Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๑-๓ หน้า ๙๙ - ๑๔๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๐๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค



พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] เรื่องการประพฤติทุจริตเป็นต้น

แวดวงศูทร
[๑๓๔] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ที่เหลือประพฤติ
ตนโหดร้าย ทำงานต่ำต้อย เพราะสัตว์เหล่านั้นประพฤติตนโหดร้าย ทำงานที่ต่ำต้อย
ฉะนั้น คำว่า ‘ศูทร ศูทร’ จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงศูทรนั้น
ขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มี
แก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่
เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๓๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยที่กษัตริย์ติเตียนธรรม๑ของตน
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ พราหมณ์
ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็น
สมณะ’ แพศย์ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์
ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ แม้ศูทรก็ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ จึงได้เกิดมีแวดวงสมณะจากแวดวง
ทั้งสี่นี้ขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกัน
เท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตาม
คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐ
ที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เรื่องการประพฤติทุจริต เป็นต้น
[๑๓๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด เพราะ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงอาชีพการงานนั้น ๆ (ที.ปา.อ. ๑๓๕/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] เรื่องการประพฤติทุจริตเป็นต้น
แม้พราหมณ์ ...
แม้แพศย์ ...
แม้ศูทร ...
แม้สมณะผู้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีความเห็นผิด และชักชวน
ผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็น
ผิดเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม
ตามความเห็นชอบ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
แม้พราหมณ์ ...
แม้แพศย์ ...
แม้ศูทร ...
แม้สมณะผู้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีความเห็นชอบ และชักชวน
ผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
[๑๓๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและ
กายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิด
และมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวย
ทั้งสุขและทุกข์
แม้พราหมณ์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต
ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่น
ให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การเจริญโพธิปักขิยธรรม
แม้แพศย์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้ง
มโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์
แม้ศูทรผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้ง
มโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์
แม้สมณะผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้ง
มโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์
การเจริญโพธิปักขิยธรรม
[๑๓๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ
อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว
แม้พราหมณ์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิย-
ธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว
แม้แพศย์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม
๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว
แม้ศูทรผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม
๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว
แม้สมณะผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม
๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การเจริญโพธิปักขิยธรรม
[๑๓๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ
อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้น
เรียกได้ว่า เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะ ๔ เหล่านั้น โดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่
โดยอธรรม เพราะธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๔๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมดังคาถานี้ที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ว่า
‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่
กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทพและมนุษย์๑’
วาเสฏฐะและภารทวาชะ สนังกุมารพรหมกล่าวคาถานั้นไว้ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบ
กล่าวไว้ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่ถูกต้อง มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เราเห็นด้วยทีเดียว
แม้เราก็กล่าวอย่างเดียวกันนี้ว่า
‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่
กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทพและมนุษย์’
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณร
มีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
อัคคัญญสูตรที่ ๔ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร

๕. สัมปสาทนียสูตร
ว่าด้วยความเลื่อมใสยิ่งในพระผู้มีพระภาค
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร
[๑๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทา
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณ๑ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค’
[๑๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา(วาจาอย่าง
องอาจ)อย่างสูง เธอถือเอาด้านเดียว๒ บันลือสีหนาท๓ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มี
สมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค’
สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอดีตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิญาณ ในที่นี้หมายถึงสัพพัญญุตญาณ หรืออรหัตตมรรคญาณ (ที.ปา.อ. ๑๔๑/๖๔)
๒ ถือเอาด้านเดียวในที่นี้หมายถึงถือเอาการสันนิษฐานโดยอนุมานของตนเองเท่านั้น (ที.ปา.อ. ๑๔๒/๖๕)
๓ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงบันลืออย่างประเสริฐ องอาจเหมือนพญาราชสีห์ (ที.ปา.อ. ๑๔๒/๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ ซึ่งจักเสด็จมาอุบัติขึ้นในอนาคตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจักทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น
อย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้ใจของเราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ด้วย
ใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีเจโตปริยญาณ๑ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ไฉนเธอจึงกล่าวอาสภิวาจา
อย่างสูง ถือเอาด้านเดียว บันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค”
[๑๔๓] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงแม้ว่า
ข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต
และปัจจุบัน แต่ข้าพระองค์ก็รู้วิธีการอนุมาน เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของ

เชิงอรรถ :
๑ เจโตปริยญาณ หมายถึงปรีชากำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ คือรู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลัง
คิดอะไรอยู่ ใจของเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๒/๘๐-๘๑, ๔๗๖/๒๐๘-๒๐๙, ที.ม. (แปล)
๑๐/๑๔๕/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร
พระเจ้าแผ่นดินมีรากฐานมั่นคง มีกำแพงแข็งแรง มีป้อมค่ายแข็งแรง มีประตูเดียว
นายประตูของเมืองนั้นเป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม ห้ามคนที่ไม่รู้จัก อนุญาตให้
คนที่รู้จักเข้าไปได้ เขาเดินสำรวจดูหนทางตามลำดับรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อหรือ
ช่องกำแพง โดยที่สุดแม้เพียงที่ที่พอแมวลอดออกได้ เขาย่อมรู้ว่า ‘สัตว์ใหญ่ทุกชนิด
เมื่อจะเข้าหรือออกเมืองนี้ ก็จะเข้าหรือออกทางประตูนี้เท่านั้น แม้ฉันใด วิธีการ
อนุมานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตกาล ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗
ตามความเป็นจริง จึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอนาคตกาล ก็จักทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่อง
เศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพช-
ฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอน
กำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามความ
เป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
[๑๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ เพื่อฟังธรรม พระองค์ทรงแสดงธรรมอย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนัก
ทั้งฝ่ายดำ๑ ฝ่ายขาว๒ และฝ่ายที่มีส่วนเปรียบ๓แก่ข้าพระองค์ พระองค์ทรงแสดง
ธรรมอย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนัก ทั้งฝ่ายดำฝ่ายขาว และฝ่ายที่มีส่วนเปรียบด้วย
ประการใด ๆ ข้าพระองค์ก็รู้ยิ่งในธรรมนั้นด้วยประการนั้น ๆ ได้ถึงความสำเร็จธรรม
บางส่วนในธรรมทั้งหลายแล้ว จึงเลื่อมใสในพระองค์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

เชิงอรรถ :
๑ ฝ่ายดำ ในที่นี้หมายถึงสังกิเลสธรรม (ธรรมเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง) (ที.ปา.ฏีกา ๑๔๔/๗๘)
๒ ฝ่ายขาว ในที่นี้หมายถึงโวทานธรรม (ธรรมเครื่องทำใจให้ผ่องแผ้ว) (ที.ปา.ฏีกา ๑๔๔/๗๘)
๓ ที่มีส่วนเปรียบ ในที่นี้หมายถึงสังกิเลสธรรมเป็นข้าศึกกับโวทานธรรมตามลำดับ โดยแสดงการเปรียบ
เทียบว่าสังกิเลสธรรมเป็นธรรมที่ควรละ ส่วนโวทานธรรมเป็นธรรมที่ละ (ที.ปา.ฏีกา ๑๔๔/๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องการบัญญัติอายตนะ

เทศนาเรื่องกุศลธรรม
[๑๔๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องกุศลธรรมทั้งหลายนับว่ายอดเยี่ยม ในเทศนานั้นมีกุศลธรรมดัง
ต่อไปนี้ คือ

๑. สติปัฏฐาน ๔___๒. สัมมัปปธาน ๔
๓. อิทธิบาท ๔___๔. อินทรีย์ ๕
๕. พละ ๕___๖. โพชฌงค์ ๗
๗. อริยมรรคมีองค์ ๘

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องกุศลธรรมทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้น ไม่มีเหลืออยู่ เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้น
ไม่มีเหลืออยู่ ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไปอีก จะพึงมีสมณะหรือพราหมณ์อื่น
ผู้รู้ธรรมยิ่ง มีปัญญาเกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในเรื่องกุศลธรรมทั้งหลายอีกหรือ
เทศนาเรื่องการบัญญัติอายตนะ
[๑๔๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องการบัญญัติอายตนะก็นับว่ายอดเยี่ยม อายตนะภายในและอายตนะ
ภายนอก มีอย่างละ ๖ ประการนี้ คือ

๑. ตากับรูป___๒. หูกับเสียง
๓. จมูกกับกลิ่น___๔. ลิ้นกับรส
๕. กายกับโผฏฐัพพะ___๖. ใจกับธรรมารมณ์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ก็คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องการบัญญัติอายตนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องการก้าวสู่ครรภ์
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้น ไม่มีเหลืออยู่ เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรม
ข้อนั้น ไม่มีเหลืออยู่ ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไปอีก จะพึงมีสมณะหรือ
พราหมณ์อื่นผู้รู้ธรรมยิ่ง มีปัญญาเกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในเรื่องการบัญญัติ
อายตนะอีกหรือ
เทศนาเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์๑
[๑๔๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงธรรมในเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์ก็นับว่ายอดเยี่ยม การก้าวลงสู่ครรภ์ ๔
ประการนี้ คือ
๑. สัตว์บางชนิดในโลกนี้ ไม่รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์ของมารดา ไม่
รู้สึกตัวขณะอยู่ในครรภ์ของมารดา (และ)ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจาก
ครรภ์ของมารดา นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ประการที่ ๑
๒. สัตว์บางชนิดในโลกนี้ รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์ของมารดา แต่
ไม่รู้สึกตัวขณะอยู่ในครรภ์ของมารดา ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์
ของมารดา นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ประการที่ ๒
๓. สัตว์บางชนิดในโลกนี้ รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์ของมารดา รู้สึกตัว
ขณะอยู่ในครรภ์ของมารดา แต่ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์ของ
มารดา นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ประการที่ ๓
๔. สัตว์บางชนิดในโลกนี้ รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์ของมารดา รู้สึกตัว
ขณะอยู่ในครรภ์ของมารดา (และ)รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์ของ
มารดา นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ประการที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๓๑๑ หน้า ๒๙๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

เทศนาเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์
[๑๔๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์ก็นับว่ายอดเยี่ยม อาเทสนาปาฏิหาริย์ ๔
ประการนี้ คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ ดักใจได้ด้วยนิมิตว่า ‘ใจของท่านเป็นอย่างนี้
ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่านเป็นดังนี้’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น
นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ ๑
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต แต่ได้ฟังเสียงของ
มนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วจึงดักใจได้ว่า ‘ใจของท่าน
เป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่าน
เป็นดังนี้’ ถ้าเขาดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้น
ทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ ๒
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต ทั้งมิได้ฟังเสียงของ
มนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วดักใจได้เลย แต่ได้ฟังเสียง
ละเมอของผู้วิตกวิจาร จึงดักใจได้ว่า ‘ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจ
ของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่านเป็นดังนี้’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น
นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต มิได้ฟังเสียงของมนุษย์
อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วดักใจ ทั้งมิได้ฟังเสียงละเมอของผู้
วิตกวิจาร แล้วดักใจได้เลย แต่ย่อมกำหนดรู้ใจของผู้ได้สมาธิ ซึ่งยัง
มีวิตกวิจารด้วยใจได้ว่า ‘มโนสังขารของท่านผู้นี้ตั้งอยู่ด้วยประการใด
เขาจะต้องตรึกถึงวิตกชื่อนี้ ในลำดับจิตนี้ ด้วยประการนั้น’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็น
อย่างอื่น นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องทัสสนสมาบัติ

เทศนาเรื่องทัสสนสมาบัติ
[๑๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องทัสสนสมาบัติก็นับว่ายอดเยี่ยม ทัสสนสมาบัติ ๔ ประการนี้ คือ
๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส๑
ความเพียรที่ตั้งมั่น๒ ความหมั่นประกอบ๓ ความไม่ประมาท๔ และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี๕แล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้
ตั้งมั่น ย่อมพิจารณากายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต๖ หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร๗’ นี้เป็นทัสสนสมาบัติประการที่ ๑

เชิงอรรถ :
๑ ความเพียรเครื่องเผากิเลส หมายถึงความเพียรที่กำจัดความเกียจคร้านที่เป็นสังกิเลส (ที.ปา.อ. ๑๔๙/
๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๘๖)
๒ ความเพียรที่ตั้งมั่น หมายถึงความพยายามที่มุ่งตรงต่อภาวนา (ที.ปา.อ. ๑๔๙/๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๘๖)
๓ ความหมั่นประกอบ หมายถึงการประกอบความเพียรสม่ำเสมอ (ที.ปา.อ. ๑๔๙/๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๘๖)
๔ ความไม่ประมาท หมายถึงความไม่หลงลืมสติขณะปฏิบัติธรรม คือมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา (ที.ปา.อ.
๑๔๙/๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๗๕)
๕ การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี หมายถึงการพิจารณาโดยอุบายวิธีที่แยบคาย เช่น พิจารณาว่าไม่เที่ยงในสิ่ง
ที่ไม่เที่ยง พิจารณาว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์ (ที.ปา.อ. ๑๔๙/๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๗๕)
๖ คำว่า วักกะ โบราณแปลว่า “ม้าม” และแปลคำว่า ปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้แปลคำว่า วักกะ ว่า “ไต”
และแปลคำว่า ปิหกะ ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้า
ของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผล ที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกันมีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจแล้ว
แยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓) ; พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แปล “วักกะ”
ว่า “ไต” และให้บทนิยามของ “ไต” ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูก
สันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” แปล “ปิหกะ” ว่า “ม้าม” และให้บทนิยามไว้ว่า
“อวัยวะภายในร่างกายริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและ
สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย”, Buddhadatta Mahathera, A Concise Pali-English Dictionary,
Rhys Davids, T.W.Pali-English Dictionary, ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า หมายถึง
“ไต” (Kidney)
๗ มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. ๓/๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องทัสสนสมาบัติ
๒. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้
ตั้งมั่น ย่อมพิจารณากายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย
น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ และก้าวข้ามผิวหนัง เนื้อ และเลือดของบุรุษไป
พิจารณากระดูก นี้เป็นทัสสนสมาบัติประการที่ ๒
๓. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ และก้าวข้ามผิวหนัง เนื้อ และเลือดของ
บุรุษไปพิจารณากระดูก และรู้กระแสวิญญาณของบุรุษ ซึ่งกำหนด
โดยส่วนสอง คือ ที่ตั้งอยู่ในโลกนี้ และที่ตั้งอยู่ในโลกหน้า นี้เป็น
ทัสสนสมาบัติประการที่ ๓
๔. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้
ตั้งมั่น ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผม
ลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องปุคคลบัญญัติ
ว่า ‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ และก้าวข้ามผิวหนัง เนื้อ และเลือดของ
บุรุษไปพิจารณากระดูกและรู้กระแสวิญญาณของบุรุษ ซึ่งกำหนด
โดยส่วนสอง คือ ที่ไม่ตั้งอยู่ในโลกนี้ และที่ไม่ตั้งอยู่ในโลกหน้า นี้เป็น
ทัสสนสมาบัติประการที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องทัสสนสมาบัติ
เทศนาเรื่องปุคคลบัญญัติ
[๑๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องปุคคลบัญญัติก็นับว่ายอดเยี่ยม บุคคล ๗ จำพวกนี้๑ คือ

๑. อุภโตภาควิมุต๒___(ผู้หลุดพ้นทั้ง ๒ ส่วน)
๒. ปัญญาวิมุต๓___(ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา)
๓. กายสักขี๔___(ผู้เป็นพยานในนามกาย)
๔. ทิฏฐิปัตตะ๕___(ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ)
๕. สัทธาวิมุต๖___(ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๑๔/๑๓
๒ อุภโตภาควิมุต หมายถึงผู้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานจนได้อรูปสมาบัติ และใช้สมถะเป็นฐานในการบำเพ็ญ
วิปัสสนาจนได้บรรลุอรหัตตผล (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๐, องฺ.นวก.อ. ๓/๔๕/๓๑๖)
๓ ปัญญาวิมุต หมายถึงผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน ๆ จนบรรลุอรหัตตผล (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๔ กายสักขี หมายถึงผู้มีศรัทธาแก่กล้า ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกายและอาสวะบางอย่างก็สิ้นไป เพราะ
เห็นด้วยปัญญา และหมายถึงพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล
(องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๕ ทิฏฐิปัตตะ หมายถึงผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ เข้าใจอริยสัจถูกต้อง กิเลสบางส่วนสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา
มีปัญญาแก่กล้า และหมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลจนถึงผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๖ สัทธาวิมุต หมายถึงผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา เข้าใจอริยสัจถูกต้อง กิเลสบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา
มีศรัทธาแก่กล้า และหมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลจนถึงผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕,
องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑-๑๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องปฏิปทา
๖. ธัมมานุสารี๑ (ผู้แล่นไปตามธรรม)
๗. สัทธานุสารี๒ (ผู้แล่นไปตามศรัทธา)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องปุคคลบัญญัติ
เทศนาเรื่องปธาน
[๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องปธานก็นับว่ายอดเยี่ยม โพชฌงค์ ๗ ประการนี้ คือ

๑. สติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความระลึกได้)
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือการเฟ้นธรรม)
๓. วิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร)
๔. ปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความอิ่มใจ)
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ)
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น)
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องปธาน
เทศนาเรื่องปฏิปทา
[๑๕๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องปฏิปทาก็นับว่ายอดเยี่ยม ปฏิปทา๓ ๔ ประการนี้ คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก และรู้ได้ช้า)
๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว)

เชิงอรรถ :
๑ ธัมมานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามธรรม คือ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีปัญญาแก่กล้า บรรลุผล
แล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๒ สัทธานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามศรัทธา คือ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีศรัทธาแก่กล้า บรรลุผล
แล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๖๖/๒๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องมารยาทการพูด เป็นต้น
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า)
๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว)
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนั้น ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทานี้
บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำทั้ง ๒ ส่วน คือ เพราะปฏิบัติลำบาก และเพราะ
รู้ได้ช้า
ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำ
เพราะปฏิบัติลำบาก
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำ
เพราะรู้ได้ช้า
สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติประณีต
ทั้ง ๒ ส่วน คือ เพราะปฏิบัติสะดวก และเพราะรู้ได้เร็ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องปฏิปทา
เทศนาเรื่องมารยาทการพูด เป็นต้น
[๑๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องมารยาทการพูดก็นับว่ายอดเยี่ยม
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่พูดวาจาเกี่ยวด้วยมุสาวาท ไม่พูดวาจาอันทำ
ความแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาอันส่อเสียด ไม่มุ่งเอาชนะกันกล่าววาจาอันเกิดจาก
ความแข่งดีกัน กล่าวแต่วาจาอันมีหลักฐานด้วยปัญญาชื่อว่ามันตา ตามกาลอันควร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องมารยาทการพูด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม
ในเรื่องมารยาทคือศีลของบุรุษก็นับว่ายอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องวิธีสั่งสอน
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีสัจจะ มีศรัทธา ไม่พูดหลอกลวง๑ ไม่พูด
ป้อยอ๒ ไม่ทำนิมิต๓ ไม่พูดบีบบังคับ๔ ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ๕ คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค ทำพอเหมาะพอดี ประกอบความ
เพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ พูดมี
ปฏิภาณดี มีคติ มีปัญญาทรงจำ มีความรู้ ไม่ติดอยู่ในกาม มีสติ มีปัญญาเครื่อง
รักษาตน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องมารยาทคือศีลของบุรุษ
เทศนาเรื่องวิธีสั่งสอน
[๑๕๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องวิธีสั่งสอนก็นับว่ายอดเยี่ยม วิธีสั่งสอน ๔ ประการนี้ คือ
๑. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้ เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระ
โสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไปไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๖’

