Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๕-๒ หน้า ๖๗ - ๑๓๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค



พระสุตตันตปิฎก
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๖. ชราวรรค ๒. อชรสาสูตร

๖. ชราวรรค
หมวดว่าด้วยชรา
๑. ชราสูตร
ว่าด้วยชรา
[๕๑] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่ายังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา (ความแก่)
อะไรเล่าตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ
อะไรเล่าเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
อะไรเล่าโจรลักไปไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา
ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
บุญโจรลักไปไม่ได้
ชราสูตรที่ ๑ จบ

๒. อชรสาสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่ชำรุด
[๕๒] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าที่ไม่ชำรุด๑ยังประโยชน์ให้สำเร็จ
อะไรเล่าตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ
อะไรเล่าเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
อะไรเล่าโจรลักไปไม่ได้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๖. ชราวรรค ๓. มิตตสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศีลที่ไม่ชำรุดยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
บุญโจรลักไปไม่ได้
อชรสาสูตรที่ ๒ จบ

๓. มิตตสูตร
ว่าด้วยมิตร
[๕๓] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นมิตรของคนเดินทาง
อะไรเล่าเป็นมิตรในเรือนของตน
อะไรเล่าเป็นมิตรของคนผู้มีประโยชน์๑เกิดขึ้น
อะไรเล่าเป็นมิตรติดตามตนไปถึงภพหน้า
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
พวกหมู่เกวียนเป็นมิตรของคนเดินทาง
มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน
สหายเป็นมิตรของคนผู้มีประโยชน์เกิดขึ้นเนือง ๆ
บุญที่ตนเองทำไว้แล้วเป็นมิตรติดตามตนไปถึงภพหน้า
มิตตสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๖. ชราวรรค ๕. ปฐมชนสูตร

๔. วัตถุสูตร
ว่าด้วยที่พึ่ง
[๕๔] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นที่พึ่งของมนุษย์ทั้งหลาย
อะไรเล่าเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมในโลกนี้
หมู่สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนพื้นดินอาศัยอะไรเล่าเลี้ยงชีพ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุตรเป็นที่พึ่งของมนุษย์ทั้งหลาย
ภรรยาเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมในโลกนี้
หมู่สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนพื้นดินอาศัยฝนเลี้ยงชีพ
วัตถุสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมชนสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ทำคนให้เกิด สูตรที่ ๑
[๕๕] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าทำคนให้เกิด
อะไรเล่าของคนนั้นย่อมพล่านไป
อะไรเล่าเวียนว่ายในสงสาร
อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของคนนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหาทำคนให้เกิด
จิตของคนนั้นย่อมพล่านไป
สัตว์เวียนว่ายในสงสาร
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของคนนั้น
ปฐมชนสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๖. ชราวรรค ๗. ตติยชนสูตร

๖. ทุติยชนสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ทำคนให้เกิด สูตรที่ ๒
[๕๖] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าทำคนให้เกิด
อะไรเล่าของคนนั้นย่อมพล่านไป
อะไรเล่าเวียนว่ายในสงสาร
สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากอะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหาทำคนให้เกิด
จิตของคนนั้นย่อมพล่านไป
สัตว์เวียนว่ายในสงสาร
สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์
ทุติยชนสูตรที่ ๖ จบ

๗. ตติยชนสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ทำคนให้เกิด สูตรที่ ๓
[๕๗] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าทำคนให้เกิด
อะไรเล่าของคนนั้นย่อมพล่านไป
อะไรเล่าเวียนว่ายในสงสาร
อะไรเล่าเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของคนนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหาทำคนให้เกิด
จิตของคนนั้นย่อมพล่านไป
สัตว์เวียนว่ายในสงสาร
กรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของคนนั้น
ตติยชนสูตรที่ ๗ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๖. ชราวรรค ๙. ทุติยสูตร

๘. อุปปถสูตร
ว่าด้วยทางผิด
[๕๘] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าบัณฑิตกล่าวว่า เป็นทางผิด
อะไรเล่าสิ้นไปตามคืนและวัน
อะไรเล่าเป็นมลทินของพรหมจรรย์
อะไรเล่ามิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้าง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ราคะบัณฑิตกล่าวว่า เป็นทางผิด
วัยสิ้นไปตามคืนและวัน
หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ข้องอยู่ในหญิงนั่น
ตบะและพรหมจรรย์นั้นมิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้าง
อุปปถสูตรที่ ๘ จบ

๙. ทุติยสูตร
ว่าด้วยเพื่อน
[๕๙] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นเพื่อนของบุรุษ
อะไรเล่าย่อมปกครองบุรุษนั้น
และสัตว์ยินดีในอะไร จึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นเพื่อนของบุรุษ
ปัญญาย่อมปกครองบุรุษนั้น
สัตว์ยินดีในนิพพาน จึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ทุติยสูตรที่ ๙ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๖. ชราวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. กวิสูตร
ว่าด้วยกวี
[๖๐] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นต้นเหตุของคาถา
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของคาถาเหล่านั้น
คาถาอาศัยอะไรเล่า อะไรเล่าเป็นที่อาศัยของคาถา
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ฉันท์เป็นต้นเหตุของคาถา
อักขระเป็นเครื่องปรากฏของคาถาเหล่านั้น
คาถาอาศัยชื่อ กวีเป็นที่อาศัยของคาถา
กวิสูตรที่ ๑๐ จบ
ชราวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ชราสูตร ๒. อชรสาสูตร
๓. มิตตสูตร ๔. วัตถุสูตร
๕. ปฐมชนสูตร ๖. ทุติยชนสูตร
๗. ตติยชนสูตร ๘. อุปปถสูตร
๙. ทุติยสูตร ๑๐. กวิสูตร
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๗. อัทธวรรค ๒. จิตตสูตร

๗. อัทธวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งครอบงำ
๑. นามสูตร
ว่าด้วยชื่อ
[๖๑] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าครอบงำสิ่งทั้งปวง
อะไรเล่าไม่มีสิ่งทั้งปวงยิ่งกว่า
อะไรเล่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่สิ่งทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชื่อครอบงำสิ่งทั้งปวง
ชื่อไม่มีสิ่งทั้งปวงยิ่งกว่า
ชื่อเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่สิ่งทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจ
นามสูตรที่ ๑ จบ

๒. จิตตสูตร
ว่าด้วยจิต
[๖๒] เทวดาทูลถามว่า
โลก๑ถูกอะไรนำไป ถูกอะไรผลักไสไป
อะไรเล่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกจิตนำไป ถูกจิตผลักไสไป
จิตเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ
จิตตสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๗. อัทธวรรค ๔. สัญโญชนสูตร

๓. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยตัณหา
[๖๓] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรนำไป ถูกอะไรผลักไสไป
อะไรเล่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกตัณหานำไป ถูกตัณหาผลักไสไป
ตัณหาเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ
ตัณหาสูตรที่ ๓ จบ

๔. สัญโญชนสูตร
ว่าด้วยเครื่องประกอบไว้
[๖๔] เทวดาทูลถามว่า
โลกมีอะไรเล่าเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
วิตกเป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงกล่าวว่า นิพพาน
สัญโญชนสูตรที่ ๔ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๗. อัทธวรรค ๖. อัพภาหตสูตร

๕. พันธนสูตร
ว่าด้วยเครื่องผูก
[๖๕] เทวดาทูลถามว่า
โลกมีอะไรเล่าเป็นเครื่องผูกไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า จึงตัดเครื่องผูกได้หมด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
วิตกเป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ จึงตัดเครื่องผูกได้หมด
พันธนสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัพภาหตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ถูกกำจัด
[๖๖] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรเล่ากำจัด ถูกอะไรเล่าล้อมไว้
ถูกลูกศรคืออะไรเล่าเสียบไว้
ถูกอะไรเล่าเผาให้ร้อนตลอดกาลทุกเมื่อ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกมัจจุกำจัด ถูกชราล้อมไว้
ถูกลูกศรคือตัณหาเสียบไว้
ถูกความอยากเผาให้ร้อนตลอดกาลทุกเมื่อ
อัพภาหตสูตรที่ ๖ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๗. อัทธวรรค ๘. ปิหิตสูตร

