่
ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)
ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ปริเทวะ๑
[๓๙๓] ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่
สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดจากกายสัมผัส
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกข์๒
[๓๙๔] โทมนัส เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ
เป็นทุกข์อันเกิดจากมโนสัมผัส
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า โทมนัส๓
[๓๙๕] อุปายาส เป็นอย่างไร
คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้น ของผู้ประกอบ
ด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง(หรือ)ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อุปายาส๔

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๔/๑๕๕,๙๗/๒๙๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๖, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/
๒๓๘/๒๒๓
๒ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๕๙/๑๖๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๙/๒๒๓
๓ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๔๑๗/๑๒๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๔๐/๒๒๓
๔ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๔๑/๒๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
[๓๙๖] การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่
เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์
ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่มีความเกษม
จากโยคะของเขา
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์๑
[๓๙๗] การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์
อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือกับบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความ
เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดา
บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์๒
[๓๙๘] การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า
‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึง
เราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑
๒ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและ
ความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ
และความคับแค้นใจเป็นธรรมดาเลย และขอความโศก ความคร่ำครวญ ความ
ทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึง
สำเร็จได้ตามความปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์๑
[๓๙๙] โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือ
เวทนา) สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์
คือสังขาร) วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๘, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สมุทยสัจจนิทเทส
[๔๐๐] ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหานี้เป็นเหตุเกิดขึ้นในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เป็นเหตุ
เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูป๑ใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้
อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่
ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโน
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่รูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่รูปนี้ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รส
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธรรมารมณ์
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุวิญญาณนี้
เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่จักขุวิญญาณนี้ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป

เชิงอรรถ :
๑ ปิยรูปสาตรูป หมายถึงสภาวะที่น่ารักน่าชื่นใจ เป็นส่วนอิฏฐารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา (อภิ.วิ.อ. ๒๐๓/
๑๑๙-๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา
ในโลก ฯลฯ กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนวิญญาณเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุสัมผัสนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่จักขุสัมผัสนี้ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆาน-
สัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่
เวทนาซึ่งเกิดจากจักขุสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่เวทนาซึ่งเกิดจากจักขุสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากฆาน-
สัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิด
จากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่เวทนาซึ่งเกิดจาก
มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้
รูปสัญญา (ความกำหนดหมายรู้รูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด
ก็เกิดที่รูปสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่รูปสัญญานี้ สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมสัญญาเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมม-
สัญญานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น