เชิงอรรถ :
๑ หลอกลวง หมายถึงลวงด้วยอาการ ๓ คือ (๑) พูดเลียบเคียง (๒) แสร้งแสดงอิริยาบถ คือ ยืน เดิน
นั่ง นอน ให้น่าเลื่อมใส (๓) แสร้งปฏิเสธปัจจัย (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๖๑/๕๕๓, องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๘๓/๔๑,
วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๔)
๒ พูดป้อยอ หมายถึงพูดยกย่องมุ่งหวังลาภสักการะและชื่อเสียง (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๖๒/๕๕๓,องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๘๓/๔๑, วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๔)
๓ ทำนิมิต หมายถึงแสดงอาการทางกาย ทางวาจา เพื่อให้คนอื่นให้ทาน เช่น การพูดเป็นเลศนัย พูดเลียบเคียง
(อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๖๓/๕๕๓, อภิ.วิ.อ. ๘๖๖/๘๒๓, วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๔)
๔ พูดบีบบังคับ หมายถึงด่า พูดข่ม พูดนินทา ตำหนิโทษ พูดเหยียดหยาม และการนำเรื่องไปประจาน
ตลอดถึงการพูดสรรเสริญต่อหน้า นินทาลับหลัง (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๖๔/๕๕๔, อภิ.วิ.อ. ๘๖๔/๕๒๔,
วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๔-๒๕)
๕ แสวงหาลาภด้วยลาภ หมายถึงได้อะไรเอามาฝากเขา ทำให้เขาเกรงใจ ต้องให้ตอบแทน (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/
๘๖๕/๕๕๔, วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๕)
๖ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง คือ (๑) สกทาคามิมรรค (๒) อนาคามิมรรค (๓) อรหัตตมรรค
(ที.สี.อ. ๓๗๓/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้การหลุดพ้นของบุคคลอื่น
๒. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระ
สกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้’
๓. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็น
โอปปาติกะ๑ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพาน
ในโลกนั้นไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก’
๔. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องวิธีสั่งสอน
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้การหลุดพ้นของบุคคลอื่น
[๑๕๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องความหยั่งรู้การหลุดพ้น๒ของบุคคลอื่นก็นับว่ายอดเยี่ยม คือ
๑. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้จักเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ
ในวันข้างหน้า’

เชิงอรรถ :
๑ เป็นโอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงเป็นพระอนาคามีที่เกิดในภพชั้นสุทธาวาส(ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้น
มีชั้นอวิหา เป็นต้น แล้วดำรงภาวะในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้นกิเลสในภพชั้นสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิด
เป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๘๒-๒๘๓)
๒ ความหยั่งรู้การหลุดพ้น ในที่นี้หมายถึงความรู้ในเรื่องการละกิเลสของผู้อื่น (ที.ปา.อ. ๑๕๔/๘๒, ที.ปา.
ฏีกา ๑๕๕/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องสัสสตวาทะ
๒. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้จักเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีก
เพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้’
๓. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้จักเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมา
จากโลกนั้นอีก’
๔. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้จักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องความหยั่งรู้การหลุดพ้น
ของบุคคลอื่น
เทศนาเรื่องสัสสตวาทะ
[๑๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงธรรมในเรื่องสัสสตวาทะ(ลัทธิที่ถือว่าอัตตาและโลกเที่ยง)ก็นับว่ายอดเยี่ยม
สัสสตวาทะ ๓ ประการนี้ คือ
๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และ
อาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำ
จิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง
๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐
ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติ
บ้าง หลายแสนชาติบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องสัสสตวาทะ
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มี
ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ข้าพเจ้ารู้อดีตกาลได้ว่า โลกเคยเสื่อมมาแล้ว หรือว่าเคยเจริญ
มาแล้ว’ อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้อนาคตกาลว่า ‘โลกจักเสื่อม หรือว่าจัก
เจริญ อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา ดุจเสา
ระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ และเกิด
แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’ นี้เป็นสัสสตวาทะประการที่ ๑
๒. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผา
กิเลส ... บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อน
ได้หลายชาติ คือ ๑ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๑บ้าง ๒ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๓ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๔ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๕ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๑๐ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มี
วรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น
ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้ง
ลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้า
รู้อดีตกาลได้ว่า โลกเคยเสื่อมมาแล้ว หรือว่าเคยเจริญมาแล้ว’ อนึ่ง
ข้าพเจ้ารู้อนาคตกาลว่า ‘โลกจักเสื่อม หรือว่าจักเจริญ อัตตาและ
โลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์
เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ และเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’
นี้เป็นสัสสตวาทะประการที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๗๒ หน้า ๕๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้
๓. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
... บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติ คือ ๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๒๐ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๓๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๔๐ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มี
วรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มี
ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ข้าพเจ้ารู้อดีตกาลได้ว่า โลกเคยเสื่อมมาแล้ว หรือเคยเจริญ
มาแล้ว’ อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้อนาคตกาลว่า ‘โลกจักเสื่อม หรือว่าจักเจริญ
อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด
ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ และเกิด แต่มีสิ่งที่
เที่ยงอยู่แน่’ นี้เป็นสัสสตวาทะประการที่ ๓
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องสัสสตวาทะ
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้
[๑๕๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้ก็นับว่ายอดเยี่ยม
คือ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ...
บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้การจุติและการอุบัติ
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติ
จากภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์ทั้งหลายที่ไม่อาจจะกำหนดอายุไม่ว่าด้วยการคำนวณ
หรือด้วยการนับมีอยู่ สัตว์ที่เคยอาศัยอยูในอัตภาพใด ๆ ไม่ว่าจะในรูปภพ อรูปภพ
สัญญีภพ อสัญญีภพ หรือเนวสัญญีนาสัญญีภพก็มีอยู่ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องความหยั่งรู้ที่ทำให้
ระลึกชาติได้
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้การจุติและการอุบัติ
[๑๕๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องความหยั่งรู้การจุติและการอุบัติของสัตว์ทั้งหลายก็นับว่ายอดเยี่ยม
คือ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ...
บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ
และชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และ
มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์
ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เขาเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องการแสดงฤทธิ์
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องความหยั่งรู้การจุติและ
การอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
เทศนาเรื่องการแสดงฤทธิ์
[๑๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องการแสดงฤทธิ์ก็นับว่ายอดเยี่ยม การแสดงฤทธิ์ ๒ ประการนี้ คือ
๑. ฤทธิ์ที่มีอาสวะ มีอุปธิ๑ ไม่เรียกว่า อริยะ
๒. ฤทธิ์ที่ไม่มีอาสวะ ไม่มีอุปธิ เรียกว่า อริยะ
ฤทธิ์ที่มีอาสวะ มีอุปธิ ไม่เรียกว่า อริยะ เป็นอย่างไร
คือ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิด
อย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ก็แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง
คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏ
หรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง (และ)ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้
ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบน
แผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือฤทธิ์ที่มีอาสวะ มีอุปธิ ไม่เรียกว่า อริยะ

เชิงอรรถ :
๑ มีอาสวะ มีอุปธิ ในที่นี้หมายถึงมีโทษ มีข้อติเตียน (ที.ปา.อ. ๑๕๙/๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
แสดงคุณพระศาสดาอย่างอื่นอีก
ฤทธิ์ที่ไม่มีอาสวะ ไม่มีอุปธิ เรียกว่า อริยะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ถ้าหวังอยู่ว่า ‘เราพึงมีสัญญาในสิ่งที่ปฏิกูลว่า
ไม่ปฏิกูลอยู่’ ก็ย่อมมีสัญญาในสิ่งที่ปฏิกูลนั้นว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ‘เราพึง
มีสัญญาในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่’ ก็ย่อมมีสัญญาในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นว่า
เป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ‘เราพึงมีสัญญาในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าไม่
ปฏิกูลอยู่’ ก็ย่อมมีสัญญาในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่
ว่า ‘เราพึงมีสัญญาในสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่’ ก็ย่อมมีสัญญาในสิ่ง
ที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ‘เราพึงละวางสิ่งที่ปฏิกูล
และไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้นเสีย มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่’ ก็ย่อมมีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือฤทธิ์ที่ไม่มีอาสวะ ไม่มีอุปธิ เรียกว่า อริยะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในการแสดงฤทธิ์
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นไม่มีเหลืออยู่ เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้น
ไม่มีเหลืออยู่ ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไปอีก จะพึงมีสมณะหรือพราหมณ์
อื่นผู้รู้ธรรมยิ่ง มีปัญญาเกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในเรื่องการแสดงฤทธิ์อีกหรือ
แสดงคุณพระศาสดาอย่างอื่นอีก
[๑๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา๑ ปรารภความเพียร๒
มีเรี่ยวแรง๓ จะพึงถึงด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความ

เชิงอรรถ :
๑ กุลบุตรผู้มีศรัทธา ในที่นี้หมายถึงพระโพธิสัตว์ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๔)
๒ ปรารภความเพียร หมายถึงประคองความเพียร มีความเพียรไม่ย่อหย่อน (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๔,ที.ปา.ฏีกา
๑๖๐/๑๐๐)
๓ มีเรี่ยวแรง หมายถึงมีความพยายามอย่างมั่นคง (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] วิธีตอบคำถาม
บากบั่นของบุรุษ ด้วยความเอาธุระของบุรุษ๑ สิ่งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุ
เต็มที่แล้ว อนึ่ง พระผู้มีพระภาคไม่ทรงหมกมุ่นกับกามสุขัลลิกานุโยค๒ ซึ่งเป็นธรรม
อันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และไม่ทรงหมกมุ่นกับอัตตกิลมถานุโยค๓ ซึ่งเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง๔ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก๕ ได้โดยไม่ลำบาก๖
วิธีตอบคำถาม
[๑๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุคคลถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ท่าน
สารีบุตร ได้มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นในอดีตกาล ซึ่งมีปัญญาในทางพระ-
สัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึง
ตอบว่า ‘ไม่มี’ ถ้าเขาถามว่า ‘จักมีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นในอนาคตกาล ซึ่งจะ
มีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้
ข้าพระองค์จะพึงตอบว่า ‘ไม่มี’ ถ้าเขาถามว่า ‘มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นในปัจจุบัน
ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้
ข้าพระองค์จะพึงตอบว่า ‘ไม่มี’