๗. อุฑฑิตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ถูกดัก
[๖๗] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรเล่าดักไว้ ถูกอะไรเล่าล้อมไว้
ถูกอะไรเล่าปิดไว้ ตั้งอยู่ในอะไรเล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกตัณหาดักไว้ ถูกชราล้อมไว้
ถูกมัจจุปิดไว้ ตั้งอยู่ในความทุกข์
อุฑฑิตสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปิหิตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ถูกปิดไว้
[๖๘] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรเล่าปิดไว้ ตั้งอยู่ในอะไรเล่า
ถูกอะไรเล่าดักไว้ ถูกอะไรเล่าล้อมไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกมัจจุปิดไว้ ตั้งอยู่ในความทุกข์
ถูกตัณหาดักไว้ ถูกชราล้อมไว้
ปิหิตสูตรที่ ๘ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๗. อัทธวรรค ๑๐. โลกสูตร

๙. อิจฉาสูตร
ว่าด้วยความอยาก
[๖๙] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรเล่าผูกไว้
เพราะกำจัดอะไรออกไป จึงพ้นได้
เพราะละอะไรได้เล่า จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกความอยากผูกไว้
เพราะกำจัดความอยากออกไป จึงพ้นได้
เพราะละความอยาก จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด
อิจฉาสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โลกสูตร
ว่าด้วยโลก
[๗๐] เทวดาทูลถามว่า
เมื่ออะไรเกิด โลกจึงเกิด
โลกทำความเชยชิดในอะไร โลกยึดถืออะไร
โลกเดือดร้อนเพราะอะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๗. อัทธวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมื่ออายตนะ ๖ เกิด โลกจึงเกิด
โลกทำความเชยชิดในอายตนะ ๖
โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแล
โลกเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖
โลกสูตรที่ ๑๐ จบ
อัทธวรรคที่ ๗ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นามสูตร ๒. จิตตสูตร
๓. ตัณหาสูตร ๔. สัญโญชนสูตร
๕. พันธนสูตร ๖. อัพภาหตสูตร
๗. อุฑฑิตสูตร ๘. ปิหิตสูตร
๙. อิจฉาสูตร ๑๐. โลกสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๘. ฆัตวาวรรค ๒. รถสูตร

๘. ฆัตวาวรรค
หมวดว่าด้วยการฆ่า
๑. ฆัตวาสูตร
ว่าด้วยการฆ่า
[๗๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม
พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลฆ่าความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก เทวดา
พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ๑ มียอดหวาน
เพราะบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก
ฆัตวาสูตรที่ ๑ จบ

๒. รถสูตร
ว่าด้วยรถ
[๗๒] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของรถ
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของไฟ
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของรัฐ
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของหญิง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๘. ฆัตวาวรรค ๓. วิตตสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ธงเป็นเครื่องปรากฏของรถ
ควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟ
พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของรัฐ
ภัสดาเป็นเครื่องปรากฏของหญิง๑
รถสูตรที่ ๒ จบ

๓. วิตตสูตร
ว่าด้วยทรัพย์เครื่องปลื้มใจ
[๗๓] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของบุรุษในโลกนี้
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลาย
จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของบุรุษในโลกนี้
ธรรม๒ ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้นเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลาย
จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
วิตตสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๘. ฆัตวาวรรค ๔. วุฏฐิสูตร

๔. วุฏฐิสูตร
ว่าด้วยฝน
[๗๔] เทวดาทูลถามว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น อะไรเล่าประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกลงไป อะไรเล่าประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินได้ สัตว์ประเภทใดประเสริฐ
บรรดาชนผู้พูด ใครเป็นผู้ประเสริฐ
เทวดาองค์หนึ่งกล่าวแก้ว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น พืชประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกลงไป ฝนประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินได้ โคเป็นสัตว์ประเสริฐ
บรรดาชนผู้พูด บุตรเป็นผู้ประเสริฐ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้ประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกลงไป ความไม่รู้ประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินได้ พระสงฆ์เป็นผู้ประเสริฐ
บรรดาชนผู้พูด พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ
วุฏฐิสูตรที่ ๔ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๘. ฆัตวาวรรค ๖. นชีรติสูตร

๕. ภีตสูตร
ว่าด้วยผู้กลัว
[๗๕] เทวดาทูลถามว่า
หมู่ชนเป็นอันมากในโลกนี้ยังจะกลัวอะไรอีกเล่า
เพราะพระพุทธเจ้าตรัสบอกทางไว้แล้วด้วยเหตุหลากหลาย๑
ข้าแต่พระโคดมผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ถึงเหตุนั้น
บุคคลตั้งอยู่ในธรรมอะไร จึงไม่กลัวปรโลก
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ
มิได้ทำบาปทางกาย อยู่ครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก
เป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้อ่อนโยน ๑
มีปกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ๑ รู้เจรจาปราศรัย ๑
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ๔ ประการนี้ ชื่อว่าผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ผู้นั้นจึงจะไม่กลัวปรโลก
ภีตสูตรที่ ๕ จบ

๖. นชีรติสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่ทรุดโทรม
[๗๖] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าย่อมทรุดโทรม
อะไรเล่าย่อมไม่ทรุดโทรม
อะไรเล่าท่านเรียกว่าทางผิด

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๘. ฆัตวาวรรค ๗. อิสสรสูตร
อะไรเล่าเป็นอันตรายต่อธรรม
อะไรเล่าสิ้นไปตามคืนและวัน
อะไรเล่าเป็นมลทินของพรหมจรรย์
อะไรเล่ามิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้าง
ในโลกมีช่องกี่ช่อง ที่จิตตั้งอยู่ไม่ได้
ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่าจะรู้ข้อความนั้นได้อย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมทรุดโทรม
ชื่อและโคตรย่อมไม่ทรุดโทรม
ราคะท่านเรียกว่าทางผิด
ความโลภเป็นอันตรายต่อธรรม
วัยสิ้นไปตามคืนและวัน
หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ข้องอยู่ในหญิงนั่น
ตบะและพรหมจรรย์นั้นมิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้าง
ในโลกมีช่องอยู่ ๖ ช่อง ที่จิตตั้งอยู่ไม่ได้ คือ
ความเกียจคร้าน ๑ ความประมาท ๑ ความไม่ขยัน ๑
ความไม่สำรวม ๑ ความมักหลับ ๑ ความอ้างเลสไม่ทำงาน ๑
พึงเว้นช่องทั้ง ๖ เสีย โดยประการทั้งปวงเถิด
นชีรติสูตรที่ ๖ จบ

๗. อิสสรสูตร
ว่าด้วยความเป็นใหญ่
[๗๗] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นใหญ่ในโลก
อะไรเล่าเป็นสิ่งสูงสุดบรรดาภัณฑะทั้งหลาย
อะไรเล่าเป็นดังสนิมศัสตราในโลก
อะไรเล่าเป็นเสนียดจัญไรในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๘. ฆัตวาวรรค ๙. ปาเถยยสูตร
ใครนำของไปย่อมถูกห้าม แต่ใครนำของไปกลับเป็นที่รัก
ใครมาบ่อย ๆ บัณฑิตย่อมยินดี
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
อำนาจเป็นใหญ่ในโลก
หญิงเป็นสิ่งสูงสุดบรรดาภัณฑะทั้งหลาย
ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก
พวกโจรเป็นเสนียดจัญไรในโลก
โจรนำของไปย่อมถูกห้าม แต่สมณะนำของไปกลับเป็นที่รัก
สมณะมาบ่อย ๆ บัณฑิตย่อมยินดี
อิสสรสูตรที่ ๗ จบ