เชิงอรรถ :
๑ ความเอาธุระของบุรุษ หมายถึงความมุ่งมั่นที่จะทำธุระให้สำเร็จลุล่วงได้ (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๔)
๒ กามสุขัลลิกานุโยค ในที่นี้หมายถึงการหมกมุ่นด้วยกามสุขในวัตถุกาม (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๕)
๓ อัตตกิลมถานุโยค ในที่นี้หมายถึงการหมกมุ่นที่เป็นเหตุให้ตนเดือดร้อน เร่าร้อน เช่น การบำเพ็ญตบะ
แบบทรมานตน (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๕๕)
๔ อันมีในจิตยิ่ง หมายถึงอยู่เหนือกามาวจรจิต (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๕)
๕ ได้โดยไม่ยาก หมายถึงสามารถเข้าฌานตัดปัจจนีกธรรมได้ง่าย (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๑)
๖ ได้โดยไม่ลำบาก หมายถึงสามารถออกจากฌานได้ตามที่กำหนดไว้ (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] วิธีตอบคำถาม
แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ท่านสารีบุตร ได้มีสมณะหรือพราหมณ์
ผู้อื่นในอดีตกาล ซึ่งมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณเสมอกับพระผู้มีพระภาคไหม’
เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘มี’ ถ้าเขาถามว่า ‘จักมีสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้อื่นในอนาคตกาล ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณเสมอกับ
พระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงตอบว่า ‘มี’ ถ้าเขาถาม
ว่า ‘จะมีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นในปัจจุบัน ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณ
เสมอกับพระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงตอบว่า ‘ไม่มี’
แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘เหตุไร ท่านสารีบุตรจึงตอบรับเป็น
บางอย่าง ปฏิเสธเป็นบางอย่าง’ เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงตอบอย่าง
นี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า
‘ได้มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ซึ่งมีปัญญาในทางพระสัมโพธิ-
ญาณเสมอกับเรา’ ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘จักมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตกาล ซึ่งมีปัญญาในทางพระสัมโพธิ-
ญาณเสมอกับเรา’ ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จะเกิดพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกัน
นั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นไปได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกเขาถามอย่างนี้ ตอบอย่างนี้ จะชื่อว่า
พูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ
ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ
กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้๑ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกแล้ว สารีบุตร เมื่อเธอถูกเขาถามอย่างนี้ ตอบ
อย่างนี้ จะชื่อว่าพูดตรงตามที่เรากล่าวแล้วทีเดียว ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ
ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มีเลยที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมา
จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.ม. (แปล) ๕/๒๙๐/๑๐๘, ที.สี. (แปล) ๙/๓๘๒/๑๖, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๑/๗๕, องฺ.ติก. (แปล)
๒๐/๕๘/๒๒๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เรื่องน่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ

เรื่องน่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ
[๑๖๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี๑ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่พระตถาคตผู้ทรงมีฤทธิ์มากอย่างนี้
ทรงมีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงโอ้อวด ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
ได้เห็นประจักษ์ธรรมเพียงข้อหนึ่งจากธรรมของพระองค์แล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ความมักน้อย
ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่พระตถาคตผู้ทรงมีฤทธิ์มากอย่างนี้ ทรงมี
อานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงโอ้อวด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุทายี เธอจงดูความมักน้อย ความสันโดษ ความ
ขัดเกลาของตถาคตผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่
โอ้อวด ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกได้เห็นประจักษ์ธรรมเพียงข้อหนึ่งจากธรรม
ของเรานี้แล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ อุทายี เธอ
จงดู ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลาของตถาคตผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้
มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่โอ้อวด”
[๑๖๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า “เพราะเหตุ
นี้แล สารีบุตร เธอพึงกล่าวธรรมบรรยายนี้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
เนือง ๆ เถิด พวกโมฆบุรุษที่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในตถาคตฟังธรรม
บรรยายนี้แล้ว จักละความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในตถาคตนั้นได้”
เพราะเหตุที่ท่านพระสารีบุตรประกาศความเลื่อมใสนี้เฉพาะพระพักตร์ของพระ
ผู้มีพระภาค ฉะนั้น เวยยากรณภาษิต๒นี้จึงมีชื่อว่า ‘สัมปสาทนียะ’ แล
สัมปสาทนียสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] นิครนถ์ นาฏบุตรถึงแก่กรรม

๖. ปาสาทิกสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เกิดความเลื่อมใส
[๑๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในอัมพวันของพวกเจ้าศากยะ
นามว่า เวธัญญา แคว้นสักกะ
นิครนถ์ นาฏบุตรถึงแก่กรรม
สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตร ได้ถึงแก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการ
ถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกเป็น ๒ พวก
ต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “ท่านไม่รู้
ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัย ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด แต่ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก คำพูดของข้าพเจ้ามีประโยชน์ แต่คำพูดของ
ท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควรพูดภายหลัง
ท่านกลับพูดก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดคำพูดของท่าน
ได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงหาทางแก้คำพูดหรือ
เปลื้องตนให้พ้นผิดเถิด” เห็นจะมีการฆ่ากันเท่านั้นที่จะเป็นไปในพวกนิครนถ์ ผู้เป็น
สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร แม้พวกสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตรที่เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาว
ห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยในพวกนิครนถ์ ผู้เป็น
สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร ทั้งนี้เพราะธรรมวินัยที่นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี
ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็น
ธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยที่มีที่พำนักถูก
ทำลายแล้ว๑ เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย๒

เชิงอรรถ :
๑ ที่พำนักถูกทำลายแล้ว หมายความว่านิครนถ์ นาฏบุตรเป็นที่พำนักของเหล่าสาวก เมื่อเขาถึงแก่กรรมแล้ว
เหล่าสาวกจึงหมดที่พึ่งพิง ธรรมของเขาก็เหมือนสูญสิ้นไปด้วย (ที.ปา.อ. ๑๖๔/๙๔)
๒ ดูเทียบ ข้อ ๓๐๑ หน้า ๒๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
[๑๖๕] ครั้งนั้น พระจุนทะ สมณุทเทส๑ จำพรรษาอยู่ในกรุงปาวาได้เข้าไป
หาท่านพระอานนท์ซึ่งอยู่ในสามคาม๒ กราบท่านพระอานนท์แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
แล้ว ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตร ได้ถึง
แก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวก
นิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็น ๒ พวก ฯลฯ เป็นธรรมวินัยที่มีที่พำนัก
ถูกทำลายแล้ว เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย” เมื่อพระจุนทะ สมณุทเทสกล่าว
อย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า “คุณจุนทะ นี้เป็นข้ออ้าง๓ที่จะเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคได้ มาเถิด คุณจุนทะ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
แล้วกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค” พระจุนทะ สมณุทเทสรับคำแล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ และพระจุนทะ สมณุทเทส ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่าน
พระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระจุนทะ
สมณุทเทสนี้บอกว่า ‘นิครนถ์ นาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการ
ถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน ฯลฯ เป็นธรรมวินัย
ที่มีที่พำนักถูกทำลายแล้ว เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย”
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
[๑๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัย
ที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไป
เพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ จุนทะ
ในโลกนี้ มีศาสดาผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรมที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศ

เชิงอรรถ :
๑ พระจุนทะ สมณุทเทส หมายถึงพระเถระผู้นี้เป็นน้องชายของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร และเป็นสัทธิ-
วิหาริกของพระอานนท์ คำนี้พวกภิกษุเรียกท่าน ในขณะเป็นสามเณร เมื่อท่านเป็นพระแล้วก็ยังเรียกชื่อนี้อยู่
(ที.ปา.อ. ๑๖๔/๙๕)
๒ สามคาม หมายถึงชื่อหมู่บ้านที่มีข้าวฟ่างมากมาย (ที.ปา.อ. ๑๖๕/๙๖, ที.ปา.ฏีกา ๑๖๕/๙๖)
๓ เป็นข้ออ้าง ในที่นี้หมายถึงเป็นมูลเหตุแห่งการได้รับฟังธรรมกถาจากสำนักของพระผู้มีพระภาค (ที.ปา.
ฏีกา ๑๖๕/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
ไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัย
ที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และสาวกก็ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น๑ สาวก
ของศาสดานั้นจะพึงมีคนกล่าวถึงอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เป็นลาภของท่าน ท่านได้
ดีแล้ว ศาสดาของท่านผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้
ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
เป็นธรรมที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่ท่านก็ไม่ปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ประพฤติหลีกเลี่ยงจาก
ธรรมนั้น’ ด้วยเหตุนี้ จุนทะ แม้ศาสดาในธรรมวินัยนั้นจะพึงถูกติเตียน ธรรมใน
ธรรมวินัยนั้นจะพึงถูกติเตียน แต่สาวกในธรรมวินัยนั้นควรได้รับการสรรเสริญ จุนทะ
ผู้ที่กล่าวกับสาวกเช่นนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงปฏิบัติตามธรรมที่ศาสดาของท่านแสดง
ไว้ บัญญัติไว้เถิด’ ผู้ชักชวน๒ ผู้ที่เขาชักชวนและผู้ที่ถูกชักชวนแล้ว๓ปฏิบัติตามนั้น
ทั้งหมดย่อมประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นก็เป็น
อย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่อง
นำออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมา-
สัมพุทธเจ้าประกาศไว้
[๑๖๗] อนึ่ง จุนทะ ในโลกนี้มีศาสดาที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรม
ที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อ
ความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และสาวกก็เป็น
ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ยึดถือ
ประพฤติธรรมนั้น สาวกของศาสดานั้นจะพึงมีคนกล่าวถึงอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
ไม่เป็นลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว ศาสดาของท่านเป็นผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น ในที่นี้หมายถึงไม่บำเพ็ญธรรมต่อไป ทำให้มีช่องว่าง (ที.ปา.อ. ๑๖๖/๙๘)
๒ ผู้ชักชวน ในที่นี้หมายถึงอาจารย์ (ที.ปา.อ. ๑๖๖/๙๘)
๓ ผู้ที่เขาชักชวนและผู้ที่ถูกชักชวนแล้ว ในที่นี้หมายถึงอันเตวาสิก (ที.ปา.อ. ๑๖๖/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ ท่าน
ก็ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ยึดถือ
ประพฤติธรรมนั้น’ ด้วยเหตุนี้แล จุนทะ ศาสดาในธรรมวินัยนั้นจะพึงถูกติเตียน
ธรรมในธรรมวินัยนั้นก็พึงถูกติเตียน และสาวกในธรรมวินัยนั้นก็ควรถูกติเตียน จุนทะ
ผู้ที่กล่าวกับสาวกเช่นนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านปฏิบัติถูกต้องแล้ว จักทำสิ่งที่ถูกต้องให้
สำเร็จได้อย่างแน่นอน’ ผู้สรรเสริญ ผู้ที่เขาสรรเสริญ และผู้ที่ได้รับการสรรเสริญ
แล้วปรารภความเพียร๑ให้ยิ่งขึ้นไป ทั้งหมดย่อมประสพสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้
ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
[๑๖๘] จุนทะ อนึ่ง ในโลกนี้ มีศาสดาผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรม
ที่ศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้๒ เป็นไปเพื่อความสงบ
ระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่สาวกไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ประพฤติหลีกเลี่ยง
จากธรรมนั้น สาวกของศาสดานั้นจะพึงมีคนกล่าวถึงอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่
ลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว ศาสดาของท่านเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า และธรรมก็
เป็นอันศาสดานั้นกล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อ
ความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่ท่านไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ประพฤติหลีก
เลี่ยงจากธรรมนั้น’ ด้วยเหตุนี้แหละ จุนทะ แม้ศาสดาในธรรมวินัยนั้นก็จะพึงได้รับ
การสรรเสริญ ธรรมในธรรมวินัยนั้นจะพึงได้รับการสรรเสริญ แต่สาวกในธรรมวินัยนั้น
ควรถูกติเตียน จุนทะ ผู้ที่กล่าวกับสาวกเช่นนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงปฏิบัติธรรมที่

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความเพียร ในที่นี้หมายถึงบำเพ็ญเพียรที่ทำให้เกิดทุกข์แก่ตน (ที.ปา.อ. ๑๖๗/๙๘)
๒ เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ในที่นี้หมายถึงนำให้บรรลุมรรคและผล (ที.ปา.อ. ๑๖๘/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
ศาสดาของท่านแสดงไว้ บัญญัติไว้เถิด’ ผู้ชักชวน ผู้ที่เขาชักชวน และผู้ที่ถูก
ชักชวนแล้ว ปฏิบัติตามนั้น ทั้งหมดจะประสพบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัยที่พระศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศ
ไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้เป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
[๑๖๙] จุนทะ อนึ่ง ในโลกนี้ มีศาสดาผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรมที่
ศาสดานั้นกล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบ
ระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และสาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ยืดถือปฏิบัติธรรมนั้น
สาวกของศาสดานั้นจะพึงมีคนผู้กล่าวถึงอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เป็นลาภของท่าน
ท่านได้ดีแล้ว ศาสดาของท่านเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมก็เป็นอันพระศาสดา
กล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และท่านก็ปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ยึดถือประพฤติธรรมนั้น’ ด้วย
เหตุนี้แหละ จุนทะ ศาสดาในธรรมวินัยนั้นจะพึงได้รับการสรรเสริญ ธรรมในธรรม
วินัยนั้นจะพึงได้รับการสรรเสริญ และสาวกในธรรมวินัยนั้นก็ควรได้รับการสรรเสริญ
จุนทะ ผู้ที่กล่าวกับสาวกเช่นนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านปฏิบัติถูกต้องแล้ว จักทำสิ่งที่
ถูกต้องให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน’ ผู้สรรเสริญ ผู้ที่เขาสรรเสริญและผู้ที่ได้รับการ
สรรเสริญแล้วปรารภความเพียรให้ยิ่งขึ้นไป ทั้งหมดจะประสพบุญเป็นอันมาก ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ดี
ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัย
ที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ศาสดาผู้ไม่ทำให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง

ศาสดาผู้ให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง
[๑๗๐] จุนทะ อนึ่ง ศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว
ในโลกนี้ และธรรมอันศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่ศาสดา
ยังไม่ทรงทำให้สาวกทั้งหลายของพระองค์เข้าใจอรรถในสัทธรรม ทั้งไม่ทำพรหมจรรย์
ที่บริสุทธิ์ครบถ้วนให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้พร้อมแล้ว ให้มีผล
อย่างปาฏิหาริย์๑แก่สาวกเหล่านั้น จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย๒
ต่อมา ศาสดาของสาวกเหล่านั้นปรินิพพานไป ศาสดาเห็นปานนี้แล ปรินิพพานแล้ว
ทำให้สาวกทั้งหลายเดือดร้อนในภายหลัง ข้อนั้นเพราะเหตุไร (สาวกเหล่านั้นคิดว่า)
‘เพราะศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก และธรรมก็เป็นอัน
ศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบ
ระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่ศาสดายังไม่ทรงทำให้
เราทั้งหลายเข้าใจอรรถในพระสัทธรรม ทั้งไม่ทำพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วน
ให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้พร้อมแล้ว ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์
แก่พวกเรา จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต่อมา ศาสดาของเรา
ทั้งหลาย ปรินิพพานไป’ จุนทะ ศาสดาเห็นปานนี้แลปรินิพพานแล้ว ทำให้สาวก
ทั้งหลายเดือดร้อนในภายหลัง
ศาสดาผู้ไม่ทำให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง
[๑๗๑] จุนทะ อนึ่ง ศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดขึ้นแล้ว
ในโลกนี้ ธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และ

เชิงอรรถ :
๑ ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์ ในที่นี้หมายถึงนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ (ที.ปา.อ. ๑๗๐/๙๙)
๒ คำว่า “ประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” นี้ แปลจากบาลีว่า “ยาว เทวมนุสฺเสหิ สุปฺปกาสิตํ”
ตามนัย ที.ปา.อ. ๑๗๐/๙๙, ที.ปา.ฏีกา ๑๗๐/๑๑๒ แต่ตามนัย ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙, ขุ.อุ. ๕๑/๓๕๐
แปลว่า “กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว” (ตามนัย ที.ปา.อ. ๑๗๐/๙๙, ที.ปา.ฏีกา
๑๗๐/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น
พระศาสดาทรงทำให้สาวกทั้งหลายของพระองค์เข้าใจอรรถในสัทธรรม ทั้งทำ
พรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วนให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้
พร้อมแล้ว ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์แก่สาวกเหล่านั้น จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลายต่อมา ศาสดาของสาวกเหล่านั้น ปรินิพพานไป ศาสดาเห็น
ปานนี้แลปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ทำให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร (สาวกเหล่านั้นคิดว่า) ‘เพราะศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น
แล้วในโลก และธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจาก
ทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
และพระศาสดาทรงทำให้เราทั้งหลายให้เข้าใจอรรถในพระสัทธรรม ทั้งทรงทำ
พรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วน ให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทรวบรวมไว้พร้อมแล้ว
ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์แก่พวกเรา จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ต่อมาศาสดาปรินิพพานไป’ จุนทะ ศาสดาเห็นปานนี้แล ปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ทำ
ให้สาวกทั้งหลายเดือดร้อนในภายหลัง
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น
[๑๗๒] ๑. จุนทะ แม้หากว่าพรหมจรรย์ ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้ไม่มั่นคง ไม่เป็นผู้มีประสบการณ์มาก ไม่เป็นผู้บวช
มานาน ไม่เป็นผู้มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ไม่เป็นผู้ล่วงกาลผ่านวัย
มามาก พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
เมื่อใด พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ ศาสดาเป็นผู้
มั่นคง๑ มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย
ล่วงกาลผ่านวัยมามาก เมื่อนั้น พรหมจรรย์นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วย
องค์นั้น อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มั่นคง หมายถึงผู้ประกอบด้วยธรรมมีศีลขันธ์ เป็นต้นที่ทำให้มีความมั่นคง (ที.ปา.อ. ๑๗๒/๙๙, ที.ปา.
ฏีกา ๑๗๒/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น
[๑๗๓] ๒. จุนทะ แม้หากว่าพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้มั่นคง มีประสบการณ์มาก๑ บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก แต่ภิกษุสาวกผู้เป็นเถระ
ของศาสดานั้น เป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่
แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ๒ ไม่อาจกล่าวพระ
สัทธรรมได้โดยชอบ ไม่อาจแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท๓
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่
บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
เมื่อใด พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ ศาสดาเป็นผู้
มั่นคง มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย
ล่วงกาลผ่านวัยมามาก และภิกษุสาวกผู้เป็นเถระของศาสดานั้น
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอัน
เกษมจากโยคะ อาจกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ อาจแสดง
ธรรมมีปาฏิหาริย์ ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบ
ธรรมได้ เมื่อนั้น พรหมจรรย์นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
[๑๗๔] ๓. จุนทะ แม้หากว่าพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้มั่นคง มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก และภิกษุสาวกผู้เป็นเถระ
ของศาสดานั้น เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ อาจกล่าวสัทธรรมได้โดยชอบ
อาจแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย
โดยชอบธรรมได้ แต่ภิกษุสาวกผู้เป็นมัชฌิมะของศาสดานั้นเป็น