๘. กามสูตร
ว่าด้วยผู้ต้องการประโยชน์
[๗๘] เทวดาทูลถามว่า
กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์
ไม่ควรให้อะไรเล่า ไม่ควรสละอะไรเล่า
อะไรเล่าที่ดีควรปล่อย แต่ที่ไม่ดีไม่ควรปล่อย
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุรุษไม่ควรให้ตน ไม่ควรสละตน
วาจาที่ดีควรปล่อย แต่วาจาที่ไม่ดีไม่ควรปล่อย
กามสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปาเถยยสูตร
ว่าด้วยเสบียง
[๗๙] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่ารวบรวมไว้ซึ่งเสบียง
อะไรเล่าเป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย
อะไรเล่าผลักไสนรชนไป อะไรเล่าละได้ยากในโลก
สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในอะไรเล่า เหมือนนกติดบ่วง ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๘. ฆัตวาวรรค ๑๐. ปัชโชตสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธารวบรวมไว้ซึ่งเสบียง
สิริเป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย
ความอยากผลักไสนรชนไป
ความอยากละได้ยากในโลก
สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในความอยาก เหมือนนกติดบ่วง ฉะนั้น
ปาเถยยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปัชโชตสูตร
ว่าด้วยแสงสว่าง
[๘๐] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นแสงสว่างในโลก
อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
อะไรเล่าเป็นสหายในการทำงานของผู้เป็นอยู่
อะไรเล่าเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา
อะไรเล่าย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านและไม่เกียจคร้าน
ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร
หมู่สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดิน อาศัยอะไรเลี้ยงชีพ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
ฝูงโคเป็นสหายในการทำงานของผู้เป็นอยู่
ไถเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา
ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านและไม่เกียจคร้าน
ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร
หมู่สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีพ
ปัชโชตสูตรที่ ๑๐ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๘. ฆัตวาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๑. อรณสูตร
ว่าด้วยข้าศึก
[๘๑] เทวดาทูลถามว่า
คนเหล่าไหนไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้
พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของคนเหล่าไหนไม่เสื่อม
คนเหล่าไหนกำหนดรู้ความอยากได้ในโลกนี้
ความเป็นไทย่อมมีแก่คนเหล่าไหนทุกเมื่อ
มารดาและบิดาหรือพี่น้องไหว้บุคคลนั้นผู้ตั้งมั่น(ในศีล) คือใครเล่า
กษัตริย์ทั้งหลายอภิวาทใครในโลกนี้ แม้จะมีชาติต่ำ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
สมณะทั้งหลายในธรรมวินัยไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้
พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม
สมณะทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ความอยากได้
ความเป็นไทย่อมมีแก่สมณะทั้งหลายทุกเมื่อ
มารดาและบิดาหรือพี่น้องไหว้บุคคลนั้นผู้ตั้งมั่น(ในศีล) คือสมณะ
กษัตริย์ทั้งหลายอภิวาทสมณะในโลกนี้ ผู้มีชาติต่ำ
อรณสูตรที่ ๑๑ จบ
ฆัตวาวรรคที่ ๘ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ฆัตวาสูตร ๒. รถสูตร
๓. วิตตสูตร ๔. วุฏฐิสูตร
๕. ภีตสูตร ๖. นชีรติสูตร
๗. อิสสรสูตร ๘. กามสูตร
๙. ปาเถยยสูตร ๑๐. ปัชโชตสูตร
๑๑. อรณสูตร

เทวตาสังยุต จบบริบูรณ์

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑. ปฐมกัสสปสูตร

๒. เทวปุตตสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ปฐมกัสสปสูตร
ว่าด้วยกัสสปเทพบุตร สูตรที่ ๑
[๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป กัสสปเทพบุตรมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงประกาศภิกษุ แต่ไม่ทรงประกาศคำสั่งสอนสำหรับภิกษุ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปเทพบุตร ถ้าอย่างนั้น การประกาศคำสั่งสอนนั้น
จงปรากฏแก่ท่าน ณ ที่นี้เถิด”
กัสสปเทพบุตรกราบทูลว่า
บุคคลพึงศึกษาคำสุภาษิต๑
ศึกษาการเข้าไปนั่งใกล้สมณะ
ศึกษาการนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว
และศึกษาการสงบระงับจิต
กัสสปเทพบุตรได้กล่าวดังนี้ พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว ลำดับนั้น
กัสสปเทพบุตรทราบว่า “พระศาสดาของเราทรงพอพระทัยแล้ว” จึงถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
ปฐมกัสสปสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๓. มาฆสูตร

๒. ทุติยกัสสปสูตร
ว่าด้วยกัสสปเทพบุตร สูตรที่ ๒
[๘๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
กัสสปเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
ถ้าภิกษุหวังการบรรลุธรรมที่เป็นหัวใจ๑
มีธรรมที่เป็นหัวใจเป็นอานิสงส์
เธอพึงเป็นผู้มีฌาน มีจิตหลุดพ้น
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งโลก๒
มีใจดี ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย๓
ทุติยกัสสปสูตรที่ ๒ จบ

๓. มาฆสูตร
ว่าด้วยมาฆเทพบุตร
[๘๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป มาฆเทพบุตรมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่าง
ทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม
พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๔. มาคธสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลฆ่าความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก ท้าววัตรภู๑
พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน
เพราะบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก
มาฆสูตรที่ ๓ จบ

๔. มาคธสูตร
ว่าด้วยมาคธเทพบุตร
[๘๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
มาคธเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
โลกรุ่งเรืองเพราะแสงสว่างเหล่าใด
แสงสว่างเหล่านั้นมีอยู่เท่าไรในโลก
พวกข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่าจะรู้แสงสว่างนั้นได้อย่างไร๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ในโลกมีแสงสว่างอยู่ ๔ อย่าง
อย่างที่ ๕ ไม่มีในโลกนี้ คือ
(๑) ดวงอาทิตย์ส่องสว่างในกลางวัน
(๒) ดวงจันทร์ส่องสว่างในกลางคืน
(๓) ไฟส่องสว่างทั้งกลางวันและกลางคืนทุกหนทุกแห่ง
(๔) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย
แสงสว่างนี้เป็นแสงสว่างอย่างยอดเยี่ยม๓
มาคธสูตรที่ ๔ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. ทามลิสูตร

๕. ทามลิสูตร
ว่าด้วยทามลิเทพบุตร
[๘๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ทามลิเทพบุตรมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
พราหมณ์ผู้ไม่เกียจคร้านพึงทำความเพียรนี้
เพราะละกามทั้งหลายได้ (และ) เพราะความเพียรนั้น
เขาจึงไม่หวังภพ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ทามลิเทพบุตร กิจไม่มีแก่พราหมณ์๑
เพราะพราหมณ์ทำกิจเสร็จแล้ว
ตราบใดบุคคลยังไม่ได้ท่าจอดในแม่น้ำทั้งหลาย
ตราบนั้นเขายังต้องเพียรด้วยตัวเองทุกอย่าง
แต่เมื่อได้ท่าจอดแล้ว ยืนอยู่บนบก
เขาเป็นผู้ถึงฝั่งแล้วจึงไม่ต้องเพียรอีก
ทามลิเทพบุตร นี้เป็นข้ออุปมาสำหรับพราหมณ์
ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้มีปัญญาเครื่องบริหาร ผู้มีฌาน
เพราะเขาถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะ
เป็นผู้ถึงฝั่งแล้วจึงไม่ต้องเพียร
ทามลิสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๖. กามทสูตร

๖. กามทสูตร
ว่าด้วยกามทเทพบุตร
[๘๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
กามทเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมบำเพ็ญได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรม
บำเพ็ญได้ยากยิ่ง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทเทพบุตร ชนทั้งหลายผู้ตั้งมั่นในศีล
ของพระเสขะ ผู้ตั้งตนไว้มั่นคงแล้ว
ย่อมบำเพ็ญสมณธรรมที่บำเพ็ญได้ยาก
ความสันโดษ๑ย่อมนำความสุขมาให้
แก่บุคคลผู้ออกจากเรือนบวช
กามทเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
สิ่งที่ได้ยากนี้ คือ ความสันโดษ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทเทพบุตร ชนเหล่าใด
ยินดีในความสงบทางใจ
มีใจยินดีในการอบรมจิตทั้งกลางวันและกลางคืน
ชนเหล่านั้นย่อมได้แม้สิ่งที่ได้ยาก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๖. กามทสูตร
กามทเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
สิ่งที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทเทพบุตร ชนเหล่าใด
ยินดีในความสงบแห่งอินทรีย์
ชนเหล่านั้นย่อมตั้งจิตที่ตั้งมั่นได้ยากให้ตั้งมั่นได้
กามทเทพบุตร พระอริยะเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุได้แล้ว
กามทเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ทางที่ไปได้ยาก คือ ทางที่ไม่สม่ำเสมอ๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทเทพบุตร อริยบุคคลทั้งหลาย
ย่อมไปได้แม้ในทางที่ไปได้ยาก ซึ่งเป็นทางที่ไม่สม่ำเสมอ
ส่วนผู้ไม่ใช่อริยบุคคลย่อมดิ่งศีรษะ
ตกลงไปในทางที่ไม่สม่ำเสมอ
ทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยบุคคลทั้งหลาย
เพราะอริยบุคคลทั้งหลาย เป็นผู้สม่ำเสมอในทางที่ไม่สม่ำเสมอ
กามทสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๘. ตายนสูตร

๗. ปัญจาลจัณฑสูตร
ว่าด้วยปัญจาลจัณฑเทพบุตร
[๘๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ปัญจาลจัณฑเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคว่า
แม้ในที่คับขัน๑ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดินก็ยังได้โอกาส๒
ผู้ใดบรรลุฌาน ผู้นั้นเป็นผู้ตื่น
เป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจ เป็นมุนี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (ปัญจาลจัณฑะ)
ชนเหล่าใดแม้อยู่ในที่คับขัน
แต่กลับได้สติเพื่อการบรรลุธรรม คือ นิพพาน
ชนเหล่านั้นตั้งมั่นดีแล้วโดยชอบ
ปัญจาลจัณฑสูตรที่ ๗ จบ

๘. ตายนสูตร
ว่าด้วยตายนเทพบุตร
[๘๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ตายนเทพบุตรผู้เคยเป็นเจ้าลัทธิมาก่อน มีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๘. ตายนสูตร
พราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแส๑
จงบรรเทากามเสียเถิด
เพราะหากมุนีไม่ละกาม
ย่อมเข้าถึงความมีจิตแน่วแน่๒ไม่ได้
ถ้าบุคคลจะทำความเพียร
พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ
พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่นคง
เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน
ย่อมโปรยธุลีคือกิเลสให้แปดเปื้อนยิ่งขึ้น
ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะทำแล้วย่อมเดือดร้อนภายหลัง
ความดีใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง
ทำความดีนั้นดีกว่า
หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี
ย่อมบาดมือแน่นอน ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง ๓ นั้นไม่มีผลมาก๓
ตายนเทพบุตรครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๘. ตายนสูตร
ครั้นเมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ ตายนเทพบุตรผู้เคยเป็นเจ้าลัทธิมาก่อน มีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เมื่อราตรีผ่านไป เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของเราว่า
พราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแส
จงบรรเทากามเสียเถิด
เพราะหากมุนีไม่ละกาม
ย่อมเข้าถึงความมีจิตแน่วแน่ไม่ได้
ถ้าบุคคลจะทำความเพียร
พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ
พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่นคง
เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน
ย่อมโปรยธุลีคือกิเลสให้แปดเปื้อนยิ่งขึ้น
ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะทำแล้วย่อมเดือดร้อนภายหลัง
ความดีใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง
ทำความดีนั้นดีกว่า
หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี
ย่อมบาดมือแน่นอน ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง ๓ นั้นไม่มีผลมาก
ตายนเทพบุตรครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้อภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วหาย
ตัวไป ณ ที่นั้นเอง เธอทั้งหลาย จงศึกษา เล่าเรียน ทรงจำตายนคาถาไว้ ภิกษุ
ทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์๑”
ตายนสูตรที่ ๘ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๙. จันทิมสูตร

๙. จันทิมสูตร
ว่าด้วยจันทิมเทพบุตร
[๙๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น จันทิมเทพบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับตัวไว้ ครั้งนั้น จันทิมเทพบุตร
ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
ข้าพระองค์ตกอยู่ในภาวะคับขัน
ขอพระองค์จงเป็นสรณะแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภจันทิมเทพบุตร ได้ตรัสกับอสุรินทราหู
ด้วยพระคาถาว่า
จันทิมเทพบุตรถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์เป็นสรณะ
ราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทพบุตรเสียเถิด
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก
ลำดับนั้น อสุรินทราหูปล่อยจันทิมเทพบุตรแล้ว ก็เร่งรีบเข้าไปหาท้าวเวปจิตติ
จอมอสูรถึงที่อยู่ เป็นผู้เศร้าสลดใจ เกิดขนพองสยองเกล้า ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวกับอสุรินทราหูผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ด้วยคาถาว่า
ราหู ทำไมท่านจึงรีบปล่อยจันทิมเทพบุตรเสียเล่า
ทำไมท่านจึงเศร้าสลดใจ มายืนกลัวอยู่เล่า
อสุรินทราหูกล่าวว่า
ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า
หากข้าพเจ้าไม่ปล่อยจันทิมเทพบุตร
ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตก ๗ เสี่ยง
มีชีวิตอยู่ก็จะไม่ได้รับความสุขเลย
จันทิมสูตรที่ ๙ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑๐. สุริยสูตร

๑๐. สุริยสูตร
ว่าด้วยสุริยเทพบุตร
[๙๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น สุริยเทพบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับตัวไว้ ครั้งนั้น สุริยเทพบุตรระลึกถึง
พระผู้มีพระภาค ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
ข้าพระองค์ตกอยู่ในภาวะคับขัน
ขอพระองค์จงเป็นสรณะแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภสุริยเทพบุตร ได้ตรัสกับอสุรินทราหู
ด้วยพระคาถาว่า
สุริยเทพบุตรถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์เป็นสรณะ
ราหู ท่านจงปล่อยสุริยเทพบุตรเสียเถิด
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก
สุริยเทพบุตรเป็นผู้ส่องแสง ทำความสว่างในที่มืดมิด
มีสัณฐานเป็นวงกลม มีเดชสูง
ท่านอย่าอมสุริยเทพบุตรผู้เที่ยวไปในอากาศเลย
ราหู ท่านจงปล่อยสุริยเทพบุตรผู้เป็นบุตรของเราเสียเถิด
ลำดับนั้น อสุรินทราหูปล่อยสุริยเทพบุตรแล้วก็เร่งรีบเข้าไปหาท้าวเวปจิตติ
จอมอสูรถึงที่อยู่ เป็นผู้เศร้าสลดใจ เกิดขนพองสยองเกล้า ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวกับอสุรินทราหูผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ด้วยคาถาว่า
ราหู ทำไมท่านจึงรีบปล่อยสุริยเทพบุตรเสียเล่า
ทำไมท่านจึงเศร้าสลดใจ มายืนกลัวอยู่เล่า
อสุรินทราหูกล่าวว่า
ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า
หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยสุริยเทพบุตร
ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตก ๗ เสี่ยง
มีชีวิตอยู่ก็จะไม่ได้รับความสุขเลย๑
สุริยสูตรที่ ๑๐ จบ
วรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมกัสสปสูตร ๒. ทุติยกัสสปสูตร
๓. มาฆสูตร ๔. มาคธสูตร
๕. ทามลิสูตร ๖. กามทสูตร
๗. ปัญจาลจัณฑสูตร ๘. ตายนสูตร
๙. จันทิมสูตร ๑๐. สุริยสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๑. จันทิมสสูตร

๒. อนาถปิณฑิกวรรค
หมวดว่าด้วยอนาถบิณฑิกเทพบุตร
๑. จันทิมสสูตร
ว่าด้วยจันทิมสเทพบุตร
[๙๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป จันทิมสเทพบุตรมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ชนเหล่าใดบรรลุฌาน
มีจิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีปัญญา มีสติ
ชนเหล่านั้นจักถึงความสวัสดี
ดุจเนื้อทรายในซอกเขาที่ปราศจากริ้นและยุง ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดบรรลุฌาน
ไม่ประมาท ละกิเลสได้
ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่ง
ดุจปลาทำลายข่ายได้แล้วว่ายไป ฉะนั้น
จันทิมสสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒.อนาถปิณฑิกวรรค ๓. ทีฆลัฏฐิสูตร

๒. เวณฑุสูตร
ว่าด้วยเวณฑุเทพบุตร
[๙๓] เวณฑุเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคว่า
ชนเหล่าใดนั่งใกล้พระสุคต
มอบตนไว้ในศาสนาของพระโคดม
ไม่ประมาท ตามศึกษาอยู่
ชนเหล่านั้นถึงความสุขแล้วจริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (เวณฑุ)
ชนเหล่าใดเป็นผู้เพ่งพินิจ
ตามศึกษาในบทคำสอนที่เรากล่าวไว้แล้ว
ชนเหล่านั้นไม่ประมาทตลอดเวลา
ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งมัจจุ
เวณฑุสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทีฆลัฏฐิสูตร
ว่าด้วยทีฆลัฏฐิเทพบุตร
[๙๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ทีฆลัฏฐิเทพบุตรมีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเวฬุวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๔. นันทนสูตร
ถ้าภิกษุหวังการบรรลุธรรมที่เป็นหัวใจ
มีธรรมที่เป็นหัวใจเป็นอานิสงส์
เธอพึงเป็นผู้มีฌาน มีจิตหลุดพ้น
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งโลก
มีใจดี ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย๑
ทีฆลัฏฐิสูตรที่ ๓ จบ