เชิงอรรถ :
๑ มีประสบการณ์มากในที่นี้หมายถึงบวชมานานประสบพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆมามาก (ที.สี.อ. ๑๕๑/๑๓๐)
๒ ธรรมอันเกษมจากโยคะ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ที.ปา.อ. ๑๗๓/๙๙)
๓ ปรัปวาท ในที่นี้หมายถึงวาทะ หรือลัทธิต่าง ๆ ของเจ้าลัทธิอื่นนอกพระพุทธศาสนา(ที.ม.ฏีกา ๓๗๔/๓๗๕,
ขุ.ม.อ. ๓๑/๒๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น
ผู้ไม่เฉียบแหลม ... พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
อย่างนี้
๔. ... ภิกษุสาวกผู้เป็นมัชฌิมะของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่ภิกษุสาวกผู้เป็นนวกะของศาสดานั้นไม่เป็นผู้เฉียบแหลม ...
๕. ... ภิกษุสาวกผู้เป็นนวกะของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นเถรีของศาสดานั้นเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๖. ... ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นเถรีของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นมัชฌิมาของศาสดานั้นเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๗. ... ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นมัชฌิมาของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นนวกาของศาสดานั้นเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๘. ... ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นนวกาของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติ
พรหมจรรย์เป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๙. ... อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติ
พรหมจรรย์เป็นผู้เฉียบแหลม ... แต่อุบาสกสาวกของศาสดานั้น
เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกาม เป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๑๐. ... อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว
บริโภคกามเป็นผู้เฉียบแหลม ... แต่อุบาสิกาสาวิกาของศาสดา
นั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์เป็นผู้ไม่
เฉียบแหลม ...
๑๑. ... อุบาสิกาสาวิกาของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว
ประพฤติพรหมจรรย์เป็นผู้เฉียบแหลม ... แต่อุบาสิกาสาวิกา
ของศาสดานั้น เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกาม เป็นผู้ไม่
เฉียบแหลม ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น
๑๒. ... อุบาสิกาสาวิกาของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว
บริโภคกาม เป็นผู้เฉียบแหลม ... แต่พรหมจรรย์ของศาสดานั้น
มิได้๑บริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี
จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๑๓. ... พรหมจรรย์๒ของศาสดานั้นบริบูรณ์๓กว้างขวาง๔แพร่หลาย๕
รู้จักกันโดยมาก๖มั่นคงดี จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย แต่พรหมจรรย์นั้น ไม่บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและ
ความเลิศด้วยยศ พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
อย่างนี้ จุนทะ เมื่อใด พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้มั่นคง มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก และภิกษุสาวกผู้เป็นเถระ
ของศาสดานั้น เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ อาจกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ
อาจแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดย
ชอบธรรมได้ ภิกษุสาวกผู้เป็นมัชฌิมะของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบ
แหลม ... ภิกษุสาวกผู้เป็นนวกะของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม
... ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นเถรีของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มิได้ แปลจากคำว่า “โน” ซึ่งอยู่ต้นประโยคดังบาลีว่า “โน เจ ขฺวสฺส พฺรหฺมจริยํ โหติ อิทฺธญฺเจว
ผีตญฺจ วิตฺถาริกํ พาหุชญฺญํ ปุถุภูตํ ยาว เทวมนุสฺเสหิ สุปฺปกาสิตํ” ในที่นี้ใช้ปฏิเสธทั้งประโยค
๒ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์คือคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา
(ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)
๓ บริบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงเจริญโดยชอบด้วยอำนาจความสุขในฌานอันภิกษุเหล่านี้บรรลุแล้ว (ที.ม.อ. ๑๖๘/
๑๕๙)
๔ กว้างขวาง ในที่นี้หมายถึงเจริญสูงขึ้นจนถึงที่สุดแห่งความเจริญทางศาสนามีความถึงพร้อมด้วยอภิญญา
เป็นต้น (ที.ม. ฏีกา ๑๖๘/๑๘๗)
๕ แพร่หลาย ในที่นี้หมายถึงกระจายออกไปดำรงอยู่ทั่วทุกทิศ (ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)
๖ รู้จักกันโดยมาก ในที่นี้หมายถึงได้รับประโยชน์เกื้อกูลจากการบรรลุธรรมกันโดยทั่วไป(ที.ม.ฏีกา ๑๖๘/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น
ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นมัชฌิมาของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นนวกาของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติ
พรหมจรรย์เป็นผู้เฉียบแหลม ... อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็น
คฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกามเป็นผู้เฉียบแหลม ... อุบาสิกา
สาวิกาของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหม
จรรย์เป็นผู้เฉียบแหลม ... อุบาสิกาสาวิกาของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์
นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกามเป็นผู้เฉียบแหลม ... พรหมจรรย์ของ
ศาสดานั้นบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมากมั่นคงดี
จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และพรหมจรรย์
ของศาสดานั้น บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและความเลิศด้วยยศ
เมื่อนั้นพรหมจรรย์นั้น ย่อมบริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
[๑๗๕] จุนทะ ก็บัดนี้ เราเป็นศาสดาผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด
ขึ้นแล้วในโลก ธรรมอันเรากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่เราผู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เราทำ
ให้สาวกทั้งหลายเข้าใจอรรถในสัทธรรม ทั้งทำพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วนให้
แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้พร้อมแล้ว ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์แก่
สาวกเหล่านั้น จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็บัดนี้เราเป็นศาสดา
เป็นผู้มั่นคง มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่าน
วัยมามาก
จุนทะ บัดนี้ มีภิกษุสาวกผู้เป็นเถระของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการ
แนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ อาจกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ
อาจแสดงธรรมให้มีปาฏิหาริย์ ปราบปรับวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
บัดนี้ มีภิกษุสาวกผู้เป็นมัชฌิมะของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีภิกษุสาวก
ผู้เป็นนวกะของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นเถรีของเรา
เป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นมัชฌิมาของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น
... บัดนี้ มีภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นนวกาของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีอุบาสก
สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์๑ของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ...
บัดนี้ มีอุบาสกสาวก ผู้เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกาม๒ของเราเป็นผู้
เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีอุบาสิกาสาวิกา ผู้เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติ
พรหมจรรย์๓ของเราเป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีอุบาสิกาสาวิกา ผู้เป็นคฤหัสถ์
นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกาม๔ของเราเป็นผู้เฉียบแหลม จุนทะ บัดนี้ พรหมจรรย์ของ
เราบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี จนประกาศได้ดีทั่วถึง
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๗๖] จุนทะ เท่าที่มีศาสดาเกิดขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เรายังไม่เห็นศาสดา
อื่นแม้ผู้เดียวที่บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและความเลิศด้วยยศเหมือนเราเลย อนึ่ง
เท่าที่มีสงฆ์หรือคณะเกิดขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เรายังไม่เห็นสงฆ์ หรือ คณะอื่นแม้
หมู่เดียว ที่บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและความเลิศด้วยยศ เหมือนภิกษุสงฆ์เลย
บุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงพรหมจรรย์นั้นใดว่า ‘พรหมจรรย์ สมบูรณ์
ด้วยอาการทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ศาสดากล่าวไว้ดี
บริบูรณ์ครบถ้วน ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว’ บุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึง
พรหมจรรย์นี้นั่นแลว่า ‘พรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วย
อาการทุกอย่าง ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ศาสดากล่าวไว้ดี บริบูรณ์ครบถ้วน ศาสดา
ประกาศไว้ดีแล้ว’
จุนทะ ทราบว่า อุทกดาบส รามบุตร กล่าวข้อความอย่างนี้ว่า ‘บุคคลเห็นอยู่
ชื่อว่าไม่เห็น’ ถามว่า ‘บุคคลเห็นอะไรอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น๕’ ตอบว่า ‘บุคคลเห็นใบของ

เชิงอรรถ :
๑ เช่น จิตตคหบดี หัตถกอาฬวกะ (ที.ปา.อ. ๑๗๕/๑๐๐)
๒ เช่น จุลลอนาถบิณฑิกะ และมหาอนาถบิณฑิกะ (ที.ปา.อ. ๑๗๕/๑๐๐)
๓ เช่น นันทมารดา (ที.ปา.อ. ๑๗๕/๑๐๐)
๔ เช่น นางขุชชุตตรา (ที.ปา.อ. ๑๗๕/๑๐๐)
๕ คำว่า “บุคคลเห็นอะไรอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น” เป็นปัญหาที่อุทกดาบส รามบุตรถามมหาชน เมื่อมหาชนตอบ
ไม่ได้ ท่านจึงตอบเองว่า คนเห็นมีดโกนชื่อว่าไม่เห็นเพราะเห็นแต่ใบมีดโกนเท่านั้น แต่ไม่เห็นความคมของ
มีดโกน (ที.ปา.อ. ๑๗๖/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น
มีดโกนที่ลับดีแล้ว แต่ไม่เห็นคมของมีดโกนนั้น’ จุนทะ อุทกดาบส รามบุตรจึง
กล่าวข้อความนี้ว่า ‘บุคคลเห็นอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น’ ข้อความที่อุทกดาบส รามบุตร
กล่าวนั้น เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน๑ เป็นของปุถุชน ไม่เป็นของพระอริยะ
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์๒ เพราะหมายเอาเฉพาะมีดโกนเท่านั้น
จุนทะ ถ้าบุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงคำนั้นใดว่า ‘บุคคลเห็นอยู่
ชื่อว่าไม่เห็น’ บุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงคำนี้นั้นนั่นแลว่า ‘บุคคลเห็นอยู่
ชื่อว่าไม่เห็น’ ถามว่า ‘บุคคลเห็นอะไรอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น’ ตอบว่า ‘พรหมจรรย์
สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ศาสดา
กล่าวไว้ดี บริบูรณ์ครบถ้วน ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว’ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลจึง
ชื่อว่าเห็นพรหมจรรย์นั้น ในพรหมจรรย์นี้ ถ้าบุคคลถอนสิ่งนี้ออกไปด้วยคิดว่า
‘พรหมจรรย์นั้น จะพึงบริสุทธิ์กว่า ด้วยวิธีการนี้’ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลจึงชื่อว่า
ไม่เห็นพรหมจรรย์นั้น ในพรหมจรรย์นี้ ถ้าบุคคลเพิ่มสิ่งนี้เข้าไป ด้วยคิดว่า
‘พรหมจรรย์นั้น จะพึงบริบูรณ์ขึ้นด้วยวิธีการนี้’ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลจึงชื่อว่าไม่
เห็นพรหมจรรย์นั้น นี้เรียกว่า ‘บุคคลเห็นอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น’ จุนทะ บุคคลเมื่อกล่าว
ให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงคำนั้นใดว่า ‘พรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ฯลฯ
ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว’ บุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงคำนี้นั่นแลว่า
‘พรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ไม่หย่อน
ไม่ยิ่ง ศาสดากล่าวไว้ดี บริบูรณ์ครบถ้วน ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว’