๔. นันทนสูตร
ว่าด้วยนันทนเทพบุตร
[๙๕] นันทนเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พระโคดม ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ถึงญาณทัสสนะ๒
อันไม่มีสิ่งใดขวางกั้นของพระผู้มีพระภาค
บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคล
ประเภทใดว่าเป็นผู้มีศีล
ประเภทใดว่าเป็นผู้มีปัญญา
บุคคลประเภทใดล่วงทุกข์ได้
เทวดาทั้งหลายบูชาบุคคลประเภทใด

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๕. จันทนสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลใดมีศีล มีปัญญา อบรมตนดีแล้ว
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
ละความเศร้าโศกได้หมดสิ้น สิ้นอาสวะแล้ว
เหลือไว้แต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลประเภทนั้นว่า
เป็นผู้มีศีล เป็นผู้มีปัญญา
บุคคลประเภทนั้นล่วงทุกข์ได้แล้ว
เทวดาทั้งหลายบูชาบุคคลประเภทนั้น
นันทนสูตรที่ ๔ จบ

๕. จันทนสูตร
ว่าด้วยจันทนเทพบุตร
[๙๖] จันทนเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ด้วยคาถาว่า
บุคคลผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
จะข้ามโอฆะได้อย่างไร
ใครไม่จมในห้วงน้ำลึกซึ่งไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญา
มีจิตตั้งมั่นดี ปรารภความเพียร
อุทิศกายและใจตลอดกาลทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๖. วาสุทัตตสูตร
ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก
เขาเว้นขาดแล้วจากกามสัญญา๑ล่วงรูปสังโยชน์ได้๒
มีความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลินสิ้นแล้ว
ย่อมไม่จมในห้วงน้ำลึก
จันทนสูตรที่ ๕ จบ

๖. วาสุทัตตสูตร
ว่าด้วยวาสุทัตตเทพบุตร
[๙๗] วาสุทัตตเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงอยู่อย่างมีสติ เพื่อละกามราคะ
เหมือนบุคคลถูกแทงด้วยหอก มุ่งถอนหอกออก
เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้อยู่บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุพึงอยู่อย่างมีสติ เพื่อละสักกายทิฏฐิ
เหมือนบุคคลถูกแทงด้วยหอก มุ่งถอนหอกออก
เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้อยู่บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น๓
วาสุทัตตสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๘. กกุธสูตร

๗. สุพรหมสูตร
ว่าด้วยสุพรหมเทพบุตร
[๙๘] สุพรหมเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ด้วยคาถานี้ว่า
จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์
เมื่อกิจทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้นก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็ดี
ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่
พระองค์ผู้ที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นอกจากปัญญาเครื่องตรัสรู้ ความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความสำรวมอินทรีย์ และการสละทุกสิ่งทุกอย่าง
เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลายเลย
สุพรหมเทพบุตรได้กราบทูลดังนี้แล้ว ฯลฯ หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
สุพรหมสูตรที่ ๗ จบ

๘. กกุธสูตร
ว่าด้วยกกุธเทพบุตร
[๙๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระอัญชนวัน สถานที่พระราชทาน
อภัยแก่หมู่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป กกุธเทพบุตรมีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระอัญชนวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระสมณะ พระองค์ทรงยินดีอยู่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๘. กกุธสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อาวุโส เราได้อะไรเล่า”
“ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้น พระองค์ทรงเศร้าโศกอยู่หรือ”
“อาวุโส เราเสื่อมเสียอะไรเล่า”
“ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้น พระองค์ไม่ทรงยินดีเลย ไม่ทรงเศร้าโศกเลยหรือ”
“เป็นเช่นนั้น อาวุโส”
กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นภิกษุ
พระองค์ไม่ทรงมีความทุกข์บ้างหรือ
ไม่ทรงมีความเพลิดเพลินบ้างหรือ
ความไม่ยินดีไม่ครอบงำพระองค์ผู้อยู่ผู้เดียวหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ยักษ์ เราไม่มีความทุกข์และความเพลิดเพลิน
อนึ่ง ความไม่ยินดีก็ไม่ครอบงำเราผู้อยู่ผู้เดียว
กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นภิกษุ
ทำไมพระองค์จึงไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเพลิดเพลิน
ทำไมความไม่ยินดีจึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้อยู่ผู้เดียว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้มีความทุกข์เท่านั้นจึงมีความเพลิดเพลิน
ผู้มีความเพลิดเพลินเท่านั้นจึงมีความทุกข์
(ส่วน)ภิกษุเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน เป็นผู้ไม่มีความทุกข์
ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด อาวุโส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๙. อุตตรสูตร
กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า
นานจริงหนอ ข้าพระองค์จึงจะพบเห็นภิกษุ
ผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ดับสนิทแล้ว ไม่มีความเพลิดเพลิน
ไม่มีความทุกข์ ผู้ข้ามพ้นเครื่องข้องในโลกได้แล้ว
กกุธสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุตตรสูตร
ว่าด้วยอุตตรเทพบุตร
[๑๐๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงราชคฤห์
อุตตรเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
ชีวิตถูกชรานำเข้าไป อายุจึงสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว ไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชีวิตถูกชรานำเข้าไป อายุจึงสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว ไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติเถิด๒
อุตตรสูตรที่ ๙ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร

๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยอนาถบิณฑิกเทพบุตร
[๑๐๑] อนาถบิณฑิกเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
พระเชตวันนี้นั้นมีหมู่ฤาษีพำนักอยู่
พระผู้เป็นธรรมราชาก็ประทับอยู่
เป็นสถานที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์
การงาน ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันสูงสุด ๑
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ ประการนี้
หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่
เพราะเหตุนั้นแหละ คนฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ตน
ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายเถิด
เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น
พระสารีบุตรเท่านั้นเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ถึงฝั่ง
ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ๑
อนาถบิณฑิกเทพบุตรได้กราบทูลดังนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้เทพบุตรองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เมื่อราตรี
ผ่านไป เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทเราแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของเราว่า
พระเชตวันนี้นั้นมีหมู่ฤาษีพำนักอยู่
พระผู้เป็นธรรมราชาก็ประทับอยู่
เป็นสถานที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
การงาน ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันสูงสุด ๑
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ ประการนี้
หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่
เพราะเหตุนั้นแหละ คนฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ตน
ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายเถิด
เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น
พระสารีบุตรเท่านั้นเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ถึงฝั่ง
ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ
ภิกษุทั้งหลาย เทพบุตรนั้นได้กล่าวดังนี้ อภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้ว
หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทพบุตรนั้นเห็นจะเป็นอนาถบิณฑิก-
เทพบุตรแน่นอน อนาถบิณฑิกคหบดีได้เลื่อมใสยิ่งนักในท่านพระสารีบุตร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ เธอคิดถูกแล้ว เทพบุตรนั้น
คืออนาถบิณฑิกเศรษฐีนั่นเอง”
อนาถปิณฑิกสูตรที่ ๑๐ จบ
อนาถปิณฑิกวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จันทิมสสูตร ๒. เวณฑุสูตร
๓. ทีฆลัฏฐิสูตร ๔. นันทนสูตร
๕. จันทนสูตร ๖. วาสุทัตตสูตร
๗. สุพรหมสูตร ๘. กกุธสูตร
๙. อุตตรสูตร ๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๑. สิวสูตร

๓. นานาติตถิยวรรค
หมวดว่าด้วยเทพบุตรผู้เป็นสาวกของเดียรถีย์ต่าง ๆ
๑. สิวสูตร
ว่าด้วยสิวเทพบุตร
[๑๐๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป สิวเทพบุตรมีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมเป็นผู้ประเสริฐ ไม่เป็นผู้ตกต่ำ
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้วย่อมได้ปัญญา
หาได้ปัญญาจากคนอันธพาลอื่นไม่
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกในท่ามกลางคนผู้เศร้าโศก
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมรุ่งเรืองในท่ามกลางแห่งญาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๒. เขมสูตร
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมไปสู่สุคติ
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมดำรงอยู่ได้ตลอดไป๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบสิวเทพบุตรด้วยคาถาว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง๒
สิวสูตรที่ ๑ จบ

๒. เขมสูตร
ว่าด้วยเขมเทพบุตร
[๑๐๓] เขมเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคว่า
คนพาลผู้มีปัญญาทรามประพฤติตนเป็นเหมือนศัตรู
ย่อมทำกรรมอันลามกซึ่งให้ผลเผ็ดร้อน
บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
และมีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ได้รับผลกรรมใด
กรรมที่ทำแล้วนั้นเป็นกรรมไม่ดี

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๓. เสรีสูตร
บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบานได้รับผลกรรมใด
กรรมที่ทำแล้วนั้นเป็นกรรมดี
บุคคลรู้ว่ากรรมใดเป็นประโยชน์แก่ตน
ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทันที
อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์เจ้าความคิด
ด้วยความคิดอย่างพ่อค้าเกวียนเลย
พ่อค้าเกวียนเลี่ยงหนทางสายใหญ่ที่ไม่ขรุขระ
ใช้หนทางที่ขรุขระ จนเพลาเกวียนหัก ซบเซาอยู่ ฉันใด
บุคคลหลีกจากธรรม ประพฤติตามอธรรม ก็ฉันนั้น
เป็นคนเขลา ดำเนินไปสู่ทางแห่งความตาย ซบเซาอยู่
เหมือนพ่อค้าเกวียนมีเพลาเกวียนหักแล้ว ฉะนั้น
เขมสูตรที่ ๒ จบ

๓. เสรีสูตร
ว่าด้วยเสรีเทพบุตร
[๑๐๔] เสรีเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคด้วยคาถาว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก
ต่างก็พอใจข้าวด้วยกันทั้งนั้น
ส่วนผู้ที่ไม่พอใจข้าว ชื่อว่ายักษ์โดยแท้๑

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๓. เสรีสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใสให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา
ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่
ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
เสรีเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า
ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใส ให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา
ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่
ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
มีนามว่าเสรี เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน ข้าพระองค์ได้
ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลาย
ที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน ครั้นต่อมาพวกฝ่ายในพากันเข้าไปหาข้าพระองค์แล้ว ได้กล่าว
ดังนี้ว่า ‘พระองค์ทรงให้ทาน แต่พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทานเลย เป็นการชอบที่พวก
หม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์
ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน
เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบ
ประตูด้านที่ ๑ ให้พวกฝ่ายในไป พวกฝ่ายในก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น ทานของ
ข้าพระองค์จึงลดไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมาพวกกษัตริย์พากันเข้าไปหาข้าพระองค์ได้
ตรัสดังนี้ว่า ‘พระองค์ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทาน
เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๓. เสรีสูตร
บ้าง’ ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชม
คุณแห่งทาน เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์
จึงมอบประตูด้านที่ ๒ ให้แก่พวกกษัตริย์ไป พวกกษัตริย์ก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น
ทานของข้าพระองค์จึงลดไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมาพวกพลกาย(ข้าราชการฝ่ายทหาร) เข้าไป
หาข้าพระองค์ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘พระองค์ก็ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวก
กษัตริย์ก็ทรงให้ทาน พวกหม่อมฉันมิได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้
อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน เมื่อมีผู้พูดว่า
‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบประตูด้านที่ ๓ ให้พวก
พลกายไป พวกพลกายก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น ทานของข้าพระองค์จึงลดไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมามีพวกพราหมณคหบดีเข้าไปหาข้าพระองค์
ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘พระองค์ก็ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวกกษัตริย์ก็ทรง
ให้ทาน พวกพลกายก็ให้ทาน แต่พวกหม่อมฉันมิได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวก
หม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์
ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน’
เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบประตู
ด้านที่ ๔ ให้พวกพราหมณคหบดีไป พวกพราหมณคหบดีก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น
ทานของข้าพระองค์จึงลดไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกบุรุษทั้งหลายต่างพากันไปหาข้าพระองค์ ได้กล่าว
ดังนี้ว่า ‘บัดนี้พระองค์จะไม่ทรงให้ทานในที่ไหน ๆ อีกหรือ’ เมื่อเขากล่าวอย่างนี้
ข้าพระองค์ได้กล่าวกับบุรุษเหล่านั้นดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ในชนบท
ภายนอก ที่ใดมีรายได้ดีเกิดขึ้น พวกท่านจงรวบรวมส่งเข้าไปในวังกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่ง
พวกท่านจงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจก
ทั้งหลายในชนบทนั้นเถิด’ ข้าพระองค์จึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญที่ได้ทำไว้ตลอดกาลนาน
อย่างนี้ (ที่สุด)แห่งกุศลธรรมที่ได้ทำไว้ตลอดกาลนานอย่างนี้ว่า ‘บุญเท่านี้(พอแล้ว)’
ว่า ‘ผลของบุญเท่านี้(พอแล้ว)’ หรือว่า ‘บุญเท่านี้(พอแล้ว)ที่เราพึงดำรงอยู่ในสวรรค์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๔. ฆฏิการสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า
ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใส ให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา
ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่
ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า”
เสรีสูตรที่ ๓ จบ

๔. ฆฏิการสูตร
ว่าด้วยฆฏิการเทพบุตร
[๑๐๕] ฆฏิการเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุ ๗ รูป ผู้บังเกิดในพรหมโลกชั้นอวิหา
เป็นผู้หลุดพ้น สิ้นราคะและโทสะแล้ว
ข้ามพ้นตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุเหล่านั้น คือใครบ้าง
ได้ข้ามพ้นเปือกตม คือบ่วงความตาย
ที่ใคร ๆ ข้ามได้แสนยาก
ละทิ้งกายมนุษย์แล้วก้าวล่วงโยคะอันเป็นทิพย์ได้
ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า
ภิกษุ ๓ รูปเหล่านี้ คือ ท่านอุปกะ
ท่านผลคัณฑะ และท่านปุกกุสาติ
ภิกษุอีก ๔ รูป คือ ท่านภัททิยะ ท่านขัณฑเทวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๔. ฆฏิการสูตร
ท่านพหุทันตี และท่านสิงคิยะ
ภิกษุเหล่านั้นละทิ้งกายมนุษย์แล้ว
ก้าวล่วงโยคะอันเป็นทิพย์ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านผู้ฉลาดมักกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น
ผู้ละบ่วงมารได้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นรู้ธรรมของใครเล่า
จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
ฆฏิการเทพบุตรทูลตอบว่า
ท่านเหล่านั้นรู้ธรรมของผู้ใด
จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
ผู้นั้นมิใช่ใครอื่นนอกจากพระผู้มีพระภาค
(และ) นอกจากคำสั่งสอนของพระองค์
ท่านเหล่านั้นรู้ธรรมเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งนามรูปแล้ว
จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านกล่าววาจาลึกซึ้ง
ที่รู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก
ท่านรู้ธรรมของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้
ฆฏิการเทพบุตรทูลตอบว่า
เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ
ปั้นหม้ออยู่ในแคว้นเวภฬิงคะ เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดา
เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๔. ฆฏิการสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีอามิส
ได้เคยเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับพระองค์
ทั้งเคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลก่อน
ข้าพระองค์รู้จักภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้
ผู้หลุดพ้นแล้ว สิ้นราคะและโทสะแล้ว
ข้ามพ้นตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นายช่างหม้อ จริงอย่างที่ท่านพูดนั่นแหละ
เมื่อก่อนนั้นท่านเคยเป็นช่างหม้อ
ปั้นหม้ออยู่ในแคว้นเวภฬิงคะ เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดา
เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม
ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีอามิส
ได้เคยเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับเรา
ทั้งเคยเป็นสหายของเราในกาลก่อน
พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า
สหายเก่าทั้งสอง ผู้เคยอบรมตนมาแล้ว
เหลือไว้แต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้๑
ฆฏิการสูตรที่ ๔ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๕. ชันตุสูตร