เชิงอรรถ :
๑ เป็นของชาวบ้าน ในที่นี้หมายถึงเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของคนโง่ (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๐)
๒ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๓ อย่าง คือ (๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ
(ประโยชน์ในโลกนี้) (๒) สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ในโลกหน้า) (๓) ปรมัตถะ (ประโยชน์สูงสุดคือพระ
นิพพาน) (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] ธรรมที่ควรสังคายนา

ธรรมที่ควรสังคายนา
[๑๗๗] จุนทะ เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลายที่เราแสดงไว้แล้วเพื่อความรู้ยิ่ง
บริษัททั้งหมดนั้นแหละ พึงพร้อมเพรียงกันประชุม สอบทานอรรถกับอรรถ พยัญชนะ
กับพยัญชนะในธรรมนั้น แล้วพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกัน เพื่อให้พรหมจรรย์นี้
ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุข
แก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรมทั้งหลายเราแสดงไว้เพื่อความรู้ยิ่ง บริษัททั้งหมดนั่นแหละพึง
พร้อมเพรียงกัน ประชุมสอบทานอรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะแล้ว
พึงสังคายนากัน ไม่พึงวิวาทกัน เพื่อให้พรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่
ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย คืออะไร
คือ

๑. สติปัฏฐาน ๔___๒. สัมมัปปธาน ๔
๓. อิทธิบาท ๔___๔. อินทรีย์ ๕
๕. พละ ๕___๖. โพชฌงค์ ๗
๗. อริยมรรคมีองค์ ๘

จุนทะ ธรรมทั้งหลายนี้แล เราแสดงไว้แล้วเพื่อความรู้ยิ่ง บริษัททั้งหมด
นั่นแหละพึงพร้อมเพรียงกันประชุม สอบทานอรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ
พึงสังคายนากัน ไม่พึงวิวาทกัน เพื่อให้พรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน
ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] วิธีอธิบายให้เข้าใจ

วิธีอธิบายให้เข้าใจ
[๑๗๘] จุนทะ บรรดาเธอเหล่านั้นซึ่งพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน
ศึกษาอยู่ เพื่อนพรหมจารีรูปหนึ่งพึงกล่าวธรรมในสงฆ์ ในการกล่าวธรรมนั้น หาก
เธอทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แล รับอรรถนั้นแหละมาผิด และยก
พยัญชนะมาผิด’ เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านเพื่อนพรหมจารีนั้น
ครั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านแล้ว พึงกล่าวกับเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มี
อายุ ระหว่างพยัญชนะเหล่านี้กับพยัญชนะเหล่านั้น พยัญชนะเหล่าไหนสมควรแก่
อรรถนี้มากกว่า ระหว่างอรรถนี้กับอรรถนั้น อรรถไหนสมควรแก่พยัญชนะเหล่านี้
มากกว่า’ ถ้าเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พยัญชนะเหล่านี้
ที่ผมพูดแล้วเท่านั้น สมควรแก่อรรถนี้มากกว่า อรรถนี้ที่ผมพูดแล้วเท่านั้น สมควร
แก่พยัญชนะเหล่านี้มากกว่า’ เธอทั้งหลายไม่พึงชมเชย ไม่พึงต่อว่าเพื่อนพรหมจารี
รูปนั้น ครั้นไม่ชมเชย ไม่ต่อว่าแล้ว พึงอธิบายให้เพื่อนพรหมจารีรูปนั้นเข้าใจอย่าง
ถูกต้อง เพื่อใคร่ครวญอรรถนั้นและพยัญชนะเหล่านั้น
[๑๗๙] จุนทะ ถ้าเพื่อนพรหมจารีแม้รูปอื่นพึงกล่าวธรรมในสงฆ์ ในการ
กล่าวธรรมนั้น หากเธอทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แล รับอรรถมาผิด
แต่ยกพยัญชนะมาถูก’ เธอทั้งหลายไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านเพื่อนพรหมจารีรูปนั้น
ครั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านแล้ว พึงกล่าวกับเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มี
อายุ ระหว่างอรรถนี้กับอรรถนั้น อรรถไหนสมควรแก่พยัญชนะเหล่านี้มากกว่า’ ถ้า
เพื่อนพรหมจารีรูปนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘อรรถนี้ที่ผมพูดแล้วเท่านั้น สมควรแก่
พยัญชนะเหล่านี้มากกว่า’ เธอทั้งหลายไม่พึงชมเชย ไม่พึงต่อว่าเพื่อนพรหมจารี
รูปนั้น ครั้นไม่ชมเชย ไม่ต่อว่าแล้ว พึงอธิบายให้เพื่อนพรหมจารีรูปนั้นเข้าใจอย่าง
ถูกต้อง เพื่อใคร่ครวญอรรถนั้น
[๑๘๐] จุนทะ ถ้าเพื่อนพรหมจารีแม้รูปอื่น พึงกล่าวธรรมในสงฆ์ ในการ
กล่าวธรรมนั้น หากเธอทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แล รับอรรถมาดี
แต่ยกพยัญชนะมาผิด’ เธอทั้งหลายไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านเพื่อนพรหมจารีรูปนั้น
ครั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านแล้ว พึงกล่าวกับเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] เหตุแห่งการอนุญาตปัจจัย
อายุ ระหว่างพยัญชนะเหล่านี้กับพยัญชนะเหล่านั้น พยัญชนะเหล่าไหนสมควรแก่
อรรถนี้มากกว่า’ ถ้าเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พยัญชนะเหล่านี้ที่ผม
พูดแล้วเท่านั้น สมควรแก่อรรถนี้มากกว่า’ เธอทั้งหลายไม่พึงชมเชย ไม่พึงต่อว่า
เพื่อนพรหมจารีรูปนั้น ครั้นไม่ชมเชย ไม่ต่อว่าแล้ว พึงอธิบายให้เพื่อนพรหมจารี
รูปนั้นเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อใคร่ครวญพยัญชนะเหล่านั้น
[๑๘๑] จุนทะ ถ้าเพื่อนพรหมจารีแม้รูปอื่น พึงกล่าวธรรมในสงฆ์ ในการ
กล่าวธรรมนั้น หากเธอทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แล รับอรรถ
มาถูก และยกพยัญชนะมาถูก’ เธอทั้งหลายพึงชื่นชม พึงอนุโมทนาภาษิตของ
เพื่อนพรหมจารีรูปนั้นว่า ‘ดีแล้ว’ ครั้นชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของเพื่อนพรหมจารี
รูปนั้นว่า ‘ดีแล้ว’ พึงกล่าวกับเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เป็น
ลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้ว ที่พวกเราพบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน ผู้มีอายุ
ผู้เข้าถึงอรรถ ผู้เข้าถึงพยัญชนะอย่างนี้’
เหตุแห่งการอนุญาตปัจจัย
[๑๘๒] จุนทะ เราแสดงธรรมเพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
เท่านั้นก็หามิได้ และแสดงธรรมเพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
เท่านั้นก็หามิได้ แต่เราแสดงธรรมเพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
และเพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต เพราะฉะนั้น เราอนุญาตจีวร
แก่เธอทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อป้องกันความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันสัมผัส
แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย และเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะ
ที่น่าละอาย เราอนุญาตบิณฑบาตแก่เธอทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่ง
กายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยคิดว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย
ความไม่มีโทษและความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา ด้วยประการฉะนี้’ เราอนุญาตเสนาสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] สุขัลลิกานุโยค
แก่เธอทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อป้องกันความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันสัมผัส
แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิด
จากฤดู และเพื่อยินดีในการหลีกเร้น เราอนุญาตคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารแก่เธอ
ทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อบรรเทาเวทนาอันเนื่องมาจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อ
ความไม่ลำบากเป็นอย่างยิ่ง
สุขัลลิกานุโยค
[๑๘๓] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘พวกสมณะ ศากยบุตรยึดถือสุขัลลิกานุโยค๑อยู่’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้กับ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สุขัลลิกานุโยค เป็น
อย่างไร เพราะสุขัลลิกานุโยค มีมากมายหลายอย่างต่าง ๆ กัน’
จุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้ เป็นธรรมต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน
เป็นของปุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ
ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. คนพาลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ ครั้นฆ่าแล้ว บำรุงตนเองให้เป็นสุข
ให้มีความเอิบอิ่ม๒ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคประการที่ ๑
๒. คนพาลบางคนในโลกนี้ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ครั้นถือ
เอาแล้วบำรุงตนเองให้เป็นสุข ให้มีความเอิบอิ่ม นี้เป็นสุขัลลิกานุโยค
ประการที่ ๒
๓. คนพาลบางคนในโลกนี้ พูดเท็จ ครั้นพูดเท็จแล้ว บำรุงตนเองให้
เป็นสุข ให้มีความเอิบอิ่ม นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคประการที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ สุขัลลิกานุโยค ในที่นี้หมายถึงการหมกมุ่นในการเสพสุข (เป็นคตินิยมอย่างหนึ่งในปรัชญาอินเดีย
เรียกว่า จารวาก เทียบได้กับคติสุขารมณ์ (hedonism) ของปรัชญาตะวันตก) (ที.ปา.อ. ๑๘๓/๑๐๒)
๒ ให้มีความเอิบอิ่ม ในที่นี้หมายถึงให้มีร่างกายอ้วนท้วน (ที.ปา.อ. ๑๘๓/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] สุขัลลิกานุโยค
๔. คนพาลบางคนในโลกนี้ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วย
กามคุณ ๕ ประการ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคประการที่ ๔
จุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้ เป็นธรรมต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน
เป็นของปุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ
ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกสมณะ
ศากยบุตร ยึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวกับอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเหล่านั้นว่า ‘พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนี้เลย’ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
เมื่อกล่าวถึงเธอทั้งหลาย ก็ไม่กล่าวให้ถูกต้อง กลับกล่าวตู่ด้วยคำที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง
[๑๘๔] จุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดย
ส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อ
นิพพาน
สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ นี้เป็น
สุขัลลิกานุโยคประการที่ ๑
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็น
สุขัลลิกานุโยคประการที่ ๒
๓. เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข
ด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยค
ประการที่ ๓
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคประการที่ ๔
สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลาย
กำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ว่าด้วยอานิสงส์ของสุขัลลิกานุโยค
จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
สมณะ ศากยบุตร ยึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวกับ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่า ‘ท่านทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้’ อัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้น เมื่อกล่าวถึงเธอทั้งหลายก็กล่าวได้ถูกต้อง มิใช่กล่าวตู่เธอทั้งหลาย
ด้วยคำที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง
ว่าด้วยอานิสงส์ของสุขัลลิกานุโยค
[๑๘๕] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ก็ท่านทั้งหลายยึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่ พึงหวังผลได้เท่าไหร่ พึงหวัง
อานิสงส์ได้เท่าไหร่’ เธอทั้งหลายควรกล่าวอย่างนี้กับอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะ
อย่างนั้นว่า ‘พวกเรายึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่ พึงหวังได้ผล ๔ ประการ
พึงหวังได้อานิสงส์ ๔ ประการ
ผล ๔ ประการ อานิสงส์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการ
สิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
นี้เป็นผลประการที่ ๑ อานิสงส์ประการที่ ๑
๒. ภิกษุเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะ
ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ นี้เป็นผลประการที่ ๒ อานิสงส์ประการที่ ๒
๓. ภิกษุเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพาน
ในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก นี้เป็นผลประการที่ ๓ อานิสงส์
ประการที่ ๓
๔. ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นผลประการที่ ๔
อานิสงส์ประการที่ ๔
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเรายึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่ พึงหวัง
ได้ผล ๔ ประการ พึงหวังได้อานิสงส์ ๔ ประการนี้แล’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับพระขีณาสพ

ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับพระขีณาสพ
[๑๘๖] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
สมณะ ศากยบุตร มีหลักการไม่แน่นอนอยู่’ เธอทั้งหลายควรกล่าวอย่างนี้กับ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หลักการที่พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงรู้๑ทรงเห็น๒ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงไว้
บัญญัติไว้แก่เหล่าสาวก เป็นหลักการที่เหล่าสาวกต้องไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิตมีอยู่
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เสาเขื่อน หรือเสาเหล็ก มีรากลึก ปักไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหว
ไม่สั่นสะเทือน แม้ฉันใด หลักการที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงไว้ บัญญัติไว้แก่เหล่าสาวก เป็นหลักการที่
เหล่าสาวกต้องไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุใดเป็นพระอรหันต-
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว๓ บรรลุ
ประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบได้ ภิกษุนั้น
ไม่อาจประพฤติละเมิดฐานะ ๙ ประการ คือ
๑. ภิกษุขีณาสพไม่อาจจงใจปลงชีวิตสัตว์
๒. ภิกษุขีณาสพไม่อาจถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย
๓. ภิกษุขีณาสพไม่อาจเสพเมถุนธรรม
๔. ภิกษุขีณาสพไม่อาจพูดเท็จทั้งที่รู้
๕. ภิกษุขีณาสพไม่อาจสะสมบริโภคกาม๔เหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์
๖. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ทรงรู้ ในที่นี้หมายถึงทรงรู้ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.อ. ๑๘๖/๑๐๒)
๒ ทรงเห็น ในที่นี้หมายถึงทรงเห็นด้วยจักษุ ๕ คือ (๑) มังสจักขุ (ตาเนื้อ) (๒) ทิพพจักขุ (ตาทิพย์)
(๓) ปัญญาจักขุ (ตาปัญญา) (๔) พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๕) สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ) (ที.ปา.อ.
๑๘๖/๑๐๒)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑๑๖ หน้า ๘๗ ในเล่มนี้
๔ กาม ในที่นี้หมายถึงทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม (ที.ปา.อ. ๑๘๖/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] ปัญหาพยากรณ์
๗. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะชัง
๘. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะหลง
๙. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะกลัว
ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จ
แล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้น
เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นไม่อาจประพฤติละเมิดฐานะ ๙ ประการนี้แล๑
ปัญหาพยากรณ์
[๑๘๗] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘พระสมณโคดม ปรารภอดีตกาลยาวนานแล้วบัญญัติญาณทัสสนะอันไม่มีขอบเขตไว้
แต่หาได้ปรารภอนาคตกาลยาวนานแล้วบัญญัติญาณทัสสนะอันไม่มีขอบเขตไว้ไม่
ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น กล่าวอย่างนั้นเพราะเหตุไร’ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
เข้าใจญาณทัสสนะที่มีความหมายอย่างหนึ่งว่า ทรงบัญญัติรวมเข้ากับญาณทัสสนะ
ที่มีความหมายอีกอย่างหนึ่งเหมือนคนโง่ ไม่เฉียบแหลมฉะนั้น ตถาคตมีสตานุสาริ-
ญาณ๒ ปรารภอดีตกาลยาวนานได้ คือ ตถาคตระลึกได้ตลอดขอบเขตเท่าที่ประสงค์
และตถาคตมีญาณ๓ที่เกิดจากการตรัสรู้ ปรารภอนาคตกาลยาวนานได้ว่า ‘ชาตินี้
เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’ แม้ถ้าเรื่องอดีต เป็นเรื่องไม่จริง ไม่แท้
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตไม่พยากรณ์เรื่องอดีตนั้น ถ้าแม้เรื่องอดีต เป็น
เรื่องจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่องอดีตนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๗/๔๔๖
๒ สตานุสาริญาณ ในที่นี้หมายถึงปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ความหยั่งรู้เป็นเหตุให้ระลึกชาติได้) (ที.ปา.อ.
๑๘๗/ ๑๐๓)
๓ ญาณ หมายถึงมรรคญาณ ๔ คือ (๑) โสตาปัตติมรรค (๒) สกทาคามิมรรค (๓) อนาคามิมรรค
(๔) อรหัตตมรรค (ที.ปา.อ. ๑๘๗/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] ปัญหาพยากรณ์
ถ้าแม้เรื่องอดีต เป็นเรื่องจริง แท้ ทั้งประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้นตถาคต
ก็รู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น ถ้าแม้เรื่องอนาคต เป็นเรื่องไม่จริง ไม่แท้ ไม่
ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่องอนาคตนั้น ถ้าแม้เรื่องอนาคต
เป็นเรื่องจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่อง
อนาคตนั้น ถ้าแม้เรื่องอนาคต เป็นเรื่องจริง แท้ ทั้งประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่อง
นั้นตถาคตก็รู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น ถ้าแม้เรื่องปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่จริง
ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่องปัจจุบันนั้น ถ้าแม้เรื่อง
ปัจจุบัน เป็นเรื่องจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่อง
ปัจจุบันนั้น ถ้าแม้เรื่องปัจจุบัน เป็นเรื่องจริง แท้ ทั้งประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น
ตถาคตก็รู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น
[๑๘๘] จุนทะ ด้วยเหตุนี้ เพราะตถาคตเป็นกาลวาที๑ ภูตวาที๒ อัตถวาที๓
ธัมมวาที๔ วินยวาที๕ ในธรรมทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฉะนั้น ชาวโลก
จึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้รูปที่ได้เห็น๖ เสียงที่ได้ฟัง๗ อารมณ์ที่ได้ทราบ๘ ธรรมารมณ์
ที่รู้แจ้ง๙ ที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง

เชิงอรรถ :
๑ กาลวาที หมายถึงตรัสในเวลาเหมาะสม (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๒ ภูตวาที หมายถึงตรัสสภาวะที่เป็นจริง (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๓ อัตถวาที หมายถึงตรัสปรมัตถนิพพาน (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๔ ธัมมวาที หมายถึงตรัสถึงมรรคธรรมและผลธรรม (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๕ วินยวาที หมายถึงตรัสถึงวินัยที่มีการสำรวมเป็นต้น (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๖ รูปที่ได้เห็น หมายถึงรูปายตนะ (อายตนะคือรูป) (ที.ปา.อ. ๑๘๘/๑๐๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
๗ เสียงที่ได้ฟัง หมายถึงสัททายตนะ (อายตนะคือเสียง) (ที.ปา.อ. ๑๘๘/๑๐๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
๘ อารมณ์ที่ได้ทราบ หมายถึงคันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) รสายตนะ (อายตนะคือรส) โผฏฐัพพายตนะ
(อายตนะคือโผฏฐัพพะ) เพราะเป็นสภาวะที่บุคคลถึงแล้วจึงกำหนดได้ (ที.ปา.อ. ๑๘๘/๑๐๔, องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๒๓/ ๓๐๑)
๙ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง หมายถึงธรรมารมณ์มีสุขและทุกข์เป็นต้น (ที.ปา.อ. ๑๘๘/๑๐๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/
๓๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น