๕. ชันตุสูตร
ว่าด้วยชันตุเทพบุตร
[๑๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมากอยู่ในกุฎีป่า ข้างภูเขาหิมพานต์ แคว้นโกศล เป็นผู้
ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ
มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์
ครั้นในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ชันตุเทพบุตรเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับภิกษุเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า
ในกาลก่อน พวกภิกษุสาวกของพระโคดม
เป็นอยู่เรียบง่าย ไม่มักมากการแสวงหาบิณฑบาต
ไม่มักมากที่นอนที่นั่ง
ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลกเป็นของไม่เที่ยง
จึงกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ส่วนท่านเหล่านี้ ทำตนเป็นคนเลี้ยงยาก
กิน ๆ แล้วก็นอนเหมือนคนที่โกงชาวบ้าน
หมกมุ่นอยู่ในเรือนของคนอื่น
ข้าพเจ้าทำอัญชลีต่อสงฆ์แล้ว
ขอพูดกับท่านบางพวกในที่นี้ว่า
พวกท่านถูกเขาทอดทิ้งแล้ว เป็นคนอนาถาเหมือนเปรต
ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอาบุคคลพวกที่ประมาทอยู่
ส่วนท่านเหล่าใดไม่ประมาท
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่านเหล่านั้น๑
ชันตุสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๖. โรหิตัสสสูตร

๖. โรหิตัสสสูตร
ว่าด้วยโรหิตัสสเทพบุตร
[๑๐๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
โรหิตัสสเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถหรือหนอที่จะทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรง
ถึงที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติด้วยการไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุด
แห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’
ด้วยการไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ
เป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้านเปรียบได้กับนายขมังธนู มีฤทธิ์ เหาะได้ ความเร็วของ
ข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับนายขมังธนู ผู้ยิงธนูแม่นยำ ศึกษามาดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ
ช่ำชอง ฝึกซ้อมมาดี พึงยิงลูกศรเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่ยาก ฉะนั้น
การย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์เปรียบได้กับระยะทางจากทะเลด้านตะวันออก
ถึงทะเลด้านตะวันตก ฉะนั้น ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เราจักถึงที่สุดแห่งโลก
ด้วยการไป’ เกิดแก่ข้าพระองค์นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นเพียบพร้อม
ด้วยความเร็วและการย่างเท้าอย่างนี้ เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การหลับ และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย มีอายุ
๑๐๐ ปี ดำรงชีพอยู่ได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ดำเนินไปได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ก็ตายเสียก่อนในระหว่างทาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๖. โรหิตัสสสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป เราไม่
กล่าวว่า การที่บุคคลยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อนึ่ง เราบัญญัติโลก๑ ความเกิดแห่งโลก๒ ความดับแห่งโลก๓ และข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงความดับแห่งโลก๔ ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง
ไม่ว่าเวลาไหน ที่สุดแห่งโลก
ใครก็ถึงไม่ได้ด้วยการไป
และเมื่อยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่มีการเปลื้องตนจากทุกข์
เพราะเหตุนั้นแล ผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี
ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์
สงบระงับ รู้ที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้า๕”
โรหิตัสสสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๘. นันทิวิสาลสูตร

๗. นันทสูตร
ว่าด้วยนันทเทพบุตร
[๑๐๘] นันทเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคว่า
กาลล่วงเลยไป คืนผ่านพ้นไป
ช่วงแห่งวัยละไปตามลำดับ
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กาลล่วงเลยไป คืนผ่านพ้นไป
ช่วงแห่งวัยละไปตามลำดับ
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติเถิด๑
นันทสูตรที่ ๗ จบ

๘. นันทิวิสาลสูตร
ว่าด้วยนันทิวิสาลเทพบุตร
[๑๐๙] นันทิวิสาลเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า สรีรยนต์ ๔ ล้อ๒
มีประตู ๙ ประตู เต็มไปด้วยของไม่สะอาด

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๙. สุสิมสูตร
ถูกโลภะประกอบไว้ เป็นเหมือนเปือกตม
สรีรยนต์นั้นจักแล่นไปได้อย่างไร๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เพราะตัดชะเนาะ เชือกหนัง
ตัดความปรารถนาและความโลภอันเลวทราม
และเพราะถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้
สรีรยนต์นั้นจักแล่นไปได้อย่างนี้๒
นันทิวิสาลสูตรที่ ๘ จบ

๙. สุสิมสูตร
ว่าด้วยสุสิมเทพบุตร
[๑๑๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
เธอชอบสารีบุตรหรือไม่”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล
ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตร เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญา
หนาแน่น มีปัญญาร่าเริง มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาชำแรก
กิเลส มักน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เข้าใจพูด
อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้ทักท้วง ตำหนิคนทำชั่ว ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คน
มุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร”

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๙. สุสิมสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส
จะไม่ชอบสารีบุตร อานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น
มีปัญญาร่าเริง มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาชำแรกกิเลส มักน้อย
สันโดษ เป็นผู้สงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ
เป็นผู้ทักท้วง ตำหนิคนทำชั่ว ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย
ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร”
ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคและท่านพระอานนท์ กำลังกล่าวสรรเสริญคุณ
ของท่านพระสารีบุตรอยู่ สุสิมเทพบุตรผู้มีเทพบุตรบริษัทจำนวนมากแวดล้อมแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคตเจ้า
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คน
มีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ฯลฯ ตำหนิ
คนทำชั่ว ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส
จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร
เพราะว่าข้าพระองค์เข้าไปหาเทพบุตรบริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียง(พูด)อย่างหนาหู
ว่า “ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น มีปัญญาร่าเริง
มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาชำแรกกิเลส มักน้อย สันโดษ เป็นผู้
สงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้ทักท้วง
ตำหนิคนทำชั่ว ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมี
จิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร”
ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร เมื่อสุสิมเทพบุตรกำลังกล่าว
สรรเสริญคุณของท่านพระสารีบุตรอยู่ ต่างปลื้มปีติเบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัส
มีรัศมีวรรณะเปล่งปลั่งปรากฏอยู่ ดุจแก้วมณีและแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ
ถูกนายช่างเจียระไนดีแล้ว แปดเหลี่ยม วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ส่องแสง
แพรวพราวสุกสกาวอยู่ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๙. สุสิมสูตร
เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร เมื่อสุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณ
ของท่านพระสารีบุตรอยู่ ต่างปลื้มปีติเบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีวรรณะ
เปล่งปลั่งปรากฏอยู่ ดุจทองแท่งชมพูนุท๑เป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันใส่เบ้า
หลอมไล่มลทิน จนสิ้นราคีแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ส่องแสงแพรวพราว
สุกสกาวอยู่ ฉะนั้น
เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ฯลฯ มีรัศมีวรรณะเปล่งปลั่งปรากฏอยู่
ดุจดาวศุกร์ เมื่ออากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆในฤดูสารทกาล ส่องแสง
แพรวพราวสุกสกาวอยู่ในเวลาใกล้รุ่ง ฉะนั้น
เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร เมื่อสุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณ
ของท่านพระสารีบุตรอยู่ ต่างปลื้มปีติเบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีวรรณะ
เปล่งปลั่งปรากฏอยู่ ดุจดวงอาทิตย์ เมื่ออากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆในฤดู
สารทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ส่องแสง
แพรวพราวสุกสกาวอยู่ ฉะนั้น
ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภ
ท่านพระสารีบุตรว่า
ท่านพระสารีบุตร ใคร ๆ ก็รู้จักดีว่าเป็นบัณฑิต
ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความมักน้อย สงบเสงี่ยม
ฝึกแล้ว มีคุณงามความดี อันพระศาสดาทรงสรรเสริญ
เป็นผู้แสวงหาคุณอันยิ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาตอบสุสิมเทพบุตร ปรารภท่านพระสารีบุตรว่า
สารีบุตร ใคร ๆ ก็รู้จักดีว่าเป็นบัณฑิต
ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความมักน้อย สงบเสงี่ยม
ฝึกฝนอบรมดีแล้ว รอเวลาอยู่๒
สุสิมสูตรที่ ๙ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร

๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร
ว่าด้วยเทพบุตรผู้เป็นสาวกของเดียรถีย์ต่าง ๆ
[๑๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อ
กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทพบุตรผู้เป็นสาวกของ
เดียรถีย์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก คือ อสมเทพบุตร สหลีเทพบุตร นิกเทพบุตร
อาโกฏกเทพบุตร เวฏัมพรีเทพบุตร มาณวคามิยเทพบุตร มีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเวฬุวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
อสมเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาค ปรารภปูรณะ กัสสปะว่า
ท่านปูรณะ กัสสปะมองไม่เห็นบาปหรือบุญของตน
ในเพราะการตัด การฆ่า การโบย การเสื่อมทรัพย์
ท่านจึงบอกให้เบาใจเสีย
สมควรที่จะยกย่องท่านว่าเป็นศาสดาในโลกนี้
ลำดับนั้น สหลีเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภ
มักขลิ โคศาลต่อไปว่า
ท่านมักขลิ โคศาล สำรวมตนดีแล้ว
ด้วยการกีดกันบาปด้วยตบะ
ละวาจาที่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน
เป็นผู้สม่ำเสมอ งดเว้นจากสิ่งที่มีโทษ
พูดจริง เป็นผู้คงที่ ไม่ทำบาปแน่นอน
ลำดับนั้น นิกเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภ
นิครนถ์ นาฏบุตรต่อไปว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร
ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นผู้กีดกันบาป
มีปัญญาเครื่องบริหาร เห็นภัยในสังสารวัฏ
เป็นผู้ระมัดระวังทั้ง ๔ ยาม๑
เปิดเผยสิ่งที่ตนเห็นแล้วและฟังแล้ว
เป็นผู้ไม่หยาบช้าแน่นอน
ลำดับนั้น อาโกฏกเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ปรารภพวกเดียรถีย์ต่าง ๆ ต่อไปอีกว่า
ท่านปกุธะ กัจจายนะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
ท่านมักขลิ โคศาล และท่านปูรณะ กัสสปะเหล่านี้
ล้วนแต่เป็นครูของหมู่คณะ บรรลุความเป็นสมณะ๒
ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ไกลจากสัตบุรุษแน่นอน
ลำดับนั้น เวฏัมพรีเทพบุตรได้กล่าวตอบอาโกฏกเทพบุตรด้วยคาถาว่า
ในกาลไหน ๆ สุนัขจิ้งจอกสัตว์เล็ก ๆ ชั้นเลว
จะแสดงจริตกริยาให้เสมอราชสีห์ไม่ได้เลย
ครูของหมู่คณะเป็นคนเปลือย มักพูดคำเท็จ
มีพฤติกรรมน่าระแวงสงสัย จะเทียบกับสัตบุรุษไม่ได้เลย
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าสิงเวฏัมพรีเทพบุตรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์เหล่าใดประกอบด้วยการกีดกันบาปด้วยตบะ
รักษาความสงบสงัด ติดอยู่ในรูป เพลิดเพลินในเทวโลก
สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าสั่งสอนโดยชอบเพื่อปรโลกโดยแท้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงได้ตรัสตอบ
มารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
รูปใด ๆ จะอยู่ในโลกนี้หรือโลกหน้า
และแม้จะอยู่ในอากาศ มีรัศมีรุ่งเรืองก็ตามที
นมุจิมาร รูปทั้งหมดนั้นท่านก็สรรเสริญแล้ววางดักไว้
เหมือนบุคคลใช้เหยื่อล่อฆ่าปลา ฉะนั้น
ลำดับนั้น มาณวคามิยเทพบุตรได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ปรารภพระผู้มีพระภาคว่า
คนพูดกันว่า บรรดาภูเขาในกรุงราชคฤห์
ภูเขาวิปุละเยี่ยมที่สุด
บรรดาภูเขาที่ตั้งอยู่ในป่าหิมพานต์ ภูเขาเสตบรรพตเยี่ยมที่สุด
บรรดาสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ ดวงอาทิตย์เยี่ยมที่สุด
บรรดาห้วงน้ำทั้งหลาย สมุทรเยี่ยมที่สุด
บรรดาดวงดาวทั้งหลาย ดวงจันทร์เยี่ยมที่สุด
บัณฑิตกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเลิศกว่ามนุษย์และเทวดา
นานาติตถิยสาวกสูตรที่ ๑๐ จบ
นานาติตถิยวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สิวสูตร ๒. เขมสูตร
๓. เสรีสูตร ๔. ฆฏิการสูตร
๕. ชันตุสูตร ๖. โรหิตัสสสูตร
๗. นันทสูตร ๘. นันทิวิสาลสูตร
๙. สุสิมสูตร ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร

เทวปุตตสังยุต จบบริบูรณ์

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร

๓. โกสลสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ทหรสูตร
ว่าด้วยสิ่งเล็กน้อย
[๑๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม
ผู้เจริญทรงยืนยันหรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องก็
พึงกล่าวว่า ‘พระตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว’ เพราะว่าอาตม-
ภาพได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นคนดี คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ
ท่านมักขลิ โคศาล ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ท่านปกุธะ
กัจจายนะ ท่านอชิตะ เกสกัมพล สมณพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์ถามว่า
‘ท่านทั้งหลายยืนยันตนหรือว่า ‘เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ’ ก็ไม่ยืนยัน
ว่า ‘เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ’ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรงเป็นหนุ่ม
โดยพระชาติและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ทำไมจึงกล้ายืนยันตนเล่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร สิ่ง ๔ อย่างนี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น
ว่าเล็กน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร
สิ่ง ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังทรงพระเยาว์
๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังหนุ่ม
สิ่ง ๔ อย่างนี้แล ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยชาติตระกูล
ผู้เป็นอภิชาติ๑ ผู้มียศ ว่ายังทรงพระเยาว์
เพราะพระองค์ได้เสวยราชสมบัติแล้ว
เป็นกษัตริย์จอมมนุษย์ ทรงพิโรธแล้ว
จะลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์นั้น
นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม
ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
เพราะงูเป็นสัตว์มีพิษไม่ว่าจะมีวรรณะสูงและต่ำ๒
งูนั้นพึงฉกกัดชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นงูนั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร
นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก
ลุกเป็นเปลว ไหม้ดำเป็นทาง ว่าเล็กน้อย
เพราะไฟนั้นได้เชื้อแล้วก็กลายเป็นกองไฟใหญ่
พึงลามไหม้ชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นไฟนั้น
อนึ่ง ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำแล้ว
เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พันธุ์หญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้
ส่วนผู้ใดถูกเดชภิกษุผู้มีศีลแผดเผา
บุตรธิดาและปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ
ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก
เขาเป็นผู้ไม่มีเครือญาติ ไม่มีทายาท
ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต
เมื่อพิจารณาเห็นกษัตริย์ผู้มียศ งู ไฟ
และภิกษุผู้มีศีลว่าเป็นประโยชน์แก่ตน
พึงประพฤติโดยชอบทีเดียว
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระโคดมผู้เจริญ
ทรงประกาศธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ทหรสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๒. ปุริสสูตร

๒. ปุริสสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่เกิดประโยชน์แก่บุรุษ
[๑๑๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่าไหนเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้น
เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เมื่อเกิดขึ้น
ภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความ
อยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภธรรม (ธรรมคือโลภะ) เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๒. โทสธรรม (ธรรมคือโทสะ) เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๓. โมหธรรม (ธรรมคือโมหะ) เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
โลภะ โทสะ และโมหะเกิดขึ้นภายในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๑
ปุริสสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๓. ชรามรณสูตร

๓. ชรามรณสูตร
ว่าด้วยชราและมรณะ
[๑๑๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนเกิดมาแล้วที่พ้นจากชราและมรณะมีบ้างหรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร คนเกิดมาแล้วที่จะพ้นจากชราและ
มรณะไม่มีเลย แม้ขัตติยมหาศาลซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทอง
และเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย
ก็ไม่พ้นจากชราและมรณะ
แม้พราหมณมหาศาล ฯลฯ
แม้คหบดีมหาศาลซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงิน
มากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย ก็ไม่พ้น
จากชราและมรณะ
แม้ภิกษุทุกรูปซึ่งเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์
แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ร่างกายนี้แม้ของพระอรหันต์เหล่านั้น ก็เป็นสภาพ
แตกดับต้องทอดทิ้งเป็นธรรมดา”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ราชรถอันวิจิตรย่อมชำรุด
แม้สรีระก็ย่อมเข้าถึงชรา
แต่ว่าธรรมของสัตบุรุษหาเข้าถึงชราไม่
สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นจึงรู้กันได้
ชรามรณสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๔. ปิยสูตร

๔. ปิยสูตร
ว่าด้วยผู้รักตน
[๑๑๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าไหนหนอชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักตน’
ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ก็ชนเหล่าใดประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม
ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ไม่รักกันทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำ
ความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนเหล่าใด
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้น
จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ที่รักกันทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความ
เจริญนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น เพราะว่าชนบางพวกประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม
ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ไม่รักกันทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำ
ความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนบางพวก
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘เราไม่รักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๓๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น